วันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

กป.อพช.ร้อง หยุดคุกคามประชาชนเห็นต่าง เพื่อปฏิรูป-ปรองดอง


กป.อพช. ออกแถลงการณ์กรณีทหารเรียกองค์กรภาคประชาชนอีสานลงชื่อไม่ร่วมปฏิรูปรายงานตัว-บุกห้องประชุมเวทีสิทธิชุมชนที่ขอนแก่น เรียกร้อง คสช.รบ. ยุติการคุกคามคนที่เห็นต่าง ชี้จะปฏิรูปประเทศต้องเปิดให้ประชาชนเสนอความเห็นในฐานะเจ้าของประเทศร่วมกัน
สืบเนื่องจากกรณีเจ้าหน้าที่ทหารเรียกองค์กรภาคประชาชนอีสานที่ลงนามในแถลงการณ์ไม่ร่วมปฏิรูปกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้เข้ารายงานตัว เมื่อวันที่ 4 พ.ย. และการคุกคามการจัดการประชุมเรื่อง "สิทธิชุมชนกับรัฐธรรมนูญ" ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและเครือข่ายภาคประชาชน ที่จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2557 นั้น
6 พ.ย. 2557 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ยุติการคุกคามประชาชน เพื่อการปฏิรูปและความปรองดอง เรียกร้องให้ คสช.และรัฐบาล โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง เคารพความคิดเห็นของประชาชนทุกฝ่าย ที่มีความแตกต่างหลากหลายตามวิถีประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปฏิรูปประเทศ ที่ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเสนอความเห็นในฐานะเจ้าของประเทศร่วมกัน 
รายละเอียดมีดังนี้

แถลงการณ์
เรื่อง ยุติการคุกคามประชาชน เพื่อการปฏิรูปและความปรองดอง
ตามที่เจ้าหน้าที่ทหาร ได้เรียกนักกิจกรรมทางสังคมที่ลงนามในแถลงการณ์ไม่ร่วมปฏิรูปกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติของเครือข่ายภาคประชาชนอีสาน 12 องค์กรให้เข้ารายงานตัว เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2557 และการคุกคามการจัดการประชุมเรื่อง "สิทธิชุมชนกับรัฐธรรมนูญ" ของเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2557 นั้น 
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ไม่เห็นด้วยกับปฏิบัติการนี้ของเจ้าหน้าที่ และมีความกังวลว่า การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และการกระทำที่ข่มขู่ คุกคามประชาชนที่ออกมาแสดงความเห็น ความห่วงใยประเทศชาติ ในรูปแบบต่างๆ จะไม่สามารถทำให้ประเทศเดินหน้าไปสู่การปฏิรูปและสร้างความปรองดองได้
จึงขอยืนยันและเรียกร้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ดังนี้
1. ประชาชนทุกคนมีเสรีภาพและสิทธิในการแสดงความเห็น รวมถึงสิทธิในการเข้าร่วมการปฏิรูป หรือปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการปฏิรูปโดยสันติวิธี
2. คสช.และรัฐบาล โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง ต้องเคารพความคิดเห็นของประชาชนทุกฝ่าย ที่มีความแตกต่างหลากหลายตามวิถีประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปฏิรูปประเทศ ที่ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเสนอความเห็นในฐานะเจ้าของประเทศร่วมกัน 
อนึ่ง คสช.และรัฐบาล พึงตระหนักว่าการแสดงความเห็นของทุกภาคส่วนต่ออนาคตของประเทศ เป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และเป็นไปตามหลักการในระบอบประชาธิปไตย ที่ไม่ควรถูกกีดกันจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุการณ์การกีดกันการแสดงสิทธิเสรีภาพจะไม่เกิดขึ้นอีก
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
6 พฤศจิกายน 2557

ไทยได้รับเลือกจัดประชุมเวทีโลกเรื่องความหลากหลายทางเพศ 2016



ประเทศไทย โดยสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อเครือข่ายฟ้าสีม่วงร่วมกับกรรมการสมาคมอิลก้าเอเชีย ร่วมรับธงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการส่งต่อประเทศเจ้าภาพการจัดงานประชุมระดับโลกอิลก้าจากเม็กซิโก สู่ไทย ในปี 2016


ไทยได้รับเลือกจัดประชุมเวทีระดับโลกเรื่องความหลากหลายทางเพศ ปี 2016 โชว์จุดเด่นสังคมที่มีความอดทนอดกลั้นต่อคนเพศต่างๆ 
6 พ.ย.2557 ก้าวหน้า เสาวกุล ประธานร่วมสมาคมอิลก้าเอเชีย และกรรมการระดับโลกอิลก้า ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่ประชุม ILGA World Conference 2014 ที่ประเทศเม็กซิโก ได้เลือกประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ILGA World Conference 2016 จากผู้เสนอตัวสามประเทศ ได้แก่ ไทย บอตสวานา และคิวบา
ก้าวหน้า กล่าวว่า สมาคมอิลก้า หรือสมาคมหญิงรักหญิง ชายรักชาย คนรักสองเพศ คนข้ามเพศ และคนสองเพศ เป็นสมาคมที่มีสมาชิกกว่า 1,100 กลุ่ม จาก 80 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจะมีการจัดเวทีระดับโลกทุกๆ สองปี โดยการประชุมนี้จัดมาแล้ว 27 ครั้งทั่วโลก แต่ไม่ได้จัดในเอเชียมากว่า 10 ปีแล้ว ทั้งนี้ สมาคมอิลก้าเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อประเด็นความหลากหลายทางเพศที่สำคัญองค์กรหนึ่งของโลก รวมถึงยังทำงานร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ในประเด็นดังกล่าวด้วย
สำหรับการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพของไทยครั้งนี้ เสนอโดย สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อเครือข่ายฟ้าสีม่วง ภายใต้การสนับสนุนจากเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ โดยในการคัดเลือกนั้น ประเทศที่เสนอตัวจะส่งตัวแทนนำเสนอทีมละ 10 นาที ก่อนจะเปิดให้มีการโหวต สำหรับประเทศไทย นพ.แท้จริง ศิริพานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นผู้ไปนำเสนอ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคมกับองค์กรสิทธิของรัฐ
ก้าวหน้า ระบุว่า ประเด็นที่นำเสนอคือการที่ประเทศไทยเป็นเหมือนเมืองหลวงของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยถือเป็นประเทศที่มีความอดทนอดกลั้นต่อเพศที่สามค่อนข้างมาก แม้ว่ายังมีความลักลั่นด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนก็ตาม โดยไทยจะเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยในเอเชีย ให้ผู้เข้าร่วมจากประเทศอื่นๆ ที่อาจจะไม่มีความปลอดภัยในประเทศ ได้ใช้พื้นที่ในไทยเพื่อรวมตัวเรียกร้องสิทธิได้
ก้าวหน้า เล่าว่า ในการลงคะแนนนั้น มีผู้กังวลเรื่องวิกฤตการณ์ทางการเมืองในไทย แต่ก็ได้ชี้แจงว่า รัฐประหารกับการเมืองไทยนั้นกลายเป็นของคู่กันไปแล้ว และแม้ว่ารัฐไทยจะปิดกั้นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก แต่ก็ดูเหมือนจะไปเปิดพื้นที่เรื่องเพศทดแทน อย่างไรก็ดี ที่สุดแล้วประเทศไทยก็ได้รับการโหวตให้เป็นเจ้าภาพ ด้วยคะแนน 179 เสียงจากผู้โหวตกว่า 300 เสียง
ก้าวหน้า กล่าวว่า ในการประชุมที่จะเกิดขึ้นนี้ จะมีผลลัพธ์คือ การได้เชื่อมโยงและถ่ายทอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องสิทธิทางเพศในระดับนานาชาติ ทั้งผู้เข้าร่วมจากทั่วโลกที่จะได้ฟังเสียงจากเอเชียมากขึ้น และผู้เข้าร่วมจากจังหวัดต่างๆ ของไทยก็จะได้โอกาสในการแลกเปลี่ยนระดับนานาชาตินี้ด้วย
เมื่อถามถึงกรณีคลิปที่มีการระบุว่าเป็นคู่ทอมดี้กอดจูบกันบนรถไฟฟ้าบีทีเอส และถูกวิจารณ์ในวงกว้างช่วง 1-2 วันมานี้ เขามองว่า การกอดกันในที่สาธารณะเป็นอัตวิสัย ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะรู้สึกอย่างไร ขณะที่กฎหมายได้คุ้มครองเรื่องหมิ่นประมาทไว้ ส่วนเรื่องอนาจารนั้นก็สามารถแจ้งความจับได้ แต่กรณีนี้ก็จะเห็นว่าไม่มีหลักฐาน พร้อมย้ำว่า การโอบกอดเป็นอัตวิสัย แล้วแต่จะมองว่าละเมิดจารีตประเพณีหรือไม่ แต่สังคมนั้นต้องใช้กฎหมายเป็นหลัก
ก้าวหน้า กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กรณีนี้ยังเป็นเรื่องทับซ้อนระหว่างเรื่องจารีตประเพณีและเรื่องความเป็นเพศที่สามด้วย โดยดูเหมือนว่าพอเป็นเพศที่สามแล้วจะถูกเรียกร้องให้ทำตามกรอบ หรือต้องเป็น "คนดี" มากกว่าคนอื่นด้วย

ป.ป.ช. เลื่อนเคาะถอดถอน 39 ส.ว. เผยทำงานง่ายขึ้นหลัง สนช. รับเรื่อง ‘สมศักดิ์ – นิคม’

ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เผยเลื่อนเคาะถอดถอน 39 ส.ว. เหตุเจ้าหน้าที่ยังสรุปเรื่องไม่สมบูรณ์  พร้อมเผยทำงานง่ายขึ้นหลังจากที่ประชุม สนช. มีมติรับเรื่องถอดถอน ‘สมศักดิ์ – นิคม’ ไว้พิจารณา
6 พ.ย. 2557 ที่สำนักงานป้องกันและปรามปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เผยถึงกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณากรณีถอดถอน 39 ส.ว.แก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว.อันอาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 ว่าทางคณะกรรมการป.ป.ช.ต้องเลื่อนการพิจารณาเรื่องดังกล่าวออกไปเป็นวัน พฤหัสที่ 13 พ.ย.เนื่องจากเจ้าหน้าที่ยังสรุปเรื่องไม่สมบูรณ์จึงจำเป็นต้องเลื่อนพิจารณาไปเป็นสัปดาห์หน้า 
อย่างไรก็ตามการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับพิจารณาเรื่องถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ก็จะทำให้การพิจารณาเรื่องถอดถอนของป.ป.ช.นั้นง่ายขึ้น ทำให้เราเห็นทิศทางต่าง ๆ ได้
ทั้งนี้ทาง ป.ป.ช. ได้มีมติเลื่อนพิจารณากรณีถอดถอน อดีต 39 ส.ว. ก่อนหน้านี้ ทั้งหมดสองครั้ง คือในวันที่ 14 ต.ค. เลื่อนเป็นวันที่ 16 ต.ค. และจากวันที่  16 ต.ค. เลื่อนมาพิจารณาในวันนี้ 

ตำรวจอังกฤษจับกุมผู้ประท้วงสวมหน้ากาก 'กายฟอว์กส์'


การประท้วงที่กรุงลอนดอน 5 พ.ย.2557
ภาพโดย bjpcorp (CC BY 2.0)
ในการเดินขบวนประท้วงของผู้สวมหน้ากากที่กรุงลอนดอนคืนเดียวกับเทศกาล 'วันกายฟอว์กส์' มีผู้ชุมนุมบางคนถูกจับเพราะต้องสงสัยในข้อหาใช้กำลังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กีดขวางการจราจรทางหลวง และใช้ดอกไม้ไฟเป็นอาวุธ ขณะที่การประท้วงส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสงบ

การประท้วงที่กรุงลอนดอน 5 พ.ย.2557
ภาพโดย bjpcorp (CC BY 2.0)
6 พ.ย. 2557 มีการเดินขบวนประท้วง "ต่อต้านทุนนิยม" ของประชาชนในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีผู้ชุมนุมบางคนสวมหน้ากาก 'กายฟอว์กส์' เดินขบวนจากจัตุรัสทราฟัลการ์ไปยังจัตุรัสอาคารรัฐสภา ซึ่งการชุมนุมในครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมที่ชื่อว่า 'การเดินขบวนของหน้ากากนับล้าน' หรือ #MillionMaskMarch จัดโดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า 'นิรนาม' หรือ 'อะนอนิมัส'
กลุ่ม 'อะนอนิมัส' เปิดเผยว่าพวกเขาประท้วงเพื่อต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลและการละเมิดสิทธิ์ โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมหลายพันคนในช่วงคืนวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา ตามเวลาในอังกฤษ
ทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลในกรุงลอนดอนเปิดเผยว่ามีผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุม 10 คน สามคนถูกจับเพราะต้องสงสัยก่ออาชญากรรมทำลายความเป็นระเบียบของสังคม อีกสามคนต้องสงสัยว่าใช้กำลังทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีรายหนึ่งต้องสงสัยในข้อหาทำร้ายร่างกายอย่างอุฉกรรจ์ อีกรายหนึ่งต้องสงสัยว่าใช้ดอกไม้ไฟเป็นอาวุธ และมีอีกสองรายต้องสงสัยในข้อหาขัดขวางการจราจรทางหลวง
ปิบปา มิลล์ ผู้กำกับการตำรวจนครบาลกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานอย่างยากลำบากในช่วงเย็นที่มีการประท้วง ผู้จัดการประท้วงก็ปฏิเสธไม่ยอมประสานงานกับทางเจ้าหน้าที่แม้ว่าจะมีการขอความร่วมมืออยู่หลายครั้ง ซึ่งมิลล์กล่าวว่าการขอประสานงานดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้การชุมนุมไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ เกิดขึ้น
สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่าผู้ประท้วงพากันเดินขบวนพร้อมตะโกนคำขวัญ "มีเพียงทางออกเดียวคือการปฏิวัติ" หรือ "one solution, revolution" พวกเขายังพากันเดินขบวนไปยังพระราชวังบักกิงแฮม มีผู้ชุมนุมบางส่วนเตะแผงกั้นของหน่วยรักษาความปลอดภัยให้ล้มลง นอกจากนี้ยังมีประชาชนอีกส่วนหนึ่งขว้างปาสิ่งของรวมถึงกรวยยางจราจรและป้ายจราจรใส่ตำรวจ นอกจากนี้ยังมีการจุดดอกไม้ไฟจากผู้ที่อยู่ที่เสาหินเนลสันในจัตุรัสทราฟัลการ์
อย่างไรก็ตามบัญชีทวิตเตอร์ของสำนักงานตำรวจนครบาลอังกฤษระบุว่านอกจากเหตุที่มีคนถูกจับกุม 10 คนแล้วการชุมนุมโดยส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสงบ
การชุมนุมในลอนดอนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประท้วงที่มีแผนการจัดชุมนุมทั่วโลก รวมถึงในเมืองเฟอร์กูสัน รัฐมิสซูรี ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่นานเคยมีเหตุประท้วงต่อต้านการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของตำรวจ
หญิงอายุ 66 ปีคนหนึ่งซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้ประท้วงบอกว่าเดินทางมาจากเมืองพลิมัทของอังกฤษเพื่อประท้วงนโยบายการตัดงบประมาณและการปฏิรูปสวัสดิการที่ทำออกมาอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
อนึ่ง ช่วงคืนวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมายังตรงกับวันเฉลิมฉลองบอนไฟร์ไนท์ (Bonfire Night) หรือวันเฉลิมฉลองความล้มเหลวของแผนการวางระเบิดรัฐสภาของ 'กายฟอว์กส์' ซึ่งในอังกฤษมีการจุดพลุเล่นไฟรวมถึงขบวนพาเหรดเพื่อเฉลิมฉลองตามประเพณี โดยในปีนี้ผู้เดินขบวนพาเหรดส่วนหนึ่งได้ทำหุ่นล้อเลียนวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซียด้วย

หมีหน้าฮ๊าาาาาาาก แนะทุกฝ่ายควรเคารพกติกา ลดเผชิญหน้าปมถอดถอน


อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ที่มา: เพจ Abhisit Vejjajiva/แฟ้มภาพ)
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หน.ปชป. เผยผ่านรายการวิทยุ อยากเห็นทุกฝ่ายเคารพกติกา ย้ำปมถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองควรว่ากันตามหลักการกฎหมาย ส่วนการร่าง รธน. ฉบับใหม่ ต้องบรรจุเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล จำกัดอำนาจไม่ให้รัฐบาลเอื้อประโยชน์ตัวเอง
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการวิทยุ 101 องศาข่าว หลังจากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เผยว่า ยังมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44  ซึ่งให้อำนาจ คสช. สามารถปราบปรามการชุมนุมทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นจากปมเรื่องพิจารณาถอดถอนอดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
อภิสิทธิ์กล่าวว่า กระบวนการในการพิจารณาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ยิ่งตอนนี้ทำในช่วงเวลาหลังการรัฐประหารยิ่งมีความละเอียดอ่อนมากขึ้นไปอีก เพราะมีมุมมองจากมวลชนทั้งสองฝ่าย ซึ่งต่างก็มองกันคนละมุม ฝ่ายนึงก็มีความรู้สึกว่า ถ้าเกิดเรื่องนี้ไม่เดินหน้าทำอย่างจริงจัง ก็มีความรู้สึกค้างคาใจ อีกฝ่ายหนึ่งก็มองว่า เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นแล้ว องค์กรที่มาทำหน้าที่วุฒิสภา ไม่ใช่เป็นวุฒิสภา เขาก็มีความค้างคาใจเขาเหมือนกัน
"ดีที่สุดมันไม่ควรจะมีการเคลื่อนไหวของมวลชน แต่ สนช. นั้นก็ต้องว่ากันไปตามข้อกฎหมาย ว่าไปตามเนื้อผ้า อะไรเป็นอะไรก็เดินหน้าไปตามข้อเท็จจริง ตามข้อกฎหมาย และฝ่ายต่างๆ ก็ต้องได้รับความเป็นธรรม แล้วก็กระบวนการมันก็จะมีการ ผมเข้าใจว่าก็คงจะมีความพยายามให้เกิดการตรวจสอบ ถ่วงดุล เหมือนจะมีการร้องขอความเป็นธรรมบ้าง มีการขู่ว่าจะฟ้องศาลบ้าง ในที่สุดมันก็ต้องมีข้อยุติออกมา ซึ่งก็อยากให้ทุกฝ่ายยอมรับในข้อยุตินะครับ ถ้ากระบวนการทุกอย่างมันเดินไปตามหลักของมัน" อภิสิทธิ์กล่าว
ขณะเดียวกันอภิสิทธิ์ยังได้กล่าวถึงสิ่งที่เป็นวาระเร่งด่วนซึ่งควรบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยอภิสิทธิ์มองว่าโจทย์ที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องของการตรวจสอบถ่วงดุล จะทำอย่างไรให้รัฐบาลที่เข้ามาแล้วมีอำนาจอย่างจำกัด ไม่ใช่ใช้อำนาจนั้นไปในทางที่เอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง ไปในทางที่เพิ่มอำนาจให้ตัวเอง จนไม่สามารถทำให้คนอื่นในสังคมเข้ามาตรวจสอบถ่วงดุลได้
อภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อาจเกิดในอนาคตอีกด้วยว่า "การแก้กติกาในบางเรื่องก็คงทำได้ แต่ต้องไม่ใช่การแก้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเอง เพื่อไปทำลายความสมดุลของระบบที่มันเกิดขึ้นเท่านั้นเอง อันนี้ความจริงก็เป็นหลักที่พยายามจะพูดกันอยู่มาก่อนหน้านี้ คือผมเองนั้นอยากจะบอกด้วยว่า จริงๆ ตอนเกิดรัฐประหารนั้น ผมว่าทั้งคนทำ และคนดู ก็ไม่ได้มองว่ารัฐธรรมนูญปี 50 คือตัวปัญหานะ เราไปกังวลกับปัญหาที่มันเกิดขึ้นบนข้อเท็จจริงของความขัดแย้ง ของการประท้วงมากกว่า แต่ว่าพอรัฐประหารแล้วมันจะโดยเทคนิคทางกฎหมายหรืออะไรก็ตาม มันต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ แต่ว่าสิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ อาจจะไม่ใช่ตัวบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญก็ได้ ก็ต้องไปดูให้ดี”