วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สุเมธ ตันติเวชกุล


หกกลับ ชีวิตอำมาตย์
หกรอบนักษัตร สุเมธ ตันติเวชกุล

 หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’

"ผมเป็นอำมาตย์ 100% ในชีวิตไม่เคยทำอะไร นอกจากเป็นข้าราชการ อำมาตย์ก็คือข้าราชการ มียศ มีศักดิ์ ใช่...แล้วไง แล้วตอนบ้านเมืองจนมุม ก็มีแต่พวกอำมาตย์กู้ชาติ ถ้าผมตายก็ตาย ไม่รู้จะเตือนอย่างไร จำนวนคนอวิชชามันเยอะ ถ้าเขาฟังก็ฟัง เขาด่าเราก็ไม่ด่าตอบ ทำตามบทบาทหน้าที่ ทำได้เท่านี้ แล้วก็ทำไม่เคยหยุด เสาร์-อาทิตย์ ก็ทำงาน" [1]
สุเมธ ตันติเวชกุล นับเป็นบุคคลสำคัญของป้อมค่ายฝั่งอนุรักษ์นิยมที่ชีวิตมีสีสันอย่างมาก เขาเรียนระดับปริญญาตรีที่เวียดนาม มีประสบการณ์ที่ฝรั่งเศส ก่อนจะกลับมาลุยงานต่อสู้คอมมิวนิสต์ และคุมโครงการในพระราชดำริ ว่ากันว่าเขาทำงานไม่หยุด แม้อายุจะเลยวัยเกษียณมาแล้วก็ตาม ด้วยความที่เขาเป็นคนทำอะไรจริงจัง เป็นผู้ใหญ่เสียงดังโผงผาง พูดจาขวานผ่าซาก แต่ก็เปี่ยมไปด้วยบารมีอันเป็นที่เกรงใจแก่ผู้น้อยทั้งหลาย
ระยะหลังพบว่า เขามีพฤติกรรมที่น่ากังขา และมีความลักลั่นไม่สมเหตุสมผลในคำเทศนา ดุจจะสวนทางกับสิ่งที่เขากระทำ แต่ด้วยขนบของสังคมไทยที่ยังคงรักษาลำดับชั้นของสังคม มักจะละเว้นการวิพากษ์วิจารณ์ “ผู้อาวุโส” “คนดี” นี่จึงทำให้ “ผู้อาวุโส” “คนดี” จึงทำหน้าเคร่งขรึมลอยหน้าลอยตาเข้ามามีบทบาทสำคัญในสถาบันทางสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะด้วยความเกรงใจหรือเกรงกลัวก็ตาม ขณะที่หากเป็นคนที่ไม่มีต้นทุนทางสังคมและอยู่ในวัยเยาว์ กลับต้องเผชิญกับคำปรามาส และดูถูก การอ้างเหตุผลและถกเถียงกันอย่างอิสระ เป็นหนทางที่น้อยครั้งที่จะนำไปสู่การหาคำตอบ ขณะที่ข้ออ้างของการอาบน้ำร้อนมาก่อน ประสบการณ์ เส้นสายและการอุปถัมภ์ กลับเป็นยาสามัญประจำบ้านในการแก้ปัญหาตั้งแต่ระดับเล็กๆ ไปจนถึงปัญหาของชาติ
สุเมธจึงเป็นอีกหนึ่งในคนดีและผู้อาวุโสที่ผู้เขียนเห็นว่า ควรถูกตั้งคำถามจากพฤติกรรมและปรากฏการณ์ที่ผ่านมา การที่ใครคนใดคนหนึ่งผลิตข้อเขียนและอุดมการณ์ อันส่งผลกระทบต่อสังคมสาธารณะ โดยไร้การตรวจสอบและการตั้งคำถามนั้น มิใช่สัญญาณที่ดีของสังคมประชาธิปไตย มิใช่หนทางของสังคมแห่งความหวังและจินตนาการ ผู้เขียนเชื่อว่าการที่เราจะปิดตาแกล้งทำตาบอดข้างเดียวให้กับ “การเมืองของคนดี” อาจทำให้เรามืดบอดไปจริงๆ กับหนทางการไปข้างหน้า และนั่นคือ ความฉิบหายที่เราต้องแบกรับ
บทความนี้ตั้งใจเสนอ เนื่องในโอกาสที่ครบ 6 รอบนักษัตรชีวิตของสุเมธใน วันที่ 26 สิงหานี้ โดยใช้ข้อมูลหลักมาจากหนังสือ 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ที่จัดทำโดยคณะทำงานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ระบุไว้ว่าจัดทำ “เพื่อระลึกถึงคุณูปการที่ท่านได้ผลักดันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มั่นคง และต่อเนื่อง” [2]

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’
72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
จัดทำโดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ถือกำเนิดในตระกูลอำมาตย์
สุเมธ เกิดในตระกูลโบราณที่เคยเป็นเจ้าเมืองและคหบดีเมืองเพชรบุรีมาก่อน เขาลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2482 สุเมธเล่าว่า เขาได้รับการสอนมาเป็นอย่างดีในคุณสมบัติที่ต้องนอบน้อมถ่อมตน ถึงขนาดว่า เวลาทวดพาไปตลาด เจอแม่ค้าทวดสอนให้ยกมือไหว้แม่ค้า สุเมธเข้าใจว่า “ถูกเลี้ยงดูและโตขึ้นมาอย่างแบบนั้น คือไม่ลืมตัว ถ่อมตน ถือว่าทุกคนเท่าเทียมกันในสังคม” [3]
เขาเล่าว่า เติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมของบ้านเรือนไทยหมู่ที่มีอยู่ด้วยกัน 5 หลัง ขณะที่มารดาคือ ประสานสุข ตันติเวชกุล ที่มีคำนำหน้าเป็นท่านผู้หญิง ทำงานเป็น “ต้นเครื่อง” ในวังสวนจิตรลดา เป็นข้าราชบริพารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว [4] ขณะที่บิดาคือ อารีย์ ตันติเวชกุล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลถนอม กิตติขจร [5] ในปี 2501 เป็นรัฐบาลที่ 2 หลังจากที่สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้กำลังทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพิบูลสงครามในปี 2500 อย่างไรก็ตามจากการสัมภาษณ์ได้ระบุว่า พ่อและแม่ของเขาแยกทางกันอยู่ตั้งแต่เขายังอายุ 5 ปี ได้ส่งผลต่อบุคลิกภาพของเขาด้วย [6] นั่นคือ
“โชคดีที่มีแม่เป็นหลัก แม่แทนทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าสังเกตให้ดีกิริยามารยาทของผมบางทีเป็นผู้หญิง เพราะถูกแม่สอนมาตลอด เดินดังก็ไม่ได้ต้องโดนเอ็ด" แม้เขาจะไม่ได้ตัดพ้อและฟูมฟาย แต่ก็ตระหนักถึงสภาพแวดล้อมที่ดีงามรายล้อมตัวเขาอยู่ ถึงขนาดกล่าวว่า “หากเกิดมาในสลัมแล้วชีวิตต้องแก่งแย่งปากกัดตีนถีบ เพื่อความอยู่รอด เมื่อโตมาก็ต้องมีชีวิตแบบนั้น ฉันใดก็ฉันนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม”
ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ความเท่าเทียมในสายตาของสุเมธนั้นเป็นอย่างไรกันแน่?
ชีวิตของสุเมธในวัยเรียน ถูกส่งไปเรียนโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ ที่กรุงเทพฯ ก่อนจะกลับมาที่เพชรบุรีเพื่อหลบไฟสงคราม พอจบสงครามโลกครั้งที่ 2 สุเมธก็กลับไปเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ณ โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก [7] จากนั้นเขาได้ศึกษาต่อ ณ โรงเรียน “ผู้ดี” วชิราวุธวิทยาลัย ราวๆปี             2497-2498       คนดังร่วมรุ่นก็คือ อดิศัย โพธารามิก, พล.อ. แป้ง มาลากุล ณ อยุธยา ฯลฯ[8] และในสถาบันแห่งนี้เองที่เป็นโอกาสที่ทำให้เขาได้เฝ้ารับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นครั้งแรก

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’
สุเมธ ตันติเวชกุล ในเครื่องแบบโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

เล่าเรียนถึงเวียดนาม ลาว ฝรั่งเศส
หลังจากจบวชิราวุธวิทยาลัย สุเมธมีโอกาสไปศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยที่ประเทศเวียดนาม ในขณะนั้นยังอยู่ในสถานการณ์สงครามที่เวียดนามต้องการจะปลดปล่อยตนเองจากประเทศเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ทำให้เขาต้องย้ายเข้าไปเรียนต่อในลาว และฝรั่งเศสตามลำดับ [9] สุเมธบันทึกว่า ในครั้งนั้นได้โอกาสรับเสด็จในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ ที่ทั้งสองพระองค์เสด็จเวียดนามเมื่อ วันที่ 18-21 ธันวาคม 2502
หลังจากที่ได้อนุปริญญาตรีทางปรัชญาที่ลาวแล้ว จากนั้นก็ไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส เขาสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกรอนอบ ปริญญาโทและเอกทางรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมองเปลิเอ วิทยานิพนธ์ของสุเมธทำเรื่อง ระบบการปกครองแบบทหาร เป็นตัวจบการศึกษาในปี 2512 [10] วิทยานิพนธ์นี้ได้รับพิจารณาให้เป็นวิทยานิพนธ์เกียรตินิยม พร้อมคำสดุดีจากคณะกรรมการ สำหรับการใช้ชีวิตอยู่ในฝรั่งเศสนั้น เป็นสิ่งที่แตกต่างไปจากสังคมไทย ทำให้ได้พบเจอประสบการณ์ที่เขาไม่อาจหาได้ สุเมธเล่าว่าเมืองที่เขาเคยอยู่ Lyon มีการนัดหยุดงานประท้วงอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้นเขายังเคยทำงานพิเศษเป็นกรรมกรในโรงงานน้ำแร่ Evian ที่นั่นทำให้เขาเห็นความแตกต่างจากสังคมไทยอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นก็คือ การที่ประธานบริษัทที่เข้ามาตรวจงาน หากเห็นว่างานล้นก็จะเข้ามาช่วย [11] สุเมธเลือกอธิบายว่า นั่นคือการปกครองบริหารคนอย่างเข้าถึงจิตวิทยา ว่า “อย่าสั่งอย่างเดียวต้องร่วมทำ” ด้วย นั่นคือวิธีคิดแบบคนที่ถูกฝึกมาให้เป็นเจ้าคนนายคน ขณะที่โอกาสการทำงานของสุเมธนั้น มาจากโครงสร้างระบบการหมุนเวียนแรงงานที่เปิดโอกาสให้กรรมกรหยุดพักร้อน และเป็นช่วงที่รับนักศึกษาเข้ามาทำงานแทน

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’
ขณะศึกษาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตามประสบการณ์กรรมกรครั้งนั้นสุเมธถือว่า ได้สอนอะไรหลายอย่างให้กับเขา “ให้ความรู้สึกมากมาย รู้สึกถึงความเหนื่อยยากของชีวิตกรรมกร เงินแต่ละสิบแต่ละร้อยต้องแลกกับหยาดเหงื่อท่วมกาย รู้สึกและรู้ค่าของเงินอีกมาก” [12] ขณะที่ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2554 พรรคการเมืองอย่าง เพื่อไทย นำเสนอนโยบายค่าแรง 300 บาท รวมถึงพรรคการเมืองอื่นๆเสนอนโยบายประชานิยม สุเมธกลับชี้ว่า
“ผมเหมือนอยู่ในความฝันเวลาขับรถไป เห็นทุกป้ายสร้างความฝันให้ผมว่าแรงงานระดับล่างกำลังจะได้รับเงิน 300 บาทต่อวัน และจะปลดหนี้ไม่มีหนี้แล้ว...แต่เผลอแป๊บเดียวความฝันผมก็หายไป นโยบายต่างๆ กำลังบอกว่าเศรษฐกิจดี แต่มองว่าจะส่งผลเสียนานัปการไม่เหลืออะไรเลย คนไทยแม้แต่เด็กเล็ก ผู้ใหญ่ตามบ้านนอกมีคนเอาของไปล่อ เกิดความอยากได้ กลายเป็นคนหิวกระหายและนิสัยเสียไปหมด” [13]

กลับเมืองไทย การเข้าเฝ้า และชีวิตที่ถูกลิขิต
สุเมธกลับมาอยู่เมืองไทยในปี 2512 ด้วยความที่จบรัฐศาสตร์การทูตจึงได้งานที่กระทรวงต่างประเทศ เข้าใจว่าก่อนจะเข้าทำงาน ได้ไปกราบในหลวงที่หัวหินด้วย ในฐานะที่สุเมธเป็นลูกข้าราชบริพาร การเข้าเฝ้าครั้งนั้น ในหลวงรับสั่งถามเรื่องการศึกษาและสถานที่ทำงาน เมื่อทรงทราบว่าเป็นกระทรวงต่างประเทศพระองค์ก็ทรงเฉยและไม่ทรงคุยต่อ ในเวลาต่อมา ก่อนที่สุเมธจะเข้าทำงาน ณ กระทรวงต่างประเทศ ก็ได้ข่าวจากเพื่อนว่า ที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้องการคนเรียนจบปริญญาเอก และได้ชักชวนสุเมธให้มาทำงานร่วมกัน สุเมธจึงกลับไปเข้าเฝ้าในหลวงอีกครั้ง และกราบบังคมทูลเรื่องดังกล่าว ในครั้งนี้พระองค์ทรงรับสั่งว่า “ดีนะสภาพัฒน์ฯ ช่วยเหลือประเทศที่นี้ดีๆ” จากนั้นก็มีพระกระแสรับสั่งคุณหญิงมณีรัตน์ บุนนาค [14] ว่า “ส่งสุเมธไปพบคุณหลวงเดชสนิทวงศ์ พรุ่งนี้”
นั่นคือ ความเป็นมาของงานแรกที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในตำแหน่ง วิทยากรโท กองวางแผนกำลังคน เมื่อปี 2512 [15] ปีต่อมาเขาได้ย้ายไปสังกัด กองวางแผนเตรียมพร้อมทางเศรษฐกิจ ในบันทึกยังระบุว่า กองวางแผนเตรียมพร้อมนั้นมีไว้เตรียมรับกับสงคราม จนคลอดออกมาเป็น “แผนเตรียมพร้อมแห่งชาติ” ไว้แล้ว แต่อย่างไรก็ตามเขาแสดงความเห็นว่า แผนดังกล่าวเมื่อเสร็จแล้วก็เก็บอยู่ในตู้มิได้มีปฏิบัติการใดๆ สุเมธได้โต้เถียงกับพวกนายทหารที่ดูแลนโยบายด้านความมั่นคง เกี่ยวกับยุทธวิธีทางทหาร สุเมธไม่เห็นด้วยในการประเมินว่าจะต้องใช้สงครามเต็มรูปแบบต่อสู้กับการรบแบบกองโจรของคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตามในครั้งนั้น เขาถือว่า ได้รับการดูถูกว่าเป็นเพียงความเห็นของข้าราชการพลเรือน จึงทำให้เขามีมานะในการเรียนต่อที่วิทยาลัยการทัพบก ปรากฏว่าเขาสำเร็จการศึกษาในรุ่น 23 ที่มีเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง ประมณฑ์ พลาสินธุ์ (อดีตผู้บัญชาการทหารบก) ศิรินทร์ ธูปกล่ำ ฯลฯ[16]
หลัง 6 ตุลาคม 2519 ยุครัฐบาลหอย ธานินทร์ กรัยวิเชียร ขณะนั้นสุเมธ อยู่ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 6 และรักษาการหัวหน้ากองวางแผนเตรียมพร้อมและพัฒนาเพื่อความมั่นคง เขาเล่าว่า ได้เข้าพบเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สิทธิ เศวตศิลา ในยศพลอากาศเอก เพื่อนำเสนอแนวทางการต่อสู้ว่า ควรเปลี่ยนเป็นแนวทางการพัฒนาในพื้นที่สีแดง ใช้การต่อสู้ทางความคิด ครั้งนั้น สิทธิ รับปากว่าจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ เงื่อนไขของสุเมธในการแก้ไขปัญหาก็คือ จะต้องมีอำนาจและงบประมาณอยู่ในมือ ส่วนอำนาจในระดับชาติ ใช้อำนาจของคณะกรรมการเตรียมพร้อมแห่งชาติอนุมัติแผนและโครงการ แล้วนำเรื่องขออนุมัตินายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี ขณะที่อำนาจเชิงปฏิบัตินั้น ขอให้แต่งตั้งเขาเป็นเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่กองทัพภาคทั้ง 4 ภาค โดยมีแม่ทัพภาคเป็นประธาน โดยที่อำนาจก็ยังอยู่ใน อำนาจสั่งการของแม่ทัพภาคในฐาน ผู้บัญชาการกองอำนวยการรักษาความมั่่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค [17]
ในที่สุด นายกรัฐมนตรีก็อนุมัติ การดำเนินการครั้งนั้นมี บุญญรักษ์ นิงสานนท์ เป็นมือขวา และพิมลศักดิ์ สุวรรณทัต เป็นมือซ้าย ครั้งนั้น สุเมธเองก็ได้บรรจุเป็นกำลังพลของ กอ.รมน. ความหมายของ การบรรจุ นั้นหมายถึง เป็นบุคลากรที่ต้องปฏิบัติการในพื้นที่สู้รบ[18]

สู้สงครามคอมมิวนิสต์ อ้างตัวว่าเป็นต้นตอคำสั่งที่ 66/23
สุเมธกล่าวอย่างภูมิใจว่า ตั้งแต่ได้รับงานนี้จนถึงปี 2524 เขาได้ลงสนามรบทั่วประเทศที่มีการก่อการร้ายในทุกภาค ลงไปวางแผนวางโครงการโดยการเมืองนำการทหาร ซึ่งเขาอ้างว่า เป็นต้นตอของคำสั่งที่ 66/23 การลงพื้นที่เพื่อประสานกับแม่ทัพภาคต่างๆ ทำให้เขาเจอกับ เปรม ติณสูลานนท์ แม่ทัพภาคที่2 [19] เขายังเล่าต่อไปว่า “ชีวิตนอนกลางสนามรบ สะพายปืน โดดร่ม ถูกยิง เฉียดกับระเบิด เฮลิคอปเตอร์ตกกลางป่าที่อุทัยธานี”
สุเมธพยายามบ่ายเบี่ยง กอ.รมน. ที่ได้เสนอบรรจุเป็นกำลังพล แต่ก็ไม่ยอม ซ้ำยังย้อนกลับไปว่า “ป้องกันชาติบ้านเมืองต้องจ้างกันด้วยหรือ” ผู้อ่านต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ในสถานการณ์สงครามเช่นนี้ พวกข้าราชการเหล่านี้จะมีเบี้ยเลี้ยงพิเศษและวันราชการนับทวีคูณ การปฏิเสธคงแค่เป็นการแก้เกี้ยว เพราะในที่สุด กอ.รมน.ก็ตั้งการเบิกจ่ายน้ำมันให้เดือนละ 80 ลิตร เบี้ยเลี้ยงประมาณ 1,000 บาท และได้วันทวีคูณมา 9 ปี [20] ซึ่งกรณีสุเมธ เขาได้อายุราชการเพิ่มตอนเกษียณอีกต่างหาก

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’
แม่ทัพภาคที่ 2 เปรม ติณสูลานนท์

แก้ไขแบบไม่ตามก้นฝรั่ง ก็ชนะคอมมิวนิสต์ได้
การทยอยเข้ามามอบตัวของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ หลังนโยบาย 66/23 แสดงให้เห็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของรัฐไทย สุเมธบันทึกโดยไม่พูดให้หมดถึงปัจจัยสาเหตุความพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อย่างจริงจัง นั่นคือ สถานการณ์แตกหักระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนและโซเวียตรัสเซีย ความคุกรุ่นของความขัดแย้งระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน ขณะเดียวกันภายใน พคท.เองก็ประสบปัญหาการแตกแยกทางความคิดภายในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเอง โดยเฉพาะระหว่างคณะนำกับนักศึกษารุ่นใหม่ที่เข้าไปพยายามมีบทบาทในพรรค [21] สุเมธสรุปเอาเองอย่างไร้บริบททางประวัติศาสตร์ว่า ทฤษฎีโดมิโน่อันเป็นการอธิบายถึงการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ฝรั่งเสนอ มาหยุดที่เมืองไทย เพราะ “เราแก้แบบไทยไม่ตามฝรั่งเขาที่ใช้อาวุธมากมายมหาศาล แต่สุดท้ายต้องแก้ไข ‘คนและความคิดอุดมการณ์’ ” ชัยชนะที่ได้มาจากภาวะที่ง่อนแง่นของพคท. ทำให้ฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะสุเมธย่ามใจในการนิยามความสำเร็จอย่างพิลึกพิลั่น เช่นการพูดว่า “เรา(ทำ)ให้สงครามมาร์กซิสต์ ว่าด้วยการต่อสู้ระหว่าง”คนมีกับคนไม่มี” มาเป็นการทำให้ “คนไม่มีเป็นคนมี”” [22]
ขณะที่การอธิบายว่า “เราชนะศึกโดยไม่ได้ใช้อาวุธ เราใช้แทรกเตอร์แทนรถถัง เราใช้จอบเสียมแทนเอ็ม 16 เราใช้ สทก. (หนังสือสิทธิทำกิน ในเขตป่าสงวน) ให้ทุกคนได้เป็นเจ้าของแผ่นดิน” [23] ก็เป็นการละเลยที่จะไม่พูดถึงการใช้อาวุธสงครามหนักถล่มฐานที่มั่นของ พคท. ซึ่งเป็นการกสกัดกั้นเชิงยุทธวิธีที่ต้องทำงานควบคู่กัน

ข้าราชการ ซี 22 รับงานโครงการในพระราชดำริควบสภาพัฒน์
หลังการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเปรม ในปี 2523 ก็ได้มีการตั้ง สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ซึ่งเคยเป็นหน่วยงานหนึ่งในกองวางแผนเตรียมพร้อมด้านเศรษฐกิจ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ [24] เปรมได้ทาบทามสุเมธให้มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วย ขณะนั้นเขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวางแผน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ [25]
สุเมธวิเคราะห์ว่า โครงการพระราชดำริมีลักษณะสนับสนุนยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงภายในของฝ่ายทหาร ด้วยการรุกทางยุทธศาสตร์การเมือง เพื่อช่วงชิงพื้นที่เดิมใต้อิทธิพลคอมมิวนิสต์กลับมา และฟันธงว่า โครงการพัฒนาของโครงการพระราชดำริมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงได้มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าการพัฒนาตามแนวทางของรัฐบาล ซึ่งแน่นนอนว่าโครงการฯ มีเป้าหมายหลักในการแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบททุรกันดาร ในลำดับความสำคัญต่ำที่รัฐบาลมองข้ามไป [26]
ต่อมาในปี 2531 สุเมธก็ได้รับตำแหน่งเลขามูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งมูลนิธิมีวัตถุประสงค์เพื่อ “เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในลักษณะของการดำเนินงานพัฒนาต่างๆ ในกรณีที่ต้องถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของกฎเกณฑ์ ระเบียบ หรืองบประมาณที่ระบบราชการไม่สามารถดำเนินการได้ทันที จนเป็นเหตุให้การแก้ไขปัญหาไม่สอดคล้อง หรือทันกับสถานการณ์ที่จำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องกระทำโดยเร็ว” มูลนิธินี้ในหลวงทรงดำรงตำแหน่งเป็นนายกกิตติมศักดิ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธาน [27] สุเมธได้รับความไว้วางใจในเรื่องการเงิน จนได้รับฉายาจากในหลวงว่า “ถุงเงิน” [28]

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’
ตำแหน่งสำคัญในมูลนิธิชัยพัฒนา

ภารกิจอันหนักหนาของสุเมธ ทำให้เกิดที่มาของคำว่า ข้าราชการ “ซี 22” ได้มาจากการทำงานควบ 2 ตำแหน่งงาน นั่นคือ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกปร. ที่อยู่ในระดับ ซี 11 ทั้งคู่ และวลี ซี 22 ก็ยังปรากฏการอ้างอิงอยู่เสมอในหมู่คนรู้จักของสุเมธ ซี 22 จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนภาพลักษณ์ของสุเมธว่า เป็นคนทุ่มเททำงานหนักและเอาจริงเอาจัง และมีความสำคัญเพียงใดในแวดวงราชการ
เดือนมีนาคม 2535 ก่อนเหตุการณ์นองเลือดในเดือนพฤษภาคม นายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน ที่มาจากการรัฐประหาร อนุมัติหลักการแยก กปร. ออกจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยยกฐานะเป็นหน่วยงานระดับกรม สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามมีผลทางกฎหมายก็เมื่อ พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2536 มีผลบังคับใช้ในเดือน กันยายน 2536 แสดงให้เห็นได้ชัดถึงความสำคัญของหน่วยงานกปร.ที่โตเกินจะอยู่ในสภาพัฒน์แล้ว

งานเขียน และการสัมมนา การผลิตซ้ำทางอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมโดยสุเมธ
หากเราจะดูพัฒนาการทางความคิดและการปฏิบัติผ่านร่องรอยที่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว จะเห็นได้ว่าในช่วงแรกที่เขาลงสนามรบกับคอมมิวนิสต์จะมีงานเขียนไม่มาก เท่าที่พบก็คือ การพัฒนาเพื่อความมั่นคงของชาติ (2521) การศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการในการพัฒนาหมู่บ้านยากจนเพื่อความมั่นคง (2525) “การพัฒนาชนบทตามระบบ กชช.” ใน ชนบทไทย 2527 (2527) “บทบาทของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการสนับสนุนความมั่นคงของชาติในพื้นที่ชนบทของประเทศ” (2529) สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องที่ชนิดา ชิดบัณฑิตได้นำเสนอว่า อุดมการณ์ด้านการพัฒนาของไทยมีความเชื่อมโยงกับสงครามเย็น[29]
โดยเฉพาะเมื่อเขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาในปี 2531 ทำให้เกิดงานเขียนแนวเทิดพระเกียรติในด้านการพัฒนาขึ้น ได้แก่ ในหลวงนักเศรษฐศาสตร์ (2530) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กับงานพัฒนา (2531) ในปี 2536 เขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) [30] จึงทยอยมีงานทางด้านวิชาการที่เป็นระบบมากขึ้น นั่นคือการจัดสัมมนาดังนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การพัฒนาการเกษตรยั่งยืน (2536 : ฉะเชิงเทรา) การสัมมนาเรื่อง การพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (2537 : ราชบุรี) บทความ “มูลนิธิชัยพัฒนา : พระราชดำริเพื่อนำปวงไทยให้บรรลุถึง “ชัยชนะแห่งการพัฒนา” “ ใน จิตวิทยาความมั่นคง (2538) “แนวพระราชดำริและการพัฒนาชนบท” ใน การประชุมวิชาการเรื่อง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและเทคโนโลยีชนบท (2538) การสัมมนาเรื่อง การพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ครั้งที่ 3 : 2542 : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) แม้กระทั่งการหนังสืออนุสรณ์งานศพในนาม โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (2539) [31]
กระแสพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ทำให้คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ได้ถือกำเนิดอย่างเป็นทางการ (ขณะที่สุเมธอ้างว่า ในหลวงตรัสเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2517) ด้วยความใกล้ชิดกับในหลวงและภารกิจงานที่เขารับผิดชอบมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับชุดความคิดนี้ สุเมธจึงถือว่า เป็นอรรถกถาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในการเผยแพร่ความคิดนี้ออกสู่สาธารณะมากที่สุดคนหนึ่ง

คนดี มือสะอาด สมถะ ทำงานหนัก มีผลงาน
“การทำความดีนั้นน่าเบื่อ ประการถัดไป การทำความดีนั้นมันยาก ทำไมมันยากเพราะมันไปสวนกระแสชีวิตของมนุษย์ เพราะมนุษย์คือสัตว์อย่างหนึ่งที่ถูกกระตุ้นโดยแรงตัณหา แรงอาฆาต กิเลส ความอยาก” [32] นี่คือ นิยามความดีของสุเมธที่ได้เรียนรู้มาจากในหลวง ความดีเหล่านี้เป็นความบริสุทธิ์ที่อยู่ตรงข้ามกับกิเลส ตัณหา แต่กระนั้นก็มิได้หมายความว่า จะมุ่งให้ทุกคนละกิเลสได้หมด แต่การจะเป็นคนดีนั้นหัวใจสำคัญก็คือ ขอเพียงควบคุมกิเลสให้ได้
คำสรรญเสริญที่เป็นรูปธรรมของสุเมธ ก็คือ การได้รับรางวัลการันตีความเป็น “คนดี” จากสถาบันต่างๆ ได้แก่ รางวัลบุคคลตัวอย่าง ประจำปี 2537 จาก มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ [33] รางวัลผู้บริหารราชการดีเด่น (ครุฑทองคำ) ปี 2538 จากสมาคมข้าราชการพลเรือน และได้รับโล่ห์รางวัลเชิดชูเกียรติ บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติตนชอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จากสำนักงาน ป.ป.ป. ปี 2540 [34] ที่น่าสนใจก็คือ สุเมธระบุว่า รางวัลนี้ไม่มีใครได้มานานมากแล้วเพราะคนที่ได้ล่าสุดคือ สิทธิ จิระโรจน์ ซึ่งมีอายุห่างจากสุเมธกว่า 20 ปี [35]
แน่นอนว่า “คนดี” นั้นจะต้องเอาใจใส่พุทธศาสนา ฝักใฝ่ต่อการขัดเกลาทางธรรมของตน สุเมธบันทึกเอาไว้ว่า เขาผ่านการบวชมา 4 ครั้ง เณร 1 ครั้ง และบวชพระ 3 ครั้ง โดยสองครั้งหลังเป็นการบวชวัดป่า เขาเล่าต่อไปว่า ครั้งล่าสุดคือเมื่ออายุได้ 65 ปี หากเทียบแล้วก็อยู่ราวๆปี 2547 ครั้งนั้นบวชอยู่ที่สกลนคร ในสายอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งถือว่าเป็นอาจารย์ใหญ่ของพระป่านิกายธรรมยุตในยุคปัจจุบัน [36]
“การบวชครั้งล่าสุดนี้ทำให้รู้สัจธรรมว่าร่างกายต้องการอาหารน้อยนิด กินแบบอดอยาก มีน้ำตาลน้อยลง ไขมันก็ไม่อุดตัน ร่างกายก็แข็งแรงแม้ว่าน้ำหนักจะหายไปถึง 8 กก. ไม่ต้องมาอ่านหนังสือพิมพ์ ดูทีวี มีผ้านุ่งเพียง 4 ผืน กับบาตรเท่านั้น ทำให้ซึ้งสัจธรรมอีกข้อว่า ชีวิตเราเกิดมาจากการขอ อยู่ได้ด้วยความเมตตา มีความสุขที่สุดจากคนที่ไม่มีอะไร...ไม่ต้องรับรู้ในสิ่งที่ไร้สาระ นั่งสมาธิกระทั่งพบพลังจิตอันว่างเปล่า อันเป็นพลังบริสุทธิ์" [37]

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’
บรรยายพิเศษเรื่อง “ตามรอยเท้าพ่อ”
โครงการบวชพุทธสาวิกาภาคฤดูร้อน 2553
ณ เสถียรธรรมสถาน

ปีที่บวชครั้งสุดท้ายยังตรงกับการที่เขาเริ่มดำรงตำแหน่ง ประธานมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด 2547 [38] ในวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ ระบุว่า “เพื่อปลูกจิตสำนึกให้คนไทยมีจริยธรรม มีคุณธรรม รังเกียจการทุจริต ถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ รวมทั้งประกาศเกียรติคุณบุคคลและองค์กรที่มีความใสสะอาด” และ “เพื่อสร้างแนวร่วมในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบในสังคมไทย” [39]นั่นจึงมิใช่เรื่องแปลกอันใดที่ สุเมธยังมีตำแหน่งกรรมการตรวจสอบ และกรรมการธรรมาภิบาล ในบริษัทเครือซิเมนต์ไทย (SCG) ด้วยในปัจจุบัน [40]
ดังนั้นคนดีในเชิงการเมือง จึงมิได้เป็น “ความดี” ด้วยตัวของมันเอง แต่การเป็นคนดีเช่นนี้จะมีความสามารถในควบคุมกิเลสให้อยู่หมัดทั้งในกิเลสส่วนตัว และครอบคลุมไปถึงกิเลสของสังคมด้วย การอธิบายเช่นนี้เข้ากันได้อย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับแนวคิด “เผด็จการโดยธรรม” ของพุทธทาส ที่เชื่อมั่นในตัวบุคคลที่มีศีลธรรมและความดีอยู่เต็มเปี่ยม ว่า เมื่อทุกอย่างเริ่มต้นด้วยคนดีแล้วปัญหาทุกอย่างก็ไม่ต้องห่วงแล้วว่าแก้อย่างไร ซึ่งทัศนะเช่นนี้ได้สร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมา และที่กำลังจะเกิดขึ้น

ตำแหน่งบริหารในองค์กรสำคัญในประเทศไทย เมื่อชีวิตเริ่มต้นที่ 60
ภารกิจงานจำนวนมากที่สุเมธได้ทุ่มเท ตลอดชีวิตราชการ นอกจากจะสร้างผลงานอันเป็นที่ประจักษ์แล้ว ยังสร้างเครือข่ายการทำงานอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการทำงานอุทิศให้กับในหลวงเรื่อยมา จึงไม่เรื่องแปลกที่สุเมธเป็นบุคคลต้นแบบที่สำคัญของคนรุ่นใหม่ (เมื่อเดือนเมษายน 2554 เขาได้ออกรายการ The Idol คนบันดาลใจ ทางช่อง Modern Nine ด้วย) ข้าราชการ และกลุ่มอนุรักษ์นิยม เขาถือเป็นทรัพยากรบุคคลอันมีค่ายิ่งสำหรับองค์กรต่างๆ ที่ต้องการเขาไปเป็นส่วนหนึ่ง สุเมธครบวาระเกษียณอายุเมื่อปี 2542 แต่เราพบว่าก่อนหน้านั้นสุเมธดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในส่วนที่เป็นหน่วยงานของรัฐได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (            2537-2539      ) กรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (            2537-2539      ) ประธานกรรมการ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (            2540-2541      )
ในส่วนของธุรกิจเอกชน ได้แก่ กรรมการ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) (            2537-2544      ) กรรมการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (            2539-2540      ) ที่ปรึกษาของคณะกรรมการและคณะกรรมการบริหาร บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (            2540-2541      ) กรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (            2540-2543      )

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’
ร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “รวมใจ รวมไมล์ เพื่อชัยพัฒนา” ซึ่งการบินไทยจัดขึ้น เพื่อขอรับการบริจาคไมล์จากสมาชิกรอยัล ออร์คิด พลัส เพื่อมอบให้มูลนิธิชัยพัฒนา 24 มิถุนายน 53

ที่พึ่งของสถานศึกษา กับ 6 ปี ในตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การทำงานมาตลอดชีวิตราชการ ทำให้เขาเป็นที่กว้างขวาง ดังที่พบว่าเขาได้รับเชิญให้เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง ต้องเข้าใจเสียก่อนว่าตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยนั้น เดิมเป็นเพียงตำแหน่งทางเกียรติยศ ถือได้ว่าเป็นสภาเกียรติยศ หรือสภาตรายางที่ไม่มีอำนาจ [41] ที่น่าสนใจก็คือ หลังการปฏิรูปการศึกษาในช่วงปี 2542 สภามหาวิทยาลัยได้รับการกระจายอำนาจการบริหารจากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในอุดมศึกษา (กพอ.) ได้โอนอำนาจบริหารให้มาอยู่กับสภามหาวิทยาลัย ยกเว้นแต่ การของบประมาณจากรัฐบาล และการแต่งตั้งที่ต้องสู่ระบบโปรดเกล้าฯ ก็คือ การแต่งตั้งตำแหน่งนายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี และศาสตราจารย์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสภาตรายาง มาเป็น “สภารับผิดชอบ” ที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้นทางกฎหมาย [42] ดังนั้นตำแหน่งในสภามหาวิทยาลัยจึงมีความสำคัญมากขึ้นหลังปี 2542 ผลของการกระจายอำนาจ ทำให้แต่ละสถานศึกษา ปรับตัวในการดึงบุคลากรที่มีบารมี ความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมทำงานมากขึ้น ผู้ที่จะมาอยู่ในสภายิ่งจำเป็นก็ต้องมีพลังขับเคลื่อนมากพอสำหรับมหาวิทยาลัยนั้นๆด้วย
ประจวบเหมาะกับที่ช่วงสุเมธ เกษียณอายุราชการในปี 2542 เขาได้รับตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง บางแห่งก็เป็นกรรมการตั้งแต่ก่อนเกษียณ เช่น กรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (            2541-2543      ) กรรมการสภามหาวิทยาลัยทักษิณ (            2542-2544      ) กรรมการสภามหาวิทยาลัยบูรพา (2544-?) กรรมการสภามหาวิทยาลัยศิลปากร (            2549-2551      ) เชื่อได้ว่า สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับการปรับตัวของมหาวิทยาลัยจากการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นการกระจายอำนาจดังที่กล่าวมาแล้ว การได้รับการเชิญไปเป็นกรรมการสภา คาดว่าเนื่องมาจากการที่เป็นคนที่มีทุนทางสังคมสูงและมีเครือข่ายที่น่าจะเป็นประโยชน์กับมหาวิทยาลัยต่างๆได้ โปรดสังเกตว่าอำนาจที่จะเชื่อมกับการโปรดเกล้าฯ ไม่ได้อยู่ในมือของมหาวิทยาลัย สภามหาวิทยาลัย แต่ไปอยู่กับเครือข่ายภายนอก
อย่างไรก็ตาม ในสายตาผู้เขียนเห็นว่า ช่วงเวลาที่มีนัยทางการเมืองอย่างมากก็คือ การที่สุเมธ ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กินเวลาถึง 3 วาระ เป็นระยะเวลา 6 ปี (            2548-2554      ) เพียงการเสนอชื่อ สุเมธ จากกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย ก็เกิดข้อสงสัยจากประชาคมธรรมศาสตร์ต่างๆกันไปว่า “ใครเป็นคนเสนอชื่อ” “ชื่อนี้มาได้อย่างไร” “ไม่ใช่คนธรรมศาสตร์ จะเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยได้หรือ” “มีเสรีภาพทางวิชาการไม่ได้ใช้ระบบบังคับบัญชา จะทำได้หรือ” [43] แต่อย่างไรก็ตามไม่พบว่า นอกจากข้อสงสัยดังกล่าวแล้ว มีอุปสรรคใดๆหรือไม่ที่ขัดขวางการเข้ามาดำรงตำแหน่งของสุเมธ นอกจากนั้นความเชื่อมโยงระหว่างสุเมธกับธรรมศาสตร์นั้น อาจนับได้ตั้งแต่ปี 2513 ที่เขาไปสอน เขาเริ่มไปสอนทฤษฎีการเมือง ที่คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จุดนั้นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เขามีความสัมพันธ์กับธรรมศาสตร์ เขาอ้างว่า ลูกศิษย์รุ่นแรกเขาคือ นพดล เฮงเจริญ ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งถึง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ [44]  ดังนั้นในทางคอนเนคชั่นไม่น่าจะเป็นที่กังขาเท่าใดนัก การเข้ามาของสุเมธ อยู่ในช่วงที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตทางการเมือง การนัดพบระหว่างสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีกับสุเมธ เพื่อทาบทามอย่างให้ดำรงตำแหน่งนายกสภาฯ มีการบันทึกไว้ว่าม ประเด็นที่พูดคุยของสุเมธแสดงความเป็นห่วงของสถานการณ์ของบ้านเมืองตั้งแต่เมื่อแรกพบ [45]

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’
สุเมธ ตันติเวชกุล นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.)
เป็นประธานพิธีถวายสังฆทานพระสงฆ์ เนื่องในวัน ปรีดี ประจำปี 2554
ภาพจาก มติชนออนไลน์

การถ่ายทอดอุดมการณ์ “เศรษฐกิจพอเพียง” ในธรรมศาสตร์อย่างเป็นระบบนั้น เข้าใจได้ว่ามาจากสุเมธนั่นเอง พบการบันทึกจาก สมคิด เลิศไพฑูรย์ว่า สุเมธเป็นผู้ถ่ายทอดแนวคิดดังกล่าวให้นักศึกษาหลายคณะฟัง โดยเฉพาะคณะนิติศาสตร์ ที่ระบุว่าจะมีการบรรยายในช่วงที่มอบประกาศนียบัตรแก่ผู้จบการศึกษาประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน ปีละ 2 รุ่น [46] บารมีและความสามารถที่โดดเด่นของสุเมธในตำแหน่งนายกสภาฯ ทำให้เป็นที่รักใคร่แก่เหล่าอาจารย์นักบริหาร ดังที่เราพบว่า สมคิด เลิศไพฑูรย์ เชิดชูสุเมธอย่างสูงส่งในกรณีที่สุเมธปฏิเสธไม่รับตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยอีกวาระหนึ่งนั้นว่าเป็นเรื่องไม่ธรรมดาอย่างยิ่ง และความเหนือชั้นของสุเมธเป็นเรื่องที่นำทฤษฎีการแบ่งอำนาจ ของ Montesquieu มาเทียบใช้ยังไม่ได้ เพราะมีการระแวดระวังเรื่องการหลงอยู่ในอำนาจเป็นอย่างดี
“ดูเหมือนสมมุติฐานของ Montesquieu จะใช้ได้กับคนทั่วไป แต่ใช้ไม่ได้เลยกับนายกพอเพียงที่ชื่อสุเมธ ตันติเวชกุล ของพวกเรา”[47]
สมคิดคงลืมไปว่า สุเมธอยู่ในตำแหน่งนี้มาแล้วถึง 3 วาระ 6 ปี

พลังอนุรักษ์นิยมเผชิญหน้ากับกลุ่มทุนและการเมือง
ต้นทศวรรษ 2540 กลายเป็นยุคหายนะของเศรษฐกิจทุนนิยมฟองสบู่ของไทย ในอีกด้านหนึ่งมันได้แผ้วถางให้แก่อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมรูปแบบใหม่ขึ้นมาบนซากศพทุนนิยมที่เต็มไปด้วยหนี้เน่าและหายนะทางเศรษฐกิจ ในเวลาเดียวกัน สังคมไทยเริ่มกลับมาเงี่ยหูฟังเสียงก้องตะโกนจาก นักพัฒนาเอกชน เอ็นจีโอ ที่สมาทานความคิดสำนักคิดชุมชนนิยม หมู่บ้านนิยม ชนบทนิยม และนั่นคือโอกาสทองของการสถาปนาความรู้และอำนาจกระแสรองของพวกเขา แต่อย่างไรก็ตามการเฟื่องฟูของภูมิปัญญาสายนี้ มิได้ยืนได้ด้วยตัวของมันเอง แต่ยังมีพลังทางอนุรักษ์นิยมและพลังทางการเมืองขนาดมหาศาลที่หนุนเสริมอีกด้วย
สุเมธบันทึกไว้ถึงความสำเร็จของการจับมือกับคนหลายฝ่ายในการจัดทำ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (            2540-2544      ) เขาร่วมกับคนอย่างประเวศ วะสี ในฐานะผู้อาวุโสแห่งค่าย “ภาคประชาชน” ที่แผนนี้เปลี่ยนมาใช้คำว่า “เอาคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่เคยเรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ก็เกิดขึ้นจากสสร. อันเป็นการร่วมมือกันระหว่าง “ภาคประชาชน” นักพัฒนาเอกชน และผู้ตื่นตัวทางการเมืองทั่วประเทศ ความสำเร็จนี้ยังถูกอ้างอิงเรื่อยมาจากองค์กรพัฒนาเอกชน ที่หวังจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ เช่น สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาที่ พลเดช ปิ่นประทีป เป็นเลขาธิการ อ้างว่า การดำเนินการจัดทำแผน 8 ถือว่าเป็นเวทีสาธารณะครั้งแรกของประเทศไทยที่ระดมความเห็นจากทั้ง 8 ภาคทั่วประเทศ [48]
นอกจากนี้สุเมธยังได้เดินสายไปบรรยายที่ต่างๆเรื่องเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจพอเพียง” โดยอิงอยู่กับในหลวง และชุดคุณค่าทางศีลธรรมแบบชาติ-ศาสนาพุทธเถรวาทนิยม สุเมธได้เดินสายบรรยายเรื่องราวดังกล่าวอย่างไม่ย่อท้อ อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมเช่นนี้ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ “อดีตอันดีงาม” “พุทธศาสนาแบบเถรวาทไทย” และมีศัตรูที่สำคัญก็คือ “ฝรั่งตะวันตก”
แต่พลังเหล่านี้ดูจะเป็นคู่ตรงข้ามกับพลังของกลุ่มทุนและการเมืองสายพันธุ์ใหม่ ที่ถือกำเนิดมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่นำโดย ทักษิณ ชินวัตร ที่แต่เดิมอาจกล่าวได้ว่า เหล่านักคิดแนวท้องถิ่นนิยม นักเคลื่อนไหวทางสังคมจำนวนไม่น้อย มีส่วนร่างนโยบายให้กับพรรคไทยรักไทยด้วย อย่างไรก็ตาม แนวทางการพัฒนาของไทยรักไทยที่เน้นไปทั้งสองขา คือ ทั้งเน้นการค้าขายกับตลาดต่างประเทศ และกระตุ้นการใช้เงินภายในประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ในสายตาของสุเมธแล้ว ถือว่าเป็นการกระตุ้นให้เกิดความละโมบ แน่นอนว่าขัดกับหลักการของความดีที่ต้องพยายามควบคุมกิเลส นโยบายทางเศรษฐกิจเช่นนี้จึงขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงกับอุดมการณ์ที่สุเมธสมาทาน
หลังช่วงฮันนีมูนกับรัฐบาล ก็เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาลไทยรักไทย สุเมธเคยบรรยายในปี 2545 ว่า สังคมไทยมีโรค 4 บ้า นั่นก็คือ บ้าเงิน บ้าอำนาจ บ้าวัตถุ และบ้าฝรั่ง (ตะวันตก) [49] แต่ก็ยังไม่ได้เป็นการเจาะจงเท่าในปี 2547 ที่เขาเขียนบทความที่ชื่อ "เศรษฐกิจพอเพียง หัวใจเศรษฐกิจไทย ไม่ใช่ dual track " [50] การจั่วหัวเช่นนี้เป็นการวิจารณ์นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยรักไทยโดยตรง ในบทความได้ตอกย้ำถึงหลักคิดของเขาอย่างชัดเจน
"พระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มต้นที่ฐานราก แต่ไม่รากหญ้า ผมเกลียดคำนี้มาก ไม่เคยพูดมาที่สาธารณะเลย เพราะอะไร เพราะเราแปลมาจาก grass root ของฝรั่ง ตามฝรั่งจนเนรคุณคนที่เลี้ยงดูเรามา เราเคยให้เกียรติชาวไร่ชาวนามาตลอด เคยเรียกว่ากระดูกสันหลังของชาติ พอถึงยุคนี้ไม่สำนึกบุญคุณ ดูถูกดูแคลนพวกเขาว่ารากหญ้า เดี๋ยวนี้คนไทยขาดสติอย่างแรง เอะอะอะไรก็ตามฝรั่งจนลืม ความหมายของตัวเอง"
ในฐานะประธานมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด ได้แสดงข้อมูลตัวเลขเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ต่อรัฐบาลทักษิณ เนื่องในโอกาสที่รัฐบาลตั้งแคมเปญประกาศสงครามกับคอรัปชั่นในวันที่ 1 ตุลาคม 2547 ขณะที่ภาพลักษณ์ของรัฐบาลและตัวทักษิณเอง กำลังมีปัญหามากขึ้นทุกทีในสายตาของนักวิชาการ มีการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ทักษิณในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็น กรณีปราบปรามยาเสพติดจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในช่วงปี 2546 ประเด็นการลุกฮือของชาวมลายูในภาคใต้ กรณีมัสยิดกรือเซะ เมษายน 2547 กรณีตากใบ 2547 กรณีที่รัฐบาลมีความพยายามจะออกสลากเพื่อซื้อสโมสรลิเวอร์พูลเป็นจำนวนเงินกว่า 46,000 ล้านบาท ในปีเดียวกัน

ข่าวลือ เรื่องนายกพระราชทาน คนดีที่จะมาแทนนักการเมืองที่แสนชั่วช้า
รัฐบาลทักษิณยิ่งประสบกับปัญหาอย่างหนักหน่วง เมื่อเครือข่ายต่อต้านทักษิณ ชินวัตร ขยายตัวเป็นทวีคูณ จากการที่สนธิ ลิ้มทองกุล และเครือข่ายผู้จัดการ ลงสนามต่อต้านทักษิณด้วยในปี 2548 มีการวิพากษ์วิจารณ์การคอรัปชั่น และยกประเด็นการละเมิดอำนาจพระมหากษัตริย์ ในปีต่อมา การขายหุ้นชินคอร์ปก็ยิ่งกลายเป็นผลลบอย่างมากต่อทักษิณ และครอบครัว ในกรณีเลี่ยงภาษีและขายหุ้นให้ต่างชาติซึ่งเชื่อกันว่ามีผลต่อความมั่นคงของชาติ ความง่อนแง่นของรัฐบาลทำให้ในที่สุดทักษิณแก้เกมด้วยการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ในด้านหนึ่งทักษิณก็ถูกกล่าวหาว่า ยุบสภาเพื่อหนีการตรวจสอบ การเลือกตั้งทั่วไปในเดือน เมษายน 2549 ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน อย่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยและพรรคมหาชน ประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทย กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง อย่างไรก็ตามความตึงเครียดทางการเมืองก็ยังไม่จบสิ้น เมื่อรัฐบาลถูกกล่าวหาจากเครือผู้จัดการกรณี “ปฏิญญาฟินแลนด์” ในเดือนมิถุนายน 2549
ข่าวและข้อมูลการทุจริตและฉ้อฉลของทักษิณ ชินวัตร ได้โหมกระแสไฟแห่งการเกลียดชังของชนชั้นนำ ชนชั้นกลาง นักคิด นักวิชาการจำนวนมาก ความอึดอัดทางการเมืองเหล่านี้เองนำไปสู่การเรียกร้องหาข้อยุติที่มีธงอยู่แล้วคือให้ “ทักษิณ...ออกไป” โดยไม่สนใจวิธีการว่า จะเป็น “ประชาธิปไตย” หรือไม่
วิธีการ “อประชาธิปไตย” ข้อแรก ก็คือ ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาด้วย “นายกรัฐมนตรีพระราชทาน” จาก มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ทักษิณเว้นวรรคทางการเมือง สิ่งนี้เป็นการเสนอโดยหลายฝ่าย ทั้งนักวิชาการและนักการเมือง หนึ่งในนั้นก็มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ด้วย [51] ซึ่งกรรมนี้เอง เป็นที่มาของการถูกล้อเลียนในนามของ “มาร์ค ม.7” แน่นอนว่า ภาพลักษณ์ที่ย่ำแย่ของทักษิณ ยังส่งผลต่อความเน่าเหม็นของนักการเมืองคนอื่นในระบบด้วย ดังนั้นการที่จะหาคนมาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงควรจะเป็นคนนอกที่ ไม่มีผลประโยชน์ เป็นกลาง และจะต้องมีคุณสมบัติที่ถึงพร้อมในความเป็น “คนดี” ที่มีศีลธรรม ไม่โกงกิน และอาจรวมถึงเป็นผู้มีสกุลรุนชาติ ได้รับการอบรมมารยาทเป็นอย่างดีด้วย

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’
ฎีกาขอนายกฯพระราชทาน ลงนามโดย
นายแพทย์ มงคล ณ สงขลา และ
ม.ร.ว.ยงยุทลักษณ์ เกษมสันต์
วันที่ 5 มีนาคม 2549

ในขณะนั้นมีข่าวลือว่า คนที่มีคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีพระราชทาน ก็คือ สุเมธ ตันติเวชกุล [52] จากการให้สัมภาษณ์ สุเมธ ก็ใช้เทคนิคเดิมก็คือ กล่าวปฏิเสธทั้งยังยกเหตุผลมาอ้างพัลวันว่า "คุณพ่อผมเล่นการเมืองจนหมดตัว สมัยก่อนนักการเมืองเล่นการเมืองจนหมดเนื้อหมดตัว ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ ผมสาบส่งการเมือง ไม่เอาเด็ดขาด ใจมันไม่ชอบทางนี้เลย ผมว่าช่วงเวลาทำงานที่สุขที่สุดคือ การเป็นข้าราชการระดับ ซี 4 สบายสุดๆ แต่พอยิ่งใหญ่ ยิ่งมีอำนาจ ยิ่งเครียด"
กระนั้น วิธีการขอนายกพระราชทานก็มีอันตกไป พวกรักบ้านเมืองจนหน้ามืดตามัวมีอันฝันสลาย เมื่อในหลวงทรงปฏิเสธทางอ้อม ผ่านพระราชดำรัสต่อคณะผู้พิพากษาที่ว่า "...เขาอยากจะได้นายกฯ พระราชทาน เป็นต้น จะขอนายกฯ พระราชทาน ไม่ใช่เป็นเรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตย..." [53]
อย่างไรก็ตาม ความสั่นคลอนของรัฐบาลถูกขย่มด้วยการปฏิบัติการทางการเมือง และสงครามข่าวอย่างมหาศาล แม้กรณีคาร์บอมบ์ เดือนสิงหาคม 2549 ที่มุ่งร้ายเอาชีวิตนายกรัฐมนตรี ก็ถูกทำให้เป็นเรื่องตลกในนาม “คาร์บ๊อง” ความอึมครึมและคลุมเครือทางการเมืองที่ผูกติดแน่นเป็นเงื่อนตายเหล่านี้ ในที่สุดก็ถูกทะลวงด้วยอำนาจของปากกระบอกปืน รถถังได้ออกมายาตรายึดสถานที่สำคัญ ควบคุมการสื่อสารสาธารณะในจุดใหญ่ นี่เป็นวิธีการ “อประชาธิปไตย” ข้อที่สองที่ได้ผลอย่างชะงัด ด้วยฐานคิดที่เชื่อว่าการเอาคนเลวๆหนึ่งออกจากอำนาจ แล้วทุกอย่างจะจบ

หกล้มหกลุก กับ รัฐประหาร 2549
อย่างไรก็ตามเรื่องข่าวลือดังกล่าวก็คงส่งผลต่อข้อมูลในการวิเคราะห์ข่าวอื่นๆด้วย ดังที่พบกว่าหลังการรัฐประหาร Shawn W. Crispin นักข่าวจาก Asia Times เขียนวิเคราะห์ว่า สุเมธ เป็นผู้มีความเป็นไปได้ที่จะถูกเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี คู่กับอีกคนคือ พลากร สุวรรณรัฐ ในวันที่ 21 กันยายน 2 วันหลังจากรัฐประหาร [54] แต่แล้ว นายกรัฐมนตรีจากรัฐประหาร กลับมาหวยออกที่ สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายทหารยศพลเอก อดีตผู้บัญชาการทหารบก และขณะนั้นดำรงตำแหน่งองคมนตรี ซึ่งสุรยุทธ์ก็เข้าข่าย คนดีมีศีลธรรม จริยธรรม ฝักใฝ่พุทธศาสนา แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเข้ามาสู่แวดวงการเมืองในระบบ ทำให้ “คนดี” อย่างเขาถูกตรวจสอบ กรณีที่โด่งดังเป็นอย่างมาก และทำให้สุรยุทธ์เปลืองตัวและเกือบเสียคน ก็คือ คดีละเมิดป่าสงวน ณ เขายายเที่ยง การที่คนดีได้มาอยู่ในระบบการเมืองแบบรัฐสภาที่ทำให้เกิดการตรวจสอบต่อสาธารณะได้ก็ทำให้คนดีเกิดอาการไม่เป็นเหมือนกัน [55] หรือนี่จะเป็นคราวเคราะห์ของสุรยุทธ์ แต่เป็นโชคดีของสุเมธ?

ตำนาน เฟอร์รารี่
ข้อกล่าวหาที่อาจกล่าวได้ว่า เสียดสีกับสิ่งที่สุเมธเทศนาที่สุด นั่นก็คือ สุเมธขับรถสปอร์ตหรูหรา ยี่ห้อเฟอร์รารี่ มาบรรยายเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งข้อความระบุต่อไปว่า สุเมธ ซื้อรถคันงามต่อมาจาก ชุมพล ณ ลำเลียง ด้วยราคา 500,000 บาท [56] ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้น เรื่องเล่านี้น่าจะเป็นเรื่องโจ๊กเสียมากกว่า อย่างไรก็ตามโจ๊กเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องเล่ากันสนุกๆ หรือใช้นินทาลับหลังกันในวงแคบๆ เท่านั้น ความน่าจะร้อนไปถึงสุเมธ จนทำให้ต้องแก้ข้อกล่าวหาผ่านสื่อมวลชน ดังนี้
“ผมขับรถแอคคอร์ดเก่าๆ ยามเห็นเขาก็ให้ผมไปจอดข้างหลัง แต่ถ้าลองเป็นเบนซ์มาเขาให้จอดข้างหน้า หรือผมไปซื้อรถโฟล์ก 37,000 บาท แต่ซ่อมไปแสนกว่าบาท แถมตอนออกจากราชการ ผมก็ใช้เงิน 5 แสน ซื้อรถสปอร์ต เพราะอยากได้ โคโรลล่า มือสอง แต่ใครไม่รู้ไปเขียนแซวมาผมถอยเฟอร์รารี่ กลายเป็นข่าวคึกโครมไปทั่ว” [57]

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’
ภาพจาก ประชาชาติธุรกิจ

เงินบริจาคจากเทศกาลอาหารหรูหรา
เทศกาล Epicurean Masters of the World ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 6-10 ก.พ.2550 ณ ภัตตาคาร The Dome ซึ่งอยู่บนยอดหอคอยงาช้างของตึกสเตททาวเวอร์นั้น เป็นการรับประทานอาหารมื้อค่ำราคาสุดโหด ตัวเลขกลมๆตกอยู่ที่มื้อละ 1 ล้านบาท และบวกค่าบริการอีก 7 เปอร์เซ็นต์ ข่าวนี้เป็นที่สนใจต่อสำนักข่าวบีบีซี [58] และหนังสือพิมพ์การ์เดียนของอังกฤษ อีกด้วย มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในเวลาไล่เลี่ยกัน สุเมธ ในฐานะ เลขาธิการมูลนิธิ ชัยพัฒนา ได้แสดงบรรยายประกอบการสัมนา เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี วันคล้ายวันสถาปนาสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 6 หัวข้อ "ความพอเพียงด้านอาหารและโภชนาการ เพื่อสมดุลแห่งชีวิต" ซึ่งเขากล่าวไว้ว่า “ความจริงร่างกายมนุษย์ต้องการอาหารไม่มากนัก ทานให้อิ่มก็พอ แต่ที่เรากินกันเยอะอย่างทุกวันนี้ เป็นการกินส่วนเกิน เรียกว่า "โรคสังคม"” [59]
ที่เหนือความคาดหมายก็คือ รายได้จากเทศกาลอาหารสุดหรูระดับโลก ส่วนหนึ่งนำมาสมทบแก่องค์กรที่ทำงานเพื่อสังคม หนึ่งในนั้นก็มีชื่อของ มูลนิธิชัยพัฒนา อยู่ด้วย

อำนาจของการปฏิเสธ กับการแก้เกี้ยว
สุเมธมักจะแสดงให้เห็นในบันทึกถึงความใจกว้าง ไม่รับในสิ่งที่ไม่ควรจะได้ ดังเช่น สิทธิพิเศษของข้าราชการที่ปฏิบัติราชการในช่วงสงครามคอมมิวนิสต์ในปลายทศวรรษ 2510 ต่อต้นทศวรรษ 2520 เขากล่าวปฏิเสธไว้ในบันทึกด้วยเหตุผลว่า “ป้องกันชาติบ้านเมืองต้องจ้างกันด้วยหรือ”แต่สุดท้ายในบันทึกของเขาเองก็ระบุว่าเขารับทั้งเบี้ยเลี้ยงและอายุราชการทวีคูณ [60]
เช่นเดียวกับรางวัลพ่อตัวอย่าง สุเมธปฏิเสธไม่รับเช่นเคย เนื่องจากว่าเขาไม่เคยมีเวลาได้เลี้ยงลูก เพราะไม่มีเวลาให้ อย่างไรก็ตามทางผู้มอบรางวัลก็อ้อนวอนให้ไปรับโดยให้เหตุผลว่า ถึงไม่ได้เลี้ยงลูกตัวเองก็เลี้ยงลูกคนอื่น ดูแลเด็กเล็กในต่างจังหวัด ในชนบท[61]
สุเมธก็เคยอิดออดที่จะไม่รับตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่ได้เรียนจบธรรมศาสตร์จะเป็นได้อย่างไร[62] ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจรับตำแหน่งที่มีวาระ 2 ปีต่อครั้ง อีกกรณีหนึ่งก็คือ เมื่อครั้งสุเมธได้รับการทาบทามให้ดำรงตำแหน่งเป็นวาระที่สาม ในช่วงใกล้ครบวาระที่สองในปี 2552 สุเมธ แจ้งที่ประชุมสภาว่าจะไม่ขอรับหน้าที่ในวาระที่สาม แต่ด้วยความที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ขอร้องให้อยู่ต่อ เนื่องจากเห็นว่าสุเมธมีศักยภาพมากพอที่จะผลักดันงานให้ลุล่วง โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัยที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงอธิการบดีในปลายปี 2553 และก็เป็นอีกครั้งที่สุเมธ กลับคำปฏิเสธ และมุ่งมั่นทำงานตามคำขอร้องต่อไป [63]

การรู้จักหยุด
“ "มีคนถามผมว่าจะกลับไปวงการเมืองอีกไหม ไม่แล้ว เหตุผลว่าไม่แล้วเพราะอะไร? ก็ให้พวกคุณเนี่ย เมืองไทย Next Generation, Go on Man! ไม่งั้น “ตาแก่คนนี้เอาอีกแล้ว”" [64]
พันศักดิ์ วิญญูรัตน์ อายุ 68 ปี

“ตลอดชีวิตการทำงานจนถึงทุกวันนี้ ชีวิตผมไม่เคยลาพักร้อนเลย ตั้งแต่ทำงานราชการไม่เคยลาพักร้อน ไม่รู้จัก นี่ขนาดเกษียณมา 12 ปี ก็ยังไม่รู้จักคำว่าเกษียณ ทำงานทุกวัน เสาร์อาทิตย์ก็ต้องทำ โดยเฉพาะงานตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ไปเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ บางที่ก็เชิญไปสอน ไปบรรยาย ซึ่งโครงการปริญญาโทชอบสอนวันเสาร์อาทิตย์ ก็ต้องไป ชีวิตไม่รู้จักคำว่าเสาร์อาทิตย์ ไม่รู้จักวันหยุด หรือปีใหม่ คือ ชีวิตมอบให้การทำงานจริงๆ” [65]
สุเมธ ตันติเวชกุล อายุ 72 ปี
คำถามก็คือ อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าพอ?
http://redusala.blogspot.com