วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2558

แดเนียล รัสเซล ย้ำไม่มีสวิตซ์เปิดปิดประชาธิปไตยในขั้นตอนเดียว


ผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศ สหรัฐ ปาฐกถาที่จุฬาฯ ย้ำความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ 182 ปี ยืนยันไม่เข้าข้างฝ่ายใด แต่ห่วงการปลดผู้นำจากการเลือกตั้งด้วยรัฐประหาร-ถูกกล่าวหาทางอาญา ประชาคมโลกจะรู้สึกว่าเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง พร้อมเสนอให้ยกเลิกกฎอัยการศึก-เลิกจำกัดเสรีภาพ เชื่อว่าการปฏิรูปที่ครอบคลุมจากทุกภาคส่วนจะนำมาซึ่งประชาธิปไตยที่สะท้อน-ตอบสนองเจตนารมณ์ประชาชนไทย
26 ม.ค. 2557 - ในช่วงการเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 25-26 ม.ค. ของแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ในช่วงบ่ายวันนี้ (26 ม.ค.) รัสเซลมีกำหนดปาฐกถาที่สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร โดยมีนิสิตนักศึกษาโครงการ YSEALI ร่วมฟังปาฐกถาด้วย
โดยตอนหนึ่ง รัสเซล กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย ที่มียาวนานกว่า 182 ปี และระบุว่า "ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทยมีขอบเขตกว้างไกลกว่าจำนวนปีที่เราทั้งสองเป็นพันธมิตรกันมา หรือ แม้กระทั่งผลประโยชน์และเจตจำนงที่เรามีร่วมกัน  มิตรภาพของเราซึ่งมีจุดเริ่มต้นนานมาแล้วได้รับการกระชับไมตรีอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา อาทิ ด้วยการที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ทรงพำนักในสหรัฐอเมริกาเพื่อ ศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชสมภพในรัฐแมสซาชูเซตส์ และด้วยการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีส่วนในการเกื้อหนุนวัฒนธรรมอเมริกัน"
"มิตรภาพที่กว้างไกลและยั่งยืนของเราได้รับการกระชับสัมพันธ์ด้วยนักเรียนไทยหลายพันคนที่เดินทางไปศึกษาต่อในสหรัฐฯ ทุกปีและชาวอเมริกันที่เข้ามาศึกษาและท่องเที่ยวในไทย  เป็นเวลากว่าสองศตวรรษที่ชาวอเมริกันได้ อาศัยอยู่ในไทยและมีส่วนเกื้อหนุนสังคมไทยในด้านต่างๆ มากมาย เช่นเดียวกับที่ชาวไทยได้มีส่วนในสังคมอเมริกัน"
"ประเทศเราทั้งสองได้ยืนหยัดเคียงคู่กันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง  เราเป็นพันธมิตรที่สนับสนุนอุดมการณ์ประชาธิปไตยในช่วงความขัดแย้งในคาบสมุทรอินโดจีน  เราได้ต่อสู้กับการแพร่ขยายของการก่อการร้ายในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และเราเป็นประเทศคู่ความร่วมมือที่นำเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองมาสู่คนไทยและ ภูมิภาคนี้"
รัสเซลกล่าวด้วยว่าไทยและสหรัฐอเมริกา มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่ยาวนาน ประเทศไทยเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่ใหญ่อันดับสามของสหัฐ บริษัทอเมริกันจำนวนมากก็มาลงทุนในประเทศไทย ทำให้เกิดการจ้างงานหลายหมื่นตำแหน่ง และนำมาสู่เทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศไทย ไม่ใช่แค่ปริมาณ แต่ยังมีคุณภาพด้วย  การดำเนินธุรกิจกับอเมริกาได้เพิ่มศักยภาพและทักษะสำหรับแรงงานไทย ซึ่งเป็นการช่วยประเทศไทยก้าวข้าม "กับดักประเทศรายได้ปานกลาง" และพัฒนาชีวิตของประชาชนทั่วไปให้ดีขึ้น
ตอนหนึ่ง รัสเซล กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยว่า "น่าเสียดายว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทยต้องเผชิญกับอุปสรรคและยังได้รับผลกระทบจากรัฐประหารโดยกองทัพเมื่อแปดเดือนก่อน ซึ่งได้ปลดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตย"
"เมื่อเช้านี้ ผมได้พูดคุยกับอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศธนะศักดิ์  ผมหารือกับทั้งสามท่านเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทยในปัจจุบัน  ทุกฝ่ายกล่าวถึงความสำคัญของการปรองดองและการดำเนินการสู่อนาคตที่เป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย"
"ผมเข้าใจดีว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง จึงขอยกประเด็นนี้ขึ้นมาด้วยความนอบน้อมและความเคารพต่อประชาชนชาวไทย  สหรัฐฯ ไม่เข้าข้างฝ่ายใดในการเมืองไทย  เราเชื่อว่า ประชาชนชาวไทยคือผู้กำหนดความชอบธรรมของกระบวนการทางการเมืองและกระบวนการทางทางกฎหมายของตน  ทว่า สหรัฐฯ ยังคงกังวลเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่รัฐประหาร อันรวมถึงข้อจำกัดด้านการพูดและการชุมนุม"
รัสเซล กล่าวด้วยว่า สหรัฐฯ ยังมีความกังวลเป็นพิเศษในประเด็นที่ว่า กระบวนการทางการเมืองนี้ไม่ได้เป็นตัวแทนทุกภาคส่วนของสังคมไทย "ผมขอย้ำอีกครั้งว่า สหรัฐฯ ไม่ได้กำลังบงการเส้นทางการเมืองที่ไทยควรดำเนินตามเพื่อกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยหรือกำลังเลือกข้างในการเมืองไทย แต่กระบวนการที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนนั้นจะส่งเสริมการปรองดองทางการเมือง ซึ่งสำคัญต่อความมั่นคงในระยะยาว  กระบวนการในวงแคบที่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งนั้นเสี่ยงต่อการปล่อยให้คนไทยจำนวนมากรู้สึกถูกกีดกันจากระบบการเมือง"
"นี่คือเหตุผลที่สหรัฐฯ ยังคงมุ่งสนับสนุนกระบวนการทางการเมืองที่ครอบคลุมในวงกว้างกว่า ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้รู้สึกว่า กระบวนการดังกล่าวเป็นตัวแทนของตนด้วย"
"นอกจากนี้ มุมมองความเข้าใจเรื่องความเป็นธรรมก็เป็นสิ่งสำคัญ  ผมขอกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า เมื่อผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งถูกปลดออกจากตำแหน่ง ถูกถอดถอนโดยผู้มีอำนาจที่ก่อรัฐประหาร และตกเป็นเป้าด้วยข้อหาอาญาในขณะที่กระบวนการและสถาบันพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยต้องหยุดชะงักลง  ประชาคมโลกจึงเกิดความรู้สึกว่า ขั้นตอนเหล่านี้อาจเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง"
"นี่คือเหตุผลที่สหรัฐฯ หวังว่าจะได้เห็นกระบวนการที่เสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนไทยต่อรัฐบาลและสถาบันตุลาการของตน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นต่อนานาประเทศว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและทุกฝ่ายมีส่วนร่วมด้วย"
"การยกเลิกกฎอัยการศึกทั่วประเทศและยกเลิกข้อจำกัดเสรีภาพในการพูดและการชุมนุมคือก้าวสำคัญอันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนอย่างแท้จริงซึ่งจะสะท้อนความหลากหลายของความคิดเห็นภายในประเทศ  สหรัฐฯ หวังว่า ผลลัพธ์ของกระบวนการนี้จะนำมาซึ่งสถาบันที่มั่นคงและเป็นประชาธิปไตยที่สะท้อนและตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทย"
ในตอนท้าย รัสเซล กล่าวว่า "สารที่ผมได้สื่อถึงบุคคลที่ผมเข้าพบในวันนี้ ถึงทุกท่าน และถึงประชาชนชาวไทยทุกคนนั้นเป็นสารเดียวกัน นั่นคือ ประเทศไทยเป็นเพื่อนและพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ  เรามีประวัติศาสตร์ความร่วมมือกันมายาวนานในหลากหลายประเด็น ที่ไม่เพียงสำคัญกับทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อภูมิภาคนี้ตลอดจนอีกฟากหนึ่งของโลก  สหรัฐฯ มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อสายสัมพันธ์นี้ รวมทั้งต่อมิตรภาพระหว่างเรากับประชาชนทุกคนของประเทศอันแสนวิเศษนี้ สหรัฐฯ มีความห่วงใยอย่างยิ่งเกี่ยวกับโอกาสที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของประเทศไทย ขอให้ทุกท่านประสบแต่สิ่งดีงามครับ"
ทั้งนี้เว็บไซต์สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เผยแพร่บทปาฐกถาของรัสเซลด้วย (อ่านเพิ่มเติม)
ในช่วงตอบคำถาม แดเนียล รัสเซล กล่าวว่า "ผมมาประเทศไทยในฐานะตัวแทนของรัฐบาล เพื่อมาฟังผู้นำทางการเมือง และภาคประชาชน เพื่อที่จะพูดถึงมุมมองของเรา และความหวังของเราต่อประเทศไทย ฉันได้พูดกับ รมว.ต่างประเทศ และผู้นำทางการเมือง สหรัฐอเมริกามีความสนใจอย่างมากต่อประเทศไทย ประเทศไทยมีความสำคัญมากต่อการเติบโตของภูมิภาค เราเชื่อว่า การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง และการจำกัด สิทธิสากลอย่างเช่น เสรีภาพในการแสดงความเห็น และเสรีภาพในการชุมนุม จะไม่นำไปสู่ความมั่นคงในระยะยาว เราเชื่อว่า การเริ่มยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อเปิดให้มีการแสดงความเห็นอย่างสงบ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และมีความไว้วางใจในสถาบันการเมืองและตุลาการ"
"มันไม่มีสวิตซ์เปิดปิดสำหรับประชาธิปไตย ในขั้นตอนเดียว ประชาธิปไตยคือการให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน ในการตัดสินใจและออกแบบอนาคตของประเทศของพวกเขาเอง มันเป็นงานยาก แต่พวกเราก็พยายามเสมอมาเพื่อที่จะทำให้ระบบนี้ดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีระบบไหนดีสมบูรณ์ แม้แต่ระบบที่เรามีอยู่ในสหรัฐฯ การผลักดันให้เกิดความยุติธรรม ความโปร่งใส ความเท่าเทียม มันไม่ได้มาจากหนังสือเรียน มันมาจากหัวใจของผู้คน และความยึดมั่นว่า พวกเขาสามารถมีระบบที่ดีขึ้นสำหรับครอบครัวและลูกหลานของพวกเขา ผมเองเชื่อว่า การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและประชาธิปไตยนั้นต้องทำอย่างต่อเนื่อง หยุดไม่ได้ มันมีอุปสรรคและการถอยหลัง"

ผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯ พบ พล.อ.ธนะศักดิ์ พร้อมย้ำให้เลิกกฎอัยการศึก


ที่มาของภาพ: กระทรวงการต่างประเทศ
แดเนียล รัสเซล เข้าพบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รมว.ต่างประเทศ โดยฝ่ายไทยย้ำจะแก้ไขการค้ามนุษย์ และแสดงความมุ่งมั่นจะทำตามโรดแมปและปฏิรูป ส่วนสหรัฐยืนยันท่าทีเดิมคือให้ยกเลิกกฎอัยการศึก ขณะที่ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือทวิภาคีแก้ไขการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด ค้ามนุษย์ อีโบล่า
26 ม.ค. 2558 - ตามที่ แดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ได้เดินทางมาเยือนไทยระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม ในช่วงเช้าได้มีการเข้าพบ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ตามที่ได้นำเสนอข่าวนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ต่อมา ตามรายงานของเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ แดเนียล รัสเซล ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยถือเป็นการเข้าเยี่ยมคารวะของผู้แทนระดับสูงจากสหรัฐ ครั้งแรกในปีนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์และความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทย- รายละเอียด ดังนี้
ทั้งสองฝ่ายยืนยันในความร่วมมือ โดยเฉพาะในฐานะที่ไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ในเอเชียที่มีความยาวนานกว่า 180 ปี รวมทั้งยืนยันความเป็นมิตรและหุ้นส่วนในการส่งเสริมความร่วมมือระดับทวิภาคี ภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยสหรัฐฯ ตระหนักถึงบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงลู่ทางในการขยายความร่วมมือในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายยังย้ำในความร่วมมือทวิภาคีในลักษณะหุ้นส่วนในการจัดการแก้ไขสิ่งท้าทายในปัจจุบัน อาทิ อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด การก่อการร้าย การค้ามนุษย์ และโรคระบาด เช่น อีโบลา ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นความท้าทายระดับประชาคมโลกในปัจจุบัน
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งถึงความมุ่งมั่นและความคืบหน้าของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และยินดีรับข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ของฝ่ายสหรัฐฯ ในเรื่องนี้ รวมทั้งได้แจ้งให้นายรัสเซลทราบถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการดำเนินการตามโรดแมปและกระบวนการปฏิรูป โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
โดยรัสเซลได้แสดงข้อคิดเห็นหลักๆ ในเรื่องของความมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และยกเลิกกฎอัยการศึก ซึ่งเป็นการยืนยันท่าทีเดิมที่สหรัฐอเมริกา มีต่อไทยในเรื่องนี้ การพบปะในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารืออย่างสร้างสรรค์และยืนยันต่างจะร่วมมือกันเสริมสร้างความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ ต่อไป
ทั้งนี้ ภายหลังการเข้าพบที่กระทรวงการต่างประเทศ ต่อมาในช่วงบ่าย ในการปาฐกถาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) รัสเซล เสนอให้รัฐบาลไทยยกเลิกกฎอัยการศึกทั่วประเทศ และยกเลิกข้อจำกัดเสรีภาพด้นต่างๆ และสนับสนุนให้มีกระบวนการปฏิรูปที่ครอบคลุมที่ภาคส่วน
"การยกเลิกกฎอัยการศึกทั่วประเทศและยกเลิกข้อจำกัดเสรีภาพในการพูดและการชุมนุมคือก้าวสำคัญอันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนอย่างแท้จริงซึ่งจะสะท้อนความหลากหลายของความคิดเห็นภายในประเทศ  สหรัฐฯ หวังว่า ผลลัพธ์ของกระบวนการนี้จะนำมาซึ่งสถาบันที่มั่นคงและเป็นประชาธิปไตยที่สะท้อนและตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทย"
ทั้งนี้เว็บไซต์สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เผยแพร่บทปาฐกถาของรัสเซลด้วย (อ่านเพิ่มเติม)

ซุปเปอร์บอร์ดชงเข้าครม.ขึ้นเงินเดือน35รัฐวิสาหกิจ6.5% ผ่าบินไทยลด5พันคน

ซุปเปอร์บอร์ด ผ่าบินไทย ลดพนง. 5 พันคน ปรับประสิทธิภาพและการตรวจสภาพรถไฟ กำหนดบทบาทให้ ขสมก. เป็นผู้ให้บริการเดินรถ ชงเข้าครม. เพิ่มเงินเดือน 35 รัฐวิสาหกิจ 6.5% ขณะที่3 ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจเตรียมนำแผนฟื้นฟูเสนอบอร์ด
27 ม.ค.2558 พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาค เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) หรือซุปเปอร์บอร์ดเมื่อวันที 26 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ที่ปะชุมได้เห็นชอบแผนฟื้นฟูของบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) การรถแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)แล้ว ส่วนราละเอียดของแผนที่จะต้องใช้เงินงบประมาณจะต้องสรุปเพื่อเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป
ผ่าบินไทย ลดพนง. 5 พันคน
สำหรับของแผนฟื้นฟูการบินไทยมี 5 ประเด็นหลัก คือ
  • 1. การปรับเส้นทางบิน
  • 2. การปรับแผนการตลาด
  • 3. การขายทรัพย์สินและอากาศยานที่ไม่ได้ใช้งาน
  • 4. การปรับโครงสร้างอัตรากำลังลดจาก 2.5 หมื่นคน ให้เหลือ 2 หมื่นคน
  • 5. การปรับปรุงและพัฒนากิจการที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของการบินไทย เช่น กิจการโรงแรม และกิจการขนส่งน้ำมัน เป็นต้น

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า การปรับเส้นทางบิน จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ เส้นทางบินที่ขาดทุนอย่างแน่นอนและขาดทุนอย่างต่อเนื่องจะให้หยุดบินไปก่อน และใช้เวลา 6 เดือน 12 เดือน และ 18 เดือน ในการพิจารณาที่จะกลับมาฟื้นฟูการบินอีกครั้ง ส่วนเส้นทางที่ขาดทุนแต่มีแนวโน้มที่จะทำกำไรได้ก็ให้พิจารณาปรับลดจำนวนเที่ยวบินลงและให้ฟื้นฟูกลับมาภายใน 6 – 12 เดือน ส่วนเส้นทางที่พอมีกำไรให้พิจารณาในการพัฒนาและเพิ่มการบริการ โดยเน้นการเชื่อมต่อเส้นทางบินเพื่อมิให้ขาดช่วง โดยเฉพาะในส่วนของ 2 กลุ่มแรกที่มีการหยุดบินและลดจำนวนเที่ยวบินจะต้องดำเนินการเพื่อไม่ให้ผู้โดยสารไม่ได้รับผลกระทบ
ส่วนการปรับแผนการตลาด จะเน้นการปรับกลยุทธ์ในการขายตั๋ว ให้เพิ่มสัดส่วนการขายตั๋วผ่านระบบออนไลน์และการจำหน่ายตั๋วเอง รวมทั้งการขยายเครือข่ายการขายตั๋วให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ได้มากขึ้น
สำหรับ แผนการขายทรัพย์สินและอากาศยานที่ไม่ได้ใช้งาน เช่น ปลดระวางเครื่องบิน 22 ลำ เพราะมีการปรับลดและเลิกเส้นทางบินจึงต้องปรับลดจำนวนเครื่องบินให้เหมาะสมด้วย ดังนั้นเครื่องบินที่ไม่เหมาะสมหรือสิ้นเปลืองน้ำมันก็ต้องปลดระวางหรือดำเนินการขายทิ้ง เพื่อช่วยลดภาระด้านการซ่อมบำรุงและค่าจอดต่างๆ
ขณะที่การปรับโครงสร้างอัตรากำลัง  พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ยังไม่กำหนดช่วงเวลา ซึ่งจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับแผนการเกษียณก่อนกำหนดและแผนสมัครใจลาออกด้วย ส่วนปรับปรุงพัฒนากิจการที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของการบินไทย จะต้องไปพิจารณารายละเอียดว่าส่วนใดจะโอนออกไปหรือขายอีกครั้ง
“การหยุดเลือดของการบินไทยได้ ต้องตัดในส่วนที่ทำให้ติดลบมากๆอออกไปก่อน เช่น เคยลงทุน 2 แสนล้านต่อปี อาจลดลงเหลือ 1.5 แสนล้านบาทต่อปี ส่วนแผนการรับมอบเครื่องบินใหม่และการชำระหนี้เครื่องบินนั้นก็ให้มีการเจรจาเพื่อขอยืดเวลาการรับมอบและการชำระหนี้ออกไป แต่ไม่ได้ยกเลิกแผนการสั่งซื้อเครื่องบิน” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว
“เรื่องการขายสินทรัพย์ของการบินไทยมี 2 ส่วน คือ การขายเครื่องบินที่ไม่ได้ใช้งานกับการขายที่ดินหรืออาคารหากพิจารณาว่าไม่ได้มีการใช้งาน ส่วนรายละเอียดฝ่ายบริหารจะไปพิจารณาเพื่อนำข้อมูลเสนอ คนร.ในครั้งต่อไป”พล.อ.อ.ประจิน กล่าว
ปรับประสิทธิภาพและการตรวจสภาพรถไฟ
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ในส่วนของแผนฟื้นฟู ร.ฟ.ท.นั้น คนร.เห็นชอบให้เพิ่มบริการที่มีอยู่ให้มีศักยภาพ เช่น ปรับปรุงประสิทธิภาพทางรถไฟ ปรับปรุงการให้บริการตรวจสภาพรถไฟ เพื่อให้บริการได้ตรงเวลาและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนปัญหาหนี้สินรวม 8.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกิดจากภาระดอกเบี้ยที่รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับ ร.ฟ.ท.ล่าช้า กรณีรถไฟฟรี หรือการไม่ได้ปรับขึ้นค่าโดยสารที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง รวมทั้งภาระจากเงินบำนาญของพนักงานนั้น ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ร.ฟ.ท. และกระทรวงการคลังหารือถึงแนวทางให้ได้ข้อสรุปภายใน2 สัปดาห์ และรายงาน คนร.ต่อไป
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า สำหรับการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับการทำงานตามภารกิจใหม่ เพราะต่อไปจะมีการเดินรถไฟทั้งระบบเดิมทางคู่ขนาด 1 เมตร และรางมาตรฐาน 1.435 เมตรนั้น ที่ประชุมมอบให้ ร.ฟ.ท.กลับไปศึกษาแนวทางการปรับลดสัดส่วนของพนักงานแต่ละกลุ่มให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับภารกิจใหม่ที่เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของผู้บริหาร วิศวกร ช่างเทคนิค และพนักงานทั่วไป จะมีการเสนอที่ประชุม คนร.ในครั้งหน้า โดยจะเสนอขอแก้ไขมติคณะรัฐมนตรี ปี 2541 ที่กำหนดให้ ร.ฟ.ท. รับพนักงานใหม่ได้ไม่เกิน 5% ของพนักงานที่เกษียนด้วย เพราะตามแผนฟื้นฟู ร.ฟ.ท.กำหนดให้รับพนักงานเพิ่มระหว่างปี 2558-2565 รวม 2,500 คน ซึ่งจะทำให้อัตรากำลังของ ร.ฟ.ท.ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 - 1.7หมื่นคน จากปัจจุบันมี 1.4 หมื่นคน
กำหนดบทบาทให้ ขสมก. เป็นผู้ให้บริการเดินรถ
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ส่วนแผนฟื้นฟู ขสมก. เห็นชอบให้ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและผู้บริหารให้สอดคล้องกับการทำงานและการกิจ โดยกำหนดบทบาทให้ ขสมก. เป็นผู้ให้บริการเดินรถ ดังนั้นงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลจะโอนให้กรมการขนส่งทางบก(ขบ.)เข้ามารับผิดชอบแทน แต่ในเรื่องของสัดส่วนการเดินรถและเส้นทางเดินรถต่างๆจะให้สิทธิกับ ขสมก.มากกว่ารถร่วมบริการ ซึ่งรายละเอียดจะต้องไปหารือร่วมกันอีกครั้ง ส่วนที่หนี้สินสะสม 92,000 ล้านบาทนั้น ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือร่วมกันว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ก่อนที่จะเสนอ คนร.ต่อไป
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะเริ่มใช้มาตรการดังกล่าวได้ทันที ซึ่งเป็นไปตามอำนาจของฝ่ายบริหารและบอร์ดการบินไทย ส่วนการปรับลดหรือยกเลิกเส้นทางบินหรือการขายตั๋วนั้นฝ่ายบริหารสามารถดำเนินการได้ทันที แต่แผนที่จะต้องมีการใช้งบประมาณจะต้องเสนอขออนุมัติจาก ครม. เช่น การปรับลดบุคลากร ต้องเสนอ ครม.ก่อน
ชงเข้าครม. เพิ่มเงินเดือนรัฐวิสาหกิจ 6.5%
วันเดียวกันที่ประชุมซูเปอร์บอร์ดมีมติเห็นชอบในหลักการให้ปรับปรุงอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ จำนวน 35 แห่ง ที่ใช้บัญชีเงินเดือนค่าจ้าง 58 ขั้น ตามประกาศคณะกรรม การรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กระทรวงแรงงาน
โดย กุลิศ สมบัติศิริ ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า โดยให้ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยขั้นละ 6.5 เปอร์เซ็นต์ คือจากขั้นต่ำสุดที่เดือนละ 5,780 บาท เป็น 9,040 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท และภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมทั้งเป็น การสร้างแรงจูงใจในการทำงานของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ส่วนกรณีรัฐวิสาหกิจจะขยายเพดานอัตราค่าจ้างขั้นสูงขึ้นไปสูงกว่าที่ใช้ บังคับอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันเงินเดือนขั้นสูงสุดอยู่ที่เดือนละ 113,520 บาท หากปรับขึ้นอีก 6.5 เปอร์เซ็นต์ เป็น 142,830 บาท แล้วเกินวงเงินจากเพดานขั้นสูงที่กำหนดไว้ รัฐวิสาหกิจต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และครม.เป็นรายกรณีไป
กุลิศ กล่าวต่อว่า การขยายเพดานค่าจ้างขั้นสูงต้องสอดคล้องกับขนาด ภาระหน้าที่ และความรับผิดชอบของรัฐวิสาหกิจที่แตกต่างกันตามความเหมาะสม รวมทั้งความสามารถในการรองรับภาระค่าใช้จ่ายบุคลากรที่เพิ่มขึ้นของรัฐ วิสาหกิจด้วย ไม่ใช่ปรับขึ้นตามอำเภอใจ ขณะที่รัฐวิสาหกิจที่เหลือ ที่ไม่ได้ใช้บัญชีเงินเดือนของกระทรวงแรงงาน กำหนดให้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจ เบื้องต้นคาดเตรียมนำเข้าครม. เพื่อพิจารณาในสัปดาห์หน้า
3 ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจเตรียมนำแผนฟื้นฟูเสนอบอร์ด
วันนี้(27 ม.ค.) หลังจากซุปเปอร์บอร์ดผ่านความเห็นชอบให้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูของรัฐวิสาหกิจทั้ง 3 แห่งที่อยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ประเสริฐ อัตตะนันทน์ รักษาการผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ (27 ม.ค.) จะมีการประชุมคณะกรรมการ รฟท. ฝ่ายบริหารจะรายงานข้อมูลเบื้องต้นให้คณะกรรมการทราบถึงการผ่านความเห็นชอบของ คนร. และประเด็นที่ต้องทำตามแผนฟื้นฟูภาพรวมทั้งหมดฝ่ายบริหารได้นำเสนอข้อมูลถึงความจำเป็นต้องฟื้นฟูเร่งด่วนหลังจากนี้ ส่วนรายละเอียดและความเห็นที่ คนร.ตั้งข้อสังเกต ทางฝ่ายบริหาร รฟท.ไม่ได้เข้าชี้แจงในที่ประชุม ดังนั้น จะต้องรอรายละเอียดฝ่ายเลขานุการของ คนร.ทำหนังสือแจ้งแต่ละหน่วยงานให้ทราบอีกครั้ง
ขณะที่ปราณี ศุกระศร กรรมการและรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (28 ม.ค.) ช่วงบ่ายจะมีการประชุมคณะกรรมการ ขสมก. ฝ่ายบริหารจะมีการรายงานประเด็นที่ผ่านความเห็นชอบของ คนร.ให้คณะกรรมการทราบ ส่วนการตั้งข้อสังเกตที่จะมีการโยกการบริหารส่วนการกำกับดูแลของรถร่วมบริการเอกชนทั้งหมดไปให้กรมการขนส่งทางบกดูแล โดย ขสมก.จะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้เดินรถให้บริการนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากจะทำให้การบริหารการเดินรถของ ขสมก.คล่องตัวขึ้น
ส่วนการบินไทยภายหลัง จรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย ได้ชี้แจงแผนปฏิรูปองค์กรการบินไทยตามแนวทาง 3 ขั้นตอน 6 กลยุทธ์เมื่อวานที่ผ่านมา หลังจากนี้ฝ่ายบริหารการบินไทยจะมีการรายงานผลการประชุมอนุมัติแผนฟื้นฟูของ คนร.ให้คณะกรรมการการบินไทยทราบวันที่ 28 มกราคมนี้ ก่อนจะเร่งเดินหน้าตามแผนฟื้นฟู ซึ่งนายจรัมพร ระบุว่าจะเป็นการดำเนินการตามแผน 2 ปี โดยปีแรกจะใช้ความพยายามหยุดปัญหาผลขาดทุนหลังผลประกอบการการบินไทย 5 ไตรมาสที่ผ่านมาประสบผลขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

ทหารปรับทัศนคติ ‘สิงห์ทอง’ หลังโพสต์เฟซบุ๊กระบุ คสช. แบน ‘ยิ่งลักษณ์’ แถลงข่าวปมถอดถอน

สิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย เข้าพบแม่ทัพภาคที่ 1 หลังให้สัมภาษณ์และโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กระบุ คสช. ไม่ให้ ยิ่งลักษณ์ แถลงข่าวปม สนช.ถอดถอน ด้านแม่ทัพภาค 1 กลัวเสียบรรยากาศการปรองดอง ยันทหารไม่กักขัง-ข่มขู่
หลังจากเมื่อวันที 23 ม.ค.ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีโครงการรับจำนำข้าว ก่อนที่ ยิ่งลักษณ์ จะนัดแถลงข่าวต่อกรณีดังกล่าวที่โรงแรมเอสซีปาร์คในช่วงบ่ายวันเดียวกัน แต่กลับปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบได้เข้าควบคุมพื้นที่ภายในบริเวณโรงแรมฯ และต่อมา พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกคสช. เปิดเผยว่าทางคสช.ได้ขอความร่วมมือไปยังยิ่งลักษณ์ขอให้งดการแถลงข่าว เพราะวันนี้ยังมีกฎอัยการศึกอยู่ ฉะนั้นเรื่องอะไรที่ทำให้สุ่มเสี่ยงกับประเด็นทางการเมืองก็ขออย่าให้ดำเนินการ(อ่านรายละเอียด)
ล่าสุดวันนี้ (27 ม.ค.58) สำนักข่าวไทย รายงานว่า สิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้เดินทางเข้าไปภายในกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 ตามคำเชิญของ พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) หลังจากนายสิงห์ทองได้ให้สัมภาษณ์และโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอความร่วมมือไม่ให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนหลัง สนช. ลงมติถอดถอนเมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา และยังคงให้ข่าวกับสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง
สำนักข่าวรายงานด้วยว่า ทางทหารได้ให้นายสิงห์ทองไปจอดรถส่วนตัวยี่ห้อ Lexus ป้ายแดงทะเบียน  บ-4347 กทม. ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า พร้อมนำรถจิปทหารติดฟิล์มดำทั้งคันของกองพันทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ (ช.พัน.1 รอ.) สังกัดกองทัพภาคที่ 1 ป้ายทะเบียนกงจักร 17049 ไปรับ โดยมี พ.ท.อัมพุช พัฒน์ทอง ผบ.ช.พัน.1 รอ. ซึ่งเป็นนายทหารคนเดียวกันกับที่เดินทางไปที่โรงแรมเอส ซี ปาร์ค เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา มารับตัว ทั้งนี้นายสิงห์ทองมีสีหน้าเคร่งเครียด พร้อมกล่าวเพียงสั้น ๆก่อนขึ้นรถจิปของทหารว่า ขอบคุณสื่อมวลชนที่มาทำข่าวตนในวันนี้ แต่คงไม่สามารถพูดอะไรได้มากในตอนนี้ ขอเข้าไปพูดคุยกับแม่ทัพภาคที่ 1 ก่อน
แม่ทัพภาค 1 ยันทหารไม่กักขัง-ข่มขู่
ด้าน พล.ท.กัมปนาท กล่าวถึงกรณีนี้ด้วยว่า เป็นการเชิญมาพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ ไม่ได้นำตัวมาข่มขู่ เพราะที่ผ่านมานายสิงห์ทองพูดคุยกับทหารและให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนคนละเรื่องกัน จึงต้องเชิญมาทำความเข้าใจ เนื่องจากการสัมภาษณ์หรือการแสดงออกด้านความคิดเห็นอาจทำให้เกิดความเสียหายตามมา
“ยืนยันว่าจะไม่มีการกักตัว หรือนำไปปรับทัศนคติค้างคืนที่ค่ายทหาร ส่วนทหารที่พูดคุยนั้น เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายพูดคุย ผมไม่ได้ไปร่วมพูดคุยด้วย เพราะเกรงว่าจะเป็นแรงผลักดันทำให้เสียบรรยากาศการปรองดอง ส่วนจะมีการเชิญตัวบุคคลอื่นมาพูดคุยอีกหรือไม่ ถ้าไม่ถึงขนาดสร้างความปั่นป่วน ก็จะไม่เชิญตัวมา” แม่ทัพภาคที่ 1 กล่าว

ครม.อนุมัติหลักการร่าง กม.วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักขัง

27 ม.ค.2558 ที่ประชมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว โดยสรุปมีดังนี้
  • 1. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องกักขังที่อาจจะทำอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น หรือวิกลจริตซึ่งอาจจะทำอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น หรือกรณีที่ถูกควบคุมตัวไปนอกสถานที่กักขัง และมีพฤติการณ์จะหลบหนี
  • 2. กำหนดการรับรองสิทธิของผู้ต้องกักขังในการยื่นเรื่องราวร้องทุกข์และถวายฎีกา
  • 3. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจสอบจดหมาย เอกสารและสกัดกั้นการสื่อสาร
  • 4. กำหนดการปฏิบัติต่อผู้ต้องกักขังหญิงมีครรภ์ ให้ได้รับการดูแลรักษาพยาบาล เช่นเดียวกับผู้หญิงมีครรภ์โดยทั่วไป
  • 5. เพิ่มอัตราโทษสำหรับผู้ต้องกักขังที่ถูกปล่อยตัวไปกรณีมีเหตุฉุกเฉินแล้วไม่กลับมารายงานตัวจากเดิมจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • 6. เพิ่มอัตราโทษผู้ที่กระทำผิดต่อสถานที่กักขังจากเดิมจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • 7. การกำหนดให้สิ่งของต้องห้ามเป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนดและประกาศในราชกิจจานุเบกษา
  • 8. กำหนดให้ผู้เป็นหัวหน้าบังคับบัญชาสถานที่กักขังมีอำนาจที่จะดำเนินการลงโทษทางวินัยแก่ผู้ต้องกักขังแทนค่าปรับ ซึ่งกระทำผิดลหุโทษ หรือความผิดต่อสถานที่กักขังฯ ในสถานที่กักขังแทนการส่งเรื่องเพื่อดำเนินคดีอาญา 

ทั้งนี้  ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จะส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง และส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป