ญาติวีรชนฯ เสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม นิรโทษกรรมให้ผู้ชุมนุมแต่ไม่รวมถึงเจ้าหน้าที่ทั้งผู้สั่งการ เจ้าหน้าที่ที่กระทำเกินคำสั่ง ไม่รวมชายชุดดำ ไม่รวมคนเผา และไม่ครอบคลุมพ.ต.ท.ทักษิณ เตรียมเสนอให้ส.ส.ช่วยดันก่อนเปิดสมัยประชุมเดือนสิงหาคมนี้
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2556 กลุ่มญาติวีรชน เม.ย.-พ.ค. 53 จัดงานเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 (ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชน) ณ ห้องประชุม 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว
กลุ่มญาติวีรชนฯ อธิบายเนื้อหาของร่างฉบับนี้ว่า มีเนื้อหาที่เด่นแตกต่างจากฉบับอื่น คือ เน้นการนิรโทษกรรมให้ประชาชนทั่วไป แต่ไม่นิรโทษกรรมให้ผู้สั่งการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่กระทำเกินกว่าเหตุ และไม่นิรโทษกรรมให้คนที่ประทุษร้ายผู้อื่น
ใจความสำคัญของร่างฉบับนี้ "นิรโทษกรรม" ให้แก่การกระทำดังต่อไปนี้
1.นิรโทษกรรมให้ผู้ที่กระทำความผิดจากการฝ่าฝืนข้อกำหนดของพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายใน พ.ศ. 2551 ซึ่งประกาศใช้ในการชุมนุมทางการเมืองหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
2. นิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำผิดในท้องที่ที่ประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ อันเป็นความผิดลหุโทษ หรือเป็นความผิดที่โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีตามกฎหมายอื่น
3. นิรโทษกรรมให้การกระทำใดๆ ของบุคคลที่แม้ไม่ได้ร่วมชุมนุม แต่การกระทำนั้นเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ทางการเมืองซึ่งเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และเป็นการกระทำที่เป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
4. นิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่มิได้ฝ่าฝืนคำสั่งหรือไม่ได้กระทำเกินกว่าเหตุ
ทั้งนี้ ร่างฉบับนี้มีความแตกต่างไปจากร่างฉบับอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นร่างที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย ร่างที่เสนอโดยแกนนำนปช. โดยระบุชัดเจนว่า มีการกระทำใดบ้างที่ “ไม่นิรโทษกรรม” มีรายละเอียดดังนี้
1. ไม่นิรโทษกรรมให้ประชาชนที่มุ่งประทุษร้ายผู้อื่นโดยใช้อาวุธ เช่น กรณีชายชุดดำ ฯลฯ
2. ไม่นิรโทษกรรมให้กับคนที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ผู้มีอำนาจสั่งการ
3. ไม่นิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่กระทำการไม่สมควรแก่เหตุ หรือเป็นความผิดตามกฎหมาย เช่น เจ้าหน้าที่ที่กระทำเกินคำสั่ง กราดยิงประชาชนในระดับที่สูงกว่าหัวเข่า เป็นต้น
นอกจากนี้ ร่างนิรโทษกรรมฉบับญาติวีรชน ยังให้สิทธิตามมาตรการเยียวยาเพื่อเปิดโอกาสให้ญาติผู้เสียชีวิตเรียกร้องเงินชดเชยได้ด้วย