วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ฟ้องศาลทหารแล้ว หฤษฎ์-ณัฏฐิกา คดี 112-พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์



2 ส.ค.2559 อัยการทหารส่งฟ้องต่อศาลทหารในคดีที่ หฤษฎ์ มหาทน และณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ ตกเป็นจำเลยในข้อหาความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยทั้ง 2 คนได้มารายงานตัวที่ศาลทหารและได้ยื่นประกันตัว ศาลทหารอนุญาตให้ประกัน โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 500,000 บาท

หนุ่มเมืองนนท์ กาชื่อจากบัญชีออก บอก "ไม่มีสิทธิ์ร่าง จึงไม่ขอมีสิทธิ์ร่วม" ส.ศิวรักษ์ ประกาศโนโหวต


หนุ่มเมืองนนท์ ลุยเดี่ยว ขอ กกต.ถอดชื่อตนเองออกจากประชามติ พร้อมกาชื่อในบัญชีผู้มีสิทธิ์  บอกขอปฏิเสธพิธีกรรมทั้งหมด "ไม่มีสิทธิ์ร่าง จึงไม่ขอมีสิทธิ์ร่วม" ตร.เรียกพบที่โรงพักพรุ่งนี้ ด้าน  ส.ศิวรักษ์ ประกาศโนโหวต
3 ส.ค.2559 จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'Sa-nguan Khumrungroj' โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า เช้านี้ (3สิงหาคม) มีชายคนหนึ่งได้ทำการแจ้งต่อ กกต ในพื้นที่ เขตนนทบุรีว่า ประสงค์จะขอตัดชื่อตัวเองออกจากบัญชีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม นี้  ภายหลังแจ้งต่อทาง กกต แล้ว ก็รีบไปยังกระดานบัญชีรายชื่อ ณ ที่เขตนั้นซึ่งมีรายชื่อของเขาแสดงอยู่  พร้อมกันนั้น ได้ใช้ปากกาขีดชื่อตัวเองออก แล้วแก้ไขว่า "ไม่มีสิทธิ์ร่าง จึงไม่ขอมีสิทธิ์ร่วม"
ผู้สื่อข่าวประชาไทสอบถามไปยัง วศิน ไวยนิยา หรือ อาร์ม อายุ 25 ปี ผู้ขอถอนชื่อดังกล่าว เปิดเผยว่า ตนไปที่สำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดนนทบุรี เพื่อขอถอดชื่อออก แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่ต้องถอนชื่อ แค่ไม่มาแค่นั้นก็จบ จากนั้นตนจึงไปที่หน่วยที่ตนมีสิทธิลงประชามติและกาชื่อตัวเองออก
"ผมปฏิเสธพิธีกรรมทั้งหมด ทั้งกระบวนการร่าง ทั้งตัวร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งการลงประชามติ ผมปฏิเสธทั้งหมดเลย เพราะมันไม่ได้มาจากกระบวนการอันซึ่งถูกต้องตามกระบวนการประชาธิปไตย" วศิน กล่าว
วศิน ยืนยันว่าตรวจสอบตาม พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ แล้ว ไม่มีกฏหมายห้ามการขีดชื่อตัวเองออก
ต่อคำถามที่ว่าหากไม่ไปใช้สิทธิจะไม่ถูกนับเสียงนั้น วศิน กล่าวว่า "ก็เรื่องของเขาครับ ผมแสดงออกในเจตจำนงค์แบบนี้ แล้วเขาไม่นับก็เรื่องของเขาแล้ว"
ล่าสุดเมื่อเวลา 20.00 น. ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยัง วศิน เขาระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สถานีตำรวจภูธร เมืองนนทบุรี (สาขารัตนาธิเบศน์) ได้โทรแจ้งเขาว่าพรุ่งนี้ (4 ส.ค.59) เวลา 11.00 น. ให้เดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สภ. ดังกล่าว เพื่อลงบันทึกประจำวัน จากกรณีขอไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติดังกล่าว

ส.ศิวรักษ์ ประกาศโนโหวต

ขณะที่ วานนี้ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก 'Sulak Sivaraksa' ตอบคำถามว่าวันที่ 7 สิงหา จะไปลงประชามติหรือไม่ ว่า
"ผมไม่ไปลงคะแนน เพราะเหตุว่า คสช. เป็นเผด็จการทหาร แล้วให้เนติบริกรที่รับใช้เผด็จการมาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะหาสาระที่ป็นประชาธิปไตยไม่ได้เลย แม้ไปลงคะแนนว่าไม่เห็นด้วย ก็เท่ากับเรายอมรับ คสช. ผมจึงปฏิเสธที่จะร่วมสังฆกรรมกับ คสช. ด้วยประการใด ๆ ทั้งสิ้น" 

ศาลเชียงใหม่ให้ประกันตัว ‘ลุงแปะใบปลิวโหวตโน’ หลังนอนคุก 9 วัน


ภาพใบปลิวที่พบว่ามีการแปะหน้ารถในห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า เชียงใหม่ (ภาพจากผู้จัดการออนไลน์)

3 ส.ค.2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วานนี้ (2 ส.ค.59) ศาลจังหวัดเชียงใหม่อนุญาตให้ประกันตัวนายสามารถ ขวัญชัย อายุ 63 ปี ผู้ต้องหาในคดีความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 (1) วรรคสอง จากกรณีการเสียบใบปลิวโหวตโน พร้อมข้อความ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” บริเวณที่จอดรถของห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยหลักทรัพย์ 100,000 บาท หลังจากผู้ต้องหาถูกคุมขังในเรือนจำรวม 9 วัน
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 21 ก.ค.59 เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า จังหวัดเชียงใหม่ พบการแจกจ่ายใบปลิวที่ระบุข้อความว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค. VOTE NO” พร้อมมีรูปสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว โดยแจกในลักษณะนำไปเสียบพับไว้บริเวณที่ปัดน้ำฝนของรถยนต์ในที่จอดรถชั้นใต้ดินของห้างฯ ประมาณ 10 คัน และต่อมาเมื่อวันที่ 23 ก.ค. เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง กว่า 60 นาย ได้เข้าจับกุมตัวนายสามารถ ขวัญชัย จากบ้านพัก พร้อมกับเข้าตรวจค้นบ้าน ก่อนนำตัวไปแถลงข่าวที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ร่วมกับผู้ต้องหากรณีประชามติอื่นๆ
ต่อมา เจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 (1) วรรคสอง ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะนำตัวผู้ต้องหาไปขออำนาจศาลจังหวัดเชียงใหม่ในการฝากขัง ซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง นายสามารถจึงถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค.เป็นต้นมา (ดูรายงานข่าว)
จนวานนี้ (2 ส.ค.) ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวนายสามารถ ขวัญชัย ด้วยหลักทรัพย์จำนวน 1 แสนบาท โดยไม่มีเงื่อนไขการปล่อยตัวใด ทำให้เขาได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในช่วงค่ำวานนี้ รวมแล้วนายสามารถถูกคุมขังที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ 2 วัน และถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ 9 วัน สำหรับเงินในการประกันตัวนั้นเป็นเงินช่วยเหลือจากกองทุนของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ที่รับบริจาคจากประชาชนในโลกออนไลน์
สามารถ เปิดเผยหลังได้รับการปล่อยตัวว่ารู้สึกดีใจที่ได้รับการปล่อยตัว เพราะช่วงที่อยู่ในเรือนจำไม่สามารถติดต่อใครได้ ช่วงวันแรกๆ ก็ไม่มีใครมาเยี่ยม และชีวิตในเรือนจำก็ค่อนข้างยากลำบาก ในส่วนของคดียืนยันที่จะต่อสู้คดีต่อไป โดยยืนยันว่าข้อความในเอกสารใบปลิวไม่ได้มีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ระบุด้วยว่า  สามารถ ขวัญชัย ปัจจุบันอายุ 63 ปี  ประกอบอาชีพช่วยครอบครัวขายภาพโมเสคที่ร้านค้าในจังหวัดเชียงใหม่ นายสามารถเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดงในฐานะมวลชนอิสระ เคยร่วมเป็นพยาบาลอาสาในการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์เมื่อปี 2553  อีกทั้ง นายสามารถยังมีโรคประจำตัวคือโรคเบาหวานและความดัน
นอกจากนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ พบว่าข้อหาตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 (1) นอกจากจะมีปัญหาในการบัญญัติการกระทำอันเป็นความผิดโดยใช้ถ้อยคำที่กว้างขวางและคลุมเครือแล้ว ยังมีการระบุโทษจำคุกไว้ค่อนข้างสูง คือโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท เทียบได้กับความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ทำให้กระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้น พนักงานสอบสวนมีการขออำนาจศาลในการฝากขัง และศาลมีการกำหนดหลักทรัพย์ประกันตัวที่ค่อนข้างสูง ทั้งที่เป็นเพียง “ความผิด” ที่เกิดจากการแสดงออก ทำให้มีลักษณะการกำหนดโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำ และยังถูกนำมาใช้ในลักษณะมุ่งปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญของคนในสังคม

2 องค์กรสิทธิออกรายงาน ชี้ร่าง รธน.ก่อปัญหามากกว่าทางออก


แฟ้มภาพ: ประชาไท

สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ออกรายงาน "อุปสรรคขวางทางประชาธิปไตย – การกดขี่ในระบอบทหารและร่างรัฐธรรมนูญของไทย" ชี้ร่างรัฐธรรมนูญและการประชามติ เป็นผลมาจากกระบวนการที่กดขี่และอาจยิ่งทำให้เกิดปัญหาด้านเสถียรภาพทางการเมืองมากขึ้น

3 ส.ค. 2559 สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติของไทยที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 7 ส.ค.นี้ เป็นผลมาจากกระบวนการที่กดขี่และอาจยิ่งทำให้เกิดปัญหาด้านเสถียรภาพทางการเมืองมากขึ้น
รายงานของทั้งสององค์กร เรื่อง "อุปสรรคขวางทางประชาธิปไตย – การกดขี่ในระบอบทหารและร่างรัฐธรรมนูญของไทย (Roadblock to democracy - Military repression and Thailand’s draft constitution)" พูดถึงข้อมูลเกี่ยวกับบรรยากาศของการกดขี่ที่ คสช.สร้างขึ้น ในระหว่างกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และวิเคราะห์ถึงมาตราที่เป็นปัญหามากที่สุดและมีลักษณะถอยหลังในร่างฉบับนี้
จากบทวิเคราะห์ รายงานให้ข้อสรุปว่า กรณีที่มีการให้ความเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญในการออกเสียงประชามติ รัฐธรรมนูญนี้จะยิ่งทำให้เกิดปัญหากับเสถียรภาพทางการเมืองมากขึ้น เนื่องจากเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับหน่วยงานทางการเมืองที่จัดตั้งขึ้น และในขณะเดียวกันได้ลดบทบาทของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตให้น้อยลง
“กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญภายใต้การจัดการของ คสช. ได้สะท้อนเป็นเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญที่ให้ความชอบธรรมต่ออิทธิพลของทหารและชนชั้นนำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในระบบการเมืองของไทย การปราบปรามอย่างรุนแรงของ คสช.เพื่อป้องกันเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อร่างรัฐธรรมนูญ จะส่งผลให้ผลการลงคะแนนเสียงไม่ได้รับความเชื่อถือแม้จะมีการเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนี้” คาริม ลาฮิดจี (Karim Lahidji), ประธานของ FIDH กล่าว
ทั้งนี้ รายงานระบุว่า ในช่วงไม่กี่เดือนก่อนจะถึงการออกเสียงประชามติ ทางการได้ใช้อำนาจตามประกาศคำสั่งของ คสช.และกฎหมายที่กดขี่เพื่อคุกคาม ควบคุมตัว และดำเนินคดีต่อผู้วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ระหว่างวันที่ 27 เมษายน ถึง 24 กรกฎาคม 2559 ทางการได้ควบคุมตัวโดยพลการต่อบุคคลอย่างน้อย 41 คนซึ่งวิพากษ์วิจารณ์หรือรณรงค์ต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ ทางการยังควบคุมตัวแกนนำอย่างน้อย 38 คนของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาล โดยตั้งข้อหาต่อความพยายามของกลุ่มที่จะจัดตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ
รายงานระบุด้วยว่า นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารยังเข้าร่วมและสอดส่องในการอภิปรายสาธารณะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างสม่ำเสมอ ในหลายกรณี ทางการสั่งให้ยกเลิกการจัดสัมมนาและอภิปรายเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ และบางครั้งทางการยังได้แสดงท่าทีข่มขู่ผู้เข้าร่วมประชุม
รายงานระบุว่า ในขณะที่ทางการระงับการอภิปรายเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญต่อสาธารณะ แต่ คสช.กลับใช้ทรัพยากรมากมายเพื่อรณรงค์สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ แม้มีข้อกำหนดให้หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการจัดเตรียมการออกเสียงประชามติต้องดำเนินการอย่างเป็นธรรม แต่การรณรงค์ของพวกเขาเพื่อเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ ได้ขาดความสมดุลทางการเมือง และปฏิบัติงานโดยใช้สองมาตรฐานรวมถึงความลำเอียง ท้ายสุดนี้ การที่ คสช.ห้ามไม่ให้ผู้สังเกตการณ์อิสระเข้าร่วมสังเกตการณ์การออกเสียงประชามติ ยิ่งทำให้เกิดข้อกังขามากขึ้นต่อความเป็นธรรมของกระบวนการนี้
"ไม่ว่าผลการออกเสียงประชามติจะออกมาเป็นอย่างไร คสช.ก็จะยังสามารถสืบทอดอำนาจต่อไปได้" รายงานระบุ
“การออกเสียงประชามติได้ให้ผลประโยชน์ต่อรัฐบาลทหารฝ่ายเดียว ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นที่ยอมรับ คสช.ก็จะใช้ผลการออกเสียงเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับอิทธิพลของตนต่อการเมืองไทย กรณีที่ร่างไม่ผ่าน รัฐบาลทหารก็สามารถใช้เป็นข้ออ้างเพื่อใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จปกครองสังคมไทยต่อไป และทำให้เกิดความล่าช้ามากขึ้นต่อการคืนอำนาจให้กับรัฐบาลของพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย” จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธาน สสส. กล่าว