วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559

NDM ยื่นหนังสือกกต.ขอคำยืนยันรณรงค์ไม่ผิด


28 มิ.ย. 2559 เวลา15.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ หรือ NDM เข้ายื่นหนังสือให้ กกต. เพื่อขอให้ยืนยันว่าการแจกเอกสารอธิบายความเห็นที่แตกต่างจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ตามหลักประชามติในสากลโลก และขอเรียกร้องให้กกต.ปฏิบัติหน้าที่ในการจัดออกเสียงประชามติอย่างเป็นกลาง ไม่ใช่ทำตัวกระบอกเสียงของรัฐบาลหรือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายอำนวย น้อยโสภา รอง ผอ.สำนักเลขาธิการ กกต. ได้มาเป็นผู้รับยื่นหนังสือพร้อมกล่าวว่าจะนำเรื่องเรียนคณะกรรมการการเลือกตั้งต่อไป โดยกระบวนการจะมีการตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาข้อเรียกร้อง และจะรีบตอบกลับให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ได้ยื่นหนังสือ พร้อมทั้งเอกสารเนียบประกอบด้วย 1.เอกสารความเห็นแย้ง 2.เอกสาร 7 เหตุผลไม่รีบร่างรัฐธรรมนูญ 3.สติ๊กโหวตโน และ4.ลูกโป่งรณรงค์ไม่ผิด
แมน ปกรณ์ อารีกุล หนึ่งในสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ชี้แจงว่าให้ กกต. ทราบด้วยว่า เพื่อนตนเองทั้ง 7 คนต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเพียงเพราะไปแจกเอกสารรณรงค์เรื่องประชามติ และถูกแจ้งข้อกล่าวหาฐานขัดคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ซึ่งมาตราดังกล่าวกำลังอยู่ในการพิจารณาขอศาลรัฐธรรมนูญ โดยจะมีการลงมติในวันที่ 29 มิ.ย. นี้ว่ามาตราดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยถ้าศาลลงมติว่ามาตราดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ นั่นหมายความว่า เพื่อนของตนทั้ง 7 คน ต้องติดคุกฟรีโดยไม่สามารถเรียกร้องความเป็นธรรมได้จากใคร
เรียน ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ด้วยสถานการณ์ในประเทศไทยใน ที่ใกล้จะถึงวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เข้ามาทุกขณะ ได้ปรากฏเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กระทำการคุกคามประชาชนผู้รณรงค์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ โดยการเข้าจับกุมและแจ้งข้อหาแก่ผู้จัดและผู้เข้าร่วมกิจกรรมแจกเอกสารรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัด ในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ณ ตลาดเคหะบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 13 คน และการจับกุมและพยายามแจ้งข้อหาแก่ผู้จัดกิจกรรมทำความสะอาดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ในวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ณ วงเวียนหลักสี เขตบางเขน กรุงเทพฯ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหาโดยมีรายละเอียดดังนี้
1. เจ้าหน้าที่ใช้กำลังไม่เหมาะสมในการเข้าจับกุม โดยใช้ความรุนแรง เช่นการบีบคอและอุ้มตัวผู้จัดและผู้เข้าร่วมกิจกรรมในลักษณะที่เกินกว่าเหตุ
2.เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองเป็นจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 แก่ผู้จัดและผู้เข้าร่วมในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ทั้ง 13 คน ทั้งที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 แล้ว ในทางปฏิบัติผู้รณรงค์จึงยังคงไม่มีหลักประกันเสรีภาพในการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เพราะแม้ว่าการรณรงค์จะไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 แต่ผู้รณรงค์ก็อาจถูกแจ้งข้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ได้อยู่ดี
3. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหาก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61(1) วรรคสอง และวรรคสาม ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี ปรับสูงสุดถึง 2 แสนบาทแก่ผู้จัดกิจกรรมในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ทั้ง 13 คนโดยปราศจากอำนาจ เนื่องจากในมาตรา 5 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าวกำหนดให้ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ. นี้
4. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามแจ้งข้อหาก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61(1) วรรคสอง และวรรคสามแก่นางสาวชนกนันท์ รวมทรัพย์ หนึ่งในผู้จัดกิจกรรมในวันที่ 24 มิถุนายน 2559 จากการที่ตรวจค้นรถยนต์ของนางสาวชนกนันท์แล้วพบว่ามีเอกสารรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญอยู่ ทั้งที่ไม่ปรากฏพฤติการณ์อื่นใดที่ชี้ว่านางสาวชนกนันท์จะนำเอกสารเหล่านั้นออกมาแจกในกิจกรรมที่จัดขึ้น
5. จากข้อเท็จจริงแล้ว นายรักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ หนึ่งใน 13 ผู้ที่ถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 มีฐานะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์กิจกรรมเท่านั้น มิได้ร่วมแจกเอกสาร ปราศรัย หรือแสดงสัญลักษณ์รณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญใดๆ เลย แต่กลับถูกจับกุมตัวและแจ้งข้อหาเช่นเดียวกันกับคนอื่นๆ
6. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหาไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามประกาศคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่ 25/2549 แก่ผู้จัดกิจกรรมในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ที่ไม่ยอมยื่นขอประกันตัว จำนวน 7 คนอีกด้วย
7. ในท้ายสุด ศาลทหารมีคำสั่งให้ฝากขังผู้จัดและผู้เข้าร่วมกิจกรรมในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ผลัดแรกเป็นเวลา 12 วัน ที่เรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพฯ โดยมีผู้ยื่นขอประกันตัว 6 คน และผู้ไม่ยื่นขอประกันตัว 7 คน และมีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังผู้จัดกิจกรรมในวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ทั้ง 7 คน
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่มีความเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ทั้งโดยการใช้กำลังและการใช้กระบวนการทางกฎหมาย ทั้งยังมีการนำคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 มาใช้กับการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และการแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 โดยปราศจากอำนาจ ซึ่งการจับกุมและแจ้งข้อหาแก่ผู้รณรงค์อย่างไม่เป็นธรรมนี้อาจส่งผลให้การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนได้
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จึงขอเรียกร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญดังนี้
1. การรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ การแจกเอกสารอธิบายความเห็นที่แตกต่างจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนที่พึงทำได้ตามหลักการลงประชามติในสากลโลก ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จึงขอยืนยันกับ กกต. ว่าจะยังคงรณรงค์ต่อไป และขอเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งปฏิบัติหน้าที่พิทักษ์เสรีภาพในการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญของขบวนการประชาธิปไตยใหม่และประชาชนกลุ่มอื่นๆ ด้วย
2. ขอเรียกร้องให้ กกต. ปฏิบัติหน้าที่จัดการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญอย่างเป็นกลาง ไม่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลหรือคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่เชื่อมั่นว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางและเปิดกว้างในเสรีภาพของคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะสามารถทำให้การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นที่ยอมรับและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงได้
ขอแสดงความนับถือ
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่
28 มิถุนายน 2559
 

ศูนย์ทนายฯ รายงานการดำเนินคดีม. 112 กับ 6 ผู้ป่วยจิตเภทหลังรัฐประหาร


28 มิ.ย.2559 เว็บศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่รายงานขนาดยาวเกี่ยวกับการดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์กับผู้ป่วยจิตเภท ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังการรัฐประหาร 2557 โดยหยิบยกตัวเลขที่น่าสนใจ ได้แก่

-หลังการรัฐประหาร 2549 ถึงปัจจุบันนี้มีบุคคลที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 103 คนเป็นอย่างน้อยในช่วงสิบปี
-เฉพาะหลังการรัฐประหาร 22พฤษภาคม 2557 (ภายใน 2 ปี)  มีจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีถึง 67 คน 
-จากการติดตามของศูนย์ทนายความฯ และ iLaw พบว่า ภายหลังการรัฐประหารมีผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้อย่างน้อย 6 ราย ที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา112 
รายงานยกหยิบยกรายละเอียดของทั้ง 6 กรณีที่ล้วนมีประวัติการรักษาอาการทางจิตเภทว่ามีลักษณะความผิดอย่างไร และได้รับผลกระทบอย่างไรเมื่อไม่ได้รับการประกันตัวหรือได้รับการประกันตัวช้ารวมถึงปัญหาในการต่อสู้คดี ไม่ว่าจะเป็นคดีของ ทะเนช-เสียงแว่วให้ส่งอีเมล์, สมัคร-ทำลายพระบรมฉายาลักษณ์, ประจักษ์ชัย-เขียนหนังสือร้องทุกข์ถึงนายกฯ, เสาร์-ร้องศาลให้ทวงเงิน 7พันล้านจากอดีตนายกฯ,  ฤาชา-ร่างทรงพระแม่ธรณีโพสต์เฟซบุ๊ก
“นอกจากประเด็นโรคจิตเภทของพวกเขาแล้วยังมีปัญหาในการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวของกับคดี กล่าวคือ การที่พนักงานสอบสวนพิจารณาว่าจะดำเนินคดีด้วยมาตรา 112กับบุคคลใดในเวลานี้ จากคำบอกเล่าของพนักงานสอบสวนที่ทำคดีของหนึ่งในผู้ต้องหากลุ่มนี้ทำให้ทราบว่าเรื่องที่เกี่ยวกับคดีหมิ่นสถาบันฯ เมื่อพนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานแล้วจะต้องส่งสำนวนการสอบสวนถึงคณะกรรมการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันฯ จากนั้นเมื่อสำนวนคดีกลับมาที่พนักงานสอบสวนแล้วจึงจะมีความเห็นสั่งฟ้องถึงอัยการศาลทหาร คณะกรรมการดังกล่าวเป็นคณะทำงานที่มีหน้าที่พิจารณาคดีที่เป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 คณะกรรมการพิจารณาไม่ได้เพิ่งมีการตั้งภายหลังการรัฐประหาร แต่เริ่มมีชื่อปรากฏในข่าวตั้งแต่กรณีที่นายจักรภพ เพ็ญแข ถูกแจ้งความดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2551 จนปัจจุบันการดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นสถาบันฯ การพิจารณาคดีก็ยังคงอยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการดังกล่าวนี้ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเคยมีการแนวทางการปฏิบัติการสอบสวนเป็นตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 122/2553 และภายหลังการรัฐประหารครั้งนี้ก็มีการสั่งการในลักษณะเป็นนโยบายเพื่อจัดการเร่งรัดคดี”
“การใช้ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ดำเนินคดีกับบุคคลที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างกว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งขณะนี้ได้ส่งผลกระทบถึงกลุ่มคนเหล่านี้ที่เห็นพฤติการณ์คดีและเมื่อลักษณะของข้อความก็สามารถรู้ได้ทันทีว่าการเชื่อมโยงเรื่องราวหรือที่มาของการกระทำไม่เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันเช่นในกรณีของเสาร์หรือฤๅชา แม้ว่ารัฐบาลทหารจะอ้างว่าการดำเนินคดีด้วย ม.112ที่ผ่านมาเป็นการปกป้องสถาบันกษัตริย์ แต่การใช้กฎหมายในลักษณะนี้อาจจะต้องกลับมาตั้งคำถามถึงปัญหาตัวบทกฎหมายและการใช้กฎหมายกันอีกครั้ง”

รายละเอียดอ่านที่ http://www.tlhr2014.com/th/?p=712

หมายเหตุ : ภาพประกอบแบบทดสอบทางจิตวิทยาด้วยหมึกของ เฮอร์มานน์ รอร์สชาช (Hermann Rorschach) ที่มา https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Rorschach_blot_04.jpg

ไม่ต้องถาม! ประวิตร ลั่นใครผิดกฏหมายจับหมด


29 มิ.ย.2559 จากกรณีวานนี้ (28 มิ.ย.59) นักวิชาการ 292 คนในนามเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ออกแถลงการณ์ เรื่อง ปล่อยตัวอย่าไม่มีเงื่อนไข 7 ผู้ที่ถูกฝากขังคดีฝ่าฝืนประกาศ คสช. จากการแจกเอกสารประชามติ ที่เคหะบางพลี และให้มีการรณรงค์การออกเสียงประชามติอย่างเสรี (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
วันนี้ (29 มิ.ย.59) สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีการเรียกร้องของเครือข่ายนักวิชาการดังกล่าวว่า สามารถเรียกร้องได้ ที่ผ่านมาก็ปล่อยให้ดำเนินการอย่างเสรี แต่ทุกอย่างมีช่องทางในการแสดงความเห็น
“มีช่องทางอยู่แล้ว กกต.ก็ทำแยู่แล้ว อ.วิษณุ ก็เดินสายทุกภาค ผมก็ไม่รู้จะทำยังไง ถ้าแบบนี้ไม่เรียกว่าเสรี ตอนนี้เป็นช่วงรัฐบาลนี้ เรายังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ยังมีเวลาอีกเยอะในการที่จะทำอะไรต่าง ๆ ได้อย่างเสรี เดี๋ยวรัฐธรรมนูญออกก็ค่อยว่ากัน ตอนนี้เราต้องการความสงบเรียบร้อยเป็นหลัก เพราะฉะนั้นถ้าใครทำผิดกฎหมาย ไม่ต้องถาม ถ้าผิดกฎหมายผมจับหมด เอาอย่างนี้แล้วกัน” พล.อ.ประวิตร กล่าว
ต่อกรณีคำถามที่ว่าภาพที่ออกไปจะไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่ละเมิด แต่ที่ต้องดำเนินการ เพราะเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมาย และทุกคนต้องทำตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้นจะมีกฎหมายไว้ทำไม ทั้งนี้ไม่อยากให้มองว่าเป็นการจับกุมนักศึกษา แต่ขอให้มองว่าเป็นการจับกุมผู้ที่ละเมิดกฎหมาย

กต.ยันไทยชวดเก้าอี้สมาชิกไม่ถาวรUNไม่โยงปมการเมือง

เสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ (แฟ้มภาพ ที่มาเว็บไซต์ กต.)

โฆษก กต. ยินดีกับ คาซัคสถาน ได้รับเลือกตั้งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ยันไทยไม่ได้รับเลือกตั้ง ไม่เกี่ยวกับการเมือง ระบุ กต.สหรัฐฯ ยังไม่ยืนยันการปรับอันดับปัญหาการค้ามนุษย์ไทย แจงไม่พบคนไทยได้รับผลกระทบเหตุระเบิดสนามบินตุรกี
29 มิ.ย.2559 จากผลการเลือกตั้งสมาชิกไม่ถาวร ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC ในส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคาซักสถานได้ 138 เสียง ขณะที่ไทยได้ 55 เสียง ทำให้คาซักสถานได้เป็นสมาชิก UNSC สัดส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. รายงานว่า เสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ไทยขอแสดงความยินดีกับคาซัคสถาน ที่ได้รับการเลือกตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ และขอขอบคุณมิตรประเทศ ที่ให้การสนับสนุนประเทศไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับการรณรงค์หาเสียงที่ผ่านมา ไม่ได้มุ่งเพื่อให้ชนะเลือกตั้งอย่างเดียว แต่เป็นโอกาสที่ไทยได้สร้างมิตรประเทศ และสานต่อความร่วมมือกับมิตรประเทศต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคของโลก ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าเรื่องสถาการณ์การเมืองของประเทศไทยนั้น ไม่ได้เป็นประเด็นที่ทำให้ไทยไม่ได้รับเลือกตั้งตำแหน่งดังกล่าว เพราะไม่เคยมีการหยิบยกมาพูดถึงแต่อย่างใด
เสข ยังกล่าวถึงกรณีที่สำนักข่าวต่างประเทศ เปิดเผยว่าทางสหรัฐอเมริกา จะมีการปรับอันดับปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทย จากเทียร์ 3 เป็นเทียร์ 2 วอทช์ลิสต์ ว่า เป็นการรายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศ ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ โดยจะประกาศอย่างเป็นทางการภายในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องปัญหาการค้ามนุษย์ ถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องและเต็มที่ ซึ่งคงแล้วแต่การประเมินตามมาตรฐาน

นอกจากนี้ เสข กล่าวถึงเหตุระเบิดที่สนามบินอตาร์เติร์ก นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี ในช่วงค่ำที่ผ่านมาว่า จากการตรวจสอบ ไม่พบว่ามีคนไทยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยสถานทูตไทย ณ กรุงอังการา ได้ให้คำแนะนำกับคนไทยในพื้นที่ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

ค่าซื้อความรู้! วิษณุ เผยปี48-52 ไทยซื้อเครื่องแนว GT200 รวม 1,400 เครื่อง 1,200 ล้าน


29 มิ.ย.2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลประเทศอังกฤษ ตัดสินยึดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 7.9 ล้านปอนด์ (ราว 395 ล้านบาท) จาก เจมส์ แมคคอร์มิค ผู้ต้องหาในคดีจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม เพื่อนำเงินไปจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของแมคคอร์มิคและพรรคพวกซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ดังกล่าว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์พร้อมทั้งแสวงหาผู้รับผิดชอบกรณี GT200 ในประเทศไทยจำนวนมาก
โดยวานนี้  สำนักข่าวไทย รายงานว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงกรณีที่ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสอบถามกรณีเครื่องตรวจวัตถุระเบิด หรือ GT200 วานนี้ ว่า ในวันนี้จะยังไม่นำเข้าที่ประชุม ครม. เพราะยังไม่ได้ข้อสรุป และยังไม่เห็นคำพิพากษาของศาลอังกฤษ ส่วนที่มีกะแสข่าวว่าไทยอาจจะไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้นั้น  วิษณุ ได้ตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า ต้องรอดูอีกครั้ง
ล่าสุดวันนี้ สำนักข่าว INN รายงานด้วยว่า วิษณุ กล่าวถึงการฟ้องคดีและเรียกค่าเสียหายจากการจัดซื้อเครื่อง GT200 ว่า ข้อสรุปจากการประชุมหน่วยงานส่วนกลางที่เกี่ยวข้องนั้น ไทยได้มีการจัดซื้อเครื่องมือรูปแบบดังกล่าวในปี 2548-2552 ใน 3 รุ่น คือเครื่องจีที 200 เอดีอี 651 และ อัลฟ่า 6 เป็น 3 ยี่ห้อ จาก 5 บริษัท ที่มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งส่วนราชการที่จัดซื้อมีทั้งหมด 17 แห่ง โดยกรมสรรพาวุธทหารบกจัดซื้อมากที่สุด รวมจำนวน 1,400 เครื่อง มูลค่าประมาณ 1,200 ล้านบาท 
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการรอขอคัดลอกคำฟ้องและคำตัดสินของศาลอังกฤษ ที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาและแพ่ง ซึ่งไทยได้พยายามขอเป็นผู้เสียหายด้วย และอังกฤษได้ติดต่อมาขอข้อมูลจากฝ่ายไทยแล้ว ซึ่งตามกฎหมายไทย คดีนี้มีโทษถึงขั้นประหารชีวิต ทำให้ทางอัยการอังกฤษไม่ได้นำไทยร่วมในคดีด้วย เพราะมีโทษสูง ขณะเดียวกัน เมื่อได้คำสั่งฟ้องและคำตัดสินของศาลอังกฤษแล้ว จะต้องพิจารณาว่า เป็นการฟ้องรวมที่ผู้เสียหายสามารถเรียกค่าเสียหายได้เลยหรือไม่ และรายละเอียดของเครื่องทั้ง 3 ชนิด เป็นแบบเดียวกันหรือไม่ เกี่ยวข้องกับคดีในไทยหรือไม่ หรือต้องตั้งต้นฟ้องใหม่ ก่อนจะดำเนินการต่อได้ 
ทั้งนี้ คดีดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ได้รับคดีเป็นพิเศษ ตั้งแต่ปี 2555 และสอบสวนแล้วเสร็จกว่า 10 คดี และส่งอัยการครบถ้วนแล้ว แต่อัยการยังไม่สั่งฟ้อง เนื่องจากอยากให้ดีเอสไอสอบต่อในบางประเด็นก่อน ซึ่งอัยการเห็นว่าควรแยกคดีแพ่งฟ้องก่อน และฟ้องไปแล้ว 1 คดี ที่ได้คำตัดสินแล้ว ให้รัฐเป็นฝ่ายชนะโดยสัญญาเป็นโมฆะ และต่องส่งคืนเงิน 9 ล้านบาท แต่มีแนวโน้มว่าผู้เสียหายไม่สามารถจ่ายเงินคืนได้
โดยเมื่อกลางสัมปดาห์ที่แล้ว ต่อคำถามว่าเรื่องนี้จะเรียกเป็นค่าโง่ได้หรือไม่นั้น วิษณุ เคยตอบไว้ว่า คงต้องแล้วแต่สื่อ แต่มันไม่ดีเพราะทำให้เกิดความรู้สึกว่าอะไรที่ควักเงินซื้อดูจะเรียกเป็นค่าโง่ทั้งหมดได้อย่างไร ถ้าเรียกได้ก็เป็นค่าฉลาด ที่สำคัญถือเป็นค่าซื้อความรู้ แต่แพงไปหน่อย

มติเอกฉันท์ ศาล รธน. ชี้ ม.61 วรรค2 กม.ประชามติ ไม่ขัด รธน.


29 มิ.ย.2559 รายงานข่าวจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ม.61 วรรคสอง ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 ม.4 จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญดังกล่าว