วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเผยเข้าใจ และไม่เอาเรื่องเสื้อแดงนำศพมาประท้วงหน้าศาล


ทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ระบุไม่เอาเรื่องเสื้อแดงนำศพมาประท้วงหน้าศาล เข้าใจความรู้สึกของกลุ่มเสื้อแดงว่ากำลังเสียใจ
29 ธ.ค. 55 - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่ามีกลุ่มคนเสื้อแดงประมาณ 50 คน ได้นำศพนายวันชัย รักสงวนศิลป์ อายุ 30 ปี จำเลยคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯและเผาสถานที่ราชการ ที่ศาลจังหวัดอุดรธานี พิพากษาลงโทษจำคุก 20 ปี 6 เดือน และถูกส่งมาคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ และเสียชีวิตระหว่างถูกคุมขัง ขึ้นรถยนต์ตู้ มาจอดประท้วงหน้าศาลอาญา พร้อมมีการใช้รถกระบะติดตั้งเครื่องขยายเสียงมาจอดปราศรัยนั้o

นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวว่า ทราบเพียงว่าผู้ตายเป็นจำเลยที่ศาลจังหวัดอุดรธานี พิพากษาลงโทษ แล้วถูกส่งตัวมาคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ เข้าใจว่าเสียชีวิตประมาณวันที่ 27 ธันวาคม ที่ผ่านมา ไม่ทราบว่าเสียชีวิตด้วยเหตุใด โดยผู้ตายไม่ได้เป็นจำเลยของศาลอาญาโดยตรง ซึ่งเมื่อวานที่ผ่านมา (28 ธ.ค.) ตอนเช้า ก็มีการนำผ้าดำมาติดบริเวณรั้วศาลอาญา จึงสั่งให้รื้อออก เพราะเป็นการกระทำที่เลยเถิดกว่าที่ควร การนำศพมาตั้งหน้าศาลอาญาชักจะไปกันใหญ่

เนื่องจากจำเลยไม่ได้เป็นจำเลยที่ศาลอาญา ไม่เหมือนกรณีของ อากง (นายอำพล ตั้งนพคุณ จำเลยคดีหมิ่นเบื้องสูง ซึ่งเสียชีวิตในเรือนจำ) ส่วนจะมีการดำเนินการกับกลุ่มคนที่มาปราศรัยและนำศพมาประท้วงหรือไม่นั้น จริง ๆ ศาลก็ไม่อยากจะใช้อำนาจศาล ก็พอเข้าใจความรู้สึกของกลุ่มพวกจำเลยว่ากำลังเสียใจ

เตรียมนำศพผู้ต้องขังเสื้อแดงกลับบ้าน แม่วอนรัฐบาลช่วยนักโทษการเมือง


30 ธ.ค.55 ที่วัดสาครสุ่นประชาสรรค์ ย่านลาดพร้าว คนเสื้อแดงเป็นเจ้าภาพงานสวดอภิธรรมศพ นายวันชัย รักสงวนศิลป์ ผู้ต้องชังคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุดรธานี ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำหลักสี่ และเสียชีวิตในเรือนจำเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยในวันพรุ่งนี้จะมีการเคลื่อนศพไปสวดอภิธรรมต่อที่ภูมิลำเนาจังหวัดอุดรธานี
ก่อนหน้าจะมีการตั้งศพที่วัน เวลาประมาณ 13.30 น.คนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งได้เดินทางพร้อมด้วยนางทองมา เที่ยงอวน มารดาของผู้เสียชีวิตไปร่วมรองรับศพนายวันชัยซึ่งตรวจพิสูจน์อยู่ที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เบื้องต้น น.พ.สลักธรรม โตจิราการ ซึ่งเข้าร่วมผ่าชันสูตรศพนายวันชัยด้วย ได้แจ้งว่า เบื้องต้นมีแผลถลอกตามแขนขาเล็กน้อยและมีรอยฟกช้ำที่ศอกซ้าย เข้าได้กับประวัติการเล่นกีฬา ไม่มีรอยช้ำตามลำตัวหรือศีรษะ ไม่มีเลือดออกที่สมองและอวัยวะภายในอื่นๆ มีเพียงเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจอุดตัน การตรวจชิ้นเนื้อของหลอดเลือดหัวใจเพื่อหาสาเหตุของเส้นเลือดหัวใจอุดตันว่าอุดตันเฉียบพลันหรือตีบมาก่อนแล้วและมากำเริบใหม่ ส่วนเรื่องสารพิษในอาหาร เลือดและปัสสาวะต้องรอผลอีก1-2 วันเป็นอย่างน้อย
นางทองมา มารดาของวันชัย กล่าวทั้งน้ำตาว่า รู้สึกเสียใจที่สุดกับเหตุการณ์นี้ แม้ไม่ติดใจเอาความ แต่อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือนักโทษการเมืองให้ได้รับการประกันตัว หรือให้ได้ปล่อยออกมา ไม่ควรต้องถูกขังอย่างไม่รู้ชะตากรรม
“หวังอยากได้ลูกชายได้ออกมา แต่ตอนนี้ได้แต่ร่างไม่มีวิญญาณ ไม่อยากให้มีแบบนี้อีกแล้ว” นางทองมากล่าวและว่า จะนำศพกลับไปประกอบพิธีกรรมที่จังหวัดอุดรฯ และยังไม่เป็นแน่นอนว่าจะตั้งสวดกี่วัน และจะจัดพิธีฌาปนกิจศพเมื่อไร

นางทองมา มารดาของนายวันชัย
 
นางทองมากล่าวด้วยว่า วันชัยเป็นลูกชายคนเดียวในจำนวนลูก 3 คน และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการหารายได้เลี้ยงครอบครัว เขาจบการศึกษาชั้น ป.6 มีอาชีพรับจ้าดายหญ้า และรับจ้างทั่วไป วันเกิดเหตุเขาดายหญ้าอยู่ที่สถานีตำรวจ ส่วนเธอรับจ้างเกี่ยวข้าวอยู่ในนา ทราบเรื่องอีกทีก็ตอนลูกชายโดนจับและถูกคุมขัง จากนั้นผ่านไปกว่า 1 ปีจึงได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 16 ส.ค.54 ก่อนศาลจะพิพากษาในวันที่ 28 ต.ค.54 ให้จำคุก 20 ปี 6 เดือน พร้อมด้วยจำเลยคนอื่นๆ อีก 4 คน ซึ่งมีโทษลดหลั่นกันไป
นางทองมากล่าวอีกว่า สำหรับตนเองนั้นได้เปลี่ยนอาชีพมาเป็นกรรมกรก่อสร้าง เดินทางไปทำงานในจังหวัดสุราษฎร์ธานีกับลูกสาวได้ค่าจ้างคนละ 200 บาทต่อวัน และสามารถเดินทางมาเยี่ยมวันชัยได้เพียงเดือนละ 1 ครั้ง ครั้งล่าสุดวันชัยยังพูดคุยปกติ แม้จะมีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง เขายังบอกให้แม่สบายใจเพราะอยู่ที่นี่มีเพื่อน และเจ้าหน้าที่ก็น่ารัก
ขณะที่คนเสื้อแดงที่ร่วมในงานสวดอภิธรรมรายหนึ่งระบุว่า นำอาหารกลางวันไปเลี้ยงผู้ต้องขังทุกสัปดาห์ เจอวันชัยเป็นประจำ บุคลิกเป็นคนร่าเริง ขี้เล่น และมีน้ำใจ เขาจะลงมาหิ้วอาหารขึ้นไปให้เพื่อนๆ เสมอ และในช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนเสียชีวิต เขาบ่นว่ามีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ค่อยสะดวก ส่วนการเสียชีวิตนั้นเกิดขึ้นหลังจากทางเรือนจำจัดการแข่งขันกีฬาส่งท้ายปีซึ่งนายวันชัยก็ได้ร่วมเล่นกีฬาด้วย มีลักษณะปกติดี แต่หลังเสร็จสิ้นการแข่งขันไม่นานจู่ๆ วันชัยก็ล้มลงหมดสติ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวส่งโรงพยาบาลราชทัณฑ์
ด้านเว็บไซต์มติชน รายงานว่า นายสรสิทธิ์ จงเจริญ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กล่าวถึงผลการชันสูตรศพนายวันชัยว่า สาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากระบบการหายใจและไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ไม่พบร่องรอยการถูกทำร้าย ล่าสุดทางญาติไม่ได้ติดใจและจะนำศพกลับไปทำพิธีตามปกติ สำหรับผู้ต้องขังที่เสียชีวิตก่อนหน้านี้แม้จะมีสภาพร่างกายภายนอกดูแข็งแรง แต่ทราบจากมารดาผู้เสียชีวิตว่าก่อนหน้านี้ลูกชายเคยบอกว่ามีอาการแน่นหน้าอก มารดาจึงแนะนำให้แจ้งผู้คุมแต่ผู้เสียชีวิตไม่ได้บอกถึงอาการที่เป็น 
ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กล่าวต่อว่า หลังการเสียชีวิตของผู้ต้องขังในเรือนจำทำให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์สั่งกำชับให้ ดูแลสุขภาพของผู้ต้องขังอย่างใกล้ชิด โดยในส่วนของเรือนจำชั่วคราวหลักสี่จะมีพยาบาลเข้าไปตรวจร่างกายให้ผู้ต้องขังทุกคนสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ ผู้ต้องขังที่ต้องโทษคดีที่เกี่ยวข้องทางการเมืองถือเป็นกลุ่มผู้ต้องขังที่ต้องระมัดระวังเรื่องความเครียดเป็นพิเศษ เพราะเท่าที่พบผู้ต้องขังกลุ่มนี้มักมีอาการเครียดเรื่องคดีและเป็นกังวลเรื่องที่ไม่ได้รับการประกันตัว ทั้งที่ผู้ต้องขังคดีเดียวกันหลายรายได้รับการประกันตัวออกไปแล้ว โดยบางรายต้องให้จิตแพทย์เข้าไปพูดคุยเพื่อบำบัดอาการ 
สำหรับเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ขณะนี้มีผู้ต้องขังทั้งสิ้น 21 คน ในจำนวนนี้เป็นหญิง 1 คน
ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา53 ( ศปช.) ระบุด้วยว่า ในระหว่างเกิดเหตุการณ์เผาศาลากลาง วันชัยถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำการจับกุมและทำร้ายร่างกายโดยการเหยียบและใช้ท่อนไม้กระแทกที่แผ่นหลัง ก่อนที่จะถูกแจ้งความดำเนินคดี ในข้อหา ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์,บุกรุกสถานที่ราชการโดยมีอาวุธ,ทำให้เสียทรัพย์, ขัดขวาง เจ้าพนักงาน ฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉินฯ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ ยกฟ้องข้อหาทำให้เสียทรัพย์และขัดขวางเจ้าพนักงาน แต่ลงโทษข้อหาวางเพลิงอาคารศาลากลางหลังเก่า โดยให้จำคุก รวม  20 ปี 6 ด. และให้จำเลยร่วมกันชดใช้  57.7 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย7.5% /ปี

หลักนิติธรรมในการดำเนินคดี 112: กรณีสมยศ พฤกษาเกษมสุข


“พิจารณาแล้วเห็นว่า จากคำให้การของพยานบุคคลจำนวนหลายคนซึ่งมีหลากหลายอาชีพแสดงความเห็นว่า เมื่ออ่านบทความดังกล่าวปรากฏในวารสารที่ผู้ต้องหาเสนอขาย พยานทั้งหลายก็ไม่ได้ยืนยันไปในทางเดียวกันทั้งหมดว่า บทความดังกล่าวมีเนื้อหาเป็นการดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีพยานหลายรายเห็นว่า บทความดังกล่าวเป็นเนื้อเชิงวิชาการ คดีจึงยังฟังไม่ได้ว่าบทความดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประกอบกับไม่มีพยานยืนยันว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้เขียนบทความดังกล่าว โดยเป็นเพียงผู้เสนอขายวารสารที่ปรากฏบทความดังกล่าวเท่านั้น จึงยังรับฟังไม่ได้ว่า ผู้ต้องหามีเจตนาทำผิดตามข้อกล่าวหา ... ทั้งยังมีพยานยืนยันว่า ผู้ต้องหามีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จากพยานหลักฐานดังกล่าว ยังรับฟังไม่ได้ว่า ผู้ต้องหามีเจตนากระทำผิดตามข้อกล่าวหา คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง จึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง”
นี่คือคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการในคดีที่นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ถูกดำเนินคดีในความผิดตามมารา 112 เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2547 นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ รับเชิญไปอภิปราย เรื่อง สังคมไทยกับทางรอดที่ควรเลือก เหลียวหลังแลหน้าจากราชดำเนินถึงตากใบ ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างการอภิปราย นายสุลักษณ์ได้ประชาสัมพันธ์หนังสือวารสาร  SEED OF PEACE ซึ่งวางจำหน่ายให้กับบุคคลทั่วไปที่มาร่วมฟังการเสวนาอยู่หน้าห้องอภิปราย วารสารดังกล่าวมีบทความเรื่อง SIAM of the Forgotten Monarch The True Life Sequel of the King and the Land of Smile ที่เขียนโดยผู้ใช้นามแฝงว่า B.P.(บี.พี.) ซึ่งแสดงความเห็นในลักษณะที่เป็นการกล่าวพาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
การที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในกรณีนี้ นับเป็นการใช้หลักนิติธรรมในการดำเนินคดีที่น่าจะมีการนำไปใช้สำหรับคดีความผิดตามมาตรา 112 ทุกคดี กล่าวคือ หลักนิติธรรมประการหนึ่งในการดำเนินคดีอาญา สำหรับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม คือ การรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหลายซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยมีความผิดหรือความบริสุทธิ์ [1] หมายความว่า ในการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหานั้น ต้องหาพยานหลักฐานต่างๆ ทั้งที่เป็นพยานที่เป็นคุณแก่ผู้ต้องหาและพยานที่เป็นโทษต่อผู้ต้องหาด้วย จึงจะถูกต้องตามหลักนิติธรรม ซึ่งหลักนิติธรรมในกระบวนการยุติธรรมมิได้มีเพียงเท่านี้ แต่มีมากมายหลายประการ ดังต่อไปนี้
1. ห้ามการทรมาน การลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 32 วรรค 2 ICCPR ข้อ 7)
2. ห้ามจับกุมหรือควบคุมตัวโดยไม่มีเหตุผลตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 32 วรรค 2ICCPR ข้อ 9)
3. สิทธิได้รับแจ้งถึงเหตุผลในการจับกุม และจะต้องได้รับแจ้งถึงข้อหาที่ถูกจับกุมในขณะจับกุม  (ICCPR ข้อ 9)
4. ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องได้รับการสันนิษฐานว่าไม่มีความผิด (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 39 วรรค 2 ICCPR ข้อ 14 อนุ 2)
5. สิทธิพื้นฐานในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40(2) ICCPR ข้อ 14 อนุ 1)
6. สิทธิผู้ถูกจับในการนำตัวไปศาลโดยพลัน (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40(3) ICCPR ข้อ 9)
7. สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีโดยรวดเร็วตามสมควร (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40(3) ICCPR ข้อ 9)
8. สิทธิได้รับการประกันตัว (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (7) ICCPR ข้อ 9)
9. สิทธิขอให้ศาลสั่งปล่อยหากถูกควบคุมตัวโดยมิชอบ (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 28และมาตรา 32 วรรค 5 ICCPR ข้อ 9)
10. สิทธิได้รับค่าทดแทนหากคุมขังหรือหากถูกคุมขังหรือถูกควบคุมตัวโดยมิชอบ (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (5) ICCPR ข้อ 9)
11. ผู้ต้องหาต้องไม่ถูกคุมขังร่วมกับผู้ต้องขังตามคำพิพากษา(รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (6) ICCPR ข้อ 10)
12. ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กต้องแยกควบคุมมิให้ปะปนกับผู้ต้องขังที่เป็นผู้ใหญ่ (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (6) ICCPR ข้อ 10)
13. ระบบราชทัณฑ์ต้องมีความมุ่งหมายให้ผู้ต้องขังกลับตัวเป็นคนดี (ICCPR ข้อ 10 อนุ 3)
14. สิทธิได้รับการแจ้งข้อหาในภาษาที่เข้าใจได้ (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (4) ICCPR ข้อ 14)
15. สิทธิมีเวลาในการเตรียมต่อสู้คดี และติดต่อทนายความที่ตนเลือก (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (7) ICCPR ข้อ 14)
16. สิทธิในการพิจารณาคดีต่อหน้าจำเลยหรือต่อสู้คดีด้วยตนเองหรือผ่านทนายความที่ตนเลือก (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (2) ICCPR ข้อ 14)
17.สิทธิได้รับแจ้งว่ามีสิทธิพบทนายความ (ICCPR ข้อ 14 อนุ 3)
18. สิทธิขอให้รัฐจัดหาทนายความให้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (7) ICCPR ข้อ 14 อนุ 3)
19. สิทธิที่จะซักถามพยานซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อตน (ICCPR ข้อ 14 อนุ 3)
20. สิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือจากล่าม โดยไม่คิดมูลค่า (ICCPR ข้อ 14 อนุ 3)
21. สิทธิไม่ถูกบังคับให้เบิกความเป็นปรปักษ์ต่อตนเองหรือให้รับสารภาพผิด (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (4) ICCPR ข้อ 14 อนุ 3)
22. สิทธิในการอุทธรณ์ ฎีกา (ICCPR ข้อ 14 อนุ 5)
23. สิทธิได้รับค่าชดเชยจากการถูกลงโทษตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดแต่ภายหลังมีการกลับคำพิพากษาหรือมีข้อเท็จจริงใหม่ที่แสดงว่าได้มีการดำเนินกระบวนการยุติธรรมที่มิชอบ(รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (5) ICCPR ข้อ 14 อนุ 6)
24. สิทธิไม่ถูกดำเนินคดีซ้ำในความผิดที่ได้รับโทษแล้วหรือได้รับการปล่อยตัวแล้วตามกฎหมาย (ICCPR ข้อ 14 อนุ 7)
หลักนิติธรรมของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่กล่าวข้างต้น มีหลักการสำคัญลำดับต้นๆ ก็คือ
สิทธิได้รับการสอบสวนโดยไม่ถูกบังคับให้เบิกความเป็นปรปักษ์ต่อตนเองหรือให้รับสารภาพผิด หรือการพิจารณาคดี ที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม มีโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ และ สิทธิได้รับการประกันตัว (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (7) ICCPR ข้อ 9)
จะเห็นได้ว่าสิทธิในการมีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเพียงพอและการได้รับการประกันตัว เป็นสิ่งสำคัญมากของผู้ต้องหาในคดีอาญา ในคดีของนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์นั้น นายสุลักษณ์ได้รับการประกันตัวตั้งแต่ชั้นจับกุมและสอบสวน จึงมีโอกาสในการเตรียมพยานหลักฐานต่างๆ ในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ทั้งการเลือกทนายความเอง ทั้งการหาหลักฐานทั้งพยานวัตถุ พยานบุคคล พยานเอกสารมายืนยัน ความบริสุทธิ์ของตน โดยมีพยานมายืนยันว่า ตนเองเป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ก็กระทำเพื่อให้เกิดการพัฒนาสถาบัน และกระทำด้วยเจตนาดี จึงได้ทำหนังสือถึงพนักงานอัยการว่า การดำเนินคดีตนจะไม่เป็นดีต่อสถาบัน และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยรวม ที่สำคัญการที่กฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติให้ผู้ใดก็ตามสามารถนำเรื่องไปแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้วิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์ได้ ย่อมไม่เกิดความเป็นธรรมและมีโอกาสที่จะมีการกลั่นแกล้งกันในทางการเมืองได้
ความต่างกันของกรณีนายสุลักษณ์และนายสมยศ ก็คือ นายสมยศไม่มีโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม เช่นนายสุลักษณ์ นายสมยศไม่ได้รับการประกันตัว ไม่มีโอกาสในการดำเนินการทำหนังสือถึงอัยการ ไม่สามารถออกไปหาพยานหลักฐาน พยานวัตถุ พยานบุคคลมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนอง เช่นที่นายสุลักษณ์ได้รับ อันเป็นผลเนื่องมาจากได้รับการปฏิเสธสิทธิในการประกันตัว นั่นเอง
แต่สิ่งที่มีความคล้ายคลึงกันของกรณีนายสุลักษณ์และนายสมยศ ก็คือ
ประการแรก ต่างได้รับการแจ้งข้อกล่าวหา อันเนื่องมาจากสาเหตุทางการเมือง หรือเป็นเพราะกฎหมายกำหนดให้ใครก็ได้ไปดำเนินการแจ้งความดำเนินดคี โดยอ้างเหตุแห่งความจงรักภักดี ซึ่งมิใช่เหตุผลหรือมูลที่จะอ้างตามกฎหมายได้
ประการที่สอง นายสมยศและนายสุลักษณ์ได้รับการแจ้งข้อหาในการกระทำที่ไม่เข้าข้อกฎหมายตามมาตรา 112 กล่าวคือ นายสุลักษณ์ได้รับการแจ้งข้อหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์”  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อ มีการกระทำที่ครบทั้งองค์ประกอบภายนอกและองค์ประกอบภายใน องค์ประกอบภายนอกก็คือ ต้องหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ส่วนองค์ประกอบภายในคือ ต้องมีเจตนา  แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดข้อเท็จจริงในเนื้อความทั้งหมด  จะเห็นได้ว่าบทความอันเป็นเหตุแห่งการตั้งข้อกล่าวหาของนายสุลักษณ์นั้นเป็นภาษาอังกฤษ  การแปลความหมายอาจมีการคลาดเคลื่อน ทั้งเมื่อพิจารณาบทความดังกล่าว จะเห็นได้โดยชัดเจนว่ามิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง  แต่เป็นบทความทางวิชาการในเชิงวิเคราะห์วิจารณ์แพร่ปรากฏทั่วไป นอกจากนี้นายสุลักษณ์ก็มิได้เป็นผู้เขียนบทความตามที่ถูกกล่าวหาขึ้นเอง นายสุลักษณ์เป็นผู้พิมพ์โฆษณาหนังสือวารสาร  SEED OF PEACE ซึ่งวางจำหน่ายให้กับบุคคลทั่วไปที่มาร่วมฟังการเสวนาอยู่หน้าห้องอภิปราย

ส่วนนายสมยศ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดพิมพ์ จำหน่ายและเผยแพร่นิตยสาร VOICE OF TAKSIN : เสียงทักษิณ ที่มีบทความ คมความคิด ของผู้ใช้นามปากกาว่า จิตร พลจันทร์ เรื่องแผนนองเลือดกับยิงข้ามรุ่น เนื้อหาบทความกล่าวถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมืองสองครั้งของไทย คือ เหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 และเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองหลังวันพิพากษาคดียึดทรัพย์ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร   และในฉบับที่ 16 บทความของผู้เขียนคนเดิม เรื่อง 6 ตุลา แห่ง พ.ศ.2553 บทความกล่าวถึงตัวละครหนึ่งที่ชื่อว่า หลวงนฤบาล ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษอ่านแล้วตีความได้ว่า เป็นการพาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ และทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ประเด็นคือ การเป็นผู้เผยแพร่ จำหน่าย หนังสือที่มีข้อความอันเป็นความผิดตามมาตรา 112 นั้น จะถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา 112 ด้วยหรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาตามข้อกฎหมายแล้วจะเห็นว่า มีการฟ้องคดีต่อนายสมยศ โดยมิได้มีการพิจารณาองค์ประกอบความผิดว่านายสมยศมีการกระทำครบองค์ประกอบภายนอก และองค์ประกอบภายใน ของความผิดตามหลักทั่วไปของกฎหมายอาญาหรือไม่
สิทธิในการมีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมนั้นสอดคล้องกับสิทธิได้รับการประกันตัวเพื่อให้ผู้ต้อง
หาหรือจำเลยมีโอกาสต่อสู้คดี ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สอดคล้องกับหลักการสากลในกติการะหว่างประเทศ ICCPR ข้อ 14 [2] การไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว เป็นเหตุกระทบถึงสิทธิในการมีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมด้วย เนื่องจากไม่สามารถออกไปหาพยานหลักฐานมาใช้ในการต่อสู้คดีได้
จนถึงวันนี้นายสมยศก็ยังไม่ได้รับการประกันตัวและกำลังจะมีการฟังคำพิพากษาในวันที่ 23 มกราคม 2556 ที่จะถึงนี้ คำพิพากษาในคดีของนายสมยศจะเป็นบทพิสูจน์กระบวนการยุติธรรมของไทยอีกคำรบหนึ่ง ว่าจะมีการตัดสินลงโทษหรือปล่อยจำเลยให้เป็นอิสระ เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นอิสระของศาลและธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรมในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อไป

เชิงอรรถ
[1] 
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา  131 ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา และมาตรา 226 พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยาน
[2] กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ 14
1. บุคคลทั้งปวงย่อมเสมอภาคในการพิจารณาของศาลและคณะตุลาการ ในการพิจารณาคดีอาญาซึ่งตนต้องหาว่ากระทำผิด หรือการพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของตน บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับการพิจารณาอย่างเปิดเผยและเป็นธรรมโดยคณะตุลาการซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย มีอำนาจ มีความเป็นอิสระ และเป็นกลาง สื่อมวลชนและสาธารณชนอาจถูกห้ามเข้าฟังการพิจารณาคีทั้งหมดหรือบางส่วนก็ด้วยเหตุผลทางศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของชาติในสังคมประชาธิปไตย หรือเพื่อความจำเป็นเกี่ยวกับส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องชีวิตส่วนตัวของคู่กรณี หรือในสภาพการณ์พิเศษซึ่งศาลเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อการพิจารณาโดยเปิดเผยนั้นอาจเป็นการเสื่อมเสียต่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แต่คำพิพากษาในคดีอาญา หรือคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีอื่นที่เปิดเผย เว้นแต่จำเป็นเพื่อประโยชน์ของเด็กและเยาวชน หรือเป็นกระบวนพิจารณาเกี่ยวด้วยข้อพิพาทของคู่สมรสในเรื่องการเป็นผู้ปกครองเด็ก
2. บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดอาญา ต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด
3. ในการพิจารณาคดีอาญา บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดย่อมมีสิทธิที่จะได้รับหลักประกันขั้นต่ำดังต่อไปนี้โดยเสมอภาค
(ก) สิทธิที่จะได้รับแจ้งโดยพลันซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพและเหตุแห่งความผิดที่กล่าวหา ในภาษาซึ่งบุคคลนั้นเข้าใจได้
(ข) สิทธิที่จะมีเวลา และได้รับความสะดวกเพียงพอแก่การเตรียมการเพื่อสู้คดีและติดต่อกับทนายความที่ตนเลือกได้
(ค) สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโดยไม่ชักช้าเกินความจำเป็น
(ง) สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาต่อหน้าบุคคลนั้น และสิทธิที่จะต่อสู้คดีด้วยตนเอง หรือโดยผ่านผู้ช่วยเหลือทางกฎหมายที่ตนเลือก สิทธิที่บุคคลจะได้รับการแจ้งให้ทราบถึงสิทธิในการมีผู้ช่วยเหลือทางกฎหมาย หากบุคคลนั้นไม่มีผู้ช่วยเหลือทางกฎหมาย ในกรณีใดๆ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม บุคคลนั้นมีสิทธิที่จะมีผู้ช่วยเหลือทางกฎหมาย ซึ่งมีการแต่งตั้งขึ้นโดยปราศจากค่าตอบแทน ในกรณีบุคคลนั้นไม่สามารถรับภาระในการจ่ายค่าตอบแทน
(จ) สิทธิที่จะซักถามพยานซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อตน และขอให้เรียกพยานฝ่ายตนมาซักถามภายใต้เงื่อนไขเดียวกับพยานซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อตน
(ฉ) สิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือจากล่ามโดยคิดมูลค่า หากไม่สามารถเข้าใจหรือพูดภาษาที่ใช้ในศาลได้
(ช) สิทธิที่จะไม่ถูกบังคับให้เบิกความเป็นปรปักษ์ต่อตนเอง หรือให้รับสารภาพผิด
4. ในกรณีของบุคคลที่เป็นเด็กหรือเยาวชน วิธีพิจารณาความให้เป็นไปโดยคำนึงถึงอายุและความปรารถนาที่จะส่งเสริมการแก้ไขฟื้นฟูความประพฤติของบุคคลนั้น
5. บุคคลทุกคนที่ต้องคำพิพากษาลงโทษในความผิดอาญา ย่อมมีสิทธิที่จะให้คณะตุลาการระดับเหนือขึ้นไปพิจารณาทบทวนการลงโทษและคำพิพากษาโดยเป็นไปตามกฎหมาย
6. เมื่อบุคคลใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษในความผิดอาญา และภายหลังจากนั้น มีการกลับคำพิพากษาที่ให้ลงโทษบุคคลนั้น หรือบุคคลนั้นได้รับอภัยโทษ โดยเหตุที่มีข้อเท็จจริงใหม่หรือมีข้อเท็จจริงที่ได้ค้นพบใหม่อันแสดงให้เห็นว่าได้มีการดำเนินกระบวนการยุติธรรมที่มิชอบ บุคคลที่ได้รับความทุกข์อันเนื่องมาจากการลงโทษตามผลของการพิพากษาลงโทษเช่นว่า ต้องได้รับการชดเชยตามกฎหมาย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงที่ยังไม่รู้ให้ทันเวลาเป็นผลจากบุคคลนั้นทั้งหมดหรือบางส่วน
7. บุคคลย่อมไม่ถูกพิจารณา หรือลงโทษซ้ำในความผิดซึ่งบุคคลนั้นต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ หรือให้ปล่อยตัวแล้วตามกฎหมายและวิธีพิจารณาความอาญาของแต่ละประเทศ

ใบตองแห้ง: ฉายาสื่อฮ่าฮ่า ‘พิราบกระเด้าลม’


ประเพณีตั้งฉายารัฐบาลของผู้สื่อข่าวทำเนียบดูเหมือนจะเปลี่ยนไปในระยะหลัง คือจาก Mocking ล้อกันเล่นแสบๆ คันๆ กลายเป็นฉวยโอกาสประณามรัฐบาลส่งท้ายปี โดยที่อารมณ์ขันลดลง อารมณ์ดุดันขึ้นสูง
และอาจเป็นเพราะสื่อมีฝักฝ่าย จึงทำให้ฉายาออกมาไม่ get ไม่โดนใจคน เช่นที่โพลล์ไม่เห็นด้วย “ปูกรรเชียง”
วาทะแห่งปี ซึ่งควรจะเลือกคำพูดที่เป็นข่าวฮือฮา กลับไปเลือกคำพูดนายกฯ ในสภา ซึ่งไม่ค่อยเป็นประเด็น
นี่ไม่ใช่พูดเพราะผมเชียร์รัฐบาล แต่จะบอกว่าเลือก White Lie หรือ “ขี้ข้าทักษิณ” เสียยังโดนกว่า เหมือนนักข่าวอาชญากรรมเลือก “มีวันนี้เพราะพี่ให้” ใครๆ ก็ไม่เถียง
ฉายารัฐบาล “พี่คนแรก” มีส่วนถูก ที่ว่ามีเงาพี่ชาย พี่สาว ปัญหาของพี่ พาดผ่านอยู่ตลอด แต่อย่าลืมว่าความขัดแย้งสำคัญในปี 2555 อยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ คำอธิบายที่ไม่ชัดเจนทำให้เหมารวมการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไปด้วย ว่าแก้เพื่อทักษิณ ทั้งที่นักข่าวทำเนียบควรตระหนักว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่เป็นประชาธิปไตย มีผู้คนมากมายต้องการให้แก้ ถ้าอธิบายให้ดีต้องบอกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียกระบวนไปเพราะร่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่ดันเข้ามาเพื่อ “พี่คนแรก” ต่างหาก
ฉายาที่ผู้สื่อข่าวรัฐสภาตั้งยังนับว่า “โดน” กว่าและดู “เป็นกลาง” กว่า เช่นที่ยกให้ 3 ส.ส.ทั้งเพื่อไทย ปชป.เป็นดาวดับ
อย่ากระนั้นเลย ไหนๆ ก็ไหนๆ ขอตั้งฉายาให้สื่อบ้าง โดยเฉพาะสื่อกระแสหลัก ซึ่งเคยแต่ตั้งฉายาให้ชาวบ้าน
อันที่จริงไม่อยากใช้คำว่า “พิราบ” เดี๋ยวความหมายจะแปดเปื้อน เพราะ “พิราบ” หมายถึงผู้รักเสรีภาพ ไม่ใช่ผู้สนับสนุนรัฐประหาร แต่ในเมื่อสื่อยกตนเป็นพิราบ เป็นความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป ก็ให้ยืมใช้ชั่วคราว ถ้าจะเปื้อน ก็เปื้อนเพราะคนยกตน
“พิราบกระเด้าลม” ฟังแล้วอาจหยาบไปหน่อย แต่ก็เหมาะกับพฤติกรรมสื่อกระแสหลักในรอบปี 55 ที่ทั้งปลุกความเกลียดชัง ล่วงล้ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ล่วงล้ำก้ำเกินทางเพศ ตั้งแต่ผู้จัดการแต่งภาพ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็น “วรเจี๊ยก” โดยองค์กรสถาบันสื่อเมินเฉย ไม่ตำหนิติติง หรือการใส่สีตีข่าวแบบสองแง่สองง่ามตามฝ่ายค้าน กรณี ว.5 โฟร์ซีซันส์ ซึ่งสนุกปากกันเกือบทุกฉบับ โดยองค์กรผู้หญิงไม่ยักปกป้องศักดิ์ศรีสตรี
มาจนกระทั่งการ์ตูนนิสต์ฝรั่งเขียนการ์ตูนเหยียดเพศยิ่งลักษณ์ ว่าให้ท่าโอบามา ลง The Nation ซึ่งเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์มาก สำหรับค่ายบางนา ที่พยายามสร้างภาพ “มาตรฐานฝรั่ง” เพราะถ้าเป็นหนังสือพิมพ์ฝรั่งที่มีมาตรฐานจริง เขาไม่ทำกันอย่างนี้ ต่อให้ไม่ชอบหรือเกลียดชังอย่างไรเขาก็ไม่ล้ำเส้น
ไม่รู้เหมือนกันว่า The Nation จะปล่อยให้ฝรั่งสลิ่มเหยียดเพศต่อไปไหม ในเมื่อเพิ่งเปลี่ยน บก.ใหม่ ได้ บก.ผู้หญิง
พฤติกรรมเช่นที่ยกตัวอย่างนี้มีมาต่อเนื่องทั้งปี จึงไม่อาจเรียกอย่างอื่นได้ นอกจาก “กระเด้า”
แต่ “กระเด้าลม” หมายถึงสื่อมีความวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่งยวด ในอันที่จะล้มรัฐบาล ตั้งแต่ศุกร์ 13 ภาคศาลรัฐธรรมนูญ มาจนม็อบสนามม้า “แช่แข็งประเทศไทย” หนังสือพิมพ์บางฉบับเชียร์ตั้งแต่หน้าข่าวการเมือง ข่าวสังคม ข่าวต่างประเทศ ไปถึงหน้าพระเครื่อง ซึ่งขนหมอดูมาทำนายว่ารัฐบาลจะอยู่ได้ไม่เกินวันที่เท่านั้นเท่านี้
ที่ไหนได้ กระเด้าลม ม็อบทำงานไม่ถึง 8 ชั่วโมงก็ละลาย หมอดูหน้าแหกพอๆ กับคำทำนายวันโลกแตก สื่อยัง “วีน” พยายามเล่นงานตำรวจทำรุนแรง แต่ไม่เป็นผล ทีวีเสรีซึ่งเผลอหลุดปาก “ผู้ชุมนุมของเรา” อุตส่าห์ขุดหนัง Battle in Seattle มาฉาย แต่ปลุกไม่ขึ้น
ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลกลับมีเสถียรภาพมั่นคง เพราะการปลุกกระแสสุดขั้วสุดโต่ง จ้องล้มรัฐบาล ทำให้กระแสสังคมวงกว้างปฏิเสธ ไม่เอาด้วย สังคมไทยเบื่อหน่ายการโค่นล้มกันด้วยวิถีทางนอกระบอบ เข็ดแล้ว อยากอยู่สงบๆ จะได้ทำมาหากิน ไม่เอาอีกแล้ว รัฐประหาร ตุลาการยุบพรรค ชอบไม่ชอบรัฐบาล ก็ให้บริหารประเทศไปตามวิถี
“พิราบกระเด้าลม” ยังเอวเคล็ดเปล่า ในอีกหลายสมรภูมิ อาทิเช่น การรณรงค์บอยคอตต์ “เรื่องเล่าเช้านี้” สรยุทธ สุทัศนะจินดา ของสมาคมนักข่าวและสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งทำให้ราคาหุ้นช่อง 3 ปั่นป่วน เพราะนักลงทุนไม่รู้จะเอาไงแน่ จนกระทั่งช่อง 3 ต้องประกาศยืนยันว่าไม่ถอดรายการสรยุทธ ราคาหุ้นจึงพุ่งพรวดกลับไปสูงกว่าเดิม (ฮา)
นี่อาจรวมถึงการร่วมมือกับ TDRI และยะใส กตะศิลา พยายามล้มประมูล 3G แต่ผลที่ออกมากลายเป็นพวก “ลูกอีช่างฟ้อง” ซึ่งสังคมเหม็นเบื่อ เห็นเป็นพวกถ่วงความเจริญไปเสียฉิบ
อ้อ ยังไปจับผิดงบโฆษณา กสทช.ค่ายมติชนอีกต่างหาก ปรากฏว่าจับผิดจริงๆ เพราะไปจับตัวเลขที่เขาพิมพ์ผิด