วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558

ศาลสั่งไม่ทราบใครยิง 'ฮิโรยูกิ-วสันต์-ทศชัย' เหยื่อกระสุน 10 เม.ย.53 ตาย


<--break- />
30 เม.ย.2558 เวลา 10.00 น ที่ห้อง 604 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลมีคำสั่ง คดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพของฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ผู้ตายที่ 1 วสันต์ ภู่ทอง ผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้ตายที่ 2 และทศชัย เมฆงามฟ้า ผู้ชุมนุม นปช. ผู้ตายที่ 3 จากการถูกยิงเสียชีวิตในคืนวันที่ 10 เม.ย. 2553 จากการสลายการชุมนุม นปช. ของ ศอฉ. บนถนนดินสอ บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา

โดยศาลมีคำสั่งว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำหรือไม่อาจทราบได้ว่ากระสุนปืนที่ยิงถูกผู้ตายทั้ง 3 มีแนววิถีกระสุนปืนมาจากทิศทางใด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าเมื่อ ก.ย.56 ศาลได้มีคำสั่งไต่สวนการตาย นายจรูญ ฉายแม้น และนายสยาม วัฒนนุกูล ผู้ชุมนุมฝั่งนปช. ซึ่งเสียชีวิตในจุดเดียวกัน และเวลาใกล้เคียงกันว่า วิถีกระสุนปืนยิงมาจากฝ่ายเจ้าพนักงานที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปที่บริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้แยกสะพานวันชาติ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ 

ศูนย์ทนายสิทธิฯ มอนิเตอร์การใช้ม.44 ชี้ไร้กลไกตรวจสอบการใช้อำนาจ หวั่นกระทบสิทธิปชช.


30 เม.ย. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งข้อสังเกตหลังใช้มาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แทนกฎอัยการศึก สองสัปดาห์ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญประกาศใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวม 5 ฉบับ ชี้มีแนวโน้มการใช้อำนาจตามมาตรา 44 อย่างต่อเนื่อง ชี้การดำรงอยู่และการใช้อำนาจตามมาตรา 44 สะท้อนความไร้ประสิทธิภาพในการทำงานของฝ่ายบริหารในการใช้กลไกและเครื่องมือของรัฐประเทศที่มีอยู่ ซ้ำยังตรวจสอบการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ไม่ได้ หวั่นประชาชนขาดหลักประกันสิทธิและเสรีภาพ และความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ

รายละเอียดมีดังนี้


             พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญประกาศใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติรวม 5 ฉบับในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา

ตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. 58 -29 เม.ย. 58 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาใช้อำนาจตามมาตรา 44 ประกาศใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติรวม 5 ฉบับ ดังต่อไปนี้

  • 1.  คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 6/2558[1] เรื่อง การกําหนดตําแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดํารงตําแหน่ง ซึ่งมีสาระสำคัญในการโยกย้ายตำแหน่งปลัดกระทรงศึกษาธิการ เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

  • 2.  คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2558 เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริม สวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา[2] ซึ่งมีสาระสำคัญคือ

          ให้กรรมการคุรุสภา ตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 กรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 และกรรมการในคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการ และสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาพ้นจากตำแหน่ง โดยแต่งตั้งกรรมการโดยตำแหน่งหน้าที่แทนโดยมีผลจนกว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะสิ้นสุดลง

          กำหนดให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตามคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔๕/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตรวจสอบความถูกต้องและโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ การบริหารการเงิน ทรัพย์สิน และผลประโยชน์อื่นใด ของคุรุสภา สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา และองค์การค้าของสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา

  • 3.  คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 8/2558 เรื่อง การเลือกกรรมการแทนตําแหน่งที่ว่างในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ[3] ซึ่งมีสาระสำคัญคือให้ กสทช. ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน โดยไม่ต้องดําเนินการสรรหา และคัดเลือกบุคคลใดแทนตําแหน่งที่ว่างตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกํากับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553และเมื่อมีเหตุที่จะต้องมีการเลือกกรรมการใน กสทช. แทนตําแหน่งที่ว่างลงในอนาคต ในกรณีเช่นว่านั้น ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดําเนินการตามกฎหมายโดยอนุโลมต่อไป

  • 4.  คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 9/2558 เรื่อง การให้ข้าราชการสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่[4] ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ให้ นายพิชิต นิลทองคํา จัดหางานจังหวัดชลบุรี ซึ่งมาปฏิบัติหน้าที่ผู้อํานวยการสํานักบริหารแรงงานต่างด้าวตามที่มีคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 70/2557 เรื่อง การแต่งตั้งให้ข้าราชการ ปฏิบัติหน้าที่ สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ผู้อํานวยการสํานักบริหารแรงงานต่างด้าวลง

  • 5.  คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 10/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม[5] ซึ่งมีสาระสำคัญคือ

         ให้จัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย” (Command Center for Combating Illegal Fishing) เรียกโดยย่อว่า ศปมผ. (CCCIF) เป็นศูนย์เฉพาะกิจ ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทํา การประมงผิดกฎหมาย (ผบ.ศปมผ.) โดยมีการกำหนดโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ที่ของศปมผ.ไว้ ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาจากการที่ประเทศไทยได้รับการประกาศเตือนจากสหภาพยุโรปถึงการจัดให้มีมาตรการในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing)

ทั้งนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่า

  • 1.   หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีแนวโน้มการใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 อย่างต่อเนื่อง โดยคำสั่งทั้ง 5 ฉบับข้างต้นเป็นการใช้อำนาจ

  • 1.1     ทั้งในแง่การบริหารงานบุคคลซึ่งเป็นอำนาจฝ่ายบริหารโดยแท้และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาในฐานะนายกรัฐมนตรีสามารถกระทำได้โดยไม่จำเป็นต้องออกเป็นคำสั่งตามมาตรา 44 และ
  • 1.2     การให้พ้นจากตำแหน่งหรือแต่งตั้งคณะกรรมการซึ่งมีที่มาตามกฎหมาย รวมถึงที่มาของกรรมการในองค์กรอิสระอย่าง กสทช. ซึ่งเป็นในภาวะปกตินายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้

  • 2.   การดำรงอยู่และการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ย่อมสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพในการทำงานของฝ่ายบริหารในการใช้กลไกและเครื่องมือของรัฐประเทศที่มีอยู่ ทั้งที่ฝ่ายบริหารขณะนี้มีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หากปัญหาบางประการจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายควรกระทำผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งมีกระบวนการกลั่นกรองมากกว่า

  • 3.   ประชาชนรวมถึงบุคลากรของรัฐไม่สามารถตรวจสอบความโปร่งใส ความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งและการกระทำตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้เพราะมาตรา 44 ได้รับรองความชอบรัฐธรรมนูญไว้ ส่งผลให้ประชาชนขาดหลักประกันสิทธิและเสรีภาพ และความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ แม้จะมีการรับรองสิทธิเสรีภาพตามมาตรา 4 รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ไว้แล้วก็ตาม

พรเพชร เผยใช้ ม.44 สั่งให้มีประชามติร่าง รธน. ไม่ได้ ชี้ต้องแก้ รธน. ชั่วคราวก่อน


ประธาน สนช. แจงถ้าจะมีการทำประชามติ ไม่สามารถใช้มาตรา 44 ได้ ชี้ถ้าจะทำ ครม. คสช. ต้องพิจารณาร่วมกัน ก่อนส่งเรื่องให้ สนช. พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราว
30 เม.ย. 2558  เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชี้แจงถึงกระบวนการทำประชามติในร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่สามารถใช้ช่องทางตามมาตรา 44 ได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ไม่ได้ให้อำนาจพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ให้ใช้ช่องทางตามมาตรา 46 ที่ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีตรี  และ คสช. ตัดสินใจ เสนอเรื่องให้ สนช. พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งผู้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องมีเหตุผลเพียงพอ เพื่อให้ สนช.ให้ความเห็นชอบ
ประธาน สนช. ชี้แจงถึงอำนาจของหัวหน้า คสช.ด้วยว่า ปัจจุบันไม่ได้ดำรงอำนาจรัฎฐาธิปัตย์ไว้ เพราะอำนาจดังกล่าวสิ้นสุดลงตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมีผลบังคับใช้และ ปัจจุบันประเทศไทยปกครองด้วยระบอบนิติรัฐ คือ รัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย หัวหน้า คสช.ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับองค์กรอื่นๆ
ด้าน ผู้จัดการออนไลน์ ASTV รายงานต่อไปว่า พรเพชร กล่าวว่า เมื่อ คสช. เป็นองค์กรหนึ่งตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44 ให้ คสช. ใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินการตามโร้ดแม็ป 3 ขั้น ไม่ใช่ทำอะไรก็ได้ ไม่ได้ให้อำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ดังนั้นการให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งให้มีการทำประชามติจึงทำไม่ได้ ถึงจะสั่งก็ไม่ผูกพันหรือไม่มีผลต่อร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ให้อำนาจ คสช. ออกคำสั่งที่มีผลในทางนิติบัญญัติได้ ในทางปกครองเช่นย้ายข้าราชการได้ ทั้งหมดอยู่ในเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ไม่สามารถทำเกินรัฐธรรมนูญได้
ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวอยู่ในมาตรา 46 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การดำเนินการตามโร้ดแม็ปเป็นไปตามที่ คสช. เห็นสมควร หากมีอุปสรรคเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญจึงจะมีการแก้ไขได้ เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อตามโร้ดแม็ป ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องของการลงประชามติ เพราะไม่ได้เขียนไว้ ถ้าอยากลงประชามติต้องแก้ไขมาตรา 46 ที่แก้ไขกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญได้ จะต้องทำโดย 3 องค์กรร่วมกัน คือ ครม. คสช. และ สนช. การตัดสินใจเบื้องต้นเป็นอำนาจของ ครม. และ คสช. แต่การเสนอเป็นของใครก็ได้ ต้องมีเหตุผล เป็นกระบวนการของกฎหมาย ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นปัจจัยที่ 3 องค์กรจะพิจารณาร่วมกัน ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีหรือตนเพียงคนเดียว

วิษณุ ยันความเห็นเรื่องประชามติ ไม่ใช่หน้าที่ กมธ.ยกร่างฯ ชี้เป็นเรื่องของ ครม. คสช. เท่านั้น


วิษณุ โต้กลับ บวรศักดิ์ เรื่องประชามติ ยันไม่ใช่หน้าที่ กมธ.ยกร่างฯ ย้ำ ครม. และ คสช. คิดเองได้ ว่าจะมีหรือไม่มี แต่ในเมื่อเสนอมาก็ไม่ว่ากัน
30 เม.ย. 2558 ผู้จัดการออนไลน์ ASTV รายงานว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุเสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญและสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เห็นว่าควรทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้ตัดสินใจ กมธ.ยกร่างฯไม่จำเป็นต้องเห็นว่าอะไรทั้งนั้น เพราะการทำประชามติหรือไม่ทำประชามติไม่ใช่เรื่องหรือหน้าที่ของ กมธ.ยกร่างฯเลย มีหน้าที่ไปทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ งานเริ่มตั้งแต่ร่างจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ แต่ถ้าอยากเสนอมาก็ไม่ว่ากัน แต่ไม่มีน้ำหนักอะไร ส่งมาโดยให้น้ำหนักว่า คิดว่าทำไมควรต้องมีการทำประชามติ มันก็จะมาประกอบการพิจารณา แต่ครม.และคสช.คิดเองได้ว่า ควรมีหรือไม่มีการทำประชามติ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกเป็นเดือนเพื่อแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แล้วมีพิธีทำประชามติยาวอีก 4 - 5เดือน ถึงได้กั๊กอยู่นี่ไง เพราะถ้าบอกว่าอยากก็จะหาว่าอยากอยู่ยาว ทั้งที่ส่วนตัวแล้วอยากไปเร็ว
วิษณุ กล่าวว่า ที่บอกว่าส่งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญของ ครม. และ คสช. กลับไปยังกมธ.ยกร่างฯ ในเวลา 16.00 น. วันที่ 25 พ.ค.ตามกำหนดนั้น เพราะไม่จำเป็นต้องส่งไปตั้งแต่ไก่โห่ และไม่ใช่เป็นการกั๊ก แต่เป็นคิดให้รอบคอบ เพราะต้องคอยรับฟังจากหลายฝ่ายที่ส่งมา ถ้าเอาของตนเป็นหลักคนเดียว พรุ่งนี้ตนก็ส่งได้ แต่ในนาม ครม. ต้องรอกระทรวงต่างๆ องค์กรต่างๆ ส่งมาที่เราอีก ขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก็บอกว่า จะส่งมาที่รัฐบาล นี่คือเหตุผลที่ต้องกั๊ก
"ที่ผมบอกว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญเรียบๆ ง่าย ๆ จะดีกว่าร่างรัฐธรรมนูญที่เขียนแบบหวือหวานั้น ผมมองว่ามันยืดยาวเกินไป ถ้าไม่หวือหวาก็ได้ แต่ถ้าไม่หวือหวาเดี๋ยวจะโดนว่าไม่มีอะไรใหม่บ้างเลย ซึ่งหลายเรื่องก็ดี ชมว่าเขาเข้าใจคิด"
ผู้สื่อข่าวถามว่า เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญบางมาตราที่นักการเมืองไม่เห็นด้วยจะมีการเปิดโอกาส ให้มีการเสนอแนะเข้ามามากกว่าให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า อยู่ที่ กมธ.ยกร่างฯจะเปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นหรือไม่ แต่ถ้าจะส่งความเห็นมาทางอื่น เช่น ครม. หรือ คสช. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ส่งต่อไปยัง กมธ.ยกร่างฯ อยู่แล้วก็ยินดีรับฟัง วันนี้องค์กรอิสระหลายองค์กรส่งข้อเสนอแนะมาที่รัฐบาลและคสช. เพราะเขาไม่มีสิทธิส่งไปกมธ.ยกร่างฯ แต่ทางเราต้องกรองด้วย ไม่ใช่ส่งอะไรมาก็ส่งต่อ แต่กมธ.ยกร่างฯจะเอาด้วยหรือไม่นั้นตนไม่ทราบ ช่องทางมันมี 2 ช่องทางคือ เป็นทางการ จึงต้องมาที่ ครม. , คสช. และสปช. ส่วนช่องทางที่ไม่เป็นทางการให้ส่งไปยัง กมธ.ยกร่างฯ โดยตรง

ให้ประกันสาวท้อง 7 เดือน คดีปาระเบิดศาลอาญา

ภรรยาผู้ต้องขังคดีปาระเบิดศาล วัย 19 แม่ของเด็กชายวัย 2  ขวบ พร้อมอุ้มท้อง 7 เดือน ได้รับความปราณีจากศาล ให้ประกันตัว วงเงินประกันห้าแสน พร้อมเงื่อนไข ห้ามออกนอกประเทศ ห้ามยุ่งเกี่ยวการเมือง ห้ามยุ่งกับพยานหลักฐานในคดี ทนายชี้เป็นเพียงภรรยาของผู้ต้องหา ไม่สนใจการเมืองและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเหตุการณ์ รวมเวลาถูกขัง 54 วัน 

30 เมษายน 2558 ศาลทหารอนุญาตให้ประกันตัว  ธัชพรรณ ปกครอง  ภรรยาของ ยุทธนา เย็นภิญโญ ผู้ต้องหาคดีปาระเบิดศาลอาญา หญิงวัย 19 ปี ถูกจับกุมและแจ้งข้อหาพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน,พยายามให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่น มีและใช้เครื่องกระสุนที่ใช้เฉพาะแค่การสงครามที่นายทะเบียนไม่สามรถออกใบอนุญาตให้ครอบครองและพกพาในที่สาธารณะ  เธอถูกเจ้าหน้าที่ทหารุกเข้าทำการจับกุมตัวเมื่อเวลา 03.00 น.ของวันที่ 8 มีนาคม 2558
มารดาของธัชพรรณกล่าวว่า หลังมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวมาแล้วหนึ่งครั้ง เวลา 12.30น. ของวันนี้ เธอได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์โฉนดที่ดินมูลค่า 1,008,000 บาท เพื่อขอประกันตัวบุตรสาวของเธอต่อศาล พร้อมให้เหตุผลว่าผู้ต้องขังเป็นมารดาต้องดูแลบุตรชายวัย 2 ขวบ และยังอยู่ในสภาวะตั้งครรภ์เป็นเวลา 7เดือนแล้ว ประกอบกับผู้ต้องขังยังมีอาการป่วยเป็นโรคธาลัสธีเมีย ซึ่งมีความจำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในในระหว่างตั้งครรภ์

จตุพร เผยคำสั่งด่วน จอดำ PEACE TV 20.30 น.


30 เม.ย.2558 เมื่อเวลา 19.51 น.ที่ผ่านมา จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โพสต์แจ้งในเพจเฟซบุ๊กระบุ มีคำสั่งด่วนให้ PEACE TV จอดำ ตั้งแต่เวลา 20.30 น. เป็นต้นไป