วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557

คุก 11 ปี อดีต ผอ. 'พีเพิ่ลแชนแนล นิวส์ ' เขียนบทความโจมตี 'เจิมศักดิ์' ล้มสถาบัน


รับสารภาพลดเหลือ 5 ปีครึ่ง ยื่นขอประกันตัวแล้ว แต่ศาลอาญาให้คุมขังไว้จนกว่าจะมีคำสั่งศาลอุทธรณ์ออกมาว่าจะให้ประกันหรือไม่
 
เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2557 ที่ผ่านมา เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่าที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลได้อ่านคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาท หมายเลขดำ อ.3595/56 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้องนายสอาด จันทร์ดี อายุ 78 ปี อดีตคอลัมนิสต์ นสพ.รายวันฉบับหนึ่ง และ อดีต ผอ.นสพ.พีเพิ่ล แชนแนล นิวส์ ออนไลน์ เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ,พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 56 ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 16 เม.ย. – 17 พ.ค. 2554 ต่อเนื่องกัน จำเลยได้เขียน และโพสข้อความลงใน น.ส.พ. พีเพิ่ลแชนแนล นิวส์ ออนไลน์ (PEOPLE CHANNEL NEWS ONLINE) รวม 12 ตอน ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปอ่านได้ที่เว็บไซต์ WWW.PCHANNEL.ORG โดยกล่าวหาใส่ร้าย นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว.สรรหา กับพวก ทำนองว่า เป็นตัวการ และจงใจช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.๒๕๕๐ ล้มล้างสถาบันเบื้องสูง และอื่น ๆ ซึ่งล้วนเป็นเท็จทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่า นายเจิมศักดิ์ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง เสื่อมเสียชื่อเสียงและวงศ์ตระกูล โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326,328, พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14,15 ด้วย เหตุเกิดที่แขวง –เขตดินแดง กทม.และที่อื่นเกี่ยวพันกัน จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา และความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ รวม 11 กระทงจำคุกกระทงละ 1 ปี เป็นจำคุก 11 ปี คำรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษกระทงละกึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยไว้ 5 ปี 6 เดือน
 
อย่างไรก็ตามเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับจำเลยได้สร้างเรื่องขึ้นโดยพาดพิงถึงสถาบันเบื้องสูงซึ่งประชาชนชาวไทยให้ความเคารพศรัทธาอย่างยิ่งย่อมก่อให้ประชาชนส่วนมาเกลียดชังผู้เสียหายซ้ำจำเลยยังกระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่ารวม11ครั้งโดยมิได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนและมิได้คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น นับเป็นเรื่องร้ายแรง การที่จำเลยลงขอขมาผู้เสียหายก็หาทำให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นระงับสิ้นไปได้ กรณีจึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ
 
ต่อมานายสอาด จำเลย ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดและโฉนดที่ดิน รวมมูลค่า 500,000 บาท เพื่อขอปล่อยชั่วคราวชั้นอุทธรณ์ต่อสู้คดี ขณะที่ศาลอาญาพิจารณาคำร้องประกอบพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นควรเสนอคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์เป็นพิจารณาเพื่อมีคำสั่งว่าจะ ให้ประกันตัวหรือไม่ต่อไป ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อศาลอาญา มีคำสั่ง ส่งคำร้องขอประกันตัวของจำเลยให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว วันนี้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ จึงได้ควบคุมตัวนายสะอาด จำเลย ไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ฯ ก่อน จนกว่าจะมีคำสั่งศาลอุทธรณ์ออกมาว่าจะให้ประกันหรือไม่ให้ตัว

ตำรวจคุม 'ชายชุดดำ' ทำแผนเหตุปะทะแยกคอกวัว

ตำรวจควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็น "ชายชุดดำ" ชี้จุดทำแผนประกอบคำรับสารภาพคดีใช้อาวุธสงครามยิงปะทะในเหตุ 10 เมษายน 53 ด้าน "ปุณิกา ชูศรี" ไม่ยอมมาทำแผนด้วย ขณะที่ตำรวจเตรียมฝากขังทั้งหมดต่อศาลพรุ่งนี้ 'สมยศ' ยันไม่ได้จับแพะ

12 ก.ย. 2557 นายกิตติศักดิ์ สุ่มศรี, นายปรีชา อยู่เย็น, นายรณฤทธิ์ สุริชา และนายชำนาญ ภาคีฉาย ผู้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหาว่าเป็น "ชายชุดดำ" ถูกตำรวจกองปราบปราม ควบคุมตัวไปชี้จุดทำแผนประกอบคำรับสารภาพบริเวณสี่แยกคอกวัว หลังร่วมกัน ใช้อาวุธสงคราม ยิงต่อสู้กับทหารระหว่างขอคืนพื้นที่การชุมนุมกลุ่ม นปช. บริเวณถนนราชดำเนิน เมื่อช่วงค่ำวันที่ 10 เมษายน 2553 เป็นเหตุทหารและพลเรือนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
โดยจุดแรก บริเวณถนนตะนาว ตัดกับถนนข้าวสาร ที่ผู้ต้องหาใช้อาวุธสงครามยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ทหาร และจุดที่ 2 คือจุดจอดรถตู้ บริเวณถนนตะนาว หลังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม ใกล้วัดมหรรณพารามวรวิหาร ก่อนเดินข้ามฝั่งมาก่อเหตุด้านถนนข้าวสาร ทั้งนี้ ไม่ได้นำตัวนางสาวปุณิกา ชูศรี มาทำแผนครั้งนี้ เนื่องจากไม่ยินยอม
การทำแผนครั้งนี้มีกำลังตำรวจรวม 3 กองร้อย 450 นาย คอยดูแลความปลอดภัยตลอดจนการทำแผน ก่อนควบคุมตัวกลับไปสอบต่อที่กองปราบปราม
ด้าน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวหาว่า กลุ่มชายชุดดำกลุ่มนี้ มีความเชื่อมโยงถนนดินสอ ที่ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม เสียชีวิต เชื่อมโยงกับกรณีพบอาวุธที่ในพื้นที่กระทุ่มแบน  สมุทรสาคร และมีผู้ร่วมขบวนการมากกว่านี้ เตรียมขยายผลออกหมายจับเพิ่มอีก ส่วนผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีมีอีก 3 คน คือ นายจักรินทร์ เรืองศักดิวิชิต เสธ.ไก่, นายธนเดช เอกอภิวัชร และนายวัฒนโชค จีนปุ้ย อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดถูกแจ้งข้อหาร่วมกันมีและใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนและวัตถุระเบิด ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ และพกพาอาวุธปืนและวัตถุระเบิดเข้าไปในเมืองหมู่บ้านโดยไม่ได้รับอนุญาต ก่อนจะควบคุมตัวไปขออำนาจศาจอาญาฝากขัง ในเช้าวันพรุ่งนี้ พร้อมคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ
นอกจากนี้ พล.ต.อ.สมยศ ระบุว่าการจับกุมชายชุดดำที่ใช้อาวุธสงครามยิงทหารและประชาชนเมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 ว่า อาวุธสงคราม และกลุ่มบุคคลที่จับกุมได้มีความเชื่อมโยงกัน ส่วนจะเชื่อมโยงกับการเมืองหรือคดีใดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่คดีและอาวุธที่จับได้มีจำนวนมากบางครั้งอาจเชื่อมโยงกันหรือไม่เชื่อมโยงกันก็ได้ ส่วนกรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่จับกุมและนำไปสู่หลักฐานที่ศาลออกหมายจับได้ การนำผู้ต้องหามาแถลงข่าว ผู้ต้องหาก็รับสารภาพว่าเป็นผู้ลงมือกระทำ จึงจะไม่โต้แย้งกับใคร
"ผู้ต้องหาที่จับได้ ถ้าเป็นผู้ต้องหาที่ไม่ได้ทำกระทำความผิด คงไม่มีพยานหลักฐานจนศาลออกหมายจับได้ และการที่ผู้ต้องหารับสารภาพกับสื่อโดยการพูดด้วยความสมัครใจ เชื่อว่าคงไม่มีแพะ เพราะผมไม่รู้จักกับพวกแพะ ผมเพิ่งเข้ามาทำงานสามสี่เดือน สามารถรื้อฟื้นคดีและจับกุมผู้ต้องหาได้ ทุก ๆ กรณีไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดถ้ามีพยานหลักฐาน ผมไม่เลือกที่ัรักมักที่ชัง นายกรัฐมนตรีให้นโยบายว่าต้องอยู่บนความยุติธรรม ไม่ให้ร้ายป้ายสีใคร อยู่บนหลักฐานความเป็นจริง จะเห็นว่าการจับกุมผู้ต้องหาของผมทุกครั้ง ศาลจะออกหมายจับทั้งหมด เป็นการันตีว่า การกระทำของผมรอบคอบ ตรวจสอบได้ ให้กำลังใจผมบ้าง 4 เดือนผมทำได้ขนาดนี้ 3-4 ปีมาไม่มีใครทำ สิ่งที่ผมทำได้เพราะความตั้งใจ" ว่าที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าว
“ถาวร” ชม ตร.จับชายชุดดำปี 53 โว! รู้ข้อมูลนานแล้ว แต่ไม่มีเงินพอเปิดโปง-เชื่อนักการเมืองหนุนหลัง
ด้านนายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำ กปปส. กล่าวถึงกรณีตำรวจจับชายชุดดำที่ใช้อาวุธสงครามยิงทหารในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2553 ว่าเป็นการยืนยันให้สังคมเห็นว่าชายชุดดำมีจริง เพราะก่อนหน้าการชุมนุมของคนเสื้อแดงช่วงปี 2552 มีกลุ่มชายชุดดำ 4 คน มาพบตน โดยมีเงื่อนไขขอเงินเป็นค่าตอบแทนจำนวนหลักสิบล้านในการเปิดโปง แต่ตนไม่มีเงินมากพอจึงไม่สามารถนำกลุ่มคนดังกล่าวมาแสดงต่อสังคมยืนยันได้ 

และที่ไม่เปิดเผยก่อนหน้านี้เพราะได้รับปากแบบลูกผู้ชายกันเอาไว้  ซึ่งเหตุหการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดแสดงให้สังคมไทยและโลกเห็นว่า คนในระบอบทักษิณ มีความเกี่ยวพันในเหตุการณ์ชิงอำนาจรัฐ โดยเรื่องก็อยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) และคนที่ทำงานสืบสวนสอบสวน ทั้งตำรวจ ทหารและหน่วยงานความมั่นคงต่างรู้ดีว่า มีกองกำลังชายชุดดำติดอาวุธจริง ครั้งนี้จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่จะขยายผลต่อไป
นายถาวร กล่าวอีกว่า ขอให้กำลังใจและชื่นชมทั้งตำรวจและทหารที่ร่วมติดตามจับกุมกรณีนี้ เพราะต้องใช้ทรัพยากรต่างๆจำนวนมากในการรักษาชีวิตของคนเหล่านี้ ไม่ให้ถูกฆ่าตัดตอน เพื่อนำมาแสดงยืนยันต่อสังคม แต่นี่เป็นเพียงบางส่วนของขบวนการชายชุดดำ เพราะที่ผ่านมามีการฝึกฝนการใช้อาวุธสงครามต่างๆ แบ่งกำลังรับผิดชอบพื้นที่และภารกิจในช่วงนั้น จึงมีชายชุดดำที่ใช้อาวุธเป็นจำนวนมาก โดยมีนักการเมืองบางคนอยู่เบื้องหลัง 
วันนี้ถึงเวลาที่คนเหล่านี้ต้องรับโทษที่ใช้อาวุธทำลายฆ่า ตำรวจ ทหารและประชาชน  ที่สำคัญขอให้ตำรวจสืบสวนขยายผลต่อไป และต้องกระชากหน้ากากคนที่อยู่เบื้อง ส่วนการที่ นพ.เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำ นปช.ออกมาระบุว่าเป็นการใส่ร้ายนั้น ตนมองว่าคนอย่าง นพ.เหวงจะพูดแก้ตัวอะไรก็พูดไป เพราะต้องถามว่าสังคมไทยให้ความเชื่อถือคนเหล่านี้หรือไม่ ทั้งที่วันนี้พยานและหลักฐานชัดเจนขนาดนี้แต่ก็ยังกล้าออกมาพูด
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก
สำนักข่าวไทย, มติชนออนไลน์

แถลงนโยบายรัฐบาล 'นายกฯ ประยุทธ์' ยืนยันพัฒนาประเทศครอบคลุมทุกมิติ

"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อ สนช.กำหนดนโยบาย  11 ด้าน บนพื้นฐาน 4 เรื่อง ยึดแนวพระราชดำริ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง-แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ-ความต้องการของประชาชน-ไม่หวังคะแนนนิยม
 
12 ก.ย. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่าการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (12 ก.ย.) เริ่มเวลา 10.00 น. มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เป็นประธานการประชุม เพื่อการแถลงนโยบายต่อ สนช.โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำทีมคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายว่า การเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินในครั้งนี้มีเงื่อนไขและเวลาที่แตกต่างจากรัฐบาลในอดีต  
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กำหนดโรดแมปในการทำงานไว้แล้วตั้งแต่ระยะแรก คือ การสร้างความปรองดอง ทำประเทศให้อยู่ในความสงบ จากนั้นเข้าสู่ระยะที่ 2 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญจนกระทั่งจัดตั้งคณะรัฐมนตรีในปัจจุบัน และขณะนี้ คสช.ลดบทบาทลงมาเป็นเพียงที่ปรึกษา ไม่ได้ก้าวกายการบริหารราชการแผ่นดิน และสิ่งที่ตามมาคือการจัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อให้มีคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ และมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเงื่อนไขและภารกิจเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะยังคงยึดมั่นดำเนินการต่อไป
 
“อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะไม่นำเงื่อนไขเรื่องเวลามาเป็นข้อจำกัด แต่จะบริหารประเทศเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้จัดขึ้นจากพรรคการเมือง จึงไม่มีนโยบายของพรรคที่จะใช้หาเสียง หรือหวังคะแนนประชานิยมมาเป็นฐานทางการเมือง ดังนั้นจึงไม่ต้องวิตกว่าจะนำประเทศไปผูกพันจนเสียวินัยการคลัง หรือเกิดภาระในอนาคต และด้วยความที่มีความเป็นเอกภาพทางนโยบาย จึงไม่ต้องวิตกว่าการทำงานในแต่ละกระทรวงจะไม่บูรณาการสอดคล้อง หรือพายเรือคนละที สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นพลังอำนาจเกื้อหนุนให้รัฐบาลทำงานยากในเวลาอันสั้นได้อย่างราบรื่น” นายกรัฐมนตรี กล่าว

 
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้มีเงื่อนไขที่ต่างจากรัฐบาลชุดก่อน ๆ คือ มาตรา 19 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กำหนดไว้ให้มีการปฏิรูป และส่งเสริมความสามัคคีของคนในชาติ จึงต้องมีการวางแผนในการทำงาน โดยเรื่องใดที่จำเป็นเร่งด่วนจะดำเนินการก่อน จึงได้กำหนดนโยบายไว้ 11 ด้าน บนพื้นฐาน 4 เรื่องที่จะใช้เป็นแนวทาง คือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยึดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และยึดความต้องการของประชาชน ซึ่งได้รับเรื่องราวร้องทุกข์กว่า 80,000 เรื่อง
 
“คิดว่านโยบายที่ทำมาครั้งนี้น่าจะครอบคลุมปัญหาได้ทุกมิติ แต่ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขเวลา และผลความสำเร็จ ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน เพราะขณะนี้ประเทศอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเร่งฟื้นจากความบอบช้ำ ทั้งความขัดแย้ง และปัญหาเศรษฐกิจ” นายกรัฐมนตรี กล่าว
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับนโยบาย 11 ด้าน ประกอบด้วย 1.การปกป้องเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยจะใช้มาตรการทางกฎหมาย มาตรการทางสังคมจิตวิทยา และมาตรการทางระบบสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศดำเนินการต่อผู้คะนองปาก ย่ามใจ หรือประสงค์ร้าย มุ่งสั่นคลอนสถาบัน รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถาบันและส่งเสริมโครงการในพระราชดำริ
 
เตรียมพร้อมความมั่นคงรับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 2.การรักษาความมั่นคงของประเทศ ระยะเร่งด่วนจะเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในกิจการ 5 ด้าน คือ การบริหารจัดการชายแดน สร้างความมั่นคงทางทะเล แก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ สร้างความไว้ใจกับประเทศเพื่อนบ้านและเสริมสร้างศักยภาพในการปฏิบัติการทางการทหารร่วมกัน    เร่งแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งเสริมการพูดคุยสันติสุขกับผู้ที่เห็นต่าง และเคารพหลักสิทธิมนุษยชน พัฒนาเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพและระบบป้องกันประเทศ และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศ
 
เร่งลดความเหลื่อมล้ำของสังคม
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 3.การลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐในระยะเฉพาะหน้า เร่งสร้างโอกาส อาชีพ และรายได้ที่มั่นคงแก่ผู้ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน ยกระดับคุณภาพแรงงาน และป้องกันการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ในระยะต่อไปจะพัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคม ระบบการออม และสวัสดิการชุมชน เตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เตรียมความพร้อมสู่สังคมหลากหลายจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จัดระเบียบสังคม สร้างมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลแก่เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนทั่วไปตามค่านิยมหลัก 12 ประการตามนโยบายของ คสช. และแก้ปัญหาการไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกรและการรุกล้ำเขตป่าสงวน
 
เร่งปฏิรูปการศึกษา ฟื้นฟูเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรม
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 4.การศึกษาและเรียนรู้ การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม จัดให้มีการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ โดยให้ความสำคัญ ทั้งการศึกษาในระบบ และการศึกษาทางเลือกไปพร้อม ๆ กัน ในระยะเฉพาะหน้าจะปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการศึกษาให้สอดคล้องกับความจำเป็นของผู้เรียน และลักษณะพื้นที่การศึกษา และปรับปรุง บูรณาการระบบการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ จัดระบบการสนับสนุนให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปมีสิทธิ์เลือกรับบริการการศึกษา ทั้งระบบโรงเรียนและนอกโรงเรียน โดยจะจัดให้มีคูปองการศึกษา  
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ให้องค์กรภาคประชาสังคม เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชน มีส่วนร่วมจัดการการศึกษา พัฒนาคนทุกช่วงวัย ส่งเสริมอาชีวศึกษา พัฒนาครูให้มีคุณภาพและมีจิตวิญญาณของความเป็นครู ทำนุบำรุงและอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ๆ อนุรักษ์และฟื้นฟูเผยแพร่มรดกทางวัฒธรรม สนับสนุนการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกที่ดี

 
เตรียมปรับความเท่าเทียมหลักประกันสุขภาพ
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 5.การยกระดับคุณภาพการบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน วางรากฐานระบบหลักประกันสุขภาพไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำของคุณภาพบริการในแต่ละระบบ บูรณาการข้อมูลในแต่ละระบบ พัฒนาระบบบริการสุขภาพ เน้นการป้องกันโรคมากกว่ารอให้ป่วย ให้เอกชนสามารถมีส่วนร่วม เพื่อจัดสรรบริการสาธารณสุขโดยรัฐเป็นผู้กำกับดูแล ส่งเสริมการร่วมลงทุน และใช้ทรัพยากรและบุคลากรร่วมกัน โดยมีข้อตกลงที่รัดกุมและเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบเฝ้าระวังโรคระบาด   ป้องกัน แก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุในจราจร ส่งเสริมการกีฬา ประสานการทำงานภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ปัญหาด้านการแพทย์ และจริยธรรมของการอุ้มบุญ และพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์
 
ฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ จัดเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดิน
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 6.การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ ระยะเร่งด่วน เร่งผลักดันการใช้งบประมาณปี 2557 ให้ทันก่อนสิ้นปี สานต่อนโยบายงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจของ คสช. กระตุ้นการลงทุนด้วยการเร่งพิจารณาโครงการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ และนำโครงการการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานประเภทที่มีผลตอบแทนดี เช่น โครงการขนส่งมวลชนใน กทม.มาจัดทำเป็นโครงการลงทุนร่วมกับเอกชน ดูแลเกษตรกรให้มีรายได้ที่เหมาะสมด้วยวิธีการต่าง ๆ และใช้กลไกการตลาดดูแลราคาสินค้าการเกษตร ลดอุปสรรคในการส่งออก เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และชักจูงให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้เข้ามาเที่ยวในประเทศไทย   
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในระยะต่อไป ประสานนโยบายการเงินและการคลังให้สอดคล้องกัน เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แก้ปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝน และแก้ปัญหาภัยแล้ง รัฐบาลจะเร่งจัดสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กให้ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกให้มากที่สุด ปฏิรูปโครงสร้างราคาเชื้อเพลิง ปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีให้ได้อย่างครบถ้วน ปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีการค้า และขยายฐานการจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และยกเลิกการยกเว้นภาษีที่เอื้อประโยชน์เฉพาะผู้มีฐานการเงินดี
 
พัฒนาโครงสร้างระบบขนส่งคมนาคม
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า บริหารจัดการหนี้ภาครัฐที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 700,000 ล้านบาท โดยจะหาแหล่งเงินระยะยาวมาสะสางหนี้ทั้งหมด ในระยะยาว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งคมนาคมทางบก โดยเริ่มโครงการรถไฟขนส่งในกรุงเทพฯ และรถไฟฟ้าเชื่อมกรุงเทพมหานครกับเมืองบริวาร  ด้านคมนาคมทางอากาศ จะปรับปรุงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 และท่าอากาศยานดอนเมือง ด้านการคมนาคมทางน้ำ พัฒนาการขนส่งสินค้าทางน้ำ เพื่อลดต้นทุนระบบโลจิสติกส์ เร่งพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ปรับโครงสร้างการบริหารจัดการในสาขาขนส่ง  พัฒนาและปรับปรุงระบบบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้   
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ด้านการเกษตร จะดำเนินการ 2 เรื่องคือ ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการ และสนับสนุนให้สหกรณ์เพิ่มบทบาทในฐานะผู้ซื้อพืชผล เพื่อให้สหกรณ์เป็นผู้ค้าขายสินค้าเกษตรรายใหญ่รายหนึ่ง ด้านอุตสาหกรรม ส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับศักยภาพพื้นฐานของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถของ SME ให้เข้มเข็งและแข่งขันได้ รวมถึงเข้าถึงแหล่งทุนและบริการทางการเงิน และส่งเสริมภาคเศรษฐกิจดิจิตอล

 
ส่งเสริมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  7.ส่งเสริมบทบาทและใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน เร่งส่งเสริมการสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนในภูมิภาค พัฒนาศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยทุกระดับ พัฒนาแรงงานของภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน พัฒนาเชื่อมโยงด้านการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ภายในอนุภูมิภาคและภูมิภาคอาเซียน ต่อเชื่อมเส้นทางการคมนาคมขนส่ง จากฐานการผลิตในชุมชน สู่แหล่งแปรรูปและเชื่อมโยงกับอาเซียน และพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
 
หนุนงานวิจัยพัฒนาให้ทัดเทียมต่างชาติ
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 8.การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การวิจัย และพัฒนาและนวัตกรรม สนับสนุนการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาประเทศให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1 ของรายได้ประชาชาติ และมีสัดส่วนรัฐต่อเอกชน 30:70 เพื่อให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันและทัดเทียมกับประเทศอื่น
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เร่งเสริมสร้างสังคมนวัตกรรม โดยส่งเสริมระบบการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีวิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ ปฏิรูประบบการให้สิ่งจูงใจระเบียบ และกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการนำงานวิจัยไปต่อยอด ส่งเสริมให้การลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศใช้ประโยชน์จากการศึกษาวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรมของไทยตามความเหมาะสม ปรับปรุงและจัดเตรียมให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ ด้านการวิจัย และการพัฒนาและด้านนวัตกรรม
 
อนุรักษ์ทรัพยากร คุมมลพิษ เตรียมแก้ปัญหา “มาบตาพุด”
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 9.การรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรและการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ระยะเฉพาะหน้า เร่งปกป้องและฟื้นฟูพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยกรป่าไม้และสัตว์ป่า ส่งเสริมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ในระยะต่อไปพัฒนาระบบบริหารจัดการที่ดิน แก้ไขการบุกรุกที่ดินของรัฐ โดยยึดแนวพระราชดำริที่ให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ บริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้เป็นเอกภาพ เร่งรัดการควบคุมมลพิษ ทั้งทางอากาศ ขยะ และน้ำเสียที่เกิดจากการผลิตและการบริโภค ในระดับพื้นที่จะเร่งแก้ไขปัญหาในพื้นที่มาบตาพุด ซึ่งเป็นฐานอุตสาหกรรมหลักของประเทศ
 
เน้นแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 10.ส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาล และป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ ปรับปรุงระบบราชการทบทวนการจัดโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อนหรือลักลั่น ปรับปรุงวิธีการปฏิบัติราชการให้ทันสมัย ในระยะแรกกระจายอำนาจเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะได้รวดเร็ว ประหยัด และสะดวก ทั้งจะวางมาตรการทางกฎหมาย กำหนดผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน ขั้นตอนที่แน่นอน ระยะเวลาดำเนินการที่รวดเร็ว ระบบอุทธรณ์ที่เป็นธรรม มิให้เจ้าหน้าที่หลีกเลี่ยงประวิงเวลา หรือใช้อำนาจโดยมิชอบก่อให้เกิดการทุจริต
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยกระดับสมรรถนะของหน่วยงานรัฐให้มีประสิทธิภาพ  เสริมสร้างระบบคุณธรรมในการแต่งตั้งและโยกย้าย ใช้มาตรการทางกฎหมาย การปลูกฝังค่านิยมคุณธรรม จริยธรรม และจิตสำนึกในการรักษาศักดิ์ศรีในความเป็นข้าราชการและความซื่อสัตย์สุจริต ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายที่ไม่จำเป็นหรือเปิดช่องทุจริต เช่น ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง การอนุญาต อนุมัติ และขอรับบริการจากรัฐ ปรับปรุงและจัดให้มีกฎหมาย เพื่อให้ครอบคลุมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยถือเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนแห่งชาติ และส่งเสริมและสนับสนุนภาคีองค์การภาคเอกชน ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอดส่อง เพื่อระวัง ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือต่อต้านการทุจริต และวางมาตรการคุ้มครองพยานอย่างมีประสิทธิภาพ

 
พร้อมแก้กฎหมายฟอกเงินปราบ “มาเฟีย-ข้าราชการโกง”
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ในระยะเฉพาะหน้า เร่งปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยไม่เป็นธรรม ไม่สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศ เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน เพิ่มศักยภาพหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้ความเห็นทางกฎหมาย และจัดทำกฎหมายให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว ในระยะต่อไปจะจัดตั้งองค์กรปฏิรูปกระบวนยุติธรรมที่ปราศจากการแทรกแซงของรัฐ  นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและความรู้ทางนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ เร่งดำเนินทุกขั้นตอนให้รวดเร็วและเป็นธรรม ปรับปรุงการช่วยเหลือทางกฎหมาย และนำมาตรการทางภาษีและป้องกันการฟอกเงินมาใช้ในการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทุจริตและประพฤติมิชอบ
 
“รัฐบาลจะสนับสนุนการทำงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้รวดเร็ว เรียบร้อย และเป็นอิสระ ส่วนการส่งเสริมความสามัคคี รัฐบาลเชื่อว่าวิธีสานเสวนา และเปิดใจให้ความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม น่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง ผมจะเรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการในวันที่ 17 กันยายนนี้ เพื่อซักซ้อมและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารราชการตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมย้ำให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน เพื่อให้การดำเนินการต่าง ๆ สำเร็จภายใน 1 ปี ตามที่วางกรอบได้” นายกรัฐมนตรี กล่าวและปิดท้ายด้วยสโลแกนใหม่ ที่เพิ่งคิดได้ว่า “จริงจัง จริงใจ และยั่งยืน”
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการแถลงนโยบาย นายกรัฐมนตรีได้เดินทางลงพื้นที่ จ.สุโขทัย เพื่อตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วม ขณะที่รัฐมนตรีต่าง ๆ ทยอยเดินทางเข้าทำงานตามกระทรวงเป็นวันแรกเช่นกัน

คสช.โต้องค์กรนิรโทษกรรมสากล อย่าตกเป็นเครื่องมือคนผิดกฎหมาย


12 ก.ย. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่า พ.อ.วินธัย สุวารี ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีองค์กรนิรโทษกรรมสากลตั้งข้อสังเกตถึงแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการเชิญบุคคลเข้ารายงานตัว ว่า หลัง คสช.เข้ารับผิดชอบการบริหารราชการแผ่นดิน ได้มีการเชิญ หรือขอเรียกตัวบุคคลใน 2 ลักษณะ  ลักษณะแรก คือการขอเชิญบุคคลที่มีส่วนในความขัดแย้งช่วงอดีตที่ผ่านมา ทั้งทางตรง ทางอ้อม ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ เพื่อมาทำความเข้าใจ ปรับทัศนคติ รวมถึงการขอความร่วมมือที่จะร่วมกันพัฒนาชาติในอนาคต  ไม่ได้เชิญมาในฐานะผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด รวมทั้งสื่อมวลชนส่วนใหญ่ที่ติดตามข้อมูลจะเห็นบรรยากาศและขั้นตอนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่อย่างโปร่งใสชัดเจน  ซึ่งแต่ละบุคคลที่เชิญมาอาจจะใช้ระยะเวลาภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่แตกต่างกันบ้างตามความเหมาะสม
 
“สิ่งที่อยากเน้นย้ำ คือ หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการ ไม่เคยพบมีรายงาน หรือข้อร้องเรียนจากผู้ที่เชิญมาว่าท่านไหนได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่อย่างไม่เหมาะสม หรือแสดงท่าทีที่เป็นลบต่อกระบวนการนี้  ขอยืนยันทุกท่านได้รับเกียรติและการปฏิบัติอย่างเหมาะสม ตามหลักกฎหมาย ที่ให้ความคุ้มครองประชาชนตามสิทธิพื้นฐาน ทั้งนี้ การเชิญตัวในลักษณะที่หนึ่งใช้เวลาในช่วง 2 เดือนของการบริหารราชการแผ่นดิน” พ.อ.วินธัย กล่าว
 
พ.อ.วินธัย กล่าวด้วยว่า ส่วนลักษณะที่สอง คือ การดำนินการกับกลุ่มบุคคลผู้ต้องสงสัยกระทำความผิดในคดีความต่าง ๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้สืบทราบมาพร้อมพยานหลักฐาน การดำเนินการกับบุคคลกลุ่มนี้ เชื่อว่าไม่ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาใดของบ้านเมือง เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นจะต้องดำเนินการเข้าควบคุมหรือจับกุม เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม  และเพื่อคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์  หรือคนส่วนใหญ่ในสังคมที่มีอยู่จำนวนมาก
 
"แต่ขณะนี้พบมีผู้กระทำความผิดหลายคนพยายามบิดเบือนให้ข้อมูลที่เป็นเท็จต่อสังคม และต่อองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน  เพื่อต้องการแรงสนับสนุนในการหลบเลี่ยงคดีความผิดต่าง ๆ ของตนเอง อยากขอให้กลุ่มสิทธิมนุษยชน ทั้งในและต่างประเทศ มองเรื่องนี้ให้รอบด้านและรอบคอบ หรือศึกษาข้อมูล หรือหลักฐานที่รอบด้าน เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าองค์กรฯ ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มผู้มีวาระแอบแฝงซ่อนเร้น และเพื่อให้ดำรงสถานะขององค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ และมีความเป็นกลางต่อไป" พ.อ.วินธัย กล่าว

อาเซียนเสวนา: บทเรียนจาก "กองทัพอินโดนีเซีย" เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย



อาเซียนเสวนาที่ มช. "ภานุวัฒน์ พันธุ์ประเสริฐ" เสนอแนวคิดการศึกษาบทบาททหารกับการเมือง เหตุปัจจัยที่กองทัพในอินโดนีเซียเคยมีอำนาจมาก และประสบการณ์เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย
12 ก.ย. 57 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ทหารกับการเมืองในอินโดนีเซีย: อดีต ปัจจุบัน อนาคต” โดยมีวิทยากรคือ อ.ภาณุวัฒน์ พันธุ์ประเสริฐ จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ทฤษฎีในการศึกษาทหารกับการเมือง
ภานุวัฒน์ พันธุ์ประเสริฐ กล่าวถึงมุมมองทางทฤษฎีเรื่องบทบาททหารกับการเมือง โดยยกคำกล่าวของ Adam Przeworski นักวิชาการด้านการเมืองเปรียบเทียบ ซึ่งกล่าวว่าปัจจุบันนี้เราก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อไรและทำไมผู้ที่ถือปืนจะเชื่อฟังผู้ที่ไม่มีปืน ซึ่งเป็นตัวกำหนดว่าสังคมนั้นๆ จะมีการควบคุมโดยพลเรือนหรือไม่ กล่าวคือยังไม่มีคำอธิบายมากพอว่าทำไมทหารถึงยึดอำนาจ แล้วในบางครั้งทำไมทหารถึงไม่ออกมายึดอำนาจ ยอมเชื่อฟังคนที่ไม่ได้ถือปืน คำถามเหล่านี้ยังไม่มีทฤษฎีที่มีพลังและครอบคลุมมากพอจะตอบได้
ทำไมเราถึงต้องสนใจบทบาททหารในทางการเมือง Richard H. Kohn มองว่าสำหรับระบอบประชาธิปไตย การควบคุมโดยพลเมือง หมายถึงการควบคุมทหารโดยเจ้าหน้าที่พลเรือนที่ได้รับการเลือกตั้งโดยประชาชนถือเป็นสิ่งพื้นฐาน การควบคุมโดยพลเรือนสามารถทำให้ชาติๆ หนึ่งสามารถนำเอาค่านิยม สถาบัน และการกระทำมาตั้งอยู่บนฐานเจตจำนงของประชาชน แทนที่จะอยู่ในการตัดสินใจของผู้นำทางทหาร ที่มักจะมุ่งสนใจไปที่การรักษาระเบียบภายในและความมั่นคงภายนอก และทหารถือว่าสถาบันทางการเมืองที่มีความเป็นประชาธิปไตยต่ำที่สุด โดยธรรมเนียมของทหารตามธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่ขัดกับเสรีภาพส่วนบุคคล เสรีภาพของประชาชน อันถือเป็นค่านิยมสูงสุดในสังคมประชาธิปไตย
จุดเด่นของกองทัพ ก็คือมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้สามารถแทรกแซงทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำแล้วได้ผลกว่าตัวแสดงอื่นๆ ทหารมีธรรมชาติและปัจจัยที่เอื้อให้แสดงบทบาททางการเมืองออกมาได้ผลและรุนแรงกว่าตัวแสดงอื่น เช่น การมีอาวุธยุทโธปกรณ์, การเป็นองค์กรแข็งแกร่ง มีระเบียบวินัย ระบบการบังคับบัญชาชัดเจน หรือค่านิยมในการรักพวกพ้อง ตายแทนกันได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเอื้อต่อการยึดอำนาจการปกครอง
ปกติเรามีทหารไว้เพื่อป้องกันประเทศและปราบปรามภัยคุกคามต่างๆ แต่ Peter D. Feaver ก็มองว่านี่เป็นปมปัญหาสำคัญ คือการที่เรามีความกลัวต่อศัตรู ทำให้เราต้องสร้างสถาบันซึ่งใช้ความรุนแรงขึ้นมา ก็คือทหาร แต่เราก็กลัวสถาบันที่เราสร้างขึ้นมานั้นเสียเอง และสถาบันที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องสังคมการเมือง แต่สถาบันนี้ก็กลับมีพลังอำนาจมากพอที่จะกลายเป็นภัยต่อสังคมการเมืองนั้นๆ เอง
ภานุวัฒน์กล่าวถึงแนวคิดสำคัญในการศึกษาทหารกับการเมือง คือการพิจารณาไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับทหาร ซึ่งล้วนเสนอว่าสังคมที่จะเป็นประชาธิปไตยได้มีส่วนสำคัญสองประการ หนึ่งคือ พลเรือนต้องเป็นใหญ่เหนือทหาร (Civilian Supremacy) หรือการควบคุมทหารโดยพลเรือน สองคือต้องแยกทหารออกจากการเมือง ซึ่งมีที่มาเริ่มต้นจากแนวคิด Military Professionalism ของ Samuel P. Huntington ที่เสนอว่าจะต้องแยกขาดภารกิจของทหารออกจากภารกิจของพลเรือนให้ชัดเจน รัฐบาลพลเรือนต้องเคารพในอิสระของทหาร ในการที่ทหารจะทำอะไรที่อยู่ในขอบเขตภารกิจของทหารเอง โดยทหารมีหน้าที่ที่จำกัดขอบเขตอยู่แคบๆ ได้แก่ เรื่องป้องกันประเทศจากภัยคุกคามภายนอก และเรื่องความมั่นคงต่างๆ
จนทศวรรษ 1970 ได้มีการโต้ตอบโดย Alfred Stepan ได้เสนอแนวคิด New Professionalism ที่มองว่าแนวคิดของ Huntington ตกยุคไปแล้วและเหมาะกับประเทศที่ไม่มีภัยคุกคามจากภายใน แต่ประเทศใดที่มีปัญหาภัยคุกคามจากภายใน เช่นกลุ่มแบ่งแยกดินแดน หรือกลุ่มก่อการร้าย การกีดกันทหารออกไปจากภารกิจด้านการปกครองอย่างสิ้นเชิงทำไม่ได้ เพราะจะเป็นอันตรายมากกว่าผลดี ประเทศลักษณะนี้ ทหารก็จำเป็นต้องมีบทบาทก้าวก่ายภารกิจบางอย่างของพลเรือนด้วย
ปัจจัยที่ทำให้ทหารมีบทบาททางการเมืองในอินโดนีเซีย
ภานุวัฒน์เริ่มกล่าวถึงประเทศอินโดนีเซียว่า เคยมีสถานการณ์ที่ทหารมีบทบาทการเมืองอย่างมากมาก่อน แต่ปัจจุบันได้รับการยกย่องทั้งจากสื่อตะวันตกและองค์กรอย่าง Freedom House ในฐานะเป็นแบบอย่างของประเทศที่เปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตย โดยใช้เวลาไม่ถึง 20 ปีในการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย
ภานุวัฒน์เสนอถึงปัจจัยที่ทำให้ทหารมีอำนาจและบทบาททางการเมืองในอินโดนีเซียหลายประการ ได้แก่ ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ อินโดนีเซียเป็นประเทศหมู่เกาะและมีขนาดกว้างขวาง ที่การเดินทางหากันลำบาก และทำให้การสร้างจิตสำนึกของความเป็นชาติเดียวกันทั้งหมู่เกาะทำได้ยากกว่า ความเป็นหมู่เกาะนี้ถูกใช้อ้างถึงการปกครองประเทศแบบไม่อ่อนแอ ไม่สามารถปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยได้ แต่ต้องปกครองด้วยความแข็งแกร่ง และการมีอำนาจของทหาร
ปัจจัยความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม โดยเกาะต่างๆ ของอินโดนีเซียในอดีตเคยเป็นอาณาจักรของตนเอง แต่ผ่านกระบวนการสร้างชาติอย่างค่อยเป็นค่อยไปใช้เวลาหลายร้อยปี แต่ละเกาะพูดกันละคนภาษา นับถือคนละศาสนา เชื้อชาติก็ต่างกัน ความหลากหลายนี้ถูกใช้เป็นข้ออ้างถึงการปกครองที่ไม่อ่อนแอ และการมีบทบาทของทหาร ไม่เช่นนั้นจะทะเลาะเบาะแว้งกัน เหตุผลทำนองนี้ถูกใช้ในหลายประเทศ เช่น กรณีจีน ที่พรรคคอมมิวนิสต์อ้างถึงการปกครองเพื่อไม่ให้คนหลายกลุ่มแตกแยกกัน
อีกปัจจัยหนึ่งคือบทบาทของทหารในการสร้างชาติ โดยทหารมองตนเองว่าเป็นผู้ให้กำเนิดประเทศอินโดนีเซีย บทบาทของกองทัพในการเอาชนะกองกำลังอาณานิคมของดัทช์ และทำให้ประเทศมีเอกราชขึ้นมาได้ ดังนั้นกองทัพก็ต้องปกปักษ์รักษาประเทศผ่านการเมืองการปกครองต่อไป
ปัจจัยด้านความเชื่อแบบชวาดั้งเดิมก็มีความสำคัญ โดยชวาเป็นชนหมู่มากในอินโดนีเซีย ที่เชื่อในความเป็นองคาพยพของสังคม (Organic Totality Society) ที่เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นระบบเดียวกัน และต้องทำงานอย่างเป็นระบบ สอดประสานกัน เหมือนกับร่างกายคน ที่มือไม้แขนขาต้องทำงานสอดประสานกันให้ร่างกายทำงานได้ ความเชื่อแบบนี้ถูกนำมาอ้างเช่นกันว่าทหารควรจะมีบทบาทในการรักษาประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ ส่วนประชาชนไม่ได้มีหน้าที่ในการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ควรทำมาหากินไป โดยแต่ละส่วนไม่มาล้ำเส้นกันและกัน โดยทหารจะเน้นไปที่ความมั่นคงของรัฐเป็นหลัก แม้อาจจะเป็นผลเสียต่อประชาชนก็ตาม
ขณะเดียวกัน ปัจจัยในสมัยสงครามเย็น สถานการณ์ในช่วงนั้น อินโดนีเซียไม่ได้มีศัตรูหรือภัยคุกคามจากภายนอกมากนัก แต่มีภัยคุกคามจากภายใน เช่น กลุ่มคอมมิวนิสต์ ที่อินโดนีเซียเคยมีพรรคคอมมิวนิสต์ขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก และมีความขัดแย้งทางเชื้อชาติ กลุ่มแบ่งแยกดินแดน หรือกลุ่มการเมืองที่อิงศาสนา ภัยเหล่านี้กลายเป็นข้ออ้างของทหารในการมีบทบาทด้านความมั่นคง เข้ามาปราบปรามภัยภายในเหล่านี้อย่างรุนแรง ทั้งที่แท้จริงแล้ว กองทัพอินโดนีเซียไม่ได้มีศักยภาพสูงนัก
ลักษณะการมีอำนาจทางการเมืองของทหารอินโดนีเซีย
ภานุวัฒน์ได้กล่าวต่อถึงลักษณะเด่นๆ ของการมีอำนาจทางการเมืองของทหารในอินโดนีเซีย โดยเสนอถึงหลักการปัญจศีลา หรือปัญจศีล (Pancasila) ซึ่งถูกใช้เป็นอุดมคติหลักของชาติในอินโดนีเซียตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ ถูกใช้อ้างเป็นสถาบันหรือความเชื่อหลักของประเทศ ได้แก่ การเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวตามศาสนาของคุณ โดยที่จะเป็นพระเจ้าของศาสนาใดก็ได้ เหตุผลของเรื่องนี้คืออินโดนีเซียไม่อยากให้อิทธิพลทางการเมืองของกลุ่มอิสลามมีมากจนเกินไป, เชื่อในมนุษย์ที่มีความเป็นอารยะ, ความเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวของอินโดนีเซีย ความเป็นรัฐเดี่ยวที่แบ่งแยกไม่ได้, ประชาธิปไตยผ่านผู้นำที่ฉลาด และสังคมที่มีความยุติธรรมสำหรับคนอินโดนีเซียทั้งหมด
หลักการเหล่านี้ถูกใช้เป็นข้ออ้างโดยกองทัพในการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างสม่ำเสมอ โดยการอธิบายหลักการเหล่านี้อยู่เหนือประชาธิปไตย แม้ข้อสี่จะพูดถึงประชาธิปไตย แต่ก็เป็นประชาธิปไตยในลักษณะชี้นำ คือมีผู้นำที่ “ฉลาด” เป็นผู้มาชี้นำความเห็นของประชาชน
อีกหลักการหนึ่ง คือหลัก Dwifungsi หมายถึงภารกิจสองด้าน (Dual Function) เป็นหลักปฏิบัติที่ยึดถือของกองทัพอินโดนีเซียในอดีต โดยมีการพร่ำสอนว่ากองทัพไม่ได้ดูแลเฉพาะความมั่นคงหรือการต่อต้านศัตรูภายนอกเท่านั้น แต่ต้องมาดูแลด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคมด้วย สองด้านนี้แยกไม่ได้ ต้องเข้าไปทำทั้งสองด้าน หลักการนี้เคยมีสถานะเป็นทางการ คือเป็นกฎหมายด้วย เช่น การกำหนดโควตาที่นั่งในสภาสำหรับทหาร โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง
ขณะเดียวกันกองทัพอินโดนีเซียยังมีบทบาทในการทำธุรกิจเอง จึงมีลักษณะเป็นกลุ่มทุนกลุ่มหนึ่งด้วย ปัจจุบันก็ยังมีบทบาททางธุรกิจอยู่พอสมควร โดยมีทั้งธุรกิจที่ถูกและผิดกฎหมาย เช่น การลักลอบตัดไม้ และการทำธุรกิจของกองทัพก็ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลอย่างเต็มที่ ทำให้รัฐบาลพลเรือนควบคุมงบประมาณและขอบเขตกิจกรรมของกองทัพไม่ได้
นอกจากนั้น อินโดนีเซียยังมีระบบการมีค่ายทหารกระจัดกระจายอยู่ทุกพื้นที่ (Territorial Command Structure) ซึ่งทหารอ้างถึงประเด็นความมั่นคงและการต้องดูแลให้ครอบคลุมพื้นที่หมู่เกาะ ทำให้ต้องมีการตั้งหน่วยงานทหารในเกาะต่างๆ เกือบทุกมุม และทำให้ทหารมีบทบาทอย่างมากในการเมืองระดับท้องถิ่น เข้าไปกึ่งเป็นรัฐบาลเงาของท้องถิ่น มรดกนี้ยังตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ความพยายามปฏิรูปกองทัพให้เป็นประชาธิปไตย
ภานุวัฒน์กล่าวถึงคำถามที่หลายคนสนใจ คือทำไมจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยในอินโดนีเซียขึ้นมาได้ ซึ่งด้านหนึ่งคือการลดบทบาทและอำนาจของกองทัพลง พื้นฐานเหตุการณ์สำคัญ คือการลุกฮือของนักศึกษาประชาชนครั้งใหญ่ในปี 1998 ที่โค่นล้มรัฐบาลซูฮาร์โตลง โดยมีปัจจัยสำคัญจากผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจปี 1997 ส่งผลถึงความเดือนร้อนทางเศรษฐกิจของประชาชน
กระแสของสังคมอินโดนีเซียตอนนั้น มีพลังมากพอทำให้ระบอบเผด็จการที่อยู่มายาวนาน 30 กว่าปีล้มลงได้ บรรยากาศความคิดของคนในตอนนั้นปฏิเสธการปกครองแบบเก่าโดยสิ้นเชิง ไม่เอาเผด็จการชี้นำของซูฮาร์โต การมีบทบาทของทหารอย่างมากก็ไม่เอาแล้ว ขณะเดียวกันกองทัพก็มีภาพลักษณ์ที่ตกต่ำลงอย่างมากภายหลังการปราบปรามประชาชน พร้อมๆ กับความเชื่อว่าระบบประชาธิปไตยจะทำให้สังคมดีขึ้นก็ขยายไปกว้างขวาง
ประธานาธิบดีคนแรกภายหลังจากซูฮาร์โตถูกโค่นล้มไป ได้แก่ ฮาบีบี ซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวแทนของซูฮาร์โต ในยุคนี้มีเหตุการณ์ใหญ่คือเรื่องการลงประชามติในเรื่องเอกราชของติมอร์ตะวันออก ในช่วงเรียกร้องเอกราช ก็ปรากฏว่ากองทัพอินโดนีเซียก็ไปแสดงบทบาทในการปราบปรามกดขี่ชาวติมอร์อย่างมาก
ประธานาธิบดีคนต่อมา คืออับดุลเราะห์มาน วาฮิบ เป็นผู้นำของกลุ่มองค์กรมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดตอนนั้น และมีความพยายามท้าชนกับกองทัพอินโดนีเซียในตอนนั้น มีความกล้าริเริ่มการปฏิรูป แต่ก็ถูกกดดันอย่างมากจากกลุ่มต่างๆ ในสังคมตอนนั้น ทำให้ต้องลงจากตำแหน่งไปในเวลาปีกว่าๆ ประธานาธิบดีที่ขึ้นมาแทน คือนางเมกาวาตี ซูการ์โน บุตรี ได้หันไปร่วมมือกับกองทัพ และในช่วงราวปี 2002 กองทัพเริ่มกลับมามีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นบ้าง จากการเข้าไปดูแลปัญหาความไม่สงบในอาเจะห์
จนในสมัยประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน ที่มาจากการชนะเลือกตั้งถึงสองวาระ เขาเป็นทหารเก่าสมัยซูฮาร์โตในสายปฏิรูป มีแนวคิดที่เอียงทางประชาธิปไตย ยุทโธโยโนได้พยายามบางส่วนในการปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัย ได้แก่ การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร โดยสั่งย้ายนายทหารระดับสูงบางคนที่มีแนวคิดขัดกับรัฐบาล หรือการพยายามยึดเอาธุรกิจทหารมาเป็นของรัฐ แม้จะไม่สำเร็จมากนัก รวมทั้งการปฏิรูประบบค่ายทหารในท้องที่ต่างๆ โดยพยายามยุบเลิกบางค่ายทหารทิ้งไป แต่ก็คืบหน้าไปค่อนข้างน้อย
ภานุวัฒน์มองถึงอนาคตของบทบาทกองทัพในอินโดนีเซียว่า เราไม่สามารถแน่ใจได้ว่าประเทศหนึ่งจะเป็นประชาธิปไตยไปได้เรื่อยๆ จากกรณีการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งล่าสุด ที่มีคู่แข่งสำคัญสองคนคือโจโก วีโดโด กับ ปราโบโว ซูบีอันโต โดยก่อนการเลือกตั้งโพลสำนักต่างๆ มองว่าโจโกวีชนะแน่ๆ และชนะอย่างมหาศาลด้วย แต่พอใกล้การเลือกตั้งจริงๆ ปราโบโวทำคะแนนตีตื้นได้อย่างมาก แทบจะเท่ากัน จนเกือบชนะเลือกตั้ง
ปราโบโวนั้นมีประวัติเป็นทหารเก่า ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการปราบปรามนักศึกษาในปี 1998 เป็นคนที่ภาพลักษณ์ไม่ดีนัก เขาขายความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง และแทบจะไม่กระมิดกระเมี้ยนที่จะแสดงออกว่าประชาธิปไตยคือของวุ่นวาย แต่แม้ภาพลักษณ์ปราโบโวแบบนี้ยังเกือบชนะเลือกตั้ง มันมีส่วนสะท้อนถึงความคิดของชาวอินโดนีเซียบางส่วนที่ยังถวิลหาความมั่นคงของชีวิตแบบเก่า เศรษฐกิจที่ดี ความสงบภายใต้เผด็จการ และเกลียดชังความวุ่นวายของประชาธิปไตย
แม้ปัจจุบัน กองทัพของอินโดนีเซียจะอยู่นิ่ง ไม่ได้มีบทบาทการเมืองอย่างชัดเจน แต่บทบาทในด้านธุรกิจก็มียังมีอยู่ ค่ายทหารทั่วประเทศยังมีบทบาทอยู่ จะตีความได้ไหมว่าทหารมีแค่นั้นก็รู้สึกว่าพอใจแล้วหรือไม่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบทบาททางการเมืองของทหารจะหมดไป อาจจะยังมีบทบาทในทางหลักฉากอยู่ หรือไม่ค่อยเป็นข่าวเท่าใดนัก

พล.อ.ประยุทธ์ระบุไม่ใช่รัฐบาลอยู่ไปวันๆ รอปฏิรูป-เลือกตั้ง แต่มุ่งอนาคต


"คืนความสุขให้คนในชาติ" กับหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี แจงนโยบาย 11 ด้าน รัฐบาลไม่ได้มาจากพรรคการเมือง จึงไม่ต้องหาเสียง ไม่ต้องการคะแนน เน้นปฏิรูปยั่งยืน เผยเห็นใจคนรายได้น้อย ถูกเอารัดเอาเปรียบ รายได้ไม่พอเลี้ยงลูกเมีย พอมีคนมายุแหย่ปลุกปั่นท่านก็หยุดตัวเองไม่ได้คล้อยตามเขาทำให้เกิดปัญหา วอนขอให้ตั้งสติ หาข้อมูล อย่าเชื่อใครคนใดคนหนึ่ง
หมายเหตุ: พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 12 กันยายน  2557 เวลา 20.15 น. มีรายละเอียดดังนี้
สวัสดีพ่อแม่พี่น้องประชาชนคนไทยที่เคารพรักทุกท่านครับ พบกันอีกครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 13 ผมอาจจะพบกับท่านในหลายบทบาทด้วยกัน ด้วยวันนี้ก็เป็นที่น่ายินดีว่าเมื่อช่วงเช้าวันนี้ รัฐบาลได้แถลงนโยบายให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้รับทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็หมายความว่า รัฐบาล โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีสามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้สมบูรณ์ในเรื่องของทั้งการสั่งการ การลงนามเอกสาร การขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ ผมในฐานะนายกรัฐมนตรี ก็มีความสบายใจที่ได้ปฏิบัติงานตามกฎ ระเบียบ และจารีตประเพณี คือการแถลงนโยบายรัฐบาล ให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประชาชนทราบ หมายความว่าจากนี้พวกเราคณะรัฐมนตรีและประชาชนจะได้ร่วมมือกันในการขับเคลื่อนประเทศชาติไปด้วยกัน เพื่อความสุขของคนในชาติ ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ตลอดจนการสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศได้ในทุกมิติ
สำหรับนโยบายรัฐบาลฉบับนี้ร่างขึ้นมาโดยใช้เงื่อนไขสำคัญคือการสานต่อการปฏิบัติงานของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งได้ดำเนินการมาในภาวะบ้านเมืองไม่ปกติ มีความเดือดร้อนของประชาชนมากมาย ซึ่งมีทั้งได้แก้ไขแล้วและยังไม่ได้แก้ไข บางอย่างแก้ไขได้เป็นการเฉพาะหน้า ชั่วคราวยังไม่เกิดความยั่งยืน คงต้องอาศัยเวลาสักระยะหนึ่ง
ช่วงต่อไปนี้เป็นระยะที่ 2 ของโรดแมป ซึ่งมีความสำคัญต่อประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง อันจะทำให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนตลอดไป
รัฐบาลในวันนี้นั้น อยากจะเรียนอีกครั้งหนึ่งว่าต่างจากรัฐบาลในอดีต คือมีหน้าที่ถึง 3 ประการด้วยกัน นอกจากการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ยังมีหน้าที่ในการปฏิรูป และการสร้างสภาวะความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ด้วยการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ ควบคู่ไปด้วย
เรารู้ดีว่าเป็นงานที่ยาก มีทั้งวิกฤตและโอกาส แต่เราก็จะใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการที่จะถือเอาวิกฤตเหล่านั้นหรือปัญหาทุกอย่างเหล่านั้นให้เป็นโอกาส ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายของพวกเราทุกคนที่ต้องทำให้ได้ด้วยระยะเวลาที่จำกัด
เราจะไม่ได้เป็นรัฐบาลที่อยู่ไปวันๆ เพื่อรอการปฏิรูปหรือรอการเลือกตั้ง เราจะพยายามทำงานในลักษณะที่ทำก่อน ทำจริง ทำทันทีให้มีผลสัมฤทธิ์ และเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต  คำว่าอนาคตนั้นไม่ได้หมายความว่าแค่ปีต่อไปหรือรัฐบาลต่อไป แต่ต้องเป็นการปูรากฐานของประเทศให้เข้มแข็งของการเป็นประชาธิปไตยอย่างที่ได้กล่าวไว้ ช่วยกันเติม อิฐ หิน ปูน ทราย  เหล็ก จัดทำโครงสร้างให้เข้มแข็ง ไม่ล่มสลายลงอีกโดยเด็ดขาด พวกเราทุกคน คนไทยทุกคนต้องช่วยกันเป็นสถาปนิก และก็มาช่วยก่อสร้างประเทศชาติกันใหม่ให้ถาวรและยั่งยืนตลอดไป ทุกคนมีความสุข
หากพวกเรา รัฐบาล หรือ คสช. ทำฝ่ายเดียว ผมว่าไม่มีทางสำเร็จอย่างแน่นอน อยากให้คนไทยทุกคนคิดถึงเรื่องนี้ให้มาก แม้กระทั่งผู้ที่เห็นต่างก็ต้องมาดูว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรต่อไป โดยไม่ขัดแย้งกัน ไม่ก่อความรุนแรง หรือจะเอาชนะกันต่อไปอีก ด้วยข้อกฎหมาย ด้วยช่องว่างต่าง ๆ ที่มีอยู่ ใครจะผิดจะถูก ผมว่าให้กฎหมายกระบวนการยุติธรรมนั้นเขาทำหน้าที่ และต้องเข้มแข็ง เป็นธรรม เจ้าหน้าที่ก็ไม่เลือกปฏิบัติ เรามีเวลาน้อย ขณะนี้ก็มีข่าวในเรื่องของการเริ่มมีการต่อต้านกันทั้งทางเปิดเผยบ้าง ลับบ้าง ทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้นตามลำดับ มีการกล่าวให้ร้ายกันทางโซเชียลมีเดียกันมากพอสมควร ผมอยากจะขอร้องช่วยกันลืมตาให้กว้าง ไตร่ตรอง ใคร่ครวญ ว่าเราแต่ละคนมีหน้าที่อย่างไร ต้องทำอย่างไรเพื่อร่วมกันทำให้ประเทศชาติไทยของเราเดินหน้าต่อไปให้ได้ หากทุกคนจะรออย่างเดียวว่าเมื่อไรเราจะยกเลิกกฎอัยการศึก ยกเลิกกฎหมายพิเศษ เพื่อจะได้มีการเคลื่อนไหวต่อไป ผมคิดว่าเราปฏิรูปไม่ได้แน่นอน เป็นหน้าที่ของผม ของคณะรัฐบาลที่จะพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง เราเข้าใจดีถึงปัญหาในเรื่องนี้ เราก็พยายามจะทำให้ดีที่สุด ถ้าท่านคิดว่าอยากให้เราดำเนินการต่อไปได้ด้วยดี ท่านก็ต้องหยุดการเคลื่อนไหวในลักษณะที่เป็นการต่อต้าน หรือเป็นการแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่สร้างความขัดแย้ง ถ้าท่านติเพื่อก่อ หรือว่าติดตามดูแลกำกับเสนอข้อเสนอแนะที่จำเป็นที่สำคัญ ผมรับได้ทุกเรื่อง แต่อย่าทำให้เกิดข้อขัดแย้งหรือนำปัญหาเก่า ๆ มาพูดกันใหม่อีก เรื่องเดิม ๆ ก็ต้องแก้กันไปด้วยกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมไป เพราะฉะนั้นถ้าเรานำเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือเรื่องเก่าทั้งหมดมาจับผิดจับถูกกันในวันนี้ ยังมาพูดให้ร้ายซึ่งกันและกัน โดยไม่ปล่อยให้กระบวนการทางกฎหมายเขาทำไปแล้ว เราทำงานไม่ได้หรอกครับ หรือทำได้ก็ไม่มีประสิทธิภาพ ทุกคนก็จะออกมาต่อสู้กันอีก มีความขัดแย้งกันอีกแล้วประเทศชาติเราจะสงบสุขได้อย่างไร
สถานการณ์ในปัจจุบันตั้งแต่ 22 พฤษภาคม เป็นต้นมา วันนี้บ้านเมืองก็ดูมีความสุขดี เราจะกลับไปถึงเวลานั้นอีกหรืออย่างไร ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ กรณีผมเองก็มีการถูกบิดเบือนในโซเชียลเน็ตเวิร์ค มีปลอมเอกสารหัว – ท้าย มีลายเซ็นผมเอง ข้อความภายในท่านก็คิดแล้วกันว่าจริงหรือไม่จริงวันนี้ธนาคารก็มาชี้แจงแล้วว่าผมไม่เคยมีบัญชีเงินฝากเหล่านั้น มีการบอกผมให้สั่งการให้ปกปิดเงินผมน้องชายผม สองหมื่นกว่าล้าน ผมคงไม่มีใครบ้าไปเป็นอย่างนั้น ทำอย่างนั้นคงไม่ใช่ ถ้าเรามีเงินขนาดนั้นจริง ก็ดีผมจะได้นำเงินมาใช้หนี้ให้พ่อแม่พี่น้อง หรือสร้างอะไรให้เป็นประโยชน์ เป็นประวัติศาสตร์ให้กับแผ่นดินนี้บ้าง ให้สมกับที่เราเกิดมาบนแผ่นดินนี้ ใครรวยก็ต้องทำแบบนั้น เผอิญผมยังไม่รวยขนาดนั้น ธนาคารเองก็ทราบดี ตอนนี้ก็ทราบว่าธนาคารก็ออกมาชี้แจงแล้ว ช่วยกันดูด้วยว่าเรื่องต่าง ๆ พูดจริงบ้าง เท็จบ้างอะไรต่าง ๆ ผมคิดว่าผมเกรงว่าบางคนก็จะเชื่อ ถ้าผมไม่พูดเลยก็เป็นอย่างนี้ไปตลอด
ในเรื่องของการทำงานนั้น เราเป็นทหาร เราเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงในกองทัพ เราก็ต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นตัวอย่าง ให้ทำอย่างไรให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเคารพนับถือ ไม่เช่นนั้นปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาที่ถืออาวุธเป็นจำนวนมากไม่ได้จนถึงวันนี้ เพราะฉะนั้นผมเคยบอกแล้วว่า เราจะต้องเอาชนะความชั่วด้วยความดี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมคุ้มครอง ย่อมเป็นบุคคลอันเป็นที่รักของทุก ๆ คนในกองทัพ
อีกเรื่องหนึ่ง เรื่องการเขียนข้อความเท็จ โจมตี คสช. โจมตีผมหรือเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ก็ตาม  วันก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมมาได้ ก็สอบถามว่าทำไมถึงโพสต์ข้อความอย่างนั้น ให้ร้ายคน สร้างความรุนแรง และหยาบคายบ้างอะไรบ้าง เขาตอบว่า สนุกดี ทำแล้วสนุก ผมก็สงสัยว่าทำไมประเทศเราถึงมีคนเหล่านี้อยู่เป็นจำนวนมาก มีมากพอสมควร เขียนแล้วก็โพสต์ข้อความอะไรออกมาแล้วรู้สึกว่าเป็นพระเอก เป็นฮีโร่ ผมเข้าใจว่าอาจจะป่วยทางจิตคนเหล่านี้ เขียนให้คนทะเลาะเบาะแว้งกัน เขียนโดยไม่มีข้อเท็จจริง เขียนโดยที่จับต้นชนปลายมาแล้วนำมาต่อกัน ทำนองนี้บ้านเมืองก็ไม่น่าจะดี เพราะฉะนั้นก็อย่าไปช่วยกันโพสต์ต่อไปเลย ท่านอ่านดูท่านก็น่าจะรู้นะ ว่าข้อความเหล่านี้เป็นไปได้หรือ เชื่อได้หรือเปล่า ถ้าสงสัยอะไรก็สอบถามมาได้ที่ คสช. หรือที่รัฐบาล แม้กระทั่งที่ผมเอง ก็ส่งข้อความอะไรถามมาก็ได้ พอจับได้ พอถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเขาดำเนินการทางกฎหมายก็อ้างว่าถูกทำร้าย อย่างบ้างคนก็ไปเคลื่อนไหวที่ต่างประเทศ ไปร้องเรียนที่นั่นที่นี่ ถ้าหากท่านคิดว่าท่านถูก ท่านไม่ได้ผิดอะไร ท่านกลับมาสิครับ แล้วท่านจะให้ผมส่งไปให้เจ้าหน้าที่อะไรที่ท่านไว้วางใจไปดูแลท่าน แล้วก็ต่อสู้กันในศาล ด้วยกระบวนการยุติธรรมตัดสิน น่าจะดีกว่าถ้าท่านไม่ไว้วางใจเรา ไม่ไว้ใจทหาร ผมให้โอกาสทุกท่านเลย อย่าไปพูดกันในทางลับ ในต่างประเทศ หรือประชุมสร้างความวุ่นวายต่าง ๆ เหล่านี้ ผมเห็นว่ายังมีการเคลื่อนไหวอะไรพวกนี้อยู่ เพราะฉะนั้นท่านต้องเข้าใจ เห็นใจพวกเราด้วยในการที่จะปฏิรูปประเทศ เพราะฉะนั้นอย่าทำอะไรให้ประเทศชาติเสียหาย อย่านำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ไม่ดี ไม่จริง ไปเล่าให้ชาวต่างประเทศเขาฟัง น่าอับอายเขา วันนี้เราไม่ได้ทำอะไรอย่างนั้นเลย อยากให้คนไทยทั้งประเทศอย่าไปร่วมมือ และก็ร่วมกันต่อต้านเขาด้วย อันที่จริงแล้วก็อยากจะให้ไม่สนใจดีกว่า อย่าไปสนใจคนเหล่านี้เลย ถ้าเราสนใจถ้าเราโพสต์กันต่อ ก็เป็นเรื่องเป็นราว สื่อก็จำเป็นต้องมาแพร่กันอีก พอแพร่กันไปแพร่กันมาก็ทะเลาะกันไปอีก เพราะฉะนั้นแทนที่ประเทศชาติจะสงบ ประชาชนจะมีความสุข เศรษฐกิจเดินไปข้างหน้าได้ ก็จะกลับไปอย่างเดิมอีก และเราจะได้นำพาการปฏิรูปไปสู่การเลือกตั้งให้ได้โดยเร็ว ถ้าเรายังเป็นอย่างนี้กันอยู่ ไม่ร่วมมือกัน แล้วเราจะก้าวไปสู่จุดนั้นกันได้อย่างไร
สำหรับข้อมูลหลายประการที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธสงคราม พฤติกรรมทั้งการยิงเอ็ม79 การยิงเอ็ม 16 ขว้างระเบิดทั้งในปี 2553  และ ปี 2556 และ 2557 นั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการจับกุมได้หลายคน จากการสืบสวนสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังสอบสวน มีความก้าวหน้าไปมากมาย ถ้าผมกล่าวว่ามีใครบ้างที่สนับสนุนทั้งอาวุธ เงินทอง ทุกท่านอาจจะตกใจ ก็ได้ วันนี้ผมยังไม่พูดให้เป็นเรื่องที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกระบวนการยุติธรรม สอบสวนสืบสวนให้ชัดเจน ให้ความชอบธรรมให้ความเป็นธรรม เราคงไม่ไปยัดข้อหาให้ หรือไปสร้างพยานเท็จพยานเทียม เพราะฉะนั้นหลายคนเกี่ยวข้องก็หนีไปต่างประเทศหมด ที่มีรายชื่อต่าง ๆ เพราะฉะนั้นถ้าท่านคิดว่าท่านไม่ได้เกี่ยวข้อง ท่านก็กลับมา เพราะจะมีการโยงใยไปถึงหลาย ๆ ส่วนด้วยกัน ทั้งบุคคล ทั้งกลุ่ม ทั้งผู้ให้การสนับสนุน เตรียมตัวไว้ ถ้าใครคิดว่าไม่ผิด ถ้าใครคิดว่า ไม่ผิดแล้วเมื่อมีพยานหลักฐานพร้อมนั้น ท่านสู้คดีไม่ได้ ท่านต้องถูกดำเนินคดีแน่นอนนะครับ มอบตัวเถอะครับ เผื่อจะได้ความกรุณาจากศาลบ้าง
ในเรื่องของนโยบายรัฐบาล หลักการสำคัญก็คือ เราได้ใช้ยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เข้าใจทั้งคน เข้าใจทั้งพื้นที่ เข้าใจถึงปัญหาถึงจะหาวิธีการแก้ไขปัญหาได้ และอีกอันคือใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นแนวทาง โดยนำสิ่งที่เป็นปัญหาทั้งหมด ความล้าสมัย ไม่เป็นสากล หรือการทำให้ประชาชนมีความยากลำบาก ไม่เท่าเทียม เหลื่อมล้ำมาเป็นเวลานานนั้น  มาพิจารณาดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ โดยอะไรที่เร่งด่วนมาก ๆ เราก็ทำทันที อะไรที่ต้องใช้เวลาแก้ไขเกี่ยวข้องมากก็ปานกลาง 1 ปี ยั่งยืนก็เป็นเรื่องของรัฐบาลต่อ ๆ ไปที่จะต้องทำงานอย่างยั่งยืน ทั้งหมดนั้นเราพยายามจะทำให้มีการต่อเนื่อง หลายคนก็เป็นห่วงว่าทำจบหรือไม่ เรื่องเป็นร้อย ๆ เรื่อง ก็ทำอย่างนี้แบ่งทุกกลุ่มปัญหามาเป็นระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง ระยะยาว ยั่งยืน เพราะฉะนั้น แผนต่าง ๆ นั้น ที่เรานำมาใช้ด้วย ในการจัดทำนโยบายครั้งนี้ก็ประกอบไปด้วย แผนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา อื่น ๆ ของที่มีมาแล้ว เราได้มีการ เรื่องของการทำนโยบายทั้งหมด 11 ด้าน ครอบคลุมทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา ต่างประเทศ กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และอื่น ๆ อีก
ปัญหาที่ผ่านมานั้น ผมเรียนว่า นโยบายรัฐบาลมักจะเป็นนามธรรมมากกว่ารูปธรรม คือ อ่านดูแล้วเพลิดเพลินเข้าใจ แล้วถึงเวลาปฏิบัตินำไปปฏิบัติไม่ได้ นำไปขับเคลื่อนไม่ได้ เพราะอะไร เพราะไม่ชัดเจนและก็ไม่ถูกนำมาใช้  ทำให้เกิดความไม่เป็นประสิทธิภาพ ไม่มีผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควร พอมีอยู่บ้างนะครับ สิ่งที่ผมดูว่าเป็นปัญหาหลักก็คือขาดความมีเอกภาพของหน่วยงาน การประสานงาน และการบูรณาการ 2 อันนี้คนละคำกัน ทำให้ไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ในระยะยาว ไม่ต่อเนื่องและเราไม่รู้อนาคตของเราของประชาชนของประเทศชาติ ไม่รู้อนาคตนะครับ
วันนี้เราได้พยายามกำหนดนโยบาย และแบ่งมอบงานให้ทุกกระทรวงขับเคลื่อนชัดเจน อะไรที่เป็นงบฟังก์ชั่น งบบูรณาการ งบลงทุน งบบุคลากร งบบริหารจัดการ ใครจะรับผิดชอบ หลัก  รอง  หรือเสริม ในงานกลุ่มเดียวกัน  ซึ่งน่าจะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า มีมาตรฐาน มีมาตรการตรวจสอบความโปร่งใส ทั้งในระดับนโยบาย  ระดับนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และผู้ปฏิบัติ ต้องสอดคล้องกันทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น รวมทั้งมุ่งเน้นให้ประชาชนทราบได้ว่าใน 5 ปีหรือ 10 ปี ข้างหน้าของเรานั้น ท้องถิ่นของเรา บ้านเมืองของเรานั้น จะเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง  จะพัฒนากันไปอย่างไร  ทั้งนี้ เพื่อลดความขัดแย้ง ลดการต่อต้าน ลดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนทุกคนต้องรู้อนาคตของบ้านเมือง สนใจเอาใจใส่อย่ามองเฉพาะเรื่องครอบครัวตัวเองอย่างเดียว ต้องมองว่าบ้านเมืองเราจะไปอย่างไรและก็เราจะได้ปฏิบัติตัวได้ถูก บางคนอาจจะต้องเสียสละบ้าง บางคนอาจจะต้องได้ คนได้ก็คือคนที่ยากจนก่อน  คนที่เสียสละคือคนรวย อาจต้องเสียสละผลประโยชน์บ้าง  เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้ ลดความเหลื่อมล้ำ
การบริหารราชการจะเป็นไปตามนโยบายนี้เป็นหลัก  ผมได้กำหนดให้ทุกภาคส่วน ทุกส่วนราชการ รายงานผลการดำเนินงานด้านงบประมาณในทุกไตรมาส ทั้งนี้ จะต้องมีผลเป็นรูปธรรม จับต้องได้ งานใดทำก่อน ทำเลย ต้องจัดลำดับความเร่งด่วน ด้วยการวางแผนที่ดี ประชาชนได้รับประโยชน์เร็ว ไม่ต้องรอใกล้สิ้นปีงบประมาณถึงจะมาเร่งกันทำ
วันนี้ รัฐบาลเราไม่ได้มาจากพรรคการเมือง ไม่ต้องหาเสียง ไม่ต้องมีเสียงข้างมาก ไม่ต้องรักษาฐานเสียง ไม่ต้องการคะแนนนิยม เพียงแต่ต้องการแก้ปัญหาและปฏิรูปอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่ของง่าย เราไม่ใช่พรรคการเมือง เพราะฉะนั้น เราก็คงไม่ต้องไปทำโครงการประชานิยมหรือทำในเรื่องของทำอย่างไร ให้คนรักเรามาก ๆ ไม่ใช่ เราจะแก้ปัญหาให้เขา ปัญหาเกิดมามากกว่า 10 ปี ไม่ได้เกิดมาหลังการควบคุมอำนาจ 22 พฤษภาคม  ดังนั้น ต้องร่วมกันคิด ร่วมมือ ช่วยกันทำ แม้กระทั่งใครขัดแย้งกันมาตลอดก็ต้องช่วยกัน ถ้าไม่ช่วยผมถือว่า ท่านก็ไม่ได้รักคนไทยจริง ๆ ถ้ารักคนไทยจริง ๆ ต้องช่วยเราตอนนี้นะครับ เรื่องอื่น ๆ ท่านก็ไปต่อสู้กันทางกระบวนการยุติธรรมก็แล้วกัน
ผมเห็นใจ คนมีรายได้น้อยจริง ๆ ก็มีลักษณะการถูกเอารัดเอาเปรียบ ทำจนท่านก็เครียด รายได้ไม่พอเลี้ยงลูกเมีย ครอบครัวทนไม่ได้  พอมีคนมายุแหย่ ปลุกปั่นท่านก็หยุดตัวเองไม่ได้ก็คล้อยตามเขาไป แล้วก็ทำให้เกิดปัญหา ท่านต้องตั้งสติใหม่นะครับ หารือ พูดคุย อดทน ถ้าใครเขามาบอกอะไรก็เชื่อหรือไม่เชื่อ ท่านหาข้อมูลก่อน อย่าไปเชื่อใครคนใดคนหนึ่งพูด แล้วเสร็จแล้วก็วุ่นวาย ท่านก็รวมกลุ่มขึ้นมา ท่านก็มาเดินขบวนท่านก็มาต่อต้าน ท่านก็มาอะไรต่าง ๆ ซึ่งผมว่ามีสาเหตุทั้งสิ้นและตอบได้ โดยเฉพาะช่วงนี้เราตอบท่านได้ทุกเรื่อง แต่ขอให้ท่านพยายามอดทนฟังข้อเท็จจริงก่อนแต่ท่านจะให้เราช่วยอะไรก็ว่ามาอีกที ถ้าท่านไม่ฟังท่านจะเอาแต่ที่ท่านเรียกร้อง ก็ยากที่เราจะสามารถทำตามใจให้ท่านได้ เพราะว่า งบประมาณเราก็มีจำกัด อย่างที่เคยเรียนไปหลายครั้งแล้ว เพราะฉะนั้น ผมไม่อยากให้พวกเราต้องบังคับใช้กฎหมายกับท่านตลอดเวลา เราก็เข้าใจดีถึงสิทธิมนุษยชน เข้าใจถึงโลกสากล เห็นใจเราบ้างเถอะครับ หน้าที่เราจะต้องเป็นรัฐบาลและก็ทำงานเพื่อจะขับเคลื่อนประเทศ เพราะฉะนั้น ถ้ามีการทะเลาะเบาะแว้งกัน มีการต่อต้าน มีการที่ไม่ถูกต้อง ผมใช้คำว่าไม่ถูกต้องดีกว่า ท่านคิดว่าท่านถูกแต่ไม่ถูกในทำนองคลองธรรม ไม่ถูกในกฎหมาย ระเบียบของสังคม อย่าทำลายพวกเราเลยนะครับ อย่าทำลายความตั้งใจของพวกเราเลย เราไม่ได้ต้องการอำนาจ ไม่ต้องการผลประโยชน์ ท่านก็ทราบดีว่า การทำงานนั้นมีหลายระดับ หลายหน่วยงาน โอกาสที่คนเลว ๆ ก็ยังมีอยู่ ที่แอบซ่อนปิดบัง ก็ต้องใช้เวลา และร่วมกันตรวจสอบด้วยกฎหมาย พร้อมกับการเดินหน้าประเทศไปด้วย อย่าให้ประเทศต้องหยุดเลย
ถ้าเราต่อสู้กันเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง ประเทศหยุดไปด้วย ทุกอย่างก็เดือดร้อนไปหมด ประชาชนเดือดร้อน บ้านเมืองเสียหาย เพราะฉะนั้น ถ้าเราไปดำเนินการเพื่อใคร คนใดคนหนึ่งหรือไม่กี่คนนี้ จะทำให้เกิดปัญหากับประเทศชาติ  อย่างที่เคยเกิดมาแล้วจะผิดจะถูกไปว่ากันมาอีกที ส่วนใหญ่มักจะอ้างว่าไม่ชอบทำให้เวลาเขาทำงาน ฝ่ายกฎหมายเขาต้องทำงาน เขาต้องรัดกุม มีหลักฐานอะไรต่าง ๆ ให้เรียบร้อย ทั้งเอกสาร ทั้งพยาน ทั้งการตรวจสอบหลายคณะ ถ้าทำชัดเจนแล้วก็จะบิดพลิ้วกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งตำหนิกันไปมาเลย ให้เวลา ให้กำลังใจกัน ท่านจะรู้เองว่า ถ้าท่านต้องมาทำตรงนี้ท่านจะรู้ว่าไม่ง่ายนักหรอกนะครับที่จะทำให้ถูกอกถูกใจคนทุกคน ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายกฎหมาย ทำนองนี้ไม่สามารถจะทำให้ถูกใจทุกคนได้ โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง กฎหมายนี้ มีไว้สำหรับตัดสินคนถูกผิด เพราะฉะนั้นให้เวลาเขาในการทำงานให้เกิดความยุติธรรม ไม่ให้เกิดปัญหาอีกต่อไปในอนาคต ถ้าใครผิดก็ต้องผิดอยู่ดี ถ้าพยานครบ หลักฐานครบ ก็ต้องผิด หนีไปไหนก็ไม่ได้ไม่มีความสุข ต้องถูกดำเนินคดีและหาความสุขไม่ได้หรอกนะครับ ร้อนรน และเราทำไมจะต้องไปเจ็บร้อนแทนคนอื่นเขาด้วย ถ้าเขาไม่ผิดก็ดีใจกับเขา ถ้าเขาผิดก็ต้องถูกลงโทษให้กระบวนการยุติธรรม กฎหมายดำเนินการให้รอบคอบจะดีกว่า อย่าเพิ่งเคลื่อนไหวกันเวลานี้เลย ผมคิดว่าวันนี้น่าจะมีคนที่กล้าทำผิดน้อยลง เขาคงไม่เสี่ยง เพราะเราได้ประกาศนโยบายของรัฐบาล ของ คสช. ไปแล้ว เราจะไม่ช่วยเหลือคนผิด เพราะฉะนั้น หากประชาชนไม่กดดัน ก็จะไม่เกิดปัญหาในการทำงาน อย่าเร่งรีบจนเกินไป เพราะฉะนั้น ประชาชนส่วนใหญ่มักจะเป็นเหยื่อ ส่วนใหญ่ก็จะถูกดำเนินคดีเห็นมีคดีมากมาย บางทีก็ว่าเป็นคดีการเมือง บางอย่างก็เป็นคดีอาญา เพราะฉะนั้น คนจนเท่านั้นที่จะไม่มีกำลังสติปัญญาพอที่จะไปต่อสู้กับกฎหมายได้ เพราะฉะนั้นอย่าเป็นเครื่องมือคนอื่นเขาเลย เราจะดูแลให้ดีที่สุด ไม่มีคดีก็ดีกันอยู่แล้ว หาเงินหาทองก็ยังไม่พอใช้อยู่แล้ว
วันนี้ทุกคนก็หาเงินตัวเป็นเกลียวและถ้าหากมีคดีขึ้นมา ถูกจับกุมมา ผิดกฎอัยการศึกบ้าง อะไรบ้าง ลูกเมียก็เดือดร้อนแล้วจะทำอย่างไร ใครจะไปเลี้ยงดูเขา คิดถึงเขาบ้าง อย่าคิดว่าทำอย่างนี้แล้วถูกต้องใช่แล้ว ไม่ใช่ทั้งนั้น บางอย่างก็ใช่ บางอย่างก็ไม่ใช่ บางอย่างก็มีการปลุกระดมทำนองนี้ เพราะฉะนั้น ผมอยากให้ทุกคนคิด มีสติให้กับครอบครัวที่เป็นที่รักของทุกท่านทุกคน วันนี้ประเทศเรานั้น ข้าราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร เข้มแข็งขึ้นมากแล้วครับ มีผลงานมากมายไม่อย่างนั้นเราคงขับเคลื่อนประเทศมาไม่ได้ถึง 4 เดือน ทั้งข้าราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร ขอไปทบทวนดูว่าเกิดอะไรขึ้นมาบ้างใน 4 เดือน
สัปดาห์ที่ผ่านมาได้ไปร่วมงานขององค์กรเอกชนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชั่น ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ หลายคนบอกว่าจะเป็นได้ไหม ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลก็เป็นอย่างนี้อย่างนั้น ผมว่าถ้าเราช่วยกันต้องได้ น่าชื่นใจในการตื่นตัวของประชาชน ที่ผ่านมาการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ทุกคนทราบดีว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เกิดความแตกแยกของคนในชาติ ทำให้ขาดความเชื่อมั่นของต่างประเทศ รัฐบาลจึงถือเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว  ทั้งเร่งด่วนระยะสั้น ระยะกลาง ยั่งยืน แต่ทั้งนี้ก็ต้องใช้ความระมัดระวัง  ในการสอบตรวจต้องมีการใช้กฎหมายที่ถูกต้อง ให้ความเป็นธรรม เสมอภาค อย่าใช้อารมณ์ หรือความเกลียดชังมาเป็นตัวตัดสินไว้ก่อน ถ้าท่านใช้อารมณ์ ใช้ความเกลียดชังมาตัดสินไว้ก่อน กฎหมายเดินตามไม่ได้ เดินตามมาต้องเข้าทางนี้ ใครผิดใครถูกก็เข้าอีกข้างหนึ่ง ลำบากนะครับให้กฎหมายเขาว่าดีกว่า อะไรที่ไม่ใช่เรื่องเราก็นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เสร็จแล้วก็จบก็คอยดูว่าเขาจะทำอะไรต่อไป ก็ตรวจสอบเขาได้ เพราะฉะนั้นเราต้องทำเรื่องกฎหมายให้ทั่วถึง ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ต้องเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมให้ได้ ทุกระบบ เรื่องใดเกิดแล้ว ก็สอบสวนให้รอบคอบ เรื่องใดยังไม่เกิด ก็ต้องป้องปราม ป้องกันไว้ก่อน อย่าไปตัดสินกันเอง ถ้าอย่างนั้นไม่ต้องมีกฎหมาย กลับไปสู่อดีตหลายร้อยปีมาแล้ว ใช้อาวุธ ตั้งกลุ่ม ตั้งแก๊งกัน ต่อสู้ฆ่าฟันกันมา เพราะฉะนั้นสถานการณ์เหล่านี้อย่าให้เกิดขึ้นอีกในประเทศไทยของเรา ต่างชาติมีตัวอย่างให้เห็นอยู่แล้วทุก ท่านกรุณาไปดูข่าวต่างชาติ ท่านจะเห็นว่าบ้านเมืองหลาย ๆ ประเทศที่เคยเจริญสวยงาม ก้าวหน้า ต้องพังทลายเพราะการต่อสู้ของประชาชน คนในชาติ เราอย่าไปทำเลย เราไม่มีอะไรที่มันถึงขนาดนั้น ฉะนั้นจำคำผมไว้ให้ดี อย่าตำหนิ ติเตียนกันมากนักเลย การกดดันมาก ๆ นั้น ทำให้คนทำงานไม่เป็นอิสระ ภายใต้ความกดดันนี้ ผมเองก็ยังกดดันตัวเองเลย เพราะจะทำให้การตัดสินใจผิดพลาด เราต้องพยายามตั้งสติ อดทน อดกลั้น ถ้าต่างฝ่ายต่างช่วยกันไม่ดีกว่าหรือครับ
ในเรื่องของภาพรวมทางเศรษฐกิจ ปัญหารายได้ ปัญหาปากท้องประชาชน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในช่วง คสช. ด้วย ได้มีการแก้ปัญหามากมายในช่วงที่ผ่านมาตามลำดับ วันพุธที่ผ่านมานั้น ได้เชิญหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วย สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงบประมาณ กระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ นักวิชาการ มาร่วมกันหารือเกี่ยวกับสถานะของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน และแนวโน้มของภาวะเศรษฐกิจไทยในอนาคต ซึ่งเป็นการหารือลงลึกในรายละเอียดของตัวเลขต่าง ๆ ทางด้านเศรษฐกิจ ก็ยังพบว่า ภาพรวมของความเชื่อมั่นนักลงทุนและผู้บริโภคมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจของไทย ยังคงมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น ขีดความสามารถในการแข่งขัน สถานการณ์การสู้รบของต่างประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ เป็นต้น
การพัฒนาระบบเศรษฐกิจไทยเพื่อให้แข่งขันได้นั้น ได้แก่ การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัย การผลิตสินค้าที่เป็นความต้องการของตลาด การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง การปรับปรุงมาตรการอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการและนักลงทุน การปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ วิธีการขั้นตอนให้เอื้อต่อการค้าการลงทุน การบริหารจัดการการเกษตรที่ทันสมัย ทั้งหมดนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการทั้งสิ้น  อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะช่วงต้นนี้ อาจส่งผลดีต่อประชาชน ผู้ประกอบการเพียงบางกลุ่ม ยังมีประชาชนที่มีรายได้น้อยอีกจำนวนมากในท้องถิ่น ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศที่ยังมีปัญหาอยู่ ที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้น ยังไม่ส่งผลต่อเขาเหล่านั้นมากนัก ผมจึงมีความห่วงใยต่อประชาชนกลุ่มดังกล่าว ทุกคนต้องช่วยกันหามาตรการเร่งรัด ให้มีการใช้จ่ายงบประมาณ ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ตั้งแต่เดือนตุลาคม เพื่อให้เม็ดเงินได้มีการกระจายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้ถึงมือประชาชนโดยเร็วที่สุดแล้ว ก็ได้มอบหมายให้ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กระทรวงมหาดไทย และกรมบัญชีกลาง ได้ช่วยกันจัดทำมาตรการ ในการดูแลประชาชนในท้องถิ่น ในภูมิภาคเหล่านั้น   โดยให้พิจารณานำเงินงบประมาณที่ตกค้างต่าง ๆ เช่น งบเหลื่อมปี งบของ อปท. งบโครงการไทยเข้มแข็ง มาจัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เพื่อให้เกิดการจ้างงาน การสร้างรายได้ ตอบสนองต่อความต้องการที่แตกต่างกันของประชาชนทุกกลุ่มทุกภูมิภาคอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงโดยเร็วที่สุด
สำหรับการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรม และกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งร่วมกันทำมาโดยตลอดนั้น ขอขอบคุณและชื่นชม ทั้งในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร ภาคเอกชน ประชาชนเป็นอย่างมากที่ได้ร่วมมือกันจนผลการดำเนินงานที่ผ่านมาได้อำนวยความสะดวก บริการประชาชนมีผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมในหลายพื้นที่ ทั้งการรวบรวมปัญหาความเดือดร้อน ความต้องการของประชาชน รับเรื่องร้องเรียน แก้ไขปัญหา ช่วยเหลือ ลดขั้นตอน ให้ความรู้ ยกตัวอย่างเช่น เกษตรกร อำเภอบางปลาม้า ยังไม่ได้รับเงินจากการขายข้าว 70 ล้านบาท ก็ได้ประสาน เชิญเอกชน ผู้ประกอบการมาหารือแนวทางในการแก้ไข ซึ่งผลการดำเนินการ เกษตรกรได้รับเงินเป็นที่เรียบร้อย กรณีประชาชน ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี มีความเดือดร้อน ไฟฟ้าไม่เพียงพอยังไม่ได้ติดตั้งก็ได้เร่งประสานการไฟฟ้าอำเภอดอนเจดีย์ผลการดำเนินการ การไฟฟ้าจัดสรรงบประมาณ ขยายเขตไฟฟ้าเรียบร้อย คาดจะแล้วเสร็จปลายเดือนกันยายนนี้ กรณีปัญหาแย่งชิงน้ำทางการเกษตรในพื้นที่ ตำบลห้วยชัย อำเภออินทร์บุรี การเปิด - ปิดประตูน้ำไม่เป็นเวลา มีกลุ่มนายทุนครอบครองกุญแจ ผลการดำเนินการหน่วยงานราชการได้เข้าไกล่เกลี่ย ตัดสิน จัดสรรแหล่งน้ำให้เท่าเทียมกันเป็นที่เรียบร้อย ประชาชนในพื้นที่มีความพึงพอใจ กรณีการก่อสร้างสะพานอุตมานุสรณ์ หรือสะพานมอญ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ที่มีความล่าช้า ผลการดำเนินการข้าราชการและประชาชน รวมทั้งทหารช่างได้เข้าแก้ไขแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้
4 เดือนที่ผ่านมา กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ได้รับทราบปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนทั้งประเทศ 8,880 ปัญหา นี่คนละส่วนกันกับที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีรวบรวมมา ได้แก้ไขในพื้นที่ไปแล้ว 7,420 ปัญหา แล้วส่งต่อให้ศูนย์ดำรงธรรม 1,460 ปัญหา ก็ถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ไม่ต้องเดินทางเข้ามาร้องเรียน/ร้องทุกข์ ที่ทำเนียบรัฐบาล หรือที่อื่น ๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์ ผมทราบว่าในบางอำเภอ บางจังหวัด เอกชนได้ให้การสนับสนุน ได้ให้ความอนุเคราะห์พื้นที่ในศูนย์การค้าจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรม เช่น ห้างโลตัส จังหวัดกาญจนบุรี ขอขอบคุณ หากเป็นไปได้ พื้นที่หรืออาคารของศูนย์ดำรงธรรม ศูนย์อะไรต่าง ๆ ที่อำนวยความสะดวกเหล่านี้ ควรตั้งอยู่ในที่ที่มีความสะดวกสบายต่อประชาชนเข้าถึงได้ง่าย
เรื่องการแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ วันนี้ล่าสุดได้ให้ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เดินทางไปประเทศมาเลเซีย ไปเข้าหารือกับ เลขาฯ สมช. ของมาเลเซีย เพื่อยืนยันเป็นทางการว่า ไทยจะเดินหน้าพูดคุยเพื่อสันติสุขต่อไป โดยให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกเช่นเดิม รัฐบาลกับ คสช. ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ แต่คงต้องด้วยความระมัดระวัง
สำหรับการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในช่วงนี้ ด้วยความห่วงใย ผมได้สั่งการ ให้แม่ทัพภาคต่าง ๆ ประสานงานร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายพลเรือน และเจ้าหน้าที่ส่วนงานต่าง ๆ ช่วยกันลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนให้ทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งการเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตเป็นระยะ ๆ  อย่างไรก็ตามในสิ้นเดือนกันยายนนี้ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ ก็กำลังที่จะเสนอแผน และงานโครงการ งบประมาณที่จะดำเนินการในระยะที่ 1 ให้ได้โดยเร็ว ทั้งการแก้ไขปัญหาด้วยระบบต่าง ๆ ที่มีปัญหาอยู่ให้ได้อย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นเหตุจนถึงปลายเหตุ เพื่อจะมีการบูรณาการ บริหารจัดการน้ำที่ดี ซึ่งต่อไปจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อจะลดความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างยั่งยืน
เรื่องการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ สรุปยอดรวมคือ 7,362 คน โดยขณะนี้กรุงเทพมหานครเสนอชื่อมากที่สุด 133 คน สำหรับการปฏิรูปด้านต่าง ๆ มีสมัครด้านการปฏิรูปการศึกษามากที่สุด 777 คน น้อยที่สุดคือ ด้านสื่อมวลชน 194 คน หลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติ แล้วก็อยู่ในขั้นตอนการคัดสรร ขอให้รอฟังการคัดสรรอีกครั้งหนึ่ง ที่เหลือก็ช่วยกันเป็นกลุ่มเป็นพวก ในการที่จะให้ข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มเติม ผมคิดว่าทุกคนนั้นเป็นประโยชน์กับประเทศชาติมาก ขอบคุณทุกคนที่มาสมัครทั้งหมด ทั้ง 7,000 – 8,000 คน อย่างไรก็ตาม เราจะดูแลให้เกิดความเป็นธรรมให้มากที่สุด ด้วยความรอบคอบ ให้ได้ผู้ที่มีความชำนาญ มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน และผู้อื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบด้วย ที่เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ในแต่ละกลุ่ม แล้วก็ทุกภาคพยายามจะให้ครบ ให้การปฏิรูปเดินหน้าต่อไปได้ และเกิดประโยชน์ ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง
สุดท้ายพวกเราทุกคน ก็คงต้องกล่าวคำว่าคิดถึง และห่วงใย ประชาชนทุกคนเหมือนเดิม เพราะปัญหาทุกอย่างยังแก้ไขไม่ได้ทั้งหมด บางอย่างแค่ทุเลา บางอย่างอยู่ในขั้นตอน ผมคิดว่า ในสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป บรรดารัฐมนตรีทุกคน คณะรัฐมนตรีก็จะเริ่มทำงานอย่างเต็มรูปแบบ ก็จะนำแผนงานโครงการต่าง ๆ ที่เริ่มต้นไว้แล้ว อะไรที่ดีของ คสช. ก็จะทำต่อเนื่อง อะไรที่จะต้องปรับปรุงก็มาปรับปรุงหารือกันใน ครม. และหาทางจัดสรรปรับเปลี่ยนงบประมาณต่าง ๆ ให้เหมาะสม เป็นการคิดร่วมกันของรัฐมนตรี ของคณะรัฐมนตรีทั้งหมด แต่ทั้งหมดนั้น ผมเรียนว่านำมาจากพี่น้องทั้งสิ้น นำมาจากปัญหา นำมาจากสิ่งที่ทำให้ประชาชนนั้น ยังมีความเดือดร้อน ยังไม่มีความสุข ยังมีช่องว่างของคุณภาพชีวิตอยู่มากมาย เราจะพยายามค่อย ๆ ทำให้ได้ อย่าคิดว่าเรามาแล้วไม่ทำอะไร หรือทำอะไรไม่ได้ ทุกอย่างที่ผ่านมาในห้วง 4 เดือนนั้น บริหารราชการปกติมาตลอด โดย คสช. ทำงานโดยข้าราชการ ตำรวจ ทหาร ฟังความคิดเห็นจากประชาชน บางอย่างก็เป็นคำแนะนำมาจากที่ปรึกษา มาจากภายใน ภายนอก ฟังทุกวันถึงทำงานมาได้ถึงวันนี้ เราจะส่งที่ทำวันนั้น ส่งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป ขอให้ทุกคนได้ร่วมกับพวกเราในการคาดหวังที่จะเดินหน้าประเทศไทยไปสู่อนาคตอย่างยั่งยืน ขอบพระคุณนะครับ ขอเวลาให้พวกเราหน่อย ขอบคุณ สวัสดี