วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559

'เพื่อไทย' ขอ คสช.เลิก.ใช้อำนาจพิเศษ ม.44 ปมจำนำข้าว หันกลับมาใช้กฎหมายปกติ


เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย ได้ออกแถลงการณ์พรรค เรื่อง ขอให้ทบทวนกระบวนการเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว และยกเลิกการใช้มาตรา 44 โดยไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
 
โดยแถลงการณ์ระบุว่า ตามที่หัวหน้า คสช. ได้ดำเนินการเพื่อเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง กับอดีตนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าว และได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 56/2559 ลงวันที่ 13 กันยายน 2559 ให้อำนาจกรมบังคับคดี ในการใช้มาตรการบังคับทางปกครองด้วยการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดในโครงการรับจำนำข้าว ขณะเดียวกันกลับคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการดังกล่าว ให้ไม่ต้องรับผิด จากที่เคยออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 39/2558 คุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมาครั้งหนึ่งแล้ว นั้น
 
พรรคเพื่อไทยเห็นว่า ได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลและหัวหน้า คสช. ที่จะมุ่งเอาผิดกับอดีตนายกรัฐมนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายกรณีโครงการรับจำนำข้าวให้ได้ โดยไม่สนใจกระบวนการและขั้นตอนของกฎหมาย โดยเห็นได้ชัดเจนจากคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. และรองนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ที่พยายามชี้นำสังคมและชี้นำการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ให้เห็นว่าบุคคลเหล่านั้นได้กระทำความผิดและต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายโดยเร็ว จนถึงขนาดใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ของกฎหมายปกติที่ใช้บังคับทั่วไป เพื่อนำมาใช้กับกรณีนี้เป็นการเฉพาะ ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการลุแก่อำนาจสร้างความไม่ชอบธรรมแก่ผู้ที่ถูกกล่าวหา และเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุผลดังนี้
 
1. โครงการรับจำนำข้าว ได้มีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งศาลจะเป็นผู้ตัดสินว่าผู้ที่เกี่ยวข้องมีความผิดหรือไม่ หากตัดสินว่ามีความผิดจึงควรจะมาพิจารณาถึงความรับผิดทางแพ่งต่อไป ไม่ควรที่ผู้นำจะออกมาชี้นำสังคมและชี้นำการพิจารณาคดีของศาลรายวันก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา
 
2. โครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้การอุดหนุนด้านการเกษตร (Agricultural Subsidies) แก่เกษตรซึ่งเป็นภาคที่อ่อนแอ และเป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศอันถือเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของชาวนาส่วนรวม ซึ่งการดำเนินการเรียกค่าเสียหายจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล  ถือเป็นครั้งแรกของประเทศที่นำเรื่องกำไรขาดทุนมาพิจารณาและเรียกค่าเสียหายจากผู้นำรัฐบาลก่อน ทั้งที่ทุกรัฐบาลก็มีการดำเนินการในทำนองเดียวกันมากมายหลายโครงการ และเป็นแนวปฏิบัติที่นานาชาติได้ใช้กันโดยทั่วไป
 
3. การเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว เป็นเรื่องของนโยบายรัฐบาลไม่ใช่การทำละเมิดทั่วไป เช่น การทำให้ทรัพย์สินของราชการเสียหาย หรือการยักยอกเงินของทางราชการที่จะสามารถกำหนดค่าเสียหายและความรับผิดได้ชัดเจน ดังนั้นการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวจะถือเป็นการละเมิดหรือไม่ก็ยังไม่มีความชัดเจน นอกจากนั้นการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของบุคคล ถือเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล จึงไม่ควรที่จะต้องเร่งรีบ รวบรัดในการกำหนดค่าเสียหาย และเรียกให้บุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีอาญาเสียก่อน อันจะทำให้มีความชัดเจนว่าบุคคลใดมีความผิด และต้องรับผิดหรือไม่
 
4. การอ้างว่า หากไม่เร่งดำเนินการ คดีอาจขาดอายุความนั้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะเมื่อเรื่องดังกล่าวยังไม่ชัดเจนว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดหรือไม่ จึงเท่ากับยังไม่รู้ตัวผู้ต้องรับผิด อายุความจึงยังไม่เริ่มต้น แต่การยกข้ออ้างดังกล่าวก็เพื่อเร่งรัดให้มีการเรียกค่าเสียหายให้จบทันอายุของรัฐบาลนี้ อันเป็นเจตนาทางการเมือง และเป็นการชี้นำกระบวนการยุติธรรมจากอคติของผู้นำที่มาจากการยึดอำนาจ
 
5. การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่ว่าฉบับที่ 39/2558 หรือฉบับที่ 56/2559 โดยให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งให้ไม่ต้องรับผิด และให้อำนาจกรมบังคับคดี  ใช้มาตรการบังคับทางปกครอง แทนที่จะเป็นปลัดกระทรวงการคลังตามที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น จะส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องเป็นธรรมเพราะถือว่ามีกฎหมายคุ้มครอง แต่กระทำเพื่อให้บรรลุเจตนาของผู้นำเท่านั้น จึงเท่ากับเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ขัดต่อหลักความเสมอภาค อันถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม
 
6. มาตรา 44 เป็นสิ่งที่มีมาโดยมิชอบด้วยหลักการประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม แต่เป็นสิ่งที่หัวหน้า คสช. เขียนให้อำนาจตนเองไว้ อันเป็นอำนาจซึ่งไม่ได้มาจากความยินยอมของประชาชน การใช้อำนาจดังกล่าวจึงควรเป็นไปอย่างจำกัดเฉพาะตามองค์ประกอบและเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เท่านั้น กรณีการออกคำสั่งข้างต้นไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้ เพราะการออกคำสั่งคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และการให้อำนาจกรมบังคับคดียึดอายัดทรัพย์บุคคลเป็นการเฉพาะนั้น ไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และข้ออ้างในคำสั่งนั้นแต่อย่างใดเลย นอกจากนี้ผู้ออกคำสั่งจะต้องคำนึงถึงความชอบธรรมเป็นด้านหลักด้วย
 
จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า คสช.และรัฐบาลปัจจุบันล้วนเป็นผู้ไม่เห็นด้วยกับนโยบายจำนำข้าว ดังนั้นจึงถือเป็น "ผู้มีส่วนได้เสีย" “เป็นคู่ขัดแย้ง” และมิใช่ "ผู้เป็นกลาง" การที่พยายามจะดำเนินคดีเรียกร้องค่าเสียหายกับอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์และผู้เกี่ยวข้องในคดีจำนำข้าวด้วยวิธีการใช้ "คำสั่งทางปกครอง" โดยไม่เลือกใช้กระบวนการฟ้องร้องเป็นคดีแพ่ง จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบและขัดหลักนิติธรรม อีกทั้งอาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นความพยายาม และ/หรือมีความจงใจที่จะใช้กระบวนการต่างๆ เพื่อมุ่งทำลายพรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองที่มีความคิดเห็นต่าง ซึ่งเท่ากับจงใจทำลายระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยนั่นเอง
 
พรรคเพื่อไทยจึงขอเรียกร้องให้หัวหน้า คสช. และรัฐบาลได้ดำเนินการทุกอย่างให้เป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมายปกติ ไม่ควรใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 มุ่งใช้บังคับเพื่อเร่งเอาผิดกับบุคคลเป็นการเฉพาะ และการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐต้องเป็นไปตามหลักความเป็นธรรม  และความรับผิดชอบตามกฎหมาย ไม่ควรยกเว้นหรือคุ้มครองความรับผิด จึงขอให้มีการทบทวนกระบวนการเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว และยกเลิกการใช้มาตรา 44 โดยไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
 

ตร.อนุญาต 19 แกนนำ นปช. เพิ่มพยาน 8 ปาก คดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ


พนักงานสอบสวนกองปราบฯ อนุญาต 19 แกนนำ นปช. เพิ่มพยาน 8 ปาก นัดสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องต่ออัยการศาลทหาร 17 ต.ค.นี้ คดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ
ที่มาภาพ เพจ Banrasdr Photo
26 ก.ย. 2559 จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมคณะ รวม 19 คน มาตามนัดกับพนักงานสอบสวน ที่กองบังคับการกองปราบปราม ถนนพหลโยธิน ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน กรณีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ หลังจากได้มารับทราบข้อกล่าวหาแล้วในวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพนักงานสอบสวน โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ มีเงื่อนไข ห้ามสร้างความวุ่นวายทางการเมือง
จตุพร กล่าวก่อนเข้าไปในกองปราบฯว่า ก่อนหน้านี้ได้มอบหมายให้ทนายความยื่นเรื่องขอเพิ่มพยาน 8 ปาก แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ ถ้าพนักงานสอบสวนไม่อนุญาติให้เพิ่มพยานดังกล่าว ก็จะมีการส่งตัวพวกตนให้อัยการศาลทหารในวันนี้ ซึ่งพวกตนก็จะยื่นขอเพิ่มพยาน 8 ปาก อีกครั้งกับอัยการศาลทหารด้วย รวมถึง ขอความเป็นธรรม ต่ออัยการศาลทหาร กรณีที่ก่อนเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ คสช.บอกว่าสามารถเปิดได้ แต่กลับมีการฟ้องคดีพวกตนภายหลัง อีกทั้งเสียดายหากศูนย์ปราบโกงประชามติยังเปิดอยู่ จะช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับผลประชามติมากกว่านี้
รายงานข่าวระบุด้วยว่า เมื่อเข้าไปในกองปราบฯ ได้ประมาณ 1 ชั่วโมง ทั้ง 19 แกนนำฯก็ได้ออกมาจากกองบังคับการกองปราบปราม โดย จตุพร เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนได้อนุญาติให้เพิ่มพยาน 8 ปาก ตามที่ขอไว้ โดยจะทำการสอบพยานทั้ง 8 ปาก ภายใน 15 วัน และนัดมาเพื่อฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องต่ออัยการศาลทหาร ในวันที่ 17 ตุลาคมที่จะถึงนี้
สำหรับบรรยากาศ ที่หน้ากองบังคับการกองปราบปราม มีประชาชนจำนวนหนึ่งมารอให้กำลังใจเหล่าแกนนำ นปช.ด้วย และเป็นที่น่าสังเกตว่า ในวันนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร จำนวนมากมาล้อมกองบังคับการกองปราบปรามดังเช่นคราวก่อน

วิษณุ แจงปมจำนำข้าว เป็นกฎหมายใช้ตั้งแต่ปี 39 ยึดทรัพย์มาเกือบ 5 พันรายแล้ว


26 ก.ย. 2559 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณี พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รับผิดเรื่องการจำนำข้าวทั้งสี่ฤดูกาลจำนวน 2.7 แสนล้านบาทว่า การรับผิดของอดีตนายกรัฐมนตรีผ่านการพิจารณาในขั้นตอนการรับผิดทางแพ่งของคณะกรรมการการรับผิดทางแพ่งและเห็นว่าเป็นความผิดเรื่องละเว้นการทำหน้าที่ เพราะได้รับการแจ้งเตือนแล้ว แม้ว่าฤดูกาล ที่ 1-2 ยังไม่ได้รับการแจ้งเตือน แต่เมื่อได้รับการแจ้งเตือนในฤดูกาลผลิตที่ 3-4 ยังละเว้นจึงถือว่ามีความผิดปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต จึงให้รับผิดเฉพาะสองฤดูกาลผลิตหลัง มูลค่าความเสียหายลดลงมาเป็น 3.5 หมื่นล้านบาทตามเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง ในกรณีที่เป็นกรณีรับผิดทำกันหลายคนแบ่งสัดส่วนการรับผิดแบ่งสัดส่วนไว้ 10 ถึง 20% กรณีนี้คิด 20 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการละเลยส่วน 80 เปอร์เซนต์ที่เหลือ ต้องไปเฉลี่ยกับผู้ที่มีส่วนรับผิดครั้งนี้
วิษณุ กล่าวว่า ส่วน 80% ที่เหลือ ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พศ.2539 ระบุว่าไม่ให้ลูกหนี้ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เพราะหากรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ยกตัวอย่าง 10 คนเหมาจ่ายเพียงคนเดียว อีก 9 คนไม่ได้จ่ายอันนี้ ไม่ได้ แต่ต้องเป็นการรับผิดแบบใครผิดใครจ่าย เช่น ยิ่งลักษณ์ 20% ส่วนอีก 80% ก็ไปหาผู้ที่รับผิดและต่างคนต่างจ่ายตามความผิดหนักเบา ส่วนเหตุผลที่ทราบชื่อ ยิ่งลักษณ์คนเดียว เพราะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ส่งเรื่องมา แต่รายชื่ออื่นยังไม่ทราบ เป็นเรื่องที่ต้องไปตามหากันต่อไป ขณะนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) จะต้องทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ดำเนินการ ต้องทำกันหลายฝ่าย เบื้องต้นทราบว่า มีทั้งข้าราชการและเอกชนที่ต้องร่วมรับผิด
วิษณุ กล่าวต่อว่า มาตรา 8 ในความรับผิดทางละเมิดหรือไม่ให้รับผิดแทนกัน เมื่อความเสียหาย 1.7 แสนล้านบาท คือคนเดียว ประธานที่ต้องรับผิดชอบในสัดส่วน 10 ถึง 20% จึงออกมาเป็นตัวเลขดังกล่าวที่ ยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดชอบ ยืนยันว่ากฎหมายนี้ใช้มาตั้งปี 2539 ยึดทรัพย์มาแล้ว เกือบ 5000 ราย ใครที่ไม่ได้อยู่ในวงการราชการอาจจะไม่ทราบ และไม่รับรู้ ส่วนใครจะเป็นผู้หาคนผิดในอีก 80% ที่เหลือ สำหรับความรับผิดในทางแพ่งเป็นเรื่องของกระทรวงที่เป็นผู้บังคับบัญชาเป็นต้นสังกัดต้องดำเนินการ
“เรื่องนี้เป็นเรื่องของกระทรวงใครกระทรวงมันที่ต้องไปหาผู้กระทำความผิด สำนักนายกรัฐมนตรีเองก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องที่ต้องไปหาผู้กระทำความผิด ขณะนี้ปปท.กำลังสอบอยู่ 50- 60 รายและบ่ายนี้(26 ก.ย.) จะมารายงานความคืบหน้าด้วย ส่วนนายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องเซ็นลงนามหรือไม่ สามารถมอบอำนาจให้ใครก็ได้” นายวิษณุ กล่าว
ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยระบุว่าการใช้มาตรา 44 กับ ยิ่งลักษณ์ ไม่เป็นธรรม วิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้ใช้มาตรา 44 ไปยึดทรัพย์ เป็นเรื่องของการที่ต้องตั้งต้นการกระทำวามผิดที่วินิจฉัยตามกฏหมาย ซึ่งพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ปี 2539 ขั้นตอนต่อไปก็ต้องยึดทรัพย์ เว้นแต่ไปร้องศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราวก็จะไม่ยึดทรัพย์ แต่หากไม่คุ้มครองชั่วคราวหรือไม่มีการฟ้องศาลก็ต้องยึดทรัพย์
วิษณุ กล่าวว่า ขอย้ำว่าไม่ได้ให้อำนาจ กรมบังคับคดีไปลงมือยึดทรัพย์ แต่จะยึดได้ต่อเมื่อมีคำสั่งเท่านั้นเอง และมีวิธี มีมารยาท ไม่ใช่บุกยึด ขนนู่นี่ มีกรรมวิธีขั้นตอน และยึดเสร็จก็ต้องเอามาขายทอดตลาด
เมื่อถามว่าหากจำเลยไม่สามารถชดใช้ทรัพย์ได้จะถือว่าเป็นบุคคลล้มละลายหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ยังไม่ถึงขั้นนั้น การล้มละลายมีข้อเสียมากกว่าข้อดี เช่นการถูกฟ้องล้มละลายจะไม่สามารถลงสมัครผู้แทนได้ตลอดชีวิต
เมื่อถามว่าในช่วงเวลานี้จะสามารถถ่ายโอนทรัพย์สินได้หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า กรมบังคับคดีมีอำนาจบางอย่าง เช่น การจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินก่อนหน้านี้ หากเป็นการโอนหนีหนี้ สามารถเพิกถอนได้ หากโอนไม่ได้หนีหนี้ ซื้อขายตามสุจริต ก็ไม่ต้องเพิกถอน

ปธ.ป.ป.ช.ไม่หนักใจสอบปมลูก-ภรรยา พล.อ.ปรีชา

ขณะที่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช.กล่าวถึงความคืบหน้าคดีบุตรชาย และภริยาของพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม ว่า ตามกระบวนการเมื่อมีคนมาร้องเจ้าหน้าที่ก็ต้องไปตรวจสอบข้อมูล หรือที่เรียกว่าขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริง  ส่วนจะให้เวลาเจ้าหน้าที่ในการไต่สวนข้อเท็จจริงเท่าไหร่ นั้น ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานว่ามีอะไรบ้าง มีใครบ้างที่ต้องไปตรวจสอบ เป็นขั้นตอนปกติที่เราต้องทำ
“ไม่หนักใจการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับน้องชายนายกรัฐมนตรี แต่ต้องทำด้วยความละเอียดรอบคอบ เพราะสังคมเฝ้ามองอยู่ ขณะที่ระยะเวลาในการดำเนินการคงไม่สามารถตอบได้ ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของเรื่องมีอะไรบ้าง ถ้ามีหลายประเด็นก็อาจจะต้องใช้เวลามาก แต่กรณีนี้สำนักเลขาธิการป.ป.ช.ยังไม่ได้รายงานมายังกรรมการป.ป.ช. แต่เมื่อสำนักเลขาฯ รับเรื่อง ก็ต้องมีการแสวงหาข้อเท็จจริงก่อน ยังไม่ต้องรายงานคณะกรรมการ จะรายงานต่อเมื่อผลการแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่าจะรับเรื่องไว้หรือไม่รับเรื่องไว้” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว
เมื่อถามย้ำว่า เรื่องนี้สังคมให้ความสนใจค่อนข้างมาก ป.ป.ช.จะเร่งรัดให้เกิดความชัดเจนหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ก็ดำเนินการไปตามขั้นตอน ทุกเรื่องมีความสำคัญหมด คงไม่ล่าช้า ถ้าเร่งรัดมาก ๆ ก็เป็นประเด็นขึ้นมาว่าไปเลือกทำตรงนั้นตรงนี้ ความจริงเร่งทุกเรื่อง และขอเรียนพี่น้องประชาชนเลยว่าตอนนี้เรามีนโยบายว่า เรื่องที่ค้างต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี และคดีใหม่ต้องภายใน 1 ปี
พล.ต.อ.วัชพล ยังกล่าวถึง กรณีมีข้อสังเกตการพิจารณาคดีในส่วนของพรรคเพื่อไทย ออกมาเรื่อยๆ ว่า คงไม่ใช่ เพราะแต่ละเรื่องเป็นเรื่องเก่าบ้าง เมื่อไปเร่งรัด เจ้าหน้าที่ก็จะดูว่าเรื่องไหนที่ทำใกล้เสร็จแล้ว จึงส่งมาให้กรรมการป.ป.ช.ตรวจ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ค้างเก่า  มีคดีที่เราพิจารณาแล้วให้ข้อกล่าวหาตกไปเยอะพอสมควร แต่หากมีมูลก็ต้องยืนยันได้ว่าผิดอะไร สามารถส่งอัยการเพื่อให้อัยการพิจารณาสำนวนต่อไป

แจงที่ยิ่งลักษณ์ถูกพิจารณา 15 คดี เป็นเพราะช่วง และจังหวะ

สำหรับประเด็นที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุ ถูกป.ป.ช.พิจารณาคดีถึง 15 คดี ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า อาจจะเป็นเพราะช่วง และจังหวะที่เรื่องต่าง ๆ ของอยู่ในสำนักไต่สวนคดีนักการเมือง ที่เป็นเรื่องใหญ่ ๆ และเกี่ยวข้องกับรัฐมนตรี โดยป.ป.ช.ก็เร่งหมดทุกสำนักทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ
ส่วนที่ ยิ่งลักษณ์มอบทีมทนายความร้องคัดค้านการตั้ง สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช. เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ ถึง 6 คดี นั้น พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า มีหลายกรณีที่คณะกรรมการหยิบขึ้นมาวินิจฉัยตามที่มีการร้องคัดค้าน และยกคำร้องไปหลายเรื่อง แต่มีเรื่องหนึ่งที่ สุภาไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่ก็มีสปิริตว่าได้เข้าไปเกี่ยวข้องในบริบทสมัยที่ดำรงตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงการคลังอยู่ สุภา ก็ขอถอนตัว