วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558

ปลดล็อคกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ มุมมองกูรูสันติภาพ


ปลดล็อคกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ มุมมองกูรูสันติภาพ “ดร.นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส” ผู้นำแนวคิด “แผนที่เดินทางสู่สันติภาพ” มาวิเคราะห์แนวทางการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่ม MARA PATANI
ควันหลงจาก”การประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการพื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนใน” (IPP) เมื่อ 29-30 ส.ค. 2558 ที่คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ดร.นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส นักวิจัยอาวุโส สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) ม.อ.ปัตตานี อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา ม.อ.หาดใหญ่ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้ศึกษาวิจัยความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพในหลายประเทศ ได้นำเสนอแนวคิดว่าด้วย “การสร้างแผนที่เดินทางสู่สันติภาพ” (Peace Roadmap) ขึ้นโดยได้นำมาวิเคราะห์แนวทางการพูดคุยสันติภาพของตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่ม MARA PATANI เมื่อ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ณ ประเทศมาเลเซีย อย่างน่าสนใจ
สัญญาณแห่งความหวัง
ความคลุมเครือของ MARA PATANI เป็นเรื่องปกติ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาปีหรือสองปีกว่าที่อะไรๆ จะชัดเจน อย่างไรก็ตามการเกิดขึ้นของ MARA PATANI ก็เป็นสัญญาณอันดีว่า ขณะนี้กลุ่มฝ่ายตรงข้ามรัฐไทยใช้การต่อสู้ทางการเมือง คือมีความเป็นการเมืองมากขึ้น จากการต่อสู้ด้วยอาวุธเพียงอย่างเดียว ก็ได้ออกมาเปลี่ยนภาพเป็นการใช้ทั้งอาวุธและการพูดคุย ดูแนวโน้มสำหรับผมแล้ว กระบวนการสันติภาพมีแต่จะเดินไปข้างหน้า
แทร็ก 1 ระหว่างตัวแทนสองฝ่าย
ในขณะนี้จากกระบวนการสันติภาพทั้งหมดถือว่ายังอยู่ในขั้นที่1 (Track 1) จากที่มีการริเริ่มการพูดคุยซึ่งข้อตกลงครั้งแรกที่ตัวแทนรัฐบาลไทยไปพูดคุยกับตัวแทน BRN ที่ประเทศมาเลเซียเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2556 ครั้งนั้น BRN ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อ แต่ในวันนี้ MARA PATANI ยื่นข้อเสนอ 3 ข้อ ซึ่งโดยภาพรวมการพูดคุยไม่ได้ต่างจาก 2 ปีที่แล้วมากนัก คือมาเลเซียเป็นฝ่ายจัดการพูดคุย มีฝ่าย MARA PATANI กับ ตัวแทนพูดคุยฝ่ายรัฐไทย และมีทีมผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่าย
แทร็ก 1.5  เพิ่มช่องทาง(ออก)หลังบ้าน
อย่างไรก็ตามมีกลไกหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาในการพูดคุยครั้งนี้ ซึ่งครั้งที่แล้วไม่มี คือการให้มีคณะเลขานุการร่วมขึ้นมา หรือจะใช้ชื่ออะไรก็ตาม โดยให้ทั้งสองฝ่ายส่งคนมาเป็นคณะกรรมการพูดคุยหาทางออก นี่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการพูดคุยสันติภาพ เพื่อหาจุดประนีประนอมกันในแต่ละประเด็น ซึ่งจะเป็นคณะกรรมการที่ดูไม่เป็นทางการ แต่ให้ประสิทธิภาพมากกว่าการพูดคุยที่เป็นทางการที่อาจจะมีหัวโขนของแต่ละฝ่าย รวมถึงในแต่ละฝ่ายก็มีคนอีกมากในฝ่ายของตัวเอง ซึ่งเวลาพูดอะไรก็ต้องเอาใจพวกของตนด้วยกันทั้งสองฝ่าย
การลดความเป็นทางการลงในระดับของคณะเลขานุการร่วม จะทำให้กระบวนการดำเนินไปได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าในคณะเลขานุการร่วมนี้จะมีความเป็นทางการน้อยลงแต่ก็ยังมีความเป็นทางการอยู่พอสมควร คือมีลักษณะเป็น “ช่องทางหลังบ้าน” (Back Chanel) ที่ไม่ใช่การพูดคุยบนโต๊ะ แต่จะมีการจัดการพูดคุยกันอย่างใกล้ชิดหาทางออกแล้วส่งข้อสรุปมาให้กับฝ่ายเจรจาบนโต๊ะอีกที เป็นการปลดล็อคบางอย่างที่การพูดคุยบนโต๊ะไม่สามารถหาทางออกได้ ซึ่งคณะกรรมการต้องเป็นคนที่ทั้งสองฝ่ายไว้วางใจ โดยกระบวนการนี้จะทำไปอย่างคู่ขนานกันกับการเจรจาบนโต๊ะ
ในส่วนของผู้ที่อยู่ข้างหลังทั้งสองฝ่ายก็สำคัญมาก เพราะต่างก็มีทั้งฝ่ายที่สนับและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย การได้รับเสียงสนับสนุนของแต่ละฝ่ายจึงเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญในกระบวนการนี้ ฝ่ายรัฐก็พยายามหาวิธีการให้ได้เสียงสนับสนุนจากประชาชน และดูจากแถลงการณ์ของฝ่าย MARA PATANI ก็เช่นเดียวกัน
Track 2 ภาคประชาสังคม วิชาการ สื่อสาร
ในส่วนของ Track 2 จะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากขึ้น เป็นวิธีดึงคนจำนวนมากเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการ เช่น การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนและนำข้อสรุปความต้องการของประชาชนขึ้นไปยังโต๊ะเจรจาได้ ตั้งคำถามกับประชาชนว่าต้องการเห็นพื้นที่นี้เป็นอย่างไร อยากเห็นทางออกของปัญหาอย่างไร ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการดึงเสียงของประชาชนเข้าไปสู่การตัดสินใจ
ตัวอย่างความสำเร็จและแนวทาง
ในประเทศไอร์แลนด์เหนือ การทำสำรวจความคิดเห็นประชาชนก้าวหน้าขนาดที่ทำควบคู่กันไปกับกระบวนการสันติภาพเลยด้วยซ้ำซึ่งในกระบวนการหากมีประเด็นอะไรที่ต้องตัดสินใจก็จะทำโพลออกมาเลยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจ
การเข้ามีส่วนร่วมภาคประชาสังคมมีแนวทางอยู่สองแนวทาง คือ การขอเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ และสองคือริเริ่มกำหนดกระบวนการขึ้นมาเองว่าจะมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ อยากให้กระบวนการสันติภาพเป็นไปในแนวทางใด
รูปธรรมที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศแอฟริกาใต้ คณะกรรมการสันติภาพท้องถิ่นมีอยู่ทุกอำเภอ และในบางแห่งลงไปถึงระดับหมู่บ้าน เพื่อรวบรวมเสียงของประชาชนว่าคิดเห็นอย่างไรต่อกระบวนการสันติภาพ แล้วส่งขึ้นไปที่ระดับภูมิภาค ส่งไปที่ระดับชาติและส่งไปยังโต๊ะเจรจา
ในประเทศเมียนมาร์ภาคประชาสังคมจัดเวทีสาธารณะเรื่องสันติภาพ มีการตั้งคณะทำงานติดตามความคืบหน้าเรื่องสันติภาพ เวทีแต่ละครั้งทุกๆ สองเดือนก็จะมีผลของการติดตามมาพูดคุยในเวทีด้วย
อีกวิธีคือการจัดสัมมนาเพื่อเรียนรู้กระบวนการสันติภาพในประเทศอื่นๆ วิธีต่อมาคือการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อลอบบี้ ผลักดันแนวทางหรือทางออกของปัญหาโดยสันติ แนวทางต่อมาคือภาคประชาสังคมร่วมกับนักวิชาการส่งให้ข้อมูลความรู้ขึ้นไปยังโต๊ะเจรจา เช่นระบบการศึกษาที่สอดคล้องกับคนในพื้นที่เป็นอย่างไร ภาคประชาสังคมสามารถค้นคว้าขึ้นมาได้จากการทำงานในพื้นที่แล้วนำขึ้นไปบอกบนโต๊ะเจรจาว่านี่เป็นสิ่งที่คนในพื้นที่ต้องการ อีกแนวทางคือการมีกลุ่มล็อบบี้ อาจจะเป็นกลุ่มสตรี หรืออื่นๆ นำเสนอความต้องการขึ้นไป
เมื่อมาถึงประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพ กลไกในการตัดสินใจ เช่นการพูดคุยกัน ทั้งสองฝ่ายจะตัดสินใจสรุปข้อตกลงออกมาเลย หรือจะมีพื้นที่ให้กับประชาชน ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการตกลงกันในการพูดคุย
อีกประเด็นที่จำเป็นต้องคิดคือ กลไกในการจัดการผ่าทางตันซึ่งใน Track 1 จะใช้วิธี “ช่องทางหลังบ้าน” หรือ ใช้ Track 1.5 ในส่วนภาคประชาสังคมก็เช่นกัน หากมีความหลากหลายรวมตัวกันก็อาจมีเรื่องที่ไม่เห็นด้วย ก็ต้องมีกลไกผ่าทางตันหาทางออกร่วมกัน
ความจำเป็นของนานาชาติในฐานะฝ่ายที่ 3
ในฝ่ายที่ 3 ควรจะมีใครบ้าง ขณะนี้ฝ่ายที่ 3 มีมาเลเซียฝ่ายเดียวที่อำนวยความสะดวก ก็มาดูว่าประเทศมาเลเซียประเทศเดียวจะพอมั๊ย หรือจำเป็นจะต้องทำเหมือนในมินดาเนา(ประเทศฟิลิปปินส์) ที่มีหลายๆ ประเทศรวมกลุ่มเข้ามาช่วยสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ ในมินดาเนามี 4 ประเทศรวมกลุ่มกันเข้ามาช่วยมาเลเซีย
ความพร้อมของภาคประชาสังคม
ภาคประชาสังคมจะเข้ามาช่วยอย่างไร ในบางเรื่องภาคประชาสังคมต้องริเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่ตอนนี้ เช่นหากมีข้อตกลงเรื่องการหยุดยิง วันนั้นสองฝ่ายอาจมีความต้องการให้ภาคประชาสังคมเข้ามาเป็นคนกลางคอยตรวจสอบการหยุดยิงก็ได้ ในประเทศเมียนมาร์มีการฝึกฝนภาคประชาสังคม 500 คนจัดตั้งเป็นกรรมการตรวจสอบการหยุดยิง เป็นองค์กรที่มีองค์ความรู้ในเรื่องนี้อย่างดี ภาคประชาสังคมบ้านเราก็สามารถไปเรียนรู้กับเขาได้
ยุติอนารยะของความรุนแรง
สุดท้าย ในส่วนของความรุนแรง จะทำอย่างไรให้ความรุนแรงมีความเป็นอารยะขึ้น คนที่เกี่ยวข้องต้องพยายามคิดค้นให้ได้ว่า ทำอย่างไรให้ทั้งสองฝ่ายตระหนักว่าความรุนแรงนั้นจำเป็นต้องสอดคล้องกับหลักกฎหมายและหลักมนุษยธรรมระหว่างประเทศ คือการไม่ทำร้ายผู้บริสุทธิ์ให้ได้

ส่องค่ายเด็ก ป.4-ม.3 เรียนรู้ชุมชน หลังพี่ทหารพยายามสกัด อ้างไม่สบายใจ

ค่าย เยาวชนฮักบ้านเจ้าของ ตอน นักสืบลำน้ำฮวยแท้ๆแน๊ว ภาพจากเพจคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มอส. 

ผ่านไปแล้วสำหรับค่ายเด็กและเยาวชน ภายใต้ชื่อ “เยาวชนฮักบ้านเจ้าของ ตอน นักสืบลำน้ำฮวยแท้ๆแน๊ว"” ซึ่งเป็นกิจกรรมในโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28-30 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยเป็นค่ายที่มีผู้ร่วมกิจกรรมเป็นเด็กและเยาวชนในพื้นที่ 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย อายุระหว่าง 10-15 ปี หรือ ป.4 ถึง ม.3 และมีพี่เลี้ยงค่าวที่อายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นนักเรียน ม.ปลาย ส่วนเครือข่ายคนรุ่นใหม่ฯ เป็นผู้ช่วยกระบวนการและทักษะวิธีการเรียนรู้ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้เรียนรู้วิถีชีวิต  ภูมิปัญญา ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่ตนเองอยู่
แน่นอนก่อนหน้าที่ค่ายเด็กและเยาวชนนี้จะได้เริ่มก็ปรากฏเป็นข่าวเนื่องจาก ตั้งแต่ปลาย มิ.ย.ที่ผ่านมา ทหารค่ายศรีสองรัก ซึ่งเป็นทหารในพื้นที่อ้างไม่สบายใจ เกรงจะเป็นปลุกปั่นเยาวชนต่อต้านอำนาจรัฐ และพยายามเชื่อมโยงกับ 7 ดาวดิน ได้สั่งห้ามจัดค่ายดังกล่าวไป (อ่านรายละเอียด) ทำให้ค่ายดังกล่าวต้องเลื่อนมาจัดช่วงปลาย ส.ค.ดังกล่าว แต่ก็ถูกพยายามสกัดจากเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่โดยให้ขออนุญาตก่อนที่จะจัด พร้อมทั้งมีมาตรการกดดันจนทำให้ต้องย้ายสถานที่จัดและสร้างความกังวลให้กับผู้ปกครองเด็กที่สมัครเข้าร่วมค่ายจนต้องถอนตัวไปหลายราย (อ่านรายละเอียด)
สันทนาการ-เกมส์
ในโอกาสนี้ ประชาไท จึงได้สัมภาษณ์ วศินี บุญที หนึ่งในทีมค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ และเครือข่ายคนรุ่นใหม่ฯ เพื่อสอบถามถึงรายละเอียดของการจัดค่ายดังกล่าวเพิ่มเติม ว่า กระบวนการค่ายที่จัดเรียนรู้ชุมชนของเด็กที่มาร่วมค่ายประมาณ 40 กว่าคน พี่เลี้ยงประมาณ 4 คน และทีมคนรุ่นใหม่อีกประมาณ 10 คน เป็นกระบวนการที่ต้องทำกับเด็ก ไม่มีอะไรซับซ้อน โดยวันแรก มีกิจกรรมสันทนาการ เล่นเกมส์ ทำความรู้จักกัน เป็นหลัก
กิจกรรมสันทนาการ-เกมส์
นักสืบสายน้ำ สายดิน สายลม เรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว
ขณะที่ช่วงบ่ายวันแรก วศินี เล่าว่าจะเป็นกิจกรรมฐานเรียนสิ่งแวดล้อม มี ฐานดิน ฐานน้ำ ฐานอากาศ ฐานลม เป็นต้นสำหรับฐานดินก็จะเรียนรู้สังเกต ดูสี ดูชนิดของดินง่ายๆ เป็นการออกแบบมาเพื่อเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเขา ฐานลม นักสืบสายลมก็จะดูไลเคน ที่เป็นตัวชี้วัดอากาศ ที่เป็นวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ทำให้สามารถได้เรียนรู้ธรรมชาติ

 

ส่วน ฐานนักสืบสายน้ำ จะสำรวจลำน้ำฮวยที่อยู่บริเวณนั้น ซึ่งไหลผ่าน 6 หมู่บ้าน และผ่านเหมืองแร่ทองคำด้วย เนื่องจากมีต้นน้ำมาจากภูเขา โดยเด็กๆ สวบบทบาทเป็นนักสืบสายน้ำจะไปตักน้ำมาส่องว่าในน้ำมีอะไร มีสัตว์อะไรอยู่บ้าง และดูว่ามันบ่งชี้วัดคุณภาพน้ำอะไรได้บ้าง
วศินี กล่าวเสริมถึงฐานนักสืบสายน้ำว่า แม้ฐานนี้จะถูกโหวตว่าเป็นที่ชื่นชอมของเด็กที่เข้าร่วมค่าย แต่ก็ไม่มีการลงไปเล่นในน้ำ ขนาดให้ตักน้ำมาเด็กๆ ก็ไม่กล้าตัก เพราะกลัวและไม่ใช้น้ำที่นั่น เนื่องจากมีสารโลหะหนักในน้ำ โดยมีประกาศของสาธารณะสุขเอง
เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน ทำแผนที่ชุมชน รู้บ้านตัวเอง
ส่วนวันที่สองนั้น วศินี เล่าว่าจะเป็นกระบวนการเรียนรู้ชุมชน เรียนรู้วิถีชุมชน ก็จะเป็นเรื่องการลงไปชุมชน ให้น้องๆ แบ่งกลุ่มกันแล้วไปหาว่าในชุมชนมีศิลปวัฒนธรรมอะไรบ้าง ชาวบ้านทำอาชีพอะไร ในชุมชนมีทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอะไรบ้าง ภูเขา แม่น้ำ ลำธาร เหมือนรู้จักตัวเอง แล้วก็มีการทำแผนที่ชุมชน เพื่อที่จะให้เขารู้ว่าหมู่บ้านเขานั้นมีอะไรบ้าง
โดยรู้แบบ วศินี อธิบาย ว่า จะเดินแยกย้ายกัน 5 หมู่บ้าน จะไปเจอพ่อๆ แม่ๆ ที่เขาทำทอผ้าไหม ทอผ้าฝ้ายก็มี รวมทั้งทอด้ายเพื่อเอามาทำเป็นถุงย่ามก็มี นอกจากนี้ยังมีการทำความเข้าใจประวัติชุมชนว่าทำไมหมู่บ้านนี้ถึงชื่อนี้ รู้จักและทราบที่มาของชื่อลำธาร ชื่อภูเขา ก็จะมีการบอกเล่าที่มาตำนานของแต่ละชื่อ
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการดูหนังการ์ตูนโทโทโร่เพื่อนรัก(My Neighbor Totoro) ซึ่งพูดถึงสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามทางเครือข่ายคนรุ่นใหม่ ก็จะมีค่ายเยาวชนในพื้นที่ดังกล่าวอีก ส่วนรายละเอียดนั้นยังไม่ได้มีการกำหนดกัน เนื้อหาก็จะลึกขึ้น ยากขึ้น
ภาพเด็กๆ ร่วมดูการ์ตูน โทโทโร่เพื่อนรัก 
คุกคามมากกว่าอุ่นใจ ทหารนอกเครื่องแบบมาถ่ายรูป
วศินี เล่าว่า หลังจากที่เจ้าหน้าที่ทหารพยายามสกัดก่อนทำค่ายนั้น พอลงไปทำกิจกรรมก็ไม่มีอะไร แต่วันสุดท้ายของค่าย(30 ส.ค.58) ซึ่งมีการลงพื้นที่โดยแบ่งน้องเป็นกลุ่มๆ ลงไปแต่ละชุมชน เพื่อเรียนรู้ชุมชนเรียนรู้ภูมิปัญญาและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของชุมนุม โดยระหว่างทางที่เดินก็มีรถกระบะขับมาโดยมีเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบถ่ายภาพเด็ก พี่เลี้ยงและทีมงานค่ายด้วย และสอบถามกับชาวบ้านก็ยืนยันว่าเป็นทหารชุดที่อยู่ที่ผาหนุ่มผาสาวใกล้พื้นที่ จากนั้นเมื่อกลับมาที่วัด ชาวบ้านก็แจ้งว่ามีทหารมาคุยกับเจ้าอาวาสที่วัด พร้อมทั้งพยายามเดินเข้าไปศาลาที่ทำค่ายอยู่ แต่มีชาวบ้านคอยขวางไม่ให้เข้าจึงไม่สามารถเข้ามายังศาลาได้
การที่เจ้าหน้าที่มาถ่ายรูปและพยายามมาดูค่ายในวัดนั้น สังคมบางส่วนอาจมองว่าเป็นการสร้างความอุ่นใจที่มีฝ่ายความมั่นคงมาดูแล แต่สำหรับ วศินี มองว่า ความจริงแล้วพื้นที่ไม่ได้มีความรุนแรงอะไร ถ้าเขารู้การข่าวมีประสิทธิภาพว่าจะเกิดความรุนแรง หากเขารู้ขนาดนั้นก็ควรที่จะจัดการกับคนที่จะใช้ความรุนแรง ไม่ใช่มาทำแบบนี้กับพวกเรา หรือเข้ามาคุยกันตรงๆ กับเราก็ได้ ไม่ใช่มาแบบนอกเครื่องอย่างนี้
“แค่จัดค่ายมันจะมีความรุนแรงอะไร” วศินี ตั้งคำถาม
จากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่พยามเข้ามาแทรกแซงการทำกิจกรรมที่เกิดขึ้นนี้ วศินี บอกว่า รู้สึกว่ามันตลก ไม่รู้ว่าเขาจะกลัวเรามาทำไม ไม่เข้าใจว่ากลัวทำไม ทำไมต้องกลัว
ภาพเด็กนำเสนอแผนที่ชุมชนที่กลุ่มพวกเขาไปทำในค่าย
ยันชี้แจงชัดเจนตั้งแต่ ปลาย มิ.ย. ไม่เข้าใจค่ายเด็กต้องขออนุญาต
วศินี ยืนยันว่าครั้งแรกเมื่อปลาย มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่โดนเลื่อนจัดได้ ก็ลงไปและมีการคุยกันที่โรงเรียนบ้านห้วยผุก ที่มีทั้ง ผอ.โรงเรียน ผู้ใหญ่บ้าน สันติบาล ทหาร ก็มีการคุยและแจ้งชัดแล้วว่าเรามาทำอะไร จะมีเนื้อหาอะไรบ้าง
“เราไม่เข้าใจว่าทำไมการจัดค่ายเยาวชนต้องขออนุญาตฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง” วศินี กล่าว
วศินี ตั้งคำถามกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่า มันมากเกินไปหรือไม่กับแค่ค่ายเยาวชนที่ก็ทำกันมานานแล้ว มีการทำค่ายในลักษณะนี้เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ชุมชนอยู่หลายพื้นที่เป็นปกติอยู่แล้ว ทำไมตอนนั้นไม่ต้องขออนุญาต แต่ตอนนี้กลับต้องขออนุญาต
“ขนาดไหนที่เรียกเป็นภัยต่อความมั่นคง” วศินี ตั้งคำถามทิ้งท้าย

วัฒนาแจ้งความหลังถูกต่อย คาดปมการเมือง โฆษกคสช.เผยเล็งเชิญภูมิธรรมต่อ


วัฒนา แจ้งความ สภ.ปากเกร็ด หลังโดนต่อยที่เมืองทองฯ คาดปมทหารและการเมือง วินธัย ขอวัฒนาอย่าด่วนสรุป เล็งเชิญภูมิธรรมปรับทัศนคติ
14 ก.ย. 2558 ยังคงต่อเนื่องกับการเข้าควบคุมตัวนักการเมืองและผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากเมื่อสัปดาห์ก่อนที่ พิชัย นริพทะพันธุ์ และ การุณ โหสกุล อดีตนักการเมืองพรรคเพื่อไทย ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไปยังค่ายทหาร โดยไม่มีการเปิดเผยสถานที่ ล่าสุด ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเรียกรายงานตัวตั้งแต่เมื่อบ่ายวานนี้(13 ก.ย.58) จนถึงขณะนี้ (12.00 น.) ยังติดต่อไม่ได้ (อ่านรายละเอียด)
วัฒนา แจ้งความ สภ.ปากเกร็ด หลังโดนต่อยที่เมืองทองฯ
วันนี้(14 ก.ย.58) ข่าวสดออนไลน์ เวลา 11.30 น. วัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แกนนำพรรคเพื่อไทย เข้าแจ้งความเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี กรณีถูกชายฉกรรจ์ผมเกรียน เข้ามาลอบทำร้ายเมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยมี พ.ต.อ.ฤทธินันท์ ปุ้ยพันธวงศ์ ผกก.สภ.ปากเกร็ด พ.ต.อ.มานะ เทียนเมืองปัก พงส.ผทค. สภ.ปากเกร็ด รับแจ้งความ
วัฒนา กล่าวว่า จากกรณีที่ถูกลอบทำร้ายจากชายฉกรรจ์ตัดผมเกรียนเมื่อช่วงเย็นวันที่ 12 ก.ย. ส่วนตัวเชื่อว่าต้องมีคนออกมาปฏิเสธว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับทหารและการเมือง ซึ่งก็เป็นความจริง เพราะในที่สุดเสนาธิการทหารบกก็ได้ออกมาปฏิเสธว่า ทหารไม่ทำร้ายร่างกายใครอย่างแน่นอน และดูแลความปลอดภัยให้ทุกคนอยู่แล้ว แต่ส่วนตัวเชื่อว่าทหารมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุทำร้ายตนอย่างแน่นอน
"ผมมีหลักฐานและต้องการคำตอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้เป็นหัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี" วัฒนากล่าว
โดย ไทยรัฐออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ถึงความเห็นของ วัฒนา ต่อกรณีที่เกิดขึ้น โดย วัฒนา กล่าวว่า เมื่อทุกคนทราบเรื่อง ต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากเรื่องการเมือง เนื่องจากตนไม่มีปัญหาส่วนตัวกับใคร แต่ในระยะหลังได้ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างหนักหน่วง อาจเป็นฝีมือคนเห็นต่างก็เป็นได้
วินธัย ขอวัฒนาอย่าด่วนสรุป เล็งเชิญภูมิธรรมปรับทัศนคติ
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานด้วยว่า วันเดียวกัน(14 ก.ย.58) พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่ วัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ ระบุว่าถูกทหารทำร้ายร่างกาย ที่สนามซ้อมฟุตบอลเมืองทองธานี เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมาว่า เรื่องดังกล่าวคงต้องมีรายละเอียดมากกว่านี้ เพราะในพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีคนไปพักผ่อนและดูกีฬาเป็นจำนวนมากในทุกสาขาอาชีพ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องความไม่พอใจส่วนตัว หรืออาจเป็นความผิดปกติของบุคคลกระทำ หรือจะด้วยแรงจูงใจอะไรคงเป็นไปได้หลากหลาย ต้องมีรายละเอียดเพิ่มเติม ทั้งนี้ ขอร้องนายวัฒนาอย่าเพิ่งกล่าวพาดพิงถึงองค์กรใดองค์กรหนึ่ง เพราะจะดูไม่เป็นธรรมกับหน่วยงานนั้นๆ อย่างไรก็ตาม ขอให้มั่นใจในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐในปัจจุบัน ที่ทุกอย่างยังเป็นไปตามช่องทางตามระบบราชการ ส่วนที่มีการกล่าวถึงข้าราชการทหารที่อยู่ในบริเวณนั้น ทางหน่วยต้นสังกัดคงจะได้สอบถามเพื่อขอทราบในรายละเอียดต่อไป
"เชื่อว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ทุกคนมีแฟนคลับกันทั้งนั้น ใครเกลียดใครหรือรักใครเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดา ส่วนที่ วัฒนาจะเดินทางไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นถือว่าเป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้ หากถูกทำร้ายร่างกาย แต่ยังไม่อยากให้พาดพิงถึงหน่วยงานหรือองค์กร ขอให้รอให้มีความชัดเจนมากกว่านี้ในเรื่องข้อมูล ซึ่งอาจจะเป็นคนที่แต่งตัวเลียนแบบคล้ายกับทหารก็ได้ แต่ถึงแม้ว่าเป็นทหารจริงทางหน่วยต้นสังกัดก็ต้องดำเนินการอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วง ขอให้มั่นใจว่า คสช.ไม่ทำในสิ่งที่นายวัฒนากังวล เพราะก่อนหน้านี้ก็เรียกมาพูดคุยหลายครั้งแล้ว ส่วนกรณีที่ ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และอดีตรมช.คมนาคม ออกมาแสดงความคิดเห็นกรณีที่คสช.เชิญตัว พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมว.พลังงาน และ การุณ โหสกุล หรือเก่ง อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย ตลอดจนวิพากษ์วิจารณ์กรณีนายวัฒนานั้น ทางคสช.กำลังพิจารณาอยู่ว่าคำพูดเข้าข่ายที่จะเชิญตัวมาพูดคุยเพื่อปรับทัศนคติด้วยหรือไม่" พ.อ.วินธัย กล่าว

โพสต์ระดมคนไทยในเมกา ปกป้องประยุทธ์ หลังองค์กรสิทธิเตรียมประท้วงกลางที่ประชุม UN


หลังจากเมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชนสากล (Human Rights Watch) ให้สัมภาษณ์กับ Thaivoicemedia โดยกล่าวถึงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาร่วมประชุมสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 23 ก.ย. - 1 ต.ค. นี้ ที่นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ว่า นิวยอร์ค เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ Human Rights Watch อยู่แล้ว ดังนั้นการเดินทางเยือนยูเอ็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จะได้รับการประท้วงทั้งการตั้งคำถามในที่ประชุม และการต่อต้านนอกห้องประชุม เกี่ยวกับการริดรอน ละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุด โดยข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้นำรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยส่งถึง บัน คีมูน เลขาธิการยูเอ็นแล้ว ดังนั้นจะมีสมาชิกในที่ประชุมจะถาม พล.อ.ประยุทธ์ในเรื่องนี้ ขณะที่ภายนอกห้องประชุมก็จะมีกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชนทั่วโลกที่จะรอพบ พล.อ.ประยุทธ์เพื่อซักถามอย่างไม่ประนีประนอม ดังนั้นไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเดินทางมาจริงหรือไม่ หรือจะส่งตัวแทนมา ก็จะเจอการประท้วงต่อต้านและซักถามอย่างแน่นอน
ล่าสุดวันนี้(14 ก.ย.58) เมื่อเวลา 11.35 น. ผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชีชื่อ ‘สุวรรณ วงษ์กัณหา‎’ โพสต์ในเฟซบุ๊กกลุ่ม ‘สีสัน"การเมือง’ ในลักษณะสาธารณะ ระบุว่า ด่วนมากขอเชิญคนไทยที่อยู่ในเมืองนิวยอร์ค และทุกรัฐในสหรัฐอเมริกา ให้รีบระดมพลรวมตัวกันไปช่วยปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ ซึงจะต้องไปร่วมประชุมสหประชาชาติดังกล่าว
พร้อมระบุด้วยว่า หากว่าท่านไม่ไปช่วยปกป้องนายกก็เหมือนกับพวกท่านปล่อยให้นายกถูกพวกฝูงหมาป่าฮายีน่ารุมทึ่งท่านแต่เพียงคนเดียว อย่าปล่อยให้ท่านเดียวดายถูกพวกหมาป่ารุมกัด เพื่อเป็นการปกป้องเกียรติยศของคนไทยผู้รักชาติอย่างแท้จริง 
ที่มา : เฟซบุ๊กกลุ่ม ‘สีสัน"การเมือง’ 

'ประวิตร นักข่าวเนชั่น' ถูกเรียกเข้าค่ายตั้งแต่บ่ายวันอาทิตย์-ยังติดต่อไม่ได้


14 ก.ย. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเรียกรายงานตัวที่กองทัพภาคที่ 1 ตั้งแต่เมื่อบ่ายวานนี้ จนถึงขณะนี้ (12.00น.) ยังติดต่อไม่ได้
ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ว่า เช้าวานนี้ได้รับการติดต่อจากประวิตรว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารติดต่อให้เข้าพบในช่วงบ่ายวันอาทิตย์โดยไม่ได้แจ้งรายละเอียดใดๆ แม้ว่าประวิตรจะถามว่าต้องเตรียมเสื้อผ้าไปด้วยหรือไม่ ก็ไม่ได้รับคำตอบ
ภาวิณี เล่าว่า ต่อมา เวลาประมาณ 14.00 น. ตนเอง พร้อมด้วยปกป้อง เลาวัณย์ศิริ เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน สำนักข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จึงเดินทางไปที่กองทัพภาคที่ 1 กับประวิตร แต่เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่ทหารให้ประวิตรฝากโทรศัพท์มือถือไว้ที่ผู้ติดตาม รวมถึงไม่อนุญาตให้ผู้ติดตามเข้าไปข้างในค่ายและไม่ให้รอด้วย
ภาวิณี กล่าวว่า ต่อมา เวลาประมาณ 16.00 น. ตนเองและเจ้าหน้าที่จากยูเอ็น ได้เดินทางกลับไปที่ค่ายเพื่อสอบถามอีกครั้ง ได้คำตอบจากเจ้าหน้าที่ทหารว่า ประวิตรถูกนำตัวไปอีกที่หนึ่ง แต่ไม่ทราบว่าเป็นที่ใด
ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันเสาร์ เจ้าหน้าที่ทหารสองนายได้เดินทางไปที่บ้านของประวิตรซึ่งเขาไม่ได้อยู่ที่นั่นแล้ว ทำให้เกิดคำถามว่า หากเจอกันที่บ้านตั้งแต่วันเสาร์ คงจะไม่ได้เป็นข่าวแบบนี้หรือเปล่า อย่างกรณีของเก่ง การุณ ที่มีการควบคุมตัวไปจากบ้าน
ทั้งนี้ ภาวิณีระบุว่า ประวิตรมีสีหน้ามีกำลังใจดี โดยได้เตรียมเสื้อผ้าและหนังสือเข้าไปด้วย อย่างไรก็ตาม เธอระบุว่า ไม่มีการให้รายละเอียดของการเรียกตัวครั้งนี้ว่าเพราะเหตุใด ส่วนตัวคาดว่าอาจจะมาจากการแสดงความเห็นของประวิตรในฐานะสื่อ ซึ่งก็เป็นการทำหน้าที่ปกติ อย่างไรก็ตาม ไม่คิดว่าจะมีการคุมตัวไว้ หากอยากจะเตือนก็น่าจะปล่อยกลับได้ในวันเดียวกัน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 12.00 น. ได้ติดต่อสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ทหารจากกรมยุทธการที่ติดต่อประวิตร ได้รับคำตอบว่า ไม่ทราบรายละเอียดใดๆ และทำหน้าที่เพียงเชิญตัวเท่านั้น
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ประวิตร ทวีตว่า "ทหารสองนายไปหาผมที่พักแต่ผมไม่อยู่ #คสช มีเบอร์ผม โทรได้เสมอ ผมไม่หนีไปไหนแน่! #ป #คสช #เสรีภาพ #เผด็จการ"
ทวีตล่าสุดของเขาเมื่อวันที่ 13 ก.ย. เวลา 14.00 น. คือ "เสรีภาพย่อมหมดไปในที่สุดหากเรามิกล้าปกป้อง #ป #เสรีภาพ" "Freedom can't be maintained if we're not willing to defend it. #Thailand #ป"
ก่อนหน้านี้ เขาถูกเรียกรายงานตัวตามคำสั่ง คสช.ที่ 6/2557 หลังการรัฐประหาร 2 วัน และถูกควบคุมตัวไว้ในกองพลพัฒนาที่ 1 จ.ราชบุรี เป็นเวลา 7 วัน
อนึ่ง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คสช.คุมตัว พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและ การุณ โหสกุล อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย จากการวิจารณ์ คสช. โดยระบุเป็นการนำตัวไป "ปรับทัศนคติ" 
 

เนชั่น เรียกร้องให้ปล่อยประวิตรโดยทันที
ด้านเว็บไซต์สำนักข่าวเดอะเนชั่นรายงานว่า หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น เรียกร้องให้ปล่อยประวิตร โรจนพฤกษ์ โดยทันที
เทพชัย หย่อง บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่นกรุ๊ป กล่าววานนี้ว่า เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประวิตรโดยทันที
"ไม่มีการให้เหตุผลว่าคุมตัวเขาไว้เพราะเหตุใด ถ้ากองทัพเชื่อว่า เขาทำอะไรผิด ก็สามารถใช้ช่องทางตามกฎหมายปกติดำเนินการกับเขาได้" เทพชัยกล่าวและว่า "เรามองว่านี่คือการคุกคามเสรีภาพสื่อโดยตรง"
เนชั่นระบุด้วยว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาได้ติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่ที่เรียกประวิตรเข้าพบเพื่อสอบถามรายละเอียด เหตุผลในการคุมตัวและสถานที่คุมตัว อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวปฏิเสธจะให้ข้อมูลใดๆ โดยกล่าวแต่เพียงว่าเขาทำหน้าที่เชิญประวิตรเท่านั้น และว่า มีเพียง คสช.ที่จะให้รายละเอียดได้ 
นอกจากนี้ เมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา เนชั่นได้ติดต่อไปยัง พันเอกวินธัย สุวารี โฆษก คสช. ซึ่งเขาระบุว่ายังไม่ได้รับรายงานเรื่องการควบคุมตัวประวิตรแต่อย่างใด ทั้งนี้เขาจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมในภายหลัง

สมาคมสื่อไทย-เทศ เรียกร้องปล่อยตัว 'ประวิตร' ทันที


โฆษก คสช. แจงคุมตัวประวิตร เพราะเสนอข้อมูลไม่เป็นไปตามแนวทาง 'รักษาความสงบเรียบร้อย' ส่วนสมาคมนักข่าวไทยเรียกร้องรัฐบาล-คสช.ทำความชัดเจนควบคุมตัวผู้สื่อข่าวเดอะเนชั่น ด้านสมาคมนักข่าวตปท.ระบุคุมตัวบุคคลเพราะแสดงความเห็นโดยสงบ ละเมิดกม.ที่ไทยให้สัตยาบันไว้
14 ก.ย. 2558 ด้านเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. กล่าวถึง กรณีที่ คสช.เชิญนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวเนชั่นว่า เป็นการนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นไปตามแนวทางการรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งในช่วงหลังเริ่มพบบ่อยครั้ง โดยบางครั้งอาจมีเนื้อหาที่มีลักษณะเข้าข่ายไปพาดพิงบุคคลหรือองค์กรอื่น หรือในเนื้อหาที่อาจส่งผลให้สังคมสับสนเข้าใจผิดได้ ที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ ที่ชัดเจน
พ.อ.วินธัย ระบุว่า ขณะนี้คงอยู่ในระหว่างการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ส่วนจะใช้เวลาเท่าไรต้องขึ้นอยู่กับผลสอบสวน ความร่วมมือ และหลักฐานที่เจ้าหน้าที่มีอยู่ ทั้งนี้เชื่อว่าทุกขั้นตอนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ และเป็นไปตามพยานหลักฐานที่พบอย่างมีเหตุมีผล ทั้งนี้เพื่อการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ไม่นำไปสู่ความสับสนหรือ เกิดความขัดแย้งของบุคคล กลุ่มหรือองค์กรต่างๆ ในสังคม
"คสช.จำเป็นต้องขอความร่วมมือทุกส่วน อะไรที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้เกิดความไม่เรียบร้อยขึ้นในสังคม ยังคงต้องระมัดระวังให้มาก ทั้งนี้เพื่อให้สังคมมีความเรียบร้อย เพื่อสนับสนุนกระบวนการเดินหน้าประเทศมีความต่อเนื่อง" พ.อ.วินธัย กล่าว

สมาคมสื่อไทยร้องปล่อยประวิตร-แจงเหตุคุมตัวต่อสาธารณะ
มานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ และโฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีทหารกองทัพภาคที่ 1 ควบคุมตัวนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส เดอะเนชั่นว่า สมาคมนักข่าวฯ ขอเรียกร้องให้กองทัพภาคที่ 1 ชี้แจงเหตุผลในการควบคุมตัวนายประวิตรไปโดยยังไม่ทราบสถานที่ควบคุมตัว และนายประวิตรไม่ได้รับอนุญาตให้นำโทรศัพท์ติดตัวไปด้วย ทำให้ไม่สามารถทราบความเคลื่อนไหวและความเป็นอยู่ของนายประวิตรได้นับตั้งแต่คุมตัวไปเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา
มานพ กล่าวว่า การดำเนินการของฝ่ายความมั่นคงที่กระทำต่อสื่อมวลชน พึงกระทำด้วยความระมัดระวัง แม้จะมีอำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ ที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศไว้ก็ตาม แต่บทบาทของนายประวิตร ที่มีฐานะเป็นสื่อมวลชนย่อมจะต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเป็นปกติ การควบคุมตัวนายประวิตรโดยไม่แจ้งสาเหตุหรือมีการแจ้งความดำเนินคดีใดๆ ย่อมไม่ส่งผลดีต่อประเด็นสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไทย และสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนชาวไทยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 4 ได้ให้การรับรองไว้
โฆษกสมาคมนักข่าวฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศที่ตกต่ำลงในด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยขอสนับสนุนแถลงการณ์ของเครือเดอะเนชั่น ที่ขอให้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติปล่อยตัวนายประวิตรในทันที และให้ทำความกระจ่างเรื่องการควบคุมตัวนายประวิตรต่อสาธารณชน รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการดำเนินการในประเด็นที่อ่อนไหวต่อสังคม เพราะการใช้อำนาจของฝ่ายความมั่นคงต่อผู้ที่เห็นต่าง โดยเฉพาะสื่อมวลชนเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศ และสมาคมนักข่าวฯ ขอเรียกร้องให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนได้ตระหนักและยึดมั่นในจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอย่างเคร่งครัด การแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นสาธารณะพึงคำนึงถึงความครบถ้วน รอบด้าน และเป็นธรรมกับทุกฝ่ายในสังคม
 
FCCT ชี้คุมตัวบุคคลเพราะแสดงความเห็นโดยสงบ ละเมิดกม.สิทธิ
ด้านสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ออกแถลงการณ์ แสดงความกังวลกรณีประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวเดอะเนชั่น ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหาร
FCCT ระบุว่า การควบคุมตัวผู้สื่อข่าวหรือใครก็ตามเพราะการแสดงความเห็นอย่างสงบ เป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยได้ให้สัตยาบันไว้
ทั้งนี้ FCCT เห็นด้วยกับแถลงการณ์ของเดอะเนชั่น ที่เทพชัย หย่อง บรรณาธิการอำนวยการเดอะเนชั่น ระบุว่า "ไม่มีการให้เหตุผลว่าคุมตัวเขาไว้เพราะเหตุใด ถ้ากองทัพเชื่อว่า เขาทำอะไรผิด ก็สามารถใช้ช่องทางตามกฎหมายปกติดำเนินการกับเขาได้"

FCCT เรียกร้องให้ คสช.ปล่อยประวิตร โรจนพฤกษ์โดยทันที รวมถึงเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวเขาต่อสาธารณะด้วย