วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ทบ. เสียใจเหตุทหารทำร้ายผู้ต้องหาที่เกาะล้าน แม้จะเป็นการกระทำของทหารเพียงคนเดียวก็ตาม




Published on Fri, 2017-08-18 13:53


         พ.อ.หญิง ศิริจันมร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก แถลงกรณีทหารทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาคดียาเสพติดขณะจับกุม ระบุกองทัพสั่งจำคุก 15 วัน พร้อมขอโทษญาติผู้ต้องหาแล้ว แจงเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมของกำลังพลเพียงคนเดียวก็ตาม



          เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2560 มติชนออนไลน์ รายงานว่า พ.อ.หญิง ศิริจันมร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีที่มีเผยแพร่คลิปทหารทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาคดียาเสพติดที่เกาะล้าน จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ซึ่งได้ถูกเผยแพร่ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจแหม่มโพธิ์ดำ เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ว่า กองทัพบกตรวจสอบข้อมูลเบื้อง พบว่าเหตุการณ๋ดังกล่าวเกิดขึ้นในระหว่างการควบคุมผู้ต้องหาคดียาเสพติด โดยเป็นการปฏิบัติภารกิจร่วมกันของทหารชุดรักษาความสงบเรียบร้อยประจำพื้นที่เกาะล้าน , สถานนีตำรวจภูธรเมืองพัทยา และฝ่ายปกครองในพื้นที่ ในการเข้าตรวจค้นยาเสพติดในชุมชนบนเกาะล้าน จากการตรวจค้นดังกล่าวสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 3 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดีตามกฎหมาย



          พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวต่อว่า ในระหว่างที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาได้เกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารแสดงพฤติกรรมส่วนบุคคลที่ไม่เหมาะสมตามที่ปรากฎในคลิป หน่วยต้นสังกัดจึงได้ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยในขั้นต้นได้สั่งให้ชุดรักษาความสงบเรียบร้อยประจำพื้นที่เกาะล้านพ้นจากการปฏิบัติงานในพื้นที่ และสั่งจำขัง(จำคุก)กำลังพลที่ปรากฎในคลิปเป็นเวลา 15 วัน พร้อมกันนี้หน่วยฯ ได้ประสานกับญาติของผู้ต้องหา เพื่อขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้เรียกกำลังพลทุกส่วนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ดังกล่าว มาดำเนินการปรับปรุงวินัย และย้ำให้ปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายกองทัพบกบนพื้นฐานของหลักกฎหมาย และมนุษยธรรมโดยเคร่งครัด

         “กองทัพบกขอแสดงความเสียใจ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมของกำลังพลเพียงคนเดียวก็ตาม และขอย้ำว่ากองทัพบกไม่มีนโยบายให้กองกำลังพลใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขตกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติงานในภารกิจใดๆ ก็ตาม” รองโฆษกกองทัพบกกล่าว

ประวิตร เข้ารับทราบข้อหากับ ปอท. หลังโดนแจ้ง 116-พ.ร.บ.คอมฯ อีกคดี



Published on Fri, 2017-08-18 18:58


          ประวิตร โรจนพฤกษ์ เข้ารับทราบข้อหากับ ปอท. หลังโดนแจ้งข้อหา ม.116-พ.ร.บ.คอมฯ อีกคดีเหตุโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นต่อคสช. เจ้าตัวยันโพสต์ตามสิทธิที่ประชาชนพึงมี ยันไม่ได้ปลุกปั่น


           18 ส.ค. 2560 สำนักข่าว มติชนออนไลน์ และรายงานว่า ประวิตร โรจนพฤกษ์ ข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ (Khaosod English) พร้อมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาและชี้แจง กรณีถูกหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ ปอท.ในข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 และนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เนื่องจากได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว วิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด โดยปรากฏรูปภาพที่แสดงท่าทีไม่เหมาะสม และแสดงความคิดที่มีผลกระทบต่อรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยประวิตรได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองข้อหาในวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา หลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งความตั้งแต่ 2 ส.ค. 60

           รายงานข่าวระบุด้วยว่า การเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในวันนี้ (18 ส.ค.60) มีแอนดรูว์ อาร์มสตรอง เลขานุการโท เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา พร้อมเจ้าหน้าที่ไทยประจำสถานทูตเข้าร่วมสังเกตการณ์รับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ เนื่องจากสนใจในเรื่องของสิทธิของประชาชนที่ได้รับจากรัฐบาลไทย

          ประวิตร กล่าวว่า การโพสต์ข้อความดังกล่าวนั้น เป็นไปตามสิทธิของประชาชนที่มี สามารถจะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลได้ ยืนยันว่าไม่ได้ยุยงปลุกปั่น หรือสร้างความเคลื่อนไหวของมวลชนกรณีการโพสต์ถึงการตัดสินคดีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

          สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้(18 ส.ค.60) พ.ต.ท.กฤช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา รองผกก. (สอบสวน) กก 3 บก.ปอท. และร.ต.อ.หญิง วลัญชรัชฎ์ คำแก่น รองสว. (สอบสวน) กก 3 บก.ปอท. เป็นพนักงานสอบสวนผู้แจ้งข้อกล่าวหาในคดีที่สองต่อ ประวิตร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 (2), (3), (5) โดยพนักงานสอบสวนพิจารณาเป็นกรรมเดียวกัน เนื่องจากเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกัน

          ศูนย์ทนายฯ รายงานด้วยว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากกรณีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวจำนวน 5 ข้อความ โดยเป็นโพสต์ข้อความภาษาไทยและภาษาอังกฤษระหว่างวันที่ 21-29 กรกฎาคม 2560 โดยจากเนื้อหาแยกเป็น 2 ข้อความที่โพสต์แสดงความคิดเห็นต่อการตัดสินคดีจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีก 2 ข้อความเป็นการแสดงความคิดเห็นเรื่องการจัดการปัญหาน้ำท่วมภาคอีสานของคสช. และอีก 1 ข้อความเป็นการแสดงความคิดเห็นต่อกรณีผู้สื่อข่าวที่เข้าไปตรวจสอบโกดังเก็บข้าวที่อ่างทอง และถูกเจ้าหน้าที่ทหารข่มขู่จะยึดกล้อง โดยกล่าวหาว่าข้อความต่างๆ ดังกล่าวเป็นข้อความอันเป็นเท็จ ที่อาจทำให้ประชาชนที่พบเห็นเกิดความกระด้างกระเดื่องต่อการปกครองของรัฐบาลปัจจุบัน (คสช.) หรือหัวหน้าคณะรัฐบาลปัจจุบัน และก่อความไม่สงบขึ้นในประเทศได้

         ประวิตร ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และประสงค์จะยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อพนักงานสอบสวนต่อไป


        สำหรับประวิตร ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 เขาเคยถูกควบคุมตัวไปแบบไม่สามารถติดต่อกับคนอื่นได้เพื่อ 'ปรับทัศนคติ' ถึง 2 ครั้งหลังแสดงความเห็นที่ถูกตีความว่ากระทบกับรัฐบาล คสช. และกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในปี 2557 และ 2558 เดิมทำงานเป็นผู้สื่อข่าวที่สำนักข่าวเดอะ เนชั่น แต่ถูกเชิญออกหลังจากถูกเรียกเข้าค่ายทหารครั้งที่สองเมื่อปี 2558 จากนั้นประวิตรจึงย้ายมาทำงานที่ข่าวสดอิงลิช

           เมื่อ 18 ก.ค. 2560 คณะกรรมการคุ้มครองสื่อแห่งมหานครนิวยอร์ก (The Committee to Protect Journalists) มอบรางวัลเสรีภาพสื่อนานาชาติประจำปี 2017 ให้กับนักข่าว 4 คน โดยหนึ่งในนั้นคือ ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสจากข่าวสดอิงลิช ที่ได้รับเกียรติจากทางคณะกรรมการฯ ร่วมกับนักข่าวอีก 3 คนจากแคเมอรูน เม็กซิโก และเยเมน แถลงการณ์ระบุถึงประวิตรว่าเป็น "นักข่าว นักวิพากษ์ และนักรณรงค์ด้านเสรีภาพสื่อ ถูกคุกคามโดยรัฐบาลและถูกคุมขัง 2 ครั้งในช่วงไม่กี่ปีนี้จากการทำข่าวประเด็นการเมืองและสิทธิมนุษยชน”

          ทอดด รุยซ์ บรรณาธิการข่าวสดอิงลิชที่ประวิตรสังกัด ได้ออกมาแถลงต่อคดีนี้ ระบุว่า ตนยืนยันว่าประวิตรและประชาชนทุกคนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองในรัฐธรรมนูญ และขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยรายละเอียดแก่ประวิตรว่า ใครเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาให้ตำรวจดำเนินการกับประวิตร

"นี่คือการคุกคามประวิตรอย่างเห็นได้ชัด" ทอดด์กล่าว


          คณะกรรมการนิติศาสตร์สากลหรือไอซีเจ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยยุติการใช้กฎหมายคุกคามการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประวิตร หลังจากที่องค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็นเรียกร้องไทยยุติการใช้บทบัญญัติทางอาญารวมถึงความผิดฐานยุยงปลุกปั่นเป็นเครื่องมือในการกดขี่การแสดงความคิดเห็นของผู้เห็นต่างหรือการแสดงความไม่เห็นด้วย และใช้ทุกมาตรการเพื่อยุติการดำเนินคดีกับคนเหล่านั้นจากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

          เมื่อ 7 ส.ค. องค์กรสื่อไร้พรมแดน (Reporter Without Borders - RSF) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ภาครัฐเพิกถอนกระบวนการทางอาญาที่กำลังดำเนินอยู่กับประวิตร “ผู้สื่อข่าวที่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาได้ถูกทำร้ายซ้ำไปซ้ำมาเพียงเพราะเขาแสดงความเห็นของเขาและปกป้องเสรีภาพในการให้ข้อมูลจนถึงกับทำให้เขาต้องออกจากงานเดิมที่สำนักข่าวเดอะเนชั่น ถึงเวลาแล้วที่ทางการจะตระหนักว่าเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพสื่อคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่สามารถถูกกดปราบในลักษณะนี้ โดยเฉพาะวิธีการนำตัวผู้บริสุทธิ์มาลงโทษ”

         4 ส.ค. 2560 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่าความพยายามของทางการไทยที่จะใช้กระบวนการทางอาญา เพื่อคุกคามผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในรูปแบบต่างๆ ยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติลง โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีคนไทยหลายสิบคนถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา เพียงแค่พวกเขาออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างสงบทั้งในการชุมนุมหรือผ่านโซเชียลมีเดีย

กรุงเทพโพลล์ระบุ 3 ปีรัฐบาลประยุทธ์ ได้ 5.27 ลดลงทุกด้าน




Published on Sat, 2017-08-19 16:53


            19 ส.ค.2560 กรุงเทพโพลล์ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ประเมินผลงาน 3 ปี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ด้วยเหตุที่เดือนสิงหาคม 2560 นี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บริหารประเทศครบ 3 ปี โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,216 คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พบว่า

            ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจในการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วง 3 ปี เฉลี่ย 5.27 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ซึ่งลดลงจากการประเมินการทำงานรอบ 2 ปี 6 เดือนที่ได้ 5.83 คะแนน และรอบ 2 ปี ที่ได้ 6.19 คะแนน โดยการสำรวจครั้งนี้รัฐบาลได้คะแนนลดลงทุกด้าน

           สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วง 3 ปี ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจ เฉลี่ย 7.00 คะแนน ซึ่งลดลงจากการประเมินรอบ 2 ปี 6 เดือน ที่ได้ 7.40 คะแนน และรอบ 2 ปี ที่ได้ 7.57 คะแนน โดยการสำรวจครั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้คะแนนลดลงทุกด้าน

         ส่วนเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลปฏิรูปให้สำเร็จก่อนจัดให้มีการเลือกตั้งมากที่สุด พบว่า ร้อยละ 32.5 ระบุว่าทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นและมีความมั่นคงกว่านี้ รองลงมามาร้อยละ 12.8 ระบุว่าให้ปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งในวงราชการและการเมือง และร้อยละ 10.0 ระบุว่าให้ดูแลราคาสินค้าเกษตรเช่น ข้าว ยางพารา ไม่ให้ตกต่ำ

แม่ทัพภาค 3 ปัดจับแกนนำเกษตรกรเชียงใหม่-ลำพูน เซ็นสัญญาไม่ขนคนเชียร์ยิ่งลักษณ์



Published on Sat, 2017-08-19 17:57


          ประธานสมาพันธ์เกษตรกรเชียงใหม่-ลำพูน เผยถูกเจ้าหน้าที่ขอความร่วมมือแกมบังคับเซ็นยินยอมไม่ให้นำมวลชนไปให้กำลัง ยิ่งลักษณ์ ด้าน แม่ทัพภาค 3 ย้ำแกนนำ-แฟนคลับไปคนเดียวเชียร์ อย่าชวนชาวบ้าน-หลอกคนแก่ หวั่นละเมิดอำนาจศาล ยันทหารไม่มีเซ็นสัญญา


           19 ส.ค.2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา จำรัส ลุมมา ประธานสมาพันธ์เกษตรกรเชียงใหม่-ลำพูน ในฐานะแกนนำเกษตรกรผู้ปลูกข้าวออกมาเปิดเผยถึงกรณีเซ็นหนังสือยินยอม ให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ไม่ให้นำมวลชนไปให้กำลัง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก่อนศาลตัดสินคดีจำนำข้าว วันที่ 24-25 ส.ค.นี้ ที่กรุงเทพฯ นั้น

          ล่าสุดวันนี้ (19 ส.ค.60) กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.กองทัพภาคที่ 3 ) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ตนขอยันว่ากรณีดังกล่าวไม่เป็นความจริงแน่นอน เพราะเท่าที่ตรวจสอบแล้วพบว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ดำเนินการในลักษณะนั้น และยิ่งเป็นคนเมืองด้วยกันเขาพูดคุยกันด้วยวาจาก็รู้เรื่อง เข้าใจกันมากกว่าทำหนังสือตกลง ขณะเดียวกันทางการข่าวในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 พบว่าจะมีแกนนำขนมวลชนไปให้กำลังใจ ยิ่งลักษณ์ ด้วยเช่นกัน แต่ตนขอร้องว่าถ้าพวกท่านเป็นแกนนำ เป็นแฟนคลับตัวจริง รักใคร่ชอบคอกัน จะเดินทางไปกรุงเทพฯ ตนอยากให้ไปคนเดียว หรือสองคน เราก็ไม่ว่า ไม่ได้ห้ามปรามอะไร แต่ขอร้องอย่าชวนชาวบ้าน เด็กเล็ก คนเถ่าคนแก่ ไปด้วยเลย จะชวนเขาไปลำบากทำไม

         "ผมขอร้องพวกท่านอย่าไปแอบอ้าง หลอกลวงคนแก่ คนสูงอายุ ว่าไปโน่นไปนี่ แล้วให้กำลังใจนางสาวยิ่งลักษณ์ที่กรุงเทพ อย่างนี้มันไม่ดี ผมกลัวว่าเดี๋ยวจะกลายเป็นไปละเมิดอำนาจศาล มันจะยุ่ง เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่ เพราะพื้นที่ตรงนั้นเป็นเขตพื้นที่อำนาจศาล จึงไม่อยากให้โดนข้อหารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งถ้าพวกแกนนำอยากไปก็ไปกันเอง จะนั่งเครื่องบินไป นั่งรถไฟ นั่งรถยนต์กันไป ก็ไม่เป็นไร แต่อย่าเอาลูกบ้านไปลำบากด้วยเลย เราไม่ได้ห้าม เพียงแค่ขอความร่วมมือ" พล.ท. วิจักขฐ์ กล่าว

          สำหรับการเปิดเผยของ ประธานสมาพันธ์เกษตรกรเชียงใหม่-ลำพูน ในฐานะแกนนำเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ดังกล่าวนั้น มติชนออนไลน์รายงานว่า จำรัส ยอมรับว่าเซ็นหนังสือจริง แต่เป็นการขอความร่วมมือแกมบังคับ ข่มขู่ ขืนใจเพราะมีตำรวจ (สารวัตรแม่แฝก) และทหาร 7-8 นาย พร้อมรถยนต์ 3 คัน บุกเข้ามาที่บ้าน โดยไม่มีหมายค้น พร้อมขอให้เซ็นหนังสือยินยอมดังกล่าว ตอนแรกตนขอให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้บันทึก แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมลงบันทึกเอง กลับบอกให้ตนเป็นผู้เขียนหนังสือดังกล่าวด้วยลายมือตนเอง ตามคำบอกของเจ้าหน้าที่ (สารวัตรแม่แฝก) เป็นการชี้นำ เพื่อให้ดูว่าตนเองยินยอมเซ็นหนังสือดังกล่าวด้วยความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ ขู่เข็ญอย่างใด เหตุเกิดช่วงเวลา 11.00 น.วันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันหวยออกพอดี

          “แม้ว่าตนเองเซ็นหนังสือยินยอม แต่ไม่ได้สมัครใจ เพราะถูกบังคับ ขืนใจ ส่วนตัวไม่ต้องการเซ็นหนังสือดังกล่าว แต่ไม่สามารถหยุดยั้งการกระทำดังกล่าวได้ จึงต้องยอม เพื่อให้เรื่องม้นจบเท่านั้น โดยเขียนหนังสือเพียงแผ่นเดียว และมอบให้เจ้าหน้าที่นายหนึ่ง (สารวัตรแม่แฝก) เก็บไว้ ส่วนตนเองได้ใช้มือถือถ่าย เก็บไว้เป็นหลักฐานเช่นเดียวกัน ซึ่งตนมองว่าหนังสือดังกล่าวเพียงขอความร่วมมือ ไม่น่ามีผลทางกฏหมาย ถ้ายินยอมจริง จะเอาตนเองไปเสี่ยง หรือผูกมัดทำไม เนื่องจากไม่ได้มีการบันทึกอย่างเป็นทางการ ไม่มีเจ้าหน้าที่เซ็นรับหนังสือดังกล่าวด้วย” จำรัส กล่าว

           จำรัส กล่าวถึงสาเหตุที่ถูกขอความร่วมมือ ให้เซ็นหนังสือดังกล่าวว่า เพราะเคยนั่งรถตู้ไปให้กำลังใจ ยิ่งลักษณ์ ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตรวจค้น และทำบันทึกประวัติ ทำให้เจ้าหน้าที่ติดตามตัวถึงที่บ้าน และขอความร่วมมือแกมบังคับดังกล่าว ซึ่งไม่ได้วิตก หรือห่วงกังวลอะไรและไม่มีผลต่อการตัดสินใจไปให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่กรุงเทพฯ วันที่ 25สิงหาคมนี้ เพื่อฟังคำตัดสินของศาล เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคลตามรัฐธรรมนูญขั้นพื้นฐาน ตอนนี้รถตู้ที่ว่าจ้างเดินทางไปกรุงเทพฯ ได้ขอยกเลิกสัญญาแล้ว เพราะถูกเจ้าหน้าที่เรียกไปรายงานตัว และถ่ายรูปทำประวัติ จึงเกิดความเกรงกลัว ว่าอาจถูกกลั่นแกล้ง และดำเนินคดีอีก

ประยุทธ์ โวยสื่อ 'จะไปทำอะไรก็ทำ' หลังสมาคมนักข่าวฯประกาศไม่ใช่พีอาร์รัฐบาล




Published on Sat, 2017-08-19 19:41

พล.อ.ประยุทธ์ ลั่นไม่คาดหวังอะไรจากพวกสื่ออยู่แล้ว หลังสมาคมนักข่าวฯ ประกาศ “ไม่มีหน้าที่พีอาร์ให้รัฐบาล” เหตุถูกรัฐบาลขอให้เกาะติดคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอข่าว


          19 ส.ค.2560 ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ บี 2 ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอก คอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2560 โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งถึง สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ เพื่อแสดงจุดยืนว่า หน้าที่ของสื่อมวลชนทำเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ไม่ได้มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ผลงานให้รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีท่านใดท่านหนึ่ง ด้วยว่า

        “วันนี้ผมก็ได้ยินคำพูดของนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์งานให้รัฐบาล เขามีหน้าที่ในการทำประโยชน์สาธารณะ ผมก็ไม่รู้ว่าที่ผมทำวันนี้นั้น มันทำเพื่อใครเหมือนกัน มันมีประโยชน์หรือเปล่ากับประเทศหรือต่อสาธารณะก็ยังไม่รู้เหมือนกัน ผมชักไม่รู้ตัวแล้วนะ เพราะฉะนั้นผมก็ไม่ได้คาดหวังอะไรจากพวกสื่ออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็เชิญเลยท่านจะไปทำอะไรของท่านก็ทำ ไม่ต้องไปตามสัมภาษณ์ผมอีกต่อไปก็ได้ แต่ผมก็จะพูดของผมอย่างน้อยผมก็พูดกับพวกท่านท่านคงไม่มีใครเบื่อจะฟังหรือมีใครจะลุกออกไปบ้างหรือไม่ ผมก็จะพูดของผมไปเรื่อยๆ เพราะผมต้องการให้ประเทศเดินไปข้างหน้า สิ่งสำคัญทุกคนต้องไม่เสียใจไม่ต้องน้อยใจผมเพราะบางครั้ง ครม. ก็จำเป็นต้องเสนอกฎหมายหลายฉบับออกมาก็เพื่อให้เกิดความไว้วางใจความไว้เนื้อเชื่อใจให้สังคมได้ถูกแถลง จะได้รู้ว่าสังคมคิดกันอย่างไร ไม่ได้หมายความว่าข้าราชการเป็นตัวกลางของการทุจริต เรามีคนดีมากมายแต่ต้องยอมรับว่าคนไม่ดีก็มีอยู่บ้างในทุกหน่วยงาน วันนี้เราต้องทำให้ทุกกระบวนการโปร่งใสมีประสิทธิภาพตรวจสอบได้ มีหลักธรรมาภิบาลและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยืนยันว่าผมมีเจตนาดีและเจตนาบริสุทธิ์กับทุกคน ไม่เคยรังเกียจรังงอนใครทั้งสิ้นใครจะเกลียดผมก็ช่างเขา เพราะอย่างไรก็ไม่ทำให้ผมตายได้ ยกเว้นผมจะตายเอง เส้นโลหิตแตกไปเอง” พล.อ.ปรยุทธ์ กล่าว

         พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ในการตั้งคณะกรรมการรัฐวิสากิจไม่ทราบว่าใครมีปัญหาหรือไม่ ส่วนคนที่ไม่เข้าเกณฑ์ก็อยู่จนครบวาระและคัดสรรเข้ามาใหม่ ส่วนทหารเขาก็ชอบว่าว่าไม่ค่อยฉลาด เขาก็ว่าเราเยอะผมก็ต้องฟังด้วย เพราะผมเป็นทหารเก่า ตอนผมไปเรียนเพิ่มหลักสูตรไอโอดีมา 2-3 วัน ฟังเขารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง เพราะว่าหลักสูตรยากสำหรับทหารแต่ผมก็พยายาม ก็ถือว่าทหารไม่โง่นัก เว้นแต่บางคนที่ชอบแกล้งโง่ ส่วนใหญ่ทหารฉลาดจะตาย แต่ด้วยระเบียบวินัย ทำให้ทหารไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็นมากนัก ในวันนี้เป็นทหารรุ่นใหม่แล้ว เพราะฉะนั้นอย่าไปเชื่อบรรดาที่ออกมาด่าทหารทุกวัน ด่าจนรองนายกฯป่วยไปคนหนึ่งแล้ว

          สำหรับแถลงการณ์ของสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยดังกล่าวออกขึ้นหลังจากที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือสื่อมวลชน เกาะติดคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอข่าวและสกู๊ปข่าวพิเศษภารกิจของรัฐมนตรีแต่ละท่านระหว่างลงพื้นที่ในการประชุม ครม.สัญจร ระหว่างวันที่ 21-22 ส.ค. นี้ โดยไม่กำหนดว่าต้องรายงานอย่างไร ให้​ใช้ความสร้างสรรค์ของแต่ละช่องได้เต็มที่ในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการฟังข้อมูลจริงๆ ไม่ใช่สร้างปมประเด็นปัญหาขึ้นมาใหม่นั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

โผทหารปี 60 ถึงมือ’ประยุทธ์’ 21 ส.ค. สาย ‘ประวิตร’ ขึ้นยกแผง



Published on Sat, 2017-08-19 23:51


          เปิดโผตั้งบิ๊กทหาร 3 เหล่าทัพ สื่อชี้เด็ก "ป๋าป้อม" พรึ่บยกแผง น้องรัก "บิ๊กอ้อม" ขึ้นผู้ช่วยผบ.ทบ. เบียด "แม่ทัพภาค2" หลุดทบ. ด้าน "บิ๊กนุ้ย" ขึ้นผบ.ทร.- "กู้เกียรติ" นั่งแม่ทัพภาค1และ "ศักดา" นั่งแม่ทัพอีสานคนใหม่

          19 ส.ค.2560 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานความคืบหน้าในการจัดทำบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารระดับสูง ประจำปี 2560 ว่า ขณะนี้รายชื่อที่ได้รับการตรวจทานและแก้ไขทั้งหมดหลังจากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เรียกปลัดกระทรวงกลาโหม และผบ.เหล่าทัพ ร่วมพิจารณาจนเป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย

       โดยในวันที่ 21 ส.ค. รายชื่อทั้งหมดจะส่งถึงมือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯต่อไป

       สำหรับรายชื่อนายทหารที่ได้รับการปรับย้ายในครั้งนี้ปรากฎว่าในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม “บิ๊กช้าง” พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม ที่จะเกษียณอายุราชการ กองทัพบกได้เสนอชื่อ "บิ๊กเข้" พล.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ (ตท.18) ผู้ช่วยผบ.ทบ. ข้ามฝากมาเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งหลังจากดัน “บิ๊กลภ” พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ (ตท.18) ผอ.นโยบายและแผนกระทรวงกลาโหม ไปเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พร้อมเปิดทางให้น้องรัก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม นั่นคือ “บิ๊กณัฐ”พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ (ตท.20) หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำ รมว.กลาโหม ขึ้นเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อจ่อเก้าอี้ปลัดกระทรวงกลาโหมในปีหน้าโดยปราศจากคู่แข่ง

         ทั้งนี้ พล.อ.อ.สุรศักดิ์ ทุ่งทอง เสธ.ทอ. ข้ามฝากมาเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม กับ "บิ๊กหรั่ง" พล.อ.วิสุทธิ์ นาเงิน เจ้ากรมเสมียนตรา (ตท.17) เป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม
กองบัญชาการกองทัพไทย “บิ๊กปุย” พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผบ.ทหารสูงสุด จะเกษียณอายุราชการ โดยเสนอ "บิ๊กต๊อก" พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ (ตท.17) เสนาธิการทหารขึ้นเป็นผบ.ทหารสูงสุด พร้อมขยับ “บิ๊กกบ” พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญจศรี (ตท.18 ) รองเสนาธิการทหาร ขึ้นเป็นเสนาธิการทหาร โดยมี “บิ๊กยอร์ช” พล.อ.ยศนันทน์ หร่ายเจริญ (ตท.16) ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษทบ. เป็นรองผบ.ทหารสูงสุด พล.อ.ธงชัย สาระสุข (ตท.19) หัวหน้านายทหารฝ่ายเสธ.ประจำผบ.ทหารสูงสุด ขึ้นเป็นผบ.หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา

         ส่วนกองทัพบกปรากฏว่า “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท (ตท.16) ยังครองเก้าอี้ผบ.ทบ.อีกหนึ่งปี จนกว่าเกษียณในปีหน้าเพื่อควบคุมสถานการณ์และการขับเคลื่อนการบริหารงานของรัฐบาลและคสช.ตามโรดแม็ปไปสู่การเลือกตั้ง โดยขยับ “บิ๊กต้อ” พล.อ.สสิน ทองภักดี (ตท.17) เสธ.ทบ.ขึ้นเป็นรองผบ.ทบ. ส่วน “บิ๊กแดง” พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ (ตท.20) แม่ทัพภาคที่ 1 น้องรักของ “นายกฯตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็นผู้ช่วยผบ.ทบ. โดยโยก “บิ๊กอ้อม” พล.ท.วีรชัย อินทุโสภณ (ตท.18) จากผบ.หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) ขึ้นมาเป็นผู้ช่วยผบ.ทบ. ซึ่งเป็นน้องรักของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในสายบูรพาพยัคฆ์คนหนึ่ง ทั้งนี้การขยับเอา “บิ๊กอ้อม” เข้ามาอยู่ในไลน์ 5 เสือทบ.นั้นมีเสียงวิจารณ์ถึงการเตะโด่ง “บิ๊กแช” พล.ท.วิชัย แชจอหอ (ตท.17) แม่ทัพภาคที่ 2 นักรบภาคอีสานที่ผ่านสมรภูมิการรบมาอย่างโชกโชนในการปกป้องชายแดน และเคยได้รับเหรียญรามาฯถูกย้ายข้ามห้วยจากกองทัพบกไปเป็นรองเสธ.ทหาร ซึ่งแต่เดิมคาดว่าจะได้ขยับขึ้นเป็น ผู้ช่วยผบ.ทบ. แต่ต้องถูกสกัดจากเด็กของ ”บิ๊กป้อม” ไปอย่างน่าเสียดาย

ขณะที่ “บิ๊กเล็ก” พล.ท.ณัฐพล นาคพาณิชย์ (ตท.20) รองเสธ.ทบ. ขยับขึ้นเป็น เสธ.ทบ. ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าการจัดระดับนายทหาร 5 เสือทบ.ครั้งนี้ เป็นการวางทายาทผบ.ทบ.ในปีหน้า ไม่ว่าจะเป็น “บิ๊กแดง” พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ที่จะเกษียณปี 2563 “บิ๊กอ้อม” พล.ท.วีรชัย อินทุโสภณ ที่จะเกษียณปี 2562 รวมถึง ”บิ๊กเล็ก” พล.ท.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ซึ่งเกษียณปี 2564 ซึ่งทั้ง 3 รายล้วนแต่เป็นแคนดิเดตเก้าอี้ผบ.ทบ.ได้ทุกคน

ส่วนกองทัพภาคที่ 1 หลัง พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ขยับไปเป็นผู้ช่วยผบ.ทบ.ปรากฎว่า “. บิ๊กตู่” พล.ท.กู้เกียรติ ศรีนาคา (ตท.20) แม่ทัพน้อยที่ 1 ในสายบูรพาพยัคฆ์น้องรัก “บิ๊กป้อม” ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ตามคาด ขณะที่น้องรักนายกฯตู่ อีกคน “บิ๊กติ่ง” พล.ต.สันติพงษ์ ธรรมปิยะ (ตท.22) รองแม่ทัพภาคที่ 1 ขึ้นเป็นแม่ทัพน้อยที่ 1 พล.ต.เจริญชัย หินเธาว์ (ตท.23) ผบ.พล.2 รอ. เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1

กองทัพภาคที่ 2 พล.ท.ศักดา เปรุนาวิน แม่ทัพน้อยที่ 2 ขยับขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 พล.ต.สนธยา ศรีเจริญ รองแม่ทัพภาคที่ 2 เป็นแม่ทัพน้อยที่ 2

สำหรับแม่ทัพภาคที่ 3 และแม่ทัพภาคที่ 4 ยังอยู่ที่เดิมไม่มีการขยับแต่อย่างใด

กองทัพเรือ “บิ๊กณะ” พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผบ.ทร.ที่จะเกษียณอายุราชการได้เสนอ ”บิ๊กนุ้ย" พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้ช่วยผบ.ทร (ตท.16) เป็นผบ.ทร.คนใหม่ตามคาด โดยขยับคู่แคนดิเดต "บิ๊กลือ" พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสธ.ทร. (ตท.18) ไปเป็นรองผบ.ทร. “บิ๊กตุ๋ย” พล.ร.ท.พิเชฐ ตานะเศรษฐ รองเสธ.ทร.เป็นเสธ.ทร. “บิ๊กจุ๋ม” พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ หัวหน้าคณะฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา เป็นที่ปรึกษากองทัพเรือ อัตราจอมพล

ส่วนกองทัพอากาศ “บิ๊กจอม” พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผบ.ทอ.ยังไม่เกษียณ แต่ได้ขยับ "บิ๊กต่าย" พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผู้ช่วย ผบ.ทอ. (ตท.18) ขึ้นเป็น รอง ผบ.ทอ. เพื่อจอคิวต่อจากบิ๊กจอมในปีหน้า พล.อ.อ.สุรศักดิ์ ทุ่งทอง เสธ.ทอ. และ พล.อ.อ.ชาญฤทธิ์ พลิกานนท์ (ตท.18) รองเสธ.ทหารขึ้นเป็นผู้ช่วยผบ.ทอ. “บิ๊กอ๊อด” พล.อ.ท.ภานุพงศ์ เสยยงคะ รอง เสธ.ทอ.ขึ้นเป็น เสธ.ทอ.

นักวิชาการต่างประเทศร้องทางการไทยยุติดำเนินคดี 5 นักวิชาการเชียงใหม่ ฝืนคำสั่ง คสช.



Published on Fri, 2017-08-18 14:25


เครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง ร้อง พล.อ.ประยุทธ์ หยุดดำเนินคดีต่อ 5 นักวิชาการเชียงใหม่ หลังถูก ตร.เรียกตัวในคดีฝืนคำสั่ง คสช. ปมกิจกรรมในงานไทยศึกษา ชี้เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติ ไม่ใช่การกระทำที่ผิดกฎหมายและเป็นสิทธิที่ควรถูกปกป้อง



ที่มา: Drop charges against peaceful conference attendees

18 ส.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า เครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง หรือ Scholars at Risk (SAR) ในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ออกจดหมายเปิดผนึกรณรงค์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีต่อ นักวิชาการ 5 คนที่เชียงใหม่ ประกอบด้วย รศ.ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ที่เป็นร้องศาสตราจารย์และผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ธีรมล บัวงามแล้ว ที่เป็นนักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังเป็นบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม ภัควดี วีระภาสพงษ์ ที่เป็นนักแปลและนักเขียนอิสระ ชัยพงษ์ สำเนียง ที่เป็นนักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนลธวัช มะชัย ที่เป็นนักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทั้งนี้ 5 คนดังกล่าวถูกเรียกรายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภานีตำรวจช้างเผือกในวันที่ 21 ส.ค.นี้ โดยที่รายละเอียดยังไม่เปิดเผย แต่เบื้องต้นถูกกล่าวหาว่าละเมิดคำสั่งหัวหน้าคสช. 3/2558 ที่ห้ามการชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป และที่เป็นกรณีเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในการประชุมวิชาการไทยศึกษาเมื่อเดือนที่ผ่านมา ที่ รศ.ดร.ชยันต์ เป็นประธานกรรมการจัดงานและอีก 4 คนเป็นผู้ที่เข้าประชุมวิชาการดังกล่าว

เครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง (SAR) เขียนจดหมายเปิดผนึกและชวนสมาชิกในเครือข่ายส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, รัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศ, ศาลจังหวัดขอนแก่น, อัยการสูงสุด, ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และ มณฑลทหารบกที่ 33 ที่ผู้กล่าวหาสังกัดอยู่ และ ซาอิด ราอัด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีต่อ 5 คน ดังกล่าว เนื่องจากการร่วมในประชุมวิชาการและแสดงความคิดเห็นเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติ ไม่ใช่การกระทำที่ผิดกฎหมายและเป็นสิทธิที่ควรถูกปกป้อง (โดยมีรายละเอียดและช่องทางการลงชื่อที่นี่)

สำหรับเครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง (SAR) เป็นเครือข่ายของนักวิชาการและสถาบันการศึกษาทั่วโลกที่รวมตัวกันปกป้องนักวิชาการและนักศึกษาที่ถูกคุกคามโดยรัฐ สนับสนุนและส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการ โดยจะมีการบันทึกกรณีการจับกุม กักขัง การสังหาร และการละเมิดสิทธิชนิดอื่น นอกจากนี้ SAR ยังทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการและการแสดงออกความคิดเห็นอย่างสันติโดยนักวิชาการและนักศึกษา

ที่มา: Drop charges against peaceful conference attendees

ชำแหละ กม.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ แผนสืบทอดอำนาจ-ประชาชนอยู่ตรงไหน?



Published on Thu, 2017-08-17 16:59

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

อ่านกฎหมายจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ วิเคราะห์แผนสืบทอดอำนาจ คสช. วางคนคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ‘บัญฑูร’ แจงร่าง 30 มิถุนายน 58 เป็นแค่หลักการกว้างๆ แนะเริ่มกระบวนการมีส่วนร่วมทันที ด้านภาคประชาชนไม่เชื่อมั่นการมีส่วนร่วม เชื่อรัฐมีธงอยู่แล้ว



ในมุมของฝ่ายสนับสนุน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีคือกรอบแนวทางการพัฒนาที่ประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อนและถึงเวลาจำเป็นต้องมี เพื่อไม่ให้การพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ดำเนินไปอย่างสะเปสะปะ ไร้ทิศทาง และไร้การกำกับดูแล

ในมิติของฝ่ายคัดค้าน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีคือเครื่องมือที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อใช้ควบคุม-เล่นงานรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งให้อยู่ในร่องในรอยที่กลุ่มชนชั้นนำปีกขวาต้องการ

ด้วยอำนาจที่ คสช. มีในมือ พ.ร.บ.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 กระบวนการที่จะตามมาจากนี้คือการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันหลังการประกาศใช้กฎหมาย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

คสช. วางคนสืบทอดอำนาจ ควบคุมรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

เมื่อดูรายชื่อคณะกรรมการฯ ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย พบว่า มีรายชื่อจากหน่วยงานความมั่นคงถึง 7 ตำแหน่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในส่วนของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ อีก 17 คนนั้น กฎหมายกำหนดให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง โดยจะต้องแต่งตั้งให้แล้วเสร็จภายในเวลา 30 วันนับจากกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี

พิเคราะห์ดูจำนวนกรรมการยุทธศาสตร์ทั้งหมด 35 คน พบว่า มาจากฝ่ายกองทัพและความมั่นคง 7 คน กรรมการที่จะได้รับการแต่งตั้งในเร็ววันนี้อีก 17 คนโดย คสช. ประธานวุฒิสภาที่กฎหมายกำหนดให้เป็นรองประธานคณะกรรมการอีก 1 คน ซึ่งก็มาจากการแต่งตั้งของ คสช. เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกมาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. ย่อมเท่ากับว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 25 คนจาก 35 คน คือคนที่ คสช. วางเอาไว้ ก็เป็นไปได้ว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งต้องเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติตามกฎหมาย แทบจะไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ในคณะกรรมการชุดนี้

พิจารณาเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง วุฒิสมาชิกมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี ตำแหน่งผู้นำเหล่าทัพและฝ่ายความมั่นคงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไป แต่การกำหนดว่าใครจะขึ้นมาก็เป็นสิทธิขาดของทหาร (อาจจะยกเว้นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) เท่ากับจะเป็นคนของฝ่ายกองทัพอย่างเลี่ยงไม่ได้ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 17 คน อยู่ในวาระ 5 ปี ขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวาระเพียง 5 ปี แปลว่าคนของ คสช. จะมีอำนาจกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ชาติ กำกับควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไปอย่างน้อย 2 ชุด

การมีส่วนร่วม เรื่องจริงหรือแค่ฝัน?

ในส่วนของประชาชนที่ต้องขบคิดจากนี้คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนที่ระบุไว้ในมาตรา 7 ของกฎหมาย จะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด เมื่อบทเฉพาะกาล มาตรา 28 (4) ระบุว่า คณะกรรมการจะต้องจัดทำร่างยุทธศาสตร์เบื้องต้นให้เสร็จภายใน 120 วันนับจากได้รับแต่งตั้ง โดย ‘ให้ใช้ร่างยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี’ ที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 จัดทำไว้มาใช้เป็นหลักในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้น จุดนี้เป็นเหตุให้ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถือว่าเป็นการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ฯ ไว้ก่อนมีการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งขัดแย้งกับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย

นั่นเป็นมิติทางกฎหมาย

ขณะที่สภาพการณ์ปัจจุบัน การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการร่างยุทธศาสตร์ชาติจะเป็นไปได้แค่ไหนยังเป็นที่เคลือบแคลง เมื่อ คสช. ยังคงปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง สกัดกั้นการแสดงออกของประชาชน และกดปราบผู้เห็นต่างอย่างหนักมือ หากดูกฎหมายอีกฉบับที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 ที่ประกาศใช้ในวันเดียวกัน มาตรา 5 เขียนไว้ว่า การปฏิรูปประเทศต้องสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งแผนการปฏิรูปประเทศด้านหนึ่งที่ระบุในมาตรา 8 (1) คือด้านการเมือง คำถามมีอยู่ว่าจะวางแผนการปฏิรูปประเทศที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอย่างไร ท่ามกลางการปิดกั้นการแสดงออกทางการเมือง

อดีต สปช. แจง มติ ครม. 30 มิ.ย. 58 เป็นแค่หลักการเบื้องต้น-ต้องสร้างการมีส่วนร่วมทันที


บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอนุกรรมการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ กล่าวถึงร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ว่า เป็นเพียงกรอบหรือหลักในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้น แล้วกระบวนการตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ประชาชนมามีส่วนร่วมจะเป็นตัวที่ปรับแต่ง เพิ่มเติม หรือตัดทิ้ง ซึ่งบัณฑูรเห็นว่าเนื้อหาตั้งต้นเป็นหลักการกว้างๆ เท่านั้น


“บทเฉพาะกาลกำหนดให้ใช้ร่างฯ 30 มิถุนายน 2558 เป็นสารตั้งต้น แล้วกระบวนการตอนนั้นมีใครบ้างไปร่วมรับฟัง มีภาคส่วนไหนบ้าง สนช. ทำขึ้นมา แล้วบอกว่าให้เอาร่างนี้มาปัดฝุ่นหลังมีกฎหมายจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพิ่มเติม จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมก็ใส่ไปได้ คำถามสำคัญคือร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่คุณเตรียมไว้แล้วมีใครรู้เรื่องบ้าง มีใครมีส่วนร่วมบ้าง"



ในด้านการมีส่วนร่วม บัณฑูรเห็นว่า ในมาตรา 7 และ 8 ของกฎหมายได้กำหนดหลักการและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้แล้ว เพียงแต่ยังไม่มีการกำหนดวิธีการรับฟังและการมีส่วนร่วม จำเป็นต้องรอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจัดทำกติกาออกมาเพื่อรองรับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

“หลักๆ ก็เอาตามที่กำหนดในตัวกฎหมายคือ หนึ่ง-การรับรู้ สอง-ความเข้าใจ และสาม-การยอมรับเป็นเจ้าของยุทธศาสตร์ชาติร่วมกัน ประชาชนที่ว่าหมายถึงใครบ้าง ทั้งในรัฐธรรมนูญและมาตรา 7 กำหนดไว้ชัดแล้วว่าประชาชนทุกภาคส่วน แต่มันก็เป็นโจทย์ที่ยากพอสมควรในสถานการณ์การเมืองที่เป็นอยู่

“ตัวกระบวนการการมีส่วนร่วมเป็นหลักการใหญ่ที่จะทำให้ยุทธศาสตร์ชาติเป็นยุทธศาสตร์ชาติจริงๆ ตอนนี้ข้อที่น่าจะทำให้เกิดตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงคือ การมีส่วนร่วมโดยมีระยะเวลาที่เพียงพอ แต่เมื่อกติกาในรัฐธรรมนูญเขียนว่าต้องทำให้เสร็จภายใน 1 ปี ทำให้เวลาเหลืออยู่ไม่มากนัก ความกังวลก็อยู่ตรงนี้ว่าจะทำอย่างไรให้ช่วงเวลา 1 ปีเกิดการมีส่วนร่วมได้มากที่สุด ตอนแรกผมก็คิดว่า 1 ปีทำอะไรได้พอสมควร แต่ถ้าดูตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องจะเห็นว่าต้องใช้เวลากับขั้นตอนเหล่านี้มากอยู่ จะส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในกระบวนการมีส่วนร่วม”
โจทย์สำคัญในมุมมองของบัณฑูร ณ เวลานี้คือจะทำอย่างไรให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนให้ได้มากที่สุดภายใต้ข้อจำกัดของเวลาที่มี ดังนั้น เขาจึงเห็นว่ากระบวนการมีส่วนร่วมสามารถเริ่มได้เลย โดยไม่ต้องรอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ สังคมควรมองหาวิธีการสร้างการมีส่วนร่วมทันที

ภาคประชาชนไม่เชื่อมั่นกระบวนการมีส่วนร่วม


“บทเฉพาะกาลกำหนดให้ใช้ร่างฯ 30 มิถุนายน 2558 เป็นสารตั้งต้น แล้วกระบวนการตอนนั้นมีใครบ้างไปร่วมรับฟัง มีภาคส่วนไหนบ้าง สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ทำขึ้นมา แล้วบอกว่าให้เอาร่างนี้มาปัดฝุ่นหลังมีกฎหมายจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพิ่มเติม จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมก็ใส่ไปได้ คำถามสำคัญคือร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่คุณเตรียมไว้แล้วมีใครรู้เรื่องบ้าง มีใครมีส่วนร่วมบ้าง มันมีอีอีซี (โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก) อยู่ในนั้นหรือยัง มีแผน 12 อยู่ในนั้นหรือยัง ผมเชื่อมั่นว่ามีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าซ่อนอยู่ตรงไหนบ้าง คำถามคือประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างไร ในเมื่อคุณออกตัวไปตั้งไกล อย่างน้อย 2 ปีแล้ว คุณก็ดำเนินการตามแผนไปโดยที่เราไม่รู้ตัวมา 2 ปี” คือข้อกังวลของสมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เครือข่ายวาระเปลี่ยนตะวันออก

สมนึกตั้งคำถามว่า จะมั่นใจได้อย่างไรว่ายุทธศาสตร์ชาติจะสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ขณะที่ภาครัฐเร่งเดินหน้าอีอีซี แล้วอีอีซีจะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ ถ้าเป็น แล้วกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่ออีอีซีอยู่ตรงไหน ในเมื่อรัฐบาลเดินหน้าไปแล้ว นอกจากนี้ เขายังตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อร่างยุทธศาสตร์ชาติผ่านสภาไปยังคณะรัฐมนตรีแล้ว คณะรัฐมนตรีก็ยังสามารถแก้ไขปรับปรุงได้อีก เขาจึงไม่ไว้วางใจกระบวนการมีส่วนร่วมในการร่างยุทธศาสตร์ชาติ

“ยุทธศาสตร์ชาติเป็นเรื่องไกลมาก เรื่องเฉพาะหน้าตอนนี้อย่างอีอีซีที่กำลังจะเป็นกฎหมายในช่วงปลายปี กฎหมายนี้เขียนทับและละเมิดกฎหมายอื่นเต็มไปหมด ถามว่าถ้ายุทธศาสตร์ชาติระบุเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ในกฎหมายจริงๆ ไม่ใช่ แล้วยุทธศาสตร์ชาติจะไปบังคับกฎหมายต่างๆ ในระหว่างที่ยุทธศาสตร์ชาติยังทำไม่เสร็จได้หรือไม่” สมนึกทิ้งไว้เป็นคำถาม

ความเจ็บปวดของการ (บังคับ) รับสารภาพ : มอง ‘ไผ่’ ผ่านหนัง Fire Under the Snow




Published on Fri, 2017-08-18 23:44

เมตตา วงศ์วัด

Palden พระทิเบตผู้ถูกทัณฑ์ทรมานแสนสาหัสในคุกยาวนาน 33 ปีเพราะความคิด คุกไม่อาจทำให้เขาพูดในสิ่งที่ตนไม่ได้คิดได้ เทียบกับสภาวการณ์เมืองไทย มิได้หมายให้นักโทษความคิดต้องยืนยันด้วยชีวิตเช่นลามะทิเบต หากพยายามทำความเข้าใจ “ความทรมาน” จากการถูกบีบบังคับให้สารภาพว่าสิ่งที่ตนคิดเป็นความผิด เป็นภัยต่อผู้คน


“They say, everything is great in Tibet. Tibetans enjoy human rights.

But I am living proof of how they treated us.

If the world learns about it, they’ll demand an end to this injustice.”


นั่นเป็นคำพูดแรกเริ่มในหนังสารคดีเรื่อง Fire Under the Snow (เผยแพร่ปี 2008) ที่สถาบันวัชรสิทธาจัดฉายเมื่อวัน 13 สิงหาคมที่ผ่านมา



คนที่พูดคือพระสูงวัย อดีต(พระ)นักโทษการเมืองที่เรียกร้องอิสรภาพและเสรีภาพในทิเบตจากการรุกรานของจีน ชื่อ Palden Gyatso (พาลเด็น เก็ตโซ) เขาใช้ชีวิตในคุกและในค่ายแรงงานรวม 33 ปี ผ่านการถูกทรมานสารพัดจนเหลือเชื่อว่าจะรอดชีวิตมาได้ และคงเป็นประโยคข้างบนนั่นเองที่เป็นแรงจูงใจสำคัญ การเล่าเรื่องดูเหมือนเป็นอาวุธเดียวที่เขาใช้

ประเด็นที่น่าสนใจและร่วมสมัยกับประเทศไทยซึ่งมีนักโทษทางความคิด นักโทษการเมืองด้วยเช่นกันคือ เสรีภาพในการแสดงออก การซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่คิดที่เชื่อนั้นมีความหมายต่อการมีชีวิตอยู่เพียงไหน

“เพียงตอบว่า ใช่ (ทิเบตเป็นของจีน) ยอมรับว่าเปลี่ยนความคิดแล้ว คุณก็จะได้ออกจากคุก แต่นักโทษส่วนใหญ่ยังคงยืนยันคำเดิม”

“เราถูกถามคำถามเดิมเป็นเดือนๆ และทุกทีที่ตอบว่า “ไม่” ก็จะถูกตี ถูกซ้อม” Tenzin Tsundue นักกิจกรรมรณรงค์ Free Tibet อดีตนักโทษการเมืองที่เคยติดคุกแล้วลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศเล่า


หลังจากจีนเริ่มบุกทิเบตในปี 1949-1950 ทำลายวัดวาอารามและห้ามผู้คนในดินแดนที่ศาสนาเป็นเนื้อเดียวกับชีวิตนับถือศาสนาอีกต่อไป Palden ซึ่งเป็นพระธรรมดาๆ ก็เริ่มเข้าร่วมขบวนต่อต้าน เขาบวชตั้งแต่ยังเป็นเด็กชายตามธรรมเนียมชาวทิเบตที่ว่า หากบ้านใดมีลูกชาย 3 คน ลูกชายคนเล็กสุดจะต้องบวชเป็นพระ นั่นหมายความว่าประเทศนี้ชายฉกรรจ์เป็นพระกันจำนวนมาก และพระก็กลายสภาพเป็นนักโทษกันจำนวนมากเช่นกัน เอ็นจีโอที่ทำงานเรื่องทิเบตระบุว่า เมื่อก่อนพระทิเบตมีจำนวน 15,000-10,000 รูปแต่ตอนกดปราบหนักนั้นเหลือ 300-600 รูปได้ ส่วนใหญ่เข้าคุก อีกส่วนลี้ภัยไปต่างประเทศ และจำนวนไม่น้อยที่ตาย

Palden นับเป็นนักโทษการเมืองรุ่นบุกเบิก ถูกจับตั้งแต่ปี 1959 ที่ประชาชนทิเบตลุกขึ้นประท้วงจีนครั้งแรก ก่อนที่ประเด็นการละเมิดสิทธิและ “Free Tibet” จะโด่งดังในโลกตะวันตกหลังการลุกขึ้นประท้วงอย่างสันติของชาวทิเบตครั้งใหญ่อีกครั้งในปี 1998 อันนำมาซึ่งการจับกุมคุมขัง เข่นฆ่าและทำให้หายตัวไปของผู้ประท้วงจำนวนมาก

Palden ติดคุกระหว่างการพาอาจารย์ของเขาหลบหนีไปอินเดียในปี 1959 ขณะนั้นอายุ 28 ปี เขาถูกคุมขังในอารามที่ถูกปรับให้เป็นคุกชื่อว่า Drapchi prison ใน LHASA เมืองหลวงของทิเบต

ภาพจากนักโทษการเมืองทิเบตเล่าถึงตัวอย่างการทรมานในคุก

สิ่งที่เขาเจอคือการสอบสวนพร้อมๆ กับการทรมาน เพราะเขายืนกรานว่าทิเบตเป็นของคนทิเบต เขาถูกซ้อมอย่างหนัก ถูกจับแขวนโยงกับขื่อ ถูกเอาน้ำร้อนสาด เขาเล่าว่าหลังจากนั้นเขาถูกขังในห้องมืด รู้สึกเหมือนใกล้จะตาย จากนั้นก็มีคนเปิดประตูเข้ามา เขาได้กลิ่นสบู่ มีเสียงผู้หญิงถามขึ้นว่า “คุณชื่ออะไร” หลังจากตอบชื่อ เจ้าหน้าที่หญิงถามว่า คุณได้ร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจีนไหม อีกครั้งที่เขาตอบความจริง "ใช่” จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็นำกระดาษที่พิพากษาลงโทษจำคุก 7 ปีมาให้เขาลงชื่อในสภาพใกล้ตายแบบนั้น

ในหน้าหนาวผู้คุมจะเอาน้ำเย็นสาดนักโทษ ในหน้าร้อนพวกเขาจะก่อไฟเพื่อให้ควันและความร้อนจากเปลวไฟรมนักโทษ เวลาจะโดนสอบสวน Palden ต้องถอดกางเกง คลานเข่าไปในห้องสอบสวนที่เต็มไปด้วยเศษแก้วและหินแหลมคม หลังติดคุกมา 1 ปีเขาถูกถามคำถามเดิมว่า คิดว่าดาไลลามะควรกลับมาทิเบตไหม และทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีนหรือไม่ คำตอบคือ ใช่ และ ไม่ใช่ ตามลำดับ เขาถูกซ้อมอย่างหนัก

AMA ADHE อดีตนักโทษการเมืองหญิงเล่าว่า ในคุกแห่งนี้ มีนักโทษอดอาหารตาย 12,019 คน นักโทษที่เหลือต้องกินทุกอย่าง เช่น แมลง เศษหนังจากรองเท้า กระทั่งบางคนต้องกินศพของคนอื่น “I swear it is true”


ด้วยสภาพที่ย่ำแย่ถึงขีดสุดในคุก Palden เห็นว่าอยู่ไปต้องตายแน่ จึงวางแผนหลบหนีออกจากคุกกับเพื่อน เขาหนีออกมาได้ แต่นี่ไม่ใช่หนังฮอลีวูด เขาและเพื่อนถูกจับได้ระหว่างทางแล้วนำกลับมายังคุกเดิมอีกครั้ง เจ้าหน้าที่พยายามกดดันให้เพื่อนนักโทษทำร้ายเขา แต่ไม่มีใครซักคนที่ยอมทำตาม เพื่อนๆ ได้แต่ลงโทษด้วยตะโกนใส่หน้าว่า “พวกแกทำให้พวกเราลำบากขึ้นอีก” จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็สอบสวนเขา เขาพูดความจริงอีกครั้งถึงจุดประสงค์ที่จะหนีไปอินเดียว่าต้องการไปพบดาไลลามะเพื่อเล่าเรื่องการทรมานที่เกิดขึ้น และต้องการ “enjoy freedom” เจ้าหน้าที่ลงโทษเขาด้วยการใช้กระบองไฟฟ้ายัดเข้าไปในปากแล้วช็อตไฟ เพื่อนของเขาในคุกเดียวกันเล่าว่า มันรุนแรงมากจนทำให้ฟันของเขาร่วงหมดปาก และยังถูกซ้อม ถูกพันธนาการอย่างหนัก ก่อนจะถูกตัดสินเพิ่มโทษฐานหลบหนีอีก 8 ปี รวมเป็น 15 ปี

Palden เป็นกรณีที่ทั้งสร้างความสะเทือนใจ สร้างแรงบันดาลใจ และกระทั่งทำให้เกิดคำถามว่าทำไมเขาจึงไม่ยอมพูดคำลวงอย่างที่ผู้มีอำนาจอยากได้ยิน

Manfred Nowak ผู้ตรวจการพิเศษจากสหประชาชาติที่ทำรายงานเรื่องการทรมานในทิเบต ระบุว่า การทรมานที่เกิดขึ้นนั้นเป็นยิ่งกว่าอาชญากรรมธรรมดา ผู้กระทำไม่ได้ต้องการเพียงยึดครองดินแดนหรือเอาชนะกดข่มประชาชนที่นั่น แต่ต้องการให้เปลี่ยน personality และยอมรับว่าสิ่งที่พวกเขาเป็นนั้นเป็นเรื่องผิด การทรมานอย่างรุนแรงทั้งร่างกายและจิตใจจึงเกิดขึ้นเพื่อที่ท้ายที่สุดแม้ผู้นั้นอาจจะไม่ยอมรับ เมื่อเขาออกจากคุกไปก็จะหมดสภาพที่จะทำการใดๆ ต่อ

แน่นอน หลายคนยอมซัดทอดเพื่อน คนจำนวนมากล้มตายในคุก หลายคนออกมาตายที่บ้านหลังออกจากคุกมาไม่นาน ล่าสุดคือปี 2014 ในกรณีของ Goshul Lobsang (อ่านที่นี่) และปัจจุบันก็ยังมีการจับกุมผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่อต้านจีนอยู่ ส่วนจำนวนนักโทษการเมืองที่แน่ชัดนั้น HRW ระบุว่าเป็นการยากมากที่จะเข้าถึง (อ่านที่นี่)

ในกรณีของไทย แม้เรื่องราวการทรมานให้ผู้คนเปลี่ยนความคิดจะไม่เทียบเท่ากับในทิเบต และมีปัจจัยต่างๆ ที่แตกต่างกันมากมาย แต่กล่าวให้ถึงที่สุด การจองจำผู้คนในคดีเกี่ยวกับความคิดและการพยายามทำให้บุคคลเหล่านั้นรับสารภาพก็เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารที่พลเรือนจำนวนมากต้องไปขึ้นศาลทหารในความผิดเกี่ยวกับความคิดที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ (มาตรา 112) กระบวนการที่ยาวนานอย่างไม่รู้จุดหมายปลายทาง และสภาพย่ำแย่ในเรือนจำ ทำให้หลายต่อหลายคนยินยอมรับสารภาพทั้งที่ต้องการสู้คดี (อ่านที่นี่) หรือกรณีของคนที่ต่อสู้คดีก็แทบไม่มีใครสามารถชนะคดีได้และต้องถูกลงโทษอย่างหนัก เช่นกรณีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำคุก 10 ปี


ไม่ต้องกล่าวถึงความสมเหตุสมผลของโทษ (ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่) ความผิดปกติในกระบวนการระหว่างสู้คดี แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สาธารณชนก็ไม่เคยรู้เลยว่าสิ่งที่พวกเขาพูดหรือเขียนนั้นคืออะไร

กรณีล่าสุดของเด็กหนุ่มนักศึกษาชื่อ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ เป็นเพียงไม่กี่กรณีที่เรารู้ว่าเขา “พูด” อะไร เนื่องจากเป็นการแชร์บทความจากเพจสำนักข่าวบีบีซีไทยเกี่ยวกับพระราชประวัติของในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยตัดเอาย่อหน้าหนึ่งมาโพสต์ตั้งต้นเท่านั้น

“ลูกชายพูดมาตลอดว่า การต่อสู้คดีครั้งนี้เพื่อจะพิสูจน์เรื่องความเป็นกฎหมาย ความเป็นกระบวนการยุติธรรม ซึ่งลูกชายไม่เคยได้รับ เขาจึงต้องการต่อสู้”

“ไผ่ไม่ได้ต่อสู้คนเดียว ไผ่ไม่ได้ต่อสู้เพื่อไผ่ ไผ่ต่อสู้เพื่อคนอื่น ต่อสู้เพื่อลูกคนอื่น ต่อสู้เพื่อประชาชนที่มีโอกาสจะถูกกระทำแบบนี้เช่นกัน ดังนั้นการต่อสู้ของไผ่ครั้งนี้ เป็นการต่อสู้เพื่อส่วนรวม”

คำให้สัมภาษณ์ของพ่อไผ่ถึงการยืนยันต่อสู้คดีตลอด 7 เดือนที่ถูกคุมขัง ไม่ได้รับการประกันตัวแม้ยื่นเรื่องไปแล้วถึง 9 ครั้ง

แต่เมื่อมีการสืบพยานนัดที่สอง เขาก็เปลี่ยนมา “รับสารภาพ” ผู้ใกล้ชิดไผ่คาดว่าเหตุที่เขาเปลี่ยนใจเป็นเพราะแม่ของเขาตรอมใจอย่างหนักและเกิดผลกระทบหลายอย่างที่ยากจะกล่าวแก่สาธารณะ

ส่วนทนายความของไผ่ระบุถึงเหตุการณ์ก่อนการรับสารภาพไว้อย่าง “น่าสนใจยิ่ง” ว่า

“ผมจำได้ว่า ผมเรียนท่านผู้พิพากษาไปอย่างชัดเจนว่า ผมขอให้ไผ่และครอบครัวเป็นผู้ตัดสินใจดีกว่า แล้วในที่สุดผมก็ปล่อยให้ไผ่กับพ่อแม่อยู่ในห้องพิจารณาคดีที่ 8 กับผู้พิพากษาเพื่อใคร่ครวญเอง ประมาณเกือบชั่วโมงพ่อกับแม่ของไผ่เดินออกมาจากห้องพิจารณาและขอให้ผมกับทนายแสงชัยเข้าไปคุยกับไผ่...”

“ผมพูดกับไผ่อยู่สามประโยคทั้งที่เขาไม่ได้ถามอะไร
ผมบอกเขาว่า ผมเชื่อว่าคุณไม่มีวันชนะในการตัดสินคดีนี้อย่างแน่นอน ส่วนการตัดสินใจใด ๆ ของคุณในวันนี้นอกจากเพื่อตัวเองแล้วคงต้องคิดเพื่อพ่อกับแม่ที่รักคุณสุดหัวใจด้วย และสุดท้ายอย่างหวังว่าการต่อสู้เพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมจะได้รับชัยชนะได้ในเร็ววัน แต่ที่สำคัญกว่าคือประสบการณ์ความเจ็บปวดที่คุณได้รับเพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมาจะสอนให้คุณรู้คุณค่าของความถูกต้องเป็นธรรมที่คุณใฝ่ฝันหา
ไผ่มองหน้าเราสองคนและพยักหน้า
ผมเดินกลับไปหาผู้พิพากษาและบอกว่า จำเลยจะรับสารภาพ
คำถามสุดท้ายของผู้คนที่มีต่อผมคือ “ทำไม่ไผ่จึงรับสารภาพ”
ขอตอบว่า ผมไม่รู้และไม่อยากรู้”

หลังจากนั้นพ่อของเขาก็ให้สัมภาษณ์อีกครั้งภายหลังศาลพิพากษาโทษจำคุก 2 ปีครึ่งว่า มีการผิดข้อตกลงอันไม่เป็นทางการและปิดลับซึ่งใช้เวลาเกือบชั่วโมงก่อนการตัดสินใจสารภาพครั้งนี้

เบื้องหลังการรายงานข่าวสารทั้งปวง ไม่มีใครรู้ว่าการตัดสินใจของเขายากเพียงไหน ไผ่กับ Palden จะรู้สึกร่วมหรือต่างกันอย่างไร สำหรับมนุษย์สมัยใหม่ มันอาจไม่ใช่เรื่องยากนักที่จะรับสารภาพเพื่อให้ตนเองได้พ้นสภาวะเลวร้ายแม้จะรู้สึกไม่ยุติธรรม สำหรับนักยุทธศาสตร์ยิ่งอาจเห็นว่า การเสียเวลาเปล่าในเรือนจำเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล หรืออาจเข้าขั้นโง่เง่า

สิ่งที่พอจะเป็นร่องรอยให้เราจินตนาการความยากลำบากของการรับสารภาพได้นั่นก็คือ ข้อความของผู้ที่ได้เห็นสภาพของเขาในวันนั้น

“ขอสรุปสั้นๆ ช่วงเช้า (หลังคุยกับผู้พิพากษาและกำลังรอผลคำตัดสิน) ตัวเลขไผ่ไม่ติด และเข้าใจเหตุผล แต่...มันติดที่ว่ามันไม่ผิด และตั้งแต่เลี้ยงไผ่มาจนโต มีวันนี้เป็นครั้งแรกที่มันร้องไห้โฮ มือกำนิ้ว ขยับไปมา นานเป็นชั่วโมง ลงมาห้องขังศาล ใครขอพูด มันไม่มารับ มันนั่งนิ่งของมัน”


หลัง Palden ออกจากคุกรอบแรก ทัณฑ์ทรมานไม่อาจทำลายจิตใจของเขาได้ เขาออกมาแจกใบปลิวเรียกร้องอิสรภาพอีก และทำให้โดนโทษจำคุกอีก 8 ปี หลังครบกำหนดโทษ เขายังถูกส่งไปค่ายใช้แรงงานอีกหลายปี เพื่อ “รับการศึกษา” ที่ถูกต้องเพราะดูเหมือนความคิดของเขาก็ยังไม่เปลี่ยน

กระทั่ง 33 ปีของชีวิตหมดไปกับการจองจำ เขาออกมาจากคุกในวัยชราและยังคงเดินหน้ารณรงค์เรื่องเดิม มันอาจมีแรงผลักดันจากหลายปัจจัยโดยเฉพาะเรื่องทางจิตวิญญาณ แต่อันหนึ่งที่เข้าใจง่ายกว่าก็คือ คำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับเพื่อนๆ ที่ต้องตายไประหว่างถูกจองจำ เขาเดินสายจัดกิจกรรมในหลายประเทศ โดยเฉพาะอเมริกา แน่นอนว่าถึงวันนี้ก็ยังไม่มีวี่แววของชัยชนะแม้แต่น้อย

“I am living proof of how they treated us.
If the world learns about it, they’ll demand an end to this injustice.”


มันขึ้นอยู่กับว่าเรานิยาม “โลก” อย่างไร มีตัวเรารวมอยู่ในนั้นเพียงไหน ที่รู้ๆ คือ มันไม่แน่เสมอไปที่เมื่อโลกเห็นความอยุติธรรมแล้วจะพากันก้าวออกมาหยุดยั้งสิ่งนั้นเป็นผลสำเร็จ...ในชั่วชีวิตของเรา