วันจันทร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2558

'คำนูณ' ยืนยัน ระบบถอดถอนใหม่ไม่ขัด รธน.ชั่วคราว

คำนูณ  สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แจงระบบถอดถอนใหม่ไม่ขัด รธน.ชั่วคราวมาตรา 35(4) เพราะสุดท้ายจะไปสู่การตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตเช่นเดียวกัน แต่จะรับข้อสังเกตต่างๆ ไปพิจารณา
 
10 ม.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายคำนูณ  สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า การตัดสิทธิการเมือง 5 ปี ในการลงมติโดยรัฐสภา  ในระบบการถอดถอนตัดสิทธิแบบใหม่  ตามที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอ จะไม่ขัด มาตรา 35 (4) ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557  ที่กำหนดกรอบให้คนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองห้ามดำรงตำแหน่งการเมืองตลอดชีวิต ตามที่ผู้ตั้งข้อสังเกต
 
นายคำนูณ กล่าวว่า ช่องทางการดำเนินการเอาผิดกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีอยู่เดิมตามรัฐธรรมนูญปี 2550  มีด้วยกัน 2 ช่องทาง  คือ ระบบการถอดถอนจากตำแหน่ง ตามมาตรา 270 และการดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 275
 
นายคำนูณ กล่าวว่า  ในส่วนของการถอดถอนออกจากตำแหน่ง ตามรูปแบบของมาตรา 270   เป็นการถอดถอนโดยเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของสมาชิกวุฒิสภา   กรรมาธิการฯ จะปรับลดสัดส่วนให้เป็นเสียงข้างมากของสมาชิก 2 สภาร่วมกัน  หากยังอยู่ในตำแหน่ง ก็จะถูกถอดถอนจากตำแหน่ง และตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี  แต่หากพ้นจากตำแหน่งแล้ว เช่น ลาออก  ยุบสภา  ก็จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีอย่างเดียว  และหากเสียงถอดถอนไม่เกินกึ่งหนึ่ง  รายชื่อผู้ถูกยื่นให้ถอดถอนหรือตัดสิทธิดังกล่าว ก็จะเข้าสู่  Impeachment List  เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งโหวตในคราวเลือกตั้งอีกครั้งว่า จะตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตหรือไม่
 
“ที่ต้องแยกเป็นการถอดถอน และการตัดสิทธิก็เพื่อเรียกชื่อแตกต่างกันให้ชัดเจนไปเลย  เพื่อไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาคนใดมาตะแบงแกล้งไม่ฉลาดได้อีกว่าไม่มีตำแหน่งเหลือ แล้วจะมาถอดถอนอีกได้อย่างไร”  นายคำนูณ กล่าว
 
นายคำนูญ กล่าวอีกว่า มาตรา 35(4) ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 จะเห็นผลจากการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือ งตามมาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550  โดยคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะปรับแก้จากโทษที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้ตัดสิทธิได้เพียง 5 ปี  เป็นการตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต
 
“จะเห็นได้ว่าช่องทางทั้ง 2 ระบบ ท้ายที่สุดก็จะมีกลไกที่นำไปสู่การตัดสิทธิตลอดชีวิตได้เหมือนกัน  จึงไม่เป็นการขัดต่อมาตรา 35(4) แห่งรัฐธรรมนูญปี 2557 ฉบับชั่วคราวแต่อย่างใด  อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการจะขอรับข้อสังเกตว่า ในระบบการถอดถอน  อาจมีนักการเมืองยอมให้เกิดการตัดสิทธิโดยรัฐสภาเพียง 5 ปี  เพื่อหนีการถูกประชาชนโหวตตัดสิทธิตลอดชีวิตหรือไม่  ไปพิจารณาอีกที” นายคำนูณ กล่าว กล่าว

ถล่มเพจ ‘UNHCRThailand’ ขู่ยกเลิกเงินบริจาครัวๆ จี้ถามการให้สถานะผู้ลี้ภัย ‘ตั้ง อาชีวะ’

ผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวไทยบางส่วนระดมโพสต์จี้ถามในเพจสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติของไทย ถึงเหตุผลการให้สถานะผู้ลี้ภัย ‘ตั้ง อาชีวะ’ พร้อมประกาศยกเลิกให้เงินบริจาค
หลังเมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา ไทยรัฐออนไลน์ รายงานข่าว โดยอ้างถึง  นสพ.นิวซีแลนด์ เฮอรัลด์ ในประเทศนิวซีแลนด์ ว่า รัฐบาลนิวซีแลนด์กำลังถูกเรียกร้องจากทางการไทยให้ยกเลิกหนังสือเดินทาง (Passport) ของ เอกภพ เหลือรา หรือ ‘ตั้ง อาชีวะ’ ผู้ต้องสงสัยกระทำความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งได้หลบหนีออกจากประเทศไทย โดยรัฐบาลนิวซีแลนด์ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นใดๆ ต่อกรณีของ เอกภพ ซึ่งได้เดินทางเข้ามาพำนักอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์ในฐานะผู้ลี้ภัยตั้งแต่ปีก่อน เนื่องจากทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) ได้เป็นหน่วยงานที่ให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่ เอกภพ เมื่อปีที่ผ่านมา และเขาได้หลบหนีออกจากประเทศไทย เข้าไปในกัมพูชา ซึ่งบุคคลที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR นั้น สามารถเข้ามาพำนักในนิวซีแลนด์ได้ ภายใต้ระบบโควตาผู้ลี้ภัย
ต่อมาวานนี้(9 ม.ค.) เฟซบุ๊กเพจ ‘ล้านชื่อต้านล้างผิด’ ได้โพสต์ข้อความของผู้ใช้ชื่อในเฟซบุ๊กว่า ‘Jhumpot Soleil’ อ้างเป็นคำชี้แจงต่อคำถามต่างๆ เกี่ยวกับการทำงานของ UNHCR ซึ่งส่งถึงคนไทยคนหนึ่งชื่อ ‘Saijai’ ซึ่งเป็นผู้บริจาคเงินช่วยเหลือ UNHCR ในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่เป็นเด็กที่ไม่มีพ่อแม่ ผู้หญิงที่ถูกกระทำจากสงคราม ผู้พิการจากความรุนแรงและผู้สูงอายุที่หลัดพรากจากครอบครัว
ที่มา เฟซบุ๊กเพจ ‘ล้านชื่อต้านล้างผิด’ 
คำชี้แจงดังกล่าวระบุว่าเกิดขึ้นหลังจาก ‘Saijai’ ประกาศยกเลิกเงินบริจาค ภายหลังจากที่ทำหนังสือถามถึงสาเหตุที่อนุญาตให้ ตั้ง อาชีวะ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ให้ได้สถานะผู้ลี้ภัย ซึ่งเมื่อได้รับคำตอบจาก UNHCR ก็เกิดความไม่พอใจในการดำเนินการของ UNHCR จึงได้ทำหนังสือยกเลิกเงินบริจาคดังกล่าว เป็นเหตุให้ UNHCR ต้องทำคำชี้แจงตอบกลับมาเพื่อขอให้มีการพิจารณาทบทวนอย่ายกเลิกเงินบริจาค
โดยในโพสต์ดังกล่าวของเพจ ‘ล้านชื้อต้านล้างผิด’ มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว ในการยุติการบริจาคเงิน
นอกจากนั้นในเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘UNHCRThailand’ ซึ่งเป็นเพจเผยแพร่การดำเนินงานบรรเทาทุกข์ขององค์กรนี้ มีผู้ไม่พอใจเข้าไปโพสต์จี้ถามถึงการให้สถานะผู้ลี้ภัยดังกล่าว พร้อมทั้งประกาศงดบริจาคเงินเข้าองค์กรนี้จำนวนมาก จนกระทั่งแอดมินเพจมีการลบบางโพสต์ออก แต่ยังมีผู้เข้าไปแสดงความเห็นในโพสต์จี้ถามและประกาศยกเลิกบริเจาคในโพสต์เก่าๆ ต่ออีกด้วย
ตัวอย่างบางความเห็นในเฟซบุ๊กแฟนเพจ UNHCRThailand’ 
การดำเนินงานของ UNHCR ในประเทศไทย ในเว็บไซต์ ระบุถึง ข้อเท็จจริงเบื้องต้น ว่า รัฐบาลไทยได้เชิญยูเอ็นเอชซีอาร์เข้าร่วมดำเนินงานในประเทศในปี พ.ศ. 2518 เมื่อผู้ลี้ภัยจำนวนหลายแสนคนจากกัมพูชา ลาว และเวียดนามหลั่งไหลเข้ามายังประเทศไทย เหตุการณ์นั้นถูกเรียกกันว่า วิกฤติผู้ลี้ภัยชาวอินโดจีน ผู้ลี้ภัยจำนวนมากกว่า 1,300,000 คนได้รับการช่วยเหลือจากประเทศไทยมาเป็นระยะเวลาหลายปี
นอกจากนี้มีข้อความเชิงข่มขู่เจ้าหน้าที่ UNHCR ซึ่งถูกลบไปแล้ว โดยมีผู้บันทึกไว้ ข้อความเชิงด่าทอที่แสดงความเห็นใต้ภาพปกของเพจ UNHCR 
ในวันนี้มีผู้ลี้ภัยที่ได้รับการลงทะเบียนแล้วราว 95,000 คนและผู้ขอลี้ภัยอีกราว 9,000 คนในประเทศไทย ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยจากพม่า ส่วนใหญ่เป็นชาวเผ่ากะเหรี่ยงและเผ่ากะเหรี่ยงแดง พวกเขาพักอาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวจำนวนเก้าแห่งในสี่จังหวัดชายแดนไทย-พม่า รัฐบาลไทยเป็นผู้ดำเนินการในค่ายทุกแห่ง โดยได้รับความช่วยเหลือเกือบทั้งหมดจากองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ในขณะที่ยูเอ็นเอชซีอาร์มุ่งเน้นในเรื่องการให้ความคุ้มครองและโครงการดำเนินงานที่ทำให้แน่ใจได้ว่าผู้ลี้ภัยมีความเป็นอยู่ที่ปลอดภัยและได้รับการรักษาความปลอดภัยพอสมควรภายในพื้นที่พักพิงชั่วคราว

หมายเหตุประเพทไทย : สื่อสิ่งพิมพ์ตายแล้ว (หรือยัง) ?



รายการ ‘หมายเหตุประเพทไทย’ สัปดาห์นี้เสนอประเด็นตำแหน่งแห่งที่ของสื่อสิ่งพิมพ์ในโลกยุคดิจิตอล พบกับ ‘อรรถ บุนนาค’ และพิธีกรรับเชิญ ‘สธน ตันตราภรณ์’ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร L'Optimum Thailand และที่ปรึกษาด้านการพัฒนาภาพลักษณ์
ในโลกยุคดิจิตอล สื่อสิ่งพิมพ์ถูกลดความสำคัญลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อสื่อดิจิตอลสามารถนำเสนอเนื้อหาได้หลากหลายรูปแบบกว่า ขณะเดียวกันก็มีความรวดเร็วและมีต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก จนมีคำกล่าวว่า ‘สื่อสิ่งพิมพ์ตายแล้ว’ หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้จะมาวิพากษ์สิ่งพิมพ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะนิตยสารของไทย ทั้งในแง่เนื้อหา การจัดวางความสมดุลระหว่างการตอบสนองต่อผู้อ่านกับผู้ลงโฆษณา รวมถึงคุยกันว่าสื่อสิ่งพิมพ์ตายแล้วจริงหรือไม่ ? และสื่อสิ่งพิมพ์จะปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอดในโลกยุคดิจิตอล

นักเศรษฐศาสตร์โนเบลยกย่อง30บาทรักษาทุกโรค ลดยากจน-อายุขัยประชากรเพิ่มขึ้น

อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล  ยกย่องหลักประกันสุขภาพไทย ชี้ว่า ไม่ต้องเป็นประเทศร่ำรวย แต่สามารถสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนได้สำเร็จ อัตราตายทารกแรกเกิดลดลง ประชากรมีอายุขัยเพิ่มขึ้น เครื่องมือลดความยากจน ลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน ยกไทยเป็นตัวอย่างส่งเสริมบริการสุขภาพปฐมภูมิ ป้องกันก่อนป่วยหนัก
11 ม.ค.58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.อมาตยา เซน (Amartya Kumar Sen) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ได้เขียนบทความเรื่อง หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า: ฝันที่สามารถจ่ายได้ (Universal healthcare: the affordable dream)เผยแพร่ในเว็บไซต์ของ นสพ.เดอะการ์เดียน ซึ่งเป็นนสพ.ชั้นนำของประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 ยกย่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคว่า เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศร่ำรวย ก็สามารถทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ โดยยกตัวอย่างความสำเร็จของประเทศไทย ร่วมกับอีก 2 ประเทศ คือ ประเทศวันดา และประเทศบังคลาเทศ โดยระบุจุดเด่นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยว่า
ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของประเทศที่สามารถทำเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้สำเร็จในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งเป็นผลพวงมาจากให้คำมั่นสัญญาจากฝ่ายการเมืองและการผลักดันร่วมของภาคประชาสังคมและนักวิชาการที่เข้มแข็ง ที่สำคัญคือได้รับการตอบสนองนโยบายอย่างดีจากบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขของภาครัฐ และผลสำเร็จของหลักประกันสุขภาพไทยก็ได้แสดงให้เห็นว่าปัญหาเรื่องความยากจนลงจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้ลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงตัวชี้วัดสุขภาพของประชากรก็ดีขึ้นและลดความแตกต่างระหว่างกลุ่มคนรวยกับคนจน โดยวัดจากอัตราการตายในทารกแรกเกิด และอัตราตายของเด็กลดลง โดยอัตราการตายของทารกแรกเกิดลดต่ำลงถึง 11 คน ต่อ 1,000 คน อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด
ของประชากรเพิ่มสูงขึ้นเป็นมากกว่า 74 ปี นี่คือสิ่งที่ประเทศยากจนทำได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ซึ่งถือได้ว่าเป็นการลบประวัติศาตร์ของความแตกต่างในอัตราการตายของทารกระหว่างกลุ่มคนจนกับคนรวยภายในประเทศไทย
นอกจากนั้น ยังได้ยกตัวอย่างให้เห็นถึงความพยายามในการส่งเสริมระบบสุขภาพแบบปฐมภูมิ ว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นยังมีข้อได้เปรียบอีกอย่างก็คือ เป็นระบบบริการสุขภาพที่มุ่งเน้นไปยังสิ่งที่จำเป็นแต่มักจะถูกละเลยนั่นก็คือบริการระดับปฐมภูมิ ซึ่งถือว่าเป็นบริการขั้นพื้นฐานที่เป็นบริการแบบผู้ป่วยนอกที่มีค่าใช้จ่ายไม่มากนัก เป็นการดูและรักษาตั้งแต่ระยะแรกของการเกิดโรค ในกรณีที่ไม่มีการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยส่วนใหญ่แล้วการดำเนินของโรคมักจะถูกปล่อยให้มีการลุกลามหรือมีการพัฒนาของโรคไปในขั้นที่สูงขึ้น ซึ่งทำให้มีค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นตามไปด้วย
และได้ระบุว่า ประเทศไทยได้ตัวอย่างที่ชัดเจนสำหรับเรื่องนี้ กล่าวคือ เมื่อมีการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และมีการดำเนินนโยบายส่งเสริมป้องกันโรคก่อนที่จะป่วย ความต้องการการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงได้ลดลงอย่างมาก

 

สำนักงาน นสพ. เยอรมัน โดนระเบิดเพลิงหลังแพร่ซ้ำการ์ตูนของ 'ชาร์ลี เอบโด'


หนังสือพิมพ์ ฮัมบูเกอร์ มอร์เทนโพสต์ เป็นหนึ่งในสื่อของเยอรมนีที่เผยแพร่ซ้ำรูปการ์ตูนจากนิตยสาร ชาร์ลี เอบโด หลังเกิดกรณีการสังหารหมู่ จนกระทั่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมามีคนร้ายขว้างก้อนหินและวัตถุติดไฟใส่สำนักงานสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินแต่ไม่มีผู้ใดบาดเจ็บ
11 ม.ค. 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนีเปิดเผยว่ามีผู้ก่อเหตุขว้างระเบิดเพลิงใส่สำนักงานหนังสือพิมพ์ในเยอรมนีหลังจากที่หนังสือพิมพ์ดังกล่าวนำภาพการ์ตูนจากนิตยสารชาร์ลี เอบโด มาเผยแพร่ซ้ำ
หนังสือพิมพ์ที่ถูกขว้างปาระเบิดเพลิงใส่คือหนังสือพิมพ์ ฮัมบูเกอร์ มอร์เทนโพสต์ เป็นหนึ่งในสื่อจำนวนมากของเยอรมนีที่เผยแพร่ซ้ำรูปภาพของนิตยสารชาร์ลี เอบโด ที่เป็นนิตยสารเชิงล้อเลียนเสียดสีของฝรั่งเศสที่เพิ่งถูกคนร้ายบุกยิงเมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา จนมีผู้เสียชีวิต 12 คน
คนร้ายในกรณีล่าสุดนี้ได้ขว้างปาก้อนหินเข้าไปทางกระจกเพดานของอาคารในช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมาหลังจากนั้นจึงขว้างวัตถุติดไฟเข้าไปในสำนักงาน แต่ก็สามารถดับไฟได้ทันโดยที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ อย่างไรก็ตามมีห้องสำนักงาน 2 ห้องได้รับความเสียหายและมีเอกสารบางส่วนถูกเผา
อย่างไรก็ตามในเว็บไซต์ของฮัมบูเกอร์ มอร์เทนโพสต์ ระบุว่ายังเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่าการโจมตีครั้งนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สังหารหมู่ในฝรั่งเศส
โฆษกสำนักงานตำรวจเมืองฮัมบูร์กกล่าวว่ามีการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัย 2 คน หลังพบว่าพวกเขาดูท่าทางมีพิรุธอยู่บริเวณที่เกิดเหตุ
ก่อนหน้านี้เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีจากพรรคคริสเตียนเดโมแครตเดินทางไปประชุมที่เมืองฮัมบูร์กโดยกล่าวถึงเหตุการณ์บุกสังหารคนทำงานสื่อในฝรั่งเศสว่าเป็นการก่อการร้ายที่ป่าเถื่อนและถือเป็นปัญหาท้าทาย อีกทั้งยังได้เรียกร้องให้มีการแยกแยะระหว่างผู้นับถืออิสลามทั่วไปกับกลุ่มคลั่งศาสนาหัวรุนแรงออกจากกัน

นักเรียน เลขาฯการศึกษาเพื่อความเป็นไท แจงเหตุถูกงดออกรายการร่วมปธ.สปช. หลังถามประเด็นยึดอำนาจ

ไนซ์ เลขาธิการกลุ่ม 'การศึกษาเพื่อความเป็นไท' โพสต์แจงเหตุถูกแบบงดออกรายการช่อง5 ถกอนาคตประเทศของเยาวชน เนื่องจากเตรียมถามสดเรื่องปัญหาการคอรัปชั่นอำนาจประชาชนจากการยึดอำนาจ ต่อประธาน สปช.
เมื่อวันที่ 9 ม.ค. เวลา 22.54 น. ที่ผ่านมา ณัฐนันท์ วรินทรเวช (ไนซ์) นักเรียนมัธยมปลายและเลขาธิการกลุ่ม 'การศึกษาเพื่อความเป็นไท' โพสต์แถลงการณ์ ‘ข้อกังขาต่อความจริงใจของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)’ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Nattanan Warintarawet’ เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะเตรียมตัวออกรายการสด "เจาะประเด็นร้อน" ทางช่อง 5 เพื่อแสดงความคิดเห็นและถามคำถามเกี่ยวกับประเทศไทยที่อยากเห็นในอนาคตของเยาวชน กับ เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. อย่างไรก็ตาม ณัฐนันท์ กลับไม่ได้ร่วมในรายการดังกล่าว เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ของรายการดังกล่าวเชิญออกมาก่อน พร้อมกล่าวกับ ณัฐนันท์ ด้วยว่า "เชิญมาผิดคน"
ณัฐนันท์ เปิดเผยว่า ก่อนหน้าที่จะถูกเชิญออกในระหว่างคุยประเด็นเตรียมออกรายการกับเทียนฉาย ดังกล่าว ณัฐนันท์ได้ถาม 2 คำถาม กับ เทียนฉาย ว่า 1. "สปช.จะแก้ปัญหาการคอรัปชั่นได้อย่างไร? ในเมื่อการเข้าสู่อำนาจของพวกเขาก็คือการขโมยหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงของประชาชน ซึ่งในมุมมองของฉันคือการคอรัปชั่นทางอำนาจซึ่งไม่ได้เลวร้ายน้อยไปกว่าการคอรัปชั่นทางการเงินเลย" และ 2. "พวกเขาเหล่านี้ได้มองว่าการเข้าสู่อำนาจโดยมิชอบคือการคอรัปชั่นหรือไม่?" โดย เทียนฉาย ตอบกลับด้วยว่า อย่ายึดติด ต้องมองอนาคตประเทศ
จากนั้นเจ้าหน้าที่ของรายการจึงเชิญตัวณัฐนันท์ออกมาทำให้ไม่ได้ร่วมในรายการดังกล่าว
ไนซ์ คนที่ 2 จากขวา ภาพขณะอ่านอาขยาน ถึง พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 14 ต.ค.57 หน้า ก.ศึกษาฯ ค้านการใช้หลักค่านิยมไทย 12 ประการที่ชี้นำความคิดเยาวชนไทย (อ่านรายละเอียด)
สำหรับรายละเอียดในแถลงการของณัฐนันท์ มีดังนี้
แถลงการณ์ : ข้อกังขาต่อความจริงใจของสภาปฏิรูปแห่งชาติ
ก่อนอื่นขอชี้แจงความเป็นมาสักเล็กน้อย เนื่องจากฉันได้รับคำเชิญให้ไปเข้าร่วมรายการ "เจาะประเด็นร้อน" ทางช่อง 5 เพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเทศไทยที่อยากเห็นในอนาคต ร่วมกับคุณเทียนฉาย กีระนันทน์ และเยาวชนอีกคนหนึ่ง ในตอนแรกลังเลเล็กน้อยเพราะไม่แน่ใจว่าจะมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นมากน้อยเพียงใด แต่ท้ายที่สุดก็ตัดสินใจตอบตกลง เนื่องจากคิดว่าทางสปช.น่าจะมีความใจกว้างในการรับฟังอยู่ไม่น้อย เท่าที่ดูจากการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนนับร้อยนับพันเวที
ฉันเดินทางไปถึงสถานีช่อง 5 ที่สนามเป้า ทางเจ้าหน้าที่ได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี พร้อมอธิบายเนื้อหาในรายการ(รวมถึงแนวคำตอบอย่างคร่าวด้วย) ฉันจึงชี้แจงไปว่าฉันมีแนวคิดเสรีนิยมและไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร และไม่ชอบท่องสคริปต์ ในตอนนั้นฉันเห็นสีหน้ากระอักกระอ่วนใจเล็กน้อย แต่ทุกอย่างก็ยังเป็นปกติ
สักครู่มีเจ้าหน้าที่เรียกให้ไปเตรียมตัวก่อนออกอากาศ เมื่อเข้าไปในสตูดิโอก็เหลือเวลาอีกเล็กน้อย เจ้าหน้าที่บอกว่าสามารถถามคำถามและคุยแลกเปลี่ยนกับคุณเทียนฉายได้ในประเด็นที่สงสัย
ฉันจึงตัดสินใจเสี่ยงถามคำถามที่ค้างคาใจมาเป็นเวลานานนับตั้งแต่การรัฐประหาร
ถามไปหลายข้อทีเดียว แต่มีสองคำถามที่ต้องใช้ความกล้าในการถามมากที่สุด : "สปช.จะแก้ปัญหาการคอรัปชั่นได้อย่างไร? ในเมื่อการเข้าสู่อำนาจของพวกเขาก็คือการขโมยหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงของประชาชน ซึ่งในมุมมองของฉันคือการคอรัปชั่นทางอำนาจซึ่งไม่ได้เลวร้ายน้อยไปกว่าการคอรัปชั่นทางการเงินเลย"
และ "พวกเขาเหล่านี้ได้มองว่าการเข้าสู่อำนาจโดยมิชอบคือการคอรัปชั่นหรือไม่?"
คนในสตูดิโอมองตากันเลิ่กลั่ก สักพักเจ้าหน้าที่คนหนึ่งได้ "เชิญ" ฉันออกนอกสตูดิโอก่อนที่รายการจะเริ่มเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น และให้ไปนั่งที่ห้องรับรองจนรายการจบ และยังบอกด้วยว่า "เชิญมาผิดคน"
นี่ทำให้ฉันเกิดคำถามขึ้นมากมาย
สปช. บอกเองว่ารับฟังความคิดที่แตกต่างไม่ใช่หรือ?
สปช. บอกเองว่ามีความเป็นกลางไม่ใช่หรือ?
แล้วสิ่งที่การกระทำของพวกเขาบ่งบอก มันคืออะไร?
เวทีรับฟังความคิดเห็นมากมายที่เขาจัดขึ้น มีจุดประสงค์เพื่ออะไรกันแน่?
คำถามเหล่านี้.. ไม่รู้ว่าจะมีคำตอบเมื่อไหร่
แต่ฉันสงสัย ฉันชอบถาม และฉันจะยังคงตั้งคำถามต่อไป
เสรีภาพทางความคิดต้องมีอยู่คู่สังคมแห่งนี้
หากไร้ซึ่งเสรีภาพ..สังคมก็ไร้ซึ่งอนาคต

‘อลงกรณ์’ เผย สปช.กังวลเหตุไล่นักเรียนออกกลางรายการ กระทบความรู้สึกปชช. ยัน ‘เทียนฉาย’ ตอบทุกคำถาม

หลังจากเมื่อวันที่  9 ม.ค. ที่ผ่านมา ณัฐนันท์ วรินทรเวช (ไนซ์) นักเรียนมัธยมปลายและเลขาธิการกลุ่ม 'การศึกษาเพื่อความเป็นไท' โพสต์แถลงการณ์ ‘ข้อกังขาต่อความจริงใจของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)’ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Nattanan Warintarawet’ เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะเตรียมตัวออกรายการสด "เจาะประเด็นร้อน" ทางช่อง 5 เพื่อแสดงความคิดเห็นและถามคำถามเกี่ยวกับประเทศไทยที่อยากเห็นในอนาคตของเยาวชน กับ เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. อย่างไรก็ตาม ณัฐนันท์ กลับไม่ได้ร่วมในรายการดังกล่าว เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ของรายการดังกล่าวเชิญออกมาก่อน พร้อมกล่าวกับ ณัฐนันท์ ด้วยว่า "เชิญมาผิดคน"
ณัฐนันท์ เปิดเผยว่า ก่อนหน้าที่จะถูกเชิญออกในระหว่างคุยประเด็นเตรียมออกรายการกับเทียนฉาย ดังกล่าว ณัฐนันท์ได้ถาม 2 คำถาม กับ เทียนฉาย ว่า 1. "สปช.จะแก้ปัญหาการคอรัปชั่นได้อย่างไร? ในเมื่อการเข้าสู่อำนาจของพวกเขาก็คือการขโมยหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงของประชาชน ซึ่งในมุมมองของฉันคือการคอรัปชั่นทางอำนาจซึ่งไม่ได้เลวร้ายน้อยไปกว่าการคอรัปชั่นทางการเงินเลย" และ 2. "พวกเขาเหล่านี้ได้มองว่าการเข้าสู่อำนาจโดยมิชอบคือการคอรัปชั่นหรือไม่?"  จากนั้นเจ้าหน้าที่ของรายการจึงเชิญตัวณัฐนันท์ออกมาทำให้ไม่ได้ร่วมในรายการดังกล่าว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
ต่อมา 11 ม.ค. มติชนออนไลน์ รายงานว่า อลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิปสปช.) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สมาชิกสปช. หลายคนกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อความรู้สึกของสาธารณชน โดยที่ประธาน สปช. และทีมงานสปช. ไม่ทราบเรื่อง ซึ่งได้ทราบในภายหลังก็รู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่อาจจะกังวลเรื่องความมั่นคงมากกว่า อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากนี้ ก็ขอให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายพึงระมัดระวังในเรื่องดังกล่าว ว่าการปฏิรูปจะต้องเปิดกว้าง
อลงกรณ์ กล่าวยืนยันหลักการของสปช. ด้วยว่า ต้องการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ในส่วนของนิสิต นักศึกษา ก็ได้มีการจัดเสวนาสานพลังนักศึกษาต่อการปฏิรูปประเทศ เมื่อเดือนที่ผ่านมา ขณะที่ในเดือน ก.พ. จะเป็นการจัดเสวนาพลังอาชีวะ โดยที่ประธาน สปช.ไม่มีนโยบายกีดกันการมีส่วนร่วมจากทุกๆส่วน แต่เน้นที่จะเปิดกว้างในการรับฟังความเห็น โดยที่สปช.ยอมรับความคิดที่แตกต่าง และเน้นการตอบทุกคำถาม
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องดีที่นักศึกษาใส่ใจประชาธิปไตย และไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ทั้งนักศึกษา และประชาชน หากถามมาสปช. ก็จะตอบทุกคำถาม เพราะความคิดเห็นที่หลากหลายถือว่าเป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหวังว่าครั้งต่อไปทุกฝ่ายจะให้ความร่วมมือกับสปช.” อลงกรณ์ กล่าว
ประธาน สปช. กล่าวถึงความพร้อมที่จะตอบทุกคำถามจากทุกภาคส่วน ว่า นโยบายเปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็นก็มาจากประธาน สปช. ดังนั้นแน่นอนว่าประธาน สปช.ย่อมพร้อมที่จะตอบทุกคำถามที่เกี่ยวกับการปฏิรูป

'ประยุทธ์' เผยกำหนดวิสัยทัศน์ 5 ปีประเทศไทยไว้แล้ว แต่ขออยู่วางพื้นฐานปีเดียว


รายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เผยได้กำหนดวิสัยทัศน์ 5 ปีของประเทศไทย 2558 - 2562 ไว้แล้ว ระบุวางพื้นฐานไว้ให้ 1 ปี จากนั้นอีก 4 ปีให้ประชาชนไปต่อกันเอง เรียกร้องสื่อการเมืองเสนอความขัดแย้งลดลง 
 
9 ม.ค.2558 เมื่อเวลาประมาณ 20.15 น.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จัดรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันที่ 9 มกราคม 2558 
 
สวัสดีครับ พี่น้องประชาชนที่รักทุกคน
 
สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์แรกของการเริ่มต้นทำงานในปี 2558 ผมขอให้ทุกท่านได้ทำงาน และเรียนหนังสือกันอย่างมีความสุข และร่วมกันทำสิ่งดี ๆ ในปีนี้เพื่อประเทศชาติของเรา
 
สำหรับช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมานั้น ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่หน่วยงานทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร และอาสาสมัครที่ได้ช่วยกันดูแลพี่น้องประชาชน ในการเดินทางสัญจรไป-มา ทำให้สถิติอุบัติเหตุลดลงได้จำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตามก็ขอให้หน่วยงานได้นำไปวิเคราะห์ถึงสาเหตุ หรือข้อบกพร่องต่าง ๆ เพื่อที่จะได้แก้ไขปรับปุรงให้ดีขึ้น สำหรับวันหยุดเทศกาลในห้วงต่อไป
 
วันนี้ผมอยากเรียนว่า สิ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลทำอยู่ในขณะนี้นั้น ไม่ต้องการสร้างความขัดแย้ง หรือสร้างปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้นมาอีก เราพยายามที่จะให้หน่วยงานปกติ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส เพื่อพลิกฟื้นความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนกลับมา วันนี้ประเทศไทยไม่ได้มีเฉพาะคู่ขัดแย้ง ผู้เห็นต่าง แต่ยังมีคนไทยอีกหลายล้านคนที่ต้องการความสงบสุข ต้องการให้มีการพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่ควรจะเป็น
 
ดังนั้น การทำงานของ รัฐบาล และ คสช. จึงมุ่งเน้นที่จะลดความขัดแย้ง และเดินหน้าประเทศไปพร้อม ๆ กันด้วย กฎหมายไม่ใช่ความยุติธรรม แต่เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการอำนวยความยุติธรรม ให้ความเป็นธรรมกับทุกพวกทุกฝ่าย ซึ่งคงต้องเริ่มจากการนำตนเอง จากการที่ถูกกล่าวหาไม่ว่าจะเป็นผิดหรือถูก เข้ามาต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมด้วยหลักฐาน ข้อเท็จจริง ไม่ใช่ไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการ และทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายที่มีอยู่ ใครที่เข้ามาก็ย่อมได้รับความเป็นธรรมอย่างชัดเจน ถูกผิดก็ว่าไปตามหลักสากล ตามข้อกฎหมาย อยากให้ทุกคนเข้าใจตรงนี้ก่อน ส่วนผลจะออกมาอย่างไรนั้น ก็ยังสามารถต่อสู้ในวิถีทางตามปกติได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องปลุกระดมมวลชน ซึ่งไม่รู้ข้อเท็จจริงมากนัก เพราะไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดร่วมด้วย ต้องมาเสียเวลา เสียเลือดเนื้อ ต้องกระทำผิดกฎหมายไปด้วย ด้วยการอาศัยความเชื่อมั่น และศรัทธาแต่เพียงอย่างเดียว การชี้ผิดชี้ถูกโดย คสช. หรือใช้อำนาจพิเศษนั้น อาจจะดูง่าย หรือเร็ว ทันใจ แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบในภายภาคหน้าด้วยว่าเราจะอยู่กันอย่างไร แต่ถ้าหากไม่มีเครื่องมือพิเศษหรือ ไม่มี คสช. แล้ว ก็อาจจะทำให้เราอยู่ร่วมกันยากในอนาคต
 
สำหรับการทำงานของรัฐบาลในปัจจุบัน ได้เปิดโอกาสให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มาร่วมในการปฏิบัติงานด้วย ถึงแม้ว่าจะมองว่าอาจจะไม่ทั่วถึงทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายมากนัก หรือไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือมาจากโดยวิธีการปกติ แต่ก็คล้ายกับการมีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อยู่แล้ว เพียงแต่มีงานปฏิรูปเพิ่มเข้ามาด้วย ซึ่งคงต้องรอฟังมติสุดท้ายก่อน ในปัจจุบันยังไม่ใช่ข้อสรุป เป็นการเสนอข้อหารือแนวทางเท่านั้น ขณะนี้เรามีการโต้แย้งกันมากมาย เพราะฉะนั้นต้องรอผลข้อสรุปมาก่อน อาจจะไม่เป็นไปตามนั้นทั้งหมดก็ได้ เพราะว่า คสช. และ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่ได้พิจารณาเลย ต้องนำมาพิจารณาและสรุปอีกครั้งว่าจะเป็นอย่างไร อะไรที่จะเป็นผลดี-ผลเสียต่อประเทศชาติ ได้รับความยอมรับจากสากลหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่จะได้รัฐบาลที่มีประสิทธิภาพมาจากการเลือกตั้งที่โปร่งใส การบริหารราชการแผ่นดินที่มีผลสัมฤทธิ์ ขับเคลื่อนประเทศ แก้ปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว และทำให้เกิดผลการปฏิรูปต่อไปในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม ผมไม่อยากให้มองเรื่องความขัดแย้ง หรือเรื่องผิด – ถูก แต่เพียงอย่างเดียว ให้มองไกล ๆ มองยาว ๆ เราจะต้องก้าวให้พ้นจากกับดักต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่มากมายในระบอบประชาธิปไตยด้วย และในส่วนของความขัดแย้ง ข้อกฎหมายต่าง ๆ มีมากมาย
 
เพราะฉะนั้น ในเรื่องของการทำงานของ คสช. และรัฐบาลในห้วงเวลานี้ อยากจะเรียนว่า เราทำทุกปัญหา ปัญหาเล็ก ๆ ก็ทำ ปัญหาใหญ่ ๆ ก็ทำ เพราะปัญหาเล็กนั้นเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้ง และรุกลามไปสู่ปัญหาใหญ่ ๆ ที่มีความทับซ้อนอยู่หลายปัญหาด้วยกัน ที่ผ่านมานั้นอาจจะไม่ได้รับการแก้ไข หรือเตรียมการไว้ล่วงหน้า ในรัฐบาลที่ผ่านมาโดยอาจจะมีการประกันความเสี่ยงน้อยไป หรือขาดการมีภูมิคุ้มกันที่ดี มีมาตรการรองรับที่เหมาะสม อย่างเช่น ราคาพืชผลทางการเกษตรอย่างยั่งยืน เราจะทำได้อย่างไร ระบบจะแก้ไขอย่างไร เราจะต้องสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรเอง ในด้านเทคโนโลยี การรวมกลุ่มสหกรณ์ขนาดเล็ก รวมกลุ่มนาขนาดเล็ก หรือพืชอื่น ๆ ให้สามารถสร้างความเข้มแข็งด้วยตัวเองได้ ด้วยตัวเกษตรกรเอง และรัฐเข้าไปดูแลช่วยเหลือ การมีตลาดกลางของเกษตรกรโดยตรงนั้นจำเป็นในขณะนี้ จะได้ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางทุกเรื่อง ทุกผลิตผล เกษตรกรต้องมีความรู้เรื่องการตลาดด้วยตัวเองด้วย จะได้รู้ราคา รู้ความต้องการของตลาดในปัจจุบันว่าต้องการประเภทไหน ชนิดไหน จะได้ผลิตมาให้ตรงความต้องการ ในการปรับใช้เทคโนโลยีให้เป็นการใช้การเกษตรสมัยใหม่ มีด้านวิชาการเข้าไปด้วย ไม่ใช่อาศัยธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียว การใช้ปุ๋ยธรรมชาติ ที่ไร้สารเคมี ผลิตปุ๋ยเองด้วย ปลูกพืชที่มีความต้องการของสังคม ของประชาชนในปัจจุบันก็คือการปลูกพืชที่ไร้สารเคมี
 
วันนี้รัฐบาลก็ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ของทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ไม่ว่าจะอาชีพใดที่มีรายได้น้อย เราก็ส่งเสริมทุกอัน แต่เป็นการยากที่เราจะใช้เวลาเพียงเล็กน้อยในการที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านั้น เราต้องทำอย่างต่อเนื่อง ร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และตัวเกษตรกรเอง หรือผู้ประกอบการเอง ก็ต้องเข้าใจนโยบายและร่วมมือกัน ไม่ใช่แก้ไขอะไร ปรับเปลี่ยนอะไรไปก็ต่อต้าน โต้แย้ง มีปัญหาไปทุกเรื่อง และต้องการแต่เพียงอย่างเดียวคือต้องการเงินสนับสนุน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะหาเงินจำนวนมากเหล่านั้นมาจากไหน ทั้งในเรื่องของผลิตผลทางการเกษตร ทั้งการสาธารณสุข การศึกษา และอื่น ๆ เพราฉะนั้นเราจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนให้ได้ ให้มีความต่อเนื่องเชื่อมโยง จัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดให้เป็นรูปธรรม การกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนไปเชื่อมโยงสู่ประชาคมโลก
 
จะเห็นได้ว่าวันนี้สถานการณ์โลกเป็นตัวกำหนดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้กัน การขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ ในอดีตที่ผ่านมานั้น เราอาจจะเตรียมการเหล่านี้ไว้ไม่เพียงพอ เราต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งตรงนี้ให้รวดเร็วขึ้น จะได้ทำให้เราไม่อ่อนแอ และไม่ต้องพึ่งรัฐแต่เพียงอย่างเดียว รัฐก็หาเงินไม่ได้ เพราะว่ารายได้การส่งออกสินค้าต่าง ๆ ก็น้อยลง ได้ราคาต่ำลง เราต้องสร้างความเข้มแข็งให้ได้ ต้องร่วมมือกัน ผมขอย้ำอีกครั้งหนึ่งต้องร่วมมือกัน เข้าใจนโยบาย เข้าใจวิธีการทำงานที่เป็นระบบ
 
สำหรับเรื่องของตลาดเกษตรกร ทั้งในเรื่องของอาหาร พืชผัก ปลา หรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่จำเป็น เราจำเป็นต้องเร่งสร้างตลาดเกษตรกรให้สามารถพบกับผู้บริโภคโดยตรงอย่างรวดเร็ว ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ ในทุกพื้นที่ ในทุกจังหวัด
 
เรื่องราคาพลังงาน คงต้องใช้เวลาในการปรับแก้ไปสักระยะหนึ่งก่อน ให้เป็นไปตามกลไกของตลาด เพราะหากผลีผลามแก้ไข เพิ่ม-ลดรวดเร็วเกินไป หากสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไปอีกแล้วจะทำอย่างไร จะทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลงกว่าเดิม หากเราไม่มีกองทุนเตรียมสำรองไว้ การลดลงง่าย แต่ถ้าต้องขึ้นราคาขึ้นมาอีก จะเป็นสิ่งยาก ทุกคนคงทราบดีว่าเงินเหล่านี้ก็ไม่ได้ไปไหน ก็ยังใช้ในภารกิจด้านพลังงาน และในการเตรียมการอีกหลายอย่าง เมื่อจำเป็น
 
เรื่องการจัดสรรที่ดินทำกินนั้น เราจำเป็นต้องใช้ทั้งรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์เข้ามาจับต้อง สงสารคนจน ถ้าเขาไม่ลำบากก็คงไม่บุกรุก เขาคงไม่มีพื้นที่ทำกิน ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ จะทำอย่างไร ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อบุกรุกไปแล้ว แล้วคนรวยหรือเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตก็มักจะเอาเปรียบ ไปซื้อ-ขายกันมาทำให้ถูกต้อง และไปซื้อ-ขายกันมา แล้วบอกให้คนเหล่านั้นก็ไปทำการบุกรุกต่อไปอีก ทำให้เราเสียพื้นป่าเป็นจำนวนมากในหลายปีที่ผ่านมา เราต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไร ต้องหันหน้าเข้าหากันแล้วก็หาวิธีการที่เหมาะสม ในช่วงระยะเวลาที่เป็นปัญหามาก ๆ ในขณะนี้ ใครที่มีที่ดินมาก ๆ วันนี้มีข่าวว่ากลัวภาษีมรดก ก็มีการโอน เปลี่ยนมือให้ลูกหลาน ทุกวันนี้ก็มีเป็นจำนวนมากพอสมควร ไม่ต้องกลัว รัฐบาลดูทุกอย่างอยู่แล้ว ขั้นต่อไปภาษีที่ดินก็ต้องปรับขึ้นอยู่แล้วในอนาคต ให้ทันกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ให้ทันกับราคาขายในปัจจุบัน
 
สำหรับผู้ที่มีที่ดินมากและไม่ได้ทำประโยชน์ ก็อยากจะให้มองให้กว้าง ๆ ยาว ๆ ว่ารัฐมีวัตถุประสงค์อะไร คือรัฐต้องการให้มีการกระจายการถือครองที่ดินออกไปอีก หรือไม่ก็ต้องให้เช่าทำประโยชน์มากกว่าไปเก็บไว้เฉย ๆ ภาษีที่ดินก็ต้องสูงขึ้นเป็นทวีคูณ ในระยะต่อไป ภาษีมรดกกำลังให้ดูว่าถ้าโอนไปแล้ว แล้วยังไม่ได้ขายต่อ ไม่มีเงินสดจะทำอย่างไร จะเสียภาษีได้อย่างไร ไม่ใช่ว่าเราต้องการให้ชาวไร่ชาวนาที่ได้รับมรดกแล้วต้องขาย นำเงินมาเสียภาษี ถ้าคิดแบบนี้ ผมว่าเราคงเป็นรัฐบาลไม่ได้ เราต้องดูในทุกมิติ รัฐบาลนี้ก็มองให้ทะลุทุกปัญหา ไม่สร้างภาระ แต่ทำอย่างไรจะลดความเลื่อมล้ำให้ได้ ทำอย่างไรจะเป็นสัญลักษณ์ให้ได้ว่าเราก็มีการดูแลซึ่งกันและกัน รายได้ที่ได้กลับมาเป็นรายได้ของรัฐอยู่แล้ว แล้ววันนี้รัฐก็ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ในการแก้ปัญหาของเดิม ในการจะดำเนินการในเรื่องใหม่ ๆ เรื่องที่เป็นความต้องการ เรื่องที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชนต้องใช้เงินอีกมากมาย และเราจำเป็นที่จะต้องมีรายได้เพิ่มบ้าง มากน้อยก็แล้วแต่ ไม่อยากให้หวังแต่จะกู้เงินแต่เพียงอย่างเดียว
 
เรื่องของการกำหนดพื้นที่ หรือการทำโซนนิ่งนั้น ก็ต้องสอดคล้องกับการบริหารจัดที่ดิน การจัดหาแหล่งน้ำ การหาพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ กับอากาศ อาจจะปลูกได้ไม่เหมือนกัน อันนี้ก็ต้องขอความร่วมมือเช่นกัน ต้องมีการนำร่องจากประชาชนที่มีส่วนร่วม เข้าใจ และส่วนราชการที่มีความพร้อม รัฐต้องดำเนินการในเชิงรุก ถ้าเราเร่งประกาศไปแล้วก็บังคับกัน คงเป็นปัญหาอีกต่อไป คงใช้ตามความสมัครใจ คือมีน้ำก็ปลูกพื้นใช้น้ำได้มาก มีน้ำน้อยก็ปลูกพื้นใช้น้ำน้อย หรือเปลี่ยนพฤติกรรมไปเป็นอย่างอื่น อันนี้ผมคิดว่าคงต้องใช้เวลาในการแก้ไขอีกนานพอสมควร เรามีความละเอียดอ่อนในการคิด ในการที่จะทำแผนงานโครงการให้มีความต่อเนื่องสอดคล้องกัน
 
ส่วนการบริหารราชการของรัฐบาลและข้าราชการ วันนี้กำลังเป็นไปได้ด้วยดี มีการบูรณาการทั้งแผนงาน โครงการ งบประมาณ มีนโยบายในการขับเคลื่อน มีการปฏิบัติทั้งในระดับบนและระดับพื้นที่ มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความโปร่งใส โดยรัฐบาล และ คสช. อีกทางหนึ่งด้วย รวมทั้งจะมีการจัดชุดลงไปตรวจสอบโครงการในทุกพื้นที่ในระยะต่อไป เมื่อมีการก่อสร้าง มีการประมูลไปแล้ว ให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง รวมทั้งขณะนี้รัฐบาลกำลังตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทางรถไฟ การโซนนิ่งพื้นที่เกษตร การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
 
สำหรับปัญหาเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐนั้น ต้องเข้าใจว่า งบประมาณรัฐนั้น ไม่ได้ใช้ง่ายนัก ขณะมีระเบียบ มีข้อบังคับมากมายก็ยังมีการทุจริต มีความไม่โปร่งใสเป็นที่สงสัยต้องมีการตรวจสอบต่อไป เพราะฉะนั้น วันนี้เมื่อรัฐอนุมัติไปแล้วในนโยบายหลาย ๆ เรื่อง การเบิกจ่ายนั้น จำเป็นต้องมีการตรวจสอบแผนงานโครงการก่อนว่ามีความพร้อมหรือไม่อย่างไร การเบิกจ่ายก็มีขั้นตอนอีกหลายขั้นตอนมากมาย อันนี้เป็นระเบียบเดิมที่มีอยู่แล้ว ขณะนี้กำลังปรับแก้ว่าจะทำอย่างไร จะเกิดความสะดวก รวดเร็วขึ้น ทำให้เสร็จในพื้นที่ได้หรือไม่ ส่วนกลางอาจจะต้องลงไปทำงบประมาณในพื้นที่เองด้วยกับหน่วยงานท้องถิ่น แล้วก็เสนอเข้ามาเพื่อเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติได้หรือไม่ ขณะนี้กำลังเร่งรัดในเรื่องนี้อยู่
 
เรื่องข้อมูลพื้นฐานก็ต้องแก้ไข ข้อมูลเกี่ยวกับประชาชน เกี่ยวกับความยากจน เกี่ยวกับความจำเป็นขั้นพื้นฐานเหล่านี้ไม่ทันสมัยทั้งสิ้น เราต้องลงไปแก้ไขทุกเรื่องไปในขณะนี้ เราต้องแก้ทั้งกฎหมาย แก้ระเบียบ บางอย่างนั้นหลายคนอาจจะมองจ่ายเงินทำไมช้านัก ก็มีข้อมูลไม่สมบูรณ์ที่ผ่านมาไม่สมบูรณ์ พอจะใช้วันนี้ใช้ไม่ได้ ก็ต้องไปตรวจสอบก็ทำให้เกิดความล่าช้าประชาชนก็เดือดร้อน ผมคิดว่าวันหน้าจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก ข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ต้องแก้ไขในเรื่องของศูนย์ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ให้เรียบร้อย ทันสมัยแล้ว และถูกต้อง ประชาชนก็ต้องให้ความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของที่ เจ้าของนา เจ้าของสวนก็ต้องยอมรับในการปฏิบัติตามกฎหมาย ตามกฎระเบียบว่าใครให้เขาเช่าหรือเป็นเจ้าของเอง อะไรเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดการทุจริตได้ทั้งสิ้น ก็ขอความร่วมมือ เพราะฉะนั้น ในส่วนของท้องถิ่นกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเหล่านี้จะต้องเป็นผู้ที่สามารถรับรองได้ความถูกต้องถ้าหากว่า มีการตรวจสอบแล้วไม่ชัดเจนก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ก็ไม่อยากให้เดือดร้อนก็เตือนกันไว้ก่อนแล้วกัน ไม่อยากให้เป็นปัญหาทางกฎหมายระยะต่อไป ต้องแก้ไขหลาย ๆ เรื่อง เรื่องเหล่านี้ วันหน้าผมก็ได้มีโอกาสมาเล่าให้ฟังอีกหลายเรื่องที่ทำไปแล้ว
 
ถ้าดูจากสรุปการทำงานในห้วง 3 เดือน ที่ผ่านมาของรัฐบาลหรือ 4 เดือนของ คสช. ก็จะเห็นว่ามีการสรุปมาเป็นเล่ม ๆ หนาหลายหน้า แล้วก็ทุกอัน ทำด้วยลักษณะการบูรณาการทั้งสิ้นจะเห็นได้ว่ามีทั้งกฎหมายมีทั้งระเบียบ มีทั้งวิธีการบริหารจัดการ มีทั้งการตรวจสอบอะไรต่าง ๆ ซึ่งบางอย่างนั้นผลออกมายังไม่เป็นรูปธรรม แต่วันหน้าจะต้องดีขึ้นกว่าเดิม เพราะว่าที่ทำนั้นทำใหม่วิธีการใหม่คือทั้งหมด ไม่ได้ทำในแนวทางอันเดิม ทุกอย่างทำให้เพื่อจะระมัดระวังการรั่วไหลแล้วก็ทำให้เกิดภาคในการผลผลิต ให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม แล้วก็เป็นที่พึงพอใจของประชาชนโดยในภาพรวม
 
ขณะนี้ผม และรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วย ตลอดถึงข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามอยู่เพื่อจะทำเพื่อพ่อแม่พี่น้อง ผมบอกแล้วว่าเราต้องมาช่วยกันสร้างประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้น นอกจากพวกเราแล้ว ก็ยังเป็นพวกท่านด้วยทั้งพี่น้อง พ่อแม่พี่น้องเกษตรกร อาชีพทุกอาชีพ ก็ต้องรู้ว่าเรากำลังร่วมมือทำอะไรกันอยู่ ก็คือการปฏิรูปประเทศ เพราะฉะนั้น การปฏิรูปทุกอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นอาชีพ รายได้ กฎหมายหรือวิธีการปฏิบัติงานทั้งหมดเราต้องร่วมมือกัน ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำข้างเดียวเป็นไปไม่ได้ที่เราจะแก้ไขได้ให้เข้มแข็งในระยะยาว เราควรจะต้องพิจารณาแล้วว่า เราจะทำตัวกันอย่างไร จะเชื่อฟังกันอย่างไร สื่อก็ต้องช่วยกันอะไรที่เป็นสิ่งที่ดี ๆ ที่เราพยายามทำอยู่ก็กรุณาทำความเข้าใจด้วย สร้างความเข้าใจนะครับ
 
ถ้าหากว่าทุกเรื่องที่เราคิดทำใหม่ออกมาแล้ว แล้วก็มาจับเป็นผิดทั้งหมดก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งก็ไม่เกิดความร่วมมือ เพราะฉะนั้นอะไรที่ดูแล้วน่าจะต้องดีกว่าเดิมก็ขอความร่วมมือกัน สื่อช่วยสร้างความเข้าใจด้วย อย่าคิดแต่เพียงว่าอันนี้ไม่ดี ถ้าดีแล้วก็ไม่พูดถึงกันแล้วก็จะแก้ปัญหาทุกอย่างด้วยความรวดเร็ว ผมว่าก็จะกลับไปที่เก่า เหมือนเดิมเสียเวลาเปล่า เพราะฉะนั้น อยากให้ทุกคนมาช่วยกันทั้งรัฐ ทั้งเอกชน ภาคประชาสังคม แล้วก็ในส่วนของสิทธิมนุษยชน ในส่วนของสื่อ ในส่วนของอะไรต่าง ๆ ช่วยกันสร้างบรรยากาศให้คนไทยมีความสุขบ้าง วันนี้เรามีความขัดแย้งกันมานานพอสมควรแล้ว วันนี้เราก็กำลังเร่งแก้ปัญหาทุกมิติอยู่ให้ทันกับเวลาที่เรากำหนดไว้
 
เรื่องของการบริหารจัดการน้ำ เรื่องรถไฟ เรื่องรถไฟฟ้า เรื่องพลังงาน เรื่องการลงทุนจากต่างประเทศ BOI เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ เรื่องการหาตลาดเพิ่มจากต่างประเทศ เรื่องเศรษฐกิจในภาพรวม เรื่องการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ประมง แรงงาน การศึกษา เศรษฐกิจชุมชน ทุกอย่างมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงไปหมด เราต้องมองภาพใหญ่ ด้วยแล้วก็ถอยหลังมาสิว่าภาพเล็กเป็นอย่างไร ชุมชนเป็นอย่างไร ประชาชนประกอบการเป็นอย่างไร ถ้าเรามอง 2 ทาง ย้อนกลับไปมาจะเห็นวิธีการว่าเราจะทำกันอย่างไร แต่การที่จะนำทั้ง 2 อย่างไปเชื่อมโยงกันได้นั้น ต้องอาศัยเวลาที่ผ่านมานั้นอาจจะน้อยเกินไป อาจจะไม่ได้ทุ่มเทกัน แต่วันนี้เราทุ่มเททุกอันก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก
 
อันนี้ไม่ใช่ข้อแก้ตัวเพียงแต่ว่าทุกคนต้องเข้าใจ ถ้าทำงานในภาพใหญ่หรือการบริหารราชการแผ่นดินนั้น เป็นเรื่องที่ซับซ้อน ทั้งข้อกฎหมาย ทั้งวิธีการ ทั้งเจ้าหน้าที่ ประสิทธิภาพหน่วยงานต่าง ๆ มากมายไปหมด เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเรามาโจมตีกันเป็นเรื่อง ๆ นำเรื่องเล็ก ๆ มาโจมตี จะทำให้ภาพใหญ่เสียหาย วันนี้ก็ทำอะไรไม่ได้ทั้งหมด ก็เดินหน้าไม่ได้เหมือนเดิม เพราะต้องเริ่มจากเล็กไปใหญ่ทั้งสิ้น ต้องแก้จากเล็ก ๆ ขึ้นไป อันไหนแก้ได้เร็วก็ไปสู่ตรงกลาง ไปสู่ตรงปลายได้โดยเร็ว ถึงจะเกิดความยั่งยืนขึ้น เพราะฉะนั้นเราต้องเร่งกันในเรื่องของการปูพื้นฐาน ในเรื่องของการคิด การทำ ความร่วมมือ การบูรณาการ ประสานงาน
 
เพราะฉะนั้นผมได้กำหนดวิสัยทัศน์ 5 ปีของประเทศไทยไว้แล้ว พ.ศ. 2558 - 2562  5 ปี ที่เราถึงจะเดินอย่างที่ผมพูดไว้ได้ทั้งหมด ปีเดียวเดินไม่ได้หรอกครับ ปีเดียวผมก็วางพื้นฐานไว้ให้ท่าน อีก 4 ปี ท่านก็ไปเดินของท่านต่อไปให้ได้ก็แล้วกัน เพราะฉะนั้น วิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้คือ การคาดหวังหรือความหวังของพวกเราว่า 5 ปีข้างหน้าเราจะเป็นอย่างไร ประชาชนคนไทยต้องพยายามคิดแบบนี้ ถ้าเราไม่คิดแบบนี้ เราก็ไม่มีอนาคต เราต้องมองอนาคตของเรา 5 ปีข้างหน้าเราจะเป็นอย่างไร เราจะต้องเป็นประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
 
เราต้องช่วยกันทำให้ได้ ช่วยกัน ไม่ใช่ทำลายกันทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม ฝ่ายการเมือง คู่ขัดแย้งอะไรก็แล้วแต่ ต้องช่วยกัน ประเทศเป็นของพวกเราทุกคน ท่านจะเห็นต่างกันแต่ท่านทำลายกันไม่ได้ เพราะเท่ากับท่านทำลายประเทศไทย ทำลายคนไทย ทำลายลูกหลานของท่านเอง ทางการเมืองท่านก็ว่ากันไป แต่ในทางการปฏิบัติวันนี้เราเข้ามาดำเนินการให้ท่านอยู่แล้ว เพื่อจะเตรียมการเข้าไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนการ เข้ามาสู่อำนาจต่าง ๆ นั้น ท่านก็เตรียมการของท่านให้พร้อม เตรียมบุคลากร เตรียมคนของท่าน เตรียมความรู้ความสามารถของท่าน แล้วก็หากเป็นไปได้ก็มาสานต่องานที่เราทำไว้ให้กับท่านทั้งหมดไป แล้วก็ไปปรับปรุงแก้ไขอะไรก็ได้ ถ้าคิดว่าทำได้ดีกว่านี้ หลายอย่างในขณะนี้ ผมว่ายังไม่พร้อม ไม่พร้อมหลายอย่างยังมีความขัดแย้ง หลายอย่างยังไม่ได้ข้อยุติ หลายอย่างยังวางพื้นฐานไม่ได้แต่ผมก็พยายามทำให้ได้ตามเวลาที่กำหนดไว้
 
เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ผมก็ได้เป็นประธานการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์แล้วก็การประมงด้วย รวมความไปหลายอย่างด้วยกันเรื่องค้ามนุษย์ เรื่องประมง มารวมความไปถึงเรื่องโสเภณี เรื่องการใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานทาสแล้วก็ปัญหาหลัก ๆ ที่สำคัญ ๆ ก็คือการสร้างความเข้าใจในเรื่องของการลดระดับของต่างประเทศ ขององค์กรการค้าสากลที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ เราต้องรีบแก้ให้เร็ว เขาให้เวลาเรามาหลายปีแล้ว ก็เพิ่งจะได้มาดำเนินการในสมัยรัฐบาลนี้ ที่จะทำให้เป็นรูปธรรมให้ได้ เราก็เร่งรัดในการประชุม ในการดำเนินการแล้วก็ให้ความสำคัญให้ต่อเนื่องแล้วก็เป็นเรื่องของการดูแล คุ้มครองบุคคลตามสิทธิมนุษยชนให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัยและสมศักดิ์ศรี แรงงาน ลูกจ้าง ไม่ว่าจะเป็นแรงงานต่างด้าว หรือแรงงานภายในประเทศก็ตาม ต้องสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัยและสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เราให้ความสำคัญในเรื่องนี้
 
รัฐบาลก็ได้กำหนดให้การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นวาระเร่งด่วน ผมได้กำชับทุกหน่วยงาน ให้เร่งเดินหน้าผลักดันการแก้ไขปัญหาในทุกมิติ มีการรายงานผลทุกเดือนเพื่อให้เห็นถึงความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 5 คณะ เพื่อจะไปขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์มีทุกมิติ ทั้งในภาคประมง การค้าประเวณีเด็กและสตรี แรงงานบังคับ แรงงานต่างด้าว เหล่านี้เป็นต้น ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานได้เร่งดำเนินการในทันที มีแผนงานระยะสั้น ระยะยาว เรื่องเร่งด่วน แล้วก็ได้ย้ำว่าคดีทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับในเรื่องของการค้ามนุษย์เหล่านี้นั้น ต้องดำเนินอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะระดับใด พวกแกนนำ พวกเจ้าหน้าที่ที่กระทำการทุจริตเหล่านี้ จะต้องเร่งดำเนินการลงโทษให้สมกับความผิด ทั้งทางวินัยและอาญาด้วย อันนี้ได้สั่งการไปชัดเจน
 
นอกจากนี้ จะต้องมีการคุ้มครองและช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อด้วย ก็ต้องระมัดระวัง เพราะเวลาเขาได้ข่าวไปอะไรออกไปก็ได้จากสื่อด้วย สื่อซึ่งเสนอข้อเท็จจริงบ้าง ไม่จริงบ้างอะไรเหล่านี้ ที่จริงก็โอเค ถ้าไม่จริงออกไป ก็ไปทำให้ต่างชาติเข้าใจเราผิดเหมือนกัน อีกเรื่องหนึ่งก็คือในเรื่องของการที่เขาหาข้อเท็จจริงจากเหยื่อ คำว่าจากเหยื่อก็คือจากผู้ที่ถูกจับกุมมาแล้ว ซึ่งบางครั้งการที่เราเปิดโอกาสให้มีการซักถามโดยตรงบางที เขาก็ไม่ได้พูดความจริงออกไป เมื่อไม่พูดความจริงออกไป ข้อมูลต่าง ๆ ก็ผิดไปหมด เพราะฉะนั้นคงต้องระมัดระวัง ผมไม่ได้ห้ามว่า ไม่ให้ความเป็นธรรมเขา เพียงแต่ว่าช่วยกันกำกับดูแลหน่อยถึงว่าสิ่งที่เขาพูดออกไปหรือเป็นข่าวไปถูกต้องแท้จริงหรือไม่ ถ้าจริงเราก็ยอมรับแล้วก็นำไปสู่การแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ใครผิดก็ต้องว่าไปตามผิด
 
ด้านการประมงนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่า เรามีข้อจำกัดหลายเรื่องแล้วเราเป็นประเทศที่มีรายได้จากการส่งสินค้าจากการประมงมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลกนี้ เรามีความเข้มแข็ง เราก็ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการในเรื่องของการเจรจาข้อตกลง หรือ MOU เรื่องประมงกับประเทศในภูมิภาค เพื่อนำไปสู่การแก้ไขการค้ามนุษย์ในภาคประมง ถ้าเริ่มผิดแล้ว ถ้าเริ่มผิดกฎหมายตั้งแต่เรือ ผิดแรงงานบนเรือประมงผิด ก็ผิดไปทั้งหมด วันหน้าก็ขายของอะไรเขาไม่ได้ เพราะฉะนั้น วันนี้ต้องขอความร่วมมือในเรื่องของการจดทะเบียนต่าง ๆ การทำประมงที่ผิดกฎหมายจะต้องแก้ไข เราถูกจับกุมในประเทศเพื่อนบ้านหลายลำด้วยกัน แล้วก็จะต้องถูกจมเรือด้วย เพราะเรือบางลำนั้นมีซ้ำกันหลายลำ และเข้าไปในเขตที่ไม่ได้สัมปทานหรือไม่ได้รับอนุญาต ต้องยอมรับกัน และเราก็ต้องแก้ไข ถ้าเรามัวแต่รักษาผลประโยชน์แต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่เคารพกฎกติกาอะไร วันหน้าเราก็ค้าขายกับใครเขาไม่ได้ วันนี้ประเทศไทยพร้อมที่จะเป็นผู้ริเริ่มผลักดันการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย และแก้ไขปัญหาในเรื่องของการค้ามนุษย์ในภาคการประมงร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านของไทยด้วย เราขัดแย้งกันไม่ได้
 
วันนี้กระทรวงแรงงานได้มีการดำเนินการคืบหน้าไปหลายประเด็น เช่น การแก้ไขกฎกระทรวง เพื่อให้มีการคุ้มครองแรงงานในภาคการเกษตร ในภาคแรงงานประมงทางทะเล กำหนดอายุเด็กที่ไม่ต่ำกว่า 15 ปีในภาคการเกษตรและไม่ต่ำกว่า 18 ปีในงานประมงทะเล อย่าให้ผิด ผู้ประกอบการก็อย่าไปจ้างเด็กที่อายุน้อยกว่านี้ และเราก็มีการบังคับให้ต้องมีการจัดทำสัญญาจ้างก่อนลงเรือด้วย กำหนดให้นายจ้างต้องอนุญาตให้แรงงานมีเวลาพักผ่อนที่เหมาะสม กำหนดการจ่ายเงินโดยห้ามหักค่าใช้จ่าย และมีรายละเอียดอื่น ๆ อีกมากมาย ในการที่จะคุ้มครองแรงงานให้ได้มาตรฐานสากลอีกด้วย
 
สำหรับประเด็นปัญหาที่สังคมมีการกล่าวถึงขณะนี้ มีหลายอย่างด้วยกัน ก็มีการแก้ปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่มีการขายเกินราคาและไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่นั้น มีปัญหาทับซ้อนกันหลายเรื่อง ทั้งระยะทาง โควตาฉลาก ทั้งราคาที่ทุกพวกทุกฝ่ายต่างก็พยายามจะได้ประโยชน์ให้มากที่สุด วันนี้ทั้งรัฐบาล ทั้งบอร์ดและกองสลาก กำลังดำเนินการแก้ไขอยู่ แต่ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงวิธีรการเลย ก็จะทำอะไรไม่ได้แน่นอน ต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการบ้าง สิ่งนี้ก็ขอให้ใจเย็นๆ แต่ขอเรียนว่าปัญหาการขายเกินราคานั้น เป็นเพราะกลไกตลาดของสลากกินแบ่งมีความซับซ้อน มีระบบโควตา มีพ่อค้าคนกลาง มีการปั่นราคากัน สมยอมกัน นำมารวมเล่ม รวมฉบับกันอะไรทำนองนี้ เพราะฉะนั้นทางที่จะสามารถแก้ไขได้คือ การแก้กลไกของการซื้อขาย เป็นทางเลือกซึ่งกำลังทำอยู่ ต้องใช้เวลา ต้องแก้ไขกฎหมาย
 
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็คำนึงถึงประชาชนผู้ที่ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อย ที่อยู่ในระบบการค้าขายสลากจะต้องไม่เดือดร้อน รัฐไม่ต้องการที่จะใช้เงินเหล่านี้มาเป็นรายได้หลัก แต่เป็นการประกอบการของประชาชนจำนวนมากที่มีอาชีพเหล่านี้ ประการแรก ส่วนประการที่สองคือ เป็นสิ่งที่ประชาชนยังต้องการอยู่ เพราะฉะนั้นในกรณีที่มีการเรียกร้องอะไรต่าง ๆ นั้น ก็ขอเวลาให้เราสักเล็กน้อย กำลังทำอยู่ ใช้เวลาเหมือนกัน
 
กรณีการเรียกร้องการคิดอัตราค่าโทรศัพท์เป็นวินาทีนั้น ผมก็ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เรียนกับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไปแล้ว ได้หารือกับผู้ประกอบการไปแล้ว สรุปว่าผู้ให้บริการมือถือ ทั้ง 5 ค่าย วันนี้ทั้ง 5ค่าย ได้เห็นชอบร่วมกัน ยึดถือผลประโยชน์ผู้บริโภค เป็นการแก้ปัญหาระยะแรก เร่งด่วน โดยจะให้ความเป็นธรรมกับประชาชนตามที่มีความเห็นมาจาก สปช. ด้วย ผู้ใช้บริการมือถือนั้น อยากให้มีการปรับการคิดค่าบริการเป็น "วินาที" ตามจริง แทนการ "ปัดเศษวินาที ขึ้นเป็นนาที" ซึ่งอาจจะมองว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน วันนี้รัฐบาลจะเร่งดำเนินการในระยะที่ 1 ให้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2558 ที่จำเป็นต้องทำอย่างนี้เพราะว่า ต้องไปแก้ไขระบบต่าง ๆ เพราะ set ไว้หมดแล้วในช่วงที่ผ่านมา ถ้าจะทำใหม่ก็ต้องใช้เวลาในการ set เครื่องไม้เครื่องมืออีก และก็ไปปรับแก้วิธีการเก็บเงินเก็บทองอีก ไม่ใช่สั่งวันนี้แล้วพรุ่งนี้ได้ ต้องใช้เวลา เขาก็จะเริ่มทำ จัดทำเป็น Promotion  เป็นทางเลือก เพราะที่ผ่านมาเท่าที่ผมติดตาม มีทางเลือกอยู่หลายทางด้วยกัน บางคนก็เลือกแบบนี้ แบบนั้น บางแบบก็ถูกดี บางแบบก็ดูได้หลากหลายวิธีการที่จะใช้ ก็ขอให้เป็นเรื่องของความสมัครใจด้วย ขอให้ร่วมมือกันระหว่างรัฐ และผู้ให้บริการ และผู้ใช้ เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ถ้าเราต่างฝ่ายต่างมองในทางที่ไม่ดีต่อกัน ก็ไปกันไม่ได้ ทุกอย่างมีการลงทุน มีกฎหมายคุ้มครอง วันนี้ต้องใช้ความร่วมมือไปก่อน ต่อไปเห็นว่าจะต้องแก้ไขเป็นระบบให้ยั่งยืน ทาง สปช. ก็มีการพูดคุยหารือเรื่องเหล่านี้ต่อไป
 
ส่วนของปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาของพี่น้องในภาพรวมนั้น เราไม่นิ่งเฉย ทุกเรื่องทำได้เราทำทันที ในส่วนต่อไปเราก็จะทำให้เป็นระยะยาวขึ้น
 
สำหรับในวันพรุ่งนี้ ก็จะวันสำคัญอีกวันหนึ่ง “เป็นวันเด็กแห่งชาติ” เด็กก็คืออนาคตของประเทศ ในวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมทุกปี ในสัปดาห์หน้านั้น วันที่ 16 มกราคม ก็เป็นวันครู วันครูกับวันเด็กก็มีความสำคัญ ผมอยากจะกล่าวถึงเด็ก ๆ ก่อนว่า เป็น “อนาคตของชาติ” เป็น “ผู้สร้างอนาคตของชาติ” หรือแม้กระทั่งคุณครู ก็เป็น “ผู้สร้างอนาคตของชาติ” เช่นเดียวกัน ร่วมมือกันเพื่ออนาคต
 
วันเด็กแห่งชาติในปีนี้นั้น ผมในฐานะนายกรัฐมนตรี ก็ได้มอบคำขวัญประจำปีให้กับเด็กไทยทุกคนไปแล้วว่า “ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต” ซึ่งจะเป็นรากฐานในการที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ของรัฐบาลปี 2558 - 2562 ที่ว่า “ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง อย่างยั่งยืน” ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมคิดว่าเด็กทุกคนต่างก็รู้ดีอยู่แล้วว่า “การเป็นคนเก่งนั้นไม่เพียงพอ ต้องเป็นคนดี มีคุณธรรมด้วย จึงจะทำให้ทุกคนมีอนาคตที่ดี ที่สดใส” คงไม่ใช่เฉพาะอนาคตของตนเอง แต่รวมไปถึงอนาคตของครอบครัว ของชาติด้วย ที่จะต้อง “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” เริ่มจากสถาบันครอบครัวก่อน ตนเอง และครอบครัว และประเทศชาติ
 
ผมไม่อยากให้คำขวัญเหล่านี้เป็นวาทกรรมประจำปี หลายประเทศเขามีคำขวัญ มีคำที่เรียกว่าเป็น “คติพจน์” คือ ถ้าทุกคนยึดถือแล้วคิดตาม และทำตาม ก็ทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ทั้งตนเอง ทั้งส่วนรวมด้วย อะไรด้วย ผมไม่อยากให้เป็นเพียงวาทกรรมเฉย ๆ ว่า ปีนี้คำขวัญว่าอะไร ปีหน้าจะว่าอะไร แล้วไม่รู้ ก็ท่องจำไป แลกรางวัลไป ไม่ใช่ วันนี้ต้องเข้าใจว่า ความรู้คืออะไร ความรู้ รู้อย่างไร ศึกษาอย่างไร ศึกษาส่วนตัว ศึกษาในระบบ ศึกษาตามอัธยาศัย ศึกษานอกโรงเรียน และการอ่านหนังสือ การเรียนรู้จากประสบการณ์ จากข้อเท็จจริง อะไรเหล่านี้ คือความรู้ทั้งสิ้น และคุณธรรมคืออะไร คือรู้ว่าอะไรที่ดีเราก็ทำ อะไรที่ไม่ดีเราก็อย่าไปทำ มีคุณธรรม นึกถึงคนอื่น เผื่อแผ่แบ่งปัน ทำนองนี้ และในเรื่องของนำสู่อนาคต ถ้าเราไม่เป็นคนไม่ดี เป็นคนไม่มีความรู้ไปอีกยิ่งไปกันใหญ่ ไม่มีอนาคตแน่นอน วันหน้าก็ต้องไปติดคุก ไม่มีงานทำ ติดยาเสพติด แต่ถ้าเรามีความรู้ เราก็ไม่ติด ยึดในสิ่งอันตรายเหล่านี้ เราก็จะมีคุณธรรมด้วย จะเจริญเติบโต วันข้างหน้าถ้ามีโอกาสได้ปกครองบ้านเมือง เป็นข้าราชการ อะไรต่าง ๆ เราก็จะทำให้สังคมมีคุณธรรม และเกิดจริยธรรมขององค์กรเกิดขึ้นมา ประเทศชาติก็ปลอดภัย และก็เดินต่อไปในข้างหน้าได้ อันนี้ก็อยากให้คิดให้ถี่ถ้วน ความรู้คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต ไม่อยากให้ท่อง ๆ แล้วก็จบไป  แลกรางวัล ร้องเพลง แล้วก็จบ
 
ฝากผู้จัดงาน หน่วยราชการ และโรงเรียนต่าง ๆ ต้องสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นการปลูกฝังด้วย เป็นการจัดสร้างความรู้ให้เด็ก ให้เด็กได้รักการอ่าน ทำอย่างไร มีความเข้าใจอย่างไร ให้เด็ก ๆ ของเราได้นำคำขวัญเหล่านี้ไปเป็นคติประจำใจ ยึดถือและปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวันของเขาด้วย เช่นเดียวกับที่ผมฝากไว้คือเรื่องค่านิยม 12 ประการ วันนี้อาจจะดูว่าจะได้อะไร แต่ผมคิดว่าจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ตนเอง ให้ตนเองมีความภาคภูมิใจติดกับตัวไว้ในอนาคต เราก็จะเป็นทั้งคนดี คนเก่งด้วย เราต้องปลูกฝังจิตสำนึกไว้ก่อน ความเข้าใจที่ถูกต้อง ถ้าเราปลูกฝังเฉพาะเรื่องประชาธิปไตย เรื่องเสรีภาพอย่างเดียว ไม่มีคำว่าหน้าที่ หรือไปเน้นด้านวัตถุแต่อย่างเดียว ด้านเทคโนโลยีอย่างเดียว ก็ไปไหนไม่รอดทั้งสิ้น ผู้รู้ก็ได้กล่าวไว้แล้วว่า บันไดในการปลูกฝังมีอยู่ 3 ขั้นตอน คือ 1. การสร้างความตระหนักรู้และเข้าใจ  2. ต้องลงมือทำ ไม่ใช่แค่ท่องจำ แต่ต้องนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และที่สำคัญที่สุด คือ 3. การสร้างสภาพแวดล้อม ทุกคนในสังคมก็ต้องเป็น “ต้นแบบ” ที่ดี ทำให้เด็กดูในครอบครัว ในสังคมผู้ใหญ่เป็นตัวอย่างกับเด็ก เมื่อเด็กเห็นคนรอบข้างหรือคนในสังคมประพฤติดี ปฏิบัติชอบ เด็กก็จะเกิดการรับรู้และทำตาม นำไปประยุกต์ใช้ เมื่อเจริญเติบโตก็จะเป็นอนาคตที่ดีของชาติต่อไป ก็ต้องขอฝากพ่อแม่พี่น้องประชาชน ช่วยกันทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก มีการสร้างความตระหนักรู้ ให้เขาเข้าใจ และทำสิ่งที่ดี ๆ เพื่อจะนำไปสู่อนาคต นำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนด้วย
 
เรื่องสุดท้าย ผมขอให้ติดตามความก้าวหน้าในการประชุมที่ ครม. ได้มีการสั่งการไปแล้วทุกสัปดาห์ มีความเคลื่อนไหวในทุก ๆ ด้าน ในสื่อที่เป็นกลาง โดยเฉพาะด้านสื่อเศรษฐกิจ ผมก็เห็นเขาสรุปมาดี เห็นมีความก้าวหน้าในหลาย ๆ เรื่องด้วยกัน และก็ทำให้สังคมคลายความตื่นตระหนกไปบ้างหลาย ๆ ประเด็น สำหรับสื่อการเมืองผมก็ไม่สามารถจะห้ามได้ พวกนี้ก็จะติดตามเรื่องการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของความขัดแย้ง บางครั้งอ่านแล้วก็ไม่สบายใจ ขอให้ลดลงไปบ้าง ความขัดแย้งก็เสนอลดลงไปบ้าง แต่ผมก็บังคับท่านไม่ได้อยู่แล้ว เป็นหน้าที่ของสมาคมสื่อจะต้องรับผิดชอบ กรณีที่ทำให้เกิดความวุ่นวายหรือความขัดแย้ง หรือความรุนแรงเกิดขึ้น ก็ต้องไปว่ากันอีกครั้ง
 
ขอให้ทุกคนช่วยกัน ผมไม่โทษใคร ทุกคนต้องมาช่วยกัน ถ้ารัฐ เอกชน ประชาชนร่วมมือกัน ก็ต้องมีเครื่องมือในการที่จะทำให้ทุกอย่างนั้นเดินไปในแนวทางเดียวกัน สร้างความรู้ความเข้าใจ ความตระหนักรู้อย่างมีสติ เราก็จะไม่ขัดแย้งกันอีก ถ้าขัดแย้งต่อไปก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ลองดูอีกที สถานการณ์ต่างประเทศเป็นอย่างไร หลาย ๆ อย่างเป็นปัญหาไปทั้งหมด
 
เพราะฉะนั้นประเทศไทยต้องใช้เวลาตรงนี้ ทำอย่างไรให้เราเข้มแข็ง เพื่อจะรองรับสถานการณ์ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในภูมิภาคของเราในอนาคตหรือในประเทศของเราในอนาคตก็ได้ เราต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม วันนี้อย่าเอาเรื่องอะไรที่ไม่ใช่ เรื่องของชาติบ้างเมืองมาทะเลาะเบาะแว้งกันอีกเลย ก็ขอให้ทุกคนนั้น เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้องดีกว่า และประชาชนก็อยู่ในความสงบ อย่าให้ใครเขามาทำลายบ้านของเรา ชุมชนของเรา ครอบครัวของเราได้อีกต่อไป
 
ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนมีความสุขอย่างพอเพียงในปี 2558 คำว่าพอเพียงก็คือ ถ้ามีความสุขมาก ๆ ก็เหลือเผื่อแผ่แบ่งปันคนอื่น ถ้ารายได้น้อย ก็มีความสุขอาจจะน้อยหน่อย แต่ก็ขอให้มีความสุขในครอบครัวของตนเอง อย่าไปใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายเกินตัวเองไป มีความพอประมาณ มีเหตุมีผลในการใช้จ่ายเงิน ใครมีเงินมากใช้มาก มีน้อยใช้น้อย แล้วเหลือก็แบ่งปัน และอดออมไว้บ้างเพื่ออนาคต  ขอให้ทุกคนมีความสุข สวัสดีครับ