วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ชื่อแบรนด์ 'ข้าวชาวนาไทย' ทำไมถึงเป็นของ 'ซีพี'


ขณะที่ ซีพี ออลล์ ระบุเป็นโครงการสนับสนุนข้าวไทยช่วยเหลือชาวนาตามนโยบายรัฐ จำหน่าย 'ข้าวชาวนาไทย' ผ่านร้านเซเว่นฯ ขนาด 5 กิโลกรัม ราคา 125 บาท เริ่มจำหน่ายตั้งแต่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา
21 พ.ย. 2559 จากกรณีวานนี้ (20 พ.ย.59) เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'มิตรสหายท่านหนึ่ง' ได้โพสต์ภาพข้าวถุงตรา 'ข้าวชาวนาไทย' แต่ระบุว่าเป็นบริษัท ข้าว ซีพี จำกัด ส่งผลให้แฟนเพจจำนวนหนึ่งวิจารณ์ว่าจะส่งผลทำให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดคิดว่าเป็นการผลิตและขายโดยชาวนาเองหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา เว็บไซต์บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด ได้รายงานด้วยว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ ผสานพลัง บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ร้านอิ่มสะดวกของคนไทย และกลุ่มธุรกิจในเครือฯ ร่วมสนับสนุนเกษตรกรชาวนาไทยเร่งระบายข้าวเปลือก โดยรับซื้อเร็วขึ้นกว่าฤดูกาลปกติและรับซื้ออย่างเต็มกำลัง และที่สำคัญซื้อในราคานำตลาด พร้อมประกาศเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกตรงจากชาวนา รวม 18 จุดทั่วประเทศ เชิญชวนชาวไทยซื้อข้าวหอมมะลิใหม่ภายใต้แบรนด์  "ข้าวชาวนาไทย" ขายในราคาต้นทุน จัดจำหน่ายตรงสู่มือผู้บริโภค ขนาด 5 กิโลกรัมราคา 125 บาท และอำนวยความสะดวกให้เลือกซื้อได้ผ่านหลากหลายช่องทางจำหน่ายในเครือฯ ทั้ง เซเว่น อีเลฟเว่น แม็คโคร ซีพีเฟรชมาร์ท  ทรูช้อป ทรูคอฟฟี่ และ ทรูซีเลคท์  พร้อมเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกรและชาวนานำข้าวสารมาวางจำหน่ายขายตรงหน้าห้างแม็คโครด้วย
โดย ศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ข้าวเปลือกราคาตกต่ำ และมีปริมาณข้าวเปลือกชุดใหม่ออกสู่ตลาดภายในเวลาเดียวกันจำนวนมาก ส่งผลให้ชาวนาไทยทั่วประเทศประสบปัญหาเดือดร้อน ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วนนั้น เครือเจริญโภคภัณฑ์พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบายภาครัฐช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวนาไทย โดยผนึกกำลังนำศักยภาพของบริษัทในเครือฯ เพื่อร่วมกันช่วยเร่งระบายข้าวเปลือกใหม่  ซึ่งขณะนี้ได้มีนโยบายให้ บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจข้าวในเครือฯ เร่งรับซื้อข้าวเร็วขึ้นจากฤดูกาลเดิม เพื่อช่วยระบายผลผลิตข้าวเปลือกในระบบตลาด พร้อมเปิดจุดรับซื้อข้าวตรงจากชาวนารวม 18 จุดทั่วประเทศ เพื่อนำข้าวเปลือกที่รับซื้อดังกล่าวมาดำเนินโครงการ “ข้าวชาวนาไทย” โดยจะจำหน่ายในราคาต้นทุน นอกจากนี้บริษัทในเครือฯ ทั้ง เซเว่นอีเลฟเว่น  แม็คโคร ซีพีเฟรชมาร์ท  ทรูช้อป ทรูคอฟฟี่ และทรูซีเลคท์ พร้อมให้การสนับสนุนอำนวยความสะดวกเป็นช่องทางจำหน่ายเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาไทย โดยมีขนาด 5 กิโลกรัม ราคา 125 บาท  ยิ่งไปกว่านั้น บมจ. สยามแม็คโคร ยังยินดีที่จะเปิดพื้นที่หน้าห้างแม็คโครทุกภูมิภาคเพื่อให้เกษตรกรได้ขายข้าวสารตรงถึงมือผู้บริโภคอีกด้วย
 
ธานินทร์ บูรณมานิต กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนสินค้าจากผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กหรือเอสเอ็มอี รวมถึงผลิตผลทางการเกษตรที่มีคุณภาพมาตรฐานมาอย่างต่อเนื่องโดยบริษัทจะเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพื่อส่งตรงถึงผู้บริโภคผ่านร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ในห้วงเวลาที่เกษตรกรได้รับผลกระทบจากราคาข้าว เซเว่นฯจึงได้ร่วมให้ความช่วยเหลือโดยการนำข้าวหอมมะลิใหม่ 100 เปอร์เซ็นต์ ตราชาวนาไทย มาจำหน่ายผ่านร้านเซเว่น อีเลฟเว่นทั่วประเทศ 9,431 สาขา บรรจุถุงละ 5 กิโลกรัม จำนวน 120,000 ถุง หรือ 600 ตัน เริ่มจำหน่าย วันที่ 13 พ.ย.2559 ในพื้นที่กทม. และวันที่ 15 พ.ย.59 ในสาขาต่างจังหวัด 

หนี้สาธารณะ ก.ย.อยู่ที่ 5.98 ล้านล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 42.73 ของ GDP


21 พ.ย. 2559 คณะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ รายงานว่า ธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ ได้รายงานสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ดังนี้ หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 ก.ย. 2559 มีจำนวน 5,988,386.53 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 42.73 ของ GDP โดยแบ่งเป็น หนี้รัฐบาล 4,471,220.22 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 994,794.29 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 500,054.33 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 22,317.69 ล้านบาท
โดยมีรายละเอียด ดังนี้ หนี้รัฐบาล จำนวน 4,471,220.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิเล็กน้อย 48,731.69 ล้านบาท โดยเป็นผลจาก การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 2,238.43 ล้านบาท โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งจำนวน การเพิ่มขึ้นของตั๋วเงินคลัง จำนวน 20,400 ล้านบาท การออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารหนี้ เพื่อใช้ในการปรับโครงสร้างหนี้ตั๋วเงินคลัง จำนวน 27,485 ล้านบาท 
การกู้เงินเพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 2,457.95 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น (1) การกู้เงินเพื่อให้กู้ต่อแก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จำนวน 1,420.53 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเขียว และสายสีม่วง และ (2) การกู้เงินเพื่อให้กู้ต่อแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 1,037.42 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัยต่อการเดินรถ โครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย โครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และโครงการก่อสร้างทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น
การชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยจากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง จำนวน 12,406.65 ล้านบาท แบ่งเป็น การชำระหนี้เงินต้นที่กระทรวงการคลังได้ปรับโครงสร้างหนี้แทนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 2,450 ล้านบาท และการชำระหนี้ที่ใช้ในโครงการ DPL จำนวน 1,127.40 ล้านบาท การชำระดอกเบี้ย จำนวน 8,796.11 ล้านบาท โดยเป็นการชำระดอกเบี้ยหนี้ในประเทศ    ทั้งจำนวน 
การชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จำนวน 4,355.83 ล้านบาท โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ แบ่งเป็นชำระเงินต้น จำนวน 1,022.09 ล้านบาท และชำระดอกเบี้ย จำนวน 3,333.74 ล้านบาท ผลของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้หนี้ต่างประเทศสกุลต่างๆ เพิ่มขึ้นสุทธิ 757.97 ล้านบาท

หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน จำนวน 994,794.29 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 1,138 ล้านบาท เกิดจาก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไถ่ถอนพันธบัตรที่ครบกำหนด จำนวน 820 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไถ่ถอนพันธบัตรที่ครบกำหนด จำนวน 1,000 ล้านบาท การเคหะแห่งชาติไถ่ถอนพันธบัตรที่ครบกำหนด จำนวน 1,000 ล้านบาท การชำระคืนหนี้เงินต้นจากสัญญาเงินกู้ (Term Loan) จากแหล่งเงินกู้ต่างๆ ทำให้หนี้ลดลง 2,049.37 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากการชำระคืนหนี้เงินต้นของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,349.37 ล้านบาท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จำนวน 700 ล้านบาท  การรถไฟแห่งประเทศไทยมีการก่อหนี้มากกว่าการชำระคืน ทำให้หนี้เพิ่มขึ้นสุทธิ จำนวน 2,171.32 ล้านบาท ผลของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้หนี้ต่างประเทศสกุลต่างๆ เพิ่มขึ้นสุทธิ 1,480.98 ล้านบาท
หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 500,054.33 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 7,579.29 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการชำระคืนต้นเงินกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจำนวน 3,580.48 ล้านบาท และของธนาคารอาคารสงเคราะห์ จำนวน 3,000 ล้านบาท หนี้หน่วยงานของรัฐ จำนวน 22,317.69 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 958.51 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการชำระคืนต้นเงินกู้ของสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จำนวน 1,101.02 ล้านบาท
หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 จำนวน 5,988,386.53 ล้านบาท แบ่งออกเป็น หนี้ในประเทศ 5,641,948.33 ล้านบาท หรือร้อยละ 94.21 และหนี้ต่างประเทศ 346,438.20 ล้านบาท (ประมาณ 10,083.40 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือร้อยละ 5.79 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาว 5,177,746.27 ล้านบาท หรือร้อยละ 86.46 และหนี้ระยะสั้น 810,640.26 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.54 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด 

ประวิตร ชี้ 'เบส อรพิมพ์' เก่ง-เจตนาดีต่อบ้านเมือง คสช. ขออย่าจับผิดเรื่องค่าตัว


พล.อ.ประวิตร มอง 'เบส อรพิมพ์' เป็นคนเก่งโดยเห็นจากในทีวี ระบุเจตนาดีต่อบ้านเมืองก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย คสช. ขออย่าจับผิดเรื่องค่าตัว ชี้มองประเด็นว่าเอาวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถ ขณะที่ 'พลเมืองต่อต้าน Single Gateway' จี้ สตง.-สรรพากร สอบค่าตอบแทน

21 พ.ย.2559 จากกรณี การพูดถึงคนอีสานกับความรักต่อในหลวง ร.9 ของ เบส อรพิมพ์ รักษาผล นักพูด ที่สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ต่อมา เธอ ได้เปิดเผยผ่านรายการ 'ถามตรงๆ กับจอมขวัญ' ทาง ไทยรัฐทีวี ระบุว่าการพูดในคลิปดังกล่าวเป็นการพูดที่ จ. มหาสารคาม เมื่อช่วงต้นปี 59 ที่ผ่านมา เป็นการพูดในด้านการสร้างจิตสำนึกพลเมือง ในงานของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งไม่ใช่ที่เดียว ไปหลายจังหวัดและหลายภาค (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
ล่าสุดวันนี้ (21 พ.ย.59) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีนี้ด้วยว่า เบสเป็นคนเก่งโดยเห็นจากในทีวี สำหรับการที่กองทัพใช้งานเบสนั้น พล.อ.ประวิตร ระบุว่ายังไม่รู้ข้อเท็จจริง แต่มองว่าเบสเจตนาดีต่อบ้านเมืองก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
"ผมว่าตัวคุณเบสเองเขาก็เก่งนะ ผมก็ดูเขาในทีวี ผมว่าไม่รู้สิในเรื่องของการใช้งานของกองทัพนี่มันไม่ได้มีการขออนุมัตินะ ในเรื่องเหล่านี้ จะจริงจะเท็จอย่างไร ก็ยังไม่รู้นะครับ" พล.อ.ประวิตร กล่าว
ต่อกรณีคำถามว่าได้สอบถามกับทาง กอ.รมน. หรือไม่ว่าที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ยังไม่มี ไม่ได้ถามอะไร  
 
"ผมว่าเขาก็เจตนาดีต่อบ้านเมืองก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย" พล.อ.ประวิตร กล่าว
 

คสช. ขออย่าจับผิดเรื่องค่าตัว ชี้มองประเด็นว่าเอาวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถ

 ขณะที่วานนี้ (20 พ.ย.59) ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การเชิญ อรพิมพ์ รักษาผล หรือ เบส  มาบรรยายให้กับกำลังพลกองทัพบกโดยมีอัตราค่าตอบแทนที่สูง ว่า ใครเป็นวิทยากรที่เก่งๆ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการต่างๆ ทางกองทัพก็จะเชิญมาให้ความรู้กับกำลังพลเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่ใช่เฉพาะน้องเบส คนเดียว หมายความว่า ใครก็ตามที่มีความรู้ความสามารถที่เป็นวิทยากร เราก็จะเชิญมา ซึ่งมาถามว่า เคยเชิญไหม ก็ตอบว่า เคยเชิญมา เพราะว่าน้องเบส เป็นวิทยากรที่พูดโน้มน้าว สร้างความรู้สึกที่ดี มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยหน้าที่แล้วทางคสช. เองก็ปกป้องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามหน้าที่อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่จะเชิญวิทยากรมาพูดเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบัน เพื่อให้กำลังพลได้รับทราบข้อมูล มีวิธีมีแนวคิด และมีวิธีการพูด ได้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เราก็เชิญมา ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เราเชิญวิทยากรมาให้ความรู้เป็นปกติอยู่แล้ว
 
สำหรับประเด็นในเรื่องค่าตอบแทนวิทยากรนั้น พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้รู้ถึงรายละเอียดโหมการจ่ายค่าตอบแทน ว่า จะจ่ายชั่วโมงละ 300 บาท 800 บาท หรือเปล่าประเด็นคือว่า เราเชิญวิทยากรมาพูดในบางครั้งวิทยากรท่านนั้นก็ไม่ได้เรียกค่าตัวเพราะเค้าตั้งใจมาทำงานมาด้วยความสมัครใจ ซึ่งปกติแล้ววิทยากรก็จะมีเรตของการใช้งาน ซึ่งโดยหลักการของกระทรวง ทบวง กรม ก็จะมีเรตเป็นของการจ่ายค่าตอบแทนวิทยากรอยู่แล้ว ตามหลักการใช้งบประมาณในการบริหารราชการแผ่นดิน จะมีเรตในการจัดประชุมการจัดสัมมนา ซึ่งมีเรตอัตราของเค้าอยู่ แต่เรตค่าตอบแทนที่น้องเบสตั้งไว้ในการบรรยายภายนอก ซึ่งเป็นภาคเอกชน ก็อีกเรื่องหนึ่ง หรือตอนที่น้องเบส มาบรรยายให้กองทัพบก ซึ่งมีความรู้สึกที่ดีกับกองทัพ บางครั้งก็ไม่เรียกร้องว่าจะต้องไปเรตนั้นเรตนี้
 
“อย่าไปมองเรื่องค่าตัว แล้วมาจับผิดกันว่ากองทัพบกต้องไปจ่ายเป็นชั่วโมงละ 30,000 บาท 2 ชั่วโมง ก็ 60,000 บาท อย่าไปมองประเด็นอย่างนั้น เรามองประเด็นว่าเราเอาวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถ มาบรรยายให้กับกำลังพล ที่แสดงออกถึงความจงรักภักดี พอในตอนนี้กระแสสังคมกลับกลายเป็นว่า พออธิบายไปเรื่องหนึ่ง ก็จะไปขยายบิดเบือนไปอีกเรื่องหนึ่ง เพราะว่ามีกลุ่มคนที่จุดกระแสเรื่องเหล่านี้อยู่ เพราะต้องการที่จะนำไปสู่ความแตกแยก แต่หากให้เรามองเป็นกลาง ว่า วิทยากรเขาพูดเรื่องอะไร ผมว่าตรงนั้นเป็นแก่นของมันมากกว่า เพราะเขามาพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในแง่ของความจงรักภักดี ในฐานะที่เป็นคนไทย และมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องเทิดทูนและรักษาไว้ ผมว่าตรงนี้มันเป็นแก่นสาระมากกว่าไปมองเรื่องของการจ้างเรื่องของที่มาที่ไป เรื่องของเป็นเครื่องมือของกองทัพ หรือ คสช. หรือเปล่า" พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าว

พลเมืองต่อต้าน Single Gateway จี้ สตง.-สรรพากร สอบค่าตอบแทน

เฟซบุ๊กเพจของกลุ่มพลเมืองต่อต้านซิงเกิลเกตเวย์ ได้เผยแพร่เอกสารกำหนดการและค่าตอบแทนวิทยากรของเบส อรพิมพ์ รักษาผล เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2558 โดยปรากฏค่าใช้จ่ายในการจ้างเหมาการบรรยาย เป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท นอกจากนี้ยังมีค่าเลี้ยงรับรองวิทยากร จำนวน 3,500 บาท ค่าของที่ระลึกวิทยากร 500 บาท ค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก 1,500 บาท รวมทั้งหมด 35,500 บาท 
 
พร้อมกันนี้ได้แนบข้อมูลจากสำนักงบประมาณ ในส่วนของค่าสมนาคุณวิทยากร การฝึกอบรมข้าราชการประเภท ก โดยหากมิใช่บุคคลากรของรัฐ มีอัตราค่าใช้จ่ายชั่วโมงละ ไม่เกิน 1,600 บาท ส่วนประเภท ข. ไม่เกินชั่วโมงละ 1,200 บาท
 
 
ซึ่งกรณีดังกล่าว วอยซ์ทีวี รายงานด้วยว่า ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ได้ให้สัมภาษณ์กับทางวอยซ์ทีวีว่า โดยปกติหน่วยงานราชการมักจะมีการเชิญวิยากรและมีระเบียบค่าใช้จ่ายต่างๆ อยู่แล้ว ดังนั้นหากเรื่องนี้มีข้อสงสัยหรือวิพากษ์วิจารณ์ ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. จะมีการเร่งตรวจสอบ โดยคาดจะสามารถทราบผลภายในอาทิตย์ที่จะถึงนี้
 
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ สตง. ได้ระบุว่า หากวิทยากรมีชื่อเสียง มีความสามารถหรือคุณสมบัติส่วนบุคคลสูง ค่าจ้างก็อาจสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ย้ำว่าต้องอยู่ในกรอบของความเหมาะสม และแบบแผนของทางราชการ

ปม 6 พันราย 'ไพบูลย์' แจงศอตช.แค่หาผู้เกี่ยวข้องจำนำข้าวไม่ได้ชี้ถูก-ผิด


รมว.ยุติธรรมสรุป 6,000 รายชื่อเอี่ยวโครงการจำนำข้าว เผยศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ มีหน้าที่แค่ตรวจสอบหาผู้เกี่ยวข้อง ไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินถูกผิด ด้าน ‘โรงสี-บิ๊กส่งออกข้าว’ หวั่นติดร่างแห ชดใช้ค่าเสียหาย

21 พ.ย. 2559 ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) สื่อหลายสำนัก เช่น มติชนออนไลน์ โพสต์ทูเดย์ ไทยรัฐออนไลน์ และผู้จัดการออนไลน์ รายงานตรงกันว่า พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) กล่าวถึงการดำเนินการหลังทราบรายชื่อ 6,000 ราย ผู้เกี่ยวข้องการเรียกค่าเสียหายในคดีรับจำนำข้าว ส่วนที่เหลืออีก 80 เปอร์เซ็นต์ มูลค่า 142,868 ล้านบาท ว่า พูดหลายครั้งแล้วว่า เราต้องการทราบบุคคลที่เกี่ยวข้องก่อน มันไม่ได้หมายความว่ารายชื่อจำนวนดังกล่าวจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหรือไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะยังไม่ทราบ ตนเองก็เคยบอกว่ารมว.ยุติธรรมไม่เคยรับรู้เรื่องกระบวนการซื้อขายข้าวเลย แต่ตนทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นประธาน ศอตช. ที่ครม.สั่งมาให้ไปนำเอารายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดออกมา มันคงจะต้องผ่าน ศอตช. ที่เขาเข้าใจและแยกแยะว่าคนกลุ่มไหน ชื่ออะไร ต้องรับผิดชอบคนละเท่าไหร่
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ตนไม่ได้มีหน้าที่ไปบอกว่าใครถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง มีหน้าที่เอารายชื่อมาให้รัฐบาลว่ามีใครเข้าไปเกี่ยวข้องบ้าง ถ้าท่านคิดว้าท่านถูกก็ไปต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม อะไรที่เห็นต่างแล้วเป็นเรื่องไม่ถูกต้องไปต่อสู้กันในกระบวนการยุติธรรม ไม่ต้องมาต่อสู้กันในสื่อมวลชน มันมองถึงการสร้างการรับรู้ในแง่ประเด็นอื่นมากกว่าในกระบวนการยุติธรรม ตนคิดแบบนี้ เพราะตนเองก็ไม่เคยไปพูดอะไรมากมาย

‘โรงสี-บิ๊กส่งออกข้าว’ หวั่นติดร่างแห

ขณะหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,211 วันที่ 20 – 23 พ.ย. 2559 ซึ่งผ่านแพร่ต่อผ่านทางเว็บไซต์ต่อวันนี้ว่า แหล่งข่าวจากสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในช่วงเริ่มต้นโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.)เป็นผู้ไปเช่าโกดัง หรือคลังเก็บข้าวจากเอกชน โดยจะดำเนินการจัดเก็บข้าวที่ได้ให้โรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทำการสีแปรเป็นข้าวสารแล้วทำการจัดเก็บข้าวเอง แต่ในปีสุดท้ายของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก(ปีการผลิต 2556/57) ทาง อคส. และ อ.ต.ก.ได้มีสัญญาใหม่ให้ผู้ให้เช่าคลังฝากเก็บข้าวต้องรับผิดชอบทั้งจำนวนและคุณภาพข้าว รวมถึงการจัดหาบริษัทเซอร์เวเยอร์มาตรวจรับรองคุณภาพข้าวก่อนฝากเก็บ โดยมีเจ้าหน้าที่ของ อคส. และ อ.ต.ก. มาดูแลตรวจสอบการเข้า-ออกของข้าวร่วมกับเจ้าของคลัง
“ต้องแยกอาชีพกันให้ชัดระหว่างโรงสี กับผู้ให้เช่าคลังหากรัฐจะพิจารณาตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลเพื่อให้ชดใช้ความเสียหาย เพราะส่วนใหญ่ทำโรงสีอย่างเดียว แต่บางรายทำโรงสีด้วย และมีคลังหรือสร้างคลังให้รัฐบาลให้เช่าด้วย ต้องแยกการตรวจสอบเป็นราย ๆไป โดยจะต้องให้ความยุติธรรมและให้สิทธิทุกคนในการชี้แจงและนำเสนอข้อมูล”แหล่งข่าวกล่าว และว่า ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มีหลายปีการผลิต มีผู้ประกอบการโรงสีเคยเข้าร่วมสูงสุดกว่า 800 โรง จากในช่วงแรก ๆ มีเข้าร่วม 500-600 โรง หากรัฐบาลมีการตรวจสอบเพื่อหาความเชื่อมโยงผู้ที่มีส่วนทำให้โครงการรับจำนำข้าวได้รับความเสียหายแล้ว หากพบมีความผิดก็ว่ากันไปตามความผิดการชดใช้ความเสียหายก็ถือว่ามีความยุติธรรม
 
ด้านแหล่งข่าวจากผู้ส่งออกข้าวของ “ฐานเศรษฐกิจ” เผยว่า ใน 3 กลุ่มคือ กลุ่มผู้บริหารซึ่งเป็นส่วนของรัฐมนตรีและอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องกับนโยบายข้าวประมาณ 2,000 รายชื่อ, กลุ่มผู้ปฏิบัติที่เป็นข้าราชการในกระทรวงที่รับผิดชอบ และจากองค์กรต่างๆ ประมาณ 4,000 ราย และกลุ่มที่ 3คือผู้ประกอบการ เช่นเอกชน โรงสี และคลังสินค้า ในส่วนนี้ยังไม่ชัดเจนว่ามีผู้ส่งออกรวมอยู่ด้วยหรือไม่ แต่ในความเข้าใจคาดจะมีผู้ส่งออกรวมอยู่ในกลุ่มนี้ และจะต้องถูกตรวจสอบความเชื่อมโยงด้วย
 
ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่าผู้ส่งออกที่เคยซื้อข้าวในสต๊อกของโครงการรับจำนำข้าวที่ในช่วงนั้นรัฐบาลไม่มีการเปิดประมูลระบายข้าว แต่ใช้วิธีให้ผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อ(ออเดอร์)ข้าวจากต่างประเทศสามารถนำคำสั่งซื้อมาแสดงและขอซื้อข้าวในสต๊อกรัฐบาล(ผ่านเลขานุการ รมว.พาณิชย์)ได้โดยตรง ซึ่งอาจจะถูกตรวจสอบว่า ราคาที่ซื้อไปนั้นต่ำกว่าราคาตลาดของกรมการค้าภายในช่วงนั้นหรือไม่ หากได้มาในราคาต่ำกว่าราคาตลาดอาจจะต้องไปแก้ต่าง และอาจต้องชดใช้ความเสียหายแก่รัฐ
 
“ช่วงนั้นผู้ที่ซื้อข้าวจากกระทรวงพาณิชย์โดยตรง ส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ประมาณ 10 รายรวมถึงผู้ประกอบการโรงสีที่ขอซื้อข้าวในคลังที่ตัวเองรับฝากเก็บ หากมีการตรวจสอบก็ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริง ซึ่งจะยุติธรรรมหรือไม่ก็ต้องดูเป็นรายกรณี”

ลิขิต ธีรเวคิน ผู้เขียนตำราคลาสสิก "พัฒนาการการเมืองไทย" เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 75 ปี

ลิขิต ธีรเวคิน ในเวทีเสวนาวิชาการ วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 กับทิศทางการปฏิรูปการเมืองไทย: ทางออกหรือทางตัน เมื่อ 3 กันยายน 2558 (ที่มา: แฟ้มภาพ/ประชาไท)

ลิขิต ธีรเวคิน อดีต รมช.มหาดไทยสมัยรัฐบาลบิ๊กจิ๋ว อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคความหวังใหม่ และไทยรักไทย นักวิชาการรัฐศาสตร์ ราชบัณฑิต และผู้เขียน "พัฒนาการการเมืองไทย" ซึ่งพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2519 และยังใช้อ้างอิงได้ถึงปัจจุบัน เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 75 ปี บำเพ็ญกุศลที่วัดธาตุทอง
21 พ.ย. 2559 เมื่อเวลา 23.30 น. คืนวันที่ 20 พ.ย. ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต และนักวิชาการชื่อดังด้านรัฐศาสตร์ เสียชีวิตอย่างสงบที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ด้วยโรคมะเร็ง โดยเข้าพักรักษาตัวที่ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ตามรายงานของมติชนออนไลน์ โดยพิธีรดน้ำศพ จะมีขึ้นในวันจันทร์ที่ 21 พ.ย.เวลา 17.00 น. ที่วัดธาตุทอง กรุงเทพฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ลิขิต ธีรเวคิน เกิดเมื่อ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 เคยรับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยได้รับแต่งตั้งเป็นคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2526 และเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ ในปี พ.ศ. 2531
นอกจากนั้น ยังเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง อาทิ เป็นผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอก วิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก เป็นต้น โดยลิขิต ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต ในปี พ.ศ. 2547
ในด้านการเมือง ลิขิต ธีรเวคิน เข้าสู่งานการเมืองโดยลาออกจากราชการในเดือนตุลาคมปี 2540 เพื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่มีการปรับ ครม.ครั้งใหญ่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ จากนั้นได้มาเข้าร่วมพรรคความหวังใหม่
โดยในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2544 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 10 ของพรรคความหวังใหม่ และได้รับเลือกตั้งเลื่อนขึ้นแทนบุคคลที่ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 เมื่อพรรคความหวังใหม่ยุบรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทย ศ.ดร.ลิขิต จึงได้ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย และได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารพรรค นอกจากนี้ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2548 ยังได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคไทยรักไทยอีกด้วย
ต่อมาในช่วงวิกฤตการเมือง พ.ศ. 2556 ถึง 2557 ลิขิต มีบทบาทวิจารณ์ทางการเมืองเป็นระยะ นอกจากนี้ในการให้สัมภาษณ์รายการคมชัดลึกเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2557 แสดงความไม่เห็นด้วยกับการตั้งตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของสุเทพ เทือกสุบรรณ และการพูดถึงเรื่องรัฏฐาธิปัตย์โดยเข้ารกเข้าพง จะทำให้เขวไปทั้งประเทศ
นอกจากนี้ยังเคยวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อปี พ.ศ. 2558 โดย ลิขิตระบุว่า ตามหลักการประชาธิปไตย อำนาจต้องเป็นของปวงชน ถือเป็นหลักศักดิ์สิทธิละเมิดไม่ได้ หากมีสิ่งใดที่ขัดกับหลักการนี้ไม่ถือว่าเป็นประชาธิปไตย ฉะนั้นในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจึงไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างไร
“ผมเสียดายมาก ร่างออกมาดีประชาชนได้ประโยชน์ได้เยอะ แต่ในเมื่อสิ่งสูงสุด คือหลักการอันศักดิ์สิทธิมันถูกละเมิดไปแล้ว มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย”
ลิขิตวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์้ด้วยว่า "ไม่ว่าใครก็ตามไม่สามารถที่จะต่อสู้กับเวลาได้ และยิ่งไปกว่านั้น ไม่มีใครที่จะสามารถสู้กับการเปลี่ยนเปลี่ยนของยุคสมัยได้เช่นกัน แต่สิ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำลังทำอยู่คือกำลังต่อสู้กับทั้งสองสิ่ง"

ผลงานทางวิชาการที่น่าสนใจของลิขิต ธีรเวคิน

ผลงานของลิขิต ธีรเวคิน "Siam and Colonialism (1855-1909) : An Analysis of Diplomatic Relation." พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2518
ลิขิต ธีรเวคิน. พัฒนาการการเมืองไทย. (บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, 2519.
ลิขิต ธีรเวคิน. ชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย. (บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, 2521.
ลิขิต ธีรเวคิน. ขอบข่ายและวิธีการศึกษารัฐศาสตร์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สามศาสตร์, 2529.
ลิขิต ธีรเวคิน. การพัฒนาระบบประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2534.
ลิขิต ธีรเวคิน. สังคมการเมืองไทย. กรุงเทพฯ : คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒน-บริหารศาสตร์, 2535.
ลิขิต ธีรเวคิน. จตุลักษณ์สังคมและการเมืองไทย. โครงการเอกสารวิชาการ สมาคมนักวิจัยมหาวิทยาลัยไทย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2537.
ลิขิต ธีรเวคิน. ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย : วิสัยทัศน์ในสองทศวรรษหน้า. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จักรกฤษณ์การพิมพ์, 2540.
ลิขิต ธีรเวคิน. ปฏิญญาสิทธิเสรีภาพของประชาชาติไทย. กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์แม็ค จำกัด, 2550.
ลิขิต ธีรเวคิน. วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 10) แก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550
Likhit Dhiravegin. Siam and Colonialism (1855-1909) : An Analysis of Diplomatic Relation. Bangkok : Thai Wattana Panich, Co., Ltd., 1975.
Likhit Dhiravegin. The Thai Bureaucratic Elite : A Study of Their Sociological Attributes, Educational Backgrounds and Career Advancement Pattern. Bangkok : Thai Khadi Research Institute of Thammasat University, 1978.
Likhit Dhiravegin. The Meiji Restoration (1868-1912) and the Chakkri Reformation (1868-1910) : A Comparative Perspective Vol. 1 (The Research Center, Faculty of Political Science, Thammasat University, Bangkok, 1984).
Likhit Dhiravegin. Thai Politics : Selected Aspects of Development and Change. Bangkok : Tri-Sciences Publishing House, 1985.
Likhit Dhiravegin. Demi-Democracy : The Evolution of the Thai Political System. Singapore : Time Academic Press, 1992.
Likhit Dhiravegin. Democracy in Thailand. Bangkok : Printing House of Thammasat University, 1994.