วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ทำกันเกินไปแล้ว



ศ. เกษียร เตชะพีระ
ที่มา เฟซบุ๊ค Kasian Tejapira

"ทำกันเกินไปแล้ว"

เอาความจำมาชำเรากันกลางแจ้ง 
เอาดาวแดงเร่ขายเหมือนไร้ค่า 
ไม่ละอายไม่สำนึกผ่านศึกมา 
เปลี่ยนเป็นขวาพิฆาตซ้ายให้ตายซ้ำ 

ทรยศประชาชนคนส่วนใหญ่ 
ขุดสหายที่ตายไปมาเหยียบย่ำ 
เกียรติยศศักดิ์ศรีวีรกรรม 
หอบมาจำหน่ายแจกแลกเศษเงิน 

(เขียนหลังอ่านบทความ "ดาวแดง โดย วัฒน์ วรรลยางกูร" ด้วยความรวดร้าวใจ) 
* * * 

ดาวแดง โดย วัฒน์ วรรลยางกูร
ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

        ดาวแดงขอบเหลืองทอง คือสัญลักษณ์ของนักรบปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย มีบทเพลงเกี่ยวกับดาวแดงมากมายหลายเพลง แต่เพลงที่อยู่ในความทรงจำของผม ไม่ใช่เพลงที่มีคนรู้จักมากนัก เพลงดาวแดงส่องสว่างเหนือภูพาน แต่งโดย สหายน้อย นกนา

         เขียนประเด็นนี้ทำไม ก็เพราะวันหนึ่ง ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2556 อดีตสหายคนหนึ่งที่เคยอยู่ป่าภูพาน เมื่อกว่าสามสิบปีที่แล้ว โทรศัพท์มาทักทายบอกว่า เขาอยู่ในม็อบ สนามหลวง ที่นำโดย นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ และถามผมว่า สหายร้อยมีความเห็นอย่างไร

         ผมถามว่า มาอย่างนี้ ได้เงินหรือเปล่า  เขาตอบว่า ได้ ผมว่า ก็ดีแล้ว เรื่องอื่นค่อยคุยกัน คืออดีตสหายรายนี้ เมื่อป่าแตกราวช่วงปี 2524 - 2526 เขาได้ร่วมเป็น ผ.ร.ท. หรือ ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และทางการได้จัดให้ไปอยู่ที่หมู่บ้านน้อมเกล้า ตั้งหมู่บ้านใหม่อยู่ท่ามกลางป่าดิบ ผมเคยไปเยี่ยม และก็รู้ว่า อยู่กลางป่าอย่างนั้น อาชีพที่จะหาเงินได้ย่อมไม่พ้นหาของป่าขาย และเลื่อยไม้ป่า

         ไม้ป่าครับ ไม่อยากเรียกไม้เถื่อน อยู่กลางป่า ไม่ขายไม้ป่า แล้วจะขายอะไร บางทีเขาโดนเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับกุม เขาโทร.มาหาให้ช่วย ผมก็ช่วยแนะนำเพื่อนทนายความในละแวกยโสธร อุบลฯ ให้ช่วยเหลือ ชีวิตขัดสน ดิ้นรน หาอยู่หากินไปตามประสา เห็นใจครับ

         ถ้าอดีตสหายชาวนาจะต้องมาเป็นม็อบรับจ้าง ใส่หมวก ดาวแดงเดินแถวสนามหลวง เป็นตัวละครที่ไม่ค่อยจะรู้อีโหน่ อีเหน่ในเรื่องเกมการเมือง

        ผมไม่อาจไปว่ากล่าวอะไรเขาได้เราไม่มีเงินทองเลี้ยงดูเขา ตัวเองยังแทบไม่รอด มีแต่ความสะท้อน...สะท้านใจ เพลงเกี่ยวกับดาวแดง กินใจลึกซึ้ง น้อย นกนา แต่งไว้ ดาวแดงส่องสว่างเหนือภูพาน

        น้อย เป็นนักศึกษาคนแรก ที่ดั้นด้นเข้าป่าภูพาน ช่วงปี 2518 น้อย เรียนวิศวะ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ไปดูนิทรรศการชาวนา ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นรูปปั้นชาวนาถูกยิงตาย น้อยสะเทือนใจมาก  เขาเข้าป่าในแบบ เดินดั้นด้นไปเอง ทางตำบลเต่างอย ตอนใต้ของจังหวัดสกลนคร น้อย นกนา เป็นปัญญาชนที่ปรับตัวเข้ากับสหายชาวนาได้ดีมาก เป็นที่รักของทุกคนจริง-จริง

       ปี 2522 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทะเลาะกับพรรคคอมมิวนิสต์ลาว และเวียดนาม น้อยมีความคิด ปลงไม่ตก ต้นเดือนสิงหาคม 2522 น้อยเดินทางมาหาผมที่หน่วยงานสำนักพิมพ์ เขาบอกความในใจว่า เขาไม่เห็นด้วยกับแนวทางตามก้นจีน ของ พ.ค.ท.เพราะตามก้นจีนแล้ว ต้องทะเลาะกับ ลาว และเวียดนาม ทำให้การปฏิวัติไทยเสียหาย

       ค่ำวันที่ 7 สิงหาคม 2522 น้อยใช้ปืนยาวคู่กาย จ่อปากกระบอกตรงหน้าอกซ้าย ใช้เท้าเหนี่ยวไก สังหารตัวเอง เพื่อประท้วงการนำที่ผิดพลาดของ พ.ค.ท. (เขียนจดหมายบอกไว้)  น้อย นกนา แต่งเพลงดีๆ ไว้หลายเพลง เช่น ลาไปเป็นทหารปลดแอก

        "บ้านเมืองเรา ถูกพวกโจรมันแย่งเอาไป ที่ดินนาไร่ พวกมันโกงได้โกงดี พี่น้องทั่วแดน ต้องอดอยากทุกๆ ชีวี มันปราบปรามเข่นฆ่าเตะตี เหยียบย่ำศักดิ์ศรี พี่น้องผองเรา"          เราขุดหลุมฝังร่าง น้อย นกนา ไว้ในป่าหลังทับสามสิบปีต่อมา ครอบครัวพ่อแม่พี่น้องของเขาจึงได้รับรู้เรื่องราว

       คิดถึงเรื่องนี้ เพราะเห็นมีการนำหมวกดาวแดงมาใช้ประโยชน์ทางการเมือง แบบไม่เกรงอกเกรงใจหลายครั้ง

       ทำกันเกินไปแล้ว

แบบเลียนมานีมีแชร์กับเจ้าโตมีหน้ากากขาว

แบบเลียนมานีมีแชร์กับเจ้าโตมีหน้ากากขาว

ที่มา หน้าเพจ มานีมีแชร์





































ติดตามชมนานีมีแชร์ที่หน้าเพจ https://www.facebook.com/maneehavechair

สาวกขี้กลากขาวโว๊ย หน้ากากขี้กลาก ราคาแพงระยำ




พันธมิตรรีแบรนดิ้ง-มือตบแป้กไปแล้ว สื่อลิ้มปั๊มหน้ากากขาวทำตลาดแทน แต่ก๊อปปี้ไร้เตอร์คิดคำขวัญอาจจะคนเดิมเพราะขึ้นต้นคำว่า"ข้า"เหมือนกัน ไม่วายโดนสาวกโวยว่าแพงเว่อร์ เพราะสื่อค่าย T-newsของสนธิญาณขายถูกกว่า






ท่านใดที่ยังหาซื้อ 'หน้ากากขาว' ไม่่ได้ เรามีมาแนะนำ 2 ร้านครับ คือ ร้าน ASTV Shop (อยู่ติด ASTV ถนนพระอาทิตย์) และ ร้านของ 'พี่ตี๋ แซ่โค้ว' พธม.ซึ่งสูญเสียขาจากเหตุการณ์ใช้ระเบิดแก๋๊ซน้ำตาสลายการชุมนุม (เป็นร้านแพงลอย อยู่หน้า ASTV) สนนราคา 80 บาท และ 100 บาท ขึ้นอยู่กับวัสดุครับ
ถูกใจ ·  · แชร์


สภาเลื่อนถก 'แก้รธน.-นิรโทษกรรม' ไปปลาย ส.ค.


     รองประธานสภาเผยปฏิทินประชุมสภาเลื่อนวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ- นิรโทษฯ เหตุพิจารณางบฯ ภายใน 105 วัน

           22 มิ.ย. 56 - เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่านายเจริญ จรรย์โกมลย์ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 กล่าวถึงปฏิทินการเปิดประชุมสภาฯ สมัยสามัญทั่วไปวันที่ 1 ส.ค.ว่า สัปดาห์แรกจะเป็นวาระการพิจารณากระทู้ถาม ส่วนสัปดาห์ที่ 2 และ 3  เป็นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท และการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ตามลำดับ ซึ่งทั้ง 2 เรื่องน่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 วัน 
 
          ขณะที่สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ส.ค. จึงจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ซึ่งจะหยิบฉบับแก้ไขที่มา ส.ว. เข้ามาพิจารณาก่อนเป็นเรื่องแรก ซึ่งคงพิจารณาไปเรื่อยๆ เน้นให้ทุกฝ่ายพึงพอใจ โดยคาดว่าจะทันใช้สำหรับการเลือกตั้งส.ว.ในปี 2557 หลังจากนั้นในเดือน ก.ย. ก็น่าจะเป็นวาระการแถลงผลงานของรัฐบาล 

 
          นอกจากนี้อาจมีการนำ พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เข้าสู่การพิจารณา ซึ่งขึ้นอยู่กับคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ประสานมาประกอบกับต้องดูสถานการณ์การเมืองในขณะนั้นด้วย

 

          "การประชุมใน 3 สัปดาห์แรกถูกบังคับด้วยข้อกฎหมายการพิจารณางบประมาณภายใน 105 วัน ซึ่งฝ่ายค้านคงไม่ขัดข้อง" นายเจริญกล่าว
 
           เมื่อถามว่า แนวโน้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และ พ.ร.บ.ปรองดอง จะดำเนินต่อไปได้หรือไม่ นายเจริญ กล่าวว่า เรื่องของมาตรา 68 ที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญขณะนี้ก็ไม่น่ามีปัญหา การประชุมสภาก็สามารถดำเนินไปได้เรื่อยๆ แต่ถ้าถามฝ่ายค้านในเรื่องนี้ก็ต้องบอกว่ายุบสภาอยู่แล้ว แต่คิดว่าปัญหาเรื่องนี้น่าจะชี้แจงให้เข้าใจได้ ขณะเดียวกันการที่กลุ่มหน้ากากขาวพยายามล้มล้างรัฐบาล หากรัฐบาลมีความชอบธรรม สามารถบริหารประเทศได้ก็ไม่น่ามีปัญหา

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: 80 ปีแห่งการฟื้นฟูประชาธิปไตย

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

เดือนมิถุนายนปีนี้ เป็นเดือนแห่งเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองประชาธิปไตยของคณะราษฎรอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้จากแนวโน้มการจัดกิจกรรมของประชาชนฝ่ายคนเสื้อแดงหลายกลุ่มเพื่อเฉลิมฉลองวันชาติ 24 มิถุนายน แต่กลุ่มคนเสื้อเหลือง เสื้อหลากสี หน้ากากขาว เขาไม่จัด เพราะเขายึดหลักการที่ตรงข้ามกับฝ่ายคณะราษฎร
 
แต่กระนั้น ในกลุ่มคนเสื้อแดง ยังไม่ค่อยเป็นที่ทราบกันว่า ปี พ.ศ.2476 ก็มีความสำคัญไม่น้อยในกระบวนการทางประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย เพราะเป็นปีแห่งการต่อต้านการรุกกลับของฝ่ายอนุรักษ์นิยมเจ้าและทำให้ระบอบรัฐธรรมนูญของคณะราษฎรยังคงอยู่ตอไปอีก 14 ปี
 
จุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์ปฏิวัติ พ.ศ.2475 ที่นำโดยคณะราษฎร ซึ่งเป็นการโค่นล้มอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม แล้วเริ่มสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญที่ยอมรับอำนาจสูงสุดของราษฎร และจะเป็นครั้งแรกที่ดำเนินการให้ราษฎรจะได้ใช้สิทธิทางการเมืองโดยผ่านการเลือกตั้ง ในครั้งนั้น คณะราษฎรได้เชิญให้ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรก บริหารประเทศด้วยระบบคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกเช่นกัน สำหรับ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร เป็นรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบก พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ผู้ก่อการคณะราษฎรคนสำคัญ เป็นรัฐมนตรีและรองผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการ
 
ในครั้งนั้น การปฏิวัติของคณะราษฎร ก็ต้องเผชิญกับการต่อต้านจากฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ซึ่งก็คือ คณะเจ้า หรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมเจ้า โดยกลุ่มนี้ไม่ยอมรับในหลักการประชาธิปไตย แต่กลับเห็นว่า ระบอบเก่าที่อำนาจอยู่ในมือของเจ้านายและขุนนางจำนวนน้อยนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะชนชั้นสูงเหล่านี้มีความรู้ความสามารถ ขณะที่ราษฎรส่วนมากนั้นโง่เขลา ไม่มีความรู้ ระบอบประชาธิปไตยที่ให้สิทธิกับราษฎรย่อมไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ ยังมีความเห็นว่า ถ้าสยามจะมีรัฐธรรมนูญ ควรมาจากการพระราชทานเองของพระเจ้าอยู่หัว ราษฎรไม่มีสิทธิที่จะไปยึดและจำกัดอำนาจของพระมหากษัคริย์ การกระทำของคณะราษฎรจึงถือว่าเป็นกบฏ จึงควรที่จะถวายพระราชอำนาจคืนให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจวินิจฉัยทางการเมือง กลุ่มอนุรักษ์นิยมเจ้า จึงได้คอยเวลาและหาจังหวะที่จะล้มอำนาจของคณะราษฎร
 
สิ่งที่คณะราษฎรส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักในขณะนั้น คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่รับเชิญมาเป็นนายกรัฐมนตรีความจริงแล้วเป็นผู้ที่มีความคิดโน้มไปทางระบอบเก่า และเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมเจ้า พระยามโนปกรณ์ฯจึงหาจังหวะจากความขัดแย้งภายในของคณะราษฎร ซึ่งในขณะนั้น เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายของ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา และฝ่ายของ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ปรากฏว่า พระยามโนปกรณ์ประสบความสำเร็จในการชักชวน พ.อ.พระยาทรงสุรเดช มาสนับสนุน

 
ดังนั้น เมื่อถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา จึงได้ออกพระราชกฤษฎีการปิดสภา และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งถือเป็นการรัฐประการครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย เพราะการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราที่ไม่มีการระบุว่ามาตราไหนบ้าง เท่ากับเป็นการงดใช้ทั้งฉบับ และการปิดไม่มีการประชุมสภาราษฎร คือ การเปิดโอกาสให้คณะรัฐมนตรีออกกฎหมายมาบังคับใช้ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งต่อมา รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯได้ออกกฎหมายลักษณะนี้มาหลายฉบับ นอกจากนั้น ยังมีการดำเนินการเนรเทศหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ผู้นำคนสำคัญของคณะราษฎร ให้เดินทางไปต่างประเทศ แล้วออกกฎหมายคอมมิวนิสต์ฉบับแรกในประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการเล่นงานหลวงประดิษฐ์มนูธรรม การรัฐประหารของพระยามโนปกรณ์ฯจึงเป็นขั้นตอนสำคัญแรกสุดในการทำลายระบอบรัฐธรรมนูญ
 
สถานการณ์เช่นนี้ สร้างความกดดันอย่างมากแก่คณะราษฎรส่วนใหญ่ ต่อมา มีข่าวลือว่า รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯมีเป้าหมายที่จะปราบปรามคณะราษฎรด้วย ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 ฝ่ายคณะราษฎรส่วนใหญ่ที่นำโดย พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เคลื่อนกำลังทหารเข้ายึดอำนาจเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย โดยมีผู้นำคณะราษฎรที่สนับสนุนคือ พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) ฝ่ายทหารบก น.ท.หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) ฝ่ายทหารเรือ และ หลวงนฤเบศมานิตย์ (สงวน จูฑะเตมีย์) ฝ่ายพลเรือน รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาจึงสิ้นสุดลง พระยามโนปกรณ์นิติธาดาต้องไปลี้ภัยการเมืองที่ปีนังตลอดชีวิต สำหรับฝ่ายของ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ก็ถูกลดบทบาทลงเช่นเดียวกัน
 
เมื่อฝ่ายของ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจแล้ว ก็ได้รื้อฟื้นการใช้รัฐธรรมนูญ ให้เปิดประชุมสภาราษฎรเช่นเดิม และเตรียมดำเนินการให้มีการเลือกตั้งครั้งแรกโดยเร็ว จากนั้น พ.อ.พระยาพหลฯ ก็ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง และได้เรียกตัวหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับมาจากต่างประเทศ การยึดอำนาจ 20 มิถุนายน จึงถือเป็นการฟื้นคืนอำนาจของคณะราษฎรอย่างแท้จริง
 
แต่ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยก็ยังคงไม่ยอมแพ้ ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2476 ทหารฝ่ายอนุรักษ์นิยมเจ้าได้รวมตัวกันที่เมืองนครราชสีมา ตั้งเป็น”คณะกู้บ้านกู้เมือง” โดยมี พล.อ.พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นผู้นำ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) เป็นแม่ทัพหน้า แล้วยกกำลังมาล้อมพระนคร ยื่นคำขาดให้ฝ่ายคณะราษฎรยอมจำนน แต่ฝ่ายคณะราษฎรตัดสินใจที่จะต่อสู้ จึงแต่งตั้งให้ พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม เป็นแม่ทัพ และสามารถเอาชนะฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองได้ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม เสียชีวิตในการรบที่หินลับ พล.อ.พระองค์เจ้าบวรเดช เสด็จหนีไปลี้ภัยที่อินโดจีนฝรั่งเศส กรณีนี้จึงเรียกกันในประวัติศาสตร์ว่า “กบฏบวรเดช”
 
สรุปแล้วจะเห็นได้ว่า ปี พ.ศ.2476 เป็นปีแห่งการต่อสู้ขั้นดุเดือดรุนแรง ระหว่างฝ่ายคณะราษฎรที่รักษาระบอบประชาธิปไตยกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมเจ้าที่มุ่งฟื้นระบอบเก่า ชัยชนะของฝ่ายคณะราษฎรโดยการรื้อฟื้นระบอบรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างรากฐานของประชาธิปไตยต่อมาจนถึงปัจจุบัน
 
และในวันนี้ เราก็มารำลึกถึงการครบรอบ 80 ปี ของการฟื้นฟูประชาธิปไตยในครั้งนั้น
 

โครงการรับจำนำข้าวขาดทุน 2.6 แสนล้านบาทจริงหรือ?

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

           มาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอันเป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดก็คือ โครงการรับจำนำข้าว เพราะแม้แต่ที่ปรึกษา นักวิชาการ และสื่อมวลชนบางคนที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ก็ยังแสดงความกังวลต่อโครงการ
 
เนื่องจากนี่เป็นโครงการที่รัฐบาลช่วยเหลือชาวนาด้วยการรับจำนำข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด แล้วนำมาระบายออกในราคาต่ำ จึงก่อให้เกิดการขาดทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้สำหรับโครงการช่วยเหลือเกษตรกรในลักษณะนี้
 
ตัวเลขขาดทุนดังกล่าวจึงเป็นเป้าหมายที่พรรคฝ่ายค้าน นักวิชาการและสื่อกระแสหลักที่เกลียดชังรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมุ่งบิดเบือน ไส่ไคล้ ปั้นตัวเลขเกินจริงตลอดมา
 
ล่าสุดคือ การปั้นแต่งตัวเลขให้โครงการรับจำนำข้าวขาดทุนสูงถึง 2.6 แสนล้านบาท ประกอบด้วยขาดทุนจากการรับจำนำข้าว 2 แสนล้านบาท และค่าบริการจัดการอีก 6 หมื่นล้านบาท เป็นตัวเลขไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีแหล่งอ้างอิง แต่ขานรับกันเป็นทอดๆ กระพือโดยสื่อกระแสหลักให้เป็นกระแสโจมตีรัฐบาล
 
ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในการชี้แจงรายละเอียดของโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะแม้จะดำเนินโครงการรับจำนำข้าวไปได้ด้วยดี แต่กลับไร้ความสามารถในการทำความเข้าใจกับสาธารณชน ที่แย่ไปกว่านั้นคือ การให้สัมภาษณ์หรือการแถลงข่าวแต่ละครั้งของรัฐมนตรีเต็มไปด้วยความคลุมเคลือ สร้างความสงสัยเพิ่มมากขึ้นทุกทีในสาธารณชน
 
กรณีตัวอย่างคือ การแถลงโดยรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2556 ซึ่งน่าอเน็จอนาถอย่างยิ่ง เป็นการแถลงที่ไม่มีความพร้อมในทางหลักเหตุผลและข้อมูล เอาแต่ตอกย้ำเป็นแผ่นเสียงตกร่อง ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองอยู่แค่ว่า “ตัวเลขขาดทุน 2.6 แสนล้านบาทนั้นไม่จริง ยังมีข้าวในสต๊อกที่ขายไม่หมด โครงการยังไม่จบ จึงสรุปไม่ได้” นอกนั้นแล้ว ก็ไม่สามารถตอบคำถามที่เต็มไปด้วยอคติของสื่อกระแสหลักที่ตั้งหน้าทิ่มแทงรัฐบาล
 
รัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยนั้นไร้เดียงสาเสียจนเชื่อว่า การปฏิเสธตัวเลขขาดทุน 2.6 แสนล้านบาทแบบห้วนๆ เช่นนี้ ผู้คนเขาก็จะเชื่อทันทีเลยหรือ? ถ้ารัฐมนตรีทั้งสองท่านจะแถลงเพียงแค่นี้ ก็อย่าออกหน้ามายังจะดีกว่า หรือที่จำต้องตากหน้าออกมาแถลงอย่างเสียไม่ได้ก็เพียงเพราะถูกนายกรัฐมนตรีสั่งแค่นั้น?
 
การแถลงในครั้งนี้จึงล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และกลับยิ่งช่วยกระพือกระแสการโจมตีและความสงสัยในหมู่ประชาชนที่มีต่อโครงการรับจำนำข้าวให้หนักหน่วงยิ่งขึ้นไปอีก!
 
ตัวเลขขาดทุน 2.6 แสนล้านบาทมีที่มาสองแหล่ง ชุดแรกเป็นการเหมารวมยอดการจำนำข้าวนาปี 2554/55 นาปรัง 2555 และข้าวนาปี 2555/56 ทั้งสิ้นราว 2 แสนล้านบาท เอาโครงการคนละปีงบประมาณมาปะปนกัน ซึ่งถ้าเป็นตัวเลขขาดทุนจริงก็หมายความว่า ข้าวสารทุกเมล็ดกว่า 20 ล้านตันต้องเสียหายหมด ซึ่งเป็นไปไม่ได้
 
ส่วนตัวเลข 2.6 แสนล้านบาทชุดที่สองเป็นการปั้นแต่งตัวเลข ได้แก่ ค่าบริหารที่อ้างว่า สูงถึง 6 หมื่นล้านบาท ก็มาจากตัวเลขที่สองนักวิจัยคือ นิพนธ์ พัวพงศกรกับอัมมาร สยามวาลา ได้คำนวณไว้และนำมาโจมตีโครงการนี้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555 ส่วนตัวเลขขาดทุนจากการขายข้าวนั้น เป็นการสมมติให้รัฐบาลขายข้าวสารปี 2554/55 จำนวน 7.65 ล้านตันในราคาตันละ 15,000 บาท ได้เป็นเงิน 1.1 แสนล้านบาท ขณะที่ต้นทุนการรับจำนำข้าวเปลือกเป็นเงินรวมกว่า 3 แสนล้านบาท ส่วนต่างจึงเป็นการขาดทุน 2 แสนล้านบาท
 
ตัวเลขที่แท้จริงคือ ในปีการผลิต 2554/55 (นาปีและนาปรัง) รัฐบาลรับจำนำข้าวเปลือกทั้งสิ้น 21.7 ล้านตัน เป็นเงินทั้งสิ้น 3.3 แสนล้านบาท มีค่าบริหาร 1.5 หมื่นล้านบาท รวมต้นทุนทั้งสิ้น 3.5 แสนล้านบาท รัฐบาลได้ระบายข้าวสารออกไปแล้วราว 3 ล้านตัน เป็นรายรับ 6 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันเหลือเป็นข้าวสารในสต็อกอีกจำนวนราว 10 ล้านตัน หากตีราคาข้าวสารจำนวนนี้ในราคาตลาดปัจจุบันหักลบด้วยค่าใช้จ่ายจริงทั้งหมด ก็จะได้ตัวเลขขาดทุนทางบัญชี (เพราะยังไม่ได้ขายข้าวสารออกไปจริง) คำนวณโดยกระทรวงการคลัง ณ วันที่ 31 มกราคม 2556 คือ 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งยังต่ำกว่าตัวเลขเท็จ 2.6 แสนล้านบาทเกือบครึ่ง!
 
กระทรวงพาณิชย์ได้ระบายข้าวปี 2554/55 ออกไปน้อยมาก สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะราคาข้าวสารในตลาดโลกได้ตกต่ำลงอย่างมากเนื่องจากการทุ่มส่งออกของอินเดียที่ราคาเพียง 400-450 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของไทยปัจจุบันอยู่ที่ 532 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันและมีแนวโน้มลดต่ำลงเรื่อยๆ ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้และรัฐบาลจำต้องระบายข้าวออกไปโดยเร็ว ตัวเลขขาดทุนจริงก็จะเกินกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ว่า อยู่ที่ 7-8 หมื่นล้านบาท
 
ปีการผลิต 2554/55 ชาวนาที่เข้าโครงการมีจำนวน 2.7 ล้านราย ยอดเงินรับจำนำ 3.3 แสนล้านบาท ปัจจุบันมีคดีทุจริตที่ตรวจพบ 1,800 คดี ตั้งแต่คดีละไม่กี่แสนบาทไปจนถึงคดีละนับสิบล้านบาท โดยรวมแล้ว จะมีเงินตกถึงมือชาวนาเฉลี่ยรายละประมาณ 120,000 บาท แน่นอนว่า ชาวนาจะได้รับจริงตามจำนวนผลผลิต ชาวนาที่เพาะปลูกพื้นที่มากก็จะได้มาก ชาวนาที่เพาะปลูกพื้นที่น้อยก็จะได้น้อยตามสัดส่วน แต่เม็ดเงินถึงมือชาวนาอย่างแน่นอนไม่ว่าจะเป็นเจ้าของที่ดินเองหรือเช่าที่ดิน เพราะเพียงมีเมล็ดข้าวมาจำนำจริง ก็จะได้เงิน
 
โครงการรับจำนำข้าวจึงมีข้อดีกว่าโครงการประกันรายได้ชาวนาของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งชดเชยรายได้ให้กับเจ้าของที่นาตามขนาดพื้นที่ ทำให้เจ้าของที่นาเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ขณะที่ชาวนาผู้เช่าไม่ได้อะไรเลย ยิ่งกว่านั้น จำนวนที่ดินทั้งหมดที่ลงทะเบียนในโครงการประกันรายได้ก็มากเกินจริง เพราะประเมินเป็นผลผลิตข้าวเปลือกได้มากถึง 41 ล้านตันทั้งที่ตัวเลขผลผลิตจริงอยู่ที่ปีละ 30-32 ล้านตันเท่านั้น และการที่รัฐบาลไม่ได้แทรกแซงตลาดข้าวโดยตรง ทำให้พ่อค้าสามารถกดราคารับซื้อได้ตามใจชอบ (เหลือแค่ตันละ 6,000 บาทในช่วงเก็บเกี่ยว) ตัวเลขความเสียหายจริงจากโครงการประกันรายได้อยู่ที่ปีละ 6-7 หมื่นล้านบาท โดยผู้ที่ได้ประโยชน์จริงคือ เจ้าของที่ดินทั้งที่ทำนำจริงและที่ไม่ได้ทำนาแต่อ้างเป็น “ชาวนา” และพ่อค้ารับซื้อข้าวนั่นเอง
 
ส่วนข้อโจมตีที่ว่า สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ขู่จะลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยเพราะโครงการรับจำนำข้าว ก็เป็นการขยายความเกินจริง เพราะในรายงานมูดี้ส์ฉบับนั้นเป็นเพียง Credit Outlook รายงานเหตุการณ์เศรษฐกิจการเงินในแต่ละประเทศที่อาจมีผลบวกและลบต่อสถานะของประเทศต่างๆ ซึ่งในกรณีโครงการรับจำนำข้าว มูดี้ส์อ้างตัวเลขขาดทุน 2 แสนล้านบาทที่ปรากฏในสื่อกระแสหลักไทยแค่นั้น โดยไม่ได้ตรวจสอบถึงที่มาที่ไป ในกรณีนี้ มูดี้ส์ ซึ่งเป็นสถาบันประเมินความน่าเชื่อถือของคนอื่นไปทั่วโลก แต่ตนเองกลับบกพร่องอย่างยิ่งที่รายงานตัวเลขเท็จที่เป็น “ข่าวปล่อย” ในสื่อไทยโดยไม่มีการสอบทาน
 
เหตุการณ์ทั้งหมดจึงเป็นบทเรียนสำคัญแก่พรรคเพื่อไทยว่า นโยบายดี บริหารดียังไม่พอ แต่การทำงานการเมืองที่ดี ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
 
 
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข”
ฉบับวันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน 2556

เซ็นทรัลแถลงจุดยืนห้ามใช้พื้นที่ชุมนุมการเมือง ยันเป็นกลางไม่เข้าข้างใคร


บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ออกแถลงการณ์ไม่อนุญาตให้มีการใช้พื้นที่ของศูนย์การค้าเพื่อการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แม้การชุมนุมทางการเมืองจะเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญก็ตาม
 
 
22 มิ.ย. 56 - บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ได้ส่งแถลงการณ์ถึงสื่อมวลชน กรณีที่จะไม่อนุญาตให้มีการใช้พื้นที่ของศูนย์การค้าเพื่อการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แม้การชุมนุมทางการเมืองจะเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญก็ตาม โดยเนื้อหาของแถลงการณ์ดังกล่าวมีดังนี้
 
จากกรณีที่มีการชุมนุมทางการเมืองที่บริเวณศูนย์การค้าในเครือของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ในช่วงที่ผ่านมา   บริษัทฯ ตระหนักดีว่า การชุมนุมทางการเมืองเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ บริษัทฯ จึงใคร่ขอเรียนชี้แจงจุดยืนและนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อกรุณาเผยแพร่ต่อสาธารณะ ดังนี้
 
1.บริษัทฯ ขอยืนยันการดำเนินธุรกิจแบบมืออาชีพและความเป็นกลางทางการเมืองอย่างเคร่งครัด โดยไม่สนับสนุนหรือเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยตรงหรือโดยอ้อม
 
2.บริษัทฯ ไม่มีนโยบายคัดค้านการชุมนุมทางการเมือง แต่ไม่สนับสนุนให้กลุ่มใดๆ มาใช้พื้นที่ในการชุมนุม หรือเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกรูปแบบ
 
บริษัทฯ ประสงค์ให้ศูนย์การค้าฯ ทุกแห่งของบริษัทฯ เป็นศูนย์กลางของชุมชนในการที่สุจริตชนจะมาใช้ชีวิตพักผ่อนหย่อนใจอย่างปลอดภัย สะดวกสบาย และให้ผู้ประกอบการสามารถมาเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ดำเนินกิจการค้าขาย รวมถึงเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อให้เกิดรายได้และเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน โดยบริษัทฯ เป็นผู้ดูแลพื้นที่ ผู้ประกอบการ และประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ
 
ดังนั้น บริษัทฯ จึงขออภัยที่ไม่สามารถอนุญาตให้ผู้ใดใช้พื้นที่ของศูนย์การค้าฯ เพื่อการชุมนุมทางการเมือง หรือผิดไปจากจุดยืนดังกล่าวได้

นายกกำชับดูแลความปลอดภัยหน้ากากขาว วอนชุมนุมตามกติกา

     เผยนายกรับทราบกลุ่มหน้ากากขาวนัดชุมนุมที่ราชประสงค์พรุ่งนี้ (23 มิ.ย.) พร้อมขอให้เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย และไม่ห้ามหากเป็นการแสดงออกในกรอบกติกา 'ปชป.' อัดเสื้อแดงแสดงพฤติกรรมสร้างความรุนแรง ด้านรองโฆษก พท. ปูดข่าวมีการลงขันจ้างหน้ากากขาวล้มรัฐบาล ระบุระวังมือที่ 3 เตือนเลี่ยงการชุมนุม

 
 
(แฟ้มภาพจาก: www.facebook.com/V.For.Thailand)
 
22 มิ.ย. 56 - สำนักข่าวไทยรายงานว่า นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มหน้ากากขาว บริเวณราชประสงค์ในวันพรุ่งนี้ (23 มิ.ย.) ว่า  น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และก่อนหน้านี้ได้กำชับตลอดเวลาว่าต้องการให้การชุมนุมอยู่ในกรอบของกฎหมาย ซึ่งเป็นการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ได้ห้ามผู้ใดมาชุมนุม และขอให้หน่วยงานด้านความมั่นคงดูแลความปลอดภัยผู้ชุมนุมและผู้สัญจรไปมาไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน
 
เมื่อถามว่ารัฐบาลห่วงมือที่สามเข้ามาก่อเหตุความวุ่นวายหรือไม่ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงต้องติดตามสถานการณ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ดูแลเรื่องนี้อยู่
 
“รัฐบาลก็มอนิเตอร์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมต่าง ๆ มาตลอด เป็นการแสดงออกของประชาชน คงไม่มีปัญหาอะไร และก็คงห้ามไม่ได้ แต่ในส่วนเจ้าหน้าที่ก็ดูแลเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและอยู่ในกติกา” นายธีรัตถ์ กล่าว
 
'ปชป.' จี้ 'ปู'ดูแล 'หน้ากากขาว'
 
เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่านายองอาจ คล้ามไพบูลย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่จะมีการนัดชุมนุมของกลุ่มหน้ากากขาว ในวันอาทิตย์ที่ 23 มิ.ย.นี้ว่า ในการชุมนุมครั้งนี้มีความพยายามปล่อยข่าวของคนในรัฐบาลว่า จะเป็นการชุมนุมที่นำไปสู่ความรุนแรง จากการกระทำของมือที่สาม ดังนั้น หากรัฐบาลมีข้อมูล ก็ถือเป็นภาระความรับผิดชอบของรัฐบาลในการดูแลความสงบของบ้านเมือง และผู้ชุมนุม แต่สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์กังวลคือ พฤติกรรมของคนเสื้อแดงที่ไปก่อกวน รังควานการชุมนุม หรือการแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มอื่นๆ อยู่เป็นประจำ โดยมักใช้พฤติกรรมเถื่อน ก่อให้เกิดความรุนแรง ทั้งในเวทีผ่าความจริงของพรรคประชาธิปัตย์ และการชุมนุมของกลุ่มหน้ากากขาว
 
"ขอเรียกร้องไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะผู้บังคับบัญชาระดับสูงหากอยากเห็นบ้านเมืองสงบ ตามที่นายกฯ ต้องการในงานอวยพรวันเกิด ก็ควรสั่งการไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการป้องกันดูและไม่ให้เกิดความรุนแรง รัฐบาลไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่เตือนภัย แต่ควรช่วยกันให้การชุมนุมของประชาชนที่ใช้สิทธิตามกฎหมายสามารถดำเนินการได้ และต้องพยายามทำให้ทุกคนที่อยู่ใต้กฎหมายไทย อย่าปล่อยให้ใครละเมิดกฎหมาย ด้วยการใช้ความรุนแรง" นายองอาจ กล่าว
 
รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ปูดข่าว มีการลงขันจ้างหน้ากากขาวชุมนุมล้มรัฐบาล ระบุ ระวังมือที่ 3 เตือน เลี่ยงการชุมนุม
 
ด้านไอเอ็นเอ็นรายงานว่า นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มหน้ากากขาวว่า จากการข่าวของหน่วยงานความมั่นคง พบว่า ขณะนี้มีการขยายตัวในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติ โดยเชื่อว่าน่าจะมีการลงขันของกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาล เนื่องจากกลุ่มดังกล่าว ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงได้ แต่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนเพื่อล้มรัฐบาล สำหรับข่าวที่ให้ผู้ชุมนุมระวังมือที่ 3 ไว้นั้น ไม่ใช่เป็นการข่มขู่ พร้อมขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการชุมนุมดังกล่าว