วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ไพบูลย์ เชื่อ ประยุทธ์ ได้เป็นนายกคนนอกตาม ม.272


16 ส.ค. 2559 ไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป และ อดีตแกนนำ 40 ส.ว. เปิดเผยแนวทางผลักดันให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังการเลือกตั้งว่า พรรคประชาชนปฏิรูป จะไม่มีการเสนอบัญชีรายเพื่อชูบุคคลใด ๆ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่จะเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก ตามมาตรา 272  เพียงคนเดียว และเชื่อว่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี 100 % หลังจากรัฐสภาที่ประกอบไปด้วย ส.ส.และ ส.ว.ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีตามบัญชีของพรรคการเมืองในระบบปกติได้ ทั้งนี้ตนขอประเมินว่าภายหลังการเลือกตั้งปลายปี 2560 พรรคประชาชนปฏิรูปจะได้ ส.ส.เข้ามามากพอสมควร เนื่องจากประชาชนเบื่อหน่ายระบบการเมืองแบบเก่า ขณะที่พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ จะได้ ส.ส.ลดลง ร้อยละ 20 จากผลการเลือกตั้งปี 2554 จากเดิมที่พรรคเพื่อไทยได้ส.ส.ประมาณ 270 เสียง และพรรคประชาธิปัตย์ได้ประมาณ 160 เสียง
“ดังนั้นในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีตามบัญชีรายชื่อ จะมีเพียงพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ เสนอชื่อบุคคลตามบัญชีของพรรคการเมือง เสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น  และเชื่อว่าสุดท้ายทั้ง 2 พรรคจะไม่มีใครได้เป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะร่วมกับพรรคการเมืองอื่น ๆ เนื่องจากคะแนนเสียงสนับสนุนไม่เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือเกินจำนวน 375 เสียง เนื่องจากวุฒิสภา จำนวน 250 เสียง  พรรคประชาชนปฏิรูป และพรรคการเมืองอื่น ๆ จะงดออกเสียง หรืออีกกรณีพรรคเพื่อไทย  พรรคประชาธิปัตย์  จับมือร่วมกัน โดยมีพรรคขนาดกลางเป็นรัฐบาลเป็นส่วนประกอบ  แม้เสียงของพรรคทั้งหมดก่อนโหวตนายกรัฐมนตรีจะเกิน 375 คนก็ตาม แต่สุดท้ายเชื่อว่าจะทำไม่สำเร็จ เพราะจะมี ส.ส. ที่โหวตสวนมติพรรคอย่างแน่นอน เพราะถือว่าเป็นการทำร้ายจิตใจประชาชนอย่างร้ายแรง หรืออาจประเมินว่าการทำงานในอนาคตก็ไม่สามารถไปกันรอด เพราะคนละอุดมการณ์” ไพบูลย์ กล่าว
ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า เมื่อเข้าเงื่อนไขตามที่ตนคาดการณ์เอาไว้ สุดท้ายจะมีการเจรจากันเองของส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร และรวบรวมเสียงของส.ส. จำนวนกึ่งหนึ่ง หรือไม่น้อยกว่า 250 คน ยื่นเรื่องให้ประธานรัฐสภาเพื่อเปิดประชุมรัฐสภา ของดเว้นรายชื่อจากบัญชีพรรคการเมือง เนื่องจาก ส.ส.ส่วนใหญ่ ต้องการให้มีรัฐบาลโดยเร็ว และไม่ต้องการให้สภาพการเมืองเป็นสุญญากาศ ที่คสช. ยังอยู่ในอำนาจต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดหากยังไม่มีรัฐบาลชุดใหม่ จากนั้นเมื่อเปิดประชุมรัฐสภาได้แล้ว  ส.ส. และส.ว.ก็จะใช้เสียง 2ใน 3 ของรัฐสภา เพื่อลงมติงดเว้นเลือกนายกรัฐมนตรีตามบัญชีพรรคการเมือง ตามข้อยกเว้นมาตรา 272  จากนั้นพรรคประชาชนปฏิรูป ก็จะกลับไปรวมลงชื่อกับ ส.ส.พรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ และเชื่อว่ารัฐสภาก็จะให้ความเห็นชอบลงมติเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกในที่สุด
“สาเหตุที่พรรคประชาชนปฏิรูปเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังเลือกตั้ง เนื่องจากมีความเหมาะสมที่สุด เพราะมีคุณสมบัติ 3 ประการ คือ  1.เป็นคนดี  2.ซื่อสัตย์ 3. มีความสามารถ ขณะที่นักการเมืองหรือคนอื่น ๆ ในช่วงเวลานี้ไม่มีคุณสมบัติครบ 3 ข้อแบบไม่เห็นฝุ่น” ไพบูลย์ กล่าว

สนช.ดัน ส.ว.แต่งตั้งร่วมเสนอนายกฯคนนอกได้เลย ไม่ต้องให้ส.ส.เสนอก่อน

ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ของ สนช. กล่าวว่า ก่อนวันที่ 19 ส.ค. กมธ.สามัญพิจารณาศึกษาฯ จะประชุมเพื่อหาข้อสรุปในประเด็นการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงว่า จะต้องแก้มาตราใดบ้าง โดยจะส่งตัวแทนจากคณะกรรมการฯไปชี้แจงต่อสมาชิก กรธ. ส่วนประเด็นในมาตรา 272 เรื่องการงดเว้นนายกฯนอกบัญชีนั้น ตนเห็นด้วยกับ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่หนึ่งว่า ในเมื่อในการประชุมรัฐสภานัดแรกเพื่อร่วมกันลงมติเลือกนายกฯแล้ว หากเลือกไม่ได้ก็ให้ขอมติ 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา เพื่อให้สามารถเสนอชื่อนายกฯนอกบัญชีเลย ไม่จำเป็นต้องใช้ 2 ขยัก ให้ ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งมีมติก่อน จึงค่อยขอเสียง 2 ใน 3 รัฐสภา ส่วนกระแสข่าวว่า จะมีข้อเสนอให้ ส.ว. มีอำนาจอภิปรายไม่ไว้วางใจได้นั้น ตนไม่เคยได้ยิน ซึ่งในคำถามพ่วงที่ถามประชาชนก็ไม่มีเรื่องนี้

กรธ. ยันต้องให้ส.ส.เสนอชื่อก่อน

เธียรชัย ณ นคร คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงแนวทางแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงของสนช.ว่า ยังตัองหารือกันอีกครั้ง แต่กรธ.ส่วนใหญ่เห็นตามหลักการว่า ขั้นตอนการลงมติและเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี จะต้องยึดไปตามมาตรา 88 มาตรา 159 และมาตรา 272 คือ ส.ส.จะต้องเป็นผู้เสนอชื่อนายกฯตามบัญชี หากเลือกกันไม่ได้ ส.ส. จำนวน 250 คน จาก 500 คน หรือเกินกึ่งหนึ่ง จะต้องมีมติเพื่อไปขอเสียงจากสมาชิกรัฐสภา 500 คน จาก 750 คนหรือ 2 ใน 3 สำหรับการงดเว้น ให้ส.ส.สามารถเสนอชื่อนายกฯนอกบัญชีได้ กรธ.เห็นว่า สเต็ปที่วางไว้เป็นตามหลักการ ที่จำเป็นต้องคงความสำคัญของส.ส.ที่ได้เสนอบัญชีนายกฯไว้กับประชาชนก่อนการเลือกตั้ง อีกทั้งในคำถามพ่วงเองก็มีถ้อยคำเพียงให้ส.ว.มีส่วนร่วมลงมติเลือกนายกฯเท่านั้น ไม่มีถ้อยคำให้ส.ว.มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกฯ แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องรอสมาชิกสนช.ส่งตัวแทนมาร่วมหารือวันที่ 19 สิงหาคมนี้ จึงจะทราบว่า เจตนาของคำพ่วงคืออะไร และเมื่อปรับแก้แล้วยังก็ต้อรอดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

เพื่อไทยทำใจฝ่ายค้านสมัยหน้า 

ขณะที่ สามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการประกาศตั้งพรรคของไพบูลย์ นิติตะวัน จะเป็นการเปิดทางให้พรรคทหารโดยเฉพาะหรือไม่นั้น ตนมองว่าไม่น่าใช่ เพราะทหารคงไม่น่าจะใช้ไพบูลย์ จากที่ผ่านมาทหารไม่จำเป็นต้องตั้งพรรคเอง แต่ใช้บริการจากพรรคการเมืองเดิมที่มีอยู่ อย่างสามัคคีธรรม ซึ่งไม่เห็นประสบผลสำเร็จ แต่ถ้ารัฐธรรมนูญแบบนี้เท่ากับทหารมีพรรคการเมืองใหญ่อยู่แล้วคือส.ว. 250 คน ซึ่งจะเป็นคนกำหนดตัวนายกรัฐมนตรี เพราะเสียงส.ส. 500 คนซึ่งจะต้องแตกไปอีก คงไม่มีเสียงข้างมากพอจะสู้ได้การรวมตัวของ 250 ส.ว. บวกเสียงต่างๆ อีกได้ มองว่าทหารไม่ต้องเดือดร้อนตั้งพรรคเพียงอาศัยแนวร่วมที่มีก็พอ 
สามารถ กล่าวด้วยว่า การเกิดนายกฯ คนนอก รัฐธรรมนูญเขียนเงื่อนไขว่าหากไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้ตามที่แต่ละพรรคเสนอก็ให้งดเว้นการใช้บทบัญญัตินั้นก็เข้าสู่เส้นทางการเกิดนายกฯ คนนอกได้ ส่วนนายกฯ คนนอกไม่ขอประเมินว่าเป็นใคร แต่ดูจาสถานการณ์นายกฯ คนปัจจุบันไม่ได้มีท่าทีปฏิเสธกับเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าใครมาเป็นนายกฯ คนนอก แต่เสถียรภาพหลังเกิดการเลือกตั้งจะไม่มั่นคง ถูกกดดันจากพรรคต่างๆ วุ่นวายเหมือนสมัยก่อน เกิดการต่อรอง ขอนั่นนี่ ล้มลุกคลุกคลาน จะเกิดการโทษนักการเมืองไม่ดี ทั้งที่กติกามันห่วย เทียบไม่ได้กับรัฐธรรมนูญปี 40 ที่รัฐบาลอยู่ครบ 4 ปี รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เขียนกติกาไม่ให้รัฐบาลช่วยเหลือชาวบ้านได้ จะเกิดการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่านโยบายผิด แต่ไม่เป็นไรในเมื่อประชาชนเลือกแบบนี้ก็ใช้ไป ต่อไปส.ส. กับส.ว.จะเป็นคู่กัดกันตลอดเวลา วันนี้พรรคเพื่อไทยทำใจแล้วว่าเราคงเป็นฝ่ายค้าน เพราะเขาเขียนมาเจตนาแบบนี้อยู่แล้ว แม้เราเป็นฝ่ายค้านก็จะใช้กลไก กติกาที่เขาเขียน ทำตามกติกาและดูว่าสุดท้ายแล้วท่านจะทำงานได้หรือไม่ อย่าหาว่าเราตีรวน เพราะท่านเขียนกติกาแบบนี้เอง อีกทั้งรัฐธรรมนูญก็แก้ยาก เมื่อถึงทางตันก็วุ่นวาย

สถาบันสิทธิ มหิดล ย้ำการรณรงค์ไม่ผิดกฎหมาย เรียกร้องหยุดดำเนินคดีผู้เห็นต่าง


16 ส.ค. 2559 สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ออกแถลงการณ์กรณีการเคลื่อนไหวของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ซึ่งถูกจับกุมในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ จากการแจกเอกสารความเห็น เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยล่าสุด ถูกฝากขังที่เรือนจำภูเขียว จังหวัดชัยภูมิว่า การรณรงค์ซึ่งเป็นการเผยแพร่ความคิดเห็นรูปแบบหนึ่งสามารถกระทำได้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย เพราะเป็นการใช้เสรีภาพตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 7 
"การแสดงออกโดยมิได้ใช้ความรุนแรง ไม่ใช่ความผิดทางอาญาที่สมควรถูกจับกุมคุมขัง" แถลงการณ์ระบุและเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีต่อผู้แสดงความเห็นต่างทางการเมืองโดยสุจริต และเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจให้เปิดพื้นที่ในการแสดงออกอย่างเสรีบนพื้นฐานของการไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้มีช่องทางในการสื่อสารแลกเปลี่ยน อันจะเป็นการลดเงื่อนไขความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง
นอกจากนี้ ยังเรียกร้องสิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลแม้บุคคลจะถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพไม่ว่าโดยการควบคุมตัวหรือคุมขังด้วย
รายละเอียดมีดังนี้
แถลงการณ์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
กรณีการเคลื่อนไหวของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน)
จากกรณีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) และนายวศิน พรหมมณี ถูกจับกุมตัวขณะแจกเอกสารความเห็นประชามติที่จังหวัดชัยภูมิ ในข้อหาว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559 โดยนายวศินได้ยื่นขอประกันตัวและได้รับการประกันตัวออกไป ขณะที่นายจตุภัทร์ไม่ขอประกันตัวและได้อดอาหาร เพื่อประท้วงกระบวนการประชามติที่ไม่เสรีและการจับกุมที่ไม่ยุติธรรมนั้น สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ขอแสดงความเห็นและมีข้อเรียกร้องดังนี้
  • 1. การรณรงค์ซึ่งเป็นการเผยแพร่ความคิดเห็นรูปแบบหนึ่งสามารถกระทำได้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย เพราะเป็นการใช้เสรีภาพตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 7 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย”
  • 2. การรณรงค์โดยมิได้มีการข่มขู่คุกคามผู้อื่นย่อมไม่ขัดต่อข้อบัญญัติในมาตรา 61 วรรคสองของพระราชบัญญัติดังกล่าว ความว่า “ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”
  • 3. การแสดงออกโดยมิได้ใช้ความรุนแรง ไม่ใช่ความผิดทางอาญาที่สมควรถูกจับกุมคุมขัง
  • 4. สิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อเกิดการเจ็บป่วยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน บุคคลแม้ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพไม่ว่าโดยการควบคุมตัวหรือคุมขัง ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย
  • 5. ขอเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีต่อผู้แสดงความเห็นต่างทางการเมืองโดยสุจริต
  • 6. ขอเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจให้เปิดพื้นที่ในการแสดงออกอย่างเสรีบนพื้นฐานของการไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้มีช่องทางในการสื่อสารแลกเปลี่ยน อันจะเป็นการลดเงื่อนไขความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง

สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
มหาวิทยาลัยมหิดล
16 สิงหาคม 2559
แถลงการณ์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
กรณีการเคลื่อนไหวของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน)

ประยุทธ์ ปราม หยุดใช้ชื่อตนสร้างเพจ


ที่มาภาพ เว็บทำเนียบรัฐบาล
16 ส.ค. 2559 พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า จากกรณีที่มีผู้เขียนเพจกล่าวถึงสถานการณ์ระเบิดป่วนเมืองที่เกิดขึ้น โดยอ้างว่าเป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการใช้ภาษาบางส่วนที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนเป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเองนั้น  ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่เข้าใจข้อเท็จจริงและไม่มีการแชร์ต่อกันจนอาจสร้างความเสียหาย
"ท่านนายกฯขอว่า ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก หากใครจะคิดเห็นเช่นไร กับเรื่องใด หรือต่อบุคคลใด ขอให้รับผิดชอบความคิดเห็นเหล่านั้นด้วยตนเอง ใช้ชื่อของท่านเอง ไม่ควรใช้ชื่อบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นชื่อนายกฯ หรือชื่อบุคคลใดก็ตาม เพราะถือเป็นการเผยแพร่ที่พาดพิงและอาจเข้าข่ายละเมิดผู้อื่น" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อว่า  พลเอกประยุทธ์  มีจุดยืนชัดเจนเสมอมาที่จะไม่ทะเลาะ ไม่วิพากษ์วิจารณ์ใคร แม้จะมีความพยายามชวนทะเลาะ ให้ร้าย หรือวิพากษ์วิจารณ์ท่านเพียงใด ท่านก็ขอเก็บทุกอย่างไว้ในใจ เพื่อใช้เวลาที่มีอย่างจำกัดทำหน้าที่บริหารและปฏิรูปประเทศ เพื่อความสงบ ความมั่นคงและยั่งยืนของประเทศไทยและประชาชนคนไทยทั้งประเทศต่อไป

ญาติแดงมหาสารคาม-อ่างทอง พบยูเอ็นหลัง คนเสื้อแดงถูกคุมตัว-ห้ามญาติเยี่ยม


ญาติเสื้อแดงเข้าพบยูเอ็น ขอความเป็นธรรมและเข้าถึงข้อมูลผู้ถูกจับกุม หลังทหารบุกค้นบ้านและควบคุมตัว 2 ราย ที่ จ.มหาสารคาม และ จ.อ่างทอง ด้านทหาร มทบ.11 ปฏิเสธให้ญาติเข้าเยี่ยมย้ำทำตามกฎหมายอยู่ในระหว่างการสอบสวน
15 ส.ค.2559 เวลา 10.30 น. ที่ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNOHCHR) กรุงเทพมหานคร ญาติของแนวร่วมเสื้อแดง 2 ราย เขาพบเจ้าหน้าที่ยูเอ็นเพื่อหารือกรณีถูกทหารควบคุมตัวไปสอบสวนหลังเกิดเหตุระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้ และช่วยเหลือเรื่องการเข้าถึงข้อมูลการควบคุมตัวว่าผู้ถูกควบคุมตัวได้รับความเป็นธรรม และถูกคุมตัวไปที่ใด
ดวงใจ หัวนา และ มนัสพล กุระจินดา ภรรยาและบุตรชายของ ศรวัชษ์ กุระจินดา ชาวมหาสารคามซึ่งถูกถูกทหารควบคุมตัวไปสอบสวนหลังเกิดเหตุการระเบิดขึ้นในพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคใต้ ได้เข้าพบและให้ข้อมูลขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ เกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวศรวัชษ์และบุกค้นบ้าน และขอความช่วยเหลือจากองค์กรข้าหลวงใหญ่ฯให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการด้วยความเป็นธรรมและสามารถรับรู้ข้อมูลการควบคุมตัวศรวัชษ์ได้
ดวงใจ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบจำนวน 10 กว่านาย ควบคุมตัวศรวัชษ์ สามีตนนั้นเกิดขึ้นเมื่อช่วงเวลาตีห้ากว่าๆ ของวันที่ 13 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งในขณะนั้นดวงใจ ลูกชายและเพื่อนของลูกชาย อาศัยรวมกันในบ้านทั้งหมด 7 คนและอยู่ด้วยในเหตุการณ์ มีเจ้าหน้าที่ทหารแต่งชุดลายพรางสีเขียว 5-6 คน และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบบุกค้นบ้าน เข้าไปค้นในห้องนอนและบังคับให้ศรวัชษ์แต่งตัวและพาออกไปจากบ้าน
ขณะที่ทหารค้นบ้าน ดวงใจ กล่าวต่อว่า ทหารบอกว่าให้ดูว่าเจ้าหน้าที่ได้ค้นเอาอะไรไปบ้างและให้ศรวัชษ์ออกไปจากห้อง และเจ้าหน้าที่ก็ถามเกี่ยวกับสิ่งของที่มีอยู่ในบ้าน เช่น เห็นหวยก็ถามว่าขายหวยหรือไม่ เห็นอะไรในบ้านก็ถามที่มาที่ไปแต่ไม่ได้ถามถึงข้อมูลเกี่ยวกับศรวัชษ์ หลังจากที่ค้นบ้านนั้นเจ้าหน้าที่ก็หยิบเอกสารที่เกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง เช่น ผ้าพันคอ ป้ายต่างๆ และสมุดบัญชีธนาคารของศรวัชษ์ นอกจากตรวจค้นยึดสิ่งของแล้วเจ้าหน้าที่ได้ยึดโทรศัพท์มือถือของตนและสามีไปด้วย รวมทั้งหมด 2 เครื่อง
ดวงใจ กล่าอว่า วันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบขับรถทหารนำเอาเครื่องโทรศัพท์มือถือที่ยึดไปเมื่อวันที่ 13 ส.ค.มาคืน แต่คืนแค่ของตนแต่ของศรวิชษ์ไม่ได้คืนให้ และเมื่อตนได้สอบถามเจ้าหน้าที่ว่าสามีเป็นอย่างไรบ้าง เจ้าหน้าที่ทหารตอบเพียงว่าส่งตัวสามีของตนไปที่ กองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 (พัน.ร.มทบ.11)แล้ว และเมื่อสออบถามเจ้าหน้าที่ทหารว่าจะปล่อยตัวศรวัชษ์เมื่อไหร่ เจ้าหน้าที่ตอบว่าขึ้นอยู่กับการสอบสวนของส่วนกลางเขาไม่สามารถตอบได้
‘วันนี้ตั้งใจว่าจะไป มทบ.11 อยากรู้ว่าเขาอยู่ที่นั้นไหม กลัวว่าโดนแกล้ง เพราะเคยอยู่กับกลุ่มเสื้อแดง’ ดวงใจ กล่าว
เจ้าหน้าที่ทหาร 20 นาย เข้าค้นบ้านแนวร่วมเสื้อแดง จ.อ่างทอง
กลุ่มญาติและหุ้นส่วนธุรกิจของณรงค์ ผดุงศักดิ์ศรี หรือเฮียสี่อ่างทอง ซึ่งถูกทหารควบคุมตัวไปสอบสวนหลังเกิดเหตุการระเบิดขึ้นในพื้นที่หลาย จังหวัดทางภาคใต้เข้าร้องเรียนและให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่สำนักงานข้าหลวง ใหญ่ฯ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เมื่อ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา เวลา 6.00 น. มีเจ้าหน้าที่ทหาร 20 นาย เข้ามาค้นบ้านและควบคุมตัวณรงค์ ขณะที่กำลังเปิดร้านขายลำโพงและเข้าไปค้นที่บ้านพักอีกหลังในละแวกเดียวกัน โดยการค้นทั้งสองพื้นที่เจ้าหน้าที่ไม่มีเอกสารหรือหมายค้นใดอ้าง ซึ่งขณะเข้าควบคุมตัวณรงค์และตรวจค้นในที่พัก เจ้าหน้าที่ทหารได้ดึงกล้องวงจรปิดออก ยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด 10 เครื่อง
สุรีรัตน์ อุทิศ อดีตภรรยาและเป็นหุ้นส่วนธุรกิจร้านขายลำโพงกับณรงค์หรือเฮียสี่อ่างทอง กล่าวว่า ตอนนั้นขณะเปิดร้านขายของ มีชายฉกรรอาวุธครบมือแต่งตัวเหมือนหน่วยคอมมานโด และชายชุดดำแต่งกายปิดหน้าปิดตา ขับรถโตโยต้า รุ่นฟอจูนเนอร์ และรถตู้สีขาวรวมทั้งหมด 3 คัน มีเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้ปิดหน้าปิดตาเพียง 2-3 นาย เมื่อเข้ามาก็เจ้าหน้าที่ก็ล็อคตัวสุรีรัตน์ และณรงค์ เข้าไปในร้าน และมีการดึงกล้องวงจรปิดออก มีกองกำลังอีกส่วนหนึ่งล้อคตัวลูกหลานในบ้านอีก 4 คน ไปยืนรวมกัน และอีกชุดหนึ่งก็เข้าค้นในร้านที่เป็นตึกแถวมีทั้งหมด 3 ชั้น
สุรีรัตน์ กล่าวต่อว่า ขณะที่เจ้าหน้าที่ควบคุมคนในร้านแล้ว ยังมีกองกำลังอีกส่วนหนึ่งได้เข้าไปค้นบ้านอีกหลังที่อยู่ในละแวกเดียวกัน ต.ศาลาแดง อ.เมือง จ.อ่างทอง ซึ่งในขณะนั้นมีเด็กอายุ 5 ขวบ และ 10 ขวบ มีหลานชายและหลานสะใภ้อาศัยอยู่ เมื่อหลานชายและหลานสะใภ้เห็นเจ้าหน้าที่มาที่หน้าบ้านจึงตกใจและไม่กล้าไปเปิดประตู ทำให้เจ้าหน้าที่ตัดสินใจปีนรั้วบ้านเข้าค้นโดยไม่มีเอกสาร ซึ่งเมื่อเข้าไปตรวจค้นก็ได้นำเอาเอกสารต่างๆซึ่งไม่ทราบในขณะนั้นว่าอะไรบ้าง
วันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่แต่งกายนอกเครื่องแบบเอาเอกสารและโทรศัพท์มือถือมาคืนทั้งหมดที่ยึดไป ยกเว้นของณรงค์ โดยเอกสารที่เอาไปเป็นเอกสารเกี่ยวกับธุรกิจการค้า แผ่นป้ายที่เคยไปชุมนุมเสื้อแดง เช่น ป้ายทำโรงครัว รูปที่เคยถ่ายร่วมกับเพื่อนฝูง ที่เป็นสัญลักษณ์ของการชุมนุมที่ผ่านมา หลังจากคืนโทรศัพท์มือถือและเอกสารแล้วเจ้าหน้าที่ได้บอกว่า ณรงค์ไม่เป็นอะไรอยู่ห้องแอร์ไม่ต้องเป็นห่วงและบอกว่าควบคุมตัวไปที่ มทบ.11 แต่ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดใดในขณะนี้
‘ก่อนหน้านี้เมื่อ 2 เดือน มีทหารมาเฝ้าที่ซอยหน้าบ้านตลอด เมื่ออาทิตย์ที่แล้วกลุ่มพี่น้องเสื้อแดงถูกจับที่ราชบุรีเรื่องประชามติ ณรงค์ก็เดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจ ซึ่งขณะนั้นเจ้าหน้าที่ทหารก็รู้หมดว่าทำอะไรที่ไหนอย่างไร มีการถ่ายรูปรถยี่ห้ออะไร แต่ก็ไม่เคยกลัวเพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิด มาครั้งนี้จึงขอ UN จะทำอย่างไรที่จะได้รับรู้ว่าเขาอยู่ที่ไหนโดนจับข้อหาอะไร และถ้าเกิดความเสียหายใครจะรับผิดชอบเพราะณรงค์มีโรคส่วนตัว และยังต้องดำเนินธุรกิจซึ่งการหายไปทำให้เกิดผลกระทบอย่างมาก’สุรีรัตน์ กล่าว
ญาติแนวร่วมเสื้อแดงไป มทบ.11 ขอพบผู้ถูกจับกุม ทหารปฏิเสธ ยันทำตาม กม.
วันเดียวกันนี้ เมื่อเวลา 14.30 น. ที่ กองร้อยกองบังคับการ กองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11(มทบ.11) ธนาธร ทนานนท์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และญาติของแนวร่วมเสื้อแดง 2 คนที่ถูกควบคุมตัว ได้เดินทางขอเข้าเยี่ยมณรงค์ และศรวัชษ์ แต่เจ้าหน้าที่ทหารไม่อนุญาตให้เข้าเยี่ยม โดยกล่าวว่าไม่มีคำสั่งอนุญาติทุกอย่างดำเนินการตามกฎหมายและขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งข้อหาใดต่อผู้ถูกคุมตัวทั้ง 2 คน
ธนาธร กล่าวว่า  ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ทหารว่า ศรวัชษ์ และณรงค์ ถูกคุมขังที่ มทบ.11 หรือไม่ แต่เจ้าหน้าที่กล่าวว่า ข้อเท็จจริงก็ตามที่ปรากฎในสื่อ และเมื่อถามต่อว่าจะปล่อยตัวเมื่อไหร่ก็ตอบว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำตามกฎหมายซึ่งตอนนี้อยู่ในกระบวนการสอบสวน และไม่สามารถให้คำตอบใดๆได้ แจ้งเพียงว่าผู้ถูกคุมขังสบายดีไม่ต้องกังวล

เผย 'ไผ่ ดาวดิน' อาการดีขึ้น ศาลรับจะเบิกตัวมาไต่สวนฝากขังที่ศาลศุกร์นี้


เผย 'ไผ่ ดาวดิน' อาการป่วยดีขึ้น ศาลรับจะเบิกตัวมาไต่สวนฝากขังที่ศาลศุกร์นี้ ด้านฮิวแมนไรท์วอทช์ เรียกร้องปล่อยตัวไผ่ทันที-ให้ได้รับการดูแลโดยแพทย์
16 ส.ค. 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อเวลา 10.30 น. กลุ่มทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางเข้าเยี่ยมจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสานและดาวดิน ที่เรือนจำภูเขียว อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เพื่อสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดี จึงทราบว่าขณะนี้อาการไข้หวัดของจตุภัทร์อาการดีขึ้น ไข้ลดลงตั้งแต่เย็นวานนี้ โดยทางเรือนจำภูเขียวได้ย้ายจตุภัทร์ไปรักษาพยายาลที่เรือนพยาบาลของเรือนจำโดยมีการให้เกลือแร่ ยาพาราเซตามอล และยาแก้อักเสบ และยังมีเพื่อนผู้ต้องขังช่วยดูแลเช็ดตัวให้ และในเช้าวันนี้แพทย์จากโรงพยาบาลภูเขียวยังได้เข้ามาตรวจตอนเช้าและยังต้องรอผลตรวจเลือดในบ่ายวันนี้
ทั้งนี้จตุภัทร์ยังยืนยันจะอดอาหารต่อ แต่เนื่องจากต้องรับประทานยาเพื่อรักษาอาการจึงต้องรับประทานขนมปังเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ยากัดกระเพาะและมีอาการกรดไหลย้อน
ผู้บัญชาการเรือนจำภูเขียวได้แจ้งกับพริ้ม บุญภัทรรักษา มารดาของจตุภัทร์ว่า กรณีอาการป่วยของจตุภัทร์ได้ให้มาพักที่เรือนพยาบาล จ่ายเกลือแร่และยาพาราเซตามอล กำลังรอผลตรวจเลือดและการวินิจฉัยจากแพทย์โรงพยาบาลภูเขียวก่อน เพื่อพิจารณาคำขอของพริ้มที่วานนี้ได้ยื่นหนังสือขอให้ทางเรือนจำส่งตัวจตุภัทร์ไปรักษาที่โรงพยาบาลภูเขียว เนื่องจากแม่ของจตุภัทร์ยังคงกังวลเรื่องอาการป่วยของจตุภัทร์เพราะจตุภัทร์เคยมีประวัติเป็นไข้เลือดออกมาก่อนและเมื่อได้เห็นอาการป่วยเมื่อวานนี้ทำให้เป็นกังวล
หลังจากการเข้าเยี่ยม ทนายความของศูนย์ทนายความได้เดินทางไปศาลจังหวัดภูเขียวเพื่อยื่นคำร้องให้ศาลเบิกตัวจตุภัทร์มาที่ศาลในวันที่ 19 ส.ค.2559 วันฝากขังครั้งที่สอง หากทางพนักงานสอบสวนมีการยื่นคำร้องให้ฝากขังจตุภัทร์ต่อเป็นครั้งที่สองและขอพิจารณาด้วยการประชุมทางจอภาพ (วิดีโอคอนเฟอเรนซ์) จตุภัทร์ได้ขอให้ศาลงดการใช้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เนื่องจากต้องการคัดค้านการฝากขังครั้งที่สองและทนายความขอถามค้านพนักงานสอบสวนถึงเหตุจำเป็นในการฝากขัง
ศาลจังหวัดภูเขียวมีคำสั่งให้รับคำร้องของจตุภัทร์และแจ้งแก่ทนายความที่รับมอบอำนาจเข้ายื่นคำร้องแทนว่าจะเบิกตัวจตุภัทร์มายังศาลในวันศุกร์นี้
ทนายความชี้แจงว่าเหตุที่ต้องเข้ายื่นคำร้องขอให้ศาลเบิกตัวจตุภัทร์มาศาลในครั้งนี้เนื่องจากปกติการฝากขังผู้ต้องหาตั้งแต่ครั้งที่สองขึ้นไปในกระบวนการของศาลยุติธรรมจะไม่เบิกตัวผู้ต้องหามามาศาลในการฝากขังแต่จะพิจารณาการฝากขังโดยการใช้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์แทน ไม่เหมือนกรณีการฝากขังในกระบวนการฝากขังของศาลทหาร
ทั้งนี้ไผ่ถูกควบคุมตัวเนื่องจากการแจกเอกสารซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ส.ค.59 ที่ตลาดสดภูเขียว และถูกตั้งข้อหาว่ากระทำผิดตามมาตรา 61 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 โดยไผ่เริ่มอดอาหารในช่วงสายของวันที่ 7 ส.ค.59
ด้านองค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัว จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน พร้อมเรียกร้องด้วยว่า จนกว่าเขาจะได้รับการปล่อยตัว กรมราชทัณฑ์ควรส่งตัวเขา ซึ่งอดอาหารมาตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. จากเรือนจำภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ไปที่โรงพยาบาล ให้เขาอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ทั้งนี้ มีรายงานว่า เมื่อคืนวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา เขาเป็นลมไป หลังจากมีอาการปวดร่างกาย ตัวสั่น และมีไข้สูง
"รัฐบาลทหารต้องปล่อยจตุภัทร์รวมถึงนักกิจกรรมคนอื่นๆ ที่ถูกจับจากการประท้วงร่างรัฐธรรมนูญอย่างสันติทันที" แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการแผนกเอเชีย ขององค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวและว่า ขณะเดียวกัน เขาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ในกรณีที่สุขภาพของเขาแย่ลงรวมถึงควรมีการอนุญาตให้ทูตได้เยี่ยมเขา
แบรด อดัมส์ กล่าวด้วยว่า สหประชาชาติและเพื่อนมิตรของไทยต้องกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ ให้หยุดการจับกุมโดยพลการต่อผู้วิจารณ์และเห็นต่าง รวมถึงยกเลิกข้อหาต่อผู้ที่แสดงออกความเห็นทางการเมืองอย่างสันติทั้งหมด พร้อมทั้งรัฐบาลทหารต้องทำตามที่ได้สัญญาไว้ว่าจะเคารพสิทธิและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ประยุทธ์โชว์วิสัยทัศน์กลางวงประชุมผู้นำ พัฒนาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล


16 ส.ค. 2559 เมื่อเวลา 12.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงในการเสวนาระหว่างผู้นำ (Leaders’ Discussion) หัวข้อ“Transforming Nations through Creativity and Innovation” ในการประชุม International Conference on Blue Ocean Strategy ณ Putrajaya International Convention Center เมืองปุตราจายา
โดย พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดงความชื่นชมรัฐบาลมาเลเซียสำหรับความคิดริเริ่มจัดการประชุม International Conference on Blue Ocean Strategy และกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีมาเลเซียที่เชิญเข้าร่วมการเสวนาครั้งนี้
การเสวนาระหว่างผู้นำ ในหัวข้อการพัฒนาประเทศโดยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม   ตามแนวคิดของยุทธศาสตร์ทะเลสีคราม (Blue Ocean) จัดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมในยุคที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโลกค่อนข้างชะลอตัว การแข่งขันระหว่างกันแบบทะเลสีแดง (Red Ocean) จึงมีแนวโน้มสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเรากำลังอยู่ในโลกที่ความไม่แน่นอน (uncertainty) ความซับซ้อน (complexity) การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว (rapid pace of change) กลายเป็นความปกติในรูปแบบใหม่ (New Normal) ขณะที่ประเทศต่าง ๆ เผชิญชะตากรรมร่วมกัน (Global Commons) มากขึ้นจากโลกที่เชื่อมต่อกัน (Connected World) ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสภาวะโลกร้อน ปัญหาหมอกควันข้ามชาติ ปัญหาก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ ดังนั้น ปัจจุบันคนในโลก เวลาสุขก็จะสุขด้วยกัน และเวลาทุกข์ก็จะทุกข์ด้วยกัน
ภายใต้โลกที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน (Independent World) ในยุคโลกาภิวัตน์เช่นนี้ ประเทศต่าง ๆ จำต้องปรับกระบวนทัศน์สู่การ “คิดนอกกรอบเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่” ปรับจากการแข่งขันกันในอุตสาหกรรมที่เหมือน ๆ กันในตลาดเดียวกัน  จากการต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย ใน "ทะเลสีแดง" สู่การโลดแล่นไปด้วยกันภายใต้ "ทะเลสีคราม" ด้วยการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมที่ไม่ได้มุ่งเอาชนะในการแข่งขัน หากแต่มุ่งเน้นการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดใหม่ๆ โดยการแปลง "คุณค่า" ออกมาเป็น "มูลค่า" ผ่านความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ โมเดลธุรกิจใหม่ๆ  พัฒนารากเหง้าทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นถักทอออกมาเป็นนวัตกรรมที่มีอัตลักษณ์   โดดเด่น ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง เพื่อนำตัวเองออกจากการแข่งขันแบบเดิมๆ
การเสวนาครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีให้ผู้นำร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในบริบทของแต่ละประเทศเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายด้านการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมภายในประเทศเพื่อสอดรับกับความท้าทายใหม่ของโลกรวมถึงหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันเพื่อให้ทะเลสีครามเป็นทะเลที่มีคลื่นสงบมีความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์ เป็นทะเลแห่งความหวังและโอกาส (Blue Ocean of Hope and Opportunities)  ที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาของประเทศ และให้ทุกประเทศสามารถเติบโตและเข้มแข็งเดินหน้าไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
สำหรับประเทศไทยนั้น ขณะนี้เผชิญกับความท้าทายหลายประการ อาทิ 1) การขาดแคลนแรงงาน และการเข้าสู่สังคมวัยชรา 2) ประสิทธิภาพของแรงงานไทยที่พัฒนาช้ากว่าเทคโนโลยีการผลิตของโลกและขีดความสามารถในการยกระดับเทคโนโลยีการผลิตในภาพรวม  3) ธุรกิจใหม่ของไทยยังขาดความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 4) ตลาดคู่ค้าสำคัญเช่นสหรัฐฯ ยุโรปและจีนเผชิญสภาวะถดถอย 5) มีการย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยสู่ฐานการผลิตที่มีค่าแรงต่ำกว่า 6) ความเหลื่อมล้ำทางสังคม สุขอนามัยของประชาชน ภัยธรรมชาติ และความเสื่อมโทรมของสภาพสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาที่ไม่สมดุล ประเทศไทยจึงอยู่ระหว่างการปฏิรูปประเทศเพื่อวางรากฐานให้ประเทศมีความเข้มแข็งเพื่อรองรับกับความท้าทายข้างต้นโดยมุ่งเน้นการพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน บนพื้นฐานของการเติบโตไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
รัฐบาลเล็งเห็นความจำเป็นในการปรับโมเดลเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนำประเทศออกจาก “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” จาก “โมเดลประเทศไทย 1.0” ที่เน้นภาคการเกษตร ไปสู่ “โมเดลประเทศไทย 2.0” ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา และ “โมเดลประเทศไทย 3.0” ในปัจจุบันที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก สู่ “โมเดลประเทศไทย 4.0.” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” (“Value–Based Economy)  รัฐบาลจึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ประเทศระยะ 20 ปี (2560-2579) และ แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 12 (2560-2564) โดยตั้งเป้าพัฒนาประเทศสู่ ประเทศไทย 4.0  ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีคนเป็นศูนย์กลางเป็นแนวทาง ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณค่าเพื่อผลิตกำลังคน สร้างพลังสังคม สานต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง กระจายความมั่งคั่งและโอกาสอย่างถ้วนทั่วและเป็นธรรม ยกระดับการให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ  ด้วยหลัก "4Ss" อันประกอบด้วยการพิทักษ์รักษาโลก (Saved the Planet) การรักษาสันติภาพ (Secured Peace) การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) และ การปันความเจริญรุ่งเรือง (Shared Prosperity)
องค์ประกอบของ ประเทศไทย 4.0 มีสามประการ ได้แก่ 1) การยกระดับประเทศสู่ประเทศที่มีรายได้สูง (High Income Country) ด้วยการปรับโครงสร้างเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญา รังสรรค์ผ่านการวิจัยและพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมมากขึ้น 2) การมุ่งให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากความเจริญและการพัฒนา เปลี่ยนความมั่งคั่งและโอกาสที่กระจุก เป็นความมั่งคั่งและโอกาสที่กระจาย เป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน (Inclusive Society) 3) การเติบโตอย่างยั่งยืน มุ่งให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่ทำลายสุขภาพและสภาพแวดล้อม (Sustainable Growth & Development )
รัฐบาลจึงได้ผนึกกำลังประชารัฐเพื่อขับเคลื่อน ประเทศไทย 4.0 พร้อมเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะสถาบันการเงินในการสนับสนุน SMEs ทั้งด้านการวิจัยพัฒนาและการออกสู่ตลาดโลก รวมทั้งจัดให้มี “ที่ปรึกษาทางเทคโนโลยี” ให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาของโรงงาน รวมทั้งสนับสนุนทางการเงินและเทคโนโลยีให้ SMEs มี Productivity และสร้างนวัตกรรมต่อยอดมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนสู่ Thailand 4.0 รัฐบาลได้เน้นในสองเรื่องสำคัญ คือ
1) การส่งเสริมการรังสรรค์นวัตกรรม รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเพิ่มระดับการวิจัยและพัฒนาไปสู่ 1% ของ GDP โดยการลงทุนของรัฐเอง ควบคู่กับการส่งเสริม และสร้างแรงจูงใจให้เอกชนสร้างนวัตกรรมใน 4 กลุ่ม คือ ผู้ประกอบการ SMEs เอกชนไทยรายใหญ่ บรรษัทข้ามชาติ และ วิสาหกิจเริ่มต้น (Startup)
2) การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิตัล (Digital Economy) ด้วยการลงทุนใน Digital Infrastructure อาทิ การสร้างเครือข่ายบรอดแบรนด์ทั่วประเทศ การจัดทำกฎหมาย Cyber Laws ที่ครอบคลุมตั้งแต่ความปลอดภัยไปจนถึงธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งยังส่งเสริมการสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างชุมชนเมืองและพื้นที่ห่างไกล
รัฐบาลยังได้ออกนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) 5 สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเลกทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมอาหารสำหรับอนาคต นอกจากนี้ ยังส่งเสริมอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) 5 สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตัลและอุตสาหกรรมแพทย์ครบวงจรโดยมีมาตรการและสิทธิพิเศษทางภาษีดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล่านี้   ทั้งนี้ การต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมหรือ First s-curve จะสามารถเพิ่มรายได้ของประชากรได้ประมาณร้อยละ 70 จากเป้าหมาย ส่วนอีกร้อยละ 30 New S-curve จะมาจากอุตสาหกรรมใหม่ที่สำคัญ ทั้งหมดจะเป็นการสร้าง “New Start-ups” ต่างๆ อีกมากมาย
รัฐบาลไทยมีนโยบายที่จะสร้างเมืองนวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรม First และ New  S-Curve  ดังกล่าว โดยเริ่มด้วยโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ที่จัดตั้งภายในอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (SciencePark) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรที่ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น (High Value added) โดยเน้นอาหารที่มีทั้งคุณค่าและมูลค่าสูง เช่น อาหารรองรับสังคมสูงวัย อาหารสำหรับผู้ป่วยและความต้องการเฉพาะด้าน (Functional Foods) และ อาหารฮาลาล   ทั้งนี้ จะเป็นเมืองที่มีบริษัทอาหารระดับโลกทั้งในและต่างประเทศซึ่งมีนวัตกรรมห่วงโซ่เชื่อมโยงไปถึง SMEs และมีธุรกิจ startup ในสาขาอาหาร (Food-based Start Up) เข้ามาลงทุน  พร้อมๆกับนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ "วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์" หรือที่เรียกว่า "Culture & Creative Economy" โดยการแปลง "คุณค่า" ของความเป็นไทย หรือ Cultural DNA ของคนไทยออกมา เป็นการสร้าง  "มูลค่า" ผ่าน Creative Champions 5 F อันประกอบด้วย มวยไทย (Fighting) เทศกาลต่างๆ (Festivals) เช่น สงกรานต์ ลอยกระทง อาหารไทย (Food) แฟชั่นไทย (Fashions) และ ภาพยนตร์ เอนิเมชั่น และเกมส์ (Films, Animation & Games))
นอกจากนี้ยังได้ริเริ่มโครงการสนับสนุนการเคลื่อนย้ายบุคลากร (Talent Mobility) เพื่อรองรับความต้องการบุคลากรวิจัยของภาคเอกชน โดยรัฐอำนวยความสะดวกให้นักวิจัยของรัฐ ในมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย สามารถทำงานกับภาคเอกชนได้อย่างเต็มที่ เพื่อสร้างนวัตกรรมและเพื่อกลับมาสอนนักศึกษาด้วยความรู้ภาคปฏิบัติ  เพื่อให้เกิดการขยายความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างเข้มข้นที่จะก่อให้เกิดผลการพัฒนาประเทศและภูมิภาคอย่างเต็มศักยภาพ
รัฐบาลได้ร่วมมือกับอาเซียนภายใต้ข้อริเริ่มกระบี่ (Krabi Initiative) ในวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม 8 สาขา คือ ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security) การบริหารจัดการน้ำ (Water Management) นวัตกรรมอาเซียน (ASEAN Innovation) ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เศรษฐกิจดิจิตอล สื่อใหม่ และเครือข่ายสังคม (Digital Economy, New Media and Social Networking) เทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology) และวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Science and Innovation for Life) นอกจากนี้ ยังได้มีความร่วมมือกับสมาชิกอาเซียน อาทิ ร่วมมือกับกลุ่ม CLMV มาเลเซียรวมทั้งประเทศคู่เจรจาของอาเซียน อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย เพื่อพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคอีกด้วย ตลอดจนมีความร่วมมือกับหุ้นส่วนเชิงสร้างสรรค์กับอีกหลายประเทศ
นายกรัฐมนตรีเห็นว่าท่ามกลางสภาวะการแข่งขัน ประเทศต่างๆ สามารถที่จะร่วมมือกันเพื่อให้ทะเลสีครามเป็นทะเลที่มีคลื่นสงบมีความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์ เป็นทะเลแห่งความหวังและโอกาสผ่านความร่วมมือที่สร้างสรรค์ ดังนี้
(1) การแสวงหาจุดแข็งของแต่ละประเทศและสนับสนุนกันและกัน ด้านการวิจัยพัฒนาและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่นประเทศในกลุ่มอาเซียนอาจร่วมกันศึกษาจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละประเทศเพื่อร่วมกันพัฒนาสินค้าและบริการ ภายใต้ ASEAN brand  เพื่อรองรับตลาดด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว อาหาร สิ่งแวดล้อม พลังงาน สินค้า lifestyle ทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาค
(2) ไทยดำเนินโยบาย Thailand + 1 และส่งเสริมความร่วมมือไตรภาคีระหว่างประเทศที่มีรายได้สูง รายได้ปานกลางและรายได้น้อย เพื่อช่วยมิตรประเทศทั้งในและนอกภูมิภาคที่สนใจร่วมมือในการบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น หากกลุ่มประเทศในแอฟริกา หรือ กลุ่มประเทศหมู่เกาะในแปซิฟิกมีความสนใจที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับไทยทั้งในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SEP for SDGs) ความร่วมมือสาขานวัตกรรม เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ สาขาอื่นที่มีความเข้มแข็ง หรือ สาขาที่สนใจไทยก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าท้องทะเลสีครามมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล เพื่อให้ทุกประเทศสามารถเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ตามบริบทของประเทศ และมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในการทำให้ทะเลสีครามแห่งนี้เป็นทะเลแห่งความหวังและโอกาส โดยประเทศไทยประสงค์ที่จะมีส่วนร่วมและบทบาทอย่างแข็งขันเพื่อสร้างทะเลแห่งอนาคตร่วมกันแห่งนี้

ราชทัณฑ์แถลง 'ไผ่ ดาวดิน' ยังแข็งแรง คุยได้ปกติ ดื่มน้ำ นม และรับประทานขนมได้


16 ส.ค. 2559 กรมราชทัณฑ์ได้เผยแพร่เอกสารแถลงข่าว "กรณีการควบคุมไผ่ ดาวดิน ในเรือนจำอำเภอภูเขียว" เนื้อหาระบุว่า จากกรณีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ถูกฝากขังผลัดแรกในเรือนจำอำเภอภูเขียว คดี พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 โดยถูกนำตัวฝากขัง เมื่อวันที่ 8 ส.ค. โดยเมื่อเข้ามาอยู่ในเรือนจำอำเภอภูเขียว นายจตุภัทร์ได้อดอาหารประท้วงนั้น กรมราชทัณฑ์ขอเรียนว่า เรือนจำอำเภอภูเขียวได้ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังเหมือนกับบุคคลทั่วไปที่ถูกควบคุมตัวระหว่างการสอบสวน ปัจจุบันจากการอดอาหาร พบว่าสภาพร่างกายของ ข.ช.จตุภัทร์ ยังแข็งแรง สามารถพูดคุยได้ปกติ ดื่มน้ำ นม และรับประทานขนมได้
"นอกจากนี้ ในระหว่างต้องขังยังได้ทำกิจกรรมเล่นดนตรีร่วมกับผู้ต้องขังคนอื่นในเรือนจำ และเรือนจำเปิดให้มีการเยี่ยมปกติ โดยมีบิดา มารดา อาจารย์และเพื่อนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาขอเยี่ยมอย่างสม่ำเสมอ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ข.ช.จตุภัทร์ฯ มีไข้เล็กน้อย และในวันที่ 16 สิงหาคม ทางเรือนจำอำเภอภูเขียวได้จัดให้แพทย์เข้ามาตรวจอาการของผู้ต้องขังในเรือนจำอำเภอภูเขียวเป็นประจำ โดยนายแพทย์เปรมชัย ธัญญะผลิน แพทย์จากโรงพยาบาลภูเขียว พบว่า อาการดีขึ้น ไม่มีภาวะแทรกซ้อน และจะมีการดูแล รักษาตามอาการต่อไป" เอกสารแถลงข่าวระบุ