วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เปิดเอกสารสำคัญชี้อากงบริสุทธิ์


ทนายอากงเปิดเอกสารสำคัญชี้อากงบริสุทธิ์

พูนสุข พูนสุขเจริญ           เปิดเอกสารความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคมจากเยอรมันชี้การเก็บข้อมูลจากตัวเลขอีมี่เครื่องมีโอกาสคลาดเคลื่อนและสามารถปลอมแปลงได้ง่าย

           24 สิงหาคม 2555  พูนสุข พูนสุขเจริญ หนึ่งในทีมทนายความของ นายอำพล ตั้งนพกุล หรือเป็นที่รู้จักในสาธารณะในชื่อ"อากง SMS " วัย 61ปี ผู้ต้องหาคดีละเมิด พรบ.คอมพิวเตอร์ และ กม.อาญา ม.112 ซึ่งได้เสียชีวิตลงในเรือนจำเมือวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 ด้วยโรคมะเร็งที่ตับ ได้นำเอกสารหลักฐานความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคมจากประเทศเยอรมันทั้งต้นฉบับภาษาอังกฤษจำนวน 4หน้าA4  และฉบับแปลโดยได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊คของเธอ

            ในบันทึกดังกล่าวได้แสดงเอกสารที่เป็นความเห็นจาก Dr. Karsten Nohl ผู้เชี่ยวชาญเครือข่ายโทรคมนาคม  จากSecurity Research Labs องค์กรเอกชนที่ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมตั้งอยู่ในประเทศเยอรมัน โดยได้ให้ความเห็นต่อการเก็บบันทึกหมายเลขอีมี่ หรือเลขรหัสประจำเครื่องของดีแทคไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอที่จะระบุเครื่องที่ใช้ส่ง sms ได้ (ทำให้ไม่สามารถนำหมายเลขอีมี่เชื่อมโยงมาถึงเครื่องโทรศัพท์ของอากงได้) 

เนื้อหาในรายงานเป็นการถามตอบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเลขอีมีทั้งสิ้น6ข้อ (ดูรายละเอียดด้านล่าง) โดยบทสรุปของเอกสารได้ระบุว่า

         "บันทึกการรับ-ส่งข้อความสั้นแบบเอสเอ็มเอสของระบบดีแทค ไม่มีความน่าเชื่อถือพอที่จะระบุเครื่องโทรศัพท์ที่ใช้ส่งข้อความสั้นแบบเอสเอ็มเอสได้ มีความเป็นไปได้สองประการที่ข้อมูลจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง 

          - เป็นการส่งข้อความสั้นแบบเอสเอ็มเอสเข้าสู่ระบบเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือเครือข่าย SS7 และมีการเชื่อมโยงข้อมูลที่ผิดพลาดกับการส่งข้อมูลกำหนดตำบลที่ปัจจุบันของผู้อื่น 

           - มีการปลอมแปลงหมายเลข IMEI เครื่องโทรศัพท์ เป็นหมายเลข IMEI เครื่องโทรศัพท์ของผู้อื่นในบริเวณใกล้เคียง โดยการจับตาการรับ-ส่งข้อมูลของเครื่องโทรศัพท์อื่น ๆ ในเครือข่ายจีเอสเอ็ม และเพียงเตรียมพร้อมในส่วนของเครื่องมือและซอฟท์แวร์ "

โดยพูนสุขใด้เขียนข้อความไว้ในบันทึกว่า  " เดิมเอกสารชิ้นนี้ได้เตรียมไว้เพื่อขอสืบพยานเพิ่มเติมในชั้นอุทธรณ์ และจะขอให้พยานผู้เชี่ยวชาญจากเยอรมันมาเบิกความ เนื่องจากในศาลชั้นต้นคณะทำงานไม่สามารถหาพยานผู้เชี่ยวชาญมาเบิกความได้ แต่ตามที่ทราบกันสุดท้ายได้ตัดสินใจถอนอุทธรณ์เนื่องจากอากงไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว หากต่อสู้คดีต่อไปอาจต้องใช้ระยะเวลายาวนาน  "

******************************************************** 
SR Security Research Labs GmbH  Veteranenstr 25   10119 Berlin 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
111 ซอยสิทธิชน ถ.สุทธิสารวินิจฉัย
แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310
ประเทศไทย
Dr. Karsten Nohl
หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ (Chief Scientist)
nohl@srlabs.de
+49-3089392996
เบอร์ลิน 30 มกราคม 2555 

ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการะบุตัวบุคคลที่ส่งข้อความสั้นแบบเอสเอ็มเอส 
เรียน ท่านที่เกี่ยวข้อง: 

           Security Research Labs เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเสนอแนวความคิดสำหรับการจัดการความเสี่ยง (think tank) มีที่ตั้ง ณ กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี โดยทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาทั้งแก่ภาครัฐ และเอกชนที่ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมในภาคพื้นยุโรป โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีโทรศัพท์พกพาเคลื่อนที่

             องค์กรได้รับคำขอให้แสดงความคิดเห็นในฐานะผู้เชี่ยวชาญ ในการรับรองความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับการระบุตัวบุคคลที่ใช้บริการการส่งข้อความสั้น (Short Message Service - SMS) จากโทรศัพท์พกพาเคลื่อนที่

             การจัดเตรียมรายงานที่แนบมากับเอกสารฉบับนี้ จัดทำขึ้นโดยใช้ความรู้ความชำนาญอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับมาตรฐานเครือข่ายจีเอสเอ็ม และใช้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานโดยทั่วไป รวมทั้งการวัดค่าและประมวลผลจากเครือข่ายจีเอสเอ็มใน กรุงเทพฯ เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำรายงาน ภายใต้ความรู้ที่ดีที่สุดขององค์กร รายงานฉบับนี้สะท้อนถึงผลการวิจัยเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยของจีเอสเอ็มในปัจจุบัน

ขอแสดงความนับถือ

Dr. Karsten Nohl 

ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ เกี่ยวกับการระบุตัวบุคคลที่ใช้บริการการส่งข้อความสั้น 

           รายงานฉบับนี้เป็นการวิเคราะห์คำถามที่เกี่ยวกับความน่าเชื่อถือในการใช้ข้อมูลที่บันทึกในเครือข่ายโทรศัพท์ สำหรับการระบุตัวบุคคลที่ใช้โทรศัพท์พกพาเคลื่อนที่ส่งข้อความสั้น โดยวิเคราะห์จากเครือข่ายจีเอสเอ็มของดีแทคใน กรุงเทพฯประเทศไทย
คำถามที่ 1 บริการการส่งข้อความสั้น (SMS) สามารถใช้ระบุเครื่องโทรศัพท์ได้หรือไม่ (IMEI)?

            ในการรับ-ส่งข้อความสั้นแบบเอสเอ็มเอส จะมีการแลกเปลี่ยนกลุ่มข้อมูลขนาดเล็ก (small    data packet) จำนวนมากกว่าหนึ่งกลุ่มข้อมูล ระหว่างเครื่องโทรศัพท์กับเครือข่ายด้วยสัญญาณแบบไร้สาย กลุ่มข้อมูลเหล่านี้ทำหน้าที่เข้ารหัสข้อมูล กำหนดประเภทการส่งข้อมูล และรับ-ส่งข้อมูล ตัวอย่างเช่น การรับ-ส่งข้อความสั้นแบบเอสเอ็มเอสในเครือข่ายดีแทคหนึ่งข้อความประกอบด้วยกลุ่มข้อมูลจำนวน 107 กลุ่ม

              การระบุเครื่องโทรศัพท์สามารถทำได้โดยใช้หมายเลข IMEI ซึ่งทำหน้าที่เหมือน serial number ของเครื่องโทรศัพท์ (เครื่องโทรศัพท์แต่ละเครื่องจะมี IMEI และ serial number ไม่ซ้ำกัน - ผู้แปล)

             ในกลุ่มข้อมูลที่ใช้ในการส่งข้อความแบบเอสเอ็มเอส จะมีกลุ่มข้อมูลหนึ่งที่มีชื่อว่า Cipher Mode Command ซึ่งใช้สำหรับสอบถามหมายเลข IMEI ของเครื่องโทรศัพท์ โดยหมายเลข IMEI ของเครื่องโทรศัพท์จะถูกส่งมาในกลุ่มข้อมูลถัดไป หลังจากส่งกลุ่มข้อมูล Cipher Mode Command อย่างไรก็ตามจากข้อมูลการให้บริการในพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย เครือข่ายของดีแทคไม่ได้ใช้กลุ่มข้อมูลดังกล่าวในการรับ-ส่งข้อความสั้นแบบเอสเอ็มเอส ตามที่แสดงในรูปที่ 1 

              นอกจากกลุ่มข้อมูลดังกล่าวแล้ว ไม่มีกลุ่มข้อมูลอื่นใดในการรับ-ส่งข้อความสั้นแบบเอสเอ็มเอสที่มีข้อมูลหมายเลข IMEI รวมอยู่

คำตอบที่ 1 ในเครือข่ายจีเอสเอ็มของดีแทค ไม่สามารถใช้การรับ-ส่งข้อความสั้นแบบเอสเอ็มเอส ในการระบุหมายเลข IMEI ของเครื่องโทรศัพท์ได้  

             [รูปที่ 1 การติดตามข้อมูลบางส่วนจากรับ-ส่งข้อความสั้นแบบเอสเอ็มเอสภายใต้เครือข่ายจีเอสเอ็มของดีแทค กทม. ประเทศไทย กลุ่มข้อมูล Cipher Mode Command ไม่ได้กำหนดให้เครื่องโทรศัพท์ส่งหมายเลข IMEI]

คำถามที่ 2 เครือข่ายดีแทคบันทึกหมายเลข IMEI ในการรับ-ส่งข้อความสั้นแบบเอสเอ็มเอสอย่างไร?

              ในเครือข่ายการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีการรับส่งข้อมูลหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการรับ-ส่งข้อความสั้นแบบเอสเอ็มเอส และการโทรศัพท์ อย่างไรก็ตามในเครือข่ายดีแทค มีเพียงการรับส่งข้อมูลรูปแบบเดียวที่มีการส่งหมายเลข IMEI ร่วมกับการรับส่งข้อมูลด้วย นั่นคือ การรับส่งข้อมูลเพื่อกำหนดตำบลที่ปัจจุบันของผู้ใช้ (Location Update) การรับส่งข้อมูลลักษณะนี้จะกระทำเมื่อมีการเปิดเครื่องโทรศัพท์มือถือ หรือ ผู้ใช้เปลี่ยนตำบลที่โทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น ผู้ใช้เดินทางไปยังเขตอื่น ๆ ของเมือง หรือ ผู้ใช้เปลี่ยนตำบลที่โทรศัพท์เคลื่อนที่บ่อยครั้ง

               คำตอบที่ 2 มีความเป็นไปได้สูงสุด ที่การบันทึกข้อมูลหมายเลข IMEI จากการรับ-ส่งข้อความสั้นแบบเอสเอ็มเอส ในเครือข่ายดีแทค เกิดจากการทำสำเนาหมายเลข IMEI จากการรับ-ส่งข้อมูลก่อนหน้านั้น 

               คำถามที่ 3 เครือข่ายดีแทคกำหนดตำบลที่การรับ-ส่งข้อความสั้นแบบเอสเอ็มเอสอย่างไร?

               คำตอบที่ 3 มีความเป็นไปได้ที่ตำบลที่ในการรับ-ส่งข้อความสั้นแบบเอสเอ็มเอสในเครือข่ายดีแทค จะถูกทำสำเนามาจากการรับ-ส่งข้อมูลก่อนหน้านั้น เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจน ต้องมีการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากดีแทค

               คำถามที่ 4 การส่งข้อความสั้นแบบเอสเอ็มเอสโดยปราศจากเครื่องโทรศัพท์สามารถทำได้หรือไม่?

               คำตอบที่ 4 ข้อความสั้นแบบเอสเอ็มเอสสามารถส่งผ่านระบบอินเทอร์เนตได้ โดยผู้ส่งสามารถปลอมแปลงหมายเลขโทรศัพท์ใด ๆ เพื่อใช้ในการส่งได้ ในกรณีที่ดีแทคมีการบันทึกการส่งข้อความสั้นแบบเอสเอ็มเอสในลักษณะดังกล่าว มีความเป็นไปได้ที่หมายเลข IMEI ที่ถูกบันทึกในระบบ จะเป็นหมายเลข IMEI ของเครื่องที่มีการเปลี่ยนตำบลที่ล่าสุด และใช้หมายเลขโทรศัพท์ตรงกับหมายเลขโทรศัพท์ที่ถูกปลอมแปลง เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจน ต้องมีการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากดีแทค

              คำถามที่ 5 บุคคลทั่วไปสามารถจับตาดูหมายเลข IMEI ที่ใช้ส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายจีเอสเอ็มได้หรือไม่?

               ในการรับส่งข้อมูลเพื่อกำหนดตำบลที่ปัจจุบันของผู้ใช้ที่มีการส่งหมายเลข IMEI ร่วมด้วย จะมีการเข้ารหัสข้อมูล โดยใช้มาตรฐานกลางของจีเอสเอ็ม ทั้งนี้มาตรฐานดังกล่าวเป็นมาตรฐานที่ล้าสมัย การถอดรหัสข้อมูลสามารถทำได้ภายในระยะเวลาไม่กี่วินาที 

               การถอดรหัสข้อมูลตำบลที่ปัจจุบันของผู้ใช้ สามารถทำได้ภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งนาที โดยใช้ซอฟท์แวร์ที่แจกจ่ายผ่านระบบอินเทอร์เนตตั้งแต่ปี 2551 ร่วมกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ตามบ้าน

               หลังจากมีการแจกจ่ายซอฟท์แวร์ดังกล่าว มีการติดตั้งและใช้ง่ายตามที่ต่าง ๆ หลายร้อยแห่งทั่วโลก นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ใช้เวลาน้อยกว่าหนึ่งอาทิตย์ในการสร้างระบบตัดการทำงาน และติดตั้งระบบถอดรหัส

               คำตอบที่ 5 บุคคลทั่วไปที่สนใจเรื่องเทคโนโลยี สามารถดักจับข้อมูลหมายเลข IMEI จากการรับส่งข้อมูลในระบบจีเอสเอ็มได้

              คำถามที่ 6 สามารถส่งข้อความสั้นแบบเอสเอ็มเอสจากเครื่องโทรศัพท์ที่มีการปลอมแปลงหมายเลข IMEI ได้หรือไม่?

               หมายเลข IMEI ในโทรศัพท์ส่วนมากสามารถปลอมแปลงได้โดยใช้ซอฟท์แวร์ที่หาได้โดยทั่วไป

                คำตอบที่ 6 บุคคลทั่วไปสามารถเปลี่ยนหมายเลข IMEI ของเครื่องโทรศัพท์ของตนไปใช้หมายเลข IMEI โทรศัพท์ของเครื่องผู้อื่นได้โดยง่าย 

สรุป 

                บันทึกการรับ-ส่งข้อความสั้นแบบเอสเอ็มเอสของระบบดีแทค ไม่มีความน่าเชื่อถือพอที่จะระบุเครื่องโทรศัพท์ที่ใช้ส่งข้อความสั้นแบบเอสเอ็มเอสได้ มีความเป็นไปได้สองประการที่ข้อมูลจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง 

               - เป็นการส่งข้อความสั้นแบบเอสเอ็มเอสเข้าสู่ระบบเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือเครือข่าย SS7 และมีการเชื่อมโยงข้อมูลที่ผิดพลาดกับการส่งข้อมูลกำหนดตำบลที่ปัจจุบันของผู้อื่น

              - มีการปลอมแปลงหมายเลข IMEI เครื่องโทรศัพท์ เป็นหมายเลข IMEI เครื่องโทรศัพท์ของผู้อื่นในบริเวณใกล้เคียง โดยการจับตาการรับ-ส่งข้อมูลของเครื่องโทรศัพท์อื่น ๆ ในเครือข่ายจีเอสเอ็ม และเพียงเตรียมพร้อมในส่วนของเครื่องมือและซอฟท์แวร์ 

‘ศาลอาญา’ กับ ‘ตราบาป’ ของ ‘เจ๋ง ดอกจิก’


วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระhttp://www.facebook.com/verapat

บทนำ: ตราบาป ของ ‘มนุษย์จำเลยชาวไทย’ 

           การที่ ‘ศาลอาญา’ มีคำสั่งเพิกถอน ‘การปล่อยตัวชั่วคราว’ เฉพาะ ‘คุณเจ๋ง ดอกจิก’ (นายยศวริศ ชูกล่อม) นั้น ในทางหนึ่งย่อมมองได้ว่าศาลทำงานละเอียด แยกแยะการกระทำของ แกนนำ นปช. แต่ละคนอย่างมีเหตุผล โดยมิได้เหมารวมว่าใครขึ้นเวทีแสดงความเห็นอะไร ก็ผิดเงื่อนไขต้องกลับเข้าคุกทั้งหมด (เนื้อหาของคำสั่งศาล อ่านได้ที่ http://bit.ly/VPJeng )

           ส่วนกรณี ‘คุณเจ๋ง’ นั้น ศาลเห็นว่าได้กระทำผิดเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราวซึ่งห้ามการยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม  อันที่จะทำให้เกิดความไม่สงบหรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ศาลกำหนดเพื่อป้องกันการก่อให้เกิดภัยอันตรายหรือความเสียหาย

           คนทั่วไป (รวมถึงตัวผู้เขียน) คงไม่พอใจมาก หากมีคนนำที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของครอบครัวตนไปกล่าวปราศรัยทำนองชักชวนให้ผู้ฟังช่วยไป ‘จัดการ’ ไม่ว่าจะเพื่อติดตามสอบถามหรือรังควาญด้วยเหตุผลใด และย่อมหวังให้กฎหมายต้องเป็นฝ่ายไป ‘จัดการ’ ให้เข็ดหลาบ

           แต่หากมองทะลุความรู้สึกให้เข้าไปถึงแก่นของตรรกะ น่าคิดว่า สังคมไทย โดยเฉพาะนักกฎหมายไทย กำลัง ‘มองข้าม’ ความไม่เป็นธรรมที่ปรากฏจากกรณี ‘คุณเจ๋ง ดอกจิก’ หรือไม่ ?

           สมมติมี ‘ประชาชนคนหนึ่ง’ ที่ไม่ได้เป็น ‘จำเลย’ ในคดีอาญาและมีอิสระอยู่ตามปกติ แต่มาวันหนึ่ง ประชาชนคนดังกล่าวได้ขึ้นเวทีปราศรัย พร้อมแจกที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของครอบครัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตลอดจนพูดและทำทุกอย่างเหมือนที่ ‘คุณเจ๋ง ดอกจิก’ ได้ทำไป

           ถามว่า ‘ประชาชนคนหนึ่ง’ คนนั้น จะสามารถถูก ‘จับเข้าคุก’ เพราะการพูดและแจกข้อมูลดังกล่าว ทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาตัดสินว่าทำผิดได้หรือไม่ (และแม้จะถูกพิพากษาว่าทำผิด โทษก็อาจไม่ถึงขั้นจำคุกเสียด้วยซ้ำ) ?

           หากผู้ใดตอบว่า กรณีไม่เหมือนกัน เพราะ ‘คุณเจ๋ง ดอกจิก’ เป็น ‘จำเลย’ ในข้อหาก่อการร้าย ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรง แถมมีเงื่อนไขการปล่อยตัวผูกมัดไว้ ผู้เขียนก็ขอถามต่อว่า การคิดเช่นนั้นขัดแย้งกับ รัฐธรรมนูญ มาตรา 39 ที่ว่า “ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด...จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดมิได้” หรือไม่ ?

           ถามให้ง่ายขึ้น ก็คือ ‘คุณเจ๋ง ดอกจิก’ ในฐานะประชาชนที่ตกเป็น ‘จำเลย’ ในคดีอาญานั้น เมื่อได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จะยังมีสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเสมอภาคเท่ากันกับ ‘ประชาชนคนทั่วไป’ หรือไม่ ?  

           หากตอบว่า เสมอภาคเท่ากัน แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการปล่อยตัว คำถามก็คือ สาระของ ‘เงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว’ ที่ห้าม “ยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม ...” นั้น มี‘หลักเกณฑ์ทางนิติศาสตร์’ มาเป็นฐานในการกำหนดขอบเขตและชั่งวัดอย่างไร และอะไร คือ ‘ภัยอันตรายหรือความเสียหาย’ ที่ทำให้ ‘ประชาชนคนหนึ่ง’ ต้องเข้าคุกทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ?

           หรือสังคมไทยพร้อมที่จะยอมรับว่า ศาลสามารถอาศัย ‘ดุลพินิจ’ ตาม ‘สายตา’ และ ‘จิตใจ’ ของผู้พิพากษารายบุคคลเป็นสำคัญ ขอให้พอมีเหตุผล ก็ยอมรับได้ กระนั้นหรือ ?

           ผู้เขียนเห็นว่า กรณี ‘คุณเจ๋ง ดอกจิก’ ทำให้เห็นว่า ‘ศาลอาญา’ กำลังสร้างแนวการตีความกฎหมายที่เป็นปัญหา และสะท้อนถึงความไม่พัฒนาของวงการนิติศาสตร์ไทย ดังที่ผู้เขียนจะขอวิพากษ์ไว้ 3 ขั้น ดังนี้

1. ‘ดุลพินิจ’ ที่ดี ต้องมี ‘หลักเกณฑ์’


           ในขั้นแรก ผู้เขียนย้ำว่า ไม่ว่าศาลจะมี ‘เหตุผล’ ในการเพิกถอนการปล่อยตัว ‘คุณเจ๋ง ดอกจิก’ ที่น่าฟังหรือน่าคล้อยตามเพียงใด แต่หาก ‘เหตุผล’ ที่ว่านั้นเป็นเหตุผลที่ถูกสร้างขึ้นเฉพาะกรณีและไร้ ‘หลักเกณฑ์ทางนิติศาสตร์’ ที่เป็นมาตรฐาน ก็เท่ากับว่าระบบกฎหมายไทยยอมรับให้ ศาลมี ‘ดุลพินิจ’ ใช้อำนาจ ‘เลือกเหตุผล’ ได้ตามอำเภอใจ

            ผลก็คือ ความยุติธรรมที่ ‘จำเลย’ จะได้รับ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ‘กฎหมาย’ แต่กลับขึ้นอยู่กับ ‘เคราะห์ดวง’ ว่าจำเลยผู้นั้นจะได้องค์คณะผู้พิพากษาที่ใช้ดุลพินิจอย่างมีเหตุผลหรือไม่
            เป็นต้นว่า หาก ‘คุณเจ๋ง’ เจอผู้พิพากษาที่เข้มงวดเรื่องความเป็นส่วนตัว เข้มงวดในเรื่องครอบครัว ไม่ชอบการแสดงความเห็นทางการเมือง ไม่ชอบการต่อว่าวิพากษ์วิจารณ์ในที่สาธารณะ คุณเจ๋งก็อาจ ‘ดวงกุด’ มิพักต้องพูดถึง ‘ผู้บริหาร’ ของศาลในเวลานั้น เช่น อธิบดีและรองอธิบดีศาล ว่ามีแนวคิด นโยบาย หรืออิทธิพลต่อองค์คณะในคดีอย่างไร

            ศาลต่างประเทศเอง เช่น สหรัฐฯ ก็เจอปัญหาลักษณะเดียวกัน และใช้เวลาร่วมร้อยปีเพื่อพัฒนา ‘หลักเกณฑ์’ มาเป็นแนวทางการใช้ดุลพินิจ เช่น การพัฒนาหลัก ‘Clear and Present Danger’ มาสู่หลัก ‘Imminent Lawless Action’ ซึ่งล้วนตีกรอบให้ศาลสหรัฐฯ พิจารณาว่า การแสดงความคิดเห็นใด ถือเป็นการปลุกปั่นยุยงให้เกิดการทำผิดกฎหมายซึ่งรัฐสามารถห้ามหรือลงโทษการแสดงความเห็นนั้นได้

            ดังนั้น เมื่อผู้พิพากษาแต่ละคนล้วนเป็นมนุษย์ผู้ไม่อาจละทิ้งอคติและความรู้สึกนึกคิดส่วนตัวได้ทั้งหมด การทวงถาม ‘หลักเกณฑ์ทางนิติศาสตร์’ ที่ศาลไทยจะนำมาใช้เป็นมาตรฐานพิจารณา “การยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม ...” เช่น กรณีคุณเจ๋งนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่น่าเสียดายว่า เหตุผลที่ศาลอาญาอธิบายในการอ่านคำสั่งนั้น ยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่จับต้องได้ชัดเจนนัก

2. ‘กฎหมายอาญา’ ต้องอยู่ภายใต้ ‘รัฐธรรมนูญ’

             ในขั้นที่สอง  ‘การปล่อยตัวชั่วคราว’ เป็น ‘สิทธิตามรัฐธรรมนูญ’ ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะเจาะจงตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 40  และเกี่ยวข้องโดยตรงกับหลักกฎหมายสากลที่ว่า ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด

              ยิ่งไปกว่านั้น กรณีการปราศรัยของ ‘คุณเจ๋ง ดอกจิก’ นั้น เกี่ยวพันโดยตรงกับ ‘เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น’ ซึ่งหากแสดงไปเพื่อตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ ล้อเลียน เสียดสี หรือต่อต้าน บรรดาผู้ใช้อำนาจรัฐ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว แม้จะดุดัน หยายคาย หรือน่ารังเกียจเพียงใด ก็อาจมี ‘ความจำเป็นในทางประชาธิปไตย’ ที่กฎหมายต้องไม่เข้าไปข่มกดเช่นกัน

              สมควรชมว่าศาลอาญาไทยเอง ก็ไม่ได้มองข้ามประเด็นนี้ เห็นได้จากคำสั่งในส่วนที่เกี่ยวกับ ‘คุณจตุพร พรหมพันธุ์’ ที่ศาลอธิบายว่า แม้คุณจตุพรจะปราศรัยเสียดสี และตำหนิตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างหยาบคายและไม่สมควร แต่ก็ไม่เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยาม กระทบต่อเกียรติยศและชื่อเสียงของบุคคลอื่น และไม่ก่อให้เกิดการคุกคามและการกดดันต่อการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงยังพอถือได้ว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์และติชมการทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แม้จะรุนแรงไปบ้าง แต่ก็ยังถือไม่ได้ว่าเกิดอันตรายกระทบต่อความสงบเรียบร้อย ที่จะเป็นการผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราว

              แต่ศาลก็มิได้วางหลักเกณฑ์ที่จับต้องได้ชัด และหากกฎหมายถูกตีความไปในทางที่อิงดุลพินิจศาลจนทำให้ ‘ประชาชนต้องคิดหนัก’ ก่อนจะแสดงความเห็นต่อผู้ที่กำอำนาจรัฐไว้ในมือ ว่าสิ่งที่จะพูดไปนั้น จะทำให้ตนต้องเข้าคุกหรือไม่ ก็จะเป็นการทำให้สิทธิเสรีภาพใช้ได้อย่างลำบาก อีกทั้งเพิ่มต้นทุนในทางประชาธิปไตย สุดท้ายประชาชนทั่วไปก็จะกลัวหรือรู้สึกไม่คุ้มค่า ที่จะมาร่วมติดตาม ต่อว่า วิพากษ์วิจารณ์ และประชาชนก็ย่อมตกอยู่ในกำมืออำนาจรัฐได้ง่ายยิ่งขึ้น

               ผู้เขียนมองว่า วันนี้สังคมไทยยังเคราะห์ดี ที่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่แม้จะตัดสินคดีไม่ถูกใจทุกคน แต่ก็เป็นคนดีมีคุณธรรมพื้นฐานในระดับหนึ่ง แต่หากวันใดที่สังคมไทยต้องเผชิญกับผู้มีอำนาจที่ทำการชั่วร้าย แต่ประชาชนกลับกลัวการถูกจับเข้าคุกเพราะการแสดงความเห็นเสียแล้ว สังคมไทยก็จะอ่อนแอ และสูญเสียความเป็นประชาธิปไตยไปในที่สุด

               ที่น่าวิตกก็คือ เหตุผลที่ศาลอาญาอธิบายในการอ่านคำสั่งไปนั้น ไม่ได้มีการวิเคราะห์แง่มุมในทางรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดแต่อย่างใด ว่าการตีความกฎหมายเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวนั้น จะเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของ ‘คุณเจ๋ง ดอกจิก’ ในลักษณะที่เกินความจำเป็นและไม่สมสัดส่วนหรือไม่ ?

3. ศาลไทยต้องพัฒนา ‘หลักเกณฑ์’ เรื่องการปล่อยตัวชั่วคราว ตาม มาตรา 108 ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น


               หากพิจารณาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในส่วนที่ว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวนั้น จะพบว่า มาตรา 108  ได้ให้ศาลมีอำนาจกำหนด “เงื่อนไขอื่นใดให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติเพื่อป้องกันการหลบหนี...ภัยอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราว...”

               บทบัญญัติที่กว้างเช่นนี้ ย่อมทำให้มีผู้หลงคิดว่า ศาลจะกำหนดเงื่อนไขและบังคับตีความการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างไรก็ได้ ตราบเท่าที่เป็นไปเพื่อป้องกัน “ภัยอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราว”

               ความคิดดังกล่าวเกรงว่าอาจหยาบและง่ายเกินไป ผู้เขียนเสนอว่าศาลไทยควรพัฒนาการตีความเงื่อนไขตาม มาตรา 108 ให้อยู่ในขอบเขตที่เชื่อมโยงกับเหตุไม่ให้ปล่อยตัวชั่วตราวตาม มาตรา 108/1 เช่น ปัญหาการหลบหนี การยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน การก่อเหตุอันตราย หรือก่อเกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล      

               กล่าวให้เข้าใจโดยง่ายก็คือ สาระของเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว มิได้กำหนดขึ้นเพื่อให้ ‘จำเลย’ เป็นคนดี หรือไม่ทำความผิดใดๆ ตรงกันข้าม อำนาจของศาลในการกำหนดและบังคับเงื่อนไขตาม มาตรา 108 จะต้องเป็นเหตุจำเป็นเพื่อป้องกัน “ภัยอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราว” อันเกี่ยวข้องโดยตรงกับคดีที่ผู้ถูกปล่อยตัวตกเป็น ‘จำเลย’ ตามความมุ่งหมายของ มาตรา 108/1 เท่านั้น

               ดังนั้น หากพิจารณาจาก ‘หลักเกณฑ์’ ที่นำเสนอมานี้ จะเห็นได้ว่า การกระทำของ ‘คุณเจ๋ง ดอกจิก’ ซึ่งอาจละเมิดต่อความเป็นส่วนตัวของครอบครัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ดี กดดันตุลาการก็ดี หรือยุยงปลุกปั่นให้มีการไปรังควาญหรือทำสิ่งที่ผิดกฎหมายก็ดี ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับคดีการก่อการร้ายที่คุณเจ๋ง ตกเป็นจำเลยอยู่แต่เดิม ศาลจึงไม่ควรมีอำนาจตีความให้การกระทำของคุณเจ๋งซึ่งแยกออกจากกัน กลายเป็นเหตุให้ต้องกลับมาเข้าคุกในฐานะจำเลยในคดีการก่อการร้ายได้ (ทั้งนี้ หากตุลาการ หรือ ครอบครัวตุลาการ จะติดใจดำเนินคดี ‘คุณเจ๋ง ดอกจิก’ ก็เป็นสิทธิที่ผู้เสียหายดำเนินการได้ แต่กฎหมายต้องแยกกรณีออกจากกัน)

               สาเหตุที่ผู้เขียนเสนอ ‘หลักเกณฑ์’ เช่นนี้ ย่อมโยงกลับไปที่ข้อพิจารณาสองขั้นแรกที่กล่าวมา โดยเฉพาะเมื่อการจำกัด ‘สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ’ ถูกกฎหมายเปิดช่องให้ถูกตีความได้อย่างกว้างขวาง ศาลจึงมีหน้าที่และบทบาทสำคัญในการพัฒนา ‘หลักเกณฑ์ทางนิติศาสตร์’ เพื่อทำให้บทบัญญัติที่กว้าง สามารถนำมาใช้ได้อย่างสมสัดส่วน เป็นมาตรฐาน และเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่าที่จำเป็นเท่านั้น มิเช่นนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 39 ที่ว่า “ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด...จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดมิได้” ก็จะไร้ความหมาย เพราะเท่ากับ ‘จำเลย’ ที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว กลับตกใต้ตราบาปที่ทำให้ต้องจำคุกได้ง่ายยิ่งกว่าประชาชนคนธรรมดาทั่วไป แม้การกระทำนั้นจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อหาในคดีเดิมก็ตาม

              ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้เขียนจึงมองว่า การที่ศาลอาญา ‘ปรับเพิ่ม’ เงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวของ ‘จำเลย’ บางราย ให้กินความกว้างไปถึงการห้ามดูหมิ่นให้กระทบต่อ ‘เกียรติยศ ชื่อเสียงและความเป็นอยู่ส่วนตัว’ ของบุคคลอื่น หรือ ‘ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน’ นั้น ยิ่งเป็นการใช้อำนาจตุลาการที่เกินเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของ ‘จำเลย’ ประหนึ่งมองว่าเป็นมนุษย์ที่มีความชั่วช้ามาแต่เดิม และควรมีเงื่อนไขให้ถูกจับเข้าคุกได้เสียง่ายๆ ทั้งที่มนุษย์ทั่วไปในสังคม ที่กระทำการกระทบต่อเกียรติยศ ชื่อเสียงและความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กลับถูกปล่อยให้ลอยนวลอยู่ถมไป

บทส่งท้าย: ตุลาการ ‘รุ่นใหม่’ อย่าปล่อยให้ ‘ประชาชน’ รอถึง ‘ศาลฎีกา’


             ที่ผ่านมา ‘ศาลฎีกาไทย’ เคยตีความว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราว ถือเป็น ‘คำสั่งระหว่างพิจารณา’ ซึ่งเป็น ‘ดุลพินิจ’ ของศาลชั้นต้น ต่างจากคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ดังนั้น จำเลยที่จึงไม่มีสิทธิ ‘ยื่นอุทธรณ์’ คำสั่งนั้น

             แนวการตีความเช่นนี้ หมายความว่า การใช้ ‘ดุลพินิจ’ โดยศาลชั้นต้นในการเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวนั้น จะไม่สามารถถูกตรวจสอบโดยศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แม้กฎหมายจะเปิดโอกาสให้จำเลยสามารถยื่นคำร้องให้ขอปล่อยตัวได้อีกก็ตาม ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า อาจต้องมีการทบทวนหลักคิดในเรื่องนี้กันใหม่

             แต่มองในอีกแง่หนึ่ง ก็อาจทำให้หวังได้ว่า การตีความและพัฒนาหลักเกณฑ์เรื่องการปล่อยชั่วคราวที่ผู้เขียนเสนอมานั้น อาจได้รับอานิสงส์จาก ‘ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น’ ที่มีความคิดความอ่านที่ลึกซึ้งทันสมัย และพร้อมจะพัฒนาระบบกฎหมายและระบบยุติธรรมไทยให้เคารพและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนที่ตกเป็น ‘จำเลย’ ไม่ต้องกลายเป็นมนุษย์ชั้นสองที่ต้องคอยแบก ‘ตราบาป’ ติดตัว โดยไม่ทราบว่าอีกกี่เดือนกี่ปี ที่คดีจะไปถึง ‘ศาลฎีกา’.

หมายเหตุ: เนื้อหาของคำสั่งศาลอาญา วันที่ 22 สิงหาคม 2555 อ่านได้ที่ http://bit.ly/VPJeng

เหตุผลทางปรัชญากับคุณค่าของสถาบันกษัตริย์


เหตุผลทางปรัชญากับคุณค่าของสถาบันกษัตริย์

นักปรัชญาชายขอบ
           ราวห้าโมงเย็นเศษๆ หลังจากแท็กซี่หลายคันตอบปฏิเสธ ผมตัดสินใจโบกมือเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้าง สังเกตเสื้อคนขับยังเปียกชุ่มเพราะฝนเพิ่งซาเม็ด ในชั่วโมงที่รถติดวินาศสันตะโรเช่นนั้น เขาพาผมซอกแซกไปตามช่องแคบต่างๆ บ้าง วิ่งขึ้นฟุตบาตบ้าง ท่าทางเขาเป็นคนอีสานที่ทิ้งบ้านเกิดมาเหมือนผม แต่อาจโชคดีน้อยกว่าผม เขาจึงสู้ชีวิตด้วย “ทักษะ” ล้วนๆ เป็นผมในสภาพจราจรแบบนี้คงขับมอเตอร์ไปไม่ถึงร้อยเมตรแน่ นึกตำหนิตัวเองว่าจากธรรมศาสตร์ถึงอนุสาวรีขัยฯ ไปต่อราคา 80 บาทได้ไง พอถึงที่หมายให้แบงก์ร้อยไป บอก “ไม่ต้องทอนครับ” ในใจนึกขอบคุณเพื่อนยากที่อุตส่าห์ลัดเลาะมาส่งทันเวลารถตู้หัวหินออกพอดี 

           เกริ่นนำแบบนี้ผมเพียงต้องการจะบอกว่า ที่จะพูดถึงนักวิชาการด้านปรัชญาต่อไปนี้ ผมไม่ได้พูดในความหมายว่าเขาเป็นบุคคลพิเศษ เป็นคนที่เราต้องคาดหวัง หรือคาดคั้นให้เขารับผิดชอบต่อสังคมอย่างเป็นพิเศษมากกว่าคนประเภทอื่นๆ แต่ผมกำลังพูดถึงในความหมายรวมๆ ว่า นักวิชาการด้านปรัชญาก็เหมือนคนในอาชีพอื่นๆ ที่ใช้ทักษะของตนเองให้เกิดประโยชน์แก่คนอื่นๆ และสังคมได้ เช่นเดียวกับคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนดูดส้วม คนกวาดถนน สื่อ นักวิชาการด้านอื่นๆ เป็นต้น

          หากจะมีอะไรพิเศษอยู่บ้างสำหรับนักวิชาการด้านปรัชญาก็คือความชำนาญเฉพาะด้านบางอย่าง เช่นเดียวกับที่นักวิชาการด้านอื่นๆ ก็มีในด้านของเขา และความชำนาญเฉพาะของนักวิชาการด้านปรัชญาก็คือทักษะการกำหนดประเด็นปัญหา การโต้แย้งถกเถียง หรือชักไซ้ไล่เรียงเหตุผลอย่างถึงที่สุดเพื่อทำความกระจ่างในประเด็นปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาในเชิงหลักการ อุดมการณ์ คุณค่าใดๆ ที่จำเป็นต้องอภิปรายเพื่อให้เห็นความมีเหตุผลรองรับอย่างรอบด้านและสมเหตุสมผล

           มีคำถามกันมานานว่า “ทำไมปรัชญาในบ้านเราจึงไม่ค่อยเชื่อมโยงกับสังคม?” ปัญหานี้คนในวงการเดียวกันก็ตั้งคำถาม นักศึกษาที่เรียนปรัชญาก็ตั้งคำถามว่า นี่เรากำลังเรียนไอ้ที่ไม่ค่อยจะรู้เรื่องพวกนี้ไปเพื่ออะไรกัน หรือคนนอกอาจไม่รู้เลยว่าปรัชญามันคืออะไร มีประโยชน์อะไรแก่สังคม คนในวงการปรัชญาเขาทำอะไรกันอยู่ เป็นต้น อันที่จริงถ้าจะให้ความเป็นธรรม เราก็อาจตั้งคำถามทำนองเดียวกันนี้กับนักรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ นักวิชาการด้านอื่นๆ ได้เช่นกัน

            แต่ที่ตั้งคำถามนี้กับนักวิชาการด้านปรัชญา ก็เพราะในเมื่อเราต่างโปรกันในแวดวงของตนเองว่า พวกตนเองกำลังศึกษาวิชาที่พัฒนาทักษะการคิดเชิงหลักการ หรือการคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์ที่ดีที่สุด “การนิ่งเงียบ” ของคนในวงการปรัชญาต่อปัญหาความขัดแย้งกว่า 6 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่มีปัญหาเชิงหลักการ เชิงอุดมการณ์ คุณค่า ความเป็นประชาธิปไตยสากล ประชาธิปไตยที่เหมาะกับวัฒนธรรมไทย หรือประเด็นปัญหาโครงสร้างสถาบันกษัตริย์กับการถูกอ้างอิงในทางการเมือง เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นประเด็น “ปัญหาทางปรัชญา” ที่ท้าทายให้ถกเถียงด้วยเหตุผลอย่างถึงที่สุดนั้น นับเป็น “ความนิ่งเงียบ” ที่น่าประหลาดใจอย่างเหลือเชื่อ

            อย่างไรก็ตาม บังเอิญผมได้พบการอ้างอิงของอาจารย์สมภาร พรมทา ในการแลกเปลี่ยนท้ายบทความ ว่าด้วยบักโฮมผีบ้า “เหยื่อ” ของความขัดแย้งทางการเมือง (คลิกเพื่ออ่าน) ในประชาไทที่พาดพิงงานของอาจารย์มารค ตามไท ซึ่งต้องถือว่าเป็นมุมมองของนักวิชาการด้านปรัชญาที่น่าสนใจ ดังนี้

            ข้อเสนอของท่านอาจารย์ (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล-ผู้เขียน) เรื่องการจัดวางตำแหน่งของสถาบันกษัตริย์โดยรวมผมสนับสนุน แต่ในรายละเอียด ผมมีเรื่องจะเรียนปรึกษาว่า ท่านอาจารย์มีธงล่วงหน้าแล้วว่า เมื่อมีการจัดวางอย่างที่ว่าแล้ว สถาบันกษัตริย์จะเล็กลง ไม่มีอิทธิฤทธิ์อะไรที่คนบางพวกจะใช้อ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่ตน ปัญหามันอยู่ตรงนี้ครับ ผมมองว่าสถาบันกษัตริย์อย่างที่เป็นอยู่นี้มีประโยชน์บางด้านที่ท่านอาจารย์อาจจะมองไม่เห็น และผมอยากชวนท่านอาจารย์มองเรื่องนี้ก่อน สำหรับผม หากมองเรื่องนี้แล้วบอกไม่มีน้ำหนักก็ไม่เป็นไร แต่หลายคนคิดว่ามีน้ำหนัก ผมขอยกตัวอย่างเลยก็แล้วกัน อาจารย์ผมที่ภาคปรัชญา จุฬา คือท่านอาจารย์มารค ตามไท ท่านเขียนบทความวิจัยที่แสดงว่าประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นมีข้อดีอย่างไร ซึ่งข้อดีนี้ท่านว่าไม่พบในประชาธิปไตยแบบอื่นเช่นที่อเมริกาหรือแม้แต่อังกฤษ ข้อดีที่ว่านั้นคือ สถาบันกษัตริย์ได้กลายเป็นสื่อกลางที่ทำให้คนไทยที่ไม่รู้จักกันเกื้อกูลกันโดยผ่านทางพระเจ้าอยู่หัว ท่านอาจารย์คงเคยเห็นโครงการประเภท "รักในหลวงห่วงลูกหลานต่อต้านยาเสพติด" สมมติว่าโครงการนี้เราทำเต็มที่ แม้ชื่อจะบอกเพื่อในหลวง แต่ในหลวงท่านก็ไม่ได้อะไรดอกครับ พวกเราด้วยกันนี่แหละได้ ผมเห็นด้วยกับท่านอาจารย์มารค เมื่อเห็นด้วยก็เลยอยากให้ท่านอาจารย์ช่วยทบทวนความคิดหน่อยได้ไหมครับว่า หากทำให้สถาบันเล็กลง อย่างเจ้าต่างประเทศ เราจะได้ประโยชน์อะไร นอกจากเห็นซากความรุ่งเรืองที่เวลานี้ไม่มีประโยชน์แล้ว


            ผมสนใจประเด็นที่อาจารย์สมภารพูดถึง จึงไปอ่าน มารค ตามไท.การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข.ใน สันติสุข โสภณสิริ (บรรณาธิการ). “วิถีสังคมไท: สรรนิพนธ์ทางวิชาการเนื่องในวาระหนึ่งศตวรรษ ปรีดี พนมยงค์ ชุดที่ 2 ความคิดทางการเมืองการปกครอง” (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2544), หน้า 40-42. ใจความสำคัญตามที่อาจารย์สมภารอ้างถึงคือ

            แง่ดีของระบบดังกล่าวไม่ใช่การเป็นศูนย์รวมของประชาชน การสร้างความสามัคคี เพราะบทบาทเหล่านี้การปกครองระบอบอื่นๆ ก็มีได้ แง่ดีของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของไทย ต้องเป็น “คุณค่าเฉพาะ” ที่เรามีไม่เหมือนใคร ได้แก่ การที่องค์พระมหากษัตริย์สามารถเป็นจุดส่งต่อความห่วงใยจากพลเมืองคนหนึ่งไปสู่พลเมืองอีกคน ถึงแม้ว่าจะไม่รู้จักกัน การที่พลเมืองรักองค์พระมหากษัตริย์ และการที่พระมหากษัตริย์ห่วงใยพลเมืองทุกคนในลักษณะที่ทำให้พลเมืองทราบอย่างชัดเจน คุณค่าพิเศษของระบอบนี้สามารถนำไปสู่สังคมที่คนในทุกส่วนของสังคมมองส่วนอื่นเป็นพวกเดียวกัน และต้องการให้มีชีวิตที่สงบสุขเช่นเดียวกันหมด คำขวัญที่ตรงกับประเด็นนี้คือ “รักในหลวง ร่วมกันห่วงใยเพื่อนร่วมชาติ” แต่คุณค่าพิเศษดังกล่าวนี้ของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ในรูปของศักยภาพที่จะทำให้เกิดสภาพที่พึงปรารถนาที่ว่านั้น ซึ่งการที่ศักยภาพจะกลายเป็นสภาวะจริงย่อมขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสำคัญ คือ พระมหากษัตริย์ต้องทรงประพฤติธรรม เช่น ทศพิธราชธรรม สังคหวัตถุ จักรวรรดิวัตร

            จะเห็นว่า “ข้อดี” หรือ “คุณค่าพิเศษ” ที่อาจารย์มารคพูดถึง เป็นการพูดถึงในสองความหมายคือ (1) เป็นคุณค่าพิเศษที่อยู่ในรูปของศักยภาพ (potentiality) หรือสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ หมายความว่าไม่ใช่ยืนยัน “ข้อเท็จจริง”  และ (2) ศักยภาพนั้นจะแสดงตัวออกมาเป็นสภาวะจริง (actuality) ย่อมขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสำคัญ คือพระมหากษัตริย์ต้องทรงประพฤติธรรม เช่น ทศพิธราชธรรม สังคหวัตถุ จักรวรรดิวัตร

            ปัญหาคือเวลาเราจะรู้ว่าบุคคลที่มีบทบาทสาธารณะมีจริยธรรมหรือจรรยาบรรณในวิชาชีพนั้นๆ หรือไม่ เช่น นักการเมืองมีจริยธรรมหรือไม่ เรารู้ได้เพราะวิจารณ์ตรวจสอบได้ แต่กับสถาบันกษัตริย์เราทำเช่นนั้นไม่ได้ ดูเหมือนอาจารย์มารคก็มองเห็นปัญหาบางประการอยู่ ดังที่เขาเขียนว่า

            แม้ระบอบนี้อาจมีปัญหาเรื่อง “ความเป็นอิสระทางศีลธรรม” แต่ก็แก้ได้โดยที่พระมหากษัตริย์ทรงให้โอกาสพลเมืองไตร่ตรองตัดสินเรื่องต่างๆ เชิงบรรทัดฐานซึ่งเกี่ยวกับวิธีอยู่ร่วมกันในสังคมโดยไม่ครอบงำ ในเรื่องเฉพาะแต่ละเรื่อง แต่ให้แต่ละคนคิดในกรอบใหญ่ของศาสนา หรือระบบจริยธรรมของตน

            แต่ข้อเสนอนี้ก็ยังขึ้นอยู่กับ “พระมหากษัตริย์ทรงให้โอกาส” เหมือนเงื่อนไขเรื่องทศพิธราชธรรม สังคหวัตถุ จักรวรรดิวัตร ก็เป็นเงื่อนไขที่ขึ้นอยู่กับสถาบันกษัตริย์ในฐานะตัวบุคคล เพราะเงื่อนไขนี้จะเป็นเงื่อนไขเชิงสถาบันได้ ก็ต่อเมื่อมีการวางระบบให้วิจารณ์ตรวจสอบได้ เหมือนกับที่วิจารณ์ตรวจสอบจรรยาบรรณของบุคคลที่มีบทบาทสาธารณะอื่นๆ ได้เท่านั้น

           ในที่สุดก็หนีไม่พ้นประเด็นปัญหาทางหลักการที่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล พยายามชี้ให้เห็น (อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพราะชี้แล้วชี้อีกๆๆๆ) ทั้งที่ปัญหานี้เป็นปัญหาทางหลักการตรงไปตรงมาง่ายๆ หรือ Common sense ที่สุดจนน่าแปลกใจว่าการถกเถียงทางปรัชญามองข้ามปัญหาเช่นนี้ไปได้อย่างไร (หรือละเลยที่จะถกเถียงปัญหานี้อย่างตรงไปตรงมาและเป็นสาธารณะได้อย่างไร) เพราะหากแก้ปัญหานี้ไม่ได้ข้อเสนอเชิงคุณค่าใดๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ล้วนแต่ไร้ความหมาย หรือไม่ make sense ทั้งนั้นเลย

           ข้อเสนอของอาจารย์สมศักดิ์ (ผมสรุปโดยเนื้อหา) ก็คือ เมื่อเรายืนยันว่าสถาบันกษัตริย์มีคุณประโยชน์ต่อบ้านเมืองอย่างนั้นอย่างนี้ (เช่น ในหลวงทรงงานหนัก และฯลฯ) ข้อยืนยันของเราจะมีความหมายก็ต่อเมื่อมีระบบกฎหมายที่ให้เสรีภาพในการเสนอข้อมูลด้านตรงข้ามได้ หรือวิจารณ์ตรวจสอบได้ พูดสั้นๆ คือต้อง Apply หลักการวิจารณ์ตรวจสอบนักการเมืองและบุคคลสาธารณะอื่นๆ กับการวิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ได้ในมาตรฐานเดียวกันนั่นเอง

            ไม่เช่นนั้นเวลาเราพูดว่า “...องค์พระมหากษัตริย์สามารถเป็นจุดส่งต่อความห่วงใยจากพลเมืองคนหนึ่งไปสู่พลเมืองอีกคน ถึงแม้ว่าจะไม่รู้จักกัน...” หรือว่า “...สถาบันกษัตริย์ได้กลายเป็นสื่อกลางที่ทำให้คนไทยที่ไม่รู้จักกันเกื้อกูลกันโดยผ่านทางพระเจ้าอยู่หัว ท่านอาจารย์คงเคยเห็นโครงการประเภท "รักในหลวงห่วงลูกหลานต่อต้านยาเสพติด" สมมติว่าโครงการนี้เราทำเต็มที่ แม้ชื่อจะบอกเพื่อในหลวง แต่ในหลวงท่านก็ไม่ได้อะไรดอกครับ พวกเราด้วยกันนี่แหละได้...” หากไม่ให้ประชาชนมีเสรีภาพเสนอข้อมูลด้านตรงข้ามมาเปรียบเทียบกัน (เช่น ถ้าคนพูดข้อมูลด้านที่เป็นความแตกแยก ความรุนแรงนองเลือดครั้งต่างๆ ที่ผ่านมาเพื่อนำมาโต้แย้งแล้วพวกเขาต้องติดคุก เป็นต้น) เราจะรู้ได้อย่างไรว่าที่พูดมานี้คือความจริง หรือว่ามีเหตุผล มีน้ำหนักควรแก่การยอมรับ

             ยิ่งความเห็นของอาจารย์สมภารที่ว่า “...ผมเห็นด้วยกับท่านอาจารย์มารค เมื่อเห็นด้วยก็เลยอยากให้ท่านอาจารย์ช่วยทบทวนความคิดหน่อยได้ไหมครับว่า หากทำให้สถาบันเล็กลง อย่างเจ้าต่างประเทศ เราจะได้ประโยชน์อะไร นอกจากเห็นซากความรุ่งเรืองที่เวลานี้ไม่มีประโยชน์แล้ว...”ก็ยิ่งดูเหมือนว่าอาจารย์สมภาร (หรือคนจำนวนมากที่คิดเหมือนอาจารย์สมภาร) มีข้อสรุปกับตัวเองอยู่ก่อนแล้วว่า สถาบันกษัตริย์ตามที่เป็นมาและเป็นอยู่นี้มีประโยชน์ต่อสังคมไทยมากกว่าสถาบันกษัตริย์ในต่างประเทศอยู่แล้ว หรือถ้าหากทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นเหมือนอังกฤษ ญี่ปุ่น เป็นต้น สังคมไทยจะไม่ได้รับประโยชน์ที่ควรจะได้ดีกว่าตามที่เป็นอยู่นี้ ข้อสรุปทำนองนี้จึงยังติดคำถามเดิมนั่นแหละว่า “รู้ได้อย่างไร?”

             ฉะนั้น การใช้ทักษะทางปรัชญา หรือการอ้างเหตุผลใดๆ เพื่อยืนยันคุณค่า ประโยชน์ของสถาบันกษัตริย์ ถ้าหากไม่ใช่การอ้างเหตุผล หรือยืนยันไปพร้อมๆ กับการยืนยันให้ประชาชนมีเสรีภาพวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ การอ้างเหตุผลหรือการยืนยันนั้นๆ ย่อมไร้ความหมาย คือไม่มีข้อพิสูจน์หรือเหตุผลสนับสนุนเพียงพอว่าเหตุผลหรือข้อยืนยันนั้นๆ เป็นความจริงหรือมีความน่าเชื่อถือ

            ปล. ผมกราบขออภัยอาจารย์สมภารอย่างสูง ที่ผมนำเรื่องแลกเปลี่ยนกันในบทความก่อนมาพูดต่อข้างเดียว แต่ผมมุ่งไปที่ “ความคิด” ไม่ได้มุ่งที่ “ตัวตน” อาจารย์สมภารเองก็บอกทำนองว่า คนเรานั้นไม่ว่าใครก็คิดถูกคิดผิดได้ และคิดใหม่ได้ ที่ผมนำมาเขียนต่อนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าตนเองคิดถูก หรือความคิดที่ตนเห็นด้วยถูกที่สุดแล้ว เพียงแต่อยากชวนให้ท่านผู้อ่านช่วยกันคิดต่อ หรือซักไซ้ไล่เรียงเหตุผลกันหลายๆ แง่ให้ตลอด เพราะปัญหายากๆ ของสังคมเรา คงต้องช่วยกันคิดกันอีกยาว 

             ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดเอกสารสั่งฆ่าประชาชน “ศอฉ.”


            เปิดเอกสาร “ศอฉ.” เผยแนวทางปฏิบัติการใช้อาวุธเพื่อรักษาที่ตั้งสำคัญ จุดตรวจ ด่านตรวจ ของช่วงสลายชุมนุม เม.ย. – พ.ค. 53 ระบุหากมีผู้ก่อเหตุใช้อาวุธแล้วอยู่ปะปนกับผู้ชุมนุม ให้เจ้าหน้าที่งดใช้อาวุธยกเว้นถ้าในหน่วยมี “พลแม่นปืน” ให้ทำการยิงเพื่อหยุดยั้งการก่อเหตุได้ และหากไม่สามารถยิงได้ สามารถร้องขอ “พลซุ่มยิง (Sniper)” จาก ศอฉ. ได้ 
18 ส.ค. 55 – ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้รับเอกสาร ส่วนราชการ สยก.ศอฉ. ที่ กห.1407.55 (สยก.) ลงวันที่ 17 เม.ย. 53 เรื่อง “ขออนุมัติแนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธเพื่อ รปภ. ที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจและสายตรวจเคลื่อนที่” ลงนามโดย พล.ท.อักษรา เกิดผล หน.สยก.ศอฉ. เสนอ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. ในเวลานั้น
โดยเอกสารมีทั้งหมด 5 หน้า ใจความสำคัญคือการระบุแนวทางปฏิบัติ หากมี “ผู้ก่อการร้ายแฝงตัวมากับกลุ่มผู้ชุมนุม และใช้อาวุธ/วัตถุระเบิดต่อเจ้าหน้าที่ และประชาชนผู้บริสุทธิ์”

เอกสาร ส่วนราชการ สยก.ศอฉ. ที่ กห.1407.55 (สยก.) ลงวันที่ 17 เม.ย. 53 เรื่อง “ขออนุมัติแนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธเพื่อ รปภ. ที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจและสายตรวจเคลื่อนที่” ลงนามโดย พล.ท.อักษรา เกิดผล หน.สยก.ศอฉ. เสนอ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. 
โดยในข้อ 2.5 ระบุว่า “ในกรณีพบความผิดซึ่งหน้าในลักษณะผู้ก่อเหตุใช้อาวุธยิงใส่เจ้าหน้าที่ หรือใช้อาวุธ/วัตถุระเบิดต่อที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญที่ ศอฉ. กำหนด ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธยิงผู้ก่อเหตุ เพื่อหยุดยั้งการปฏิบัติได้ แต่หากผู้ก่อเหตุอยู่ปะปนกับผู้ชุมนุมจนอาจทำให้การใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ เป็นอันตรายต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ให้งดเว้นการปฏิบัติ ยกเว้นในกรณีที่หน่วยได้จัดเตรียมพลแม่นปืน (Marksmanship) ที่มีขีดความสามารถเพียงพอให้ทำการยิงเพื่อหยุดยั้งการก่อเหตุได้ นอกจากนี้หากหน่วยพบเป้าหมายแต่ไม่สามารถทำการยิงได้ เช่น เป้าหมายอยู่ในที่กำบัง ฯลฯ หน่วยสามารถร้องขอการสนับสนุนพลซุ่มยิง (Sniper) จาก ศอฉ. ได้”

ต่อมามี ที่การออกหนังสือที่ กห.0407.45 (สยก./130) ลงวันที่ วันที่ 17 เม.ย. 53 “เรื่อง ขออนุมัติแนวทางการปฏิบัติการใช้อาวุธเพื่อ รปภ. ที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ ด่านตรวจ และสายตรวจเคลื่อนที่” เรียน ผอ. ศอฉ. โดย พล.อ. รอง เสธ.ศอฉ. (3) 18 เม.ย. 54
โดยในท้ายเอกสารมีข้อความว่า “อนุมัติตามเสนอในข้อ 4” ลงนามโดย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ในฐานะ ผอ.ศอฉ. โดยลงนามวันที่ 18 เม.ย. 53
โดยก่อนหน้านี้ ในการแถลงข่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ 16 ส.ค. 55 กล่าวปฏิเสธว่าไม่มีการใช้สไนเปอร์ เป็นเพียงปืนติดลำกล้องเพื่อใช้ระวังป้องกัน ซึ่งในตลาดนัดก็มีขายสำหรับใช้ยิงนก ขณะที่เมื่อ 16 พ.ค. 53พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ก็ปฏิเสธว่าไม่มีการใช้สไนเปอร์ มีเพียง “พลแม่นปืนระวังป้องกัน” ทำหน้าที่คุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ต่ำหรือตามถนนหนทางโดยทั่วไป เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะมีหน้าที่ในการตรวจสอบว่ามีบุคคลผู้ใดถืออาวุธหรือจะเข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ และจะใช้การยิงคุ้มครอง (อ่านข่าวย้อนหลัง)
ต่อมาเมื่อ 18 มี.ค 54 พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ได้นำรายงานบัญชีสรุปรายการเบิกจ่ายกระสุนจากหน่วยคลังแสงสรรพาวุธทหารบก เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ตั้งแต่ 11 มี.ค. 53 จนถึงเสร็จสิ้นการโดยมีการเบิกกระสุนจากคลังแสงทหารบกกว่า 597,500 นัด ส่งคืน 479,577 นัด ใช้ไป 117,923 นัด เผยมีการเบิกกระสุนปืนซุ่มยิง 3,000 นัด คืนเพียง 880 นัด ขณะที่เบิกกระสุนซ้อมเพียง 10,000 นัด ส่งคืน 3,380 นัด (อ่านข่าวย้อนหลัง)
สำหรับรายละเอียดเอกสาร  สยก.ศอฉ. ที่ กห.1407.55 มีรายละเอียดดังที่ปรากฏในท้ายข่าว

000
บันทึกข้อความ
ส่วนราชการ สยก.ศอฉ.
ที่ กห. 1407.55 (สยก.)/130 วันที่ 17 เม.ย. 53
เรื่อง ขออนุมัติแนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธเพื่อ รปภ. ที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจและสายตรวจเคลื่อนที่
เรียน ผอ.ศอฉ.
อ้างถึง 1. หนังสือ สยก.ศอฉ. ที่ กท. 0407.45 (สยก.)/13 ลง 8 เม.ย. 53
2. หนังสือ สยก.ศอฉ. ลับ - ด่วนที่สุด ที่ คห.0407.45 (สยก.)/106 ลง 15 เม.ย. 53
สิ่งที่ส่งมาด้วย แนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ศอฉ. ในการใช้อาวุธสำหรับการรักษาความปลอดภัยที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจ และสายตรวจเคลื่อนที่
1. ตามที่ รอง นรม./ผอ.ศอฉ. ได้กรุณาอนุมัติแนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ ศอฉ. เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารซึ่งทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยสถานที่สำคัญ และประจำจุดตรวจ/ด่านตรวจในพื้นที่ นำไปใช้ยึดถือปฏิบัติ รายละเอียดตามอ้างถึง 1 นั้น
2. เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน ปรากฏว่ามีผู้ก่อการร้ายแฝงตัวมากับกลุ่มผู้ชุมนุม และใช้อาวุธ/วัตถุระเบิดต่อเจ้าหน้าที่ และประชาชนผู้บริสุทธิ์ ดังนั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารซึ่งทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ตั้งหน่วย และสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจ และสายตรวจเคลื่อนที่ ได้มีกรอบแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมกับสถานการณ์ดังกล่าว สยก.ศอฉ. จึงได้พิจารณาปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติโดยเพิ่มเติมและแก้ไขรายละเอียดการปฏิบัติฯ ตามข้อ 1 ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้.-
2.1 แนวทางปฏิบัติทั่วไป ในหัวข้อการใช้อาวุธในการป้องกันตนเองและรักษาความปลอดภัยฯ ได้เพิ่มเติมข้อความเกี่ยวกับการป้องกันบุคคลอื่น หรือทรัพย์สินของทางราชการ และเอกชนที่อยู่ในความคุ้มครองของเจ้าหน้าที่ รวมทั้ง ให้หน่วยกำหนดแนวห้ามผ่านเด็ดขาด โดยให้ทำเครื่องหมายหรือประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่มากดดันทราบ และในหัวข้อการปฏิบัติภายหลังเกิดเหตุ ได้แก้ไขให้เจ้าหน้าที่ทำการปฐมพยาบาลผู้ก่อเหตุตามหลักมนุษยธรรม ภายหลังจากที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว
2.2 แนวทางปฏิบัติเฉพาะเหตุการณ์ ในกรณีผู้ชุมนุมพยายามที่จะบุกรุกเข้ามาในที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญที่ ศอฉ. กำหนด: ได้เพิ่มเติมรายละเอียดการปฏิบัติโดยให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้โล่และไม้พลองยาว เพื่อต้านทานการบุกรุก และเมื่อมีแนวโน้มจะต้านทานไม่อยู่ให้ใช้การฉีดน้ำ และ/หรือคลื่นเสียงได้ แต่ถ้าผู้ชุมนุมยังสามารถปีนรั้ว/เครื่องกีดขวาง/ฝ่าแนวห้ามผ่านเด็ดขาดเข้ามาได้ หากมีผู้บุกรุกมีจำนวนน้อยและไม่มีอาวุธ ให้เข้าทำการจับกุม หากมีจำนวนมาก ให้ใช้แก๊สน้ำตา, กระบอง, กระสุนยาง และยิงเตือนตามลำดับและเมื่อปฏิบัติตามขั้นตอนแล้ว ผู้ชุมนุมยังคงบุกรุกเข้ามาจนอาจก่อให้เกิดอันตราย ให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธตามสมควรแก่เหตุ โดยการใช้กระสุนจริงจาก ปลซ. และ ปลย. ตามลำดับ ทั้งนี้ หากผู้บุกรุกมีอาวุธเช่น มีด, ปืน, วัตถุระเบิด ฯลฯ และฝ่าแนวห้ามผ่านเด็ดขาดเข้ามาได้ เจ้าหน้าที่สามารถข้ามขั้นตอนการใช้แก๊สน้ำตา, กระบอง หรือกระสุนยาง ไปสู่การใช้กระสุนจริงได้ โดยในการใช้อาวุธกระสุนจริง ทั้งสองกรณี ผู้มีอำนาจตกลงใจสั่งการ คือ ผบ.หน่วยที่รับผิดชอบสถานที่นั้น หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
2.3 แนวทางการปฏิบัติเฉพาะเหตุการณ์ในกรณีการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจ: ได้เพิ่มเติมข้อความ ในกรณีพบผู้ต้องสงสัย ซึ่งไม่ยอมให้ตรวจค้น/จับกุม และกำลังจะหลบหนี ให้ทำการยิงเตือน, ติดตาม และสกัดจับ รวมทั้งใช้อาวุธตามหลักเกณฑ์ในการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย และสมควรแก่เหตุ
2.4 แนวทางปฏิบัติเฉพาะเหตุการณ์ ในกรณีพบความผิดซึ่งหน้าในลักษณะผู้ก่อเหตุเตรียมใช้อาวุธ/วัตถุระเบิด: ได้เพิ่มเติมรายละเอียดในการเข้าจับกุม โดยเจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธประจำกายเล็งไปยังผู้ก่อเหตุได้ และถ้าผู้ก่อเหตุพยายามหลบหนีให้ใช้เทคนิคการต่อสู้ระยะประชิด, การยิงเตือน และการใช้อาวุธยิงในจุดที่ไม่สำคัญของร่างกาย เพื่อหยุดการเคลื่อนที่ของผู้ก่อเหตุตามลำดับ
2.5 แนวทางปฏิบัติเฉพาะเหตุการณ์ ในกรณีพบความผิดซึ่งหน้าในลักษณะผู้ก่อเหตุใช้อาวุธยิงใส่เจ้าหน้าที่ หรือใช้อาวุธ/วัตถุระเบิดต่อที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญที่ ศอฉ. กำหนด ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธยิงผู้ก่อเหตุ เพื่อหยุดยั้งการปฏิบัติได้ แต่หากผู้ก่อเหตุอยู่ปะปนกับผู้ชุมนุมจนอาจทำให้การใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ เป็นอันตรายต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ให้งดเว้นการปฏิบัติ ยกเว้นในกรณีที่หน่วยได้จัดเตรียมพลแม่นปืน (Marksmanship) ที่มีขีดความสามารถเพียงพอให้ทำการยิงเพื่อหยุดยั้งการก่อเหตุได้ นอกจากนี้หากหน่วยพบเป้าหมายแต่ไม่สามารถทำการยิงได้ เช่น เป้าหมายอยู่ในที่กำบัง ฯลฯ หน่วยสามารถร้องขอการสนับสนุนพลซุ่มยิง (Sniper) จาก ศอฉ. ได้
3. สยก.ศอฉ. พิจาณาแล้วมีความเห็น ดังนี้
3.1 แนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ ศอฉ. สำหรับการรักษาความปลอดภัยที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจ และสายตรวจเคลื่อนที่ ตามข้อ 2 ได้ปรับปรุงในรายละเอียดการปฏิบัติให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยสอดคล้องกับการพัฒนาของสถานการณ์ ซึ่งปรากฏว่ามีผู้ก่อการร้ายแฝงตัวมากับกลุ่มผู้ชุมนุม และใช้อาวุธ/วัตถุระเบิดโจมตีต่อเจ้าหน้าที่ และประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทำให้เจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องใช้อาวุธในการป้องกันตนเองและบุคคลอื่น รวมทั้ง ทรัพย์สินของทางราชการและเอกชนที่อยู่ในความคุ้มครอง ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น จึงเห็นสมควรอนุมัติให้ยกเลิกแนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ ศอฉ ตามข้อ 1 และอนุมัติให้หน่วยที่เกี่ยวข้องใช้แนวทางการปฏิบัติในการ รปภ. ที่ตั้งหน่วย และสถานที่สำคัญฯ ตามข้อ 2 เป็นแนวทางการปฏิบัติต่อไป
3.2 สำหรับแนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธเพื่อ รปภ. ที่ตั้ง บก.ศอฉ ตามที่อ้างถึง 2 นั้น ได้กำหนดแนวทางการใช้อาวุธ และแนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อกลุ่มก่อการร้ายแฝงตัวปะปนมากับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งยังคงมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันจึงเห็นสมควรให้หน่วยยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ ในการ รปภ. ที่ตั้ง บก.ศอฉ. ได้ต่อไป
4. ข้อเสนอ เห็นสมควรดำเนินการตามการพิจารณาในข้อ 3 ดังนี้
4.1 ยกเลิกแนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ ศอฉ. ตามข้อ 1
4.2 อนุมัติแนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ ศอฉ. สำหรับการรักษาความปลอดภัยที่ตั้งหน่วย และสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจ และสายตรวจเคลื่อนที่ ตามข้อ 2
จึงเรียนมาเพื่อกรุณาพิจารณาอนุมัติตามเสนอในข้อ 4
(ลายมือชื่อ) พล.ท.อักษรา เกิดผล
หน.สยก.ศอฉ.

แนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ศอฉ. ในการใช้อาวุธสำหรับการรักษาความปลอดภัยที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจ และสายตรวจเคลื่อนที่
1.แนวทางการปฏิบัติทั่วไป
1.1 แนวทางการปฏิบัตินี้ ใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาที่ตั้งหน่วย และสถานที่สำคัญ รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่บริเวณจุดตรวจ/ด่านตรวจ และสายตรวจเคลื่อนที่ซึ่งอนุญาตให้กำลังพลสามารถใช้อาวุธประจำกายและอาวุธปืนพกได้ตามความจำเป็นของสถานการณ์
1.2 การใช้อาวุธในการป้องกันตนเอง และรักษาความปลอดภัยฯ ต้องการเป็นป้องกันอันตรายที่ใกล้จะมาถึง และเป็นอันตรายต่อชีวิตของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งบุคคลอื่นหรือทรัพย์สินทางราชการ และเอกชนที่อยู่ในความคุ้มครองของเจ้าหน้าที่ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ก่อเหตุกำลังระเบิดใส่ กำลังเล็งปืนใส่ กำลังถือมีดเข้าทำร้ายร่างกาย เป็นต้น
1.3 การป้องกันตนเองและรักษาความปลอดภัยฯ ต้องเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตนเองหรือผู้อื่น และสมควรแก่เหตุ รวมทั้งการใช้อาวุธนั้น ต้องใช้เท่าที่จำเป็น จากเบาไปหาหนัก และมีแจ้งเตือนการปฏิบัติกับผู้ก่อเหตุก่อนเสมอ
1.4 การใช้อาวุธจะไม่อนุญาตให้ใช้ในสถานการณ์ที่ไม่กระจ่างชัด หรือการใช้อาวุธที่ปราศจากความแม่นยำ ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ไม่เกี่ยวข้องได้ เช่น การยิงกราด การยิงสุ่ม และการยิงที่ไม่เล็ง รวมทั้งไม่อนุญาตให้ใช้การยิงอัตโนมัติ โดยหากจะใช้อาวุธต้องทำการยิงทีละนัดเท่านั้น และห้ามใช้อาวุธเล็งศีรษะหรือส่วนสำคัญของร่างกายโดยเด็ดขาด
1.5 ให้หน่วยกำหนดแนวทางห้ามผ่านเด็ดขาดบริเวณที่ตั้งหน่วย และสถานที่สำคัญ รวมทั้งใช้เครื่องหมายหรือประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่มากดดันทราบ
1.6 หากมีความจำเป็นในการใช้อาวุธแล้ว ต้องใช้ตามลำดับขั้น ดังนี้
ขั้นที่ 1 แจ้งเตือนด้วยวาจา ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย มีระดับความดังเสียงที่ผู้ก่อเหตุได้อย่างชัดเจน และกล่าวซ้ำหลายๆ ครั้ง อย่างน้อย 3 ครั้ง เพื่อให้ผู้ก่อเหตุหยุดการกระทำดังกล่าว ... "หยุดนี่คือเจ้าหน้าที่"
ขั้นที่ 2 การยิงเตือนขึ้นฟ้า หรือเป็นการยิงในทิศทางที่ปลอดภัย
ขั้นที่ 3 การใช้อาวุธตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและสมควรแก่เหตุ สรุปคือเป็นการยิงที่ไม่ประสงค์ให้ผู้ก่อเหตุเป็นอันตรายถึงชีวิต
ทั้งนี้ การปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าวอาจปฏิบัติข้ามการปฏิบัติเป็นขั้นที่ 2 หรือ 3 โดยทันที ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ได้ประสบกับภัยคุกคามที่ใกล้จะมาถึงและเป็นอันตรายต่อชีวิตของตนเองและบุคคลอื่นที่อยู่ในความคุ้มครองของเจ้าหน้าที่

หมายเหตุ:
1. เมื่อผู้ชุมนุมมีการรวมตัวที่บริเวณภายนอกที่ตั้งหน่วย หรือสถานที่สำคัญให้ใช้เครื่องขยายเสียงประกาศให้ผู้ชุมนุทราบว่า หากมีการบุกรุกเข้ามา เจ้าหน้าที่จะมีขั้นตอนการปฏิบัติและการใช้อาวุธอย่างไร โดยให้มีการประกาศซ้ำหลายๆ ครั้ง
2. แนวทางการใช้อาวุธตามคำแนะนำฯ นี้ ไม่จำกัดสิทธิ์ในการใช้อาวุธเพื่อป้องกันตนเองและบุคคลอื่นจากการกระทำของผู้ก่อเหตุ ที่เป็นไปโดยสมควรแก่เหตุ
3. กรณีประสบเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เป็นอันตรายต่อชีวิต หรือก่อให้เกิดการบาดเจ็บสาหัสให้เจ้าหน้าที่ที่ประสบเหตุสามารถใช้อาวุธเพื่อระงับเหตุการณ์นั้นๆ ได้ โดยไม่ต้องรอฟังคำสั่งใดๆ
4. ห้ามใช้อาวุธยิงใส่ยานพาหนะต้องสงสัยใดๆ ที่ขับฝ่าด่านตรวจ/จุดตรวจ/จุดสกัด โดยให้จดจำเลขทะเบียนและลักษณะที่สำคัญแจ้งให้หน่วยในพื้นที่ใกล้เคียง (ทั้งทหาร - ตำรวจ) ดำเนินการสกัดให้หยุดและตรวจค้น เว้นแต่ได้รับแจ้งยืนยันแน่ชัดแล้วว่ายานพาหนะนั้นเป็นการหลบหนีของผู้ก่อเหตุ จึงสามารถใช้อาวุธยิงโดยเล็งที่บริเวณเครื่องยนต์หรือหม้อน้ำของยานพาหนะ เพื่อสกัดให้หยุดการเคลื่อนที่
5. ยานพาหนะที่จงใจขับพุ่งชนเพื่อฝ่าแนวต้านทานเข้ามาในที่ตั้งหน่วย หรือสถานที่สำคัญที่ ศอฉ. กำหนด ให้สามารถใช้อาวุธยิงเพื่อหยุดยานพาหนะนั้นได้โดยเล็งที่บริเวณเครื่องยนต์ หรือหม้อน้ำของยานพาหนะ ทั้งนี้ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติเป็นสำคัญ รวมทั้งต้องประกาศให้ผู้ก่อเหตุทราบ ในลักษณะ "หยุด ถ้าไม่หยุดเจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องใช้อาวุธ"

ที่มา 
 (อ้างอิงจากเวบไซท์ประชาไท)
 
http://www.prachatai.com/journal/2012/08/42125

กลุ่มเสื้อแดงแห่บุกปิดล้อมงาน *สมัชชา ปชป.*สมุทรปราการ*

กลุ่มเสื้อแดงแห่บุกปิดล้อมงาน"สมัชชา ปชป."สมุทรปราการ "มาร์ค"เผ่นหนี เด็ก ปชป.รุมจวก

 

             ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 25 สิงหาคม ที่สมาคมไต้หวันแห่งประเทศไทย อ.เมือง จ.สมุทรปราการ พรรคประชาธิปัตย์ได้มีการจัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการรวมพลังสมัชชาออกแบบ ประเทศไทย โครงการพรรคประชาธิปัตย์พบประชาชน ภาคกลาง ครั้งที่ 5/2555 ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีกำหนดการเข้าร่วมกล่าวบรรยายเปิดการประชุมดังกล่าวด้วย 

           แต่ปรากฏว่า ก่อนที่นายอภิสิทธิ์จะเดินทางมาถึง ได้มีกลุ่มคนเสื้อแดงที่อ้างตัวว่า เป็นกลุ่มแดงบางเมือง จ.สมุทรปราการประมาณ 70 คน นำโดยนายชาณุ ไชยยะ ผู้บริหารคลื่นวิทยุชุมชน 101.25 จ.สมุทรปราการ พร้อมทั้งรถปิกอัพติดเครื่องขยายเสียงของนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือนายโกตี๋ ศรรักษ์ มาลัยทอง แกนนำแดงปทุมธานี พร้อมด้วยคนเสื้อแดงอีกประมาณ 20 คน มาสมทบ โดยมีการชูป้ายด่าและขับไล่นายอภิสิทธิ์ด้วยถ้อยคำหยาบคาย บริเวณปากทางเข้าสมาคมไต้หวันแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ในส่วนของการดูแลรักษาความปลอดภัยนั้น ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เมือง และ สภ.บางปู พร้อมด้วยหน่วยปราบการจลาจลอีก 2 กองร้อย โดยระหว่างที่มีการชุมนุมของคนเสื้อแดงเกิดการกระทบกระทั่งกันเล็กน้อย ระหว่างกลุ่มแดงปทุมธานีและเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ก็ไม่ได้เกิดเหตุรุนแรงแต่อย่างใด 
               ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การมาชุมนุมของคนเสื้อแดงร่วม 100 คน ทำให้รถยนต์ของนายอภิสิทธิ์ไม่สามารถเข้าไปร่วมงานดังกล่าวได้ แม้จะพยายามขับรถวนเพื่อหาทางเข้าในจุดอื่น อยู่ถึง 3-4 รอบ แต่ก็ไม่สามารถเข้าได้ เนื่องจากสมาคมดังกล่าวมีทางเข้าออกเพียงทางเดียว จากนั้น นายอภิสิทธิ์จึงได้ตัดสินใจเดินทางกลับมายังที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ใน ทันที เพื่อที่จะเข้าร่วมงานอภิปรายหัวข้อ "วิกฤตและโอกาส ประเทศไทย สู่ AEC" ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในเวลา 13.00 น. ก่อนที่ในช่วงเย็นจะเดินทางไป จ.อุทัยธานี เพื่อขึ้นปราศรัยที่เวทีผ่าความจริงของพรรคประชาธิปัตย์

               นายอภิสิทธิ์เดินทางมาถึงพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเวลา 10.40 น. โดยระหว่างที่นายอภิสิทธิ์ลงจากรถ บังเอิญได้พบนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ที่เพิ่งเดินทางเข้าพรรคพอดี นายอภิสิทธิ์จึงได้กล่าวกับนายชวนอย่างอารมณ์เสียว่า เข้าไปร่วมงานสมัชชาฯ ไม่ได้ เพราะถูกคนเสื้อแดงไล่ ซึ่งนายชวนได้แต่รับฟัง และพากันเดินตามกันขึ้นไปหารือกันต่อที่ห้องทำงานชั้นสอง อาคารควง อภัยวงศ์

               ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุปรากฏว่า ทั้งนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และ น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงประณามการกระทำของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยนายเทพไท กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับกลุ่มคนเสื้อแดงอย่าง ไม่เลือกปฏิบัติ เพราะพรรคประชาธิปัตย์มีสิทธิในการจัดกิจกรรม แต่ทางกลุ่ม นปช.กลับปลุกระดมต่อต้านการทำกิจกรรม ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น รัฐบาลควรห้ามปรามหรือประณามพฤติกรรมดังกล่าว อย่าปล่อยให้ออกมาอาละวาดการทำกิจกรรมทางการเมืองของคู่แข่ง ทั้งนี้ การก่อกวนดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะครั้งนี้ และเชื่อว่ายังจะมีการดำเนินการต่อไป ซึ่งตนวิตกว่า หากวันหน้ามีคนปลุกระดมให้มีการต่อต้านการลงพื้นที่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บ้านเมืองจะอยู่อย่างไร

               นายเทพไทกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการที่นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก แกนนำ นปช. ที่ถูกศาลถอนประกันจนถูกจำคุกนั้น ปรากฏว่ามีการให้อภิสิทธิ์เหนือนักโทษคนอื่น มีการจัดคาราโอเกะ จัดเลี้ยงปลอบขวัญด้วย