บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์
ภาพจาก iLaw photo (CC BY-NC-SA 2.0)
สิทธิชุมชนถูกย้ายหมวด ถูกลดทอน เหลือเป็นแค่หน้าที่ของรัฐ ไม่ใช่สิทธิของชุมชน หวั่นรัฐจะทำหรือไม่ทำให้เกิดสิทธิชุมชนก็ได้
บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ 7 สิงหาคมนี้ ในประเด็นเรื่องความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมว่า สิ่งที่ขาดหายไปคือเรื่องสิทธิของประชาชน เดิมรัฐธรรมนูญกำหนดสิทธิเรื่องการดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 17 แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีมาตราไหนที่จะเทียบเคียงรองรับกับสิทธิตรงนี้ได้
ส่วนมาตรา 67 วรรค 2 เดิมในรัฐธรรมนูญปี 2550 เกี่ยวกับการทำรายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม การฟังความเห็น และเรื่องการถ่วงดุลโดยองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งบรรจุอยู่ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 ความแตกต่างอย่างสำคัญคือ เดิมมาตรานี้อยู่ในหมวดสิทธิชุมชน แต่ตอนนี้มาอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ ในความเห็นของบัณฑูรถือว่ามีความแตกต่างกันอยู่มาก
"การที่เปลี่ยนมาตรานี้มาอยู่ในหน้าที่ของรัฐเท่ากับไปลดทอนสิทธิชุมชนที่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ลง ต้องรอให้รัฐริเริ่มดำเนินการก่อน ถ้ารัฐไม่จัดให้ก็ต้องไปเรียกร้องฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการ”
“มาตรา 67 พูดถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หามาตราเทียบเคียงก็หาไม่ได้ ในขณะเดียวกันมาตรา 67 วรรค 2 เดิม โยกมาเป็น มาตรา 58 และเปลี่ยนจากที่อยู่ในหมวดสิทธิชุมชนมาเป็นหมวดหน้าที่ของรัฐ
“แต่เดิมที่บรรจุอยู่ในหมวดที่เป็นสิทธิชุมชน อย่างน้อยก่อให้เกิดความผูกผันกับหน้าที่ของรัฐที่จะต้องรับรอง คุ้มครอง และให้สิทธิเหล่านั้นเกิดความสมบูรณ์ แต่การที่เปลี่ยนมาตรานี้มาอยู่ในหน้าที่ของรัฐเท่ากับไปลดทอนสิทธิชุมชนที่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ลง ต้องรอให้รัฐริเริ่มดำเนินการก่อน ถ้ารัฐไม่จัดให้ก็ต้องไปเรียกร้องฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการ”
ตรงนี้เป็นความพยายามแก้ให้ปัญหาการที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ได้ดำเนินการในเรื่องของสิทธิหลายประการ ความพยายามแก้ของ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็เป็นความพยายามตั้งใจที่ดี แต่ว่าโดยวิธีการเปลี่ยนจากหมวดสิทธิกลายเป็นหมวดหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาสาเหตุที่ถูกต้อง สาเหตุที่ทำให้สิทธิที่มีอยู่แต่ไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติเกิดจาก 3 ประการ
1.กฎหมาย ที่จะต้องออกตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐธรรมนูญเกิดความสมบูรณ์ไม่ได้มีการออกมา
2.กฎหมายในลำดับรอง กฎหมายพระราชบัญญัติที่ต้องปรับแก้ไขให้สออดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญออกมาตั้งแต่ปี 2540 และปี 2550 ไม่ได้ถูกปรับแก้ให้สอดคล้อง ทำให้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งในโครงสร้างกฎหมาย
3.ความเข้าใจทัศนะคติของหน่วยงานภาครัฐ เกี่ยวกับเรื่องสิทธิและเสรีภาพ
“ดังนั้น ถ้าจะแก้ ต้องไปแก้ใน 3 ประการนี้ ไม่ใช่แก้โดยการโยกหมวดสิทธิมาอยู่หมวดหน้าที่ของรัฐ”