วันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

'ประยุทธ์' เตือนเล่นโซเซียลมีเดียให้ระวัง ย้ำคดีหมิ่นละเว้นไม่ได้

รายการคืนความสุขให้คนในชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เตือนประชาชนเล่นโซเซียลมีเดียอย่างระวังอาจตกเป็นเหยื่อผู้ไม่หวังดี วอนให้ประชาชนช่วยดูแลกันเอง ไม่เผยแพร่ข้อมูลไม่เหมาะสม รัฐจะไม่แทรกแซง ส่วนคดีที่เกี่ยวกับสถาบันถ้ามีความผิดก็ละเว้นไม่ได้ ขอความร่วมมือด้วยช่วยกันลดความเกลียดชังกัน
 
 
6 ก.พ. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ตอนหนึ่งว่าเรื่องของอาชญากรรมและความรุนแรงต่าง ๆ ในสังคม ขณะนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยให้ความสนใจมีมาตรการที่เข้มข้นในการกวดขันคดีทุกคดี ให้เร่งดำเนินการสืบสวนหาคนร้ายมาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีที่มีผลกระทบต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ มีผลกระทบต่อการบริหารราชการหรือประเทศชาติในการพัฒนา ต้องเร่งดำเนินการให้ได้ เจ้าหน้าที่ต้องทำงานอย่างเต็มที่ ด้วยมาตรฐานเดียวกัน ให้ความเป็นธรรม ไม่ปล่อยปละละเลย ประชาชนก็ขอให้ความร่วมมือด้วย เป็นผู้เฝ้าระวัง แจ้งความ เพราะว่าเป็นการดูแลพื้นที่ตัวเองให้ปลอดภัย การท่องเที่ยวจะได้ดีขึ้น ช่วยกันเป็นหูเป็นตาอย่าให้ใครเข้ามาสร้างสถานการณ์ จะทำให้ประเทศของเราเดินหน้าต่อไปไม่ได้ คนเหล่านี้ไม่ดีเลย ไม่ทราบว่าคิดอะไรกันอยู่
 
ในเรื่องคดีที่เกี่ยวกับสถาบันและการเมืองนั้น ก็ขอให้ใช้วิจารณญาณด้วย ถ้าเป็นคดีที่มีความผิดเราก็ละเว้นไม่ได้ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายและขอความร่วมมือด้วย ทุกคนต้องช่วยกันลดความเกลียดชังกันลงไปด้วย ทั้งในสื่อในโซเชียลมีเดีย ช่วยกันลดลง วันนี้ก็มีการใช้โซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก ใช้โทรศัพท์ ใช้อะไรต่าง ๆ ซึ่งมีการส่งข้อความถึงกันตลอดเวลา อาจจะมากเป็นลำดับต้น ๆ ของโลกหรือของอาเซียนเลยด้วยซ้ำไป วันนี้ต้องดูแลกันให้ดี รัฐบาลไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะเข้าไปแทรกแซง เข้าไปดูในส่วนที่เป็นความลับของท่าน เว้นแต่ว่าท่านช่วยกันดูแลเองว่าไม่แพร่กระจายไม่ช่วยกันแพร่ในส่วนที่ไม่เหมาะสมออกไป ถึงเวลาก็ถูกดำเนินคดี ก็หาว่าเป็นคดีการเมืองหรือการรังแกของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่เลย เรามองทุกคนเป็นประชาชนทั้งสิ้น บางคนก็รู้ก็ทำ บางคนก็อาจจะทำทั้งที่ไม่รู้ ก็ต้องสอบสวนกันออกมาให้ได้ข้อชัดเจน
 
เพราะฉะนั้นระมัดระวัง ประชาชนอาจจะตกเป็นเหยื่อของคนไม่ดีเหล่านั้น ที่อาจจะมุ่งหวังจะทำลายชาติ ทำลายสถาบันฯ ทำลายความมั่นคงของรัฐในปัจจุบัน เรากำลังปฏิรูปอยู่ รัฐบาลสัญญาว่าจะทำอย่างเต็มที่ในการดำเนินคดีไม่ให้เกิดขึ้นอีก วันนี้ก็ต้องขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ทั้งตำรวจ ทหาร ฝ่ายข้าราชการพลเรือนต่าง ๆ ที่มีหน้าที่เหล่านี้ ต้องดูแลพื้นที่ของท่านให้ปลอดภัย ให้ประชาชนมีความสุข
 
โดยรายละเอียดทั้งหมดของรายการมีดังต่อไปนี้
 
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558  เวลา 20.15 น.
 
 
 
สวัสดีครับ พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน
 
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมและรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และผู้แทนจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนได้เดินทางไปจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว และได้พบปะกับพี่น้องประชาชนชาวนครราชสีมา ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด และสินค้า OTOP ณ สหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ผมขอขอบคุณพี่น้องประชาชนและเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ได้ให้การต้อนรับผมและคณะอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง
 
สำหรับวัตถุประสงค์หลักของการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ก็เพื่อติดตามความคืบหน้าและประเมินผลการดำเนินงานของรัฐบาลในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเกษตร หรือปัญหาปากท้องทั่วไป ทำให้รัฐบาลจะได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่าง ๆ มากมาย โดยข้อมูลทั้งหมดนั้น รัฐบาลจะนำมาพิจารณา ดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ในการปรับปรุงมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในโอกาสต่อไป
 
การวางรากฐานให้กับประเทศของเรา จำเป็นต้องมีการพัฒนา และก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วด้วยความมั่นคงและยั่งยืน โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ภาคประชาชนจะมีความเข้มแข็งก็ต้องได้รับการดูแลและสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน การดำเนินการต่าง ๆ นั้น รัฐบาลได้มอบหมายไปแล้ว ล้วนมุ่งเป้าหมายไปสู่วิทัศน์ที่รัฐบาลได้กำหนดไว้แล้วทั้งสิ้น คือการที่จะทำให้ประเทศไทยและพี่น้องชาวไทยทุกคนมีความมั่งคง มั่งคั่งอย่างยั่งยืน
 
การลงทุนในการวิจัยและพัฒนา มีความจำเป็นอย่างยิ่งเป็นสิ่งสำคัญ ในการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในการแข่งขัน แม้ว่าปัจจุบันจะมีอยู่หลายหน่วยงานที่เป็นแหล่งศึกษาวิจัยและพัฒนา เช่น สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รวมถึงองค์กรวิจัยอิสระ เช่น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) หรือ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร แต่วันนี้เราต้องการให้มีการบูรณาการร่วมกัน ทั้งในส่วนของแผนงาน ในส่วนของวัตถุประสงค์ที่ร่วมกัน และนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยมีการบริหารในเรื่องกองทุนต่าง ๆ ให้เหมาะสม ทั้งของภาครัฐและเอกชน
 
วันนี้เรายังขาดการลงทุนและการพัฒนาในด้านนี้อีกหลายด้าน ที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับประเทศไทย ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าและบริการ ดังนั้น ภาครัฐจะเร่งผลักดันให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาวิจัยที่ร่วมกันกับภาคเอกชนที่จะร่วมมือกัน ในการสร้างนวัตกรรมที่เราต้องการ เพื่อจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ต่าง ๆ สามารถทำการแข่งขันได้ ในตลาดในอนาคต ส่งเสริมต่อยอดในการสร้างกลุ่มคลัสเตอร์ ผูก ห่วงโซ่ เพิ่มการลงทุนในประเทศ ในธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ให้ได้
 
ปัจจุบันรัฐบาลได้มีมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มจาก 200% เป็น 300%  เพื่อจะส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ลดต้นทุน รวมทั้งสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ
 
การส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนานั้น เป็นสิ่งสำคัญ รัฐบาลได้มีเป้าหมายที่จะเพิ่มการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศโดยรวมให้ได้ 1% ของ GDP และ เพิ่มสัดส่วนการวิจัยและพัฒนาของเอกชนเป็น 70% ต่อ 30% ให้ได้ ขณะนี้ภาพรวมของการลงทุนวิจัยภาคเอกชน ได้เพิ่มมากขึ้นถึงกว่า 2 หมื่นล้านบาทในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามยังไม่เพียงพอกับสภาพการแข่งขันทางธุรกิจที่เข้มข้น ดังนั้น เมื่อเรามีมาตรการยกเว้นภาษีเพิ่มเติมนั้น ก็อาจจะช่วยเป็นแรงจูงใจให้กับภาคเอกชน ได้เพิ่มการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นตามลำดับ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน เพราะว่าถ้าหากเราสามารถศึกษาวิจัยพัฒนาสินค้าได้ เราก็จะใช้วัตถุดิบทางการเกษตร มีการรับรองคุณภาพ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับพืชผลทางการเกษตรของเรา ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องราคาที่ตกต่ำได้ด้วย
 
ในเรื่องนี้อยากจะฝากให้สถาบันการศึกษาทุกส่วน ทุกระดับที่มีส่วนสำคัญ มีสถาบันวิจัย หรือมีเรื่องที่วิจัยอยู่แล้วในขณะนี้ ในสถานศึกษาทั่วทุกภูมิภาค ได้มีการร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น ภาคเอกชนในพื้นที่ช่วยกันวิจัย และพัฒนาสินค้าท้องถิ่นด้วย ในส่วนของภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพื่อจะรองรับกับความต้องการของผู้บริโภค ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะช่วยให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน
 
การส่งเสริมการค้าการลงทุน เป็นสิ่งที่รัฐดำเนินการมาโดยตลอด ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 8 เดือน วันนี้ การเร่งรัดการอนุมัติโครงการของBOI และการให้ใบอนุญาตการจัดตั้งโรงงาน หรือเรียกว่า รง. 4 (ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน) นั้น ก็ได้สั่งการให้รีบดำเนินการอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ในส่วนของ BOI นั้น รัฐบาลได้มีการอนุมัติโครงการไปแล้วกว่า 1,050 โครงการ เป็นเม็ดเงินลงทุนประมาณ 680,000 ล้านบาท ในช่วงธันวาคมที่ผ่านมานั้น ได้มีโครงการที่มาขอรับการส่งเสริมจาก BOI อีกกว่า 2,000 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน กว่า 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะเร่งพิจารณาส่งเสริมโครงการที่มีคุณค่าต่อเศรษฐกิจ และช่วยในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งเร่งดำเนินการวางโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมกับการค้าการลงทุน ทั้งในด้านการวางรากฐานเทคโนโลยี การพัฒนาคุณภาพบุคลลากร การฝึกทักษะฝีมือแรงงาน รวมไปถึงระบบโลจิสตกส์ต่าง ๆ เพื่อจะให้เอื้อต่อการค้าการลงทุนในประเทศไทย เป็นการวางรากฐาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมต่อไป
 
การสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกร เราจำเป็นต้องเร่งดำเนินการวางรากฐาน ให้เป็นชุมชนเกษตรกรที่เข้มแข็ง หลังจากวันนั้นที่ผมได้พบปะพูดคุยกับพี่น้องชาวเกษตรกร ผมเข้าใจว่าปัญหาในหลาย ๆ พื้นที่นั้น เกิดขึ้นอาจจะมาจากการปลูกฝังอุดมการณ์ที่ผิด ไม่เข้าใจ หลายท่านก็เข้ามาคุยกับผมและบอกว่า เงินที่รัฐบาลได้ดำเนินการให้การสนับสนุนไปนั้น ก็สามารถจะช่วยเหลือพวกเขาได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็อยากให้รัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลปัจจุบันนั้น ให้มีการสนับสนุนแก้ไขปัญหาในระยะยาวด้วย นอกจากการแก้ไขปัญหาระยะสั้นเหมือนเช่นที่ผ่านมา สิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดคือต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือให้ชาวเกษตรกรมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ ซึ่งที่ผ่านมานั้น เขาก็บอกว่าทุกรัฐบาลก็ยังไม่มีใครทำได้ เพราะฉะนั้นเราก็พยายามทำให้ดีที่สุด
 
การรวมกลุ่มกันของสหกรณ์นั้น ผมว่ามีความสำคัญที่สุด เราจะได้สามารถช่วยได้ตรงช่วยให้เกษตรกรมีอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลางได้ ช่วยในเรื่องการจัดหาตลาดและช่องทางการจัดจำหน่าย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งพี่น้องเกษตรกรก็จำเป็นต้องสร้างให้ชุมชนตนเองเข้มแข็งด้วย เป็นชุมชนที่พึ่งตนเองให้ได้ นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้ ผ่านการทำเกษตรอินทรีย์ การลดการใช้ปุ๋ยเคมี ลดการใช้ยาฆ่าแมลง เป็นพืชที่เป็นออร์แกนิค ที่ปลอดภัย ก็จะช่วยทั้งในเรื่องลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร มีตัวอย่างหลายพืชที่ที่ชาวเกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์และประสบความสำเร็จในหลายจังหวัด หลายอำเภอ ไม่ว่าจะเป็นอยุธยา นครปฐม อ่างทอง พิจิตร นครราชสีมา และอีกในหลาย ๆ จังหวัด ทุกคนก็ยินดีที่จะให้คำปรึกษาและช่วยเหลือเกษตรกรที่สนใจ หากจะหันมาทำเกษตรอินทรีย์แทน เพราะว่ามีรายได้สูงขึ้น มากกว่าการทำนาด้วยซ้ำไป ทั้งหมดนี้จะทำให้รัฐบาลสามารถช่วยเหลือ หรือสนับสนุนพี่น้องชาวเกษตรกรได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผ่านระบบสหกรณ์ที่เป็นเครือข่ายกัน หลายท่านก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้ แล้วก็สัญญาว่าจะนำไปพูดคุยหารือกันระหว่างกันในชุมชนต่อไป ช่วยกันขึ้นทะเบียนกันให้เรียบร้อย ก็จะได้มีส่วนราชการเข้าไปดูแลได้อย่างใกล้ชิดขึ้น
 
สำหรับตัวอย่างชุมชนที่เข้มแข็ง และผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม ที่จังหวัดนครราชสีมา คือการจัดการ “คลัสเตอร์มันโคราช”(Korat Tapioca Cluster: KOTAC) ซึ่งถือเป็นการทำการเกษตรแบบบูรณาการที่มีการบริหารจัดการร่วมกันระหว่างภาครัฐในระดับจังหวัด กลุ่มเกษตรชุมชนและผู้ผลิตภาคเอกชนที่เข้มแข็ง มีการรวมตัวกันของกลุ่มสหกรณ์ภายในจังหวัด เพื่อบริหารจัดการผลผลิต     มันสำปะหลัง และเป็นต้นทางในการจัดหาช่องทางการจัดจำหน่าย จัดการระบบการตลาด มีกลุ่มอุตสาหกรรมภาคเอกชนที่ร่วมกันรับซื้อผลิตผลมันสำปะหลังเพื่อนำไปแปรรูป จัดจำหน่ายเป็นกลุ่มปลายทาง ในขณะที่ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานเอกชนอีกหลายแห่งในจังหวัดนครราชสีมา ก็ได้สนับสนุนในการค้นคว้าวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ เพื่อให้การผลิตและการแปรรูปมันสำปะหลังนั้น มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
 
การทำงานเป็นระบบและเป็นทีมอย่างนี้ ก็ทำให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งรัฐ ทั้งเอกชน ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ อันนี้ก็จะเป็นการช่วยกันร่วมมือกันในทุกภาคส่วน และปัจจุบันได้มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ เพื่อวิเคราะห์ปัญหา หาทางแก้ไข รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังให้แก่เกษตรกร ผ่านการจัดทำแปลงต้นแบบที่มีการนำเทคโนโลยี 5 ด้าน ได้แก่ การจัดการปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การจัดการน้ำ การจัดการดินดาน การจัดหาพันธุ์มันสำปะหลังที่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมถึงการป้องกันการกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน ซึ่งเกษตรกรที่จะต้องเข้าร่วมโครงการนั้น จะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หลาย ๆ คนก็ทำให้เกิดผลผลิตที่มีรายได้ ที่มีราคาดี มีคุณภาพ
 
นอกจากนั้น ในกลุ่มเกษตรกร ก็มีการสร้างความสัมพันธ์ สร้างเครือข่าย มีกิจกรรมในการถ่ายทอดเทคโนโลยี ในการลดต้นทุน มีการศึกษาดูงานและบูรณาการอย่างสม่ำเสมอ ผมอยากให้ชุมชน เกษตรกร และผู้ประกอบการในจังหวัดต่าง ๆ ทำงานร่วมกันเช่นนี้ ก็ได้ให้ทั้งกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกันบูรณาการลงพื้นที่ เข้าไปดูแลช่วยเหลือเกษตรกร และสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ในทุกจังหวัดให้เข้มแข็งให้ได้ จะได้เป็นตัวกลางในการติดต่อกับภาครัฐ และภาคเอกชนในการบริหารจัดการ รวมทั้งการรับซื้อผลผลิตในพื้นที่ ซึ่งอาจจะทำให้ราคาสูงขึ้น
 
เท่าที่รับทราบนั้น การซื้อขายในพื้นที่ตั้งตลาดชุมชนต่าง ๆ นั้น ทำให้ราคาข้าวก็สูงขึ้น ผลผลิตอื่นก็สูงขึ้นตามลำดับ แตกต่างจากการซื้อขายให้กับพ่อค้าคนกลางในช่วงที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้ เราสามารถดำเนินการได้ทันที ทุกคนต้องช่วยกันแล้วก็เป็นสิ่งจำเป็นด้วยทุกคนต้องปรับตัว สร้างความเข้มแข็งให้ได้ ถ้ารอการช่วยเหลืออย่างเดียวก็ไปไม่ได้อยู่ดี เพราะฉะนั้นแค่เราร่วมมือกัน ประสานกัน สร้างพลังขึ้นมาก็จะมีประสิทธิภาพ ปัญหาหลายอย่างก็จะไม่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาในเรื่องของราคาตกต่ำ ผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งกดราคาเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้นรัฐก็จะดูแลให้มากขึ้นในส่วนตรงนี้ แต่ขอให้เป็นสหกรณ์ให้ได้ ที่เข้มแข็งด้วย เล็ก ๆ ก็รวมเป็นสหกรณ์ใหญ่ขึ้นมาเหมือนกับที่จังหวัดนครราชสีมาเขาทำกัน
 
เรื่องของการจัดที่ดินทำกินเพื่อป้องกันการบุกรุกป่า ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาตินั้น ปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้ว 2.71 ล้านรายครอบคลุมพื้นที่ 35.34 ล้านไร่ ซึ่งในลำดับต่อไปนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็จะร่วมกับกระทรวงมหาดไทยก็จะเดินหน้าจัดพื้นที่ป่าสงวนอีก จำนวน 53,872 ไร่ รวมไปถึงการจัดที่ดินในเขตสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) อีก 4,683 ไร่ เรื่องนี้รัฐบาลต้องขอความร่วมมือจากประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการจัดที่ดินทำกินนี้บ้าง ก็ขอให้ทุกคนเข้าใจว่าพื้นที่ป่านั้นเป็นพื้นที่สงวนที่จำเป็นต้องมีการปกป้องดูแลเพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ ภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง หรืออุทกภัยทั้งหมดนั้น เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าทั้งสิ้น เพราะบ้านเราเป็นป่าฝน
 
ในปัจจุบันนั้น ปัญหาภัยแล้งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ปีนี้ก็จะมากกว่าปีที่ผ่าน แล้วในอนาคตอาจจะแห้งแล้งมากขึ้น ฝนตกน้อยลงหรือฝนนอกพื้นที่อะไรเหล่านี้ เพราะโลกเปลี่ยนแปลง สภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็อาจจะมีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีรายได้จากการทำการเกษตรอาจจะมีผลกระทบกับเกษตรกรเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะผู้ที่ปลูกข้าว หรือพืชอื่น ๆ ที่ใช้น้ำ
 
ผมได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สำรวจที่ตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรต่าง ๆ ในประเทศ เพื่อจะนำมา matching  กับแผนที่ zoning เพื่อให้เกิดการทำพื้นที่การเกษตรที่เหมาะสม จะได้บริหารจัดการได้เกี่ยวกับเรื่องบริหารจัดการน้ำ ระบบชลประทาน ถือมาได้เท่าไรก็คงเท่านั้น มากกว่านั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับน้ำต้นทุนนะครับแต่ปัจจุบันถ้าเราสามารถจัดระบบชลประทานได้น้อยจนเกินไป เก็บกักน้ำได้ไม่ดีนัก ปริมาณน้ำที่ตกมาบางทีที่ตกมาบางทีก็ตกไม่ลงเขื่อน ตกนอกเขื่อน ตกท้ายเขื่อน อะไรเหล่านี้ต้องแก้ไข ต้องแก้ไขทั้งหมดต้องใช้เวลา ใช้งบประมาณมาก แต่ปีนี้ก็มีงบประมาณจำนวนหนึ่งที่ต้องแก้ไขให้ได้โดยเร็ว โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเร่งด่วนเรื่องแล้งซ้ำซาก หรือพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อการทำนาปรังอาจจะทำไม่ได้
 
เพราะว่าน้ำน้อยทำไปก็เสียหายก็จะนำข้อมูลเหล่านี้ ให้ชาวนาได้รับทราบแล้วก็ให้หาทาง หาความร่วมมือในการที่จะปลูกพืชทางเลือกชนิดอื่น ๆ เพิ่มเติม มีหลายอย่างด้วยกัน มีราคาดีกว่าด้วยถ้าปลูกข้าวแล้วเสียหายก็ไปไม่ไหว เป็นหนี้เป็นสินมากขึ้น เพราะฉะนั้นอาจจะต้องปรับเปลี่ยนในการปลูกข้าวเป็นพืชชนิดอื่น ๆ ก็ต้องดูราคาตลาดด้วย ความต้องการตลาดด้วย
 
วันนี้ที่ดูท่าทางน่าจะดีก็เช่น พริกไทยดำ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง แล้วก็อยากจะให้ทุกคน ให้ความสนใจติดตามความรู้ที่ออกตามโทรทัศน์ หนังสือ สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องการปลูกพืชทดแทนเหล่านี้ รวมความไปถึงในการประมง การเลี้ยงปศุสัตว์ ให้สามารถที่จะลดต้นทุนการผลิตได้ การเลี้ยงได้ก็จะทำให้เรามีรายได้มากขึ้น
 
ปัจจุบันรัฐบาลได้ทำการสนับสนุนพันธ์พืชตระกูลถั่ว แล้วก็พืชปุ๋ยสดไปแล้วรวม 300,000 ไร่ ก็ยังไม่เพียงพอ ได้มีการส่งเสริมประมง ปศุสัตว์ไปแล้วเกือบ 17,000 ราย นอกจากนั้นเราก็ได้แบ่งเบาภาระของเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภัยแล้งซ้ำซาก เราก็สนับสนุนการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว จำนวน 3,052 ตำบล ตำบลละ 1 ล้านบาทอีกด้วย ก็ขอให้ใช้อย่างคุ้มค่า ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง อย่าไปทำในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อจะช่วยเหลือพี่น้องชาวนา ชาวสวนยาง
 
ปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างการเร่งรัดตรวจสอบสิทธิ์แล้วก็จ่ายเงินที่ค้างอยู่ เป็นจำนวนไม่มาก แต่ปัญหาอยู่ที่การลงทะเบียน ก็จะทำควบคู่ไปกับการปรับปรุงทะเบียนเหล่านั้น ให้มีความสมบูรณ์ทันสมัย ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ในระหว่างกระทรวง ระหว่างแผนงานโครงการต่าง ๆ จะได้สะดวกรวดเร็ว ทันเวลา และทำให้เกิดความทันสมัยอย่างต่อเนื่องในการดำเนินการต่อไปในอนาคต ก็คงต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องเกษตรกรและเจ้าหน้าที่รัฐช่วยกันสำรวจ ช่วยกันจัดทำบัญชีให้เรียบร้อย ขณะนี้ก็อยู่ในห้วงการดำเนินการ ขอให้ความร่วมมือด้วย ขอให้เป็นเรื่องจริงจังในการจัดทำทะเบียนนี้ก็ต้องมีการรับรองกันอย่างชัดเจน จะได้ไม่เสียเวลาในการช่วยเหลือของรัฐต่อไป
 
สำหรับปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งของการสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ ก็คือการให้ความรู้ ให้การศึกษาแก่ประชาชนในชุมชนต่าง ๆ  ปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินอย่างต่อเนื่องในการที่จะถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรอินทรีย์ เกษตรทางเลือก และข้อมูลอื่น ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกร เรามีศูนย์ถ่ายทอดความรู้ จำนวน 822 ศูนย์ และปัจจุบันรัฐบาลได้มีการขยายลงไปสู่ชุมชน ไปสู่บ้านของเกษตรกรด้วย เป็นตัวอย่างได้ แล้วเราก็ได้ให้การสนับสนุนการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สหกรณ์ จำนวน 8,898 แห่ง สมาชิกรวม 11.28 ล้านคน เพื่อเพิ่มบทบาทของสหกรณ์ในการซื้อ การแปรรูป การส่งออก และเพิ่มสภาพคล่องก็ขอให้ดูแลเรื่องความรู้ด้วย ให้กับสหกรณ์การเกษตรด้วย ที่เราให้งบประมาณไปแล้วหรือจะให้ต่อไป ต้องไปดูทุกเรื่อง เพราะฉะนั้น เราจะให้สภาพคล่องมากขึ้น สำหรับสหกรณ์การเกษตรต้องจดทะเบียน ทั้งนี้ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการปรับปรุงกฎระเบียบการค้าต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกร พร้อมทั้งมีการพัฒนาความเชื่อมโยงกับตลาดต่างประเทศต่อไปด้วย
 
สำหรับในเรื่องการสร้างระบบชลประทานขนาดเล็ก ซึ่งเราสามารถจะเร่งรัดได้ในปีนี้นั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งน้ำในไร่นา รัฐบาลดำเนินการไปแล้วกว่า 16,000 โครงการ แหล่งน้ำในไร่นา จำนวน 290,862 บ่อ มีพื้นที่รับประโยชน์รวม 581,724 ไร่ ซึ่งในอนาคตรัฐบาลจะมีโครงการอนุรักษ์ดินและน้ำอีก 91 แห่ง ยังมีอีกหลายโครงการที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ อย่างเช่น โครงการเกษตร สีเขียวในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ศรีสะเกษ จันทบุรี ราชบุรี พัทลุง และหนองคาย และโครงการพระราชดำริ โครงการหลวงอีก 97,343 โครงการ และงานต่าง ๆ ที่อยู่ในแผน เราจะเร่งดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ผมก็จะมาเล่าความก้าวหน้าต่าง ๆ ให้พี่น้องประชาชนได้  รับทราบต่อไป
 
ในขณะเดียวกันนั้น รัฐบาลจะเร่งให้การสนับสนุนในด้านอื่น ๆ ในระยะสั้นเร่งด่วนหลาย ๆ ด้าน เช่น การให้เงินช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนปัจจัยการผลิต การจัดหาแหล่งเงินทุน การพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติม  สำหรับในส่วนของระยะยาวนั้น ก็จะเร่งให้ความรู้ในเรื่องของเกษตรอินทรีย์ การปลูกพืชผสมผสาน ธนาคารปุ๋ย ธนาคารเมล็ดพันธุ์ในท้องที่ รวมไปถึงการจัดการพื้นที่โซนนิ่ง ที่จะต้องคำนึงถึงตลาดและการรับซื้อด้วย  ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ที่ผมกล่าวไปแล้วในช่วงแรก
 
ภาคเกษตรนั้น ถือเป็นภาคการผลิตสำคัญมากในไทย เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรให้เติบโตอย่างยั่งยืน มีความเข้มแข็ง มีราคา คุณภาพด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ขอให้ทำความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ด้วย ไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่เรื่องยาก เพราะฉะนั้นไม่อยากให้เป็นแค่นโยบาย หรือใช้จ่ายงบประมาณเท่านั้น ช่วยเหลือไม่ตรงจุด งบประมาณที่ได้ก็จะไม่เกิดประโยชน์ ต้องตรง ต้องทันเวลา รวดเร็วทันเวลาแล้วก็ทั่วถึง
 
สำหรับการเสนอของบประมาณมานั้น ต้องมีรายละเอียดโครงการรองรับมาด้วย ในการพัฒนาให้ยั่งยืนนั้น บางเรื่องเราอาจไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เงิน หรือสิ่งของอื่น ๆ เลยเพียงแค่เรามีความจริงใจให้กัน ลงแรงให้ความรู้ ลงพื้นที่ทำความเข้าใจ ก็จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรด้วย ก็ฝากภาคเอกชนด้วยก็ร่วมมือกัน ทั้งปราชญ์ชาวบ้าน ทั้งนักวิชาการอะไรต่าง ๆ ต้องลงไปช่วยประชาชนด้วยกับเรา
 
สำหรับในกรณีที่ราคาน้ำมันตลาดโลกที่มีความผันผวนในช่วงนี้ ก็มีหลายฝ่ายร้องเรียนว่า ราคาสินค้าทั่วไปนั้นแพงขึ้น รัฐบาลก็ไม่นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ ก็ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์แล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปควบคุม เข้มงวด รวมทั้งกระทรวงมหาดไทยด้วย ช่วยกันลงตรวจพื้นที่ไม่ให้มีการขายสินค้าเกินราคา ซึ่งวันนี้ก็ได้รับข้อมูลว่า ราคาสินค้าส่วนประกอบนั้นไม่ค่อยขึ้นหรือขึ้นน้อย แต่เมื่อมาปรุงสำเร็จแล้วไปบวกราคากันมาก เพราะเกรงว่าจะขายได้น้อยลง รายได้ก็ลดลงก็ต้องไปเพิ่มราคาในแต่ละจาน แต่ละประเภทมากขึ้น อันนี้ก็ไม่เป็นธรรม ก็จะต้องขอร้องกัน พูดคุยกับพ่อค้าคนกลางหรือผู้ประกอบการ เกี่ยวกับร้านค้าอาหารจานเดียวสำเร็จรูปพวกนี้ด้วย จะต้องดูแลในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ก็เห็นใจกัน วันนี้ยามยากต้องช่วยกัน ถ้าทุกคนจะเอาตัวรอดกันหมดก็ไปไม่ได้ ก็ขอให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจ
 
เรื่องของราคาก๊าซนั้น ก็ขึ้นตามท้องตลาดซึ่งก็คนละส่วนกับน้ำมัน เพราะเราแยกออกจากกัน ในขณะนี้ ก็จะดูแลคนที่มีรายได้น้อยเป็นพิเศษอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็อย่าเรียกร้องให้มากจนเกินไป เราก็ให้ได้เท่าที่ทำได้ ถ้าเราปรับลงมามากก็เป็นปัญหาอีกในอนาคต จะกลับไปแบบที่เก่าไม่ได้ ก็ต้องใช้อย่างประหยัด
 
ช่วงที่ผ่านนั้น มีการบิดเบือนโครงสร้างราคาพลังงานมานาน ไปชดเชยกันไปกันมา ผมก็อยากชดเชย เฉพาะในส่วนของผู้มีรายได้น้อยของแต่ละประเภทไปแล้วก็ต้องไม่มีปัญหาเรื่องของการที่จะต้องผลิตจากพลังงานทดแทนมาด้วยในอนาคต เราต้องแก้ไขให้ได้ ราคาพลังงานต่าง ๆ เหล่านี้ต้องคำนึงถึงความเพียงพอ ความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคตด้วย และในท้องตลาดเขาว่ายังไงก็ควรจะเป็นไปอย่างนั้น ทุกประเทศในโลกก็เป็นอย่างนั้นอยู่  ก็จะดูแลเฉพาะผู้มีรายได้น้อย มากน้อย ไปตามงบประมาณที่มีอยู่ ทั้งนี้ก็จะให้โครงการพลังงานเข้าสู่ความสมดุล ก็ขอให้พี่น้องทำความเข้าใจในส่วนนี้ด้วย ช่วยกันดูแลประเทศชาติในส่วนนี้จะได้นำไปทำอย่างอื่นได้มากขึ้นกว่าเดิม รายได้รัฐก็จะมีมากขึ้น ไม่ได้ไปไหนทั้งสิ้น และก็จะมีการดูแลผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่ม ๆ ตอนนี้ก็มีการเจรจามากมายหลายขณะ หลายกลุ่มเกี่ยวกับเรื่องพลังงานราคาพิเศษ เฉพาะกลุ่ม ก็กำลังให้ทุกกระทรวงไปพิจารณาดู ก็พูดจากันให้เรียบร้อย
 
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น  วันนี้รัฐบาลก็มีการดำเนินการพูดคุยอย่างแน่นแฟ้นกับทุกประเทศ ผมถือว่าทุกคนเป็นมิตรประเทศที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนาน ไม่เป็นศัตรูกัน วันนี้อาจจะมีปัญหากันอยู่บ้าง วันหน้าก็ต้องดีกันอยู่แล้ว การค้าการลงทุนก็ยังลงทุนอยู่ หลาย ๆ ประเทศที่อยู่ในประเทศไทย คนไทยก็ลงทุนที่ต่างประเทศ การเมืองก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้นการค้าการลงทุนหรือเศรษฐกิจนั้น ได้มีผลต่อประชาชนทุกประเทศ ความขัดแย้งทำให้ประชาชนอดอยากยากจน ก็ไม่น่าจะดี เพราะฉะนั้น เราต้องลดความกดดันในเรื่องนี้ให้ได้ ใจเย็น ๆ อดทนกัน ผมก็พยายามอย่างเต็มที่ ที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับทุกประเทศที่มีมาอย่างยาวนานหลายประเทศ
 
สำหรับในการประชุมร่วมกับภาคธุรกิจก็มีหลาย ๆ ประเทศทั้งใกล้ไกลก็มาร่วมประชุมอย่างต่อเนื่อง ทั้งระดับคณะทำงาน ระดับรัฐมนตรี หรือระดับผู้แทนของนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดีเข้า  มาพบ ซึ่งในสัปดาห์หน้า ผมก็จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อจะเชื่อมความสัมพันธ์ในด้านการค้าการลงทุนต่าง ๆ เราให้ความสำคัญทุกประเทศ สำหรับประเทศญี่ปุ่นก็เป็นประเทศแรกที่ผมเดินทางไปในฐานะที่เป็นประเทศประชาธิปไตยของอาเซียนในตะวันตก ก็เดินทางไปเป็นประเทศแรก ผมก็จะนำผลข้อสรุปต่าง ๆ มาพูดถึงในสัปดาห์หน้า เพื่อให้พวกเราได้รับทราบความคืบหน้าของเรา เราก็เจรจาบนพื้นฐานของความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ และผลประโยชน์ที่ทัดเทียมกัน
 
เรื่องสำคัญอีกหนึ่งเรื่องคือ เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น วันนี้รัฐบาลได้ออกประกาศกำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างเป็นทางการแล้ว โดยครอบคลุมพื้นที่ 36 ตำบล 10 อำเภอของ 5 จังหวัดติดแนวชายแดน ซึ่งจะรวมเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 1.83 ล้านไร่ ได้แก่  1. จังหวัดตากประกอบด้วย 14  ตำบล ใน อ.แม่สอด  อ.พบพระ  อ.แม่ระมาด อ.ระมาด  2. มุกดาหาร ประกอบด้วย 11 ตำบล ใน อ.เมือง  อ.หว้านใหญ่ อ.ดอนตาล 3. สระแก้ว ประกอบด้วย 4 ตำบล ใน อ.อรัญประเทศ  อ.วัฒนานคร 4. ตราด ประกอบด้วย 3 ตำบล ของ อ.คลองใหญ่ (ทั้งอำเภอ)  5. สงขลา ประกอบด้วย 4 ตำบล ใน อ.สะเดา
 
ที่ผ่านมารัฐบาลนั้น รัฐบาลก็ได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) เพื่อจะขับเคลื่อนโครงการดูแลในเรื่องขอบเขตพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐาน ด่านศุลกากร นิคมอุตสาหกรรม ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ด้านแรงงาน แรงงานต่างด้าว ด้านสาธารณสุข ด้านความมั่นคง รวมทั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน ก็ได้พิจารณาอนุมัติแนวทางในการกำหนดสิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่สำคัญ เช่น
 
1. กรณีกิจการทั่วไป จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 3 ปี แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี ส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการยกเว้นภาษีฯ เป็นเวลา 8 ปีอยู่แล้ว ก็จะได้รับการลดหย่อนภาษีฯ ร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 5 ปี โดยในการคำนวณภาษีฯ นั้น สามารถหักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า ค่าประปา ได้ 2 เท่า เป็นเวลา 10 ปี รวมทั้งหักค่าติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกได้ ร้อยละ 25 และการยกเว้นอากรขาเข้า สำหรับเครื่องจักร วัตถุดิบและวัสดุจำเป็นสำหรับส่วนที่ผลิตเพื่อการส่งออกอีกด้วย
 
2. ในกรณีที่เป็นกิจการเป้าหมาย สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ เรามีเป้าหมายของรัฐบาล เช่น ในเรื่องของการอุตสาหกรรมที่เป็นการเพิ่มเทคโนโลยีที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี ในวงเงินไม่เกินร้อยละ 100 และการลดหย่อนภาษีฯ ร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 5 ปีเช่นกัน
 
3. กิจกรรมที่ไม่ได้รับการส่งเสริมตามประกาศ BOI จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล จากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 เป็นระยะเวลา 10 รอบบัญชี
 
ทั้งนี้ ก็ขอให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในพื้นที่ การวางผังเมือง ต้องมีการออกกฎหมายเพิ่มเติม ระบบสาธารณูปโภคต้องลงทุนอีกหลาย แสนล้านบาท และการออกกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการค้าการลงทุนในพื้นที่ให้ได้โดยเร็ว รวมทั้งสานสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน (Connectivity) ให้เขาได้พัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจเชื่อมต่อให้ควบคู่กันไป ก็ต้องเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจชุมชนของแต่ละจังหวัดด้วย ก่อนที่จะไปเขตเศรษฐกิจพิเศษ และก็ไปถึงเขตเศรษฐกิจชายแดน และไปประชาคมโลกอื่น ๆ
 
ขอขอบคุณทางภาคเอกชนที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 5 จังหวัดเป้าหมายเป็นอันดับแรก  ทราบมาว่ามีภาคเอกชนหลายแห่งให้ความสนใจที่จะไปลงทุนในเรื่องของการพัฒนา
 
โลจิสติกส์ ศูนย์การกระจายสินค้า/ศูนย์การค้า ศูนย์การแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร การพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ การท่องเที่ยว และการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ
 
ในระยะต่อไปรัฐบาลก็มีแผนจะผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติมอีกใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย หนองคาย กาญจนบุรี นครพนม และนราธิวาส เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ ล้วนเป็นพื้นที่ชายแดน ที่ตั้งอยู่บนแนว “ระเบียงเศรษฐกิจ” เพื่อจะเตรียมความพร้อมของประเทศไทย ในการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เราสามารถที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งการค้า การลงทุน และช่วยทั้งในเรื่องการกระจายสินค้า และเปลี่ยนสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสินค้าการเกษตร การท่องเที่ยว และการบริการ ซึ่งธุรกิจต่าง ๆ เหล่านั้นก็จะเป็นกลไกสำคัญที่จะเป็นการกระจายรายได้ไปสู่ภูมิภาค และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้มีความมั่นคงต่อไปในระยะยาว
 
เรื่องของอาชญากรรมและความรุนแรงต่าง ๆ ในสังคม ขณะนี้ ผมได้สั่งการให้ทุกหน่วยให้ความสนใจมีมาตรการที่เข้มข้นในการกวดขันคดีทุกคดี ให้เร่งดำเนินการสืบสวนหา คนร้ายมาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็ว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีที่มีผลกระทบต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ มีผลกระทบต่อการบริหารราชการหรือประเทศชาติในการพัฒนา ต้องเร่งดำเนินการให้ได้ เจ้าหน้าที่ต้องทำงานอย่างเต็มที่ ด้วยมาตรฐานเดียวกัน ให้ความเป็นธรรม ไม่ปล่อยปละละเลย ประชาชนก็ขอให้ความร่วมมือด้วย เป็นผู้เฝ้าระวัง แจ้งความ เพราะว่าเป็นการดูแลพื้นที่ตัวเองให้ปลอดภัย การท่องเที่ยวจะได้ดีขึ้น ช่วยกันเป็นหูเป็นตาอย่าให้ใครเข้ามาสร้างสถานการณ์ จะทำให้ประเทศของเราเดินหน้าต่อไปไม่ได้ คนเหล่านี้ไม่ดีเลย ไม่ทราบว่าคิดอะไรกันอยู่
 
ในเรื่องคดีที่เกี่ยวกับสถาบันและการเมืองนั้น ก็ขอให้ใช้วิจารณญาณด้วย ถ้าเป็นคดีที่มีความผิดเราก็ละเว้นไม่ได้ต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย และขอความร่วมมือด้วย ทุกคนต้องช่วยกันลดความเกลียดชังกันลงไปด้วย ทั้งในสื่อ ในโซเชียลมีเดีย ช่วยกันลดลง วันนี้ได้มีการใช้โซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก ใช้โทรศัพท์ ใช้อะไรต่าง ๆ ซึ่งมีการส่งข้อความถึงกันตลอดเวลา อาจจะมากเป็นลำดับต้น ๆ ของโลกหรือของอาเซียนเลยด้วยซ้ำไป วันนี้ต้องดูแลกันให้ดี รัฐบาลไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะเข้าไปแทรกแซง เข้าไปดูในส่วนที่เป็นความลับของท่าน เว้นแต่ว่าท่านช่วยกันดูแลเอง ว่าไม่แพร่กระจาย ไม่ช่วยกันแพร่ในส่วนที่ไม่เหมาะสมออกไป ถึงเวลาก็ถูกดำเนินคดี ก็หาว่าเป็นคดีการเมืองหรือการรังแกของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่เลย เรามองทุกคนเป็นประชาชนทั้งสิ้น บางคนก็รู้ก็ทำ บางคนก็อาจจะทำทั้งที่ไม่รู้ ก็ต้องสอบสวนกันออกมาให้ได้ข้อชัดเจน
 
เพราะฉะนั้นระมัดระวัง ประชาชนอาจจะตกเป็นเหยื่อของคนไม่ดีเหล่านั้น ที่อาจจะมุ่งหวังจะทำลายชาติ ทำลายสถาบันฯ ทำลายความมั่นคงของรัฐในปัจจุบัน เรากำลังปฏิรูปอยู่ รัฐบาลสัญญาว่าจะทำอย่างเต็มที่ในการดำเนินคดีไม่ให้เกิดขึ้นอีก วันนี้ก็ต้องขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ทั้งตำรวจ ทหาร ฝ่ายข้าราชการพลเรือนต่าง ๆ ที่มีหน้าที่เหล่านี้ ต้องดูแลพื้นที่ของท่านให้ปลอดภัย ให้ประชาชนมีความสุข
 
หลายๆ เรื่องผมได้สั่งการไปแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการอยู่ ต้องจริงจังในการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน และรับฟังปัญหา ความคิดเห็นด้วย ผมเองก็ลงตรวจเยี่ยมพี่น้องประชาชนเพื่อจะรับฟังปัญหาต่าง ๆ ก็เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ มากบ้างน้อยบ้างผมรับได้ทั้งหมด เพราะเป็นความทุกข์ของประชาชน เป็นหน้าที่ของผู้นำประเทศ หน้าที่ของรัฐมนตรีคณะรัฐมนตรีทั้งหมดต้องนำมาแก้ไขด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความเหมาะสมและจริงจัง เพื่อจะให้ประเทศเดินหน้าไปได้ ประเทศเดินหน้าได้ประชาชนต้องเข้มแข็งมีรายได้ที่เพียงพอ
 
สำหรับวันทหารผ่านศึกที่ผ่านไปนั้น ผมได้อ่านข่าวเกี่ยวกับ พ.อ.พิชิตพล บุญดา อายุ 81 ปี อดีตทหารผ่านศึกที่มีจิตอาสาได้ไปช่วยกวาดถนนรอบ ๆ ชุมชนทำมากว่า 10 ปีแล้ว จนเพื่อนบ้านยกย่องให้เป็น “คนดีศรีชุมชน” ท่านกล่าวไว้ว่า จิตอาสานั้นเป็นมุมมองของแต่ละบุคคล บังคับกันไม่ได้ ก็อยากให้ทุกคนมีจิตอาสา เสียสละ ร่วมแรงร่วมใจ เพื่อจะทำให้สังคมน่าอยู่มากยิ่งขึ้น โดยเลือกทำในสิ่งที่ชอบ ทำแล้วสนุก ไม่เดือดร้อนคนอื่น สิ่งนี้ตรงกันข้ามกับบางคนที่ชอบทำเรื่องเดือดร้อนให้คนอื่น จะทำอย่างไรกัน ก็ขอฝากไว้เป็นตัวอย่างที่น่ายกย่องด้วย ให้เห็นว่าถ้าเราทุกคนนั้นสามารถช่วยเหลือสังคมได้ก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือ มีอะไรมากก็เผื่อแผ่แบ่งปัน ก็เป็นคนไทยด้วยกันทั้งสิ้น ต้องช่วยดูแลกัน ทั้งผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ผู้เข้าไม่ถึงทรัพยากรของรัฐ ความเท่าเทียมกัน ความเหลื่อมล้ำอะไรเหล่านี้ต้องช่วยรัฐบาล ช่วยในการแก้ปัญหา ทุกคนช่วยได้หมด มากบ้างน้อยบ้างก็ว่ากันไป ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนมีความสุข สวัสดีครับ

สื่อพบ 'วิษณุ' ห่วง พ.ร.บ.ไซเบอร์ ปิดโอกาสทำข่าวเชิงลึก-ละเมิดสิทธิ

ตัวแทนองค์กรสื่อหารือ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แสดงความกังวลร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ ที่ปิดโอกาสทำข่าวเชิงลึก และอาจละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
 
เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2558 ที่ผ่านมาสำนักข่าวไทยรายงานว่าตัวแทนองค์กรสื่อ อาทิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเรื่องข้อกังวลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติไซเบอร์ โดยนายจักรกฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติไซเบอร์ทั้ง 10 ฉบับ มีความเป็นห่วงใน 8 ฉบับ ในประเด็นที่เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่เดิมเคยยกเว้นการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลในสื่อมวลชนไว้ แต่ฉบับใหม่ได้ตัดข้อความนั้นออกไป ทำให้การทำข่าวในเชิงสืบสวนสอบสวนที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลส่วนบุคคลจะถูกปิดโอกาสในการทำข่าวประเภทนี้ได้
 
ด้านนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษาสมาคมผู้สื่อข่าวออนไลน์ กล่าวแสดงความเป็นห่วงเรื่องอำนาจหน้าที่ของร่าง พ.ร.บ.แต่ละฉบับที่เขียนไว้ใกล้เคียงกัน ในการเข้าไปตรวจค้น เข้าถึง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของเอกชน โดยไม่มีกระบวนการกลั่นกรอง ไม่ว่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทอรนิกส์ ที่ให้ กปช.มีอำนาจเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ทั้งโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ โดยไม่ต้องขอคำสั่งศาลและในกรณีที่ทำผิดกฎหมายอาญาอื่นๆ และเจ้าหน้าที่มีสิทธิแฮกข้อมูล ดักจับข้อมูล ยึดคอมพิวเตอร์ ยึดโทรศัพท์และยึดอุปกรณ์ โดยไม่ต้องขอหมายศาล แต่ได้เบาะแสว่าจะทำความผิด หรือตรวจพบว่ามีการไลน์คุยกัน เพื่อนัดกันทำผิดกฎหมาย สามารถยึดโทรศัพท์มาตรวจสอบได้ โดยไม่ต้องขอหมายศาล ซึ่งถือเป็นการให้อำนาจเกินขอบเขตของร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์
 
อีกทั้งเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่มีการฝึกอบรมด้านการบังคับใช้กฎหมาย จึงเห็นว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต และอาจกระทบต่อเสรีภาพของประชาชนที่ทำธุรกรรมต่างๆ รวมทั้งในกรณีที่เกิดปัญหา เอกชนไม่สามารถเอาผิดกับ กปช.ได้เลย จึงเกรงว่าร่าง พ.ร.บ.นี้ อาจสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจดิจิตอล ทำให้เอกชนไม่กล้ามาลงทุน เพราะกลัวจะถูกอำนาจรัฐเข้าแทรกแซงอำนาจเอกชน ด้วยเหตุนี้ จึงขอให้รัฐบาลทบทวนร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ นี้ให้ดีก่อน
 
ด้านนายวิษณุ กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติไซเบอร์ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งขณะนี้ยังมีเวลา 1-2 เดือนในการแก้ไขปรับปรุง โดยรัฐบาลยินดีรับฟังการท้วงติงและข้อเสนอแนะจากฝ่ายต่างๆ เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข

ไชโย..... เมืองไทยเราดีกว่าเดิม เพราะปฏิวัตินี่เอง



กรุงเทพโพลล์ 8 เดือนหลังรัฐประหาร ระบุผลสำรวจ 71% คิดว่าประเทศดีกว่าเดิม
กรุงเทพโพลล์สำรวจความเห็น “ประเทศไทยวันนี้เป็นอย่างไรหลังผ่าน 8 เดือน คสช.” ถามความเห็นประชาชนภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา คิดว่าประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 71.1 ระบุว่าดีขึ้นกว่าเดิม
 
7 ก.พ. 2558 กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ  ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ประเทศไทยวันนี้เป็นอย่างไรหลังผ่าน 8 เดือน คสช.” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,120 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 46.2 เห็นว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึกตลอดระยะเวลา 8 เดือนที่ผ่านมามีผลอย่างมากต่อบรรยากาศความสงบสุขของประเทศในปัจจุบัน ส่วนร้อยละ 35.3 เห็นว่ามีผลบ้าง ขณะที่ร้อยละ 16.5 เห็นว่าไม่มีผล
 
เมื่อถามว่า “เหตุการณ์ความไม่สงบ การวางระเบิดที่รถไฟ BTS สถานีสยาม และห้างพารากอน เป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อท้าทายกฎอัยการศึกใช่หรือไม่” ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.7 ระบุว่า “ใช่” ขณะที่ร้อยละ 20.9 ระบุว่า  “ไม่ใช่” และร้อยละ 28.4 ไม่แน่ใจ
 
นอกจากนี้เมื่อถามว่ากฎอัยการศึกยังจำเป็นสำหรับ คสช. และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการบริหารประเทศหรือไม่ ในสถานการณ์ปัจจุบัน ร้อยละ 70.4 เห็นว่ายังจำเป็น ในจำนวนนี้ร้อยละ 39.2 ให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการป้องกันการชุมนุมที่อาจเกิดขึ้นได้ และร้อยละ 31.2 เพราะยังมีการสร้างสถานการณ์ การวางระเบิด การก่อความไม่สงบ ขณะที่ร้อยละ 22.3 เห็นว่าไม่จำเป็น โดยร้อยละ 13.4 ให้เหตุผลว่าจะทำให้ดูไม่ดีในสายตาชาวต่างชาติ และร้อยละ 8.9 เห็นว่าจะกระทบต่อการท่องเที่ยว
 
สำหรับความเห็นต่อคำถามที่ว่า “ปัจจุบันบรรยากาศในชุมชนหรือจังหวัดที่ท่านอาศัย ยังมีความขัดแย้ง ความเห็นต่าง และการแบ่งฝ่ายทางการเมืองหรือไม่”  ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.9 เห็นว่ายังมีอยู่บ้าง  ขณะที่ร้อยละ 38.2 ไม่ค่อยเห็นเลย ส่วนร้อยละ 9.8 เห็นว่ายังมีเหมือนเดิม
 
เมื่อถามว่า “การที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่ จังหวัดนครราชสีมา และไม่มีคนต้าน จะเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการเลือกตั้งรอบหน้าว่าพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม จะสามารถหาเสียงได้ทั่วประเทศใช่หรือไม่ ” ส่วนใหญ่ร้อยละ 45.6 บอกว่า “ใช่” เพราะปัจจุบันความขัดแย้งลดลงมากจึงน่าจะสามารถหาเสียงทั่วประเทศได้ ขณะที่ร้อยละ 40.1 บอกว่า “ไม่ใช่” เพราะคิดว่าการต่อต้านการหาเสียงของฝ่ายตรงข้ามยังคงมีอยู่
 
สุดท้ายเมื่อถามว่า “ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านคิดว่าประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด” ส่วนใหญ่ร้อยละ 71.1 ระบุว่า “ดีขึ้นกว่าเดิม”  ขณะที่ร้อยละ 19.6 ระบุว่า “ยังเหมือนเดิม” และร้อยละ 6.9 ระบุว่า “แย่ลงกว่าเดิม”       

ศาลทหารอนุมัติหมายจับผู้ดูแลเว็บ ASTV ผู้จัดการออนไลน์กรณีแถลงการณ์ปลอมแล้ว

ศาลทหารอนุมัติหมายจับ ม.112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ผู้ดูแลเว็บไซด์ASTV ผู้จัดการออนไลน์แล้ว หลังโพสต์แถลงการณ์สำนักพระราชวังปลอมเผยแพร่ มอบตัวอังคารนี้
 
 
7 ก.พ. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่าศาลทหารอนุมัติหมายจับ นายนิรันดร์ เยาวภาว์ ผู้ดูแลระบบเว็บไซต์  ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 2 ข้อหา คือ ผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ แล้ว ตามคำร้องขอของพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หลังพบเป็น ผู้ดูแลระบบและเป็นผู้แชร์ภาพแถลงการณ์เท็จลงในเว็บไซต์
 
นายสุวัฒน์ อภัยภักดิ์ ทนายความ กล่าวว่าในวันอังคารนี้ จะพานายนิรันดร์ เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนปอท.ยอมรับเหตุดังกล่าวเกิดข้อบกพร่องของเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ได้เจตนาเมื่อความผิดเกิดขึ้น ได้ลบภาพดังกล่าวออกทันที และไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่ สน.ชนะสงครามและเข้าพบตำรวจ ปอท.ไปแล้วก่อนหน้านี้ พร้อมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทุกประการ
 
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายนิรันดร์ เยาวภาว์ ผู้ดูแลเว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการ ได้เข้าพบ ร.ต.ท.อภิชาติ กอนจันดา พงส.สน.ชนะสงคราม เพื่อลงบันทึกประจำวัน กรณีที่เมื่อวันที่ 2 ก.พ. เว็บไซต์ www.manager.co.th ได้เผยแพร่แถลงการณ์สำนักงานพระราชวัง ฉบับที่ 13 ซึ่งเป็นเอกสารแถลงการณ์ที่มีผู้ไม่หวังดีนำมาเผยแพร่ในโลกโซเซียลมีเดีย จนภายหลังทราบว่า เป็นเอกสารที่มีข้อมูลไม่เป็นจริง ทางผู้ดูแลเว็บไซต์จึงได้ทำการลบข้อมูลดังกล่าว และขึ้นประกาศขออภัยในความผิดพลาดในเวลาต่อมาและต่อมาทางผู้บริหารของ ASTV ผู้จัดการ ได้มีคำสั่งปลด นายนิรันดร์ ออกจากตำแหน่งผู้ดูแลเว็บไซต์ พร้อมหักเงินเดือนร้อยละ 50 ในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความผิดดังกล่าว

มอนิเตอร์ รธน. ประจำสัปดาห์ที่ 2-6 ก.พ. 2558

หมวด 7 ร่างเสร็จแล้ว ประเด็นการกระจายอำนาจ เปลี่ยนชื่อ ‘องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น’-‘องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น’, ให้มีคณะกรรมการแต่งตั้ง ขรก. ส่วนท้องถิ่น โดยระบบคุณธรรม และส่งเสริมให้มีสภาพลเมืองตรวจสอบการทำงาน

กลับมาอีกครั้งสำหรับการติดตามการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยสัปดาห์นี้มีการประชุมยกร่างกันเพียง 2 วัน เท่านั้น เนื่องจากมีการงดประชุม 3 วันติด ตั้งแต่วันที่ 2-4 ก.พ. 2558 โดยที่เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านได้มีการประชุมแม้น้ำ 5 สาย ครั้งที่ 2 เพื่อติดตามการทำงานของแต่ละภาคส่วน ภายใต้การดูแลรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดทั้งภายใน และภายนอกตัวอาคาร ที่สโมรสทหารบก 
ภายหลังจากการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ออกมาแถลงในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ร่างแรกต้องเสร็จภายในเดือนเมษายน นี้อย่างแน่นอน และอาจเร็วกว่ากำหนดด้วย เนื่องจากกรรมาธิการยกร่างฯ ต้องการทำให้เสร็จก่อนกำหนด เพื่อรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนให้รอบคอบ และหากทุกอย่างเป็นไปตามที่วางไว้ การทำงานทุกส่วนจะจบตามโรดแมป แต่จะฝากความหวังที่ตนเพียงตนเดียวไม่ได้ ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมโดยเฉพาะผู้ที่เห็นต่าง ที่ต้องยอมรับกระบวนการยุติธรรม การใช้กฎหมายต่าง ๆ ไม่ได้ไล่ล่าใคร สำหรับการเลือกตั้ง จะเกิดขึ้นในต้นปีหน้า ซึ่งต้องดูเรื่องกฏหมายลูกและกลไกลเตรียมพร้อมการเลือกตั้งด้วย
ขณะเดียวกัน บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้แถลงข่าวหลังการประชุมแม่น้ำ 5 สาย ว่า ในส่วนของการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมได้ซักถามความคืบหน้าการทำงานอย่างละเอียด ทั้งนี้ในที่ประชุมไม่ได้มีการพูดคุยถึงเรื่องการทำประชามติ แต่โดยส่วนตัวยังยืนยันเช่นเดิมว่าควรมีการทำประชามติ และตอนนี้ยังมีการเปิดรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายจนถึงวันที่ 23 ก.ค. ซึ่งเรื่องที่ผ่านการพิจารณาแล้วสามารถนำมาพิจารณาได้อีก
สำหรับการร่างรัฐธรรมนูญในช่วง 2 วันที่ผ่านมา (5-6 ก.พ.) ได้มีการร่างกันในประเด็น เรื่องการกระจายอำนาจ และการบริหารส่วนท้องถิ่น ประชาไทรวบรวมประเด็นสำคัญมานำเสนอ
5 ก.พ. 2558
เปลี่ยนชื่อเป็น ‘องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น’ เพื่อสอดค้องกับรูปแบบการบริหารที่หลากหลาย และกันผู้บริหารใช้อำนาจปกครองประชาชน
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกรรมาธิกายกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ในการประชุมกรรมาธิการวันนี้  ที่ประชุมได้มีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 7 การกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น โดยได้มีเปลี่ยนถ้อยคำ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เดิมในรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 มาใช้คำว่า “องค์กรบริหารท้องถิ่น” ให้สอดคล้องกับการบริหารงานตามความเป็นจริงที่ต้องมีรูปแบบการบริหารที่หลาก หลายเหมาะสมตามภูมิสังคมแต่ละพื้นที่ เพราะในความเป็นจริงการดูแลส่วนท้องถิ่นไม่ใช่การปกครองแต่เป็นการบริหาร ไม่มีนัยสำคัญเป็นพิเศษ เพียงแค่ต้องการจะสื่อความหมายให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ผู้ทำหน้าที่ผู้บริหารท้องถิ่นเข้าใจผิดและใช้อำนาจในทางปกครองประชาชน
ขณะเดียวกันก็จะทำให้การดำเนินการของผู้บริหารท้องถิ่นในอนาคตมีความใกล้ ชิด กับประชาชนในท้องถิ่นมากขึ้น ดังนั้น ในมาตรา 1 ของหมวดนี้จึงมีการกำหนดให้รัฐต้องให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรบริหารท้องถิ่น ตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น โดยให้มีรูปแบบองค์กรบริหารท้องถิ่นที่หลากหลาย เหมาะสมกับการบริหารจัดการตามภูมิสังคมแต่ละพื้นที่ รวมทั้งต้องกระจายอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ และต้องส่งเสริมให้องค์กรบริหารท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดบริการ สาธารณะตลอดจนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
นอกจากนี้ยังการมีกำหนดให้การจัดทำบริการสาธารณะใดที่ชุมชน หรือบุคคล สามารถดำเนินการได้โดยมีมาตรฐาน คุณภาพ และประสิทธิภาพไม่น้อยกว่า องค์กรบริหารท้องถิ่น รัฐ หรือองค์กรบริหารท้องถิ่น ต้องกระจายภารกิจดังกล่าวให้ชุมชน หรือบุคคลดังกล่าว ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสมทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งบทบัญญัตินี้จะทำให้ภาคเอกชน ชุมชน สามารถเข้ามาทำหน้าที่แทนรัฐ หรือองค์กรบริหารท้องถิ่นได้ในภารกิจบางอย่างเพื่อประโยชน์ของท้องถิ่นนั้นๆ
6 ก.พ. 2558
ให้มีการจัดสรรภาษี และรายได้ที่เหมาะสมกับ ’องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น’ แต่ละประเภท
วุฒิสาร ตันไชย โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาหมวด 7 การกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่นเสร็จสิ้นแล้ว โดยบัญญัติให้องค์กรบริหารท้องถิ่น มีการจัดสรรภาษีและรายได้ระหว่างรัฐกับองค์กรบริหารท้องถิ่นที่เหมาะสมกับ อำนาจหน้าที่ขององค์กรบริหารท้องถิ่นแต่ละประเภท
ส่งเสริมให้มีสภาพลเมือง มีส่วนร่วมในการทำงานส่วนท้องถิ่น และตรวจสอบการทำงาน
มีระบบตรวจสอบและประเมินผลการกระจายอำนาจ ซึ่งการกำกับดูแลองค์กรบริหารท้องถิ่นต้องกระทำตามกฎหมายเท่าที่จำเป็น และเป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น หรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม ขณะเดียวกัน กำหนดให้องค์กรบริหารท้องถิ่นมีหน้าที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยอย่างน้อยต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร รายงานผลการดำเนินงาน และรายงานงบการเงิน รวมถึงสถานการณ์คลังท้องถิ่นให้ประชาชนทราบ ตลอดจนส่งเสริมให้มีสมัชชาพลเมือง
ให้มีกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่น โดยระบบคุณธรรมในแต่ละจังหวัด
การบริหารงานบุคคลขององค์กรบริหารท้องถิ่น ต้องเป็นไปตามความเหมาะสมและจำเป็น โดยให้มีกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่น โดยระบบคุณธรรมในแต่ละจังหวัด เพื่อคุ้มครองข้าราชการส่วนท้องถิ่นจากการแทรกแซงของผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น
2 สัปดาห์หน้า ถกยาวเรื่องการปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง
คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในสัปดาห์หน้า จะเป็นการพิจารณาในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 1 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 1 - 2 สัปดาห์