วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เปิดโผ ครม.ยิ่งลักษณ์ ปรับใหญ่ กว่า 20 ตำแหน่ง ดึงบ้านเลขที่ 111 เสริมทัพ

เปิดโผ ครม.ยิ่งลักษณ์ ปรับใหญ่ กว่า 20 ตำแหน่ง ดึงบ้านเลขที่ 111 เสริมทัพ

ยิ่งลักษณ์นั่ง รมว.กลาโหมเอง ดึงบ้านเลขที่ 111 เสริมความแข็งแกร่ง ปรับยุทธศาสตร์สู่การเลือกตั้งใหม่ในอีก 2 ปี เปิดโผ ครม.ยิ่งลักษณ์ ปรับใหญ่ กว่า 20 ตำแหน่ง เตรียมศึกหนัก การเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และรับมือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เปิดสภา 1 ส.ค.นี้
26 มิ.ย.56 เนชั่นแชลแนล รายงาน  โผการปรับ ครม.ยิ่งลักษณ์ ครั้งนี้เป็นการปรับใหญ่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของรัฐบาล กับการบริหารประเทศ ในช่วงเวลา 2 ปีที่เหลือ โดยการดึงบ้านเลขที่ 111 ที่เพิ่งพ้นโทษแบน ทั้งจากพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล เข้าเสริมความแข็งแกร่ง และปรับยุทธศาสตร์สู่การเลือกตั้งใหม่ในอีก 2 ปีข้างหน้า และมีการประเมินว่ารัฐบาลต้องเตรียมศึกหนัก การเสนอร่างพ.ร.บ.ปรองดอง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และรับมือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลังเปิดสภาในวันที่ 1 สิงหาคมนี้
สำหรับรัฐมนตรี ที่คาดว่าจะถูกโยกย้ายสลับตำแหน่ง ปรากฏว่ามีชื่อ รองนายกฯ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่คาดว่าจะไปเป็นรมว.พาณิชย์ /รมว.กลาโหม พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต /รมว.พาณิชย์ บุญทรง เตริยาภิรมย์ /รมช.พาณิชย์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
นอกจากนี้ ยังมีรัฐมนตรีที่คาดว่าจะถูกปรับออกตามสัญญาใจ ประกอบด้วย รมว.มหาดไทย จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ / รมช.มหาดไทย พล.ต.ท.ชัชจ์ กุลดิลก / รมว.ยุติธรรม พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก / รมว.แรงงาน เผดิมชัย สะสมทรัพย์ / รมว.ทรัพย์ฯ ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข / รมว.พัฒนาสังคมฯ สันติ พร้อมพัฒน์ / รมช.คมนาคม ประเสริฐ จันทรรวงทอง / รมช.อุตสาหกรรม ฐานิสร์ เทียนทอง / รมว.วิทยาศาสตร์ วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล และ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ศันสนีย์ นาคพงศ์ ซึ่งคาดว่าจะสลับนายณัฐวุฒิ มาเป็นรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกฯ แทน
มีรายงานว่า สำหรับโควตา รัฐมนตรีที่จะเข้ารับตำแหน่งใน ครม.ครั้งนี้ ปรากฏว่ามีรายชื่อของ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ (โควต้า คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์) / พล.ต.ท.ชิดชัย วรรณสถิตย์ (กลุ่มตำรวจเพื่อนทักษิณ สายจันทร์ส่องหล้า) / นายจาตุรนต์ ฉายแสง (อดีตบ้านเลขที่ 111) / นายไชยา พรหมา (แกนนำกลุ่มอีสาน) / นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ (กลุ่มอ้ายยงยุทธ) มีชื่อของแกนนำ นปช. นายจตุพร พรหมพันธุ์ / นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี ที่จะเข้ามาเป็น รมช.คมนาคม / นางสิริกรณ์ มณีรินทร์ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีศึกษาธิการ / นายสรวงศ์ เทียนทอง ลูกชายป๋าเหนาะ เสนาะ เทียนทอง แกนนำพรรค เข้ามาเป็นรมช.อุตสาหกรรม และที่น่าสนใจมีชื่อของ พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต เข้ามาเป็นรัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งมีศักดิ์เป็นพ่อของแฟนสาว ของพานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายอดีตนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ / นายโภคิน พลกุล มือกฎหมายของพรรคเพื่อไทย และจะเข้ามาช่วยงานกฎหมายทั้งหมด โดยรายชื่อทั้งหมดได้เข้ากรอกประวัติ เรียบร้อยแล้ว
มีรายงานด้วยว่า ในส่วนของโควตาพรรคร่วมรัฐบาล มีชื่อของ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ขอเก้าอี้รัฐมนตรีอุตสาหกรรม และมีชื่อของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา จากพรรคภูมิใจ หลังมีสัญญาใจกับ เจ๊แดง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ในการเข้าร่วมรัฐบาล เพื่อปรับครม.ครั้งล่าสุด ติดโผเข้ามาด้วย 
เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่ามีรายงานข่าวแจ้งว่า ในช่วงดึก การจัดโผ ครม. “ปู 5” ลงตัวแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามและเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว ตำแหน่งที่มีการปรับเปลี่ยน อาทิ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นั่งควบ รมว.กลาโหม พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็น รมช.กลาโหม นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็น รมว.พาณิชย์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็น รมว.ศึกษาธิการ นายชัยเกษม นิติศิริ อดีตอัยการสุงสุด เป็น รมว.ยุติธรรม พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นรองนายกรัฐมนตรี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็น รมว.แรงงาน นางปวีณา หงสกุล เป็น รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางเบญจา หลุยเจริญ รมช.คลัง นายสรวงศ์ เทียนทอง เป็น รมช.สาธารณสุข ส่วนนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา พ้นจาก รมว.ศึกษาธิการ คงเหลือรองนายกรัฐมนตรีตำแหน่งเดียว


“การเมือง” ในชื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

“การเมือง” ในชื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

เมื่อเรากล่าวคำว่า “ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” เราไม่สามารถแยกแยะได้ใช่หรือไม่ว่า คณะไหนควรจะเป็นคนสอน นิติศาสตร์  รัฐศาสตร์  สายวิทยาศาสตร์หรือ สุขศาสตร์ ? หากแต่น่าจะเป็นภารกิจของทุกคณะในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เช่นเดียวกับที่เราต้องการจะปลูกฝังคุณลักษณะของบัณฑิตธรรมศาสตร์ให้มี “จิตวิญญาณธรรมศาตร์” เราก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะใคร หรือคณะไหน หากแต่ควรเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่กอปรขึ้นเป็นธรรมศาสตร์ได้หล่อหลอมจิตวิญญาณนี้ให้กับชาวธรรมศาตร์
การออกมาคัดค้านการเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ด้วยเหตุผลว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ได้จัดการสอนเฉพาะด้านสังคมศาสตร์อีกต่อไปแล้ว ทำให้คณะอื่นๆ จะรู้สึกถึงการเลือกปฏิบัติ   และ คำว่า “การเมือง” อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด เกิดผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยเมื่อมีสถานการณ์ทางการเมือง และทำให้มหาวิทยาลัยอื่นที่เปิดสอนด้านรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์โดดเดี่ยวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพราะประกาศเป็นมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นอยู่เพียงแห่งเดียว
โดยความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า ข้อเสนอข้างต้นยกเหตุผลที่จำกัดอยู่กับถ้อยคำของภาษา มองภาษาแบบหยุดนิ่งตายตัวและไม่เชื่อมโยงกับความหมายทางสังคมอยู่มาก
ประการแรก  “การเมือง” ไม่ใช่เรื่องเฉพาะจำกัด แต่ในคณะรัฐศาสตร์ หรือนิติศาสตร์เท่านั้น หากแต่การเมืองเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน  เป็นเรื่องของคนทุกคนทั้งในฐานะผู้แสดง และผู้ร่วมในสถานการณ์  จะเห็นได้ว่าการออกมาให้ความเห็นต่อสาธารณะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองของคนธรรมศาสตร์ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะคณะ   เช่น อาจารย์สมศักดิ์ คณะศิลปศาสตร์ที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบัน    กลุ่มอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ที่ลงชื่อไม่เห็นด้วยกับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล   อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี อดีตอาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ที่เคยออกมาวิจารณ์รัฐบาลเป็นประจำทุกปี  ศิษย์เก่าของคณะวารสารศาสตร์ ที่คัดค้านการใช้สถานที่มหาวิทยาลัยเคลื่อนไหวเกี่ยวกับมาตรา 112  หรือแม้แต่ตอนเหตุการณ์ขับไล่รัฐบาลทักษิณก็มีรายชื่อคณาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ร่วมอยู่ด้วย (ดู  การประท้วงขับทักษิณ ชินวัตรออกจากตำแหน่ง http://th.wikipedia.org/wiki) การเมืองในความหมายปัจจุบันถูกทำให้กลายเป็นเรื่องผลประโยชน์ และจำกัดอยู่กับเฉพาะการเมืองในระบบรัฐสภา ทำให้การเมืองเป็นเรื่องสกปรกไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้เสียภาพลักษณ์ วิธีคิดแบบนี้นอกจากจะทำให้เกิดความเฉยชาทางการเมืองแล้ว ยังลดทอนการทำหน้าที่ของอาจารย์มหาวิทยาลัยเหลือเพียงการสอนตามตัวชี้วัดที่จะได้คะแนนตามเกณฑ์การประกันคุณภาพการศึกษา และเพิกเฉยต่อความเป็นไปของบ้านเมือง
ประการที่สอง ชื่อ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ชื่อ และความหมายของถ้อยคำที่ใช้ประกอบกันเป็นรูประโยค แต่ชื่อหมายถึงเอกลัษณ์ ที่ต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น เป็นความเหมือนกันในความแตกต่างของคนธรรมศาสตร์  ชื่อจึงเป็นระบบสัญญะที่เมื่อเอ่ยชื่อแล้วทำให้เห็นภาพเสมือนของเรื่องราวมากมายที่มีประวัติศาสตร์ มีรากเหง้าของความคิด วัฒนธรรม บุคลิกลักษณะของคนที่รวมกันเป็นประชาคมธรรมศาสตร์ ฉะนั้นความหมายของชื่อจึงไม่ได้ประกอบสร้างขึ้นจากถ้อยคำ หากแต่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวโยงสืบเนื่อง กับความทรงจำร่วมกันของสังคม ทั้งความสัมพันธ์ของคนในธรรมศาสตร์ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลา  6 ตุลา  เหตุการณ์เดือนพฤษภา 35 และ53 ทั้งปรีดี ป๋วย สัญญา  หรือแม้แต่อธิการบดีอีกหลายคนของธรรมศาสตร์ทั้งอดีตและปัจจุบัน กระทั่งถึง “คณะราษฏร์”  “คณะนิติราษฏร์”   “สมศักดิ์ เจียม” เหล่านี้มันเชื่อมโยงกับความทรงจำร่วมที่มีต่อประวัติศาสตร์ของคำว่า “การเมือง” ของคนธรรมศาสตร์ และกลายเป็นบุคคลิกเฉพาะของมหาวิทยาลัยที่ยืนอยู่เคียงข้างประชาชนในเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งกำลังค่อยๆ เสื่อมถอยลงในปัจจุบัน
ประการที่สาม  การผลิตสร้าง ความเป็นธรรมศาสตร์ หรือจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากเราไม่รื้อฟื้น กระตุ้นเตือน “ความทรงจำร่วมกัน”  ให้เกิดต่อสถานที่  ต่อแบบแผนการประพฤติปฏิบัติของคนในธรรมศาตร์  ตลอดจนซึมซับเข้าไปในการเรียนการสอน ของอาจารย์- นักศึกษาธรรมศาสตร์  ความทรงจำร่วมกันจะเกิดขึ้นได้เมื่อมันผูกโยงเข้ากับระบบสัญลักษณ์ ที่ผลิตสร้างความหมายผ่านการกระทำของคนในธรรมศาสตร์ ถ้าระบบสัญลัษณ์เหล่านี้ถูกทำลายลงไปเรื่อย ๆ ความเป็นธรรมศาสตร์ หรือจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ย่อมสูญสลาย การสูญสลายนี้ไม่ได้หมายถึงสัญลักษณ์ความเป็นธรรมศาตร์สูญสลาย แต่มันหมายถึง จิตวิญญาณ ที่มันมีความทรงจำร่วมกัน  ดังคำกล่าวของ เปลื้อง วรรณศรีที่ว่า  “หากขาดโดมเจ้าพระยา ท่าพระจันทร์ ก็เหมือนขาดสัญลักษณ์พิทักษ์ธรรม”  ด้วยเหตุนี้  จึงต้องตัดคำว่าการเมืองออกจากชื่อมหาวิทยาลัย ในสมัยเผด็จการทหาร หรือแม้แต่  เพลงประจำมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ทำนองมอญดูดาว)ที่มีเนื้อความว่า   "ไทยจะเฟื่อง ไทยจะรุ่งเรือง ก็เพราะการเมืองดี"  ก็ถูกแทนที่ด้วย เพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง  การกลับมาใช้ชื่อมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากต่อการสร้าง สำนึกร่วมกันของคนในธรรมศาสตร์ สืบทอดผลิตซ้ำอุดมการณ์ของคณะราษฏร์ ของผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ให้สังคมรับรู้
เหตุผลของการคัดค้านการเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยเป็น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ของกลุ่มที่เรียกตนเองว่า “ผู้แทนประชาคม มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์”  จึงลดทอน และเปลี่ยนความหมายของคำว่า “การเมือง” ซึ่งเดิมเป็นการเมืองที่ยึดโยงอยู่กับประชาชน  ยึดโยงอยู่กับคนเล็กคนน้อยในสังคม  อันเป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ให้เหลือเพียงการเมืองในระบบภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้ง และทำให้ความหมายของมหาวิทยาลัยเป็นเพียงสถาบันที่ทำหน้าที่สอน ผลิตงานวิชาการ ที่มีลักษณะแข็งทื่อตายตัว เกาะกุมอยู่กับความหมายองค์กร สถาบัน และภาพลักษณ์ที่ตื้นขืนภายใต้ความขลาดกลัวผลกระทบอันอาจจะเกิดขึ้นจากคำว่า “การเมือง” 


ไต่สวนการตาย ‘ถวิล’ ศพแรก 19 พ.ค. ‘3นายพัน’ เบิกยันไม่มีการใช้กระสุนจริง

ไต่สวนการตาย ‘ถวิล’ ศพแรก 19 พ.ค. ‘3นายพัน’ เบิกยันไม่มีการใช้กระสุนจริง

24 มิ.ย.56 ที่ห้องพิจารณาคดี 909 ศาลอาญา รัชดา นัดไต่สวนคำร้องชันสูตรพลิกศพเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต คดีหมายเลขดำที่ อช.3/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนการเสียชีวิตของ นายถวิล คำมูล อายุ 38 ปี อาชีพรับจ้าง แนวร่วมกลุ่มประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ถูกกระสุนปืนลูกโดดที่ศีรษะทะลุเข้ากะโหลกศีรษะทำให้เนื้อสมองฉีกขาดมากชีวิตบริเวณแยกสารสิน ถนนราชดำริ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553  ในเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร สมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
 โดยในวันนี้อัยการได้นำพยานจำนวน 3 ปาก ประกอบด้วย พ.อ.โกญจนาท ธูปเทียนรัตน์ เสนาธิการกรมทหารม้าที่ 5 รักษาพระองค์, พ.ท.ณัฐพงศ์ บัวจันทร์ รองเสนาธิการ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์, พ.ท.จิรภัทร เศวตเศรณี หัวหน้าฝ่ายส่งกำลังบำรุง กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ขึ้นเบิกความสรุปว่า  เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 ขณะนั้นพยานทั้งสามซึ่งเป็นผู้นำหน่วยทหาร ได้นำกำลังทหารขอคือพื้นที่จากกลุ่ม นปช. บริเวณถนนวิทยุและอาคารเคี่ยนหงวน ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ซึ่งจากการตรวจสอบภายในอาคารเคี่ยนหงวนพบกลุ่มผู้ต้องสงสัยประมาณ 10-20 คน จึงได้ตรวจค้นภายในตัวไม่พบอาวุธ แต่จากการตรวจสอบภายในอาคารพบอาวุธปืนเอ็ม 16 และ HK ประมาณ 3 กระบอก จึงได้นำตัวผู้ต้องสงสัยส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี จากนั้นเป็นเรื่องของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ
พยานเบิกความด้วยว่าทราบว่ามีกองกำลังติดอาวุธ แต่ไม่ทราบฝ่ายอยู่ในพื้นที่บริเวณสวนลุมพินีด้วย ทั้งนี้จุดที่พยานได้นำกองกำลังทหารเคลื่อนพลนั้นไม่ได้มีเหตุการณ์ปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมแต่อย่างใด  และยืนยันว่าการปฏิบัติการดังกล่าวทหารใช้เพียงอาวุธปืนลูกซองและกระสุนยางโดยการยิงขึ้นฟ้าขู่ผู้ชุมนุมเท่านั้น  ไม่มีการใช้กระสุนปืนจริงแต่อย่างใด อีกทั้งการใช้กระสุนจริงจะต้องขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นก่อน ส่วนปฏิบัติการกระชับพื้นที่ 19 พ.ค. นั้น พยานไม่ทราบว่ามีผู้เสียชีวิต แต่ได้รับทราบจากข่าวสารในเวลาต่อมา
ภายหลังพยานเบิกความแล้วเสร็จ ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไปในวันที่ 29 ก.ค. นี้ เวลา 09.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศภายในห้องพิจารณาคดี มีเจ้าหน้าที่ทหารกว่า 20 นาย ได้เข้าร่วมรับฟังการไต่สวนและมาให้กำลังใจผู้บังคับบัญชา แต่ไม่มีญาติฝ่ายผู้เสียชีวิตเข้าฟังการไต่สวนแต่อย่างใด
ด้านนายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความญาติผู้เสียชีวิต กล่าวว่า สำหรับการไต่สวนนัดนี้เป็นนัดที่ 2 ซึ่งอัยการได้นำเจ้าหน้าที่ทหารผู้นำหน่วยในการกระชับพื้นที่บริเวณถนนวิทยุและอาคารเคี่ยนหงวน ขึ้นเบิกความ แต่พยานไม่ได้อยู่บนถนนสารสินจึงไม่เห็นผู้ตายและไม่ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงไม่ค่อยมีผลต่อรูปคดีมากเท่าใด
สำหรับถวิล คำมูล เขาถูกยิงเวลาประมาณ 7.30 น. วันที่ 19 พ.ค.53 บริเวณป้ายแท็กซี่อัจฉริยะ ใกล้สี่แยกศาลาแดงถนนราชดำริ ถือเป็นศพแรกของวันที่ 19 พ.ค.53 โดยผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือหลายคนถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส(คลิกดูอัลบั้มภาพชุดเหตุการณ์ต่อเนื่องที่ “หงส์ศาลาแดง” และ คลิกดูภาพเคลื่อนไหว ) แต่ก็ไม่มีใครนำร่างถวิลไปส่งโรงพยาบาลได้ จนกระทั่งถูกหน่วยกู้ชีพที่มากับเจ้าหน้าที่ทหารที่เข้ามาทางศาลลาแดงนำร่างไป พร้อมกับร่างของชายไม่ทราบชื่อถอดเสื้อนอนเสียชีวิตจากการถูกยิงที่ศีรษะบริเวณเต๊นท์ผู้ชุมนุมใกล้ร่างของถวิล (คลิกอ่านเรื่องของชายไม่ทราบชื่อ) โดยขณะเกิดเหตุทหารกำลังเข้าพื้นที่ดังกล่าวอย่างน้อย 2 ทาง คือ บริเวณแยกศาลาแดง ซึ่งอยู่ไม่ไกลไปทางด้านหลังป้ายแท็กซี่อัจฉริยะนั้น และทางด้านสวนลุมพินี ซึ่งอยู่ทางซ้ายของภาพ
ภาพ : ถวิล คำมูลก่อนและหลังถูกยิง ภาพโดย หงส์ศาลาแดง 
ทั้งนี้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2554 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ได้ชี้แจงต่อรัฐสภากรณีการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในวันที่ 19 พ.ค.53 ว่าชายดังกล่าวเสียชีวิตก่อนหน้าการปฏิบัติการของทหารเนื่องจากเลือดได้แห้งหมดแล้ว โดยนายสุเทพ ระบุว่า “.. มีคนเสียชีวิตจริงๆ 6 คน นับรวมคนที่เสียชีวิตมาก่อนตอนที่เราเข้าไปถึงตอน 7-8 โมงเช้า เห็นนอนอยู่แล้ว ที่ข้างเต๊นท์ที่สวนลุมพินีเลือดแห้งหมดแล้ว 2 คนด้วย.." (คลิกดูวิดีโอคลิปอภิปรายดังกล่าวในนาทีที่ 1.25.12 ประกอบ)
ถวิล ถูกยิงก่อนหน้าที่นายฟาบิโอ โปเลนกี ช่างภาพชาวอิตาลี จะถูกยิงเสียชีวิตในบริเวณใกล้เคียงกัน ซึ่งในคดีนายฟาบิโอนั้น เมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสังว่าเขาเสียชีวิตจากกระสุนที่มาจากฝั่งทหาร อย่างไรก็ตาม ศาลระบุว่า ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ (คลิกคำสั่งชันสูตรพลิกศพ นายฟาบิโอ โปเลงกีคดีหมายเลขดำที่ ช.10/2555)

โจทย์ใหม่ เหลือง-แดง และการเมืองแบบศีลธรรม

ปาฐกถา เกษียร เตชะพีระ: โจทย์ใหม่ เหลือง-แดง และการเมืองแบบศีลธรรม


26 มิ.ย.56 ที่ห้องสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ มีพิธีมอบรางวัลกีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2555 แก่ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยรางวัลดังกล่าวมีการมอบเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย และจะมีปาฐกถาจากกีรตยาจารย์ ในปีนี้มีขึ้นในหัวข้อ โจทย์การเมืองไทยที่เปลี่ยนไปสองทศวรรษจากพฤษภาฯ 2535 ถึงปัจจุบัน
เกษียร กล่าวว่าปาฐกถานี้จะนำเสนอว่า ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โจทย์การเมืองไทยเปลี่ยนไปอย่างไร มีความพยายามหาคำตอบอย่างไรบ้าง หรือไม่หา ไม่เห็นโจทย์นั้นอย่างไรบ้าง โดยแบ่งหัวข้อออกเป็น 4 ข้อหลัก คือ  1.บริบทความคิดการเมืองหลังพฤษภา 35 -45 อะไรคือโจทย์หลัก ความพยายามหาคำตอบเป็นอย่างไร 2) อะไรคือโจทย์ใหญ่ทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือกลุ่มเสื้อเหลือง 3)อะไรคือโจทย์ใหญ่ทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงและแนวร่วม 4) ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและศีลธรรม
เขาอธิบายด้วยว่า การพูดครั้งนี้ไม่ใช่ original research แต่เป็นการนำข้อค้นพบทางวิชาการที่ค่อนข้างใหม่ในช่วง 2-3 ปีนี้จำนวนหนึ่งนำมาสังเคราะห์ โดยชิ้นที่สำคัญ คือ 1. งานศึกษา ความคิดทางสังคมการเมืองของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล โดย พัชราภา ตันตราจิน อาจายร์จากม.บูรพา เนื่องจากเห็นว่า ความคิดของเสกสรรค์สะท้อนโจทย์การเมืองในทศวรรษหลัง 2535 ได้ดีที่สุด 2) วิทยานิพนธ์ของ อุเชนทร์ เชียงเสน เรื่อง ประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชน : ความคิดและปฏิบัติการของนักกิจกรรมทางการเมืองปัจจุบัน โดยเน้นที่ระบบคิด วิธีคิดของกลุ่มคนที่เรียกว่า พธม.  3) งานวิจัยชื่อ ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย เป็นการวิจัยที่เกิดขึ้นหลังเห็นความขัดแย้งทางเมืองอย่างดุดเดือนในช่วงหลัง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เรียกว่า คนเสื้อแดง อาจารย์จากหลายสถาบันได้มารวมกันเป็นทีมวิจัยเพื่อวิเคราะห์ว่า ภูมิทัศน์ของการเมืองไทยเปลี่ยนไปอย่างไร 4) งานนักวิชาการชาวออสเตรเลีย Andrew Walker ในงานชื่อว่า Thailand’s Political Peasants : Power in the Modern Rural Economy
โดยสรุป เกษียรกล่าวถึงโจทย์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากพรรคไทยรักไทยเข้ามาเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองไทย โดยเริ่มนโยบายที่ให้ประโยชน์รูปธรรมกับประชาชนรากหญ้า หลังจากเกิดรัฐประหารและเกิดการเมืองสองขั้วอย่างชัดเจน ฝ่ายเสื้อเหลืองชูปัญหาใหญ่ของทุน แต่คำตอบของกลุ่มนี้ยังคงวนไปที่เผด็จการทหาร พระบารมี ขณะที่เสื้อแดงไม่ให้ความสำคัญของปัญหาทุน ทั้งที่เป็นปัญหาที่สำคัญและเป็นเนื้อเดียวกับการเมืองมากขึ้น กลุ่มวิชาการที่มีอิทธิพลต่อขบวนการเสื้อแดงอย่างนิติราษฎร์เองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม แนวทางของกลุ่มเสื้อเหลืองก็เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าไม่ใช่คำตอบ นอกจากไม่แก้ไขปัญหาเก่ายังสร้างปัญหาใหม่ เพราะการในสถานการณ์ที่ชนบทเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก (ไม่โง่ ไม่จน ไม่เจ็บ) เราไม่สามารถหดประชาธิปไตยให้เล็กลงได้ มีแต่ต้องขยายออก หากหดหรือลดทอนอำนาจผู้เลือกตั้งก็จะเกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง นอกจากนี้เขายังพูดถึงข้อถกเถียงร่วมสมัยเกี่ยวกับการเมืองกับศีลธรรมด้วย โดยให้ความเห็นว่า ทั้งสองสิ่งเป็นไปด้วยกันได้ในเงื่อนไขของสังคมเปิด และการยอมรับความหลากหลายของแนวคิดทางศีลธรรม เพื่อสร้างสังคมการเมืองที่แข็งแรง แต่สังคมการเมืองไทยดูเหมือนไม่อยู่ในสภาพเช่นนั้น
 
สำหรับรายละเอียดของปาฐกถา มีดังนี้

2535-2545: ปัญหาอยู่ที่นักเลือกตั้ง คำตอบอยู่ที่ภาคประชาชน

วิกฤตในทางการเมืองและเศรษฐกิจไทยช่วงนั้น คือ วิกฤตรัฐประหาร รสช.-การลุกฮือในปี 2535 กับวิกฤติต้มย้ำกุ้ง
ในแง่ของวิกฤตทางการเมือง ข้อวิเคราะห์ของคนจำนวนมากชี้ไปทางเดียวกันว่า มูลเหตุของปัญหาคือ นักเลือกตั้ง ระบอบเลือกตั้งธิปไตย หรือการเสื่อมรูป กลายรูปของระบอบประชาธิปไตยที่ไปเน้นที่อำนาจของคนที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วไปตัดองค์ประกอบอื่นของระบอบเสรีประชาธิปไตยทิ้งไป ทำให้การเมืองมีปัญหา คอรัปชั่น การฉวยใช้อำนาจ คำตอบที่ได้ช่วงนั้นคือ การเมืองภาคประชาชน หรือการเมืองที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีโอกาสตัดสินใจมากขึ้นแทนที่จะพึ่งพาแต่นักการเมือง
ในแง่ของวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง มีการวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงบทบาทเจ้าของเงินกู้อย่างไอเอ็มเอฟ และสังคมชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า วิกฤตนี้เกิดขึ้นเพราะไทยเข้าสู่ระเบียบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์แบบไม่พร้อม ขาดประสบการณ์ คำตอบสำหรับยุคสมัยนั้นก็หันไปพึ่งเศรษฐกิจแบบอื่น ในนามเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจพอเพียง
รัฐบาลที่กินได้สมัยทักษิณ และความเสื่อมของรัฐชาติในระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์
ในช่วงท้ายของทศวรรษนี้ รัฐบาลทักษิณได้ทำให้ภูมิทัศน์การเมืองเศรษฐกิจเปลี่ยน ในแง่การเมือง รัฐบาลทักษิณดำเนินนโยบายให้ความสำคัญกับระบบตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ดำเนินนโยบายบางอย่างที่สนองตอบต่อผลประโยชน์รูปธรรมโดยเฉพาะของชนบทอย่างไม่เคยมีมาก่อน คำตอบใหม่ของรัฐบาลทักษิณที่เสนอ คือ รัฐบาลแบบตัวแทนที่กินได้  ในแง่เศรษฐกิจ มุ่งเปิดนโยบายประชานิยมจำนวนมาก นำโอกาสและทุนไปถึงประชาชนรากหญ้า ผลักดันพวกเขาเข้าไปต่อสู้ในตลาดทุนนิยม ซึ่งก็สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน แสดงออกโดยการชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นของพรรคไทยรักไทย
เมื่อพ้นระยะนั้น มีความขัดแย้งที่นำไปสู่การรัฐประหาร แบ่งเป็นฝักฝ่ายเสื้อเหลือง เสื้อแดง หากนำงานของเสกสรรค์มาวาง  โดยเฉพาะงานวิจัยที่ได้ทุนปรีดี พนมยงค์ ของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย ตีพิมพ์ปี 2548 จะพบว่ามีเรื่องสำคัญในงานของเขาที่คนไม่ค่อยมองหรือให้ความสำคัญนัก คือ การพูดถึงปัญหาหลักของการเมืองเศรษฐกิจไทยว่ามาจากอำนาจทุน ซึ่งมีที่มาจากทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ทำให้อำนาจอธิปไตยของรัฐชาติทั้งหลายเสื่อมโทรมลง มีข้อกำหนดนโยบายหลายอย่างที่รัฐชาติไม่สามารถควบคุมได้เหมือนแต่ก่อน ผลดังกล่าวทำให้หลักการสำคัญ 2 อย่างทางการเมืองเสื่อมไปด้วย คือ Political Consensus ความเห็นพ้องต้องกันในหมู่ประชาชนในสังคมอย่างกว้างขวาง และหลัก Political Consent ฉันทานุมัติที่คนทั้งหลายยอมรับรัฐบาลให้ปกครอง
ในสภาพที่สังคมมีความเห็นพ้องต้องกันทางการเมืองน้อยลง ความยอมรับทางการเมืองก็เสื่อม ปรากฏการณ์หน้ากากขาว ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่เขาแสดงออกมาว่าไม่อยากให้รัฐบาลปกครองอย่างชัดเจน อาการเหล่านี้นำไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองเรื้อรัง รัฐบาลไม่มั่นคงเสียที เพราะรัฐภายใต้ทุนนิยมโลกาภิวัตน์แบบนี้จะขาดพร่องความชอบธรรมทางการเมือง ขาดพร่องฉันทามติภาคส่วนต่างๆ เดินแนวนี้อาจมีกลุ่มคนเห็นด้วย แต่ก็มีคนเสียประโยชน์ที่คัดค้าน 

อะไรคือโจทย์ใหญ่ของเสื้อเหลือง – เสื้อแดง

ปัญหาอำนาจทุนที่นำไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองภายใต้ระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์นั้น หากดูข้อเสนอทางหลักการ น้ำเสียงของบรรดาผู้นำ ปัญญาชน ผู้เข้าไปเกี่ยวพันกับพันธมิตรฯ จะเห็นว่าเขาเห็นปัญหาอำนาจทุนชัดเจน แต่ฝั่ง นปช.และเสื้อแดงไม่ให้น้ำหนักกับปัญหาอำนาจทุนเท่าไรนัก ที่ชัดเจนที่สุด คือกลุ่มนิติราษฎร์
ปัญหาอำนาจทุน เหลืองเห็น-แดงไม่เห็น
“ในความเห็นของผม นิติราษฎร์คือกลุ่มปัญญาชนที่ใกล้ชิด และมีอิทธิพลอย่างชัดเจนมากในการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง ก่อนหน้านั้นความเข้าใจของผมคือ กลุ่มเสื้อแดงเหมือนลูกกำพร้า อาจมีแนวร่วมนักธุรกิจ แนวร่วมนักการเมือง มีมวลชนเยอะ แต่ไม่ค่อยมีปัญญาชนที่ไปสนับสนุน ให้ความคิด แนะนำให้คำปรึกษากับขบวนการเสื้อแดงสักเท่าไร การเกิดขึ้นของนิติราษฎร์เข้าไปอุดช่องว่างตรงนี้ เล่นบทบาทเหมือนเสนาธิการทางปัญหาของขบวนการเสื้อแดง มีข้อคิด ข้อวิเคราะห์ เช่น การยกเลิกผลพวงรัฐประหาร การแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 แต่ข้อเสนอประดามีของคณะนิติราษฎร์มันจบแค่มิถุนายน ถึง ธันวาคม 2475 เป็นข้อเสนอที่พัวพันกับปัญหาอำนาจรัฐและเครือข่ายอำมาตย์ ..... แต่ข้อเสนอของนิติราษฎร์ยังไม่ถึงช่วงที่อาจารย์ปรีดี เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจด้วยซ้ำ ซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปเศรษฐกิจสยามขนานใหญ่ กำเนิดมาจากวิกฤตการตกต่ำของทุนนิยมทั่วโลกอย่างหนักเมื่อปี  ค.ศ.1929 ปัญหานี้ไม่ปรากฏในครรลองความสนใจ การวิเคราะห์ปัญหาของนิติราษฎร์เลย ทำให้มีช่องโหว่ที่น่าสนใจในเรื่องอำนาจทุน ทั้งที่อำนาจทุนเริ่มสำคัญขึ้นเรื่อยๆ และเป็นเนื้อเดียวกับอำนาจรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ”
ขณะที่แดงไม่ให้ความสำคัญ แต่ฝ่ายเหลืองเห็นว่าปัญหาของทุนเป็นเรื่องสำคัญ สังเกตดูคำอภิปรายของกลุ่มสยามประชาภิวัตน์ นักวิชาการที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของ พธม. แต่วิธีแก้ปัญหาของกลุ่มนี้ในที่สุดก็วนกลับไปที่อำนาจเผด็จการทหาร หรือไม่ก็เสนอให้มีอำนาจพิเศษ วิธีพิเศษ พึ่งพระบารมี วิธีดังกล่าวชัดเจนมากจากประสบการณ์ที่ผ่านมาว่ามันไม่เวิร์ค นอกจากจะไม่แก้ปัญหาเก่าแล้วยังเพิ่มปัญหาใหม่ด้วย
ชนบทเปลี่ยน ไม่จน ไม่โง่ ไม่รอคอย
ในแง่กลับกันอะไรคือโจทย์ใหญ่ทางการเมืองของฝ่ายเสื้อแดง มีงานวิชาการจำนวนมากพยายามจะตอบ ซึ่งล้วนมองทิศทาง ชูประเด็นปัญหาใหม่ขึ้นมาใกล้เคียงกันว่า โจทย์ใหม่ทางการเมืองนี้ชัดเจนมากหลังรัฐประหาร และเกิดมีขบวนการเสื้อแดงปรากฏขึ้นมา ซึ่งสะท้อนว่า ชนบทกำลังเปลี่ยนอย่างสำคัญ และมุมมองต่อชนบทกำลังเปลี่ยน
ภาพเดิมชนบทคือสังคมการเกษตร ชาวนายากจน อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ขาดความรู้ ขายเสียง ทางออกจากเรื่องเหล่านี้ก็ยึดการเมืองภาคประชาชนเป็นทางออก เช่น การเคลื่อนไหวแบบสมัชชาคนจน และเศรษฐกิจพอเพียง แต่หลังรัฐประหาร 2549 งานวิชาการหลายชิ้นวาดภาพชนบทใหม่ คือ ไม่ใช่สังคมการเกษตรเป็นส่วนใหญ่อีกต่อไป  มีคนเลิกเป็นเกษตรมากขึ้นเรื่อยๆ , ส่วนใหญ่ของชาวนาเป็นผู้มีรายได้ปานกลาง อาจไม่เท่าชนชั้นกลางในกรุงเทพ แต่ไม่ได้ยากจนไม่พอกิน และมีความหวังว่าจะดีขึ้น แต่ปัญหาหลักคือยังมีผลิตภาพต่ำ ยากที่จะสร้างความมั่งคั่งทางรายได้ได้ การพยุงฐานะของพวกเขากระทำผ่านเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ซึ่งมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ  ไม่ว่าจะผ่านการกระจายอำนาจ งบ อปท. เงินช่วยเหลือฉุกเฉินต่างๆ  โครงการกระตุ้น-เสริมราคาพืชผลเกษตร หรือเรียกว่ามี  inverse resource flow จากเมืองย้อนสู่ชนบทผ่านงบประมาณของรัฐ ซึ่งดำเนินการเป็นมาระยะยาวนาน ดังนั้น ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องความยากจน แต่เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างชนบทกับเมือง หรือชนบทภูมิภาคต่างๆ
ข้อเสนอมุมมองใหม่ก็คือ สังคมชนไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์แบบเดิม ชาวนาไม่ได้แผ่หลารอคอย แต่ชาวนาฉลาดในการดึงอำนาจภายนอก ไม่ว่ารัฐ ทุน หรือวาทกรรมชุมชน มาตะล่อมใช้สนองผลประโยชน์ตัวเอง ดูดดึงเอาทรัพยากรเหล่านี้มาเพิ่มผลิตภาพตนเอง แล้วรู้จักใช้เงื่อนไขภายนอกให้เป็นประโยชน์กับตัว ไม่ได้เป็นเบี้ยล่างตลอด
หากจะบอกว่าชาวนาขาดความรู้ การศึกษา ภาพตอนนี้ก็เปลี่ยนไป มีชาวนาพันธุ์ใหม่ หรือ post-peasant บางคนเรียก cosmopolitan ผู้รอบรู้โลก บางคนเรียก extra local president ผู้เป็นสมาชิกหมู่บ้านที่ทำมาหากินในกรุงเทพฯ จังหวัดใหญ่หรือต่างประเทศ
หากจะบอกว่าชาวชนบทซื้อเสียง ภาพนี้ไม่ใช่ไม่จริง งานล่าสุดของประจักษ์ ก้องกีรติ ชี้ว่า เรื่องซื้อสิทธิขายเสียงทำกันทุกพรรค แต่ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาด สังคมการเมืองชนบทสามารถต่อรอง ตะล่อมอำนาจภายนอก และขัดแย้งตรวจสอบกันเองภายในตามธรรมนูญชนบท (วัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่น) เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการซื้อขายในร้านสะดวกซื้อ แต่มีกระบวนการที่เงินต้องไหลเข้าไปในพื้นที่สังคมการเมืองหนึ่งที่มีกฎเกณฑ์ของมัน แล้วชาวชนบทก็ต่อรองเพื่อเอาอำนาจภายนอกมาเพิ่มผลิตภาพของตัว
“มันแปลว่าเขาไม่มีศีลธรรมทางการเมืองเลยอย่างนั้นหรือ ไม่ใช่ เขาเลือก การซื้อต้องมีมารยาท การซื้อต้องมีวัฒนธรรม เขาเลือกระหว่างคนที่ซื้อแล้วหายหัวไปเลย กับคนที่ซื้อแล้วมาดูแลใส่ใจ ในทางกลับกัน อาจมองว่ามันไม่ใช่พื้นที่ว่างเปล่าที่ให้คุณไปช้อปปิ้งแล้วได้คะแนนเสียงมา เป็นพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมการเมืองของตัวเองและสนองตอบ ตอบโต้กับการซื้อสิทธิขายเสียงเหล่านั้นได้”  
แล้วการเมืองภาคประชาชนเป็นทางออกหรือไม่ คำตอบอยู่ที่การเลือกตั้งระดับต่างๆ มากว่าที่เป็นทางหลักในการต่อรองช่วงชิงกดดันเอาทรัพยากรมา ขณะที่การเมืองภาคประชาชนเป็นส่วนน้อยเท่านั้น การม็อบ การชุมนุมต่อรองยังใช่กันอยู่บ้าง
ส่วนเศรษฐกิจหลักที่เขาต้องการก็เป็นเศรษฐกิจการค้า ที่ดึงดูดปัจจัยภายนอกเอามาเพิ่มผลิตภาพเพื่อประคองฐานะคนชั้นกลางของเขาให้อยู่ได้และเติบโตขึ้นได้
“ข้อเสนอเสื้อแดงคือ เพื่อจะต้อนรับความเปลี่ยนแปลงในชนบทเหล่านี้ ต้อนรับคนเป็นแสนเป็นล้านที่หลุดจากการเป็นชาวนาแบบเดิม ทางเดียวที่จะอยู่กับเขาได้ในทางการเมืองคือ ต้องขยายประชาธิปไตย ถ้าจะซื้อสันติสุขทางการเมืองจากชนบทที่เปลี่ยนไปแล้วนี้ ไม่มีทางเลือกอื่น คุณหดปชต.ไม่ได้ มีแต่ต้องขยายตัวขึ้น เมื่อไรที่หดปชต. ยกเลิกการเลือกตั้ง ยกเลิกอำนาจของคนที่เขาเลือก เมื่อนั้นมีความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง”
จุดอับตันของของเสื้อแดง “ความหวังใหม่”
นักคิดปัญญาชนที่เข้าไปศึกษาเรื่องราวเหล่านี้จำนวนมากก็หวังว่าความเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นฐานใหม่ทางประชาธิปไตย แต่โดยส่วนตัวยังเห็นว่ามี 2 ปัญหาหลักที่เป็นจุดอับตัน คือปัญหาทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมการเมือง
ทางเศรษฐกิจ จะเห็นว่าภาวะที่รัฐอุดหนุนชาวนาที่ผลิตภาพต่ำแต่เป็นประชากรส่วนใหญ่ในชนบทนั้นยั่งยืนได้ยาก เพราะมีขีดจำกัดทางการคลัง โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาเป็นคนชั้นกลางแล้วและไม่ยอมถอยกลับด้วย ปัญหาที่กำลังเกิดจากนโยบายจำนำข้าวสะท้อนสิ่งนี้ นโยบายนี้มีความเสี่ยงทางการคลังสูง แต่ไม่ทำก็ไม่ได้ หากไม่ทำคนเหล่านี้จะไม่สามารถประคองสถานะคนชั้นกลางได้ จึงต้องทำไปเรื่อยๆ แต่การจะเปลี่ยนให้หลุดพ้นจากภาวะนี้ต้องพลิกเปลี่ยน เปิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ให้พวกเขาออกจากภาคการเกษตร ไปทำงานแบบใหม่
“นี่คือฐานคิดที่มาของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท มันต้องอาศัยการทุ่มทุนขนานใหญ่ไปผลักให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจ ให้ชาวนาหลุดออกมาจากภาวะผลิตภาพต่ำ พึ่งพาการอุดหนุนจากรัฐ ทั้งหมดนี้ถูกกำหนดจากชนบทที่เปลี่ยนแล้วต้องหาทางไป”
ทางด้านวัฒนธรรมการเมือง จะเห็นว่าไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การเมืองแบบไม่มีสมอง แต่เขามีค่านิยมธรรมนูญชนบทอยู่ แต่ก็ยังมีลักษณะคับแคบ ยึดผลประโยชน์เป็นตัวตั้ง และเป็นค่านิยมที่แตกต่างกับค่านิยมสังคมเมือง ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนค่านิยมเหล่านี้ ค่านิยมเหล่านี้ไม่คลี่คลายขยายตัว ก็ยากที่จะสร้างสังคมการเมืองร่วมกัน  ยกตัวอย่างท่าทีที่ชัดเจนในสังคมการเมืองชนบทในภาคเหนือ เขาไม่คิดว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนสำคัญเท่าไร เช่น เรื่องฆ่าตัดตอน เขาแคร์ว่ามันแก้ปัญหาได้บ้างมากกว่า ค่านิยมแบบนี้มีเหตุผลของตัวเอง แต่เข้ากันได้ยากกับแนวคิดแบบที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับศีลธรรม

ในท่ามกลางคำตอบทั้งหลายในช่วงหลังนั้น คำตอบหนึ่งที่มักได้ยินอยู่เสมอคือ การเมืองต้องมีศีลธรรม คำพูดแบบนี้ทั้งออกมาจากข้าราชการ ผู้ใหญ่ในสังคมการเมือง แต่ในเวอร์ชั่นที่เป็นวิชาการที่สุดคือ งานของสมบัติ จันทรวงศ์ ซึ่งทำวิจัยให้ สกว. เรื่อง วิกฤตความแตกแยกของธรรมวิทยาของพลเมือง การศึกษาการประกาศธรรมของประกาสกร่วมสมัย โดยสรุปคือ สมบัติฟังพวกที่วิจารณ์การเมืองประชาธิปไตยเก่าๆ แบบไทยๆ ขณะที่พยายามเสนอประชาธิปไตยแบบใหม่แบบพวกเสื้อแดงแล้วรู้สึกไม่เห็นด้วยเพราะไม่มีเรื่องศีลธรรม  หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นการเอานักวิชาการอย่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ธงชัย วิจิจจะกูล เกษียร เตชะพีระ ไปชำแหละว่าพวกไม่คิดถึงศีลธรรมมีปัญหาอย่างไรบ้าง 
นักวิชาการเสื้อแดงแยกศีลธรรมออกจากการเมือง ถูกต้องหรือไม่
ข้อเสนอหลักในบทคัดย่อ คือ “ผู้เขียนใช้กรอบแนวคิดเรื่องธรรมวิทยาแห่งพลเมือง ของ Robert Bellah เพื่อศึกษาความคิดซึ่งอยู่เบื้องหลังความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันระหว่างเสื้อเหลือง เสื้อแดง โดยพบว่า อุดมการณ์ของพวกเสื้อแดงหลักๆ แล้วเป็นผลผลิตทางความคิดของนักประวัติศาสตร์ ซึ่งปฏิเสธค่านิยมแบบจารีตของไทยทั้งที่เป็นค่านิยมทางศีลธรรมและการเมือง ที่ผูกโยงอย่างใกล้ชิดกับพุทธศาสนาและระบบกษัตริย์ เหล่าประกาศกของธรรมวิทยาแห่งพลเมืองใหม่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักประวัติศาสตร์อาชีพชั้นนำของไทย เลือกที่จะทดแทนสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวระบบอบทางประชาธิปไตยที่เน้นความเท่าเทียมกัน ซึ่งก็ต้องอาศัยการดำรงอยู่ของมวลหมาประชาชนผู้ล่วงรู้แจ้งและความแน่นอนว่าจะต้องเกิดขึ้นและความใฝ่ฝันในความเสมอภาค (ทั้งในแง่ของผลประโยชน์และสิ่งอื่นใด) อันถือได้ว่าเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของการเป็นพลเมืองที่ดี แต่เป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่จะเห็นว่าธรรมวิทยาแห่งพลเมืองที่ปราศจากเนื้อหาทางศาสนาหรือจริยธรรมเลย จะสามารถยึดโยงประชาชาติใดให้อยู่ด้วยกันได้เป็นเวลาที่นานพอ สังคมในอุดมคติที่ไม่ต้องการสำนึกทางศีลธรรมนี้อาจเกิดขึ้นได้จริง แต่จะเหมาะหรือไม่กับการพัฒนาจิตวิญญาณของมนุษย์เป็นเรื่องที่ยังต้องการคำตอบ”
โดยสรุปคือ ข้อเสนอของปัญญาชนฝั่งเสื้อแดงขาดมิติทางศีลธรรม และค่อนข้างต่อต้าน แยกศีลธรรมออกจากการเมือง ลักษณะนี้จะเป็นสิ่งที่เหมาะหรือไม่ เป็นโจทย์ที่น่าสนใจและน่าขบคิด  อยากเสนอว่า สังคมการเมืองที่ยึดลัทธิศีลธรรมเป็นเจ้าเรือนมีปัญหาของมันอยู่ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ปาฐกถาของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่โรงเรียนนายเรืออากาศ ก่อนเกิดรัฐประหารไม่นาน ที่ระบุว่า ชาติบ้านเมืองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครมีสิทธิ์ยึดถือเป็นของตนเองได้ เชื่อว่า พระสยามเทวาธิราชย์ จะปกป้องคนดี สาปแช่งคนทรยศให้พินาศ นับเป็นกามองประเด็นความดี ความชั่วเป็นแก่นกลาง  หรือการที่มีพระเทศนาเกี่ยวกับ “คนชั่วที่แอบอ้างเป็นคนไทย”  นี่เป็นประโยคที่เกิดขึ้นซึ่งสะท้อนทั้ง เรื่องศีลธรรม การเมือง ชาตินิยม วัฒนธรรม และกฎหมายความเป็นพลเมืองและเอกลักษณ์ชาติด้วย
การเมืองกับศีลธรรมไปด้วยกันได้ (ในสังคมเปิด)
โดยส่วนตัว คิดว่าการเมืองกับศีลธรรมควรไปด้วยกัน และไปด้วยกันได้ ในเงื่อนไขบางอย่าง เงื่อนไขที่จำเป็นคือ free market place of moral idea มีตลาดความคิดทางศีลธรรมที่เปิดกว้างให้ถกเถียงกันได้เรื่องศีลธรรมและหลักที่ควรทำไม่ควรทำทางการเมือง ถ้ามีแบบนี้สังคมการเมืองจะมีสุขภาพดี แต่ถ้าไปเป็นแบบเอาลัทธิศีลธรรมเป็นเจ้าเรือน เอาเรื่องนี้ไปคลุมการเมืองทั้งหมดโดยเอาตัวเองเป็นที่ตั้งจะเป็นปัญหา เพราะไม่ว่าจะชอบหรือชัง โลกสมัยใหม่มีความหลากหลายทางศีลธรรมและศาสนาอย่างไม่อาจหดลดได้ ไม่สามารถยึดเอาศีลธรรมแบบเดียว ศาสนาหนึ่งใดเป็นหลักแล้วบังคับทั้งหมดได้ เราจึงต้องเริ่มต้นจากความเป็นจริงที่ยอมรับความหลากหลาย อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยมีขีดจำกัดจำนวนมากที่ทำให้การถกเถียงในสังคมไทยก็ไม่มีเสรีภาพเพียงพอ ยกตัวอย่าง รายการ Devas cafe ของ คำ ผกา ที่วิจารณ์ศาสนาแล้วถูกกดดันหนักให้ต้องสารภาพปากพร้อมยุติรายการ 1 เดือน  เมื่อไม่มีพื้นที่เปิด จึงยากมากที่จะเอาศีลธรรมมาผูกการเมืองแล้วจะไม่เป็นการกดขี่หรือกีดกันคนอื่น อีกประการคือ การที่ชนชั้นนำทางการเมืองมักแสดงจริตว่าตนเป็นคนมีศีลธรรม แต่ข้างหลังเละ ยิ่งบ่อนทำลายเรื่องนี้  แล้วยังทำให้เกิด ผู้ใหญ่ ซึ่งมีฐานะพิเศษที่จะบอกให้รู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี โดยไม่มีการตรวจสอบ
“ในทางปรัชญา ผมเชื่อว่ามีความขัดแย้งขั้นมูลฐานอยู่ระหว่าง หลักเป้าหมายที่ดีที่ถูกต้อง ย่อมให้ความชอบธรรมกับวิธีการใด ๆ ก็ได้ หรือ The end justifies the means. ในทางการเมือง กับ หลักเอกภาพทางศีลธรรมของเป้าหมายกับวิธีการ หรือ the moral unity of means and end หลักสองอันนี้มีความขัดแย้งแตกต่างกันลึกๆ และการพยายามจะผูกการเมืองเข้ากับศีลธรรมมันอิหลักอิเหลื่อมากเพราะหลักการสองอันนี้”  
- See more at: http://www.prachatai3.info/journal/2013/06/47422#sthash.Uz5oNivH.dpuf

โจทย์การเมืองไทย จากพฤษภา35 ถึงปัจจุบัน

เกษียร เตชะพีระ: โจทย์การเมืองไทย จากพฤษภา35 ถึงปัจจุบัน

ชื่อบทความเดิม: “โจทย์การเมืองไทยที่เปลี่ยนไปในสองทศวรรษจากพฤษภาฯ 2535 ถึงปัจจุบัน”<1>
 ในโอกาสเหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรงครั้งใหญ่ทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 ล่วงมาสองทศวรรษ ประจวบกับกระแสความขัดแย้งรุนแรงครั้งใหญ่ทางการเมืองปะทุระเบิดขึ้นอีกระลอกในรอบห้าหกปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าเป็นจังหวะอันเหมาะสมที่จะมาทบทวนว่าโจทย์ใหญ่ของการเมืองไทยในช่วงดังกล่าวได้คลี่คลายเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแนวคิดความเห็นของฝ่ายต่างๆ ที่เป็นคู่ขัดแย้งหลักในสังคมการเมืองไทย เพื่อเป็นแนวทางในการขบคิดใคร่ครวญหาทางออกต่อไป
ผมใคร่แบ่งการปาฐกถาวันนี้เป็นหัวข้อย่อยดังนี้:
1) บริบทความคิดการเมืองหลังพฤษภาคม พ.ศ.2535
2) โจทย์ใหญ่ทางการเมืองของฝ่ายเสื้อเหลืองและพันธมิตร
3) โจทย์ใหญ่ทางการเมืองของฝ่ายเสื้อแดงและแนวร่วม
4) ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับศีลธรรม

1) บริบทความคิดการเมืองหลังพฤษภาคม พ.ศ. 2535


ในช่วงทศวรรษก่อนเกิดระบอบทักษิณราวปี พ.ศ. 2546<2> วิกฤตและปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจแห่งยุคของไทยได้แก่:
1) วิกฤตรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) พ.ศ. 2534 และการลุกฮือพฤษภาประชาธรรม พ.ศ. 2535 อันเป็นอาการแสดงออกซึ่งปัญหาความบกพร่องไม่พอเพียงของนักการเมืองจากการเลือกตั้งและระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนหรือที่เรียกว่าปัญหา “นักเลือกตั้ง/ระบอบเลือกตั้งธิปไตย” ชาวบ้านรากหญ้าและประชาสังคมเมืองรู้สึกว่าปัญหาเดือดร้อนเร่งด่วนสำคัญที่สุดของตนแทบไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นถกอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรเลย สภาฯกลายเป็นเวทีตีฝีปากประคารมยกมือประท้วงวางท่านักเลงก้าวร้าวถกเถียงหมกมุ่นเรื่องข้อบังคับการประชุมที่แสนน่าเบื่อและไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา ส่วนรัฐบาลก็เสมือนคณะกรรมการจัดการดูแลผลประโยชน์อันทุจริตฉ้อฉลเฉพาะของมุ้งกลุ่มก๊วนมากกว่าจะรับใช้รับผิดชอบผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติ
 วิกฤตการเมืองนี้ถูกวิเคราะห์ว่าเกิดจากปัญหานักเลือกตั้ง/ระบอบเลือกตั้งธิปไตย <3>
2) วิกฤตค่าเงินบาทและเศรษฐกิจตกต่ำหรือที่เรียกว่าวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” พ.ศ. 2540 อันเป็นอาการบ่งชี้ปัญหาผลกระทบของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ต่อประเทศไทยว่าการเปิดเสรีต่อเงินทุนชีพจรลงเท้า, กระแสบริโภคนิยมและการเอนเอียงทุ่มเทผลิตเพื่ออุตสาหกรรมส่งออกสุดตัวด้วยแรงงานและทรัพยากรราคาถูกนั้นเสี่ยงสูง ผันผวน และอันตรายร้ายแรงถึงขั้นล่มจม ไม่แน่ว่าจะนำมาซึ่งความร่ำรวยรุ่งเรืองดังที่ฝันหวานง่าย ๆ ถ่ายเดียวเสมอไป
 วิกฤตเศรษฐกิจนี้ถูกวิเคราะห์ว่าเกิดจากทุนนิยมโลกาภิวัตน์ <4>
คำตอบแห่งยุคสมัยที่สังคมไทยเสนอต่อปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจดังกล่าวตอนนั้นได้แก่:
 การเมืองภาคประชาชนหรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนรวม/ทางตรง เพื่อแก้ไขบำบัดจุดอ่อนข้อบกพร่องของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน<5>
 เศรษฐกิจพอเพียง/ชุมชน เพื่อบรรเทาป้องกันความผันผวน, เสี่ยงสูง, สิ้นเปลือง, สุดโต่งเกินเลยของทุนนิยมโลกาภิวัตน์<6>
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าภายหลังรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีพรรคไทยรักไทยเป็นแกนนำขึ้นสู่อำนาจในปีพ.ศ. 2544 ระบอบทักษิณได้ข้ามพ้นชุดคำตอบข้างต้นโดยเสนอคำตอบชุดใหม่ผ่านแนวนโยบายและมาตรการปฏิบัติของรัฐบาล ได้แก่: -
-ฝ่ายบริหารมีอำนาจเข้มแข็งครอบงำเหนือรัฐสภา
-ผลักดันผ่านนโยบายและงบประมาณประชานิยมต่าง ๆ ส่งผลให้.....
1) ประชาธิปไตยแบบตัวแทนสามารถดำเนินนโยบายสนองตอบผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแก่ประชาชนผู้เลือกตั้งโดยตรง เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุน-เงินกู้ของภาครัฐและภาคเอกชน, การพักชำระหนี้, บริการการแพทย์ย่อมเยาถ้วนหน้า, โครงการเอื้ออาทรต่าง ๆ ฯลฯ
2) เปิดช่องทางโอกาสและฐานทุน-เงินกู้ให้ชาวบ้านที่ถูกผลักไสหรือดึงดูดเข้าสู่กระแสคลื่นเศรษฐกิจตลาดเสรีอันผันผวนเสี่ยงสูง, ผ่านการหันไปประกอบอาชีพปลูกพืชเศรษฐกิจ/รับจ้างชั่วคราว/ประกอบธุรกิจรายย่อยต่าง ๆ, แล้วมักตกอยู่ในอาการปริ่มน้ำ จวนจะล่มจมมิจมแหล่ ไม่รู้แน่ว่าจะว่ายถึงฝั่งหรือไม่ – ได้อาศัยมันเป็นห่วงชูชีพประคองตัวลอยคออยู่รอดและพอมีหวังที่จะสู้แล้วรวยได้ในเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ต่อไป<7>
ขณะที่ความถูกต้องยั่งยืนแห่งแนวนโยบายข้างต้นของระบอบทักษิณยังคงเป็นที่โต้แย้งถกเถียงกันได้ไม่ยุติ แต่ก็ประจักษ์ชัดว่ามันจับใจยึดกุมจินตนาการของมวลชนผู้เลือกตั้งที่เป็นคนชั้นกลางระดับล่างจำนวนมากทั้งในเมืองและชนบท จนพวกเขาพร้อมแปรความเรียกร้องต้องการของตนเป็นพลังการเมืองเพื่อปกป้องแนวนโยบายดังกล่าวและรัฐบาลทักษิณทั้งด้วยคะแนนเสียงเลือกตั้งและการเคลื่อนไหวชุมนุม<8>

2) โจทย์ใหญ่ทางการเมืองของฝ่ายเสื้อเหลืองและพันธมิตร


หากถือเอาความคิดทางสังคมการเมืองของอาจารย์ ดร. เสกสรรค์ ประเสริฐกุลในระยะหลังเหตุการณ์พฤษภาประชาธิปไตย 2535 เป็นต้นมา ดังที่ปรากฏในงานวิจัยสำคัญเรื่อง การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย (2548) ของท่านเองและหนังสือ ความคิดทางสังคมการเมืองของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล (2556) ของอาจารย์พัชราภา ตันตราจิน<9> ว่าเป็นตัวแทนสะท้อนโจทย์และการแสวงหาคำตอบทางเศรษฐกิจการเมืองแห่งช่วงทศวรรษแรกหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 อย่างรวมศูนย์แล้ว<10> เราก็อาจใช้แนวคิดของอาจารย์เสกสรรค์เป็นเส้นด้ายนำทางเพื่อสังเกตและทำ
ความเข้าใจบริบทกระแสความคิดการเมืองในช่วงทศวรรษหลังถึงปัจจุบัน โดยเปรียบเทียบแนวคิดดังกล่าวกับแนวคิดของคู่ขัดแย้งหลักในสังคมการเมือง (เพื่อความสะดวก ขออนุญาตใช้สัญลักษณ์สีแทน) ได้แก่ “แดง” (คือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือนปช.และผู้สนับสนุน) กับ“เหลือง” (คือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือพธม.และผู้สนับสนุน)


1) ประเด็นหลักเรื่องอำนาจทุนในความคิดของอาจารย์เสกสรรค์ยังปรากฏต่อมา
เสกสรรค์เสนอว่าเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ทำให้อำนาจอธิปไตยของรัฐชาติเสื่อมโทรมลง ⇒ แนวคิดชาตินิยมเสื่อมโทรมลง ⇒ ส่งผลสืบเนื่องให้ฉันทมติและฉันทาคติทางการเมืองพลอยเสื่อมถอยไปด้วย (political consensus & consent หมายถึงความเห็นพ้องต้องกันและการยอมรับอำนาจปกครองในทางการเมือง) ทั้งหลายเหล่านี้ย่อมก่อความไร้เสถียรภาพทางการเมืองเรื้อรังเพราะรัฐขาดพร่องความชอบธรรม, ไม่มีความเห็นพ้องต้องกันและการยอมรับอำนาจปกครองของสังคมภาคส่วนต่าง ๆ นอกคูหาเลือกตั้งคอยประคองรองรับอำนาจของรัฐไว้
2) น่าสนใจว่าประเด็นอำนาจทุนนี้ “เหลือง” มองเห็น แต่ “แดง” กลับมองข้าม
สะท้อนออกในแนวคิดของคณะนิติราษฎร์ที่นับได้ว่าเป็นคลังสมองหรือเสนาธิการทางแนวคิดการเมืองของนปช.และผู้สนับสนุน<11> กล่าวคือปัญหาทางการเมืองที่นิติราษฎร์มองเห็นและนำเสนอจะยุติแค่มิถุนายน - ธันวาคม พ.ศ. 2475 (กล่าวคือจำกัดเฉพาะปัญหาอำนาจรัฐและเครือข่าย“อำมาตย์” หรือชนชั้นนำเก่าที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อันสืบเนื่องมาจากการอภิวัฒน์รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย 2475 ที่ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์) นิติราษฎร์ยังไม่เริ่มขึ้นเดือนมกราคม -มีนาคม พ.ศ.2475 ด้วยซ้ำไป (กล่าวคือไม่ได้เริ่มตั้งคำถามกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมตลาดเสรี ดังที่อาจารย์ปรีดีวิเคราะห์วิจารณ์และนำเสนอทางออกไว้ในเค้าโครงเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่าสมุดปกเหลือง ซึ่งมีที่มาจากวิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมตกต่ำใหญ่ทั่วโลกเมื่อปี ค.ศ. 1929 และต่อมา)<12> ทั้ง ๆ ที่ในปัจจุบัน อำนาจทุนโลกสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ และผูกมัดกลายเป็นเนื้อเดียวกับอำนาจรัฐในสังคมไทย (ขอให้ดูตอนน้ำท่วมใหญ่ปลายปี พ.ศ. 2554 และบทบาทอิทธิพลกดดันต่อรองข่มขู่โน้มนำกำกับของรัฐบาลและทุนอุตสาหกรรมข้ามชาติญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง)<13>
3) ขณะที่ “เหลือง”มองเห็นปัญหาอำนาจทุน ทว่าวิธีแก้ที่นำเสนอคือเผด็จการ
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและองค์กรพันธมิตรอาทิกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ยืนกรานว่าปัญหา “เผด็จการโดยพรรคการเมืองทุนนิยมผูกขาด” ไม่อาจแก้ได้ด้วยประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง หากต้องแก้ด้วยการรัฐประหารหรือวิธีพิเศษอื่นนอกระบบเพื่อมอบอำนาจแก่คนดีผู้จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์และมีความเป็นไทยมากกว่า ให้ถ่วงทานตรวจสอบอำนาจทุนไว้<14>  อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าใช้การไม่ได้ ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมไทยและโลก รังแต่สร้างความขัดแย้งใหม่ซ้ำซ้อนเพิ่มเติมลุกลามออกไป

3) โจทย์ใหญ่ทางการเมืองของฝ่ายเสื้อแดงและแนวร่วม
ในทางกลับกัน ประเด็นหลักสำคัญประการหนึ่งในกระแสความคิดการเมืองปัจจุบันที่ไม่ปรากฏเด่นชัดในความคิดสังคมการเมืองช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาประชาธิปไตย พ.ศ. 2535 ของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ก็คือความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่หลากหลายด้านในชนบท จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวมวลชนคนเสื้อแดงที่สนับสนุนรัฐบาลทักษิณและพวกพ้อง, ต่อต้านรัฐประหารและเครือข่าย “อำมาตย์” ในขอบเขตกว้างขวางหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะทางภาคเหนือและอีสาน นี่เป็นความรู้ที่ก่อตัวมานานแต่ค่อนข้างใหม่ในวงวิชาการกระแสหลัก จึงเป็นธรรมดาที่ยังไม่ค่อยเป็นที่ตระหนักรับรู้ในวงวิชาการทั่วไปก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยคณะปฏิรูป
การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) อันเป็นระยะที่งานความคิดสังคมการเมืองสำคัญ ๆ ในช่วงหลังของอาจารย์เสกสรรค์ถูกผลิตออกมา
ความเปลี่ยนแปลงซับซ้อนหลายมิติในชนบทนี้มีหัวใจอยู่ที่กระบวนการเลิกทำเกษตรกรรม (deagrarianization) แล้วหันไปสู่กิจกรรมหลักและรายได้หลักในภาคส่วนเศรษฐกิจอื่น<15> เรื่องนี้เป็นกระบวนการต่อเนื่องยาวนานที่ค่อย ๆ ก่อตัวคลี่คลายนับแต่ราว พ.ศ. 2529 - 2530 เป็นต้นมาร่วม 26 ปี กลุ่มนักวิชาการแรก ๆ ที่สังเกตเห็น ชี้ชวนให้สนใจและวิเคราะห์วิจัยจึงได้แก่นักเศรษฐศาสตร์, นักมานุษยวิทยา, นักรัฐศาสตร์ที่สนใจการเมืองท้องถิ่น, เอ็นจีโอ, ปัญญาชนสาธารณะที่เกาะติดชนบทเป็นสำคัญ เช่น อัมมาร สยามวาลา, สมชัย จิตสุชน, บัณฑร อ่อนดำ, นิธิ เอียวศรีวงศ์, อรรถจักร สัตยานุรักษ์ เป็นต้น<16>

อย่างไรก็ตาม ความสนใจเรื่องนี้ในหมู่นักวิชาการส่วนน้อยถูกปลุกกระตุ้นจากการปรากฏขึ้นอย่างรวดเร็วแข็งขันเหนียวแน่นใหญ่โตกว้างขวางของการเคลื่อนไหวมวลชนคนเสื้อแดงหลังรัฐประหาร 2549 จนกลายเป็นกระแสการศึกษาวิจัยวิเคราะห์ตีความความเปลี่ยนแปลงหลากหลายด้านในชนบทไทยขนานใหญ่ แผ่กว้างขยายวงออกไปในปัจจุบัน ที่โดดเด่นสำคัญเช่นทีมวิจัยเรื่อง “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” ของคณาจารย์หลายสาขาหลากมหาวิทยาลัย อาทิ อภิชาต สถิตนิรามัย, ยุกติ มุกดาวิจิตร, ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, จักรกริช สังขมณี, อนุสรณ์ อุณโณ, เวียงรัฐ เนติโพธิ์, ประภาส ปิ่นตบแต่ง, นิติ ภวัครพันธุ์และคนอื่น ๆ,<17>  หนังสือ Thailand’s Political Peasants: Power in the Modern Rural Economy (2012) ของ Andrew Walker, งานเขียนบทความและปาฐกถาของ Charles F. Keyes, <18> Naruemon Thabchumpon กับ Duncan McCargo <19> , สมชัย ภัทรธนานันท์ <20> เป็นต้น ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ (ดูตารางเปรียบเทียบประกอบ) มีดังนี้คือ: -

1) ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมในชนบทรอบ 26 ปีที่ผ่านมา
-สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่คนส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง ประเทศไทยกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้ปานกลาง <21>
-เกิดกระบวนการเลิกทำเกษตรกรรม/เลิกเป็นชาวนา Deagrarianization/Depeasantization ขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ <22>
-มี inverse resource flows หรือทรัพยากรไหลย้อนกลับตาลปัตรจากเมืองสู่ชนบท (เทียบกับช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมฯระยะแรกซึ่งทรัพยากรไหลจากชนบทสู่เมืองเป็นหลัก) ผ่านมาตรการโอบอุ้มของรัฐและการกระจายการคลังสู่ท้องถิ่น <23>
-ชาวนารายได้ปานกลางที่รายได้ส่วนมากมาจากนอกภาคเกษตรกลายเป็นคนส่วนใหญ่ <24>
-คนชนบทกลายเป็น cosmopolitans & extralocal residents มากขึ้น <25>
2) สังคมการเมืองชนบทของชาวนารายได้ปานกลางผลิตภาพต่ำที่ประคองไว้ด้วยเงินอุดหนุนจากรัฐ
-ปัญหาหลักของชนบทไม่ใช่ยากไร้ไม่พอกิน (food sufficiency) อีกต่อไป แต่กลายเป็นความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น, ภูมิภาค, ภาคส่วนเศรษฐกิจ (inequalities)
-ปัญหาผลิตภาพต่ำเรื้อรังแก้ไม่หายในส่วนภาคเกษตรและการผลักดันไปสู่เศรษฐกิจนอกภาคเกษตร เช่น ธุรกิจ SMEs เปลี่ยนสินทรัพย์เป็นทุน เปลี่ยนตาสีตาสาเป็นเถ้าแก่ ฯลฯ ได้ผลจำกัด
-รัฐกระเตงอุ้มประชากรชนบทที่เป็นชาวนารายได้ปานกลางผลิตภาพต่ำไว้มหาศาล แต่ผลักไม่พ้น ไม่หลุดจากอก <26> (นี่คือที่มาสุดท้ายของนโยบายจำนำข้าวและค่าแรงวันละ 300 บาททั่วประเทศรวมทั้งเมกะโปรเจคต์ลอจิสติกส์ 4 ล้านล้านบาท)
3) สังคมการเมืองชนบทและธรรมนูญชนบท
-ชาวบ้านชนบทไม่ได้สัมพันธ์กับรัฐแบบพึ่งพาการอุปถัมภ์แนวดิ่งอย่างหยุดนิ่งและเป็นฝ่ายถูกกระทำข้างเดียว, อีกทั้งก็ไม่ใช่สัมพันธ์กับรัฐแบบต่อต้านคัดค้านรัฐที่เข้ามาขูดรีดทรัพยากรและแรงงานด้วยการรวมตัวแนวราบในนามชนชั้นชาวนาหรือชุมชนชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่อีกต่อไป
-หากแต่ชาวบ้านชนบทดึงอำนาจรัฐและอำนาจภายนอกอื่น ๆ เข้ามาในสังคมการเมืองชนบทเพื่อกล่อมเกลาเอาใจ ต่อรองกดดัน แล้วหลอกล่อฉวยใช้ ในอันที่จะดูดดึงและขัดแย้งแย่งชิงกันซึ่งทรัพยากร งบประมาณ ทุน เทคโนโลยี ฯลฯ เอามาเพิ่มผลิตภาพเศรษฐกิจและอำนาจของตน เหมือนขุนแผนชุบเลี้ยงผีกุมารทองเอาไว้ใช้งาน (ชาวบ้านสัมพันธ์กับผี, รัฐ, ทุน, ชุมชน ในโหมดเดียวกัน)
-ธรรมนูญค่านิยมชาวบ้านที่กำกับความสัมพันธ์ทางการเมืองนี้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย/ฉบับสากลตะวันตกของคนเมือง <27>
ทั้ง 3 ประเด็นนี้ นักวิชาการและปัญญาชนที่พยายามเข้าใจและเห็นอกเห็นใจการเคลื่อนไหวของมวลชนคนเสื้อแดงมองเห็น แต่นักวิชาการสนับสนุนพันธมิตรฯกลับมองข้าม เช่น นักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ติดอยู่กับปัญหาคอร์รัปชั่น เผด็จการทุนผูกขาด ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ในชนบทโง่จนเจ็บ ขาดความรู้ ถูกซื้อเสียง ฯลฯ <28> ทั้งที่ชนบทเปลี่ยนไปมหาศาลทุกด้าน รวมทั้งในความสัมพันธ์กับรัฐและเมือง ทว่าในทางกลับกัน นักวิชาการและปัญญาชนเสื้อแดงออกจะมองข้ามจุดอับตันของสังคมการเมืองชนบท 2 อย่าง กล่าวคือ:
1) ในทางเศรษฐกิจ ภาวะดังที่เป็นอยู่จะยั่งยืนยาวนานได้ยาก มีขีดจำกัด รัฐจะกระเตงอุ้มเลี้ยงไข้เลี้ยงต้อยชาวนารายได้ปานกลางผลิตภาพต่ำอันเป็นประชากรส่วนใหญ่ในชนบทไปได้นานแค่ไหน? <29>
2) ค่านิยมธรรมนูญชนบทของสังคมการเมืองชนบทที่มีลักษณะคับแคบ เฉพาะส่วน parochial และแตกต่างตรงข้ามกับประชาสังคมอย่างที่เป็นอยู่ หากแม้นไม่ปรับเปลี่ยนคลี่คลายขยายตัวก็ยากจะพาไปสู่สังคมการเมืองร่วมกันในระดับชาติอันเป็นที่รับได้ของหลักการเมืองสมัยใหม่ที่เป็นสากล เช่น ท่าทีไม่ใส่ใจไยดีเรื่องสิทธิมนุษยชนในกรณีฆ่าตัดตอนยาเสพติด เป็นต้น<30>

4) ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับศีลธรรม
ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองรอบหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นหนึ่งที่มักถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวหาโจมตีและถกเถียงวิวาทะกันเสมอคือความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับศีลธรรม ในลักษณะที่ว่าฝ่ายตรงข้ามประพฤติปฏิบัติการเมืองอย่างทุจริตเลวร้าย ขาดพร่องหรือปราศจากศีลธรรมกำกับ ทำให้การเมืองเสื่อมทรามและเกิดวิกฤต ทางออกได้แก่การช่วยกันให้คนดีเข้ามามีอำนาจ เพื่อป้องกันไม่ให้คนไม่ดีเข้ามาก่อความเดือดร้อนวุ่นวายแก่บ้านเมือง <31>
กล่าวในทางวิชาการ ชุดโครงการวิจัยเรื่อง “วิกฤตความแตกแยกของธรรมวิทยาแห่งพลเมือง: การศึกษาการประกาศธรรมของประกาศกร่วมสมัย” ที่มีศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ จันทรวงศ์ เป็นหัวหน้าโครงการและได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เข้าจับปมปริศนาความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับศีลธรรมร่วมสมัยนี้โดยตรงผ่านแนวคิด “ธรรมวิทยาแห่งพลเมือง” หรือ Civic Religion ดังสะท้อนออกในบทคัดย่อของคำบรรยายพิเศษโดยศาสตราจารย์สมบัติในการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 11 (พ.ศ. 2553) ข้างล่างและต่อมาได้เขียนเป็นบทความสมบูรณ์ <32>


“ผู้เขียนใช้กรอบแนวคิดเรื่องธรรมวิทยาแห่งพลเมือง (civic หรือ civil religion) ของ Robert
 Bellah เพื่อศึกษาความคิดซึ่งอยู่เบื้องหลังความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันระหว่างเสื้อเหลือง-เสื้อแดง โดยพบว่าอุดมการณ์ของพวกเสื้อแดงหลัก ๆ แล้วเป็นผลผลิตทางความคิดของนักประวัติศาสตร์ ซึ่งปฏิเสธค่านิยมแบบจารีตของไทยทั้งที่เป็นค่านิยมทางศีลธรรมและการเมืองที่ผูกโยงอย่างใกล้ชิดกับพุทธศาสนาและระบบกษัตริย์ เหล่าประกาศกของธรรมวิทยาแห่งพลเมืองใหม่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักประวัติศาสตร์อาชีพชั้นนำของไทย เลือกที่จะทดแทนสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวระบอบประชาธิปไตยที่เน้นความเท่าเทียมกัน ซึ่งก็ต้องอาศัยการดำรงอยู่ของมวลมหาประชาชนผู้ล่วงรู้แจ้งและความแน่นอนว่าจะต้องเกิดขึ้นของกระบวนการทางประวัติศาสตร์อีกทีหนึ่งก่อน ในขณะที่ความตื่นตัวทางการเมืองและความใฝ่ฝันในความเสมอภาค (ทั้งในแง่ของผลประโยชน์และสิ่งอื่นใด) อาจถือได้ว่าเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของการเป็นพลเมืองที่ดี แต่เป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่จะเห็นว่าธรรมวิทยาแห่งพลเมืองที่ปราศจากเนื้อหาทางศาสนาหรือจริยธรรมเลยจะสามารถยึดโยงประชาชาติใดให้อยู่ด้วยกันได้เป็นเวลาที่นานพอ สังคมในอุดมคติที่ไม่ต้องการสำนึกทางศีลธรรมนี้อาจเกิดขึ้นได้จริง แต่จะเหมาะหรือไม่กับการพัฒนาจิตวิญญาณของมนุษย์เป็นเรื่องที่ยังต้องการคำตอบ<33>
ผมอยากใคร่ถือโอกาสนี้อภิปรายปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับศีลธรรมในบริบทสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองเสื้อสีร่วมสมัยสักเล็กน้อย เพื่อเป็นการสานต่อบทสนทนาทางวิชาการและสังคมการเมืองในเรื่องดังกล่าว
ไม่นานมานี้ ขณะทานข้าวไปพลาง ฟังสถานีวิทยุ “ชุมชน” ใกล้บ้านที่เปิดเพลงสลับกับขายยาและสอนธรรมะไปพลาง ผมก็ได้ยินเสียงอุบาสิกาอ่านหลักพุทธธรรมคำสอนของหลวงพ่อวัดแห่งหนึ่งแถบชานเมืองกรุงเทพฯยาวหลายนาที คำสอนนั้นผูกร้อยเชื่อมโยงความคิดชาตินิยม ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และหลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าด้วยกันเป็นเรื่องเดียวเนื้อเดียวอย่างไร้รอยต่อ ในลักษณะที่ว่า “ชาติ”, “ในหลวง” และ “พุทธธรรม” ถูกเปล่งออกมาต่อกันรวดเดียวในชั่วอึดใจอย่างคล้องจองสอดรับเป็นธรรมชาติในทำนอง “ธรรมราชาชาตินิยม”
อันที่จริงนี่ก็ไม่ใช่อะไรแปลกใหม่พิสดารนัก เป็นที่คาดหมายเข้าใจได้และเราท่านก็มักได้ยินได้ฟังกันอยู่เป็นปกติ แต่ที่สะดุดหูผมจนแทบสะอึกต้องวางช้อนส้อมนิ่งคิดไปพักหนึ่งคือวลีที่ว่า:
“...คนชั่วที่แอบอ้างเป็นคนไทย...”
ในวลีสั้นกระทัดรัดนี้ ได้ผูกโยงหลอมรวม ศีลธรรม, ชาตินิยม, การเมืองวัฒนธรรม, กฎหมาย,ความเป็นพลเมือง, เอกลักษณ์ชาติ เข้าด้วยกันอย่างแยกไม่ออกทีเดียว คำปราศรัยของท่านประธานองคมนตรีในวาระโอกาสต่าง ๆ ระยะหลายปีที่ผ่านมานี้ก็โน้มนำไปทำนองเดียวกัน คือผูกโยงการเมืองเข้ากับศีลธรรม, ชาตินิยมและเอกลักษณ์ชาติ เหล่านี้ทำให้ยากจะแยกแยะเสียงเรียกร้องแห่งความเป็นไทยดังที่ยกมาข้างต้นออกจากข้อเสนอที่วางอยู่บนกรอบคิดและหลักเหตุผลทางปรัชญาว่า “ไม่อาจแยกการเมืองออกจากศีลธรรมได้ หากแยกออกจากกัน การเมืองนั่นแหละจะเสื่อมทรามลง” ซึ่งโครงการวิจัย “ธรรมวิทยาแห่งพลเมืองฯ” ที่ศาสตราจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ เป็นหัวหน้าได้นำเสนออย่างจริงจังและลึกซึ้งเป็นระบบ
ผมอยากเสนอข้อคิดตอบสนองและข้อกังวลอย่างรวบรัดไว้ในที่นี้เป็นเบื้องต้นว่า:
-ถ้าข้อเสนอคือให้ประสาน Politics + Morality (การเมือง + ศีลธรรม) ในความหมาย A free marketplace of moral ideas (ตลาดความคิดศีลธรรมที่เลือกได้อย่างเสรี) แล้ว ผมก็เห็นด้วย
-แต่ถ้าข้อเสนอนั้นเป็น Politics + Moralism (การเมือง + ลัทธิยึดศีลธรรมเป็นเจ้าเรือน) ในความหมาย Self-centered, coercive moralism (ลัทธิศีลธรรมที่บังคับเอาด้วยอัตตาธิปไตย) แล้ว ผมเกรงว่ามันจะเป็นที่รับกันได้ในสังคมเสรีประชาธิปไตยหรือ? และจะใช้การได้จริงหรือ? <34>
และจะอย่างไรก็ตาม ข้อเสนอที่จะผูกโยงการเมืองกับศีลธรรมควรคำนึงถึงข้อสังวรในบริบทโลกสมัยใหม่และสังคมการเมืองไทยดังที่เป็นจริงปัจจุบันดังต่อไปนี้:
1) ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกที่มีความแตกต่างหลากหลาย (พหุนิยม) ของคุณค่าพื้นฐานเชิงศีลธรรมและศรัทธาศาสนาอย่างที่ไม่อาจลดลัดตัดทอนหรือย่นย่อเหมารวมเป็นหนึ่งเดียวได้อีกแล้ว<35> การบังคับกดดันให้ยึดหลักศีลธรรมเดียวหรือศรัทธาศาสนาเดียวเป็นที่ตั้งเจ้าเรือนรังแต่จะก่อความขัดแย้งไม่รู้จบสิ้นดังเราเห็นกันอยู่ในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรา, ประเทศเพื่อนบ้านและที่ต่างๆ ในโลก
2) ขณะเดียวกัน เอาเข้าจริงในทางปฏิบัติ สังคมวัฒนธรรมไทยไม่มีตลาดความคิดศีลธรรมที่เลือกได้อย่างเสรี หรือสนามประชันข้อเสนอทางศีลธรรมที่ราบเรียบเสมอหน้ากันอยู่จริง หากเทเอียงกระเท่เร่ไปทางหนึ่งตามฐานคติของรัฐและ/หรือประชากรส่วนใหญ่ <36>
3) ฉะนั้นแทนที่เราจะได้เห็น [การเมือง+ศีลธรรม] สมดังความมุ่งมาดปรารถนาของศาสนิกชน เรากลับมักเห็นผู้กุมอำนาจฐานะในสังคมการเมืองแสดงจริตศีลธรรม (moral pretensions)ออกมา ไม่มากไปกว่านั้น
4) นั่นแปลว่าข้อเรียกร้องที่ชอบด้วยเหตุผลให้มี “การเมืองที่กำกับด้วยศีลธรรม” บ่อยครั้งเมื่อเอาไปวางในโลกปฏิบัติที่เป็นจริงของสังคมการเมืองไทย รังแต่จะนำไปสู่ “ผู้อวดอ้างสวมสิทธิอำนาจวินิจฉัยตัดสินศีลธรรมทางการเมืองเอาเองโดยพลการและปราศจากการตรวจสอบควบคุม”
5) ในทางปรัชญา ผมเชื่อว่ามีความขัดแย้งขั้นมูลฐานอยู่ระหว่าง [หลักเป้าหมายที่ดีที่ถูกต้องย่อมให้ความชอบธรรมกับวิธีการใด ๆ ก็ได้ หรือ The end justifies the means. ในทางการเมือง] กับ [หลักเอกภาพทางศีลธรรมของเป้าหมายกับวิธีการ หรือ the moral unity of means and end] อุปมาเหมือนคนอุ้มห่อระเบิดออกวิ่งบนลู่อำนาจ ถึงจุดหนึ่งถ้าระเบิดที่อุ้มแนบอกไม่แตกตูมจนตัวเองตายคาที่ (หมดสิ้นอำนาจไป), ห่อที่ว่าก็อาจเน่าเสียคาอกได้ (ศีลธรรมเสื่อม) <37>
การประคองสองอย่างนี้ให้ไปด้วยกันตลอดรอดฝั่งนับเป็นภาวะลำบากอิหลักอิเหลื่อ (dilemmas) ของความพยายามจะผูกพันการเมืองเข้ากับศีลธรรมทั้งหลายทั้งปวง

=================================

เชิงอรรถ

1. บทความประกอบการแสดงปาฐกถากีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ ประจำปี2555, 27 มิถุนายน พ.ศ. 2556
2. ดูกำเนิดของคำว่า “ระบอบทักษิณ” ใน เกษียร เตชะพีระ, “ระบอบทักษิณ: บันทึกเรื่องราวของคำสร้างคำหนึ่ง (ตอนต้น)”, ทางแพร่งและพงหนาม: ทางผ่านสู่ประชาธิปไตยไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2551), หน้า 91 – 95.
3.เกษียร เตชะพีระ, “ลัทธิเลือกตั้ง”, บุญเลิศ วิเศษปรีชา, บก. ราษฎร์ดำเนิน (กรุงเทพฯ: สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประ เทศไทย, 2537). และ เกษียร เตชะพีระ, “ชำแหละระบอบเลือกตั้งธิปไตย: บทเรียนทางการเมืองจากวิกฤตเศรษฐกิจ ไทย”, กาญจนี ละอองศรีและธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, บก., กระจกหลายด้านฉายประวัติศาสตร์: รวมบทความเนื่องใน วาระครบรอบ 60 ปีชาญวิทย์ เกษตรศิริ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2544), หน้า 29 - 59.
4.เกษียร เตชะพีระ, แต่ง, ประจักษ์ ก้องกีรติ, แปล, “จุดอับทางเศรษฐกิจกับการฟื้นตัวทางการเมืองหลังวิกฤตในประเทศไทย: การเฟื่องฟูใหม่ของชาตินิยมทางเศรษฐกิจ,” จุลสารไทยคดีศึกษา, 19: 1 (สิงหาคม-ตุลาคม2545), 3-29.
5.งานวิชาการที่เป็นตัวแทนสะท้อนข้อเสนอทางออกดังกล่าวอย่างรวมศูนย์เป็นระบบที่สุดได้แก่ผลงานวิจัยที่ได้รับทุนปรีดี พนมยงค์ของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรายแรก คือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2548).
6.ดูภาคผนวกที่ประมวลสรุปข้อเสนอทำนองนี้ได้ในภาคผนวก “การแสวงหาทางเลือกออกจากโลกาภิวัตน์แบบเสรีนิยมใหม่: สาระสำคัญของข้อเสนอกู้ชาติทางเศรษฐกิจบางประการ” ท้ายบทความ เกษียร, “จุดอับทางเศรษฐกิจฯ”, น. 16 - 19.
7.เกษียร เตชะพีระ, จากระบอบทักษิณสู่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549: วิกฤตประชาธิปไตยไทย (กรุงเทพฯ: มูลนิธิ 14 ตุลา, 2550).
8. Pasuk Phongpaichit and Chris Baker, “Thaksin’s Populism”, Journal of Contemporary Asia, 38: 1(February 2008), 62 – 83. และ เกษียร เตชะพีระ, “ภาคสอง: ระบอบทักษิณ”, ใน บุชกับทักษิณ: ระบอบอำนาจนิยมขวาใหม่ไทย-อเมริกัน (กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2547), โดยเฉพาะหน้า 144 - 64.
9. พัชราภา ตันตราจิน, ความคิดทางสังคมการเมืองของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น, 2556), โดยเฉพาะหน้า 113 - 25, 146 - 58, 194 - 249, 285 - 91.
อนึ่งหนังสือเล่มนี้ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี พ.ศ.2551 ของผู้เขียนซึ่งเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
10. ดูการประเมินบทบาททางความคิดและการเคลื่อนไหวของเสกสรรค์ ประเสริฐกุลและกลุ่ม ป X ป ช่วงดังกล่าวได้ใน อุเชนทร์ เชียงแสน, “ประวัติศาสตร์ “การเมืองภาคประชาชน”: ความคิดและปฏิบัติการของ “นักกิจกรรมทางการเมือง” ในปัจจุบัน” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2556), บทที่ 1 หัวข้อ “ทบทวนวรรณกรรม” และบทที่ 4 หัวข้อ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและการเมืองภาคประชาชนในยุครัฐบาลชวน หลีกภัย”.
11. เกษียร เตชะพีระ, “ข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน: The Spectral Material Force”, มติชนรายวัน, 5ต.ค. 2555, น. 6.
12. ปรีดี พนมยงค์, “หมวดที่ 3 เค้าโครงการเศรษฐกิจและบันทึกบางประการที่เกี่ยวข้องกัน”, ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย: รวมข้อเขียนของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และโครงการ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย, 2526), หน้า 167 – 330. และ เกษียร เตชะพีระ, “ไตรลักษณ์ทางความคิดของปรีดี พนมยงค์”, เนชั่นสุดสัปดาห์, 9: 424 (17 – 23 ก.ค. 2543), 32 – 33.
13. อาทิ “การพบปะเจรจากันระหว่างนายกรัฐมนตรีโนดะและนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์”, สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, เข้าใช้ 1 มิ.ย. 2556, http://www.th.emb-japan.go.jp/th/policy/PM_111125.htm ; “ญี่ปุ่นให้ไทยทำตามแผนแก้ไขแก้น้ำท่วม "กิตติรัตน์"เผย2สัปดาห์มีความชัดเจน”, ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, สร้าง 29 พ.ย.2554, http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1322567626&grpid=03&catid=00 ; “นักลงทุนญี่ปุ่นรายเล็กแหยงน้ำท่วมขู่แผนจัดการไม่ชัดทิ้งไทยแน่-จี้ผุดโมเดลใหม่”, ข่าวสด, 9 ธันวาคม 2554,http://www.thaichamber.org/scripts/detail.asp?nNEWSID=4738. เป็นต้น
ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้นเพื่อรับมือแก้ไขผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตมหาอุทกภัยเมื่อปลายปี พ.ศ. 2554 จึงได้ให้สัมภาษณ์หลังรับตำแหน่งดังกล่าว โดยสะท้อนความจริงเรื่องนี้ว่า:
“ช่วงนี้ผมจะไปหารือกับญี่ปุ่น เพราะเป็นกลุ่มประเทศที่มีนักลงทุนรายใหญ่อยู่ในไทย ทั้งการผลิตและส่งออก
หากเขาต้องการเห็นอะไรก็จะช่วยทุกเรื่อง หรือบริษัทประกันภัยในญี่ปุ่นซึ่งรับประกันอุตสาหกรรมในไทย ถ้าจะรับประกันภัยร่วมกัน ต้องการเห็นหรืออยากได้อะไรก็บอกมา”
“ผมขอท่านทูตญี่ปุ่นจัดให้ไปพบและฟังข้อเสนอจากนักลงทุนญี่ปุ่นที่อยู่ในไทยและในญี่ปุ่น เพื่อถามเขาว่าช่วง 1 ปีข้างหน้า เมื่อการฟื้นฟูประเทศกลับมาสู่ภาวะปกติได้ บริษัทต่าง ๆ จะต้องรับแรงงาน 8 แสนคนกลับมาทำงานอย่างเดิมได้ จะให้ผมทำอะไรบ้าง จะไปหาไจก้าหรือรัฐบาลญี่ปุ่น ถามเขาว่าจะช่วยด้านเทคนิคหรือการเงินทางไหนได้บ้าง เรื่องเงินทองเท่าไรก็ต้องลง เพราะเราไม่ได้มีปัญหาด้านความมั่นคงทางการเงินการคลังเหมือนสมัยก่อนแล้ว”
“ผมเชื่อว่าถ้าเราทำสุดความสามารถอย่างนี้ เขาคงจะเห็นความตั้งใจกอบกู้สถานการณ์อย่างแท้จริง ให้ความเชื่อมั่นว่าเขาสามารถอยู่ประเทศไทยได้ต่อไป ไม่ต้องย้ายไปที่อื่น”
(“เปิดใจ...วีรพงษ์ รามางกูร ขอ 1 ปี ปรับโฉมประเทศฟื้นเชื่อมั่น-เศรษฐกิจ”, ประชาชาติธุรกิจออนไลน์,สร้าง 12 พ.ย. 2554,www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1321070016&grpid=no&catid=04)
อนึ่ง ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาสาธารณะเรื่อง “คิดใหม่ประชานิยม: จากรัฐบาลทักษิณถึงยิ่งลักษณ์ เราเรียนรู้อะไรบ้าง” ณ ห้องประชุมที่ทำการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ศกนี้ว่าท่านได้ทราบจากแวดวงผู้วางนโยบายรัฐบาลว่าอันที่จริงนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้นมีขึ้นเพื่อสนองตอบช่วยเหลือกระตุ้นยอดขายรถยนต์ของอุตสาหกรรมรถยนต์ต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นในประเทศไทยที่โรงงานของพวกเขาประสบความเสียหายอย่างหนักจากอุทกภัยใหญ่เมื่อปลายปี พ.ศ. 2554
14. “คำต่อคำ: เปิดใจแกนนำพันธมิตรฯ ลั่นพร้อมรบ “สนธิ”ย้ำชุมนุมต้องแตกหัก จี้ทหารร่วมมือปชช.ปฏิวัติ”, ผู้จัดการออนไลน์, สร้าง 20 ม.ค. 2555, www.manager.co.th/politics/viewnews.aspx?NewsID=9550000009019 ; ““ดร.อมร”ชำแหละเผด็จการนายทุนพรรคใช้ช่องโหว่ รธน.ยึดอำนาจรัฐเพื่อคอร์รัปชัน”, ASTVผู้จัดการออนไลน์, สร้าง 6 ก.พ.2555, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9550000016707;
““สยามประชาภิวัฒน์”เตือนถ้าไม่หยุดทุนผูกขาดแก้ รธน. จะเหลือทางแก้เดียวคือรัฐประหาร”, ประชาไทออนไลน์, สร้าง 7 ก.พ. 2555,http://prachatai.com/journal/2012/02/39140 ; “พธม.ถกสยามประชาภิวัฒน์ เห็นพ้องป้องสถาบัน ปฏิรูปโครงสร้างเพิ่มความรู้ ปชช.”, ASTVผู้จัดการออนไลน์, สร้าง 19 เม.ย. 2555,http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9550000048897 .
15. Andrew Walker, Thailand’s Political Peasants: Power in the Modern Rural Economy (Madison,Wisconsin: The University of Wisconsin Press, 2012), Section “The Nonagricultural Economy” pp. 74 – 80; และอภิชาต สถิตนิรามัย, “นโยบายอุดหนุนภาคชนบท: เมื่อภาคชนบทไม่ใช่ภาคเกษตรกรรม”, สร้าง 15 ม.ค. 2013,http://thaipublica.org/2013/01/subsidy-policy-for-rural/ .
16. มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด, “มายาคติว่าด้วยการเกษตรและประเทศไทย”, มติชนรายวัน, 29 ก.ค. 2552, น. 6; และ รองศาสตราจารย์ ดร. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, “โครงการวิจัย: ความเปลี่ยนแปลงและกระบวนการสร้างประชาธิปไตยใน “ชนบท”” (ฉบับร่าง 2555).
17. อภิชาต สถิตนิรามัยได้สรุปรวบยอดผลการค้นพบร่วมกันของทีมวิจัยไว้อย่างกระชับชัดเจนใน อภิชาต สถิตนิรามัย, “สองนคราประชาธิปไตยฉบับลัทธิแก้”, มติชนรายวัน, 6 พ.ค. 2556, น. 7; นอกจากนี้โปรดดู อารีรัตน์ ปานจับ, “เก็บตกจากงานสัมมนา”,วารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา, 30: 2 (ก.ค. - ธ.ค. 2554), 179 - 89. (http://socanth.tu.ac.th/wp-content/uploads/2012/09/JSA-30-2-seminar-report.pdf ) ซึ่งบันทึกการอภิปรายถกเถียงในงานสัมมนา “ภูมิทัศน์และการเมืองของการพัฒนาชนบทไทยร่วมสมัย” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 8 ก.ค.2554
18. Pun-arj Chairatana, “A Romance of the Rural Middle Class: An Interview with Professor Charles F.Keyes”, Trendnovation Southeast Issue 13: The Rural Challenge, accessed 1 June 2013,http://trendsoutheast.org/2011/dl/newsletter/issue13-w.pdf.
19. Naruemon Thabchumpon and Duncan McCargo, “Urbanized Villagers in the 2010 Thai RedshirtProtests: Not Just Poor Farmers?” Asian Survey, 51: 6 (November/December 2011), 993–1018.
20. สมชัย ภัทรธนานันท์, แต่ง, อัญชลี มณีโรจน์, แปล, “การเมืองของสังคมหลังชาวนา: เงื่อนไขการก่อตัวของคนเสื้อแดงในภาคอีสาน”, ฟ้าเดียวกัน, 10: 2 (ก.ค.-ธ.ค. 2555), 122 - 42.
21. เป็นข้อสรุปสอดคล้องต้องกันของงานวิชาการที่เอ่ยถึงในย่อหน้าก่อนนี้ทั้งหมด สำหรับตัวอย่างการแถลงเรื่องนี้อย่างกระชัดชัดเจน ดู Walker, Thailand’s Political Peasants, pp. 8 - 9; และอภิชาต, “สองนคราประชาธิปไตยฉบับลัทธิแก้”.
22. ขณะงานส่วนใหญ่พูดถึงกระบวนการทั้งสองควบคู่กันไป Andrew Walker กลับจำแนก 2 กระบวนการนี้จากกันและยืนกรานว่ามี deagrarianization แต่ไม่เกิด proletarianization หรือ depeasantization กล่าวคือยังมีชาวนาอยู่ในบางความหมาย ดู Walker, Thailand’s Political Peasants, pp.9 – 10, 34 – 36, 74 – 75, 120 – 21.
23. Walker, Thailand’s Political Peasants, section “From Taxation to Subsidy” pp. 49 – 56; อภิชาต, “สองนคราประชาธิปไตยฉบับลัทธิแก้”.
24. Walker, Thailand’s Political Peasants, section “The Rise of the Middle-Income Peasantry” pp. 36 – 44;อารีรัตน์, “เก็บตกจากงานสัมมนา”, น. 180 – 81.
25. คำแรกเป็นของ Charles F. Keyes จาก Pun-arj, “A Romance of the Rural Middle Class”; ส่วนคำหลังเป็นของ Andrew Walker จาก Thailand’s Political Peasants, pp. 65 – 67.
26. Walker, Thailand’s Political Peasants, pp. 8 – 9, 21 – 22, 44 – 56.
27. Walker, Thailand’s Political Peasants, pp. 10 – 33, 190 – 218.
28. “อะไรคือสยามประชาภิวัฒน์ สัมภาษณ์ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต”, Siam Intelligence, สร้าง 19 มี.ค.2012, http://www.siamintelligence.com/phichai-rattanadilok-na-phuket-interview/
29. คำถามนี้แฝงอยู่ในคำบรรยายของ Andrew Walker ซี่งเรียกสถานการณ์ดังกล่าวนี้ว่าเป็น “dilemmas of its (the peasantry’s) preservation” ดู Walker, Thailand’s Political Peasants, p. 56, 220 – 21.
30. Walker, Thailand’s Political Peasants, pp. 22 – 24, 26, 145, 165, 213, 223 – 27, 229 – 30.
ทว่าถึงแม้สังคมการเมืองชนบทดังกล่าวจะบกพร่องไม่สมบูรณ์แบบ แต่กระนั้น Andrew Walker ก็ยังเห็นว่ามันมีคุณสมบัติบางอย่าง (หลากหลาย, ทรงไว้ซึ่งเกณฑ์วินิจฉัยเชิงคุณค่าของตน, สอดคล้องกับความเป็นจริงของการเมืองไทยปัจจุบัน) ที่จะเป็นความหวังที่ดีที่สุดในการพัฒนาไปเป็นประชาธิปไตยของสังคมไทยต่อไป (pp. 230 –32).
31. โดยเฉพาะชุดปาฐกถาแก่โรงเรียนนายทหาร 3 เหล่าทัพของประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พลเอกเปรมติณสูลานนท์ ได้แก่ “พล.อ. เปรมปลูกจิตสำนึกนายร้อยจปร. เป็นทหารของชาติ ทหารของพระเจ้าอยู่หัว”, มติชนรายวัน, 15 ก.ค. 2549, น. 2; พลเอกเปรม ติณสูลานนท์, “บทบรรยายพิเศษในหัวข้อการเสริมสร้างการเป็นผู้นำด้วยหลักคุณธรรม ความพอเพียงและความเสียสละของ พลเรือเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ณ โรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2549”, นาวิกศาสตร์, 90: 2 (ก.พ. 2550), www.navy.mi.th/navic/document/900202a.html ; และ “‘เปรม’ ย้ำสำนึกทหารอาชีพ ให้ถอยห่าง ‘คนไม่ดีแต่มีเงิน’”, มติชนรายวัน, 1 ก.ย.2549, น. 2.
32. สมบัติ จันทรวงศ์, “ความแตกแยกของธรรมวิทยาแห่งพลเมืองกับมุมมองทางปรัชญาการเมือง: ข้อสังเกตเบื้องต้น” (คำบรรยายพิเศษในการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 11, 2553,http://www.scribd.com/doc/63522618/ความแตกแยกของธรรมวิทยาแห่งพลเมืองกับมุมมองทางปรัชญาการเมือง-ข้อสังเกตเบื้องต้น ). และ สมบัติ จันทรวงศ์, “ประชาธิปไตยไทย: ปรัชญาและความเป็นจริง” (บทความวิจัยในโครงการวิจัย วิกฤตความแตกแยกของธรรมวิทยาแห่งพลเมือง: การศึกษาคำประกาศธรรมของประกาศกร่วมสมัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2555). ตัวอย่างงานวิจัยที่โดดเด่นน่าสนใจอีกชิ้นหนึ่งในโครงการวิจัยนี้ได้แก่ ศุภมิตร ปิติพัฒน์, บทวิพากษ์ธรรมวิทยาแห่งพลเมืองของประกาศกร่วมสมัย: เกษียร เตชะพีระ, ธงชัย วินิจจะกูล, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (กรุงเทพฯ:สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยและโครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2555).
33. สมบัติ, “ความแตกแยกของธรรมวิทยาแห่งพลเมือง”, น. 13.
34. โปรดพิจารณา C.A.J. Coady, Messy Morality: The Challenge of Politics (Oxford: Clarendon Press,2008). โดยเฉพาะบทที่ 1 Morality, Moralism, and Realism
35. ทรรศนะของ Hannah Arendt ในบทความ “Truth and Politics” อ้างถึงและอธิบายใน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์,ความรุนแรงกับการจัดการ “ความจริง”: ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2551), น. 30 - 32.
36. นิธิ เอียวศรีวงศ์, “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย”, สุพจน์ แจ้งเร็ว, บรรณาธิการ, ชาติไทย, เมืองไทย,แบบเรียนและอนุสาวรีย์: ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐและรูปการจิตสำนึก (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ มติชน, 2538), หน้า 136 – 71. และ ยุกติ มุกดาวิจิตร, “คนเสื้อแดงกับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย”, วิภาษา, 3: 2 (1 พ.ค. – 15 มิ.ย.2552), 26 – 34.
37. แน่นอนว่านี่มาจากการอ่านตีความประยุกต์ The Prince ของ Machiavelli และแนวคิดการเมืองแห่งความไม่รุนแรงของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ท่านที่สนใจโปรดดูหัวข้อ Ideological Nonviolence ใน Thomas Weber and Robert J. Burrowes, “Nonviolence: An Introduction”, accessed 2 June 2013, www.nonviolenceinternational.net/seasia/whatis/book.php.
- See more at: http://www.prachatai3.info/journal/2013/06/47427#sthash.ew0V9I6k.dpuf