วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

‘ยิ่งลักษณ์’ ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาคดีจำนำข้าว ทนายเผยสำนวน ปปช.มีพิรุธ




Tue, 2015-05-19 13:54


น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาในการพิจารณาคดีรับจำนำข้าวนัดแรก ทีมทนายเผยพบพยานหลักฐานในสำนวน ปปช.มีพิรุธ ด้านศาลอนุญาตให้ประกันตัวพร้อมเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ

19 พ.ค.2558 เวลา 09.30 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดพิจารณาคดีครั้งแรกโดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีละเลยไม่ดำเนินการยับยั้งโครงการจำนำข้าว ส่งผลให้รัฐเกิดความเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่มิชอบสร้างความเสียหายแก่รัฐ และความผิดตามมาตรา 123/1 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ. 2542

บีบีซีไทย รายงานว่าองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ ทั้ง 9 คน ได้ออกนั่งบัลลังก์และสอบถามว่าจำเลยจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ โดย น.ส. ยิ่งลักษณ์ยืนยันให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและขอต่อสู้คดี โดยศาลอนุญาตให้ยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 3 กรกฎาคม และนัดตรวจพยานในวันที่ 21 และ 28 กรกฎาคมนี้

ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ในวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แถลงตอบศาลด้วยสีหน้าเรียบเฉย ขณะที่ นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยว่า ได้ยื่นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นบัญชีเงินฝาก จำนวน 30 ล้านบาท พร้อมแสดงความมั่นใจในพยานหลักฐาน และเห็นว่าพยานหลักฐานในสำนวนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พบข้อพิรุธและความน่าเชื่อถือของพยาน เพราะพยานบางคนออกจากราชการและหนีหมายจับ สำหรับการยื่นบัญชีพยานนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะต้องเดินทางมาด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ ภายหลังการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอนุญาตโดยมีเงื่อนไขห้าม น.ส. ยิ่งลักษณ์เดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

ประยุทธ์ เผยมติ คสช.-ครม. ให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


Tue, 2015-05-19 14:39


ประยุทธ์ เผยมติ คสช.-ครม. ให้แก้ รธน. ชั่วคราว เปิดช่องทำประชามติร่าง รธน. ฉบับใหม่ ย้ำ คสช. จะไม่ยุ่งกับกระบวนการ

19 พ.ค. 2558 ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า เวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงว่า มติการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อให้ทำประชามติ ทั้งนี้ยังคาดไม่ได้ว่าจะทำประชามติในเดือนไหน แต่กรอบเวลาจะเหมือนประชามติที่เคยทำกันมา ซึ่งโรดแมปก็ต้องเลื่อนออกไปอยู่แล้วถ้ามีการทำประชามติ โดยการทำประชามตินั้น คสช.จะไม่เข้าไปยุ่ง

ด้าน มติชนออนไลน์ รายงานว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย กล่าวภายหลังการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.)และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าที่ประชุมมีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 เพื่อเปิดทางให้มีการทำประชามติในอนาคตโดยเร็วซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่ง ครม.และคสช.จะเป็นผู้เสนอแก้ไขโดยให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)แก้ไขเพิ่มเติมภายใน15 วัน ทั้งนี้การทำประชามติขึ้นอยู่กับการพิจารณารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ในวันที่ 6 ส.ค. ด้วย

ขณะเดียวกันที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ดำเนินการในการจัดการทำประชามติ โดยจะต้องพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญและแจกให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 47 ล้านคน ซึ่งจะใช้เวลา 2-3 เดือน นอกจากนี้จะต้องทำความเข้าใจกับประชาชน อีก 1 เดือน ทำให้การทำประชามติอาจใช้เวลาออกไป 3-4 เดือน โดยจะดำเนินการให้เร็วที่สุด ซึ่งไม่อาจกำหนดวันที่แน่ชัดได้แต่จะไม่เกิน เดือนมกราคม ปี 2559 ซึ่งการทำประชามติมีข้อเสียในเรื่องของงบประมาณในการทำที่สูงถึง 3,000 ล้านบาท และทำให้ต้องยืดเวลาออกไปและอาจเกิดการรณรงค์บางอย่างที่ทำให้สังคมเกิดความขัดแย้งได้ จึงต้องฟังเสียงความต้องการที่แท้จริงของประชาชน

ทั้งนี้หากการทำประชามติผ่านความเห็นชอบในเดือน ม.ค. 2559 ก็จะต้องมีการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาด้วยโดยคาดว่าจะใช้เวลารวม 4 เดือน ก่อนมีการประกาศใช้ และต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งภายใน 90 วัน หรือภายในเดือน ส.ค. ถึง ก.ย.

วิษณุ ระบุด้วยว่า ที่ประชุมร่วม ครม.-คสช.ได้เสนอให้เพิ่มเวลาในการแก้ไขจากเดิมเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีกรอบเวลาเพียง60 วัน เป็น 90 วัน เนื่องจากมีฝ่ายต่างๆเสนอให้แก้ไขจำนวนมาก ที่ประชุมจึงเห็นว่ามีความสำคัญจึงจัดประชุม ครม.นัดพิเศษเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆอีกครั้งในวันที่ 25 พ.ค. พร้อมกันนี้จะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลการร่างรัฐธรรมนูญด้วย

กมธ. ปฏิรูปสาธารณสุข สปช. เตรียมดัน 3 กองทุนประกันสุขภาพต้องเท่าเทียม




Tue, 2015-05-19 19:01


กมธ. ปฏิรูประบบสาธารณสุข สปช. เตรียมเสนอให้ ปรับปรุงคุณภาพการรักษาพยาบาล และสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานให้เท่าเทียมกันทั้ง 3 กองทุน (ข้าราชการ-ประกันสังคม-บัตรทอง) เผยเตียมตั้งศูนย์ข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพระดับชาติ

19 พ.ค. 2558 เว็บรัฐสภา รายงานว่า พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ แถลงข่าวถึงข้อเสนอการปฏิรูประบบสาธารณสุขของคณะกรรมาธิการ ในประเด็นการความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนหลักประกันสุขภาพ ซึ่งได้แก่ กองทุนสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ กองทุนระบบประกันสุขภาพ และกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 กองทุนมีความแตกต่างกันในเรื่องสิทธิการเบิกค่ารักษาพยาบาล การได้รับยาเพื่อรักษาแตกต่างกัน โดยกองทุนสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการจะได้รับสิทธิที่ดีกว่าอีก 2 กองทุน และก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลอย่างชัดเจน

ดังนั้นคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุขจึงมีความเห็นว่า ควรปรับปรุงคุณภาพการรักษาพยาบาลให้อยู่ในระดับเดียวกัน รวมทั้งปรับให้สิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกันทั้ง 3 กองทุน ขณะเดียวกันจะเสนอให้ตั้งศูนย์ข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพระดับชาติ แต่ตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ติดตามประเมินการักษาพยาบาล และผลลัพธ์ของรักษาเชื่อมโยงระหว่าง 3 กองทุน อย่างต่อเนื่อง เพื่อแลกเปลี่ยนแปลงข้อมูลระหว่างกองทุน

‘อภิสิทธิ์’ พร้อมลาออกจากหัวหน้าพรรค หาก ปชป.แพ้เลือกตั้งครั้งหน้า



Tue, 2015-05-19 21:21


19 พ.ค.2558 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง ด้วยการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ชนะเลือกตั้งครั้งหน้า

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์กล่าวในการบรรยายที่มหาวิทยาลัยรังสิตว่า จะวางมือทางการเมืองหากแพ้เลือกตั้งครั้งหน้า โดยในวันนี้นายอภิสิทธิ์กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เป็นเรื่องปกติของความรับผิดชอบของผู้นำองค์กร เขาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มา 10 ปี และหากลงเลือกตั้งพรรคไม่ประสบความสำเร็จ ก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยเปิดโอกาสให้คนอื่นเพื่อให้พรรคมีการเปลี่ยนแปลง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า หมายถึงจะออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคและยุติการเป็น ส.ส.ใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หากได้รับเลือกตั้งก็อาจจะเข้าไปทำหน้าที่เป็น ส.ส. และกล่าวว่า ตั้งใจให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคทางเลือกของประชาชนที่นำไปสู่การปฏิรูปประเทศ โดยระหว่างนี้ก็ต้องปฏิรูปภายในพรรคเพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจ และหากทำไม่สำเร็จก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ

เปิดบันทึกเจรจา ‘นปช.-ส.ว.’ ก่อนสลาย 19 พ.ค.53 ทำไมถึงประณาม "มาร์ค" ว่าหักหลัง



1 วันก่อนสลายชุมนุม ส.ว. ยินดี นปช.ยอมละทิฐิลงมาแล้ว

        ซึ่งก่อนที่จะมีการเจรจาดังกล่าว มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า นฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ ตัวแทนกลุ่ม 64 ส.ว.เปิดเผยว่า หลังจากทราบข่าวล่าสุดว่า ตอบรับข้อเสนอของวุฒิสภาที่จะให้นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นคนกลางเจรจา จึงได้ประสานไปยังนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุมิสภาคนที่ 1 ให้ประสานกับนายประสพสุข เร่งดำเนินการประสานไปยังรัฐบาลเพื่อตอบสนองนำทั้งสองฝ่ายมาตั้งโต๊ะเจรจา ตนขอวิงวอนให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้มีการเจรจาโดยด่วน ต้องยุติการปฏิบัติการที่นำมาซึ่งความรุนแรง และความสูญเสียชีวิตประชาชนไปมากกว่านี้

"ขณะนี้ถือว่าน่ายินดีที่ฝ่ายหนึ่งยอมละทิฐิลงมาแล้ว รัฐบาลก็ต้องละทิฐิลงมาด้วยต้องมานั่งโต๊ะเจรจา เพื่อประโยชน์ของประเทศและคนไทย เราไม่ต้องรอให้องค์กรระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติมาไกล่เกลี่ย ดิฉันเชื่อว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ยังเป็นกลาง เราอาสามาทำหน้าที่ตรงนี้อย่างตรงไปตรงมา ไม่มีนัยแอบแฝงอะไร" นฤมล กล่าว

พล.ท.ดาว์พงษ์ แถลงปฏิบัติการลักษณะเหมือนในสนามรบ
          อย่างไรก็ตามในเช้าวันรุ่งขึ้น(19 พ.ค.53) ก็เกิดการสลายการชุมนุมในลักษณะเหมือนในสนามรบ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย ตามคำแถลงของ พล.ท.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองเสนาธิการทหารบ (ยศขณะนั้น) ได้แถลงถึงการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ที่แสดงให้เห็นว่ามีการเคลื่อนกำลังเข้าหากลุ่มผู้ชุมนุมในวันต่อมาว่า “เรามียานเกราะ มีการเคลื่อนที่เข้าไปในลักษณะเหมือนในสนามรบ ซึ่งต้องยอมรับว่าการจัดกำลังเข้าดำเนินการในครั้งนี้เราไม่ได้ทำเหมือนกับการควบคุมฝูงชน ถ้าหากย้อนไปก่อนหน้านี้จะเห็นภาพของทหารถือโล่ กระบอง เดินเข้าไปเป็นรูปขบวนปึกหนาๆ เข้าไปประจันหน้ากับผู้ชุมนุม อันนี้เป็นการควบคุมฝูงชนปกติ”

"สว.ประณาม "มาร์ค" หักหลัง

        หลังจากที่มีการสลายการชุมนุม วันที่ 20 พ.ค.53 ข่าวสด รายงานในหัวข้อข่าว "สว.ประณาม "มาร์ค"หักหลัง" ด้วยว่า นฤมล ตัวแทนที่ไปเจรจากับแกนนำนปช. กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังที่รัฐบาลเข้าปฏิบัติการทั้งที่นายกฯพูดกับประธานวุฒิสภาให้วุฒิสภาเดินหน้าเจรจา แต่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต. ประจำสำนักนายกฯ และ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกฯ กลับพูดต่อสาธารณะอีกอย่างหนึ่ง ทำแบบนี้เหมือนหักหลังวุฒิสภา

       ขณะที่ในวันเดียวกัน นายยุทธนา ยุพฤทธิ์ ส.ว.ยโสธร ตัวแทนที่ไปเจรจากับแกนนำนปช. กล่าวว่า เย็นวันที่ 18 พ.ค. ทั้งนปช.และรัฐบาลส่งสัญญาณบวก แต่เมื่อมีการสลายการชุมนุมชี้ชัดว่ารัฐบาลขาดความจริงใจตั้งแต่แรก เมื่อเช้านายกอร์ปศักดิ์ประสานมาว่า นายกฯระบุเจรจาจบนานแล้ว แสดงว่าฝ่ายบริหารไม่เห็นว่าสภาสูงมีความหมาย ทั้งนี้สังคมเตือนแล้วแต่รัฐบาลใช้ความรุนแรงจากหนักไปหนักกว่าทุกครั้ง

          ต่อมาภายหลังจากแกนนำนปช.ประกาศยุติการชุมนุมและเข้ามอบตัว กลุ่มส.ว.ไม่นิยมความรุนแรงออกแถลงการณ์ว่า ขอบคุณและชื่นชมในความเสียสละของแกนนำที่เสียสละอิสรภาพเพื่อแลกกับเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์ และภาพลักษณ์ประเทศชาติโดยรวม วุฒิสภาขอให้คำมั่นว่าจะติดตามการใช้กระบวนการยุติธรรมแก่แกนนำทุกคน และผู้อยู่ในข่ายที่ต้องรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ให้ได้รับความยุติธรรมตามกฎหมาย วุฒิสภาขอประณามรัฐบาลที่ไม่ตอบรับข้อเสนอด้วยความจริงใจในการเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหาด้วยวิธีสันติ ทั้งที่ประสานกันไว้แล้ว จนเกิดการบาดเจ็บ สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน วุฒิสภาเห็นว่านับจากนี้ต่อไปรัฐบาลมิอาจปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้นครั้งนี้ได้

วิวาทะต่อ ‘อภิสิทธิ์’ กับ ‘ส.ว.’ ที่ประชุมคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมืองวุฒิสภา

         รายการเรื่องเล่าเช้านี้วันที่ 29 สิงหา 54 รายงานด้วยว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวชี้แจง ณ ที่ประชุมคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมืองวุฒิสภา ซึ่งรายการเรื่องเล่าเช้านี้ได้เสนอข้อถกเถียงระหว่างอภิสิทธิ์ กับ นฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ สั้นๆ เกี่ยวกับการเจรจาและเข้าสลายการชุมนุมวันที่ 19 พ.ค. 53



         "วันรุ่งขึ้นที่พวกเรามาพบกันมันถึงเกิดความรู้สึกว่า ไม่ได้ให้เกียรติหรือคำว่า ส.ว. ถูกหักหลัง มันถึงเกิดขึ้น" นฤมล

        ด้านอภิสิทธิ์ โต้กลับทันทีว่า "ไม่มีครับ ผมพูดชัดเจน คุยกันช่วงบ่ายภายในกี่โมงๆ การปะทะต้องหยุด ถ้าไม่หยุดนี่ผมไม่สามารถไปคอยบอกกับผู้บฏิบัติว่าคุณต้องไม่ทำอะไรทั้งสิ้นได้ เพราะฉะนั้นคุยกับท่านประธานเรียบร้อย พอเลยเวลาปั๊บก็บอกว่าจบ จบคือจบเท่านั้นเองครับ"

"ก็ได้หวังว่าจะมีการยืดหยุ่นเพื่อให้โอกาสในการสูญเสียมันน้อย" นฤมล กล่าว
"ผมเห็นใจครับผมเห็นใจ ย้ำอีกครั้งถ้าในวันที่ 19 (พ.ค.53)ถ้าไม่มีการเข้าไปในสวนลุม คิดว่าความสูญเสียจะน้อยหรือมากกว่านี้ ผมยืนยันได้เลยว่ามากกว่านี้เยอะเลยครับ เพราะเงื่อนไขของการสูญเสียตอนนั้นอยู่ที่การไม่จบของการที่มีคนมาปะทะกับเจ้าหน้าที่ซึ่งตั้ง อยู่ 4 ด้านอะครับ แต่ว่าผมก็เห็นใจเพราะท่านก็เข้าไปเจรจา ท่านก็อาจจะไม่ทราบว่าเงื่อนเวลาอะไรต่างๆเป็นอย่างไร แล้วก็ต้องขอเรียนว่าบังเอินพวกผมนี่ เจรจาแบบนี้มาเยอแล้วอะครับ ที่บอกว่าเวลาอย่างนี้แล้วมันก็ไม่จบไม่จบ" อภิสิทธิ์ กล่าว