วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ประชามติ ชวนโหวตเห็นด้วยหรือไม่ ใช้ มทบ.11 เป็นเรือนจำชั่วคราว


เว็บไซต์ประชามติ ชวนโหวต และแสดงความคิดเห็น ต่อการใช้กองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 เป็นเรือนจำชั่วคราว เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัย และความเหมาะสมในการคุมขังผูต้องหา “คดีพิเศษ”
10 พ.ย. 2558 ผู้สื่อข่าวรายว่า เว็บไซต์ประชามติ (www.prachamati.org) ได้เปิดให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตร่วมโหวต และแสดงความคิดเห็นต่อประกาศของกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2558 เรื่อง กำหนดอาณาเขตเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนนครไชยศรี โดยกำหนดให้ กองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 เป็นเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี เพื่อใช้เป็นสถานที่คุมขังผู้ต้องขัง ภายใต้สังกัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยให้ตั้งอยู่ในพื้นที่กองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 ถ.พระราม 5 (มทบ.11)
เพื่อเป็นประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัย และความเหมาะสมในการคุมขังและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับ ความมั่นคงของรัฐ และคดีอื่นที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นผู้ต้องขังประเภท "มีเหตุพิเศษ"
เว็บไซต์ประชามติระบุว่า โดยหลักการแล้ว เรือนจำพิเศษมีขึ้นเพื่อแยก "ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี" ออกจาก "ผู้ต้องโทษจำคุก" ที่ศาลพิพากษาแล้ว แต่เมื่อพิจารณาจากเหตุผลของรัฐจะเห็นว่า "เรือนจำในค่ายทหาร" เป็น "เรือนจำพิเศษ" ที่ตั้งขึ้นเพื่อเหตุผลด้าน "ความมั่นคง" เป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ ผู้ดูแลเรือนจำดังกล่าวจะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร 20 นาย และเจ้าหน้าที่เรือนจำ 4 นาย
ที่ผ่านมา เรือนจำดังกล่าวถูกใช้เพื่อควบคุมตัวอาเดม คาราดัก และไมไรลี ยูซูฟู  ผู้ต้องขังคดีระเบิดแยกราชประสงค์ แต่ทว่าปัจจุบัน เรือนจำแห่งนี้ ถูกใช้ในการควบคุมตัวผู้ต้องหาจากกระทำความผิดฐาน "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" ตาม ป.อาญา มาตรา 112 โดยมีผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวไว้ ได้แก่ สุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ "หมอหยอง", จิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ คนสนิทของหมอหยอง และ พ.ต.ต. ปรากรม วารุณประภา หรือ "สารวัตรเอี๊ยด"
หากเปรียบเทียบจากคดีในลักษณะเดียวกันการควบคุมผู้ต้องหาคดีอาวุธหลังรัฐประหารได้ รวมไปถึงคดีมาตรา 112 จากการแอบอ้างสถาบันเรียกรับผลประโยชน์อื่นๆ  ก็ล้วนแล้วแต่อยู่ในการควบคุมตัวอยู่ของเรือนจำปกติ ไม่เว้นแม้แต่คดี พล.ต.ต. พงศ์พัฒน์
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าผู้ต้องขังอย่างน้อยสองคน คือ สุริยัน และพ.ต.ต. ปรากรม เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว ซึ่งก่อให้เกิดคำถามต่อสังคมถึงระบบภายในเรือนจำ ระบบการดูแลผู้ต้องหา ว่าได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยต่อชีวิตของผู้ต้องหา และสมควรหรือไม่ ที่รัฐมีอำนาจแยกผู้ต้องหามาควบคุมเป็นการเฉพาะ

ประยุทธ์แนะไทยดูเลือกตั้งพม่าเป็นตัวอย่าง ใช้สิทธิ80% ชี้ปชต.ไม่ใช่นอนอยู่บ้านเฉยๆ


10 พ.ย.2558 นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จะมีสารแสดงความยินดีต่อการจัดการเลือกตั้ง ถึงนายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (อ่านรายละเอียด) แล้ว
วันเดียวกัน ระหว่างแถลงข่าวถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม) ณ ตึกบัญชาการ1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังแนะให้คนไทยดูการเลือกตั้งของพม่าเป็นตัวอย่างที่มีผู้มาใช้สิทธิจำนวนมาก ซึ่งแสดงถึงความรับผิดชอบและการร่วมกำหนดชะตากรรมบ้านเมืองของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และเรียกร้องให้การทำประชามติและการเลือกตั้งครั้งหน้าออกมาใช้สิทธิให้ครบ
“สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือดูตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านเราเขาเลือกตั้ง 80 % คนออกมาเลือก ไทยถึงที่ไหน มีคนเลือกตั้งกี่ล้าน 40 50 ล้าน ที่มีสิทธิเลือกตั้ง ออกมาเลือก 10 กว่าล้าน 20 ล้าน แล้วนี่หรอคนเหล่านี้เป็นคนกำหนดชะตากรรมบ้านเมือง อนาคตบ้านเมืองหรอ ที่เหลือไม่ออกมา เพราะว่าไม่ชอบการเมือง แต่พอการเมืองเขาทำอะไรไม่ดีออกมา ก็ เอ้ยผมไม่ได้เลือกมา มันไม่รับผิดชอบ อย่างนี้ไม่ได้นะ”
“ผมคิดว่าครั้งหน้าต้องออกมาให้ครบ ประชามติให้ครบ ผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด กี่คนล่ะ ไม่ว่าจะเป็นทำประชามติหรือเลือกตั้ง ชอบไม่ชอบอย่างไรก็มาแสดงความรับผิดชอบของตัวเอง นั่นล่ะเขาเรียกประชาธิปไตย ประชาธิปไตยแล้วนอนอยู่บ้านเฉยๆ แล้วติติงทุกอย่าง ผมว่าไม่ใช่” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นอกจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการตรวจสอบนโยบายต่างๆ ให้เข้าสู่กระบวนการทางศาล ไม่ใช่ออกมาสู้กันนอกศาล เพราะบ้านเมืองจะวุ่นวาย ประชาชนสับสน สื่อเองก็สับสนด้วย
“เมื่อมันเข้ากระบวนการยุติธรรมก็ให้กระบวนการยุติธรรมเขาว่าไป” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ทำอะไรก็ได้เพราะว่าโตแล้ว และมี ม.44 : สำรวจการใช้อำนาจพิเศษยุค คสช.


เป็นที่ทราบกันดีว่า หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองตามรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) พ.ศ.2557 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ให้อำนาจพิเศษกับหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) หากเห็นว่ามีความจําเป็นเพื่อประโยชน์ ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคง ของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร
โดยให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผ่านความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทําการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่ง หรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด
ตั้งแต่มีการยึดอำนาจจนถึงปัจจุบันมีการอาศัยอำนาจตามมาตราดังกล่าว ประกาศคำสั่งไปแล้วทั้ง 34 คำสั่ง ซึ่งสามารถประกาศเพิ่มได้อีกเท่าที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีเห็นว่ามีความจำเป็น ทั้งนี้เมื่อสำรวจลงไปในคำสั่งพบว่ามีการประกาศแต่งตั้งโยกย้าย และสั่งปลดข้าราชการ รวมทั้งคณะกรรมการต่างๆ ในองค์กรของรัฐเป็นจำนวนมาก มีการประกาศใช้เพื่อเวนคืนที่ดินใน 5 พื้นที่เพื่อเป็นที่ราชพัสดุ รองรับโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ประกาศให้ประธาน ปปช. ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ยังดำรงอยู่ในตำแหน่งแม้จะอายุ 70 แล้วก็ตาม ประกาศถอดยศ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ประกาศห้ามผู้ค้ารายย่อยขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา 80 บาท และอื่นๆ อีกมากมาย
การใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 (รวบรวมถึงวันที่ 10 พ.ย. 2558)
หมายเหตุ : ฐานข้อมูลจาก iLaw
1.งดเลือกตั้งสภาองค์กรการปกครองท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว
ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 1/2557 เรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว โดยคำสั่งนี้กำหนดให้สมาชิกสภาท้องถิ่นในองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะพ้นจากตําแหน่งเนื่องจากครบวาระ ยังคงอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป กรณีที่สมาชิกสภาท้องถิ่นพ้นจากตําแหน่งเพราะสาเหตุอื่นนอกจากครบวาระ ให้สภาท้องถิ่นคงจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ โดยไม่ต้องทำการคัดเลือกสมาชิกแทนตําแหน่งที่ว่าง ยกเว้นสมาชิกเหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกสภาท้องถิ่นตามกฎหมายว่า ด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้สรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 85/2557 ทั้งนี้ ไม่ให้คำสั่งนี้มีผลบังคับกับกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา และให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งสองแห่งที่ได้รับการคัดเลือกตามประกาศ คสช.ที่ 85/2557 ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
2.ร่างกฎครอบจักรวาล ใช้แทนกฏอัยการศึก
เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2558 ได้มีการประกาศยกเลิกกฏอัยการศึกษา ทว่าในวันเดียวกันได้มีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทําที่บ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีหน้าที่ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง และการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคสช. โดยมีอำนาจออกหมายเรียกให้มารายงานตัว สอบสวน จับกุม พร้อมทั้งออกคำสั่งห้ามผู้ใดชุมนุมทางการเมือง เกิน 5 คน
3.ให้อำนาจบังคับใช้กฏหมายกับทหาร
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 4/2558 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และประชาชนโดยรวม ได้กำหนดให้ เจ้าหน้าที่ทหารบังคับใช้กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มประโยชน์สาธารณะ เช่นแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่สาธารณะ ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และการใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะกีดขวางทางจราจร
4.แก้กฎครอบจักวาล ให้นายสิบ ทหารเกณ์ อาสาทหารพราน เป็น ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 5/2558 แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 มีสาระสำคัญคือการแก้ไข ความหมายของคำว่า “ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” ให้ครอบคลุมมากขึ้น จากเดิมที่ระบุเพียงแค่ข้าราชการทหารซึ่งมียศต่ำกว่าชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ลงมา ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งให้ปฏิบัติการ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่5/2558 ให้หมายความรวมถึง ทหารประจําการ ทหารกองประจําการ และอาสาสมัครทหารพรานด้วย
5.แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ 6 คน
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 6/2558 เรื่องการกำหนดตำแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง โดยมีการโยกย้ายข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ 6 ตำแหน่ง เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการมี ประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
6.ล้างบอร์ด สกสค.
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 7/2558 เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการบริหารองค์กรการค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการ โดยกำหนดให้ กรรมการคุรุสภา กรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา และกรรมการในคณะกรรมการบริหารองค์กรการค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการ พ้นจากตำแหน่ง โดยยังไม่ต้องมีการสรรหาไม่จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
7.ปลดข้าราชการผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2558 เรื่องการให้ข้าราชการสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ โดยสั่งให้ พิชิต นิลทองคำ จัดหางานจังหวัดชลบุรี สิ้นสุดการทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว เพื่อให้การแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวและปัญหาจากการค้ามนุษย์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
8.ระงับการสรรหา กสทช. แทนตำแหน่งว่าง
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 8/2558 เรื่องการเลือกกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  โดยกำหนดให้ ยังไม่ต้องดําเนินการสรรหาและคัดเลือกบุคคลใดดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช. แทนตําแหน่งที่ว่างลง
9.ตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 10/2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม โดยมีการสั่งให้ตั้ง ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เป็นศูนย์เฉพาะกิจขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ จัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติในการแก้ไขปัญหา การประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และให้อำนาจควบคุม สั่งการ กำกับดูแล และประสานการปฏิบัติการทั้งปวงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และส่วนราชกาชออื่นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
10.ล้างบอร์ดกองสลาก ห้ามผู้ค้ารายย่อยขายหวยเกิน 80 บาท
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 11/2558 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล มีสาระสำคัญคือ ให้คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่ง และมิให้แต่งตั้งคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล จนกว่าหัวหน้าคสช.จะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง และให้คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดใหม่ ประกอบด้วย ผู้ที่หัวหน้าคสช.แต่งตั้ง เป็นประธาน มีผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ผู้แทนสานักงบประมาณ ผู้แทนสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ และผู้ที่คสช.แต่งตั้งเป็นกรรมการไม่เกิน 3 คน ผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นกรรมการและเลขานุการ
พร้อมทั้ง ให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 มาตรา 39 จากเดิมระบุว่า ผู้ใดเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้และยังไม่ได้ ออกรางวัลเกินราคาที่กำหนดในสลากกินแบ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท เป็นผู้ใดเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ออกตามพ.ร.บ.นี้และยังไม่ได้ออก รางวัลเกินราคาที่กาหนดในสลากกินแบ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
11.ต่ออายุ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ให้เป็น ปปช.ต่อไปก่อน แม้อายุ 70 แล้ว
คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 12/2558 เรื่องประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติอยู่ในตำแหน่งต่อไป โดยสั่งให้ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากอายุเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ ดำรงตำแหน่งต่อไปจนถึงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558 เพื่อให้ครบกำหนดวาระพร้อมกับกรรมการอีก 4 คน ในวันที่ 9 กัยยายน 2558
12.ปรับองค์ประกอบกรรมการสรรหา ปปช.
คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 13/2558 เรื่อง การสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เนื่องจากปัจจุบันไม่มีผู้ดํารงตําแหน่งผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประกอบกับประธานศาลปกครองสูงสุดก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงขาดตำแหน่งกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไป จึงมีการกำหนดให้แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาโดยการเพิ่มผู้แทนจากฝ่ายบริหาร ให้กรรมการสรรหามีที่มาจากอํานาจทั้งสามฝ่าย โดยให้รองนายกรัฐมนตรีที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นกรรมการสรรหาด้วย
13.สั่งพักงานข้าราชการ 45 คน ที่มูลเหตุว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ
คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 16/2558 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบและการกำหนดกรอบอัตรา กำลังชั่วคราว โดยมีสาระสำคัญคือ สั่งพักงานข้าราชการจำนวน 45 คน ซึ่งมีมูลเหตุว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ 
14.กำหนด 5 พื้นที่ ให้ตกเป็นที่ราชพัสดุ เพื่อดำเนินโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 17/2557 เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หัวหน้า คสช. อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญเพื่อเร่งรัดกระบวนการให้ได้มาซึ่งพื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้ที่ดินตกเป็นที่ราชพัสดุ และให้มีผลเป็นการเพิกถอนสภาพที่ดินต่างๆ 
15.ให้กรรมการหรือคณะกรรมการตามกฎหมายบางฉบับปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
คำสั่งฉบับที่ 18/2558 เรื่อง การให้กรรมการหรือคณะกรรมการตามกฎหมายบางฉบับปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้ผู้ทำการแทน ผู้รักษาการแทน หรือผู้ปฏิบัติการแทน ในกรรมการชุดต่างๆ ทั้งรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานรัฐ และสภามหาวิทยาลัย มีอำนาจเท่ากับผู้ซึ่งตนแทน เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ ทั้งองค์ประกอบและองค์ประชุมเป็นไปโดยเรียบร้อย
16.แต่งตั้งโยกย้ายราชการ 60 ตำแหน่ง อธิบดี ถึง ผู้อำนวยการโรงเรียน
คำสั่งฉบับที่ 19/2558  เรื่องแต่งตั้งและให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่อื่น  โดยมีสาระสำคัญคือ แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการรวม 60 ตำแหน่ง รวมทั้งหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น นายกเทศมนตรี นายยกและรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
17.ระงับการสรรหาคณะกรรมการปฎิรูปกฎหมาย
คำสั่งฉบับที่ 20/2558 เรื่อง ระงับการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อเสนอชื่อเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดยมีสาระสำคัญคือ ให้ระงับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกกรรมการปฏิรูปกฎหมายชุดใหม่ และให้กรรมการปฏิรูปกฎหมายที่ครบวาระแล้ว พ้นจากตําแหน่ง ระหว่างที่ยังไม่มี คปก. ให้สำนักงาน คปก. สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการกฤษฎีกา 
18.แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ในสภาความมั่นคง
คำสั่งฉบับที่ 21/2558 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง โดยโยกย้ายตำแหน่งรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ 
19.ออกมาตราการควบคุมการแข่งรถของเยาวชน และห้ามขายเครื่องดืมแอลกอฮอล์ใกล้สถานศึกษา
คำสั่งฉบับที่ 22/2558 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการ หรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ โดยมีสาระสำคัญ คือ ห้ามการรวมกลุ่มกันในพฤติการณ์ที่น่าจะนำไปสู่การแข่งรถ บิดามารดาต้องอบรมสั่งสอนไม่ให้บุตรร่วมกลุ่มกันเพื่อแข่งรถ หากพบเด็กและเยาวชนทำผิดให้เรียกบิดามารดามารับทราบ และหากมีการกระทำผิดซ้ำ บิดามารดามีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนปรับไม่เกิน 30,000 บาท ห้ามการแต่งรถในลักษณะที่จะนำไปสู่การแข่งรถ ฯลฯ 
อีกทั้งยังประกาศห้ามไม่ให้มีสถานที่ขายเครื่องดืม แอลกอฮอล์ตั้งอยู่ใกล้เคียงสถานศึกษา หรือหอพักในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา
20.เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันปราบปรามยาเสพติด ให้อำนาจทหารบังคับใช้กฏหมาย
คำสั่งฉบับที่ 23/2558 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยา เสพติด พ.ศ. 2519 ให้ทหารเข้ามาช่วยเหลืองานได้เมื่อกระทรวงยุติธรรมร้องขอ และให้ทหารมีอำนาจเข้าไปในเคหสถาน ตรวจค้นยานพาหนะ และจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ไม่เกินสามวัน 
21.ออกมาตราการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฏหมาย
คำสั่งฉบับที่ 24/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้งดการจดทะเบียนเรือตามที่ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิด กฎหมายประกาศกําหนด ห้ามใช้เครื่องมือประมงบางประเภท เช่น อวนรุน โพงพาง อวนล้อม ฯลฯ ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจยึดเครื่องมือและเรือที่ผิดกฎหมายได้ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับหนึ่งแสนถึงห้ามแสนบาท
22.ให้รัฐสามารถนำเงินกองทุนสลากกินแบ่ง มาใช้ในการดำเนินโครงการตามนโยบายของรัฐที่จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมได้
คำสั่งฉบับที่ 25/2558 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 11/2558 ในส่วนของ วัตถุประสงค์ในการใช้จ่ายของกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม คือ ให้รัฐสามารถนำเงินกองทุน มาใช้ในการดำเนินโครงการตามนโยบายของรัฐที่จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและ สังคมได้
23.ถอดยศ พันตํารวจโท ทักษิณ ชินวัตร
คำสั่งฉบับที่ 26/2558 ให้ถอดยศ พันตํารวจโท ทักษิณ ชินวัตร ออกจากยศตํารวจ เนื่องจากมีความผิดตามคำพิพากษา และความผิดอื่นอีกหลายฐาน 
24.ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน ขึ้นตรงกับ คสช.
คำสั่งฉบับที่ 27/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการกํากับดูแลและพัฒนาการบินพลเรือนของประเทศไทย โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้จัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน” (Command Center for Resolving Civil Aviation Issues : CRCA) หรือ ศบปพ. เป็นศูนย์เฉพาะกิจขึ้นตรงกับ หัวหน้า คสช. โดยมีผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการ โดยโครงสร้างการปฏิบัติงาน คือ ให้มีคณะกรรมการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน เพื่อกําหนดนโยบาย แนวทางในการจัดทําแผนปฏิบัติการ และให้ความเห็นชอบกับแผนปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหา ปรับปรุงและพัฒนาการบินพลเรือนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งสั่งการ กํากับดูแล ติดตาม และตรวจสอบการปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไข ปัญหาการบินพลเรือน
นอกจากนี้ ยังกำหนดว่า คณะกรรมการ ศบปพ. และเจ้าหน้าที่ ศบปพ. ที่กระทําการไปตามอํานาจหน้าที่ โดยสุจริตไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็น ไม่ต้องรับผิดชอบทางแพ่ง ทางอาญา ทางวินัย หรือทางปกครองเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน ตามคําสั่งนี้ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการ ตามกฎหมาย ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
25.ให้ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน ปปช. ต่อไป จนกว่า ประธาณคนใหม่จะเข้ามารับตำแหน่ง
คำสั่งฉบับที่ 28/2558 เรื่อง ให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยมีคําสั่งให้ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติต่อไป จนกว่าประธานกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่
26.อุดตำแหน่งว่าง คตง. ให้ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทำแทน
คำสั่งฉบับที่ 29/2558 เรื่อง การเลือกกรรมการแทนตําแหน่งที่ว่างในคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และการดําเนินการเพื่อสรรหาผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ เนื่องจากกรรมการตรวจเงินแผ่นดินขอลาออกจากการดํารงตําแหน่ง ทําให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเหลืออยู่ไม่ถึงจํานวนตามที่กฎหมายกําหนด เป็นเหตุให้กรรมการเท่าที่เหลืออยู่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ดังนั้นเพื่อให้ทำงานต่อไปได้ ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีจำนวนอย่างน้อย 5 คน และถ้าเกิดกรณีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีน้อยกว่า 5 คน ก็ให้ผู้ว่าฯ สตง. ทำงานแทนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งคำสั่งนี้เป็นการอำนวยความสะดวกในการทำงานของ คตง. 
27.กำหนดตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง ประจําสํานักนายกรัฐมนตรี และย้ายข้าราชการมาดำรงตำแหน่งใหม่
คำสั่งฉบับที่ 31/2558 เรื่อง การกําหนดตําแหน่งและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดํารงตําแหน่ง โดยมีสาระสำคัญคือ ให้ กนกทิพย์ รชตะนันทน์ พ้นจากตําแหน่ง รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สํานักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และให้ดํารงตําแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง ประจําสํานักนายกรัฐมนตรี โดยให้ปฏิบัติหน้าที่ด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง และหน้าที่อื่นๆ และให้สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี สํานักงาน ก.พ. สํานักงบประมาณสํานักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดําเนินการเกี่ยวกับตําแหน่ง อัตราเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ของข้าราชการดังกล่าว
28.แต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมธุรกิจ SME
คำสั่งฉบับที่ 32/2558 เรื่อง การแต่งตั้งผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สาระสำคัญคือ ให้สาลินี วังตาล ดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยให้มีวาระอยู่ในตําแหน่ง 2 ปี ตั้งแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และหากเห็นว่ามีความจําเป็น ก็อาจเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อสั่งให้ขยายระยะเวลาการดํารงตําแหน่งได้ตามความเหมาะสมแต่ไม่เกิน 2 ปี หรือจะให้พ้นจากตําแหน่งก็ได้ และเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติสิ้นสุดลง ก็ให้ผู้อำนวยการ สสว.ที่ได้รับแต่งตั้งตามคำสั่งนี้พ้นจากตำแหน่งด้วย
29.ให้มีที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีผู้ช่วยดำเนินการ
คำสั่งฉบับที่ 34/2558 เรื่อง การอำนวยความสะดวกในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีสาระสำคัญ คือวางมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและการเตรียมการ อื่น ๆ เช่น การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การจัดให้มีการลงประชามติ การจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีที่ปรึกษาจำนวนไม่เกิน 9 คน โดยคำนึงถึงผู้ที่เคยเป็นกรรมาธิการในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ปี 2550 และปี 2557 นอกจากนี้ให้สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศแต่ละคนมีผู้ช่วยในการปฏิบัติงาน
30.แก้ไขวันบังคับใช้ ในคำสั่งที่ 29/2558
คำสั่งฉบับที่ 36/2558 เรื่อง แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 29/2558 โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้คำสั่งเรื่องการเลือกกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างในคณะกรรมการตรวจเงินแผ่น ดินและการดำเนินการเพื่อสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2558 เป็นต้นไป จากเดิมที่ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
31.ปลด จเร พันธ์เปรื่อง จาก เลขาธิการสภาผู้แทนฯ ตั้ง นัฑ ผาสุข นั่งแทน
คำสั่งฉบับที่ 37/2558 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง โดยมีสาระสำคัญ คือให้กำหนดตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ จเร พันธุ์เปรื่อง เข้ารับหน้าที่ในตําแหน่งดังกล่าว โดยให้พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และให้นัฑ ผาสุข เข้าปฏิบัติหน้าที่แทน
32. สามวันผ่านไป สั่งยกเลิกการตั้ง นัฑ ผาสุข เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนฯ
คำสั่งฉบับที่ 38/2558 เรื่อง เรื่องแก้ไขเพิ่มเตมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 37/2558 โดยมีสาระสำคัญ คือให้ยกเลิกการกำหนดตำแหน่งเพิ่มเติมและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรง ตำแหน่ง โดยให้ถือว่า นัฑ ผาสุข มิเคยพ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และมิเคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมาก่อน ทั้งนี้ ไม่เป็นการกระทบต่อการใดๆ ที่ นัฑ ได้กระทำลงไปในฐานะเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 
33.ห้ามเอาผิดคณะทำงานเรื่องจำนำข้าว
คำสั่งฉบับที่ 39/2558 เรื่อง เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐ และการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด มีสาระสำคัญคือ ให้บุคคล คณะบุคคล คณะทํางาน คณะกรรมการ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย หรือได้รับมอบหมายจากหัวหน้า คสช. คสช. นายกฯ ครม.หรือคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ให้ดําเนินการบริหารจัดการข้าวที่อยู่ในการดูแลรักษาของรัฐตามโครงการรับ จํานําข้าวเปลือกของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต 48/49 จนถึงปีการผลิต 56/57  ซึ่งได้ดําเนินการมาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หรือภายหลังจากนั้น ยังคงมีอํานาจหน้าที่ดําเนินการดังกล่าวต่อไปเช่นเดิม
ในกรณีที่บุคคลข้างต้นดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ และได้กระทําโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย
34.รื้อบอร์ดประกันสังคม
คำสั่งฉบับที่ 40/2558 เรื่อง การได้มาซึ่งคณะกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษาของคณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการการแพทย์ และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน เป็นการชั่วคราว มีสาระสำคัญคือ ยุติการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษาของคณะกรรมการ และคณะกรรมการการแพทย์ รวม ทั้งให้ระงับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกคณะกรรมการ และคณะกรรมการการแพทย์ตามกฎหมายไว้ก่อน แล้วตั้งบุคคลที่มีความเหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่แทน ได้แก่ ตั้งกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม โดยให้ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการการแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
นอกจากนี้ยังงดการบังคับใช้กฎหมายในบางมาตราที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งคณะกรรมการ ที่ปรึกษาของคณะกรรมการ และคณะกรรมการการแพทย์ รวมถึงให้คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน พ้นจากตำแหน่ง

คุยกับนักกฎหมาย สาวตรี-ยิ่งชีพ คดีแอบอ้างสถาบันเข้าข่ายมาตรา 112 หรือฉ้อโกง

สาวตรี สุขศรี และ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ (แฟ้มภาพ)

คคีหมิ่นสถาบัน หรือมาตรา 112  โดยปกติผู้ต้องหาส่วนใหญ่จะเป็นประชาชนทั่วไป นักกิจกรรม นักการเมือง นักศึกษาที่ถูกกล่าวหาว่าพูด เขียน โพสต์ หรือกระทำกิริยาท่าทางอันเป็นการสื่อสารที่เข้าข่าย “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย” และผู้คนในสังคมต่างรับรู้ว่าคดีนี้เป็น “คดีหนัก”
หากเป็นคดีแอบอ้างสถาบันเพื่อหาผลประโยชน์ เราจะเห็นตัวอย่างคดีของ ‘เสี่ยอู๊ด’ ที่ทำ ‘สมเด็จเหนือหัว’ เขาโดนตั้งข้อหาฉ้อโกงประชาชน ศาลสั่งจำคุกรวม 5 ปี อยู่คุกจนพ้นโทษแม้คดียังต่อสู้กันอยู่ในชั้นฎีกา ล่าสุด ทนายยื่นขอจำหน่ายคดีแล้วเนื่องจากเขาเสียชีวิตเมื่อปลายเดือนต.ค.นี้เอง
อย่างไรก็ดีหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาปรากฏคดีแอบอ้างสถาบันเพื่อแสวงหาผลประโยชน์หรือคอรัปชั่นในโครงการเทิดพระเกียรติแล้วโดนกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 เป็นข่าวคึกโครม มีผู้ต้องหาอย่างน้อย 2 รายที่เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวในเรือนจำในค่ายทหาร
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ข้อมูลจากฐานข้อมูลคดีเสรีภาพ ของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ระบุว่าในช่วงปี 2557-2558 มีผู้ต้องหาคดีแอบอ้างที่ถูกฟ้องตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 36 คน (อ่านที่นี่) เกือบทั้งหมดเป็นคดีอันเกี่ยวพันกับเครือข่าย ‘พล.ต.ท.พงษ์พัฒน์’ และญาติของ ‘ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี’ ต่างก็แต่ผู้ต้องหาล็อตนั้นถูกควบคุมตัวโดยทหารก่อนถึงมือตำรวจหลายวันแต่ไม่ทราบแน่ชัดว่ากี่วัน (อ่านที่นี่) จากนั้นก็ถูกคุมขังยาวที่เรือนจำทั่วไปของพลเรือน ไม่ใช่เรือนจำพิเศษใน มทบ.11 และทั้งหมดยังมีชีวิตอยู่ (ยกเว้น 1 รายที่ตกจากที่สูงเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัว)  
นอกจากนี้ยังมีคดีแอบบที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้และถูกฟ้องในมาตรา 112 เท่าที่ปรากฏในข่าวหรือสืบหาข้อมูลได้ เช่น คดีของ ‘ประจวบ’ ถูกกล่าวหาว่าไปแอบอ้างว่าทำงานใกล้ชิดกับหลายพระองค์ หลังจากตำรวจเชิญตัวเขาไปพูดคุยจากกรณีสงสัยว่ามีพฤติกรรมฉ้อโกงประชาชน เขาถูกจำคุกอยู่ 4 ปี 7 เดือนจึงพ้นโทษ คดีของ ‘อัศวิน’ ถูกกล่าวหาว่าอ้างพระนามของพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวเพื่อให้เจ้าของบ้านพักในรีสอร์ทแห่งหนึ่งยกบ้านพักให้ คดีนี้ศาลวินิจฉัยว่า กรณีนี้เจ้าของบ้านที่ฟังอยู่ย่อมรู้สึกว่าตนมีส่วนได้ส่วนเสียและรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังพระองค์ การกระทำของจำเลยจึงถือเป็นการใส่ความ ศาลงโทษจำคุก 5 ปี คดีอยู่ระหว่างฎีกา
ด้วยเหตุที่คดีแอบอ้างมีเพิ่มมากขึ้น และเกิดข้อถกเถียงว่าเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ ประชาไทพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอาญา คือ สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ นักกฎหมายจากไอลอว์ที่ติดตามคดี 112 มายาวนาน เพื่อสอบถามหลักกฎหมายและความคิดเห็นในเรื่องนี้
ดูเหมือนทั้งคู่จะเห็นตรงกันว่า เท่าที่มีการเปิดเผยเนื้อหาการกระทำความผิด คดีแอบอ้างล่าสุด “เครือข่ายหมอหยอง” น่าจะเข้าข่ายกฎหมายฉ้อโกง
สาวตรี กล่าวว่า โดยหลักการมาตรา 112 นั้น คำว่า “หมิ่นประมาท” และ “ดูหมิ่น” นั้นใช้ในความหมายเดียวกันกับมาตรา 326 กับมาตรา 393 ประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเป็นการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นบุคคลธรรมดา
คำว่า “ดูหมิ่น” นั้นชัดเจนว่าต้องเป็นการสบประมาทเหยียดหยามซึ่งมักไม่เกี่ยวพันกับคดีแอบอ้าง แต่ “หมิ่นประมาท” นั้นถูกตีความเกี่ยวโยงให้การแอบอ้างนั้นเป็นการหมิ่นประมาทสถาบันด้วย
สาวตรีกล่าวว่า ในทางหลักกฎหมายความผิดฐาน “หมิ่นประมาท" ต้องมีลักษณะของการใส่ความกันด้วยข้อเท็จจริง หรือเป็นการกล่าวร้ายบุคคลอื่นด้วยการยืนยันข้อเท็จจริง และข้อเท็จจริงนั้นเป็นเรื่องที่น่าจะทำให้ผู้ถูกกล่าวร้ายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชังจากบุคคลอื่น
ดังนั้น การดูว่าการแอบอ้างใดๆ เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่จึงต้องวิเคราะห์ว่ามันเป็นการใส่ความด้วยหรือไม่
“ยกตัวอย่างเช่น สมมติเราไปกระทำความผิดทำร้ายร่างกายหรือฆ่าคนตาย แล้วเราไปแอบอ้างว่าใครสักคนหนึ่งเป็นคนใช้ให้เราทำ แบบนี้จะเข้าข่ายได้ เหมือนไปกล่าวให้ร้ายหรือทำให้บุคคลนั้นเสียชื่อเสียงว่าเป็นคนใช้ให้มากระทำความผิด” สาวตรีกล่าว
เมื่อถามถึงคดีแอบอ้างกรณีล่าสุดที่ตำรวจแถลงข่าวไปนั้น สาวตรีมองว่า ไม่ได้เป็นการกระทำความผิดโดยชัดแจ้งและไม่ได้บอกว่าใครเป็นผู้ใช้ จึงเป็นการแอบอ้างอีกลักษณะหนึ่งซึ่งตีความแล้วไม่เข้าข่าย “ใส่ความ” ดังนั้นจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
“การบอกแจ้งในสิ่งที่ไม่ถูกต้องกับความเป็นจริง ไปหลอกให้คนอื่นเข้าใจผิด การแอบอ้างเพื่อผลประโยชน์ แล้วได้ประโยชน์ในทางทรัพย์สิน แน่นอนว่าเป็นสิ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการฉ้อโกงบุคคลธรรมดา หรือฉ้อโกงประชาชนในกรณีที่หลอกหลายคน ซึ่งได้สัดส่วนกับความผิดหรือความเสียหายที่เกิดขึ้น” สาวตรีกล่าว
เมื่อถามว่าคดีแอบอ้างถูกฟ้องในมาตรา 112 หลายคดีและที่ผ่านมาศาลก็พิพากษาลงโทษตามมาตรานี้ การบังคับใช้กฎหมายในลักษณะนี้จะเกิดผลกระทบอย่างใดหรือไม่ สาวตรีมองว่า เป็นการตีความขยายความเกินไปกว่าตัวบท และโทษในคดีนี้ก็หนักด้วย ย่อมส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
"พอตีความแบบนี้ก็จะทำให้สับสนได้ว่าตกลงการหมิ่นประมาทมีขอบเขตแค่ไหนกันแน่ มันทำให้กฎหมายอาญาไม่มีความชัดเจนในตัวเอง เพราะองค์ประกอบความผิดถูกตีความขยายไป และยิ่งตีความกว้างเท่าไร มันยิ่งง่ายต่อการกลายเป็นเครื่องมือของฝักฝ่ายต่างๆ" สาวตรีกล่าว
ในคำถามเดียวกันนี้ ยิ่งชีพ มองว่า หากใช้มาตรา 112 กับการแอบอ้างก็จะต้องใกล้เคียงกับคำว่า “หมิ่นประมาท” ที่สุด หากมีคนแอบอ้างว่าผู้ที่อยู่ในมาตรา 112 ต้องการทรัพย์สินหรือให้ทำแบบนั้นแบบนี้ เรียกว่าทำให้เสียหาย ก็พอจะเป็นหมิ่นประมาทได้ และเมื่อพอจะเป็นหมิ่นประมาทได้ก็พอจะเป็น 112  ได้ ถือว่าไม่ได้เป็นการตีความกฎหมายที่แย่จนเกินไป แต่อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรา 112 ให้ดีแล้ว มันเป็นกฎหมายที่ต้องการปกป้องความมั่นคงของรัฐ ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกันเราก็มีกฎหมายฉ้อโกงอยู่ตามมาตรา 341 ซึ่งต้องการปกป้องทรัพย์สินของคนไม่ให้ถูกโกง
“เมื่อมีกฎหมายสองอันซ้อนกัน ก็ต้องดูเจตนาของคนที่กระทำความผิดว่าเขาต้องการอะไรมากกว่า เขาต้องการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์หรือต้องการเงินและทรัพย์สิน เมื่อพิจารณากรณีที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างหลัง ความผิดเป็นเจตนาต่อทรัพย์สิน ฉะนั้น เมื่อมีกฎหมายเรื่องฉ้อโกงอยู่แล้วก็ควรใช้กฎหมายเรื่องฉ้อโกงเป็นหลักมากกว่าจะไปใช้มาตรา 112” ยิ่งชีพกล่าว
เมื่อถามถึงผลกระทบของการใช้มาตรา 112 ในคดีแอบอ้างที่เห็นว่าไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ยิ่งชีพระบุว่า คิดว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายอะไร แต่เป็นการตีความและบังคับใช้มาตรา 112 ที่กว้างขวาง ซึ่งการตีความและใช้อย่างกว้างขวางนั้นทำให้มีการจับกุมกรณีที่แอบอ้างไปอย่างน้อย 36 คนแล้ว บางคนก็โดนโทษไม่น้อย มีกระบวนการจับเข้าค่ายทหาร และมีการเสียชีวิตเกิดขึ้นส่งผลให้เกิดความกลัวในสังคมไทยมากยิ่งขึ้น
“คนที่แอบอ้างสถาบันแล้วหาผลประโยชน์ให้ตัวเองก็เป็นโทษกับสังคมจริงๆ ซึ่งถ้ามีการปราบปรามขบวนการเหล่านี้อย่างจริงจังก็เป็นเรื่องดี แต่ในภาวะที่กระบวนการยุติธรรมดูมีปัญหาเพราะใช้ศาลทหารก็ดี จับเข้าค่ายทหารก็ดี แล้วจำเลยแต่ละคนก็เป็นคนใหญ่คนโตโดยที่เราไม่รู้เลยว่าเขาเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมจริงหรือเปล่า มันมีแต่จะสร้างความกลัวและไม่ได้มีผลดีอย่างเดียว มันทำให้เรารู้สึกว่ามีมุมมืดของสังคมที่อธิบายไม่ได้ว่าตกลงความจริง ความเท็จ คืออะไร” ยิ่งชีพกล่าว

ความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 341 ผู้ใดทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความ อันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 342 ถ้าในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำ
(1) แสดงตนเป็นคนอื่น หรือ
(2) อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก หรืออาศัยความอ่อนแอทางจิตของผู้ถูกหลอกลวง
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 343 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรกต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา 342 อนุมตราหนึ่งอนุมาตราด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
มาตรา 344 ผู้ใดทุจริต หลอกลวงบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ให้ประกอบการงานอย่างใดๆ ให้แก่ตนหรือให้บุคคลที่สาม โดยจะไม่มีค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลนั้น หรือโดยจะใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้นต่ำกว่าที่ตกลงกัน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ