ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555
อนิจจาน่าเสียดาย | |
อนิจจาน่าเสียดาย โดย คำ ผกา อนิจจาน่าเสียดาย โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentangในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1652 หน้า 89 3 เม.ย. 2555 คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ (กองเซ็นเซอร์) ในกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม มีมติสั่งห้ามฉาย "เชคสเปียร์ต้องตาย" ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่ได้รับทุนสร้างจากกองทุนส่งเสริมภาพยนตร์ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2553 ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จและเข้าตรวจพิจารณาปีนี้ ตามเอกสารบันทึกการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ระบุว่า "คณะกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die) มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ ตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ พ.ศ.2552 ข้อ 7 (3) จึงมีมติไม่อนุญาต โดยจัดเป็นประเภทภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ตามมาตรา 26 (7) แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551" http://www.prachatai.com/journal/2012/04/39958 วันอังคารที่แล้ว (เพื่อตีพิมพ์ในวันศุกร์) ที่แล้วเพิ่งเขียนเรื่อง "เราไม่มีฝ่ายค้านที่แท้จริง" เพราะสำหรับฉัน เราไม่ได้ต้องการฝ่ายค้านที่ "ค้านทุกอย่างที่ขวางหน้า" เพราะฝ่ายค้านย่อมหมายถึงฝ่ายที่จะช่วยถ่วงดุล ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ที่สำคัญในฐานะที่อุดมการณ์ "อนุรักษนิยม" ถือเป็นอุดมการณ์ที่ครองความเป็นใหญ่เหนืออุดมการณ์อื่นใดในสังคมตลอดมา เราไม่เคยมีพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่สามารถเสนอจินตนาการของสังคมเสรีนิยมให้กับเราเลยแม้แต่พรรคเดียว เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกใจว่าไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล นโยบายของกระทรวงวัฒนธรรมจะไม่เคยเปลี่ยนแปลง มีแต่จะแข่งขันกันทำตัวอนุรักษนิยมเพราะเชื่อเสียแล้วว่ายิ่งอนุรักษนิยมเท่าไหร่ยิ่งดีต่อการ "เกี้ยเซี้ย" เท่านั้น เขียนต้นฉบับไปดังนี้ ปรากฏว่าอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมามีข่าวเรื่องการได้เรต "ห" ของหนังเรื่อง "เชคสเปียร์ต้องตาย" แน่นอนว่าไม่มีนักการเมืองจากพรรคฝ่ายค้านออกมา "ค้าน" ต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ที่ทำงานภายใต้รัฐบาลที่อิงความชอบธรรมของการขึ้นมาเป็นรัฐบาลว่ามาตามวิถีทางประชาธิปไตย แต่เหตุไฉนจึงมีกระทำที่ขัดต่อแนวทางประชาธิปไตยอย่างตรงไปตรงมาถึงเพียงนี้ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ในขบวนการประชาชนที่ต่อสู้กับการรัฐประหาร สิ่งที่เราท่องเป็นคาถาประจำตัวคือ Freedom of Speech เราโศกตรมกับการโดนปิดปาก โดนเซ็นเซอร์ วิทยุชุมชนถูกปิด ข่าวของเราถูกบิดเบือน และเราถึงกับยอมตายเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย และเราเชื่อว่า "ประชาธิปไตย" นั้นเองจะนำสิ่งที่เราเรียกว่า Freedom of Speech มาให้เรา แต่แล้ว ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งก็ถูกจัดเข้าไปในประเภท "ห้ามฉาย" ฉันถึงกับอึ้งว่า ชีวิตของคนที่ต้องตายไปบนถนนแห่งการเรียกร้องประชาธิปไตยนั้นหรือจะสูญเปล่า เรต "ห้ามฉาย" เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้โดยสิ้นเชิงในสังคมประชาธิปไตย แม้จะอ้างว่า พ.ร.บ.ภาพยนตร์นี้เกิดขึ้นในยุคเผด็จการ แต่เรามีสิทธิที่ไม่ใช้มันใช่หรือไม่?มิพักต้องถามว่าเรต "ห้ามฉาย" ด้วยตัวของมันเองขัดต่อรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพของพลเมืองหรือไม่? แต่ก็เอาเถอะนะ การที่กฎหมายเล็กขัดต่อกฎหมายใหญ่อย่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ไทยที่งดงามอย่างหาที่สุดมิได้อยู่แล้วนี่นา ทำไมเรต "ห้ามฉาย" เป็นสิ่งที่รับไม่ได้? ไม่เห็นต้องถาม-ในเมื่อเรามีระบบเรตติ้งกำหนดอายุผู้ชม หรือหากหนังเรื่องนั้นมัน "แหลมคม" จนน่าเป็นห่วง อย่างน้อยที่สุด มันต้องสามารถฉายเพื่อการศึกษา หรือฉายในฐานะที่เป็น "งานศิลปะ" ฉายอย่างจำเพาะเจาะจง ในเทศกาล ในหอประชุม โรงละคร มากที่สุดเท่าที่เราจะประนีประนอมได้คือห้ามฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วไป (แค่นี้ก็น่ากตระหนกแล้วว่า ท้ายที่สุดเราต้องยอมจำนนว่ามีแต่ นักวิชาการ ปัญญาชน นักศึกษา ศิลปิน สื่อมวลชน เท่านั้นหรือที่จะมีสิทธิ์ดูหนังที่ "แหลมคม" และมีสติวิจารณญาณเหนือชาวบ้านร้านช่อง) หลายคนอาจจะบอกว่าจะมาเดือดร้อนอะไรกับการ "แบน" หนัง มีปัญหาอื่นๆ ในสังคมของเราที่น่าเป็นห่วงกว่าตั้งเยอะ ทหารจะรัฐประหารอีกไหม? จะแก้รัฐธรรมนูญได้ไหม? ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาเงินเฟ้อ ของแพง ปัญหาแรงงาน ปัญหานักโทษการเมืองที่ยังไม่ได้รับการประกันตัว ฯลฯ มาถึงวันนี้ฉันเริ่มจะเชื่อแล้วว่า ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับเรื่อง "เล็กๆ" และเรื่องที่ "ไม่เป็นการเมือง" น้อยเกินไป (ทำไงได้ ในเมื่องานมันล้นมือ) และเรื่อง "เล็กๆ" และเรื่องเล็กๆ เหล่านี้เองที่หล่อเลี้ยงเงื่อนไขอันเป็นปฏิปักษ์ของประชาธิปไตย หรือจะพูดให้เยิ่นเย้อโดยไม่จำเป็นได้ว่า เรื่องเล็กๆ เหล่านี้คืออาหารของอุดมการณ์อนุรักษนิยม, อำนาจนิยม อันเป็นรังนอนของเผด็จการ ที่ผ่านมาเราไม่เคยจริงจังการถกเถียงเรื่องความจำเป็นของเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา และเรามักมีข้ออ้างอยู่เสมอว่า ประเทศไหนๆ เขาก็มีกัน (ประเทศไหนล่ะ? ถ้ามีแล้วมีอย่างไร? มีโดยบังคับเป็นกฎกระทรวงหรือไม่? หรือมีโดยสมัครใจแล้วแต่หลักการของโรงเรียน? ไม่ต้องพูดถึงเครื่องแบบนักศึกษาที่แทบจะไม่มีที่ไหนอีกแล้วนอกจากประเทศไทย) เราไม่เคยสามารถถกกันได้ถึงการเข้าแถวยืนรับโอวาทของนักเรียนทุกๆ เช้า เราไม่เห็นว่าทรงผมติ่งหู ถักเปียคู่ หรือทรงผมนักเรียนชายของเราเป็นปัญหาในฐานะที่มันทำลายจิตวิญญาณและความเป็นปัจเจกของพวกเขาในฐานะที่เป็นมนุษย์ มันอาจจะฟังดูปัญญาอ่อนถ้าฉันจะบอกว่า ฉันนั่งดูซีรี่ส์หนังเบาสมองเรื่อง Glee แล้วน้ำตาตกเพียงเพราะครูคนหนึ่งยืนยันว่า นักเรียนมัธยมลูกศิษย์ของเขามีสิทธิแต่งตัวสไตล์โกธิกมาโรงเรียน ในขณะที่ครูใหญ่กังวลว่าเธอจะมาเผยแพร่ลัทธิแม่มดในโรงเรียน คุณครูบอกว่า "มีแต่ชีวิตในโรงเรียนมัธยมเท่านั้นแหละที่จะเปิดโอกาสให้เด็กได้ลองผิดลองถูก ค้นหาความเป็นตัวของตัวเองผ่านเสื้อผ้าและการแต่งตัวของพวกเขา" โอ้ว่า อนิจจา ฉันฟังแล้วน้ำตาร่วงเผาะ เพราะคาถาของครู ของโรงเรียน และของ "ผู้ใหญ่" ในประเทศไทยมีแต่คำว่า ระเบียบ วินัย ที่ต่ำที่สูง เชื่อฟัง มารยาทงาม และคอยให้ใบประกาศเกียรติคุณแก่เด็กที่คอยก้มประนมกรได้สวยที่สุด ศิโรราบที่สุดเท่านั้น ฉันฟังแล้วน้ำตาร่วงเผาะ เพราะเศร้าใจว่า สังคมไทยที่ฉันมีชีวิตอยู่นี้ล้าหลังกว่าซีรี่ส์เบาสมองเรื่องนี้อีกหรือ? เชื่อสิ อ่านถึงตรงนี้ต้องมีคนบอกว่าฉันเว่อร์-กะอีแค่ทรงผมเนี่ยะนะ มันจะไปทำงานจิตวิญญาณของเด็กในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคล เว่อร์ๆๆๆๆๆๆ ก็บอกแล้วไงว่าในฐานะของคนที่ต้องผ่านระบบทรงผม "ติ่งหู" มาเหมือนกันไม่มากก็น้อย เราได้ถูกทำให้เชื่อไปว่า ทรงผม เสื้อผ้า ระเบียบ วินัย ในโรงเรียนนั้นไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับ "การเมือง" ดังนั้นเราจึงไม่เคยเอะใจว่า เอ๊ะ ทำไมทรงผมเด็กนักเรียนชายกับทรงผมนักโทษชายนั้นช่างคล้ายคลึงกันยิ่งนัก โรงเรียนคือโรงงานผลิตพลเมืองที่ศิโรราบต่อ "อำนาจ" ที่แสนจะเป็นนามธรรม แต่มันได้ก่อรูปในจิตสำนึกของเราอย่างแจ่มชัด และเราก็พร้อมจะปกป้องกลไกของโรงงานแห่งนี้ให้ดำเนินอยู่ต่อไป หากมีการทำประชามติว่า เราควรยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษาหรือไม่ ฉันเชื่อว่าเสียงของคนที่ "ไม่ยกเลิก" นั้นต้องชนะขาดแน่นอน เช่นเดียวกับการที่คนไทยรู้สึกคุ้นเคยกับพิธีกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเรา การยืนตรงตามเวลาที่กำหนด การท่องจำคำขวัญที่ปราศจากตรรกะ การอยู่กับการประดับตกแต่งท้องถนนที่เราไม่มีวันเห็นในประเทศประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การเขียน อ่าน พูด ถ้อยคำที่กลายเป็น "ชุดคำ" สำเร็จรูปอันปราศจากความหมายที่เข้าใจได้ (วิธีทดสอบชุดคำเหล่านี้คือ ให้ลองพยายามแปลเป็นภาษาอื่นๆ ดู) เราถูกหล่อหลอมให้ศิโรราบ พร้อมๆ กันนั้นเราก็ถูกทำให้เชื่อว่าสิ่ง "อปกติ" ในสังคมของเรานั้นเป็นเรื่อง "ปกติ" และสังคมอื่นๆ ต่างหากเล่าที่ "อปกติ" เวลาไปต่างประเทศเราไม่เคยตั้งคำถามว่า เหตุใดข้างถนนไม่มีคัตเอาต์คำขวัญปลุกใจ ไม่เคยเอะใจว่า เอ๊ะ ประเทศเหล่านี้ไม่ค่อยจะแสดงความรักชาติอย่างคึกคักเข้มแข็ง แต่ทำไมถึงพัฒนาสถาพรกว่าประเทศของเรานะ ประเทศชาติจะพัฒนาก้าวไกลมันต้องไปควบคู่กับความรักความสามัคคีจริงหรือไม่ เวลาไปยุโรปเราเคยสงสัยหรือเปล่าว่า เราชอบพูดว่าคน "ตะวันตก" นั้นวัตถุนิยม ทุนนิยม บริโภคนิยม ทำไมประเทศที่ทั้งวัตถุนิยม ทุนนิยมเหล่านั้นมีป่า มีปาร์กกลางเมืองเขียวชอุ่มกว่าประเทศที่เทิดทูนธรรมชาติและจิตวิญญาณอย่างเราน้า "คณะกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die) มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ" นี่คือเหตุผลที่หนังเรื่องนี้ถูกแบน และได้รับความสนใจจากสังคมนี้เพียงน้อยนิด เพราะศิโรราบพลเมืองอย่างพวกเราไม่เห็นว่าการแบนหนังเรื่องหนึ่งนั้นเกี่ยวข้องอย่างไรกับความเป็นประชาธิปไตยและการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่ง Freedom of Speech เท่าๆ กับที่เราไม่เคยสนใจว่าทรงผมติ่งหู เกรียนหัว เครื่องแบบนักเรียน การเข้าแถวรับโอวาท การประกวดมารยาท ฯลฯ คือรังนอนอันอบอุ่นของอุดมการณ์อำนาจนิยมที่จะเป็นปฏิปักษ์ต่ออุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างถาวร ในโรงงานผลิตพลเมืองศิโรราบ เราท่องคำว่าสามัคคีจนไม่รู้ว่าสามัคคีแปลว่าอะไร คำคำนี้ถูกใช้และถูกทำให้เป็นการเมืองอย่างไร แปลมาจากคำว่าอะไร ชีวิตของคำหนึ่งคำชื่อ "สามัคคี" นั้น มีกำเนิด และคลี่คลายอย่างไรในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่และประวัติศาสตร์ภาษาไทยร่วมสมัย นี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องเล็กๆ ที่เราไม่เคยเห็นว่ามันเป็น "การเมือง" ความเปราะบางต่อการแตกสลายของสังคมไทยเกิดขึ้นเพราะความแตกสามัคคีหรือเกิดขึ้นเพราะเราไม่เคยสร้างวัฒนธรรมการวิจารณ์ที่เข้มแข็ง ดังนั้นเราจึงไม่อาจยอมรับและอยู่ร่วมกับคนที่คิดต่างจากเรา ในเมื่อเราไม่อาจใช้ชีวิตร่วมกับคนที่คิดไม่เหมือนเรา สังคมนี้จึงพร้อมจะแตกสลายลงไปได้ทุกวินาที ประวัติศาสตร์สังคมอื่นๆ สอนเราว่า ความเข้มแข็งของวัฒนธรรมและของหน่วยทางสังคมการเมืองที่ไม่ว่าจะเรียกมันด้วยชื่อใดก็ตามนั้น เข้มแข็งอยู่ได้เพราะการมีขันติธรรมและเคารพในทัศนะและอุดมการณ์ของผู้อื่นอันตั้งอยู่บนฐานของเสรีภาพในการคิด พูด และวิพากษ์วิจารณ์ มิใช่เข้มแข็งได้ด้วยความสามัคคีไปล่าแม่มดคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จะชอบหรือไม่ชอบหนังเรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย แต่การที่เราจะได้ดูหนังเรื่องนี้และบอกว่าเราไม่ชอบ การถกเถียงกับคนที่ชอบหนังเรื่องนี้ การแสดงเหตุผล และการยอมรับในการมีอยู่ของกันและกันต่างหากที่จะทำให้สังคมไทยเติบโตเป็นผู้ใหญ่มีวุฒิภาวะกับเขาเสียที มีแต่วัฒนธรรมแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ เสรีภาพ และความรักในจิตวิญญาณของมนุษย์เท่านั้นที่จะรักษาสังคมไทยเอาไว้ไม่ให้แตกสลายเปราะบาง มิใช่ดำเนินไปในทิศทางตรงข้ามภายใต้สอเสือสระอามอม้าไม้หันอากาศคอควายคอควายสระอี | |
http://redusala.blogspot.com |
"ภูมิธรรม" สอน "น้องรสนา" พลาดได้ถึงเพียงนี้...เสียดายจริงๆ | |
"ภูมิธรรม" สอน "น้องรสนา" พลาดได้ถึงเพียงนี้...เสียดายจริงๆ นายภูมิธรรม เวชยชัย (@phumtham) ได้ทวิตข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัวเมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 20 เมษายน 2555 แสดงความเห็นถึงกรณีที่นางสาวรสนา โตสิตตระกูล ได้เขียนข้อความบนเฟรซบุ๊ค กล่าวถึงมุขตลกร้ายที่แต่งขึ้นเพื่อเสียดสีแกนนำเสื้อแดงและคนเสื้อแดงที่ไม่เป็นความจริง ความว่า “ควันหลงจากคุณรสนาและคุณเจิมศักดิ์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา...เป็นประเด็นที่คนให้ความสนใจกันพอสมควร สำหรับ Facebookส่วนตัว ของคุณรสนา (สว. )ที่ ...ปล่อยมุขตลก ที่คนเสื้อแดง ไม่ตลกด้วย...อ่านแล้วรู้สึกเศร้า และเสียดายลึกๆ ... เพราะมุขตลกของคุณรสนาครั้งนี้ มีลักษณะ ลดทอนคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ของประชาชนที่อยู่คนละข้าง หรือมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกับตน ความจริงมนุษย์เรา มีความเชื่อและความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันได้ หรือเห็นไม่เหมือนกันได้เป็นเรื่องธรรมดา....แต่การปล่อยให้อคติ หรือความเชื่อทางการเมือง หรือความรู้สึกเกลียดมาครอบงำการคิดและตัดสินใจที่มากเกินไป เป็นเรื่องที่ไม่สมควรและน่าเสียดาย ความจริงคุณรสนาที่ผมรู้จัก เคยถูกจัดอยู่ในกลุ่มคนทำงาน ในองค์กรNGO. ที่ให้ความใส่ใจเรื่องศาสนาและให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นมนุษย์ของคนเสียดาย...วันเวลาและอคติทางการเมือง ทำให้รสนา พลาดได้ถึงเพียงนี้....เสียดายจริงๆครับ...แต่ก็ยังไม่สายเกินไปครับ” | |
http://redusala.blogspot.com |
การเมืองอ่อนแอ สร้างยุทธศาสตร์เข้มแข็งไม่ได้ | |
การเมืองอ่อนแอ สร้างยุทธศาสตร์เข้มแข็งไม่ได้! โดย สุรชาติ บำรุงสุขคอลัมน์ ยุทธบทความ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1652 หน้า 41
นับตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 แล้ว รัฐบาลต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ รุมเร้าอย่างมาก อีกทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาที่คาดไม่ถึงมาก่อน และเป็นปัญหาที่รัฐและสังคมไทยไม่เคยมีการเตรียมตัวอย่างจริงจังก็คือ ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่ จนต้องยอมรับว่า รัฐบาลมีอาการ "เซ" อยู่พอสมควรกับปัญหาเช่นนี้ แต่รัฐบาลก็ดูจะอาศัย "ความขยัน" ของนายกฯ เป็นปัจจัยในการปิดจุดอ่อน แต่เมื่อระยะเวลาผ่านพ้นจากปัญหาภัยจากน้ำท่วมขนาดใหญ่แล้ว สังคมไทยเองก็มีปัญหาความมั่นคงซึ่งรอคอยการมียุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาล เพื่อกำหนดทิศทางในการก้าวเดินสู่อนาคต โดยเฉพาะในช่วงเวลาหลังจากปีใหม่ 2555 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการปรับคณะรัฐมนตรีแล้ว ก็ยิ่งมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 2 ต้องมีทิศทางยุทธศาสตร์ของไทยที่ชัดเจนในการเตรียมตัวเพื่อรับมือกับปัญหาความมั่นคงที่หลากหลายมากขึ้นในอนาคต สำหรับนายกรัฐมนตรีซึ่งมีภูมิหลังและความคุ้นเคยมาจากภาคธุรกิจ ในด้านหนึ่งอาจจะต้องยอมรับว่าสิ่งที่เธอต้องเผชิญในบริบทของงานความมั่นคงของประเทศนั้น เป็นเรื่องราวที่แตกต่างจากชีวิตในภาคธุรกิจโดยสิ้นเชิง ในอีกด้านหนึ่ง เธออาจจะคิดถึงการพึ่งพากลไกภายในระบบ แต่ความเป็นจริงนับจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 ก็เห็นได้ชัดเจนว่า กลไกในระบบไม่ว่าจะเป็นบทบาทของรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง หรือบทบาทขององค์กรที่จะต้องทำหน้าที่เป็น "ฝ่ายอำนวยการ" ให้แก่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีในเรื่องของยุทธศาสตร์และความมั่นคง เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นั้น ก็ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็นแต่อย่างใด พร้อมๆ กับรัฐบาลเองก็ไม่ได้แสดงบทบาทของการกำกับดูแลในฐานะของฝ่ายการเมือง ซึ่งเป็น "ผู้กำหนดนโยบาย" เท่าที่ควร ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดข้อสังเกตอย่างมากว่า "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่สนใจงานความมั่นคง" การตั้งข้อสังเกตเช่นนี้อาจถูกโต้แย้งจากรัฐบาลได้ไม่ยากนัก โดยรัฐบาลสามารถหยิบยกเอาเรื่องของการต่อสู้กับ "สงครามยาเสพติด" ขึ้นมาเป็นประเด็นเพื่อยืนยันว่า รัฐบาลนี้สนใจเรื่องงานความมั่นคง แต่ว่าที่จริงแล้ว การต่อสู้กับปัญหายาเสพติดถือได้ว่าเป็นเรื่องความมั่นคงที่สำคัญนั้น เป็นประเด็นที่ไม่อาจปฏิเสธได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดในสังคมไทยปัจจุบัน การเปิดฉากทำ "สงครามต่อต้านยาเสพติด" มีส่วนโดยตรงต่อการทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลดีขึ้นในสายตาประชาชน และที่สำคัญก็อาจช่วยทำให้เสียงทางการเมืองของรัฐบาลดีขึ้นด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าสงครามต่อต้านยาเสพติดได้กลายเป็น "ยุทธศาสตร์ความมั่นคง" ที่สำคัญของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และว่าที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนในหลายๆ พื้นที่ให้รัฐบาลสนใจและปราบปรามปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในระดับชุมชน ประเด็นสำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือ ภารกิจเช่นนี้สอดรับกับ "จริต" ของรองนายกรัฐมนตรีอีกท่านหนึ่งที่กำกับดูแลงานความมั่นคงในส่วนของตำรวจ และสงครามชุดนี้ก็ยังสอดรับอย่างเหมาะสมกับบทบาทของผู้บัญชาการตำรวจคนใหม่ที่เติบโตขึ้นมาจากสายงานต่อต้านยาเสพติด ผลพวงจากปัจจัยเหล่านี้ทำให้สงครามต่อต้านยาเสพติดถูกขับเคลื่อนอย่างจริงจัง และเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในหลายๆ พื้นที่ อย่างน้อยก็ก่อให้เกิดความตื่นตัวในสังคมและชุมชน และในขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลชุดนี้ อันก่อให้เกิดเสียงตอบรับในทางการเมืองโดยเฉพาะในระดับชุมชนหลายแห่งอย่างมาก แต่ความโดดเด่นของสงครามต่อต้านยาเสพติดของรัฐบาลก็จะต้องไม่ทำให้รัฐบาลคิดแต่เพียงว่า ยาเสพติดเป็นปัญหาความมั่นคงหลักที่รัฐบาลต้องเผชิญเท่านั้น หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว อาจจะต้องยอมรับว่า รัฐบาลนี้ (ไม่ว่าจะโชคดีหรือโชคร้ายก็ตาม) กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงจนอาจเรียกได้ว่าเป็น "ความท้าทาย" ด้านความมั่นคงที่สำคัญ และการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ล้วนแต่ต้องการการมียุทธศาสตร์ที่ดี เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายและทิศทางที่ชัดเจน เพราะต้องตระหนักอย่างมากว่า ในสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงด้านความมั่นคงเช่นในปัจจุบันนั้น รัฐบาลจะเดินไปข้างหน้าโดยปราศจากยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนไม่ได้ และจะต้องตระหนักเสมอว่า การบริหารจัดการความมั่นคงเป็นประเด็นสำคัญของรัฐบาลทั่วโลกในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ รัฐบาลยิ่งลักษณ์อาจจะ "โชคร้าย" ที่กลไกความมั่นคงหลักซึ่งจะต้องเป็น "ฝ่ายอำนวยการ" ให้แก่รัฐบาล เช่น ในกรณีของสภาความมั่นคงแห่งชาตินั้น ก็เป็นอะไรที่หวังพึ่งไม่ได้... และบางทีอาจจะต้องยอมรับว่า "พึ่งไม่ได้เลย!" ด้วยผู้บริหารระดับสูงของ สมช. บางส่วนมีความใกล้ชิดอย่างมากกับรัฐบาลชุดที่แล้ว รวมถึงบางคนอาจจะมีส่วนร่วมในการนำเสนอความคิดในการล้อมปราบการชุมนุมของคนเสื้อแดงมาแล้ว พวกเขาจึงเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง พวกเขาบางคนยัง "ฝันหวาน" อีกด้วยว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ในท้ายที่สุดจะมีชะตากรรมไม่แตกต่างจากรัฐบาลสมัครหรือรัฐบาลสมชาย แล้วกลุ่มการเมืองปีกอนุรักษนิยมก็จะกลับเข้าสู่อำนาจ และพวกเขาก็จะมีโอกาสรับใช้รัฐบาลอนุรักษนิยมอย่างสุดจิตสุดใจ จนไม่ต้องกังวลกับฝ่ายการเมืองที่มาจากพรรคเพื่อไทย ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรนักที่ สมช. จะกลายเป็น "แหล่งซ่องสุม" ของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในสายงานความมั่นคง และบางครั้งก็ออกอาการ "เท้าราน้ำ" ในรัฐนาวาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นอย่างยิ่ง แต่รัฐบาลนี้ ก็ "แสนดี" ที่ไม่กล้าโยกย้ายผู้บริหารใน สมช. และทั้งยังปล่อยให้พวกเขามีเสรีภาพในการทำนโยบายความมั่นคงเอาเอง โดยปราศจากการกำกับของฝ่ายการเมือง (ในฐานะผู้กำหนดนโยบาย) ทั้งที่รัฐบาลชุดที่แล้วได้ปรับผู้บริหาร สมช. ออกเพราะถือว่า "ไม่ใช่พวก" แต่รัฐบาลนี้กลับ "เงียบ" จนไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายผ่าน สมช. ได้ ซึ่งหากสรุปโดยรวมก็คือ ปัญหาการบริหารจัดการของรัฐบาลที่ยังไม่สามารถกำกับงานความมั่นคงได้จริง! ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลก็พึ่งพากองทัพไม่ได้เท่าที่ควร ดังเป็นที่รู้กันดีว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเพื่อไทยกับฝ่ายทหารนั้นเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาอยู่ในตัวเอง เพราะในความเป็นจริงของการเมืองไทย กองทัพไม่ใช่เป็นเพียงฐานของกลุ่มการเมืองปีกอนุรักษนิยมเท่านั้น หากแต่ยังมีบทบาทอย่างชัดเจนในการค้ำจุนรัฐบาลอนุรักษนิยมชุดเก่า และยังแสดงออกในการต่อต้านพรรคเพื่อไทยอย่างมากก่อนการเลือกตั้ง แม้กองทัพจะมีบทบาทเชิงบวกในการช่วยเหลือรัฐบาลในภาวะน้ำท่วม แต่ความสัมพันธ์เชิงบวกยังคงเป็นปัญหา ดังสะท้อนได้ชัดจากท่าทีของแกนนำของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ยังกังวลต่อการรัฐประหาร และเรียกร้องให้กลุ่มคนเสื้อแดงรวมกำลังต่อต้านการยึดอำนาจของทหาร ปรากฏการณ์เช่นนี้บ่งบอกอย่างดีว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพยังเป็นสิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาด้วยความใส่ใจ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ของความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร สำหรับรัฐบาลนี้ และจะเป็นประเด็นที่มีนัยอย่างสำคัญต่อความมั่นคงของรัฐบาลในอนาคต การกำหนดยุทธศาสตร์ของปัญหานี้ยังจะมีส่วนเกี่ยวพันอย่างมากกับปัญหาการตีความคำตัดสินเดิมของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ในกรณีปราสาทพระวิหาร ซึ่งหลายๆ ฝ่ายคาดว่าการตีความนี้น่าจะเกิดในช่วงปลายปี 2555 อีกทั้งในปัจจุบันก็เห็นได้ว่า ศาลโลกออก "มาตรการชั่วคราว" หลังจากเกิดการสู้รบขึ้นในช่วงต้นปี 2554 และมาตรการชั่วคราวกำหนดให้มีการถอนทหารออกจากพื้นที่ที่ศาลโลกกำหนดเป็น "เขตปลอดทหารชั่วคราว" ซึ่งประเด็นนี้ยังคงเป็นเรื่องที่คาราคาซัง เพราะไม่มีท่าทีที่ชัดเจนว่ารัฐบาลไทย/กองทัพไทย จะทำอย่างไรกับปัญหานี้ สภาพเช่นนี้ทำให้ปัญหาความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองต่อไป แม้หลายๆ คนจะเชื่อว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศในปัจจุบันไม่มีปัญหาแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องตระหนักว่า กระบวนการตีความของศาลโลกยังดำเนินต่อไป และต้องคิดเสมอว่า หากการตีความมีผลเป็น "ลบ" และเป็น "มาตรการบังคับ" ต่อไทยแล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะทำอย่างไร ผลที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นโอกาสให้ "กลุ่มเสื้อเหลือง" ฟื้นตัวหรือไม่ และที่สำคัญก็คือ จะนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลอีกหรือไม่ ในอีกด้านหนึ่ง ผลจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่าก็ต้องการการกำหนดยุทธศาสตร์ของไทย เพื่อเตรียมตัวรับมือกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลต้องตระหนักเสมอว่า หากรัฐบาลไทยไม่กำหนดยุทธศาสตร์รองรับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นแล้ว ประเทศไทยอาจจะถูกทิ้งให้ "ตกขบวน" และไม่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ ปัญหาการขยายบทบาทและอิทธิพลของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอีกประเด็นสำคัญในยุทธศาสตร์ไทย รัฐบาลอาจจะต้องคิดอย่างจริงจังมากขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะเห็นได้ชัดเจนจากการขยายตัวของจีนทั้งในพม่าและในลาว ตลอดรวมถึงการขยายบทบาทในลำน้ำโขง (หลังจากเกิดกรณีสังหารลูกเรือจีน 13 ศพ) การเชื่อมต่อทางการเมืองและความมั่นคงของความสัมพันธ์ไทย-จีน ยังคงเป็น "วาระความมั่นคง" ที่จะต้องพูดคุยและถกแถลงกันให้กว้างขวาง และพิจารณาด้วยความละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่ง ปัญหาคู่ขนานอีกส่วน ได้แก่ กรณีความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นรากฐานของระบบพันธมิตรเดิมของไทย การส่งสัญญาณถึงการเตรียมปรับบทบาทและนโยบายของสหรัฐ ในภูมิภาค ตลอดรวมถึงผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2555 อันเป็นปัจจัยโดยตรงในการกำหนดตัวบุคคลในการทำนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหรัฐ ในอนาคต ทำให้รัฐบาลไทยน่าจะต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาคุยกันใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของทิศทางนโยบายของสหรัฐ ต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต ที่อีกมุมหนึ่งถูกขับเคลื่อนเพื่อรองรับต่อการเปิดประเทศของพม่า ปัญหาการก่อการร้ายสากลก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลอาจจะต้องทำความเข้าใจมากขึ้น การกำหนด "ยุทธศาสตร์การต่อต้านการก่อการร้าย" จะเป็นหัวข้อสำคัญของรัฐบาล ดังเหตุที่เกิดขึ้นใน 2 กรณีที่ผ่านมา ล้วนแต่เป็นสัญญาณ "นาฬิกาปลุก" เตือนใจว่า รัฐบาลจะละเลยต่อหัวข้อเช่นนี้ไม่ได้ และต้องเตรียมตัวที่จะเผชิญกับสถานการณ์ที่ไทยอาจจะไม่โชคดีเช่น 2 ครั้งที่ผ่านมาก็ได้! นอกจากนี้ การกำหนดท่าทีต่อปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางในอนาคตก็เป็นอีกประเด็นที่มีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นท่าทีของไทยต่อปัญหาปาเลสไตน์ ปัญหาบทบาทของอิสราเอล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันก็คือปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ในอิหร่าน ซึ่งหากเกิดการสู้รบในกรณีนี้จริง ย่อมจะส่งผลโดยตรงต่อวิกฤตน้ำมัน และจะทำให้โลกพลังงานได้รับผลกระทบอย่างยิ่ง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือทำให้ปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานทั้งของโลกและของไทยได้รับผลโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรื่องราวเหล่านี้ยังไม่นับรวมปัญหาความมั่นคงในภาคใต้ และการเตรียมตัวสู่ประชาคมอาเซียนซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นว่า ในโลกของความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดรอบๆ ไทยนั้น รัฐบาลต้องเตรียมยุทธศาสตร์รองรับเพื่อกำหนดทิศทางและนโยบายในการก้าวเดินสู่อนาคต แต่ในสภาพที่การเมืองไทยวันนี้ยังมีความยุ่งยากและความเปราะบางดำรงอยู่ จนกลายเป็น "ความอ่อนแอ" ของระบอบการเมืองนั้น เราจะคาดหวังให้ระบอบการเมืองที่อ่อนแอสร้างยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งได้อย่างไร ! | |
http://redusala.blogspot.com |
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)