ป.ป.ช. ออกคำสั่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ยิ่งลักษณ์ และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ปมน้ำท่วมปี 54 ยิ่งลักษณ์ระบุข้อกล่าวนี้ อภิสิทธิ์ เป็นผู้แจ้ง เผยตอนนี้มีทั้งหมด 15 คดีแล้ว พร้อมส่งทนายยื่นหนังสือค้าน สุภา ปิยะจิตติ เป็นกรรมการ เหตุเป็นคู่ขัดแย้งชัดเจน
22 ก.ย. 2559 นรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่8ก.ย.ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการป.ป.ช.ยังได้ส่งหนังสือถึงยิ่งลักษณ์ เพื่อแจ้งให้ทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหายิ่งลักษณ์ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องมี พฤติการณ์ร่วมกันกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น กรณีมีหน้าที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบในการเก็บกัก ควบคุม ระบาย หรือบริหารจัดการน้ำ เป็นเหตุให้เกิดมหาอุถกภัยในปี 2554 ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวเป็นการแจ้งให้ยิ่งลักษณ์ ลงนามรับทราบในคำสั่งดังกล่าว และแจ้งกลับมายังป.ป.ช.ภายใน 15 วัน
ด้านยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงคดีการบริหารจัดการน้ำว่า เป็นข้อกล่าวหาที่แจ้งโดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามกันทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีการส่งสำนวนมา แต่ตนไม่เข้าใจเพราะการบริหารจัดการน้ำตอนที่เข้ามา น้ำได้ท่วมอยู่แล้ว ซึ่งมาตั้งแต่รัฐบาลอื่นจึงไม่เข้าใจว่าทำไมจึงโดนอยู่คนเดียว จากกรณีนี้ตนไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น ก็หวังว่า ป.ป.ช. จะให้ความเป็นธรรม ทุกวันนี้คดีที่เจออยู่ นั่งอยู่ดีๆ ก็ต้องมารับเรื่องหมด ตอนนี้มีถึง 15 คดีแล้ว จึงเป็นเหตุผลให้ตนส่งทนายคัดค้านต่อ ป.ป.ช. แต่ก็ได้รับการปฏิเสธร้องขอทุกครั้ง จึงอยากร้องผ่านทางสื่อมวลชนและสาธารณชนด้วย อยากให้ปฏิบัติเท่าเทียมกับคนอื่นๆ เพราะจะเห็นได้ว่ามาตรฐานที่ทำกับคดีตนคดีมาเร็วมาก รับทุกเรื่อง พิจารณาทุกเรื่อง แต่ในขณะเดียวกันคดีของผู้อื่นไม่คืบหน้าเลย ซึ่งตนพร้อมจะชี้แจงทุกคดีแต่ต้องอยู่ด้วยเหตุและผล ถ้าการที่ตั้งข้อกล่าวหาโดยที่ไม่คำนึงถึงเหตุผล ใครอยากจะใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองก็เอามาใช้ มันก็ไม่มีวันจบ ทำให้สังคมเกิดข้อสงสัย จริงๆ แล้วหน่วยงานทุกองค์กรที่ทำในเรื่องของกระบวนการเหล่านี้ควรจะให้ความเป็น ธรรมกับทุกคน เชื่อว่าทุกคนยอมรับ แต่อย่างที่เรียนข้างต้น ตนได้ร้องมาหลายครั้งแล้วก็ไม่ได้ความเป็นธรรมตั้งแต่ต้น ไม่รู้ว่าคดีที่เหลือจะเป็นเช่นเดียวกับคดีที่ตนได้รับมาหรือไม่ ก็หวังว่าจะไม่เป็นแบบนั้น
ส่วนในเรื่องของมาตรา 44 ที่ให้อำนาจกรมบังคับคดีในการยึดทรัพย์นั้น ยิ่งลักษณ์ระบุว่า กรมบังคับคดีต้องได้รับคำสั่งจากศาลปกครอง ซึ่งการใช้มาตรา 44 สิ่งแรกที่มองคือ ผลของคดีไม่ว่าจะเป็นอย่างไรยังไม่รู้ ฉะนั้น การออกคำสั่งมาตรา 44 มอบอำนาจให้กรมบังคับคดีก็เหมือนเป็นการชี้นำคดี ซึ่งต้องขอร้องเพราะมันมีผลกับคดีอื่นๆ ที่ดำเนินการอยู่ในชั้นศาล ถือเป็นความไม่ยุติธรรมที่ได้รับ
“ถ้ามั่นใจว่ากระบวนการทั้งหมดมีความโปร่งใสและเป็นธรรม ทำไมต้องใช้มาตรา 44 ด้วย แต่กระบวนสอบสวนขั้นต้นในการปกป้องข้าราชการ ถ้ามั่นใจว่าข้าราชการทำถูกก็ไม่ต้องกลัวการถูกฟ้องร้อง แต่วันนี้ใช้มาตรา 44 กันถูกฟ้องร้อง ใครจะทำอะไรก็ได้ แล้วอย่างนี้ขนาดอดีตนายกฯ ยังปกป้องและหาความยุติธรรมให้กับตัวเองไม่ได้ แล้วประชาชนธรรมดาปกติจะเรียกหาความยุติธรรมได้อย่างไร” ยิ่งลักษณ์กล่าว
อดีตนายกฯกล่าวว่า ถึงวันนี้สิ่งที่รัฐบาลต้องตอบว่าทำไมถึงไม่ใช้อำนาจตามปกติ ซึ่งเราก็ได้ท้วงไปตั้งแต่ต้นแล้วว่าการพิจารณาในเรื่องของความเสียหายตาม หลักสากลก็ต้องไปร้องที่ศาลแพ่ง และรัฐบาลก็ถือว่าเป็นคู่กรณีกับเรา ซึ่งก็ต้องร้องศาลให้เป็นผู้ตัดสินว่าฝ่ายตนหรือรัฐบาลถูกหรือผิดกันแน่ ที่จะมาเรียกร้องค่าเสียหาย แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลกลับไม่เลือกใช้วิธีการฟ้องร้องตามกระบวนการยุติธรรม เพียงเพราะไม่ต้องการเสียค่าธรรมเนียมศาล และเพียงเพราะเพื่อที่การร่นเวลาให้ง่ายขึ้นก็ใช้คำสั่งทางการปกครองกับตน อย่างนี้เท่ากับรัฐบาลเป็นคู่กรณีกับตนโดยตรง และบวกกับการใช้มาตรา 44 ในการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ไปตั้งแต่การสอบสวนจนถึงการไปมอบอำนาจให้กับกรม บังคับคดีถือเป็นการชี้แจงหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามกลับ
“เวลานี้อยากให้รัฐบาลมองภาพรวมของประเทศ ความเดือดร้อนของประเทศ เพราะวันนี้จริงๆ แล้วประชาชนรอในการที่จะให้เศรษฐกิจต่างๆ กลับคืนมา ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้นถือเป็นเรื่องใหญ่ ไม่อยากให้มาใส่เรื่องของตนเป็นหลักจนลืมเรื่องอื่นๆ เพราะเรื่องจริงๆ แล้วมีกระบวนการขั้นตอนอยู่แล้ว ไม่อยากให้เร่งรัดโดยใช้วิธีแบบนี้ สุดท้ายจะเป็นคำถามที่ประชาชนตั้งข้อสังเกต” อดีตนายกฯกล่าว
ขณะเดียวกัน ที่สำนักงาน ป.ป.ช. นรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยว่า ยิ่งลักษณ์ฯ ได้มอบอำนาจให้ตนเดินทางมายื่นหนังสือ ถึงประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นครั้งที่ 8 เพื่อยืนยันคัดค้าน การแต่งตั้ง สุภา ปิยะจิตติ เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ในคดีที่กล่าวหา ยิ่งลักษณ์ ถึง 6 คดี ที่อยู่ในชั้นการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และทั้ง 6 คดี มีสุภา เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน และมี 1 คดี ที่มีวิชา มหาคุณ ที่พ้นตำแหน่ง กรรมการ ป.ป.ช. ไปแล้วแต่กลับมาเป็นอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงด้วย
นรวิชญ์ กล่าวว่า ในสมัยที่ยิ่งลักษณ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นั้น สุภา เคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาและในฐานะประธานอนุกรรมการปิดบัญชี โครงการรับจำนำข้าว ก็ มีเหตุให้ข้อมูลการปิดบัญชี หลุดออกไปถึงมือนักการเมืองฝ่ายค้านในขณะนั้น นอกจากนี้สุภา และวิชา ยังเคยไปเป็นพยานเบิกความ ในฐานะพยานฝ่ายโจทก์ต่อศาลฎีกาฯ ในคดีโครงการรับจำนำข้าวซึ่งถือเป็นคู่ขัดแย้งอย่างชัดเจน จึงเห็นว่าจากข้อเท็จจริงดังกล่าว หากปล่อยให้ สุภา เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง และ วิชา ที่พ้นตำแหน่ง กรรมการ ป.ป.ช. ไปแล้ว กลับมาเป็นอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงอีก จะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการไต่ส่วนข้อเท็จจริง ทั้งๆ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีทั้งหมดถึง 9 ท่าน
ทนายความยิ่งลักษณ์ ยังกล่าวอีกด้วยว่า ได้เคยยื่นร้องคัดค้านมาแล้วถึง 7 ครั้งแต่ก็ไม่เป็นผล ดังนั้นเพื่อรักษาสิทธิตามกระบวนการยุติธรรม ตามคำสั่งของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเพื่อให้คดีของอดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้องและเป็นธรรม จึงขอคัดค้านความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ ปช 0012/1216 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2559 และเพื่อยืนยันหลักฐานทางเอกสาร และพฤติกรรมแห่งการปฏิบัติตนของสุภา และวิชา ในฐานะเป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง และอนุกรรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ว่าไม่เหมาะสมเช่นไรแนบท้ายเอกสารประกอบในการยื่นถึงประธานกรรมการป.ป.ช. ด้วย