วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

คสช. งดส่งความเห็นร่าง รธน. กลัวคนปลุกกระแสต้าน แต่รวมความเห็นกับ ครม. แล้ว


รองโฆษก คสช. เผย คสช. งดส่งความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ แต่รวมความเห็นไว้ในข้อเสนอของรัฐบาลแล้ว ไม่หวั่นการโจมตีว่าชี้นำ แต่กลัวคนหยิบมาเป็นประเด็นปลุกกระแสต้าน พร้อมตั้งเป้าหมายคนมาลงประชามติ 80 เปอร์เซ็นต์
17 ก.พ. 2559 มติชนออนไลน์ รายงานว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) งดส่งความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญไปให้ นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ( กรธ.) เนื่องจากกลัวถูกโจมตีว่าเป็นการชี้นำ และป้องกันไม่ให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช. อาจนำไปเป็นประเด็นปลุกกระแสให้ประชาชนไม่ออกมาลงประชามติ ซึ่งเป้าหมายของ คสช. ต้องการให้ประชาชนตื่นตัวและออกมาลงคะแนนกันเป็นจำนวนมาก โดยตั้งเป้าไว้ 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มีสิทธิ์ออกเสียง
ขณะที่ พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก คสช. กล่าวถึงกรณีที่ กรรมการร่าง รธน. ยังไม่ได้รับความเห็นจาก คสช.ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคสช. เป็นประธาน ได้หารือถึงร่างรธน.ประเด็นต่างๆ ร่วมกันแล้ว ถือเป็นการบูรณาการความเห็นร่วมกันระหว่าง รัฐบาล คสช. โดยรัฐบาลได้ส่งข้อเสนอไปให้ กรธ.แล้ว จึงไม่เกี่ยวกับการที่มีการตั้งประเด็นว่า คสช.ไม่ส่งข้อเสนอเพราะเกรงจะถูกโจมตีว่าเป็นการชี้นำ
6 ข้อเสนอ ครม. ขอ กรธ. คลี่ปัญหาก่อนวันรัฐประหาร วิกฤติเกิดจากอะไร+หากลไกแก้
ไทยพับลิก้า รายงาน เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย กล่าวว่า สำหรับความคิดเห็นของ ครม. ต่อร่างรัฐธรรมนูญ มีสาระสำคัญ 6 ประเด็น
           1.ครม. ได้หลีกเลี่ยงที่จะแสดงความคิดเห็นประเด็นเกี่ยวกับการเมือง ข้อเสนอส่วนใหญ่จึงเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน
           2.ครม. ได้สรุปความเห็นของส่วนราชการต่างๆ ต่อร่างรัฐธรรมนูญนี้ มีข้อเสนอหลากหลาย เช่น เรื่องการจัดทำงบประมาณ เรื่องการปกครองทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมไปถึงเรื่องหน้าที่ปวงชนชาวไทยที่ขอให้ กรธ. ปรับแก้ให้ประชาชนเข้ามาช่วยรัฐในหลายๆ เรื่อง ทั้งป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลรักษาศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ เป็นต้น
           3.ครม. ได้เสนอให้ กรธ. นำเรื่องสิทธิเสรีภาพต่างๆ ใส่กลับไปในร่างรัฐธรรมนูญตามข้อเรียกร้องของฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิชุมชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ
          4.ครม. ได้เสนอวิธีในการร่นระยะเวลาการเลือกตั้ง โดยให้จัดทำกฎหมายลูกเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องถึง 10 ฉบับ โดยกฎหมายลูกอื่นให้ทำระหว่างที่มีการจัดการเลือกตั้งได้
          6.ครม. เสนอให้เพิ่มหมวดเกี่ยวกับการปฏิรูป เช่น ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปการศึกษา ฯลฯ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีระยะเวลาฉบับละ 5 ปี รวม 4 ฉบับ
           7.ครม. ได้แสดงความกังวลไปยัง กรธ. อยากให้นำปัญหาก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นวันที่ คสช. ยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน มาคลี่ให้เห็นว่าวิกฤติเกิดจากอะไร แล้วจะมีกลไกในแก้ไขปัญหานี้อย่างไรหากเกิดขึ้นมาอีกในอนาคต ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่มีการพูดถึงเรื่ององค์กรพิเศษ หรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ (คปป.) แต่อย่างใด
คสช. เคยส่ง 10 ข้อเสนอถึงมีชัย ขอเปิดช่องผ่าทางตัน
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ้มเติมว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ คสช./491 ลงวันที่ 11 พ.ย. เรื่อง ขอความร่วมมือแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ถึง มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีเนื้อหาดังนี้
            1. ตามที่คณะกรธ.ได้มีหนังสือถึงหัวหน้าคสช. เพื่อขอรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหลักการที่สมควรบัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญ เพื่อที่คณะกรธ. จะได้นำไปประกอบการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป
            2. คสช.พิจารณาแล้วเห็นดังนี้
            2.1 ต้องมีบทบัญญัติที่สำคัญอย่างครบถ้วน มีข้อความชัดเจนแน่นอน เพื่อจะให้เกิดความเข้าใจในทุกเนื้อหาสาระได้ง่าย ไม่ใช้ถ้อยคำที่กำกวม ซึ่งล่อแหลมต่อการตีความผิดๆ จะต้องใช้ถ้อยคำที่เลือกสรรมาแล้วว่ามีความหมายที่แน่นอนและชัดเจนที่สุด คำหรือข้อความที่มีความหมายหลากหลายแง่มุม หรือกำกวม ซึ่งอาจทำให้เข้าใจไปได้หลายกรณีไม่ควรนำมาใช้
            2.2 รัฐธรรมนูญไม่ควรยาวเกินไป ควรบัญญัติเฉพาะหลักการจัดรูปแบบการปกครองของรัฐที่สำคัญ และจำเป็นเท่านั้น หากยาวมีรายละเอียดมาก จะทำให้การตีความยุ่งยากมากขึ้น และจะไม่ได้รับความเคารพเท่าที่ควร สำหรับรายละเอียดปลีกย่อยของการปกครองประเทศ หรือกฎหมายย่อยในส่วนอื่นๆ นั้น ควรเป็นหน้าที่ขององค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ จะออกกฎหมายที่มิใช่เรื่องที่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ จะต้องไม่สั้นเกินไปจนขาดสาระสำคัญ
            2.3 ควรมีกำหนดวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกฎหมายขึ้นไว้ เพราะรัฐธรรมนูญที่ดีต้องมีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับกาลสมัย ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป การที่มีวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกฎหมายนั้น เพื่อป้องกันการล้มล้าง หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้กำลัง โดยเฉพาะการปฏิวัติ และรัฐประหาร
            2.4 บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ควรจะต้องครอบคลุมในหลักการที่สำคัญของกระบวนการการเมือง การปกครอง เช่น บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามหลักนิติรัฐ บัญญัติถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่เหมาะสม สอดคล้องกับหลักการปกครองของระบอบประชาธิปไตย และวัฒนธรรม ประเพณี ความรู้ ความสามารถ ทางการเมืองของประชาชนเป็นสำคัญ บัญญัติถึงสถาบันทางการเมือง ที่มาของสถาบันเหล่านั้น อำนาจหน้าที่ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมือง กระบวนการสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของสถาบันการเมือง รวมถึงกระบวนการใช้อำนาจตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการเมืองของ สถาบันต่างๆ อย่างรัดกุม ป้องกันมิให้มีการบิดเบือนหลักการและกฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้เกิดวิกฤตทางการเมือง และอาจเป็นหนทางนำไปสู่การแก้วิกฤตการเมืองด้วยวิธีการนอกระบบ
            2.5 การมีส่วนร่วมในทางการเมืองของประชาชน จะต้องสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ในประเทศอย่างแท้จริง ในฐานะผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครองในการที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ ใช้อำนาจปกครองโดยไม่ถูกต้องชอบธรรมหรือรัฐบาลที่ปฏิเสธหรือ เป็นปฏิปักษ์ต่อมวลมหาประชาชน โดยไม่ทำให้ประชาชนมีความสำคัญแต่เฉพาะก่อน หรือขณะเลือกตั้งเท่านั้น ภายหลังการเลือกตั้งไปแล้วประชาชนยังคงต้องมีบทบาทที่สำคัญกว่านักการเมือง ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา โดยรัฐมีหน้าที่สนับสนุนในการสร้างและพัฒนาพลเมืองให้มีความรู้ และความรับผิดชอบทางการเมือง
            2.6 เนื่องจากปัญหาวิกฤต หรือข้อขัดแย้งทางการเมืองย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ และรัฐธรรมนูญอาจเกิดภาวะทางตัน ดังนั้น ควรบัญญัติช่องทางเผื่อกาลในอนาคตในการผ่าทางตัน เพื่อรองรับสถานการณ์ไว้ด้วย โดยเฉพาะการเกิดปัญหาสุญญากาศทั้งด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง
            2.7 แนวนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐยังคงต้องบัญญัติให้รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณภพแห่งเขตอำนาจรัฐ และต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จำเป็น และเพียงพอ เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อการพัฒนาประเทศ การใช้กำลังทหารโดยสุจริตเพื่อความมั่นคงของรัฐจากภัยที่มีมาจากภายในและนอก ราชอาณาจักร ไม่ต้องรับโทษทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง
            2.8 ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะทหาร จะต้องมีสิทธิเสรีภาพในทุกๆ ด้าน เช่นเดียวกับประชาชนโดยทั่วไปไม่ควรถูกจำกัด หรือริดรอนสิทธิเสรีภาพแม้กระทั่งสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ด้วยเหตุแห่งอาชีพในการเป็นข้าราชการทหาร
            2.9 ควรกำหนดให้การดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีมีวาระ 4 ปี และจะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ เพื่อป้องกันการผูกขาดหรือ เผด็จการทางการเมือง
            2.10 ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น จะต้องได้รับการต่อต้านและขจัดไปจากชาติ โดยผู้กระทำความผิดจะต้องถูกลงโทษอย่างหนักเฉียบขาดและรุนแรง เป็นค่านิยมที่จะต้องถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนและข้าราชการเกิดความสำนึกที่ดีต่อประเทศชาติ

ทหารนำตัว 'จตุพร' จากช่อง PEACE TV เข้าค่าย มทบ.11 ปมตั้งสังฆราช-อผส.


18 ก.พ. 2559 เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Jatuporn Prompan - จตุพร พรหมพันธุ์' รายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น. เจ้าหน้าที่ทหารเดินทางมาที่สถานี PEACE TV เพื่อรับตัว นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) รับตัวเดินทางไปที่ มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) 
เพจ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ระบุด้วยว่า นพ.เหวง โตจิราการ และคุณยศวริศ ชูกล่อม ร่วมเดินทางไปด้วย โดยให้สัญญากับ อ.ธิดาว่าจะดูแลความปลอดภัยคุณจตุพรตลอดการเดินทางและจะนำตัวมาส่งให้ถึงสถานีจนเป็นที่เรียบร้อย
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานถึงสาเหตุที่ทหารเชิยตัวนายจตุพรไปด้วยว่า  เพื่อพูดคุยถึงกรณีที่ นายจตุพร ได้แสดงความคิดเห็นในกรณีการแต่งตั้งพระสังฆราชองค์ใหม่ และการใช้งบขุดลอกคลอง กว่า 1,400 ล้านบาท ขององค์การทหารผ่านศึก (อผส.) โดยทหารได้พูดคุยกับ นายจตุพร และแกนนำ นปช. อยู่ครู่ใหญ่ ก่อนที่จะเชิญตัว นายจตุพร ให้เดินทางไปยัง มทบ.11 พร้อมกับเจ้าหน้าที่ทหาร
ด้าน พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. และ เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ถึงการเชิญตัว นายจตุพร มาพูดคุย โดยระบุเพียงสั้นๆ ว่า "ผมไม่รู้ ส่วนจะทำความเข้าใจกับฝ่ายการเมืองที่ยังไม่เข้าใจอย่างไรนั้น บางคนอะไรก็ไม่รู้ ก็ไม่เข้าใจต่อไป ส่วนเรื่องการเชิญมาปรับทัศนคติ คิดว่าแต่ละคนก็โตกันแล้ว พูดแล้วก็ต้องรู้เรื่อง ถ้าไม่รู้เรื่องก็คิดกันเอาเอง"
เมื่อถามว่า ในฐานะที่เป็น ผบ.กกล.รส. จะดูแลปัญหาเรื่องพระอย่างไร พล.อ.ธีรชัย กล่าวว่า ก็เรื่องของพระ ส่วนการพูดคุยกันนั้นก็เป็นเรื่องของพระเช่นกัน ต้องไปถามกรมศาสนาเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลา 17.22 น. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Jatuporn Prompan - จตุพร พรหมพันธุ์' โพสต์ระบุว่า นายจตุพร ได้ออกมาจากที่ มทบ. 11 แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ทีผ่านมา นายจตุพร เพิ่งถูกเชิงไปกองทัพภาคที่ 1 หลังเจ้าหน้าที่ทหาร ได้โทรศัพท์มาเพื่อขอเชิญตนมาพูดคุยร่วมกับ พล.ท.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ แม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งในครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่มีการเชิญตัว นายจตุพร ดังกล่าวว่า “เรียกเขาทำผิดหรือไม่ แสดงความคิดเห็นแต่ดูถูกเหยียบย่ำผม ความเห็นแบบนี้มีหรือ ทำได้หรือไม่ ด่ารัฐบาลทุกวันผิดหรือเปล่า ไม่ใช่เรื่องของผม ผมไม่ต้องสั่ง เพราะคสช.และฝ่ายกฎหมายดูอยู่ ผิดก็ดำเนินการทางกฎหมาย กฎหมายประกาศไว้ก่อนแล้ว ถ้าคุณแบบนี้โกรธหรือไม่ ผมไม่มีสิทธิปกป้องตัวผมเองหรืออย่างไร คุณก็ข้างคนแบบนี้อยู่ได้ ดูถูกดูแคลนกันทุกคน คุณจะไปเป็นเครื่องมือให้เขาหรืออย่างไร” 

อุทธรณ์ยกฟ้องคดีพลเมืองโต้กลับฟ้อง 'ประยุทธ์และพวก' ล้มการปกครอง ชี้มีรธน.นิรโทษฯไว้แล้ว


ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดีพลเมืองโต้กลับฟ้อง 'ประยุทธ์และพวก' ข้อหากบฏ ล้มการปกครอง ชี้มี รธน.ชั่วคราว ปี57 นิรโทษกรรม ไว้ให้แล้ว ด้านทนายอานนท์ จ่อหาช่องฎีกาต่อ
18 ก.พ. 2559 หลังจากเมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ภายใต้ชื่อกิจกรรม 'พลเมืองฟ้องกลับ' ได้เดินทางไปยื่นอุทธรณ์คดีที่กลุ่มได้ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพวก ซึ่งเป็นสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.รวม 5 คน ในข้อหากบฏ เป็นการอุทธรณ์คำสั่งของศาลอาญา ที่มีคำสั่งไม่รับฟ้องไปเมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา
ล่าสุด (18 ก.พ.59) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า แม้ฝ่ายโจทก์จะยื่นอุทธรณ์ว่า คสช.ออกกฎหมายมาตรา 47 และ 48 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะขัดกับหลักประชาธิปไตย และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์และความปรารถนาของประชาชน ดังนั้น คสช.จึงไม่สามารถอ้างกฎหมายสองมาตรานี้ยกเว้นความผิดแก่ตัวเองได้นั้น
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า มาตรา 48 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557  นั้นประกาศใช้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปัจจุบันแล้ว ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจในการไต่สวน อีกทั้งในมาตรานี้ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า บรรดาการกระทำ ทั้งหลายซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ของหัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงด้วยเหตุนี้ศาลอุทธรณ์จึงมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่า การกระทำใด ๆ ของ คสช.ย่อมถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนข้ออุทธรณ์ของฝ่ายโจทก์ที่ว่า การออกฎหมายในมาตราดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ต้องแยกส่วนกันในการพิจารณา ไม่เกี่ยวข้องกับคำร้องของฝ่ายโจทก์
ด้านนายอานนท์ นำภา ทนายความฝ่ายโจทก์ในคดีนี้กล่าวหลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาออกมาแล้วว่า แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกฟ้องคดีทั้งสองศาล ทำให้ฝ่ายโจทก์ไม่สามารถยื่นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 220 แต่ตามมาตรา 221 ก็เปิดช่องให้สามารถยื่นฎีกาได้ ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาคดีนี้ทำความเห็นแย้งว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไป
“แม้ทั้งสองศาลจะยกฟ้อง แต่ก็ยังมีข้อกฎหมายที่เปิดช่องให้ฎีกาได้ โดยเราจะให้เหตุผลว่า คดีนี้เป็นคดีที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่าในสังคม ข้อขัดแย้งควรจะขึ้นสู่ศาลสูงสุด ทั้งนี้ยังไม่เคยมีคดีที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร รวมถึงการกระทำใดของคณะรัฐประหารชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เข้าสู่การพิจารณาคดีในชั้นศาลฎีกามาก่อน” ทนายความฝ่ายโจทก์กล่าว

มีชัยเล็งปรับ ม.5 รธน.ชั่วคราว ใส่แทน ม.7 ในหมวดศาลรัฐธรรมนูญ


มีชัยเตรียมลบ มาตรา 7 ออกจากหมวดศาลรัฐธรรมนูญ เล็งปรับมาตรา 5 ใน รธน.ชั่วคราวใส่แทน ปัดตกข้อเสนอ สนช. ให้รัฐสภาหรือวุฒิสภาชี้ขาดหากประเทศเกิดวิกฤติ เกรงรัฐสภาเป็นต้นต่อในวิกฤติเอง
18 ก.พ. 2559 มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังทำหน้าที่ประธานการประชุม กรธ.ที่มีวาระพิจารณาบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราว่า ขณะนี้ กรธ.อยู่ระหว่างการประมวลความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ส่งมาจากสภา นิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) องค์กรอิสระ และประชาชน ก่อนที่จะพิจารณาว่าปรับปรุงเนื้อหาในส่วนใดได้บ้าง ส่วนกรณีที่มีนักวิชาการห่วงใยว่าการนำบทบัญญัติ (นำมาตรา 7 เดิมไปอยู่หมวดศาลรัฐธรรมนูญ) เกี่ยวกับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามประเพณีการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้ในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 207 ไม่มีความเหมาะสมนั้น ทาง กรธ.กำลังจะพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการแก้ไขให้เกิดความเหมาะสมต่อไป
“สำหรับแนวทางการแก้ไขเนื้อหาดังกล่าวเบื้องต้น กรธ.จะนำมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาพิจารณา ทั้งนี้ เจตนารมณ์เดิมของ กรธ.ที่ไว้ในหมวดศาลรัฐธรรมนูญ คือ ต้องการให้มีองค์กรเข้ามาทำหน้าที่ชี้ขาด ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดเป็นปัญหาเหมือนที่ผ่านมา แต่การย้ายกลับมาไว้ที่เดิมจะเป็นการบอกว่าถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาหน่วยงานไหนจะ มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหา” มีชัยกล่าว
เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำข้อเสนอของ สนช.ที่ให้รัฐสภาหรือวุฒิสภาลงมติว่ากรณีใดเป็นวิกฤตที่ต้องให้ประธานศาลรัฐ ธรรมนูญเรียกผู้นำเหล่าทัพมาหารือเพื่อแก้ไขปัญหามาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ สุดท้าย มีชัยกล่าวว่า คงเป็นไปได้ยาก เพราะหากต้นตอของวิกฤตดังกล่าวเกิดมาจากที่รัฐสภาเองจะทำอย่างไร
เมื่อถามว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวที่ระบุว่า กรธ.กำลังพิจารณาว่าจะให้ ส.ว.มาจากการสรรหาทั้งหมด มีชัยกล่าวว่า ยังไม่มีการพิจารณา เพราะตอนนี้กำลังพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในส่วนแรกอยู่ ยังไม่ถึงมาตราที่เกี่ยวกับวุฒิสภาเลย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ระบุว่า
“เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทําการนั้นหรือวินิจฉัย กรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ประเพณีการปกครองดังกล่าวต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้”
“ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยกรณีใดตามความในวรรคหนึ่งเกิดขึ้น ในวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด หรือเมื่อมีกรณีที่เกิดขึ้นนอกวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา หรือศาลปกครองสูงสุด จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้ แต่สําหรับศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดให้กระทําได้เฉพาะ เมื่อมีมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูง สุด และเฉพาะในส่วน ที่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดี”
เว็บข่าวรัฐสภา รายงานด้วยว่า ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังยืนยันด้วยว่า ไม่จำเป็นต้องขอขยายกรอบเวลาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเชื่อว่า จะเสร็จทันกรอบเวลาที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน