เครือข่ายชาวสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้ ประกาศร่วมชุมนุมเคลื่อนไหว 3 ก.ย.นี้ พร้อมเรียกร้องประธานเครือข่ายชาวสวนยางพาราแห่งประเทศไทย พิจารณาตัวเองหลังฝ่าฝืนมติรับข้อเสนอรัฐบาล ด้าน สกย.ไฟเขียวงดเก็บเงินสงเคราะห์ 4 ด. อุ้มชาวสวนยาง กมธ.แก้ราคายาง-ส.ว.ใต้-แนะ 5 ทางออกให้รัฐบาลพิจารณา ชี้คิดผิดส่ง "สุภรณ์" เจรจาเกษตรกร เชื่อมีสัญญาณตอบรับที่ดี คาด 2-3 วันนี้คงเจรจากันได้
ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (30 ส.ค. 56) ที่ห้องประชุมสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จ.กระบี่ นายธีระพงศ์ ตันติเพชราภรณ์ รองประธานเครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย นายบุญโชติ ร่มเย็น เลขาฯ เครือข่าย และตัวแทนเครือข่ายชาวสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้ ได้ร่วมประชุมหารือถึงแนวทางการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องราคายางพาราที่ตกต่ำอยู่ในขณะนี้ ซึ่งในที่ประชุมได้แจ้งถึงผลการหารือแก้ไขปัญหากับทางรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา ทางตัวแทนทางภาคใต้ไม่ยอมรับหลักการ เพราะเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เช่น การจ่ายเงินสนับสนุนปัจจัยการผลิตละ 1,260 บาท สำหรับเกษตรกรที่มีสวนยางไม่เกิน 10 ไร่ เป็นต้น และการรับข้อเสนอของประธานเครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทยนั้น เป็นการรับปากส่วนตัว ไม่ใช่มติของเครือข่าย
นายบุญโชติ ร่มเย็น เลขาฯ เครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในวันที่ 3 กันยายนนี้ ทางเครือข่ายและเกษตรกรชาวสวนยางจะเดินทางไปชุมนุมใหญ่ที่สหกรณ์การยาง หรือที่โคออฟ จ.สุราษฎร์ธานี ตามแนวทางเดิม เนื่องจากรัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหาราคายาง ส่วนกรณีที่ทางประธานเครือข่ายรับข้อเสนอของรัฐบาลนั้น เป็นการทำผิดมติที่ประชุม คณะกรรมการเครือข่ายฯ ซึ่งตนเห็นว่าประธานควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก
ซึ่งข้อเรียกร้องเดิมของเครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย คือ การให้ประกันราคายางรมควันชั้น 3 ราคา 101 บาทต่อ กก. ยางแผ่นดิบชั้น 3 ราคา 92 บาทต่อ กก. น้ำยางสด ราคา 81 บาทต่อ กก. และยางก้นถ้วยราคา 83 บาทต่อ กก. ส่วนแนวทางแก้ไขระยะยาว รัฐบาลต้องมีการประกันราคาโดยการแทรกแซงเช่นเดียวกับผลิตทางการเกษตรอื่นๆ เช่น ข้าว ข้าวโพด คาดว่าจะมีเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ประมาณ 2 หมื่นคนเข้าร่วมชุมนุม
มติ สกย.ไฟเขียวงดเก็บเงินสงเคราะห์ 4 ด.อุ้มชาวสวนยาง
30 ส.ค. 56 -
ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่านายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.)ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาวาระเร่งด่วนตามข้อเสนอของผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง เรื่อง การพิจารณาทบทวนการเก็บเงินสงเคราะห์ หรือเงินเซส โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่วมกันให้ยกเลิกการเก็บเงินสงเคราะห์เป็นเวลา 4 เดือน โดยคาดว่าจะมีผล 2 ก.ย.นี้ กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดปลายเดือน ธ.ค.2556 ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนมาตรการเร่งด่วนในการส่งเสริมผู้ประกอบการส่งออกยางพารา ให้สามารถส่งออกสินค้าได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปริมาณผลผลิตยางพาราในประเทศลงได้ และสามารถรับซื้อยางจากเกษตรกรได้ในราคาที่สูงขึ้น
“ที่ประชุมได้มีการหารือทบทวนการเก็บเงินเซส โดยนำข้อมูลสถานะการเงินของกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางมาพิจารณา พบว่า สามารถบริหารจัดการโดยไม่กระทบการกับการดำเนินงานปกติของ สกย.และการสนับสนุนการปลูกยางของเกษตรกรเป็นระยะเวลา 5-6 เดือน” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.เกษตรฯ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับสาเหตุหลักที่กำหนดระยะเวลางดจัดเก็บเงินเซสเป็นเวลา 4 เดือน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ส่งออกยางในการซื้อยางกับเกษตรกรด้วยการลดต้นทุน จากเดิมที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายเงินเซสในอัตรา 2 บาท/กิโลกรัม เมื่องดจัดเก็บเงินเซส ต้นทุนค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็จะลดลง โอกาสที่ผู้ประกอบการส่งออกจะเพิ่มปริมาณการซื้อยางจากเกษตรกรก็มีมากขึ้น และเป็นการเพิ่มโอกาสการแข่งขันกับคู่ค้าในตลาดส่งออก
นอกจากนี้ยังมอบหมายให้องค์การสวนยาง (อสย.)ประสานผู้ส่งออก เพื่อหารือร่วมกันถึงแนวทางดังกล่าวในวันนี้ (30 ส.ค.2556) ที่ ก.เกษตรฯ พร้อมทั้งมอบหมายให้สถาบันวิจัยยางตรวจสต๊อกของผู้ส่งออกทุกรายที่มีอยู่ขณะนี้ว่ามีเท่าไหร่และอยู่ทีไหนบ้าง เพื่อให้การงดเก็บเงินเซสที่กำหนดขึ้นส่งประโยชน์ถึงเกษตรกรได้อย่างแท้จริง
ส่วนเรื่องการนำยางในสต๊อกที่มีอยู่ 2 แสนตันมาใช้สำหรับการบริโภคภายในประเทศนั้น ขณะนี้ก็มีความชัดเจนแล้ว โดยรัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายให้นำยางพาราไปใช้ในด้านการคมนาคมและซ่อมแซมถนน โดยคาดว่าจะเห็นข้อมูลงานวิจัยการนำยางพาราไปทำถนน ของกรมทางหลวงในสัปดาห์หน้าว่าจะมีปัญหาทางด้านการจราจรหรือไม่ หากผลการวิจัยพบว่าไม่มีปัญหาใดๆ ก็สามารถดำเนินการได้ทันที
รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.เกษตรฯ กล่าวถึงการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ฝ่ายเศรษฐกิจที่ได้อนุมัติวงเงินช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกรที่ มีพื้นที่ยางเปิดกรีดไม่เกิน 10 ไร่ และเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องเท่านั้น ในอัตราการช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิตไร่ละ 1,260 บาท วงเงินรวม 5,268 ล้านบาทว่า จะเสนอ ครม.พิจารณา 3 ก.ย.นี้ โดยก.เกษตรฯมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรแจ้งต่อเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วให้ยื่นแสดงความจำนงร่วมโครงการ เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรสามารถดำเนินการได้ทันทีหลัง ครม.เห็นชอบ
ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ลงนามถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด แต่งตั้งคณะกรรมการระดับตำบล ในการตรวจสอบพื้นที่ปลูกยางของเกษตรกร โดยให้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ธ.ก.ส. และเกษตรตำบล เป็นกรรมการ และปลัดตำบลเป็นประธาน เพื่อร่วมกันลงตรวจสอบพื้นที่ปลูกยางเป็นรายแปลง และออกใบรับรองเพื่อเกษตรอำเภอส่งไปยัง ธ.ก.ส.และจ่ายเงินสดเข้าบัญชีเกษตรกรต่อไป
ส่วนข้อเรียกร้องของเกษตรกรที่ให้ช่วยเหลือปัจจัยการผลิตจาก 10 ไร่เป็น 25 ไร่ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธินั้น จะรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการขึ้นทะเบียนในครั้งนี้เสนอคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ (กนย.) พิจารณโดยเร่งด่วน และเสนอต่อไปยังคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ตามขั้นตอนอีกครั้งต่อไป.
กมธ.แก้ราคายาง-ส.ว.ใต้-แนะ 5 ทางออกให้รัฐบาลพิจารณา
ไทยรัฐออนไลน์ยังรายงานอีกว่าที่รัฐสภา นายประเสริฐ ชิตพงศ์ ส.ว.สงขลา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการบริหารจัดการปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และแนวทางการส่งเสริมการพัฒนายางพาราทั้งระบบ วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง ที่เรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคายางพารา ว่า ขอเสนอแนวทางแก้ไขเฉพาะหน้า เห็นควรรัฐบาล ดำเนินการดังนี้ 1.รัฐบาลต้องให้ข้อมูลให้ชัดเจน เกี่ยวกับตัวเลขต้นทุนการผลิต และการดำเนินการตามโตรงการแทรกราคาผลผลิต ทางการเกษตร เช่น โครงการรับนำจำข้าว โครงการพยุงราคายาง โดยการใช้ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกร
ส่วนข้อ 2.รัฐบาลควรงดเก็บเงินสงเคราะห์ชั่วคราว เพื่อยกระดับราคายางให้สูงขึ้น 3.กำหนดแนวทางส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยการนำยางพาราไปเป็นส่วนผสมในการทำถนนของหน่วยงาน ตามโครงการของภาครัฐ 4.ควรให้สถาบันเกษตรกรกู้เงินมาซื้อยางเพื่อแปรรูป และเก็บสต๊อกไว้รอจำหน่ายเมื่อราคายางสูงขึ้น และ 5.รัฐบาลควรรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากเวทีรัฐสภา และควรนำผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการชุดนี้ไปดำเนินการเป็นรูปธรรม
ทางด้าน พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ส.ว.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ในส่วนที่เกษตรกรนัดชุมนุมใหญ่วันที่ 3 ก.ย.นี้ ทาง ส.ว.ก็รู้สึกห่วงใย และเกรงว่าสถานการณ์จะบานปลาย ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งเจรจา โดยหาบุคคลที่มีความรู้และรับผิดชอบในเรื่องยางพาราจริงๆ มีความเป็นกลาง อย่างรัฐมนตรี หรือปลัดกระทรวง ไม่ใช่สุดโต่งอย่าง นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกฯ เพราะแค่ลงไปเกษตรกรก็รับไม่ได้ อย่าใช้กำลังในการสลายการชุมนุม
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทุกคนจะเข้าใจ เพราะเป็นคนไทยเหมือนกัน ส่วนที่จะมีการออกหมายจับแกนนำบางส่วนนั้น เท่าที่สอบถามไปทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันว่าไม่มีการออกหมายจับแกนนำ เท่าที่ดูสัญญาณก็มีแนวโน้มไปในทางที่ดี คาดว่า 2–3 วันนี้ ก็จะสามารถเจรจากันได้
ประธานเครือข่ายชาวสวนยางอุบลฯ เผยพอใจรัฐช่วยปัญหาราคายาง สรุป 3 ก.ย.ไม่ไปชุมนุม
สำนักข่าวไทยรายงานว่าเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 56 ประธานเครือข่ายชาวสวนยางอุบลฯ เผยพอใจรัฐช่วยปัญหาราคายาง สรุป 3 ก.ย.ไม่ไปชุมนุม ชี้หากสมาชิกบางคนไปก็เป็นสิทธิส่วนตัว และไม่มีการแตกแยกในกลุ่มสวนยาง
นายอดุลย์ โคตรพันธ์ รองประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรด้านยางพาราครบวงจรภาคอีสาน และประธานเครือข่ายชาวสวนยางพาราจังหวัดอุบลราชธานี ประชุมอีกรอบกับตัวแทนสมาชิกสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรสวนยางจำนวน 35 กลุ่ม ที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดอุบลราชธานี วันนี้ (30 ส.ค.) เพื่อชี้แจงไม่ไปร่วมชุมนุมในวันที่ 3 ก.ย.นี้ ที่ จ.นครราชสีมา เนื่องจากที่กลุ่มชาวสวนยางภาคอีสานได้เข้าเจรจากับนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงและสหกรณ์แล้วจะมีการชดเชยปัจจัยการผลิตเป็นค่าปุ๋ยให้กับชาวสวนยางรายละ 25 ไร่ พร้อมสนับสนุนก่อสร้างโรงงานอบยางพาราในพื้นที่ มอบเงินหมุนเวียนใช้เป็นกองทุน และเงินกู้ดอกเบี้ยถูกกับสมาชิกชาวสวนยาง จึงเห็นว่าการมีเงินกองทุนหมุนเวียนและการสร้างโรงงานรมควันยางพารา จะเกิดประโยชน์กับชาวสวนยาง เพื่อพัฒนาคุณภาพยางพาราให้ดีขึ้นนำไปสู่การส่งออกได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอการสนับสนุนจากภาครัฐ ดังนั้น วันที่ 3 ก.ย.นี้จะไม่ไปร่วมชุมนุม
อย่างไรก็ตาม นายอดุลย์ กล่าวว่า ชาวสวนยางพาราในรายที่จะไปชุมนุมเรียกร้องนั้นถือเป็นสิทธิส่วนบุคลทำได้ แต่ไม่เกี่ยวกับเครือข่ายสถาบันเกษตรกรด้านยางพาราครบวงจรภาคอีสาน และไม่ถือว่าเป็นความแตกแยกในกลุ่มชาวสวนยาง เพราะความเห็นอาจไม่ตรงกันได้ และแต่ละพื้นที่มีปัจจัยด้านการผลิตไม่เหมือนกัน ซึ่งขณะนี้ชาวสวนยางจังหวัดอุบลราชธานีและอีกหลายจังหวัดในภาคอีสานทราบว่าจะไม่ไปชุมนุมเช่นกัน