จ.ส.อ.อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ หลังฟังคำพิพากษาที่ศาลแขวงปทุมวัน คดีฝ่าฝืนกฎอัยการศึก ประกาศ คสช. และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90, 215, 216 และ 368 กรณีชุมนุมต้านรัฐประหาร ที่หอศิลปฯ กทม. เมื่อ 23 พ.ค. 2557 โดยศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากตำรวจกองปราบไม่มีอำนาจทำคดี
ยกฟ้องคดีฝืนกฎอัยการศึก-ขัดคำสั่ง คสช. หนุ่มชูป้ายต้าน คสช. ที่หอศิลป์ กทม. หลังเกิดรัฐประหารเมื่อ พ.ค. 57 ศาลระบุท้องที่เกิดเหตุอยู่เขตปทุมวัน ตำรวจกองปราบไม่มีอำนาจทำคดี - ขณะที่ 'อภิชาต พงษ์สวัสดิ์' เผยอยากให้คำตัดสินคดีลบล้างมลทินแก่ผู้ต่อต้านรัฐประหารแต่ถูกดำเนินคดี ทั้งที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับให้สิทธิพลเมืองต่อต้านรัฐประหาร
รัษฎา มนูรัษฎา (ซ้าย) หนึ่งในทีมทนายความของคดีให้สัมภาษณ์หลังศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง
11 ก.พ. 2559 - ที่ศาลแขวงปทุมวัน ถ.พระราม 4 ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีหมายเลขดำที่ 363/2558 ความผิดตาม มาตรา 8, 11 พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 215 วรรคแรก, 216 และ 368 วรรคแรก กรณีชุมนุมต้านรัฐประหารของ คสช. ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน เมื่อ 23 พ.ค. 2557 หรือ 1 วันหลังรัฐประหาร
ศาลยกฟ้อง ระบุตำรวจกองปราบไม่มีอำนาจทำคดี
โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า ความผิดในข้อหาตามที่ฟ้องเกิดในท้องที่เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นําสืบมาจึงฟังไม่ได้ว่า กองบังคับการปราบปราม หรือกองปราบ มีอํานาจและหน้าที่ในการสอบสวนความผิดอาญาที่เกิดขึ้นในท้องที่เขตปทุมวัน ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าพนักงานสอบสวนจากกองปราบ มีการสอบสวนความผิดตามข้อกล่าวหาในคดีนี้โดยชอบ โจทก์จึงไม่มีอํานาจฟ้อง คดีไม่จําต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงประการอื่น
อภิชาตหวังให้คำตัดสินเยียวยาผู้ต่อต้านรัฐประหารแต่กลับถูกดำเนินคดีมากมาย
หลังมีคำพิพากษา อภิชาตกล่าวว่า คดีที่เกิดขึ้นต่อเขาเป็นคดีการเมือง เขาแสดงออกต่อต้านรัฐประหาร ไม่ใช่คนร้ายก่ออาชญากรรม จึงไม่คิดอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ อภิชาตยังกล่าวด้วยว่า คำตัดสินของศาลในวันนี้เป็นโอกาสดีที่ได้ต่อสู้คดี เพื่อเป็นบรรทัดฐานแก่สังคม โดยเขายืนยันว่ายังมีจิตใจดี กำลังใจดี เพราะมีคนจำนวนมากในสังคมที่ให้กำลังใจในช่วงที่เขาต้องต่อสู้คดี
"ที่ผ่านมาต่อสู้ว่าถูกดำเนินคดี ถูกคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังสิ้นสุดกระบวนการศาล หากมีการเยียวยาด้วยทรัพย์สินก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า คำพิพากษาของศาลในวันนี้จะเป็นบรรทัดฐาน เพราะเรื่องการชุมนุมต้านรัฐประหารเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับบัญญัติเอาไว้ว่าหากมีการทำรัฐประหาร ประชาชนมีสิทธิคัดค้าน"
"ผมอยากให้คดีของผม ลบล้างมลทินให้กับคนที่ถูกดำเนินคดีเพราะต่อต้านรัฐประหาร พวกเขาเหล่านั้นไม่มีความผิด คำพิพากษาถือเป็นการเยียวยาคนกลุ่มนี้ เพราะการแสดงออกเพื่อคัดค้านรัฐประหารไม่ใช่การทำผิดใดๆ เลย" อภิชาตกล่าว
ในช่วงที่ถูกควบคุมตัวหลังเหตุการณ์ชุมนุม 23 พ.ค. 2557 อภิชาตเล่าว่า คืนแรกถูกควบคุมในค่ายทหารเป็นเวลา 1 คืน และอีก 7 วันถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก โดยย้ายไปที่กองบังคับการปราบปราม จากนั้นถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ 23 วัน ก่อนได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากศาลยกคำร้องฝากขัง อภิชาตกล่าวว่าในช่วงที่ถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกเขาไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้าย แต่มีตำรวจบางนายพูดจาต่อเขาด้วยถ้อยคำรุนแรง
หลังจากได้รับการปล่อยตัวเขากลับเข้าทำงานเมื่อ 25 มิ.ย. 2557 แต่ก็ถูกสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หน่วยงานต้นสังกัดสอบวินัยเนื่องจากไม่มาปฏิบัติหน้าที่เกิน 15 วัน โดยเขาได้ปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าถูกควบคุมตัวตามคำสั่งศาล ไม่มีเจตนาขาดราชการ
ศาลยก พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติเรื่องการจัดระเบียบราชการขีดเส้นตำรวจกองปราบ
สำหรับคำพิพากษาของศาลโดยสังเขป ศาลพิเคราะห์แล้วมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยในประการแรกว่า โจทก์มีอํานาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ซึ่งศาลเห็นว่า โจทก์มิได้นําสืบข้อเท็จจริงว่า ความผิดในข้อหาตามที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนั้น เป็นความผิดที่เกิดขึ้นในท้องที่ที่อยู่ในเขตอํานาจการสอบสวนของกองบังคับการปราบปราม สํานักงานตํารวจแห่งชาติอันเป็นหน่วยงานที่ ร.ต.ท.ชลิต มณีพราว พนักงานสอบสวนคดีนี้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ซึ่งจะทําให้ ร.ต.ท.ชลิตมีอํานาจในการสอบสวนความผิดนั้นได้
เนื่องจากตามพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ลักษณะที่ 2 เรื่องการจัดระเบียบราชการในสํานักงานตํารวจแห่งชาติในมาตรา 10 ได้บัญญัติไว้ว่า “สํานักงานตํารวจแห่งชาติแบ่งส่วนราชการดังต่อไปนี้ (1) สํานักงานผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ (2) กองบัญชาการ”
และในวรรคสองของมาตราดังกล่าวได้บัญญัติไว้ว่า “การแบ่งส่วนราชการตาม (1) เป็นกองบัญชาการหรือการจัดตั้งกองบัญชาการตาม (2) ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และการแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่น ให้ออกเป็นกฎกระทรวงและให้กําหนดอํานาจหน้าที่ไว้ในพระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงนั้นแล้วแต่กรณี” แสดงว่าการแบ่งส่วนราชการภายในสํานักงานตํารวจแห่งชาติเป็นกองบังคับการจะต้องออกเป็นกฎกระทรวง และการกําหนดอํานาจหน้าที่ของกองบังคับการจะต้องกําหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับเดียวกัน การออกกฎกระทรวงกําหนดอํานาจและหน้าที่ของกองบังคับการถือเป็นข้อบังคับซึ่งระบุอํานาจและหน้าที่ของตํารวจภายในกองบังคับการตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 16
เมื่อไม่ปรากฏจากคําเบิกความของพยานโจทก์ปาก ร.ต.ท.ชลิต และไม่ปรากฏจากทางนําสืบของโจทก์โดยมีกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการในสํานักงานตํารวจแห่งชาติมาแสดงเป็นพยานหลักฐาน เพื่อให้รับฟังข้อเท็จจริงได้ว่าสํานักงานตํารวจแห่งชาติแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการปราบปราม และกฎกระทรวงดังกล่าวได้กําหนดอํานาจหน้าที่ของกองบังคับการปราบปรามไว้ว่าความผิดในข้อหาตามที่ฟ้องซ่ึงเกิดในท้องที่เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร นั้น อยู่ในเขตอํานาจและหน้าที่การสอบสวนของกองบังคับการปราบปรามสํานักงานตํารวจแห่งชาติ
ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นําสืบมาจึงฟังไม่ได้ว่า กองบังคับการปราบปราม สํานักงานตํารวจแห่งชาติมีอํานาจและหน้าที่ในการสอบสวนความผิดอาญาที่เกิดข้ึนในท้องที่เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ตามข้อกล่าวหาในคดีนี้และฟังไม่ได้ต่อไปอีกด้วยว่า ร.ต.ท. พนักงานสอบสวน กองกํากับการ 1 กองบังคับการปราบปรามสํานักงานตํารวจแห่งชาติมีอํานาจหน้าที่ในการสอบสวนความผิดที่เกิดขึ้นในท้องที่ตามข้อกล่าวหาในคดีนี้เช่นกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า ร.ต.ท.ชลิตมีอํานาจหน้าที่ในการสอบสวนคดีนี้กรณีจึงฟังไม่ได้ว่ามีการสอบสวนความผิดตามข้อกล่าวหาในคดีนี้โดยชอบ โจทก์จึงไม่มีอํานาจฟ้อง คดีไม่จําต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงประการอื่นต่อไปอีก พิพากษายกฟ้อง
คดีก่อนหน้านี้จำเลยรับสารภาพ ศาลสั่งรอลงอาญา ปรับ 3 พันบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับการชุมนุมในวันดังกล่าว มีการควบคุมตัวประชาชน 5 คน โดยอภิชาตเป็นหนึ่งในผู้ถูกควบคุมตัวและดำเนินคดี ซึ่งสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางคดีแก่อภิชาต ทั้งนี้ภายหลังเหตุรัฐประหารยังคงมีประชาชนถูกดำเนินคดีเนื่องจากชุมนุมอย่างต่อเนื่อง
โดยผู้ถูกดำเนินคดีเนื่องจากการชุมนุม 23 พ.ค. 2557 ก่อนหน้านี้คือ วีระยุทธ คงคณาธาร ปัจจุบันอายุ 51 ปี ถูกดำเนินคดีมาตรา 8 และ 11 ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 พิพากษาเมื่อ 3 ก.ค. 2557 คดีนี้จำเลยรับสารภาพ ศาลให้ลงโทษจำคุก 2 เดือน ปรับ 6,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 เดือน ปรับ 3,000 บาท ศาลยังเห็นว่าพฤติการณ์คดีไม่ร้ายแรง จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติกรรมหลบหนี มีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว จึงให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้ 1 ปี และจ่ายค่าปรับ 3,000 บาท