ปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ นี้ นับเป็นปีที่สำคัญต่อพระพุทธศาสนา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำคัญต่อปวงชนชาวไทย ในฐานะที่เป็นผู้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาไว้เป็นศาสนาประจำจิตประจำใจ จนเป็นศาสนาประจำชาติ เนื่องในโอกาสที่พระพุทธศาสนามีอายุมาครบ ๒๖๐๐ ปีนับแต่การตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้บรมศาสดา ผู้ก่อตั้งพระพุทธศาสนา ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ นี้ พุทธศาสนิกชนทั่วโลกได้มีการเฉลิมฉลองโดยร่วมกันทำสักการบูชาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นกันทั่วหน้า เพื่อน้อมรำลึกถึงพระคุณูปการที่พระพุทธองค์ได้ทรงประทานแสงสว่างให้แก่ชีวิตและโลกด้วยพระมหากรุณาอันหาประมาณมิได้ ปวงชนชาวไทยพุทธเราก็พร้อมจิตพร้อมใจกันทำการฉลองโดยทั่วหน้าเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๐ เราชาวพุทธทั้งโลกได้เคยร่วมกันเฉลิมฉลองกันในทำนองนี้ครั้งหนึ่งแล้ว ในครั้งนั้นพุทธศาสนิกชนต่างถือเอาคติว่าพระพุทธศาสนามั่นคงอยู่ในโลกนี้ได้ครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ คือครั้งนั้นถือเอาคติว่าพระพุทธศาสนาครบ ๒๕๐๐ ปี นับแต่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานเมื่อพระชนมายุ ๘๐ แต่ครั้งนี้ฉลอง ๒๖๐๐ ปี ในพุทธศักราช ๒๕๕๕ โดยการนับจากวันที่พระพุทธองค์ได้ค้นพบอริยสัจธรรมเมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา เมื่อตรัสรู้แล้วพระพุทธองค์แสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์อยู่อีก ๔๕ ปี เอา ๔๕ บวกกับ ๒๕๕๕ จึงเป็น ๒๖๐๐ ปี เรียกว่า “๒๖ พุทธศตวรรษนับแต่ตรัสรู้”
มีคำแปลกใหม่สำหรับหูคนไทยมาคำหนึ่งในการเฉลิมฉลองครั้งนี้คือคำว่า “พุทธชยันตี” แน่นอนว่าคำนี้เป็นภาษาฮินดี (หรือภาษาอินเดีย) เมื่อจะมีคำถามว่าแล้วทำไมต้องไปเอาภาษาฮินดีมาใช้ในการเฉลิมฉลองครั้งนี้กับชาวพุทธที่เป็นคนไทย คงตอบได้ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่า เพราะที่ประเทศอินเดียเขาจัดงานฉลองโอกาสนี้ก่อนเราและเขาใช้คำนี้กันก่อนแล้ว ไทยเราจึงรับมาใช้ให้ตรงกันเพื่อแสดงออกให้โลกรู้ว่าชาวพุทธมีความเป็นเอกภาพ หากเราใช้เฉพาะภาษาไทยเราว่า “ฉลอง ๒๖ พุทธศตวรรษแห่งการตรัสรู้” ก็คงจะได้ แต่เราจะรู้และเข้าใจง่ายเฉพาะคนไทยเรา ไม่ทั่วไปแก่ชาวโลก แต่เมื่อพูดให้เป็นภาษาเดียวกัน ปัญหาเรื่องการทำความเข้าใจแก่ชาวโลกก็คงจะง่ายขึ้นไม่น้อย แต่ก็มาเป็นปัญหาสำหรับชาวพุทธไทยอยู่เหมือนกันเพราะคนไทยออกจะงงว่า “พุทธชยันตี คืออะไรกันแน่”
ผู้เขียนเริ่มคิดถึงงานฉลอง “๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้” เมื่อปลาย ๆ ปีพุทธศักราช ๒๕๕๒ คิดเพิ่มหนักแน่นขึ้นพร้อมกับวางแผนจะจะต้องจัดงานฉลองเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๓ แล้วก็มาเริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ และก็ได้มาทำจริงจังในขั้นเตรียมการตั้งแต่เริ่มต้นปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ นี้ สำหรับคำว่าพุทธชยันตี ซึ่งได้มีการนำมาใช้เป็นทางการในครั้งนี้ ได้มาทราบในที่ประชุมมหาเถรสมาคมเมื่อสมัยประชุมคณะกรรมการมหาเถรสมาคม แต่ครั้งนั้นมี “สัม” นำหน้าออกมาด้วยเป็น “สัมพุทธชยันตี” โดยมีคำอธิบายว่าที่ต้องใช้ “สัม” เข้ามาเพราะเป็นการฉลอง ”การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า” แต่พอเข้าประชุมอีกครั้งหนึ่งก็กลับมาเป็น “พุทธชยันตี” เช่นที่เป็นอยู่บัดนี้
เห็นจะต้องตอบคำถามเสียทีละว่า “พุทธชยันตี” คือคำศัพท์คำหนึ่งเป็นคำศัพท์ภาษาฮินดีหรือภาษาอินเดียปัจจุบัน แต่หากจะถามว่าแล้วคำนี้แปลว่าอะไร ก็ตอบได้ว่า ศัพท์ว่า “พุทธชยันตี” นี้เป็นศัพท์ใหม่ที่ชาวพุทธคิดสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นชื่องานฉลองโอกาสพิเศษครบ ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในมหามงคลสมัยที่พระพุทธศาสนายืนยาวมาครบ ๒๕๐๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ก็มีการฉลองอันยิ่งใหญ่ไปบรรดาชาวพุทธทั่วโลก แต่ใช้คำศัพท์เป็นชื่อเฉพาะงานว่า “พุทธชยันตี” เนื่องจากว่านั่นเป็นการนับพุทธศักราช ซึ่งเริ่มนับตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อพระชนมายุ ๘๐ ปี ส่วนการฉลองพุทธชยันตีครั้งนี้ มีความหมายพิเศษระบุเจาะจงถึงปีแห่งการตรัสรู้ ที่ให้เปลี่ยนจากพระฤๅษีสิทธัตถะเป็น “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” เพราะได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ หรือทรงค้นคว้าแสวงหาจนพบสัจธรรม ในการจัดงานฉลองครั้งนี้เราจึงเรียกขานให้ตรงว่า “งานฉลองพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปีการตรัสรู้”
คำว่า “ชยันตี” แปลความหมายตรง ๆ ว่า “ชัยชนะ” ก็ได้ และว่า “เกิด” ก็ได้ ซึ่งเมื่อแปลว่าชัยชนะ ก็หมายถึง ๑) ได้ชัยชนะเหนือกิเลสและมารทั้งปวง ๒) ได้ชัยชนะเหนือความไม่รู้คืออวิชชาอย่างเด็ดขาด ๓) ได้ชัยชนะที่ทรงใช้ความเพียรพยายามค้นหาคำตอบเรื่องความทุกข์ได้อย่างครบสมบูรณ์ เมื่อค้นพบก็ถือว่าได้ชัยชนะ แต่คนไทยเราคงจะคุ้นคำนี้ว่า “ชะยันโต” มากกว่า “ชะยันตี” เพราะเราคุ้นเคยกับภาษาบาลีมากกว่าภาษาฮินดี ส่วน ที่แปลว่า “เกิด” ซึ่งมีความหมายตรงกับคำว่า ชนยนฺตี, ชเนตฺตี, อุปฺปาโท, อุปปชฺชนํ, อุปปตฺติ, ซึ่งทุกคำแปลว่าเกิด หรือพุทธภาษิตที่ว่า ปิยโต ชายเต โสโก ความโศกย่อมเกิดจากสิ่งที่รักเป็นต้น แต่เนื่องจากทางประเทศศรีลังกาและอินเดียเขาเริ่มใช้เป็นชื่องานฉลองโอกาสพิเศษแห่งพระพุทธศาสนามาก่อนและเขานิยมใช้คำว่า “ชะยันตี” เป็นภาษาฮินดี ไทยเราจึงใช้ตามเขาเพื่อแสดงความเป็นเอกภาพและง่ายในการประชาสัมพันธ์ในระดับนานาชาติด้วย ในคราวประชุมหมาเถรสมาคมเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคมศกนี้ จึงมีมติเห็นชอบให้ใช้ชื่องานฉลองพระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นในโลกครบ ๒๖๐๐ ปีครั้งนี้ว่า “งานฉลอง พุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า”
คำว่า “สัมพุทธะ” หรือ “สัมมาสัมพุทธะ” เกิดมีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพระฤๅษีโพธิสัตว์สิทธัตถะได้ “ตรัสรู้โดยชอบด้วยพระองค์เอง” แล้วเท่านั้น นั่นคือหลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ทอดพระ เนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บป่วย คนตาย ทรงเห็นว่าเป็นปัญหาและทรงสรุปเบื้องต้นเป็นสมมติฐานทางการวิจัยว่าสภาพเช่นนั้น “เป็นความทุกข์” จะต้องมีสิ่งที่แก้กันคือ “ความสุข” ครั้นทรงพบเห็นสมณะก็มีพระดำริว่าน่าจะเป็นทางค้นหาให้พบความสุขได้ จึงตัดสินพระทัยออกทำงานวิจัยค้นหาความสุขเพื่อแก้ความทุกข์ให้ได้ ทรงใช้เวลาทำการวิจัยลองผิดลองถูกมาถึง ๖ ปี จากพระชนมายุ ๒๙ ถึงพระชนมายุ ๓๕ จึงวิจัยสำเร็จสมบูรณ์คือได้รู้ชัดว่า
- อะไรคือความทุกข์
- อะไรคือสาเหตุแห่งความทุกข์
- อะไรคือความดับลงอย่างเด็ดขาดแห่งความทุกข์
- และอะไรคืออุบายวิธีให้ถึงความดับทุกข์อย่างเด็ดขาด
เมื่อได้พบแล้วพระองค์จึงทรงประกาศว่า “เราได้รู้แล้ว” และได้เสนอผลงานวิจัยของพระองค์สู่สาธารณะชนอันมีผลมาถึงปัจจุบัน แต่การรู้ของพระองค์ไม่ใช่รู้เพียงเท่านั้น หากแต่ได้รู้สิ่งทั้งปวงตามเป็นจริงด้วย รู้ไปถึงเรื่องของจักรวาล พระองค์จึงได้พระนามอีกว่า “พระสัพพัญญู” แปลว่าผู้รู้สิ่งทั้งปวง และว่า “โลกวิทู” ผู้รู้โลกทั้งปวงเป็นต้น เพราะฉะนั้น การฉลองครั้งนี้จึงหมายถึงการฉลอง
- ๑) ความเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา
- ๒) ฉลองความเกิดขึ้นในโลกของพระพุทธศาสนา
- ๓) ฉลองความปรากฏขึ้นในโลกของสัจธรรมที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
- ๔) ฉลองความที่พระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นในโลกมาครบ ๒๖๐๐ ปี
อนึ่ง ศัพท์ว่า “สัมมาสัมพุทธะ” ที่แปลว่า “ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ หรือ ผู้ตรัสรู้โดยชอบด้วยพระองค์เอง” หมายความว่าทรงค้นพบสัจธรรมเองโดยการค้นคว้าวิจัยของพระองค์เอง โดยไม่มีอาจารย์สอน บาง ครั้งก็มีผู้สงสัยว่า พระพุทธองค์ตรัสรู้เองโดยไม่มีอาจารย์ได้อย่างไร ในเมื่อที่ผ่านมาก็เข้าไปศึกษาจากอาจารย์มากมาย ข้อนี้ก็เหมือนนักศึกษาที่ศึกษาจบหลักสูตรได้รับปริญญาเป็นบัณฑิต ได้ ความรู้จากอาจารย์มา แต่ความรู้นั้นยังไม่อำนวยให้รู้สิ่งที่ต้องการรู้ได้ ต่อเมื่อจบการศึกษารับปริญญาเป็นบัณฑิตแล้วไปทำงานวิจัยต่อ เป็นนักวิจัยอิสระ ลองผิดลองถูกไปอย่างมุ่งมั่น ในที่สุดก็พบสิ่งที่ต้องการรู้เองด้วยความเป็นนักวิจัยอิสระของตนเอง ข้อนี้ฉันใดพระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้เองโดยไม่มีอาจารย์ฉันนั้น
ว่าถึงการวิจัย เราสามารถกล่าวได้ว่าพระพุทธองค์เป็นนักวิจัยคนแรกของโลก ถือว่าพระพุทธองค์ทรงเป็นพระบิดาแห่งการวิจัย ระบบค้นคว้าแสวงหาความรู้ที่ทรงคิดค้นได้มาเป็นระบบที่สมบูรณ์ และสามารถใช้ประโยชน์ในการทำงานวิจัยค้นคว้าแสวงหาความรู้ได้อย่างดีเยี่ยมแม้กระทั่งปัจจุบัน นั่นคือ
- ๑) มีขั้นตอนฐานความคิด (การสังเกต)
- ๒) มีสมมติฐาน (มีความทุกข์ต้องมีความสุข)
- ๓) มีปัญหาทางการวิจัย (แก่ - เจ็บป่วย – ตาย)
- ๔) มีการประมวลความรู้เบื้องต้น ((การออกบวช-สำนักอาจารย์ต่าง ๆ)
- ๕) กระบวนการทดลองภาคสนาม (เข้าไปศึกษา-ทดลองด้วยตนเองในสำนักต่าง ๆ)
- ๖) การวิเคราะห์ข้อมูล (ประมวลจากความรู้ที่ได้จากการทดลองในสำนักต่าง ๆ)
- ๗) แสวงหาความรู้ใหม่เมื่อยังตอบโจทย์ (อะไรคือความทุกข์) ยังไม่ได้ ด้วยการลองผิดลองถูกด้วยตนเอง (อดกลั้นลมหายใจ-เอาลิ้นกดเพดาน-อดอาหาร)
- ๘) เมื่อตอบโจทย์วิจัยได้ว่าอะไรคือความทุกข์เป็นต้น (เกิดสัมโพธิญาณ) จึงมั่นพระทัยประกาศ ยืนยันว่า “เราได้รู้แล้ว”
- ๙) ทบทวนผลงานตั้งแต่ฐานความคิดถึงบรรลุพระสัมโพธิญาณ (๔๙ วันที่สัตตมหาสถาน) ๙) วางกรอบรูปแบบแนวปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสัจจะที่ทรงค้นพบ (สร้างโมเดลแนว/ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติ (ไตรสิกขาหรืออริยมรรคมีองค์แปด)
- ๑๐) เสนอผลการวิจัยสู่สาธารณชน (ประกาศธรรมโดยพิจารณาผู้รับที่เหมาะสม)
องค์ความรู้ที่ทรงใช้เพื่อการวิจัย ๗ ประการที่ทรงใช้ เป็นแบบมาตรฐานที่สามารถให้ความเที่ยงตรง ไม่ให้ความรู้หรือสิ่งที่ค้นพบคลาดเคลื่อนจากความจริงคือ
๑. ทบทวนวรรณกรรมทั้งปวงที่สามารถทบทวนได้ (สติ ความระลึกรู้)
๒. คัดเลือก คัดสรรแนวที่มีความถูกต้องหรือใกล้เคียงความถูกต้องที่สุด (ธมฺมวิจโย)
๓. สร้างความกล้าหาญ มุ่งมั่น เด็ดเดี่ยวในการตัดสินใจลงมือทำงานวิจัย (วิริโย)
๔. สร้างความพึงพอใจในการได้ลงมือทำงานวิจัยมีความสุขกับการได้ทำสิ่งนั้น (ปีติ)
๕. เตรียมกายเตรียมใจและเวลาให้พร้อมเพื่อความมุ่งมั่นทำงาน (ปสฺสทฺธิ)
๖. มีความหนักแน่น ไม่โลเล ไม่ท้อแท้ ไม่ให้อุปสรรคต่าง ๆ มาทำลายความตั้งใจ มีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวไม่พบสิ่งต้องการรู้ไม่หยุดค้นคว้า (สมาธิ)
๗. ทบทวน สังเกต ตรวจสอบ ให้ได้ค่าความเชื่อมั่น (อุเปกฺขา = อุป + อิกฺข) อุเบกขาในที่นี้ไม่ได้แปลว่า “วางเฉย” อุปะ แปลว่า “มั่น” อิกขะ แปลว่า ดู, เห็น, ตรวจสอบ เมื่อรวมเข้ากันเป็นคำเดียวจึงต้องแปลว่า “ตรวจสอบให้มั่นใจ)
ทั้ง ๗ ข้อนี้ ทรงชี้ว่าเป็นองค์ความรู้ (โพชฌงค์ องค์แห่งการตรัสรู้ แปลเป็นภาษาวิชาการทั่วไปว่า “องค์แห่งความรู้” อันหมายความว่าเมื่อทำงานวิจัยแสวงหาความรู้ใด ๆ ด้วยการใช้องค์แห่งความรู้ทั้ง ๗ ประการนี้เป็นบรรทัดฐาน ความรู้ที่ได้จากการวิจัยชิ้นนั้น จะเป็นความรู้ที่เที่ยงตรง มีค่าความเชื่อมั่นเต็มร้อย สามารถตอบโจทย์วิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในทุกยุคทุกสมัย เป็นองค์ความรู้ที่ยั่งยืนเป็น “อกาลิโก”
พระพุทธองค์ประสบความสำเร็จในการวิจัยแล้วได้ทรงอาศัยพระมหากรุณาคุณ มุ่งมั่น ท่องเที่ยวไปเสนอผลงานวิจัยต่อสาธารณชนเป็นเวลา ๔๕ ปีพร้อมกับภาระให้แก่พระสาวกสาวิกาช่วยทำงานเป็นประโยคที่สำคัญว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราได้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้ท่านทั้งหลายก็เหมือนกัน ท่านทั้งหลายจงเที่ยวไปในชนบท เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนเป็นอันมาก แต่อย่าไปรวมกัน ๒ รูปโดยทางเดียวกัน จงแสดงธรรมมีคุณงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลางและงามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง สัตว์ทั้งหลายที่มีกิเลสบังปัญญาดุจธุลีในจักษุน้อยเป็นปกติมีอยู่ เพราะโทษที่ไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อมจากคุณที่จะพึงได้พึงถึง ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมีอยู่ แม้เราก็จะไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อจะแสดงธรรม” สรุปสั้น ๆ ว่า “เธอทั้งหลายจงไปแสดงธรรมเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่พหุชน เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก”
สิ่งสำคัญที่พระพุทธองค์ทรงย้ำเน้นไว้ในธัมมจักกัปปวัตนสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๔) คืออุบายวิธีเข้าถึงความรู้หรือความจริง และตรัสไว้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เส้นเดียวที่ให้ไปถึงจุดหมายปลายทางได้แน่นอนคืออริยมรรคมีองค์แปดนั่นเอง และทางนี้ถือว่าเป็นทางที่สร้างไว้สำเร็จสมบูรณ์แล้ว เป็นเส้นทางที่ประกอบด้วย ๑ ยุทธศาสตร์เพื่อความสุขถาวร เส้นทางนี้มี ๘ มาตรฐานการดำเนินงาน และ ๒๖ ดรรชนีชี้วัด ซึ่งได้แก่
มาตรฐานที่ ๑ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่เรียกว่าถูกต้อง ต้องประกอบด้วย ๔ ดรรชนีชี้วัดได้แก่
๑) ทุกฺเข ญาณํ หยั่งรู้หยั่งเห็นว่าความทุกข์ทั้งปวงที่ทรงแสดงไว้แล้วนั้นมีอยู่จริง
๒) ทุกฺขสมุทเย ญาณํ หยั่งรู้ว่าตัณหาเป็นสาเหตุให้เกิดความทุกข์ทั้งปวงจริง
๓) ทุกฺขนิโรเธ ญาณํ หยั่งรู้หยั่งเห็นว่าเมื่อดับสาเหตุแห่งความทุกข์ทั้งปวงได้ก็เป็นการดับความทุกข์ทั้งปวงได้จริง
๔) ทุกฺขนิโรธคามินิยา ปฏิปทาย ญาณํ หยั่งรู้หยั่งเห็นในปฏิปทาอันให้ถึงความดับลงอย่างเด็ดขาดแห่งความทุกข์ สามารถเป็นไปได้จริง
นี้คือดรรชนีชี้วัด “ความเห็นชอบ” เห็นอย่างอื่นไม่ชื่อว่าเห็นชอบตามข้อว่า สัมมาทิฏฐิ นี้ ข้อนี้ทำให้ได้ความชัดว่าเห็นอย่างไรเรียกว่าเห็นชอบ
มาตรฐานที่ ๒ สมฺมาสงฺกปฺโป ความคิดหรือความดำริที่ถูกต้อง มีดรรชนีชี้วัดความถูกต้อง ๓ อย่างคือ
๑) เนกฺขมฺมสงฺกปฺโป ความคิดออกจากกาม หรือความคิดออกห่างจากความมัวเมาเพลิดเพลินในกาม อันรวมไปถึงเรื่องบริโภคนิยม (บริโภคทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) มีความรู้จักประมาณ รู้จักพอเพียง
๒) อพฺยาปาทสงฺกปฺโป ความคิดความดำริ ลด ละ เลิก ความอาฆาตพยาบาทผู้อื่น (มีแต่เมตตา ปรารถนาให้ผู้อื่นอยู่เย็นเป็นสุขด้วยกัน)
๓) อวิหิงฺสาสงฺกปฺโป ความคิดคามดำริ ลด ละ เลิก ความเบียดเบียนทำลายล้างชีวิตและทรัพย์สินของกันและกัน (มีความเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน)
มาตรฐานที่ ๓ สัมมาวาจา การกล่าววาจาที่ถูกต้องชอบธรรม มีตัวดรรชนีชี้วัดคำว่า “สัมมา” ๔ ข้อคือ
๑) มุสาวาทา เวรมณี กล่าววาจามีเจตนาเว้นจากคำพูดเท็จ คำที่ไม่ตรงกับความจริง คลาด เคลื่อนจากความจริง (มี สัจวาจา)
๒) ปิสุณวาจา เวรมณี กล่าววาจามีเจตนาเว้นจากคำยุยงส่งเสริมให้เกิดความขัดแย้งหรือเกิดแตกแยก หรือทำลายสามัคคี (มี วาจาเสริมสร้างสามัคคี)
๓) ผรุสาวาจา เวรมณี กล่าววาจามีเจตนาเว้นจากคำพูดหยาบคายเช่นคำด่า คำลบหลู่ดูหมิ่น คำพูดแดกดันกดขี่ (มี ปิยวาจา)
๔) สฺมผปฺปลาปา เวรมณี กล่าววาจามีเจตนาเว้นจากคำพูดเพ้อเจ้อไร้สาระไร้ประ -โยชน์ ผิดกาลเทศะ (มี อัตถวาจา)
มาตรฐานที่ ๔ สมฺมากมฺมนฺโต การทำงานที่เป็นไปโดยชอบโดยถูกต้อง มีดรรชนีชี้วัดความถูกต้อง ๓ อย่างคือ
๑) ปาณาติปาตา เวรมณี ทำงานด้วยมีเจตนางดเว้นจากการฆ่า การทำลายล้างกัน มีความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์โลก เคารพในการมีชีวิตอยู่ของกันและกัน
๒) อทินฺนาทานา เวรมณี ทำงานด้วยมีเจตนางดเว้นจากการลักฉ้อ ทุจริตคอรัปชั่น มีสัมมาอาชีพ เคารพรพในสิทธิแห่งการครอบครองทรัพย์สินของกันและกัน
๓) กาเมสุ มิจฺฉาจารา เวรมณี การทำงานที่มีเจตนางดเว้นจากความประพฤติผิดในกามทุกชนิดเช่น ประกอบการค้ากาม ประกอบการบริการกาม ประกอบการบริโภคกาม อันเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต้องยกย่องให้เกียรติศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน เคารพรักษาประเพณีอันดีงามของมนุษย์ด้วยกัน
มาตรฐานที่ ๕ สมฺมาอาชีโว การประกอบอาชีพถูกต้อง สุจริต ชอบธรรม มีดรรชนีชี้วัดเป็นหลักกว้าง ๆ ๒ อย่างคือ
๑) อกุสลานํ ปหานา เจตนาเว้นงานที่ผิดกฎหมาย ผิดจารีตประเพณี ผิดศีลธรรมจรรยา และ งานที่เป็นบาปอกุศล งานที่มีโทษ งานที่อากูล งานที่เป็นทางแห่วงอบายมุข
๒) กุสลานํ อุปสมฺปทา เจตนาทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย จารีตประเพณี ถูกต้องตามหลักศีลธรรมจรรยา งานที่ก่อให้เกิดบุญกุศล งานที่ส่งเสริมแนวทางสวรรค์และนิพพาน
มาตรฐานที่ ๖ สมฺมาวายาโม ความเพียรพยายามที่หนักแน่นเป็นประธานในการทำงาน มีดรรชนีชี้วัดตัวความเพียรนี้ ๔ อย่างคือ
๑) สงฺวรปธานํ ความเพียรพยายามป้องกันกิเลสหรือภัยพิบัติต่าง ๆ อย่างรอบคอบไม่ปล่อยให้ภัยพิบัติเกิดก่อนแล้วตามแก้
๒) ปหานปธานํ ความเพียรพยายามกำจัดทำลายกิเลสหรือภัยพิบัติที่เกิดขึ้นแล้ว มีขึ้นแล้วให้หมดสิ้นไปเสียแต่โดยเร็ว
๓) ภาวนาปธานํ ความเพียรพยายามสร้างคุณความดี สร้างทางเจริญอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดยั้ง ไม่เปิดโอกาสให้ภัยพิบัติได้โอกาสเกิดหรือเติบโต
๔) อนุรกฺขนาปธานํ ความเพียรพยายามรักษาคุณความดี รักษามาตรฐานความดีให้มีความมั่นคงยั่งยืนตราบเท่าที่ยังมีชีวิต
ทั้ง ๔ ข้อนี้ ยังถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาได้ทุกอย่างตั้งแต่ปัญหาเล็ก ๆ จนถึงปัญหาระดับชาติและระดับโลก
มาตรฐานที่ ๗ สัมมาสติ ความมีสตีระลึกชอบ มีตัวดรรชนีชี้วัดความ “ชอบ” ของสติ ๔ ประการคือ
๑) กายานุปสฺสนาสติปฏฺฐานํ ระลึกรู้ตรวจสอบกาย (ระลึกรู้สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ)
๒) เวทนานุปสฺสนาสติปฏฺฐานํ ระลึกรู้ตรวจสอบอารมณ์ความรู้สึก สุข ทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุข
๓) จิตฺตานุปสฺสนาสติปฏฺฐานํ ระลึกรู้ตรวจสอบสภาพจิตของตนให้กระจ่างชัด
๔) ธฺมมานุปสฺสนาสติปฏฺฐานํ ระลึกรู้ตรวจสอบธรรมในภายในตนให้มีความรู้แจ้งชัดว่ามีอะไร บ้างในตน
มาตรฐานที่ ๘ สัมมาสมาธิ ความตั้งจิตมั่นคง ไม่หวั่นไหวไปตามกระโลกกระแสธรรมใด ๆ มีดรรชนีชี้วัดความมั่นคงหลัก ๆ ๒ ระดับคือ
๑) สมถกมฺมฏฺฐานํ ความสงบหนักแน่นมั่นคงแห่งจิต (สมถะหรือสมาธิ)
๒) วิปสฺสนากมฺมฏฺฐานํ ความรู้แจ้งเข้าใจชัดในสังขารธรรม (วิปัสสนา-ปัญญา)
ว่ากันโดยย่นย่อ หนึ่งเส้นทางยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย แปดมาตรฐานและ ยี่สิบหกดรรชนีชี้วัดของแต่ละมาตรฐาน เมื่อดำเนินการตามกระบวนการครบถ้วน ทุกอย่างก็ย่อมถึงความสำเร็จได้ จะเห็นว่าหลักการและวิธีการเพื่อความเข้าถึงสัจจะของพระพุทธเจ้ามีความสมบูรณ์ ความทันสมัยอย่างน่าประหลาดใจจริง ๆ
จากวันที่ได้ตรัสรู้มาถึงวันวิสาขบูชา พุทธศักราช ๒๕๕๕ (ตรงกับวันจันทร์ที่ ๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๕) จะครบ ๒๖๐๐ ปี ชาวพุทธทั่วทั้งโลกจึงมีดำริร่วมกันในการมีส่วนร่วมในงานฉลองมหามงคลครั้งนี้ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้จัดทำเอกสารนี้ขึ้นเพื่อเป็นการชี้แจงทำความเข้าใจและศึกษาเป็นพุทธบูชาอีกส่วนหนึ่งด้วย
พระเทพวิสุทธิกวี (เกษม)
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร
รองเจ้าคณะภาค ๑๖-๑๗-๑๘ ธรรมยุต
วันวิสาขบูชา 2555 ปีนี้ตรงกับวันที่ 4 มิถุนายน พุทธศักราช 2555
วันวิสาขบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า 3 ประการ คือ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และปรินิพพาน
ความหมาย คำว่า "วิสาขบูชา" หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 วิสาขบูชา ย่อมาจาก "วิสา - ขบุรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน 7
ความสำคัญ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ ได้ปรินิพพาน คือ ดับ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง 3 คราวคือ
1. ประสูติ เป็นวันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ณ ลุมพินีสถาน เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางได้รับพระบรมราชานุญาต จากพระสวามี ให้แปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ ซึ่งเป็นพระนครเดิมของพระนาง เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ครั้นพระกุมารประสูติได้ ๕ วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ" ซึ่งต่อมาพระองค์ได้ออกบวช จนบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (ญาณอันประเสริฐสูงสุด) สำเร็จเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า จึงถือว่าวันนี้เป็นวันประสูติของพระพุทธเจ้า
2. ตรัสรู้ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ อนุตตรสัมโพธิญาณ ณ ร่มพระศรีมหาโพธิบัลลังก์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี การตรัสอริยสัจสี่ คือของจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ของพระพุทธเจ้า เป็นการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม ไม่มีผู้เสมอเหมือน วันตรัสของพระพุทธเจ้า จึงจัดเป็นวันสำคัญ เพราะเป็นวันที่ให้เกิดมีพระพุทธเจ้าขึ้นในโลกชาวพุทธทั่วไป จึงเรียกวันวิสาขบูชาว่า วันพระพุทธ(เจ้า) อันมีประวัติว่า พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญเพียรต่อไป ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัย เรียกว่าการเข้า "ฌาน" เพื่อให้บรรลุ "ญาณ" จนเวลาผ่านไปจนถึง ...
* ยามต้น : ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุติญาณ" คือทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่น
* ยามสอง : ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือการรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
* ยามสาม : ทรงบรรลุ "อาสวักขญาณ" คือรู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจสี่ ( ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ ซึ่งขณะนั้น พระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา
ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ (อริยสัจ ๔) หรือ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ได้แก่...
1. ทุกข์ คือ ความลำบาก ความไม่สบายกายไม่สบายใจ
2. สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
3. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ และ
4. มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์
ทั้ง ๔ ข้อนี้ถือเป็นสัจธรรม เรียกว่า อริยสัจ เพราะเป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าทรงค้นพบ เป็นสัจธรรมชั้นสูง ประเสริฐกว่าสัจธรรมสามัญทั่วไป
3. ปรินิพพาน เป็นวันปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ร่มไม้รัง (ต้นสาละ) คู่ ในสาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน (ดับสังขารไม่กลับมาเกิดสร้างชาติ สร้างภพอีกต่อไป)
การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ก็ถือเป็นวันสำคัญของชาวพุทธทั่วโลกเพราะชาวพุทธทั่วโลกได้สูญเสียดวงประทีป ของโลก เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่และครั้งสำคัญชาวพุทธทั่วไปมีความเศร้าสลด เสียใจและอาลัยสุดจะพรรณนา อันมีประวัติว่าเมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมมาเป็นเวลานานถึง ๔๕ ปี ซึ่งมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นทรงประชวรอย่างหนัก
ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๖ พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ก็ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านนายจุนทะ ตามคำกราบทูลนิมนต์ พระองค์เสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวาย ก็เกิดอาพาธลง แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ในราตรีนั้น ได้มีปริพาชกผู้หนึ่ง ชื่อสุภัททะขอเข้าเฝ้า และได้อุปสมบทเป็นพระพุทธสาวกองค์สุดท้าย เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้ บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด" หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าดับขันธ์ปรินิพพาน ในราตรีเพ็ญเดือน ๖ นั้น
ความสำคัญของวันวิสาขบูชา
พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพานเวียนมาบรรจบในวันและเดือนเดียวกัน คือ วันเพ็ญเดือนวิสาขะ จึงถือว่าเป็นวันที่สำคัญของพระพุทธเจ้า หลักธรรมอันเกี่ยวเนื่องจากการประสูติ ตรัสรู้และเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือ ความกตัญญู อริยสัจ ๔ และความไม่ประมาท ประวัติความเป็นมา
ส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา เนื่องจากมีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๓ อย่าง เกิดขึ้นในวันเดียวกันคือ ประสูติ ตรัสรู้ธรรม และปรินิพพาน วันวิสาขบูชาตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖
ชาวพุทธศาสนิกชนทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชา นี้ และเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ สหประชาชาติได้ยอมรับญัตติที่ประชุม กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก และเป็นวันหยุดวันหนึ่งของสหประชาชาติ เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกได้มีโอกาสบำเพ็ญบุญเนื่องในวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระบรมศาสดา เจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติเมื่อ ๒๖๐๐ กว่าปี ล่วงมาแล้ว
พระ บิดาพระนามว่าพระเจ้าสุทโธทนะ พระมารดาพระนามว่าพระนางสิริมหามายา ก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เป็นเจ้าชายในราชสกุลโคตมะ แห่งเมืองกบิลพัสดุ์ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย คำว่า 'พุทธ' หรือ 'พุทธิ' ในภาษาบาลีและสันสกฤตมีความหมายเหมือนกัน แปลว่า ปัญญา หรือ การตรัสรู้
จากคำสอนในพระไตรปิฎกกล่าวว่า พระพุทธเจ้าคือผู้ที่ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงเป็นผู้รู้สัจจธรรม และทรงมีพระญาณทัศนะกว้างไกลที่พระองค์ทรงรู้เห็นกำเนิด และความเป็นไปของสัตว์โลกตลอดภพสาม มีพระพุทธเจ้านับไม่ถ้วนพระองค์ได้อุบัติขึ้นในโลกนี้ เมื่อแต่ละพระองค์ตรัสรู้ธรรมอันประเสริฐแล้ว ทรงสั่งสอนธรรมะเพื่อให้ชาวโลกพ้นจากวัฏสงสารด้วยมหากรุณา จากพระไตรปิฏก "อปทานสูตร และพุทธวงศ์" กล่าวถึงการสร้างบารมีของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ นานนับอสงไขยกว่าที่จะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ
แม้ในขุททกนิกาย ชาดก ได้เล่าการสร้างบารมีถึง ๕๔๗ ชาติของพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ มาตลอดกว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระชาติสุดท้าย เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงเป็นผู้มีบุญที่เพียบพร้อมด้วยสติปัญญา และความเมตตา หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้เพียง ๗ วัน พระมารดาก็สวรรคต พระน้านางคือพระนางปชาบดีโคตมี เป็นผู้บำรุงเลี้ยงรักษา หลังจากประสูติได้ไม่นาน พระบิดาได้อัญเชิญอสิตดาบสมาทำนายอนาคตของเจ้าชายสิทธัตถะ อสิตดาบสแสดงอาการประหลาดต่อหน้าพระที่นั่งคือ หัวเราะและร้องไห้ หัวเราะเพราะดีใจที่ได้เห็นเจ้าชายสิทธัตถะ และได้ทำนายว่าเจ้าชายจะตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน แต่ร้องไห้เพราะอสิตดาบสนั้นจะมีอายุไม่ยืนยาวทันรับฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์นี้ คำทำนายนี้ได้รับการยืนยันจาก โกณฑัญญะ ซึ่งเป็นดาบสอีกท่านหนึ่งที่ทำนายว่า เจ้าชายสิทธัตถะจะสละราชสมบัติ เมื่อผนวชแล้วจะบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ส่วนดาบสอื่นๆ ล้วนทำนายว่า ถ้าเจ้าชายสิทธัตถะไม่ทรงผนวช จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ คำทำนายดังกล่าวสร้างความตระหนกพระทัยแก่พระเจ้าสุทโธทนะเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ทรงปรารถนาจะให้เจ้าชายสิทธัตถะปกครองแว่นแคว้นสืบทอดราชบัลลังก์ต่อ จากพระองค์ และเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ จึงทรงป้องกันเจ้าชายสิทธัตถะไม่ให้เห็นความทุกข์ทรมาน ความเจ็บปวดต่าง ๆ ที่จะทำให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงรู้สึกเบื่อหน่าย และอยากออกบวช
ด้วยเหตุนี้พระเจ้าสุทโธทนะ จึงทรงมีพระบัญชาให้เหล่าอำมาตย์เสนาบดี ช่วยกันสร้างปราสาทสามฤดูแก่เจ้าชาย ปราสาทแต่ละแห่งแวดล้อมด้วยเหล่าสนมกำนัลที่สวยงาม ชีวิตของเจ้าชายสิทธัตถะก่อนทรงออกผนวช จึงเป็นชีวิตที่เพียบพร้อมด้วย รูปสมบัติ และทรัพย์สมบัติอย่างแท้จริง. เมื่อเจ้าชายทรงพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา พระมเหสีคือพระนางยโสธรา พิมพาประสูติพระโอรส พระนามว่า ราหุล วันหนึ่งเจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงรถม้าประพาสสวนนอกเมือง ทรงเห็นคนแก่ คนป่วย คนตาย และนักบวช ภาพคนแก่ คนป่วย และคนตายทำให้พระองค์นึกถึงความทุกข์ และความไม่เที่ยงแท้ของสังขารมนุษย์ ต่อมา
เจ้าชายสิทธัตถะจึงทรงออกจากวัง ถือเพศเป็นนักบวชเที่ยวภิกขาจารไปเพื่อแสวงหาโมกขธรรม วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เมื่อมีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้ธรรม ณ ใต้ควงต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่จะบรรลุธรรม เจ้าชายสิทธัตถะได้แสวงหาผู้สอนวิธีหลุดพ้นแก่พระองค์ ๒ คนคือ อาฬารดาบส และอุทกดาบส ซึ่งทั้งสองนี้สอนพระองค์ให้ได้ญานชั้นสูง แต่ไม่บรรลุธรรม เมื่อพระองค์บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทรงประกาศธรรม เผยแผ่คำสอนที่สามารถทำให้ผู้ปฏิบัติตามพ้นทุกข์ตามพระองค์ไปได้ พระพุทธองค์ ทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นเวลา ๔๕ ปี ทรงวางรากฐานพระพุทธศาสนา และมีพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก ที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ ซึ่งในสมัยนั้นมีตั้งแต่ กษัตริย์ เจ้าชาย พ่อค้า แม่ค้า พราหมณ์ เศรษฐี ยาจกเข็ญใจ และชนทุกชั้นในสังคม
ประวัติความเป็นมาของวันวิสาขบูชาในประเทศไทย
วันวิสาขบูชานี้ ปรากฏตามหลักฐานว่า ได้มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่า คงจะได้แบบอย่าง มาจากลังกา กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. 420 พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่าง มโหฬาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์ลังกาในรัชกาลต่อ ๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตาม แม้ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติอยู่ สมัยสุโขทัยนั้น ประเทศไทยกับประเทศลังกามีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาใกล้ชิดกันมากเพราะ พระสงฆ์ชาวลังกา ได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย
ใน หนังสือนางนพมาศได้กล่าวบรรยากาศการประกอบพิธีวิสาขบูชาสมัยสุโขทัยไว้ พอสรุปใจความได้ว่า " เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัยทั่วทุก หมู่บ้านทุกตำบล ต่างช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษ ด้วยดอกไม้ของหอม จุดประทีปโคมไฟแลดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นการอุทิศบูชาพระรัตนตรัย เป็นเวลา 3 วัน 3 คือ พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็น ก็เสด็จพระราช ดำเนิน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ไปยังพระ อารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน
ส่วนชาวสุโขทัยชวนกันรักษาศีล ฟังธรรมเทศนา ถวายสลากภัต ถวายสังฆทาน ถวายอาหารบิณฑบาต แด่พระภิกษุ สามเณรบริจาคทรัพย์แจกเป็นทานแก่คนยากจน คนกำพร้า คนอนาถา คนแก่ คนพิการ บางพวกก็ชวนกันสละทรัพย์ ปล่อยสัตว์ 4 เท้า 2 เท้า และเต่า ปลา เพื่อชีวิตสัตว์ให้เป็นอิสระ โดยเชื่อว่าจะทำให้คนอายุ ยืนยาวต่อไป"
ในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยอำนาจอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ เข้าครอบงำประชาชนคนไทย และมีอิทธิพลสูงกว่าอำนาจของพระพุทธศาสนา จึงไม่ปรากฎหลักฐานว่า ได้มีการประกอบพิธีบูชาในวันวิสาขบูชา จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2360) ทรงดำริกับ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟู การประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดย สมเด็จพระสังฆราช ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้น เป็นครั้งแรกในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2360 และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อมีพระประสงค์ให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล เป็นหนทางเจริญอายุ และอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากทุกข์โศกโรคภัย และอุปัทวันตรายต่างๆ โดยทั่วหน้ากัน
ฉะนั้น การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงได้รื้อฟื้นให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
การจัดงานเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกยุค ทุกสมัย คงได้แก่การจัดงานเฉลิมฉลอง วันวิสาขบูชา พ.ศ.2500 ซึ่งทางราชการเรียกว่างาน " ฉลอง 25 พุทธศตวรรษ " ตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 18 พฤษภาคม รวม 7 วัน ได้จัดงานส่วนใหญ่ขึ้นที่ท้องสนามหลวง ส่วนสถานที่ราชการ และวัดอารามต่างๆ ประดับธงทิวและโคมไฟสว่างไสวไปทั่วพระ ราชอาณาจักร ประชาชนถือศีล 5 หรือศีล 8 ตามศรัทธาตลอดเวลา 7 วัน มีการอุปสมบทพระภิกษุสงฆ์รวม 2,500 รูป ประชาชน งดการฆ่าสัตว์ และงดการดื่มสุรา ตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 14 พฤษภาคม รวม 3 วัน มีการก่อสร้าง พุทธมณฑล จัดภัตตาหาร เลี้ยงพระภิกษุสงฆ์วันละ 2,500 รูป ตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารแก่ประชาชน วันละ 200,000 คน เป็นเวลา 3 วัน ออกกฎหมาย สงวนสัตว์ป่าในบริเวณนั้น รวมถึงการฆ่าสัตว์ และจับสัตว์ในบริเวณวัด และหน้าวัดด้วย และได้มีการปฏิบัติธรรมอันยิ่งใหญ่ อย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นกรณีพิเศษ ในวันวิสาขบูชาปีนั้นด้วย
หลักธรรมที่ควรปฏิบัติ
1. กตัญญู กตเวที
ความกตัญญู คือ ความรู้อุปการคุณที่มีผู้ทำไว้ก่อนเป็นคุณธรรมคู่กับ ความกตเวที คือ การตอบแทนอุปการะคุณที่ผู้อื่นทำไว้นั้นผู้ที่ทำอุปการรคุณก่อนเรียกว่า บุพการี ขอยกมากล่าวในที่นี้คือ บิดามารดา และครูอาจารย์ บิดามารดา มีอุปการะคุณแก่บุตร ธิดา ในฐานะเป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ ให้การศึกษา อบรมสั่งสอน ให้ละเว้นจากความชั่ว มั่นคงในการทำความดี เมื่อถึงคราวมีคู่ครองได้จัดหาคู่ครอบที่เหมาะสมให้และมอบทรัพย์สมบัติให้ ไว้เป็นมรดก บุตร ธิดา
เมื่อรู้อุปการะคุณที่บิดามารดาทำไว้ย่อมตอบแทนด้วยการ ประพฤติตัวดี สร้างชื่อเสียงให้แก่วงศ์ตระกูล เลี้ยงดูท่าน และช่วยทำงานของท่าน และเมื่อล่วงลับไปแล้วก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่าน ครูอาจารย์ มีอุปการะคุณแก่ศิษย์ในฐานะเป็นผู้ประสาทความรู้ให้ ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดีสอนศิลปวิทยาให้อย่างไม่ปิดบัง ยกย่องให้ปรากฎแก่คนอื่นและช่วยคุ้มครองศิษย์ทั้งหลาย ศิษย์เมื่อรู้อุปการคุณที่ครูอาจารย์ทำไว้ย่อมตอบแทนด้วยการตั้งใจเรียน ให้เกียรติ และให้ความเคารพไม่ล่วงละเมิดโอวาทของครู ความกตัญญูและความกตเวทีนี้ถือว่าเป็นเครื่องหมายของคนดีส่งผลให้ครอบครัว และสังคมมีความสุขได้ เพราะบิดามารดาจะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำอุปการคุณให้ก่อน และบุตร ธิดา ก็จะรู้จัก หน้าที่ของตนเองด้วยการทำดีตอบแทน
สำหรับ ครูอาจารย์ก็จะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำอุปการคุณ คือ สอนศิลปวิทยาอย่างเต็มที่และศิษย์ก็จะรู้จักหน้าที่ของตนเอง ด้วยการตั้งใจเรียน และให้ความเคารพเป็นการตอบแทน นอกจากจะใช้ในกรณีของบิดามารดากับบุตรธิดา และครูอาจารย์กับศิษย์แล้ว คุณธรรมข้อนี้ก็สามารถนำไปใช้ได้แม้ระหว่าง พระมหากษัตริย์กับพสกนิกร นายจ้างกับลูกจ้าง เพื่อนกับเพื่อนและบุคคลทั่วไป รวมทั้งมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุพการีในฐานะที่ทรงสถาปนาพระพุทธศาสนาและทรงสอนทางพ้น ทุกข์ให้แก่เวไนย-สัตว์ พุทธศาสนิกชน รู้พระคุณอันนี้ จึงตอบแทนด้วยอามิสบูชา และปฏิบัติบูชา กล่าวคือ การจัดกิจกรรมในวันวิสาขบูชา เป็นส่วนหนึ่งที่ชาวพุทธแสดงออก ซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ ด้วยการทำนุบำรุงส่งเสริม พระพุทธศาสนา และประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อดำรงอายุพระพุทธศาสนาสืบไป
2. อริยสัจ ๔
อริยสัจ คือ ความจริงอันประเสริฐ หมายถึง ความจริงที่ไม่ผันแปร เกิดมีได้แก่ทุกคนมี ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิต พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า มนุษย์ทุกคนมีทุกข์เหมือนกันทั้งทุกข์ขั้นพื้นฐานและทุกข์เกี่ยวกับการ ดำเนินชีวิตประจำวัน
ทุกข์ขั้นพื้นฐาน คือ ทุกข์ที่เกิดจากการเกิด การแก่ และการตาย ส่วนทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวันคือ ทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการไม่ได้ตามใจปรารถนา รวมทั้งทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ สมุทัย คือ เหตุแห่งปัญหา พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ทั้งหมด ซึ่งเป็นปัญหาของชีวิตล้วนมีเหตุให้เกิดเหตุนั้น คือ ตัณหา อันได้แก่ ความอยากได้ต่างๆ
ซึ่งประกอบไปด้วย ความยึดมั่น นิโรธ คือ การแก้ปัญหาได้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิตทั้งหมดนั้นแก้ไขได้ โดยการดับตัณหา คือ ความอยากให้หมดสิ้น มรรค คือ ทางหรือวิธีแก้ปัญหา พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็ เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์คือปัญหาของชีวิตทั้งหมดที่สามารถแก้ไขได้นั้นต้องแก้ไขตามมรรคมีองค์ ๘
3. ความไม่ประมาท
ความไม่ประมาท คือ การมีสติทั้งขณะทำ ขณะพูดและขณะคิด สติ คือ การระลึกรู้ทัน ที่คิด พูดและทำ ในภาคปฏิบัติเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน หมายถึงการระลึกรู้ทันการเคลื่อนไหวอิริยาบถ ๔ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน การฝึกให้เกิดสติ ทำได้โดยตั้งสติกำหนดการเคลื่อนไหวอิริยาบถกล่าวคือ ระลึกรู้ทันในขณะยืน เดิน นั่งและนอน รวมทั้งระลึกรู้ทันในขณะพูดขณะคิด และขณะทำงานต่างๆ
ในวันนี้พุทธศาสนิกชนต่างพากันน้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยการไปชุมนุมตามพระอารามต่าง ๆ เพื่อกระทำการบูชาปูชนียวัตถุอันได้แก่ พระธาตุเจดีย์หรือพระพุทธปฏิมา ที่เป็นพระประธานในพระอุโบสถอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยเครื่องบูชามีดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น เริ่มด้วยการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย ด้วยบทสวดมนต์ตามลำดับดังนี้คือ
บทสรรเสริญ พระพุทธคุณ
อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปนโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสสะธัมมะสาระถิ สัตถาเทวะมนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ บทสรรเสริญ พระธรรมคุณ
สวากขาโต ภะคะวา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ. บทสรรเสริญ พระสังฆคุณ
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสสะ ยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเนยโย อัญชะลีกะระนีโย อะนุตตะรัง ปุญญะเขตตัง โลกัสสาติ
จากนั้นก็จะกระทำ ประทักษิณ หรือที่เรียกว่า เวียนเทียน รอบพระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฎิมาในพระอุโบสถ ด้วยการเดินเวียนขวาสามรอบ รอบแรกจะสวดบทสรรเสริญพระพุทธคุณ รอบที่สองจะสวดบทสรรเสริญพระธรรมคุณ และรอบที่สามสวดบทสรรเสริญพระสังฆคุณ เมื่อครบ 3 รอบแล้วจึงนำดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธรูปในพระอุโบสถ ณ ที่บูชาอันควรเป็นอันเสร็จพิธีเวียนเทียน
จากนั้นก็จะมีการแสดงพระธรรมเทศนาในพระอุโบสถ ซึ่งปกติจะมีเทศน์ ปฐมสมโพธิ ซึ่งเป็นเรื่องพระพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน พิธีเริ่มตั้งแต่ประชุมฟังพระทำวัตรสวดมนต์ แล้วจึงฟังเทศน์ซึ่งจะมีไปตลอดรุ่ง