วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

'กลุ่มประชาธิปไตยใหม่' แย้ง 10 ข้อสาระสำคัญร่าง รธน.


ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จัดกิจกรรม “จับผิดกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ใครบิดเบือนกันแน่” ให้ความเห็นแย้งต่อคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ 10 ข้อ
 
 
 

 
15 พ.ค. 2559 เว็บไซต์โลกวันนี้ รายงานว่าที่ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ นำโดย นายรังสิมันต์ โรม, นายรัฐพล ศุภโสภณ, น.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ และ นายวรวุฒิ บุตรมาตร ได้จัดกิจกรรม “จับผิดกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ใครบิดเบือนกันแน่”
 
โดย นายวรวุฒิ ได้แสดงความเห็นแย้งต่อคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ 10 ข้อที่จัดทำโดย กรธ. ดังนี้
 
1.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ทางกลุ่มเห็นว่า สิทธิบางประการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เครื่องการันตีว่าจะเกิดได้จริง การที่ประชาชนจะมีความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนุญอย่างเดียว แต่ต้องมีรัฐบาลที่มีความรู้ความสามารถและกำหนดนโยบายที่เอื้อต่อประชาชนได้ ร่าง รธน.ฉบับนี้รับรองความชอบธรรมคำสั่ง คสช.ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ เช่น คำสั่งลัดขัดตอน EIA และยังให้ คสช.มีอำนาจตาม ม.44
 
2.รัฐมีหน้าที่ทำให้สิทธิเป็นจริง ทางกลุ่มเห็นแย้งเพราะ ในร่าง รธน.ฉบับนี้ กลับตัดสิทธิของประชาชนในหลายด้าน ทั้งด้านสิทธิการศึกษาที่กำหนดให้ประชาชนเรียนฟรีได้ถึง ม.3 เท่านั้น สิทธิทางสาธารณสุข ก็ตัดคำว่าสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขออกไป จึงอาจเกิดการตีความยกเลิกหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ อีกทั้งด้านสิทธิแรงงาน ก็ตัดคำว่า ค่าจ้างที่เป็นธรรมที่เคยมีใน รธน.ฉบับก่อนออกอาจทำให้เกิดการตีความตัดสิทธิแรงงานที่จะได้รับค่าจ้าง หรือการรวมตัวออกไป
 
“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้คุ้มครองสิทธิอย่างแท้จริง เพราะนอกจากนี้ยังตัดสิทธิของผู้พิการ ที่ประเด็นการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกไม่พบเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับนี้”
 
3.หน้าที่ของประชาชน ประชาชนต้องมีความรับผิดชอบเพื่อการพัฒนาประเทศ ทางกลุ่มเห็นแย้งว่า แม้จะมีการเขียนข้อความดังกล่าว แต่สิทธิในการเลือกตั้งกลับเป็นสิ่งที่ไร้ค่า เพราะพรรคการเมืองที่ถูกเลือกไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้กลายเป็นนายกคนเข้ามาแทน อีกทั้งยังถูกครอบงำจาก สว. สรรหา ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระอยู่ดี
 
“อีกทั้งรัฐธรรมนุญฉบับนี้พยายามกำหนดนโยบายของรัฐบาลเข้าไปในรัฐธรรมนูญ ซึ่งความเป็นจริงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องกำหนดนโยบายเอง”
 
4.การเลือกตั้ง ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย ทางกลุ่มเห็นแย้งว่า รัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ทำให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมายอย่างแท้จริง เพราะประชาชนถูกบีบให้ต้องเลือกทั้งผู้สมัครและพรรคไปด้วยกัน อีกทั้งหากไม่มีผู้สมัครของบางพรรคในเขตใด ประชาชนก็ไม่สามารถลงคะแนนให้พรรคนั้นได้ แม้จะชอบนโยบายของพรรคนั้นมากที่สุด ต้องไปเลือกพรรคที่ชอบน้อบกว่าหรือกาช่องที่ไม่ออกเสียงแทน
 
5.ประชาชนทั่วไปสามารถเป็น ส.ว.ได้ โดยมี สว. 200 คนแบ่งเป็น 20 กลุ่มตามความรู้ความสามารถและอาชีพ ทางกลุ่มเห็นแย้งว่า ไม่มีทางครอบคลุมในทุกสถานภาพและทุกอาชีพของคนในสังคม จึงถือว่าไม่ยึดโยงกับประชาชนได้อย่างแท้จริง อีกทั้งในห้าปีแรก ส.ว.ทั้งหมดจะมาจากการเลือกของ คสช.และมีหกเก้าอี้ถูกล็อคไว้ให้บรรดา ผบ.เหล่าทัพ ซึ่งยึดโยงเพียงกลุ่มเดียวคือทหาร
 
6.ปราบโกงอย่างจริงจัง ทางกลุ่มเห็นแย้งว่า กรธ.พยายามอ้างว่าที่ผ่านมาประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาได้เพราะงบประมาณแผ่นดินถูกโกงไปเป็นผลประโยชน์ส่วนตัว แต่การปราบโกงดังกล่าวมุ่งเน้นเฉพาะนักการเมืองเลือกตั้งเท่านั้น แต่ละเลยกลุ่มการเมืองอื่นๆ เช่น บรรดาทหารที่มีบทบาทในทางการเมืองไทยตลอดมา
 
7. ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเช้มแข็งและฉับไวขึ้น ทางกลุ่มเห็นแย้งว่า ที่ผ่านมาองค์กรตุลาการ และองค์กรอิสระต่างก็มีอำนาจมากอยู่แล้ว และมึประวัติแทรกแซงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตลอดมา อีกทั้งสมาชิกองค์กรอิสระบางคนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ คสช.จึงยากที่จะคาดหวังว่าจะมีการตรวจสอบอย่างโปร่งใส
 
8.รู้ล่วงหน้าใครมีสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรี ทางกลุ่มเห็นแย้งว่า แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับเปิดช่องให้สามารถนำคนนอกมาชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง เพราะไม่ได้กำหนดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.ของผู้ที่จะเป็นนายกฯเอาไว้
 
9.ท้องถิ่นเป็นของประชาชน ทางกลุ่มเห็นแย้งว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตัดถ้อยคำที่กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นออกไป และกำหนดให้มีรูปแบบพิเศษ หรืออาจมาจากการแต่งตั้งได้ รูปแบบพิเศษนี้อาจหมายถึงเขตพัฒนาเศรษฐกิจได้ในอนาคต
 
10.ปฏิรูปไทยสู่อนาคต ทางกลุ่มเห็นแย้งว่า รัฐบาลควรมีอิสระในการกำหนดนโยบายเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่กำหนดรายละเอียดให้รัฐบาลต้องปฏิบัติ โดยมิอาจริเริ่มสร้างสรรค์ได้เอง เนื่องจากการปฏิรูปถูกกำหนดให้ ส.ว.เป็นผู้ควบคุมสูงสุด ซึ่ง ส.ว.ชุดแรกก็มาจากการเลือกของ คสช.ทั้งหมด
 
นายวรวุฒิ กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านเราจะมี ส.ว.ที่มาจาก คสช.จำนวน 250 คน หรือ และหากคำถามพ่วงผ่านเราจะมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการโหวตของรัฐสภา และไม่จำเป็นที่จะต้องมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นในภาวะเช่นนี้ภาวะเช่นนี้ ส.ว.จะเป็นผู้ควบคุมการได้โดยทีประชาชนไม่มีส่วนร่วมเลย
 
“ต่อไปในอนาคตหากเรารับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราอาจจะได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา กลับมาเป็นนายกอีกครั้งโดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งก็เป็นได้” นายวรวุฒิ กล่าว
 
ด้าน นายรังสิมันต์ กล่าวว่า จากนี้ไปเรายังคงเป็นคนกำหนดชะตากรรมของประเทศไทยได้อยู่จนกว่าจะถึงวันหย่อนบัตรประชามติ ที่ผ่านมาเรามักถูกกล่าวหาว่าสิ่งที่พูดเป็นการบิดเบือน ทั้งที่เราพูดตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นใน รธน. ดังนั้นหาก กรธ.คิดว่าเป็นการบิดเบือนจริงขบวนการประชาธิปไตยใหม่ขอท้าดีเบตกับ กรธ. แล้วความจริงจะได้ปรากฏว่าใครกันแน่เป็นคนบิดเบือนของเท็จจริงที่มีในรัฐธรรมนูญฉบับนี้
 
นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า อีกประเด็นหนึ่งคือปัญหาของ กกต. ที่มาจาก พ.ร.บ.ประชามติ โดยในมาตรา 10 ที่ให้ กรธ. สามารถเผยแพร่คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา 61 ในขณะที่อีกฝ่ายไม่สามารถที่จะอธิบายหรือเห็นแย้งได้เลย
 
“อีกประเด็นหนึ่งคือการให้ความเห็นของคุณสมชัย ซึ่งคุณสมชัยเพียงคนเดียวนั้นไม่ถือว่าเป็นความเห็นของ กตต. ทั้งหมด อีกทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของ กตต. ควรทีจะเป็นกลางและส่งเสริมบรรยากาศให้มีการแสดงความคิดเห็น จึงไม่แปลกใจว่าทำไมเวทียูพีอาร์จึงได้ตั้งคำถาม และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการกระบวนการประชามติในประเทศไทยมากขนาดนี้” นายรังสิมันต์ กล่าว
 
นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า อีกทั้งในมาตรา 9 ที่ให้ กกต.ต้องจัดพิมพ์ข้อดีและสาระของร่าง รธน. คำถามคือทำไม กกต. จะต้องมาทำหน้าที่ตรงนี้ ทั้งที่ กกต.มีหน้าที่เป็นกรรมการ ถ้า กกต. ไม่สามารถที่จะเคลียร์ตรงนี้ได้ว่า เท่ากับว่า กกต. กำลังช่วย กรธ. ในการรณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ และไม่ได้ทำหน้าที่เป็นกลางอย่างแท้จริง
 
“นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่มาจากประกาศของ กกต. ที่ห้ามไม่ให้ประชาชนทำกิจกรรมใดๆ ทั้งการขายเสื้อ การจัดกิจกรรม ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ถือว่าไม่มีความผิด หากเจ้าหน้าที่ตำรวจมาจับเพราะการขายเสื้อ หรือจับคนที่ใส่เสื้อ เพราะประชาชนต้องการแสดงจุดยืนของตนเอง เราจะไปร้อง 157 ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ” นายรังสิมันต์ กล่าว
 
ด้าน น.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ กล่าวว่า ขณะนี้ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ได้มีเวปไซต์ของกลุ่มขึ้นมาชื่อ www.ndmth.org เพื่อใช้ประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆของกลุ่ม รวมถึงแถลงการณ์ต่อกรณีต่าง ๆ เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและการเมือง นอกจากนี้ยังมีช่อทางการเสื่อสารอื่น ๆ ทั้ง เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ไลน์ และจุลสาร นอกจากนี้ยังมีการแจกสติ๊กเกอร์ โหวตโน หกสี กันน้ำ ซึ่งสามารถขอรับได้ฟรีตามงานเสวนาและงานกิจกรรมของทางกลุ่ม

ไม่รับคำท้าดีเบตร่างรธน.กับ 'NDM' โฆษก กรธ. บอกไม่ได้กลัวแต่ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง


16 พ.ค. 2559 หลังจากวานนี้ (15 พ.ค.59) ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ได้จัดกิจกรรม  “จับผิดกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ใครบิดเบือนกันแน่” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยตอนหนึ่ง รังสิมันต์ โรม สมาชิก NDMได้ประกาศขอท้าดีเบตกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เรื่องร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
ล่าสุดวันนี้ (16 พ.ค.59) มติชนออนไลน์ รายงานว่า อุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. กล่าวถึงกรณีที่ NDM นำโดย รังสิมันต์ ขอท้าดีเบตเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติกับกรธ. หลังจากที่พบจุดอ่อนและข้อเสียในบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญหลายมาตราดังกล่าว ว่า ตนเข้าใจว่าสิ่งที่กลุ่มดังกล่าวออกมาเรียกร้องหรือเคลื่อนไหวนั้นเป็นไปเหมือนลักษณะของการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อปลุกกระแสต้าน ซึ่งกรธ.ไม่ใช่คู่ขัดแย้งของกลุ่มการเมืองใดๆ ดังนั้นหากกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยต้องการดีเบตควรหาคู่ดีเบตซึ่งเป็นกลุ่มนักการเมืองหรือผู้ที่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญจะเหมาะสมกว่า ทั้งนี้ กรธ.ไม่มีความกลัวที่ต้องดีเบตกับผู้ใด แต่ขอทำตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ หน้าที่เขียนร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งยืนยันได้ว่า กรธ.ไม่ได้เขียนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นเผด็จการแน่นอน แต่เขียนเพื่อแก้ปัญหาประเทศ จากนั้นคือการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนรับทราบ แต่ไม่มีหน้าที่ชี้นำการตัดสินใจของประชาชน
อุดม กล่าวต่อว่า ตนเข้าใจว่าการทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกรธ.นั้น ย่อมมีผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเนื้อหา และเป็นสิทธิของบุคคลที่ไม่เห็นด้วยหรือเห็นด้วยจะแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะได้ แต่ต้องไม่อยู่บนฐานของความมีอคติ เพราะหากผู้ใดมีอคติแล้วต่อให้ร่างรัฐธรรมนูญมีข้อบกพร่องเพียงเล็กน้อย ก็ยังสามารถตีความขยายให้เป็นเรื่องใหญ่ได้ ส่วนกรณีที่กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ทำเนื้อหาที่เป็นจุดอ่อนของร่างรัฐธรรมนูญเผยแพร่นั้น ถือเป็นสิทธิที่ทำได้ เพราะทุกคนย่อมมีเหตุผล และความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน
“ร่างรัฐธรรมนูญที่กรธ. เขียนนั้น เป็นสิ่งที่แต่ละฝ่ายสามารถมีความเห็นต่าง หรือเห็นเหมือนได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่สิ่งที่หลายฝ่ายมองว่า เมื่อเขียนมาแล้วจะนำพาประเทศไปสู่ทิศทางที่แย่ลง ก็เป็นเรื่องที่เขาใช้จินตนาการกันไป ผมยืนยันว่าสิ่งที่กรธ. ทำไม่ได้ทำร้ายประเทศ ส่วนที่ใครก็ตามพยายามดึง กรธ.ให้ไปเป็นคู่ขัดแย้งนั้น ผมไม่ขอตกไปอยู่ในแผนนั้น เพราะ กรธ. ไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร ส่วนเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญเรามีหน้าที่อธิบายตามข้อเท็จจริง หากใครที่เห็นต่างก็แสดงออกมาได้ แต่อย่าบิดเบือน” อุดม กล่าว

โฆษกกรธ. แจง 'มีชัย' ไม่ได้บอกให้รับร่างรธน.ไปก่อนแล้วแก้ทีหลัง ไม่หวั่นผิด กม.ประชามติ


15 พ.ค.2559 จากเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา ในระหว่างสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “เตรียมความพร้อมเพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ประเด็นคำถามเพิ่มเติมของสนช.” ที่จัดโดย  คณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการรายงานข่าวว่า มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า วันนี้แก้อะไรไม่ได้แล้ว ก็คงต้องเดินหน้ากันต่อไป เพื่อทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ถ้ามันบกพร่องอะไรวันข้างหน้าก็คงไปแก้ไขกันเอง 

“ผมเข้าใจว่ากลไกที่เราสร้างไว้มีหลายเรื่องที่สนช.และสปท.ไม่ค่อยเห็นด้วย ก็ยอมรับว่าต่างคนต่างมีแนวคิด แต่ขอได้โปรดเข้าใจว่ากรธ.ฟังมาตลอด และนำไปคิดว่าอะไรที่ดีที่สุด จึงขอให้เข้าใจว่าคน 21 คน คิดได้แบบนี้อาจจะต่างจากคน 200 คนคิด แต่ว่าวันนี้แก้อะไรไม่ได้แล้ว ก็คงต้องเดินหน้ากันต่อไป เพื่อทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ถ้ามันบกพร่องอะไรวันข้างหน้าก็คงไปแก้ไขกันเอง” มีชัย กล่าว
ล่าสุดวันนี้ (15 พ.ค.59) มติชนออนไลน์และโพสต์ทูเดย์ รายงานตรงกันว่า ชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษก กรธ. กล่าวถึง กรณีที่ขณะนี้หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ถึง มีชัย ว่าต้องการให้รับรัฐธรรมนูญไปก่อนแล้วไปแก้ในภายหลังว่า เป็นความเข้าใจผิด สื่อไปลงข่าวตีความผิด มีชัยไม่ได้มีเจตนาเช่นนั้น และไม่ใช่การชี้นำให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มีชัย เพียงต้องการจะบอกว่า การร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด 279 มาตรานั้น กรธ.ทั้ง 21 คน ไม่สามารถเขียนให้ถูกใจคนทุกคนไม่ได้ แม้แต่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก็ตาม เราเขียนให้ถูกใจคนทุกกลุ่มไม่ได้ เพียงแต่ขณะนี้ถ้าจะให้มาปรับแก้อะไร เพื่อให้คนถูกใจอาจจะสายเกินไปแล้ว จึงจำเป็นที่ต้องให้เป็นเรื่องของวันข้างหน้าในอนาคต หากใครเห็นว่าประเด็นใด หรือ เรื่องไหนไม่ดี จะเปลี่ยนจะแก้ไขอย่างไรก็แล้วแต่จะเห็นสมควร จะให้ประชาชนเห็นชอบในการแก้ไขก็ได้ ซึ่งเรื่องที่นายมีชัยพูดไปเป็นเพียงข้อเท็จจริงที่เป็นธรรมดาของโลกที่คนร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าใครก็ตามไม่สามารถเขียนออกมาให้ถูกใจคนทั้งประเทศได้ ขอให้เข้าใจว่า กรธ.ไม่ได้มีเจตนาเช่นที่วิจารณ์กันออกมาแต่อย่างใด
"การนำคำพูดของประธานกรธ.ไปตีความในทางที่ผิด ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะเป็นความผิดตามกฎหมายประชามติ เพราะไม่ได้เป็นการชี้นำว่าให้ประชาชนไปลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่เกรงอาจมีบางกลุ่มนำประเด็นนี้ไปสร้างความบิดเบือนในอนาคต"  ชาติชาย กล่าว