วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558

3 ปีขุดอุโมงค์รถไฟลอดเจ้าพระยา: ยิ่งลักษณ์เปิดพิธีขุด-ประยุทธ์ฉลองขุดเจาะสำเร็จ


รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายหัวลำโพง-บางแค บางซื่อ-ท่าพระ ที่ประมูลก่อสร้างสมัย ครม.อภิสิทธิ์ และเริ่มขุดอุโมงค์ลอดเจ้าพระยาแห่งที่ 1 สมัย ครม.ยิ่งลักษณ์นั้น ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ ร่วมพิธีฉลองความสำเร็จเจาะอุโมงค์แห่งที่ 2 ด้านงานก่อสร้างคืบ 70% คาดเดินรถกลางปี 62 - ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วงไปบางใหญ่ทดสอบเดินรถแล้ว คาดเดินรถจริง ส.ค. 59
พล.อ.ประยุทธ์ เปิดทดสอบเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงเตาปูน-บางใหญ่
14 ธ.ค. 2558 ช่วงเช้าวันที่ 14 ธ.ค. สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานมอบนโยบายในพิธีเปิดการทดสอบรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ - เตาปูน ที่ศูนย์ซ่อมบำรุงคลองบางไผ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี โดย พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ออมสิน ชีวะพฤกษ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยผู้บริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เข้าร่วมในพิธี
โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายการพัฒนาระบบการขนส่งให้มีการเชื่อมโยงเส้นทางระหว่างกรุงเทพมหานครกับปริมณฑลและพิจารณาแนวทางให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถใช้บริการระบบขนส่งมวลชนได้ พร้อมให้แนวทางการดำเนินโครงการต่อไป ต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมในประเทศ เช่น การใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตได้ภายในประเทศ โดยยึดหลักการดำเนินโครงการที่ประหยัด ปลอดภัย และสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ ขณะที่รัฐบาลจะดำเนินโครงการทุกอย่างให้เป็นไปอย่างโปร่งใส
ทั้งนี้ สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่ารถไฟฟ้าสายสีม่วงจะเปิดบริการเต็มรูปแบบก่อนวันที่ 12 ส.ค. 2559 และจะต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโยลีรถไฟฟ้าให้กับวิศกรของไทยด้วย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ต้องรับไปดำเนินการในการกำหนดหลักสูตรด้านนี้ต่อไป
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีฉลองความสำเร็จเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อ 14 ธ.ค. 2558 (ที่มาของภาพ: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)
ต่อมาเวลา 11.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเดินทางไปยังสถานีรถไฟฟ้าสนามไชย ส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เพื่อเป็นประธานในพิธีฉลองความสำเร็จการเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดแม่น้ำเจ้าพระยา อุโมงค์ที่ 2 โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ณ สถานีสนามไชย เขตพระนคร พร้อมเยี่ยมชมอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดแม่น้ำเจ้าพระยา
ตามรายงานของเว็บไซต์รัฐบาลไทย พิธีฉลองความสำเร็จการเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดแม่น้ำเจ้าพระยานี้ จัดโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ บมจ. ช.การช่าง ผู้รับจ้างก่อสร้าง สัญญาที่ 2 ช่วงสนามไชย – ท่าพระ
โดยผู้ที่ร่วมพิธียังมี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พล.อ.วิลาส อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พล.อ. ยอดยุทธ์ บุญญาธิการ ประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย คณะผู้บริหาร รฟม. และประธานกรรมการบริหาร บมจ.ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) ร่วมพิธี
ในรายงานระบุว่า งานเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ถือเป็นงานก่อสร้างส่วนหนึ่งที่สำคัญของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย สัญญาที่ 2 ช่วงสนามไชย – ท่าพระ โดยอุโมงค์เป็นอุโมงค์คู่ มีระยะทาง 200 เมตร เริ่มเดินเครื่องหัวเจาะเพื่อก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าที่ 2 (ฝั่งขาเข้าเมือง) ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาจากสถานีอิสรภาพไปสถานีสนามไชยเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 58 จนกระทั่งแล้วเสร็จสมบูรณ์ตามแผนงาน โดยรวมของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย มีความก้าวหน้าประมาณร้อยละ 70 และคาดว่าจะสามารถเปิดเดินรถได้ภายในเดือนมิถุนายน 2562

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย 21 สถานี เริ่มสร้างมาตั้งแต่พฤษภาคม 2554
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย กระทรวงคมนาคมให้ รฟม. ดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายฯ มีระยะทางประมาณ 27 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 ช่วงได้แก่ ช่วงหัวลำโพง – บางแค ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร มีสถานียกระดับ จำนวน 7 สถานี และสถานีใต้ดิน จำนวน 4 สถานี ส่วนช่วงบางซื่อ – ท่าพระ ระยะทาง ประมาณ 13 กิโลเมตร มีสถานียกระดับ จำนวน 10 สถานี
โดยระหว่างปี 2553-2554 ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการเปิดประมูลโครงการก่อสร้างโดยบริษัทที่ชนะการประมูลได้แก่บริษัทอิตาเลียนไทย (ITD), บมจ.ช. การช่าง (CK) กิจการร่วมค้า UNIQ, บมจ.ซิโน-ไทย STEC และเริ่มมีการก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2554

เริ่มขุดอุโมงค์ช่วงหัวลำโพง ส.ค. 55 และขุดอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ม.ค. 56
ต่อมาสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค ในส่วนของทางวิ่งใต้ดิน เริ่มเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์เมื่อ 24 ส.ค. 2555 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
เริ่มเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์ในส่วนของทางวิ่งใต้ดินช่วงหัวลำโพง-บางแค ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง เมื่อ 24 ส.ค. 2555 (ที่มาของภาพ: เฟซบุ๊ค Yingluck Shinawatra)
ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 56 น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น เป็นประธานเปิดเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายสัญญาที่ 2 ช่วงสนามไชย - ท่าพระ โดยเป็นการขุดอุโมงค์แห่งที่ 1 และตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการ
เปิดเดินเครื่องหัวขุดเจาะอุโมงค์ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา อุโมงค์ที่ 1 เมื่อ 24 ม.ค. 56 (ที่มาของภาพ: เฟซบุ๊ค Yingluck Shinawatra)

ฉลองขุดอุโมงค์แห่งแรก 15 ธ.ค. 57 และเริ่มขุดอุโมงค์แห่งที่ 2 เมื่อ มี.ค. 58
ต่อมาวันที่ 15 ธ.ค. 57 มีพิธีฉลองความสำเร็จหัวเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมี รมว.คมนาคม พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง และ รณชิต แย้มสอาด รักษาการผู้ว่าการ รฟม. และผู้เกี่ยวข้องร่วมพิธีที่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย สัญญา 2 ช่วงสนามไชย-ท่าพระ บริวณสถานีสนามไชย
พิธีฉลองความสำเร็จหัวเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดแม่น้ำเจ้าพระยา เมือ 15 ธ.ค. 57 โดย รมว.คมนาคม พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง (ที่มาของภาพ: เพจประชาสัมพันธ์ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน)
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานในพิธีเปิดเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา อุโมงค์ที่ 2 เมื่อ 9 มี.ค. 58 (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)
ต่อมา เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 58 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา อุโมงค์ที่ 2 โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย สัญญา 2 ช่วงสถานีสนามไชย-สถานีท่าพระ  จนกระทั่งในวันที่ 14 ธ.ค. 58 จึงมีพิธีฉลองความสำเร็จการเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดแม่น้ำเจ้าพระยา อุโมงค์ที่ 2 ดังกล่าว

โตโต้' โต้ 'ศรีวราห์' ยันธเนตรไม่คิดหลบหนี ถูกจับในห้องศัลยกรรมชาย


จากกรณีที่วานนี้ (14 ธ.ค.58) พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. แถลงชี้แจงกรณีการจับกุม ธเนตร อนันตวงษ์ ผู้ต้องหาที่กดไลค์กดแชร์ข้อความ ตามในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112,116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์  โดยระบุว่า ช่วงเย็นวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทหารนำโดย พ.อ.นพสิทธิ์ ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมหมายศาลทหารกรุงเทพ เลขที่ 64/2558 ลงวันที่ 12 ธ.ค. ช่วงเวลานั้นเจ้าหน้าที่พบนายธเนตร กำลังจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลในช่องชำระเงินเพื่อเตรียมออกจากโรงพยาบาล ซึ่งเจ้าหน้าที่คาดว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีหมายจับ เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการควบคุมตัวทันที
 
รอง ผบ.ตร. ยืนยัน ด้วยว่าเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวบริเวณเคาน์เตอร์จ่ายเงินของโรงพยาบาลสิรินธร โดยไม่ได้ควบคุมตัวที่เตียงคนไข้ที่นายธเนตรนอนพักรักษาตัวแต่อย่างใด (อ่านรายละเอียด)
 
ล่าสุดวันนี้(15 ธ.ค.58) ปิยะรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ นักกิจกรรมนฐานะผู้ที่อยู่กับธเนตรไม่นานก่อนที่เขาจะถูกควบคุมตัว โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Piyarat Chongthep' ในลักษณะสาธารณะ เพื่อโต้แย้ง รอง ผบ.ตร. ว่า การจับกุม ธเนตร เกิดขึ้นภายในห้องศัลยกรรมชายชั้น 7 โรงพยาบาล สิรินธร หลังจากตนเยี่ยมเสร็จ ตนลงมาที่รถ ขณะกำลังขับรถออกไป ธเนตรโทรกลับมาที่เบอร์ตน ซึ่งไม่ใช่เครื่องของเขาเพราะเขาไม่ได้นำโทรศัพท์มา
 
"เบอร์ของใครเดียวคงจะถูกใช้เป็นหลักฐานต่อไป"  ปิยะรัฐ กล่าว
 
โดย ปิยะรัฐ กล่าวถึงสิ่งที่ธเนตร กล่าวกับตนว่า โทรกลับมาบอกว่าถูกจับแล้วให้มาช่วยจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วย ซึ่งพอตนขึ้นไปก็เป็นจังหวะที่เขาถูก เจ้าหน้าที่ 2 นายพาเข้าลิฟท์ลงไปอย่างรวดเร็ว
 
"ผมก็มีบิลค่ารักษาพยาบาลซึ่งปกติต้องชำระก่อนจึงจะออกไปได้ แน่เหตุใดคนกำลังชำระอยู่ คนไข้ก็ถูกพาออกไปแล้ว และถ้าคนไข้ประสงค์จะหนีออกจาก โรงพยาบาลจริง จะไปแจ้ง ทาง โรงพยาบาล ให้อนุญาตทำไม ตามพฤติกรรมการหลบหนีผมสังเกตว่าแค่ถอดสายน้ำเกลือแล้วเดินปะปนออกมาก็คงทำได้" ปิยะรัฐ ตั้งข้อสังเกตถึงกรณีที่ รอง ผบ.ตร.อ้างว่าธเนตรจะหลบหนี  
 
ปิยะรัฐ กล่าวด้วยว่า หลักฐานที่นำมาแสดงมันก็ย้อนถามท่าน(รอง ผบ.ตร.)เองว่าคนจะหนีแต่ไปขออนุญาต โรงพยาบาลทั้งทีรู้ว่าตนถูกออกหมายจับ แล้วไม่คิดหรือว่าเขาตั้งใจจะไปมอบตัว เพราะเจ้าตัวเองก็ย้ำกับตนว่าขอปรึกษาทนาย ตนยังสำทับว่ามอบตัวพร้อมแถลงข่าวนะ เขาก็ไม่ขัดแต่อย่างใด ย้ำด้วยปากคำที่ว่า เขาเองก็ไม่รู้จะหนีไปไหน เงินติดตัวก็ไม่มี รองเท้าก็ไม่มี 
 
 
ทั้งนี้หลังรัฐประหาร ธเนตรได้เข้ามาร่วมกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยกับกลุ่มต่างๆ โดยตลอด  การเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเกิดจากอาการป่วยลำไส้ใหญ่อักเสบ และไส้เลื่อนบริเวณถุงอัณฑะ ซึ่งอยู่ระหว่างการรับยาปฏิชีวนะและการรอคิวผ่าตัด 

รังสิมันต์ โรม: ผังราชภักดิ์ผิดตรงไหนให้พิสูจน์ ไม่ใช่ตามจับคนเข้าคุกแล้วโยง 112


สัมภาษณ์ โรม NDM หลังย้ำชัดเพจประชาธิปไตยใหม่แชร์ ผังราชภักดิ์ ครั้งแรก ทางกลุ่มพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ต้องมีการพิสูจน์ให้ชัดว่า ‘ราชภักดิ์’ โกงหรือไม่ ชี้มีการเตรียมจับคน ต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์บ้านโป่ง เพื่อสร้างความหวาดกลัว
จากกรณีการตามจับดำเนินคดีกับผู้ที่แชร์ผังการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ จากคนแรกคือฐนกร ศิริไพบูลย์ หนุ่มโรงงานวัย 27 ปี ซึ่งถูกควบคุมตัวโดยไม่แจ้งสถานที่ควบคุมตัวเป็นระยะเวา 7 วัน ก่อนที่จะมีการฝากขังเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยศาลทหารไม่อนุญาติให้ประกันตัว เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง เพราะมีการตรวจสอบพบว่ามีการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 , 116 และมาตรา 14 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากการกระทำ 3 เหตุการณ์ ได้แก่ 1. กดไลค์รูปภาพในเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาเป็นการดูหมิ่นสถาบันฯ 2. คัดลอกและแชร์รูปภาพประชดเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยงในเฟซบุ๊ก และ 3. คัดลอกและแชร์รูปภาพแผงผังเปิดโปงทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งเป็นการต่อต้านการทำงานของรัฐและปลุกปั่นยุยงให้เกิดความไม่สงบ 
ต่อมามีการรวบตัวคนที่สองคือ ธเนตร อนันตวงษ์ นักกิจกรรมวัย 25 ปี โดยถูกออกหมายจับในวันที่ 12 ธ.ค. และเขาถูกจับกุมที่โรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น ขณะเข้ารับการรักษาอาการป่วยลำไส้ใหญ่อักเสบ และไส้เลื่อนบริเวณถุงอัณฑะ ซึ่งอยู่ระหว่างการรับยาปฏิชีวนะและการรอคิวผ่าตัด  ในวันที่ 13 ธ.ค. เวลา 12.30 น. โดยเจ้าหน้าที่ที่เข้าจับกุมไม่มีการแสดงตน ไม่แจ้งสังกัด ไม่แสดงหมายจับของศาล และไม่แจ้งว่าจับควบคุมตัวไปที่ใด ทว่าต่อมาในวันเดียวกัน เพื่อนของธเนตรได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่กองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 แขวงถนนนครชัยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ให้นำยาไปให้ธเนตรได้ แต่ไม่อนุญาตให้เยี่ยมหรือติดต่อกับนายธเนตรแต่อย่างใด
ชัดว่าการตามจับครั้งนี้เกิดจากการแชร์ผังการทุจริตราชภักดิ์ พร้อมทั้งมีการขยายผลออกไปสู่เรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา รังสิมันต์ โรม หนึ่งในขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ออกมาพูดชัดผ่านสื่อว่า ทางเพจขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เป็นกลุ่มแรกที่ทำการแชร์ผังทุจริตราชภักดิ์ แต่น่าแปลกที่ยังไม่มีการติดต่อมาจากเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด
ประชาไทสัมภาษณ์รังสิมันต์ โรม ต่อเรื่องที่เกิดขึ้น เขาย้ำชัด คสช. อย่าเล่นงานประชาชน หากผังการทุจริตมีข้อผิดพลาดให้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง แล้วว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม อย่าตามจับคน แล้วโยงเข้ามาตรา 112 พร้อมตั้งข้อสังเกตุการตามจับดำเนินคดีมีกระบวนการที่มีนัยจากเหตุการณ์บ้านโป่ง และตอบชัดว่า ทำไมถืออกมาตรวจสอบคอร์รัปชันในรัฐบาลทหาร
ประชาไท : นี่เป็นครั้งแรกหรือไม่ที่ออกมาพูดชัดว่าผังราชภักดิ์ ถูกแชร์ที่เพจขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่แรก
รังสิมันต์ โรม :อย่างแรกเราคิดว่าทุกคนทราบอยู่แล้วว่ามันปรากฏอยู่ในเพจ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) และอย่างที่สองเราก็บอกชัดไปแล้วเมื่อวันที่มีการจัดการแถลงข่าว ผมก็ยังแปลกใจที่ถามว่านี่เป็นครั้งแรกหรือไม่ แต่ที่แปลกใจไปกว่านั้นคือ เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ติดต่อมาที่เรา ไม่มีแม้กระทั่งจะเรียกเราไปคุยด้วยซ้ำไป
ข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในผัง เป็นข้อมูลที่ปรากฎอยู่แล้วตามหน้าซึ่ง ข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในผังก็เป็นข้อมูลที่ไล่เรียงเหตุการณ์ เกิดอะไรขึ้นบ้างการโครงการสร้างอุทยานราชภักดิ์
ภายหลังจากมีการแชร์ผังนี้ออกไปแล้วมีการตามจับกุมคนแชร์ NDM มองเรื่องนี้อย่างไร
เรามองว่า ทางกองทัพพยายามพูดเหมือนกับว่า ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น เกิดจากคนที่แชร์ผังการทุจริต แล้วมีการขยายผลไปที่เรื่อง 112 ในขณะมีไม่การพูสูจน์ความจริงว่ามีการทุจริตหรือไม่ แต่กลับเป็นการตราหน้าคนที่พยายามออกมาพิสูจน์ว่าเป็น กลุ่มล้มเจ้า เป็นคนไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน ซึ่งนั้นไม่ใช่ประเด็นของเรื่อง ประเด็นก็คือ สรุปแล้วกองทัพ และ คสช. มีการทุจริตคอร์รัปชั่นหรือไม่ ซึ่งถ้ามีก็ต้องมีการพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นใคร กระบวนการมันควรจะเป็นอย่างนั้น
การที่เราออกมาพูด เราต้องการดึงกลับมาสู่ประเด็นนี้ อีกอย่างพวกเราทุกคนพร้อมที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การวิพากษ์วิจารณ์ที่ผ่านมาก็เป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต จะผิดจะถูกอย่างไรมันก็ต้องมาพิสูจน์กัน แต่ คสช. ไม่ได้ออกมาโต้แย้งว่าผังมันมีปัญหาอย่างไร  สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คสช. ตามไปจับกุมอย่างเดียวแล้วก็นำไปสู่เรื่อง 112
เราอยากจะบอกว่า คุณไม่ควรเล่นงานประชาชน คนอื่นๆ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้มีภูมิคุ้มกันทางการเมือง อย่าง NDM เราสู้กับ คสช. มาโดยตลอด ถ้า คสช. จะสู้ทางกฎหมายเราก็ยินดีที่จะสู้ทางกฎหมาย
มีการเตรียมรับมืออย่างไรบ้าง หากมีการออกหมายขบวนการประชาธิปไตยใหม่
แน่นอนเรายินที่จะเข้าสู่กระบวนการ แต่กระบวนการตรงนี้มันต้องไม่ใช่กระบวนการทางการเมือง มันต้องไปว่ากันตามศาลยุติธรรม เช่นบอกว่าเราหมิ่นประมาท หรือเรากระทำผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ อันนี้เรายินดีเข้าสู่กระบวนการ แต่ไม่ใช่บอกว่าเราทำผิดมาตรา 116 หรือ มาตรา 112 อย่างนี้มันไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะถ้าดูจากผังมันก็ไม่มีเนื้อสาระอะไรที่จะเข้าข่ายการหมิ่นได้เลย ถ้าเป็นกระบวนการที่มันแฟร์ ขึ้นศาลยุติธรรม มันเป็นสิ่งที่ถูกฝ่ายยอมรับกันได้
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมีการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือยัง
ไม่มีเลย มีแต่ออกมาพูดหน้าสื่ออย่างเดียวที่พยายามโจมตี พยายามทำให้ดูเหมือนว่าภาพทั้งหมด เกี่ยวข้องกับเรื่อง 112
จากการที่มีคนแชร์ผังดังกล่าว แล้วมีการจับกุมคนที่แชร์ NDM ประเมินสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างไร และจะรับมืออย่างไร
คือพอมีการจับกุม คนแรกที่ถูกจับกุมคือ ฐนกร ซึ่งพวกเราไม่รู้จักเลย แล้วเขาไม่เคยมาร่วมกิจกรรมของ NDM มาก่อน ซึ่งตอนมีการจับกุมพวกเราก็แปลกใจ ต่อมาก็เป็นคนที่สองคือ ธเนตร ซึ่งธเนตรเองมาร่วมกิจกรรมกับ NDM อยู่เป็นประจำ เราคิดว่าต่อจากนี้มีแนวโน้มที่จะมีการจัดการตามจับคนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่น่ากังวลเหมือนกัน และดูเหมือนว่าเป้าหมายของการจับกุมจะมุ่งไปที่ ประชาชนธรรมดา
ผมคิดว่าจุดมุ่งหมายสำคัญของกองทัพคือการสร้างความหวาดกลัว เพื่อไม่ให้มีใครกล้าพิสูจน์ หรือตรวจสอบ ไม่สามารถมองเป็นเรื่องอื่นได้ และผมคิดว่ามีการจัดเตรียมการเรื่องนี้มาก่อนแล้ว คือผมเองก็ทำงานเกี่ยวกับม็อบมาแล้วหลายครั้ง จากประสบการณ์ตรงนี้ ทุกครั้งที่ คสช. บอกว่ามีเส้นที่ทำไม่ได้ ก็จะไม่สามารถข้ามเส้นนั้นได้จริงๆ กองทัพจะมีความพร้อม และสามารถสกัดกั้นได้ เป็นเรื่องยากที่เราจะฝ่าแนวกั้นของทหาร
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเหตุการณ์ที่บ้านโป่ง ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการตรวจสอทุจริต สามารถที่จะฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่เข้ามาประชิดตัวโบกี้รถไฟได้ นี่เป็นจุดที่น่าสังเกตุ ผมมองว่า ถ้ากองทัพไม่ต้องการให้เกิดการปะทะกัน พวกเขามีศักยภาพที่จะกั้นประชาชนอีกฝั่งหนึ่งได้
อีกเรื่องก็คือ ข้อกล่าวหาที่มาจากคนที่บ้านโป่ง คือก่อนหน้านี้เราไม่ได้ยินข้อกล่าวหาเรื่องการ ล้มเจ้า หรือไม่จงรักภักดี แล้วในวันนั้นเป็นเหตุการณ์แรกที่มีการกล่าวหา ซึ่งมันเป็นคนละเรื่องที่เราจะไปตรวจการทุจริตที่ราชภักดิ์ ภายหลังจากเหตุการณ์วันนั้นก็มีการโจมตีในโซเชียลเน็ตเวิร์ค มีการโจมตีเรื่องที่นำไปผูกโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์
ผมคิดว่าว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่อง บังเอิญ แต่เป็นความพยายามในการเบี่ยงเบนประเด็น ฉะนั้นมันน่ากังวลเหมือนกันเมื่อมีการเอาเรื่อง ม.122 มาเกี่ยวข้อง เพราะสังคมไทยพร้อมที่จะตราหน้าคนที่ถูกข้อกล่าวหาว่าเป็นคนไม่จงรักภักดี ทั้งที่หลายๆ คดีมีหลักฐานอ่อนมากด้วยซ้ำไป
สิ่งหนึ่งที่พวกเราพยายามจับรับมือ ช่วยประชาชนที่โดนข้อกล่าวหาก็คือ การประสานงานกันทนายความ หรืออย่าง ธเนตร เราก็พยายามประสานงานกับ กสม. เพื่อให้มีการเข้าไปดูสภาพความเป็นอยู่ของผู้ถูกคุมขังว่าเป็นอย่างไร เราพยายามประสาน พยายามช่วยเหลือ
หลายคนสงสัยว่าทำไมถึงไม่มีการตรวจเรื่องคอร์รัปชั่นในรัฐบาลก่อนหน้านี้
พูดกันตามตรงพวกเราเป็นนักศึกษา บางคนก็เพิ่งเรียนจบ ในแง่ของเครื่องไม้เครื่องมือ เราไม่ได้มีความสามารถที่จะเข้าไปตรวจอะไรได้มากขนาดนั้น ที่ทำอยู่นี่ก็อาศัยข้อมูลจากสื่อที่ออกมาตรวจสอบด้วยซ้ำไป แต่ปัญหาคือก่อนหน้านี้ มันเป็นสมัยรัฐบาลเลือกตั้ง ซึ่งทุกคนสามารถออกมาทำหน้าที่นี้ได้อยู่แล้ว พวกเราเข้าไปแทบจะไม่มีประโยชน์เลยด้วยซ้ำ
พวกเราไม่เห็นด้วยกับการคอร์รัปชันของทุกรัฐบาล ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง หรือการรัฐประหาร แต่สมัยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีคนที่มีความพร้อม และมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบมากกว่าเรา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กลับไม่มีใครทำหน้าที่ตรงนี้ เราก็แค่ปลุกเร้ามโนธรรมสำนึกของคนในสังคมให้กล้าออกมาสอบสอบการทุจริตอีกครั้ง
อย่างการนั่งนถไฟไปราชภักดิ์ แน่นอนมันไม่สามารถพิสูจน์ได้ เพียงแต่ว่าปัญหาของสังคมตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่พิสูจน์ได้หรือไม่ได้ แต่ไม่มีใครกล้าที่จะไปตรวจสอบมากกว่า
คิดอย่างไร ต่อกรณีที่มีคนออกมาพูดว่าการออกมาตรวจสอบคอร์รัปชันของ NDM เป็นเพียงเป้าหมายหนึ่งที่นำไปสู่การล้มรัฐบาล
เรื่องนี้มันเหมือนเป็นการโจมตีเพื่อดิสเครดิตพวกเรา คำถามคือ ในสภาพวะอย่างนี้มันไม่มีให้ทำหน้าที่ตรวจสอบ การที่พวกเราออกมาพูดเรื่องนี้ก็เหมือนกับการออกมาเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งจะนำไปสู่ผลอะไรก็เป็นอีกเรื่อง เพียงแต่ว่าสิ่งที่มันต้องชัด และสิ่งที่เราเรียกร้องคือ คสช. ต้องทำให้มันสุจริต หาคนผิดมาดำเนินการตามกระบวนการให้ได้
นับตั้งแต่มีข่าวว่ามีการคอร์รัปชันในโครงการอุทยานราชภักดิ์ NDM ไม่ได้เคลื่อนไหวทันที เรามีการให้โอกาส ให้ระยะเวลา แต่สิ่งที่เกิดภายหลังที่ พลเอกธรีชัย นาควานิช แถลงข่าวมันไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น นอกจากออกมาบิดเบื้อนว่าไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น แน่นอนว่าพวกเราไม่พอใจกับคำแถลงตรงนั้น แล้วเราก็เคลื่อนไหว
แน่นอนว่า NDM ไม่เอาการรัฐประหารมาตั้งแต่แรก แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาดิสเครดิต สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ มันมีการโกงเกิดขึ้นจริงหรือไม่

ศาลทหารสั่งจำคุก ชญาภา หญิงโพสต์ข่าวรัฐประหารซ้อน และหมิ่นสถาบันฯ 14 ปี 60 เดือน


จำคุกหญิงผู้ใช้นามแฝงบนเฟซบุ๊กว่า "นินจารัก สีแดง" ข้อหาปล่อยข่าวปฏิวัติซ้อน พ่วงด้วย 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ รวม 5 กรรม ลดหย่อนเนื่องจากสารภาพเหลือ 7 ปี 30 เดือน ทนายชี้ศาลตัดสินโดยไม่ได้นัดหมายล่วงหน้า ไม่มีการแจ้งทนาย จำเลยได้รับการแจ้งล่วงหน้าในคืนก่อนขึ้นศาล

15 ธ.ค. 2558 เวลา 12.30 น. ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ นักกฎหมายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ประชาไทว่า วันนี้ทางศูนย์ทนายความได้รับการติดต่อจาก ชญาภา  ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Chanisa Boonyajinda” (นินจารัก สีแดง)  ลูกความของศูนย์ทนายความฯ ในคดีการโพสต์ข้อความเรื่องการปฏิวัติซ้อน และการหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์  ว่าวันนี้ศาลทหารได้พิพากษาให้จำคุกนางชญาภา 14 ปี 60 เดือน แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพจึงให้ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 7 ปี 30 เดือน จากการโพสต์ข้อความที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการกระทำความผิด 5 กรรม

ศศินันท์ นักกฎหมายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเล่าว่า ชณาภามีอาการตื่นกลัวระหว่างการพูดคุย  ชญาภาเล่าว่า เธอได้รับการแจ้งว่าเธอต้องเดินทางมาที่ศาลทหารเมื่อคืนวันที่ 14 ธันวาคม 2558 ซึ่งเป็นเวลาก่อนหน้าที่จะต้องมาศาลไม่ถึง 24 ชั่วโมง หรือแม้แต่หมายนัดของศาลชญาภาก็ยังไม่ได้เห็น

ศศินันท์กล่าวต่อว่า กระบวนการพิจารณาในคดีของชญาภาอยู่ในขั้นตอนการนัดสอบคำให้การ เธอเข้าใจว่าด้วยความเครียด ความหวาดกลัวในกระบวนการพิจารณาคดี ประกอบกับการไม่มีญาติมิตร หรือทนายความให้คำปรึกษาในกระบวนการ ทำให้ชญาภา ตัดสินใจรับสารภาพตามข้อกล่าวหา

นักกฎหมายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งข้อสังเกตว่า  ทนายความเคยพยายามขอคัดถ่ายคำฟ้องจากศาลแล้ว ศาลทหารไม่อนุญาต ต้องทำคำร้องขอคัดถ่ายถึงสองรอบถึงจะได้คำฟ้องมาศึกษา และทนายความได้พยายามสอบถามถึงวันนัดสอบคำให้การ แต่เจ้าหน้าที่จากศาลทหารไม่เคยแจ้งให้ทนายทราบ  จนกระทั่งมีการอ่านคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงได้แจ้งต่อทนายความ

สำหรับรายละเอียดอื่นๆ ศศินันท์จะเดินทางเพื่อขอเข้าพบชญาภาเพื่อรับทราบรายละเอียดแล้วจึงจะแจ้งให้ทราบเป็นทางการอีกครั้ง โดยในคดีนี้ได้เกิดเหตุขึ้นหลังการยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว จำเลยจึงยังมีโอกาสต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาต่อไป 
ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโดย ไอลอว์ ได้เผยแพร่รายละเอียดคดีนี้ไว้ว่า  ชญาภา อายุ 49  อาชีพ พนักงานบัญชี บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่ามีปฏิวัติซ้อนและเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เจ้าหน้าที่ ตำรวจและทหารจึงบุกเข้าจับกุมที่บ้านโดยไม่มีหมายศาลในตอนแรกพร้อมยึดสิ่งของและข่มขู่ไม่ให้มีทนายความ เธอผ่านการแต่งงานมีบุตรชาย 1 คน อายุ 25 ปี ปัจจุบันแยกกันอยู่กับสามี เธอเป็นโรคความดันโลหิตสูง, ข้อเข่าเสื่อม, และโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ

การจับกุมเกิดขึ้นในวันที่ 19 มิถุนายน 2558   เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก ปอท.และทหาร ได้ใช้อำนาจตาม ม.44 เข้าจับกุมชญาภาที่บ้านโดยไม่มีหมายจับใดๆ มาแสดง  ก่อนนำตัวไปสอบสวนที่ค่ายทหารราบ 11 และส่งให้ตำรวจในวันที่ 23 มิถุนายน  โดยในตอนแรกแจ้งเพียงข้อหาปลุกปั่นยั่วยุให้เกิดความกระด้างกระเดื่องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116  และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เท่านั้น ต่อมาภายหลังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเฟซบุ๊กจึงแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ  แล้วจึงขอหมายจับจากศาลทหารในภายหลัง

ด่วน! ฎีกาพลิกคดีเผาศาลากลางอุบล ประหารชีวิต 'ดีเจต้อย' จำคุกตลอดชีวิตเพิ่มหลายราย


  
15 ธ.ค.2558 ศาลจังหวัดอุบลราชธานีอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลฯ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 วัฒนา จันทศิลป์ ทนายความของ 13 จำเลยในคดีนี้เปิดเผยข้อมูลว่า ศาลฎีกากลับคำพิพากษาในส่วนของจำเลยหลายคน บางคนจากที่เคยยกฟ้องในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็กลับถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตในชั้นศาลฏีกา หลายรายได้รับโทษจำคุก 1-2 ปีก่อนหน้านี้ก็ถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต แต่ลดเหลือ 33 ปี 4 เดือน ส่วนจำเลย 4 รายเดิมที่ถูกคุมขังมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2553 ด้วยโทษ 33 ปี 12 เดือนนั้นศาลฏีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ลดเหลือ 33 ปี 4 เดือน
โดยเฉพาะ ดีเจต้อย พิเชษฐ์ ทาบุดา ดีเจและแกนนำกลุ่มชักธงรบ ซึ่งเป็นกลุ่มมวลชนขนาดใหญ่ในจังหวัดอุบลราชธานี จากเดิมที่ถูกตัดสินจำคุก 1 ปีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์นั้น ในชั้นศาลฎีกาถูกพิพากษาให้ได้รับโทษจำคุกหนักที่สุดในบรรดาจำเลยทั้งหมด 13 ราย คือ ประหารชีวิต แต่ได้รับการลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต

รายละเอียดมีดังนี้
1.นายพิเชษฐ ทาบุตรดา จำเลยที่ 1  โทษประหารชีวิต ลดเหลือจำคุกตลอดชีวิต
(ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์สั่งจำคุก 1 ปี แต่เนื่องจากถูกจำคุกมาก่อนพิพากษาแล้ว 15 เดือนจึงได้รับการปล่อยตัว)
2.นางอรอนงค์ บรรพชาติ จำเลยที่ 2  จำคุกตลอดชีวิต ลดเหลือ 33 ปี 4 เดือน
(ศาลชั้นต้นสั่งจำคุก 8 เดือน ศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก 2 ปี  ถูกจำคุกมาก่อนแล้ว 15 เดือนจึงได้รับการปล่อยตัว)
3.นางสุมาลี ศรีจินดา จำเลยที่ 3 จำคุก 2 ปี
(ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก 2 ปี ได้รับการประกันตัวชั้นอุทธรณ์)
4.นายประดิษฐ์ บุญสุข จำเลยที่ 4 จำคุก 2 ปี
(ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ สั่งจำคุก 2 ปี ได้รับการประกันตัวชั้นอุทธรณ์)
5.นางสาวปัทมา มูลนิล จำเลยที่ 5 จำคุกตลอดชีวิต ลดเหลือ 33   ปี 4  เดือน
(ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก 33 ปี 12 เดือน ถูกคุมขังมาตลอด)    
6.นายลิขิต สุทธิพันธ์ จำเลยที่ 7 จำคุกตลอดชีวิต ลดเหลือ 33 ปี 4  เดือน
(ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก 2 ปี ได้รับการประกันตัวชั้นอุทธรณ์)
7.นายธีรวัฒน์ สัจสุวรรณ จำเลยที่ 9 จำคุกตลอดชีวิต ลดเหลือ 33 ปี 4 เดือน
(ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก 33 ปี 12 เดือน ถูกคุมขังมาตลอด)
8.นายชัชวาลย์ ศรีจันดา จำเลยที่  11 จำคุกตลอดชีวิต
(ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง)
9.นายสนอง เกตุสุวรรณ์  จำเลยที่ 12 จำคุกตลอดชีวิต เหลือ 33 ปี 4 เดือน
(ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จำคุก 33 ปี 12 เดือน ถูกคุมขังมาตลอด)
10.นายสมจิต สุทธิพันธ์ จำเลยที่ 16 จำคุก 1 ปี
(ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์สั่งยกฟ้อง)
11.นายสมศักดิ์ ประสานทรัพย์ จำเลยที่ 17 จำคุกตลอดชีวิต ลดเหลือ 33 ปี 4 เดือน
(ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก 33 ปี 4 เดือน ถูกคุมขังมาตลอด)
12.นายไชยา ดีแสง จำเลยที่ 18 จำคุก 2 ปี
(ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก 2 ปี ถูกจำคุกมาแล้ว  1 ปี 9 เดือน ได้รับการประกันตัวในชั้นอุทธรณ์)
13.นายพิสิษฐ์ บุตรอำคา จำเลยที่ 19 จำคุก 2 ปี
(ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก 2 ปี ได้รับการประกันตัวชั้นฎีกา)

หมายเหตุ : จำเลยในคดีนี้ที่ศาลพิพากษายกฟ้องและคดีสิ้นสุดไปในชั้นอุทธรณ์

นายสีทน ทองมา จำเลยที่ 6  ศาลชั้นต้นยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา อัยการไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุด รอการเยียวยา
นางบุญเหรียญ ลิลา จำเลยที่ 8 ศาลชั้นต้นยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา อัยการไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุด รอเยียวยา
นายอุบล แสนทวีสุข จำเลยที่ 10  ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 8 เดือน แต่ถูกจำคุกอยู่นาน 15 เดือน อัยการไม่ติดใจอุทธรณ์ คดีถึงที่สุด รอเยียวยา
นายถาวร แสงทวีสุข จำเลยที่ 13 ศาลชั้นต้นยกฟ้อง อัยการไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุด รอเยียวยา
นายธนูศิลป์ ธนูทอง จำเลยที่ 14 ศาลชั้นต้นยกฟ้อง อัยการไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุด รอเยียวยา
นายคำพลอย นะมี จำเลยที่ 20 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง อัยการไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุด รอเยียวยา
นายพงษ์ศักดิ์ ออนอินทร์ จำเลยที่ 21 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง อัยการไม่อุทธรณ์ รอเยียวยา
ก่อนหน้านั้นศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เดือน เม.ย.-พ.ค.53 หรือ ศปช. ได้ตีพิมพ์รายงานกว่า 1,000 หน้าซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตในคดีเผาศาลากลางอุบลราชธานีด้วย โดยระบุว่า

1.เหตุการณ์นี้ไม่มีการจับกุมผู้ต้องหาในที่เกิดเหตุ อาศัยการจับกุมตามหมายจับทั้งหมด แต่กระบวนการออกหมายไม่รัดกุมและไม่ยึดหลักการของกฎหมายที่ต้องมีหลักฐานตามสมควร มีการออกหมายจับทั้งคนที่อยู่ภายนอกและภายในศาลากลาง  ภาพถ่ายส่วนใหญ่ถ่ายระยะไกล บางภาพมืด ไม่ชัดเจน บางภาพถ่ายขณะขว้างก้อนหินเข้าใส่ป้อมยาม บางภาพถ่ายคนที่ยืนอยู่ภายนอก ไม่มีพฤติกรรมอื่นใด นอกจากนี้คดีนี้ยังมีการออกหมายจับผู้ต้องหาบางคนโดยใช้ภาพที่ไม่ใช่เหตุการณ์ปี 2553 ด้วย และถูกออกหมายจับเพราะตำรวจเคยเห็นเขาร่วมชุมนุมในครั้งก่อนๆ โดยไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับการชุมนุมที่ศาลากลาง (จำเลยที่ 1) มีการใช้ภาพที่ไม่ชัดเจน ทำให้จับผิดตัว เช่น กรณีจำเลยที่ 14 ไม่ได้ไปชุมนุมบริเวณศาลากลางแต่อย่างใด นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังจับกุมโดยไม่แจ้งสิทธิและข่มขู่ให้ผู้ต้องหารับสารภาพ มีบางส่วนที่ถูกทำร้ายร่างกาย
2.การปล่อยชั่วคราว มีเพียงรายเดียวที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา เนื่องจากเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งตัว พยายามขอประกันตัวหลายครั้งแต่ไม่ได้รับอนุญาต จนกระทั่งเป็นอัมพาตเดินไม่ได้ จึงได้รับการประกันตัว นอกนั้นส่วนใหญ่ได้รับประกันตัวเมื่อเวลาผ่านไปราว 1 ปี 3 เดือน
3.การสอบสวน ผู้ต้องหาไม่ได้รับการแจ้งสิทธิ แม้ทนายไม่ได้อยู่ร่วมขณะสอบสวนแต่ก็มีการลงลายมือชื่อของทนายในสำนวน บางคนถูกข่มขู่ บางคนถูกเกลี้ยกล่อม ให้รับสารภาพแล้วค่อยไปต่อสู้ในชั้นศาล จากการเบิกความของพยานทำให้พบว่ามีการสอบสวนโดยไม่ชอบและบิดเบือนพยานหลักฐาน เช่น พยานให้การปรักปรำจำเลยเพราะเจ้าหน้าที่สั่งให้พูด , จำเลยให้การอย่างหนึ่งแต่เจ้าหน้าที่บันทึกตรงกันข้ามแล้วให้จำเลยลงชื่อโดยไม่อ่านให้ฟัง
4.คำพิพากษา ศาลพิจารณาคดีบนพื้นฐานความเชื่อว่า การเผาศาลากลางเกิดจากกลุ่มเสื้อแดงอย่างไม่ต้องสงสัย มักให้น้ำหนักกับปากคำเจ้าหน้าที่รัฐด้วยเหตุผลว่า “ไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลย”  และให้น้ำหนักต่อคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนโดยให้เหตุผลว่า “ในชั้นศาลจำเลยมีเวลาคิดปรุงแต่งข้อเท็จจริงให้จำเลยพ้นผิด” หรือกรณีที่พยานโจทก์เบิกความเป็นคุณต่อจำเลย ศาลก็ไม่นำมาวินิจฉัย เช่น กรณีจำเลยที่ 15 เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ระบุว่าได้เข้าร่วมช่วยดับไฟ แต่ศาลก็ยังพิพากษาลงโทษมีความผิดฐานร่วมกันเผาทรัพย์ ที่สำคัญ ศาลใช้พยานหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายประกอบคำรับสารภาพ หรือลายมือชื่อรับรองภาพถ่ายโดยเชื่อว่าเวลาดังกล่าวมีความชุลมุนต้องอาศัยภาพที่บันทึกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประกอบการพิจารณา  นอกจากนี้เหตุการณ์เผาศาลากลางยังมีข้อเท็จจริงที่เป็นที่น่าเคลือบแคลงเช่น พยานผู้สื่อข่าวเบิกความว่าไฟเริ่มไหม้ที่ชั้นสองก่อน ขณะที่กำลังเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ ถอนออกนอกพื้นที่แทนที่จะควบคุมเพลิง และก่อนเพลิงไหม้มีการยิงออกมาจากศาลากลาง ทำให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ 5 คน หลังเหตุการณ์มีทหารอากาศ 1 นาย ทหารบก 1 นายถูกออกหมายจับแต่ภายหลังต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทั้งสองมีหนังสือถึงพนักงานสอบสวนให้เพิกถอนหมายจับ