วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555


อนาคตของ 6 ตุลา 2519
อนาคตของ 6 ตุลา 2519
by : ผศ. ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
IP : (124.120.144.53) - เมื่อ : 10/10/2008 12:01 PM

1. 6 ตุลา ยังมีอนาคต?

       หัวข้อที่ได้รับมอบหมายให้นำเสนอในวาระ 32 ปี 6 ตุลา ในปี 2551 นี้ ทำให้ผมรู้สึกประหลาดใจอย่างทันทีเมื่อได้รับการทาบทามให้มาเป็นผู้นำเสนอหลัก โดยความรู้สึกนั้นมีเป็น 2 แนวทางด้วยกัน ความรู้สึกแรก คือการที่ฝ่ายคณะกรรมการจัดงาน 6 ตุลา คิดหัวข้อ "อนาคตของ 6 ตุลา 2519" ขึ้นมานั้น ในฐานะที่ผมศึกษามาทางด้านประวัติศาสตร์ ก็คิดในแง่บวกว่าฝ่ายคณะกรรมการจัดงานประสงค์ที่จะประเมินสถานะทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 6 ตุลา เพื่อที่จะประมวลและกำหนดแนวทางในการดำเนินงานต่อไปในแผน 5 ปี หรือ 10 ปีของกลุ่มคนรุ่น 6 ตุลา แต่เมื่อหวนรำลึกว่า คนรุ่น 6 ตุลานี้ต่างเป็นนักวางแผนยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ชำนาญการอย่างยิ่ง แม้กระทั่งในวงการธุรกิจการค้าและการเมืองก็สามารถบรรลุความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม ดังนั้น กลุ่มคนรุ่น 6 ตุลา นี้ก็ย่อมมีความสามารถอย่างยิ่งที่จะประเมินสถานะของ 6 ตุลาด้วยพวกเขาเอง ในสภาพการณ์ของสังคมไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จตามที่มุ่งหวังในรอบทศวรรษที่ผ่านมาที่สามารถผลักดัน "อนุสรณ์สถาน" ในรูปประติมากรรม "6 ตุลา 2519" ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประติมากรรมชุดกำแพงประวัติศาสตร์ของธรรมศาสตร์ที่บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ (อดิศร พวงชมภู, "25 ปี 6 ตุลาของอะไร," ใน 25 ปี 6 ตุลา ในบริบทสังคมไทย, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ บรรณาธิการ (กรุงเทพฯ: สนพ. 6 ตุลา รำลึก, 2546), หน้า 82-85.) และสามารถที่จะประกาศ "พิธีกรรมรำลึก" ผ่านข่าวสารในหน้าหนึ่งของสื่อหนังสือพิมพ์ได้ทุกปี

        ความรู้สึกที่สองและแรงกว่า คือ เกิดปัญหาบางประการทั้งทางความคิดและความเชื่อในกลุ่มคนรุ่น 6 ตุลาในบริบทของสังคมการเมืองปัจจุบัน อันส่งผลให้เกิดความหวั่นไหวต่ออนาคตของสถานทางประวัติศาสตร์ 6 ตุลา แม้ว่าโดยข้อเท็จจริง 6 ตุลา นั้นเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ ที่ไม่ว่าอย่างไรมันก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทยอยู่วันยังค่ำ ไม่ว่าจะมีกลุ่มคนรุ่น 6 ตุลาอยู่หรือไม่ก็ตาม แต่ในด้านกลับกัน ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ก็อาจจะค่อยๆ สาบสูญ เสื่อมทรามไปจากความรับรู้ของคนรุ่นในอนาคต หรืออาจมีความทรงจำต่อประวัติศาสตร์6 ตุลา ที่บิดเบี้ยวได้มากยิ่งๆ ขึ้นไปได้ หากไม่มี"เจ้าภาพ" ที่เข้มแข็งพอ และหรือยังไม่อาจสร้างฐาน "ความรู้" และแรงจูงใจที่จะแสวงหาความรู้นี้ได้มากพอสำหรับคนรุ่นต่อไป

      บทบาทของบุคคลต่างๆ ในการเมืองไทยในวันนี้ อันเป็นยุค "หลังทักษิณ?-หลังขิงแก่?" ได้สะท้อนภาพให้เห็นที่อาจเป็นเสมือน "การล้างไพ่" ของคู่ตรงข้ามทางความเชื่ออุดมการณ์ของบุคคลที่มีส่วนข้องเกี่ยวกับ 6 ตุลา 2519 ดังปรากฏในคอลัมน์ "เรียงคนมาเป็นข่าว" โดย "วิหคเหินฟ้า" ที่ว่า อีก 2 วันจะถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2551 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง-สมศักดิ์ โกศัยสุข-พิภพ ธงไชย 3 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยืนอยู่ฝั่งเดียวกันใน "ทำเนียบรัฐบาล" ประกาศหลักการ "การเมืองไทย" ที่เป็น "การสรรหา"มากกว่า "เลือกตั้ง"

       แต่ถ้าย้อนเวลากลับไป 32 ปี 6 ตุลาคม 2519 วันสังหารพิราบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชื่อไหมว่าวันนั้น "พล.ต.จำลอง" ยืนอยู่ฝั่งเดียวกับสมัคร สุนทรเวช คือ "ฝ่ายปราบ" ส่วน "พิภพ-สมศักดิ์" อยู่ฝั่ง"ผู้ถูกปราบ" เช่นเดียวกับ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี-จาตุรนต์ ฉายแสง (วิหคเหินฟ้า, "เรียงคนมาเป็นข่าว," มติชน 4 ตุลาคม 2551: 4.)

       ตัวอย่างข้างต้นนี้ย่อมสะท้อนภาพได้อย่างดีว่า คนกลุ่มรุ่น 6 ตุลา ต่างก็สามารถเป็น "นักการเมืองที่ดี" ตามมาตรฐานของโลกการเมืองไทยที่เคยเป็นมา ทั้งเนื้อหาของ 6 ตุลา ที่เคยมุ่งหมายว่าจะเป็นเครื่องรั้งเหนี่ยวความรุนแรงในระดับต่างๆ ที่รัฐจะทำกับประชาชนไทยของตนให้ลดน้อยถอยลง กลับเป็นว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน คนรุ่นนี้หลายคนกลับเป็นผู้ร่วมกระทำและร่วมชมความรุนแรงในหลากระดับด้วยตนเอง เหมือนภาพของเด็กน้อยผู้ยืนยิ้มที่ดูการทุบตีซากศพที่แขวนที่ต้นมะขามในครั้งนั้น นี้คือความรู้สึกที่สองที่ผมมีอยู่ และคำถามที่ตามมาอย่างชวนสงสัยคือ 6 ตุลา ยังมีอนาคตด้วยหรือ?

2. ช่องทางรับรู้เรื่อง 6 ตุลา

       ผมเริ่มตั้งคำถามว่า หากผมปรารถนาที่จะค้นคว้าหาข้อมูลเรื่อง 6 ตุลา ผมจะสามารถหาข้อมูลเหล่านี้ผ่านโลก WWW ได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ เวลาคนในสังคมกล่าวถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การเมือง มักจะกล่าวถึง 3 เหตุการณ์อย่างเป็นชุดเดียวกัน คือ เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และเหตุการณ์พฤษภา 2535 ดังนั้น การศึกษาในที่นี้จะเป็นการพิจารณาแบบเปรียบเทียบ 6 ตุลา กับอีกสองเหตุการณ์ดังกล่าวไปอย่างพร้อมๆ กัน

การสืบค้นข้อมูลจาก Google ให้ผลดังนี้

คำสืบค้นจำนวนผลรายการ
14 ตุลา5,310,000
6 ตุลา7,540,000
พฤษภาทมิฬ137,000
พฤษภาเลือด22,100
พฤษภา 352,700,000


       จากผลข้อมูล พบความน่าสนใจอย่างยิ่งว่า ฐานข้อมูลเรื่องของ 6 ตุลา มีมากเป็นอันดับที่ 1 คือ 7,540,000 รายการ ทั้งนี้ ก่อนเริ่มสืบค้น ผมเดาไว้เบื้องต้นว่าจำนวนรายการที่มากเป็นอันดับแรกน่าจะคือเรื่อง 14 ตุลา เพราะในวาระ 30 ปีครบรอบ 14 ตุลาเมื่อปี 2546 นั้น เหตุการณ์นี้ได้รับการสถาปนาโดยมติคณะรัฐมนตรี ประกาศยกย่องให้เป็น "วันประชาธิปไตย"ทั้งมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย และยังมีอนุสรณ์สถานที่สี่แยกคอกวัวบนถนนราชดำเนินเป็นของตนเอง ซึ่งน่าจะทำให้รายงานและกิจกรรมต่างๆ พรั่งพรูเป็นฐานข้อมูลใน WWW นับแต่นั้นมา แต่กลับเป็นว่าเรื่องของ 6 ตุลา กลับมีมากกว่าเรื่องของ 14 ตุลา ถึง 2.23 ล้านรายการ และมากกว่าเรื่องของพฤษภา 35 ถึง 4.84 ล้านรายการ ดังนั้น อาจตั้งเป็นข้อสังเกตเบื้องต้นได้ว่า สังคมไทยให้ความใส่ใจต่อเรื่องของ 6 ตุลา เป็นอย่างยิ่ง ในแง่นี้ น่าจะแสดงให้เห็นว่า 6 ตุลา มีอนาคตในสถานะทางประวัติศาสตร์สังคมไทยอย่างแน่นอน

3. ความรู้เรื่อง 6 ตุลาของสังคมจากข้อมูลการสัมภาษณ์

        วัตถุประสงค์ของการเก็บข้อมูลสัมภาษณ์ 3 เหตุการณ์นี้ ก็เพื่อที่จะได้ทราบว่า 1) ใน 3 เหตุการณ์นี้ เหตุการณ์ใดเป็นที่รับรู้มากกว่ากัน และ 2) ผู้ถูกสัมภาษณ์ได้ให้คำอธิบายหรือให้ความหมายของแต่ละเหตุการณ์ว่าอย่างไร โดยส่วนใหญ่จะให้ทีมงานจัดเก็บข้อมูลทำการสอบถามผู้ถูกสัมภาษณ์ แล้วจดตามคำบอก เพราะไม่ประสงค์ที่จะให้ผู้ถูกสัมภาษณ์รู้สึกว่าตนกำลังทำข้อสอบอัตนัย (ที่มีความกดดันสูง) ทั้งจะทำให้ผู้ตอบคำถามมีเวลาที่จะคิดค้นภาษาและพรรณนาความมากเกินไป รวมทั้งให้ทีมงานแจ้งให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ว่าสามารถตอบว่า "ไม่รู้" ได้ เพราะ "ไม่รู้" ก็คือคำตอบเช่นกัน หลังจากได้แบบสอบถามมาแล้ว ผมในฐานะผู้ศึกษาจะนำข้อมูลมาให้คะแนนในแบบอาจารย์ผู้จัดสอบ โดยจัดออกเป็น 4 ระดับ คือ ระดับ 1 = ไม่รู้, ระดับ 2 = รู้บ้าง, ระดับ 3 = รู้ดี, ระดับ 4 = รู้ดีที่สุด

ผลการประมวลข้อมูลสัมภาษณ์ รวมทั้งสิ้น 136 คน มีดังนี้

3.1 นักศึกษาปริญญาตรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 33 คน (100%)


       เหตุการณ์ 6 ตุลา และพฤษภา 35 มีจำนวนระดับไม่รู้เท่ากัน คือ 45.45% โดย 14 ตุลา มีระดับความรู้ดีที่สุด คิดเป็น 27.27% ส่วนเรื่องของ 6 ตุลา มีระดับความรู้ดีที่สุดน้อยที่สุด คือ 12.12%

       น่าจะตั้งข้อสรุปเบื้องต้นได้ว่า นักศึกษาปริญญาตรี มธ. รับรู้เรื่องของ 14 ตุลา เป็นอันดับที่ 1 ถัดมาเป็นเรื่องของพฤษภา 35 โดยมีเรื่องของ 6 ตุลา เป็นอันดับท้ายสุด

3.2 นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 21 คน


         เหตุการณ์ 6 ตุลา มีจำนวนระดับไม่รู้สูงสุด คือ 52.38% โดยพฤษภา 35 มีระดับความรู้ดีที่สุด คิดเป็น 57.14% ส่วนเรื่องของ 6 ตุลา มีระดับความรู้ดีที่สุดน้อยที่สุด คือ 28.57%

         น่าจะตั้งข้อสรุปเบื้องต้นได้ว่า นักศึกษาปริญญาโท มธ. รับรู้เรื่องของพฤษภา 35 เป็นอันดับที่ 1 ถัดมาเป็นเรื่องของ 14 ตุลา โดยมีเรื่องของ 6 ตุลา เป็นอันดับท้ายสุด

3.3 นักศึกษาปริญญาตรี มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ 10 คน


        เหตุการณ์ 6 ตุลา มีจำนวนระดับไม่รู้สูงสุด คือ 40% โดยพฤษภา 35 มีระดับความรู้ดีที่สุด คิดเป็น 50% ส่วนเรื่องของ 6 ตุลา มีระดับความรู้ดีที่สุดน้อยที่สุด คือ 20.00%

        น่าจะตั้งข้อสรุปเบื้องต้นได้ว่า นักศึกษาปริญญาตรี ม.ศิลปากร รับรู้เรื่องของพฤษภา 35 เป็นอันดับที่ 1 ถัดมาเป็นเรื่องของ 14 ตุลา (ที่จริงก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเรื่องของพฤษภา 35 อย่างมาก) โดยมีเรื่องของ 6 ตุลา เป็นอันดับท้ายสุด

3.4 นักศึกษาปริญญาตรี มหาวิทยาลัยรังสิต 33 คน


         เหตุการณ์ 6 ตุลา มีจำนวนระดับไม่รู้มากที่สุด คือ 81.81% โดย 14 ตุลา มีระดับความรู้ดีที่สุด คิดเป็น 60.60% ส่วนเรื่องของ 6 ตุลา มีระดับความรู้ดีที่สุดน้อยที่สุด คือ 9.09%

      น่าจะตั้งข้อสรุปเบื้องต้นได้ว่า นักศึกษาปริญญาตรี ม.รังสิต รับรู้เรื่องของ 14 ตุลา เป็นอันดับที่ 1 ถัดมาเป็นเรื่องของพฤษภา 35 โดยมีเรื่องของ 6 ตุลา เป็นอันดับท้ายสุด

3.5 บุคคลต่างๆ ที่ทำงานใน หรือเดินผ่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 19 คน


        เหตุการณ์ 6 ตุลา มีจำนวนระดับไม่รู้มากที่สุด คือ 36.84% โดยเรื่องของ 14 ตุลา และ 6 ตุลา มีระดับความรู้ดีที่สุดเท่ากัน คิดเป็น 47.36% ส่วนเรื่องของพฤษภา 35 มีระดับความรู้ดีที่สุดน้อยที่สุด คือ 36.84%

        น่าจะตั้งข้อสรุปเบื้องต้นได้ว่า สำหรับบุคคลกลุ่มนี้ รับรู้เรื่องของ 14 ตุลา เป็นอันดับที่ 1 ถัดมาเป็นเรื่องของพฤษภา 35 โดยมีเรื่องของ 6 ตุลา เป็นอันดับท้ายสุด (เมื่อรวมจำนวนช้องที่ 2-3-4)

3.6 บุคคลทั่วไป 20 คน

        เหตุการณ์ 6 ตุลา มีจำนวนระดับไม่รู้มากที่สุด คือ 75% โดย 14 ตุลา มีระดับความรู้ดีที่สุด คิดเป็น 20% ส่วนเรื่องของ 6 ตุลา มีระดับความรู้ดีที่สุดน้อยที่สุด คือ 10%

น่าจะตั้งข้อสรุปเบื้องต้นได้ว่า บุคคลทั่วไปรับรู้เรื่องของ 14 ตุลา เป็นอันดับที่ 1 ถัดมาเป็นเรื่องของพฤษภา 35 โดยมีเรื่องของ 6 ตุลา เป็นอันดับท้ายสุด

4. อนาคตของ 6 ตุลา 2519

        การประมวลผลข้อมูลสัมภาษณ์ ได้แสดงทิศทางตรงกันข้ามกับการประมวลผลข้อมูลจากโลก WWW ที่ใช้ Google เป็นเครื่องมือ ซึ่งอาจแปลความได้ว่า การมีปริมาณรายการใน WWW มากที่สุดของเรื่อง 6 ตุลา นั้น อาจเพราะ "คนกลุ่ม 6 ตุลา" ได้ดำเนินการค้นคว้า สืบค้น เขียน และเผยแพร่ข้อมูลของเหตุการณ์นี้เอง มากกว่าที่จะมี "คนนอก" กลุ่ม 6 ตุลาเข้ามาร่วมเขียนหรือค้นคว้า

       ดังนั้น ช่องทางที่จะรับรู้เรื่องของ 6 ตุลา ในสภาพปัจจุบันนั้นกล่าวได้ว่า"เปิดกว้าง" แต่ความรู้หรือความใส่ใจในเรื่องของ 6 ตุลา ที่มีระดับต่ำสุด ทั้งในลำดับที่และจากปริมาณความไม่รู้ในการประมวลผลสัมภาษณ์ ย่อมชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สถานะทางประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ในสังคมไทย ยังต้องการทำงานในทิศทางการ "ส่ง" "สาระ" 6 ตุลา เข้าสู่กลุ่ม "เป้าหมาย" ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เหมือนเช่นเรื่องของ 14 ตุลาที่สามารถเข้าสู่โรงเรียนมัธยมทั้งในแบบเรียนและกิจกรรมด้านประชาธิปไตย หรือได้รับการตอกย้ำและวิเคราะห์ในระดับมหาวิทยาลัย เช่นในรายวิชาการเมืองการปกครองไทย วิวัฒนาการทางการเมืองไทย ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ฯลฯ หรือการอบรมครูอาจารย์นิสิตนักศึกษาเรื่องระบอบประชาธิปไตยไทย ฯลฯ มากกว่าที่จะพอใจว่า "คนกลุ่ม 6 ตุลา" ได้ทำอะไรไปมากแล้ว เพียงแต่หวังรอคอยว่าจะมี "ใคร" หรือคนรุ่นต่อไปเดินเข้ามาค้นหาความจริงบ้าง ซึ่งในแนวทางดังกล่าวนี้ ชะตากรรมของประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ก็อาจจะถูกทำให้หลงลืมไปอีกนานหลายทศวรรษ (หลังจากที่ต้องใช้เวลากว่า 2 ทศวรรษหลังเหตุการณ์บากบั่นสร้างสถานะทางประวัติศาสตร์) อาจเหมือนเช่นชะตากรรมของคณะราษฎรและการปฏิวัติ 2475 หรือยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้บริบทความรุนแรงในสังคมไทยที่ปรากฏขึ้นทุกระดับ ทั้งความรุนแรงโดยรัฐ ความรุนแรงโดยกลุ่มเชื้อชาติและศาสนา ความรุนแรงโดย "ม็อบประชาชน" 6 ตุลาก็อาจไม่ได้ถูกพิจารณาว่าเป็น "บทเรียน" ที่ทรงคุณค่าของสังคมไทย หรืออาจไม่ดึงความสนใจจากคนไทยได้อีกต่อไป นอกเหนือจากความพยายาม "แกล้งลืม" ของสังคมและชนชั้นนำแล้วก็ตาม และครานั้น 6 ตุลาก็อาจจะค่อยๆ ถูกทำให้ลืมเลือนหรือลดความสำคัญลงไปตลอดกาล



ข้อมูลสัมภาษณ์เกี่ยวกับ 3 เหตุการณ์
(14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519, พฤษภา 2535)
หมายเหตุ:
1. การระบุอายุ ชั้นปี และคณะของนักศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทของทั้ง 3 มหาวิทยาลัยนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะได้ใช้เป็นฐานข้อมูลในการวิเคราะห์ถึงลักษณะทั่วไปและลักษณะเฉพาะของความรู้และการรับรู้ของ 3 เหตุการณ์โดยเปรียบเทียบเป็นสำคัญ หามีเจตนาอื่นใดทั้งสิ้น

2. ข้อมูลสัมภาษณ์นักศึกษาปริญญาตรีและโทของ มธ. ท่าพระจันทร์(ไม่มีการเก็บข้อมูลจากนักศึกษา มธ. ศูนย์รังสิต) และ ม.ศิลปากร และบุคคลทั่วไปที่ทำงานหรือเดินผ่าน มธ. ท่าพระจันทร์ เป็นความช่วยเหลืออย่างแข็งขันของนักศึกษาปี 1 โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มธ. ได้แก่ นายอลงกรณ์ ผิวขำ นายวรกร นิปกากร นายมัธธาณะ รอดยิ้ม นายวิทวัช เนตรแสนสัก นายขจรศักดิ์ สิริพัฒนกรชัย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นาย ณ พงศ์ มาลิหอม

3. ข้อมูลสัมภาษณ์นักศึกษาปริญญาตรี ม.รังสิต และบุคคลทั่วไป เป็นความช่วยเหลือของนักศึกษาจากหลากคณะที่มาลงเรียนวิชา SOC113 การเมืองการปกครองไทย ของภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ภาค 1/2551 ที่สอนโดยผู้เขียน จำนวน 90 คน ซึ่งทำให้มีข้อมูลสัมภาษณ์นักศึกษา ม.รังสิต และบุคคลทั่วไป ประเภทละ 900 ตัวอย่าง ในที่นี้นำเสนอบางส่วนแบบสุ่มตัวอย่าง

4. การเก็บข้อมูลสัมภาษณ์ในสถาบันการศึกษาทั้ง 3 แห่งนี้ วางอยู่บนพื้นฐานความเป็นไปได้ภายใต้ระยะเวลาอันจำกัดของผู้เขียน และกำลังความช่วยเหลืออย่างเต็มใจของนักศึกษา เพื่อสร้างเค้าโครงความรับรู้ต่อ 3 เหตุการณ์อย่างคร่าวๆ อันที่จริงหากสามารถจัดเก็บข้อมูลสัมภาษณ์จากทุกสถาบันระดับอุดมศึกษา ทั้งนักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ น่าจะเป็นฐานข้อมูลของการประเมินสถานะทางประวัติศาสตร์ของ 3 เหตุการณ์ในสังคมการเมืองไทยได้ อันจะช่วยให้เกิดการวางแผนและกระตุ้นเพื่อพัฒนาการศึกษาด้านสังคมประชาธิปไตยในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ต่อไป
ผศ. ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
http://redusala.blogspot.com


ประวัติศาสตร์อันตรายความขัดแย้งและความหวัง
 
ประวัติศาสตร์อันตรายความขัดแย้งและความหวัง
         นายธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา และสถาบันวิจัยเอเชีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ปาฐกถา “ประวัติศาสตร์อันตรายในอุษาคเนย์” ในการประชุมวิชาการ “อาเซียน : ประชาคมในมิติวัฒนธรรม ความขัดแย้งและความหวัง” ที่จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ประวัติศาสตร์เป็นความรู้ที่ทำให้คิดเป็นและรู้ว่าเราเป็นอิสระอย่างไร

       เคยคิดไหมว่ามีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอันหนึ่งที่เราจะอธิบายอย่างไรดี ประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่น่าเบื่อวิชาหนึ่ง เวลาสอบก็สุมหัว เร่งท่องจำ เพื่อสอบให้มันผ่านๆไป เป็นวิชาที่ไม่ได้สำคัญเท่าไร แต่ครั้นพอโตขึ้นเวลามีความขัดแย้งเรื่องประวัติศาสตร์จะเป็นจะตายกันให้ได้ เวลาขัดแย้งเรื่องเขาพระวิหารทุกคนเป็นผู้รู้ดีกันหมดเลย ใครที่ชอบประวัติศาสตร์เป็นคนที่แปลกมาก
คนที่ตีความประวัติศาสตร์ต่างไปจากที่เคย เราจะเป็นเดือดเป็นแค้นได้ คือเป็นความรู้ที่เราไม่ต้องรู้ดีแต่สามารถอวดรู้ได้ ใครๆก็สามารถบอกตัวเองว่ารู้ประวัติศาสตร์ เป็นความรู้ที่สามารถเข้าถึง เป็นเดือดเป็นแค้น โดยไม่ต้องมีความรู้อะไรเลย พอเอาเข้าจริงประวัติศาสตร์ที่เราพูดถึงกันไม่ใช่เรื่องความรู้ แต่เป็นเรื่องความเชื่อ ความสามารถที่จะเข้าใจลักษณะทางจิตวิญญาณได้อย่างกว้างๆ ปรกติไม่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อไรที่มีคนแย้งหรือท้าทายขึ้นมาเราจะรู้สึกถูกลบหลู่ เป็นเดือดเป็นแค้น


            ความรู้นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ประกอบเป็นอัตลักษณ์ เป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา บ่อยครั้งเราเรียกอันนี้ว่าเป็นความรู้ทางประวัติศาสตร์ แต่เอาเข้าจริง 2 อย่างนี้เป็นประวัติศาสตร์คนละชนิด ไม่รู้ว่า 2 อย่างนี้แตกต่างกันขนาดไหน แต่เราเรียก 2 อย่างนี้ว่าประวัติศาสตร์เหมือนกัน โดยด้านหนึ่งประวัติศาสตร์คืออัตลักษณ์ของเรา อีกด้านหนึ่งคือความสามารถในการคิดวิเคราะห์ บ่อยครั้ง 2 อย่างนี้ปะปนกัน


            อย่างหนึ่งเป็นความเชื่อที่เป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ ชีวิต วัฒนธรรม ขาดไม่ได้ ซึ่งเราเน้นว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจ เป็นตัวของตัวเอง เห็นด้านที่เป็นคุณมาก แต่เราลืมพูดถึงด้านที่เป็นอันตรายของประวัติศาสตร์ชนิดนี้ คือเมื่อไรที่ถูกกระทบ ถูกท้าทาย เราจะรู้สึกเดือดร้อน เคียดแค้น เพราะเราขาดมันไม่ได้


             อีกอย่างหนึ่งเป็นเครื่องมือทางปัญญาในการคิดและวิเคราะห์ อยากจะเรียนว่ายิ่งยึดเอาประวัติศาสตร์ในการคิดวิเคราะห์มากขึ้นเท่าไรจะทำให้กลายเป็นคนเชื่ออะไรยากขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นว่า 2 อย่างนี้ต่างกัน อย่างหนึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่เป็นอุดมการณ์ทางสังคมการเมือง อีกอย่างหนึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ


              ประวัติศาสตร์ที่เป็นความเชื่อส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของเราโดยไม่ใช่ด้วยรายละเอียด แต่ด้วยโครงเรื่อง เช่น แม้เราไม่รู้ประวัติศาสตร์ไทยมากนัก แต่เรารู้ว่าเวลาสังคมไทยเกิดปัญหามักมีวีรบุรุษ วีรสตรีมากอบกู้ และสามารถทำให้เราเดินหน้าได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น แต่จริงหรือเปล่าไม่รู้ รู้แต่ว่าโครงเรื่องทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างนั้น


ประวัติศาสตร์นี้ไม่ได้อยู่ด้วยรายละเอียดของเหตุการณ์หนึ่งๆ แต่อยู่ด้วยโครงเรื่อง อยู่ด้วยสาระเรื่องเล่าที่เล่าซ้ำๆกัน เช่น เรารู้ว่ามีชาวบ้านบางระจันเมื่อไร ที่ไหน เราไม่รู้ แต่เรารู้ว่าประวัติศาสตร์สอดคล้องกับโครงเรื่องหลักๆ


               เหตุการณ์ 6 ตุลา 14 ตุลา เป็นอะไรไม่รู้ แต่เราเรียก 16 ตุลาก็ได้ เพราะสุดท้ายโครงเรื่อง match กัน รายละเอียดคือการตอกย้ำโครงเรื่องซึ่งเหมือนๆกันให้เป็นอย่างที่เรารู้ เชื่ออย่างที่มันเป็น ตอกย้ำที่เป็นมาตรฐานความเชื่อจำนวนหนึ่ง ในแง่นี้สำหรับประวัติศาสตร์อย่างนี้เราจึงไม่จำเป็นต้องรู้รายละเอียด ไม่จำเป็นต้องรู้อย่างวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ต้องรู้ใจความสำคัญก็ได้ ขอให้จับสาระที่เป็นจิตวิญญาณของสังคมหรือชาตินั้นๆได้ ขอให้เรามั่นใจได้ว่ารายละเอียดนั้นตอกย้ำโครงเรื่องซ้ำๆซากๆที่เป็นสปิริตของสังคมนั้นก็พอ


              ส่วนประวัติศาสตร์ที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์จะทำให้เราไม่เชื่ออะไรง่ายๆ หรือไม่เชื่ออะไรเลย เคยตั้งข้อสังเกตว่าคนสอนประวัติศาสตร์ไทยในที่หนึ่งๆจะมีนักประวัติศาสตร์ที่สังกัดชนิดแรกเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเพื่อนร่วมงานที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินนั้นไม่ว่าจะแนวอนุรักษ์นิยมหรือเสรีนิยมล้วนแต่เป็น skeptic กันทั้งนั้น ทำให้คิดว่าทั้ง 2 อย่างสมาทานประวัติศาสตร์ในแง่ที่เป็นความรู้คนละชนิดกัน


            ขออ้างถึงงานของนักเขียนชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งที่เขียนบทความคลาสสิก What is the Nation? เมื่อปี 1882 กล่าวว่า “มีของ 2 สิ่ง ซึ่งประกอบเข้าเป็นหลักการหรือเป็นจิตวิญญาณของชาติหนึ่งๆ อันหนึ่งคือการที่เป็นเจ้าของมรดกอันร่ำรวยกับสังคมนั้น อันที่ 2 คือความเห็นร่วมกันในปัจจุบัน” โดยมีการขยายความว่า “การลืมนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญมากสำหรับการก่อร่างสร้างชาติขึ้นมา การหลงลืมเป็นความจำเป็นเพราะว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ยิ่งคืบหน้าไปมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นอันตรายต่อหลัก soul และ spirit ของชนชาตินั้น”


ความเชื่อ-อัตลักษณ์


           ประวัติศาสตร์ความเชื่อ-อัตลักษณ์ โดยปรกติเป็นชีวประวัติของสังคมหรือชาติหนึ่ง มักจะมีสาระสำคัญอยู่ 2-3 อย่างเท่านั้นคือ อย่างที่หนึ่ง บอกเล่าความยิ่งใหญ่ของตัวเอง ถือเอาตัวเองเป็นใหญ่และถูกเสมอ อย่างที่สอง บอกเล่าเรื่องราวการถูกรังแก ความเจ็บปวด และการเอาตัวรอดมาได้ และอย่างที่สาม ปกปิดเรื่องราวเลวๆ อัปยศ คือตัวเองเคยทำกับคนอื่นเอาไว้ แทบทุกประเทศในอาเซียนมีเรื่องราวทำนองนี้ และแตกต่างกันในรายละเอียด


           อย่างแรกเป็นประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวขยายอำนาจเมื่อไร เป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่เมื่อไร จริงๆการขยายอำนาจหมายถึงการทำให้คนอื่นเจ็บปวด เช่น การตีเอาปัตตานีมาเป็นของตัวเอง เป็นความยิ่งใหญ่ที่เราเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก เราลืมไปว่ามันเป็นความเจ็บปวดของคนอื่น


         ส่วนเรื่องราวที่ถูกรังแก ถูกกระทำย่ำยี อับอายจากผู้อื่น เช่น ประวัติศาสตร์การเสียดินแดน ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ หรือเป็นมายาคติหรือไม่ แต่มันเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของเรา คือต้องให้รู้ว่าเราถูกรังแกในสมัยก่อน ส่วนประวัติศาสตร์ที่เป็นเรื่องอัปยศ เช่น เรื่อง 6 ตุลา ไม่สามารถพูดได้ เพราะถ้าพูดขึ้นมาก็เป็นเรื่องขายขี้หน้ากันทุกฝ่ายอย่างมโหฬาร


ประเทศในกลุ่มอาเซียนเรามีประวัติศาสตร์ทั้ง 3 ชนิด อย่างลาว เขมร ก็บอกว่าเขาเสียดินแดน ทุกคนบอกว่าตัวเองเสียดินแดน ตามหลักฟิสิกส์คืออะไรที่หายไปก็ต้องไปอยู่อีกที่ แต่กลายเป็นว่าดินแดนเป็นสิ่งหนึ่งที่เสียไปแล้วหายไปเลย ทุกคนบอกตัวเองเสียหมด และเน้นการถูกรังแก เช่น การตกเป็นอาณานิคม


ประเทศในอาเซียนมีประวัติศาสตร์ที่เน้นเรื่องยิ่งใหญ่และเจ็บปวดไม่ต่างกัน หากเราเอาประวัติศาสตร์ของทุกประเทศมาเรียงกันจะพบว่าประวัติศาสตร์ของประเทศเหล่านั้นปะทะกัน ขัดแย้งกัน ฉะนั้นทางที่คือต่างคนต่างอยู่ ในขณะที่อาเซียนเน้นอะไรร่วมกัน แม้จะบอกว่าเราสามารถเรียนรู้จากกันได้ เรามีด้านที่น่ารัก แต่คิดว่ามีบางส่วนที่สำคัญ อาจจะพอๆกับอธิปไตยเหนือดินแดน เรื่องอธิปไตยของประวัติศาสตร์ก็คือต่างคนต่างอยู่


         หากเอาประวัติศาสตร์มาแชร์กัน มาทำให้ลงรอยกัน มีหวังได้ทะเลาะกัน เราไม่สามารถสูญเสียอธิปไตยทางประวัติศาสตร์ได้แม้แต่ตารางนิ้วเดียว ย้อนกลับไปเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมาไทยกับพม่าก็ทะเลาะเรื่องนี้ เช่นเดียวกันเรื่องประวัติศาสตร์ไม่มีใครถอยให้แก่ใครแม้แต่ก้าวเดียว


อันตรายเพราะอยู่บนความเชื่อ


          ในประเทศต่างๆมีประวัติศาสตร์ที่ตัวเองต้องปกปิดความอัปยศของตัวเองเอาไว้ เพราะถ้ารื้อขึ้นมาจะเป็นบาดแผลที่เจ็บปวดและยังเน่าเฟะอยู่ เช่น อินโดนีเซียในปี 1965 มาเลเซียปี 1969 ในเวียดนามมีการปราบปรามชนกลุ่มน้อยทางด้านศาสนาชาติพันธุ์ ส่วนไทยมีเดือนตุลาทั้งหลาย และกำลังจะเพิ่มพฤษภาอีก 2 รายการ


          ประวัติศาสตร์แบบนี้อันตราย เพราะอยู่บนความเชื่อ อยู่บนความแข็งแกร่งยาวนานที่ไม่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ แต่จะถูกท้าทายจากประวัติศาสตร์ที่วิพากษ์วิจารณ์ตลอดเวลา เรามักคิดว่าประวัติศาสตร์ที่วิพากษ์วิจารณ์แบบนั้นเป็นอันตราย อย่างที่เรนัลด์บอก ยิ่งการศึกษาประวัติศาสตร์ก้าวหน้ามากเท่าไร การศึกษาแบบวิพากษ์วิจารณ์ยิ่งเป็นอันตรายต่อความเชื่อที่เป็นจิตวิญญาณของชาติ


          เมื่อเราคิดกลับกันจะเห็นว่าประวัติศาสตร์แบบแรกต่างหากที่เป็นอันตรายยิ่งกว่า เพราะจะดำรงอยู่ได้ต่อเมื่อต้องให้คนในชาตินั้นๆมีความเชื่อทำนองหนึ่งไปเรื่อยๆ เมื่อถูกสั่นคลอนด้วยเหตุด้วยผล หลักฐาน ประวัติศาสตร์แบบแรกจะเกิดความสั่นคลอนในอัตลักษณ์ของตัวเองทันที


            ประวัติศาสตร์ก็เหมือนความเชื่อศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสังคมที่ความเชื่อที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่อันตราย เพราะไม่มีความรู้ว่าความเชื่ออันไหนที่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างถาวร
ประเทศในอาเซียนมีประวัติศาสตร์แบบที่เป็นความเชื่อ ประกอบกับเป็นอัตลักษณ์ค่อนข้างมาก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย อันนี้ต่างหากถือว่าเป็นอันตราย วันนี้ ดร.สุรินทร์ (ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน) บอกว่าเราสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ แต่ผมอยากให้เห็นถึงข้อจำกัดเชิงประวัติศาสตร์ พอพูดถึงเรื่องประวัติศาสตร์เราหยุด ปิดประตู และตั้งด่านทันที ทำให้เราต้องเก็บประวัติศาสตร์ไว้หลังๆ ในบรรดาอาชีพที่อนุญาตให้ข้ามไปข้ามมาได้ คือไม่ใช่แค่ภาษาดอกไม้ ภาษาหรูๆเท่านั้นที่เราพูดว่าเรียนรู้ร่วมกันได้ แต่อยากให้ตระหนักถึงข้อจำกัดต่างๆเหล่านี้ และเราต้องข้ามพ้นให้ได้ ไม่เช่นนั้นประชาคมอาเซียนก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้


            แต่ไม่ใช่ว่าให้ทุกประเทศมีประวัติศาสตร์เหมือนกัน หรือต้องลืมประวัติศาสตร์ตัวเอง ผมคิดว่าเราต้องจัดการปัญหาประวัติศาสตร์แห่งชาติ เราอาจจะกล่าวว่ายุโรปก็มีปัญหาเหล่านี้เขายังอยู่กันได้ แต่จริงๆยุโรปก้าวข้ามวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ที่ถือเอาประวัติศาสตร์เป็นอัตลักษณ์ของตัวเองอย่างยึดมั่นไปสู่ประวัติศาสตร์ในฐานะเครื่องมือสร้างความรู้ความเข้าใจปัจจุบันอย่างวิพากษ์วิจารณ์


วัฒนธรรมและอดีต


         คิดว่าทุกวันนี้ประวัติศาสตร์มี 2 ชนิด มีการเรียนรู้คนละอย่างคือ culture of history คือวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ หมายความว่าเราจะมีชีวิตร่วมกับหรืออยู่กับอดีตอย่างไร ใช้อดีตอย่างไร มีระยะห่างอย่างไร มี critical distance หรือ detachment เราจะถืออดีตเป็น “ประเทศอื่น” ประเทศหนึ่งได้แค่ไหน การมีชีวิตอยู่ประจำวัน ประวัติศาสตร์จะเป็นส่วนหนึ่งอย่างไรในชีวิตของเราปัจจุบัน


          การที่ชาติต่างๆถือเอาประวัติศาสตร์เป็นปริมณฑลที่ละเมิดไม่ได้ ที่อาจารย์สุรินทร์กล่าวถึงกรณีไทยกับกัมพูชาขัดแย้งกัน หากเราไม่ย้อนกลับไปยุคก่อนอาณานิคมต้องถือว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ผ่านไปแล้ว เราจะมีท่าทีอย่างไรกับสิ่งที่ผ่านไปแล้วที่เป็นมรดกส่วนหนึ่งของปัจจุบันด้วย เรามีมรดกของพ่อแม่ แต่เรายังสามารถมีท่าทีต่อมรดกเหล่านั้นได้ ไม่ได้บอกว่าต้องเดินตามรอยของพ่อแม่ทั้งหมด สิ่งที่เสนอต่อไปนี้อาจดูเป็นอุดมคติและ living aspiration คือเป็นความปรารถนาที่มีชีวิต


          1.เรายอมรับได้ไหมว่าความรู้ประวัติศาสตร์ไม่มีวันจบสิ้น คำถามใหม่ๆทางประวัติศาสตร์มีตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ท้าทายได้ เปลี่ยนได้ ไม่มีปริมณฑลที่ห้ามละเมิด ในโลกที่มีวุฒิภาวะทางวัฒนธรรม ทางประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ไม่มีคำตอบตายตัว ไม่ว่าจะในระดับรายละเอียดหรือโครงเรื่อง หรือในระดับจิตวิญญาณของชาตินั้นๆ สามารถถูกท้าทายได้ตลอดเวลา เราจะยอมรับประวัติศาสตร์แบบนั้นได้หรือไม่ หากรับไม่ได้ประวัติศาสตร์จะยังอันตรายอยู่ แต่ถ้ายอมรับได้ก็เป็นการถอดชนวน เอาประวัติศาสตร์ไว้ศึกษา แต่ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น ไม่จำเป็นต้องถือว่าตัวเองถูกเสมอ มี detachment คือระยะห่างที่เป็นตัวของเราในปัจจุบัน


         2.ต้องใช้ชื่อหนังสือเล่มหนึ่งของ Prasenjit Duara คือ Rescuing History from the Nation “เราจะกอบกู้ประวัติศาสตร์จากชาติได้หรือยัง” ให้ประวัติศาสตร์คือเรื่องอดีต ไม่ได้ผูกพันกับชาติ ชาติไม่ได้เป็นเจ้าของประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นไม่ว่าอดีตเป็นอะไรก็สามารถเถียงกันได้ วิจารณ์ได้ วัฒนธรรมข้อ 2 ที่ผมคิดว่าควรส่งเสริมคือ ทำให้ประวัติศาสตร์เป็นประวัติศาสตร์ มีระยะห่างและเป็นอิสระจากชาติ แน่นอนว่ามีผลต่อความเป็นชาติ ตามที่เคยเรียนรู้มาในฐานะความรู้ชุดหนึ่งไม่ได้หมายความว่าเราต้องเดินตามมันอย่างที่เคยเป็นมา เราสามารถใช้วิจารณญาณเข้าไปตัดสินได้


           3.ประวัติศาสตร์เป็นความรู้ที่ทำให้เราคิดเป็น ปรับตัวได้ เรารู้ว่าปัจจุบันเป็นผลของอดีต อย่างไรก็ตาม เราเป็นอิสระ ไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีมรดก แต่ในความหมายที่ว่าเรามีระยะห่างไม่จำเป็นต้องเป็นตายร้ายดีไปกับประวัติศาสตร์ของชาติ ประวัติศาสตร์มีไว้คิด ไม่ได้มีไว้ให้ใช้ ไม่ได้มีไว้ให้เกิดความภูมิใจ ฉะนั้นต้องส่งเสริมให้ประวัติศาสตร์ที่คนรู้จักคิด และใช้ในการคิดอย่างเป็นตัวของตัวเอง


          4.ต้องอนุญาตให้ประวัติศาสตร์ทุกอย่างแบกันบนโต๊ะให้หมด รวมทั้งประวัติศาสตร์ที่ท้าทาย ประวัติศาสตร์ที่แย้ง เพราะการถูกท้าทายในโลกที่มีคนหลากหลาย เหตุการณ์หนึ่งมีคนสูญเสีย มีคนได้ มีคนเสียใจก็มีคนดีใจ เช่น เราจะไปกักเก็บประวัติศาสตร์เรื่องเดือนตุลาคม พฤษภาคม หรือเรื่องปัตตานีไว้ทำไม ต้องอนุญาตให้เขาแบออกมา ถ้าเราเก็บกดเอาไว้จะยิ่งทำให้ลึกลับซับซ้อน ทำให้ประวัติศาสตร์เหล่านั้นมีพลังจนเกินเหตุ ต้องแบออกมาและถกเถียงกันโดยต้องมีระยะห่าง และทำให้อยู่ในที่เปิดเผย


         เราจะไม่มีวันเห็นอะไรลอย  ๆร่วมกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมนุษย์เป็นอย่างนั้น ถ้าเราทำให้ประวัติศาสตร์แบออกมาได้ซึ่งมาจากหลายทิศทางและผลประโยชน์ฟังไว้ จะให้เราไปรบ ไปโกรธ ไปแค้นกับเขา ไม่


ไม่โกรธแค้น-ดีใจ


        เชื่อว่าในอนาคตสังคมจะเดินไปสู่สังคมที่รู้จักคิด มีวุฒิภาวะ และเปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ ในภาวะเช่นนี้อัตลักษณ์จะหลากหลายปนเปจนนับไม่ถ้วน และจะไม่ต้องการ single narrative อีกต่อไป อัตลักษณ์เหล่านั้นจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีหลายเรื่องราวประกอบกัน


สังคมที่มีวุฒิภาวะจะต้องให้ประวัติศาสตร์ที่มีเรื่องราวหลากหลายเหล่านั้นอยู่ด้วยกัน ใครจะภูมิใจ ดีใจ หรือเสียใจกับประวัติศาสตร์นั้นก็ให้เขายึดถืออย่างนั้นได้ ไม่ใช่ว่าพูดกันแต่ภาษาดอกไม้ ลดการทำสงครามระหว่างประเทศให้หมด และประเทศอาเซียนจะอยู่ร่วมกันอย่างมีไมตรีจิต ไม่ใช่เป็นประวัติศาสตร์ที่แบกันให้หมด จะรบกี่ครั้ง จะอัปยศแบบไหน กับพ่อแม่ใคร เมื่อปีไหน ก็แบออกมา ใครยังมีอายุความอยู่ก็จัดการตามกฎหมาย ใครที่หมดอายุความแล้วให้เป็นประวัติศาสตร์ไป เราก็มีระยะห่างกับมัน แม้กระทั่งลูกของผมก็ไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องตุลาแบบเดียวกับผม ไม่จำเป็น ยิ่งคนที่ไม่ได้ผูกพันทางสายเลือดยิ่งไม่จำเป็นใหญ่
เราจะอยู่ร่วมกันได้ในแง่เป็นประชาคม ต้องการประชากรที่ยินดีที่จะอยู่ร่วมกับคนที่มีประวัติศาสตร์ต่าง ๆ นานา ต้องเคารพเขาไม่ใช่ด้วยการละเลยในด้านอัปลักษณ์ ต้องเคารพเขาในด้านอัปลักษณ์ของเราและของเขาด้วย นั่นคือประวัติศาสตร์ที่ยอมรับความจริง
ในเงื่อนไขอย่างนี้เราจึงต้องการสังคมที่สามารถจะเปิดให้มีเสรีภาพ แบกันออกมาได้ ยิ่งแบออกมามีความหลากหลาย เรื่องเล่าหลากหลายในอดีตจะยิ่งลดความน่าอันตรายลงไป อันนี้จะตรงกันข้ามกับที่สังคมคิด ยิ่งมีความท้าทายจะยิ่งอันตราย ผมกลับคิดว่าเปิดออกมาโดยที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ สปิริตตรงนี้ยิ่งจะลดอันตรายลงไป


         ขอย้ำว่าไม่ใช่แค่พูดภาษาดอกไม้ แต่ตรงข้ามต้องปล่อยให้ประวัติศาสตร์เลวร้าย อัปยศแค่ไหนโผล่ออกมา โดยเราไม่เอาตัวเองเข้าไปโกรธแค้นหรือดีใจกับประวัติศาสตร์เหล่านั้น เรายินดีฟังอย่างมีวิจารณญาณ นี่ต่างหากที่หวังว่าจะสร้างประชากรให้มีคุณภาพ ประชาคมอาเซียนอยากจะมีความฝันอย่างไรก็แล้วแต่ ผมขอให้มีวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ชนิดใหม่


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 354 

วันที่  7 - 13 เมษายน พ.ศ. 2555 หน้า 4  
คอลัมน์ ข่าวไร้พรมแดน โดย ประชาไท prachathai3.info



http://redusala.blogspot.com

ศาลเก็บศพ

            อำนาจเก่าก๊กเล่าปี่เคลื่อนไหวกันคึกคักเหลือเกินระยะนี้ สอดประสานกับในสภาที่พรรคประชาธิปัตย์เล่นทุกเม็ด กระทั่งอ้างว่าทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ แอบไปเจรจากับพูโล (เอ๊ะ มันผิดตรงไหนหว่าที่พยายามจะเจรจาหาสันติภาพ หรืออยากให้ทักษิณอุ้มฆ่าอย่างเดียว)

           เริ่มตั้งแต่ป๋าเปรมออกมา “ปลุกพระ” ให้พระสยามเทวาธิราชสาปแช่งคนไม่ดี คนทรยศต่อชาติบ้านเมือง แล้วพรรณนาคุณสมบัติของคนดี 9 ประการ ซึ่งฟังไปฟังมาก็อย่างที่ อ.สุรพศ ทวีศักดิ์ โต้ว่า ป๋าเปรมไม่เคยพูดถึงคำว่า ประชาชน ประชาธิปไตย เสรีภาพ เสมอภาค มีแต่ “ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” “จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” “ซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ

           อันที่จริงอ่านดีๆ ป๋าเปรมก็พูดถึงประชาชนอยู่เหมือนกัน เช่น หาทางขจัดความยากจน ดำรงวัฒนธรรมไทย เป็นผู้ใหญ่ต้องดูแลเยาวชน แต่ล้วนเป็นทัศนะที่เห็นว่าประชาชนเป็นเด็กอมมือ หรือผู้ที่รอรับความช่วยเหลือ หรือผู้ที่ถูกมอมเมาได้โดยง่าย ซึ่งต้องอยู่ในความอนุบาลของ “คนดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

           นั่นคือความคิดของคนดีแบบอำมาตย์ ที่ไม่ยอมให้ประชาชนปกครองตนเอง เอาความดีไปผูกไว้กับอุดมการณ์ราชาชาตินิยมและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อย่างพระสยามเทวาธิราช ซึ่งอันที่จริงก็เพิ่งจะมีสมัยรัชกาลที่ 4 ก่อนหน้านั้น ประเทศอยู่มาได้ ไม่มีพระสยามเทวาธิราชก็ไม่ยักเป็นไร (พระสยามเทวาธิราชคือสัญลักษณ์ปลุกราชาชาตินิยม ต่อต้านจักรวรรดินิยมในยุคนั้น เพราะ ร.4 สร้างขึ้นหลังถูกอังกฤษบังคับให้ทำสนธิสัญญาบาวริง)

        นิยามคำว่าชาติของป๋าเปรม ผูกติดกับอุดมการณ์ราชาชาตินิยม อะไรคือ “ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” นี่เป็นวาทกรรมที่สวยงามแต่เลื่อนลอย บังคับให้เด็กท่องจำกันอยู่ได้ อะไรคือแผ่นดิน คนชั้นกลางระดับล่างอย่างผมมีที่ดินอยู่ 51 ตารางวา แท็กซี่ สามล้อ คนงาน บางคนอาจมีที่นาต่างจังหวัด แต่หลายคนไม่มีซักกระแบะมือ แล้วจะให้ตอบแทนบุญคุณใคร ใครเป็นเจ้าของที่ดินมากมายที่สุดในประเทศนี้ เจ้าสัวเจริญ เจ้าสัวซีพี เจ้าสัวกระทิงแดง ก็ตอบแทนกันไปสิ

         คำว่าชาติของป๋าเปรมเลื่อนลอย เพราะไม่มีประชาชนอยู่ในนั้น ชาติก็คือประชาชน 70 ล้านคนที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน คนทรยศชาติคือคนทรยศต่อผลประโยชน์ของประชาชน คนดีคือคนทีทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ ทำให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ ลืมตาอ้าปาก ใช้สิทธิใช้เสียงปกป้องผลประโยชน์ของตน

       ท่านน่าจะพูดให้ถูกว่าใครฉ้อฉลผลประโยชน์ประชาชนคือคนทรยศชาติ แต่ถ้าพูดในอีกแง่หนึ่ง คนที่อ้างตัวเป็นคนดีแต่ปิดกั้นประชาธิปไตยประชาชน ไม่ยอมให้ประชาชนปกครองตนเอง อยู่เบื้องหลังรัฐประหาร ปล้นอำนาจประชาชน ก็คือคนที่ยึดชาติไปผูกขาดเป็นของตนแต่ผู้เดียว


 ตุลาการภิวัฒน์ก้นร้อน


        สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งมีศาสตราจารย์วิธีพิเศษ ธีรยุทธ บุญมี เป็นผู้อำนวยการ จัดเสวนาใหญ่ “ประเทศไทยยุคเปลี่ยนผ่าน ประเทศไทยกับระบบศาล” แค่ดูรายชื่อผู้เข้าเสวนาก็ส่ายหน้าตั้งแต่แรก เพราะฝ่ายคัดค้านตุลาการภิวัฒน์ มีโภคิน พลกุล คนเดียว แถมไปในฐานะอดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด ที่เหลือนอกจาก อ.อมร จันทรสมบูรณ์ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ยังได้แก่ รสนา โตสิตระกูล, สุรพล นิติไกรพจน์ และพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต รมต.ยุติธรรมพรรคประชาธิปัตย์ ที่พูดให้สื่อเอามาพาดหัวข่าวว่า ถ้ายุบศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทยในระดับสากลจะล้มละลายโดยสิ้นเชิง

        ก็สมควรเป็นหัวข่าวเพราะนั่นคือเจตนาของผู้จัด และบรรดาประธานศาล นักวิชาการ ที่ไปร่วมงาน ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันคือคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยุบศาล หรือให้อำนาจประชาชนตรวจสอบศาล

      แหม จักรภพ เพ็ญแข พูดถูก นิติราษฎร์เป็นภัยคุกคามอำนาจเก่าอย่างร้ายแรง กระทั่งงานที่จัดในธรรมศาสตร์ก็ไม่ยักเชิญนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์ระบบศาลอย่างเฉียบคมที่สุด แค่เชิญวรเจตน์ หรือปิยบุตร เดินเลาะหลังคณะไป เท่านั้นเองนะครับศาสตราจารย์ธีรยุทธ


       นี่เชิญแต่ อ.สุรพล ซึ่งบอกว่าการทุจริตประพฤติมิชอบของฝ่ายบริหาร หวังพึ่งองค์กรรัฐสภาไม่ได้ ต้องหาองค์กรอิสระมาควบคุมตรวจสอบอำนาจ ต้องมีองค์กรศาลที่มีความเป็นอิสระคอยควบคุมการใช้อำนาจรัฐ จึงไม่ควรแตะต้องอำนาจตุลาการ ข้อเสนอให้ผู้แทนปวงชนมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้พิพากษา หรือมีส่วนร่วมควบคุม ฯลฯ ขัดต่อหลักนิติรัฐนิติธรรม

      ผมฟังแล้วงงนะครับ อาจารย์ หลักประชาธิปไตยคือการคานอำนาจ ตรวจสอบอำนาจ แต่ท่านพูดด้านเดียวคือให้อำนาจตุลาการมาตรวจสอบอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ แล้วใครจะตรวจสอบตุลาการ ท่านไม่พูดถึงเลย ท่านอ้างแต่ว่าตุลาการตรวจสอบพวกตัวเองอยู่แล้ว

       นอกจากนักวิชาการ นักการเมือง NGO ผู้ได้ประโยชน์จากตุลาการภิวัตน์ มาพูดปกป้องไม่ให้ยุบศาลหรือตรวจสอบศาล งานนี้ยังมีประธานศาลรัฐธรรมนูญกับประธานศาลปกครองสูงสุด มาพูดปกป้องตัวเอง ซึ่งก็ขำดีนะครับ ที่ท่านต้องมาเดินสาย defend ตัวเองยังกะนักการเมือง

     ประธานศาลปกครองสูงสุดมาออกตัว ซะจนผมหลงตัวเอง คิดเข้าข้างตัวเองว่าท่านคงอ่านบทความ “ยุบศาลปกครองซะดีมั้ย” ที่ผมเขียนไปเมื่อต้นเดือนที่แล้ว เพราะท่าน defend เรื่องพิจารณาล่าช้า แก้ต่างคดี 3G ที่ผมเอาคำกล่าว อ.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ มาตอกย้ำว่าทำให้รัฐเสียรายได้ค่าประมูลไป 3.9 หมื่นล้านบาท

       ท่านตัดพ้อว่ามีใครเคยอ่านคำวินิจฉัยโดยละเอียดหรือไม่ โห อ่านสิครับ อ.วรเจตน์วิจารณ์โดยละเอียด ท่านอ่านบ้างหรือเปล่า ท่านว่าอีกฝ่ายอ้างประโยชน์สาธารณะ แต่ศาลต้องทำตามกฎหมาย ประเด็นมันไม่ได้อยู่ตรงนั้น มันอยู่ตรงการตีความกฎหมาย ซึ่ง อ.วรเจตน์ชี้ว่าศาลไปติดอยู่กับแบบพิธีมากกว่าสารัตถะ ยังไงคลื่นนี้ก็ต้องนำไปประมูล 3G อยู่ดีไม่ต้องรอ กสทช.ก็ได้ อยู่ที่ศาลจะตีความให้เป็นประโยชน์สาธารณะหรือเปล่า

       แถมศาลยังบอกว่าระงับการประมูลแล้วไม่เป็นปัญหาต่อบริการสาธารณะ เพราะอาจจะเปิด 4G เลยก็ได้ อ้าว แล้วตอนนี้เห็นหรือยังละครับว่าเป็นปัญหาต่อบริการสาธารณะ แทนที่ประชาชนจะได้ใช้ 3G จากเอกชนที่ประมูลโดยตรง กลับต้องไปขอสัมปทานจาก ทศท.กสท.ทำให้ค่าบริการแพงกว่าที่ควรจะเป็น แถมคลื่นความถี่ก็แคบ ระบบล่มรายวัน

      นอกจากนั้นยังเกิดเรื่องอื้อฉาว ที่ กสท.เอาคลื่นความถี่ไปให้สัมปทานทรูอย่างมีพิรุธ ศาลปกครองรู้ตัวหรือเปล่าว่าเตะหมูเข้าปากใคร

        ที่จริง อ.วรเจตน์วิจารณ์ไว้มากกว่านี้ ถ้าท่านอ่านละเอียด อ.วรเจตน์ยังแย้งว่าที่ศาลปกครองเห็นว่า กสท.เป็นผู้เสียหายนั้นไม่ถูกต้อง เพราะพอ กสท.ไม่เสียหาย ประชาชนทั้งประเทศกลับกลายเป็นผู้เสียหาย


         ลงท้าย ประธานศาลปกครองก็ตีปี๊บว่าถูกขู่ฆ่า เหมือนจะบอกว่าเพราะท่านทำความดี ขัดผลประโยชน์คนเลว จึงถูกขู่ฆ่า ตรรกะนี้ใช้ไม่ได้นะครับ คนถูกขู่ฆ่าไม่ใช่คนทำดีเสมอไป คนที่ไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่ถูกขู่ฆ่าก็มีเยอะ กรรมการตัดสินฟุตบอลขัดสายตาแฟนๆ ก็ถูกขู่ฆ่าบ่อยไป เปล่า ผมไม่ได้ว่าท่านเป็นอย่างนั้น แต่ผมจะท้วงว่าท่านอย่าทำให้ผู้คนรู้สึกว่าเอามาใช้เรียกความเห็นใจ เพราะเป็นเรื่องต้องถกกันด้วยหลักการ ไม่ใช่เรื่องที่จะมาคร่ำครวญดราม่า ตัดสินใจตั้งแต่มารับตำแหน่งแล้วว่า ถ้าต้องตายก็ยอมตาย


 วินิจฉัยลวก?


        ประธานศาลรัฐธรรมนูญ คุณวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ มาแปลกเพราะตั้งแต่แรกก็บอกว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้คนที่มีคุณภาพเยี่ยม โดยเฉพาะตุลาการมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 3คน

        “บางท่านมาด้วยเหตุเพียงเพราะไม่ได้แจ้งสละสิทธิไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และไม่อยู่ในที่ประชุมใหญ่ ก็ได้รับการคัดเลือก ... ไม่มีใครอยากเป็นครับ”


         โห ผมนึกหน้าคุณชัช ชลวร อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ คุณบุญส่ง กุลบุปผา คุณนุรักษ์ มาประณีต 3 ตุลาการจากศาลฎีกา แล้วก็ขำ


         คุณวสันต์คุยว่าตัวเองได้รับความเชื่อมั่นว่า ไม่รับสตางค์ใคร ไม่รับจ้างใคร ทำงานตรงไปตรงมาไม่มีอคติ แถมฟุ้งว่าในยุคขวาพิฆาตซ้ายก็เคยยกฟ้องคดี 112 มาแล้ว (อ้าว ครก.112 ไปขอให้ท่านลงชื่อเร็ว) ที่น่าสนใจคือท่านยอมรับว่าทุกองค์กรก็มีคนดีคนชั่ว ตุลาการก็มีคนชั่ว แม้ไม่มีหลักฐานแต่มองหน้าก็รู้กัน เพียงแต่ท่านไม่ยักบอกว่าสังคมจะตรวจสอบตุลาการได้อย่างไร ได้แต่พูดลอยๆ ว่า ตุลาการอยู่ได้ด้วยการอบรมสั่งสอนของบรรพตุลาการ

        คุณวสันต์เป็นคนที่พูดเยอะดี เช่นยอมรับว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญแม้แต่นักกฎหมายอ่านแล้วยังงง เพราะต่างคนต่างทำคำวินิจฉัยส่วนตน มาเจอกันตอนเช้า แล้วมาทำเป็นคำวินิจฉัยในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ไฟลนก้น คดีชิมไปบ่นไปมีคำวินิจฉัยที่แปลกๆ แต่จริง เกือบหลุดเพราะปัญหาข้อเท็จจริงยังไม่ได้วินิจฉัย

        “ประมาณ 4โมง ก็ฉุกละหุก เอาคนนี้เข้าผสมคนโน้น คนโน้นผสมคนนั้น ใส่เข้าไป จึงเป็นคำพิพากษาที่แปลก เพราะปกติ ต้องเอาข้อเท็จจริง ให้ยุติก่อน ปัญหาข้อเท็จจริงว่า คนนี้ทำอย่างนี้จริงหรือไม่ มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ที่เป็นข้อโต้แย้งกัน ต้องฟังให้ยุติก่อนว่าจริง หรือไม่จริง ก่อนจะนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่าถ้าทำจริงแล้วผิดไหม นี่เป็นมาตรฐาน ของคำพิพากษาโดยทั่วๆ ไป แต่เรื่องนั้นไม่ใช่ กลับพูดข้อกฎหมายก่อนมายาวเหยียด แล้วอัดข้อเท็จจริงเข้าไป ถามว่าเหตุเพราะอะไร ก็เพราะว่าไฟลนก้น มันเลยเวลาอ่านแล้ว อะไรก็รีบ ลวกๆ” (เว็บไซต์มติชน)


        อ้าว วินิจฉัยให้นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งตกเก้าอี้เพราะทำกับข้าว แล้วท่านมายอมรับว่า วินิจฉัยกันอย่างลวกๆ ยังงั้นหรือครับ

       ระวังชาวบ้านฟังแล้วจะร้องว่า มิน่า ถึงเปิดพจนานุกรมตีความคำว่า “ลูกจ้าง”         ติ๊กไว้ตรงนี้หน่อยนะครับว่า อ.วรเจตน์วิจารณ์เรื่องนี้ไว้ 2 ประเด็น หนึ่งคือ ออหมักไม่ใช่ลูกจ้าง เพียงแต่รับค่าตอบแทนไปเป็นพิธีกรรายการทำกับข้าวออกทีวียังไม่ถือเป็นลูกจ้าง ไม่เช่นนั้น คุณจรัญ ภักดีธนากุล ไปบรรยายมหาวิทยาลัยเอกชน หรือพูดออกรายการวิทยุโดยได้ค่าตอบแทน ก็ต้องถือเป็นลูกจ้างด้วย ความเป็นนายจ้างลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน ประเด็นสำคัญคือนายจ้างต้องมีอำนาจบังคับบัญชาลูกจ้าง


       สองคือ กรณีตามมาตรา 267 นี้เป็น “ลักษณะต้องห้าม” ของผู้ดำรงตำแหน่ง ไม่ใช่ “ขาดคุณสมบัติ” ถ้าขาดคุณสมบัติต้องเป็นไปตามมาตรา 174 สมมติเช่น ไม่จบปริญญาตรี ถูกถอดจากตำแหน่งแล้วกลับมาเป็นไม่ได้ จนกว่าจะไปเรียนให้จบ แต่ลักษณะต้องห้ามอยู่ในหมวดว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ถ้าสละความขัดกันนั้นเสีย สมมติว่าเป็นลูกจ้างจริง ลาออกเสีย ก็อยู่ในตำแหน่งต่อไปได้

       ซึ่งกรณีออหมักก็เห็นชัดเจนว่า ตกเก้าอี้แล้ววันรุ่งขึ้นยังมีสิทธิได้รับเลือกจากสภาให้กลับมาเป็นนายกฯ ได้อีก กรณีนี้จึงไม่ใช่ขาดคุณสมบัติ แค่มีลักษณะต้องห้ามซึ่งเมื่อเลิกทำรายการชิมไปบ่นไปแล้ว ก็ถือว่าการขัดกันแห่งผลประโยชน์นั้นหมดไปแล้ว ยังดำรงตำแหน่งต่อไปได้ ไม่ต้องไปทำตลกปลดออกแล้วยังมีสิทธิเป็นใหม่

         ก่อนหน้านี้ คุณวสันต์ก็กล่าวในงานครบรอบ 14 ปีศาลรัฐธรรมนูญ ถึงคดียุบพรรคการเมืองว่า ถ้า ส.ส.ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคถูก กกต.ให้ใบแดง หรือ กกต.ส่งศาลฎีกาให้ใบแดง แล้วส่งเรื่องมาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อยุบพรรค ศาลรัฐธรรมนูญก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะจะไปรื้อคำสั่งศาลฎีกาไม่ได้ ทำได้เป็นเพียงป่อเต็กตึ๊งทำหน้าที่เก็บศพเท่านั้น


         ท่านต้องการโบ้ยเรื่องยุบพรรคให้พ้นตัวหรือไรก็ไม่ทราบ แต่ฟังแล้วขำกลิ้ง เมื่อนึกภาพตุลาการผู้สูงส่งใส่เสื้อครุยไปเก็บศพ

        อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เคยให้สัมภาษณ์ผม หลังยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาประชาธิปไตย ว่าการที่ศาลใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงหลังแถลงปิดคดี ก็วินิจฉัยยุบพรรคทันที โดยอ้างว่าไม่สามารถวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น เนื่องจากคำวินิจฉัยของ กกต.เป็นที่สุด คำวินิจฉัยของศาลฎีกาเป็นที่สุดนั้น ก็เท่ากับว่ากระบวนการของศาลเป็น “ระบบกฎหมายลวงคน”

        "คดีแบบนี้ไม่ต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าคุณตีความแบบนี้ และคุณเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้ คุณก็เขียนไปอย่างนี้ไม่ดีกว่าหรือ-เมื่อกกต.เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค ก็ให้ยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค-แต่มันเหมือนกับบอกชาวโลกเขาไม่ได้ .....ระบบกฎหมายของเราในที่นี้คือการลวงคน มันไม่มี material ไม่มีเนื้อหา มีแต่รูปแบบ ถ้าพูดให้ extreme กระบวนการพิจารณาที่ทำกันมันคือความว่างเปล่า ที่คุณจะต้องให้ตุลาการนั่งพิจารณา ให้เขามาแถลงคดี มันคือความว่างเปล่าหมดเลย มันไม่มีอะไรให้พิจารณา"


         อ.วรเจตน์กล่าวไว้อย่างนั้น แล้วประธานศาลรัฐธรรมนูญก็เพิ่งยอมรับว่า ศาลไม่ได้ทำอะไรเลยจริงจริ๊ง แค่ทำหน้าที่เก็บศพ

         อันที่จริงต้องใช้คำว่าระบบกฎหมายลวงโลก เพราะทำเหมือนกับตุลาการ 9 คนใส่เสื้อครุยมานั่งพิจารณา แต่กระบวนการทั้งหมดไร้สาระ ถ้าท่านตีความอย่างนั้น พรรคการเมือง “ตาย” ถูกยุบตั้งแต่ กกต.แจกใบแดงกรรมการบริหารพรรคแล้ว ที่เหลือเป็นแค่กระบวนการเก็บศพมาใส่โลง แต่งศพไม่ให้อุจาดตา เอามาผ่านศาล เอามาผ่านกระบวนการที่มีคนใส่เสื้อครุยนั่งอยู่ 9 คน แต่แท้จริง คนใส่เสื้อครุยไม่ได้ทำอะไรเลย (ตามคำกล่าวของท่านคือ ไม่สามารถทำอะไรเลย)

         แบบนั้นมันก็แหกตากันสิครับ ทำให้ชาวโลกเข้าใจผิดว่า ผ่านกระบวนการยุติธรรมแล้ว ศาลได้ใช้ดุลพินิจแล้ว ทั้งที่ความจริงมันจบไปตั้งแต่ กกต.5 คนลงมติ โดยใช้เหตุผลเพียง “เชื่อได้ว่าทุจริต” ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็คือ “ศาลเตี้ย” เพราะไม่มีการพิสูจน์พยานหลักฐาน ไม่เปิดโอกาสให้ต่อสู้คดีตามกระบวนการปกติ เอาความเชื่อของ กกต.เสียงข้างมากตัดสิน แต่เขียนรัฐธรรมนูญให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมารับรอง “ศาลเตี้ย” อีกชั้นหนึ่ง โดยไม่ได้ให้ศาลพิสูจน์ถูกผิดจากพยานหลักฐาน ศาลเพียงแต่มาปั๊มตรารับรองว่า “เชื่อได้ว่า” ตามที่ กกต.วินิจฉัย (ให้ศาลใช้ความเชื่อ) จากนั้นก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญเก็บศพ เอ๊ย ยุบพรรค

       นี่ไงครับ สาเหตุที่กระบวนการยุติธรรมเสื่อมความเชื่อถือ

      คุณวสันต์มีชื่อเสียงจากการเปิดเผยว่ามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคดีซุกหุ้นรายหนึ่งไปปรึกษา หาทางช่วยทักษิณให้พ้นคดี เพราะทักษิณมาจากการเลือกตั้งจะให้คนไม่กี่คนตัดสินให้พ้นจากตำแหน่งไม่ได้ ต่อมาตุลาการผู้นั้นถูกตำหนิว่าไม่ยึดมั่นในหลักกฎหมาย


      นั่นเป็นตัวอย่างของการเอา “สุคติ” มาวินิจฉัยคดี แต่ในด้านกลับกัน หลังจากเกิด “ตุลาการภิวัตน์” เป็นต้นมา คุณวสันต์ก็ควรถามตุลาการทั้งหลายด้วยว่า ได้ใช้ “สุคติ” ตัดสินแทนหลักกฎหมายหรือเปล่า “สุคติ” แบบที่คิดว่าต้องใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกำจัดทักษิณ ผู้เป็นภัยต่อ “แผ่นดิน” จนทำให้ไม่วินิจฉัยกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา

                                                                                    ใบตองแห้ง
                                                                                    7 เมษายน 2555
http://redusala.blogspot.com