วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2559

กกต. สั่งทีวี-วิทยุทุกสถานี พีอาร์ร่างรธน. 13 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที เริ่ม 27 มิ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กําหนดจํานวนครั้งของการจัดสรรเวลาและห้วงการจัดสรรเวลาออกอากาศ เพื่อการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ พ.ศ. 2559 ออกโดย ศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 9 มาตรา 12 และมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ข้อ 4 และข้อ 18 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ร่างรัฐธรรมนูญ คําอธิบายสาระสําคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นเพิ่มเติม คําอธิบายหลักการ และเหตุผลของประเด็นเพิ่มเติม กระบวนการและขั้นตอนการออกเสียงและการจัดสรรเวลาออกอากาศ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2559 ประกอบความเห็นของที่ประชุมร่วม ระหว่างผู้แทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้แทนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้แทนสํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้แทนโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) และผู้แทนสถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐ ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 การประชุมผู้แทน สถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2559 มติคณะกรรมการ การเลือกตั้ง ในการประชุมครั้งที่ 24/2559 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 ครั้งที่ 26/2559 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 และครั้งที่ 28/2559 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 คณะกรรมการ การเลือกตั้งจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กำหนดจำนวนครั้ง ของการจัดสรรเวลาและห้วงการจัดสรรเวลาออกอากาศเพื่อการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ พ.ศ. 2559”
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ในประกาศนี้ “สถานี” หมายความว่า สถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐ “สถานีอื่น” หมายความว่า สถานีวิทยุกระจายเสียงหรือสถานีวิทยุโทรทัศน์ที่มิใช่ของรัฐ และให้รวมถึงวิทยุชุมชนและสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบเคเบิลทีวีด้วย
ข้อ 4 กําหนดจํานวนครั้งในการออกอากาศ 13 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ดังนี้ (1) ออกอากาศครั้งที่ 1 วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน 2559 (2) ออกอากาศครั้งที่ 2 วันพุธที่ 29 มิถุนายน 2559 (3) ออกอากาศครั้งที่ 3 วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม 2559 (4) ออกอากาศครั้งที่ 4 วันพุธที่ 6 กรกฎาคม 2559 (5) ออกอากาศครั้งที่ 5 วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม 2559 (6) ออกอากาศครั้งที่ 6 วันพุธที่ 13 กรกฎาคม 2559 (7) ออกอากาศครั้งที่ 7 วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม 2559 (8) ออกอากาศครั้งที่ 8 วันพุธที่ 20 กรกฎาคม 2559 (9) ออกอากาศครั้งที่ 9 วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม 2559 (10) ออกอากาศครั้งที่ 10 วันพุธที่ 27 กรกฎาคม 2559 (11) ออกอากาศครั้งที่ 11 วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม 2559 (12) ออกอากาศครั้งที่ 12 วันพุธที่ 3 สิงหาคม 2559 (13) ออกอากาศครั้งที่ 13 วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม 2559
ข้อ 5 การจัดสรรเวลาออกอากาศ ตามข้อ 4 ให้สถานีจัดสรรเวลาออกอากาศในเวลา 17.30 - 18.00 น. พร้อมกันทุกสถานี ในกรณีสถานีอื่นอาจออกอากาศในเวลา 17.30 - 18.00 น. หรือในช่วงระหว่างเวลา 18.30 - 24.00 น. ของวันที่ออกอากาศ หรือในช่วงระหว่างเวลา 06.00 - 24.00 น. ของวันถัดจาก วันออกอากาศ หรือช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง ตามที่สถานีอื่นเห็นว่าเหมาะสม
ข้อ 6 ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามประกาศนี้

เพื่อไทยยื่น กกต.ขอทำใบปลิวหมื่นแผ่นช่วยรณรงค์ประชามตินอกเขต

ขณะทีเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ทีผ่านมา ผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า วิชาญ มีนชัยนันท์ พร้อมด้วยจิรายุ ห่วงทรัพย์ อดีต ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย เข้ายื่นหนังสือถึง กกต. ผ่าน พลวัฒน์ พิรติชัยธนกุล ผู้อำนวยการสำนักเลขานุการ กกต. เพื่อขอให้เร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์การออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดที่จะหมดเขตในวันที่ 30 มิ.ย.นี้
     
โดยนายวิชาญกล่าวว่า เหลือเวลาอีกเพียง 10 วันอาจไม่เพียงพอในการรณรงค์ เนื่องจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยและอดีต ส.ส.กทม.ต่างได้รับการสอบถามจากประชาชนที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นจำนวนมาก และส่วนตัวก็เห็นว่าปัจจุบันในกรุงเทพฯ มีประชากรแฝงที่เป็นผู้มีสิทธิออกเสียงจากจังหวัดต่างๆ จำนวนกว่า 10 ล้านคน แต่จำนวนผู้ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธินอกเขตจังหวัดในขณะนี้มีเพียงแค่หลักพันคนเท่านั้น จึงน่าเป็นห่วง และเห็นว่า กกต.และรัฐบาลควรมีการประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้ เช่น การติดป้ายเพื่อแจ้งให้ทราบ หรือแม้แต่ให้สื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ทำอักษรวิ่งเพื่อให้เข้าถึงประชาชน รวมทั้งขอให้ไปอำนวยความสะดวกด้วยการให้สำนักงานเขตไปตั้งโต๊ะลงทะเบียนในจุดที่มีกลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น นิคมอุตสาหกรรม
     
“ส่วนตัวเห็นว่าการใช้สิทธินอกเขตจังหวัดเป็นเรื่องที่ดี เพราะประชาชนที่เข้ามาทำงานจะได้ไม่ต้องเสียค่าเดินทางในการกลับไปใช้สิทธิในภูมิลำเนา ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงขออนุญาตที่จะจัดทำแผ่นประชาสัมพันธ์การออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดตามรูปแบบของ กกต.จำนวน 10,000 แผ่น เพื่อแจกเป็นการช่วยรณรงค์ให้กับ กกต.อีกทางหนึ่ง” วิชาญกล่าว

กกต.ขอบคุณ เพื่อไทย ช่วยรณรงค์       

ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า ศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. กล่าวถึงกรณีที่นี้ว่า ทางกกต.กำลังเร่งดำเนินการเรื่องดังกล่าวอยู่ เนื่องจากเหลือเวลาอีกเพียง 10 วัน ก็จะหมดเขตให้ลงทะเบียนนอกเขตจังหวัด ขณะนี้กกต.ได้ส่งหนังสือไปยังหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และสภานายจ้าง ให้ช่วยอำนวยความสะดวกกับลูกจ้างที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด ในการลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขต เพียงแค่นายจ้างให้ใช้อินเตอร์เน็ตก็สามารถลงทะเบียนได้อย่างรวดเร็ว ส่วนที่ส.ส.เพื่อไทยจะแจกใบปลิวเรื่องดังกล่าวนั้นก็ทำได้ ต้องขอบคุณส.ส.เพื่อไทย เพราะถือว่ามาช่วยกกต.ในการรณรงค์
ล่าสุดวันนี้ (22 มิ.ย.59) ยอดผู้มาลงทะเบียน  ขอใช้สิทธิออกเสียงประชามติ นอกเขตจังหวัด มีเพียง รวม 49,403 ราย โดยแบ่งเป็น ยื่นผ่าน สนท.อำเภอ/เขต/ท้องถิ่น 25,489 ราย และ ยื่นผ่านทางอินเทอร์เน็ต 23,914 ราย 

ประยุทธ์งัดม.44 ออก 4 คำสั่งหัวหน้า คสช. คุมท้องถิ่น เพิ่มโทษนักเรียนนักเลง


21 มิ.ย.2559 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. โดยอาศัยอำนาจตาม ม.44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 29/2559 เรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ในกรณีที่มีการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตําบลเป็นเทศบาล การยกฐานะเป็นเทศบาล หรือการเปลี่ยนแปลงฐานะของเทศบาล ฉบับที่ 2 คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 30/2559 เรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนและนักศึกษา ฉบับที่ 3คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 31/2559 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้  ฉบับที่ 4 คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 32/2559 เรื่องมาตรการป้องกันการลักลอบนําสารเคมี วัสดุ หรือเครื่องมือบางประเภทไปใช้ผลิตยาเสพติด

การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราวฯ

โดย คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 29/2559  ระบุว่า จากการที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้กําหนดให้ในกรณีที่มีการจัดตั้ง องค์การบริหารส่วนตําบลขึ้นเป็นเทศบาล หรือมีการยกฐานะเป็นเทศบาล หรือมีการเปลี่ยนแปลงฐานะ ของเทศบาล ให้องค์การบริหารส่วนตําบลหรือเทศบาลนั้นพ้นจากสภาพแห่งองค์การบริหารส่วนตําบล หรือเทศบาลเดิม และให้สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนตําบล หรือเทศบาลเดิมนั้นต้องพ้นจากตําแหน่งโดยผลของกฎหมาย หรือในกรณีที่สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นได้พ้นจากตําแหน่งเนื่องจากครบวาระไปแล้ว แต่ในภายหลังได้มีการจัดตั้งองค์การ บริหารส่วนตําบลขึ้นเป็นเทศบาล หรือมีการยกฐานะเป็นเทศบาล หรือมีการเปลี่ยนแปลงฐานะของเทศบาล กรณีเช่นนี้ทําให้เกิดความไม่ชัดเจนในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าจะต้องดําเนินการอย่างใดเพื่อให้ได้มาซึ่ง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น จึงสมควรกําหนดบทบัญญัติให้ชัดเจน ครอบคลุมกรณีดังกล่าวทุกกรณี เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน อันจะทําให้การบริหารงานขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นเป็นไปโดยต่อเนื่อง
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้
      
ข้อ 1 ในกรณีที่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตําแหน่งก่อนครบวาระ เนื่องจากมีการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตําบลขึ้นเป็นเทศบาล หรือมีการยกฐานะเป็นเทศบาล หรือมี การเปลี่ยนแปลงฐานะของเทศบาล ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น หรือในกรณีที่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตําแหน่งเนื่องจากครบวาระ แต่ในภายหลัง ได้มีการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตําบลขึ้นเป็นเทศบาล หรือมีการยกฐานะเป็นเทศบาล หรือมีการเปลี่ยนแปลง ฐานะของเทศบาล ให้ดําเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 85/2557เรื่อง การได้มาซึ่ง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 10 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557
      
ข้อ 2 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

การป้องกัน-แก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียน-นักศึกษา

คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 30/2559 ระบุว่า โดยที่ปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนและนักศึกษาก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน รวมทั้งเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและสังคม แต่เนื่องจากมาตรการทางกฎหมาย ที่มีอยู่ไม่สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์ ทําให้เกิดอุปสรรคในการดําเนินการเพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนและนักศึกษา จึงจําเป็นต้องกําหนดมาตรการทางกฎหมายเพิ่มเติม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปและจัดระเบียบในสังคม
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามหมวด 7 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มีอํานาจกักตัวนักเรียนและนักศึกษาที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ทําร้ายร่างกายผู้อื่น หรือเตรียมการเพื่อก่อเหตุดังกล่าว เป็นการชั่วคราวไม่เกินหกชั่วโมง เพื่อนําส่งเจ้าพนักงานตํารวจ ผู้บริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษา บิดามารดา หรือผู้ปกครอง แล้วแต่กรณี
ข้อ 2 บิดามารดาหรือผู้ปกครองต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรม สั่งสอน และยับยั้งพฤติกรรม ที่ไม่ดีของเด็กและเยาวชนที่เป็นนักเรียนและนักศึกษาที่อยู่ในความปกครองดูแลของตน รวมทั้งต้องปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก ตลอดจนต้องไม่สนับสนุน หรือปล่อยปละละเลยให้เด็กและเยาวชนที่เป็นนักเรียนและนักศึกษาในปกครองรวมกลุ่มเพื่อก่อเหตุ ทะเลาะวิวาท ทําร้ายร่างกายผู้อื่น หรือเตรียมการเพื่อก่อเหตุดังกล่าว และให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอํานาจหน้าที่ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวติดตามและสอดส่องให้มีการดําเนินการอย่างเคร่งครัด
ในกรณีที่พบเด็กและเยาวชนที่เป็นนักเรียนและนักศึกษารวมกลุ่มเพื่อกระทําการตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นความรับผิดชอบของบิดามารดาหรือผู้ปกครองของเด็กและเยาวชนที่เป็นนักเรียนและนักศึกษา แล้วแต่กรณี และให้เป็นอํานาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่จะแจ้งให้บิดามารดา หรือผู้ปกครองเข้ามารับทราบการกระทําของเด็กและเยาวชนที่เป็นนักเรียนและนักศึกษาดังกล่าว เพื่อให้คําแนะนํา ตักเตือน ทําทัณฑ์บน หรือวางข้อกําหนดเพื่อป้องกันมิให้กระทําความผิดอีก หรืออาจให้วางประกันไว้เป็นจํานวนเงินตามสมควรแก่ฐานานุรูป แต่จะเรียกเงินประกันไว้ได้ไม่เกิน ระยะเวลาสองปี หากเด็กและเยาวชนที่เป็นนักเรียนและนักศึกษาได้กระทําความผิดดังกล่าวซ้ําอีก ให้ริบเงินประกันเป็นของกองทุนคุ้มครองเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก
      
ข้อ 3 ผู้ใดกระทําการอันเป็นการยุยง ส่งเสริม ช่วยเหลือ หรือสนับสนุน ให้นักเรียน หรือนักศึกษาฝ่าฝืนบทบัญญัติตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ต้องระวางโทษ จําคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
หากการกระทําตามวรรคหนึ่ง เป็นเหตุให้นักเรียนหรือนักศึกษาไปก่อเหตุทะเลาะวิวาท หรือทําร้ายร่างกายผู้อื่น ผู้นั้นต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และหากเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเพราะการทะเลาะวิวาทหรือทําร้ายร่างกายนั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษจําคุก ไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
ข้อ 4 ให้โรงเรียนและสถานศึกษามีหน้าที่จัดให้มีกิจกรรมในการแนะแนวเพื่อตอบสนอง ต่อการแก้ไขปัญหานักเรียนและนักศึกษาทะเลาะวิวาท โดยร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกวดขันและเร่งรัดจัดทํามาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนและนักศึกษา ให้เป็นรูปธรรม เพื่อเป็นการลดปัญหาสังคมโดยเร่งด่วน
      
ข้อ 5 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้

คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 31/2559 ระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ระงับ และปราบปรามการลักลอบทําไม้หวงห้าม รวมทั้งการดําเนินการที่เกี่ยวข้องกับไม้หวงห้าม ซึ่งเป็นทรัพยากร ป่าไม้ที่มีความสําคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้
      
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความใน (4) ของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 116 ลงวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2515 และ (5) ของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
      
"(4) “ไม้แปรรูป” หมายความว่า ไม้ที่ได้แปรรูปแล้ว และหมายความรวมถึงไม้ที่อยู่ในสภาพ พรางว่าเป็นสิ่งปลูกสร้าง หรืออยู่ในสภาพเป็นสิ่งปลูกสร้างอันไม่ชอบด้วยลักษณะสิ่งปลูกสร้างทั่ว ๆ ไป หรือที่ผิดปกติวิสัย หรืออยู่ในสภาพเป็นเครื่องใช้ที่ไม่ชอบด้วยลักษณะของเครื่องใช้ที่ใช้เป็นปกติ ในท้องที่นั้นหรือที่ผิดปกติวิสัย ไม้ที่อยู่ในสภาพเป็นสิ่งปลูกสร้างหรืออยู่ในสภาพเป็นเครื่องใช้ ทั้งนี้ ตลอดเวลาที่อยู่ในสภาพเช่นนั้น รวมทั้งไม้ที่เคยอยู่ในสภาพดังกล่าว และผู้ครอบครองพิสูจน์ได้ว่าได้เคยมีสภาพเช่นนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี สําหรับไม้อื่นที่มิใช่ไม้สักและไม่น้อยกว่าสิบปีสําหรับไม้สัก มิให้ถือว่าเป็นไม้แปรรูป
(5) “ทําไม้” หมายความว่า ตัด ฟัน กาน โค่น ลิด เลื่อย ผ่า ถาก ทอน ขุด ชักลากไม้ในป่า หรือนําไม้ออกจากป่าด้วยประการใดๆ และหมายความรวมถึงการกระทําดังกล่าวกับไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พะยุงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้ชิก ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดํา ไม้อีเฒ่า และไม้เก็ดเขาควายที่ขึ้นอยู่ในที่ดิน ที่มิใช่ป่า หรือการนําไม้ดังกล่าวออกจากที่ดินที่ไม้นั้น ๆ ขึ้นอยู่ด้วย”
      
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
      
"มาตรา 14 ทวิ บทบัญญัติมาตรา 14 มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับอนุญาตทําไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พะยุงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้ชิก ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดํา ไม้อีเฒ่า และไม้เก็ดเขาควายที่ขึ้นอยู่ในที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน”
      
ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 39 ตรี แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 116 ลงวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2515 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
      
“มาตรา 39 ตรี ผู้ใดนําไม้หวงห้ามหรือไม้ที่มีช่อหรือชนิดตรงกับไม้หวงห้ามที่เคยอยู่ในสภาพ เป็นสิ่งปลูกสร้างหรือเครื่องใช้มาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีสําหรับไม้อื่นที่มิใช่ไม้สัก และไม่น้อยกว่าสิบปี สําหรับไม้สัก และพ้นจากสภาพการเป็นสิ่งปลูกสร้างหรือเครื่องใช้แล้ว เคลื่อนย้ายออกนอกเขตจังหวัด ซึ่งเป็นที่ตั้งของสิ่งปลูกสร้างหรือเป็นที่ประกอบเครื่องใช้นั้น ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
      
ในกรณีที่มีความจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองและดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้เป็นการเฉพาะ รัฐมนตรีมีอํานาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากําหนดจังหวัดใดที่ห้ามมิให้มีการเคลื่อนย้ายไม้ตามวรรคหนึ่ง ออกนอกเขตจังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของสิ่งปลูกสร้างหรือที่ประกอบของเครื่องใช้นั้น เว้นแต่ไม้นั้นเป็นไม้ ที่เคยอยู่ในสภาพเป็นสิ่งปลูกสร้างหรือเครื่องใช้มาแล้วไม่น้อยกว่ายี่สิบปีและต้องได้รับอนุญาตจาก พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือพิสูจน์ได้ว่าได้ไม้นั้นมาโดยชอบด้วยกฎหมายและได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมป่าไม้ แล้วแต่กรณี โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
      
การอนุญาตตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกรมป่าไม้กําหนดโดย อนุมัติรัฐมนตรี ระเบียบดังกล่าวจะกําหนดเงื่อนไขให้ผู้รับอนุญาตปฏิบัติตามด้วยก็ได้ ในกรณีที่เหตุจําเป็นตามวรรคสองในจังหวัดใดสิ้นสุดลง ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยกเลิกการกําหนดให้จังหวัดนั้นเป็นจังหวัดที่ห้ามมิให้มีการเคลื่อนย้ายไม้ออกนอกเขตจังหวัด”
      
ข้อ 4 ในระหว่างที่ยังไม่มีการออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับการยื่นคําขออนุญาตและการอนุญาต ให้ทําไม้หวงห้ามประเภท ก. ชนิดไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พะยุงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้ชิก ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดํา ไม้อีเฒ่า และไม้เก็ดเขาควาย ที่ขึ้นอยู่ในที่ดินที่มิใช่ป่า ให้นําหลักเกณฑ์ที่ใช้บังคับกับการทําไม้สักที่ขึ้นอยู่ในที่ดิน ที่มิใช่ป่าตามที่กําหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ว่าด้วยการทําไม้หวงห้าม และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาใช้บังคับกับการยื่นคําขออนุญาต และการอนุญาตให้ทําไม้หวงห้ามประเภท ก. ดังกล่าวโดยอนุโลมไปพลางก่อน ทั้งนี้ ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ
      
ข้อ 5 ในระหว่างที่ยังไม่มีการออกระเบียบเพื่อกําหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการอนุญาตนําไม้หวงห้าม หรือไม้ที่มีชื่อหรือชนิดตรงกับไม้หวงห้ามที่เคยอยู่ในสภาพเป็นสิ่งปลูกสร้างหรือเครื่องใช้ เคลื่อนย้ายออก นอกเขตจังหวัดตามมาตรา 39 ตรี แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยคําสั่งนี้ ให้นําหลักเกณฑ์ที่ใช้บังคับกับการอนุญาตให้เคลื่อนย้ายไม้ออกนอกเขตจังหวัดตามที่กําหนด ไว้ในระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการนําไม้สักที่เคยอยู่ในสภาพเป็นสิ่งปลูกสร้างหรือเครื่องใช้มาแล้วกว่า 5 ปี เคลื่อนย้ายออกนอกเขตจังหวัด พ.ศ. 2542 มาใช้บังคับกับการยื่นคําขออนุญาตและการอนุญาตให้นําไม้หวงห้าม หรือไม้ที่มีชื่อหรือชนิดตรงกับไม้หวงห้ามที่เคยอยู่ในสภาพเป็นสิ่งปลูกสร้างหรือเครื่องใช้ดังกล่าว เคลื่อนย้ายออกนอกเขตจังหวัดโดยอนุโลมไปพลางก่อน ทั้งนี้ ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ
ข้อ 6 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรการป้องกันการลักลอบนําสารเคมี วัสดุ หรือเครื่องมือบางประเภทไปใช้ผลิตยาเสพติด

 
คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 32/2559 ระบุว่า เพื่อให้การแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการลักลอบนําสารเคมี วัสดุ หรือเครื่องมือบางประเภท ไปใช้ผลิตยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จําเป็นต้องกําหนดมาตรการ ที่เหมาะสมในการป้องกันการนําเข้า ส่งออก นําผ่าน ขนย้าย ผลิต ขาย มีไว้ในครอบครองในพื้นที่ควบคุม เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของชาติ
 
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในคําสั่งนี้ “ผู้ทําธุรกรรม” หมายความว่า
      
(1) ผู้นําเข้า ส่งออก นําผ่าน หรือขนย้ายในพื้นที่ควบคุม
(2) ผู้ผลิต ขาย หรือมีไว้ในครอบครองไม่ว่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นและไม่ว่าจะเพื่อประการอื่นใด และรวมถึงการทิ้งอยู่ หรือปรากฏอยู่ในบริเวณที่อยู่ในความครอบครองด้วย ทั้งนี้ ภายในพื้นที่ควบคุม
(3) ตัวแทน นายหน้า หรือคนกลางเจรจาติดต่อระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย หรือผู้ส่ง
“ธุรกรรมต้องสงสัย” หมายความว่า ธุรกรรมซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
(1) ผู้ทําธุรกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ 2 (3)
(2) ผู้ทําธุรกรรมจงใจแสดงข้อความเท็จหรือปกปิดข้อความจริงอันเป็นสาระสําคัญ
(3) ผู้ทําธุรกรรมซึ่งมีหนังสือเรียกตามคําสั่งนี้ ไม่มาให้ถ้อยคํา ไม่ส่งเอกสารหรือวัตถุ ตามกําหนดเวลาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือมาให้ถ้อยคําแล้วแต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าธุรกรรมนั้น ได้กระทําโดยสุจริตหรือไม่เป็นธุรกรรมต้องสงสัย
(4) ไม่ปรากฏผู้ทําธุรกรรมมีตัวตนแน่นอน หรือปรากฏว่ามีการใช้ชื่อปลอมหรือเท็จหรือผู้ทําธุรกรรม ได้หลบหนีหรือต้องหาคดียาเสพติด
      
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ข้อ 2 เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลาย ความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีอํานาจประกาศ กําหนดมาตรการดังต่อไปนี้ในการป้องกันการลักลอบนําสารเคมี วัสดุ หรือเครื่องมือบางประเภทไปใช้ ผลิตยาเสพติด
(1) ชื่อ ปริมาณของสารเคมี วัสดุ หรือเครื่องมือควบคุม
(2) กําหนดพื้นที่ควบคุมสารเคมี วัสดุ หรือเครื่องมือนั้น โดยอาจกําหนดห้วงเวลาหรือระยะเวลา ตามที่เห็นสมควรก็ได้
(3) กําหนดหน้าที่ของผู้ทําธุรกรรมและวิธีดําเนินการอื่นใดเพื่อควบคุมสารเคมี วัสดุ หรือเครื่องมือ ตาม (1) และ (2)
ข้อ 3 ในการปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) เข้าไปในสถานที่ผลิตหรือเก็บสารเคมี วัสดุ หรือเครื่องมือ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย ว่าเป็นธุรกรรมต้องสงสัย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งนี้
(2) ตรวจค้นบุคคล สถานที่ หรือยานพาหนะที่บรรทุกสารเคมี วัสดุ หรือเครื่องมือ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นธุรกรรมต้องสงสัย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งนี้ ทั้งนี้ อาจนําสารเคมี ในปริมาณเท่าที่จําเป็นไปเป็นตัวอย่างเพื่อตรวจสอบได้
(3) กัก ยึด หรืออายัดสารเคมี วัสดุ เครื่องมือ ยานพาหนะ ภาชนะบรรจุ สมุดบัญชี เอกสาร หรือสิ่งของอื่น ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นธุรกรรมต้องสงสัย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ ตามคําสั่งนี้ มีกําหนดระยะเวลาไม่เกินสามสิบวัน ทั้งนี้ ถ้ามีเหตุจําเป็นเลขาธิการอาจพิจารณาขยายระยะเวลา ได้อีกไม่เกินสามสิบวัน
(4) มีหนังสือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคํา ส่งเอกสาร หรือวัตถุใด ๆ มาเพื่อให้บุคคลนั้นพิสูจน์ว่า ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งของที่กัก ยึด หรืออายัดตาม (3) นั้น ได้กระทําโดยสุจริตหรือไม่เป็นธุรกรรมต้องสงสัย
ข้อ 4 ในกรณีที่เจ้าพนักงานได้ใช้อํานาจกัก ยึด หรืออายัดตามข้อ 3 (3) แล้วให้รายงาน เลขาธิการภายในสามวัน และให้เลขาธิการมีอํานาจ ดังต่อไปนี้
(1) สั่งคืนสิ่งของที่กัก ยึด หรือแจ้งการถอนอายัด ในกรณีเห็นว่าธุรกรรมนั้นไม่เป็นธุรกรรม ต้องสงสัย หรือผู้ทําธุรกรรมสามารถพิสูจน์ได้ว่าตนได้ทําธุรกรรมนั้นโดยสุจริต ให้เจ้าพนักงานแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้ควรได้รับคืนให้มารับสิ่งของที่กัก ยึด หรือแจ้ง การถอนอายัดไว้ ในกรณีที่ไม่สามารถแจ้งได้ ให้โฆษณาทางหนังสือพิมพ์หรือโดยปิดประกาศในที่เปิดเผย ณ ที่ทําการของเจ้าพนักงาน และสถานที่อายัดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
(2) สั่งทําลาย หรือจัดการตามที่เห็นสมควร ในกรณีดังนี้
(ก) เห็นว่าธุรกรรมนั้นเป็นธุรกรรมต้องสงสัย และผู้ทําธุรกรรมไม่มาพิสูจน์ว่าตน ได้ทําธุรกรรมนั้นโดยสุจริต
(ข) ปรากฏว่าผู้ควรได้รับคืนไม่มาขอรับสิ่งของที่กัก ยึด หรืออายัดไว้ภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่แจ้งเป็นหนังสือหรือวันที่โฆษณาทางหนังสือพิมพ์ หรือวันที่ปิดประกาศในที่เปิดเผยตาม (๑) หรือ
(ค) ไม่ปรากฏว่ามีผู้ทําธุรกรรมมาแสดงตนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้ใช้อํานาจกัก ยึด หรืออายัดตามข้อ 3 (3)
ข้อ 5 ในการปฏิบัติการตามคําสั่งนี้ให้เลขาธิการ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
ข้อ 6 บรรดาสารเคมีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมประกาศตามข้อ 2 (1) ซึ่งเจ้าพนักงาน ตามกฎหมายอื่นได้กัก ยึด หรืออายัดไว้อยู่ก่อนวันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นการกัก ยึด หรืออายัด ตามคําสั่งนี้ และให้เจ้าพนักงานตามกฎหมายดังกล่าวนั้นรายงานเลขาธิการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ ประกาศมีผลใช้บังคับ เพื่อเลขาธิการดําเนินการตามคําสั่งนี้ต่อไป ทั้งนี้ หากมีความจําเป็นเลขาธิการ อาจขยายระยะเวลาการรายงานได้ตามความเหมาะสม
ข้อ 7 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ปมGT200 วิษณุ บอกรู้สึกไม่ดีเรียก 'ค่าโง่' ระบุเป็นค่าซื้อความรู้ แต่แพงไปหน่อย


22 มิ.ย.2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลประเทศอังกฤษ ตัดสินยึดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 7.9 ล้านปอนด์ (ราว 395 ล้านบาท) จาก เจมส์ แมคคอร์มิค ผู้ต้องหาในคดีจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม เพื่อนำเงินไปจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของแมคคอร์มิคและพรรคพวกซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ดังกล่าว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์พร้อมทั้งแสวงหาผู้รับผิดชอบกรณี GT200 ในประเทศไทยจำนวนมาก
วันนี้ ผู้จัดการออนไลน์และมติชนออนไลน์ รายงานว่า วิษณุ เครืองาม กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มอบหมายให้รับผิดชอบการเรียกเงินเยียวยาจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม GT200 หลังจากศาลอังกฤษมีคำพิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์ประมาณ 400 ล้านบาท โดยให้นำเงินจำนวนนี้ไปชดเชยแก่ประเทศที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อเครื่องมือที่ไม่สามารถใช้งานได้ว่า นายกฯ มอบหมายตนในที่ประชุม ครม.เมื่อวานนี้ (21 มิ.ย.) ให้ไปพิจารณาเรื่องดังกล่าวใน 2 ประเด็น 1. การเรียกร้องค่าเสียหายตามที่ศาลอังกฤษได้ยึดทรัพย์ไว้ เรื่องนี้ถือว่าใหม่สำหรับตน จึงสอบถามข้อมูลไปยังหน่วยงานที่ซื้อเครื่องดังกล่าว 7-8 หน่วยงานรวมถึงจะหารือว่าจะให้หน่วยงานใดเป็นตัวแทนรัฐในการเรียกเงินเยียวยา โดยคาดว่าจะเป็นสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เพราะมีกฎหมายด้านความร่วมมือระหว่างประเทศอยู่
วิษณุ กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่ 2 คือ ดูการรับผิดในส่วนของเรา เมื่อมีการซื้อเครื่องดังกล่าวมาแล้วแต่ประสิทธิภาพไม่ตรงกับที่คิด เราจึงเป็นผู้เสียหายที่สามารถเรียกเงินเยียวยาอย่างที่หลายประเทศได้ทำ ส่วนคำถามที่ว่าการจัดซื้อเป็นความผิดหรือไม่ เพราะมีสื่อมวลชนบางแห่งนำเสนอว่าผู้จัดซื้อมีความผิดด้วย ข้อเท็จจริง คนซื้อจะมีความผิดด้วยต่อเมื่อมีการทุจริต แต่จะมีจริงหรือไม่ ขณะนี้การตรวจสอบอยู่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งความรับผิดในส่วนของเรายังไม่มีอะไรต้องดูในตอนนี้ เพราะเป็นหน้าที่ ป.ป.ช. รัฐจะเข้าไปดูซ้อนไม่ได้ ส่วนที่เรื่องดังกล่าวเกิดความล่าช้านั้น ทาง ป.ป.ช.ชี้แจงว่าเรื่องอยู่ในกระบวนการ ส่วนรายละเอียดตนไม่ควรพูดตรงนี้ แม้ว่าคดีความที่ดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จ ก็ไม่เป็นปัญหากับการดำเนินการเรียกเงินเยียวยา ที่สามารถดำเนินการคู่ขนานกันได้ เพราะ ป.ป.ช.ดูเฉพาะคดีอาญา แต่การขอเงินเยียวยาเราจะตั้งรูปคดีเป็นการฉ้อโกง หลอกลวง ผิดสัญญา ซึ่งเป็นเรื่องทางแพ่ง เมื่อสินค้าไม่ตรงตามที่โฆษณา และศาลอังกฤษมีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐาน เราก็จะยึดแนวทางนั้น
      
วิษณุกล่าวว่า ความเสียหายของหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยที่ซื้อเครื่องดังกล่าวทั้งหมด รวมกันมีมูลค่าประมาณ 600-800 ล้านบาท มากกว่าทรัพย์สินของบริษัทผู้ผลิตที่ถูกศาลมีคำสั่งยึดราว 400 ล้านบาทเสียอีก นอกจากนั้นยังต้องมีการเฉลี่ยเงินก้อนดังกล่าวให้ประเทศที่ได้รับความเสียหายด้วย
      
ต่อกรณีคำถามถึงจำนวนเงินที่ศาลอังกฤษมีคำสั่งยึดนั้นมูลค่าน้อยกว่าความเสียหายของเรา วิษณุกล่าวว่า “ใครเป็นคนหลอกเรา เราก็ฟ้องคนนั้น หรือใครเป็นต้นเหตุในฝ่ายเราก็ต้องเรียกให้รับผิด ส่วนจะฟ้องศาลเราหรือศาลอังกฤษต้องใช้เวลาตรวจสอบ ต้องดูข้อกฎหมายของความได้เปรียบเสียเปรียบ โดยจะยึดผลประโยชน์ของรัฐเป็นตัวตั้ง เบื้องต้นเราจะดูเฉพาะกรณีนี้ให้มันได้ก่อน อย่าเพิ่งไปถึงสินค้าตัวอื่นที่บริษัทเดียวกันนี้จำหน่าย”
เมื่อถามว่า การดำเนินการเรื่องนี้เกรงว่าจะเจอตอหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ไม่เจอ เราต้องเดินหน้าตรวจสอบไป แม้จะเจอก็ไม่ใช่ว่าต้องผิด อย่าเพิ่งไปตั้งหลักแบบนั้น วันนี้ ป.ป.ช.คือคนที่ดูตอใหญ่ที่สุด รัฐไม่สามารถไปตรวจทุจริตได้ ถามว่าเรื่องนี้จะเรียกเป็นค่าโง่ได้หรือไม่นั้น คงต้องแล้วแต่สื่อ แต่มันไม่ดีเพราะทำให้เกิดความรู้สึกว่าอะไรที่ควักเงินซื้อดูจะเรียกเป็นค่าโง่ทั้งหมดได้อย่างไร ถ้าเรียกได้ก็เป็นค่าฉลาด ที่สำคัญถือเป็นค่าซื้อความรู้ แต่แพงไปหน่อย

NDM ลงพื้นที่สำโรงแจกเอกสาร ‘โหวตโน’ จนท.ให้แจกแค่ 30 นาที








ขอบคุณภาพจากจิตรา คชเดช
22 มิ.ย.2559 เวลาประมาณ 15.15 น. ที่บริเวณอิมพีเรียล สำโรง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รังสิมันต์ โรม และทีมงานรวม 3 คนจากขบวนประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ลงพื้นที่สำโรงเพื่อแจกจ่ายเอกสารรณรงค์การโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ (Vote No) อย่างไรก็ตาม มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในและนอกเครื่องแบบราว 20นายรวมถึงทหารในเครื่องแบบ 1 นาย เข้าพูดคุยกับทั้ง 3 คนเพื่อขอให้ยุติกิจกรรม
รังสิมันต์ เล่าว่า เจ้าหน้าที่เข้าใจว่าการกรณรงค์ไม่รับร่างนั้นทำไม่ได้ แต่ทางกลุ่มได้ชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ไปแล้วว่า หน่วยงานที่มีหน้าที่ตีความกฎหมายประชามติอย่าง กกต. ก็ยังไม่เคยห้ามกิจกรรมของกลุ่ม NDM แต่อย่างใด จึงขอยืนยันที่จะทำกิจกรรม จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เชิญไปที่โรงพัก แต่ทางกลุ่มปฏิเสธเพราะไม่ได้กระทำผิด และให้เจ้าหน้าที่คุยกับทนายความ ท้ายที่สุดจึงได้ข้อยุติว่า อนุญาตให้แจกเอกสารรณรงค์บริเวณนี้ได้ 30 นาที จากนั้นก็ให้ทั้ง 3 คนลงบันทึกประจำวันไว้
“เราเตรียมเอกสารมาเกือบ 1,000 ชุด แจกกัน 3 คน ใช้เวลาประมาณ 15  นาทีก็แจกหมด มีประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจ และจำนวนไม่น้อยที่มาถามว่าทำไมเรารณรงค์โหวตโน เราก็อธิบายไปคร่าวๆ เช่น เรื่องเลือกตั้ง คะแนนเสียงของประชาชนจะไม่มีความหมายเหมือนเดิม เรื่องที่มารัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบธรรม” รังสิมันต์กล่าว
เขากล่าวด้วยว่า โดยปกติทางกลุ่มมักจัดเวทีเสวนาในมหาวิทยาลัยและทำการรณรงค์แค่พื้นที่ราชดำเนิน แต่วันนี้สนใจลงพื้นที่สำโรงเพราะเห็นว่ามีคนต่างจังหวัดอาศัยอยู่มาก จึงอยากมาให้ข้อมูลประชาชนด้วยว่า ภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้จะเป็นช่วงเวลาสุดท้ายที่ประชาชนสามารถลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขตได้ เพราะที่ผ่านมายังไม่เห็นทางการรณรงค์เรื่องนี้มากนัก นอกจากนี้ทางกลุ่มยังมีแผนจะไปรณรงค์ในพื้นที่ต่างๆ ให้มากขึ้นด้วยหลังจากนี้

'เหรียญทอง เก็บขยะแผ่นดิน' โพสต์ 24 มิ.ย.2475 วันขยะแผ่นดิน


22 มิ.ย. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'เหรียญทอง แน่นหนา' ของ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ และประธานองค์กรเก็บขณะแผ่นดินโพสต์ภาพและข้อความ ถึง วันที่ 24 มิ.ย.2475 ซึ่งเป็นวันที่ซึ่งเป็นวันที่คณะราษฏร ทำการเปลี่ยนรูปแบบประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และเปลี่ยนรูปแบบการปกครองไปเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดย พล.ต.นพ.เหรียญทอง ระบุว่าวันดังกล่าวเป็น 'วันขยะแผ่นดิน'

ที่มา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'เหรียญทอง แน่นหนา
 
"24 มิ.ย.2475 วันขยะแผ่นดิน ผมชอบศึกษาประวัติศาสตร์และประวัติผู้นำตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียน ผมชื่นชอบนักต่อสู้ เช่น ดร.ซุน ยัด เซน , เช กูวาร่า , โฮ จิมินต์ ฯลฯ อย่าเพิ่งตกใจในตัวผมนะครับ แล้วผมก็พบว่าคุณลักษณะของผู้นำนักต่อสู้ทั้งหลายนี้ คือ "เสียสละ รักชาติ รักประชาชน ไม่ทอดทิ้งประชาชน" ซึ่งคือหัวใจสำคัญยิ่งของการเป็นผู้นำของประชาชน แต่เมื่อผมเห็นการโพสต์ปลูกฝังชุดความคิดที่ให้ร้ายสถาบันฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น "คนละเรื่องกัน" แต่ถูกนำมาให้ร้ายสร้างความเข้าใจผิดให้กลายเป็น 'เรืองเดียวกัน' เพื่อ "แบ่งแยกประชาชนออกจากสถาบันฯ" ผมจึงขอโพสต์เป็นตอนๆ สั้นๆ เป็นซีรี่ย์ เช่น ตอนที่ 1 จะเล่าว่า "สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเป็นสถาบันของประชาชน" มันคนละเรื่องกันกับสถาบันพระมหากษัตริย์จีนก่อนการปฏิวัติ , ตอนที่ 2 ผมจะเล่าว่าผู้นำและผู้ร่วมขบวนการ ดร.ซุน ยัด เซ็น นั้นคนละสีกับขบวนการเปลี่ยนระบอบฯของไทย , ตอนที่ 3 จะพูดถึงหยวน ซี ไข่ กับ พระยาพหลฯ ฯลฯ ติดตามได้ตั้งแต่ทุกพักเที่ยง เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.59 ครับ สุดท้าย อย่าลืม...24 มิ.ย.2475 วันขยะแผ่นดิน ครับ" นพ.เหรียญทอง โพสต์