6 แกนนำพรรคเพื่อไทย ถกเวทีปรองดอง ยันไม่ได้เสนอเรื่องนิรโทษกรรม แต่ขอให้มีการให้อภัยต่อกัน ระบุฝ่ายกระทำต้องขอโทษ แนะตั้ง กรรมการอิสระดำเนินการปรองดอง พร้อมขอ คสช. ดำเนินการด้วยความจริงใจ และยึดหลัก "นิติธรรม"
เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2560 ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ได้เข้าเสนอข้อคิดเห็นเสนอแนวทางสร้างความปรองดอง 10 ประเด็น กับพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง พร้อมคณะอนุกรรมการฯ
โดยในครั้งนี้มีตัวแทนพรรคเพื่อไทยเข้าให้ความเห็นประกอบด้วย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยตัวแทนแกนนำพรรคเพื่อไทย ได้แก่ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, โภคิน พลกุล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย, ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย, ชัยเกษม นิติสิริ อดีต รมว.ยุติธรรม และชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมพูดคุย
โภคิน พลกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการให้ข้อคิดเห็นต่อคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่กระทรวงกลาโหมว่า หากจะให้การปรองดองประสบผลสำเร็จ รัฐบาล และ คสช.ต้องมีความจริงใจ ยึดหลักนิติธรรม พร้อมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในอดีต พร้อมทั้งขอให้หยุดใช้วาทกรรมการใส่ร้าย และเสนอให้ตั้ง คณะกรรมการอิสระที่มาจากทุกภาคส่วน เน้นความจริงใจ ไม่มีอคติ และให้อภัย
โภคิน กล่าวอีกว่าหากมองในมุมกว้างคู่ขัดแย้งทางการเมือง อาจรวมถึงคู่ขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยกับคนยากจน คู่ขัดแย้งที่อยู่ในอำนาจมีทั้งพรรคการเมือง กองทัพ และราชการ ที่ได้ประโยชน์แฝง รวมทั้งประชาชนที่ต้องการใช้อำนาจผ่านการเลือกตั้ง ดังนั้น คู่ขัดแย้งไม่ได้มีเฉพาะ 2 พรรคการเมืองใหญ่ หรือ เสื้อเหลือง เสื้้อแดง แต่ต้องถือว่าทุกคนมีส่วนร่วมในความขัดแย้งนี้
รวมทั้งควรปฏิรูปให้ภาคประชาชนสามารถตรวจสอบองค์กรยุติธรรม ทั้งศาล และองค์กรอิสระ ควรมีความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด อย่าให้รู้สึกว่าเกิด 2 มาตรฐาน ทุกองค์กรต้องระมัดระวังในการใช้อำนาจให้ถูกต้อง โดยหลักทุกคนต้องหยุดเฮทสปีช และองค์กรของรัฐอย่ามีอคติในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้ที่ผ่านมาประมาณ 1 เดือน เห็นความตั้งใจที่ดีของรัฐบาล แต่ยังอยากให้กระบวนคงอยู่แม้มีการเลือกตั้ง หากมีคณะกรรมการอิสระซึ่งเป็นตัวแทนจากทุกภาคส่วน ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วม จะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับ
เมื่อถามว่า เหตุใดพรรคเพื่อไทยถึงตัดสินใจเข้าร่วมการปรองดองในครั้งนี้ นายโภคินกล่าวว่า เพราะสังคมตระหนักแล้วว่าเราจะอยู่ในความขัดแย้งต่อไปแบบนี้ไม่ได้ และไม่เกี่ยวว่าใครเป็นคนริเริ่ม ส่วนข้อเสนอของพรรคได้หารือกับนายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่นั้น ไม่ได้ไปถึงขั้นนั้น แต่ได้สอบถามความคิดเห็นจากหลายๆ คน พร้อมทั้งศึกษาเพิ่มเติมจากงานวิชาการ
"ผมหวังว่าเวทีปรองดองครั้งนี้จะไม่ใช่แค่พิธีกรรม และขอให้นักวิชาการ สื่อมวลชนเสนอความคิดเห็นได้อย่างเสรี ทำนองเดียวกันหากการปรองดองในครั้งนี้ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ก็จะตอบโจทย์การปรองดองไม่ได้ ส่วนการลงนามข้อตกลงการอยู่ร่วมกันในอนาคต ผมคิดว่าเรายังไม่ควรพูดถึงอนาคต เราไม่รู้ว่าอนาคตต่อไปจะเป็นเช่นไร เลยไม่อยากเอาอนาคตมาทะเลากัน" นายโภคินกล่าว
อย่างไรก็ตาม นายโภคิน ย้ำว่าวันนี้ไม่มีการพูดถึงการนิรโทษกรรม เพราะมีรายละเอียดที่ต้องทำความเข้าใจในเชิงหลักการ และวิธีคิดให้ตรงกันก่อน เพราะอาจมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ส่วนผู้ที่ตกเป็นเหยื่อต้องเป็นฝ่ายให้อภัย ส่วนสิ่งที่ผู้มีอำนาจพึงกระทำคือ ขอโทษ และการที่พรรคเพื่อไทยเข้าร่วมการปรองดองครั้งนี้เป็นเพราะต้องการให้ประเทศเดินหน้า ไม่เกี่ยงว่าทหาร หรือใครเป็นผู้จัด เพราะหากปฏิเสธก็เท่ากับไม่อยากเห็นการปรองดองอย่างแท้จริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอกสารเรื่องหลักการและแนวทางการปรองดองของพรรคเพื่อไทยที่เสนอต่อคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ ประกอบด้วย 6 ประเด็น คือ
1.ปัจจัยที่จะทำให้การปรองดองเกิดความสำเร็จ รัฐบาลและ คสช.ต้องจริงใจในการดำเนินการ มีความเข้าใจและมีองค์ความรู้ที่ถูกต้องในกระบวนการปรองดอง และปราศจากอคติ
2.การปรองดองและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ต้องอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมทางสังคมเช่นไร โดยระบุให้องค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องยึดหลัก "นิติธรรม" ในการปฏิบัติหน้าที่ และสิ่งที่ละเลยไม่ได้คือ "การให้อภัย" ซึ่งต้องเป็นไปในสองแนวทาง ดังนี้ หนึ่ง-ผู้ที่ได้ประโยชน์จากความขัดแย้ง ต้องเลิกคิดหาประโยชน์จากความขัดแย้ง ต้องไม่ย่ำยีผู้ที่เป็นเหยื่อของความขัดแย้งอีกต่อไป ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือเหยื่อของความขัดแย้งต้องปรับจิตใจตนเอง โดยยอมรับการให้อภัยต่อผู้ที่กระทำต่อตน สอง-ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องยอมรับในกระบวนการยุติธรรมที่จะนำไปสู่ความสมานฉันท์ นั่นคือการนำการให้อภัยไปสู่การปฏิบัติต่อไป
3.ค้นหาสาเหตุของความขัดแย้ง เพื่อการยอมรับและนำไปสู่การแก้ปัญหา
4.การกำหนดคู่ขัดแย้งต้องไม่พิจารณาแบบอัตวิสัยเพื่อโทษบางคนบางกลุ่ม หรือมุ่งไปที่สองพรรคการเมืองใหญ่ และกลุ่มอิทธิพลใหญ่คือ กลุ่มเสื้อเหลืองกับกลุ่ม กปปส.และกลุ่มคนเสื้อแดง
5.กระบวนการในการสร้างความปรองดอง ต้องพิจารณาและยอมรับในสาเหตุร่วมกัน, การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม และการหามาตรการเสริม "หลักนิติธรรม" เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในอนาคต
6.ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ควรจัดตั้ง "คณะกรรมการอิสระ" ที่มาจากทุกภาคส่วนมาเป็นผู้ดำเนินการในกระบวนการปรองดอง ต้องเปิดโอกาสให้นักวิชาการ สื่อมวลชน องค์กรภาคประชาชน และผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งร่วมเสนอความคิดเห็นในเรื่องนี้ได้อย่างเสรี และผลสรุปของแนวทางการสร้างความปรองดอง ต้องเป็นข้อตกลงร่วมกันบนพื้นฐานของการคำนึงถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของมนุษย์อย่างเท่าเทียม ผูกพันกับหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมที่เป็นสากล ไม่ใช่เกิดจากการบังคับด้วยอำนาจ
ด้านพล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ได้แถลงข่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 6 - 8 มี.ค. มีพรรคการเมืองที่เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย พรรคภราดรธรรม พรรคพลังพลเมือง พรรคพลังประเทศไทย และพรรคเพื่อไทย โดยบรรยากาศการพูดคุยเป็นกันเอง ให้เกียรติซึ่งกัน มีความสร้างสรรค์และมุ่งมั่นในการเสนอทางออกให้กับประเทศ ซึ่งแต่ละพรรคต่างเอาใจช่วยให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของการเกิดความปรองดองในครั้งนี้ ทั้งนี้การแถลงผลทุกครั้ง มาจากความคิดเห็นของพรรคการเมืองต่างๆที่เข้ามาให้ข้อคิดเห็นมิใช่ความคิดเห็นส่วนตัวหรือการสรุปเรื่องส่วนตัวแต่เป็นความเห็นของพรรคการเมืองต่างๆ
พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า พรรคการเมืองมองเรื่องการปรองดองว่า ความขัดแย้งถือเป็นเรื่องปกติของสังคม ซึ่งทุกพรรค เห็นประโยชน์ร่วมกันในการเดินหน้ารับทราบความจริง และหาทางออกจากความขัดแย้งร่วมกัน โดยการเปิดกว้างให้พรรคการเมือง ทุกฝ่าย แสดงความคิดเห็น หาทางด้วยกันด้วยใจเป็นกลาง และเป็นที่ยอมรับของประชาชนที่ช่วยกำหนดทิศทาง เพื่อหาทางออกร่วมกัน และให้ความรู้สึกที่เท่าเทียมในสังคม
พล.ต.คงชีพ กล่าวต่อว่า พรรคการเมืองมองอีกว่า การปรองดองจะต้องรับฟังจากผู้ระดับ ทุกภาคส่วน และทุกพรรคการเมืองเห็นร่วมกันว่าควรจะทำให้เกิดความสำเร็ จและขอให้มีความจริงใจ มีสายกระบวนการองค์ความรู้ที่ถูกต้อง โดยไม่มีอคติ มีความจริงจัง และไม่อยากให้เสียโอกาสในการทำงานครั้งนี้ เพราะเป็นการเริ่มต้นของการวางรากฐานการปรองดองที่จะพัฒนาไปสู่กระบวนการปรองดองในระบอบประชาธิปไตยในอนาคต ซึ่งอยากให้กำหนดเป็น road map เพื่อให้เกิดการยอมรับทุกฝ่าย โดยมีการเสนอกันว่ามีความจำเป็นจะต้องใช้หลักนิติธรรม หลักการให้อภัยซึ่งกันและกัน โดยไม่มีอคติและขอให้ใช้ข้อมูลการศึกษาทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เพื่อหาทางออกและอยากให้กระบวนการปรองดองมีอิสระ เปิดกว้างรับฟังทุกฝ่ายนำไปสู่ข้อสรุปปรองดองที่ยอมรับและมีความไว้วางใจร่วมกัน
พล.ต.คงชีพ ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนโครงสร้างความขัดแย้งพรรคการเมืองมองว่า เป็นโครงสร้างเชิงระบบซึ่งมีความเชื่อมโยงในหลายมิติ ไม่ใช่เพียงภาคการเมืองเป็นผู้ขัดแย้งเท่านั้น ทุกฝ่ายต้องทบทวนตัวเองว่ามีบทบาทเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่ผ่านมาอย่างไร และยังมีการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ความรู้สึก ที่คั่งค้างจำเป็นต้องใช้เวลา แล้วทุกฝ่ายจำเป็นที่จะต้องก้าวเดินร่วมกัน ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมนั้นมีความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง การเคารพและการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นธรรม ใช้ระบบ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาร่วมแก้ปัญหาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และให้อภัยซึ่งกันและกัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำการอย่างจริงจัง ทั่วถึง เป็นธรรมและจำเป็นจะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบเพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และองค์กรอิสระ ฉะนั้นการปฏิรูปจำเป็นจะต้อง ดำเนินการทุกฝ่าย เริ่มจากการปฏิรูปตัวเองไปไปพร้อมๆกัน ทั้งพรรคการเมือง ส่วนราชการรวมถึงกองทัพ กระบวนการยุติธรรม ภาคเศรษฐกิจกลุ่มทุน ภาคสังคมในทุกมิติ
“การให้ข้อมูลของพรรคเพื่อไทยในวันนี้ มีความตั้งใจจริงและจริงใจที่จะนำเสนอข้อมูลที่เกิดประโยชน์ และการพูดคุยเป็นประโยชน์อย่างมากที่จะดำเนินการเดินหน้าการสร้างความปรองดองสู่กระบวนการประชาธิปไตยต่อไป ยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยมีการเสนอการให้อภัยซึ่งกันและกัน แต่ไม่ได้พูดถึงการนิรโทษกรรม พร้อมยื่นเอกสารให้กับกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ส่วนจะมีจดหมายแทรกของ อดีตนายกรัฐมนตรีมาด้วยหรือไม่นั้นผมไม่สามารถตอบได้ และยืนยันว่าการพรรคภูมิใจไทยไม่ได้มีการเสนอในเรื่องของการ อภัยโทษ” พล.ต.คงชีพ กล่าว
ด้าน พล.อ.ต.รังสรรค์ เยาวรัตน์ ผู้ช่วยโฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ในส่วนของการรับฟังความคิดเห็นในระดับภูมิภาคนั้น ได้ดำเนินการคู่ขนานไปกับศูนย์กลาง ปัจจุบันมีการดำเนินการในหลายพื้นที่ มีประชาชนสนใจเข้าร่วมทุกภาคส่วน โดยบรรยากาศทั่วไปเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีการเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ในขณะนี้จังหวัดที่ได้มีการกำหนดให้เข้ารับฟังความคิดเห็นมีจำนวน 39 จังหวัด เหลือเพียง 37 จังหวัดที่อยู่ระหว่างการประสานงานกับกลุ่มที่จะเข้ามาแสดงความคิดเห็น ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในแห่งราชอาณาจักร (กอ.รมน.)คาดว่าจะสามารถกำหนด ให้ทั้ง 76 จังหวัดได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นได้ครบภายในสัปดาห์นี้ สำหรับในวันที่ 9 มี.ค.เวลา 13.30 น.พรรคประชาธิปไตยใหม่จะเดินทางมาแสดงความคิดเห็น ในขณะที่วันที่ 10 มี.ค.เวลา 09.00 เป็นต้นไป จะมี 3 พรรคการเมืองประกอบด้วย พรรคเพื่ออนาคต พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย พรรคถิ่นกาขาว เข้าเสนอความเห็น ในขณะที่กลุ่มนปช.จะเข้าเสนอความเห็น วันที่ 15 มี.ค. และ กลุ่มกปปส.วันที่ 17 มี.ค.