กิตติศักดิ์ สุ่มศรี ผู้ต้องหาชายชุดดำ 10 เมษาโดนอีกคดี มีส่วนประกอบระเบิดแสวงเครื่องในครอบครอง คดีปี 53 ก่อนหน้านี้ศาลยกฟ้อง 'เสกสรร' จำเลยอีกคนหนึ่งไปแล้วในคดีนี้ ทนายระบุ ตำรวจเอามาฟ้องใหม่ เหตุกิตติศักดิ์รู้จักกับเสกสรร
24 ส.ค.2558 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ นายกิตติศักดิ์ สุ่มศรี อายุ 46 ปี ผู้ต้องหาคดี ‘ชายชุดดำ’ ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำถูกนำตัวมาขึ้นศาลหลังถูกฟ้องในคดีลักษณะเดียวกันเพิ่มอีกในคดีหมายเลขดำที่ อ.1940/2558 ข้อหาครอบครองและพกพาวัตถุระเบิด เครื่องกระสุนปืนไปในที่สาธารณะ โดยอัยการฟ้องว่า ในช่วงต้นเดือนเมษายนถึงวันที่ 14 พ.ค.2553 จำเลยและเพื่อนอีก 2 คนได้มีวัตถุระเบิดลักษณะเป็นขวด M150 กระทิงแดงบรรจุน้ำมันเบนซินและบรรจุดินดำหรือดินเทา เป็นลักษณะระเบิดแสวงเครื่องที่ทำขึ้นเอง เรียกว่า ระเบิดขวด จำนวน 51 ขวด ถังดับเพลิงบรรจุปุ๋ยยูเรีย ถังแก๊ซ เครื่องจุดชนวนระเบิด เครื่องกระสุนปืนอาก้า โดยได้พกพาไว้ในรถเก๋งวิ่งไปมาในถนนย่านท่าแร้ง บางเขน
ศาลสอบถามจำเลยว่าได้ทราบข้อหาแล้วหรือไม่ จำเลยแจ้งว่าเพิ่งทราบข้อกล่าวหาในวันนี้และขอปฏิเสธทุกข้อหา
ด้านวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของจำเลยแจ้งต่อศาลว่าเพิ่งได้รับการแต่งเข้ามาใหม่ในคดีนี้ จึงขอความเมตตาศาลเลื่อนนัดพร้อม ศาลมีคำสั่งให้เลื่อนนัดพร้อมไปวันที่ 14 ก.ย.2558 เวลา 9.00 น.
วิญญัติกล่าวด้วยว่า กิตติศักดิ์ถูกฟ้องในคดีที่สองเพิ่มเติมอีกเพียงคนเดียว โดยคดีดังกล่าวเคยมีจำเลยที่ถูกฟ้องมาก่อนแล้วเมื่อปี 2553 คือ นายเสกสรร วรปีติเจริญกุล ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของรถที่มีส่วนประกอบของระเบิดแสวงเครื่องและเครื่องกระสุน แต่ท้ายที่สุดศาลยกฟ้อง จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ฟ้องร้องกิตติศักดิ์ โดยเชื่อมโยงว่าเสกสรรและกิตติศักดิ์ เป็นเพื่อนขับรถตู้โดยสารในวินเดียวกัน และเคยไปชุมนุมด้วยกัน
ทั้งนี้ ในคดีแรก คดีหมายเลขดำที่ อ.4022/2557 กิตติศักดิ์ สุ่มศรี และพวกอีก 4 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นหญิง 1 คน ถูกฟ้องว่ามีอาวุธปืนสงครามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและนำพาไปในที่สาธารณะ โดยมีพฤติการณ์สวมชุดดำเข้าไปในที่ชุมนุมกลุ่ม นปช.เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 ทั้งห้าคนถูกจับกุมในวันที่ 10-11 ก.ย.2557 ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวหลายครั้งแต่ศาลไม่อนุญาต จนศาลนัดพร้อมในคดีนี้เมื่อ 6 ก.ค.2558 และนัดพร้อมใหม่อีกครั้งในวันที่ 12 ต.ค.2558
ก่อนหน้านี้ทนายความได้เคยร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดด้วยเนื่องจากพบว่าลูกความถูกซ้อมทรมานระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่