วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2559

โดนแล้วที่ราชบุรี! หมายเรียก 10 ชาวบ้านร่วมเปิดศูนย์ปราบโกง ชุมนุมเกิน 5 คน

ภาพเปิดศูนย์ปราบโกง บ้านโป่ง  

หนึ่งในผู้แจ้งข้อกล่าวหาระบุ แค่ติดป้ายแล้วกินข้าว ไม่มีกิจกรรมใด ชาวบ้านที่โดนหมายกลัว ติดต่อไม่ได้หลายราย ยังไม่มีใครมีทนาย ไม่รู้จะทำอย่างไร ลั่นหากสอดส่องคนโกงไม่ได้ไม่รู้จะไปลงประชามติทำไม เพราะไม่มั่นใจเรื่องการโกง
20 มิ.ย. 2559 จากกรณีที่วานนี้ (19 มิ.ย.59) เป็นวันที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ประกาศตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติทั่วประเทศ ซึ่งในส่วนกลางที่ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าวนั้นถูกเจ้าหน้าที่อ้างคำสั่ง หัวหน้า คสช. เพื่อปิดศูนย์ดังกล่าว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) ส่วนในหลายจังหวัดมีทั้งที่เปิดได้และเปิดไม่ได้ 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จุดหนึ่งที่สามารถเปิดศูนย์ดังกล่าวได้ คือที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี อย่างไรก็ตามวันนี้ (20 มิ.ย.59) ผู้ที่ร่วมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่บ้านโป่งกลับได้รับหมายเรียกจาก สภ.บ้านโป่ง เนื่องจากมีผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้พนักงานสอบสวน สภ.บ้านโป่ง ดำเนินคดีผู้เปิดศูนย์ปราบโกงฯ ดังกล่าว ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองในที่เกิดเหตุเกิน 5 คนขึ้นไป ด้วยการขึ้นแสดงป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย 
บริบูรณ์ เกียงวรางกูล หนึ่งในผู้ถูกแจ้งข้อหา กล่าวว่า ก่อนเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ได้มีเจ้าหน้าที่โทรมาขอร้องตนล่วงหน้า 1 วันเพื่อขอไม่ให้เปิด วานนี้จึงได้นัดผู้ร่วมเปิดศูนย์เพื่อมาขึ้นป้ายว่าไม่ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า แล้วจากนั้นก็มีการกินข้าวร่วมกันเท่านั้น ใช้เวลาไม่นาน และหลังจากเปิดไม่ถึงครึ่งชั่วโมงทหารตำรวจก็เข้ามาที่ดังกล่าว
สำหรับเป้าหมายของการเปิดศูนย์ปราบโกงฯ นั้น บริบูรณ์ กล่าวว่า ต้องการเรียกร้องให้ประชาชนไปลงประชามติให้มากที่สุด หากคนมาแสดงประชามติมากที่สุดก็สามารถพูดได้เต็มปากว่าเสียงของประชาชนเขาต้องการแบบนี้ และอีกข้อหนึ่งคือเกรงว่าจะเกิดการโกงขึ้น จึงคอยตรวจสอบจับตา เพื่อไม่ให้เสียงที่ลงไปแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยกระบวนการเป็นการสังเกตการณ์เหมือนกับที่ทำกับการเลือกตั้งทั่วไป ไม่มีการชี้นำแต่อย่างใด
บริบูรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังปรึกษาหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยชุดแรกที่ถูกหมายเรียกมี 10 คน คาดว่าเขาอารูปหมู่ที่ถ่ายมาดูว่าใครเป็นใครแล้วออกหมายเรียก ขณะนี้ตนยังไม่มีทนายความ และยังไม่รู้ว่าข้อหาแบบนี้จะต้องประกันตัวหรือไม่ ไม่ทราบด้วยว่าหากต้องประกันตัวต้องใช้เงินเท่าไร และชาวบ้านแต่ละคนที่โดนเรียกบางคนก็มีเงิน บางคนก็ไม่มี 
"ตอนนี้ผมก็รู้สึกว่าสังคมไม่เป็นธรรมกับคน คนที่เหมือนคนกันทุกคน สังคมไม่มีความเป็นธรรมให้กับคนที่เหมือนคน ฉะนั้นพอเจอรูปนี้ ถึงเวลาเราอาจจะต้องบอยคอตนะ ผมคิดอยู่ว่าถ้าเกิดมันถึงขั้นที่สุดแล้ว เกิดมันทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้เราอาจจะต้องบอยคอต ลงประชามติเราเลือกไป เราก็โดนโกง เพราะเขาไม่ให้เราส่องหาคนโกง ถ้าเราไปลงแล้วเราถูกโกงเราจะไปลงเพื่ออะไร แต่ต้องดูพี่น้องเราก่อนที่โดนกัน เพราะตอนนี้ทุกคนกลัวหมด บางคนโดนแล้วปิดบ้านหนีหายไป ติดต่อไม่ได้" บริบูรณ์ กล่าวและเพิ่มเติมว่า 10 คนแรกที่โดนหมายเรียก หายหน้าไป 4-5 คนแล้ว วันนี้โทรหาก็ไม่มีใครรับโทรศัพท์ ทั้งเฟซบุ๊กและไลน์ก็บล็อคหมดเลย เหมือนพวกเขากังวลและกลัวมาก เนื่องจากเขาเป็นเพียงชาวบ้านต่างจังหวัดธรรมดา 

‘เสาร์’ ผู้ป่วยจิตเวช คดี 112 สู้คดี ศาลทหารนัดตรวจพยานหลักฐาน 19 ก.ย.


20 มิ.ย.2559 ที่ศาลทหาร มีนัดสอบคำให้การในคดีที่นายเสาร์ ผู้ต้องหาคดีกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยทนายความของจำเลยกล่าวว่า จำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ศาลทหารนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 19 ก.ย. 2559
นายเสาร์ ถูกกล่าวหาในความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 จากกรณีที่เขาเขียนข้อความลงในใบคำร้องของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยมีเนื้อหาทำนองว่าสามารถติดต่อกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผ่านสื่อได้
ทนายจำเลยแจ้งว่า ทนายความได้ระบุเหตุผลเพิ่มเติมต่อศาลว่า นายเสาร์ไม่มีเจตนากระทำความผิดตามกฎหมาย เนื่องจากมีอาการป่วยทางจิตในระดับวิกลจริตเป็นเวลานาน โดยก่อนหน้าที่จะมีการจับกุมเขาไม่ได้เข้ารับการรักษา ต่อมาเมื่อมีการจับกุมเกิดขึ้นหลังจากเขาถูกคุมขังจนครบกำหนดฝากขัง 84 วัน พนักงานสอบสวนได้ส่งนายเสาร์เข้ารับการรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ จนต่อมาเมื่อแพทย์ผู้รักษาลงความเห็นว่าเสาร์มีอาการทางจิตเวชแต่ยังสามารถสู้คดีได้อัยการจึงมีการดำเนินคดีนี้

มีชัยรับแจงสาระร่าง รธน.ต้องพยายามบอกว่ามีข้อดีอะไร แม้อาจถูกมองว่าชี้นำได้


20 มิ.ย. 2559 มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ต่อการจับตาการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ​โดยล่าสุดได้ยื่นหนังสือต่อองค์การสหประชามติ (ยูเอ็น) ต่อกรณีที่ถูกรัฐปิดกั้นการมีส่วนร่วมในกระบวนการประชามติร่างรัฐธรรมนูญ​ว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นอุปสรรคใดๆ ต่อผลที่จะเกิดขึ้นในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างแน่นอน เพราะกติกาการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของประเทศไทย เป็นไปตามกติกาสากล และไม่มีกติกาอะไรที่ผิดแปลกไป
ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มนปช.​นั้นมีสิทธิที่จะทำได้ หากไม่มีพฤติกรรมขัดขวาง หรือทำตัวให้เป็นอุปสรรคต่อการทำความเข้าใจในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ เพราะหากมีพฤติกรรมดังกล่าวจะถือว่าเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ และเข้าข่ายทำผิดกฎหมายทันที ซึ่งประเด็นดังกล่าวเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเป็นผู้ติดตามและพิจารณา

มีชัย กล่าวถึง สถานการณ์บิดเบือนเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ว่า ขณะนี้ยังพบประเด็นที่ถูกบิดเบือน ซึ่งตนขอเตือนไปยังหนังสือพิมพ์ให้ระวังการเผยแพร่เนื้อหาด้วยเพราะเมื่อช่วงเช้า วันที่ 20 มิ.ย. พบหนังสือพิมพ์บางฉบับที่เผยแพร่เนื้อหาไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ขณะที่การดำเนินการมีหลายเรื่องที่ กรธ. ส่งให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณา สำหรับการดำเนินการเรื่องดังกล่าว เร็วๆ นี้ตนจะขอเข้าพบกับ กกต. หลังจากที่มี กกต. ระบุว่าจะให้ กรธ. ไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดเอง แต่ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี เพราะ กกต. ในฐานะที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายควรมีหน้าที่กลั่นกรองเรื่องได้
ประธานกรธ.ได้กล่าวถึง การลงพื้นที่เพื่อติดตามและสังเกตการณ์การทำหน้าที่ของวิทยากรเผยแพร่เนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญในระดับพื้นที่ (ครู ค.) ว่า จากที่ได้รับข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ พบว่ามีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ และอยู่ในทิศทางที่ดี รวมถึงการทำงานดังกล่าวจะได้ผล แม้มีบางพื้นที่พบว่าย่อหย่อนไปบ้าง ส่วนกรณีที่พบว่าบางพื้นที่ ครู ค. ไม่สามารถอธิบายเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญให้ชาวบ้านเข้าใจได้นั้น ขอให้นำประเด็นปัญหาสอบถามกับทางวิทยากร​ฯ ระดับจังหวัด หรือระดับอำเภอ หรือสอบถามมายัง กรธ. ได้ สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น กรธ.​มีศูนย์รับฟังและประเมินผล หากพบว่าประเด็นใดที่เป็นปัญหาจะรวบรวมและส่งแนวทางแก้ไขกลับไปให้พื้นที่ ซึ่งยอมรับว่าการชี้แจงสาระของร่างรัฐธรรมนูญของกรธ.​ต้องพยายามบอกว่ามีข้อดีอะไร ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นการชี้นำได้ อย่างไรก็ตามการอธิบายข้อมูลหรือบอกข้อเท็จจริงของร่างรัฐธรรมนูญต้องทำเท่าที่ทำได้ และยอมรับสภาพที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
"กรณีที่อาจเกิดการก่อกวนการทำงานในพื้นที่นั้น ผมมองว่าประชาชนเขาฉลาด และรับรู้ รวมถึงเข้าใจได้เอง ว่า ในกลไกทางการเมืองที่บ้านเมืองเดินไปสู่ภาวะปกติ แล้วมีคนมาก่อกวนจะเกิดอะไรขึ้น ประชาชนย่อมทราบดี ขณะที่ปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่ เช่น ฝนตก น้ำท่วม ภูเขาถล่ม นั้น ผมเชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหากับการทำความเข้าใจ เพราะยังมีเวลาทำงานอีกกว่า1 เดือน” มีชัย กล่าว 

4 ข้อดีร่าง รธน. แก้ปัญหาและก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศ

วันเดียวกัน มีชัย ยังได้กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง "เจตนารมณ์และสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ" ตอนหนึ่งว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามเขียนหลักการ และกลไกที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ โดยความสำคัญของการทำร่างรัฐธรรมนูญ มี 4 ประเด็นหลัก คือ 1. สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ยืนยันว่าสิทธิของประชาชนไม่ได้ถูกลดทอนจากเดิม รวมถึงสิทธิทางการเมือง ที่แม้ว่า กรธ.จะเขียนรูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองต่างไปจากเดิม แต่ยืนยันว่าเพื่อให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนมีความหมาย 2. เน้นปราบปรามการทุจริต เพราะหากไม่สามารถแก้ปัญหาทุจริตได้ การพัฒนาประเทศจะต้องเป็นไปแบบกระเบียดกระเสียด 3. ปฏิรูปการศึกษา และ 4. ปฏิรูปตำรวจ และกระบวนการยุติธรรมรวมถึงระบบราชการที่ต้องปฏิรูปด้านวิธีปฏิบัติที่ดี เน้นการบริการประชาชนเป็นหลัก ทั้งนี้ กรธ. ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการ ไม่มีใครเป็นนักการเมือง ไม่มีความสามารถสู้รบกับนักการเมืองที่จ้องทำลายได้ เราจนปัญญา อาศัยแต่ความสุจริตเป็นที่ตั้งอธิบายและพูด เราจึงหวังให้ทุกคนที่มารับฟัง ช่วยเผยแพร่สาระสำคัญกับบุคคลใกล้ชิดด้วย

นปช.เผยยูเอ็นแนะร้องเลขาฯ ด้านประยุทธ์ ยกหูฟ้อง 'บัน คี มุน' บอกมีคนไม่หวังดีเคลื่อนไหว


20 มิ.ย.2559  จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) พร้อมแกนนำ เปิดเผยภายหลังการหารือกับสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่า ได้พูดคุยเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเจ้าหน้าที่ยูเอ็น แนะนำให้ทำหนังสือไปยัง บัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ หากจะเชิญมาสังเกตการณ์การออกเสียงประชามติในประเทศไทย และหาก กลุ่ม นปช. พบข้อมูลการละเมิดสิทธิ์เกี่ยวกับการทำประชามติ ก็ให้ส่งข้อมูลมายังยูเอ็นเป็นระยะ
ด้าน ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. กล่าวว่า ที่ผ่านมายูเอ็น สนใจและติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และได้แสดงความห่วงใยมาถึงรัฐบาลหลายครั้ง  กลุ่ม นปช. จะทำหนังสือถึงสหภาพยุโรป หรือ อียู เพื่อขอให้เข้ามาสังเกตการณ์การออกเสียงประชามติ  เพราะมองว่า อียู เป็นองค์กรที่มีประสบการณ์ตรง และมีบทบาทชัดเจน ในการเข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้ง หรือการลงประชามติในหลาย ๆ ประเทศ

ประยุทธ์ ยกหู ฟ้อง 'บัน คี มุน' บอกมีคนไม่หวังดีเคลื่อนไหว

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการพูดคุยกับ บัน คี มุน เมื่อช่วงเช้าทางโทรศัพท์ว่า ไม่มีอะไรมาก ปกติตนก็มีการพูดคุยกับ บัน คี มุน อยู่แล้ว มีโอกาสได้คุยกันหลายครั้ง และได้ชี้แจงมาตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 และได้มีการนัดกันล่วงหน้าจึงได้มีการพูดคุยกัน ซึ่งตนก็ได้พูดคุยถึงสถานการณ์บ้านเมืองของเรา ว่าขณะนี้การเตรียมการต่าง ๆ รวมทั้ง ระยะเวลาในการทำประชามติ รัฐธรรมนูญและการเข้าสู่การเลือกตั้ง ซึ่งตนยืนยันไปว่าทุกอย่างเดินไปตามโรดแมปที่วางไว้ ซึ่งสิ่งที่ได้เล่าให้ทางเลขาฯ ยูเอ็น ฟังคือความเคลื่อนไหวของคนที่ไม่หวังดี ซึ่งทางเลขาฯ ยูเอ็นให้รับทราบมาทั้งหมดแล้ว แต่ตนก็เป็นกังวลว่าไม่อยากให้เลขาฯ ยูเอ็นเกิดความไม่เข้าใจ แต่ก็เข้าใจว่าเข้าใจดี ซึ่งเราทุกคนต้องช่วยกันทำให้ความเข้าใจต่างๆ ไม่คลาดเคลื่อน การเสนอข่าวของสื่อก็ต้องระวังด้วย ยืนยันว่าที่ผ่านมาเราทำดีที่สุดแล้ว ที่จะสามารถทำได้ขณะนี้และตราบใดที่คนเหล่านี้ยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมันก็คงยังเป็นอยู่แบบนี้ ทุกคนก็อย่าไปสนับสนุน
“ท่าทีของบัน คี มุน ก็ดี และเดี๋ยวผมจะส่งคนไปพบ และพูดคุยกับท่านอีก เร็ว ๆ นี้ ในส่วนของความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่มีความพยายามจะไปร้องกับทางตัวแทนยูเอ็นนั้น ผมก็ได้บอกกับท่านว่ายังมีการเคลื่อนไหวลักษณะนี้อยู่ ก็ได้เล่ารายละเอียดให้ฟังท่านก็รับทราบ ผมก็ได้ขอบคุณในความห่วงและกังวลต่าง ๆ ซึ่งท่านก็มีให้มาโดยตลอดเพราะนายบัน คี มุน กับประเทศไทยก็มีความสนิทสนมกันมานาน ท่านก็เห็นบทบาท และศักยภาพของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหา ผมถือโอกาสเล่าให้ฟังถึงการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งทุกประเทศก็เห็นใจผม ให้กำลังใจในการที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไข และเผชิญกับสถานการณ์ที่มีความท้าทาย ซึ่งเขาก็เห็นว่าประเทศไทยกำลังเดินหน้า แต่ก็มีความท้าทายอยู่มากมาย ก็ขอเป็นกำลังใจให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งต่างประเทศเขาพูดกับผมอย่างนี้จริง ๆ ผมไม่ได้โกหกและเวลาที่ไปทุกประเทศก็พร้อมที่จะร่วมมือทางด้านการค้า และการลงทุนอย่างที่อินเดียก็มีหลายบริษัทที่พร้อมขยายกิจการในประเทศไทย เราต้องเริ่มทำไม่เช่นนั้นทุกอย่างก็จะกลับไปสู่ที่เก่า เราต้องช่วยกันนำประเทศกลับไปสู่โลกยุคใหม่ ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลเรื่องการเกษตรด้วยคอยดูว่าจะมีมาตรการดูแลภาคการเกษตร โดยเฉพาะการดูแลคนจนอย่างถูกต้อง เพราะเราหม่มีเงินเหลือเฟือ ฟูมฟาย ที่จะไปให้ตลอดเวลา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า บัน คี มุน ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องใดเป็นพิเศษบ้าง นายกฯ กล่าวว่า บัน คี มุนมีความเป็นห่วงเรื่องเดียวคือเรื่องการให้แสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งตนได้อธิบายไปแล้วว่าเรามีอยู่แล้ว เรื่องรัฐธรรมนูญก็มีการเปิดในทุกพื้นที่เกือบทุกจังหวัด ที่ผ่านมาการร่างรัฐธรรมนูญ “แต่ปัญหาคือว่าบางพรรคการเมืองไม่ร่วมมือ ซึ่งท่านก็เข้าใจ คือบางพรรคเข้ามามีส่วนร่วมแล้วมาอ้างทีหลังว่าไม่เห็นด้วย มันถูกต้องหรือไม่ ผมก็ถามท่านฯ ท่านฯก็เงียบไป แต่ก็รับฟัง ความจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัวที่ผมคุยกับนายบัน คีมุน เอามาพูดตรงนี้อาจไม่ค่อยดี แต่ผมก็ได้ขอบคุณท่านที่มีความห่วงและกังวลประเทศไทย อยากให้ประเทศไทยมีเอกภาพ ผมก็เลยเล่าให้ฟัง และผมพร้อมชี้แจงกับทุกประเทศ”

เล็งใช้ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง จับสื่อโซเชียล

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมามั่นใจว่าได้การเปิดช่องทางให้มีการแสดงความคิดเห็นแล้วหรือ นายกฯ กล่าวย้อนถามว่า “แล้วยังไม่เต็มที่อีกหรือวันนี้ แล้วจะเอาอะไรกันอีก จะให้ออกมาเดินกันตามถนน เอาไหม บอกมา เดี๋ยวผมจะให้ แล้วพวกคุณก็ต้องช่วยกันรับผิดชอบด้วย วันนี้การพูดในสื่อผมห้ามแล้วหรือยัง หรือจะให้ห้ามจะเอาแค่ไหนอีก ที่ผ่านมาพูดสร้างสรรค์ให้ผมบ้างไหม นั้นหรือคือประชาธิปไตย ที่พูดนั้นถูกต้องทั้งหมดหรือ ถ้าถูกทั้งหมดพวกเธอก็ไปอยู่กับเขาเลย”
เมื่อถามว่า แต่การที่รัฐบาล และคสช. ห้ามก็ยังพยายามไปใช้ช่องทาง และขยายความเปิดเผยตามสื่อโซเชียลพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “เดี๋ยวเขากำลังพิจารณากันอยู่ เขาก็จะจับกุมตามพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง ไม่กลัวคุกบ้างก็แล้วไป เป็นเรื่องของฝ่ายกฎหมายดูไม่ใช่หน้าที่ของผม คสช.ก็ดูแลอยู่ผมจะทำงานของผมในส่วนของรัฐบาล หน้าที่บางหน้าที่ให้คสช. จัดการ ดำเนินการร่วมกับฝ่ายกฎหมาย จะมาถามผมทุกเรื่องในฐานะที่ผมเป็นหัวหน้าคสช. ยอมรับว่าใช่ แต่ขอให้เขาทำให้เสร็จก่อนถ้าเขามีปัญหาเขาก็มาถามผม วันนี้เขายังไม่ถามพวกสื่อมาถามผมทำไม วันนี้เขาทำหน้าที่ได้อยู่แล้ว”
เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรกับพวกหนักแผ่นดินที่พูดบนเวทีสานพลังประชารัฐด้านการศึกษา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนพูดหมายถึงใคร ไม่รู้ ไม่ได้ว่าใคร สื่อก็ไปหากันเอง ยืนเปล่าๆเฉยๆหนักพื้น ไม่ทำอะไร ดีแต่ขัดขาขัดแข้งกฎหมายก็เต็มอีรุงตุงนังไปหมด เดี๋ยวคอยดูแล้วกันถ้าถึงเวลากระบวนการยุติธรรมเขาเรียกตัวแล้วก็หน้าซีดกันทุกตัว ทีอย่างนี้เก่งกันทุกคน

กำลังดูช่องระงับธุรกรรมทางการเงิน

เมื่อถามว่าการเคลื่อนไหวของแกนนำนปช.ถือว่าผิดสัญญาที่ตกลงกับคสช.เข้าขั้นต้องดำเนินคดีทางกฎหมายและระงับธุรกรรมทางการเงินหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า กำลังดูอยู่ เมื่อถามย้ำว่า สามารถดำเนินคดีได้แล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า กำลังดูอยู่ สามารถดำเนินคดีได้ทุกอัน เมื่อถามอีกว่าจะดำเนินการเลยหรือไม่ นายกฯ ตอบว่า จะต้องบอกสื่อให้ไปขยายความขัดแข้งทำไม ก็ระวังตัวไว้แค่นั้นถ้ามันไม่ไหวก็ไม่ไหว ตนก็อดทน เต็มที่แล้วคนไทยด้วยกัน

ประวิตรยันตั้งไม่ได้ แนะให้ไปคุย กกต.

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติว่า ตนยืนยันว่าไม่สามารถทำได้ ส่วนการที่ นปช.ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยระบุว่า ตั้งได้นั้น เป็นเพราะตีความผิด นายกรัฐมนตรีหมายถึงศูนย์ปราบโกงฯ ตั้งได้แต่ก็ผิดกฎหมาย
 
เมื่อถามว่า หาก นปช.จะขอตรวจสอบการทำประชามติร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ต้องไปพูดคุยกับ กกต.ก่อนว่าทำได้หรือไม่อย่างไร ไม่ใช่ใครอยากจะตั้งอะไรก็ได้
 
“ยังนึกไม่ออกว่าจะปราบโกงยังไง และถ้า นปช.ดำเนินการใด ๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย ก็จะต้องถูกจับตาและใช้ข้อกฎหมาย หากพบว่ามีการบิดเบือนข้อเท็จจริง” พล.อ.ประวิตร กล่าว
 
พล.อ.ประวิตร กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่แกนนำ นปช.จะไปร้องเรียนองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น อีกครั้งในวันนี้ก็ทำไป แต่เป็นเรื่องภายในประเทศ ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำอะไรที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

กกต.ระบุนปช.ช่วยตรจสอบประชามติได้ แต่อยู่ในกรอบกม.

ศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประวิตร แนะนำให้ นปช. มาคุยกับ กกต.เรื่องการตรวจสอบกระบวนการออกเสียงประชามติ ว่า การตรวจสอบกระบวนการออกเสียงประชามติเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่ต้องช่วยกันดูแล
 
“หากพบเห็นการทุจริตในกระบวนการออกเสียง สามารถแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่นตาสับปะรดของสำนักงานกกต.หรือจะมาแจ้งที่สำนักงานกกต.โดยตรง โดยการถ่ายภาพบันทึกหลักฐานสามารถกระทำได้ หากกลุ่มนปช. ต้องการเข้ามาช่วยทำงานในด้านนี้ กกต.ไม่ขัดข้อง เพราะถือเป็นประชาชนทั่วไป แต่การจะช่วยกันตรวจสอบ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย รวมทั้งไม่มีเจตนาแอบแฝงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง แต่มีจุดประสงค์เพื่อต้องการให้กระบวนการออกเสียงประชามติเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม” ประธานกกต. กล่าว

นักวิชาการ-นักสิทธิแถลงย้ำ เสรีภาพในการแสดงออกสำคัญต่อประชามติร่าง รธน.


ชี้ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 7 ส.ค.นี้ จะไม่สามารถดำเนินไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หากมาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประชามติ และประกาศ กกต. ซึ่งขยายความสาระของมาตราดังกล่าวยังคงอยู่ เหตุมีข้อห้ามกำกวมจำนวนมาก ยันคนโหวตเยส-โหวตโนต้องได้โอกาสแสดงความคิดเห็นเท่าเทียมกัน
21 มิ.ย. 2559 เวลาประมาณ 12.15 น.  โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), สมาคมเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิชาการและนักกิจกรรม  ร่วมอ่านแถลงการณ์เรื่อง "ประชามติกับการใช้สิทธิเสรีภาพ" ที่ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยชี้ว่า ประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค. จะไม่สามารถดำเนินไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หากมาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 และประกาศ กกต. เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2559 ซึ่งขยายความสาระของมาตราดังกล่าวยังคงอยู่ต่อไป เนื่องจากมีข้อห้ามจำนวนมากที่ใช้ภาษากำกวมไม่ชัดเจน ซึ่งจะส่งผลต่อการเสนอข้อมูลและความคิดเห็นในทางสาธารณะของประชาชนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ
"การออกเสียงประชามติย่อมตั้งบนฐานคิดว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย  ผู้จัดการลงประชามติต้อง “มอบอำนาจตัดสินใจสุดท้ายไว้ที่ประชาชน” ดังนั้น ผู้เห็นชอบและไม่เห็นชอบในประเด็นที่จะจัดทำประชามติจะต้องได้รับโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน ตามหลักสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับ รวมทั้งได้รับรองไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี" แถลงการณ์ระบุ
นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การอ่านแถลงการณ์ครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากที่ได้ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินฟ้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 61 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา
จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการ iLaw กล่าวว่า หน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คือต้องพยายามทำให้การออกเสียงประชามติสุจริตและเป็นธรรม อีกทั้งประชาชนควรจะได้รับข้อมูลครบทุกด้านเพื่อประกอบการตัดสินใจ
ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องร่วมอ่านแถลงการณ์ครั้งนี้ว่า เพื่อพยายามให้มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และไม่ปิดกั้นการมีส่วนร่วม รวมถึงการรณรงค์ของประชาชนเกี่ยวกับการลงประชามติเพราะจะไม่นำไปสู่ประชาธิปไตย

ชนกนันท์ รวมทรัพย์ สมาชิกกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM)กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญมีความสำคัญเพราะเป็นตัวกำหนดว่าประเทศจะดำเนินต่อไปอย่างไร ซึ่งควรเปิดให้มีการถกเถียงระหว่างข้อดีกับข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

แถลงการณ์เรื่อง “ประชามติกับการใช้สิทธิเสรีภาพ”
21 มิถุนายน 2559

การดำเนินการออกเสียงประชามติเพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจร่วมกันว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หากจะดำเนินไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม ประชาชนทุกส่วนจะต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตนและในการเข้าถึงข้อมูลและความคิดเห็นของผู้อื่น ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ลงคะแนนประชามติมีโอกาสศึกษาข้อมูลทุกด้านและสามารถชั่งใจได้ก่อนการตัดสินใจว่าจะลงคะแนนประชามติในทางใด นอกจากนั้นแล้ว ประชาชนควรจะต้องทราบอย่างชัดเจนว่า ถ้าตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง ผลของการตัดสินใจจะเป็นอย่างไร นี่คือหลักการของประชามติที่ยึดปฏิบัติกันทั่วโลก
แต่ในปัจจุบันปรากฏว่ารัฐบาลได้ทุ่มเงินภาษีของประชาชนเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในระดับชุมชนและระดับครัวเรือน โดยเป็นการเสนอข้อมูลที่อธิบายข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญเพียงด้านเดียว ซึ่งเท่ากับรัฐบาลกำลังใช้เงินภาษีของประชาชน (ซึ่งย่อมรวมถึงเงินภาษีของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ) เพื่อไปรณรงค์ให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ
ในขณะเดียวกันคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการลงประชามติมติให้เป็นไปตามหลักเสรีภาพและความเป็นธรรม ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2559 ซึ่งขยายความสาระของมาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ทั้งนี้โดยมีผลเท่ากับจำกัดโอกาสของประชาชนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่จะเสนอข้อมูลและความคิดเห็นในทางสาธารณะในลักษณะที่เป็นการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เช่นมีการห้ามประชาชนจัดการประชุมสัมมนาเพื่อวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญเว้นแต่มีหน่วยงานราชการหรือสถาบันการศึกษาหรือสถาบันสื่อร่วมจัด มีการห้ามประชาชนให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อหรือแจกจ่ายแผ่นพับหรือใบปลิวโดยการใช้ข้อความที่ “เป็นเท็จ” “รุนแรง” “หยาบคาย” หรือ “ปลุกระดม” รวมทั้งการห้ามจำหน่ายแจกจ่ายป้ายหรือเครื่องหมายสัญลักษณ์ที่มีลักษณะเป็นการรณรงค์เพื่อนำไปสู่การ “ปลุกระดม สร้างความวุ่นวาย”
ในทางปฏิบัติทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและกรรมการ กกต.ได้แสดงความพร้อมที่จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้แจกใบปลิวหรือผู้จำหน่ายแจกจ่ายเสื้อยืดที่มีเนื้อหารณรงค์ไม่รับต่อร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการขู่ที่จะดำเนินการกับศิลปินที่แสดงเพลงเสียดสีร่างรัฐธรรมนูญ
ด้วยข้อห้ามมากมายที่ใช้ภาษากำกวมไม่ชัดเจน และคำขู่ของกรรมการ กกต.บางท่านที่ออกทางสื่อมวลชนเป็นประจำ ประกอบกับโทษตามกฎหมายที่สูงถึงขั้นจำคุกนานสิบปี ปรับถึงหนึ่งแสนบาท ย่อมมีผลทำให้ประชาชนส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่มีความประสงค์ที่จะจัดกิจกรรมสาธารณะเพื่อเผยแพร่ข้อมูลและเหตุผลของตน หรือประสงค์ที่จะใช้ป้ายหรือเครื่องหมายสัญลักษณ์เพื่อชักชวนประชาชนไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ ถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ดังนั้นการเผยแพร่ข้อมูลและความคิดเห็นในส่วนที่สนับสนุนให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญย่อมมีข้อจำกัดอย่างมาก ทำให้แนวโน้มการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนนั้นเป็นการรับข้อมูลเพียงด้านเดียว

การออกเสียงประชามติย่อมตั้งบนฐานคิดว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย  ผู้จัดการลงประชามติต้อง “มอบอำนาจตัดสินใจสุดท้ายไว้ที่ประชาชน” ดังนั้น ผู้เห็นชอบและไม่เห็นชอบในประเด็นที่จะจัดทำประชามติจะต้องได้รับโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน ตามหลักสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับ รวมทั้งได้รับรองไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี
พวกเราที่ร่วมแถลงในวันนี้ เชื่อว่าประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค. จะไม่สามารถดำเนินไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หากมาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 และประกาศ กกต. เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2559 ยังคงอยู่ต่อไป

ลงชื่อ
นายจอน อึ๊งภากรณ์             ในนามของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
ดร.จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร     ในนามของสมาคมเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช         ในนามของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
ดร. นฤมล ทับจุมพล         
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี
ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง
นาย เอกชัย ไชยนุวัติ
นางสาว ชนกนันท์ รวมทรัพย์

ทดลองใช้รถไฟฟ้าสายสีม่วง จำลองสถานการณ์เมื่อ ‘คุณประยุทธ’ นั่งวีลแชร์ไปทำงาน


ต้องเดินทางบนถนนเพราะฟุตบาทที่มีนั้นใช้งานไม่ได้

เครือข่ายคนพิการกว่า 30 คนเข้าร่วมทดลองใช้รถไฟฟ้าสายสีม่วงบางใหญ่-บางซื่อ พบมีการพัฒนา แต่ยังมีปัญหาหลายจุด ลิฟต์-สิ่งอำนวยความสะดวกไม่พร้อมใช้งาน-ใช้งานไม่ได้จริง
21 มิ.ย. 2559 วานนี้ (20 มิ.ย.) ตัวแทนสมาคมคนพิการจังหวัดนนทบุรี ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการจังหวัดนนทบุรี และภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้หรือทีโฟร์เอ (T4A: Transportation for all) กว่า 30 คน ร่วมทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงตามที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เปิดให้มีการทดลองใช้ โดยสมมติสถานการณ์การเดินทางไปทำงานของ "นายประยุทธ" ซึ่งพิการนั่งวีลแชร์ โดยขึ้นจากสถานีตลาดบางใหญ่ จนถึงสถานีนนทบุรี 1 เพื่อสำรวจสิ่งอำนวยความสะดวกของทั้งตัวรถไฟฟ้าและสภาพแวดล้อมรอบข้าง โดยมีสื่อมวลชนเข้าร่วมติดตามกว่า 20 คน
ทางลาดที่ลาดเข้าสู่ตัวลิฟต์ ไม่มีการแสดงสัญลักษณ์ห้ามจอดกีดขวาง


 การเดินทางเริ่มต้นตั้งแต่ 7 โมงเช้า ประยุทธซึ่งบ้านอยู่หลังห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวสต์เกต (สถานีตลาดบางใหญ่) ต้องเดินทางไปทำงานทุกๆ วันจันทร์ – เสาร์ที่สถานีนนทบุรี 1 ถึงแม้เซ็นทรัลเวสต์เกตจะมีลิฟต์เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นทางเลือกที่ง่ายและสะดวกที่สุดในการเดินทาง แต่ประยุทธก็ไม่มีทางเลือกมากนักเพราะช่วงเวลาที่เขาต้องเดินทางไปทำงานนั้น ห้างดังกล่าวยังไม่เปิด เขาเข็นรถตัวเองไปตามถนน สวนทางกับรถยนต์และถนน 6 เลน ฟุตบาทที่มีไม่สามารถขึ้นได้เพราะไม่มีทางลาด และเต็มไปด้วยแม่ค้าที่ขายของสารพัดอย่าง แม้เขาจะรู้สึกคุ้นชินที่ต้องเดินทางบนถนนที่รถวิ่ง แต่การเดินทางในหน้าฝนเช่นวันนี้ ก็ทำให้การเดินทางนั้นยากขึ้นอีกหลายเท่าตัว เขาเข็นตัวเองมาเกือบ 15 นาที ระยะทางกว่า 350 ม. จึงเจอลิฟต์ตัวแรกที่จะพาเขาเข้าสู่รถไฟฟ้า
ประยุทธมองหาทางลาด และพบว่าทางลาดที่เขาต้องใช้มีรถจอดขวางอยู่ เขาพยายามหมุนล้ออยู่หลายครั้ง วนอยู่หลายรอบ จนกระทั่งสามารถขึ้นไปถึงลิฟต์ แต่แล้วก็ต้องผิดหวัง เพราะลิฟต์ตัวเดียวที่มีถูกคาดด้วยเส้นห้ามเข้า เจ้าหน้าที่รถไฟฟ้าหลายคนมายืนรอเขาพร้อมกับสีหน้าที่ไม่สู้ดี พร้อมกล่าวว่า โครงสร้างลิฟต์ยังไม่เสร็จสมบูรณ์และยังไม่ได้ส่งมอบงานจากทางผู้รับเหมา จึงไม่สามารถเปิดใช้งานได้ เจ้าหน้าที่ 5 คน จึงมีหน้าที่ยกเขาขึ้นชั้นบนไปโดยปริยาย บันไดสี่สิบกว่าขั้นกับเจ้าหน้าที่ 5 คน เป็นภาพที่ทุลักทุเล และหากเขาต้องเดินทางแบบนี้ทุกวัน ก็น่าจะสร้างความลำบากไม่น้อย


ลิฟต์ตัวเดียวที่มีของทางออกนี้ ที่สถานีตลาดบางใหญ่ ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากโครงสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จึงทำให้เจ้าหน้าที่ต้องยกผู้โดยสารขึ้นทางบันได
ป้ายขนาดใหญ่ที่วางอยู่ริมฟุตบาท เป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการเดินทาง ไม่เพียงแต่คนพิการ คนทั่วไปที่ต้องการเดินทางก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
เมื่อประยุทธขึ้นไปบนชานชลาได้แล้ว เขาเข็นรถไปยังตู้รถไฟที่มีสัญลักษณ์วีลแชร์เพื่อรอขึ้น เขาพบปัญหาของช่องระหว่างเข้ารถ ที่พื้นด้านในมีความสูงกว่าชานชลาประมาณ 1 นิ้วครึ่งและห่างจากชานชลาประมาน 2 นิ้ว ซึ่งถึงแม้ว่า ระยะห่างเท่านี้จะดูน้อยนิด แต่สำหรับล้อหน้าของวีลแชร์ที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก จะสามารถเข้าไปติดได้ง่ายจนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
ทั้งนี้ ตลอดการเดินทาง พนักงาน 2-3 คน จะคอยเดินตามเพื่อกดลิฟต์ เปิดล็อกลิฟต์ คอยยกวีลแชร์เมื่อมีพื้นต่างระดับ และถึงแม้จะมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกหลายชิ้น แต่บางอย่างกลับใช้งานไม่ได้จริง เช่น ทางลาดบริเวณหน้าสถานีนนทบุรี 1 ซึ่งตัดลาดลงไปบนถนนที่รถวิ่ง การมีลิฟต์ในสถานที่ที่คนพิการไม่สามารถไปไหนต่อได้ เช่น ไม่มีทางลาด กรณีของประยุทธเมื่อเขาลงสถานีนนทบุรี1 ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทาง เขาต้องเดินย้อนศรลงไปบนถนนเพื่อเข้าที่ทำงานเนื่องจากบนฟุตบาทมีป้ายร้านอาหารขนาดใหญ่ตั้งอยู่ จนทำให้ไม่สามารถเดินผ่านได้
เขาต้องใช้เวลามากกว่า 1 ชั่วโมง ในการเดินทางที่ขึ้นชื่อว่าเร็วและสะดวก เวลาที่เสียไปส่วนมากเกิดขึ้นจากการตามหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน บางครั้งเมื่อเขาไม่สามารถหาสิ่งอำนวยความสะดวกหรือใช้งานเองได้ เขาก็จำเป็นที่จะต้องเรียกเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือ ซึ่งกินเวลาค่อนข้างนาน การส่งเสริมให้คนพิการ เช่นนายประยุทธซึ่งใช้วีลแชร์ได้ใช้ชีวิตด้วยตนเอง โดยการจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมและใช้งานได้จริง จะเป็นแรงสนับสนุนที่ดีที่ทำให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตนเอง

สายรัดวีลแชร์ที่อยู่บริเวณใกล้จุดเชื่อมต่อของแต่ละคัน 
ในรถแต่ละคัน จะมีที่สำหรับล็อกวีลแชร์นี้ 2-3 ที่

ระหว่างพื้นรถและพื้นด้านนอกยังมีช่องว่างและความสูงที่แตกต่างกันพอสมควร จึงอาจทำให้ผู้ใช้วีลแชร์เกิดอุบัติเหตุล้อรถเข้าไปติดได้


ป้ายไฟบอกทาง เป็นประโยชน์สำหรับผู้พิการทางการได้ยินที่ไม่ได้ยินเสียงประกาศ แต่ยังไม่ชัดเจนเพราะไม่รู้ว่าหัวรถหันทางไหน


สว่าง ศรีสม หนึ่งในผู้ร่วมทดลองใช้รถไฟฟ้าแสดงความเห็นระหว่างร่วมกิจกรรมว่า จริงๆ แล้วการใช้บริการขนส่งสาธารณะนั้นเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับ อีกทั้งทางเท้า ทางลาด หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และถึงแม้ในระบบรถไฟฟ้าจะพอมีอยู่บ้าง แต่เมื่อออกมาจากสถานีหรือตัวรถก็มักไปไหนต่อไม่ได้ จนทำให้ต้องหันไปนั่งแท็กซี่
“ผิดหวังกับการออกแบบรถไฟฟ้ามาก สักแต่ว่าใส่เข้าไปแถมยังไม่ครบอีก เรื่องนี้เกิดจากการที่ผู้ใช้จริงไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่ตอนวางแผนงาน การทำงานเลยแยกชิ้น ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหม่ในสังคมไทยแต่กลับไม่ให้คนรุ่นใหม่ๆ เข้ามามีส่วนร่วมเลย” เขากล่าว
นอกจากนั้นช่วงบ่าย ในงานเปิดตัวรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่เซ็นทรัลเวสต์เกต ทีโฟร์เอได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนปัญหาของระบบบริการรถไฟฟ้า พร้อมทั้งเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาสิ่งอำนวยความสะดวกต่อผู้ว่าการ รฟม. พีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล และรองผู้ว่าฯ นนทบุรี สุธี ทองแย้ม โดยทั้งสองรับปากว่าจะรีบดูและและจัดการปัญหาให้

รถไฟฟ้าสายสีม่วงบางใหญ่ - บางซื่อ มีระยะทาง 23 กิโลเมตร ประกอบด้วย 16 สถานี ได้แก่ สถานีคลองบางไผ่ สถานีตลาดบางใหญ่ สถานีสามแยกบางใหญ่ สถานีบางพลู สถานีบางรักใหญ่ สถานีท่าอิฐ สถานีไทรม้า สถานีสะพานพระนั่งเกล้า สถานีแยกนนทบุรี 1 สถานีศรีพรสวรรค์ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีกระทรวงสาธารณสุข สถานีแยกติวานนท์ สถานีวงศ์สว่าง สถานีบางซ่อน และสถานีเตาปูน โดยมีสถานีเตาปูนเป็นสถานีเปลี่ยนเส้นทาง (Interchange Station) ระหว่างสายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน โดยจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2559

เสียน้ำตากันมาเท่าไหร่ กับ ‘GT200’ TDRI ยกตัวอย่างของจัดซื้อพิเศษไม่‹โปร่‹งใส


จากกรณีเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลประเทศอังกฤษ ตัดสินยึดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 7.9 ล้านปอนด์ (ราว 395 ล้านบาท) จาก เจมส์ แมคคอร์มิค ผู้ต้องหาในคดีจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม เพื่อนำเงินไปจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของแมคคอร์มิคและพรรคพวกซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ดังกล่าว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์พร้อมทั้งแสวงหาผู้รับผิดชอบกรณี GT 200 ในประเทศไทยจำนวนมาก
ในโอกาสนี้ประชาไทขอหยิบรายงานศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จากโครงการวิจัย “คู่มือประชาชนรู้ทันคอร์รัปชั่นและการแสวงหาผลประโยชน์” โดยเผยแพร่ในหนังสือ “เมนูคอร์รัปชั่นและการแสวงหาผลประโยชน์” ตั้งแต่ มีนาคม 2557 (คลิกอ่านหนังสือดังกล่าวทั้งเล่มออนไลน์) ซึ่งมีการกล่าวถึงเครื่อง GT200 ด้วย โดยระบุว่า สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของราชการและประชาชน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม การประกอบอาชีพและวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ รัฐบาลจึงต้องจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เพื่อใช้จัดการปัญหาความไม่สงบ ซึ่งรวมถึงการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ‘GT200’ ซึ่งเป็นเครื่องตรวจจับสสารระยะไกลที่ผลิตโดยบริษัท โกลบอล เทคนิคอล จำกัด ในสหราชอาณาจักร โดยบริษัทดังกล่าวอ้างว่า GT200 สามารถตรวจสอบวัตถุต้องสงสัยต่างๆ ได้ทั้งระเบิดและยาเสพติด ด้วยเหตุนี้กองทัพบกจึงจัดซื้อเครื่อง GT200 เพื่อใช้ในการปฏิบัติภารกิจค้นหาระเบิดของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในช่วงปี 2550-2552 ซึ่งเกิดเหตุวางระเบิดบ่อยครั้ง
ที่มาภาพจากหนังสือ “เมนูคอร์รัปชั่นและการแสวงหาผลประโยชน์”  ดูภาพขนาดใหญ่
 

เส้นทางผลประโยชน์

เหตุระเบิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงเดือนตุลาคม 2552 นำ มาซึ่งความเคลือบแคลงสงสัยถึงประสิทธิภาพในการค้นหาระเบิดของเครื่อง GT200 โดยในช่วงแรกเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเครื่อง GT200 ว่าเกิดจากการที่เครื่องดังกล่าวมีความสัมพันธ์อย่างมากกับสภาพร่างกายของผู้ใช้ เนื่องจากเครื่อง GT200 ใช้ไฟฟ้าสถิตจากผู้ใช้เป็นกลไกหลักในการทำงาน หากผู้ใช้อ่อนเพลียย่อมส่งผลกระทบต่อความแม่นยำของเครื่องในการค้นหาวัตถุต้องสงสัย การให้เหตุผลเช่นนี้นำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำงานของเครื่อง ทั้งจากนักข่าวและประชาชนผู้สนใจ
 
อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ทั้งคณะรัฐมนตรี กองทัพบก รวมถึงสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ยังคงเชื่อมั่นว่าเครื่อง GT200 สามารถใช้งานได้ จนกระทั่งในเดือนมกราคม 2553 ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้ทำ การตรวจพิสูจน์เครื่อง ADE-651 ซึ่งเป็นเครื่องตรวจหาสสารลักษณะเดียวกันกับเครื่อง GT200 และพบว่าไม่มีวงจรหรือโปรแกรมใดๆ ภายในอุปกรณ์จึงเป็นไปไม่ได้ที่เครื่องจะทำงานได้ ผลการทดสอบดังกล่าวทำให้รัฐบาลอังกฤษแจ้งเตือนประเทศต่างๆ ที่ซื้อเครื่องตรวจหาสสารลักษณะนี้
 
เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า เครื่อง GT200 ไม่น่าจะใช้ค้นหาวัตถุระเบิดได้และเสนอให้มีการทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง GT200
 
ท้ายที่สุดจึงมีการทดสอบโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ในช่วงกลางเดือ ก.พ. 2553 พบว่า เครื่อง GT200 ตรวจพบวัตถุระเบิดเพียง 4 ครั้ง จากการทดสอบ 20 ครั้ง ซึ่งไม่มากไปกว่าการตรวจหาโดยการสุ่มผลการทดสอบนี้ทำให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นสั่งยกเลิกการจัดซื้อเครื่อง GT200 เพิ่มเติม และให้หน่วยงานที่ใช้อยู่ทบทวนเรื่องการใช้งาน 
 
ผลการทดสอบข้างต้นแสดงให้เห็นถึงปัญหาในการจัดซื้อ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์โดยมิได้ตรวจสอบการทำงานว่ามี ประสิทธิภาพจริงหรือไม่ ส่งผลให้เกิดการใช้งบประมาณอย่าง ไม่คุ้มค่า ทั้งนี้ ในช่วงที่เนคเทคทำ การทดสอบ หน่วยงานภาครัฐ ได้มีการใช้เครื่อง GT200 รวมถึงเครื่องตรวจหาสสารลักษณะเดียวกันอย่าง Alpha 6 รวมกันเกินกว่า 1,000 เครื่อง ซึ่งมีมูลค่ารวมกันหลายร้อยล้านบาท
 
นอกจากปัญหาการจัดซื้อเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์โดย มิได้ตรวจสอบการทำงาน วิธีการจัดซื้อก็อาจก่อปัญหาเช่นกัน โดยปกติการจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ หรืออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ของกองทัพ มักใช้การซื้อโดยวิธีพิเศษ ซึ่งในบางกรณีอาจมีความ จำ เป็น เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ แต่ในอีก ด้านหนึ่ง การจัดซื้อด้วยวิธีดังกล่าวอาจทำ ให้หน่วยงานภาครัฐ ได้ของที่ราคาแพงเกินจริง เมื่อเทียบกับการจัดซื้อโดยวิธีประกวด ราคา หรืออาจได้ของที่ไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ นอกจาก นี้ ความไม่โปร่งใสของการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ยังเป็นช่องทางให้ เกิดการทุจริต
 
แม้ว่ารัฐบาลจะจัดซื้อเครื่อง GT200 มาตั้งแต่ปี 2547 แต่การจัดซื้อจำ นวนมากเกิดขึ้นในช่วงปี 2550-2552 รัฐบาล ได้จัดซื้ออย่างน้อย 14 ครั้ง รวม 627 เครื่อง คิดเป็นมูลค่ากว่า 570 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดซื้อโดยกรมสรรพาวุธทหารบก 8 ครั้ง รวม 408 เครื่อง คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 370 ล้านบาท หรือเครื่องละประมาณ 900,000 บาท โดยใช้ทั้งงบประมาณของกองทัพบกและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ราชอาณาจักร (กอ.รมน.) แม้ว่าการจัดซื้อเครื่องตรวจจับระเบิดทั้งหมดเป็นการจัดซื้อ จากบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด แต่หน่วยงานต่างๆ กลับจัดซื้อด้วยราคาที่ต่างกันมาก โดยกรมศุลกากรจัดซื้อจำนวน 6 เครื่อง ราคาเครื่องละประมาณ 430,000 บาท ขณะที่กรมราชองครักษ์ กระทรวงกลาโหม จัดซื้อจำนวน 3 เครื่อง แต่ซื้อในราคาสูงถึงเครื่องละ 1.2 ล้านบาท ในช่วงเวลาห่างจากที่กรมศุลกากรจัดซื้อเพียง 3 เดือน
 
ทั้งกรมราชองครักษ์และกองทัพบกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงกลาโหม จัดซื้อเครื่อง GT200 โดยวิธีพิเศษทำให้ราคาสูงกว่าการจัดซื้อของกรมศุลกากร 1-2 เท่า และหากพิจารณางบประมาณของกระทรวงกลาโหมตั้งแต่หลังรัฐประหารในปี 2549 จะพบว่างบประมาณของกระทรวงกลาโหมเพิ่มสูงขึ้น เรื่อยๆ จนในปี 2556 สูงถึง 1.8 แสนล้านบาท การจัดซื้อโดยวิธีพิเศษจึงสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างไม่คุ้มค่ารวมถึงเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริต
 

ผลกระทบ

การจัดซื้อเครื่องมือที่มิได้มีการตรวจสอบการทำงานส่งผลให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างไม่คุ้มค่าและในกรณีการจัดซื้อเครื่อง GT200 น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งของการสูญเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่และประชาชน การจัดซื้อโดยวิธีพิเศษเอื้อให้เกิดการทุจริตและยากต่อการตรวจสอบ
 
 
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย การพัสดุ พ.ศ. 2535
ข้อ 23 การซื้อโดยวิธีพิเศษ ได้แก่ การซื้อครั้งหนึ่ง ซึ่งมีราคาเกิน 100,000 บาท ให้กระทำ ได้เฉพาะ กรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้
(1) เป็นพัสดุที่จะขายทอดตลาดโดยส่วนราชการ หน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการ ส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นซึ่งมีกฎหมายบัญญัติให้ มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การระหว่างประเทศหรือหน่วยงานของต่าง ประเทศ
(2) เป็นพัสดุที่ต้องซื้อเร่งด่วน หากล่าช้าอาจจะเสียหายแก่ราชการ
(3) เป็นพัสดุเพื่อใช้ในราชการลับ
(4) เป็นพัสดุที่มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นในสถานการณ์ที่จำเป็นหรือเร่งด่วน หรือเพื่อประโยชน์ของส่วนราชการและจำเป็นต้องซื้อเพิ่ม (Repeat Order)
(5) เป็นพัสดุที่จำเป็นต้องซื้อโดยตรงจากต่างประเทศหรือดำเนินการโดยผ่านองค์การระหว่างประเทศ
(6) เป็นพัสดุที่โดยลักษณะของการใช้งานหรือมีข้อจำกัดทางเทคนิคที่จำเป็นต้องระบุยี่ห้อเป็นการเฉพาะซึ่งหมายความรวมถึงอะไหล่ รถประจำตำแหน่งหรือยารักษาโรคที่ไม่ต้องจัดซื้อตามชื่อสามัญในบัญชียาหลักแห่งชาติตามข้อ 60
(7) เป็นพัสดุที่เป็นที่ดินและหรือสิ่งก่อสร้างซึ่งจำเป็นต้องซื้อเฉพาะแห่ง
(8) เป็นพัสดุที่ได้ดำเนินการซื้อโดยวิธีอื่นแล้ว ไม่ได้ผลดี