วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2559

แถลงการณ์สำนักพระราชวัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ รพ.ศิริราช ฉบับที่ 37


9 ต.ค. 2559 - เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 37 มีรายเอียดดังนี้
แถลงการณ์สำนักพระราชวัง
เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาประทับ ณ รพ.ศิริราชฉบับที่ 37
วันนี้ คณะแพทยผู้ถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รายงานว่า ในวันที่ 8 ตุลาคม 2559 คณะแพทย์ฯ ได้ขอพระราชทานถวายใส่สายสวนเข้าหลอดพระโลหิตดำเพื่อเตรียมการสำหรับการฟอกพระโลหิต (Hemodialysis) ระยะยาว และเปลี่ยนสายระบบน้ำไขสันหลังในโพรงพระสมองบริเวณบั้นพระองค์ (เอว) ตั้งแต่เวลา 14 นาฬิกาถึง 16 นาฬิกา 40 นาที ปรากฎภายหลังว่า มีความดันพระโลหิตลดต่ำลงเป็นครั้งคราว คณะแพทย์ฯ จึงได้ถวายพระโอสถและได้ใช้เครื่องช่วยหายพระทัย (Ventilator) เพื่อทำให้ความดันพระโลหิตกลับสู่ระดับปรกติ จนกระทั่งเวลา 3 นาฬิกาวันนี้ มีพระชีพจรเร็วขึ้น ความดันพระโลหิตลดลง ผลการตรวจพระโลหิตพบว่า พระโลหิตมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้น ผลการตรวจพระหทัยด้วยคลื่นเสียงสะท้อน (Echocardiography) พบว่า ปริมาณพระโลหิตที่เข้าสู่พระหทัยด้านซ้ายช่องล่างลดลงมาก อันเป็นผลจากการที่มีความดันพระโลหิตในพระปัปผาสะ (ปอด) สูง คณะแพทย์ฯ ได้ถวายพระโอสถขยายหลอดพระโลหิตในพระปัปผาสะ (ปอด) เมื่อเวลา 15 นาฬิกา ทำให้พระชีพจรเริ่มลดลงและความดันพระโลหิตดีขึ้น คณะแพทย์ฯ ได้เฝ้าติดตามพระอาการและถวายการรักษาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากพระอาการประชวรโดยรวมยังไม่คงที่ และได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้งดพระราชกิจ จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
สำนักพระราชวัง
9 ตุลาคม 2559

พลเอกประวิตร ขู่คนใช้โซเชียลมีเดีย อย่ายุ่งเรื่องส่วนตัว เผย สนช. ใหม่เลือกคนรู้จักมาช่วยงาน


รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงระบุ การเลือก สนช. ซึ่งมีทหารได้เก้าอี้เยอะ ถือว่าเหมาะสมแล้วเพราะได้คนมีความรู้ และเป็นคนรู้จัก พร้อมเผยตัวเองเป็นคนโสด จะยุ่งกับใครก็ได้ ถ้าไปยุ่งกับผู้ชายก็แปลก ขู่คนใช้โซเซียลมีเดียอย่ายุ่งเรื่องส่วนตัว

10 ต.ค. 2559 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น. กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์รายชื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพิ่มเติมใหม่จำนวน 33 คนที่มีเอกสารออกมาเผยแพร่ว่าส่วนใหญ่มีแต่ทหารนั้นว่า สนช.ใหม่มีหน้าที่พิจารณากฎหมายซึ่งจะนำคนเหล่านี้ไปช่วยงานเพิ่มเติมในชุดคณะกรรมาธิการที่พิจารณากฎหมายแต่ละฉบับ ถือว่าเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ถ้าตนไปนำใครมาก็ไม่รู้ และไม่รู้ว่าใครเป็นใคร สนช.ก็จะตีกันมั่วไปหมด ดังนั้นต้องเลือกคนที่รู้จักมาช่วยเหลือ อีกทั้งคนเหล่านี้ก็มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ จึงนำเข้ามาทำงาน อย่างไรก็ตามยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การตอบแทน เพราะพยายามเลือกคนที่อยู่ภายใน กทม. มาทำงานเพื่อเข้าร่วมประชุมได้ ไม่ใช่แต่งตั้งขึ้นมาแล้วมาเข้าร่วมประชุมไม่ได้ เพราะติดราชการ
เมื่อถามว่ามีคนตั้งข้อสังเกตว่าว่าที่ สนช.ใหม่นี้เป็นบุคคลที่มีตำแหน่งใหญ่ในกองทัพ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็คิดกันไป เราต้องนำคนที่อยู่ใกล้และมีความรู้ความสามารถในการปกครองดูแลกองทัพ เรื่องนี้ไม่มีปัญหาและไม่เป็นอะไร ส่วนที่มองว่ามีทหารเป็นจำนวนมากก็ต้องเข้าใจว่าอยู่ในช่วงนี้ เมื่อทุกอย่างเดินตามโรดแมปก 1 ปี มีการเลือกตั้งทุกอย่างก็จบและเดินไปตามรัฐธรรมนูญ
พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงกรณีที่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในความนิยมตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลดน้อยลงว่า ตนคิดว่าความนิยมตัว พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ลด แต่ที่คะแนนลดลงคือเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ไม่มีเรื่องอื่น ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีทุ่มเทการทำงานอย่างเต็มที่
เมื่อถามว่าจะเกี่ยวกับเรื่องที่คนรอบข้างนายกรัฐมนตรีถูกโจมตีหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่เกี่ยว มีแต่คนนอกพยายามทำเรื่องที่ไม่เป็นประเด็นให้เป็นประเด็น โดยเฉพาะคนที่เล่นโซเชียลมีเดียที่อยากจะพิมพ์อะไรก็พิมพ์โดยไม่รับผิดชอบ ถ้าจับได้เมื่อไหร่ ตนจะฟ้องร้องให้หมด เพราะเวลานี้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) กำลังดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะคนที่บิดเบือน
เมื่อถามว่าแต่ตอนนี้มีคนมุ่งไปที่เรื่องส่วนตัวของ พล.อ.ประวิตรนั้น พล.อ.ประวิตรย้อนถามว่า “เรื่องส่วนตัวคือเรื่องอะไร ผมมีเรื่องอะไร เรื่องผู้หญิงหรือ ผมไม่ได้ไปยุ่งกับผู้ชาย มันแปลกหรือ ก็ผมเป็นโสดจะไปยุ่งกับใครก็ได้ ถ้าผมไปยุ่งกับผู้ชายก็แปลก” เมื่อถามอีกว่ามีคนมองว่าเมื่อไหร่ พล.อ.ประวิตรจะแต่งงาน พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “เรื่องของฉัน ส่วนจะมีคนรู้ใจหรือยัง ก็เป็นเรื่องของฉันเหมือนกัน เป็นเรื่องส่วนตัว อย่ามาถามเรื่องส่วนตัว ขอให้ถามเรื่องการทำงานของรัฐบาล ถ้ามีการพูดเรื่องจริงไม่มีใครเขาว่า ผมตอบเรื่องจริงทุกเรื่อง ไม่เคยโกหกนักข่าว ถามมาอย่างไร ผมก็ตอบแบบนั้น”

แพงทั้งแผ่นดิน 'พาณิชย์' เผยราคาอาหารแพงมา 9 เดือนติด


 
เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า ซึ่งเป็นหน่วยงานสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) ได้สำรวจราคาสินค้าอาหารบริโภค ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.) พบว่า ประชาชนต้องบริโภคอาหารในราคาที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการซื้ออาหารไปทำกินเองที่บ้าน เนื่องจากวัตถุดิบในการปรุงอาหาร มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่การออกไปบริโภคอาหารนอกบ้าน ตามร้านอาหาร ภัตตาคาร หรือตามร้านค้าทั่วไป ทั้งในตลาดและริมถนน ก็มีราคาแพงขึ้นเช่นกัน เพราะพ่อค้าแม่ค้าต่างปรับราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ พบว่าราคาอาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้านเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเดือนม.ค. อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่มขึ้น 0.65% นอกบ้าน เพิ่มขึ้น 1.06% เดือนก.พ. ในบ้าน เพิ่มขึ้น 0.55% นอกบ้าน เพิ่มขึ้น 0.76% เดือนมี.ค. ในบ้าน เพิ่มขึ้น 0.95% นอกบ้าน เพิ่มขึ้น 0.70% เดือนเม.ย. ในบ้านเพิ่มขึ้น 1.07% นอกบ้าน เพิ่มขึ้น 0.94% เดือนพ.ค. ในบ้าน เพิ่มขึ้น 1.07% นอกบ้าน เพิ่มขึ้น 0.88% เดือนมิ.ย. ในบ้าน เพิ่มขึ้น 1.34% นอกบ้าน เพิ่มขึ้น 0.91% เดือนก.ค. ในบ้าน เพิ่มขึ้น 1.22% นอกบ้าน เพิ่มขึ้น 0.78% เดือนส.ค. ในบ้าน เพิ่มขึ้น 1.09% นอกบ้าน เพิ่มขึ้น 1.02% และเดือนก.ย. ในบ้านเพิ่มขึ้น 1.00% นอกบ้าน เพิ่มขึ้น 1.07%
 
นอกจากปัญหาด้านค่าครองชีพแล้ว ยังพบว่า ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ หลายรายการ ก็มีราคาตกต่ำ แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการออกมารองรับ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะผลักดันให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น เช่น ข้าวเปลือกเจ้า 5% ราคาปัจจุบันตันละ 7,800-7,900 บาท มันสำปะหลัง ราคากิโลกรัมละ 1.50-1.65 บาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคากก.ละ 8-8.05 บาท เป็นต้น ซึ่งเป็นการซ้ำเติมรายได้ของเกษตรกร
 
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ ได้จัดทำแผนการทำงานเร่งด่วน ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ตามคำสั่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ขอให้หน่วยงานราชการ คิดแผนการทำงานใหม่ และไม่ใช่งานที่ดำเนินการเป็นประจำ ซึ่งนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ได้นัดประชุม เพื่อจัดทำแผนงานร่วมกับผู้บริหารทุกหน่วยงานในสังกัดไปแล้ว แต่ไม่มีแผนเร่งด่วนเรื่องการดูแลค่าครองชีพ และปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

‘ธงชัย วินิจจะกูล’ อภิสิทธิ์ปลอดความผิดเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมและนิติรัฐแบบไทย


‘ธงชัย วินิจจะกูล’ ระบุ สังคมไทยเป็นลูกผสมระหว่างสมัยใหม่กับสมัยโบราณ ยังมีความเชื่อฝังลึกว่าบุคคลไม่เสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย ยิ่งมีอำนาจสมบูรณ์ยิ่งมีความชอบธรรม เป็นนิติรัฐอย่างลดหลั่นตามชั้นชน ทำให้ ‘อภิสิทธิ์ปลอดความผิด’ เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยอยู่แล้ว
คลิปอภิปรายธงชัย วินิจจะกูล หัวข้อ "บททดลองเสนอว่าด้วยนิติรัฐแบบไทยๆ กับอภิสิทธิ์ปลอดความผิด (Impunity) และความเข้าใจสิทธิมนุษยชนอย่างผิดเพี้ยนในสังคมไทย"

8 ต.ค. 2559 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มีการจัดเสวนาวิชาการในโอกาสครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 ในหัวข้อ ความขัดแย้งและวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด (impunity) ในสังคมไทย จัดโดย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการจัดงาน 40 ปี 6 ตุลาคม 2519
ในงานดังกล่าวมีการนำเสนองานวิชาการหลายเรื่อง ในช่วงบ่ายแบ่งเป็น 1.เมื่อความจริงคือจุดเริ่มต้นของความเป็นธรรม: กรณีศึกษาคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในบริบทความขัดแย้งชายแดนใต้ โดย รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช 2."ใบอนุญาตให้ลอยนวลพ้นผิด: องค์กรอิสระกับการสลายการชุมนุมปี 2553 โดยพวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3. บททดลองเสนอว่าด้วยนิติรัฐแบบไทยๆ กับอภิสิทธิ์ปลอดความผิด (Impunity) และความเข้าใจสิทธิมนุษยชนอย่างผิดเพี้ยนในสังคมไทย โดยธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวิสคอลซิล แมดิสัน
อภิสิทธิ์ปลอดความผิดเกิดขึ้นได้อย่างไร
ธงชัย พยายามทดลองตอบคำถามว่า สิ่งที่เรียกว่าอภิสิทธิ์ปลอดความผิดของไทย เกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างไร
“บทบาทของบทความผมที่อยู่ในเล่มนี้ ผมพยายามสรุปในแบบที่ทำการบ้านน้อยหน่อย วันนี้ที่คนพูดมาแต่ละคนมีข้อมูลมากมาย ชัดเจน เป็นรูปธรรม ผมสารภาพว่าผมทำงานน้อยกว่า ไม่มีข้อมูลมากเท่าไหร่ แต่ผมพยายามจะเสนอ พยายามจะให้กรอบ พยายามจะสรุปว่า เราจะเข้าใจปรากฏการณ์เหล่านี้ ที่อาจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์เรียกว่า วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ผมเผอิญใช้คำต่างออกไปแค่นั้นเองว่า อภิสิทธิ์ปลอดความผิด คือไม่ใช่แค่วัฒนธรรม แต่มันก่อให้เกิดเงื่อนไขทางกฎหมาย ผมคิดว่าเป็นอภิสิทธิ์ชนิดหนึ่ง
“สิ่งที่ผมพยายามทำในบทความนี้คือพยายามจะเสนอกรอบความเข้าใจว่า อภิสิทธิ์ปลอดความผิด มันอยู่ในสังคมไทยได้ยังไง ผมเริ่มกลับไปดูว่าอภิสิทธิ์ปลอดความผิด มันอยู่ภายใต้วัฒนธรรมทางกฎหมาย อยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชนยังไง อภิสิทธิ์ปลอดความผิดอยู่ภายใต้นิติธรรม นิติรัฐของไทยที่บกพร่อง จะอธิบายความบกพร่องเป็นกรณีๆ ไป เป็นความฉ้อฉลเฉพาะกรณี หรือเอาเข้าจริงความฉ้อฉลนี้มัน Institutionalize มันเป็นเรื่องปกติอยู่ในรัฐและสังคมไทยมาเป็นเวลานานแล้ว ไม่ใช่แค่รัฐกับประชาชน แต่มันอยู่ในเงื่อนไขการดำรงอยู่ที่เรียกว่าวัฒนธรรมไทย จนเราคุ้นเคยกับมันแล้ว
“ผมจึงเขียนบทนี้ขึ้นมาว่า บททดลองเสนอ เพราะผมไม่มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผมรู้สึกโดยเหตุผล โดยตรรกะ โดยเฟรมของการอธิบายมันน่าจะได้ นั่นหมายความว่าหลังจากนี้ผมต้องทำงานเพื่ออธิบายมันให้ชัดขึ้น ผมมีโครงการจะเขียนเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งว่า รัฐสมัยใหม่ของไทยในการปรับตัวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ปลายศตวรรษที่ 19 ช่วงกลางรัชกาลที่ 5 และถัดมา ได้สร้างบรรทัดฐาน สร้างฐานรากของสังคมไทยยุคสมัยใหม่อย่างไรบ้าง ซึ่งฐานรากห้าหกอย่างของการเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ สังคมไทยยังไม่ได้เปลี่ยน...คือมีความเปลี่ยนแปลงมากมายที่ก่อร่างสร้างตัวบนฐานรากห้าหกอย่าง ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนเท่าไหร่”
หรือรัฐไทยไม่เชื่อในสิทธิมนุษยชนจริงๆ?
“ผมได้อ่านต้นฉบับหนังสือของอาจารย์ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ผมเริ่มต้นจากคำถามที่อาจารย์ไทเรลตั้งว่า รัฐบาลไทยยุคหลังละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่เป็นประจำ แต่เขากลับบอกว่าไม่ได้ละเมิด เราอาจตีความหรืออธิบายเรื่องนี้ได้ง่ายนิดเดียวแล้วจบเลย เขาโกหก แต่เนื่องจากผมเป็นนักวิชาการ ผมยอมรับไม่ได้ง่ายๆ บวกกับคำอธิบายอีกหลายครั้งของเขา มันสะท้อนว่าเขาคิดอย่างนั้นจริงๆ เขา ผมหมายถึงรัฐหรืออาจจะรวมหลายท่านในที่นี่ คือรวมประชาชนไทยด้วย ไม่ใช่แค่รัฐ
“หรือเอาเข้าจริงความฉ้อฉลนี้มัน Institutionalize มันเป็นเรื่องปกติอยู่ในรัฐและสังคมไทยมาเป็นเวลานานแล้ว ไม่ใช่แค่รัฐกับประชาชน แต่มันอยู่ในเงื่อนไขการดำรงอยู่ที่เรียกว่าวัฒนธรรมไทย จนเราคุ้นเคยกับมันแล้ว"
“เขาคิดอย่างนั้นจริงๆ ว่าสิ่งที่ทำอยู่ บางครั้งก็ผิด แต่มีเหตุผลว่าทำไมจึงไม่ผิด หรือบางครั้งที่เราดูว่าผิด ก็เพราะเรามีมุมมองต่างกัน เรามีมุมมองแบบหนึ่งจึงบอกว่าเขาผิด แต่เพราะเขามีมุมมองแบบหนึ่งจึงพูดอย่างจริงใจโดยเขาไม่คิดว่ามันผิด ผมพยายามจะเข้าใจส่วนหลังนี้ว่า เขาคิดยังไง หรือมีเงื่อนไขอะไรในสังคมไทยจึงไม่เห็นการกระทำเหล่านี้ว่าเป็นความผิด
“ผมไม่ได้จะตัดสินว่าถูก แต่งานของนักประวัติศาสตร์หรืองานที่ผมสนใจมักจะเป็นแบบนี้ พยายามเข้าใจว่าเขาคิดอย่างไร ถึงแม้เราจะไม่เห็นด้วยก็ตาม และถ้าเราไม่เห็นด้วย เราจะหักล้างอย่างไร
“รัฐบาลไทยมักจะตอบประจำว่า ไม่จริง เราไม่ได้ละเมิด มักจะตอบประจำว่าเป็นสถานการณ์พิเศษ อีกอย่างหนึ่งก็บอกว่าประเทศไทยมีลักษณะพิเศษ ต่างชาติไม่เข้าใจ อันสุดท้าย สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของฝรั่งตะวันตก ซึ่งประยุกต์ใช้กับประเทศไทยไม่ได้ สามอันหลังนี้ ผมคิดว่าเขาเชื่ออย่างนี้จริงๆ  หรือสักแต่ว่าอ้าง มันก็มีบางส่วน แต่ผมคิดว่าเขาบอกตัวเองว่าอย่างนั้น อย่าลืมว่าข้ออ้างทั้งสามข้อนี้ หลายคนในสังคมไทยรับฟังได้ นั่นแปลว่าเขาจูนคลื่นได้ใกล้เคียงกับคนในสังคมไทย
“ตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนมาก ตะกี้อาจารย์ไทเรลพูดถึงรัฐมนตรีต่างประเทศสมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผมมีอีกตัวอย่างในสมัยหลัง ให้เหตุผลแปลกๆ ที่สะท้อนว่าเขาไม่รู้ตัวว่าเหตุผลของเขาผิด สะท้อนว่าเหตุผลที่เขาให้ มันดี มันเหมาะสมแล้ว เป็นตัวอย่างเพื่อบอกว่าคนเหล่านี้คิดอย่างนั้นจริงๆ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศคนปัจจุบัน ออกมาให้สัมภาษณ์เกินหนึ่งครั้งเพื่อตอบโต้การตำหนิติเตียนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากต่างชาติ นายดอนมักจะตอบโต้ว่า ก็คนไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นเดือดร้อนกับการใช้อำนาจปราบปราม จับกุม หรือจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก การที่เขาใช้เหตุผลนี้เกินหนึ่งครั้งสะท้อนว่า นายดอนเชื่อว่าเหตุผลนี้ฟังดูดี ถ้าเหตุผลนี้ฟังดูห่วยเขาไม่พูดหรอก เขาคิดว่าต่อให้อย่างน้อยที่สุดฝรั่งก็ฟังไม่ขึ้น แต่เขารู้ว่าคนไทยฟังเขาอยู่
“ทำไมเหตุผลนี้จึงฟังดูดีในสังคมไทยล่ะ ผมเป็นนักประวัติศาสตร์ที่ทำงานเกี่ยวกับความคิด ความคิดวัฒนธรรมอะไรในสังคมไทยที่ทำให้ข้อแก้ตัวเหล่านี้มันฟังขึ้น แถมฟังขึ้นกับคนจำนวนไม่น้อยทีเดียว
“เขามองราวกับว่าเสรีภาพและสิทธิที่จะเป็นมนุษยชน มันเป็นความร่ำรวยเกินเหตุของคนบางคนเท่านั้นที่เรียกร้อง ไม่ใช่เรื่องของประชาชนทั่วไป นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงว่าเขาคิดเรื่องสิทธิไม่เหมือนเราแล้ว อย่างน้อยที่สุดไม่เหมือนผม"
“ตัวอย่างที่ผมยกเรื่องนายดอน ปรมัตวินัย เกิดการละเมิดขึ้น คนไทยไม่เห็นเดือดร้อนเลย ผมยกตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง เวลามีคนฆ่าคนตาย คนอื่นเดือดร้อนด้วยมั้ย คุณก็ไม่เห็นถูกฆ่า ใช่มั้ย คุณยังต้องเดือดร้อน ตำรวจต้องจับ เวลามีการข่มขืน มีการลักทรัพย์ ก็บ้านนั้นก็โดนไปสิ บ้านผมไม่โดน ทำไมตำรวจไม่บอกว่าเรื่องเล็กๆ บ้านนั้นโดนบ้านเดียว บ้านอื่นไม่เกี่ยว คนนั้นโดนฆ่าคนเดียว คนอื่นไม่โดนฆ่าด้วย ไม่เคยมีตำรวจออกมาพูดอย่างนี้ เพราะพูดไม่ได้ เพราะสิทธิในทรัพย์สินและร่างกายเป็นเรื่องที่รับรู้ทั่วไป ในสังคมไทยก็รับมาแต่โบราณแล้วว่า สิทธิในทรัพย์สินและร่างกายละเมิดไม่ได้ หากละเมิด ต่อให้เราไม่เกี่ยวข้องเลย ตำรวจต้องจัดการ นี่แสดงว่าเขาไม่มองว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสิทธิในนัยแบบนั้น
“เขามองราวกับว่าเสรีภาพและสิทธิที่จะเป็นมนุษยชน มันเป็นความร่ำรวยเกินเหตุของคนบางคนเท่านั้นที่เรียกร้อง ไม่ใช่เรื่องของประชาชนทั่วไป นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงว่าเขาคิดเรื่องสิทธิไม่เหมือนเราแล้ว อย่างน้อยที่สุดไม่เหมือนผม"
การผสมปนเประหว่างสมัยใหม่กับวัฒนธรรมดั้งเดิม
“แต่ในการตอบคำถาม ผมย้อนไปไกล พอดีมีสมมติฐานขึ้นมว่า หรือว่าเรื่องนี้เป็นวัฒนธรรมของไทยในยุคสมัยใหม่มาเป็นเวลานานแล้ว ตรงนี้ต้องขออธิบายนิดหนึ่ง สังคมไทยเข้าสู่สมัยใหม่ครึ่งหลังรัชกาลที่ 5 ถึงปัจจุบัน ไม่ได้แปลว่าเราดักดานอยู่แบบเก่า ไม่ใช่เลย แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเรากลายเป็นสมัยใหม่เป๊ะ สิ่งที่ผมพยายามทำทั้งชีวิตคือการปรับตัวสู่สมัยใหม่นี้ มันเกินภาวะลูกผสมอย่างไร บางอย่างก็ฝรั่งมากหน่อย บางอย่างก็ฝรั่งน้อยหน่อย
“วงการแพทย์ ชัดเจน คุณกินยาฝรั่ง เชื่อในยาฝรั่งก็มี แต่ยาไทยไม่เคยตาย ยังมีร้านขายยาแผนไทย แต่ละสังคมในการปรับตัวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ แต่ละสังคมที่ถูกรุกรานจากต่างชาติตอนปลายรัชกาลที่ 5 มีการปรับตัวในเรื่องนี้ด้วยกันทั้งสิ้น แต่การปรับตัวไม่ได้เสมอกันทั่วด้าน เช่นการเป็นฝรั่งหมดหรือคงความเป็นวัฒนธรรมพื้นเมืองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีหรอกฮะ ทุกอย่างมันปนๆ เปๆ แล้วแต่ว่ากิจกรรมด้านใดในชีวิตทางสังคมนั้นจะเป็นฝรั่งมากน้อยหรือจะเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมมากหน่อย ถ้าคุณเลยไปเรื่องใหญ่กว่าเรื่องยา อย่างเรื่องวัฒนธรรม หรือเทคโนโลยี หรือความเชื่อทางการแพทย์ก็ยังมีแตกต่างกัน ไม่มีใครอีกแล้วที่คิดต่อชีวิตของเราแบบดั้งเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลง แต่ก็ไม่มีใครเปลี่ยนไปเป็นแบบฝรั่ง ใครทั้งหลายที่คิดจะแอนตี้ฝรั่ง การถกเถียงว่าเป็นฝรั่งมากไป เป็นไทยมากไป จะไม่มีวันจบ เพราะสุดท้าย พวกเราเป็นลูกผสม
“ผมก็มาดูตรงนี้ว่า การปรับตัวเข้าสู่สมัยใหม่ของไทย เกิดการปฏิรูปกฎหมายครั้งใหญ่ตอน ร.ศ.128 ออกประมวลกฎหมายอาญาชุดใหม่ ก่อนหน้านั้นและหลังจากนั้นระยะใหญ่ คือประมาณตั้งแต่ ร.ศ.115 คือหลังเหตุการณ์ ร.ศ.112 แค่ 3 ปี เราเกิดการปรับตัวเปลี่ยนแปลงแล้ว ต่างชาติไม่พอใจมากกับวิธีพิจารณาความอาญาของไทย เขาไม่ได้สงสัยกฎหมายอาญา เขาสงสัยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือมันไม่ยุติธรรมในสายตาเขา รัชกาลที่ 5 บุกเบิกกฎหมายชุดแรกก่อนเปลี่ยนประมวลกฎหมายอาญาด้วยซ้ำไป คือเขียนกฎหมายเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความอาญาชั่วคราวขึ้นมา หลังจากนั้นใช้เวลาอีกหลายปีกว่าประมวลกฎหมายจะเสร็จใน ร.ศ.128 และใช้เวลาอีกมาจนถึงประมาณปลายรัชกาลที่ 6 จึงพร้อมจะปรับระบบกฎหมายใหม่ทั้งหมด แล้วกลับไปเขียนวิธีพิจารณาความอาญาใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมาย ปลายรัชกาลที่ 6 ตกทอดมาจนถึงช่วงสุดท้ายในชุดที่มีการปฏิรูปทั้งหมด เสร็จเอาหลังปี 2475 ใช้เวลาอยู่นานประมาณ 50 ปีในการปรับกระบวนกฎหมายทั้งชุด
“โจทย์ของผมก็คือการปรับตัวทั้งชุดต้องเกี่ยวข้อง ต้องมีผลต่อสิ่งที่เราเรียกว่านิติรัฐ ถ้าเราเชื่อว่านิติรัฐคือระบบที่กฎหมายเป็นใหญ่เกิดขึ้นในช่วงนี้ สมมติฐานผมที่เอามาเป็นเฟรมสำหรับบทความนี้ก็คือ มันไม่มีทางหรอกที่เราจะกลายเป็นนิติรัฐแบบฝรั่ง
“มันเป็นไปไม่ได้ เพราะสังคมไทยก่อตัวมาเป็นร้อยๆ ปี อยู่ๆ คุณจะมาเปลี่ยนปุ๊บเดียวเป็นฝรั่งหมด และก็ไม่มีทางหรอกที่สังคมไทย ระบบกฎหมายไทย นิติรัฐของไทย จะยังคงเป็นนิติรัฐแบบดั้งเดิม ไม่มีทาง เห็นชัดๆ อยู่ว่าเราเปลี่ยน แค่ระบบประมวลกฎหมาย ระเบียบวิธีพิจารณาแบบสมัยใหม่ก็เห็นในตัวอยู่แล้วว่าเราไม่ได้เป็นอย่างเดิม แต่ลูกผสมอันนี้ มันเกิดความเป็นฝรั่ง เป็นไทย มากน้อยกว่ากันอย่างไร”
บุคคล ‘ไม่’ เสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย
“สิ่งที่ผมอยากเสนอก็คือ ในบทความนี้ผมเน้นประเด็นหลักๆ ไม่กี่ประเด็น นิติรัฐแบบสมัยใหม่ ฐานของระบบกฎหมายสมัยใหม่ เน้นเรื่องปัจเจกบุคคล เพราะลึกๆ ความเข้าใจสังคมไทยเรื่องปัจเจกบุคลเราไม่เหมือนฝรั่ง ไม่ใช่สังคมไทยไม่มี สังคมไทยมีความคิดเรื่องปัจเจกบุคคลมานมนานกาเล แต่ไม่มีเหมือนที่ฝรั่งมี ไม่เหมือนกันยังไง ด้านตรงข้ามกับปัจเจกบุคคลคือรวมหมู่ กลุ่มบุคคล สังคมโดยรวม สองอย่างนี้สัมพันธ์กัน ถ้าผมจะพูดอย่างหยาบที่สุดก็คือสังคมไทยให้ความสำคัญกับสังคมโดยรวมมากกว่าปัจเจก ขณะที่ฝรั่งให้ความสำคัญกับปัจเจกมากกว่า ทุกสังคมมีทั้งปัจเจกบุคคล มีทั้งการคำนึงถึงองค์รวมของสังคมร่วมกัน ไม่มีสังคมไหนเลยที่ไม่รู้จักปัจเจกบุคคล ไม่มีสังคมไหนเลยที่ไม่รู้จักองค์รวมของสังคม เพราะฉะนั้นกฎหมายสมัยใหม่ของฝรั่งอยู่บนฐานของปัจเจกบุคคล ปัจเจกบุคคลในสังคมไทยไม่มีแบบนั้น
"ไทยเรามีธรรมเนียมนี้ แต่สมัยใหม่เราลืมว่ามีอยู่ นั่นหมายความว่าอำนาจไม่ได้ฉ้อฉล แต่อำนาจเป็นธรรม อำนาจอย่างสมบูรณ์จึงเป็นธรรมอย่างสมบูรณ์"
“เลยไปนิดหนึ่ง เราเชื่อกันว่า เราถูกสอนกันมาว่า เรารู้มาว่า บุคคลเสมอภาคกันเบื้องหน้ากฎหมาย รัฐธรรมนูญทุกฉบับเขียนอย่างนั้น ก็ถ้าสังคมไทยถือว่าคนไม่เท่ากัน แล้วบุคคลจะเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายก็เกิดปัญหาแล้วนะ
“คำถามคือว่าอันไหนชนะ บุคคลไม่เสมอภาคกันหรือบุคคลเสมอภาคกันตามกฎหมาย หมายถึงอันไหนจะมีน้ำหนักมากกว่ากันในคดีหนึ่ง ในปัญหาหนึ่ง นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง หลักสองอันนี้ ตอนนี้คนไทยเราสมัยใหม่พอจะรับแล้วว่า บุคคลเสมอภาคกันตามกฎหมาย แต่ขณะเดียวกันวัฒนธรรมไทยยังอยู่ สองอย่างนี้มันขัดกัน ในหลายกรณีไม่ขัดกันก็แล้วไป แต่เมื่อเกิดกรณีขัดแย้งกันขึ้นมาจะทำอย่างไร”
อำนาจอย่างสมบูรณ์จึงเป็นธรรมอย่างสมบูรณ์
“อันต่อมา ยกตัวอย่างให้ฟัง จะเห็นว่ามีปัญหาตลอด เรามักจะพูดภาษาฝรั่ง สำนวนฝรั่ง อำนาจที่สมบูรณ์ ฉ้อฉลอย่างสมบูรณ์ ความคิดนี้ไม่ใช่ไทย เป็นฝรั่ง ฝรั่งสมัยใหม่ด้วย ลอร์ดแอ็กตัน เพราะความคิดปรัชญาการเมืองของฮินดู-พุทธในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด คนจะมีอำนาจ จะต้องมีบุญ ใช่มั้ยฮะ ไม่มีบุญ ขึ้นมามีอำนาจยาก พูดง่ายๆ อำนาจกับบุญสะท้อนซึ่งกันและกัน
“คุณอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องเพ้อเจ้อนะ แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องราวที่สะท้อนหลักคิดอันนี้ เรารู้จักกันดี แต่เราไม่เคยโยง หนึ่ง-ตอนพระพุทธเจ้าเกิด โหรทำนายว่าถ้าไม่เป็นศาสดาก็จะเป็นกษัตริย์ เพราะฉะนั้นสองอย่างนี้บุญใกล้เคียงกันเลย อยู่ที่เจ้าชายสิทธัตถะจะเลือกทางไหน เรื่องราวนี้ปรัชญาพุทธสะท้อนว่าบุญใกล้เคียงกัน อีกเรื่องราวหนึ่งคือพระเจ้าอโศก เป็นกษัตริย์ที่แผ่บารมีไพศาล ฆ่าคนไปทั่ว สร้างอาณาจักรยิ่งใหญ่ แล้วพระเจ้าอโศกก็เป็นพุทธมามกะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด สองอย่างนี้ไปด้วยกัน ไทยเรามีธรรมเนียมนี้ แต่สมัยใหม่เราลืมว่ามีอยู่ นั่นหมายความว่าอำนาจไม่ได้ฉ้อฉล แต่อำนาจเป็นธรรม อำนาจอย่างสมบูรณ์จึงเป็นธรรมอย่างสมบูรณ์
“ผมไม่ได้บอกว่าสังคมไทยมีความคิดโบราณอย่างนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คุณคิดว่าสังคมนี้โตมาหลายร้อยปี จู่ๆ เปลี่ยนเป็นสมัยใหม่จะกำจัดความคิดพวกนี้หมดไปเหรอ ไม่มีทาง ผลคืออะไร ผลคือคนไทยและคนแถวนี้จำนวนมากเชื่อในอำนาจ เราเชื่อมั่น เชื่อใจอำนาจ คนที่ท่องว่าอำนาจฉ้อฉลทั้งหลายเป็นหัวฝรั่ง เราไม่ได้มีความคิดอย่างนั้นง่ายๆ หรืออย่างน้อยสับสนปนเปกันอยู่ เวลาเกลียดใครเราก็ด่าทักษิณใช้อำนาจฉ้อฉล พอรัฐประหารขึ้นมาเราบอกพวกนี้มีบุญ
“เรามีความเป็นลูกผสม ลูกผีลูกคนปนๆ กัน หรือมีตัวเลือกให้เราใช้ในการทำความเข้าใจจำนวนมาก ซึ่งขัดแย้งกันอยู่ระหว่างอิทธิพลจากตะวันตกกับของไทย”
วัฒนธรรม ‘ผิดจนกว่าจะพิสูจน์ว่าบริสุทธิ์’ ยังคงอยู่
“ประเด็นเรื่องอำนาจ ผมนำมาสู่อะไร สังคมไทยเข้าใจเรื่องสิทธิมาแต่โบราณของเอกชนซึ่งกันและกัน สิทธิในทรัพย์สิน สังคมไทยปกป้อง ยกเว้นพระมหากษัตริย์มีสิทธิมากกว่าคนอื่น นี่ว่าในทางแพ่ง แต่สังคมไทย ในทางอาญาหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน รัฐมีสิทธิมากกว่าเราเสมอ อีกอย่างที่เราชอบท่องกัน บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ว่าผิด อันนี้หลักสมัยใหม่ สมัยโบราณของไทยเขาไม่อายเลยนะว่า ถ้าเป็นความผิดทางอาญา คุณต้องผิดก่อนจนกว่าจะพิสูจน์ว่าบริสุทธิ์ เช่นอะไร สิ่งที่เรารู้จักที่เรียกว่าจารีตนครบาล ให้สันนิษฐานก่อนว่าผู้ต้องหาทางอาญาคือผู้กระทำความผิดในการละเมิดอำนาจของรัฐมีภาระในการพิสูจน์ว่าตนเองบริสุทธิ์ นี่มันกลับกันเลย
“กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์บอกว่า ความคิดทางอาญาของไทยยังเปลี่ยนน้อย เพียงแต่ท่านไม่ได้บอกออกมาเองว่า หลักที่ว่าต้องถือว่าผิดก่อนจนกว่าจะพิสูจน์ว่าบริสุทธิ์ยังคงมีอยู่ เพราะมันไม่ถึงกับคงอยู่อย่างเหนียวแน่น แต่วัฒนธรรมแบบนี้ยังอยู่ คุณดูสิ ความผิดทางอาญาตั้งแต่เรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง เช่น ฆ่าคนหรือปล้น เวลาเอาตัวผู้ต้องหาไปทำแผนประกอบการรับสารภาพ ถ้าคุณถูกสันนิษฐานก่อนว่ายังบริสุทธิ์ คุณทำได้มั้ย ไม่ได้ ข่าวดีนะฮะ วัฒนธรรมนี้เป็นลักษณะเฉพาะสำหรับไทย ไม่มีที่ไหนในโลกทำอีกแล้ว เพราะมันมาจากมรดกว่าเราสันนิษฐานว่าเขาผิด เราจึงเอาเขาไปประจาน การประจานก็เป็นสิ่งที่อารยธรรมในโลกไม่ทำกันแล้ว มันมากับจารีตเดิม สมัยใหม่เขาไม่ประจาน เขาเอาตัวเก็บไว้ การประจานเป็นการลงโทษในแบบสมัยเก่า
“เพราะฉะนั้นด้วยเหตุนี้ คุณคิดหรือว่าในความผิดทางอาญาที่ใหญ่กว่าการไปปล้นชิง ฆ่าคน แต่เป็นอาญาต่อรัฐโดยตรง คือความผิดหัวข้อกบฏทั้งหมด เขาจะสันนิษฐานว่าคนเหล่านั้นบริสุทธิ์ก่อน ไม่มีทาง กฎหมายหมิ่นจึงออกมาว่าคุณผิดก่อนจนกว่าจะพิสูจน์ว่าบริสุทธิ์ เพียงแต่เขาไม่พูดออกมาชัดๆ แต่ถือก่อนว่าคนเหล่านั้นมีความผิดจึงถูกปฏิบัติเช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการทรมาน คุณไปถามใครที่เคยติดคุก เราจะเจอการทรมานทั้งนั้น
“คุณวันชาติ ศรีจันทร์สุข คนเสียชีวิตรายสุดท้าย ไม่ได้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่ผูกคอตายในคุก ผมไม่รู้จนบัดนี้ว่าเขาผูกคอตายเพราะอะไร แต่เท่าที่ได้ยินและเล่าลือระหว่างอยู่ในคุกด้วยกัน เขาถูกรังแกจากขาใหญ่ในคุก ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการทรมาน เลยแขวนคอตาย การทรมานเหล่านี้ ถ้าเขาสันนิษฐานก่อนว่าคุณบริสุทธิ์ คุณต้องได้รับการประกัน หรือกรณีร้ายแรง เขาต้องปฏิบัติกับคุณอย่างดี แต่ของไทยการทรมานมักจะเกิดขึ้นในคดีร้ายแรง
“คดีร้ายแรงแปลว่าอะไร แปลว่าคดีอาญาที่ร้ายแรง ความผิดที่ละเมิดต่ออำนาจรัฐ ไม่ว่าจะละเมิดในแง่ว่าคุณฆ่าคนหรือละเมิดต่อตัวรัฐเอง ผมเขียนในบทนี้ว่า นิติวัฒนธรรมไทยมีหลายเรื่องมากที่เราต้องกลับมาทบทวนว่า เราอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น คำสั่งผู้ปกครองคือกฎหมายอันชอบธรรม อันนี้นักกฎหมายแทบทุกคนรู้ว่าวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างนี้ ศาลถึงออกมาบอกว่าคำสั่งคณะรัฐประหารทุกครั้งถือว่าเป็นกฎหมายที่ชอบธรรม เนื่องจากมีคนเขียนเรื่องนี้ไม่กี่คน เช่น อาจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาสอาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติ จะอธิบายว่าอันนี้เป็นหลักกฎหมาย เป็นสำนักหนึ่งของกฎหมายฝรั่ง ที่เรียกว่า Legal Positivism แล้วเราลอกเลียนมา พูดง่ายๆ ว่าการเปลี่ยนกฎหมายสมัยใหม่ เราเป็นฝรั่งมากไป จึงทำให้คำสั่งของผู้ปกครองเป็นกฎหมายในตัวมันเอง
“เขาไม่เคยคิดกลับกันว่า หลักกฎหมายเดียวกันนี้เป็นหลักเดียวกับหลักกฎหมายฮินดู-พุทธที่อยู่ในสังคมไทยมาเป็นร้อยๆ ปี ผู้ปกครองออกคำสั่ง ออกกฎหมายได้เอง เพราะฉะนั้นขณะที่อาจารย์แสวงหรืออาจารย์กิตติศักดิ์บอกว่า เราเป็นฝรั่งมากไป เราควรนำระบบธรรมะนิยมกลับมามากขึ้น ผมตั้งคำถาม อาจจะเป็นเพราะเป็นธรรมะนิยมแบบเดิมๆ มากไปต่างหาก เรายังเปลี่ยนไม่พอ
“ความยุติธรรมแบบไทยๆ คำว่า Justice รากของมันมาจากภาษาละตินว่า Jus มันไม่ได้แปลว่าธรรมะ ธรรมะคือภาวะที่กลับสู่ภาวะปกติ ภาวะปกติคืออะไรของพุทธ คือภาวะที่สมดุล ภาวะสมดุลกับ Jus ของละติน Jus ต้องมีการลงโทษ คือผิดต้องถูกลงโทษ ธรรมะกับ Jus ไม่ค่อยเหมือนกัน พอเราทำให้คำว่า Justice แปลว่ายุติธรรม เอาเข้าจริงไม่เหมือนกันเป๊ะ
"การสารภาพในกรณีคนที่ทำความผิดตามมาตรา 112 เราอาจจะเชื่อว่าในทางปฏิบัติช่วยให้ติดคุกสั้นลง มีโอกาสได้อภัยโทษ แต่คุณเคยคิดมั้ยว่า นี่คือการทำลายความเป็นมนุษย์ของคนที่เชื่อแบบนั้น"
“ตอนปรับตัวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ความยุติธรรมแปลว่าอะไร เป็นประเด็นหนึ่งที่รัชกาลที่ 4 กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ถกเถียงกันอย่างหนัก ทุกคนเหมือนกัน ลากเข้าพุทธหมด แต่การลากเข้าพุทธยังต่างกัน พระประยุทธ์ ปยุตโต ก็เคยเขียนเรื่องนี้ไว้ ก็ลากความยุติธรรมเข้าหาพุทธเหมือนกัน ผมไม่แน่ใจว่าความยุติธรรมในสังคมไทยเท่ากับ Justice หรือเปล่า”
การทำลายความเป็นมนุษย์ของมาตรา 112
“มาตรา 112 ผมถือเป็นตัวอย่างสุดยอดของการละเมิดรัฐ แต่ไม่ใช่เสมอไปนะ มันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณสามสี่สิบปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้นมาตรา 112 ไม่ได้เลวร้ายขนาดนี้หรอก แต่ทำไมในยุคหลังจึงอาการหนักขนาดนี้ เพราะการใช้มาตรา 112 แบบที่เป็นอยู่เป็นสัญลักษณ์ของภาวะวิกฤตในระบอบการปกครองที่ผมเรียกว่าประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์เหนือการเมือง จึงต้องใช้มาตรา 112 และมาตรา 112 ได้รวบรวมเอาสิ่งที่เป็นจารีตธรรมเนียมปฏิบัติในกฎหมายโบราณไว้เต็มไปหมด ตั้งแต่สันนิษฐานว่าคุณผิด ไม่ให้ประกัน จนถึงวิธีการที่น่าสนใจ ซึ่งผมยังไม่เห็นใครเขียน คือการสารภาพ
“วิธีการแบบโบราณกับความผิดอาญา เขาจะมีการบีบบังคับทรมานเพื่อให้สารภาพ การสารภาพไม่ได้เกิดจากความสมัครใจอยากจะสารภาพ บังคับทรมานเพื่อให้สารภาพให้ได้ การสารภาพในกรณีคนที่ทำความผิดตามมาตรา 112 เราอาจจะเชื่อว่าในทางปฏิบัติช่วยให้ติดคุกสั้นลง มีโอกาสได้อภัยโทษ แต่คุณเคยคิดมั้ยว่า นี่คือการทำลายความเป็นมนุษย์ของคนที่เชื่อแบบนั้น
“การทำลายความเป็นมนุษย์ชนิดนี้ไม่มีในกฎหมายโบราณ ซึ่งไม่ได้แคร์เรื่องความเป็นมนุษย์ แต่เราเป็นมนุษย์สมัยใหม่ เรามีความเชื่อ และในกรณีนี้มันเป็น Thought Crime เป็นความผิดทางอาญาเนื่องจากความคิด วิธีการที่เขาใช้คือใช้หลักโบราณ คือบังคับให้สารภาพ แต่ด้วยวิธีการสมัยใหม่ คือมีแรงจูงใจให้สารภาพว่าข้าพเจ้ายอมรับผิดแล้วนะ ผมใช้ตัวอย่างชะตากรรมของวิลสัน สมิธ ในหนังสือ 1984 ที่ถูกบีบบังคับทรมานเพื่อให้สารภาพยังไง และเพื่อให้กลับออกไปมีชีวิตอย่างไร้ชีวิตในสังคมนั้น”
อภิสิทธิ์ปลอดความผิดคือส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมและนิติรัฐไทย
“สุดท้าย ทั้งหมดนี้ ผมเสนอว่าอภิสิทธิ์ปลอดความผิด ก็เนื่องจากนิติรัฐของไทยไม่เคยเป็นนิติรัฐที่สถาปนาบนฐานปัจเจกบุคคล ไม่ใช่นิติรัฐที่อยู่บนฐานที่ว่าประชาชนทุกคนเสมอภาค เท่ากัน แต่เป็นนิติรัฐที่ยังรองรับความเหลื่อมล้ำเป็นช่วงชั้น โดยเฉพาะความเป็นช่วงชั้นของไทย ไม่ใช่ชนชั้นแบบมาร์กซ์ มันเป็นสถานะและช่วงชั้นตามฐานะอำนาจ ชั้นของไทยเป็นชั้นตามฐานะอำนาจ อำนาจในที่นี่ไม่ได้ต้องเป็นอำนาจรัฐ ยกตัวอย่างเช่นแม่บ้าน พ่อบ้าน ก็มีอำนาจเหนือลูก พ่อบ้านในความหมายหมู่บ้านก็มีอำนาจเหนือลูกบ้าน ไม่ได้ต้องเป็นรัฐ แต่หมายถึงระดับความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่ใช่รัฐอย่างเดียวที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคมทั่วทั้งสังคม ความเป็นช่วงชั้นของคนมันจัดตามอำนาจ นิติรัฐชนิดนี้ยังไม่ได้ทำลาย หรือไม่ได้อยู่บน หรืออย่างน้อยที่สุดอยู่ควบคู่กับการที่สังคมมีช่วงชั้น มันเป็น Patrimonial Rule of Law
“ฝรั่ง Rule of Law คือบุคคลเสมอภาคกัน เสมอภาคในระดับแนวราบ พอผมใส่คำว่า Patrimonial Rule of Law มันจึงเกิดนิติรัฐอย่างลดหลั่นตามชั้นชน อภิสิทธิ์ปลอดความผิดหรือ Impunity จึงเป็นส่วนหนึ่งอยู่แล้วในวัฒนธรรมและนิติรัฐชนิดนี้ เพราะใครยิ่งอยู่สูง ยิ่งมีอภิสิทธิ์มาก ใครอยู่ต่ำ อภิสิทธิ์น้อยหน่อย เช่นรวยแต่สถานะไม่สูงมาก อย่างมากก็ช่วยคุณเรื่องคุณขับรถชนคนตาย แต่ถ้าอยู่ในสถานะสูงมาก อำนาจมาก คุณอาจได้รับอภิสิทธิ์ปลอดความผิดต่อให้คุณสั่งฆ่าประชาชน เพราะคุณทำในนามของรัฐ กล่าวอย่างนามธรรม รัฐได้รับอภิสิทธิ์ปลอดความผิดอย่างสมบูรณ์ เอาผิดรัฐลำบาก เมื่อทุจริต ต้องขอดูก่อน เป็นอภิสิทธิ์ปลอดความผิดชนิดหนึ่ง
"พอผมใส่คำว่า Patrimonial Rule of Law มันจึงเกิดนิติรัฐอย่างลดหลั่นตามชั้นชน อภิสิทธิ์ปลอดความผิดหรือ Impunity จึงเป็นส่วนหนึ่งอยู่แล้วในวัฒนธรรมและนิติรัฐชนิดนี้ เพราะใครยิ่งอยู่สูง ยิ่งมีอภิสิทธิ์มาก ใครอยู่ต่ำ อภิสิทธิ์น้อยหน่อย"
“ในเมื่อนิติรัฐของไทยเป็นช่วงชั้น ความมีอภิสิทธิ์มีช่วงชั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของ Patrimonial Rule of Law เช่นนี้ เพราะฉะนั้นความเข้าใจที่เราเข้าใจสังคมไทยว่าประชาชนเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมายต่างๆ นานา เราเข้าใจผิด หรืออย่างน้อยที่สุดเราเข้าใจถูกเพียงครึ่งเดียว คือมันมีสองภาวะดำรงอยู่ควบคู่กันตลอดเวลา ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่สถาปนาด้วยการเขียนออกมาเป็นกฎหมายในแบบเดิมกับแบบใหม่ มันผสมปนเปกันอยู่ ผมไม่กล้าพูดว่าผสมปนเปแค่ไหน คงแล้วแต่กรณี
“ทั้งหมดนี้คือเฟรมเพื่อจะเข้าใจว่าทำไม...ไม่เพียงแต่กรณีต่างๆ ที่เราฟังในที่นี้ แต่ลึกๆ มันคือสังคมไทย มันยาก หลายวันที่ผ่านมา ผมพยายามพูดหลายครั้ง เรื่องอย่างนี้เรายังพออยู่กับมันได้ ไม่ถึงกับจะเป็นจะตายพรุ่งนี้มะรืนนี้ แต่ขณะเดียวกัน การต่อสู้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืน ต่อให้คุณปฏิวัติทางการเมืองได้พรุ่งนี้ ซึ่งสำคัญนะ มันช่วยปลดล็อกไปเยอะ 2475 ต่อให้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็เป็นตัวอย่างแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงเรื่องนิติรัฐ เรื่องวัฒนธรรมเหล่านี้ มันไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ชั่วข้ามคืน เราหนีไม่พ้นที่จะต้องต่อสู้ในกรณีต่างๆ ซึ่งสะท้อนภาพใหญ่อย่างที่กล่าวมา แต่การต่อสู้หนีไม่พ้นการต่อสู้ผ่านกรณีต่างๆ เหล่านั้น ต่อให้คุณจำที่ผมพูดได้หมดก็ไม่มีประโยชน์ ต้องต่อสู้ผ่านเคสรูปธรรมจำนวนมากเพื่อจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ จุดขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่น่าจะมีวิธีการอื่น วันนี้ผมขอจบแค่นี้ครับ”

‘พวงทอง ภวัครพันธุ์’ เมื่อองค์กรอิสระผลิตซ้ำวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด


‘พวงทอง’ วิจารณ์ คอป. และ กสม. สร้างความชอบธรรมต่อการใช้ความรุนแรงของรัฐผ่านรายงาน ละเลยข้อเท็จจริง ผลิตซ้ำวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดให้หยั่งรากลึกในสังคมไทย
คลิปพวงทอง ภวัครพันธุ์ นำเสนอหัวข้อ "ใบอนุญาตให้ลอยนวลพ้นผิด: องค์กรอิสระกับการสลายการชุมนุมปี 2553"
8 ต.ค. 2559 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มีการจัดเสวนาวิชาการในโอกาสครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 ในหัวข้อ ความขัดแย้งและวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด (impunity) ในสังคมไทย จัดโดย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการจัดงาน 40 ปี 6 ตุลาคม 2519
ในงานดังกล่าวมีการนำเสนองานวิชาการหลายเรื่อง ในช่วงบ่ายแบ่งเป็น 1.เมื่อความจริงคือจุดเริ่มต้นของความเป็นธรรม: กรณีศึกษาคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในบริบทความขัดแย้งชายแดนใต้ โดย รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช 2.ใบอนุญาตให้ลอยนวลพ้นผิด: องค์กรอิสระกับการสลายการชุมนุมปี 2553 โดยพวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3. บททดลองเสนอว่าด้วยนิติรัฐแบบไทยๆ กับอภิสิทธิ์ปลอดความผิด (Impunity) และความเข้าใจสิทธิมนุษยชนอย่างผิดเพี้ยนในสังคมไทย โดยธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวิสคอลซิล แมดิสัน
โดยในส่วนนี้จะเป็นการบรรยายของพวงทอง ภวัครพันธุ์
วิธีการใหม่ในการลอยนวลพ้นผิด
พวงทองนำเสนอว่า เวลาที่พูดถึงวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด วิธีการมาตรฐานที่สังคมไทยและชนชั้นนำไทยคุ้นเคยในการปกป้องตนเองไม่ให้รับผิด คือการออกกฎหมายนิรโทษกรรม นับตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมามีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม 22 ฉบับ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น เสนอว่าความพยายามที่จะปกป้องตนเองผ่านการเขียนประวัติศาสตร์ โดยหน่วยงานราชการ การบันทึก การตอบโต้จดหมายที่มีคนส่งเข้ามาจากองค์กรนิรโทษกรรมสากลทั่วโลก โดยบันทึกออกไปว่าไม่มีการละเมิด
ในบทความของพวงทอง เป็นการกล่าวถึงวิธีการอีกแบบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่เป็นความพยายามสร้างการลอยนวลพ้นผิดในกรณีสลายการชุมนุมเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ซึ่งจะเห็นว่ากรณีนี้ไม่มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งต่างจากกรณีความรุนแรงอื่นๆ แต่โอกาสที่จะได้เห็นผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงกรณีนี้มารับผิดก็เบาบางมากและแทบจะไม่มีโอกาสนี้ภายใต้ระบอบทหารที่เป็นอยู่
งานศึกษาดังกล่าว พวงทองกล่าวถึงบทบาทขององค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องในการสร้างให้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทยเติบโตแข็งแกร่งต่อไป โดยมุ่งไปที่คณะกรรมการอิสระ ตรวจสอบ และค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ซึ่งสององค์กรนี้ทำรายงานเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมปี 2553 ออกมา รวมถึงยังกล่าวถึงบทบาทของกลุ่มสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและศาลยุติธรรม
“ในกรณี คอป. และ กสม. สององค์กรนี้ถือเป็นองค์กรกึ่งศาล ไม่ได้เป็นผู้ตัดสินลงโทษ แต่มีการตัดสินว่าใครเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงบ้าง มีความผิดอะไรบ้าง เวลาที่เราพูดถึงองค์กรเหล่านี้ เขาบอกว่าเขาเป็นอิสระในการทำงาน ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมสั่งการของรัฐบาลโดยตรง และมีหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุล การใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อปกป้องสิทธิของประชาชนจากการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตของรัฐและเป็นการปกป้องความยุติธรรมและระบบนิติรัฐของสังคมให้ดำเนินต่อไปได้ องค์กรเหล่านี้จึงมีการตัดสิน การวินิจฉัย ซึ่งมักจะได้รับการยอมรับว่ามีความเป็นอิสระ เป็นกลาง และยุติธรรม”
“ปัญหาของการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงเหล่านี้ เป็นเสมือนการเปิดไฟเขียวที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้ความรุนแรงกับประชาชนเต็มที่ เพราะเป็นกฎหมายที่ปกป้องเจ้าหน้าที่จากการรับผิด ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่"
แต่คำถามที่พวงทองตั้งขึ้นก็คือองค์กรเหล่านี้ได้ทำหน้าที่ตามหลักการดังกล่าวจริงหรือไม่ เป็นอิสระจริงหรือไม่ และการตีความออกมาในรูปของรายงานที่เสนอนั้นส่งผลอย่างไรต่อการเอาผิดหรือการปล่อยให้อำนาจรัฐลอยนวล
“ก่อนที่จะพูดรายงานของ คอป. และ กสม. ดิฉันจะขอพูดถึงความรุนแรงนิดหนึ่ง ดิฉันกับเพื่อนๆ นักวิชาการและนักกิจกรรมทางสังคมได้ทำรายงานออกมาภายใต้นามศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 หรือ ศปช. เพื่อให้เห็นว่ามีการใช้ความรุนแรงในลักษณะที่เกินเลยอย่างไร แล้วรายงานของ คอป. และ กสม. ได้ละเลยที่จะไม่กล่าวถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างไร และการละเลยไม่กล่าวถึงนั้นส่งผลอย่างไรต่อการตีความ”
พวงทองเล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.  ที่เริ่มขึ้นกลางเดือนมีนาคม 2553 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศการยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยก่อนหน้าที่ นปช. จะเคลื่อนมวลชนเข้ากรุงเทพฯ เพียง 1 วัน รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน และเมื่อเวลาผ่านไปเนื่องจากการชุมนุมได้เพิ่มความตึงเครียดและการเผชิญหน้ามากขึ้นระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งมีการลอบวางระเบิดในกรุงเทพฯ หลายจุด มีผู้บาดเจ็บมากขึ้น วันที่ 7 เมษายน จึงมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อีกหนึ่งฉบับ พร้อมจัดตั้ง ศอฉ. หรือศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับการชุมนุม โดยมีสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้อำนวยการ
“ปัญหาของการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงเหล่านี้ เป็นเสมือนการเปิดไฟเขียวที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้ความรุนแรงกับประชาชนเต็มที่ เพราะเป็นกฎหมายที่ปกป้องเจ้าหน้าที่จากการรับผิด ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่
“สิ่งที่เราเห็นคือการระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาวุธจำนวนมหาศาลเพื่อใช้ในปฏิบัติการนี้ ผลก็คือมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 94 คน เป็นพลเรือน 84 ราย เป็นตำรวจ ทหาร 10 ราย บาดเจ็บมากกว่า 1,400 คน และมีประชาชนถูกจับกุมด้วยข้อหาต่างๆ อีกประมาณ 1,800 กว่าคน
“แม้ว่าตลอดการปฏิบัติการนี้และหลังจากนั้น รัฐบาลและ ศอฉ. พยายามกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมเป็นผู้ก่อการร้ายและมีอาวุธร้ายแรง แต่หลักฐานของ ศปช. ที่พวกเราช่วยกันทำ ยืนยันว่าผู้เสียชีวิตไม่ได้มีอาวุธร้ายแรงเลยที่จะทำร้ายเจ้าหน้าที่ได้ และก็ได้รับการยืนยันจากผลการไต่สวนการตายโดยศาลอาญาจำนวน 18 ราย มีความคืบหน้า 18 ราย แล้วก็หยุดชะงักทันทีหลังจากเกิดรัฐประหารขึ้น ถ้าไม่เกิดรัฐประหาร การไต่สวนการตายจะเดินหน้าไป”
โดยในจำนวน 18 ราย ศาลยืนยันว่า การเสียชีวิตของผู้ชุมนุมมาจากกระสุนที่มาจากฝั่งทหาร ขณะที่การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งฝ่ายรัฐบาลพยายามบอกว่าเกิดขึ้นจากฝีมือของผู้ชุมนุมซึ่งเป็นผู้ก่อการร้ายนั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในคืนวันที่ 10 เมษายน ที่มีการปฏิบัติการขอคืนพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนิน ซึ่งเห็นกันอยู่ว่ามีกลุ่มชายชุดดำใช้อาวุธสงครามเข้ามาอยู่ในที่ชุมนุมและส่งผลต่อชีวิตของเจ้าหน้าที่ หนึ่งในเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตคือพันเอกร่มเกล้า ธุวธรรมและมีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บจำนวนมาก
รายงาน คอป. ยืนข้างเจ้าหน้าที่รัฐ-โยนความผิดให้ชายชุดดำ
คอป. ได้รับการจัดตั้งจากรัฐบาลอภิสิทธิ์โดยมีคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุดดำรงตำแหน่งประธาน พวงทองกล่าวว่า องค์ประกอบของ คอป. ดูผิวเผินมีความหลากหลาย ประวัติการทำงานของแต่ละคนไม่มีรอยด่างพร้อย แม้ว่าบางคนจะเคยต่อต้านทักษิณ ชินวัตรและกลุ่มมาก่อนก็ตาม นอกจากคณิตแล้ว ยังมีกิตติพงษ์ กิตติยารักษ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม และดำรงตำแหน่งใน ศอฉ. ด้วย มานิจ สุขสมจิตร สื่อมวลชนซึ่งเคยเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีนักวิชาการ เอ็นจีโอ นักสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีบทบาทสำคัญใน คอป. คือสมชาย หอมลออ นักกฎหมายที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างแข็งขันมาตลอด เป็นคนรุ่น 6 ตุลา เราเห็นคุณสมชายในฐานะเหยื่อจากความรุนแรงในช่วง 6 ตุลาด้วย ทำให้คุณสมชายได้รับการยอมรับในวงการสิทธิมนุษยชนทั้งไทยและต่างประเทศ
“คุณสมชายดำรงตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการค้นหาความจริง ซึ่งเป็นอนุกรรมที่สำคัญที่สุดใน คอป. ความหลากหลายของ คอป. ทำให้ดูเหมือนมีความเป็นอิสระและเป็นกลาง ไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพลและการชี้นำของรัฐบาล จึงได้รับการตอบรับจากสื่อมวลชนส่วนใหญ่และกลุ่มการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์และไม่ชอบคนเสื้อแดง
“ดิฉันอยากจะพูดถึงคุณสมชายในฐานะนักสิทธิมนุษยชน ถ้าเรามองกลับไป ดิฉันคิดว่ามีความเข้าใจได้ว่าทำไมนักสิทธิมนุษยชนไทยในขณะนั้นมีจุดยืนต่อต้านคุณทักษิณ เพราะเกี่ยวข้องกับนโยบายคุณทักษิณเอง ไม่ว่าจะกรณีตากใบ กรือเซะ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สงครามยาเสพติด ในช่วงเวลานี้คุณทักษิณถูกวิจารณ์อย่างมากจากนักสิทธิมนุษยชน ดิฉันก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายทั้งหลายที่เอ่ยมา ดิฉันคิดว่ารัฐบาลคุณทักษิณจะต้องรับผิดชอบกับนโยบายนี้ด้วย นี่เป็นจุดสำคัญที่ทำให้นักสิทธิมนุษยชนเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลทักษิณ ก็ไม่น่าแปลกใจ หลังรัฐประหาร 2549 เราจึงไม่ได้เห็นจุดยืนคัดค้านรัฐประหารของนักสิทธิมนุษยชนไทย แต่ยังมีผู้ออกมาแสดงจุดยืนเห็นว่าการรัฐประหารเพื่อล้มล้างระบอบทักษิณเป็นสิ่งจำเป็น
"คำพูดของคุณสมชาย อันนี้ชี้ให้เห็นว่า ในมุมมอง คอป. รัฐบาลและ ศอฉ. กับผู้ชุมนุมเสื้อแดงมีความผิดพอๆ กันใช่หรือไม่ ทั้งที่ในความเป็นจริง ฝ่ายแรกมีอำนาจในทางกฎหมายและกำลังอันมหาศาล วิธีการเปรียบเปรยแบบนี้ไม่ต่างกับการลดระดับความรุนแรงของรัฐที่มีต่อประชาชน”
“แล้วก็มีนักสิทธิมนุษยชนไทย ทั้งเอ็นจีโอและองค์กรอิสระร่วมเดินทางไปต่างประเทศกับคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลสุรยุทธ์ จุฬานนท์ เพื่ออธิบายถึงความจำเป็นในการรัฐประหารเพื่อล้มล้างรัฐบาลทักษิณ นี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าจุดยืนที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลทักษิณส่งผลอย่างไรบ้างกับการเขียนรายงานของ คอป.”
พวงทองกล่าวว่า คอป. สร้างความสับสนแก่ประชาชนตั้งแต่แรก
“เมื่อ คอป. พูดว่า คอป. ไม่เน้นหาคนผิด แต่จะยึดหลักความเป็นอิสระและความเป็นกลาง และให้ความสำคัญกับการตรวจสอบค้นหาความจริง การพูดแบบนี้ คอป. กำลังบอกกับสังคมว่า การแสวงหาความจริงกับการต้องรับผิด ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกัน ซึ่งสำหรับดิฉันมันเป็นไปไม่ได้ เพราะเรากำลังพูดถึงความรุนแรงและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชีวิตของคน ประการสำคัญ คอป. กำลังสับสนว่าการชี้ว่าใครผิดหรือถูกนั้นย่อมขึ้นกับพยานหลักฐาน โดยมีกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาตัดสิน หากไม่ใช้เกณฑ์นี้ย่อมยากที่จะตัดสินได้ว่าการกระทำนั้นถูกหรือผิด และหากพิจารณาแล้วว่าการกระทำนั้นผิดจริง ทำไม คอป. จึงไม่เสนอให้ควรมีการดำเนินคดีทางกฎหมาย
“นอกจากนี้ เราคงได้ยินการเปรียบเทียบว่าความรุนแรงปี 2553 เหมือนผัวเมียทะเลาะกัน บางทีก็ผิดทั้งคู่ นี่เป็นคำพูดของคุณสมชาย อันนี้ชี้ให้เห็นว่า ในมุมมอง คอป. รัฐบาลและ ศอฉ. กับผู้ชุมนุมเสื้อแดงมีความผิดพอๆ กันใช่หรือไม่ ทั้งที่ในความเป็นจริง ฝ่ายแรกมีอำนาจในทางกฎหมายและกำลังอันมหาศาล วิธีการเปรียบเปรยแบบนี้ไม่ต่างกับการลดระดับความรุนแรงของรัฐที่มีต่อประชาชน”
อย่างไรก็ตาม แม้ คอป. จะไม่ชี้ว่าใครถูก-ผิด แต่สิ่งที่ปรากฏในรายงานกลับให้น้ำหนักความผิดไปที่ผู้ชุมนุมมากกว่าเจ้าหน้าที่ ดังเห็นได้ว่าเมื่อ คอป. เปิดตัวรายงานเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2555 ประเด็นที่โดดเด่นในตัวรายงานและการแถลงข่าวก็คือความรุนแรงที่เกิดจากชายชุดดำ ทำให้เช้าวันรุ่งขึ้นสื่อเกือบทั้งหมดเล่นข่าวเรื่องชายชุดดำมากกว่าที่จะเสนอว่ามีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุอย่างไรบ้าง
ประการสำคัญต่อมา รายงานของ คอป. พูดถึงการใช้อาวุธและการสูญเสียชีวิตของผู้ชุมนุมที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐในหลายกรณี แต่ในบทวิเคราะห์กับโยนความผิดให้กับชายชุดดำที่เป็นสาเหตุหรือปัจจัยยั่วยุที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐสูญเสียการควบคุม จนนำไปสู่ความรุนแรงอย่างมาก เป็นความรุนแรงที่ไม่ได้ตั้งใจ ทั้งที่บางกรณี คอป. ไม่สามารถเสนอหลักฐานที่เชื่อมโยงประเด็นเหล่านี้ได้
“คำอธิบายเหล่านี้เป็นกรอบโครงสำคัญในการวิเคราะห์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในทุกจุดทั่วกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 14-19 คอป. ยังบกพร่องในการนำเสนอข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า พลเรือนส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการถูกยิงในลักษณะที่เป็นการยิงเพื่อสังหาร Shoot to Kill ไม่ใช่ Shoot to Defend 30 เปอร์เซ็นต์ถูกยิงที่ศีรษะและคอ พูดง่ายๆ ว่าครึ่งหนึ่งถูกยิงช่วงบนของลำตัว การยิงลักษณะนี้บอกไม่ได้ว่าเป็นการยิงเพื่อปกป้องตนเอง ยังมีรูปที่บอกว่าทหารเดินในลักษณะเรียงหน้ากระดานมุ่งเข้าหาผู้ชุมนุม ถ้าคุณปกป้องตัวเอง คุณยืนลักษณะนี้ไม่ได้ ถ้าคุณคิดว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธร้ายแรงที่จะยิงคุณ ข้อมูลเหล่านี้ คอป. มีรายงานการชันสูตรพลิกศพที่สมบูรณ์มากกว่า ศปช. แต่กลับไม่ถูกนำเสนอในรายงานเลย”
คอป. ขาดความเป็นกลางและอิสริ ไม่ใช่แม้แต่ผู้ค้นหาความจริง
พวงทองยังกล่าวถึงตัวเลขสรรพกำลังที่ ศปช. นำเสนอ ซึ่งเป็นตัวเลขที่นำเสนอในรัฐสภาว่ามีการขนสรรพกำลังฝ่ายทหารและใช้อาวุธในการสลายการชุมนุมจำนวนมาก มีการใช้กำลังทหาร 67,000 นาย ยังไม่รวมตำรวจอีกหลายหมื่นคน การเบิกกระสุนจริง 590,000 กว่านัด ซึ่งตัวเลขที่คืนกลับไปทำให้เห็นตัวเลขกระสุนที่ถูกใช้ไปประมาณ 110,000 กว่านัด เป็นกระสุนสไนเปอร์อย่างเดียว 2,000 นัด ทาง ศปช. ยืนยันว่าตัวเลขเหล่านี้บอกว่ามีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุอย่างไร และไม่มีที่ใดในโลกที่ใช้อาวุธและกำลังคนขนาดนี้ในการสลายการชุมนุม
“แต่ข้อมูลเหล่านี้ไม่ถูกบรรจุไว้ในรายงาน คอป. เลย แต่ คอป. กลับเลือกเสนอตัวเลขอาวุธในลักษณะเป็นเปอร์เซ็นต์ ใช้ตัวเลขสัดส่วนว่าจำนวนอาวุธที่ใช้นั้นเป็นอาวุธอะไรบ้าง แต่ไม่บอกจำนวนจริง เช่น มีการใช้กระสุนจริงขนาด 5.56x45 มิลลิเมตร สำหรับปืนเล็กยาวหรือเอ็ม 16 ร้อยละ 59 ไอ้ 59 เปอร์เซ็นต์นี่ของอะไร ของ 100 นัด หรือของแสนนัด หรือ 5 แสนนัด การให้ตัวเลขเหล่านี้ แปลว่าคุณลดความรุนแรง คนจินตนการไม่ออกว่า 59 เปอร์เซ็นต์มันกี่นัด
“นอกจากนี้ คอป. ยังเลือกใช้คำของ ศอฉ. อย่างปฏิบัติการขอคืนพื้นที่และปฏิบัติการกระชับวงล้อม คำพวกนี้คือการหลีกเลี่ยงความจริงที่รุนแรง ใช้คำที่เบาลง สวยงาม ดูดีขึ้น แต่ในรายงานไม่ใช่คำว่าการสลายชุมนุม ปฏิบัติการทางการทหาร หรือยุทธการทางการทหาร ทั้งที่บทความของทางทหารที่วิเคราะห์อย่างภาคภูมิใจถึงความสำเร็จของปฏิบัติการนี้ชี้ชัดว่าการใช้กำลังและอาวุธมากขนาดนี้ว่า ‘เพราะเป็นปฏิบัติการรบเต็มรูปแบบ เสมือนการทำสงครามรบในเมือง การปฏิบัติการทางยุทธวิธีที่ใช้เวลาทำงาน 9 ชั่วโมง (ตี 3.30 ถึง 8.30) ของวันที่ 19 พฤษภาคม ถือเป็นบทเรียนที่สำคัญยิ่งทางยุทธวิธีของการรบในเมือง ที่สมควรมีการบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของการรบในเมือง’ นี่เป็นบทความทหารที่วิเคราะห์ แต่ไม่ปรากฏอยู่ในรายงานของ คอป.
“นอกจากนี้ คอป. ยังเลือกใช้คำของ ศอฉ. อย่างปฏิบัติการขอคืนพื้นที่และปฏิบัติการกระชับวงล้อม คำพวกนี้คือการหลีกเลี่ยงความจริงที่รุนแรง ใช้คำที่เบาลง สวยงาม ดูดีขึ้น แต่ในรายงานไม่ใช่คำว่าการสลายชุมนุม"
“กรณี 6 ศพวันปทุม คอป. พยายามอธิบายว่ามีชายชุดดำและการ์ดเสื้อแดงบริเวณนั้นยิงใส่เจ้าหน้าที่และซ่อนตัวอยู่ในวัดปทุมด้วย คอป. ยังอ้างหลักฐานที่ไม่มีการพิสูจน์เพียงเพื่อจะบอกว่ามีชายชุดดำอยู่ในวัดปทุมยิงใส่ทหาร หลักฐานที่ว่านั้นคือพบว่ามีร่องรอยคล้ายกระสุนตรงใต้ฐานของรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่ไม่มีการพิสูจน์ แต่ก็สามารถนำหลักฐานที่ไม่ได้พิสูจน์นั้นมาบอกว่าเชื่อว่ามีชายชุดดำยิงใส่ทหาร ทหารจึงจำเป็นต้องยิงใส่คนที่อยู่ในวัดปทุม แต่รายงานของ คอป. ก็ถูกหักล้างด้วยการไต่สวนการตายของศาลอาญา โดยศาลเห็นว่าไม่มีน้ำหนักให้เชื่อตามคำให้การของเจ้าหน้าที่ทหารว่ามีชายชุดดำอยู่ในพื้นที่รอบวัดหรือภายในวัด หรือมีการยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่”
หรือกรณีวางเพลิงสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด คอป. ก็ไม่ลังเลที่จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นฝีมือผู้ชุมนุม เช่น กรณีเผาเซ็นทรัลเวิร์ล คอป. เน้นย้ำว่าผู้ชุมนุมและชายชุดดำอยู่ในตัวอาคารถึง 4 จุด โดยเห็นว่าเป็นผลจากการปลุกปั่นยั่วยุของแกนนำ นปช. แต่ในท้ายที่สุดกรณีการวางเพลิงเซ็นทรัล เวิร์ล ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องจำเลยเสื้อแดงทั้งหมด
กรณีการวางเพลิงสถานที่ต่างๆ ในต่างจังหวัด มีความเป็นไปได้ว่าบางกรณีอาจจะเป็นฝีมือผู้ชุมนุม แต่ในรายงานของ ศปช. เองคิดว่าไม่ใช่ทุกกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลการวางเพลิงในสถานที่ราชการที่มีปัญหาหลายจุด
“ดิฉันอยากจะอ้างคำวิจารณ์ของนักวิชาการที่เชี่ยวชาญการเมืองไทย 2 คน คนหนึ่งคือศาตราจารย์ดันแคน แม็คคาโก้ และอาจารย์นฤมล ทับจุมพล รัฐศาสตร์จุฬาฯ เป็นบทความที่ประเมินรายงานของ คอป. เปรียบเทียบกับของ ศปช. นักวิชาการทั้งสองท่านระบุไว้ชัดเจนว่า คอป. ขาดความเป็นกลางและอิสระในการทำหน้าที่และค้นหาความจริง ไม่พยายามปิดบังอคติและความไม่ชอบทักษิณ ผลงานของ คอป. ไม่เข้านิยามมาตรฐานคณะกรรมการค้นหาความจริงด้วยซ้ำ รวมทั้งการแสวงหาความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านก็ไม่ได้มีอยู่จริง เพราะผู้ที่ก่อตั้ง คอป. คือรัฐบาลที่เป็นคู่กรณีในความขัดแย้งโดยตรง และทั้งรัฐบาลและกองทัพมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมยังมีอำนาจต่อไป ไม่มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ฉะนั้นความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านจึงไม่ได้เกิดขึ้นจริง”
กรรมการสิทธิ์ที่ไม่ปกป้องสิทธิมนุษยชน
ในบรรดาองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริง กสม. มีอำนาจทางกฎหมายมากที่สุด เพราะสามารถยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีแทนผู้เสียหายได้ แต่ก็เห็นว่า กสม. บกพร่องต่อการปกป้องหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี
“สองปีก่อนหน้ารายงานฉบับสมบูรณ์ของ กสม. จะออกมา ประชาชนก็พอจะคาดเดาได้ว่าจะออกมาในลักษณะใด เพราะหนึ่งวันก่อนที่ กสม. นัดแถลงรายงานต่อสื่อมวลชน ข่าวสดได้เปิดเผยสาระสำคัญของร่างรายงานที่ออกมา ซึ่งระบุว่า กสม. เห็นว่าการประกาศภาวะฉุกเฉินและการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมโดยรัฐบาลและ ศอฉ. เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับรักษาความสงบของสังคมโดยรวม และรัฐบาลได้ดำเนินการอย่างเหมาะสมตามขั้นตอน ไม่ได้ละเมิดสิทธิของผู้ชุมนุม ส่วนการใช้กำลังอาวุธของรัฐที่ส่งผลเสียต่อประชาชนเป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐจำเป็นต้องตอบโต้และคุ้มครองตนเองและประชาชน แนวเรื่องคล้ายๆ กัน แต่เนื่องจากรัฐบาลขาดการวางแผนที่ดีเท่านั้นเอง ดังนั้นก็เยียวยาให้กับผู้เสียหายและประชาชน”
"ผลงานของ คอป. ไม่เข้านิยามมาตรฐานคณะกรรมการค้นหาความจริงด้วยซ้ำ รวมทั้งการแสวงหาความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านก็ไม่ได้มีอยู่จริง เพราะผู้ที่ก่อตั้ง คอป. คือรัฐบาลที่เป็นคู่กรณีในความขัดแย้งโดยตรง และทั้งรัฐบาลและกองทัพมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมยังมีอำนาจต่อไป ไม่มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ฉะนั้นความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านจึงไม่ได้เกิดขึ้นจริง”
ในทางตรงกันข้าม กสม. มองว่า นปช. และผู้ชุมนุมต่างหากที่ใช้สิทธิเกินเลย ละเมิดกฎหมายและสิทธิของประชาชนกลุ่มอื่นๆ มีการใช้อาวุธและความรุนแรง พอข่าวสดรายงานออกมา กสม. ออกมาบอกว่าเป็นแค่ร่างและถอนออกไป แต่หลังจากนั้น 2 ปีก็ออกฉบับสมบูรณ์มา ซึ่งเนื้อหาไม่ต่างกัน
“การละเลยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและมองข้ามหลักการสิทธิของประชาชนทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นใน กสม. ยุคศาตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ เป็นประธานเท่านั้น แต่มันเป็นแนวโน้มโดยทั่วไปของนักสิทธิมนุษยชนไทยและ กสม. ในชุดก่อนหน้านี้แล้วด้วย หนึ่งในปรากฏการณ์ที่สำคัญ อาจารย์เสน่ห์ จามริก ประธาน กสม. ในช่วงที่มีการรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ
“อาจารย์เสน่ห์กล่าวว่า ‘รัฐประหารเป็นทางออกที่เหลืออยู่ อย่ามองว่ามันถอยหลัง เพราะเราถอยหลังมาสุดแล้ว และรัฐธรรมนูญถูกต้อนเข้ามุม ดังนั้น ส่วนตัวผมมันไม่ใช่เรื่องเดินหน้าหรือถอยหลัง แต่เป็นเรื่องของการแก้สถานการณ์’ และในการให้สัมภาษณ์อีกครั้งหนึ่ง อาจารย์เสน่ห์ได้ขยายจุดยืนตัวเองว่า ‘เพราะระบอบทักษิณได้ทำลายประชาธิปไตยและเป็นระบอบที่คอร์รัปชั่น สร้างความเสียหายต่อประเทศโดยรวม วิธีการเดียวที่จะล้มระบอบทักษิณได้ ก็มีเพียงการรัฐประหาร รัฐธรรมนูญ 2540 ได้ถูกรัฐประหารไปนานแล้ว ฉะนั้น เมื่อมีการยึดอำนาจของคณะปฏิรูป ตนก็วิจารณ์ว่าเป็นการทำลายประชาธิปไตย แต่ความจริงมันหมดไปนานแล้ว’ พูดง่ายๆ คณะรัฐประหารไม่ได้ทำลายประชาธิปไตย รัฐบาลทักษิณต่างหากที่ทำ”
ในทัศนะของพวงทอง อคติในแวดวงนักสิทธิมนุษยชนไทย ซึ่งเป็นแวดวงที่ค่อนข้างเล็กและใกล้ชิดกัน ที่มีต่อทักษิณยังปรากฏในแถลงการองค์การนิรโทษกรรมสากลหรือเอไอในช่วงปี 2549 และ 2551 ในปี 2551 เอไอได้โจมตีรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช อย่างรุนแรง จากกรณีที่ใช้กำลังขัดขวางไม่ให้มวลชนหลายหมื่นคนของกลุ่มพันธมิตรฯ บุกเข้ายึดทำเนียบ โดยแถลงการของเอไอกล่าวว่ารัฐบาลกระทำต่อผู้ชุมนุมเกินกว่าเหตุ ทั้งที่ไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธร้ายแรงแต่ประการใด ยังบอกว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และเสริมสร้างสมรรถนะด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย
ในทางตรงกันข้าม เอไอ ประเทศไทยกลับละเลยไม่กล่าวถึงเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ที่ผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ บุกเข้ายึดสถานีเอ็มบีทีด้วยอาวุธ รวมถึงไม่วิจารณ์การบุกยึดทำเนียบและท่าอากาศยานสองแห่ง รวมถึงภาพข่าวที่แสดงให้เห็นว่าการ์ดของกลุ่มพันธมิตรฯ เองก็มีอาวุธปืนในครอบครอง ซึ่งการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมต่างสีด้วยหลักการที่ต่างกันทำให้นักสิทธิมนุษยชนไทยและองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่กึ่งศาลเหล่านี้ ถูกมองว่าไม่เป็นกลางและอิสระจากอคติของตนเองในสายตาของผู้ชุมนุมอีกฝ่ายหนึ่ง
องค์กรอิสระสนับสนุนการลอยนวลพ้นผิดให้หยั่งรากลึก
“บทความนี้ไม่ได้บอกว่าไม่มีชายชุดดำและไม่ได้บอกว่าการ์ด นปช. ไม่มีการใช้อาวุธในการชุมนุมเลย แต่สิ่งที่อยากจะบอกคือ เป็นที่น่าเสียดายที่องค์กรที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อสถาปนาความยุติธรรมให้กับผู้ที่สูญเสีย เช่น คอป. และ กสม. ได้รับเอาคำอธิบายดังกล่าวมาเป็นกรอบการตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์หลายประการที่ขัดแย้งกับคำอธิบายของ คอป. และ กสม. ละเว้นที่จะไม่กล่าวถึงข้อมูลเชิงประจักษ์จำนวนมาก อคติที่มีต่อกลุ่มการเมืองของคุณทักษิณ ไม่ควรที่จะนำไปสู่การละเลยการวิพากษ์วิจารณ์การใช้กำลังเกินกว่าเหตุของกองทัพ คุณมีสิทธิ์ที่จะไม่ชอบทักษิณ ไม่เห็นด้วยกับนโยบายทั้งหลายภายใต้รัฐบาลทักษิณ แต่ถ้าความรุนแรงของรัฐบาลอีกชุดหนึ่งกระทำต่อประชาชน คุณก็ต้องวิพากษ์อย่างเท่าเทียมกันด้วย
“ประการสำคัญ รายงานของพวกคุณไม่ควรนำไปสู่การรับรองอำนาจของรัฐที่ละเมิดสิทธิชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรง ซ้ำร้ายความรุนแรงในปี 2553 ยังถูกทำให้เบาบางลงไปอีกเมื่อหลังรัฐประหารโดย คสช. 3 เดือน ศาลอาญามีคำวินิจฉัยว่า การสั่งการของรัฐบาลและ ศอฉ. ที่นำไปสู่การเสียชีวิต เป็นเพียงการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น ศาลอาญาจึงโยนเรื่องนี้ไปให้ ป.ป.ช. ซึ่งเราก็รู้ดีว่าเป็นกลางอย่างไร”
พวงทองอ้างอิงงานของแม็คคาโก้และนฤมลอีกครั้ง ถึงความล้มเหลวของหน่วยงานที่ทำหน้าที่สำคัญเช่นนี้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมไทย ที่ระบุว่า รายงาน คอป. แสดงการยอมรับการใช้กำลังของรัฐ แม้ว่า คอป. ได้เสนอว่า ศอฉ. จำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบต่อการใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อพลเรือน แต่ประเด็นนี้กลับเบาบางและไม่ใช่ประเด็นที่ คอป. เน้นย้ำในรายงานของตนเอง แต่กลับเน้นย้ำพฤติกรรมของผู้ชุมนุม ฉะนั้น เมื่อ คอป. ละเลยที่จะเน้นย้ำการรับผิดของรัฐบาลอภิสิทธิ์และบทบาทที่ไม่เหมาะสมของทหารที่ใช้กำลังและอาวุธเข้าสลายการชุมนุม คอป. จึงไม่เพียงล้มเหลวในการแสวงหาทั้งความจริงและความปรองดอง แต่ยังมีส่วนสำคัญในการแผ้วทางให้ทหารกลับสู่อำนาจในอีก 4 ต่อมา
“ทั้งสองคนมองว่าถ้า คอป. วิพากษ์วิจารณ์การใช้กำลังเกินกว่าเหตุของทหาร อาจเป็นจุดที่ทำให้ทหารอาจต้องถอยห่างจากการเมืองมากขึ้น ประการสำคัญ คอป. มีส่วนในการผลิตซ้ำวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดให้หยั่งรากลึกในสังคม”
"รายงานของ คอป. และ กสม. ช่วยทำให้การลอยนวลพ้นผิดของผู้ที่เกี่ยวข้องในการสลายการชุมนุมดูมีความชอบธรรมมากกว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ตนเองและพวกพ้อง เป็นการเข้าไปรับรองและสนับสนุนความรุนแรงโดยองค์กรอิสระ ซึ่งรัฐบาลอภิสิทธิ์กล่าวอ้างได้ว่าไม่มีอำนาจสั่งควบคุมให้เขาเขียนรายงาน"
พวงทองเน้นย้ำว่า รายงานของ คอป. และ กสม. ช่วยทำให้การลอยนวลพ้นผิดของผู้ที่เกี่ยวข้องในการสลายการชุมนุมดูมีความชอบธรรมมากกว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ตนเองและพวกพ้อง เป็นการเข้าไปรับรองและสนับสนุนความรุนแรงโดยองค์กรอิสระ ซึ่งรัฐบาลอภิสิทธิ์กล่าวอ้างได้ว่าไม่มีอำนาจสั่งควบคุมให้เขาเขียนรายงาน
“ดิฉันมองว่านี่เป็นการช่วยทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องลอยนวลพ้นผิดอย่างสง่างามยิ่งกว่าครั้งใดๆ มักมีการพูดกันว่ารัฐบาลทักษิณและบุคคลที่เกี่ยวข้องแทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระในยุคที่พวกเขามีอำนาจ บอกว่ารัฐบาลทักษิณทำลายเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้กลไกตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลง่อยเปลี้ย ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นศรัทธาในองค์กรเหล่านี้ แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่บุคคลในองค์กรเหล่านี้ไม่ตระหนักก็คือไม่ได้มีแต่ทักษิณเท่านั้นที่ทำลายความเป็นกลางและความน่าเชื่อถือขององค์กรเหล่านี้ได้ แต่อคติและการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มการเมืองของพวกเขาต่างหากที่ทำให้การตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐสิ้นความน่าเชื่อถือและการยอมรับจากประชาชน
“ในสายตาของประชาชน ภาวะสองมาตรฐานหรือไร้มาตรฐานที่พวกเขาใช้กัน มันถูกเปิดโปงจนพวกเขาเปลือยเปล่าแล้วในปัจจุบัน สิ่งที่พวกเขาเป็นในสายตาของประชาชนจำนวนมากในประเทศนี้ก็เป็นเพียงแค่เครื่องมือทางการเมืองของกลุ่มอำนาจเท่านั้นเอง เป็นเครื่องมือที่ไม่จำเป็นต้องมีใครมาสั่งการโดยตรง เพราะมีจุดยืนทางการเมืองและอคติเป็นตัวกำกับ”