วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2558

แถลงการณ์กรรมการสิทธิฯ ชุดใหม่ กรณี 'ราชภักดิ์' ถึงรัฐบาล-ผู้ชุมนุม


8 ธ.ค. 2558 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์กรณีมีการควบคุมตัวกลุ่มทำกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ วานนี้ โดยเรียกร้องให้ 1.รัฐบาลควรกำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสถานการณ์ โดยยึดหลักรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ตลอดจนกติการะหว่างประเทศ และหลักขันติธรรม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย บนพื้นฐานการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน และ 2.การใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่มบุคคลสมควรแสดงออกด้วยความรอบคอบและสุจริตใจ โดยต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ
นอกจากนี้  กสม. ระบุด้วยว่า จะเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง อีกทั้งขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายได้ใช้สติ ความอดทนอดกลั้น ไม่ขยายผลไปสู่ความรุนแรง และการสร้างความเกลียดชัง ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อนำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ นำความสงบและสันติสุขคืนสู่ประเทศไทยโดยเร็ว

สำหรับคณะกรรมการสิทธิฯ ชุดใหม่ประกอบด้วย วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง, ชาติชาย สุทธิกลม, เตือนใจ ดีเทศน์, ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์, สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย, และ อังคณา นีละไพจิตร
00000
แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
เรื่อง กรณีอุทยานราชภักดิ์

สืบเนื่องมาจากกรณีที่มีการจัดกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง เพื่อเดินทางไปตรวจสอบการทุจริตในการสร้างอุทยานราชภักดิ์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558 จากนั้นถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐควบคุมตัวไป เพื่อทำความเข้าใจ โดยทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกันดังปรากฏเป็นข่าวแล้ว นั้น
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดด้วยความห่วงใย โดยยึดหลักความเป็นกลาง อิสระ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของทุกฝ่าย โดยไม่เลือกปฏิบัติ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดแนวทางสันติวิธีในการแก้ปัญหา เคารพสิทธิซึ่งกันและกันมาโดยตลอด จึงขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนคำนึงถึงและปฏิบัติต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้
1. รัฐบาลควรกำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสถานการณ์ โดยยึดหลักรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ตลอดจนกติการะหว่างประเทศ และหลักขันติธรรม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย บนพื้นฐานการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน
2. การใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่มบุคคลสมควรแสดงออกด้วยความรอบคอบและสุจริตใจ โดยต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ กสม. จะเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง อีกทั้งขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายได้ใช้สติ ความอดทนอดกลั้น ไม่ขยายผลไปสู่ความรุนแรง และการสร้างความเกลียดชัง ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อนำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ นำความสงบและสันติสุขคืนสู่ประเทศไทยโดยเร็ว

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
8 ธันวาคม 2558

จับหนุ่มโรงงานวัย 27 แชร์ข้อความการทุจริตอุทยานราชภักดิ์


จับหนุ่มคนงานลูกจ้างรายวันย่านบางปูเข้า มทบ.11 โทษฐานแชร์ผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ยังไม่ให้ญาติเยี่ยมเหตุผลอยู่ระหว่างสอบสวน เกรงจะเสียรูปคดี  มารดาวอนขอพบและขอให้ปล่อยตัวลูกชายเสาหลักของครอบครัว เกรงว่าจะตกงานเนื่องจากขาดงานเกินกำหนด ทนายกำลังเดินทางไปติดต่อขอเข้าเยี่ยม
กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร.  กล่าวว่าได้มีการจับคนโพสต์แผนผังเครือข่ายการทุจริตในโครงการก้่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ หลังมีผู้เผยแพร่ผ่านโลกโซเชียล แล้ว 1 คน ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งขณะนี้ทหารกำลังสอบสวนอยู่ 
กรุงเทพธุรกิจ ได้รายงานข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคงเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ได้เข้าทำการจับกุม นายฐนกร ศิริไพบูลย์ อายุ 27 ปีเมื่อเวลา 21.00 น.ของวันที่ 8 ธันวาคม 2558  ฐนกรพนักงานบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แห่งหนึ่งภายในนิคมอุตสาหกรรมบางปู มาซักถามหลังจากตรวจสอบพบว่านายฐนกร เป็นผู้ส่งข้อความแผนภาพไปยังเฟชบุ๊กเพจหนึ่งซึ่งเป็นเพจที่สนทนาเกี่ยวกับเรื่องการเมืองและต่อต้านรัฐบาล โดยเจ้าหน้าที่ทหารนำตัวนายฐนกร ซักถามขยายผลเพิ่มเติมในค่ายทหารแห่งหนึ่ง
ในขณะที่ พล.ต.ต.ทรงพล วัธนะชัย รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่แผนผังเชื่อมโยงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ ว่ายังอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบหาผู้ที่เผยแพร่ ส่วนกระแสข่าวที่ระบุว่าสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยที่เผยแพร่เอกสารดังกล่าวได้แล้วนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานข้อเท็จจริงนั้น

'ประชาไท' ได้สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมไปที่ นางปรารถนา ศิริไพบูลย์ มารดาของนายฐนกร นางปรารถนากล่าวว่า ไม่ได้อยู่กับนายฐนกร ระหว่างเกิดเหตุ เนื่องจากทำงานอยู่คนละโรงงานกัน นางปรารถนา แสดงความรู้สึกเป็นห่วงนายธนกรผู้เป็นบุตรชาย โดยเมื่อทราบข่าวทางโทรศัพท์จากชายไม่ทราบชื่อได้แจ้งมาว่าบุตรชายโดนจับมาคุมขังไว้ที่ เรือนจำพิเศษ มทบ.11 นางปรารถนาและสามีก็ได้ตามมาเพื่อขอเยี่ยมนายฐนกร แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ที่หน้าประตูเรือนจำให้เข้าเยี่ยม โดยให้เหตุผลว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสอบสวนนายฐนกรจึงเกรงว่าจะเสียรูปคดี

นางปรารถนา หญิงคนงานวัย 53 มารดาของผู้ต้องขังเล่าให้ฟังว่า นายฐนกร จบการศึกษาชั้นมัธยม 3 ประกอบอาชีพเป็นเพียงลูกจ้างรับค่าแรงรายวันในโรงงานแห่งหนึ่ง ปัจจุบันมีรายได้วันละสามร้อยกว่าบาท นายฐนกรไม่เคยไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มไหน ไม่เคยหยุดงาน เลิกงานก็อยู่กับบ้าน  แต่เป็นคนที่สนใจสถานการณ์การเมือง 
มารดาของผู้ต้องขังเล่าว่า ปัจจุบัน ตนและนายฐนกรเป็นคนทำงานหาเลี้ยงครอบครัวเนื่องจากบิดาของฐนกรวัย 58 ปี มีปัญหาสุขภาพ ไม่สามารถทำงานประกอบอาชีพได้ ขณะที่น้องสาวของนายฐนกรยังเรียนอยู่ชั้น ปวช. 1 จึงเป็นภาระให้นางปรารถนาผู้เป็นมารดาและนายฐนกรผู้เป็นพี่ชายต้องหักรายได้จากการทำงานมาเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ 
นางปรารถนาเป็นห่วงสวัสดิภาพของบุตรชายจากการถูกซ้อมทรมาน และนอกจากนั้นหากเจ้าหน้าที่กักตัวนายฐนกรนานเกินกว่าสามวัน นายฐนกรจะต้องออกจากงาน เนื่องจากถือว่าทำผิดกฎของโรงงาน

ล่าสุดมีรายงานว่า ทนายภาวิณี ชุมศรี จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เดินทางไปเพื่อขอเข้าพบกับผู้ต้องขัง และหากเจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้ทนายความเข้าพบตามสิทธิของผู้ต้องหา ทนายความก็อาจจะยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา เนื่องจากเห็นว่าเป็นการคุมขังที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.วิ อาญามาตรา 90 ในวันที่ 11 ธันวาคมนี้ 
ประวิตรเผยทำเป็นขบวนการ มีคนหนุนหลัง ต้องจับเพิ่ม
วันเดียวกัน(9 ธ.ค.58) เดลินิวส์ รายงานจากกองการบิน กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.)ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ ถึงการจับกุมคนที่ทำแผนผังทุจริตโครงการราชภักดิ์ ว่า คนที่จับได้มีการซัดทอด ตอนนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำลังสอบอยู่ เพราะเกี่ยวข้องหลายคน และจะต้องจับเพิ่มอีก เนื่องจากมีขบวนการ เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการคิดคนเดียว ส่วนจะเกี่ยวกับกลุ่มการเมืองหรือไม่ ตนไม่อยากบอกเดี๋ยวมันจะหนี แต่จะจับทั้งหมดให้ได้ ทำแบบนี้เสียหาย เพราะมันเป็นเรื่องไม่จริง หนังสือพิมพ์ก็นำมาเล่นข่าว คนที่อยู่ต่างจังหวัดก็งงกันไปหมด ขอให้หยุดพาดพิงสักที เรื่องนี้สร้างความเสียหายต่อความเชื่อมั่นมาก เป็นคนไทยด้วยกัน ทำ ทำไม รัฐบาลทำเพื่อประเทศชาติ ดังนั้นสื่อต้องช่วยกันด้วย ไปเขียนเรื่องครอบครัวนายกรัฐมนตรีได้อย่างไร ตนไม่เข้าใจ ไม่รู้เอาส่วนไหนคิด
เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่าคนที่กล้าทำแบบนี้ต้องมีคนหนุนหลัง พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า มีคนหนุนหลังแน่ และมีขบวนการอยู่ รอให้ตำรวจสอบสวนจะดำเนินการเอาผิดทั้งหมด ส่วนที่พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ว่าการที่รัฐบาลห้ามแกนนำ นปช. และกลุ่มนักศึกษาไปอุทยานราชภักดิ์ ถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพนั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่ขอตอบ ไม่ให้ความสำคัญ คนเขาจะมาทำงาน แต่นี่มาเล่นการเมือง ตนบอกแล้วว่ามันคนละเรื่อง อย่าไปเล่นการเมือง ดังนั้นขอเวลาตรวจสอบ ส่วนกระแสการปรับคณะรัฐมนตรี ตนไม่ทราบ ต้องไปถามนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นผู้ตัดสินใจเพียงคนเดียว ตนไม่ทราบ ที่ผ่านมานายกฯก็ตอบคำถามสื่อมวลชนหลายครั้ง

ส่องปฏิกิริยาหลัง 'ฝ่ายการ นศ.มธ.' แถลงขอให้นักศึกษา หยุดเคลื่อนไหวทางการเมือง


‘ยุกติ’ ขออย่าตกต่ำไปกว่านี้อีกเลยธรรมศาสตร์ 'รณกรณ์' แนะควรทบทวน ชี้การแสดงความคิดเห็นโดยสงบปราศจากความรุนแรงไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรองดอง และประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยการแสดงออกเป็นสิ่งจำเป็น รัฐมีหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน 'อุเชนทร์' อัดแถลงการณ์ไม่ได้สนใจ “อุดมการณ์ธรรมศาสตร์”
9 ธ.ค.2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์กองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการเผยแพร่ แถลงการณ์ฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรณีนักศึกษาธรรมศาสตร์เคลื่อนไหวทางการเมืองภายนอกมหาวิทยาลัย โดยมีรายละเอียดดังนี้
สืบเนื่องจากปรากฏการณ์ที่มีนักศึกษาธรรมศาสตร์ได้มีการแสดงออกทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบที่อ้างถึงเสรีภาพในการแสดงออกตามหลักประชาธิปไตยสากล โดยปราศจากมุมมองที่รอบด้านในบริบทประเทศไทย ปัจจุบันที่กำลังอยู่ในช่วงการปฏิรูปเปลี่ยนผ่านและต้องการสร้างความปรองดองนั้น ฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่าการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวที่กระทำในนามนักศึกษาธรรมศาสตร์ เป็นการมุ่งทำให้การบริหารการบริหาราชการแผ่นดินไม่เป็นไปโดยมั่นคงราบรื่น อีกทั้งกลุ่มผู้ร่วมเคลื่อนไหวทั้งหมดไม่ใช่นักศึกษาธรรมศาสตร์หรือไม่ได้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แต่ประการใดจึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสังคมว่าเป็นความคิดเห็นของประชาคมธรรมศาสตร์ส่วนใหญ่อันประกอบด้วยอาจารย์ เจ้าหน้าที่ ศิษย์เก่าและนักศึกษาธรรมศาสตร์ และอาจสมประโยชน์กลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่ไม่ประสงค์ดีต่อประเทศชาติ รวมอาจส่งผลกระทบถึงภาพลักษณ์ที่ดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือนำไปสู่ความขัดแย้งของสังคมในวงกว้างและทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อนักศึกษาธรรมศาสตร์ได้ ฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมีความเห็นว่า
(1) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ปิดกั้นการแสดงออกของนักศึกษาที่มีความแตกต่างหลากหลาย บนพื้นฐานของศีลธรรมอันดีและเป็นไปโดยบริสุทธิ์ใจเพื่อประโยชน์ของประชาชน
(2) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ส่งเสริมการใช้เสรีภาพอย่างรับผิดชอบและคำนึงถึงผลกระทบต่อส่วนรวมอย่างรอบด้านทั้งระยะสั้นและระยะยาว
(3) ฝ่ายการนักศึกษามีความห่วงใยสวัสดิภาพและความปลอดภัยของนักศึกษาทุกคนจึงขอเรียกร้องให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ที่เคลื่อนไหวดังกล่าวหยุดการกิจกรรมนอกมหาวิทยาลัยที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือกระทบต่อความปลอดภัยของนักศึกษาธรรมศาสตร์ และหันมาใช้แนวทางสมานฉันท์อย่างสร้างสรรค์เพื่อร่วมเสนอแนะทางออกแก่ประเทศชาติภายใต้สภาวะวิกฤตินี้และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยศาสตร์ยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์เดิมของธรรมศาสตร์ที่ผ่านการพิสูจน์แล้วตลอดมาทุกยุคทุกสมัยและมีความปรารถนาที่จะเห็นสังคมที่เป็นธรรมประชาชนมีโอกาสเท่าเทียมและอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยเร็ววัน
ฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
9 ธันวาคม 2558

ยุกติ มุกดาวิจิตร : อย่าตกต่ำไปกว่านี้อีกเลยธรรมศาสตร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาธรรมศาสตร์ เขียนถึงแถลงการณ์ดังกล่าวโดยเผยแพร่ผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ชาติพันธุ์นิพนธ์’ ดังนี้
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
1. ถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ นี้แสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยกำลังผลักไสให้นักศึกษาต้องแสดงออกนอกกรอบความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมีส่วนในการให้การศึกษา อบรมบ่มนักศึกษาเหล่านี้มา ย่อมมีอิทธิพลของปรัชญา ความคิด การแสดงออก ตามแนวทางการให้การศึกษาของมหาวิทยาลัย แม้ว่าจะเป็นแนวทางที่อาจจะไม่สบจริตของผู้บริหารปัจจุบันก็ตาม มหาวิทยาลัยย่อมมีส่วนรับผิดชอบต่อการแสดงออกของนักศึกษาและอดีตนักศึกษา
ในแง่นี้ มหาวิทยาลัยควรภาคภูมิใจด้วยซ้ำไปว่า ได้ผลิตนักศึกษาให้แสดงออกอย่างสันติ บนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการตระหนักถึงการแสดงบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมที่นักศึกษาอาศัยอยู่ กิจกรรมของนักศึกษากลุ่มนี้ย่อมสมควรได้รับการชื่นชม และส่งเสริมให้นักศึกษากลุ่มอื่น ๆ แสดงออกให้มากยิ่งขึ้นด้วยซ้ำ
2. ถ้อยแถลงเช่นนี้ยิ่งผลักให้นักศึกษาต้องเสี่ยงต่อการถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่และประชาชนที่ไม่เห็นด้วยโดยลำพัง แทนที่จะห้ามปรามตักเตือนเจ้าหน้าที่รัฐให้เคารพสิทธิการแสดงออกโดยสันติ และตักเตือนทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนที่ไม่เห็นด้วยให้หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่แสดงออกอย่างสันติ มหาวิทยาลัยกลับทักท้วงการแสดงออกอย่างสันติของนักศึกษาธรรมศาสตร์เสียเองราวกับว่าการแสดงออกของนักศึกษาและศิษย์เก่าเป็นความผิดพลาด
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองไม่ใช่หรือที่ให้การศึกษาแก่สังคมไทยว่า การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างโดยสันติ เป็นวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ควรได้รับการยอมรับและยกย่องส่งเสริม หากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองกลับไม่ยอมรับการแสดงออกเช่นนี้เสียเองและไม่ได้มีท่าทีทักท้วงการคุกคามจำกัดการแสดงออกของเจ้าหน้าที่รัฐเสียเองแล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยังให้การศึกษาเรื่องประชาธิปไตยแก่ประชาชนต่อไปได้อย่างไร
3. ถ้อยแถลงนี้มีเนื้อหาแสดงท่าทีเอนเอียงสนับสนุนคณะรัฐประหาร ถ้อยคำไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูป ความสมานฉันท์ การปรองดอง ล้วนเป็นถ้อยคำที่มองข้ามปัญหาของกระบวนการทางการเมืองในประเทศไทยขณะนี้ ที่ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ขาดการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่มีแม้กระทั่งเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติ
การที่ถ้อยแถลงของมหาวิทยาลัยแสดงท่าทีสนับสนุนคณะรัฐประหาร นอกจากจะไม่ส่งเสริมประชาธิปไตย การแสดงออกโดยสงบ สันติ และเปิดเผยแล้ว ยังกลับส่อแสดงว่ามหาวิทยาลัยกำลังส่งเสริมการใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญในการรัฐประหาร ส่งเสริมการใช้อำนาจกักขังหน่วงเหนี่ยวประชาชนของคณะรัฐประหาร ซึ่งขัดกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมหลักสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง
ในฐานะอาจารย์ธรรมศาสตร์คนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับถ้อยแถลงของฝ่ายการฯ นี้ได้ ถือว่าผู้บริหารกำลังนำมหาวิทยาลัยสู่ความตกต่ำอีกครั้งหนึ่ง ได้แต่หวังเพียงว่าสาธารณชนจะไม่เข้าใจผิดคิดไปว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังขัดขวางการตรวจสอบการทุจริตอย่างบริสุทธิ์ใจของนักศึกษาและประชาชนกลุ่มหนึ่ง หรือไกลกว่านั้นคือผู้บริหารกำลังปกป้องอำนาจที่ค้ำจุนอำนาจของตนอย่างหน้ามืดตามัว
รณกรณ์ บุญมี : ขอให้มีการทบทวน
ขณะที่ รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ ตั้งข้อสังเกตต่อแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Ronnakorn Bunmee’ โดยโพสต์ในลักษณะสาธารณะ เรียกร้องให้มีการทบทวนในรายละเอียดด้วย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ด้วยความเคารพต่อองค์กรและท่านที่เกี่ยวข้องกับแถลงการณ์ฉบับนี้
ผมเชื่อว่ามุมมอง และจุดยืนของฝ่ายการตามแถลงการณ์นี้เป็นสิ่งที่ควรจะทบทวนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากบริบทของสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งจุดยืนทางประวัติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในฐานะสมาชิกของประชาคมธรรมศาสตร์และสังคมไทย ผมเห็นว่าแถลงการณ์นี้มีข้อที่ควรพิจารณาทบทวนดังนี้
1. การที่บริบทของประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อสร้างความปรองดองนั้น ไม่เป็นอุปสรรคหรือข้อขัดแย้งใดๆ ในการที่ประชาชนจะแสดงความคิดเห็นโดยสงบและไม่มีการใช้ความรุนแรง จากประสบการณ์ในหลายประเทศที่เปลี่ยนผ่านประเทศจากความขัดแย้งจนเข้าสู่ความปรองดองด้วยความสำเร็จนั้น การรับฟังอย่างอดทนเพื่อให้เกิดความปรองดองเป็นองค์ประกอบที่จะขาดเสียไม่ได้
โดยเฉพาะถ้าการแสดงความคิดเห็นหรือการแสดงออกนั้นเป็นไปเพื่อการตรวจสอบการทุจริตที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นไปในเชิงเนื้อหาหรือเชิงสัญลักษณ์ก็ตาม และไม่ว่าคนที่แสดงความเห็นจะเป็นคนที่มีความคิดฝักใฝ่ฝ่ายใดก็ตาม เพราะนี้คือเรื่องของรัฐกับประชาชน ไม่ใช่เรื่องระหว่างเหลืองกับแดง และรัฐควรต้องอดทนเพื่อให้เกิดการยอมรับและปรองดองจากทุกฝ่าย
แน่นอนว่าข้อโต้แย้งนี้จะไร้ความหมายไปในทันทีถ้าแท้จริงแล้วบริบทของสังคมไทยในปัจจุบันไม่ใช่บริบทแห่งการเปลี่ยนผ่านและปรองดองแต่เป็นบริบทของการปราบปรามความเห็นต่างและการตรวจสอบ อันอาจจะเปิดช่องไปสู่การใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้องและการทุจริตได้
2. ในฐานที่ประชาชนเป็นผู้ทรงสิทธิแห่งรัฐ เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย อันเป็นพื้นฐานของความเป็นรัฐ ไม่ได้เป็นวัตถุสิ่งของภายใต้การใช้อำนาจของรัฐ การแสดงออกของประชาชนจึงเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นถ้าการแสดงออกที่ไม่ได้ใช้กำลังนี้จะนำไปสู่การใช้กำลังจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ย่อมเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยการควบคุมฝ่ายที่จะใช้กำลังไม่ใช่ควบคุมฝ่ายที่แสดงความคิดเห็น
เช่นเดียวกันกับฝ่ายการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ควรจะต้องส่งเสริมการแสดงออกที่ไม่ใช้ความรุนแรง หาใช่กังวลกับอันตรายต่อนักศึกษาจนเรียกร้องให้หยุดแสดงความคิดเห็น
ด้วยความเคารพและคาดหวังว่าฝ่ายการนักศึกษาจะได้ทบทวนแถลงการณ์ดังกล่าว
อุเชนทร์ เชียงเสน : อัดแถลงการณ์ไม่ได้สนใจ “อุดมการณ์ธรรมศาสตร์”
อุเชนทร์ เชียงเสน ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ต่อกรณีการออกแถลงการณ์ดังกล่าวด้วยว่า
โดยปกติ เวลาพูดอะไรมักจะหลีกเลี่ยงการอ้างการเป็น “คนธรรมศาสตร์” และ/หรือ “ประชาคมธรรมศาสตร์” เพราะคนอื่นที่เขาไม่มีส่วนร่วม จะหมั่นไส้เอา ซึ่งจริงๆ หลายครั้งที่มีคนอ้าง ก็น่าหมั่นไส้จริง รวมทั้งแถลงการณ์ที่จะกล่าวถึงข้างล่าง
แต่เห็น “แถลงการณ์ฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรณีนักศึกษาธรรมศาสตร์เคลื่อนไหวทางการเมืองภายนอกมหาวิทยาลัย” แล้วก็อดไม่ได้ ทั้งในฐานะศิษย์เก่าคนหนึ่ง และคนทำหน้าที่สอนหนังสือ ที่จะตั้งคำถามและมีความเห็นในเรื่องนี้
1. เนื้อหาแถลงการณ์ เห็นได้ชัดว่า ผู้เขียนไม่ได้สนใจ “อุดมการณ์ธรรมศาสตร์” ที่อ้างในตอนท้ายเลย รวมทั้งไม่ได้แสดงถึงความห่วงใยต่อสวัสดิภาพของนักศึกษาอย่างจริงจัง มากไปกว่า “ความมั่นคงราบรื่น” ของคณะรัฐประหาร คำถามคือ ในฐานะฝ่ายการนักศึกษา สิ่งใดคือ ความสำคัญในอันดับแรกของการทำหน้าที่ของตนเอง
2. การเคลื่อนไหวทางการเมืองในธรรมศาสตร์ เป็นเรื่องปกติมาก จนกลายเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน และมหาวิทยาลัยเองก็ควรจะเปิดกว้างกับการเคลื่อนไหวของฝ่ายต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาอาจจะมีผิดปกติอยู่บ้างตรงที่ ผู้บริหาร/ผู้อำนาจในมหาวิทยาลัย เอาตำแหน่งหน้าที่ของตนเองไปเป็นฐานหรือเครื่องมือในการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือดึงทรัพยากรของ “ส่วนรวม” ไปใช้ในการเคลื่อนไหวสนับสนุนทางการเมืองของฝ่ายที่ตัวเองสนับสนุน อย่างเช่นการเคลื่อนไหวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กรณี พรบ. นิรโทษกรรม เป็นต้น
นอกจากนั้น เท่าที่จำได้ ไม่เคยมีจารีตในเรื่องนี้มาก่อน นี่เป็นครั้งแรกที่ “ฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ท่าทีในลักษณะเช่นนี้ คำถามคือ ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ทำไมไม่มีการออกมาอธิบายในลักษณะนี้กับการเคลื่อนไหวอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน
หรือนี่เป็นเพียงเพราะว่า สิ่งที่นักศึกษาทำ “ขัด” กับจุดยืนส่วนตัวของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง คือ “ฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”
ถ้าเป็นอย่างนั้นก็น่าเสียใจ เพราะในฐานะอาจารย์หรือผู้บริหารอะไรก็แล้วแต่ เราไม่ควรเอาจุดยืนของเรา มาพัวพันกับหน้าที่การงานรับผิดชอบของเรา
3. สุดท้าย หากติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด เปิดกว้างและรับฟัง โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่แถลงการณ์นี้กล่าวถึงของนักศึกษาทั้งของธรรมศาสตร์และที่อื่นๆ รวมทั้งประชาชนที่เข้าร่วม ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับจุดยืนหรือความเห็นของหรือไม่ แต่สิ่งที่เห็นได้ก็คือ เป็นการใช้เสรีภาพตามปกติ ไม่ได้ขัดกฎหมายปกติ (เน้นว่าปกติ ไม่ใช่กฎของทหาร) เป็นไปอย่างสันติ ไม่มีการใช้ความรุนแรง
วิธีการแบบนี้เป็นวิธีการอารยะที่ควรส่งเสริมสนับสนุน และนำไปสู่การแก้ไขหรือเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่แท้จริงต่างหาก ไม่ใช่การกดบังคับ
ดังนั้น ในฐานะอาจารย์ บริหารหรือผู้มีส่วนรับผิดชอบ ควรที่จะสนับสนุนส่งเสริมในเรื่องนี้ ไม่ใช่ให้ “หยุดการเคลื่อนไหว” และควรปกป้องพวกเขา จากการข่มขู่คุกคามและการใช้ความรุนแรงจากฝ่ายต่างๆ

จ่านิวเผยหลังเห็นแถลงการณ์: ปริญญา ยังไม่เคยทำกันขนาดนี้

จ่านิว เผยหลังเห็นแถลงการณ์ ไม่คิดว่าจะเป็นแถลงการณ์ของฝ่ายการนักศึกษา ชี้มีอคติทางการเมือง ไม่ใช่แถลงการณ์ที่แสดงความห่วงใย แต่เป็นการประณาม ย้ำปริญญา ยังไม่เคยทำขนาดนี้
9 ธ.ค. 2558 หลังจากที่ฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ กรณีนักศึกษาธรรมศาสตร์เคลื่อนไหวทางการเมืองภายนอกมหาวิทยาลัย โดยมีรายละเอียดดังนี้
สืบเนื่องจากปรากฏการณ์ที่มีนักศึกษาธรรมศาสตร์ได้มีการแสดงออกทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบที่อ้างถึงเสรีภาพในการแสดงออกตามหลักประชาธิปไตยสากลโดยปราศจากมุมมองที่รอบด้านในบริบทประเทศไทย ปัจจุบันที่กำลังอยู่ในช่วงการปฏิรูปเปลี่ยนผ่านและต้องการสร้างความปรองดองนั้น ฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่าการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวที่กระทำในนามนักศึกษาธรรมศาสตร์ เป็นการมุ่งทำให้การบริหารการบริหาราชการแผ่นดินไม่เป็นไปโดยมั่นคงราบรื่น อีกทั้งกลุ่มผู้ร่วมเคลื่อนไหวทั้งหมดไม่ใช่นักศึกษาธรรมศาสตร์หรือไม่ได้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แต่ประการใดจึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสังคมว่าเป็นความคิดเห็นของประชาคมธรรมศาสตร์ส่วนใหญ่อันประกอบด้วย อาจารย์ เจ้าหน้าที่ ศิษย์เก่าและนักศึกษาธรรมศาสตร์ และอาจสมประโยชน์กลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่ไม่ประสงค์ดีต่อประเทศชาติ รวมอาจส่งผลกระทบถึงภาพลักษณ์ที่ดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือนำไปสู่ความขัดแย้งของสังคมในวงกว้างและทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อนักศึกษาธรรมศาสตร์ได้ ฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมีความเห็นว่า
(1) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ปิดกั้นการแสดงออกของนักศึกษาที่มีความแตกต่างหลากหลายบนพื้นฐานของศีลธรรมอันดีและเป็นไปโดยบริสุทธิ์ใจเพื่อประโยชน์ของประชาชน
(2) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ส่งเสริมการใช้เสรีภาพอย่างรับผิดชอบและคำนึงถึงผลกระทบต่อส่วนรวมอย่างรอบด้านทั้งระยะสั้นและระยะยาว
(3) ฝ่ายการนักศึกษามีความห่วงใยสวัสดิภาพและความปลอดภัยของนักศึกษาทุกคนจึงขอเรียกร้องให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ที่เคลื่อนไหวดังกล่าวหยุดการกิจกรรมนอก มหาวิทยาลัยที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือกระทบต่อความปลอดภัยของนักศึกษาธรรมศาสตร์ และหันมาใช้แนวทางสมานฉันท์อย่างสร้างสรรค์เพื่อร่วมเสนอแนะทางออกแก่ประเทศ ชาติภายใต้สภาวะวิกฤตินี้และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์เดิมของธรรมศาสตร์ที่ผ่านการพิสูจน์แล้วตลอดมาทุกยุคทุกสมัยและมีความปรารถนาที่จะเห็นสังคมที่เป็นธรรม ประชาชนมีโอกาสเท่าเทียมและอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยเร็ววัน
ฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
9 ธันวาคม 2558
ประชาไทได้สัมภาษณ์ นิว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือที่รู้จักกันในนาม จ่านิว ต่อกรณีดังกล่าว เนื่องจากเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มนักศึกษาที่แถลงการณ์ฉบับดังกล่าวระบุถึง โดยเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2558 เขากับเพื่อนๆ ซึ่งรวมตัวกันในนามกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา พร้อมด้วยประชาชนผู้สนใจ ได้ร่วมกันทำกิจกรรม ‘นั่งรถไฟ ไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง’
นิวกล่าวว่า ครั้งแรกที่อ่านแถลงการณ์ เขาเข้าใจผิดว่านั่นเป็น แถลงการณ์ของกลุ่มธรรมศาสตร์อภิวัฒน์ประเทศไทย  ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ก่อนเกิดการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เพราะมีเนื้อหาที่พินอบพิเทากับรัฐบาลทหารอย่างเห็นได้ชัด เขาไม่คิดว่านี่จะเป็นแถลงการณ์ของฝ่ายการนักศึกษา ขณะเดียวกันเขาไม่เห็นด้วยที่แถลงการณ์ดังกล่าวมีลักษณะเหมือนกับการแสดงความห่วงใย แต่อีกนัยแถลงการณ์ได้สื่อว่า เขาอ้างชื่อมหาวิทยาลัยในการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา
“มันไม่ใช่ความเป็นห่วงหรอกครับ มันเป็นการด่ากันตรงๆ มากกว่า ซึ่งนั่นไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ผมทำอะไรก็ไม่เคยเอาชื่อมหาลัยไปอ้าง แต่มันแยกอออกจากกันไม่ได้ เพราะผมก็เป็นนักศึกษาอยู่ แต่ผมไม่เคยบอกว่าตัวเองเป็นตัวแทนนักศึกษาทั้งหมด” นิวกล่าว
นิวกล่าวต่อไปว่า แถลงการณ์ฉบับนี้มีการใส่อคติทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องส่วนบุคคลลงไปเนื้อหาที่เป็นเรื่องของสาธารณะ เขาเห็นว่ามหาวิทยาลัยไม่ควรออกแถลงการณ์ใดๆ ต่อเรื่องดังกล่าว เพราะว่าภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ ไม่ว่ามหาวิทยาลัยจะมีจุดยืน หรือท่าทีอย่างไร ย่อมมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากอีกฝ่ายหนึ่งแน่นอน
“มหาวิทยาลัยไม่ควรออกแถลงการณ์เลย ไม่ว่าจะออกมาในทางไหนก็ตาม ออกมาเห็นด้วยกับผมก็จะด่าอีกฝ่ายหนึ่งด่า ออกมาแบบนี้ก็โดนด่า หากมีความกังวลเป็นห่วงจริงๆ ควรเรียกผมไปพูดคุยทำความเข้าใจเลยดีกว่า” นิวกล่าว
นิวกล่าวต่อไปว่า หลังจากแถลงการณ์นี้ออกมา ทำให้เขาคิดถึง ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อดีตรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา เขาเห็นว่า แม้ว่าในช่วงที่ ปริญญา เป็นรองฝ่ายการนักศึกษา จะมีท่าทีซึ่งนักศึกษาที่ทำกิจกรรมหลายๆ คนไม่ชอบ ไม่พอใจ แต่อย่างน้อย ปริญญา ไม่เคยมีท่าทีขัดขวางการทำกิจกรรมของนักศึกษา แม้นักศึกษาจะทำในสิ่งที่เขาไม่เห็นด้วยก็ตาม
ขณะเดียวกันเขาเปิดเผยว่า วันนี้ เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ได้เดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ทหาร ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์และช่วยเหลือประชาชน บก.ควบคุม ร2 พัน2 รอ. ตั้งอยู่ในวัดสุทธิสะอาด มีนบุรี เพื่อเข้าไปพูดคุยให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าใจว่าการกระทำของเขา ไม่เกี่ยวกับครอบครัว พร้อมขอให้เจ้าหน้าที่หยุดคุกคามครอบครัว ซึ่งเจ้าหน้าทหารได้รับปากตามที่เขาขอ
ทั้งนี้ เขาให้เหตุผลในการเข้าไปพบทหารครั้งนี้ว่า ทนไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่ทหารยังโทรหาแม่ และพยายามถามว่า เขารับเงินมาเท่าไหร่ เขาจึงเดินทางไปชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ด้วยตัวเอง

‘พันธ์ศักดิ์’ ฟ้องศาลปกครองขอเพิกถอนคำสั่งตั้งเรือนจำชั่วคราวมทบ.11


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ได้สรุปรายละเอียดคำฟ้องว่าไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายปกครอง 4 ประการ เช่น มีข้อความ เนื้อหาที่มีความหมายไม่แน่นอน มาจากเหตุผลทางการเมือง ขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ และไม่สอดคล้องกับความพอสมควรแก่เหตุ
<--break- />
9 ธ.ค. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 13.00 น. ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ได้เป็นตัวแทน เข้ายื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จากการออกคำสั่งตั้งเรือนจำชั่วคราวใน มทบ.11 เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นว่าหากคดีของตนถูกถอนประกันหรือถูกพิพากษาลงโทษ ก็อาจต้องถูกคุมขังในเรือนจำชั่วคราวแห่งนี้ จึงอาจจะได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งกระทรวงยุติธรรมดังกล่าว
การจัดทำคำฟ้องและดำเนินการมีศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและจัดเตรียมเอกสาร โดยคำฟ้องระบุถึงสาเหตุที่คำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 ไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายปกครอง 4 ประการหลัก ได้แก่
  • 1) การมีข้อความ เนื้อหาที่มีความหมายไม่แน่นอน ชัดเจนเพียงพอให้เข้าใจได้ ขัดต่อหลักทั่วไปของกฎหมายปกครอง และขัดต่อพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 34
  • 2) เหตุผลเบื้องหลังในการออกคำสั่งมีสาเหตุมาจากเหตุผลทางการเมืองเป็นหลัก จึงเป็นคำสั่งที่ออกโดยไม่สุจริต
  • 3) คำสั่งดังกล่าวเป็นกฎที่มีเนื้อหาขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ
  • 4) การออกคำสั่งฉบับนี้เป็นกรณีที่กระทรวงยุติธรรมโดยรัฐมนตรีใช้ดุลพินิจไม่สอดคล้องกับความพอสมควรแก่เหตุ

คำฟ้องจึงระบุขอให้ศาลปกครองรับคดีไว้พิจารณาและมีคำพิพากษาขอให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 เรื่อง กำหนดอาณาเขตเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี (ดูรายละเอียดสรุปคำฟ้องโดยละเอียดได้ด้านล่างของรายงาน หรือดาวน์โหลดไฟล์ PDF ได้ที่สรุปคำฟ้องคดีปกครองเพิกถอนเรือนจำมทบ.11)
ทั้งนี้ ในการยื่นคำฟ้องต่อศาล ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบ เข้าสังเกตการณ์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาล และผู้สื่อข่าวอีกหลายสำนัก
สรุปคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 เรื่อง กำหนดอาณาเขตเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี
สรุปเนื้อหาคำฟ้อง
ข้อ 1. นายพันธ์ศักดิ์  ศรีเทพ ผู้ฟ้องคดี  เป็นพลเรือนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลอาญา มาตรา 116 และอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลทหารกรุงเทพ ซึ่งหากศาลทหารมีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว หรือพิพากษาลงโทษจำคุก ผู้ถูกฟ้องคดีก็อาจจะได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ที่จะถูกนำตัวไปคุมขังไว้ที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี
ผู้ถูกฟ้องคดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยพลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็นผู้ลงนามออกคำสั่งกระทรวงยุติธรรม ที่ 314/2558 กำหนดอาณาเขตเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี โดยอ้างว่าอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 (1) และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479
 ข้อ 2. ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งกระทรวงยุติธรรมฉบับที่ 314/2558 ไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายปกครอง ด้วยเหตุดังต่อไปนี้
2.1  คำสั่งกระทรวงยุติธรรม ที่ 314/2558 มีข้อความ เนื้อหาที่มีความหมายไม่แน่นอน ชัดเจนเพียงพอให้เข้าใจได้ ขัดต่อหลักทั่วไปของกฎหมายปกครอง และขัดต่อพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 34
กล่าวคือคำสั่งกระทรวงยุติธรรมฉบับดังกล่าวใช้ข้อความว่า “คดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ” โดยไม่ได้อธิบายไว้ให้ชัดเจนว่าคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐคือคดีอะไร หมายความรวมถึงความผิดใดบ้าง ประกอบกับคำว่า “ความมั่นคงของรัฐ” เป็นคำที่มีลักษณะเป็นนามธรรมถูกนำมาใช้บ่อยอย่างกว้างขวาง ไม่มีหลักเกณฑ์ ชัดเจนแน่นอน
ส่วนข้อความที่ว่า “คดีอื่นที่เกี่ยวเนื่อง” อันเป็นส่วนขยายของคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ เมื่อคำว่าคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐไม่ได้อธิบายให้ชัดเจนและเป็นข้อความที่มีความหมายไม่ชัดเจนเพียงพอให้เข้าใจได้ ยิ่งทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเข้าใจได้ ว่าคำว่า “คดีอื่นที่เกี่ยวข้อง” มีความหมายอย่างไรและหมายถึงคดีใดบ้าง
คำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 ยังไม่ได้อธิบายว่าผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐและคดีอื่นที่เกี่ยวเนื่อง เป็นประเภทของผู้ต้องขังที่มีเหตุพิเศษอย่างไร แตกต่างไปจากคดีความผิดอื่นอย่างไร จึงได้นำมาคุมขังแยกไว้โดยเฉพาะ เพราะในคดีความผิดอื่นก็มีความพิเศษเช่นกัน อาทิเช่น คดีความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกาย ความผิดเกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสาร ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือความผิดอื่นๆ ก็ต่างมีลักษณะพิเศษในความผิดนั้น
2.2 เหตุผลเบื้องหลังในการออกคำสั่งกระทรวงยุติธรรม ที่ 314/2558 มีสาเหตุมาจากเหตุผลทางการเมืองเป็นหลัก จึงเป็นคำสั่งที่ออกโดยไม่สุจริต
พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นผู้ลงนามออกคำสั่งกระทรวงยุติธรรม ที่ 314/2558 ในขณะเดียวกันยังดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่กระทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ได้รับรองสถานะให้เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ  โดยในการทำรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองไว้ชัดเจนว่าต้องการใช้อำนาจจัดการกลุ่มบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ  ดังนั้น เจตนารมณ์ที่แท้จริงในการออกคำสั่งกระทรวงยุติธรรม ที่ 314/2558 จึงเป็นไปเพื่อตอบสนองเหตุผลทางการเมืองส่วนตนเป็นหลัก อันเป็นการบิดเบือนการใช้อำนาจไม่เป็นวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย
2.3 คำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 เป็นกฎที่มีเนื้อหาขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ
ถึงแม้ตามมาตรา 6 พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 จะให้อำนาจรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมกำหนดเขตเรือนจำเพื่อคุมขังผู้ต้องขังเป็นกรณีพิเศษได้ แต่ในการดำเนินการดังกล่าวจะต้องไม่ขัดกับต่อความเสมอภาคที่มาตรา 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มุ่งคุ้มครองอยู่  เนื่องจากสาระสำคัญร่วมกันของผู้ต้องขัง คือ เป็นกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาหรือถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดอาญาจึงต้องถูกคุมขังในเรือนจำราชทัณฑ์ปกติแบบเดียวกัน ทั้งนี้บรรดาความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐและความผิดเกี่ยวเนื่องโดยสาระสำคัญก็ล้วนแต่เป็นความผิดอาญาทั้งสิ้น การที่คำสั่งดังกล่าวได้กำหนดเขตเรือนจำพิเศษขึ้นมา เพื่อใช้คุมขังผู้ต้องขังในความผิดต่อความมั่นคงของรัฐและความผิดเกี่ยวเนื่องไว้โดยเฉพาะ เท่ากับว่ากระทรวงยุติธรรมจะใช้อำนาจเลือกปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญเหมือนกันให้แตกต่างกัน
ในการเลือกปฏิบัติตามเนื้อหาของคำสั่งดังกล่าว หากพิเคราะห์ให้ละเอียดจะพบว่าความผิดต่อความมั่นคงของรัฐที่อยู่ในลักษณะ 1 ของประมวลกฎหมายอาญา ถือว่าเป็นความผิดทางการเมืองโดยแท้ และความผิดเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ถือว่าเป็นความผิดทางการเมืองโดยจุดประสงค์  ผู้ต้องขังที่ถูกกล่าวหาและพิพากษาในความผิดดังกล่าวย่อมเป็นผู้ต้องขังความผิดทางการเมือง การแยกขังผู้ต้องขังประเภทนี้ไว้เป็นพิเศษจึงเป็นการเลือกปฏิบัติ โดยเพราะเหตุความแตกต่างในเรื่องความคิดเห็นทางการเมือง
อีกทั้ง การมีคำสั่งกำหนดให้พื้นที่ในค่ายทหาร พัน.ร.มทบ.11 ถนนพระรามที่ 5 แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 1 ไร่ เป็นเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีเพื่อสถานที่คุมขังผู้ต้องขังความผิดทางการเมืองไว้โดยเฉพาะ ต้องถือว่าเป็นว่าการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากสภาพเรือนจำและกฎระเบียบปฏิบัติภายในเรือนจำดังกล่าว มีลักษณะมาตรการที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อเป็นอุปสรรคต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิของผู้ต้องขังตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้
(1)  สภาพห้องขังที่เรือนจำชั่วคราว ไม่ใช่ห้องขังเหมือนเรือนจำปกติทั่วไป แต่ใช้อาคารที่ทำการของหน่วยทหาร ซึ่งมีประตูทึบผนังปูน 4 ด้าน โดยไม่มีช่องหน้าต่างให้ผู้ต้องขังได้มองออกไปมองทิวทัศน์ข้างนอกเพื่อให้พักผ่อนและเพลิดเพลินจิตใจ รวมถึงการคุมขังใช้ระบบขังเดี่ยวเป็นหลักอยู่ตลอดเวลา เป็นผลให้ผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังไม่มีโอกาสพบเจอและพูดคุยกับผู้ต้องขังรายอื่น ถูกตัดขาดจากสังคม  ซึ่งลักษณะการคุมขังดังกล่าวเป็นการทรมานผู้ต้องขังทางจิตใจอย่างร้ายแรงและกระทำต่อผู้ต้องขังเยี่ยงวัตถุ ถือว่าการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
(2)  เนื่องจากเรือนจำชั่วคราวดังกล่าวตั้งอยู่ภายในค่ายทหาร ผู้ต้องขังจึงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของพนักงานเรือนจำจากกรมราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่ทหารประจำค่ายทหารดังกล่าว การถูกควบคุมจากเจ้าหน้าที่ทหาร เป็นผลให้ผู้ต้องขังไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายที่จะได้มีโอกาสปรึกษาคดีเป็นการเฉพาะตัวกับทนายความ เพราะในระหว่างการปรึกษาคดีระหว่างทนายความกับผู้ต้องขังจะต้องมีเจ้าหน้าที่ทหารร่วมรับฟังทุกครั้ง และการทำหน้าที่สอบถามข้อมูลทางคดีจากผู้ต้องขังเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการให้ความช่วยแก้ต่างในชั้นศาลของทนายความ คำถามต่างๆ ที่จะถูกใช้ในการสอบถามดังกล่าวจะต้องถูกกลั่นกรองว่าเป็นคำถามที่สามารถถามได้หรือถามไม่ได้ โดยเจ้าหน้าที่ทหารที่ร่วมการรับฟังการปรึกษาก่อน หากเจ้าหน้าที่ทหารเห็นว่าเป็นคำถามที่กระทบต่อความมั่นคง เจ้าหน้าที่ทหารจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ทนายความถามคำถามดังกล่าว
ตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น คำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 จึงมีเนื้อหาที่เป็นเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมโดยเพราะเหตุทางการเมือง คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
2.4 การออกคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 เป็นกรณีที่กระทรวงยุติธรรมโดยรัฐมนตรีใช้ดุลพินิจไม่สอดคล้องกับความพอสมควรแก่เหตุ
(1) มาตรการในการกำหนดเขตเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีขึ้นมาเพื่อคุมขังผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐและความผิดเกี่ยวเนื่องเป็นพิเศษ ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของคำสั่งในด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิตของผู้ต้องขังได้
รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมออกคำสั่งโดยอ้างเหตุผลเรื่องการรักษาความปลอดภัยต่อผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐและความผิดเกี่ยวเนื่อง จึงได้กำหนดค่ายทหาร พัน.ร.มทบ.11 เป็นเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีเพื่อเป็นสถานที่คุมขัง แต่ปรากฏว่าด้วยสภาพห้องขังของเรือนจำชั่วคราวดังกล่าวได้ใช้อาคารที่ทำการของหน่วยทหารมาดัดแปลงทำเป็นห้องขัง มีประตูที่ทึบและผนังปูน 4 ด้าน เป็นผลให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่สามารถตรวจตราผู้ต้องขังจากภายนอกได้ตลอดเวลา โดยหากจะตรวจตราความปลอดภัยในชีวิตของผู้ต้องขัง จะต้องกระทำโดยการเปิดประตูห้องคุมขังเข้าไปตรวจเท่านั้น ซึ่งในกรณีที่เกิดเหตุที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของผู้ต้องขัง อันเนื่องมาจากเหตุต่างๆ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ย่อมไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ให้การดูแลชีวิตของผู้ต้องขังได้อย่างทันเวลา
ประกอบกับการที่เรือนจำชั่วคราวแห่งนี้ใช้ระบบขังเดี่ยวตลอดเวลาย่อมทำให้ผู้ต้องขังไม่มีโอกาสกับผู้ต้องขังรายอื่นๆ ถูกตัดขาดจากสังคม อันเป็นการทรมานผู้ต้องขังทางจิตใจอย่างร้ายแรง ย่อมก่อให้เกิดการทำร้ายตัวเองของผู้ต้องขัง จนกระทั่งเป็นอันตรายต่อร่างกายและชีวิตของผู้ต้องขังได้เสมอ ในกรณีของเรือนจำชั่วคราวแห่งนี้มีผู้ต้องขังอย่างน้อย 1 รายแล้ว ที่เสียชีวิตในระหว่างการถูกคุมขัง คือ ข.ช ปรากรม วารุณประภา ผู้ต้องขังในระหว่างสอบสวนในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เสียชีวิตจากฆ่าตัวตายภายในเรือนจำชั่วคราวแห่งนี้ และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ทำหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขังไม่อาจดำเนินการตรวจตราและให้ความช่วยเหลือได้ทันการ
(2) รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมสามารถเลือกมาตรการอื่นๆที่เหมาะสมที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขังน้อยกว่าและสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในด้านการรักษาความปลอดภัยได้
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในรักษาความปลอดภัยต่อผู้ต้องขังนั้น รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมสามารถเลือกมาตรการอื่น โดยการเลือกใช้มาตรการตามมาตรา 11 พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 กำหนดให้แบ่งแยกประเภทผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐและความผิดเกี่ยวเนื่องให้แยกขังไว้ต่างหาก ในเรือนจำราชทัณฑ์ปกติแทน
การขังผู้ต้องขังไว้ในเรือนจำราชทัณฑ์ปกติมีการดูแลความปลอดภัยต่อผู้ต้องขังที่ดีกว่าเรือนจำชั่วคราว เนื่องจากเป็นสถานที่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อการคุมขังผู้ต้องขังโดยเฉพาะ เป็นผลให้สภาพห้องขังไม่เป็นรูปแบบประตูปิดทึบ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงสามารถตรวจตราผู้ต้องขังจากภายนอกได้ตลอดเวลา รวมถึงการขังของเรือนจำราชทัณฑ์ปกติไม่ได้ใช้ระบบขังเดี่ยวเป็นหลักเหมือนเรือนจำชั่วคราว ผู้ต้องขังจึงได้มีโอกาสพบกับผู้ต้องขังรายอื่นๆ หากเกิดเหตุใดๆ ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของผู้ต้องขังย่อมทำให้มีบุคคลอื่นสามารถเข้าให้การช่วยเหลือและแจ้งให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้าดำเนินการดูแลความปลอดภัยให้ผู้ต้องขังได้ทันการ
อีกทั้ง ในเรือนจำราชทัณฑ์ปกติจะมีการจัดห้องให้ผู้ต้องขังและทนายความได้ปรึกษากันเป็นส่วนตัวและจะไม่มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มาร่วมรับฟังและทำหน้าที่คัดกรองคำถามระหว่างทนายความและผู้ต้องขัง เหมือนกับกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารกระทำในเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจึงแสดงให้เห็นว่ามาตรการที่รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมใช้ดุลพินิจเลือกใช้ เป็นมาตรการที่เกินจำเป็นและกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขังจนเกินควร
ข้อ 3. ผู้ฟ้องคดี ทราบว่าคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2558 จึงได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลในวันที่ 9 ธันวาคม 2558 ซึ่งอยู่ภายในระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่คำสั่งกระทรวงยุติธรรมฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้
คำขอท้ายฟ้อง
ด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้นผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลรับคดีไว้พิจารณาและมีคำพิพากษาเพื่อเป็นบรรทัดฐานสร้างความเป็นธรรมแก่กฎหมายทั้งระบบ ตามคำขอนี้
1. ขอให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 เรื่อง กำหนดอาณาเขตเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี