วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เตรียมสืบคดีชุมนุม ‘อภิชาติ’ เผยยอมรับคำตัดสินศาล แต่ไม่ยอมรับคำสั่ง คสช.



Wed, 2015-06-10 14:47


นัดตรวจพยานหลักฐานคดี อภิชาติ พงษ์สวัสดิ์ นักศึกษากฎหมาย ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ประท้วงหน้าหอศิลป์ 1 วันหลังรัฐประหาร ศาลนัดสืบพยานเดือน ก.ย. จำเลยยืนยันไม่รับคำสั่ง คสช. แต่ยอมรับในคำตัดสินของศาล


10 มิ.ย.2558 ที่ศาลแขวงปทุมวัน มีการนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีที่ จ.ส.อ.อภิชาติ พงษ์สวัสดิ์ ถูกพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ฟ้องในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 จำเลยได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

ในเวลา 9.00 น. นายอภิชาติพร้อมกับทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยนและผู้สังเกตการณ์คดีได้เดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดี 4 เพื่อยื่นพยานหลักฐานต่อศาล โดยพยานและหลักฐานที่จะใช้สืบคดีนั้น ฝ่ายโจทก์แจ้งว่าประกอบไปด้วยพยานบุคคล 3 ปาก เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่ทำการควบคุมเหตุการณ์เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 57 ที่หน้าหอศิลป์ และพยานวัตถุ ส่วนจำเลยแจ้งว่ามีพยานบุคคล 5 ปาก ประกอบด้วยประชาชนและผู้สื่อข่าวที่อยู่ในเหตุการณ์ และนักวิชาการ รวมถึงพยานวัตถุ 17 ชุด ประกอบด้วยแผ่นบันทึกเหตุการณ์ คลิปวิดีโอ และเอกสาร โดยศาลระบุว่าในการต่อสู้ในชั้นศาลจะเป็นการสู้ด้วยพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง และจะนัดสืบพยานต่อเนื่องในวันทำการ โดยได้นัดสืบพยานปากของฝ่ายโจทย์ในเช้าวันที่ 11 ก.ย. 2558 และ ฝ่ายจำเลยในเช้าวันที่ 30 ก.ย. 2558

อภิชาติได้เผยความรู้สึกหลังออกจากห้องพิจารณาคดีว่า เขาคิดว่าศาลจะให้ความเป็นธรรมกับคดีนี้และทางทนายมีแนวทางสู้คดีได้เต็มที่ ผลพิพากษาอาจจะออกมา 50:50 มีความเป็นไปได้ที่ศาลจะยกฟ้องหรือลงโทษสถานเบา แต่ถ้าศาลตัดสินว่ามีความผิดจริงก็เตรียมจะยื่นอุทธรณ์

นายอภิชาติกล่าวต่อว่า ในคดีนี้จะขอต่อสู้ในประเด็นของความไม่ชอบทางกฏหมาย เพราะเขายึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย พลเมืองต้องปกป้องรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่ออกมาปกป้องและยืนยันอำนาจอธิปไตยในตอนนั้น ต่อมาหากมีรัฐประหารอีกประชาชนก็อาจจะไม่ออกมาปกป้องสิทธิของตนเอง ประเด็นสำคัญอีกอย่างก็คือในวันที่เกิดเหตุ คำสั่ง คสช. ยังไม่เป็นกฎหมายในเวลานั้น ดังนั้นจึงคิดว่าไม่ถูกต้องที่เขาจะถูกจับกุม นอกจากนั้นเขายังเห็นว่าอำนาจของ คสช. ได้มาโดยมิชอบ จึงจะไม่ยอมรับคำสั่งของ คสช. โดยเด็ดขาด

“ผมยอมรับคำตัดสินของศาล ผมจึงมาอยู่ ณ ตรงนี้ แต่ผมไม่ยอมรับคำสั่งของ คสช.” นายอภิชาติกล่าว

เมื่อสอบถามถึงความคืบหน้าคดีมาตรา112 ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหา นายอภิชาติกล่าวว่าคดียังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ขณะถูกจับกุมอภิชาตเป็นนักศึกษาโครงการบัณฑิตอาสาสมัคร (บอ.)มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักศึกษาด้านกฎหมาย เหตุเกิดเนื่องจากในวันที่ 23 พ.ค.2557 ซึ่งเป็นวันหลังเกิดการรัฐประหาร 1 วัน มีการชุมนุมคัดค้านการรัฐประหารที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ อภิชาติเป็นหนึ่งในสี่คนที่ถูกจับกุมเนื่องจากชูป้ายข้อความต้านรัฐประหาร เขาถูกควบคุมตัวที่กองปราบจนครบ 7 วันตามอำนาจตามกฎอัยการศึก ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ในการชุมนุม และพ่วงด้วยความผิดตามมาตรา 112, 215, 216 และมาตรา 14 อนุ 3 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ผู้ใกล้ชิดอภิชาติซึ่งเป็นพยานขณะตำรวจสอบปากคำอภิชาติระบุว่า ข้อหาตามมาตรา 112 นั้นสืบเนื่องมาจากมีผู้นำส่งหลักฐานที่อ้างว่าเป็นข้อความในเฟซบุ๊กของอภิชาตให้เจ้าหน้าที่ทหาร จากนั้นเขาถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยไม่ให้ประกันตัวเป็นเวลา 24 วันก่อนศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังผลัดที่ 3 ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ยก ม.44 ทหารเข้าปรามชาวบ้าน ‘ฅนรักษ์บ้านเกิด’ จ.เลย หลังร่วมบายศรี '7 น.ศ.ดาวดิน'




Wed, 2015-06-10 19:08


10 มิ.ย.2558 เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ดาวดิน สังกัดพรรคสามัญชน’ โพสต์สรุปเหตุการณ์ทหารจังหวัดเลย เข้าพูดคุยกับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด หลังชาวบ้านร่วมงานบายศรีสู่ขวัญ 7 นักศึกษาดาวดิน (อ่านรายละเอียด : ขบวน'ประชาธิปไตยใหม่' ให้กำลังใจ 'ดาวดิน' ถูกดำเนินคดีกรณีรำลึก 1 ปีรัฐประหาร)

วันนี้ (10 มิ.ย.) พ.อ. อำนวย จุลโนนยาง รองผู้บังคับการทหารบกจังหวัดเลย ได้โทรศัพท์นัดหมายขอเข้าพูดคุยกับแกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 4 -5 คน หลังจากที่พี่น้องกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้เดินทางมาร่วมงาน ‘บายศรีสู่ขวัญรับขวัญประชาธิปไตย’ ให้กำลังใจนักศึกษาดาวดิน 7 คน เมื่อวันที่ 7-8 มิถุนายน 58 ที่ผ่านมา แต่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดปฏิเสธจะไม่ร่วมพูดคุยแค่ 5 คน ยืนยันจะให้ชาวบ้านทั้งหมดได้รับรู้ร่วมกัน

เวลาประมาณ 13.00 น. เจ้าหน้าที่รัฐ 15 คน นำโดย พ.อ.อำนวย พร้อมด้วย ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอวังสะพุง ปลัดอำเภอวังสะพุง เดินทางมาพูดคุยกับชาวบ้านที่บ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย โดยได้มาชี้แจงชาวบ้าน 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ การทำประปาหมู่บ้าน เรื่องที่สอง เจ้าหน้าที่รัฐได้ชี้แจงว่า แม้ว่าปัจจุบันรัฐจะยกเลิกกฎอัยการศึก แต่ก็ยังคงมี มาตรา 44 ที่ห้ามไม่ให้ประชาชนชุมนุมทางการเมือง การเดินทางมาร่วมงาน ‘บายศรีสู่ขวัญรับขวัญประชาธิปไตย’ และร่วมอ่านคำประกาศขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (Neo Democracy Movement) ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น ของพี่น้องกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อาจเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมือง นอกจากนั้น ยังห้ามไม่ให้ชาวบ้านเดินทางมาร่วมงานในวันที่ 15 มิ.ย. นี้

ขณะที่ชาวบ้านได้สอบถามถึงความคืบหน้าของการถอนฟ้องคดีความ เพื่อแลกกับการขนแร่ก่อนหน้านี้ ซึ่งนอกจาก การถอนฟ้องคดีชาวบ้านจะไม่คืบหน้าตามที่สัญญาไว้แล้ว บริษัทยังได้เดินหน้าฟ้องคดีชาวบ้านเพิ่มอีก 4 คดี ด้านเจ้าหน้าที่กลับอ้างว่าไม่ทราบเรื่อง และขอตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง










กสม. เข้าคุยหน่วยงานราชการ จ.จันทบุรี หลังทหารอ้าง ม.44 จับกุมชาวคลองชัน




Thu, 2015-06-11 03:43


หมอนิรันดร์ ลงพื้นที่ จ.จันทบุรี คุยหน่วยงานราชการ ตัวแทนกองทัพเรือ พร้อมชาวบ้าน เร่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบังคับคดีให้ ชาวคลองชันออกนอกพื้นที่ หลังทหารอ้าง ม.44 เข้าจับกุมชาวบ้าน พร้อมเตรียมส่งเอกสารถึงอัยการ ขอชะลอการบังคับคดีออกไปก่อน



10 มิ.ย. 2558 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุม 2 ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านที่ดินและป่า เพื่อติดตามผลการแก้ไขปัญหา คำร้องที่ 666/2558 กรณีประชาชนถูกผลักดันออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว และเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าจันตาแป๊ะ – เขาวังแจง พื้นที่บ้านคลองชัน หมู่ 7 ตำบลจันทเขลม อำเภอเขาคิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี โดยมี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่า พร้อมด้วย สมหมาย วิเชียรฉันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานในการประชุม โดยการประชุมในครั้งนี้ได้มีการเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีปัญหาข้อพิพาทในพื้นที่บ้านคลองชัน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตรอยต่อระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว กับเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าจันตาแป๊ะ – เขาวังแจง เป็นพื้นที่พิพาทระหว่างกองทัพเรือในฐานะผู้เช่าพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติเขาตาแป๊ะ – เขาวังแจง จำนวน 13,650 ไร่ ซึ่งใช้เป็นสนามซ้อมรบ เป็นผู้ยื่นเรื่องสู่อัยการเพื่อฟ้องชาวบ้านทั้งหมด 52 คน 47 หลังคาเรือน ให้ออกจากพื้นที่ซึ่งอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว และเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าจันตาแป๊ะ – เขาวังแจง ฐานเข้าอาศัยและทำกินในพื้นที่อย่างผิดกฎหมาย เมื่อปี 2549 และศาลตัดสินให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ในปี 2553 โดยชาวบ้านได้ยื่นอุทธรณ์ แต่ศาลตัดสินยืนตามศาลชั้นต้น และสุดท้ายชาวบ้านไปขอยื่นฎีกา แต่อัยการไม่รับคำร้องขอฎีกา ทั้งนี้ด้านกรมบังคับคดี ได้ดำเนินการบังคดีตามกฎหมาย แต่ก็ได้มีการประชุมหน่วยงานราชการหลายครั้งเพื่อขอชะลอการดำเนินออกไป เพื่อหาทางเยียวยา และหาพื้นที่รองรับชาวบ้านที่ต้องออกจากพื้นที่ให้ได้ก่อน โดยในระหว่างนั้นขอให้ชาวบ้านได้พื้นที่ทำกินไปก่อน และห้ามไม่ให้มีการขยายพื้นที่เพิ่ม ขณะนี้เหลือชาวบ้านจำนวน 14 ราย ที่ยังไม่เซ็นชื่อว่า ยอมออกจากพื้นที่ เนื่องจากยังไม่มีที่ดินทำกิน(ติดตามรายงานพิเศษเร็วๆนี้)


พื้นที่ในเส้นกรอบเป็นพื้นที่ซึ่งกองทัพเรือเช่าพื้นที่เขตป่าสงวนฯทำสนามซ้อมรบ ส่วนสัญลักษณ์สี่เหลียมสีม่วงเป็นพื้นที่ของชุมชนคลองชัน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณรอยต่อเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า กับเขตป่าสงวนฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2558 คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่า ได้มีการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาที่ชาวบ้านผลกระทบจากการดำเนินคดี กรณีคลองชัน โดยมีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีข้อสรุปว่าให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อหาทางช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ แต่ภายหลังจากการประชุมกลับมีหมายจับชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวออกมา ด้านชาวบ้านจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดจันทบุรีว่า หมายจับออกโดยไม่ชอบ โดยศาลได้รับรองแล้ว 7 คน และมีคำสั่งไต่สวนกรณีออกหมายจับไม่ชอบในวันที่ 15 และ 22 มิถุนายน ที่จะถึงนี้ แต่แล้วกระบวนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ก็สะดุดหยุดลง โดยการอ้าง ม.44 ของ กองกำลังรักษาความสงบจังหวัดจันทบุรี เข้าจับกุมชาวบ้านทั้งหมด 9 ราย เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) และส่งให้ตำรวจดำเนินคดีตามหมายจับ ล่าสุดชาวบ้านได้รับการประกันตัวออกไป โดยในวันที่ 24 มิ.ย. 2558 จะต้องมารายงานตัวต่อศาลอีกครั้ง

ด้านการประชุมในวันนี้ นพ. นิรันดร์ ได้สอบถามความคืบหน้าในการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากที่การประชุมครั้งก่อนได้มีการสรุปว่าจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาแก้ไขปัญหา โดยแบ่งรายละเอียดออกเป็น 5 ข้อคือ 1.สำรวจจำนวนผลที่ได้รับผู้กระทบ และมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยา 2.กำหนดวิธีการที่จะช่วยเหลือเยียวยา 3.กำหนดกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ 4.รายละเอียดของการจัดสรรที่ดินใหม่ให้กับผู้ที่ได้รับผู้กระทบ และ 5.การจ่ายเงินชดเชยเยียวยา พร้อมกันนั้นได้มีการเสนอให้มีการชะลอการบังคับคดีออกไปก่อนจนกว่าการแก้ปัญหาจะแล้วเสร็จ พร้อมกับให้นายกเทศมนตรีตำบลจันทเขลมแจ้งชาวบ้านคลองชันว่า ไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่เพิ่ม

สุวัฒน์ สมพจน์ ตัวแทนจากศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดจันทบุรี ได้ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้กำลังจะดำเนินการตั้งคณะกรรมการ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ พร้อมรับว่าจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งสัปดาห์

ด้านนายกเทศมนตรีแจ้งว่า ได้มีการดำเนินการแจ้งให้ชาวบ้านทราบแล้วว่าไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่เพิ่มอีก

ด้านตัวแทนจากสำนักงานบังคับคดีจังหวัดจันทุบรี ได้ให้ข้อมูลว่า ในขั้นแรกต้องเข้าใจว่าคดีนี้ได้สิ้นสุดไปแล้ว โดยศาลได้ตัดสินให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ในส่วนของการบังคับคดีหลังจากศาลตัดสินแล้ว ก็จะต้องมีการบังคับคดีให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ซึ่งจะมีขบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด จนไปถึงขั้นตอนของการออกหมายจับ เพราะว่าชาวบ้านยังไม่ได้ย้ายออกจากพื้นที่ พนักงานกรมบังคับคดีก็ต้องรายงานต่อศาลว่ามีใครบ้างที่ยังอยู่ในพื้นที่พิพาท ศาลก็จะดำเนินการออกหมายจับ เพื่อให้มีการย้ายออกจากพื้นที่ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีหลายรายที่ยอมเซ็นชื่อมอบพื้นที่ให้กับโจทย์ แต่ก็มีบางรายที่ยังกลับเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่อยู่ ซึ่งเรื่องนี้ศาลได้พิจาณาตัดสินแล้ว จำเลยก็ต้องออกไป ส่วนเรื่องการเยียวยาก็ต้องไปว่ากันอีกที

ตัวแทนกรมบังคับคดียังกล่าวอีกว่า ทางฝ่ายทหารเรือที่มาดำเนินการบังคับคดี มีความเป็นห่วงประชาชน หรือจำเลยที่อยู่ในพื้นที่พิพาท เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นที่ซ้อมรบ เกรงว่าจะมีการผลาด และส่งผลกระทบให้กับประชาชน ทั้งต่อชีวิต และทรัพย์สิน

“ชาวบ้านต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้ายังไม่ย้ายออกจากพื้นที่ ทางกองทัพก็ไม่สามารถซ้อมรบได้ ก็อาจจะปัญหาความไม่พร้อมรับมือในเรื่องความมั่นคงของชาติ ประเทศชาติอาจจะเสียหายได้” ตัวแทนสำนักงานบังคับคดีจังหวัดจันทบุรี กล่าว

ขณะเดียวกัน นพ.นิรันดร์ ได้ชี้แจ้งว่า การที่กรรมการสิทธิมาในครั้งนี้ไม่ได้มีการเข้าไปยุ่งเรื่องคดี เพราะว่าโดยกฎหมายกรรมการสิทธิฯไม่ได้มีหน้าที่เสนอความเห็นต่อศาล หรือคำตัดสินของศาล แต่ประเด็นที่เรามีการคุยกันมาตลอดคือ แนวทางในการที่จะเยียวยา และแก้ไขปัญหาจของพี่น้องประชาชน เนื่องจากพวกเขาเป็นผู้ได้รับผลกระทบที่ประกอบอาชีพสุจริต และในเรื่องของสิทธิชุมชนก็ได้รับรองเรื่องนี้ไว้ การที่จะบังคับคดี ซึ่งเขายังไม่สามารถที่จะหาที่อยู่ต่อได้ ในทางหลักสิทธิมนุษยชน เรื่องนี้เป็นภาระหน้าที่ของรัฐที่จะมาพิจารณาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ในส่วนของสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินงานภายใต้โครงการนิยมเศรษฐกิจพอเพียง จัดเตรียมพื้นที่รองรับชาวบ้านในกรณีพิพาท ซึ่งในขณะนี้มีจากจำนวนชาวบ้านทั้งหมด 15 รายที่เข้ารวมโครงการ จากจำนวนทั้งหมดที่ศาลได้ตัดสินให้ออกจากพื้นที่ โดยชาวบ้านส่วนที่เหลือระบุว่าไม่อยากไปอยู่ในพื้นที่ที่ได้มีการจัดหาไว้ให้ เนื่องจากมีพื้นที่เพียง 3 ไร่ ไม่สามารถทำหากินได้ เนื่องจากมีภาระที่แบกรับ

หนึ่งในชาวบ้านที่เข้าร่วมการประชุมกล่าวว่า การที่จะให้เราไปอยู่ในพื้นที่เพียง 3 ไร่ ไม่แตกต่างจากการเอาชาวบ้านไปโยนทิ้ง จากเดิมที่ชาวบ้านเคยอยู่ในพื้นที่ทำกินคนละประมาณ 10-15 ไร่ ก็ยังจัดว่าเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ยากจน อีกทั้งการที่ชาวบ้านย้ายออกจากพื้นที่เท่ากับเป็นการละทิ้งอาชีพเดิมที่เคยทำ ละทิ้งสวนผลไม้ทั้งหมดที่มี ซึ่งตรงนั้นคืออาชีพ และเป็นทรัพย์สินของชาวบ้าน

ด้าน สมภพ โชติวงศ์ คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่า กล่าวว่า การชะลอการบังคับคดีจะเกิดขึ้นได้ จะมีความเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อทางโจทย์คือ อัยการ ซึ่งยืนฟ้องแทนกองทัพเรือ ไปแถลงขอให้มีการงดการบังคับคดีไปก่อนเป็นการชั่วคราวเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จเสียก่อน ก็จะทำให้กระบวนที่เป็นมาตั้งแต่ต้นหยุดลงชั่วคราว

ตัวแทนกองทัพเรือ โดยนาวาเอกประสพ สงค์ประเสริฐ ประจำสำนักงานพระธรรมนูญกองทัพเรือ กล่าวว่า กองทัพเรือเป็นเพียงแต่ผู้ยื่นเรื่อง ส่วนโจทย์คืออัยการ ถ้าอัยการงดการบังคับคดีก็จะมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องอายุความ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งเคยพูดคุยกันแล้วหากมีการชะลอการบังคับคดีไปแล้ว แล้วแก้ปัญหาไม่แล้วเสร็จจนเรื่องหมดอายุความ อัยการที่แถลงขอให้มีการชะลอบังคับคดีก็จะต้องรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ นพ.นิรันดร์ ได้กล่าวว่า ตนจะเป็นผู้ทำหนังสือถึงอัยการเองเพื่อเสนอให้มีการดำเนินการชะลอการบังคับคดีไว้ก่อน ขณะเดียวกันก็ขอให้ทางศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดจันทบุรี เร่งประสานจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด โดยคาดหวังว่าจะดำเนินการให้ทันก่อนหน้าวันที่ 24 มิ.ย. 2558 ซึ่งเป็นวันที่ศาลเรียกชาวบ้านเพื่อรายงานตัวอีกครั้ง และคาดหวังว่าการดำเนินการของคณะกรรมการที่กำลังจะตั้งขึ้นจะมีกรอบระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เพื่อให้ไม่กระทบกับการหมดอายุความของการบังคับคดี

สรส.ค้านค่าจ้างลอยตัวทั่วประเทศ หนุนปรับเพิ่มเป็น 360 บาททั่วประเทศ




Thu, 2015-06-11 19:24


transbordernews

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ค้านค่าจ้างลอยตัวทั่วประเทศ ชี้ควรปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 360 บาท รัฐควรมองคนเป็นคน สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2558 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการประกาศใช้ระบบค่าจ้างลอยตัวทั่วประเทศโดยให้ เหตุผลดังนี้ 1. ในอดีตที่ผ่านมานับตั้งแต่การประกาศค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกในปี 2516 ซึ่งในระยะหลังต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักการและเจตนารมณ์ไปอย่างมาก กล่าวคือ ค่าจ้างขั้นต่ำตามนิยามขององค์การแรงงานระหว่างประเทศที่กำหนดให้ค่าจ้าง สามารถเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัวได้ 4 คน คือ พ่อ แม่ และลูกอีก 2 คน มาเหลือเพียงพอเลี้ยงชีพเฉพาะคนที่ทำงานเพียงคนเดียว และค่าจ้างก็แบ่งเป็นเขตไม่เท่ากัน คือ ปล่อยค่าจ้างลอยตัว หลังสุดในปี 2553 ราคาค่าจ้างมีถึง 32 เขต ทั้งๆ ที่เขตชายแดนจังหวัดติดกันซื้อสิ่งของอุปโภค บริโภค ในราคาที่เท่ากัน แต่ค่าจ้างกลับไม่เท่ากัน ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม เกิดความเหลื่อมล้ำ

2. การปล่อยค่าจ้างให้ลอยตัว ความเปลี่ยนแปลงของค่าจ้างในระดับท้องถิ่นขึ้นอยู่กับอนุกรรมการค่าจ้าง ประจำจังหวัดที่มีการประชุมกำหนดค่าจ้างร่วมกัน 3 ฝ่าย (ไตรภาคี คือ รัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง) ในบางจังหวัดไม่มีสหภาพแรงงาน ตัวแทนฝ่ายลูกจ้างก็ใช้วิธีการหาคนที่อ่อนน้อมถ่อมตนไม่กล้าโต้เถียง เป็นอนุกรรมการทำให้บางจังหวัดไม่ได้รับการปรับค่าจ้างติดต่อกันหลายปี ประกอบกับรัฐบาลไม่สนับสนุน ส่งเสริม สิทธิ เสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ทำให้คนงานไม่มีอำนาจการต่อรอง และอยู่ในสภาพที่ยากลำบากแร้นแค้น

3. การปล่อยให้ค่าจ้างลอยตัว ทำให้ค่าจ้างมีความแตกต่างกันอย่างมากทำให้เกิดการอพยพแรงงานจากจังหวัดหรือ เขตที่มีค่าจ้างต่ำไปสู่จังหวัดและเขตที่มีค่าจ้างสูง ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาอย่างมากมาย เช่น ครอบครัวแตกแยก ปัญหายาเสพติด การล่วงละเมิดทางเพศ กระจุกตัวของผู้คนในเมืองใหญ่ เกิดความแออัด เกิดแหล่งเสื่อมโทรม คุณภาพชีวิตตกต่ำลง รัฐต้องลงทุนและใช้ทรัพยากรในโครงการใหญ่ๆ เป็นการบ่อนทำลายธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ทำให้สูญเสียงบประมาณ สูญเสียโอกาสในการพัฒนาคน พัฒนาเรื่องการศึกษา และการบริการสาธารณะที่ดี ในชนบทที่ดินที่รกร้างไม่มีคนหนุ่มสาวทำการเกษตรถูกนายทุนยึดครอง ซึ่งจะเห็นได้จากนายทุนบางคนครอบครองที่ดินเกือบ 1 ล้านไร่ เป็นต้น

4.คำกล่าวอ้างเดิมที่บอกว่าค่าครองชีพในต่างจังหวัดถูกกว่าค่าครองชีพใน กรุงเทพฯ คงไม่จริงเสียแล้ว ดูจากราคาน้ำมัน พลังงานซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตต่างจังหวัดแพงกว่ากรุงเทพฯ เครื่องอุปโภค บริโภคบวกราคาค่าขนส่งแพงกว่า สินค้าในร้านสะดวกซื้อที่กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของคนไทยวันนี้เท่ากันทั้ง ประเทศ บางรายการแพงกว่ากรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ

5. ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ผันผวนซึ่งนับวันจะรุนแรงขึ้น ทั้งในระดับประเทศและสากล การเปิดเสรีทางการค้า การเงิน การลงทุน การบริการ และแรงงานในข้อกำหนดของเขตเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ที่จะดำเนินการเต็มรูปแบบในปลายปีนี้ ซึ่งจะมีความหมายอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมจากนี้ไป การแข่งขันที่เข้มข้นจะก่อให้เกิดผลกระทบที่ตามมาอย่างมากมาย หากรัฐบาลมองแค่เรื่องการลงทุนเพียงอย่างเดียวโดยไม่ให้ความสำคัญต่อความ เป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของคนงาน จะทำให้ประเทศไทย คนไทยสูญเสียโอกาสอย่างมาก จะแข่งขันกับประเทศอื่นได้อย่างไร เมื่อคนไทย แรงงานไทย ถูกเสนอขายค่าจ้างแรงงานในราคาที่ถูกเพื่อดึงดูดนักลงทุน ประเทศไทยไม่ควรหวังเพียงตลาดการส่งออกในต่างประเทศ และการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติมาลงทุนในประเทศเพียงอย่างเดียว การเพิ่มการบริโภคและการเติบโต แข็งแรงด้วยลำแข้งและสติปัญญาของคนในชาติ ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ย่อมทำให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งมั่นคงกว่าการพึ่งพาต่างประเทศอย่างแน่ นอน

ในแถลงการณ์ของ สรส.ระบุด้วยว่า จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น คงเพียงพอที่จะให้รัฐบาล กระทรวงแรงงาน หยุดกระบวนการที่จะเดินหน้าด้วยการปล่อยให้ค่าจ้างลอยตัวแล้วเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาเช่นในอดีต คนที่มาเป็นรัฐบาลก็ต้องศึกษาทบทวนอย่างเข้าใจ มองคนเป็นคน ดำเนินการตามนโยบายที่แถลงไว้แต่ต้น คือ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้แก่สังคมและประชาชน ประกอบกับก่อนหน้านี้รัฐบาลก็ปรับเงินเดือนให้แก่ข้าราชการไปแล้วมีผล ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2557 โดยอ้างภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ดังนั้น คนกลุ่มอื่นทั้งลูกจ้างเอกชน รัฐวิสาหกิจก็ไม่ควรเลือกปฏิบัติ และควรหามาตรการด้านต่างๆ ช่วยเหลือแก่ เกษตรกรและประชาชนอาชีพอื่นๆ ด้วย อย่างเช่น SME ที่อ้างว่าได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้าง รัฐบาลก็สามารถใช้มาตรการนโยบายทางภาษี ทางการเงินได้เหมือนเช่นเดียวกับที่ได้ช่วยเหลือ และให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนไทย นักลงทุนต่างชาติขนาดใหญ่ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

สรส.ขอแถลงให้ทราบทั่วกันว่าไม่เห็นด้วยกับการปล่อยค่าจ้างลอยตัว จึงขอยืนยันให้รัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำจาก 300บาท เป็น 360 บาทให้เท่ากันทั้งประเทศ พร้อมกับให้ยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัด และขอให้รัฐบาล สนับสนุน ส่งเสริมให้คนงานรวมตัวกันด้วยการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาขององค์การแรงงาน ระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98

พรเพชร เผยเตรียมนัดประชุม พิจารณาร่างแก้ไข รธน. ชั่วคราว 18 มิ.ย. 3 วาระรวด



Thu, 2015-06-11 17:01


ประธาน สนช. เตรียมนัดประชุมเพื่อ พิจารณาร่างแก้ไข รธน. ชั่วคราว 2557 18 มิ.ย. 3 วาระรวด พร้อมเผย 3 เนื้อหาหลัก 1.เปิดช่องทางการทำประชามติร่าง รธน. 2.ให้มีการถวายสัตย์ต่อรัชทายาทหรือผู้แทนพระองค์ได้ 3.เปิดโอกาสให้ผู้ที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง มีสิทธิเป็น สนช. รวมถึงตำแหน่งอื่นๆ

11 มิ.ย. 2558 พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานนิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงข่าวว่า ขณะนี้ สนช.ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) แห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ พ.ศ...จากนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว โดยตามมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กำหนดให้ สนช.พิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันรับหนังสือ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 25 มิ.ย. 2558 ดังนั้น สนช.จึงได้กำหนดพิจารณาร่างแก้ไขดังกล่าวในวันพฤหัสบดีที่ 18 มิ.ย. นี้ ซึ่งจะเป็นการประชุมสภาเต็มคณะ พร้อมเชิญตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมพิจารณาด้วย โดยจะพิจารณาภายในวันเดียวแบบ 3 วาระรวด ซึ่งหากสมาชิก สนช. มีข้อเสนอแนะในประเด็นใดสามารถขอมติจาก ครม. และ คสช. ได้เลยโดยไม่เสียเวลาอย่างไรก็ตามหาก ครม.และ คสช.ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวต้องยืนร่างเดิมจะแก้ไขไม่ได้ ทั้งนี้การลงมติจะใช้รูปแบบขานชื่อออกเสียงลงคะแนนเป็นรายบุคคล ซึ่งจะต้องมีคะแนนเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มี จำนวน 220 คน หรือ ไม่น้อยกว่า 110 เสียง และหากที่ประชุมเห็นชอบจะส่งไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมต่อ ไป พร้อมยืนยันด้วยว่า การพิจารณาดังกล่าวจะเปิดกว้างในการอภิปราย ไม่จำกัดเวลา เป็นไปตามธรรมเนียมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งหากไม่เสร็จสิ้นจะมีการ พิจารณาต่อเนื่องในวันถัดไป

พรเพชรกล่าวว่า สำหรับเนื้อหาในร่างแก้ไขมีทั้งหมด 6 ประเด็น ส่วนประเด็นที่ 7 เป็นการขอปรับแก้ไขถ้อยคำ แต่ตนสรุปได้ 3 ประเด็นหลัก คือ 1. ขอแก้ไขมาตรา 8 (4) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกบ้านเลขที่ 111, 109 ให้มีสิทธิเป็น สนช. รวมถึงตำแหน่งอื่นๆ ด้วย 2. เรื่องการแก้ไขถวายสัตย์ต่อเบื้องพระพักตร์พระมหากษัตริย์ สามารถถวายต่อรัชทายาทหรือผู้แทนพระองค์ได้ และ 3. ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต่อไปนี้ร่างใดก็ตามจะต้องทำประชามติ โดยให้ยึดถือเป็นหลักการ

“ไม่ว่าจะเป็นฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าผ่าน สปช.ก็ต้องไปทำประชามติ หรือถ้าไม่ผ่าน สปช.แล้วมีการตั้งคณะกรรมการ 21 คนขึ้นมาร่างก็ต้องไปทำประชามติเช่นกัน การทำประชามติในร่างแก้ไขที่ระบุว่าให้ทำประชามติเรื่องอื่นๆ ด้วยนั้น เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญนั้นให้ถามว่ารัฐบาลอยู่ต่อหรือไม่ แต่เป็นการให้ สปช.และ สนช.ตั้งคำถาม สมมติตั้งคำถามว่าการที่ให้บัญญัติว่า ส.ว.มาจากการสรรหา ให้มาจากการเลือกตั้งได้ด้วยหรือไม่ เป็นต้น ไม่ได้เกี่ยวกับการต่ออายุรัฐบาล แต่ทั้งนี้คำถามอาจไม่มีก็ได้หากทั้งสองสภาเห็นว่าไม่มีความจำเป็น ขึ้นอยู่กับแต่ละสภา” พรเพชรกล่าว

‘บิ๊กโด่ง’ หนักใจ การเคลื่อนไหวของนักศึกษา ชี้ น้องๆ ยังไม่เข้าใจ และขาดวุฒิภาวะ



Thu, 2015-06-11 17:53


พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รับหนักใจการเคลื่อนไหวของนักศึกษากลุ่มต่างๆ ชี้เด็กยังไม่เข้าใจ ขาดวุฒิภาวะ ย้ำถ้าเกิดความไม่เรียบร้อย ต้องดำเนินการตามกฎหมายที่มีอำนาจอยู่

11 มิ.ย. 2558 เมื่อเวลา 09.30น. ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่กองกำลังรักษาความสงบ (กกล.รส.) ได้รับรายงานข่าวการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่จะคัดค้านการร่างรัฐธรรมนูญในช่วงนี้ว่า ยังไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เพราะเราก็ยังติดตามการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ ทั้งนี้ตนดีใจที่คนส่วนใหญ่มีความเข้าใจดี มิหนำซ้ำยังให้กำลังใจอีกด้วย แต่ว่าคนส่วนน้อยที่เรายังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดเขาได้ แต่เราก็จะพยายามทำความเข้าใจต่อไป ทั้งนี้ตนขอย้ำว่าไม่ว่าใครทำอะไร เคลื่อนไหวอย่างไร ถ้าพอรับได้ และไม่เกิดปัญหาในภาพใหญ่ ก็ไม่น่าเป็นอะไร พออนุโลมกันไปได้ แล้วก็ผ่อนปรนกันไปพอสมควรโดยเฉพาะกับนักศึกษา

“ผมรู้สึกหนักใจเพราะยังถือเป็นเยาวชน ที่ยังมีความคิดเห็นไปในทางที่ไม่สร้างสรรค์ต่อสังคม อยากขอร้องกับผู้ปกครองและครูช่วยดูแลด้วย เพราะเด็กวัยรุ่นอาจทำอะไรต่างๆ ที่ยังขาดข้อมูล และขาดวุฒิภาวะ ทำให้สถานการณ์โดยรวมดูมีปัญหา บางพื้นที่เจ้าหน้าที่พยายามทำความเข้าใจ ในวิธีที่ไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งและความรุนแรง หากจะก่อให้เกิดความไม่ราบรื่น เรียบร้อยเจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องทำตามอำนาจที่มีอยู่ โดยพยายามใช้กฎหมายที่มีอยู่” พล.อ.อุดมเดช กล่าว

เมื่อถามว่าเจ้าหน้าที่เข้าไปสถานศึกษาเพื่อชี้แจงให้เกิดความเข้าใจหรือ ไม่ พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า เจ้าหน้าที่พยายามทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกับคณะอาจารย์ในช่วงที่มีการจัดกิจกรรม ส่วนใหญ่คณะอาจารย์ทำตามระเบียบได้แจ้งอธิบายกิจกรรมต่างๆ ที่จัดเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งเจ้าหน้าที่พยายามไม่ไปสอดแทรก หรือทำให้เกิดการขาดความเป็นเอกภาพในการดำเนินกิจกรรมนั้นๆ ถ้าเป็นกิจกรรมที่ดีเราก็สนับสนุนแต่ต้องสร้างสรรค์และไม่ให้เกิดความวุ่นวาย

กรมวังผู้ใหญ่ มอบตัวตามหมายจับ ม.112 ทุจริต และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่



Thu, 2015-06-11 19:57


11 มิ.ย. 2558 ตำรวจกองปราบปราม คุมตัวนายมนตรี โสตางกูร กรมวังผู้ใหญ่ประจำพระองค์ อดีตพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ ส่งมอบให้ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะพนักงานสอบสวนโดยกฎหมาย ในคดีที่นายมนตรี ถูกศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลอาญา อนุมัติออกหมายจับในข้อหาเดียวกัน รวม 4 หมายจับ อาทิ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มาตรา 112, 148, 149 และ 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 123 และ 123/1

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สอบถามเบื้องต้น ก่อนส่งตัวให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล นำกลับไปสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา โดยนายมนตรี ได้เซ็นชื่อในบันทึกการจับกุมแล้ว ส่วนทรัพย์สินอยู่ระหว่างการตรวจสอบ หากพบว่าได้มาโดยมิชอบ จะให้ ป.ป.ช. เข้ามาร่วมดำเนินการ

ด้าน พล.ต.ท.ศรีวราห์ เปิดเผยว่า แพทย์ได้ตรวจร่างกายนายมนตรี พบว่าปกติ ซึ่งหากรับสารภาพ ก็จะนำตัวไปทำแผน แต่หากไม่ให้การ หรือปฏิเสธ ก็จะส่งตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในวันพรุ่งนี้ และคาดว่าจะสรุปสำนวนคดีได้ภายในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตาม คดีนี้จะทำเรื่องถึง ป.ป.ช. เพื่อขอรับมาดำเนินการเองทั้งหมด

ผู้สื่อรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวานนี้ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการ แถลงออกหมายจับนายมนตรี โดยพล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า นายมนตรีมีพฤติกรรมแอบอ้างเบื้องสูง ใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้อง ซึ่งบุคคลนี้อดีตพระวรชายา เป็นผู้คัดเลือกมาทำงานเอง มิได้เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร แต่อย่างใด โดยนายมนตรีแอบอ้างตัวเองว่า เป็นบุคคลใกล้ชิดเบื้องสูง ไปขอและบอกให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในขณะนั้น เพื่อขอให้แต่งตั้งตัวเองเป็นคณะกรรรมการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการการสื่อสารแห่งประเทศไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมีพยานหลักฐานชัดเจน อีกทั้งได้สอบถามจากนายพิชัย นริทพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และน.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรัฐมนตรีไอซีที มาสอบถาม ซึ่งได้ให้การยืนยันว่า นายมนตรีมีการแอบอ้างเบื้องสูงจริง ทั้งยังมีการแสวงหาผลประโยชน์จากการซื้อขายที่ดินและเป็นนายหน้าที่ดิน ทั้งนี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ทำบันทึกถึงสำนักราชพระราชวังให้ส่งมอบตัวนายมนตรีมาให้ตำรวจในวันที่ 11 มิ.ย.นี้ ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา และดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป รวมทั้งประสานหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงาน ปปง. ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินด้วย เบื้องต้นคาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเครือข่าย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ส่วนจะมีบุคคลอื่นเกี่ยวข้องอีกหรือไม่นั้น ต้องรอผลจากการสอบปากคำอีกครั้ง