อาจารย์เศรษฐศาสตร์การเมืองผู้ศึกษาโครงสร้างรัฐธรรมนูญหลายฉบับ ชำแหละระบบเลือกตั้งแบบมีชัยบัตรใบเดียวสร้างรัฐบาลอ่อนแอ เอื้อพรรคขนาดกลาง ปิดกั้นการแสดงเจตนารมณ์ของประชาชน เชื่อเป็นแค่ปาหี่เลือกตั้ง หวั่นจบไม่สวยเพราะปิดทางแก้ไขกติกา
“ครั้งที่แล้วบอกว่ารับไปก่อน มาแก้ทีหลัง แต่ครั้งนี้แก้ไม่ได้
เพราะกลไกการแก้เกือบจะเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ
ต่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน แล้วมีบทเฉพาะกาลแบบนี้ก็ถึงทางตัน จะอยู่ได้ครบห้าปีเหรอ
ถ้าคุณเชื่อว่าเราเดินกันมาถึงปี 2559 แต่คุณย้อนกลับไปเป็นปี 2521
มันขัดกับรากฐานสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเยอะแล้ว”
“ผมเดาว่าจบไม่สวย เพราะจะไม่มีทางแก้รัฐธรรมนูญโดยสันติวิธี
ถ้าพลังจากการเลือกตั้งไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้จะเกิดอะไรขึ้น
ก็เหมือนกับต้มน้ำ ปิดฝา แล้วเอาหินทับไปอีกก้อน
หินก็คือการไม่เปิดโอกาสให้แก้รัฐธรรมนูญ
แล้วมันจะออกยังไง ... แต่ละฝ่ายก็จะสู้ด้วยวิถีทางที่เขาคิดว่าจะสู้ได้”
“เป็นการเลือกตั้งให้ได้รัฐบาลรักษาการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่าน
เปลี่ยนผ่านอะไร คือภาระหลักอย่างเดียวของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งคือการร่างรัฐธรรมนูญ
ตั้ง สสร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ที่เปิดที่ทางให้คนทุกภาคส่วนของสังคมได้มีส่วนร่วม
เป็นการแก้ปัญหาในเชิงระบบให้เปลี่ยนผ่านได้อย่างราบรื่น ซึ่งเขาไม่มีวันยอมหรอก
แต่ในทางการเมือง ผมคิดว่าข้อเสนอนี้ง่ายที่สุด ง่ายกว่าจะเอารัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้”
ภาพจากแฟ้มภาพ ประชาไท
รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรมัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ระบบเลือกตั้งแบบ ‘มีชัย’ เทียบเคียงกติกาเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญปี 2521 และปี 2540 ฉายภาพหลังเลือกตั้ง บนฐานกติกาเช่นนี้ เราจะมีรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ อำนาจต่อรองกลับไปอยู่ในมือพรรคขนาดกลาง เพราะนอกจากการมีสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะคอยกำกับตรวจสอบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว อภิชาติยังเห็นว่าระบบเลือกตั้งที่ถูกออกแบบมาจะทำให้กติกาการเข้าสู่อำนาจของไทยย้อนกลับไปก่อนปี 2540
“ความอ่อนแอของรัฐไทยในทัศนะผม เป็นตัวที่ทำให้เราไปไหนไม่ได้จนถึงทุกวันนี้หรือเราควรไปได้ดีกว่านี้ แต่เราก็ไปไม่ได้ เพราะมันถูกกำหนดโดยกติกาทางการเมืองคือรัฐธรรมนูญเป็นตัวสำคัญ”
อภิชาตพาเราถอยกลับไปวิเคราะห์การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรมมากที่สุดฉบับหนึ่งและสร้างความเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศนการเมืองไทยมหาศาล เขาเล่าว่า ร่างรัฐธรรมนูญครั้งนั้นมีบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นเลขาธิการคณะกรรมาธิการยกร่างฯ และมีคำขวัญว่า “ปิดทุจริต เปิดประสิทธิภาพ สร้างภาวะผู้นำ” ถือเป็นแนวทางการร่างที่ “เห็นร่วมกัน” ว่าต้องการสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็ง เพิ่มอำนาจให้ฝ่ายบริหาร ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะได้ทักษิณเป็นรัฐบาลที่เข้มแข็งที่สุดและมีอำนาจมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของไทยตั้งแต่ปี 2475 พร้อมกับพยายามออกแบบและสร้างองค์กรตรวจสอบที่เข้มแข็งขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อคานอำนาจฝ่ายบริหาร
“อาจพูดได้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 อย่างก็น้อยประสบความสำเร็จครึ่งหนึ่งคือครึ่งที่สร้างฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง แต่ฝ่ายตรวจสอบมีข้ออ่อนในทางปฏิบัติที่ถูกทักษิณไปถอดรื้อบางส่วนออก”
ก่อน 40 ต้องการประชาธิปไตยครึ่งใบ กติกาไม่เอื้อให้สร้างพรรคใหญ่
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ทำให้ก่อนปี 2540 ประเทศไทยมีรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารที่ไม่เข้มแข็งตลอดมา เป็นเพราะกติกาการเมืองโดยเฉพาะการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองหรือระบบพรรคการเมืองไม่ได้ถูกเปลี่ยนอย่างสำคัญ ดังนั้น ก่อนปี 2540 การเลือกตั้งทุกครั้งพรรคการเมืองจึงไม่เคยชนะกันแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่เคยมีพรรคไหนได้จำนวน ส.ส.เกินร้อยละ 30 จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องตั้งรัฐบาลผสมจากหลายพรรค
“รัฐธรรมนูญปี 2521 คือประชาธิปไตยครึ่งใบ เป็นการเอาอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งคานกับอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง จึงไม่แปลกที่ออกแบบให้มีรัฐบาลผสม ทำให้ไม่มีระบบพรรคการเมืองขนาดใหญ่ แต่เป็นพรรคขนาดเล็กและขนาดกลางและมีระบบพรรคการเมืองที่อ่อนแอ”
อภิชาติอธิบายว่า กติกาการเลือกตั้งที่ออกแบบก่อนปี 2540 ทำให้นักการเมืองไม่มีแรงจูงใจจะสร้างพรรคขนาดใหญ่ เพราะรัฐธรรมนูญเอื้อให้พรรคขนาดกลาง ขนาดเล็กอยู่รอดได้ง่าย เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค อำนาจต่อรองของพรรคขนาดกลางจึงสูง เมื่อคิดแบบเศรษฐศาสตร์จึงมีความคุ้มค่าที่จะสร้างพรรคขนาดกลาง โดยไม่จำเป็นต้องสร้างพรรคขนาดใหญ่ เพราะส่วนต่างอำนาจระหว่างพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดใหญ่มีไม่มาก ใครจะลงทุนสูงตั้งพรรคใหญ่เมื่อเทียบแล้วอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย
ประเด็นที่ 2 คือความแตกต่างทางอำนาจระหว่าง นายกรัฐมนตรี กับ รัฐมนตรี ไม่ต่างกันมาก พรรคขนาดกลางแค่ยึดเฉพาะกระทรวงเกรดเอก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเพิ่มขึ้นจากกระทรวงเกรดเอเพียงเล็กน้อย
ประเด็นสุดท้ายคือเส้นทางขึ้นสู่การเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนปี 2540 มีความไม่แน่นอน ต่อให้ชนะการเลือกตั้งอันดับ 1 ก็ไม่ได้แปลว่าหัวหน้าพรรคนั้นจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะการที่ไม่มีพรรคไหนชนะเด็ดขาดทำให้ต่างฝ่ายต่างแย่งชิงคะแนนเสียงจากพรรคการเมืองอื่นๆ ซึ่งจะเกิดการต่อรองจนไม่แน่ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่พรรคการเมืองที่มีที่นั่ง ส.ส. ใกล้เคียงกันก็อาจหาวิธีสกัดกั้น เช่นที่เคยเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งปี 2526 ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สนับสนุนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อสกัดกั้น พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย
รธน.40 แก้ไขความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล ผลลัพธ์เป็น ‘ทักษิณ’ จึงสวิงกลับ
“เข้าใจว่าคนร่างเห็นประเด็นนี้ชัดเจน รัฐธรรมนูญปี 2540 จึงออกแบบให้อำนาจของพรรคขนาดใหญ่กับขนาดกลางมีความต่างกันมากขึ้น ทำให้คุ้มที่จะสร้างพรรคขนาดใหญ่เพื่อเป็นนายกฯ เพิ่มอำนาจต่อรองให้นายกฯ สร้างฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง และทำให้พรรคขนาดเล็กและขนาดกลางอยู่รอดได้ยากขึ้นด้วยระบบการเลือกตั้งแบบในรัฐธรรมนูญปี 2540”
ทั้งยังมีมาตรการอื่นๆ ที่สำคัญกว่า เช่น กฎที่ผู้ลงสมัคร ส.ส. ต้องสังกัดพรรค 90 วัน โดยถ้ายุบสภา รัฐบาลจะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน กฎนี้มีขึ้นเพื่อป้องกันการย้ายมุ้งหรือย้ายฟากของพรรคร่วมรัฐบาลไปเข้ากับพรรคฝ่ายค้าน แล้วทำให้รัฐบาลล้ม
“คุณเสนาะ เทียนทอง จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างนายกฯ ได้ถึง 3 คน เพราะเป็นมุ้งที่ค่อนข้างใหญ่ เมื่อคุณเสนาะทะเลาะกับคุณทักษิณ คุณเสนาะจึงขึ้นเวทีอภิปรายของพันธมิตรฯ และพูดว่าอยู่ในรัฐบาลของคุณทักษิณเหมือนติดคุก ออกไม่ได้ ก็เพราะกฎนี้เพราะถ้าคุณทักษิณรู้ว่าคุณเสนาะจะลาออกจากพรรคไปร่วมกับประชาธิปัตย์ คุณทักษิณก็จะแก้เกมด้วยการไล่ออกจากสมาชิกภาพของพรรค แล้วยุบสภาแล้วจัดการเลืกตั้งภายใน 60 วัน นั่นจะทำให้คุณเสนาะไปเข้ากับประชาธิปัตย์ไม่ได้ ต้องเว้นวรรคทางการเมือง ทำให้พรรคใหญ่ควบคุมลูกพรรคได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากขึ้น เพิ่มอำนาจให้กับหัวหน้าพรรค”
นั่นเป็นเหตุให้การเขียนรัฐธรรมนูญปี 2550 นำระบบเลือกตั้งแบบพวงใหญ่กลับมา ดังที่น.ต.ประสงค์ สุ่นสิริ ประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญเคยกล่าวว่า “เป็นรัฐธรรมนูญฉบับป้องกันคนอย่างทักษิณ” แต่ก็ไม่สำเร็จ เนื่องจากพรรคพลังประชาชนในเวลานั้นสร้างคะแนนนิยมไปแล้ว จึงมีการแก้รัฐธรรมนูญในยุคอภิสิทธิ์ให้กลับไปเลือกแบบเขตเดียวเบอร์เดียว
“ประเด็นที่สองของรัฐธรรมนูญปี 2550 คือลดอำนาจที่เข้าข้างพรรคใหญ่ลง เช่น ยกเลิกกฎ 90 วัน อีกกติกาหนึ่งที่ถูกตัดคือ เกณฑ์การตัดสิน 5 เปอร์เซ็นต์ของปาร์ตี้ลิสต์ คือ วิธีการนับคะแนนของปาร์ตี้ลิสต์ปี 2540 ถ้าคุณได้คะแนน 5 เปอร์เซ็นต์คุณจะได้ ส.ส. 5 คนถ้าปาร์ตี้ลิสต์มี 100 คน แต่ถ้าคุณได้คะแนน 4.99 เปอร์เซ็นต์คุณจะได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เท่ากับ 0 คน ตัดเอาสี่คนกว่าไปแจกพรรคลำดับที่หนึ่ง สอง สาม ไล่ไปเรื่อยๆ มันก็ยิ่งเข้าข้างพรรคใหญ่เข้าไปอีก เมื่อตัดตรงนี้ทิ้งในรัฐธรรมนูญปี 2550 ถึงได้พรรคชูวิทย์มา เขาฉลาด ไม่ลง ส.ส. เขตเลย แต่มีความนิยมกระจายอยู่ทั่วประเทศ ถ้าเขาลง ส.ส. เขต เขาจะไม่ได้สักคน แต่พอมีเฉพาะปาร์ตี้ลิสต์ เขาสามารถรวบรวมจากหลายเขตได้ ทำให้เขาได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ถึงสี่ห้าคนพร้อมๆ กัน แล้วแถมยังเพิ่มอำนาจองค์กรอิสระให้มาขึ้นอีก”
ระบบเลือกตั้งแบบมีชัย ย้อนกลับไปก่อนรธน. 40 “นโยบายจะหายไป”
แต่ดูเหมือนว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 ยัง ‘เข้ม’ ไม่พอ ทำให้เกิดอาการ ‘เสียของ’ และเพื่อป้องกันการเสียของในรอบนี้ ผลลัพธ์ที่ได้จึงออกมาเป็นระบบการเลือกตั้งเวอร์ชั่นมีชัย ฤชุพันธุ์ อภิชาตสรุปว่า หลักการก็คือกลับไปทำให้ระบบเลือกตั้งไม่จูงใจให้เกิดการสร้างพรรคขนาดใหญ่
“ระบบเลือกตั้ง ส.ส.ของคุณมีชัยคือสัดส่วนผสม กลไกจะเข้าข้างพรรคขนาดกลาง เรามี ส.ส.เขตกับส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ยกตัวอย่างบุรีรัมย์ ในระบบการเลือกตั้งแบบเดิม พรรคภูมิใจไทยของคุณเนวิน ชิดชอบได้ไป 7 ที่นั่ง เสีย 2 ที่นั่งให้พรรคเพื่อไทย แต่คะแนน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ต่างกันเป็นแสนคะแนน ดังนั้น ระบบบัตรสองใบ พรรคที่มีภูมิภาคนิยมแคบๆ ไม่มีนโยบายโดนใจคนพื้นที่อื่น จะไม่ได้ประโยชน์จากปาร์ตี้ลิสต์ แต่ระบบเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว จะทำให้พรรคโคราช บุรีรัมย์ ชลบุรีได้ประโยชน์จะทำให้พรรคขนาดกลางได้คะแนนเพิ่มขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ด้วย เพราะส่งตัวแทนไปแข่งในพื้นที่อื่นๆ ก็จะได้ที่สอง ที่สาม ที่สี่ แล้วเอาตรงนั้นมาคำนวณเป็นคะแนนส่วนหนึ่งของปาร์ตี้ลิสต์ ทำให้พรรคขนาดกลางอยู่รอดได้มากขึ้น”
“ระบบเลือกตั้งของคุณมีชัยทำให้เจตนารมณ์ของการเลือกตั้งไม่ประสบความสำเร็จโดยภาพรวม หนึ่ง-แทนที่จะสะท้อนเจตนารมณ์ของผู้ลงคะแนน สามารถเลือกคนที่รัก พรรคที่ชอบได้ ต่อไปทำไม่ได้แล้ว เกิดการขัดกัน ถ้าคุณชอบนโยบายพรรค ก. แต่ผู้แทนพรรค ก. ในเขตคุณไม่ได้เรื่อง ในอดีตคุณก็ไปเลือกผู้แทนพรรค ข. แล้วไปเลือกปาร์ตี้ลิสต์พรรค ก. เพราะมีบัตรสองใบ ตอนนี้จะทำไม่ได้ มีบัตรใบเดียว ก็เท่ากับปิดกั้นการแสดงเจตนารมณ์ของประชาชน”
“ยิ่งไปกว่านั้นที่บอกว่าระบบมีชัยให้แต่ละพรรคเสนอชื่อนายกฯ ได้ 3 คน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. แปลว่ามีโอกาสที่คนนอกจะเข้ามาได้ แล้วเมื่อออกแบบระบบเลือกตั้งแบบนี้ ทำให้ได้รัฐบาลผสม พรรคขนาดกลางมีอำนาจต่อรอง ถ้าพรรคขนาดกลางบอกว่าจะเอาคนนอก อำนาจต่อรองในการกำหนดตัวนายกฯ ของพรรคขนาดใหญ่จะลดลง แปลว่าปิดกั้นเจตนารมณ์ของประชาชนที่จะเลือกนายกฯ เพราะประชาชนรู้อยู่แล้วว่าลำดับหนึ่งในปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคที่ได้เสียงมากที่สุดจะเป็นนายกฯ เท่ากับสร้างความไม่แน่นอนในการเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯ คนก็จะไม่ลงทุนสร้างพรรคขนาดใหญ่ กลับเป็นไปเป็นก่อนปี 2540การเลือกตั้งจะเน้นตัวบุคคลมากขึ้น นโยบายจะหายไป”
ส.ว. (แต่งตั้ง) ย่อมาจาก ก๊อกสองสำรองไว้ (เลือกนายกฯ คนนอก)
ส่วน ส.ว.แต่งตั้ง ก็จะยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนกับการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้จะไม่มีอำนาจโหวตเลือกตัวนายกรัฐมนตรีและโหวตไม่ไว้วางใจ แต่ถ้าเป็นกรณีพิเศษที่ ส.ส. ตกลงกันไม่ได้ก็ยังมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีได้
“อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจะไปประสานกับพรรคขนาดกลางให้เลือกคนที่คุณอยากให้เป็นนายกฯ ได้ แล้วพรรคขนาดกลางก็มีอำนาจต่อรองอยู่แล้ว เพียงแต่ ส.ว. ทำเผื่อไว้ว่าพรรคขนาดกลางทำเป้าไม่สำเร็จ เลยต้องมีก๊อกสอง”
“ถ้าพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนเปลี่ยนจริง เป็นเหมือนปี 2550 (ที่เพื่อไทยยังคงได้คะแนนเสียงจำนวนมาก) แปลว่าระบบที่ออกแบบมาไม่สำเร็จ เขาถึงต้องมีก๊อกสอง ก๊อกสาม จะเอาอยู่มั้ย ไม่แน่ใจ เป็นไปได้ที่จะเอาไม่อยู่ แต่ก็ยังมี ส.ว. แม้จะไม่มีอำนาจโหวตไม่ไว้วางใจ แต่ คสช. เป็นผู้แต่งตั้ง ก็จะเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุด ในสภาก็จะมีพรรคกลาง พรรคเล็ก ไม่ได้ชนะกันเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแน่นอน ต่อให้นายกฯ คนนอกไม่สำเร็จ เขาก็ยังมีอีกสองกลุ่มที่จะคานอำนาจ หนึ่ง-ส.ว. ถึงจะมีอำนาจน้อยกว่า ส.ส. แต่เป็นเอกภาพกว่า สอง-องค์กรอิสระที่ถูกเพิ่มอำนาจ หนักกว่าปี 2550 นักการเมืองจะทำอะไรต้องหันซ้ายหันขวาตลอดเวลาว่า ส.ว. จะว่าไง สิ่งหนึ่งที่พูดกันคือรัฐบาลจะต้องรายงานผลการปฏิรูปประเทศทุกๆ สามเดือนให้ส.ว.ทราบ อันนี้คืออะไร อะไรที่ต้องรายงาน การรายงานทุกๆ สามเดือนก็คือการเปิดประเด็นทางการเมืองได้ทุกๆ สามเดือน เขี่ยลูกได้ทุกๆ สามเดือน”
ไม่ใช่การเลือกตั้งที่แท้จริง เป็นแค่ปาหี่
ด้วยกลไกที่วางไว้เช่นนี้ อภิชาติ คาดว่าหลังการเลือกตั้งจะทำให้เกิดรัฐบาลผสมที่มีความอ่อนแอ ผลักดันงานไม่สำเร็จ ล้มง่าย และอายุสั้น ทำลายการแข่งขันในการเลือกตั้งด้วยนโยบาย กลับไปเน้นที่ตัวบุคคล การซื้อเสียงก็จะกลับมา เนื่องจากประชาชนไม่สามารถเลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบได้อีกต่อไป หมายความว่านัยของการเลือกนโยบายโดยประชาชนจะอ่อนค่าลง
“นี่จึงไม่ใช่การเลือกตั้งที่แท้จริง มันเป็นปาหี่เพราะการเลือกตั้งที่แท้จริงจะต้องสะท้อนเจตนารมณ์ของผู้เลือก”
สร้างรัฐราชการ “ไม่กระจายอำนาจยิ่งทำให้การเมืองระดับชาติรุนแรง”
อภิชาติ วิเคราะห์ต่อว่า วิธีการทำไม่ให้ ‘เสียของ’ รอบนี้คือการดึงอำนาจให้อยู่ในมือระบบราชการ ครั้งนี้จึงไม่ใช่การสืบทอดอำนาจของ คสช. แบบตรงไปตรงมาผ่านตัวบุคคล แต่เป็นการสืบทอดอำนาจของรัฐราชการที่มี คสช. เป็นตัวแทน และแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อการกระจายอำนาจหรือการเมืองท้องถิ่น
“เพราะรัฐราชการฝังหัวเรื่องความมั่นคงว่าอำนาจต้องอยู่ที่กรุงเทพฯ ต้องสืบทอดมรดกของรัชกาลที่ 5 แค่วิธีคิดก็ชัดเจนว่าไม่ต้องการการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นแน่ๆ สิ่งแรกๆ ที่ คสช. ทำหลังการรัฐประหารคือการแช่แข็งท้องถิ่น ครั้งแรกหนักกว่าคือแต่งตั้งข้าราชการเข้าไปดำรงตำแหน่งแทน แต่ถูกต่อต้านมาก ต้องแก้กลับให้รักษาการณ์ เพราะตอนนี้จะดีจะชั่วก็ตาม มันมีคนที่ได้ประโยชน์จากการเลือกตั้งท้องถิ่น เฉพาะคนที่มีตำแหน่งทางการเมืองก็เป็นแสนๆ คนแล้ว เขาก็เลยแช่แข็งไว้ก่อน ก็ได้ประโยชน์ไป อย่ามายุ่งด้วยตอนนี้ แต่หลังจากนี้เขาจะทำอะไรต่อ”
ในทัศนะของอภิชาติ การไม่กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจะยิ่งทำให้การเมืองระดับชาติรุนแรง เพราะทุกอย่างถูกรวบอำนาจมาตัดสินใจที่ส่วนกลาง ทำให้ส่วนกลางมีอำนาจมาก เมื่อมีอำนาจมาก ผลประโยชน์ก็มาก เช่น ส่วนกลางต้องเป็นคนอนุมัติเหมืองแร่ที่พิจิตร ทั้งที่ถ้าโยนอำนาจให้ท้องถิ่น ก็จะไปสู้กันที่ท้องถิ่น เมื่ออำนาจกระจาย ค่าเช่าทางเศรษฐกิจและอำนาจในการใช้นโยบายเพื่อสร้างส่วนเกินทางเศรษฐกิจก็กระจายออกไปด้วย
“ปัจจุบันรัฐไทยแม้จะมีการกระจายอำนาจไปแล้ว แต่ก็ยังรวมศูนย์มากอยู่ดี กรุงเทพฯ จึงสร้างค่าเช่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาลจากนโยบายส่วนกลาง รังนกอยู่ที่ภาคใต้แต่ต้องมาแย่งสัมปทานกันที่กรุงเทพฯ รางวัลจากการยึดรัฐส่วนกลางจึงสูงมาก คุ้มที่จะแข่งกันทุกวิถีทางแต่ถ้าเราทุบรัฐส่วนกลางให้กระจายอำนาจออกไปข้างล่าง สู้กันเป็นจุดๆ ท้องถิ่นไหนเข้มแข้งก็ชนะไป ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์ ในทางกลับกัน จะทำให้แรงจูงใจในการยึดรัฐส่วนกลางน้อยลงและจะทำให้รัฐส่วนกลางมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถจดจ่อกับทิศทางนโยบายภาพรวมของประเทศได้มากขึ้น ไม่ต้องสนใจปัญหาเล็กๆ น้อยๆ”
“ผมรู้สึกว่าการกระจายอำนาจจะเป็นทางออกแบบอ้อมๆ ของการเมืองต่อจากนี้ มันจะช่วยลดความขัดแย้งทางการเมือง เพราะมันมีฐานคนที่ได้ประโยชน์จากการกระจายอำนาจอยู่เยอะถ้าฝ่ายประชาธิปไตยชูประเด็นนี้ขึ้นมาจะมีคนตอบรับ เป็นพลังได้ แต่มันไม่ได้เป็นเกมระยะสั้น”
เมื่อการต่อสู้ในระบบถูกปิดตาย ตอนจบย่อมไม่สวย
เมื่อกลไกทุกอย่างถูกวางเพื่อให้รัฐราชการกลับมามีอำนาจและสกัดกั้นเสียงของประชาชน แม้อภิชาตยอมรับว่าคาดเดาสถานการณ์ข้างหน้าแบบชัดเจนได้ยาก แต่เขาคิดว่ามืดมนและจบไม่สวย
“อย่างครั้งที่แล้วบอกว่ารับไปก่อน แล้วมาแก้ทีหลัง แต่ครั้งนี้แก้ไม่ได้เพราะกลไกการแก้เกือบจะเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ มันไม่เปิดทางไว้ ต่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน แล้วมีบทเฉพาะกาลแบบนี้ก็ถึงทางตัน จะอยู่ได้ครบห้าปีเหรอ ถ้าคุณเชื่อว่าเราเดินกันมาถึงปี 2559 แต่คุณย้อนกลับไปเป็นปี 2521 ซึ่งมันขัดกับรากฐานสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเยอะแล้ว เขาจะควบคุมความขัดแย้งเชิงโครงสร้างกับกติกาได้ถึงห้าปีไหม”
“ผมเดาว่าจบไม่สวย เพราะจะไม่มีทางแก้รัฐธรรมนูญโดยสันติวิธี ถ้าพลังจากการเลือกตั้งไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้จะเกิดอะไรขึ้น ก็เหมือนกับต้มน้ำ ปิดฝา แล้วเอาหินทับไปอีกก้อน หินก็คือการไม่เปิดโอกาสให้แก้รัฐธรรมนูญ แล้วมันจะออกยังไง อันนี้ทำให้ผมมองโลกไม่สวย ผ่านไม่ผ่านสำหรับผมก็มืดมนเหมือนกัน แต่จบแบบไหน ไม่รู้ จบไม่สวยแน่ๆ เพราะมันปิดช่อง แต่ละฝ่ายก็จะสู้ด้วยวิถีทางที่เขาคิดว่าจะสู้ได้”
เมื่อขอข้อเสนอที่เป็นไปได้ในสถานการณ์เฉพาะหน้าที่สุด อย่างประชามติที่กำลังจะเกิดขึ้น อภิชาติเห็นว่า คำถามที่จะแทรกไปกับการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ควรถามว่าถ้าร่างฉบับนี้ไม่ผ่านหรือไม่ผ่านก็ตาม ควรจัดให้มีการเลือกตั้งก่อน เพื่อให้ได้รัฐบาลรักษาการณ์ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางที่สุดหรือไม่
“เป็นการเลือกตั้งให้ได้รัฐบาลรักษาการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่าน เปลี่ยนผ่านอะไร คือภาระหลักอย่างเดียวของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งคือการร่างรัฐธรรมนูญ ตั้ง สสร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ที่เปิดที่ทางให้คนทุกภาคส่วนของสังคมได้มีส่วนร่วม เป็นการแก้ปัญหาในเชิงระบบให้เปลี่ยนผ่านได้อย่างราบรื่น ซึ่งเขาไม่มีวันยอมหรอก แต่ในทางการเมือง ผมคิดว่าข้อเสนอนี้ง่ายที่สุด ง่ายกว่าจะเอารัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้”