วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2559

คสช.ชี้ไม่ให้ตั้ง 'ศูนย์ปราบโกงฯ' เพื่อป้องกันความวุ่นวาย จับตาความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียต่อ


19 มิ.ย. 2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่าพ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  กล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ขอความร่วมมือกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) เปิดศูนย์ปราบโกงว่าเป็นการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ภายใต้กระบวนการที่จะไม่สร้างความสับสนให้เกิดขึ้นในสังคม เพราะการทำประชามติมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  ดูแลอยู่แล้ว รัฐบาลและคสช.ในฐานะที่ดูแลความสงบเรียบร้อย จึงต้องเข้าไปดูแลเพื่อให้เกิดความเรียบร้อย ต้องยอมรับว่านปช.เป็นคู่ขัดแย้งในอดีตและก่อนหน้านี้เคยเคลื่อนไหวจนคสช.ลงนามคำสั่งที่ 39/2557 ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง
 
“การตั้งศูนย์ปราบโกงฯมีนัยทางการเมือง เกรงว่าประชาชนอาจตกเป็นเครื่องมือจากการบิดเบือนข้อเท็จจริง รวมทั้งการไปดึงมิตรประเทศมายุ่งเกี่ยวกับการแก้ปัญหาภายในประเทศ ที่อาจเป็นการบ่อนทำลายชาติด้วยซ้ำ การที่เจ้าหน้าที่ลงไปในพื้นที่ และระงับการเคลื่อนไหว ถือว่าเป็นการทำตามอำนาจหน้าที่ เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่จะนำไปสู่ความรุนแรง แต่ฝ่ายตรงข้ามพยายามยั่วยุตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องขี้แจง เราไม่ต้องการให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง บุคคลใดบุคคลหนึ่งสร้างความเดือดร้อน สร้างความวุ่นวาย แต่ต้องระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งรุนแรง ไม่เช่นนั้นจะเข้าทางเขา จะต้องทำงานภายใต้กรอบของกฎหมาย” พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าว
 
พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าวว่า คสช.ยังคงติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ยังคงมีความเคลี่อนไหวตลอด และประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพราะแม้ไม่เปิดศูนย์ฯ แต่ยังคงมีความเคลื่อนไหวในสังคมออนไลน์ ซึ่งฝ่ายกฎหมายจะติดตามเฝ้าดู หากพบอะไรที่เกินเลยจากฎหมายจะมีเจ้าหน้าที่ดำเนินกาคร  แต่ในส่วนของภูมิภาคนั้น มีผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจ และผู้บังคับการภาค ช่วยกันดูแล ในภาพรวมไม่มีอะไรที่เป็นสัญญาณว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง ซึ่งแกนนำท้องถิ่นให้ความร่วมมือด้วยดี และเชื่อว่าประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวดังกล่าว
 
สำหรับการดูแลความเรียบร้อยช่วงก่อนการทำประชามติ 7 สิงหาคม พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าวว่าในช่วงนี้กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ชี้แจงทำความเข้าใจเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ และวิธีการทำประชามติ ทางฝ่ายความมั่นคงได้ติดตามและช่วยดูแลเพื่อนำไปสู่การทำประชามติที่เรียบร้อยต่อไป 

หลายจังหวัดเปิด 'ศูนย์ปราบโกงประชามติ' ตำรวจ-ทหาร 'คุมเข้ม-สั่งปิด'


พบ นปช. ในหลายจังหวัดทยอยเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ ขณะที่ตำรวจทหารทั้ง "ขอเจรจา-ห้าม-ตรึงกำลังกดดัน-เข้าค้น-เชิญตัวไปโรงพัก-ปิด" โดยให้เหตุผลว่าขัดคำสั่ง คสช. ที่ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง
 
นปช. สุรินทร์ เปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ
 
 
 
19 มิ.ย. 2559 เมื่อเวลา 10.00 น.ที่บ้านหลุมดิน หมู่ที่ 9  ตำบลเมืองลีง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ นางสำเนียง คงพลปาน แกนนำ นปช. จังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วยแกนนำ นปช.ระดับอำเภอในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ทั้ง 20 อำเภอ ร่วมกันเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติจังหวัดสุรินทร์ เพื่อเชิญชวนคนสุรินทร์ลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 โดยศูนย์ปราบโกงประชามติจังหวัดสุรินทร์ โดยนางสำเนียงได้อ่านแถลงการ ของ นปช.ต่อการทำประชามติ รับ-ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ คสช. ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 โดยมีข้อความดังต่อไปนี้
 
1.เรามุ่งหวังให้ประชาชนไทยออกมาใช้สิทธิ์ในการลงประชามติให้มากที่สุดอย่างอิสระ ตามทัศนะทางการเมืองและสิทธิประโยชน์ของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย 2.เรามุ่งหวังให้การลงประชามติปลอดจากกลไกอำนาจรัฐและอำนาจใดๆทั้งปวงที่จะบีบบังคับประชาชนให้ลงประชามติตามความต้องการของอำนาจนั้น 3.เรามุ่งหวังให้คณะ คสช.เปิดพื้นที่ให้ความเห็นต่างในการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมมูญฉบับนี้ได้มีโอกาสแสดงออกในที่สาธารณะตามมาตรฐานของการทำประชามติทั่วไปในประเทศอื่นๆ มิฉะนั้นจะเรียกว่าเป็นการทำประชามติไม่ได้ ความเห็นต่างในเนื้อหารัฐธรรมนูญเป็นความชอบธรรมที่ประชาชนควรได้รับโอกานั้น
 
4.เรามุ่งหวังให้ คสช.ยุติการโฆษณาประชาสัมพันธ์รัฐธรรมมูญโดย กรธ. และ สนช.ฝ่ายเดียว และขุ่มขู่คุกคามผู้เห็นต่างโดยอ้างกฏหมาย,พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมมูญ พ.ศ.2559 ที่เป็นการขัดกันระหว่าง มาตรา 7 และ มาตรา 61 ในพระราชบัญญัติเดียวกันและขัดต่อ มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวของคณะรัฐประหาร และ 5.ขอให้ฝ่ายที่ต้องการให้ลงประชามติรับรัฐธรรมนูญยุติการโกงทุกรูปแบบ ทั้งโดยการใช้ อำนาจรัฐ และวิธีการไม่ถูกค้องใดๆให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติ เพื่ออ้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจ และสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมมูญที่กระบวนการทำประชามติไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย
 
ทั้งนี้นางสำเนียง ได้แจกจ่ายป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติประจำอำเภอรวมทั้งเสื้อยืดคอกลุ่มสีดำกว่า 2,000 ตัว ที่มีการสกรีนข้อความว่า “ประชามติ...ไม่ล้ม ไม่โกง ไม่เอาอย่างพม่า” ให้กับแกนนำ นปช.ระดับอำเภอ นำไปมอบให้อาสาสมัครร่วมใส่แสดงเชิงสัญลักษณ์ เมื่อเข้าไปสังเกตการณ์ในหน่วยออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้อีกด้วย 
 
นปช.ขอนแก่น ยุติตั้งศูนย์ปราบโกง หลังเจ้าหน้าที่เข้าเจรจาฯ พร้อมตรึงกำลังเข้มโดยรอบพื้นที่
 
เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ รายงานว่าเมื่อเวลา 09.30 น. ที่บริเวณอาคารเลขที่ 670/90 โครงการพัฒนาสแควร์ ถ.กลางเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น พล.ต.ท.บุญเลิศ ใจประดิษฐ ผบช.ภ.4 พร้อมด้วย พล.ต.ต.จิตรจรูญ ศรีวนิชย์ ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น นายปิยิน ตลับนาค นายอำเภอเมืองขอนแก่นและ พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี หัวหน้าชุดปฎิบัติการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยพื้นที่ขอนแก่น (กกล.รส.ภ.จว.ขอนแก่น) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงหลังมีการยืนยันจากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จกาลแห่งชาติ หรือ นปช. ในการจัดตั้งเป็นศูนย์ปราบโกงประชามติ ประจำ จ.ขอนแก่น โดยมีกำหนดการเปิดศูนย์ฯพร้อมกันทั่วทั้งประเทศวันนี้
 
เมื่อกำลังเจ้าหน้าที่ไปถึงพบว่า อาคารพาณิชย์เลขที่ดังกล่าวเป็นอาคาพาณิชย์ 2 ชั้น มีการปิดประตูไว้อย่างมิดชิด แต่บริเวณด้านหน้าอาคารมีรถยนต์กระบะจอดอยู่ โดยภายในมีอุปกรณ์สำหรับการจัดเตรียมเพื่อที่จะทำการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติอยู่ ทำให้เจ้าหน้าที่ได้เข้าเจรจาร่วมกับแกนนำ กลุ่ม นปช.ที่กำลังจะเตรียมการให้ยุติการดำเนินงานในภาพรวมทั้งหมด พร้อมทั้งตรวจสอบเอกสารสัญญาการเช่าอาคารดังกล่าว โดยพบว่าผู้ที่ทำการเช่านั้นคือนายพุทธิพงษ์ คำแหงพล แกนนำ กลุ่ม นปช.ขอนแก่น และเป็นคณะกรรมการร่วมศูนย์ปราบโกงประชามติ ของ ทาง กกต. โดยทำการเช่าเพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์ปราบโกงประชามติ ประจำจังหวัดและมีกำหนดการเปิดทำการอย่างเป็นทางการภายในวันนี้ พร้อมกันกับศูนย์ฯต่างๆทั่วทั้งประเทศ
 
พ.ท.พิทักษ์พล กล่าวว่า กำลังเจ้าหน้าที่ได้เข้าทำการตรวจสอบหลังมีความชัดเจนว่าอาคารดังกล่าวมีการเตรียมการที่จะจัดตั้งเป็นศูนย์ปราบโกงประชามติ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา หัวหน้าส่วนราชการใน จ.ขอนแก่น แม้กระทั่ง มทบ.23 ได้รับหนังสือเชิญจาก ศูนย์ประสานงานคณะกรรมการร่วมปราบโกงประชามติ ในการเชิญร่วมเปิดศูนย์ประสานงานฯอย่างเป็นทางการ กำลังเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ฝ่ายจึงลงพื้นที่ตรวจสอบและติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง และวันนี้มีการคุมเข้มเพื่อไม่ให้การดำเนินการดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยและ คสช.อย่างชัดเจนหากมีการลงมือทำจริง โดยเจ้าหน้าที่ได้เข้าหารือกับระดับแกนนำ เพื่อหาข้อยุติ โดยได้ข้อสรุปในการยกเลิกการดำเนินกิจกรรมต่างๆไม่ว่าจะเป็นการระดมมวลชนหรือการตั้งศูนย์ปราบโกงในพื้นที่ และมีการนำอุปกรณ์ต่างๆที่เตรียมมาไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ โต๊ะ กระติ๊กน้ำแข็งหรือป้ายต่างๆกลับไปทั้งหมด โดยไม่มีการดำเนินกิจกรรมใดๆที่ขัดต่อคำสั่ง คสช.หรือฝ่าฝืนกฎหมาย โดยเฉพาะความผิดตามที่ กกต.ว่าด้วยการลงประชามติ แต่อย่างใด
 
"กำลังเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย มีการตั้งจุดตรวจ ในถนนทั้ง 2 เส้นทาง ก่อนถึง อาคารดังกล่าวประมาณ 300 เมตรเพื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหวและสิ่งผิดปกติในด้านต่างๆ ขณะเดียวกันกำลังอีกส่วน ยังคงสนธิการทำงานร่วมกันประจำโดยรอบอาคารเพื่อกันไม่ให้เกิดความรุนแรงหรือการดำเนินการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย พร้อมทั้งมีการประสานงานร่วมกับแกนนำที่จะมาดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปราบโกงดังกล่าว ซึ่งทุกฝ่ายก็ให้ความร่วมมืออย่างดีและการเจรจาร่วมกันได้ผลมีการยุติการจัดตั้งศูนย์ปราบโกงในพื้นที่อย่างเด็ดขาด รวมทั้งความเคลื่อนไหวในด้านต่างๆ แต่ถึงอย่างไรหากพบการเคลื่อนไหวที่ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. โดยเฉพาะการรวมตัวกันทางการเมืองเกินกว่า 5 คน หรือการากระทำผิด ตามกฎหมาย กกต.ว่าด้วยการลงประชามติ เจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด"
 
นายพุทธิพงษ์ คำแหงพล แกนำ กลุ่ม นปช.ขอนแก่น กล่าวว่า การดำเนินการในวันนี้เป็นการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ พร้อมกันกับ กลุ่ม แนวร่วม นปช.ทั้งประเทศ ซึ่งขอนแก่น ได้เลือกใช้พื้นที่อาคารดังกล่าวเป็นจุดประสานการทำงานและดำเนินงาน ร่วมกันกับแกนนำ นปช.ส่วนกลางและในระดับพื้นที่ โดยวันนี้จะมีการทำบุญอาคาร และรวมตัวกันเพื่อกำหนดทิศทางและหารือร่วมกันว่าด้วยการกระตุ้นให้คนขอนแกนออกมาใช้สิทธิ์ลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.ที่กำลังจะมาถึง และการดำเนินงานเพื่อตรวจสอบการกระทำผิดของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งแกนำ นปช.ในระดับอำเภอจากทั้ง 26 อำเภอ จะมารวมตัวกันวันนี้รวมกว่า 50 คนแต่มาถูกเจ้าหน้าที่ขอความร่วมมือเพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายหรือการดำเนินงานดังกล่าวเสียก่อน
 
"เมื่อกำลังเจ้าหน้าที่มารวมตัวกันเพื่อขอเจรจาไม่ให้มีการดำเนินการดังกล่าวขึ้น จึงได้มีการหารือกันของแกนนำ นปช.ในระดับพื้นที่ รวมทั้ง นปช.ส่วนกลาง จนได้ข้อสรุปและข้อยุติที่ตรงกันทุกฝ่ายคือการยุติการตั้งศูนย์ปราบโกง ที่ขอนแก่น และจบโครงการดังกล่าวไปในพื้นที่ ส่วนความเคลื่อนไหวต่าง ๆ อย่างไรนั้นต้องมีการหารือร่วมกับแกนำทุกระดับอีกครั้ง เพราะขณะนี้เข้าสู่ช่วงใกล้ถึงวันลงประชามติแล้ว ทั้งนี้ศูนย์ปราบโกงดังกล่าวไม่ได้ยุ่งเกี่ยวทางการเมือง แต่เป็นการทำงานเพื่อส่วนร่วมและกระตุ้นให้คนขอนแก่นมาใช้สิทธิ์ออกเสียง จึงอยากให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเข้าใจในข้อเท็จจริงบ้าง"
 
นปช.อุบลฯ เลี้ยงพระแทนเปิดศูนย์จับโกงฯ หวั่นขัด กม.จัดชุมนุมการเมือง
 
ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าที่ร้านอุดมแอร์ ตั้งอยู่เลขที่ 43/1-2 ถ.สถลมาร์ค ต.วารินชำราบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี กลุ่ม นปช.นำโดย นางรัตนา ผุยพรม อายุ 46 ปี พร้อมสมาชิกคนเสื้อแดงประมาณ 20 คน ร่วมกันทำบุญเลี้ยงพระเพลเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่เพื่อนสมาชิกที่เสียชีวิตไปแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ ได้กำหนดเป็นวันเปิดศูนย์ปราบโกงการลงประชามติ ตามที่ได้รับการประสานจากกลุ่ม นปช.ส่วนกลาง
       
แต่เมื่อได้รับคำชี้แจงจากหน่วยงานด้านความมั่นคงของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งระบุว่า การเปิดศูนย์ฯ ของกลุ่มคนเสื้อแดง อาจหมิ่นเหม่ขัดต่อกฎหมายการลงประชามติ และเข้าข่ายข้อห้ามตามประกาศของ คสช.ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติข้อ 12 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดมั่วสุม หรือจัดชุมชนทางการเมืองโดยมีจำนวน 5 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
       
แต่เมื่อได้มีการนัดแนะกับสมาชิกไว้แล้ว จึงได้ปรับกิจกรรมมาเป็นการเลี้ยงพระอุทิศส่วนกุศลให้สมาชิกคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตด้วยเหตุต่างๆ แทน และไม่มีการตั้งเป็นศูนย์ปราบโกงการลงประชามติ ตามที่ได้รับการประสานจากกลุ่ม นปช.ส่วนกลาง เพื่อไม่ให้ขัดต่อกฎหมายดังกล่าว
       
ขณะเดียวกัน ได้มีการแจกเสื้อสีดำสกรีนข้อความ “ประชามติต้องไม่ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า” ให้แก่ผู้มาร่วมงาน แต่ทหารจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยประจำจังหวัด และตำรวจ สภ.วารินชำราบ ซึ่งมาดูแลความสงบในงานขอร้องไม่ให้ใส่ เพราะอาจเข้าข่ายขัดต่อกฎหมายที่จัดให้มีการรวมตัวโดยมีจุดประสงค์ทางการเมือง
       
หลังจากเสร็จพิธีเลี้ยงพระ กลุ่มสมาชิก นปช.ทั้งหมดได้พากันสลายตัวไปในเที่ยงวันเดียวกัน โดยไม่มีการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใดด้วย 
 
ทหาร-ตำรวจเชิญตัว 8 ชาวบ้าน ระบุถูกแกนนำ นปช.นครพนมจ้างคนละ 200 บาทให้ถ่ายภาพกับป้ายศูนย์ฯ พร้อมนำตัวมาดำเนินคดี
 
ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.อรรถ สิงหัษฐิต ผบ.มทบ.210 รับแจ้งว่ามีผู้โพสต์ภาพลงในสื่อโซเชียลมีเดีย มีข้อความคล้ายลักษณะจะเปิดศูนย์ปราบโกง ในการลงประชามติวันที่ 7 ส.ค.ที่จะถึงนี้ จึงสั่งการให้ ร.ท.ประมวล โพธิไสย์ หัวหน้าชุดเคลื่อนที่เร็ว กกล.รส.จ.นครพนม ประสานพ.ต.อ.อุกกฤษฏ์ ทรงชัยสงวน ผกก.สภ.เมืองนครพนม , พ.ต.อ.เสฏวุฒิ รอดจันทร์ ผกก.สืบสวน ภ.จว.นครพนม ตรวจสอบและตามหาบุคคลในภาพดังกล่าว
       
ต่อมาพ.ต.อ.อุกกฤษฏ์ พร้อมเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ชุดเคลื่อนที่ ชุดสืบสวนพยัคฆ์ พร้อมชุดสืบสวน ภ.จว.นครพนม จำนวนกว่า 20 นาย นำกำลังเชิญตัวบุคคล 8 คน ในจำนวน 30 คนซึ่งปรากฏอยู่ในภาพโพสต์ลงสื่อออนไลน์ ประกอบด้วยนายมีชัย วงนาเรือง อายุ 40 ปี , นายแดน หงษามนุษย์ , นายยุทธนา สีทอง อายุ 75 ปี , นายสุรพงษ์ คันทักษ์ อายุ 57 ปี , น.ส.เอ (นามสมมติ) อายุ 16 ปี , และ ด.ช.เอ (นามสมมติ) อายุ 16 ปี คุมตัวมาสอบสวน เพื่อกันตัวไว้เป็นพยานหาตัวผู้ว่าจ้างไปถ่ายภาพกับป้ายดังกล่าว
       
พ.ต.อ.เสฏวุฒิ รอดจันทร์ ผกก.สืบสวน ภ.จว.นครพนม กล่าวว่า จากการตรวจสอบสื่อออนไลน์เฟซบุ๊ก พบว่าเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 มิ.ย. มีการตั้งชื่อศูนย์ปราบโกงประชามติ จ.นครพนม ขึ้นป้ายระบุข้อความในป้ายว่า “ประชามติต้องไม่ล้ม ไม่โกงไม่อายพม่า” จากการตรวจสอบและสอบสวนบุคคลที่เชิญตัวมา
       
เบื้องต้นรับสารภาพว่ามีนายดำรงศักดิ์ พุทธา อดีต ผอ.โรงเรียนบ้านน้อยใต้ และอดีตแกนนำ นปช. ได้ว่าจ้างชาวบ้าน บ.ห้อม หมู่ 1 และหมู่ 11 ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม ประมาณ 30 ราย ในราคาคนละ 200 บาท ให้ไปร่วมถ่ายภาพดังกล่าวที่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 ก่อนเก็บป้ายและสลายตัวไป
       
เท่าที่สอบถามบุคคลทั้ง 8 ราย พบว่าไม่มีเจตนาที่จะตั้งศูนย์ปราบโกงดังกล่าว โดยทั้งหมดให้การว่าแค่ได้รับการว่าจ้างให้ไปถ่ายรูปกับป้ายเท่านั้น จึงเชิญตัวไปสอบสวน เพื่อนำหลักฐานเชื่อมโยงกับนายดำรงศักดิ์ ซึ่งอาจเป็นผู้ว่าจ้างและผู้อยู่เบื้องหลังป้ายนี้ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายดำรงศักดิ์ ซึ่งเป็นแกนนำที่ปรากฏในภาพ ในข้อหาขัดคำสั่ง คสช.ที่ 3/2557 ชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คนขึ้นไป มารับทราบข้อกล่าวหาต่อไป
 
จนท.เข้าปลดป้ายศูนย์ปราบโกง นปช.ที่ภูเก็ต
 
เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า น.อ.สถาพร วาจรัตน์ รอง ผอ.รมน.จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่าฝ่ายความมั่นคงอำเภอเมืองภูเก็ต ร่วมกับ สถานีตำรวจภูธรเมืองภูเก็ต,ตำรวจสันติบาล ดำเนินการ ตามคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าปลด ป้าย ศูนย์ปราบโกงประชามติของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่บ้านพักแห่งหนึ่งใน ถนนร่วมพัฒนาหมู่ 3 ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ตเนื่องจากผิดกฏหมาย เพราะขัดคำสั่ง คสช.
 
ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการติดตามการข่าวอย่างต่อเนื่อง โดยหากพบว่ามีการขึ้นป้ายปราบโกง ตรงจุดใด จะเข้าดำเนินการปลดป้ายทันที และขอความร่วมมือประชาชนให้ปฏิบัติตามนโยบายคสช.
 
ตำรวจตรังชี้ตั้งศูนย์ปราบโกงขัดคำสั่ง คสช. ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง
 
เว็บไซต์ไอเอ็นเอ็น รายงานว่าในการเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. จะมาตั้งศูนย์ปราบโกง ที่จังหวัดตรัง ที่บ้านเช่า เลขที่ 40/3 ถนนรื่นรมย์ เขตเทศบาลนครตรัง ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง อยู่ใกล้กับ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดตรัง ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังสถานที่ดังกล่าวปิดประตูเงียบ ต่อจากนั้นมีเจ้าหน้าที่หลาย ๆ หน่วยงานมาดูความเคลื่อนไหวก่อนที่จะไปประชุม
 
ที่กองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดตรัง เจ้าหน้าที่ตำรวจนำโดย พ.ต.อ.นิรัตน์ ปานดำ ผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดตรัง พร้อมเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ตรัง กกต. และฝ่ายปกครอง ได้ประชุมหารือเพื่อเตรียมรับมือ หากมีการตั้งศูนย์ปราบโกงขึ้นมาจริง เพราะจะไปขัดคำสั่งของรัฐบาล และ คสช. ห้ามมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง หากรัฐบาล หรือ คสช. มีคำสั่งให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับกลุ่ม นปช. ที่ตรังก็พร้อมดำเนินการทันที
 
จนท.สตูลตรึงกำลังยุติเปิดศูนย์ปราบโกง
 
เว็บไซต์ไอเอ็นเอ็น รายงานว่า พล.ต.ต.ทัตธงสักก์ ภู่พันธัชสีห์ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.สตูล นำกำลังตำรวจ ทหาร กว่า 100 นาย เข้าปิดล้อมตรึงกำลังบริเวณบ้านเลขที่ 278/7 ม.2 ต.ท่าแพ อ.ท่าแพ จ.สตูล ซึ่งเป็นบ้านเช่าที่ทางกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. กำลังใช้สำหรับตั้งศูนย์ปราบโกง 
 
โดย พล.ต.ต.ทัตธงสักก์ เปิดเผยว่า จากการข่าวแจ้งว่ามีกลุ่มคนพยายามที่จะเปิดศูนย์ปราบโกง ในพื้นที่ จ.สตูล จึงได้ร่วมกันระหว่างตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง เพื่อทำตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ให้ทำตามระเบียบกฎหมาย ซึ่งการลงประชามติก็มีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว และเพื่อความไม่ประมาทจึงนำกำลังมาดูแลเพื่อไม่ให้มีการเปิดศูนย์ดังกล่าวขึ้น 
 
อย่างไรก็ตาม สำหรับศูนย์ดังกล่าวที่เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบนั้นมี 2 แห่ง คือบริเวณ ม.1 บ้านทุ่งริ้น ต.สาคร และ ม.2 ต.ท่าแพ โดยทั้ง 2 แห่ง มีเจ้าหน้าที่คอยคุมอยู่ตลอดเพื่อไม่ให้เปิดทำการ โดยเฉพาะที่ ต.ท่าแพ เจ้าของบ้านเช่าหลังดังกล่าวได้ปิดประตูลงกลอน พร้อมเขียนป้ายว่ายกเลิกการให้เช่าหลังทราบว่าจะมีการเช่าเพื่อจะเปิดเป็นศูนย์ปราบโกง โดยทราบว่ามีการติดต่อขอเช่าจากกลุ่ม นปช.จ.สตูล ก่อนหน้านี้เพียง 3 - 4 วันเท่านั้น ในส่วนของเจ้าหน้าที่หากพบว่ามีความเคลื่อนไหวของการเปิดศูนย์ดังกล่าวก็จะดำเนินการตามคำสั่งทันที
 
ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ล้อมบ้าน นปช.แม่สอด ตั้งศูนย์ปราบโกง พร้อมเจรจาทำข้อตกลงยุติ
 
เว็บไซต์ไอเอ็นเอ็น รายงานว่าเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 4 อ.แม่สอด จ.ตาก ตำรวจ สภ.แม่สอด และฝ่ายปกครองอำเภอแม่สอด ได้รุดไปยังบ้านเลขที่ 75/28 ชุมชนสองแคว เขตเทศบาลนครแม่สอด อ.แม่สอด หลังรับแจ้งว่า กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จกาลแห่งชาติ หรือ นปช. กำลังเตรียมที่จะเคลื่อนไหวตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติในพื้นที่ ซึ่งทันทีที่ไปถึงบ้านดังกล่าว พบว่าเป็นบ้าน 2 ชั้น มีรั้วคอนกรีต และป้ายไวนิล และกลุ่มคนทั้งชายและหญิงราว 10 คน จึงสอบถามทราบว่า แกนนำในการจัดตั้งศูนย์ปราบโกงครั้งนี้ คือ นางฐานิตย์ อินทะสิน (เจ้แมว) เป็นแกนนำ นปช.อ.เมืองตาก และ นายสมหมาย พานิชย์ แกนนำนปช.อ.แม่สอด โดยได้ขึ้นป้ายแสดงสัญลักษณ์ "ประชามติต้องไม่โกง ไม่ล้ม ไม่อายพม่า" ในกรณีการขอประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะถึงนี้ เจ้าหน้าที่จึงได้เจรจาเพื่อให้หยุดการกระทำดังกล่าว พร้อมทำข้อบันทึกตกลงกันว่าจะไม่ให้มีเหตุการณ์ ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก ก่อนจะได้แยกย้ายกันกลับ ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยดีและเข้าใจกัน ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงแต่อย่างใด  
 
เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร คุมเข้มการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ จ.ลำปาง - เจ๊เพ็ญ อดีตแกนนำ นปช. ยันไม่มีการเปิดศูนย์ฯ
 
เว็บไซต์ไอเอ็นเอ็น รายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารลำปาง ยังคงออกตรวจตราในพื้นที่ล่อแหลม และยังคงเช็กสถานที่ต่าง ๆ ที่อาจจะมีการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ โดยจุดแรกบริเวณร้านศรีชุมชิว ถนนทิพย์วรรณ อ.เมือง จ.ลำปาง ของ นางธิมลวรรณ จินากูล หรือ เจ้เพ็ญ อดีตแกนนำ นปช. ลำปาง ยังคงมีตำรวจทหาร ตรึงกำลังอยู่บริเวณหน้าร้าน ซึ่งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้เคยขึ้นป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติและถูกทหารปลดป้ายทิ้งไปแล้ว ส่วนจุดอื่นมีรายงานว่า ในพื้นที่ อ.ห้างฉัตร ที่บริเวณ ต.ปงยางคก ถนนสายลำปาง - เชียงใหม่ อีกจุดหนึ่งที่มีการข่าวรายงานว่า จะมีการเปิดศูนย์ปราบโกงเป็นจุดที่สองในเช้าวันนี้ที่ร้านอาหารคนลืมแก่ ของนายชานนท์ ขณะนี้กิจกรรมดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปแล้วเช่นกัน
 
ล่าสุด ที่บริเวณวัดดำรงธรรม ในเขตเทศบาลนครลำปาง เจ๊เพ๊ญ อดีตแกนนำ นปช.ลำปาง ได้เดินทางไปร่วมงานบุญโรงทานภายในวัด โดยมีการใส่เสื้อหม้อฮ่อมโลโก้จิตอาสาชาวลำปาง โดยเจ้เพ็ญบอกกับนักข่าวว่า ตนเองยกเลิกการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติไปแล้ว หลังที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจมาปลดป้ายออกและขอความร่วมมือไม่ให้เปิดศูนย์ปราบโกงและเมื่อคืนตลอดทั้งคืนก็มีทหาร ตำรวจ มาเฝ้าหน้าบ้าน ตนเองจนถึงช่วงเช้า อย่างไรก็ตาม ตนเองยืนยันจะไม่มีการเปิดศูนย์ปราบโกง
 
อย่างไรก็ตาม ภายในวัดดำรงธรรม ก็มีกำลังทหาร ตำรวจนอกเครื่องแบบ คอยติดตามความเคลื่อนไหวของเจ้เพ็ญ ตลอดทั้งวัน โดยเจ้เพ็ญบอก วันนี้เดินทางไปไหน ก็จะมีแต่ทหาร ตำรวจ คอยติดตามตนเองทั้งวัน
 
กอ.รมน.เพชรบูรณ์ เบรกแกนนำ นปช. หลังพบเตรียมตั้งป้ายเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ
 
เว็บไซต์ไอเอ็นเอ็น รายงานว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จ.เพชรบูรณ์ (กอ.รมน.) ตำรวจและฝ่ายปกครอง ร่วมกันรุดเข้าตรววจสอบที่บ้านพักซอยข้างการเคหะเพชรบูรณ์ หมู่ 13 ต.สะเดียง อ.เมืองเพชรบูรณ์ ซึ่งเดิมเคยเป็นสถานที่ตั้งสถานีวิทยุชุมชนเรดิโอกลุ่มคนเสื้อแดงเพชรบูรณ์ หรือ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หลังได้รับแจ้งว่า มีการเตรียมทำบุญเลี้ยงเพลพระ และเตรียมขึ้นป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติ เมื่อไปถึง คณะเจ้าหน้าที่ได้พบ นายสิทธิชัย ต๊ะอาจ แกนนำคนเสื้อแดงเพชรบูรณ์ และพวกราว 10 คน กำลังจัดสถานที่เพื่อเตรียมจัดทำบุญพร้อมจัดตั้งโต๊ะจัดเลี้ยง ทางเจ้าหน้าที่จึงเข้าเจรจาขอความร่วมมือไม่ให้มีการขึ้นป้ายศูนย์ปราบโกงดังกล่าว โดยไม่ได้ห้ามปรามเรื่องการทำบุญเลี้ยงเพลพระแต่อย่างใด ซึ่ง นายสิทธิชัย รับปากให้ความร่วมมือ จากนั้นทางคณะเจ้าหน้าที่จึงขอรับป้ายที่เตรียมจะติดตั้งเพื่อนำกลับออกมาด้วย
 
ทหาร-ตร.สมุทรปราการ ค้นศูนย์ปราบโกงประชามติ เชิญมาปรับความเข้าใจที่ สน.สำโรงเหนือ ก่อนปล่อยตัวกลับบ้าน
 
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่าเมื่อเวลา 10.00 น. พล.ต.ต.ธรรมนูญ ไตรทิพยพงศ์ ผบก.ภ.จ. สมุทรปราการ พ.ต.อ.สมชัย อินตาพวง รอง ผบกฯ พ.ต.อ.นพดล สุคนธวิท ผกก.สภ.สำโรงเหนือ พ.ต.อ.เลิศชาย จำปาทอง ผกก.สส.ภ.จ.สมุทรปราการ พ.ท.สุทธิชัย พร้อมเจริญ ผบ.ป. พัน.102 รอ. และกำลังเข้าตรวจค้น อาคารพาณิชย์เลขที่ 1671/1 หมู่ 10 ซอยด้านสำโรง 50 ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ภายหลังสืบทราบว่ามีการเตรียมเปิดศูนย์ปราบโกงการทำมติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของ คสช.
 
จากการตรวจสอบพบ นายบุญเลิส เลิศวัฒนากร อายุ 67 ปี นายจำลอง ประทุมมินทร์ อายุ 64 ปี นายสุพัฒน์ รุ่งเรื่อง อายุ 45 ปี น.ส.นิจจารีย์ คลิ้งเนียม อายุ 56 ปี อาศัยอยู่ในอาคารดังกล่าว ตรวจค้นบริเวณชั้น 2 ยังพบเสื้อยืดสีดำ ซึ่งสกรีนข้อความ ประชามติต้องไม่ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า ศูนย์ปราบโกงประชามติ   จำนวนกว่า 170 ตัว และป้ายไวนิลซึ่งมีข้อความดังกล่าวขนาดใหญ่ 2 ป้าย ก่อนเชิญตัวมาที่ สภ.สำโรงเหนือ
 
ตำรวจประชาชื่นปิดศูนย์ย่อยปราบโกง นปช.
 
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า พ.ต.อ.ภาณุเดช สุขวงศ์ รอง ผบก.น.2 พร้อม พ.ต.อ.สามารถ พรหมชาติ ผกก.ประชาชื่น , ร.อ.พีรพุฒ แย้มจิตร นายทหารฝ่ายยุทธการ เจ้าหน้าที่ทหารจาก ร.11 พัน 1 รอ.และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ประชาชื่น ทั้งในและนอกเครื่องแบบ รวมกว่า 30 นาย ได้เดินทางเข้าตรวจสอบอาคารพานิช เลขที่ 44/37 -38 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร ซึ่งกำลังมีการจัดกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงของ นปช. 
 
จากการตรวจสอบสถานที่ดังกล่าว ลักษณะเป็นตึกแถว 4 ชั้น ที่ บริเวณชั้นล่างมีสมาชิกกลุ่มเสื้อแดงประมาณ 30 คน กำลังเตรียมลูกโป่ง และป้ายข้อความเขียนว่า 7 สิงหา “ใช้ปากกา สร้างประชาธิปไตร”เสรีภาพ เสมอภาค ยุติธรรม เจ้าหน้าจึงได้เข้าทำยึดไว้เป็นของกลาง และออกคำสั่งให้ยกเลิกการทำกิจกรรมดังกล่าวในทันที โดยใช้เวลาในการเจรจา กว่า 1 ชั่วโมงกลุ่มสมาชิก จึงยอมสลายตัวแยกย้ายกันกลับไป โดยไม่มีเหตุรุนแรงแต่อย่างใด 
 
ด้าน พ.ต.อ.ภาณุเดช กล่าวว่า ทาง คสช.ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมทางการเมือง ที่มีการรวมตัวเกินกว่า 5 คนขึ้นไป ซึ่งกิจกรรมนี้ก็เข้าข่ายความผิด เจ้าหน้าจึงต้องอาศัยคำสั่ง คสช. ม.44 เพื่อความสงบเรียบร้อย โดยได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจกับประชาชน โดยหลังจากนี้จะต้องเชิญเจ้าของตึก และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาให้ปากคำ แต่ยังไม่ได้มีการแจ้งข้อหาผู้ใด 
 
ขณะที่นายคารม พลพรกลาง ทนายความ นปช.กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจาก นายแพทย์เหวง โตจิราการ ให้มาดูแลพี่น้องสมาชิก ในการเจรจากับทางเจ้าหน้าที่ เพื่อไม่ให้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่มาร่วมกิจกรรม เพราะคนเหล่านี้เป็นเพียงคนธรรมดา ที่อยากจะมีส่วนร่วมกับการทำประชามติบ้าง จึงอยากให้รัฐบาล คสช.เปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงออก เพราะกิจกรรมดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นภัยอะไรกับบ้านเมือง แต่ถ้าทางเจ้าหน้ายืนยันจะไม่ให้เราทำกิจกรรมก็ยินดีจะยกเลิกแต่โดยดี

ตร.ยกคำสั่งคสช.ปิดศูนย์ปราบโกงฯ จตุพร ชี้ปิดได้ปิดไป ศูนย์ฯ อยู่ในใจทุกคนแล้ว


ตำรวจระดมคุมพื้นที่ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลลาดพร้าว ยกคำสั่ง หัวหน้า คสช. ปิด 'ศูนย์ปราบโกงประชามติ' จตุพร ชี้ ปลดได้เพียงป้าย แต่ศูนย์ฯ ได้ไปเปิดในหัวใจประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เผย ต่างจังหวัดเปิด-ปิดได้อย่างละครึ่ง
19 มิ.ย.2559 วันนี้ซึ่งเป็นที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เตรียมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามตินั้น อย่างไรก็ตาม Voic TV รายงานว่า เมื่อเช้าที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลโชคชัย ได้ระดมกำลังมาควบคุมพื้นที่ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลลาดพร้าว อันเป็นที่ตั้งของศูนย์สังเกตการณ์การลงประชามติ หรือศูนย์ปราบโกงฯ ของ นปช. พร้อมคำสั่งปิดศูนย์อย่างเป็นทางการแล้ว โดยระะบุการเปิดศูนย์ฯเข้าข่ายผิดคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/58 และหากดำเนินการจะมีเอาผิดทาง กม.กับแกนนำต่อไป
ด้าน  จตุพร พรหมพันธุ์  ประธาน นปช. ระบุว่ารู้สึกผิดหวังกับการกลับคำพูดของนายกรัฐมนตรี ที่เคยกล่าวว่าการเปิดศูนย์ปราบโกงฯสามารถทำได้ แต่ทั้งนี้ ทางกลุ่ม นปช.และแนวร่วม ยังยืนยันที่จะเดินหน้าภารกิจของศูนย์ต่อไป ในรูปแบบต่างๆ แม้จะไม่ได้นับอนุญาตให้มีสถานที่
"คุณปิดศูนย์ปราบโกงประชามติได้ คุณปลดป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติได้ แต่ศูนย์ปราบโกงประชามติ ได้ไปเปิดในหัวใจประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว" จตุพร  กล่าว พร้อมยืนยันให้เจ้าหน้าที่ปิดและเก็บป้าย แต่ตัวศูนย์ปราบโกงประชามติจะอยู่กับประชาชนทั้งแผ่นดินแต่ละคน
จตุพร ได้แถลงด้วยว่า มีการรายงานข่าวจากตัวแทนศูนย์ฯ ในแต่ละภูมิภาค ทั่วประเทศ 76 จังหวัด ขณะนี้ที่เปิดได้กับเปิดไม่ได้นั้นตัวเลขพอๆ กัน แต่ไม่ขอเปิดเผยว่าจังหวัดไหนเปิดได้ จังหวัดไหนเปิดไม่ได้ ยืนยันว่าศูนย์ฯ ไม่มีอะไรมากไปกว่าคอมพิเตอร์ 4 ตัว โทรศัพท์ 4 เครื่อง แต่เหตุที่ศูนย์ฯ เป็นประเด็นใหญ่ขึ้นมา เนื่องจากมีพรีเซนเตอร์อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร พล.อ.อนุพงษ์ และอีกหลายคนที่ทำหน้าที่เป็นพรีเซนเตอร์จนทำให้ศูนย์นี้เป็นที่รู้จักของประชาชนอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งเกิดจินตนาการที่เกินความจริง

ประยุทธ์ ลั่นไม่ให้เปิดศูนย์ปราบโกงฯ ชี้แม้ไม่ผิด กม.ประชามติ แต่ยังมีคำสั่ง คสช.


จตุพร เดินสายเปิดศูนย์ปราบโกงทั่วประเทศพรุ่งนี้ ลั่นใครห้ามถือว่าขัดคำสั่งนายกฯ ขณะที่ประยุทธ์ สวนไม่ให้เปิด แม้ไม่ผิด กม.ประชามติ แต่ยังมีคำสั่ง คสช. ระบุ เขียนกฎหมายมาแล้ว บังคับใช้ไม่ได้ก็อย่าเขียนออกมาเลย เผยกำลังพิจารณาอยู่ทั้งเสื้อและโพสต์ไม่รับร่างฯอยู่
18 มิ.ย. 2559 จตุพร พรหมพันธ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ยืนยันว่าในพรุ่งนี้ (19 มิ.ย.59) ทางนปช.จะเดินหน้าเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติทั่วประเทศพร้อมกันครบทุกจังหวัดอย่างเป็นทางการ ซึ่งพิธีเปิดจะเริ่มดำเนินงานตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไปโดยจะมีส่วนกลางของศูนย์ปราบโกงที่ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลลาดพร้าว ส่วนกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่าจะไม่ให้เปิดศูนย์ปราบโกงนั้น อย่างที่ตนเคยกล่าวไปแล้วว่าหากมีเจ้าหน้าที่มาขัดขวางก็จะได้แค่ป้ายข้อความของศูนย์ปราบโกงไปเท่านั้น เพราะในพิธีเปิดจะมีแค่การขึ้นแผ่นป้ายที่มีข้อความว่า “ประชามติต้องไม่ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า” ฝ่ายรัฐคงไม่เข้าใจแก่นแท้ของความหมาย แต่ถ้าอยากได้ป้ายก็ให้เอาไป เพราะไม่ว่าอย่างไรศูนย์ปราบโกงก็จะเดินหน้าทำงานในการตรวจสอบกระบวนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญต่อไป
จตุพร กล่าวต่อวา ส่วนเรื่องการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ในต่างจังหวัดรวมไปถึงกระข่าวว่าบางจังหวัดจะไม่มีการเปิดศูนย์ปราบโกงนั้น เป็นเรื่องของแต่ละพื้นที่ซึ่งบางพื้นที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวดจึงอาจมีการหลีกเลี่ยง แต่ยืนยันว่าการตรวจสอบการออกเสียงประชามติจะมีการดำเนินการครบทุกจังหวัดอย่างแน่นอน ขณะนี้ทราบว่าแกนนำที่ถูกควบคุมตัวก็ได้รับการปล่อยตัวมาแล้ว อีกทั้งในแต่ละจังหวัดก็ยังมีทีมงานฝ่ายกฎหมายคอยช่วยเหลือ
 
“เจ้าหน้าที่ทหารเองก็ต้องระมัดระวังตัว เพราะอย่าลืมว่าผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในรัฐบาลคือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. อีกทั้งยังเป็นรัฎฐาธิปัตย์ซึ่งเคยระบุว่าการเปิดศูนย์ปราบโกงสามารถกระทำได้ หากมีการมาขัดขวางการเปิดศูนย์ก็ต้องระวังว่าจะเป็นการขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา ตอนนี้จึงถือว่าใครไม่ให้เปิดเท่ากับกำลังขัดคำสั่งพล.อ.ประยุทธ์ ถ้าเชื่อพล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ก็ไม่รู้จะไปเชื่อใคร” จตุพร กล่าว
 

ประยุทธ์ยันไม่ให้เปิด แม้ไม่ผิด กม.ประชามติ แต่ยังมีคำสั่ง คสช. 

อย่างไรก็ตามวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ คสช.ไปพิจารณา กรณีที่ นปช. ยืนยันจะเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ ในที่ 19 มิ.ย.นี้ ถ้าผิดก็จับ ถ้ามันผิดคำสั่ง คสช. หรือ พ.ร.บ.ประชามติ พร้อมย้ำด้วยว่า จะให้มีการเปิดศูนย์ปราบโกงไม่ได้
 
"ก็เขาไม่ให้เปิด จะไปพูดให้เขาเปิดอยู่ได้อย่างไร เปิดก็โดนจับ 3 คนเปิดได้ไหม 2-3 คน มายืนเปิดได้ไหม เขาห้ามเกิน 5 คน แล้วเขาก็มี พ.ร.บ.อย่าแล้ว เดี๋ยวไอ้พวกใส่เสื้อโหวดไม่รับ กำลังพิจารณาอยู่ ในนี้มีใครใส่บ้าง อะไรที่เขียนไว้ ผิดกฎหมาย ฝืนมันทุกเรื่องแล้วคนเหล่านี้มันจะปกครองประเทศ อยากได้หรือ”  พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
ต่อคำถามถึงกรณีเพจที่รณรงค์ให้ไม่รับด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็พูดอยู่ยังจะถามอะไรอีก ที่พูดนั้นไม่ได้หมายความอย่างนั้นหรือ ทั้งเสื้อและโพสต์กำลังพิจารณาอยู่ ไปโพสต์กับเขาด้วยหรือเปล่า อ่านกฎหมายไม่ออกกันหรือไง
เมื่อถามว่า กกต.บอกว่า การโพสต์ดังกล่าวแม้ไม่ผิด พ.ร.บ.ประชามติ แต่อาจผิดคำสั่ง คสช. นายกฯกล่าวยืนยันว่า คำสั่ง คสช.อย่างเดียวก็ผิดแล้ว คนอื่นจะไม่ผิดก็ช่างไป เขียนกฎหมายมาแล้ว บังคับใช้กับคนไม่ได้ก็อย่าเขียนออกมาเลย และที่มีคำสั่ง คสช.ทุกวันนี้ทำให้บ้านเมืองเรียบร้อยหรือไม่ ถามสิ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ได้เคยกล่าวถึงกรณี นปช. เปิดศูนย์ดังกล่าวว่า “ก็ให้เปิดไป แต่ผมไม่รับให้อยู่ตามกฎหมายอยู่แล้ว ถ้าสื่อไม่ปลุกระดมก็ไม่มีผลอะไร ใครอยากจะตั้งก็ตั้งไป ไม่มีสิทธิตามกฎหมาย และศูนย์ฯนี้ก็อย่าทำความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการประชามติด้วย ถ้าผิดก็โดนจับหมด อย่าเข้าไปเกี่ยวข้อง เข้าไปแหลมในคูหา อย่าเข้าไปพูดว่าล้มไม่ล้มผิดพ.ร.บ.ประชามติทั้งหมด ไอ้ตัวศูนย์ฯน่ะระวังให้ดี ทำไมก่อนหน้านี้ถึงไม่ตั้ง จำนำข้าวทำไมไม่ตั้ง ทุจริตทำไมไม่ตั้ง” (อ่านรายละเอียด)

ผู้ว่าฯสตง.สั่งรื้อคดีGT200 สอบใหม่ ส่งเรื่อง 'ศอตช.' พิจารณาด้วย


19 มิ.ย.2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลประเทศอังกฤษ ตัดสินยึดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 7.9 ล้านปอนด์ (ราว 395 ล้านบาท) จาก เจมส์ แมคคอร์มิค ผู้ต้องหาในคดีจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม เพื่อนำเงินไปจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของแมคคอร์มิคและพรรคพวกซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ดังกล่าว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ล่าสุดวันนี้ (19 มิ.ย.59) สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า สตง.จะรื้อเรื่องนี้ขึ้นมาตรวจสอบใหม่อีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ สตง. ตรวจสอบข้อมูลพบว่าหน่วยงานราชการไทยหลายแห่งได้จัดซื้อเครื่องจีที200 มาใช้ ขณะที่เครื่องมือถูกตรวจสอบพบว่ามีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพ และได้ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบข้อมูลบริษัทเอกชนซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับหน่วยงานราชการไปแล้ว 
"ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ สตง. นำข้อมูลการตรวจสอบเรื่องจีที 200 ขึ้นมาดูอีกครั้ง และจะมีการนำเสนอเรื่องให้ที่ประชุมศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) พิจารณาด้วย" พิศิษฐ์ กล่าว
 
พิศิษฐ์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีประมูลขายซากชีนุก 420 ล้าน และกรณีการจ้างที่ปรึกษารถไฟรางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ วงเงิน 117.6 ล้านบาท ว่า ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล และไม่มีปัญหาเรื่องการถูกล็อบบี้แต่อย่างใด 

'ประยุทธ์-ประวิตร' ประสานเสียง GT200 เคยใช้ได้ แต่พิสูจน์ว่าใช้ไม่ได้ ก็ไม่ใช้


20 มิ.ย.2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลประเทศอังกฤษ ตัดสินยึดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 7.9 ล้านปอนด์ (ราว 395 ล้านบาท) จาก เจมส์ แมคคอร์มิค ผู้ต้องหาในคดีจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม เพื่อนำเงินไปจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของแมคคอร์มิคและพรรคพวกซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ดังกล่าว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
วันนี้ (20 มิ.ย.59) คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าว โดยกล่าวย้อนคำถามผู้สื่อข่าวด้วยน้ำเสียงดุดันว่า “เขาตัดสินใครว่ายังไง ถ้าตัดสินผู้ค้าแล้วใครอีก ผู้ผลิต แล้วก็เยียวยาคนซื้อใช่หรือไม่ ให้ไปดูเขาฟ้องคนซื้อหรือเปล่าคิดให้เป็นบ้าง เพราะทุกคนเขาก็ซื้อกันทั้งโลก”
ต่อกรณีคำถามว่าจะมีการตรวจสอบเพิ่มหรือไม่ นายกฯ กล่าวเสียดังต่อไปว่า “จะตรวจสอบอะไรอีก เขางดใช้ไปตั้งนานแล้ว ทิ้งถังไปแล้วมั้ง เมื่อใช้ไม่ได้ก็ใช้ไม่ได้ ถ้าโลกเขาใช้อยู่ก็ใช้ มันก็ใช้ได้ในระยะหนึ่ง แต่พอเขาพิสูจน์ว่าใช้ไม่ได้ ก็ไม่ใช้ แต่เธออย่าลืม ให้นึกถึงคนที่เขาตายเพราะถูกระเบิดเสียบ้าง ไปหาวิธีการอย่างอื่นมาถ้าจะไม่ให้ทำโน่นทำนี่ นึกถึงครอบครัวเขาบ้าง” นายกฯ กล่าว  ส่วนเรื่องการเรียกร้องค่าเสียหายนั้นขณะนี้ยังไม่ทราบเขาไปว่ากันเอง มันยังมาไม่ถึง แต่ถ้าร้องได้ก็ร้อง
 
ขณะที่ ผู้จัดการออนไลน์ รายงาน ความเห็นของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต่อกรณีดังกล่าว โดย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ด้วยว่า ได้มีมติยุติการใช้งานไปแล้ว ถ้าจะใช้ต้องมีการยกเลิกมติ ครม.เดิมที่นำมาใช้ตั้งแต่แรก ก็ใช้ได้ผล กองทัพอากาศได้นำมาใช้เป็นหน่วยงานแรก และหน่วยงานอื่นก็ได้นำมาใช้ซึ่งก็มีผลงาน ถึงแม้ว่าจะพบระเบิดบ้างไม่พบบ้างก็ตาม เพราะว่าอุปกรณ์ของเครื่องจีที 200 มีน้อย จึงทำให้ความน่าเชื่อถือลดน้องลงไปด้วยซึ่งทำให้มีการทดสอบ และทาง ครม.ได้มีการนำมาทดสอบพบว่าไม่สามารถใช้งานได้ เรื่องนี้ก็จบไปโดยไม่มีปัญหาอะไร แต่จะดูว่าเครื่องจีที 200 จะทำอะไรได้อีกบ้าง
      
เมื่อถามว่าทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจะเข้ามาตรวจสอบเรื่องดังจะทำอย่างไร พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็ต้องให้ตรวจสอบกันไป เราทำด้วยความโปร่งใส ในการจัดซื้อจัดหานั้นไม่ได้ทำด้วยคนเพียงคนเดียว รวมถึงยุทโธปกรณ์ทั้งหมด ต้องมีคณะกรรมการจัดซื้อจัดหาและคณะกรรมการตรวจรับ ต้องให้ไปตรวจไปดู ดำเนินการตรวจรับ และขั้นตอนการดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ทำมาตลอดก็ทำแบบนี้ หากมีการทุจริต ก็ต้องลงไปดูในรายละเอียด ตามขั้นตอนแล้วต้องทำให้ครบ
      
“การจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ทุกอย่าง ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ไปซื้อไปหามา ทำไม่ได้หรอก ที่ผมพูดคือการทำตามหลักการ ผมพูดตามหลักการ ตามระเบียบทุกอย่าง” พล.อ.ประวิตร กล่าว

ประยุทธ์เมื่อครั้ง ผบ.ทบ.ชี้ถ้าเชื่อมั่นก็ใช้ได้

สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ เคยกล่าวไว้เมื่อครั้งเป็น ผบ.ทบ. ว่า "สมัยนั้นมันเป็นเครื่องมือเดียวที่ใช้งานได้อยู่ ผมยังยืนยันว่ามันยังใช้งานได้อยู่ ทุกเหล่าทัพก็ยังใช้กันยู่ เมื่อทดสอบแล้วใช้ไม่ได้ก็ไปหาอย่างอื่นมาให้ผมใช้ วันนี้ไม่มีอะไรมาให้ใช้เลย กำลังพลไม่มีความปลอภัย แต่สมัยก่อนไปดูว่าเครื่องมือนี้ ผมไม่ได้แก้ตัวว่าเขาดีไม่ดีนะ ผิดก็คือผิด ไม่ดีก็ไปทดสอบกัน แต่ที่ผ่านมาที่เราใช้เพราะว่าได้ผล ก็ไม่ทราบด้วยเหตุใดนะ อาจเป็นความเชื่อมั่นก็ได้ นะ บางอย่างมันก็อยู่ที่ความเชื่อมั่น"