วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ภาคประชาชน-นักวิชาการ หวั่น พ.ร.บ.กสทช.ใหม่ แปลง กสทช.เป็นสำนักงานใต้รัฐบาล


(แถวบน จากซ้าย) สุพจน์ เธียรวุฒิ - วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง - จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์

(แถวล่าง จากซ้าย) สุวรรณา จิตประภัสสร์ - สุปัน รักเชื้อ - วิชาญ อุ่นเอก - สุวรรณา สมบัติรักษาสุข


ประธานศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบาย สถาบันอิศราระบุแก้ปัญหาภายใน กสทช. ดีกว่าแก้ พ.ร.บ. กสทช. ฟากนักวิชาการชี้ลดกรรมการ กสทช.เอื้อประโยชน์รัฐ/เอกชน มากกว่าประชาชน ตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองการลดกรรมการ กสทช. คุ้มครองผู้บริโภคได้ยากขึ้น เลขาฯ กสทช.ยอมรับร่างฯ ยังไม่สมบูรณ์ กรรมการ กสทช. เชื่ออ้างปรับปรุงให้ กสทช. เข้ากับสื่อยุคหลอมรวม เพื่อแก้เรื่องจัดสรรคลื่นความถี่มากกว่า

27 ก.ค. 2559 เวลา 9:00 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ ส่วนงานเลขานุการ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และส่วนงาน สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. จัดงานเสวนา NBTC Public Forum 2/2559 เรื่อง “มุมมองภาคประชาชนต่อแนวทางปรับปรุงกฎหมาย กสทช.” เพื่อเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อพระราชบัญญัติองค์จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. … (ร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่) ซึ่งเป็นการปรับปรุงจาก พ.ร.บ.กสทช. ฉบับปี พ.ศ.2553 เดิม
ทั้งนี้ในงานยังมีการเชิญชวนแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อร่าง พ.ร.บ. กสทช. ดังกล่าวได้ทางอีเมลnbtcrights@gmail.com [email protected][email protected][email protected]�รแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับดังกล่าวอีกด้วย โดยสามารถเสนอได้ถึงภายในวันที่ 29 ก.ค. 59 นี้ และอ่านร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่ที่กำลังจะเข้า สนช. ได้ที่ http://nbtcrights.com/2016/07/6592
ในงานเสวนาดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล โดยมี สุภิญญา กลางณรงค์ และประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. รวมถึงฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ตลอดจนภาคประชาสังคมมาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นอกจากนี้ยังมีตัวแทนกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กสทช. มาบันทึกความคิดเห็นในงานเสวนาอีกด้วย
โดย ประวิทย์ กล่าวว่าการพูดคุยเรื่องกฎหมายฉบับนี้มีความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากร่างได้รับหลักการจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว และอยู่ในชั้นกรรมาธิการ เชื่อว่าการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. กสทช. จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้หากรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ กฎหมายขึ้นใหม่เกี่ยวกับองค์กรกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ต้องยกร่างใหม่ทั้งหมด เนื่องจากบทบัญญัติตามร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีองค์กรทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ไม่รวมถึงการจัดสรรคลื่นความถี่ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะต้องทบทวนกฎหมายฉบับนี้ใหม่ทั้งหมด
สุพจน์-วรพจน์เห็นตรงกัน ไม่ประมูลคลื่นความถี่ เสี่ยงเกิดปัญหา
สุพจน์ เธียรวุฒิ ที่ปรึกษาอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ. กสทช. ว่าไม่เห็นด้วยที่ร่างฉบับใหม่มีการแก้ไขมาตรา 45 โดยอนุญาตให้มีการใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม นอกเหนือจากการประมูลได้ ซึ่งการมอบคลื่นให้โดยไม่ผ่านการประมูลอาจส่งผลให้เกิดปัญหาได้ในอนาคต จึงยืนยันว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ต้องใช้วิธีการประมูลเท่านั้น
นอกจากนี้สุพจน์ยังเสนอว่า ไม่ต้องเยียวยาในกรณีที่ กสทช. เรียกคืนคลื่นที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ เพราะจะทำให้ต้องใช่งบประมาณโดยไม่จำเป็น รวมไปถึงมีการจำกัดการรูปแบบการใช้คลื่นให้ตรงกับตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้เมื่อได้ตอนได้รับใบอนุญาต จาก กสทช. ทั้งนี้การจำกัดรูปแบบดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคเสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากการใช้คลื่นดังกล่าว
สอดคล้องกับวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง คณะทำงานติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) ระบุว่าปัญหากรณีคลื่น 1 ป.ณ. FM 98.5 เป็นกรณีตัวอย่างที่เห็นชัดเจนว่าการใช้อำนาจของ กสทช. ที่พิจารณาตามดุลยพินิจให้เอกชนเข้าใช้ประโยชน์ได้ ก่อให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างชัดเจน พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการเรียกคืนคลื่นวิทยุโดยเร่งด่วน ถ้าหาก พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่นี้ผ่าน การเรียกคืนคลื่นวิทยุอาจต้องยืดระยะเวลาไปด้วย
นอกจากนี้วรพจน์เสนอให้ล้มเลิกการร่าง พ.ร.บ. กสทช.ฉบับใหม่นี้ เพราะที่มาในการแก้ไขไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่แรก โดยระบุว่ารัฐสามารถกำหนดนโยบายให้ กสทช. และ กสทช. ก็กำหนดวิธีในการบรรรลุเป้าหมายในแง่นโนบายได้ โดยไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายเพื่อบังคับ
สุวรรณาระบุแก้ปัญหาภายใน กสทช. ดีกว่าแก้ พ.ร.บ. กสทช.
สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศรา ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ เปลี่ยนแนวคิดมุมมองของคลื่นความถี่ไป จากเดิมมองว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของประชาชน แต่ต่อมากลับมองว่าเป็นทรัพยากรของชาติ ซึ่งคำว่า “ชาติ” นี้ก็ไม่แน่ใจว่าประชาชนจะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่
นอกจากนี้ยังฝากข้อสังเกตไปถึงประชาชนทั่วไป ให้จับตาดูว่าเมื่อไรที่ร่าง พ.ร.บ. กสทช.ฉบับนี้ผ่านจนสามารถประกาศใช้บังคับได้ ให้ดูในประเด็นการสรรหา กสทช. และคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นกรรมการ กสทช. ว่าขัดต่อหลักการในการกำหนดคุณสมบัติและมีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ และในท้ายที่สุดเมื่อดูในข้อกฎหมายในร่างฯ ดังกล่าวจะพบว่าร่างนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน
“สุดท้ายนี้ดิฉันสรุปว่ากรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา วันนี้การแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. ที่เกิดขึ้น ก็มาจากการทำงานของ กสทช. ทั้ง 11 ท่านนั่นเอง ดิฉันถึงไม่เห็นความจำเป็นในการแก้ พ.ร.บ.กสทช. แต่ดิฉันเห็นว่าการแก้ปัญหาภายใน กสทช.เองน่าจะเป็นการดีกว่า” สุวรรณากล่าว

ชี้ลดกรรมการ กสทช.เอื้อประโยชน์รัฐ/เอกชน - คุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้
ส่วน จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ นักวิชาการอิสระด้านการสื่อสารมวลชน กล่าวว่า รัฐใช้ข้ออ้างในการเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ.กสทช. ว่า เพราะโลกของเทคโนโลยีหรือภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงไป แต่เจตนาที่แท้จริงคือรัฐต้องการลดอำนาจ กสทช.ให้เป็นสำนักงานภายใต้รัฐบาล และต้องการให้ กสทช. ทำงานในลักษณะแนวดิ่งเหมือนที่เคยเป็นมาก่อนการปฏิรูปสื่อในปี 2540 สะท้อนให้เห็นการแก้ปัญหาโดยยึดวิธีคิดแบบเก่ามาใช้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้จิรพรยังตั้งข้อสังเกตว่า ในร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่ มีการลดกรรมการ กสทช.จาก 11 คน เหลือ 7 คน รวมไปถึงในร่างมีการกีดกันผู้แทนจากภาคประชาชนและคนรุ่นใหม่ ทำให้เห็นได้ว่าการแก้ร่าง พ.ร.บ.กสทช.ครั้งนี้เอื้อประโยชน์ให้กับภาครัฐและภาคเอกชนมากกว่าประชาชน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นมีความโจ่งแจ้งเกินไป
สอดคล้องกับสุวรรณา จิตประภัสสร์ จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ตั้งข้อสังเกตว่ามีการลดกรรมการ กสทช.จาก 11 คน เหลือ 7 คน ซึ่งกรรมการที่ทำงานในด้านคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหนึ่งส่วนที่ถูกลดไป จาก 2 คน 1 โดยระบุว่ากรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเดิมมี 2 คนก็ยังแก้ปัญหาได้ไม่ครบถ้วน หากมีเพียงคนเดียวจะแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้หรือไม่ นอกจากนี้การแก้ร่างฯ นี้ยังทำให้การสรรหาคนที่ีมาเป็นกรรมการฝ่ายนี้ อาจได้คนที่ขาดความรู้และความเข้าใจในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคได้ เพราะผู้สรรหาล้วนมาจากฝ่ายตุลาการไม่ว่าเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ, ประธานศาลฎีกา, ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีความรู้ในด้านนี้เลย
“ยอมรับว่าภาคประชาชนอ่อนแอลงใน กสทช. ถูกเอาเปรียบมากขึ้นเรื่อยๆ คาดหวังว่าถ้าเราเรียกร้อง รัฐอาจจะมองเห็นแต่ถ้าเราไม่ส่งเสียง ก็มีข้อกังวลว่าตามร่าง พ.ร.บ.ใหม่ จะมอบอำนาจกระทรวงดิจิตอลที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งกระทรวงดังกล่าวอาจจะหยิบใครมาเป็นกรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคก็ได้ ตรงนี้น่าเป็นห่วง” สุวรรณากล่าว

วิชาญกังวลสื่อภาคประชาชนจะเกิดยากหลังร่าง พ.ร.บ. กสทช.ใหม่ผ่าน
ด้าน วิชาญ อุ่นอก จากสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์สื่อวิทยุชุมชุนที่ตนเองดูแลอยู่ว่า “สื่อภาคประชาชนตอนนี้ไม่ได้มองแค่รัฐจัดสรรคลื่นความถี่ให้ประชาชน 20 เปอร์เซนต์ตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ได้มองว่าเป็นแค่คลื่นที่ออกอากาศในชุมชนในระยะ 20-30 เมตร แต่เราคิดถึงการออกอากาศในระดับจังหวัดในระดับประเทศ ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่มีการกำหนดออกมาที่ชัดเจนในร่างนี้เช่นกัน ภาคประชาชนก็เหนื่อย และหลายคนเสียชีวิตไปแล้ว น่าเศร้าว่าการต่อสู้เรื่องคลื่นความถี่อันยาวนานตอนนี้แทบจะหมดหวังแล้ว”
วิชาญยังมองเหตุการณ์หลังร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่ผ่านจะทำให้สื่อภาคประชาชนเกิดขึ้นได้ยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากการตรวจสอบไม่ยึดโยงกับประชาชน แต่เน้นผูกติดอยู่กับภาครัฐอย่างชัดเจน และยังมองว่าการทำหน้าที่ของ กสทช.จะขาดความเป็นอิสระไปโดยสิ้นเชิง
สุปันถามหากร่างนี้ผ่าน จะขัด รธน.หรือไม่
สุปัน รักเชื้อ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพสื่อ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย การร่าง พ.ร.บ. กสทช. ใหม่นี้จะเป็นไปในลักษณะ “คนใช้ไม่ได้ร่าง คนร่างไม่ได้ใช้” ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อประชาชนและประเทศชาติด้วย เมื่อมองผลกระทบของร่างฯ ที่มีต่อสื่อจะพบว่าเสรีภาพมีอย่างจำกัด เพราะต่อไปการได้ใบอนุญาต ก็ได้จากการพิจารณาของ กสทช. ไม่ใช่ได้จากการประมูลอีกต่อไป ซึ่งทำให้ช่องทางสื่อถูกจำกัดไปอีก ไม่ว่ามีเสรีภาพเท่าไหร่ก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี ทั้งนี้สุปันยังตั้งคำถามว่า หากร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับนี้ผ่านไปได้ และร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ผ่านประชามติด้วยแล้ว พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้จะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
“วันนี้เป็นเวทีที่ให้คนที่ศึกษาด้านสื่อ ด้าน กสทช.มาแลกเปลี่ยนถกเถียงกัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เอกสารในงานถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพี่น้องประชาชน ซึ่งหมายรวมไปถึงเอกสารร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ และร่างกฎหมายอื่นๆ ที่จะเข้าสู่ สนช.อีกด้วย” สุปันกล่าว
ฐากร ยอมรับร่างฯ ยังไม่สมบูรณ์ - สุภิญญาเชื่อแก้ พ.ร.บ.กสทช. เพื่อเรื่องจัดสรรคลื่นความถี่
ด้านฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เล่าว่า ได้นำเสนอความเห็นต่อ สนช.เกี่ยวกับการปรับปรุงร่างฯ ในเรื่องงบประมาณของ กสทช. ว่าการอนุมัติไม่ควรอยู่ในอำนาจของ กสทช.ทั้งหมด ควรมีบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นคณะกรรมการคนกลางมาอนุมัติงบประมาณเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และอยากเห็น กสทช.ยุคหน้ามาทุ่มเทการทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่าการมายุ่งเกี่ยวกับงบประมาณต่างๆ
ส่วนประเด็นการแต่งตั้งและถอดถอนบุคคลที่เป็นเลขาธิการ กสทช. ด้านฐากรเสนอให้มีการถ่วงดุลอำนาจในการถอดถอนโดยให้เป็นอำนาจของทั้ง กสทช. และวุฒิสภาเพื่อให้เกิดความเหมาะสม ส่วนเรื่องการแก้ร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับนี้ยอมรับว่ายังต้องมีการแก้อีกหลายจุดตามที่ภาคประชาชนให้ความเห็นไว้ ซึ่งทางสำนักงาน กสทช.จะมีการรวบรวมความคิดเห็นในงานเสวนาเพื่อนำไปเสนอต่อ สนช.ต่อไป โดยคาดการณ์ว่าร่างดังกล่าวดังกล่าวจะต้องแก้ไขให้เสร็จภายในเดือน ส.ค. 2559
ส่วน สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวปิดท้ายงานเสวนา โดยระบุว่าการเปลี่ยนแปลงใน กสทช. เกิดขึ้นอย่างแน่นอน มีการรีเซ็ตหลายอย่าง จนส่งให้ กสทช.เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน สุภิญญาระบุว่า ข้อดีของการทำงานภายใต้ พ.ร.บ.กสทช.ปัจจุบัน คืออย่างน้อยตนเองสามารถเป็นเสียงข้างน้อยในที่ประชุม และนำความคิดความเห็นมาเปิดเผยสู่สาธารณะได้ สะท้อนถึงความเป็นอิสระในการทำงาน
นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่าหลังจากหมดวาระการเป็นกรรมการ กสทช. อาจจะกลับทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงาน กสทช.ต่อไปหากยังมีกำลังอยู่ และฝากให้ทุกคนคิดกันในการแก้ไขปัญหาระยะยาว 5 ปี 10 ปี ทั้งเรื่องปฏิรูปสื่อ สิทธิในการสื่อสาร รวมไปถึงเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ จึงฝากไปคิดต่อว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน พร้อมตั้งข้อสังเกตผู้ร่างกฎหมายอ้างเหตุแก้ พ.ร.บ.กสทช. เพราะต้องการปรับปรุงการทำงานของ กสทช. ให้เข้ากับยุคสื่อหลอมรวม แต่เหตุผลที่แท้จริงคือต้องการแก้ไขกฎหมายเพื่อจัดการเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งถ้าแก้ทั้งฉบับให้ดีเลยอาจจะเป็นการดีกว่า

We Watch ห่วงประชามติ กกต.ไม่รับรองให้มีกลุ่มสังเกตการณ์อย่างเป็นทางการ


27 ก.ค.2559 เครือข่าย We Watch อาสาสมัครเยาวชนสังเกตการณ์ประชามติ ออกแถลงการณ์กรณีความห่วงใยต่อสถานการณ์การจัดการออกเสียงประชามติ และเชิญชวนผู้มีสิทธิออกเสียง เยาวชน คนรุ่นใหม่ได้แสดงเจตจำนงของตนเองอย่างแท้จริง รวมทั้งขอเชิญชวนให้ผู้มีสิทธิออกเสียงโดยเฉพาะเยาวชน คนรุ่นใหม่ ได้ใช้ช่วงเวลาที่เหลือในการค้นคว้าศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านและเท่าทัน เพื่อการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ และร่วมกันสังเกตการณ์สถานการณ์และกระบวนการการออกเสียงประชามติในช่วงเวลาที่เหลือนี้
โดยมีรายละเอียดดังนี้ 
 
แถลงการณ์เครือข่าย We Watch อาสาสมัครเยาวชนสังเกตการณ์ประชามติ กรณีความห่วงใยต่อสถานการณ์การจัดการออกเสียงประชามติ และเชิญชวนผู้มีสิทธิออกเสียง เยาวชน คนรุ่นใหม่ได้แสดงเจตจำนงของตนเองอย่างแท้จริง
 
เครือข่าย We Watch อาสาสมัครเยาวชนสังเกตการณ์ประชามติมีความห่วงใยต่อสถานการณ์การจัดการออกเสียงประชามติ ที่จะถึงในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งขณะนี้ มีเวลาเหลืออีกเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์ โดยจะต้องเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนจาเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอและรอบด้าน ทั้งในเรื่องเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการการออกเสียงประชามติ เพื่อให้ประชาชนได้แสดงและยืนยันเจตจานงของตนเองได้อย่างแท้จริง
 
สืบเนื่องจากประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2540 อย่างไรก็ตาม ในการจัดการการออกเสียงประชามติในครั้งนี้ มิได้เป็นไปตามหลักกติกาสากล โดยเฉพาะในข้อ 25 ที่กำหนดให้สิทธิของพลเมืองทุกคนมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยเสรี ซึ่งถือว่าเป็นแกนกลางสำคัญของหลักการธรรมาภิบาลในระบอบประชาธิปไตยและตั้งอยู่บนฐานของความเห็นชอบของประชาชน
 
จากการสังเกตการณ์ที่ผ่านมา ทางเครือข่าย We Watch มีความห่วงใยในเรื่องดังต่อไปนี้
 
1. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้มีการประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจต่อเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญอย่างไม่เพียงพอ โดยประชาชนไม่ได้รับคู่มือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม จึงไม่สามารถเข้าถึงการรับรู้ข้อมูลได้โดยตรง อีกทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งมีการประชาสัมพันธ์เรื่องกระบวนการประชามติที่ไม่ทั่วถึง ซึ่งมิได้มีการขยายการประชาสัมพันธ์สู่สาธารณะอย่างเพียงพอ และการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ไม่ได้ทำในช่วงเวลาที่เหมาะสม
 
2. ภาคประชาชนถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมในการรณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจต่อเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการออกเสียงประชามติ นำไปสู่การขาดการรับรู้ข้อมูลที่รอบด้านของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงทั่วไป
 
3. คณะกรรมการการเลือกตั้งมิได้เปิดพื้นที่หรือมีการรับรองให้มีกลุ่มสังเกตการณ์การออกเสียงประชามติอย่างเป็นทางการ โดยกล่าวว่ามิได้มีการกำหนดไว้ในกฎหมายว่าให้มีการสังเกตการณ์การออกเสียงประชามติ ซึ่งทำให้ขาดกระบวนการการตรวจสอบที่จะสามารถยืนยันความโปร่งใสและเป็นธรรม หรือสะท้อนปัญหาของการจัดการการออกเสียงประชามติในครั้งนี้ได้อย่างแท้จริง
 
ทั้งนี้ทางเครือข่าย We Watch จึงขอเชิญชวนให้ผู้มีสิทธิออกเสียงโดยเฉพาะเยาวชน คนรุ่นใหม่ ได้ใช้ช่วงเวลาที่เหลือในการค้นคว้า ศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านและเท่าทัน เพื่อการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้สิทธิในการออกเสียงประชามติเพื่อแสดงเจตจำนงของประชาชนในการกำหนดอนาคตของประเทศอย่างแท้จริง รวมทั้งร่วมกันสังเกตการณ์สถานการณ์และกระบวนการการออกเสียงประชามติในช่วงเวลาที่เหลือ เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและเป็นธรรมให้กับกระบวนการออกเสียงประชามติในครั้งนี้
 
เครือข่าย We Watch เยาวชนสังเกตการณ์ประชามติ
27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559
 

แอมเนสตี้ร่อน จม.ถึงนายกฯ ไทย ส่งข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชน ก่อนประชามติ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ไทย แสดงข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนก่อนลงประชามติ 7 สิงหาคม เรียกร้องยกเลิกการดำเนินคดีต่อประชาชนและนักข่าวอย่างน้อย 113 คนที่ถูกจับกุมเพียงเพราะเกี่ยวข้องกับกิจกรรม-รณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมเปิดรายงานการจำกัดเสรีภาพนับตั้งแต่รัฐประหาร 2557
28 ก.ค. 2559 สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย แสดงความกังวลต่อการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนช่วงก่อนลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่จะถึงนี้
ซาลิล เช็ตตี้ เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุในจดหมายว่า มาตรการต่างๆ ที่ทหารอ้างว่าเป็นมาตรการชั่วคราวเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองนั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยอมรับไม่ได้ โดยเฉพาะการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุม ซึ่งล้วนแต่เป็นสิทธิที่ประเทศไทยมีต้องเคารพและคุ้มครองตามพันธกรณีระหว่างประเทศ
       
ซาลิล เช็ตตี้ได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีของไทยประกันว่าประชาชนจะสามารถใช้สิทธิของตนได้อย่างสงบและเสรี สามารถรับและเผยแพร่ข้อมูลได้อย่างเสรี สามารถเข้าร่วมการอภิปรายสาธารณะและการรณรงค์ที่เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญ และสามารถแสดงความเห็นที่ขัดแย้งกับรัฐบาลได้โดยไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะถูกคุกคาม จับกุม หรือดำเนินคดี
เลขาธิการแอมเนสตี้ยังกระตุ้นให้ทางการไทยยกเลิกการดำเนินคดีต่อประชาชนและนักข่าวอย่างน้อย 113 คนที่ถูกจับกุมเพียงเพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมหรือการรณรงค์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น
นอกจากนี้ แอมเนสตี้ยังได้ออกรายงานเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพในประเทศไทยช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ซึ่งครอบคลุมข้อมูลเกี่ยวกับประกาศคำสั่งและกฎหมายที่จำกัดสิทธิ การจับกุม การควบคุมตัว การดำเนินคดี การขัดขวางการอภิปรายสาธารณะและการตรวจสอบการออกเสียงประชามติ และพันธกรณีของไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศด้วย

พีเน็ตห่วงความน่าเชื่อถือ 'ประชามติ' -ร้องหยุดจับกุมคุมขัง สร้างความสับสน


องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตยเรียกร้องหยุดจับกุมคุมขัง ชี้สร้างความสับสน เสนอให้ผู้รับผิดชอบทุกฝ่ายรวมถึงรัฐบาล เร่งรีบให้ข้อมูลข่าวสารลงสู่ระดับล่างอย่างถูกต้อง รอบด้าน เปิดเสรีการแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ 
28 ก.ค. 2559 องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ส่งใบแจ้งข่าวระบุว่า อาสาสมัครองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ในหลายจังหวัดของภาคต่างๆ มีความห่วงใยสถานการณ์การออกเสียงประชามติก่อนวันที่ 7 สิงหาคม 2559 และกังวลใจที่ประชาชนยังไม่รับทราบถึงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ทราบกฎระเบียบ ขั้นตอนต่างๆ ที่ควรพึงปฏิบัติตามสิทธิของผู้มีสิทธิออกเสียง ทำให้เกิดเหตุการทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัวในบางจังหวัด
องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ระบุว่า จากการสอบถามประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ทราบว่าเกือบทุกคนที่ถูกถาม นอกจากจะไม่เคยเห็นร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีความเข้าใจในเนื้อหารัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง หลายคนไม่ให้ความสนใจแม้แต่จะไปออกเสียงในครั้งนี้ เมื่อสอบถามผู้ที่จะไปหย่อนบัตรออกเสียงประชามติ ทราบว่าจะไปด้วยความฉาบฉวย ไม่ได้พยายามทำความเข้าใจเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่สื่อต่างๆ เริ่มนำเสนอ แต่กลับใช้การออกเสียงประชามติเป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางการเมืองมากกว่า
องค์กรกลางฯ ระบุว่า ความเข้าใจของ กกต. คสช. และ กรธ. ว่าเอกสารร่างรัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่งล้านฉบับจะเป็นหนทางสำคัญที่ผู้มีสิทธิออกเสียงจำนวนเกือบ 50 ล้านคนได้เข้าถึง ได้อ่านอย่างทั่วถึง โดยเชื่อว่า ประชาชนส่วนใหญ่ใช้สื่อออนไลน์อ่านรัฐธรรมนูญนั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะคนไทยจำนวนมากโดยเฉพาะในท้องถิ่นชนบทไม่ได้เข้าถึงสื่อออนไลน์ และยังต้องใช้เวลามากเพื่อศึกษา พูดคุย ทำความเข้าใจเนื้อหารัฐธรรมนูญที่มีอยู่ถึง 279 มาตรา (ใน 16 หมวด กับ 1 บทเฉพาะกาล) คนจำนวนมากยังไม่เข้าใจเนื้อหาหลักๆ อีกทั้งข้อมูลการวางขั้นตอนการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ไม่มีการสรุปสาระสำคัญเพื่อให้ประชาชนใช้ประกอบการตัดสินใจ เมื่อออกเสียง “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” ไปแล้วจะมีผลอย่างไรกับชีวิตของตนเอง
การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในบรรยากาศที่มีข้อจำกัดทางการเมือง ไม่มีความชัดเจนว่าอะไรทำได้ หรือทำไม่ได้ ทำให้การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งมีข้อจำกัดไม่มีอิสระเหมือนที่เคยปฏิบัติมาในอดีต ขณะเดียวกันสื่อมวลชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมีความสับสน ไม่มีความมั่นใจในการนำเสนอข่าวสารที่เกี่ยวกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการออกเสียงประชามติในช่วงก่อนหน้านี้ ความพยายามของสื่อบางแขนงที่พยายามช่วยสร้างบรรยากาศให้ประชาชนหันมาสนใจเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญในช่วงสองสัปดาห์ก่อนวันลงประชามตินั้น ถือเป็นความล่าช้า เสียโอกาสเวลาที่ผ่านมาอย่างน่าเสียดาย
"การจับกุมคุมขังเช่นที่เป็นมาตลอดสองเดือนก่อนหน้านี้ควรยุติโดยสิ้นเชิง การจับแล้วปล่อย ปล่อยแล้วจับ ทำให้เกิดความสับสนอย่างยิ่ง และขอเสนอให้ผู้รับผิดชอบทุกฝ่ายรวมถึงรัฐบาล เร่งรีบให้ข้อมูลข่าวสารลงสู่ระดับล่างอย่างถูกต้อง รอบด้านปราศจากอคติในทุกมิติโดยเร็ว เพื่อให้บรรยากาศก่อนการออกเสียงประชามติ วันออกเสียงประชามติ และช่วงเวลาหลังวันออกเสียงประชามติ เป็นไปโดยธรรมชาติ มีอิสระในการแสดงความเห็นอย่างเต็มที่เพื่อให้ผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญแสดงออก ถกเถียง ถ่วงดุลกันเอง ยิ่งมีการถกเถียงอย่างกว้างขวางมากเท่าไร ประชาชนจะสนใจและเข้าร่วมในการมาออกเสียงมากเท่านั้น" องค์กรกลางฯ ระบุ
นอกจากนี้ องค์กรกลางฯ ยังเรียกร้องให้ประชาชนมาใช้สิทธิในการออกเสียง วันที่ 7 สิงหาคม 2559 โดยทั่วกัน และร่วมกันสังเกตการณ์การออกเสียงประชามติในเขต หรือที่หน่วยออกเสียงของตน ก่อนเวลาเปิดหน่วย 8.00 น. ไปจนถึงหลังปิดหน่วย 16.00 น และนับคะแนนเสร็จ เพื่อให้การออกเสียงประชามติมีความโปร่งใส ไร้ข้อกังขา และเป็นที่ยอมรับได้ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร

แม่เด็ก 9 ขวบฉีกรายชื่อประชามติ พาลูกหนีจากบ้านเช่า หลังตร.แจ้งข้อหาลูก


เว็บไซต์มติชนรายงานว่าจากกรณีที่นางน้อย(นามสมมุติ) พาเด็กชายนุ้ย(นามสมมุติ) ลูกชายวัย 9 ขวบ เข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด เพื่อสอบสวนปากคำกล่าวหาว่าฉีกบัญชีรายชื่อลงประชามติ และในที่สุดตำรวจเค้นสอบ จนรับว่าลูกชายเป็นคนฉีกแบบ อ.ส. 6 ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์ออกเสียงลงประชามติที่หน่วยเลือกตั้งที่ 7 ศาลาอเนกประสงค์ภายในสวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา หมู่ที่ 9 บ้านแหลมทรายทอง ต.โพนทราย อ.โพนทราย จริงและทำการบันทึกปากคำรับว่าทำด้วยความคึกคะนอง เพียงลำพังคนเดียว โดยไม่มีใครสั่งหรืออยู่เบื้องหลังแต่อย่างใด และหลังสอบปากคำเบื้องต้นและพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาดำเนินคดี ด.ช.นุ้ย ในข้อหาทำให้เสียหาย ทำลายเอกสารซึ่งเป็นทรัพย์มีไว้ใช้เพื่อสาธารณะ แต่ ด.ช.นุ้ย เป็นเด็กอายุเพียง 9 ขวบ จึงได้ปล่อยตัวไปก่อน โดยมอบให้ผู้ปกครองนำกลับไปควบคุมดูแล และบอกว่าจะมีการเรียกตัวมาสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

อย่างไรก็ตาม หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยให้กลับบ้านกับแม่ ต่อมาปรากฏว่า วันนี้เด็กชายคนดังกล่าวซึ่งเรียนอยู่ชั้น ป.3 ไม่ได้ไปโรงเรียนตามปกติมา 3 วันแล้ว ครูจึงสั่งให้เพื่อนพาไปตามหาที่บ้านพักที่เป็นบ้านเช่าอยู่ใกล้ๆกับตลาดสดเทศบาลตำบลโพนทราย เมื่อไปถึงบ้านเช่าหลังดังกล่าวพบว่าที่เช่าที่เป็นบ้านคอนกรีตชั้นเดียว ไม่มีใครอยู่ ประตูบ้านไม่ได้ใส่กุญแจเปิดเข้าไปในบ้านพบว่าภายในบ้าน ไม่มีใครอยู่ และเป็นห้องว่างไม่มีสิ่งของใดๆ เหลืออยู่ จากการสอบถามเพื่อนบ้านข้างเคียงก็ทราบว่าหลังจากเกิดเรื่องขึ้นและหลังจากตำรวจปล่อยตัวกลับมาที่บ้านเช่น ในช่วงเย็นๆ ยังเห็นแม่และลูกอยู่ในบ้าน แต่ต่อมาตอนเช้าก็ไม่พบ 2 แม่ลูกแล้ว คาดว่าพากันย้ายบ้านหลบหนีไปในเวลากลางคืนโดยไม่มีใครทราบว่าไปไหน
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ครูประจำชั้นรู้สึกเป็นห่วงเรื่องการเรียนของเด็กเพราะถ้าขาดเรียนหลายวันก็จะเรียนไม่ทันจึงได้พยายามโทรศัพท์ติดต่อผู้ปกครองของเด็ก แต่ไม่สามารถติดต่อได้ คาดว่าแม่คงกลัวลูกมีความผิดจึงแอบพาลูกชายหนีไป โดยอาจจะพาหนีไปหาพ่อที่ จ.อุบลราชธานี อย่างไรก็ตามครูอยากจะให้ผู้ปกครองติดต่อกลับมาเพื่อพาลูกกลับมาเรียนหนังสือ และหากจะย้ายไปเรียนที่อื่นก็ขอให้มาย้ายลูกไปออกไปแล้วไปเรียนต่อที่อื่นเพื่อไม่ให้เด็กเสียอนาคต 

คุก1 ปี 6 เดือน แกนนำกปปส.ระนองขวางเลือกตั้ง สารภาพ รอลงอาญา 2 ปี


27 ก.ค.2559 ที่ศาลจังหวัดระนอง ตั้งอยู่ ต.เขานิเวศน์ อ.เมืองระนอง ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาคดีที่โจทย์พนักงานอัยการจังหวัดระนอง เป็นโจทย์ฟ้อง 3 จำเลย ประกอบด้วย เพิ่มศักดิ์ จันทร์มณี จำเลยที่ 1 สุชีพ พัฒน์ทอง จำเลยที่ 2 และสุดาพร ยอดพินิจ จำเลยที่ 3 ร่วมกันขัดขวางการปฏิบัติงานอนุกรรมการจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2557 และขัดขวางเพื่อไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ต่อมา สุชีพ พัฒน์ทอง จำเลยที่ 2 ได้รับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 1 และ 3 ปฏิเสธ ศาลจึงให้แยกออกไปเป็นคดีใหม่
โดยวันนี้ศาลจังหวัดระนอง นัดฟังคำพิพากษาเฉพาะจำเลยที่ 2 สุชีพ พัฒน์ทอง ซึ่งสรุปได้ว่ามีความผิดจริงตามที่โจทย์ฟ้อง และจำเลยเองได้ให้การรับสารภาพ ศาลจึงมีคำพิพากษาตัดสินลงโทษจำเลยที่ 2 ให้ต้องโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ปรับ 30,000 บาท แต่เนื่องจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ และไม่เคยมีประวัติการกระทำความผิดมาก่อน ศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง โดยให้จำคุก 9 เดือน ปรับ 15,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี และเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง 5 ปี
"กราบขอบพระคุณศาลที่เคารพที่ได้กรุณาให้รอลงอาญา2ปีปรับ15,000บาทและตัดสิทธิทางการเมือง5ปีคดีขัดขวางการเลือกตั้ง2กุมภาพันธ์57และขอขอบคุณเพื่อนพ้องน้องพี่ที่มาให้กำลังใจและส่งกำลังใจมาให้กระผมครั้งนี้และพร้อมทำความดีต่อไปเพื่อสังคมต่อไป"  สุชีพ พัฒน์ทอง โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะ