วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557

รายงานค้ามนุษย์ปี 57 สหรัฐอเมริกาลดอันดับไทยอยู่บัญชีรั้งท้าย



กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาเผยสถานการณ์ค้ามนุษย์ปี 2557 - ลดอันดับไทยไปบัญชี 3 เลวร้ายเทียบเกาหลีเหนือ อิหร่าน มาเลเซีย รัสเซีย ซิมบับเว - ระบุไทยเป็นต้นทาง ปลายทาง ทางผ่านค้ามนุษย์ ค้าประเวณี บังคับใช้แรงงานโดยเฉพาะภาคประมง ละเมิดแรงงานข้ามชาติ ทางการไทยยังพยายามไม่พอในการแก้ไข - ถูกจับตามาแล้ว 2 ปี ปีนี้จึงลดชั้นไปบัญชี 3 อัตโนมัติ ด้านปลัดบัวแก้วแถลงข่าว 10.30 น. เสาร์นี้
จอห์น แครี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาในการแถลงรายงานประจำปี เรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2557 ที่วอชิงตัน ดีซี เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2557 นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลให้กับ 10 บุคคล ผู้มีความพยายามอย่างไม่ลดละเพื่อทำให้เกิดการขจัดทาสยุคใหม่ ได้แก่ กิลเบิร์ต มุนดา จากคองโก, เอลิซาเบ็ธ ซิอูฟี จากเลบานอน, เบียทริซ เจดี อักบา จากไนจีเรีย, โมนิกา บอเซฟ จากโรมาเนีย, ทา ง็อก วัน จากเวียดนาม, บานูจา ชาราน ลาล จากอินเดีย, เต็ก นารายัน คุนวาร์ จากเนปาล, จินนา ปินชี จากเปรู, ชามาญ กานดี-แอนดรูว์ จากทรินิแดด แอนด์ โตเบโก, และมยง จิน โก จากเกาหลีใต้ (ที่มาของภาพ: State Department photo/Public Domain)
แผนที่ในรายงานประจำปี สถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2557 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงสถานการณ์ด้านเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยสีเขียวหมายถึงอยู่ในบัญชีที่ 1 (Tier 1) สีเหลืองอยู่ในบัญชีที่ 2 (Tier 2) สีส้มอยู่ในบัญชีที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) สีแดงหมายถึง บัญชีที่ 3 (Tier 3) สถานการณ์เลวร้าย โดยไทยและมาเลเซียอยู่ในกลุ่มสีส้มสลับแดง หมายถึง บัญชีที่ 3 ซึ่งถูกลดอันดับลงมาอัตโนมัติจากกลุ่มบัญชีที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง โดยในภูมิภาคเดียวกันนี้มีปาปัว นิวกินี และเกาหลีเหนือ ซึ่งอยู่ในกลุ่มบัญชีที่ 3

วันนี้ (20 มิ.ย.) กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา โดยนายจอห์น แครี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานประจำปี เรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2557 (Trafficking in Persons Report 2014 หรือ TIP Report) เป็นการสำรวจทุกประเทศในโลก โดยในปีนี้ประเทศไทยถูกลดอันดับจากบัญชีกลุ่มที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) ลงมาอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด
โดยในรายงานประจำปี 2557 ดังกล่าว มี 23 ประเทศที่ถูกจัดอันดับให้อยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) ได้แก่ แอลจีเรีย, แอฟริกากลาง, คองโก, คิวบา, อิเควทอเรียล กินี, เอริเทรีย, แกมเบีย, กินี-บิซเซา, อิหร่าน, เกาหลีเหนือ, คูเวต, ลิเบีย, มาเลเซีย, มอริเตเนีย, ปาปัว นิวกินี, รัสเซีย, ซาอุดิอาระเบีย, ซีเรีย, ไทย, อุซเบกิซสถาน, เยเมน, เวเนซุเอลา, ซิมบับเว
โดยในจำนวนนี้มีประเทศเคยอยู่ใน บัญชีกลุ่มที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) และถูกลดอันดับลงอัตโนมัติไปอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) ได้แก่ ไทย มาเลเซีย เวเนซุเอลา

ระบุไทยเป็นประเทศต้นทาง-ปลายทาง-ทางผ่านค้ามนุษย์
ในกรณีของประเทศไทย (อ่านรายงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง) ในรายงานระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศต้นทาง ปลายทาง และทางผ่านสำหรับการค้าผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กเพื่อการบังคับใช้แรงงานและการบังคับค้าประเวณี เหยื่อจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งได้แก่ จีน เวียดนาม รัสเซีย อุซเบกิสถาน อินเดีย และฟิจิ เต็มใจอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย บ่อยครั้งได้รับความช่วยเหลือจากญาติหรือคนในชุมชน หรือผ่านเครือข่ายแบบไม่เป็นทางการที่ทำหน้าที่จัดหาหรือลักลอบนำพาบุคคล ทั้งนี้ประมาณการว่ามีแรงงานข้ามชาติในไทย 2 ถึง 3 ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากพม่า ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของเหยื่อการค้ามนุษย์ในไทย ทั้งนี้จากการประมาณการขั้นต่ำเหยื่อหลายหมื่นคนซึ่งเข้ามาในประเทศไทยถูกบังคับ ขู่เข็ญ หลอกลวง ให้เข้าสู่การใช้แรงงานหรือถูกกดขี่ในอุตสาหกรรมทางเพศ สิ่งที่สำคัญ แรงงานที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในประเทศไทยถูกกดขี่ในธุรกิจประมง และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประมง กิจการสิ่งทอระดับล่าง โรงงาน และการทำงานบ้าน และเหยื่อบางรายถูกบังคับให้เป็นขอทานข้างถนน
ทั้งนี้รายงานพฤติกรรมคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ทั้งสองประเทศตามแนวชายแดน ซึ่งอำนวยความสะดวกให้กับการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ไม่มีเอกสารประจำตัวระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านได้แก่ ลาว พม่า และกัมพูชา แรงงานเหล่านี้ต่อมาได้กลายเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ เหยื่อการค้ามนุษย์ซึ่งระบุตัวตนไม่ได้เป็นคนจำนวนส่วนใหญ่ของแรงงานข้ามชาติที่ถูกส่งกลับลาว พม่า และกัมพูชาในแต่ละปี ทั้งนี้ชายชาวพม่า กัมพูชา และไทย ตกเป็นเป้าหมายบังคับเกณฑ์แรงงานในเรือประมงสัญชาติไทยที่ล่องเรืออยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และใกล้เคียง ลูกเรือประมงบางคนอยู่ในทะเลเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน และได้รับค่าแรงน้อยนิด พวกเขาต้องทำงานวันละ 18 ถึง 20 ชั่วโมงต่อวัน และทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ ซ้ำบางคนยังถูกข่มขู่และทุบตี ทั้งนี้รายงานในปี 2556 พบว่าร้อยละ 17 ของลูกเรือประมงที่ถูกสำรวจ ที่เริ่มทำงานในเรือประมงชายฝั่งซึ่งใช้เวลามากกว่า 1 เดือนในทะเล มีประสบการณ์อยู่ภายใต้เงื่อนไขของการถูกบังคับเกณฑ์แรงงาน บ่อยครั้งมีการข่มขู่ว่าจะตัดเงิน รวมทั้งการไม่จ่ายเงินค่าจ้างเต็มจำนวน
ในรายงานประจำปี 2557 ยังระบุถึงสถานการณ์ค้ามนุษย์ในเรือประมงว่า ในปี 2553 จากการประเมินความเสี่ยงสะสมของการลักลอกค้าแรงงานในหมู่แรงงานชาวพม่าในอุตสาหกรรมอาหารทะเลใน จ.สมุทรสาคร พบว่า ร้อยละ 57 ของแรงงานที่ได้รับการสำรวจจำนวน 430 คน เคยผ่านประสบการณ์อยู่ภายใต้เงื่อนไขการเป็นแรงงานบังคับ ทั้งนี้การทำประมงในภูมิภาคนี้เป็นกิจการที่ไม่มีระเบียบกำกับ ทั่วไปแล้วลูกเรือประมงไม่มีการทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรกับนายจ้าง และรายงานในรอบปีนี้พบว่ารูปแบบการบังคับใช้แรงงานนี้ยังคงดำเนินต่อไป และจากการติดตามตรวจสอบของนานาชาติ ทำให้นายหน้าค้ามนุษย์หันไปใช้วิธีการใหม่ๆ ที่ทำให้การตรวจจับอาชญกรรมของพวกเขาเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ชายจากไทย พม่า และกัมพูชา ถูกบังคับให้ทำงานในเรือประมงสัญชาติไทยในน่านน้ำไทยและน่านน้ำสากล และได้รับความช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ รวมทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และติมอร์ จำนวนของเหยื่อชาวกัมพูชาที่ได้รับความช่วยเหลือจากเรือประมงไทยหลายประเทศทั่วโลกในปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว มีแรงงานชาวกัมพูชาและชาวพม่าจำนวนมากขึ้นที่ไม่ต้องการทำงานในเรือประมงไทย เนื่องจากอันตรายและสภาพการทำงานที่ขูดรีดซึ่งทำให้พวกเขาเสี่ยงที่จะถูกค้ามนุษย์
ทั้งนี้ในรายงานยังระบุด้วยว่ามีข้าราชการไทยและเจ้าหน้าที่ในกองทัพที่ได้รับผลประโยชน์จากการลักลอบขนย้ายผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชาวโรฮิงยา ซึ่งมาจากพม่าและบังกลาเทศ ซึ่งเดินทางผ่านประเทศไทยเพื่อไปยังประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยชาวโรฮิงยาเหล่านี้ยังถูกขายเป็นแรงงานบังคับเกณฑ์ในเรือประมงด้วย นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ยังกล่าวหากองทัพเรือของไทยและเจ้าหน้าที่ว่าเปลี่ยนเส้นทางเรือ โดยใช้เรือไทยขนชาวโรฮิงยาซึ่งมีจุดหมายไปยังมาเลเซีย และอำนวยให้มีการขนถ่ายผู้เข้าเมืองบางส่วนไปยังคนลักพาและนายหน้าที่จะขายชาวโรฮิงยาไปเป็นแรงงานบังคับทำงานในเรือประมง
และมีรายงานในสื่อมวลชนระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยเคลื่อนย้ายผู้ชายชาวโรฮิงยาอย่างเป็นระบบจากศูนย์กักกันในไทย และขายพวกเขาให้กับคนลักพาและนายหน้า ซึ่งคนลักพาและนายหน้าเหล่านี้จะส่งชาวโรฮิงยาไปในพื้นที่ภาคใต้ของไทย ซึ่งพวกเขาจะถูกบังคับให้ทำงานในครัวหรือเป็นยามในค่าย หรือถูกขายให้ไปเป็นแรงงานบังคับในภาคการเกษตรหรือบริษัทขนส่งทางเรือ
ในรายงานประจำปียังกล่าวถึงสถานการณ์ที่แรงงานข้ามชาติ แรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ และคนไร้สัญชาติในไทยก็มีความเสี่ยงที่จะถูกค้ามนุษย์เช่นกัน พวกเขาเผชิญการละเมิดซึ่งบ่งชี้ว่าถูกค้ามนุษย์ เช่น ถูกยึดหนังสือเดินทาง บัตรแรงงานต่างด้าว ใบอนุญาตทำงาน และยึดเงินค่าจ้าง พวกเขาเผชิญกับการถูกหักเงินเดือนขัดหนี้ซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ถูกละเมิดทั้งทางร่างกายและจิตใจ และถูกข่มขู่ว่าจะถูกส่งกลับ และมีแรงงานข้ามชาติกลุ่มที่ไม่มีเอกสารอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกค้ามนุษย์อันเนื่องมาจากขาดสถานะทางกฎหมาย บ่อยครั้งทำให้พวกเขากลัวว่าจะถูกนำไปฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ แรงงานข้ามชาติจำนวนมากอยู่ในสภาพเป็นแรงงานขัดหนี้
รายงานฉบับนี้ยังกล่าวด้วยว่า กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่ภูเขาในภาคเหนือของไทยทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก มีความเสี่ยงที่จะถูกค้ามนุษย์เช่นกัน รายงานของสหประชาชาติระบุว่าการขาดสถานะทางกฎหมายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พวกเขาถูกละเมิด เด็กบางคนในไทย กัมพูชา และพม่าถูกพ่อแม่บังคับขายให้กับนายหน้าเพื่อให้มาขายดอกไม้ เป็นขอทาน หรือทำงานบ้านในเขตเมืองใหญ่
ในรายงานกล่าวด้วยว่ามีเหยื่อชาวไทยสมัครไปทำงานในต่างประเทศ และถูกหลอกลวงให้ต้องกู้หนี้จำนวนมากเพื่อจ่ายเป็นค่านายหน้าและค่าดำเนินการ บางครั้งก็ต้องใช้ที่ดินของครอบครัวเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงที่จะถูกแสวงประโยชน์เมื่อเดินทางถึงประเทศปลายทาง เหยื่อชาวไทยเหล่านี้ถูกบังคับใช้แรงงาน หรือทำงานในธุรกิจค้าประเวณีในออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ และในประเทศย่านตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย แรงงานชายไทยบางรายที่เดินทางไปในต่างประเทศเพื่อทำงานที่ใช้ทักษะต่ำและงานในภาคเกษตรต้องเผชิญกับการถูกบังคับใช้แรงงานและมีสภาพเป็นแรงงานขัดหนี้
เหยื่อค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณีโดยทั่วไปเป็นผู้หญิงและเด็กหญิง  การท่องเที่ยวเพื่อซื้อบริการทางเพศยังคงเป็นปัญหาในประเทศไทย และอุปสงค์ดังกล่าวน่าจะเป็นสิ่งผลักดันให้มีการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจค้าประเวณี  ประเทศไทยเป็นประเทศทางผ่านสำหรับเหยื่อค้ามนุษย์จากเกาหลีเหนือ จีน เวียดนาม ปากีสถาน บังคลาเทศและพม่าซึ่งจะถูกส่งไปค้าในประเทศที่สาม เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ รัสเซีย เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตก  มีรายงานว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของประเทศไทยเกณฑ์เด็กวัยรุ่นมาร่วมปฏิบัติการก่อการร้าย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ของเหยื่อการค้ามนุษย์ชาวไทยในปีนี้ยังพบเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ทางเพศ ผู้หญิงและเด็กหญิงจากไทย ลาว เวียดนาม และพม่า รวมทั้งผู้ที่ตั้งใจมาทำงานในประเทศไทยซึ่งมีธุรกิจค้าประเวณีอย่างกว้างขวาง ทั้งหมดนี้ตกเป็นเป้าหมายของการค้าประเวณี การค้าประเวณีเด็ก และยังมีรายงานขององค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศรายงานด้วยว่ามีการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อจัดหาผู้หญิง และเด็กเข้าสู่การค้ามนุษย์ทางเพศ
ในรายงานยังระบุว่า เหยื่อเหล่านี้เป็นเป้าหมายของการค้ามนุษย์ทางเพศ โดยเป็นการจัดหาตามความต้องการในท้องถิ่น รวมทั้งในเชิงธุรกิจอย่างในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ซึ่งมีการจัดหาให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ความต้องการซื้อบริการทางเพศ
นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นทางผ่านสำหรับเหยื่อจากเกาหลีเหนือ จีน เวียดนาม ปากีสถาน บังกลาเทศ และพม่า ซึ่งตกเป็นเป้าหมายของการค้ามนุษย์ทางเพศ หรือถูกบังคับใช้แรงงานในประเทศอย่างเช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ รัสเซีย เกาหลีเหนือ สหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรปตะวันตก มีรายงานด้วยว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ของไทยยังคงเกณฑ์และใช้เด็กในการร่วมก่อเหตุความไม่สงบ รวมทั้งทำงานสอดแนม

ไทยพยายามไม่พอ ถูกจับตาแล้ว 2 ปีจึงลดอันดับอัตโนมัติ - ยืนยันไม่เกี่ยว รปห. - บัวแก้วเตรียมแถลงด่วน
รายงานฉบับนี้ระบุว่า รัฐบาลไทยไม่สามารถดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐอเมริกาเพื่อการขจัดการค้ามนุษย์ ในรายงานการค้ามนุษย์ปี 2555 และ 2556 ประเทศไทยได้รับการยกเว้นจากการถูกลดระดับไปอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) เนื่องจากรัฐบาลได้เสนอแผนที่จะดำเนินการให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตามตามกฎหมายว่าด้วยการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ (TVPA) ให้ยกเว้นประเทศจากการถูกลดอันดับได้ 2 ปี มาตรการยกเว้นนี้ไม่สามารถใช้ได้กับประเทศไทย ด้วยถือว่าไม่ได้มีความพยายามอย่างเพียงพอที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดการค้ามนุษย์ จึงให้ลดระดับลงไปอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3)
อนึ่งระหว่างการแถลงรายงานประจำปี เรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ มีผู้สื่อข่าวถาม นายหลุยส์ ซี ดีเบกา (Luis C. deBaca) ผู้แทนเอกอัครราชทูตประจำสำนักงานติดตามและต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้แถลงด้วยว่า การลดระดับประเทศไทยไปอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารในไทยหรือไม่ โดยนายหลุยส์ กล่าวว่า ลำดับเหตุการณ์และอันดับของไทยอยู่บนพื้นฐานของทุกสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่าง 1 เมษายน 2556 ถึง 31 มีนาคม 2557 การรัฐประหารที่ผู้สื่อข่าวกล่าวถึงนั้นยังไม่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น
ทั้งนี้มีรายงานว่า นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ จะแถลงท่าทีของไทยเกี่ยวกับผลรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ในวันที่ 21 มิ.ย. เวลา 10.30 น
สำหรับรายงารประจำปี เรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) เป็นรายงานที่กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา จัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปี ตามกฎหมายว่าด้วยการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ (Trafficking Victims Protection Act of 2000 หรือ TVPA) เพื่อรายงานต่อรัฐสภาสหรัฐอเมริกา โดยเปรียบเทียบสถานการณ์การค้ามนุษย์ของทั่วโลก กับมาตรฐานของสหรัฐฯ และจัดลำดับประเทศต่างๆ ออกเป็น 4 ระดับ
ระดับที่ดีที่สุด คือ Tier 1 หมายถึง ประเทศที่ดำเนินการสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา ในการป้องกันละบังคับใช้กฎหมายการต่อต้านการค้ามนุษย์
ระดับถัดมาคือ Tier 2 หมายถึง ประเทศที่มีการดำเนินการยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายของสหรัฐอเมริกา แต่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะแก้ไขปัญห
ระดับ Tier 2 Watch List หมายถึง ประเทศที่มีรายงานเหยื่อการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น หรือไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ารัฐบาลได้พยายามต่อต้านการค้ามนุษย์
และระดับต่ำสุด คือ ระดับ Tier 3 หมายถึงประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐอเมริกา และไม่มีความพยายามแก้ไขปัญหา

แปลและเรียบเรียงจาก
Trafficking in Persons Report 2014, http://www.state.gov/j/tip/rls/tiprpt/2014/index.htm
Briefing on the Trafficking in Persons Report 2014, Special Briefing, Luis CdeBaca Ambassador-at-Large, Office to Monitor and Combat Trafficking in Persons Via Teleconference, June 20, 2014http://www.state.gov/j/tip/rls/rm/2014/228067.htm

โฆษก คสช.ชี้แจงไม่เปิดเผยที่คุมตัว "กริชสุดา" เพื่อให้มีสมาธิ-ปลอดสิ่งรบกวน



พ.อ.วินธัย สุวารี ชี้แจงฮิวแมนไรท์ วอทช์โดยยอมรับว่าควบคุมตัว "กริชสุดา คุณะเสน" ตั้งแต่ 28 พ.ค. เนื่องจากอยู่ในข่ายต้องสงสัยผิด ม.116 - พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่เปิดเผยสถานที่คุมตัวเพื่อให้ออกไปจากความวุ่นวาย-ไม่มีสิ่งรบกวน-ให้มีสมาธิไตร่ตรองตั้งสติ ทบทวนสิ่งต่างๆ คสช.บริการแพทย์ 24 ชม. ทุกคนได้รับการบริการดุจญาติมิตร ส่วนทนายไม่ต้องเพราะยังไม่ตั้งข้อหา
พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก และทีมโฆษก คสช. (แฟ้มภาพ)
21 มิ.ย. 2557 - กรณีที่องค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. แสดงความกังวลต่อ กริชสุดา คุณะเสน หรือ "เปิ้ล สหายสุดซอย" นักกิจกรรมเสื้อแดงวัย 27 ปีที่หายตัวไปราว 3 อาทิตย์ โดยมีหลักฐานว่าเธอถูกจับกุมไปโดยทหารเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่ จ.ชลบุรีนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. เวลาประมาณ 23.30น. น.ส.วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหารของบางกอกโพสต์ ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ระบุว่า พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก และทีมโฆษกคสช. ขอชี้แจงว่า เดิม จนท.ทหาร ตำรวจหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ ได้ขอควบคุมตัวไปเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมาที่ จ.ชลบุรี เนื่องจากพฤติกรรมที่ผ่านมา มีลักษณะข่ายต้องสงสัยความผิดตาม ม.116 (2) กับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จึงต้องขอควบคุมตัวเพื่อสอบสวนตามขั้นตอน ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ในครั้งนั้นเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้มีการตั้งข้อกล่าวหาใดๆ มาปัจจุบันเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2557 คสช.จึงได้มีประกาศเชิญให้มารายงานตัวตามกระบวนการสร้างความเข้าใจปกติ
"ยืนยันอีกครั้งว่าการเชิญรายงานตัว จะไม่ได้ปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ในลักษณะผู้มีความผิดแต่อย่างใด ขอให้ทุกฝ่ายสบายใจได้ กระบวนการนี้ยังยึดในหลักสิทธิมนุษยชนเหมือนเดิม ถ้าได้ติดตามข่าวสารจะพบว่าไม่มีบุคคลใด มีความรู้สึกที่เป็นลบต่อการปฏิบัติดูแลของ จนท.ไม่มีลักษณะที่เป็นทุกข์แต่อย่างใด ทุกคนมีความเข้าใจ และยินดีให้ความร่วมมือตามแนวทาง คสช.เป็นอย่างดี"
ส่วนกรณีนาย แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์ วอทช์ ต้องการให้ปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวของ คุณ กริชสุดา นั้น พ.อ.วินธัน ตอบว่า "เพื่อต้องการออกไปจากความวุ่นวายและไม่ถูกรบกวนจากสิ่งรอบตัว เพื่อให้มีสมาธิไตร่ตรองตั้งสติ ทบทวนสิ่งต่างๆ ปรับความเข้าใจกัน หรือบางครั้งส่วนใหญ่จะเป็นไปตามความต้องการของบุคคลนั้นๆ เอง จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เท่าที่จำเป็น เพียงพอต่อการปรับทัศนคติและทำความเข้าใจกัน บางบุคคลมาแล้วกลับเลย บางคน 1 วัน 3 วัน มากที่สุดไม่เกิน 7 วัน"
สำหรับสิทธิในการเข้าถึงทนายความนั้น ขอเรียนว่าในกระบวนการนี้เป็นแค่การ แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกัน เพื่อหาความร่วมมือกันในอนาคต ยังไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาใดๆ ที่จำเป็นต้องมีทนายความ ส่วนเรื่องการบริการในเรื่องการแพทย์นั้น ทางคสช.ได้มีการจัดเตรียมไว้เพื่อให้บริการได้ตลอด 24 ชม. อยู่แล้ว ยืนยันทุกคนอยู่ในความดูแลประดุจญาติมิตร ให้เกียรติกันและกันเสมอ
สำหรับข้อกังวล กรณีที่ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และ จิตรา คชเดช นักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงาน ที่ถูกตั้งข้อหาจากการไม่รายงานตัวต่อ คสช. ทั้งๆ ที่ทั้งสองคนได้แสดงเจตจำนงจะไปรายงานตัวต่อ คสช.ก่อนหน้านั้นแล้วนั้น อาจต้องดูที่เจตนาและเงื่อนไขเวลา เป็นความเห็นของเจ้าพนักงานสอบสวน ซึ่งยืนยันว่าทุกอย่างจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมอย่างแน่นอน และทุกคนสามารถต่อสู้แก้ต่างได้ตามช่องทางกระบวนการยุติธรรมที่เปิดโอกาสให้ ตามพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง ยืนยันจะไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ถึงแม้จะอยู่ในอำนาจศาลทหาร
"กรณีการเชิญพบเพื่อรายงานตัวไม่ใช่การสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวอย่างที่เข้าใจ ซึ่งได้อธิบายไปแล้วในข้างต้น สำหรับข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังอยู่โดยไม่การตั้งข้อกล่าวหาทั้งหมดทันทีนั้น ขอเรียนว่าบุคคลที่อยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่อาจมี 2 ลักษณะคือ ลักษณะแรกคือเชิญมารายงานตัวเพื่อพูดคุยปรับทัศนคติปรับความเข้าใจ ขอความร่วมมือ เสร็จภารกิจก็กลับไป ไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหาใดๆ อยู่แล้ว อีกลักษณะหนึ่งคือเจ้าพนักงานตำรวจพบว่ามีคดีความผิดเดิมในช่วงที่ผ่านมา อาจรวมถึงเรื่องการฝ่าฝืนประกาศฯ ของเฉพาะบางบุคคล ก็จำเป็นต้องมีการถูกดำเนินการไปตามขั้นตอนของทางตำรวจต่อไป ซึ่งก็ต้องไปแก้ต่างกันเองตามช่องทางของกระบวนการยุติธรรมปกติ" เฟซบุ๊คของวาสนาระบุคำชี้แจงของ พ.อ.วินธัย

จอมพล ป.พิบูลย์สงคราม กับการเมืองไทยสมัยใหม่


คสช.อุ้มแกนนำภาคประชาชนอุบล ลงกรุงเทพ ยังไม่ทราบชะตากรรม


ทหาร ตำรวจ พร้อมอาวุธครบมือ บุกค้นบ้านอดีต กกต.ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย ยึดโทรศัพท์ หนังสือเดินทาง อ้างอำนาจ คสช.กฎอัยการศึก  สั่งตำรวจคุมนั่งเครื่องลงกรุงเทพฯ ขาดการติดต่อกับครอบครัวนานเกิน12ชั่วโมง
19 มิถุนายน 2557 เวลาประมาณ 11.30 น. ต.บุ่งไหม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เจ้าหน้าที่ ตำรวจ ทหาร จำนวนประมาณ 30 นายพร้อมอาวุธครบมือ นำโดย พันเอกจิตร จันทรสว่าง ผบ.รด.มทบ 22 ได้อ้างอำนาจตามกฎอัยการศึก เข้าตรวจค้นบ้านของ นายประยุทธ ชุมนาเสียว (60ปี) ประธานสภาองค์กรชุมชน จ.อุบลฯ และอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง จ.อุบลฯ( กกต.)
หลังการตรวจค้นภายในบ้านและบริเวณบ้านเป็นเวลาประมาณ1ชั่วโมง ทางเจ้าหน้าที่ไม่สามารถค้นพบสิ่งผิดกฎหมายใดๆ จึงได้ยึดหนังสือเดินทางของนายประยุทธ และโทรศัพท์มือถือจำนวนสองเครื่อง โดยได้บันทึกเป็นหลักฐานใส่กระดาษไว้ และได้ควบคุมตัว นายประยุทธ ชุมนาเสียว  เดินทางลงกรุงเทพฯภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นสัญญาบัตรจำนวน2ราย โดยได้ขึ้นเครื่องบินที่สนามบินอุบลราชธานี เวลา14.00 น.
เวลาประมาณ 21.00 น. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากคนใกล้ชิดของผู้ถูกควบคุมตัวว่ายังไม่ทราบว่าได้ถูกนำพาตัวไปที่จุดไหน

หลังเหตุการรัฐประหารนายประยุทธได้ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวที่ ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ โดยได้ถูกกักตัวไว้หนึ่งคืน และเมื่อได้ปล่อยตัวนายประยุทธยังต้องเดินทางไปรายงานตัวที่ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ซึ่งมีระยะห่างจากบ้านที่พักอาศัยประมาณ 10กม.ในตอนเช้าของทุกวัน
 


เหตุปาระเบิดแยกพระราม 9 ศาลออกหมายจับ 4 ราย จับแล้ว 1 ราย



ศาลทหารออกหมายจับคนร้าย 4 คน ปาระเบิดแยกพระราม 9 จับได้แล้ว 1 คน พบเคยเคลื่อนไหวใช้ความรุนแรงช่วงชุมนุมปี 2552 - ขณะที่ผู้นำอาวุธและระเบิดจำนวนมากมาทิ้งริม ถ.กาญจนาภิเษก จนท.เชื่อถูกกดดันจากประกาศ คสช.
20 มิ.ย. 2557 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการศึกษา ช่วยราชการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า ศาลทหารกรุงเทพฯ อนุมัติหมายจับผู้ต้องหาก่อเหตุระเบิดบริเวณแยกพระราม 9 แล้ว จำนวน 4 ราย ประกอบด้วย นายวิเชียร ทุมตะคุ อายุ 46 ปีนายเจริญ พรมชาติ อายุ 38 ปี //นายไก่ และนายมด ไม่ทราบชื่อนามสกุลจริง ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมตัวนายวิเชียรได้แล้ว และอยู่ในความควบคุมของทหาร เพื่อสอบปากคำ โดยมีกำหนดคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน เมื่อครบกำหนด ตำรวจจะรับตัวมาดำเนินคดีต่อไป
จากการสอบสวน นายวิเชียร ซึ่งให้การรับสารภาพเบื้องต้นได้ยอมรับว่าเป็นการ์ดของผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่ง มีการเคลื่อนไหวและใช้ความรุนแรงในช่วงปี 2552 ซึ่งมีหลักฐานเป็นภาพชัดเจนว่า นายวิเชียร แต่งกายด้วยชุดดำ ร่วมก่อเหตุกับพวกทั้งสามคน โดยมีนายเจริญ เป็นผู้ชักชวนและว่าจ้าง ส่วนนายวิเชียร ทำหน้าที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ และมีนายมด นั่งซ้อนท้ายทำการขว้างระเบิดไปยังจุดเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่า กลุ่มคนร้าย ต้องการสร้างสถานการณ์ให้เห็นว่าบ้านเมืองยังมีความรุนแรงอยู่ ขณะนี้รู้ตัวหมดแล้ว โดยจะเร่งติดตามตัวคนร้ายที่เหลือมาดำเนินคดีต่อไป
ด้าน พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวกรณีการจับกุมอาวุธสงครามและวัตถุระเบิดจำนวนมาก ริมถนนกาญจนาภิเษก เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาว่า จะมีการนำไปตรวจสอบกับฐานข้อมูลอาวุธปืนและกลุ่มบุคคล ที่มีการเคลื่อนไหวในช่วงการชุมนุมทั้งหมด ว่ามีความเชื่อมโยงกันหรือไม่ เบื้องต้น เชื่อว่า เหตุที่มีการนำอาวุธมาทิ้งไว้ เนื่องจาก ถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่ และประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้นำอาวุธสงคราม ส่งคืนเจ้าหน้าที่

ให้ประกัน ‘จาตุรนต์’ แต่เจอแจ้งผิด พ.ร.บ.คอมอีกเพิ่มรวม 3 ข้อหา


ศาลอนุญาตให้ฝากขังผลัดที่ 3 อีก 12 วัน คือ 21 มิ.ย.-2 ก.ค. แต่เนื่องจากนายจาตุรนต์ได้ยื่นขอประกันมาก่อนหน้านี้จึงไม่ต้องถูกควบคุมตัว เจอแจ้งผิด พ.ร.บ.คอม เพิ่มรวม 3 ข้อหา โทษ 14 ปี เจ้าตัวเตรียมทนายสู้เต็มที่
 
20 มิ.ย. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ เดินทางมาที่กรมพระธรรมนูญ ศาลทหาร เพื่อให้พนักงานสอบสวนนำตัวมาขออนุญาตฝากขังผลัดที่ 3 หลังจากครบกำหนด 12 วันผลัดที่ 2 แล้ว ซึ่งศาลทหารอนุญาตให้ประกันตัวนายจาตุรนต์เมื่อคราวฝากขังผลัดที่ 2 แต่ว่ามีเงื่อนไขห้ามร่วมชุมนุม ห้ามออกนอกประเทศ
 
อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนขออนุมัติฝากขังผลัดที่ 3 เนื่องจากสำนวนการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ ล่าสุดศาลอนุญาตให้ฝากขังผลัดที่ 3 อีก 12 วัน คือ 21 มิ.ย.-2 ก.ค. แต่เนื่องจากนายจาตุรนต์ได้ยื่นขอประกันมาก่อนหน้านี้จึงไม่ต้องถูกควบคุมตัว
 
นายจาตุรนต์กล่าวภายหลังขึ้นศาลว่า พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ก่อนฟังคำพิจารณาไม่กี่นาที ว่าตนกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) กระทบต่อความมั่นคง หรือก่อการร้าย ซึ่งเป็นเหตุการณ์เดิมในวันแถลงต่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ที่ไปปรากฏในเฟซบุ๊ก มีความผิดระวางโทษ 5 ปี รวมขณะนี้ตนมีความผิดที่ถูกกล่าวหาระวางโทษรวม 14 ปี ตนจะหารือทีมทนายเพื่อสู้คดีเต็มที่อย่างถึงที่สุด และจะหาข้อมูลในส่วนที่จะช่วยทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ภายใต้เงื่อนไขที่ศาลกำหนด คือ ห้ามออกนอกราชอาณาจักร ห้ามชุมนุมทางการเมือง และจากนี้ไปจะศึกษาข้อมูลเพื่ิอเตรียมนำเสนอความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศในโอกาสต่อไป

เยอรมนีสั่งส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนอดีตทหารนาซี ข้อหาร่วมสังหารคนใน 'ค่ายเอาชวิทซ์'


สหรัฐฯ จับอดีตการ์ดนาซีค่ายเอาชวิตซ์ วัย 89 ในฟิลาเดลเฟีย


โจฮันน์ เบรเยอร์ อดีตทหารนาซีซึ่งเคยประจำอยู่ในค่ายกักกันเอาชวิทซ์ อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ มาเป็นเวลานานแต่ล่าสุดเขากำลังถูกให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลับเยอรมนี จากข้อกล่าวหาว่ามีส่วนพัวกันในการสังหารคนในค่ายกักกันราว 200,000 คน

19 มิ.ย. 2557 สำนักข่าวดิอินดิเพนเดนต์รายงานว่า โจฮันน์ เบรเยอร์ อดีตทหารนาซีซึ่งอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ จะถูกส่งตัวกลับเยอรมนีจากกรณีที่เขาถูกกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับการสังหารชาวยิว 216,000 คน ในค่ายกักกันเอาชวิทซ์
โจฮันน์ เบรเยอร์ ชายอายุ 89 ปี ที่อาศัยอยู่ในรัฐฟิลาเดเฟีย ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกกองทัพทหารนาซีที่ค่ายกักกันเอาชวิทซ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาถูกจับกุมตัวเมื่อวันอังคาร (17) ที่ผ่านมาเพื่อส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปยังเยอรมนี
โดยก่อนหน้านี้ศาลแขวงในไวเดน ประเทศเยอรมนี ได้ออกหมายจับโดยตั้งข้อหาเบรเยอร์ 158 กระทงเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมสังหารคนในค่ายกักกัน ประกอบด้วยผู้ต้องขังจากประเทศต่างๆ ได้แก่ ฮังการี, เยอรมนี, เชคโกสโลวาเกีย ซึ่งถูกสังหารตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค. ถึง ต.ค. 2487
อย่างไรก็ตามเมื่อวานนี้ (18 มิ.ย.) ทนายความเดนนิส บอยล์ ได้โต้แย้งต่อศาลรัฐฟิลาเดเฟียว่าสภาพร่างกายของเบรเยอร์อ่อนแอเกินกว่าจะถูกนำไปขังเพื่อรอการส่งตัวข้ามแดนในวันที่ 21 ส.ค. ซึ่งเบรเยอร์อยู่ในสภาพอ่อนแรงถือไม้เท้าช่วยพยุงให้ลุกจากเก้าอี้ นอกจากนี้เขายังมีอาการสมองเสื่อมเล็กน้อย มีโรคเกี่ยวกับหัวใจและเคยเป็นโรคเส้นเลือดอุดตัน แต่ผู้พิพากษาทิโมธี ไรซ์ ก็ยืนยันว่าในที่กุมขังเบรเยอร์มีอุปกรณ์ทางการแพทย์เตรียมพร้อมเอาไว้
เบรเยอร์ เคยถูกสอบสวนโดยอัยการในเมืองไวเดนเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว เขาอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2495 เบรเยอร์ยอมรับว่าเขาเคยเป็นทหารหน่วยการ์ดที่ค่ายกักกันเอาชวิทซ์ แต่ก็บอกว่าเขาประจำการอยู่ด้านนอกตัวค่ายกักกันและปฏิเสธว่าไม่มีส่วนใดๆ กับการสังหารชาวยิวจำนวนมากในค่าย
โธมัส วอลเธอร์ อดีตอัยการรัฐในสำนักงานพิเศษเพื่อการสืบสวนอาชญากรรมสงครามของนาซีในเยอรมนีได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนว่าความของเหล่าโจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นกลุ่มญาติของเหยื่อที่ถูกสังหาร โดยวอลเธอร์เรียกร้องให้มีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนโดยเร็ว เขาบอกว่าศาลเยอรมนีให้ความยุติธรรมต่อโจทก์ช้ามาก
ทางด้านทางการสหรัฐฯ เคยพยายามเพิกถอนสิทธิความเป็นพลเมืองของเบรเยอร์มาก่อนในปี 2535 หลังจากพบประวัติในช่วงสงครามของเขา ทั้งนี้ วอลเธอร์ได้สัญชาติมาจากการที่แม่ของเขากำเนิดในสหรัฐฯ และต่อมาก็ย้ายไปยุโรป


เรียบเรียงจาก
Johann Breyer, 89-year-old Nazi living in America and accused of helping kill 200,000 Jews in Auschwitz, facing extradition to Germany, The Independent, 19-06-2014
http://www.independent.co.uk/news/world/americas/johann-breyer-89yearold-nazi-living-in-america-and-accused-of-helping-kill-200000-jews-in-auschwitz-facing-extradition-to-germany-9547679.html

พรรคเพื่อไทยถก คสช.หารือปฏิรูปประเทศ



พรรคเพื่อไทยถก คสช.หารือปฏิรูปประเทศ แนะ รธน.ฉบับใหม่ต้องเป็นประชาธิปไตย “ชวลิต” ยันพรรคเพื่อไทยไม่ทอดทิ้งสมาชิกที่ถูกดำเนินคดีและต้องขึ้นศาลทหาร
 
20 มิ.ย. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา สมาชิกพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยและตน เป็นตัวแทนของพรรคไปร่วมหารือ และให้คำปรึกษาด้านการปฏิรูปประเทศที่กระทรวงกลาโหม ตามคำเชิญของคณะทำงานด้านการปฏิรูปประเทศ คสช.
 
นายชวลิตกล่าวว่า บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยดี และพรรคเพื่อไทยพร้อมให้ความร่วมมือที่จะสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ โดยพรรคให้ความสำคัญในประเด็นหลักๆ คือ เรื่องของรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่มาของสภาปฏิรูป ซึ่งจะต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสาขาอาชีพ รวมถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
 
ส่วนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นขณะนี้ นายชวลิตกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเสนอว่าต้องยึดหลักความยุติธรรม การใช้หลักธรรม คือ การให้อภัย ซึ่งผู้มีอำนาจต้องเร่งดำเนินการในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ ได้เสนอ คสช.ให้เร่งขจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งภาคประชาชนและภาคเอกชนมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ปัญหาดังกล่าวคลี่คลาย รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องดูแลอย่างเข้มข้น
 
“สำหรับปัญหาที่ คสช.ต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งพรรคเพื่อไทยและ คสช.เห็นสอดคล้องต้องกัน คือ การแก้ไขปัญหาขยะ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา โดยเฉพาะ กฟผ.และ กฟภ.ควรนำขยะมาผลิตเป็นไฟฟ้า รวมทั้งการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงการปฏิรูประบบราชการ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค” นายชวลิตกล่าว
 
นายชวลิตกล่าวว่า ในส่วนของพรรคเพื่อไทย แม้จะหยุดทำกิจกรรมทางการเมือง แต่เรายังให้ความสำคัญกับสมาชิกพรรคเพื่อไทย ที่ถูกดำเนินคดีและต้องขึ้นศาลทหาร พรรคเพื่อไทยจะเข้าไปดูแลและให้ความช่วยเหลือ ทั้งในแง่ข้อกฎหมายและการจัดหาทนายความ รวมทั้งอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ขณะขึ้นศาลทหาร ขอยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ทอดทิ้งสมาชิกพรรคอย่างแน่นอน

63 ประชาสังคม ร้อง UN ป้องเสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์-กรณี บก.ลายจุด


63 กลุ่มประชาสังคม เรียกร้องให้สหประชาชาติปกป้องการแสดงออกอย่างเสรีบนพื้นที่ออนไลน์ - ประณามการปิดโซเชียลมีเดียในหลายประเทศ ไม่เห็นด้วยกับการกักขังนักกิจกรรมสันติวิธีของไทย

19 มิ.ย. 2557 ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ องค์กรอาร์ทิเคิลไนน์ทีน (ARTICLE 19) เป็นตัวแทนองค์กรประชาสังคม 63 แห่ง กล่าวแถลงการณ์ต่อประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งประชาชาติ ในที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนครั้งที่ 26 ระบุ “การพัฒนาและการยอมรับทุกคนในสังคมอย่างเท่าเทียมนั้นจำเป็นต้องอาศัยอินเทอร์เน็ตที่สงวนไว้ให้เป็นทรัพยากรร่วมกันของทั้งโลก มีการบริหารจัดการโดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่มีความเป็นประชาธิปไตย มีอิสระ และมีความหลากหลาย”
องค์กรประชาสังคม 63 แห่งจากทั่วโลก เรียกร้องให้รัฐต้องสนับสนุนและอำนวยการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตคุณภาพสูงได้อย่างถ้วนหน้า “บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และการไม่เลือกปฏิบัติบนระบบเครือข่าย” โดยระบุว่าการเข้าถึงดังกล่าวรวมถึงช่วงเวลาที่เกิดความไม่สงบด้วย
แถลงการณ์ดังกล่าวเน้นความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิที่จะมีความเป็นส่วนตัว โดยได้ยกตัวอย่างถึงกรณีละเมิดสิทธิในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย
“การปิดกั้นการสื่อสาร รวมถึงสื่อสังคม ในอียิปต์ มาเลเซีย ปากีสถาน ตุรกี และเวเนซุเอลา เป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการรวมตัวสมาคมและการชุมนุม และสมควรถูกประณามว่าเป็นความผิด”
“เราไม่เห็นด้วยกับการกักขัง สมบัติ บุญงามอนงค์ ในประเทศไทย ซึ่งเขาอาจได้รับโทษจำคุกสูงถึง 14 ปี จากการที่เขาเรียกร้องให้ต่อต้านอย่างสันติต่อการรัฐประหารโดยกองทัพเมื่อเร็วๆ นี้ ผ่านทางสื่อสังคม ด้วยการชูสามนิ้ว”
แถลงการณ์ยังได้อ้างถึงการเปิดโปงโครงการสอดแนมประชานทั่วโลกโดยสโนว์เด็น และเรียกร้องให้คณะมนตรีฯให้ความเคารพต่อเสรีภาพในการแสดงออกและความเป็นส่วนตัว โดยระบุว่าการสอดแนมการสื่อสารของประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งประกอบด้วยการเก็บบันทึก ประมวลผล และดักรับข้อมูลการสื่อสารใดๆ ก็ตาม “เป็นการกระทำที่ผิดสัดส่วนโดยธรรมชาติของตัวมันเองและละเมิดสิทธิมนุษยชน”
ในตอนท้าย แถลงการณ์อ้างถึง “หลักการความจำเป็นและได้สัดส่วน” (Necessary and Proportionate Principles) https://th.necessaryandproportionate.org/text ซึ่งวางแนวทางการดักรับข้อมูลส่วนบุคคลที่เจาะจงเป้าหมาย ในกรณีที่จำเป็น ตามกรอบกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และย้ำว่าโครงสร้างพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตซึ่งรวมถึงมาตรฐานต่างๆ นั้นจะต้องไม่ถูกวุ่นวายรบกวนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการดักรับหรือถอดรหัสข้อมูล
63 องค์กรประชาสังคมดังกล่าว มีทั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ สมาคมสื่อระดับภูมิภาค หน่วยงานวิจัยกฎหมายและนโยบายสาธารณะ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนา และองค์กรสิทธิดิจิทัลระดับท้องถิ่น
อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ Article 19
http://www.article19.org/resources.php/resource/37593/en/63-civil-society-groups-call-on-un-to-protect-free-expression-online