วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ประยุทธ์เปิดงาน 'ประชาคมเข้มแข็งสู่ ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์' ย้ำ ปชช.ไม่ใช่มีหน้าที่เพียงเลือกตั้งเท่านั้น

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบฯ 

3 ต.ค. 2559 เมื่อเวลา 11.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธานเปิดงานโครงการประชาคมเข้มแข็งสู่ ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง คณะกรรมส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม กับหน่วยงานของรัฐ เพื่อความร่วมมือและสร้างความเชื่อมโยงการดำเนินงานด้านการส่งเสริมภาคประชาสังคมของหน่วยงานต่างๆ ให้มีประสิทธิผลสูงสุด จัดโดย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ กองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้ร่วมงานประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทย คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ประมาณ 600 คน
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวรายงานว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมบทบาทและสร้างความเข้มแข็งขององค์กรภาคประชาสังคม เพื่อร่วมพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน พร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีเหตุผล และเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูประเทศ การทำงานของ คณะกรรมส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม กับหน่วยงานของรัฐ (คสป.) เป็นการรวมกลุ่มของภาคประชาสังคมที่เหมาะสม สร้างสรรค์ เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาปฏิรูปประเทศ ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาสังคม สุขภาพและคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษา สุขภาพ การคุ้มครองผู้บริโภค ความปลอดภัยในชีวิต แรงงาน สวัสดิการสังคม การรักษาสิ่งแวดล้อมและสมบัติส่วนรวมของประเทศชาติ การแก้ปัญหาทางสังคม
โอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์  เป็นสักขีพยานในพิธีการลงนามความร่วมมือโครงการประชาสังคมเข้มแข็งสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ พร้อมกล่าวเปิดงานฯ ว่า โครงการประชาสังคมเข้มแข็ง สู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ มีหลายสิ่งที่ยังคงเป็นปัญหา ที่ทุกส่วนจะต้องร่วมกันแก้ไข โดยใช้แนวทางกลไกประชารัฐ ที่เริ่มจากระดับบนจนถึงระดับล่าง และนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จ รวมถึงการมุ่งมั่นพัฒนา ทั้งในส่วนผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ตามกฎหมายอย่างถูกต้องเหมาะสมในการปฎิรูปประเทศให้เป็นไปอย่างมั่นคง อีกทั้งนำปัญหาต่าง ๆ มาวิเคราะห์หาแนวทางการดำเนินการอย่างต่อเนื่องตรงจุด สร้างระบบใหม่ที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่การปฎิบัติจริง และเกิดผลสัมฤษธิ์สูงสุด และการดำเนินการจะต้องอยู่ในช่วงระยะเวลาที่กำหนด ต้องสอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้งบประมาณเท่าที่จำเป็น ตลอดจนสร้างระบบจัดหาข้อมูลใหม่ ๆ และข้อมูลที่จะเกิดผลกระทบทั้งหมด โดยร่วมกันทุกภาคส่วน ที่สำคัญจะต้องสร้างการรับรู้ข้อมูลการดำเนินงานของรัฐบาลให้ประชาชนเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ และสร้างความเข้าใจว่าการ เปรียบเสมือนกับการดูแลครอบครัวตนเอง พร้อมนำเหตุผลและหลักการทั้งหมดมาใช้ให้เกิดประโยน์มากที่สุด พร้อมกล่าวว่า โครงการประชาสังคมเข้มแข็งฯ นั้น จะต้องมีการประสานงานและปฎิรูปการทำงานใหม่ทั้งระบบ และจะต้องสรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อมุ่งไปสู่่เป้าหมายอย่างชัดเจน โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างเครือข่ายในทุกส่วนงาน สร้างความเข้มแข็งในทุกส่วนทั้งการศึกษา ทางเศรษฐกิจ และทางสังคม นำการดำเนินงานในอดีตมาต่อยอดเพิ่มเติม นำงบประมาณเดิมมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดนี้ จะส่งผลกลับไปสู่ประชาสังคมและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนเอง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้ำว่า ประชาชนทุกคนจะต้องมีจิตสำนึกเสียสละในปฏิบัติ รู้จักหน้าที่ มีส่วนร่วม ในการปฏิรูปประเทศเพื่อเป็นประชารัฐที่แท้จริง โดยร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำประเทศไทยก้าวไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ 4.0 นำรายได้และการสร้างงาน สร้างอาชีพ กลับมาสู่ประชาชน แต่จะต้องทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจถึงการดำเนินงานดังกล่าว เพื่อการร่วมมืออย่างเชื่อมโยงและสอดคล้องตรงตามเป้าหมายอย่างแท้จริง ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีมาตรการรองรับการมีส่วนได้ส่วนเสียของเจ้าหน้าที่ และการได้มาซึ่งผลประโยชน์ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจะอยู่ในกระบวนการทางกฎหมายยุติธรรม เพื่อป้องกันปัญหาคอร์รัปชั่นที่จะเกิดขึ้นตามมา อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานทั้งหมดนี้ รัฐบาลไม่สามารถทำได้เพียงฝ่ายเดียว ประชาชนจะต้องร่วมมือกันและรู้บทบาทหน้าที่ของตนเองด้วย ที่ไม่ใช่มีหน้าที่เพียงการออกเสียงเลือกตั้งเท่านั้น แต่จะต้องรับรู้ว่าภาคประชาชนนั้น มีความสำคัญที่สุดในการดำเนินงาน ในส่วนเจ้าหน้าที่ข้าราชการนั้น มีหน้าที่เพียงเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับรัฐบาลอย่างสมดุล ที่สำคัญเป็นหน้าที่ของประชาชนในการร่วมกันพัฒนาประเทศให้ดีขึ้น เพื่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักประชาธิปไตยสากลที่แท้จริง
สำหรับ การดำเนินงานของรัฐบาลในวันนี้นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นการดำเนินงานเพียงระยะแรกที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่สมบูรณ์ในอีก 20 ปีครั้งหน้า การประเมินผลการดำเนินงานสามารถทำได้เพียงช่วงระยะเวลาอันสั้น แต่รัฐบาลได้วางกรอบการดำเนินงานให้ตรงตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างตรงจุด โดยแบ่งประเภทของปัญหา และนำมาเชื่อมโยงการดำเนินการให้มีส่วนร่วมกัน อย่างมีเหตุผล และตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ ในช่วงระยะเวลาที่กำหนด เพื่อนำไปสู่การต่อยอดและสู่การพัฒนาในอีก 20 ปีข้างหน้า ให้เกิดการปฎิบัติจริง แต่การดำเนินงานเหล่่านี้ จะต้องอาศัยงบประมาณเป็นจำนวนมาก โดยเป็นรายได้จากการลงทุนทั้งในและต่างประเทศเป็นหลัก และต้องไม่เกิดผลเสียต่อประเทศ ที่สำคัญประชาชนทุกคนจะต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้กับประเทศ เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนเข้าลงทุนให้มาก ช่วยทำให้ประเทศสามารถก้าวไปสู่ระดับนานาชาติได้ต่อไปในอนาคต
พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวขอความร่วมมือประชาชนได้ รู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเอง มีจิตสำนึกสาธารณะ ทำงานร่วมกันอย่างเป็นกลไกประชารัฐตามความสามารถ แม้เพียงเล็กน้อยแต่ขอให้ร่วมกันทำทุกคน เพื่อการดำเนินงานปฏิรูปประเทศที่จะเป็นไปได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ในนามของรัฐบาลจึงขอความร่วมมือประชาชนทุกคน พร้อมขอให้ทุกคนภาคภูมิใจอยู่ในหลักของความพอเพียง ไม่ปล่อยปละละเลยหน้าที่ ร่วมมือกันลดความขัดแย้ง สร้างความปรองดอง และสร้างความเชื่อมโยงในการทำงานกันอย่างเป็นประชารัฐในทุกภูมิภาค เพื่อนำประเทศไทยไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ 4.0 อย่างมั่นคง และยั่งยืน ต่อไป

10 องค์กรสิทธิสากลจี้รบ.ไทยยุติการดำเนินคดีกับทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯทันที

ศิริกาญจน์ เจริญศิริ

10 องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างประเทศเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีข้อหายุยงปลุกปั่นและกระบวนการทางกฎหมายอื่น ๆ ทั้งหมดกับทนายศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทยานความด้านสิทธิมนุษยชนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  โดยทันที
3 ต.ค. 2559 คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists – ICJ) ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล (Amnesty International) สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเซีย (Asian Forum for Human Rights and Development – FORUM-ASIA) กลุ่มสังเกตการณ์เพื่อการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Observatory for the Protection of Human Rights Defenders ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล- FIDH  และองค์กรต่อต้านการทารุณกรรมโลก – OMCT) องค์กรโพรเทคชั่นอินเตอร์เนชันแนล  (Protection International – PI) องค์กรลอว์เยอร์ไรท์วอชแคนาดา Lawyers Rights Watch Canada (LRWC) องค์กรโฟร์ติไฟย์ไรท์ (Fortify Rights) และองค์กรอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิสฟอร์ฮิวแมนไรท์ International Service for Human Rights (ISHR) ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดีทุกคดีกับทนายความด้านสิทธิมนุษยชน “ศิริกาญจน์ เจริญศิริ” โดยทันที รวมถึงข้อกล่าวหาที่มิชอบเรื่องยุยงปลุกปั่น ซึ่งเป็นที่ชัดแจ้งว่าเกี่ยวโยงกับการที่องค์กรที่เธอสังกัดเป็นทนายความให้กับนักศึกษา 14 คนที่รวมตัวประท้วงอย่างสงบเมื่อเดือน มิ.ย. พ.ศ. 2558
แถลงการณ์ ให้ข้อมูลด้วยว่า ศิริกาญจน์ เจริญศิริ เป็นทนายความและผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai Lawyers for Human Rights – TLHR) ได้รับหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา ภายหลังถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาในความผิดประเภท ‘ยุยงปลุกปั่น’ โดยในหมายเรียกระบุชื่อผู้กล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร คือ พ.ท.พงศฤทธิ์ ภวังค์คะนันท์
 
ศิริกาญจน์ ได้รับหมายเรียกลงวันที่ 20 ก.ย. 2559 ภายหลังเดินทางกลับจากเข้าร่วมการประชุมสมัยสามัญที่ 33 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) ณ นครเจนีวา ซึ่งเธอได้รณรงค์เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในฐานะตัวแทนของ FORUM-ASIA และ ICJ ก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งหมายเรียกลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2559 ไปยังอพาร์ตเมนต์ของเธอ อย่างไรก็ตาม ความปรากฎว่า ศิริกาญจน์ ไม่ได้รับหมายเรียกเนื่องจากเธอไม่ได้อยู่ที่อพาร์ตเมนต์ในวันดังกล่าว
 
ก่อนหน้านี้ ศิริกาญจน์ ถูกตั้งข้อหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาสองข้อหา คือ “แจ้งความอันเป็นเท็จ” และ “ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน”  ซึ่งข้อหาดังกล่าวเชื่อมโยงกับการที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่นักศึกษา 14 คน ทั้งนี้ หมายเรียกฉบับใหม่ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับคดีเดียวกันนี้
 
“ข้อกล่าวหาของทางทหารที่ว่า ศิริกาญจน์  เจริญศิริ ทำผิดกฎหมายฐานยุยงปลุกปั่นนั้น  เป็นฐานความผิดที่มักถูกนำมาใช้โดยมิชอบอยู่บ่อยครั้ง โดยเป็นบทกฎหมายที่มีบทลงโทษที่รุนแรงอย่างสุดโต่ง นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่คดีของ ศิริกาญจน์  จะอยู่ภายใต้การพิจารณาคดีในศาลทหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และจะต้องถอนข้อหาดังกล่าวทันที” วิลเดอร์ เทย์เลอร์ (Wilder Tayler) เลขาธิการ ICJ กล่าว “ข้อเท็จจริงที่ว่าทางการตั้งข้อหาดังกล่าวเป็นเวลากว่าหนึ่งปี ภายหลังที่ลูกความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นในคดีเดียวกัน  แสดงให้เห็นว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นการโต้กลับกับการที่ตั้งแต่ภายหลังรัฐประหารเป็นต้นมา เธอได้ทำงานรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน โดยได้รับความสนใจอย่างสูงทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ”
 
“เป็นเรื่องที่เหลือทนที่ทางการไทยกำลังพิจารณาตั้งข้อหาทนายความ ศิริกาญจน์ เหตุเพราะทำหน้าที่ปกป้องลูกความของเธอ และเป็นเรื่องที่แย่ลงไปอีกเท่าตัวหากว่าทางการนำตัวเธอขึ้นสู่ศาลทหารซึ่งไร้ความเป็นธรรมโดยพื้นฐานอยู่แล้ว” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเซียของ Human Rights Watch กล่าว “การพยายามข่มขู่ทนายความผู้ทำหน้าที่แก้ต่างให้กับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลกำลังแสดงให้เห็นว่าฝ่ายทหารมีความกลัวอย่างฝังลึกต่อหลักนิติธรรม”
 
“การตั้งข้อหาใหม่กับ ศิริกาญจน์ อีกครั้งแสดงถึงความตั้งใจของทางการไทยที่จะโต้กลับทนายความและนักกิจกรรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานสำคัญของการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม” ราเฟนดิ ดีจามิน (Rafendi Djamin) ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกของ Amnesty International กล่าว “รัฐบาลไทยควรเปลี่ยนแนวคิดดังกล่าวและปฏิบัติตามพันธกรณีของตนอย่างจริงจังเพื่อคุ้มครองความเป็นอิสระของทนายความและเสรีภาพของพวกเขาในการทำหน้าที่แก้ต่างให้ลูกความโดยปราศจากความกลัวว่าจะถูกแก้แค้น และเพื่อสร้างบรรยากาศที่ทุกคนสามารถพูดถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างเสรีและปลอดภัย”
 
“การออกหมายเรียกทนายความสิทธิมนุษยชน ศิริกาญจน์  ด้วยข้อหาประเภทยุยงปลุกปั่นภายใต้มาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาเป็นกรณีที่ชัดเจนว่าเป็นการตอบโต้นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้รณรงค์เรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยภายหลังการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557” เบตตี้ โยลานดา (Betty Yolanda) ผู้อำนวยการ FORUM-ASIA กล่าว  “หากถูกดำเนินคดี งานรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนอันชอบธรรมของ ศิริกาญจน์ อาจถูกปิดกั้นด้วยการจำกัดไม่ให้เดินทางไปเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน เนื่องจากเงื่อนไขที่จะต้องได้รับอนุญาตจาก คสช. เพื่อให้สามารถเดินทางออกนอกประเทศ”
 
“การที่รัฐบาลคุกคาม ศิริกาญจน์ อย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทย มีเพียงลมปากว่าจะทำตามพันธสัญญาที่จะคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” ดิมิตริส คริสโตปูลอส (Dimitris Christopoulos) ประธาน FIDH กล่าว
 
“ข้อกล่าวหาต่อ ศิริกาญจน์ เป็นความพยายามอย่างโจ่งแจ้งและไตร่ตรองไว้ก่อนแล้วที่จะทำลายการปฏิบัติหน้าที่ทนายความสิทธิมนุษยชนอันชอบธรรมของเธอ” เจอรัลด์ สตาเบร็อค (Gerald Staberock) เลขาธิการ OMCT กล่าว “การปราบปรามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนรวมถึงนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างรุนแรงจะต้องยุติลงและต้องยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งปวงต่อศิริกาญจน์โดยทันที”
 
“การดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วยเหตุของการรายงานและกล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นในประเทศไทย และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้หญิงจะตกอยู่ในความเสี่ยงเป็นพิเศษ” ลิเลียนา เดอ มาร์โค โคเนน (Liliana De Marco Coenen) ผู้อำนวยการ PI กล่าว “ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา 8 ใน 10 คนของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกตั้งข้อหาความผิดทางอาญาเป็นผู้หญิง”
 
“การเพิ่มข้อกล่าวหาใหม่กับศิริกาญจน์ เป็นเรื่องที่น่าตระหนก เพราะดูเหมือนว่าเป็นปฏิบัติการตอบโต้การทำงานของเธอในฐานะทนายความและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” เกล เดวิดสัน (Gail Davidson) ผู้อำนวยการ LRWC กล่าว “ประเทศไทยได้รับรองมติของที่ประชุมแห่งสมัชชาสหประชาชาติซึ่งเรียกร้องให้ทุกชาติคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน บัดนี้ ประเทศไทยจะต้องอนุวัติการพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนโดยดำเนินการถอนข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อ ศิริกาญจน์”
 
“การมุ่งเป้าไปที่ ศิริกาญจน์ เนื่องมาจากการทำหน้าที่ทนายความสิทธิมนุษยชนอันชอบธรรมของเธอเป็นความพยายามอีกครั้งของทางการไทยที่จะกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศของความหวาดกลัว”  เอมี่ สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการ Fortify Rights กล่าว “ทางการไทยควรปฏิบัติต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเสมือนเป็นสมาชิกผู้มีคุณค่าของสังคมแทนที่จะเป็นศัตรูของรัฐ”
 
“ข้อกล่าวหาเท็จต่อทนายความสิทธิมนุษยชน ศิริกาญจน์  ควรถูกถอนทันทีโดยปราศจากเงื่อนไข” ฟิล ลินช์ (Phil Lynch) ผู้อำนวยการ ISHR กล่าว “ประเทศไทยมีหน้าที่ชัดเจนที่จะคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่งที่ข้อกล่าวหาเหล่านี้อาจเป็นการตอบโต้งานรณรงค์สิทธิมนุษยชนที่เธอดำเนินการมาตั้งแต่ภายหลังรัฐประหาร”
 

ความเป็นมา

หมายเรียกลงวันที่ 20 ก.ย. 2559 มิได้ระบุมูลเหตุแน่นอนของข้อกล่าวหา แต่ดูเหมือนว่าหมายเรียกดังกล่าวจะเชื่อมโยงกับการที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่นักศึกษา 14 คนซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558 หลังจากชุมนุมประท้วงอย่างสงบเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและยกเลิกการปกครองโดยฝ่ายทหาร
 
หากท้ายที่สุดศิริกาญจน์ เจริญศิริถูกดำเนินคดีด้วยความผิดตามที่กล่าวหา เป็นไปได้ว่าคดีของเธอจะอยู่ภายใต้การพิจารณาของศาลทหาร เพราะความผิดตามข้อกล่าวหาเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนคำสั่งฉบับที่ 55/2559 ของหัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2559 ซึ่งยกเลิกการฟ้องคดีพลเรือนต่อศาลทหาร
 
ข้อ 12 ในคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 (ซึ่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป) กำหนดบทลงโทษสูงสุดจำคุกหกเดือนหรือโทษปรับเป็นเงินไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดประเภท ‘ยุยงปลุกปั่น’ ตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญากำหนดโทษสูงสุดจำคุกเจ็ดปี
 
ทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 และมาตรา 116 กำหนดข้อจำกัดด้วยคำที่กินความกว้างและกำกวมเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการสมาคม และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งล้วนละเมิดพันธกรณีด้านกฎหมายของประเทศไทยภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ อีกทั้งยังแย้งกับหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 116 กำหนดให้การกระทำใดๆ อันเป็นการ “เพื่อ…ให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร” เป็นความผิดทางอาญา
 
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี ให้หลักประกันสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการสมาคม และการห้ามมิให้จับกุมหรือคุมขังโดยพลการ
 
ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (UN Declaration on Human Rights Defenders) ยืนยันสิทธิของคนทุกคนที่จะคัดค้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยหนทางสันติ ปฏิญญาฯห้ามมิให้กระทำการ
โต้กลับ ข่มขู่และคุกคามด้วยรูปแบบอื่นๆ ต่อบุคคลใดก็ตามที่กระทำการโดยสันติเพื่อต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะในระหว่างหรือนอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพของพวกเขา
 
หลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยบทบาทของทนายความ (UN Basic Principles on the Role of Lawyers) กำหนดให้รัฐบาลให้ความมั่นใจว่าทนายความจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพของพวกเขาโดยปราศจากการข่มขู่ ขัดขวาง คุกคามหรือแทรกแซงอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม

ปมเที่ยวบินฮาวาย ประวิตรชี้ใช้บินไทยก็เหมือนเงินจากกระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวา


พล.อ.ประวิตรยันไม่ได้ไปเที่ยว กินอาหารธรรมดา และไปไม่เต็มลำ ด้าน‘บินไทย’แจง 20 ล.แค่ราคากลาง ใช้’โบอิ้ง’ รุ่นเก่า ปรับนอน 180 องศาไม่ได้ ประยุทธ์ย้ำประวิตรทำประโยชน์เพื่อชาติ ไม่ตั้งสอบ พร้อมย้อนรอย ประยุทธ์สั่งข้าราชการซี 10 นั่งเครื่องบินชั้นประหยัด
คณะพล.อ.ประวิตร ที่ฮาวาย ที่มาภาพ สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
4 ต.ค. 2559 จากที่มีการเผยแพร่ราคากลางจัดซื้อ-จัดจ้าง ประจำปี พ.ศ.2559 ในการจ้างการรับขนคนโดยสารทางอากาศโดยเครื่องบินพาณิชย์ ณ เมืองฮอนโนลูลู มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 29 ก.ย.-2 ต.ค. 2559 โดยมีรายละเอียดค่าใช้จ่ายรวม 20,953,800 บาท โดยมีค่าอาหารและเครื่องดื่มระหว่างเที่ยวบิน 600,000 บาท ซึ่งเป็นการเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา อย่างไม่เป็นทางการ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมประชุม จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความคุ้มค่า (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) นั้น 
3 ต.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า การเดินทางไปฮาวายไม่มีสายการบินที่บินตรง และต้องต่อเครื่องทำให้เสียเวลา ตนเดินทางไปเพียง 3 วัน จึงติดต่อไปยังการบินไทย ซึ่งได้เสนอวิธีการเดินทางและราคาเข้ามา การเดินทางครั้งนี้ก็ไม่ได้เก็บราคาเต็ม ตามวงเงิน ที่มีเอกสารเผยแพร่อยู่ เป็นแค่ราคากลาง และประเมินเท่านั้น โดยหลังจากนี้จะมีการแจ้งยอดใช้จ่ายจริงเข้ามา
"ผมว่าก็ถูกแล้วความโปร่งใสนะ ไม่เป็นไร เขาตั้งใจว่าการใช้เงิน อันนี้เป็นเงินของประชาชนนะ ใช้ก็ต้องมีหน้าที่แจงความชัดเจน แต่ว่าไม่ได้ใช้ทั้งหมด อย่างค่าอาหาร 6 แสน เขาใช้ไม่หมด เพราะว่ามันไม่ไม่เต็มลำ" พล.อ.ประวิตร กล่าว
"การใช้บริการการบินไทยก็เหมือนการช่วยการบินไทย เหมือนเงินจากกระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวา เงินหน่วยงานราชการไปช่วยหน่วยงานของรัฐ ดีกว่าไปช่วยคนอื่น" พล.อ.ประวิตร กล่าว
 
"เราไม่ได้ไปเที่ยวแล้วกัน ลงเครื่องแล้วก็ทำงาน เสร็จแล้วก็ขึ้นเครื่องกลับ" พล.อ.ประวิตร กล่าว พร้อมย้ำด้วยว่า อาหารที่รับประทานนั้นเป็นอาหารไทยธรรมดา เกี๋ยวเตี๋ยว ข้าว ไม่ได้มีอาหาพิเศษมาจากไหน 
 

‘บินไทย’แจง 20 ล.แค่ราคากลาง ใช้’โบอิ้ง’ รุ่นเก่า ปรับนอน 180 องศาไม่ได้

ด้าน อุษณีย์ แสงสิงแก้ว รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่หน่วยธุรกิจบริการการบิน (ดี1) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กรณี พล.อ.ประวิตร และคณะ เช่าเครื่องบินของการบินไทยประมาณ 20 ล้านบาท เพื่อเดินทางไปมลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ว่า ราคาดังกล่าวเป็นราคากลางที่การบินไทยกำหนดขึ้นมาเท่านั้น โดยเป็นราคาที่เทียบเคียงจากการให้บริการของสายการบินอื่นประกอบด้วย เนื่องจากเป็นเส้นทางที่การบินไทยไม่เคยให้บริการมาก่อน ส่วนราคาที่จ่ายจริงยังต้องพิจารณาจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมต่างๆที่เกิดขึ้นที่สนามบินปลายทาง เมื่อคำนวณออกมาแล้วก็อาจจะถูกกว่าราคากลางที่ตั้งไว้ก็ได้
 
“ตามระเบียบของการให้บริการเครื่องบินเช่าเหมาลำของการบินไทยจะต้องกำหนดราคากลางในใบเสนอราคา โดยคำนวณต้นทุนการให้บริการต่างๆประกอบ แต่เส้นทางดังกล่าว การบินไทยไม่เคยให้บริการ จึงต้องคิดคำนวณเทียบเคียงกับสายการบินอื่นประกอบด้วย แต่ราคาดังกล่าวจะไม่ใช่ราคาที่จะต้องจ่ายจริง” อุษณีย์ กล่าว
 
อุษณีย์กล่าวว่า สำหรับการใช้เครื่องบินโอบิ้ง 747-400 ขนาดจัมโบเจ็ตลำใหญ่ เนื่องจากเป็นเครื่องที่ไม่ได้นำมาใช้งาน เป็นเครื่องว่างที่สามารถบินได้ระยะไกล จึงนำมาบินให้บริการได้ โดยยืนยันว่าการเช่าเหมาลำเครื่องบินของการบินไทย แม้จะมีที่นั่งมากหรือที่นั่งน้อย ราคาค่าเช่าเหมาลำจะไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะจะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน
 
“ตอนนี้การบินไทยมีเครื่องบินในระดับเดียวกันที่สามารถบินได้ในระยะไกล คือ โบอิ้ง 777-300 อีอาร์ และโบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ ซึ่งทั้ง 2 รุ่นดังกล่าว เป็นเครื่องบินรุ่นใหม่ สามารถปรับเอนนอนได้ 180 องศา เป็นการนำไปให้บริการกับผู้โดยสารในเที่ยวบินปกติ ไม่สามารถนำมาให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำได้ ดังนั้น จึงเหลือโบอิ้ง 747-400 ลำดังกล่าว ถึงแม้จะเป็นเครื่องบินลำใหญ่ มีที่นั่งมาก แต่เป็นเครื่องบินเก่า ปรับนอน 180 องศาไม่ได้ ไม่สามารถแข่งขันกับสายการบินอื่นได้ จึงนำมาให้บริการเช่าเหมาลำ” อุษณีย์ กล่าว
 

ประยุทธ์ย้ำประวิตรทำประโยชน์เพื่อชาติ ไม่ตั้งสอบ 

ขณะที่ วานนี้ (3 ต.ค.59) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงกรณีค่าใช้จ่ายกว่า 20 ล้านบาท ของคณะพล.อ.ประวิตร ว่า ไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการใช้งบประมาณค่าเดินทาง เพราะเรื่องนี้โฆษกกระทรวงกลาโหมได้ชี้แจงรายละเอียดและความจำเป็นไปแล้ว รวมถึงเป็นการไปทำประโยชน์ให้กับประเทศไม่ได้ไปเที่ยวส่วนตัว อย่างไรก็ตามหากต้องการตรวจสอบให้ไปฟ้องร้อง ขออย่าเอาปัญหามาถามตน เพราะเป็นเรื่องที่มีหน่วยงานดูแลอยู่แล้ว
 
“ผมถามว่า 1.การไปประชุมเครื่องบินมีบินตรงหรือไม่ ไม่มีใช่ไหม จริงๆ แล้วขี้เกียจตอบแทน ไปฟังเขาตอบก็แล้วกัน 2.เขาไปทำประโยชน์หรือเขาไปเที่ยว การไปประชุมก็ต้องดูว่ามีกี่การประชุม ไปคนเดียวพออย่างนั้นหรือ การไปประชุมที่ต่างประเทศจะต้องมีหลายคณะ ก่อนที่ระดับผู้ใหญ่จะประชุมก็จะมีระดับล่างเขาประชุมก่อน อย่ามาจับผิดจับถูกในเรื่องเหล่านี้ ใครอยากฟ้องร้องก็ไปฟ้องร้องเอา ผมไม่ได้อารมณ์เสียอะไรทั้งสิ้น แต่อย่าเอาปัญหาเหล่านี้มาถาม อยากฟ้องก็ให้ไปฟ้องมา ไม่ใช่อยู่ดีๆ นายกฯจะไปฟ้องเรื่องนี้ ตรวจสอบเรื่องนั้น มันมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่อยู่แล้ว ก็ทำหน้าที่กันมาในทุกๆ เรื่อง ผมเองก็กำลังทำหน้าที่อย่างอื่นอยู่ หน้าที่การตรวจสอบการทุจริตไม่ใช่ไม่ทำ เราทำอยู่ แต่ก็มีกลไกเขาต้องทำขึ้นมาตามขั้นตอน จากนั้นผมก็ทำให้ ยุ่งมา 3 วันแล้วไอ้เรื่องนี้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
 

ย้อนรอย ประยุทธ์สั่งข้าราชการซี 10 นั่งเครื่องบินชั้นประหยัด

ขณะที่เมื่อย้อนไปเมื่อ 3 มี.ค. 2558 พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งในที่ประชุม ครม.  ให้ทุกส่วนราชการพิจารณาความเหมาะสมของการเดินทางไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ หากกิจกรรมใดที่ไม่จำเป็นต้องเดินทาง ก็ให้ปรับลดลงให้เหมาะสม และอาจให้พิจารณาให้ผู้เชี่ยวชาญจากสาขานั้น เข้ามาบรรยายข้อมูลให้ผู้บริหารรับทราบแทนการเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อจะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของหน่วยงานลง
 
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ผู้บริหารในระดับอธิบดีกรมที่เดินทางโดยเครื่องบินในเที่ยวบินภายในประเทศ ก็ให้พิจารณาปรับลดบัตรโดยสารจากชั้นธุรกิจ เป็นชั้นประหยัดแทน และหากเดินทางไปต่างประเทศก็ให้พิจารณาบัตรที่นั่งตามความเหมาะสม ส่วนระดับรองอธิบดี หากจะเดินทางทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ก็ให้เดินทางในชั้นประหยัดเท่านั้น ซึ่งเชื่อว่า จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของหน่วยงานลงได้ และมีความเหมาะสม
 
โดยได้มอบหมายให้พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการ ติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจสอบการดำเนินงานขององค์กรมหาชนทุกองค์กร โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ว่ามัหลักเกณฑ์การดำเนินงาน มีงบประมาณ และขั้นตอนการอนุมัติต่างๆ เป็นอย่างไร เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในขั้นตอนการดำเนินงาน ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ และเป็นที่เชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ 
 

พล.ท.อภิรัชต์ รับหน้าที่แม่ทัพภาค 1 ลั่นเทิดทูนสถาบันฯ ด้วยชีวิต





พิธีลงนามเอกสารรับ – ส่งหน้าที่  มทภ.1 และ ส่งมอบการบังคับบัญชา ระหว่าง พล.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ กับ พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ณ บก.ทภ.1  เมื่อ  3 ต.ค.59 (ที่มาภาพ เฟซบุ๊กแฟนเพจ กองทัพภาคที่ 1 (1st Army Area) 
 
เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 กองทัพภาคที่ 1 ได้จัดพิธีรับส่งหน้าที่ แม่ทัพภาคที่ 1 ระหว่าง พล.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก กับ พล.ท.อภิรัชต์  คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 คนใหม่ ภายหลังจากที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พล.ท.อภิรัชต์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป
โดย พล.อ.เทพพงศ์กล่าวส่งมอบหน้าที่ว่า ตลอดเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ตนได้รับความร่วมมือร่วมใจเป็นอย่างดีจากผู้ใต้บังคับบัญชา และเพื่อนร่วมงานทุกคน จนทำให้ภารกิจของกองทัพภาคที่ 1 ทุกภารกิจที่ได้รับมอบจากผู้บังคับบัญชาสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ทำให้ได้รับคำชมเชย จนเป็นที่ยอมรับจากประชาชนโดยทั่วไป ทั้งนี้ ตนขอขอบคุณทุกคน ทั้งความรัก และความผูกพัน รวมทั้งความจริงใจที่ทุกคนมอบให้ตนนั้นจะอยู่ในจิตใจของตนตลอดไป สำหรับ พล.ท.อภิรัตช์ เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถสูงปฏิบัติราชการในกองทัพภาคที่ 1 มาเป็นเวลานานก่อนที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าวก็ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ อย่างไรก็ตาม ตนมั่นใจว่ากองทัพภาคที่ 1 ต่อจากนี้ไปจะมีความเจริญก้าวหน้าทุกด้าน และเป็นหลักของกองทัพบกต่อไป
ด้าน พล.ท.อภิรัชต์ กล่าวรับหน้าที่ว่า ตนขอนอมรับหน้าที่ด้วยความสำนึก และรับผิดชอบ ซึ่งนโยบายการปฏิบัติงานจะดำเนินการตามที่ พล.อ.เทพพงศ์ได้ปฏิบัติมาแล้ว พร้อมทั้งพยายามปรับปรุงเสริมสร้างพัฒนากองทัพภาคที่ 1 ให้เป็นที่ยอมรับ และไว้วางใจทุกระดับให้มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป และเป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชน อย่างไรก็ตาม ตนขอตั้งปณิธานเทิดทูนสถาบันฯ ด้วยชีวิต และเป็นหลักในการรักษาความมั่นคงปกป้องเอกราช และอธิปไตยของชาติต่อไป
สำหรับ พล.ท.อภิรัชต์ นั้น ก่อนหน้านี้เป็นนายทหารพิเศษประจำหน่วยทหารรักษาพระองค์ สังกัดกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ อดีตแม่ทัพน้อยที่ 1, อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 1, อดีตผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์, อดีตผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 15, อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 11 จังหวัดฉะเชิงเทรา, อดีตผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.11 รอ.)
หลังรัฐประหารโดยคสช. พล.ท.อภิรัชต์ ได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมทั้ง ประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือประธานบอร์ดกองสลาก
พ.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ร.11รอ. (ขณะนั้น) ในเหตุการณ์ที่บ.ไทยคม ลาดหลุมแก้ว 9 เม.ย.53

ผบ.ทบ.ใหม่ บอกให้ลบคำว่า 'ปฏิวัติซ้อน' ไปได้เลย อย่ามากังวล

พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท

เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถ.ราชดำเนิน พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) แถลงภายหลังประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.ทบ.) โดยเฉพาะผู้บังคับหน่วยระดับนายพล ว่า เป็นการประชุมเพื่อแบ่งสายงานรับผิดชอบตามปกติในแต่ละด้าน ซึ่งตนได้เน้นย้ำทุกด้าน โดยเฉพาะงานด้านกำลังพลที่จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ส่วนสายงานอื่น เช่น สายงานข่าว สายงานส่งกำลังบำรุง สายงานยุทธการไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากแผนงานเดิม ส่วนงานด้านการพลเรือนจะเน้นการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ สำหรับนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนกำลังและลดกำลังดูแลพื้นที่ลง โดยใช้กำลังทหารและประชาชนในพื้นที่ ตนจะเน้นการพัฒนาขีดความสามารถ รวมทั้งการดำเนินการด้านการข่าวเพื่อตอบสนองความต้องการในการใช้กำลัง

กังวลอาวุธที่หายไปปี 53 อาจมีผู้มาใช้ก่อความรุนแรง 

ต่อกรณีคำถามถึงการสนับสนุนงานของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะวางบทบาทอย่างไร นั้น พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันทุกอย่างเดินไปตามโรดแมป และอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ภาพรวมของ คสช. ใช้กำลังทหารลดน้อยลง โดยเน้นงานช่วยเหลือประชาชน ส่วนงานด้านกฎหมายเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยประชาชนเห็นความตั้งใจของรัฐบาล ตนอยากให้ทุกคนช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ให้เดินไปข้างหน้าอย่างราบรื่น และเรียบร้อย ทั้งนี้ มีส่วนที่ตนเป็นห่วงใยคือการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่อาจใช้ความรุนแรง เพราะเมื่อปี 53 มีอาวุธจำนวนหนึ่งของเจ้าหน้าที่สูญหายไประหว่างปฏิบัติการ ซึ่งได้กลับคืนมาเพียงส่วนน้อย และส่วนใหญ่ยังไม่สามารถตามกลับคืนมาได้ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าไปวนเวียนอยู่ที่ไหน ตนจะพยายามตามกลับคืนมาให้ได้ เนื่องจากงานด้านการข่าวพบว่ายังมีกลุ่มที่เห็นต่างและมีแนวความคิดใช้ความรุนแรง ดังนั้น ในความรู้สึกของความเป็นทหารก็ต้องระมัดระวังทั้งหมด ความรุนแรงจะเกิดขึ้นหรือไม่ตนไม่ทราบแต่ต้องเตรียมพร้อมมาตรการป้องกันที่ดีที่สุด และคาดหวังว่า ความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้น ตนอยากให้คนไทยรักประเทศ และอยากให้ประเทศเดินไปข้างหน้า เชื่อว่า ทุกคนที่เป็นคนไทยมีวุฒิภาวะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้
      
ต่อกรณีคำถามว่า ปีหน้าจะเกิดการเลือกตั้ง กองทัพและกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) จะสนับสนุนรัฐบาลอย่างไรนั้น พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า บทบาทการใช้กำลังของ กกล.รส. ปีหน้าจะใช้กำลังตามอำนาจลดน้อยลง ซึ่งจะใช้กฎหมายเป็นหลัก ยกเว้นกรณีที่สำคัญ หรือจำเป็น เพราะ กกล.รส. มีภารกิจอยู่ 7 ภารกิจ ตนเชื่อว่า เหตุความรุนแรงน่าจะลดน้อยลง เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าคนจับตามองเพราะด้วยความเป็นทหารรบพิเศษ พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ไม่กังวลใจ เพราะมีประสบการณ์การทำงานมาพอสมควร และทุกวันนี้คนที่เป็นผู้บังคับหน่วยก็มีความคุ้นเคยกันสามารถทำงานได้ตามบทบาทหน้าที่ ทุกคนเป็นทหารรู้ว่าตนเองต้องทำอะไร สิ่งสำคัญคือ ทำงานเป็นทีม ตนใช้งานทีมฝ่ายเสนาธิการเป็นหลัก หากมีอะไรก็พูดคุยกัน ไม่กังวลเรื่องการถูกจับตามอง

ลบคำว่า 'ปฏิวัติซ้อน' ไปได้เลย อย่ามากังวล

เมื่อถามว่า จะให้คำยืนยันกับประชาชนอย่างไรว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน หรือการปฏิวัติ พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ถ้าพูดถึงเรื่องการปฏิวัติต้องถามว่ามีเหตุผลอะไร เพราะสถานการณ์ปัจจุบันนั้นทำการปฏิวัติไม่ได้ อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. ก็ระบุแล้วว่าเรื่องการปฏิวัติครั้งที่ผ่านมา คือ ครั้งสุดท้าย ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าประชาชนไม่เห็นชอบด้วย เราสังเกตได้ว่าการปฏิวัติ 2 ครั้งที่ผ่านมา ทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองและการควบคุมสถานการณ์ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างท่วมท้น ตนเป็นทหารอาชีพ ผู้บังคับบัญชาว่าอย่างไรก็ดำเนินการตามนั้น ซึ่งไม่ได้มีปัญหาและทุกคนไม่ต้องกังวลเรื่องการปฏิวัติ เพราะตนยืนยันว่าไม่มี
“การปฏิวัติซ้อนเป็นไปไม่ได้ และไม่มีทาง ผมอยากให้ลบคำนี้ไป อย่ามากังวล อะไรจะเกิดขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ถ้ารัฐบาลปกครองโดยมีคุณธรรมอะไรก็เกิดขึ้นไม่ได้ เรื่องการปฏิวัติ ผมอยากให้ลืมไปเลย และไม่ต้องถามผมอีกแล้ว เพราะจะไม่ตอบอีก การดำเนินงาน 2 ปีของผมจะเน้นหนักเรื่องการช่วยเหลือประชาชน เพราะทหารเป็นที่พึ่งของประชาชนทุกโอกาส กองทัพอยู่อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีไม่ได้ ถ้าประชาชนไม่เอาด้วย ทุกวันนี้ในทุกเรื่องกองทัพยื่นมือเข้าไปทำหมด โดยเฉพาะพร้อมช่วยเหลือทุกเรื่องที่รัฐบาลสั่งการ ทุกคนเป็นคนไทยรักชาติเหมือนกัน แต่วิธีคิดอาจแตกต่างกัน หากหันมาพูดคุยกันแล้วสภาพโดยรวมดีขึ้น ผมคิดว่าเราเดินต่อไปได้” พล.อ.เฉลิมชัย กล่าว

โฆษก ทบ.เผยยังคงติดตามอาวุธที่ถูกยึด

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวว่า กองทัพบกยังคงติดตามกรณีอาวุธ อุปกรณ์ และยานพาหนะของกองทัพบกที่ถูกยึด และถูกทำลายให้เสียหายจากเหตุชุมนุมทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการชุมนุมทางการเมือง เมื่อปี 2553 ที่พบมีการใช้ความรุนแรงของมวลชนและแนวร่วมบางส่วนอย่างกว้างขวาง และส่วนใหญ่จะกระทำกับสถานที่ราชการ องค์กรอิสระ สถานที่สำคัญต่าง ๆ
 
พ.อ.วินธัย กล่าวอีกว่า ส่วนความเสียหายในส่วนของอาวุธและยุทโธปกรณ์ของกองทัพบก พบว่ามีเฉพาะเมื่อปี 2553 ที่มีทั้งถูกทำลายและถูกกลุ่มผู้เห็นต่างยึดไป โดยในภาพรวมมีอาวุธปืนของทางราชการหายไป 86 กระบอก และได้คืน 29 กระบอก เช่น เหตุการณ์ที่เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า มีอาวุธปืนเล็กยาวแบบทราโวร์หายไป 12 กระบอก นำคืนมาได้ 10 กระบอก เหตุการณ์ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีปืนเล็กยาวแบบทราโวร์หายไป 13 กระบอก ได้คืน 3 กระบอก ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ยังคงอยู่ในระหว่างติดตามและดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้ทางราชการ แม้ว่าบางคดีพนักงานอัยการได้สั่งงดการสอบสวน
 
พ.อ.วินธัย กล่าวด้วยว่า สำหรับสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองปี 2556-2557  โดยเฉพาะเป้าหมายการใช้ความรุนแรง มักเกิดเฉพาะกับประชาชนที่มาร่วมชุมนุม กับกลุ่ม กปปส.เป็นหลักเท่านั้น สถานการณ์ความรุนแรงอื่น ๆ จะไม่ค่อยปรากฏ ซึ่งถือว่ามีบริบทที่แตกต่างกับสถานการณ์เมื่อปี 2553 ดังนั้นภาพรวมการบริหารจัดการเพื่อรักษาความสงบและดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ย่อมมีความแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ แต่หลักการขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ความรุนแรง โดยไม่ได้แยกปฏิบัติว่าเป็น นปช.หรือ กปปส.

ผบช.น.หวังปชช.เข้าใจน้ำท่วมเป็นเรื่องนอกเหนือควบคุม ประยุทธ์โทษธรรมชาติ


4 ต.ค.2559 ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. เปิดเผยถึงสภาพการจราจรในช่วงเย็นที่มีฝนตกน้ำท่วมว่า เมื่อวานนี้ตำรวจจราจรได้ออกอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในทุกพื้นที่ โดยช่วงบ่ายวันนี้จะมีการประชุมขับเคลื่อนได้มีการเรียกผู้กำกับการในพื้นที่ สน.ลาดพร้าว บางซื่อ โชคชัย พหลโยธิน ดินแดง มาพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน เบื้องต้นทราบว่าประสานงานร่วมกับกรุงเทพมหานครในการเร่งระบายน้ำแล้ว โดยตนกำชับให้ตำรวจลงพื้นที่อำนวยการแก่ประชาชนจนกว่ารถบนท้องถนนจะคลี่คลาย หวังว่าประชาชนจะเข้าใจเพราะเป็นเรื่องที่นอกเหนือการควบคุม แต่เมื่อวานนี้ยอมรับอาจดูแลไม่ทั่วถึงเพราะตำรวจมีเพียง 3,000 นาย แต่จะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อจะลดปัญหาให้ได้
ขณะที่วานนี้ (3 ต.ค.59) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำในหลายพื้นที่ว่า วันนี้มีน้ำอยู่สองตอนที่จะต้องรู้ คือน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยากับใต้เขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งน้ำเหนือเขื่อนนั้นไหลผ่านหลายจังหวัด หลายแม่น้ำ และระบายไปไหนไม่ได้ เพราะมีประชาชนบางส่วนไม่ให้ระบาย กลัวจะท่วมพื้นที่ ทั้งที่บอกว่าจะเยียวยาให้ก็ไม่เอา แต่ถ้าน้ำน้อยก็ไม่ให้ปล่อย ต้องไปใช้ข้างบนก่อน ข้างล่างก็จะแล้ง เป็นการไม่เข้าใจระบบ แล้วก็ถ่ายรูปตรงที่มีปัญหาน้ำแล้ง แล้วบอกรัฐบาลไม่ดูแล พอตรงนี้ท่วมก็ไปถ่ายมา
"ถามสิว่าสาเหตุจากการท่วมกับแล้งมันเกิดจากอะไร ไม่ได้โทษชาวบ้าน โทษมาจากโน้น ธรรมชาติโน้น การบริหารจัดการน้ำทำได้ไหม ถ้าเขียนกันอยู่แบบนี้มันก็ท่วมกันอยู่แบบนี้มันก็ประท้วงกันแบบนี้ล่ะ ไม่มีจบ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว