วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

นักเรียนไทยในยุโรปลงชื่อแถลงการณ์ อย่าปล่อยให้การเรียกร้อง ปชต.เป็นสิ่งผิด


1 ก.ค.2558   นักเรียนนักศึกษาไทยในหลายประเทศของยุโรปรวม 57 คน ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ ‘เพื่อเพื่อนเรา’ เรียกร้อง 4 ข้อ คือ 1.ขอให้ปล่อยตัวทั้ง 14 คนโดยไม่มีเงื่อนไข 2. สนับสนุนแนวทางของขบวนประชาธิปไตยใหม่ซึ่งมีหลักการ 5 ข้อ 3.เรียกร้องให้องค์กรนานาชาติจับตาสถานการณ์ใกล้ชิดเพราะเป็นการคุกคามทางความคิดที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมประชาธิปไตย 4.ขอให้ประชาชนสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเท่าที่เป็นไปได้ อย่าปล่อยให้การเรียกร้องประชาธิปไตยกลายเป็นสิ่งผิด
ทั้งนี้ ตัวแทนกลุ่มระบุว่า จะนำแถลงการณ์ดังกล่าวไปยื่นกับองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในยุโรป โดยตัวแทนของกลุ่มในฝรั่งเศส จะเข้าพบทูตสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรปที่ปารีส เพื่อยื่นจดหมายในวันที่ 6 กรกฎาคมนี้ สำหรับนักศึกษาในยุโรป ที่อยากจะร่วมลงชื่อเพิ่มเติม สามารถส่งชื่อ นามสกุล มหาวิทยาลัย ประเทศ มาตามอีเมล  europeforthe14@gmail.com

แถลงการณ์ “เพื่อเพื่อนเรา”
จากกลุ่มนักเรียนไทยในยุโรปที่ไม่เอารัฐประหาร
          ตั้งแต่มีการรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มที่ต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างแข็งขันที่สุดกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มนักศึกษา พวกเขามาจากหลายสถาบัน หลายสาขาวิชา หลายภูมิภาค หลายพื้นเพทางสังคม จนกระทั่งอาจมีความคิดความเชื่อทางการเมืองที่หลากหลาย แต่พวกเขาก็ได้รวมตัวกันภายใต้อุดมการณ์ที่ว่า การรัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม สิ่งที่คณะรัฐประหารนำโดยพลเอกประยุทธ จันทร์ โอชาได้ทำ คือการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจอธิปไตยอันเป็นของปวงชน รวมทั้งละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานนานัปการ
         นักศึกษาที่ต่อต้านรัฐประหารได้เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องและด้วยสันติวิธี เป็นการเคลื่อนแบบใหม่ที่สร้างสรรค์ โดยใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในวัฒนธรรมกระแสหลักและในชีวิตประจำวัน เป็นต้นว่าการกินแซนด์วิช การอ่านหนังสือ 1984 จนกระทั่งการชูสามนิ้ว ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อยืนยันถึงสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และคัดค้านการได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่ได้รับการรับรองจากประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งอันเป็นหมุดหลักของการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกทำลายด้วยระบอบความกลัวและเผด็จการทหาร อย่างไรก็ตาม นักศึกษาเหล่านี้กลับโดนคุกคามโดยตลอดจากทหารและตำรวจ หลายคนถูก “เชิญตัว” ไปโรงพักหลายครั้งจนคุ้นหน้าคุ้นตาดีกับเจ้าหน้าที่ ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 นักศึกษาส่วนหนึ่งได้รวมตัวกันอีกครั้งหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เพื่อทำกิจกรรม “ดูนาฬิกา” อย่างสันติ แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ซึ่งมีจำนวนมากกว่านักศึกษาหลายเท่า ใช้กำลังเกินกว่าเหตุควบคุมตัวนักศึกษาราวกับว่าพวกเขาได้ก่อเหตุร้ายแรง ในวันเดียวกันนั้น นักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งได้จัดกิจกรรมชูป้ายต่อต้านรัฐประหารอย่างสันติที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเช่นกัน นักศึกษาเหล่านี้ ได้รับการปล่อยตัว แต่ 16  คนกลับถูกหมายเรียกรายงานตัวตามมาภายหลัง ในวันที่ 24 มิถุนายน  2558  นักศึกษาและนักกิจกรรมที่รวมตัวกันอย่างสันติหน้าหอศิลป์พร้อมนักศึกษากลุ่มดาวดินเดินทางไปที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน กรุงเทพมหานคร  มิใช่เพื่อมอบตัว แต่เพื่อยืนยันว่าพวกเขาไม่มีความผิดและแจ้งความการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ  ซึ่งเป็นเหตุให้นักศึกษาส่วนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ  แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะรับฟ้องคดี แต่ศาลทหารยังดำเนินการออกหมายจับและจับกุมนักศึกษาจำนวน 14 รายในวันที่ 26 มิถุนายน 2558  ขณะนี้พวกเขายังอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐในการฝากขังผลัดแรกจนถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 เป็นเวลา 12 วัน  และอาจถูกดำเนินคดีในศาลทหาร
         ในฐานะส่วนหนึ่งของนักศึกษาในประเทศต่าง ๆ ของยุโรป ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ผ่านประสบการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาอย่างโชกโชน พวกเราขอแสดงความนับถือในความกล้าหาญของนักศึกษาทั้ง 14 คน พวกเขาไม่เพียงเป็นตัวแทนของปัญญาชน ที่มีหน้าที่คิด เขียน วิพากษ์วิจารณ์ แต่ยังเป็นตัวแทนของประชาชนคนธรรมดาที่ออกมาแสดงออกเพื่อยืนยันในสิทธิที่ตนพึงมี โดยยอมแลกกับเสรีภาพอันน้อยนิดที่มีอยู่ภายใต้รัฐเผด็จการ ในวันนี้ พวกเขาถูกกักขังเพียงเพราะพวกเขาคิดและแสดงออกอย่างสันติ แต่ไม่ตรงกับสิ่งที่รัฐต้องการ พวกเขาถูกปฏิบัติราวกับอาชญากร ตำรวจเคลื่อนพลมาเป็นกองร้อยในขณะที่พวกเขารวมตัวกันเพียงสิบ ๆ คนในแต่ละครั้ง ยังไม่นับเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่คอยสะกดรอย และกดดันทางจิตวิทยาอยู่ตลอดเวลา พวกเขาได้แสดงให้เห็นแล้วว่า รัฐเผด็จการนั้นกลัวความแตกต่างและพร้อมจะกระทำเกินกว่าเหตุได้ทุกเมื่อ
        ในฐานะส่วนหนึ่งของนักศึกษาในประเทศต่าง ๆ ของยุโรป พวกเราเชื่อว่าบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาทุกที่ในโลก คือการส่งเสริมให้นักศึกษาได้คิด พูด และแสดงออกในสิ่งที่เชื่ออย่างเป็นเหตุเป็นผล เราเชื่อว่าความแตกต่างในทางความคิด เป็นเรื่องธรรมดาและเป็นสิ่งจำเป็น หากไม่มีการถกเถียง ความรู้ก็ไม่มีทางจะก้าวหน้าได้ไม่ว่าในสาขาใด ๆ และสังคมก็จะไม่มีวันพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตย และเราเชื่อว่าความรู้ ความคิด และความจริงที่เรายึดถือ ไม่ควรเป็นเหตุให้ใครต้องถูกข้อหาร้ายแรงอย่างที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาในประเทศไทยทุกวันนี้ เราจึงมีข้อเรียกร้องดังนี้
  • 1. ขอให้ปล่อยตัวนักศึกษาทั้ง 14 คนทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข พวกเขาเป็นผู้มีเจตนาบริสุทธิ์ เคลื่อนไหวโดยสันติด้วยตนเอง ไม่มีเบื้องหลังชั่วร้ายอย่างที่หลายคนพยายามกล่าวหาโดยไม่มีมูล
  • 2. ขอสนับสนุนกลุ่ม “ประชาธิปไตยใหม่” อันเป็นกลุ่มประชาชนผู้สนับสนุนนักศึกษา โดยมีหลักการ 5 ข้อ คือ หลักประชาธิปไตย หลักความยุติธรรม หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน  หลักสิทธิมนุษยชน และหลักสันติวิธี
  • 3. ขอให้องค์กรนานาชาติ เช่นสหภาพยุโรป สหประชาชาติ และองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติ ร่วมกันจับตามองสถานการณ์ประเทศไทยอย่างใกล้ชิด การคุกคามนักศึกษา เป็นการคุกคามในเชิงความคิด ซึ่งเป็นภัยที่ร้ายแรงต่อสังคมประชาธิปไตย
  • 4. ขอเรียกร้องให้นักศึกษา อาจารย์ และประชาชนในสังคมผู้รักประชาธิปไตย ช่วยกันให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม อย่าปล่อยให้การเรียกร้องประชาธิปไตยกลายเป็นสิ่งที่ผิด

เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ!

ลงชื่อ
  • ณัฐพล สุขประสงค์                     KULeuven, Belgium
  • สรวิชญ์ โตวิวิชญ์                        University of Jyväskylä, Finland
  • คีตนาฏ วรรณบวร                       Sciences Po Paris, France
  • ชิสา อธิพรวัฒนา                        Sciences Po Paris, France
  • ดิน บัวแดง                                 Université Paris-Diderot, France
  • ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข      Sciences Po Paris, France
  • มัธวรรณศ์ สุจริตธนารักษ์           Sciences Po Paris, France
  • รตา สุวรรณทอง                         École Supérieure d'Électricité et Université Paris 11, France
  • วิจิตร ประพงษ์                           Université Paris Descartes, France
  • วิภาวี ศิลป์พิทักษ์สกุล                 Sciences Po Paris, France
  • ภาคภูมิ แสงกนกกุล                    INALCO, France
  • กัณฐณัฏฐ์ ปภพปัญจพัช            Freie Universität Berlin, Germany
  • กอทอง ทองแถม ณ อยุธยา        Hochschule Wismar, Germany
  • ลลิตตา สุริยาอรุณโรจน์              Georg-August-Universitaet, Goettingen, Germany
  • ปรีชา เกียรติกิระขจร                  Georg-August-Universität Göttingen, Germany
  • วีรเดช โขนสันเทียะ                    Georg-August-Universität Göttingen, Germany
  • พรพจน์ ดวงมาลา                       Universität Heidelberg, Germany
  • พีรจุฬา จุฬานนท์                          Humboldt-Universität zu Berlin, Germany
  • พรเทพ สุคนธ์วิมลมาลย์             Technische Universität Dresden, Germany
  • พวงสร้อย อักษรสว่าง                  The university of the Arts, Bremen, Germany
  • สุทธิลักษณ์ โอทาตะวงศ์             Physik Institut, Germany
  • สุนิสา อิทธิชัยโย                         University of Augsburg, Germany
  • สริตา ปิยะวงศ์รุ่งเรือง                  Humboldt Universität zu Berlin, Germany
  • สุขปวีณ์ เวชบุญชู                       Ëotvös Lórand University, Hungary
  • สุลักษณ์ หลำอุบล                      Central European University, Hungary
  • จิราพร เหล่าเจริญวงศ์                University of Amsterdam, The Netherlands
  • ธนัท ปรียานนท์                          Leiden University, the Netherlands
  • นวลขนิษฐ์ พรหมจรรยา             Amsterdam, The Netherlands
  • บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล              University of Amsterdam, The Netherlands
  • ประชาธิป กะทา                         University of Amsterdam, The Netherlands
  • กุลธิดา เลื่องยศลือชากุล            Ивановский государственный университет, Russian Federation
  • เบญจมาศ บุญฤทธิ์                     University of Aberdeen, Scotland
  • อสมา มังกรชัย                           University of Aberdeen, Scotland
  • ทศพล ทรรศนกุลพันธ์                Universitat de Barcelona, Spain
  • เนาวรัตน์ ปริ่นปรีชา                     University of Bern, Switzerland
  • ศิวัตม์ ชื่นเจริญ                           University of Bern, Switzerland
  • กรญาณ์ เตชะวงค์เสถียร            SOAS University of London, UK
  • กฤตภัค งามวาสีนนท์                  King's College London, UK
  • กิตติมา จารีประสิทธิ์                   University of Arts London, UK
  • กุลญาณี จงใจรักษ์                     SOAS University of London, UK
  • จิรธร สกุลวัฒนะ                        SOAS, University of London, UK
  • ชนกพร ชูติกมลธรรม                   SOAS University of London, UK
  • ชาญ นิลเจียรสกุล                       London Business School, UK
  • ธนกาญจน์ ว่องลีลาเศรษฐ์         University of Kent, UK
  • ธนวัฒน์ ศิลาพร                         SOAS, University of London, UK
  • ธีรดา ณ จัตุรัส                           University of Westminster, London, U.K.
  • พลอยใจ ปิ่นตบแต่ง                    University of Sussex, UK
  • พิมพ์ชนก มีศรี                          University of Kent, UK
  • โม จิรชัยสกุล                              Royal College of Art, London, UK
  • วันรัก สุวรรณวัฒนา                    University of Oxford, UK
  • วิรุจ ภูริชานนท์                            Kingston University , UK
  • วิภาช ภูริชานนท์                         University of London, UK
  • ศิรดา เขมานิฏฐาไท                   London School of Economics and Political Science, UK
  • สุธิดา วิมุตติโกศล                       King’s College London, UK
  • สายใจ ตันติวิท                         The London School of Economics and Political Sciences, UK
  • อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา                     Goldsmiths, University of London, UK
  • เอกสุดา สิงห์ลำพอง                   University of Sussex, UK


‘ครูประทีป’ เผย ถูกตร.เรียกจริง คาดปม ‘ส. ศิวรักษ์’ วิทยากรวงเสวนา ถูกฟ้องพาดพิงเบื้องสูง




1 ก.ค. 2558 ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร, นักสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ได้รับหมายเรียกจาก ตำรวจ สภ.ปากคลองรังสิต ให้ไปเป็นพยาน กรณีมีการจัดงานเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “พัฒนาการของไทยภายหลัง 83 ปีของการอภิวัฒน์สยาม 2475” ที่ มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อวันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2558
มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า ประทีป คาดว่า น่าจะมีผู้เข้าแจ้งความ หนึ่งในวิทยากร โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุในหมายเรียกว่า ในงานเสวนามีการกล่าวพาดพิงเบื้องสูง ซึ่ง ประทีป คาดว่าจะเป็นคำพูดของวิทยากรท่านหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็น ส ศิวรักษ์ ทั้งนี้ จะยังไม่ไปรายงานตัวตามหมายเรียกในวันที่ 9 ก.ค. เนื่องจากติดภารกิจ และจะขอดูบันทึกภาพในงานก่อน
ทั้งนี้งานเสวนาดังกล่าวมี วิทยากรประกอบด้วย สุลักษณ์ ศิวรักษ์(ส. ศิวรักษ์) โอฬาร ไชยประวัติ อนุสรณ์ ธรรมใจ ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ และ วิทยากร เชียงกูล

‘พ่อไผ่ ดาวดิน’ เผย ‘ทหาร-ตร.’ มาบ้าน เปิดจม.ถึง กสม.สอบปมคดี 14 นศ.-นักกิจกรรม

1 ก.ค.2558 เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ดาวดิน สังกัดพรรคสามัญชน’ เผยแพร่วิดีโอคลิปสัมภาษณ์ วิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดาของ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน โดย วิบูลย์ เล่าว่า มีโทรศัพท์จากปลัดอำเภอภูเขียว จ.ชัยภูมิ สอบถามถึงการเคลื่อนไหวของตน จึงได้แจ้งไปว่ามาเยี่ยมลูกชายกับภรรยาที่กรุงเทพ รวมทั้งสอบถามด้วยวาจะกลับภูเขียวเมื่อไหร่
วิบูลย์ เล่าต่อด้วยว่า จากนั้นทางบ้านที่ภูเขียว โทรศัพท์มาว่ามีตำรวจในเครื่องแบบ 5 นาย และนอก



          วิบูลย์ ยังโพสต์จดหมายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึง นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ในการจับกุม ดำเนินคดีและไต่สวนนักศึกษานักกิจกรรม 14 ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ดังนี้

ผู้บริหารไทยพีบีเอสยันเสนอข่าว น.ศ. ทำตามหน้าที่ทีวีสาธารณะ


วันชัยเผย กสทช.เรียกชี้แจงกรณีเสนอข่าวนักศึกษา หลังมีผู้ร้องเสนอข่าวสร้างความแตกแยก ยันทำตามหน้าที่ทีวีสาธารณะ 
2 ก.ค. 2558 ไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงานว่า วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2558 กสทช.ได้เรียกผู้บริหาร ส.ส.ท.ไปชี้แจงเรื่องการรายงานข่าวเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษา ซึ่งมีผู้ร้องเรียนมาว่ารายงานเรื่อง "วิเคราะห์ความเคลื่อนไหวกลุ่มนักศึกษาภายใต้การบริหารประเทศ คสช." ออกอากาศทางรายการที่นี่ไทยพีบีเอสเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2558 นั้นมีเนื้อหาที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม
วันชัยกล่าวว่า กสทช.ได้เชิญทางผู้บริหารของไทยพีบีเอสไปชี้แจงเนื่องจากมีผู้ร้องว่ารายงานที่ออกอากาศทางรายการที่นี่ไทยพีบีเอส วันที่ 25 มิ.ย.2558 มีเนื้อหาที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เข้าใจผิด ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม ซึ่งในการออกอากาศเนื้อหารายการอาจจะขัดกับประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 97/2557 เรื่องการให้ความร่วมมือกับการปฏิบัติงานของ คสช.และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและประกาศ คสช.ฉบับที่ 103 และอาจขัดต่อมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551
"คณะผู้บริหารก็ได้ไปชี้แจงให้ทางอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. เวลา 13.30 น. ซึ่งผมเองในฐานะที่เป็น 1 ในตัวแทนผู้บริหารได้ชี้แจงให้ทางคณะอนุกรรมการได้ฟังว่า ที่ผ่านมา บทบาทของไทยพีบีเอสในฐานะที่เป็นทีวีสาธารณะได้ทำหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ของไทยพีบีเอสตามข้อที่ 4 คือ "ส่งเสริมเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนได้รับข่าวสารอย่างเท่าเทียมกัน" และข้อ 5 "สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อมในการกำหนดทิศทางการให้บริการขององค์การเพื่อประโยชน์สาธารณะ" ซึ่งเราก็ได้เรียนชี้แจงให้อนุกรรมการฟังว่าเราก็ทำตามหน้าที่ตาม พ.ร.บ. นอกจากนั้นก็ได้มีการเปิดคลิปรายงานดังกล่าวให้คณะอนุกรรมการฯ ได้ชม ซึ่งก็ได้มีการซักถามเรื่องการถ่ายทำทั่วไป ซึ่งคุณก่อเขต จันทรเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวก็ได้อธิบายให้ฟัง
"หลังจากนี้ทางคณะอนุกรรมการฯ จะพิจารณาอย่างไรก็ถือว่าเป็นดุลยพินิจของอนุกรรมการฯ ซึ่งหลังจากชี้แจงแล้ว ทาง กสทช.ก็ยังไม่ได้แจ้งกลับทางไทยพีบีเอสกลับมา ซึ่งเมื่ออนุกรรมการฯ มีมติและได้แจ้งมตินั้นให้เราทราบแล้ว ทางผู้บริหารไทยพีบีเอสก็จะหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป" นายวันชัยกล่าว
รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท.กล่าวว่า ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 2-3 ปีที่ทาง กสทช.ได้เรียกผู้บริหารของไทยพีบีเอสเข้าไปพบอย่างเป็นทางการ พร้อมกับชี้แจงกรณีที่มีข่าวว่าผู้บริหารได้ตัดเงินเดือนของพนักงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้่ว่าข่าวนี้ไม่เป็นความจริง
สำหรับรายการ “ที่นี่ Thai PBS” ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 21.15 - 22.00 น. ที่ช่อง Thai PBS โดยเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ได้นำเสนอข่าวการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา ทั้งการชุมนุมที่บริเวณ สน. ปทุมวัน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. โดยไม่ถูกจับกุมและดำเนินข้อหาเพิ่มเติม และการเดินทางไปตามสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมือง พร้อมทั้งปักหลักชุมนุม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวไม่มีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐเข้ามาขัดขวาง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แตกต่างไปจากการรับมือกับการชุมนุมอื่นๆ ของรัฐบาลภายหลังรัฐประหาร
นอกจากนี้ เทปดังกล่าวยังได้สัมภาษณ์แหล่งข่าว 3 รายประกอบด้วย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งให้สัมภาษณ์ว่า นักศึกษาต้องการชี้แจงให้สังคมรับทราบว่า การยึดกุมอำนาจของทหารนั้นส่งผลกระทบไปในวงกว้างมากกว่าระดับขั้วอำนาจ อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานญาติวีรชนเดือนพฤษภาคม 2535 ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ เป็นสีสันของประชาธิปไตย และการยุติการชุมนุมทั้งสองครั้งโดยไม่มีการขัดขวางจากเจ้าหน้าที่รัฐ และธีระ สุธีวรางกูล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า เกิดจากการที่เจ้าหน้าที่และกลุ่มนักศึกษา ต่างก็รู้เข้าใจความจำเป็นของการปฏิบัติหน้าที่ และความต้องการในการใช้สิทธิของแต่ละฝ่าย

แอมเนสตี้ฯ สนง.ใหญ่ รณรงค์สมาชิกทั่วโลกส่ง จ.ม.ถึงนายก 'ตู่' จี้ปล่อย น.ศ.


แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานใหญ่ลอนดอน รณรงค์ให้สมาชิกทั่วโลกเขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีและ ผบ.ตร.ไทย เรียกร้องปล่อยนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข และให้ยกเลิกข้อหาทั้งหมด
2 ก.ค.2558 สำนักงานเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ลอนดอน ออกปฏิบัติการด่วนเรียกร้องสมาชิกทั่วโลกส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของไทย เรียกร้องให้ปล่อยตัวเยาวชนและนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่โดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข และให้ยกเลิกข้อหากับนักศึกษาทั้งหมด
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่ปฏิบัติการด่วนบนเว็บไซต์ แอมเนสตี้ ประเทศไทย รณรงค์ให้สมาชิกแอมเนสตี้ทั่วโลกเขียนจดหมายเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาของสมาชิกในแต่ละประเทศ ส่งถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เรียกร้องให้ปล่อยตัวเยาวชนและนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ทั้ง 14 คน ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข รวมถึงให้ยกเลิกข้อหาต่อนักศึกษาทั้งหมด โดยรวมไปถึงธัชพงศ์ แกดำ และนัชชชา กองอุดม  สองนักศึกษาที่ถูกจับกุมก่อนหน้านี้ และได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมา
ในปฏิบัติการระบุว่า เยาวชนและนักศึกษาทั้ง 14 คน ถูกลิดรอนสิทธิเนื่องจากการใช้สิทธิมนุษยชนในการชุมนุมอย่างสงบ จึงถือเป็นนักโทษทางความคิด ทั้งนี้ ในปฏิบัติการระบุถึงข้อเรียกร้อง ดังนี้
- นักศึกษาทั้ง 14 คน ต้องไม่ถูกทรมานหรือถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายในระหว่างที่รอการปล่อยตัว สามารถเข้าถึงทนายความที่พวกเขาเลือก และได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเพียงพอ รวมถึงสมาชิกครอบครัวต้องสามารถเข้าเยี่ยมได้
- ให้ทางการไทยยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายและคำสั่งทุกฉบับ ที่จำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบโดยพลการ  ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
อนึ่ง การรณรงค์ดังกล่าวจะมีไปถึงวันที่ 11 สิงหาคมนี้

สันติบาล เข้าพบอาจารย์ มน. ทหาร เข้าปรามชาวบ้าน จ.ขอนแก่น ห้ามเคลื่อนไหว

ภาพการเข้าพบของเจ้าหน้าที่ ที่ อ.น้ำพอง
ทหาร เข้าพูคคุยชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนามูล-ดูลสาด ปรามอย่าเคลื่อนไหว แม้กระทั่งโพสต์เฟซบุ๊ก ด้านตำรวจสันติบาล เข้าพบอาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร ถามจะมีการเคลื่อนไหวอีกอีกหรือไม่
2 ก.ค. 2558 เฟซบุ๊กแฟนเพจศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า 1 ในอาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร(ขอสงวนนาม) ให้ข่าวกับศูนย์ทนายฯว่าวันนี้มีเจ้าหน้าที่สันติบาลจังหวัดพิษณุโลกมาที่มา หาที่มหาวิทยาลัยเรียกพบอาจารย์ในม.นเรศวรที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์จากเครือ ข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง ฉบับที่ 1 ที่เรียกร้องให้ปล่อยตัว 14 น.ศ. ทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และไม่ให้มีการตั้งข้อหาหรือดำเนินคดี
อาจารย์คนดังกล่าวเล่าว่ามีสันติบาลนอกเครื่องแบบราว 4-5 นาย มาเรียกพบแต่ก็ได้แสดงบัตรประจำตัวให้ดู โดยการ เรียกพบอาจารย์เจ้าหน้าที่ได้มีรายชื่อของอาจารย์ที่ร่วมลงชื่อทั้งหมด17 ราย ของม.นเรศวร แต่อาจารย์ตามรายชื่อไม่ได้มาครบทุกคน การเรียบพบครั้งนี้สันติบาลได้ถามว่าพวกอาจารย์ได้ลงชื่อในแถลงการณ์เองหรือ ไม่หรือว่ามีใครแอบอ้างนำชื่อไปลงในแถลงการณ์ และถามว่าจะมีการเคลื่อนไหวอะไรอีกหรือไม่ ซึ่งเขาก็ตอบสันติบาลไปว่าขึ้นอยู่กับสถานการณ์
ขณะเดียวกัน ศูนย์ทนายฯ ได้รับแจ้งว่า มีปลัดอำเภอกระนวนและทหารในเครื่องแบบจากกองพลทหารม้าที่ 3 ค่ายเปรมติณสูลานนท์ ไปหาที่บ้านของสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนามูล-ดูนสาด(ขอนแก่น) ในเวลา ประมาณ 19.00 น.เมื่อวานนี้(1 ก.ค.2558) โดยเจ้าหน้าที่ได้ขอร้องและทำความเข้าใจว่าไม่อยากให้มีการเคลื่อนไหว โพสต์สเตตัสในแฟนเพจเฟซบุ๊กหรือทำสิ่งใดๆ ที่เป็นการสนับสนุนหรือให้กำลังใจกลุ่มดาวดิน แต่ไม่ได้มีการเตือนว่าจะดำเนินการอะไรถ้าไม่ทำตาม

และวันนี้(2 ก.ค.) ปลัดอำเภอน้ำพองพร้อมทหารชุดเดียวกันกับที่ไปหาสมาชิกของกลุ่มอนุรักษ์สิ่ง แวดล้อมนามูล-ดูนสาด ได้ไปหา ระเบียง แข็งขัน สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ห้วยเสือเต้นและโคกหินขาว(ขอนแก่น) ที่อ.น้ำพองด้วยเหตุผลเดียวกัน

พลเมืองโต้กลับ ชวน โพสต์อิสรภาพ


กลุ่มพลเมืองโต้กลับ เผยแพร่ คลิปวิดีโอ “เพราะเราคือเพื่อนกัน” ชวน เพื่อน โพสต์อิสรภาพ 3 ก.ค.
2 ก.ค. 2558 กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอชื่อว่า "เพราะเราคือเพื่อนกัน" หลังจากที่นักศึกษา นักกิจกรรม กลุ่มดาวดิน และกลุ่มหน้าหอศิลป์ ที่รวมตัวในนาม "ขบวนการประชาธิปไตยใหม่" จำนวน 14 ราย ถูกควบคุมตัวที่สวนเงินมีมา มูลนิธิเสฐียรโกเศศ นาคะประทีป และนำตัวไปที่สน.พระราชวัง ก่อนที่ถูกส่งตัวไปฝากยังศาลทหาร ถนนหลักเมือง เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2558
พร้อมกันนี้ยังได้เชิญชวนร่วมกิจกรรมเขียนความในใจ ถึงเพื่อนเราทั้ง 14 คนที่ถูกคุมขังจากกฎอยุติธรรม ในวันที่ 3 ก.ค. เวลา 18.00 น. บริเวณสกายวอล์คสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ โดยมีรายละเอียดดังนี้
“เพื่อนๆทุกคนรู้ดีอยู่แล้วว่า อำนาจยิ่งล้นฟ้า ยิ่งต้องได้รับการตรวจสอบ”
“เพื่อนๆจะทำอย่างไร ถ้าบ้านของเรา ชุมชนของเรา ซึ่งตั้งรกรากมานานแสนนาน กลายเป็นเหมืองทองคำ ซึ่งกระบวนการการผลิตนั้น ได้ทำให้สารเคมีรั่วซึมสู่แหล่งน้ำสาธารณะ”
“เพื่อนๆจะทำอย่างไร ถ้าสังคมที่เราอยู่กันมา วันหนึ่ง ไม่สามารถกินแซนด์วิช ไม่สามารถชูสามนิ้ว หรือแม้กระทั่งไม่สามารถอ่านหนังสือ 1984”
“ถ้าการต่อสู้อย่างสันติวิธีกลายเป็นอาชญากรรม ถ้าการเรียกร้องประชาธิปไตยกลายเป็นความผิด ถ้าการสนับสนุนสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน กลายเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ”
“ถ้าการเพรียกหาความยุติธรรม กลายเป็นการถูกลงโทษทัณฑ์ ประเทศแบบไหนกันที่เราต้องการ ประเทศแบบไหนกันที่เราใฝ่ฝันถึง”
“โจทย์ของพวกเขา มุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม ให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น และเป็นปากเป็นเสียง ให้กับคนเล็กคนน้อย เพื่อการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม”
“โจทย์ของพวกเขา มุ่งหวังจะเปลี่ยนแปลงสังคม ให้มิสิทธิเสรีภาพ ทุกคนสามารถเป็นปากเป็นเสียงให้กับตัวเองและผู้อื่น เราควรมีสิทธิ์เลือกทางเดินชีวิตของตัวเอง แต่สิ่งที่ได้รับ คือการสูญสิ้นอิสรภาพ แล้วพวกเราทำอะไรกันอยู่”
“วันนี้ พวกเราลุกขึ้นมาพูด ลุกขึ้นมาเพื่อแสดงตัวตน”
“ลุกขึ้นมา เพื่อให้พวกเขารับรู้ว่า พวกเขา จะไม่เดินไปบนถนนสายนี้เพียงลำพัง วันนี้ เพื่อนของเรา คนตัวเล็กๆที่ต่อสู้ในสิ่งที่เขาเชื่อ”
“คนตัวเล็กๆที่ต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่า”
“คนตัวเล็กๆที่ต่อสู้แทนพวกเรา”
“พวกเขาต้องสูญเสียอิสรภาพ ถูกคุมขังอยู่ข้างใน ทิ้งให้คนที่รักและห่วงใยเขา อยู่ข้างนอก”
“ไม่ว่าจะอย่างไร แม่จะยืนเคียงข้างลูกเสมอ ทั้งเบื้องหน้า เบื้องหลัง เบื้องข้าง หันไปทางไหน จะเห็นแม่อยู่ที่นั้น”
“แม่ก็เหมือนแม่คนธรรมดาทั่วไป ที่ต้องการให้ลูกจบ มีงานทำ แต่สิ่งที่ลูกทำเพื่อชุมชน และเพื่อนมนุษย์ แม่ไม่เคยเสียใจ และแม่จะเป็นพลังต่อสู้กับลูกต่อไป ถึงแม้สังคมจะมองไม่เห็น หรือใครจะกล่าวหายังไงก็ช่าง ความจริงก็คือความจริง เราจะร่วมต่อสู้เพื่อสังคมต่อไป ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ”
“แม้พวกเราจะเป็นสามัญชนคนธรรมดา แต่พวกเราก็เชื่อว่า พลังของคนธรรมดานี่แหล่ะ ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้”
“อย่ารอให้ใครมาเรียกร้องแทนเรา จงเรียกร้องด้วยสิทธิ์ และเสียงของเราเอง เราขอเพียงสิทธิ์ที่จะได้แสดงออกเยี่ยงอิสระชน  ขอเพียงความเป็นคนที่เท่าเทียม ขอเพียงประชาธิปไตยที่แท้จริง”
“เพื่อนเอ๋ย แม้ว่าการต่อสู้ดิ้นรน จะนำมาซึ่งความเจ็บปวด แต่การนิ่งเฉยก็เจ็บปวดไม่แพ้กันไม่ใช่หรือ เราจะเปล่งคำว่าเราคือเพื่อนกันได้อย่างไร หากเราไม่ได้ลุกขึ้นมาทำอะไรร่วมกัน นาทีเนี้ย ถ้าไม่เป็นเพื่อนกับประชาชน แล้วเราจะเป็นเพื่อนกับใคร เราคือเพื่อนกัน”
 “อิสรภาพที่ยังขาดหาย เติมเต็มได้ด้วยมือคุณ”
“โพสต์อิสรภาพ 6 โมงเย็น ศุกร์ที่ 3 ก.ค. 58 สกายวอล์ครถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ”

เปิดแผนปฏิรูปรัฐวิสาหกิจไทย เล็งตั้ง 'บรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ' บริหารแทนกระทรวงต้นสังกัด


เสวนาปฏิรูปรัฐวิสาหกิจไทย บรรยง – วิรไท ชี้ปัญหาไม่มีประสิทธิภาพเกิดจากความทับซ้อน ต้องแยกส่วนรัฐวิสาหกิจ เตรียมจัดตั้งองค์กรเจ้าของ พร้อมนำร่องปฏิรูป 12 บริษัท
1 ก.ค.2558 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดงานเสวนา ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจไทย: ข้อเสนอและความท้าทาย เพื่อนำเสนอแผนการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ที่ดำเนินการโดย คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งด้วยคำสั่ง คสช.ที่ 75/2557   โดยในงานเสวนานี้มี บรรยง พงษ์พานิช และ วิรไท สันติประภพ กรรมการจาก คนร.เป็นผู้นำเสนอ และร่วมเสวนาโดย ศ.ดร. สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวิโรจน์ อาลี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บรรยง นำเสนอปัญหารัฐวิสาหกิจ
บรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน-ภัทร นำเสนอถึงปัญหาและสาเหตุที่ต้องมีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจในประเด็นต่างๆ ดังนี้
-รัฐวิสาหกิจมีขนาดใหญ่และสำคัญมาก : เนื่องจากรัฐวิสาหกิจขยายขนาดขึ้นมากตลอดสิบปีที่ผ่านมา โดยมีขนาดเพิ่มขึ้นกว่าสามเท่า  และใช้ทรัพยากรของประเทศเป็นจำนวนมหาศาล เงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจในแต่ละปีมีขนาดใหญ่เทียบเท่า หรือใหญ่กว่า งบลงทุนของรัฐบาลทั้งหมด  แต่ในด้านของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) กลับให้ผลตอบแทนไม่ถึง 3%  โดยบรรยงเปรียบเทียบกับประเทศจีน ที่ทำแผนปฏิรูปรัฐวิสาหกิจตั้งแต่ ROA ลดจาก 8% เหลือไม่ถึง 7%
- รัฐวิสาหกิจไม่มีประสิทธิภาพและไม่สามารถแข่งขันได้ :  กิจการรัฐวิสาหกิจที่สามารถทำกำไรได้ ส่วนใหญ่เป็นกิจการผูกขาด อาทิ บริษัทท่าอากาศยานไทย (ทอท.), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), หรือ บริษัท ปตท. แต่ก็มีปัญหาในด้านประสิทธิภาพเช่นกรณีท่อส่งแก๊สของ ปตท. เป็นต้น   ส่วนทางด้านกิจการรัฐวิสาหกิจที่ต้องแข่งกับเอกชนหลายแห่งขาดทุน  นายบรรยงยกตัวอย่าง กสท.โทรคมนาคม กับ TOT  ที่ต้องแข่งขันกับบริษัทเอกชนอย่าง AIS, DTAC หรือ True ซึ่งบริษัทรัฐวิสาหกิจทั้ง กสท.โทรคมนาคมและ TOT มีรายได้ต่ำกว่าบริษัทเอกชนอย่างเห็นได้ชัด
-สาเหตุหลักที่ทำให้รัฐวิสาหกิจไม่มีประสิทธิภาพ ก็คือโครงสร้างการกำกับดูแลในปัจจุบัน
- อยู่ภายใต้กระทรวงเจ้าสังกัดและระเบียบของข้าราชการซึ่งไม่มีความคล่องตัว แข่งขันกับเอกชนไม่ได้
- กระทรวงใช้รัฐวิสาหกิจดำเนินนโยบายโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนต่อรัฐวิสาหกิจ ทำให้รัฐวิสาหกิจขาดทุน
- กระทรวงไม่กำกับดูแลให้รัฐวิสาหกิจมีการแข่งขันกับเอกชนอย่างเป็นธรรม  ทำให้รัฐวิสาหกิจบางกิจการมีกำไรเกินควร โดยไม่จำเป็นต้องพัฒนาประสิทธิภาพ
- กระทรวงไม่ทำหน้าที่ของเจ้าของที่ดี แต่งตั้งกรรมการที่ไม่เหมาะสม ไม่กวดขันเรื่องธรรมาภิบาล และความโปร่งใส เพราะต้องการใช้รัฐวิสาหกิจเป็นช่องทางในการคอร์รัปชั่น
- ขาดผู้ทำหน้าที่เป็นเจ้าของ ซึ่งมีความชำนาญเทียบเท่าเอกชน ทำให้ไม่มีผู้ทำหน้าที่แต่งตั้งกรรมการและควบคุมกลไกบรรษัทภิบาลของรัฐวิสาหกิจให้ได้มาตรฐาน มีความโปร่งใส มีการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ
ที่ปรึกษา TDRI นำเสนอทางออก
วิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นำเสนอเหตุผลเพิ่มเติมที่ควรปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ   เพราะกิจการของรัฐวิสาหกิจให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) อาทิ การไฟฟ้า การคมนาคม ซึ่งเป็นต้นทุนสำหรับการทำธุรกิจ  ถ้ารัฐวิสาหกิจให้บริการไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ต้นทุนมีราคาแพง การแข่งขันทางธุรกิจก็จะทำได้ยากขึ้น
นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจเป็นช่องทางทำนโยบายประชานิยมที่ไม่รับผิดชอบ ด้วยนโยบายเช่นรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี ซึ่งทำให้รัฐวิสาหกิจต้องรับภาระเพิ่มขึ้น จึงขอลงทุนจากรัฐมากขึ้นเพื่อ “กวาดปัญหาไว้ใต้พรม”
วิรไทนำเสนอรูปแบบพัฒนาการขององค์กรเจ้าของรัฐวิสาหกิจ 3 รูปแบบ
1.แบบกระจายอำนาจ (Decentralized) :  หน้าที่การเป็นเจ้าของอยู่ที่กระทรวงต้นสังกัด มีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ
2.แบบหน่วยงานที่ปรึกษา (Advisory) : มีหน่วยงานเป็นคนกลาง คอยวางมาตรฐานและกำกับดูแล แต่หน้าที่การเป็นเจ้าของอยู่ที่กระทรวงต้นสังกัด   ซึ่งเป็นแบบที่ไทยใช้อยู่ตอนนี้
3.แบบรวมศูนย์ (Centralized) : หน้าที่การเป็นเจ้าของรวมศูนย์อยู่ที่หน่วยงานหรือกลุ่มหน่วยงาน 2-3หน่วยงาน เป็นองค์กรเจ้าของ (ownership agency) มีอิสระจากการเมือง แต่ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล ซึ่งเป็นรูปแบบที่วิรไทเสนอว่ามีประสิทธิภาพที่สุด
วิรไทอธิบายต่อไป โดยเปรียบเทียบแบบหน่วยงานที่ปรึกษากับแบบรวมศูนย์  ว่าแบบหน่วยงานที่ปรึกษานั้นมีความสับสนทับซ้อน  แต่ถ้าแบบรวมศูนย์นั้น จะแบ่งแยกชัดเจน  โดยอำนาจสูงสุดอยู่ที่ฝ่ายบริหาร (รัฐ)  กระทรวงเจ้าสังกัดเป็นผู้กำหนดนโยบาย (Policy Maker) องค์กรเจ้าของเป็นผู้ดูแล (Owner) มีอำนาจตัดสินใจและบริหารจัดการ และมีหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) คอยดูแลควบคุมให้มีมาตรฐาน  และรัฐวิสาหกิจจะเป็นผู้เล่น (Operator) คอยให้บริการเท่านั้น
โดยองค์กรเจ้าของ ที่ คนร.เสนอชื่อว่า บรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ (อาจมีการปรับเปลี่ยนชื่อได้) จะมีอำนาจหน้าที่ในการรับโอนหุ้นและอำนาจการบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจมาไว้ที่บรรษัท สามารถใช้อำนาจแทนกระทรวงเจ้าสังกัด มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อให้สามารถนำคนที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาทำงานได้โดยตรง มีอำนาจต่อรองงบประมาณ พิจารณางบลงทุน  เพื่อให้รัฐวิสาหกิจสามารถประกอบการได้ตามที่กระทรวงเจ้าสังกัดกำหนดนโยบายเพื่อประโยชน์สาธารณะได้สูงสุด 
องค์กรเจ้าของในลักษณะนี้ เช่นบริษัท เทมาเส็กของสิงคโปร์ ที่มีหน้าที่เป็นเจ้าของและสามารถบริหารทรัพย์สินอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ดี วิรไทกล่าวว่าบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติจะไม่บริหารจัดการด้วยดุลพินิจในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มที่อย่างเทมาเส็ก
วิรไทกล่าวต่อไปว่า มิติอื่นที่สำคัญนอกจากการจัดตั้งองค์กรเจ้าของแบบรวมศูนย์แล้ว  การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้ความสำคัญต่อ:
- การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ และทบทวนรูปแบบองค์กรที่เหมาะสมของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง
- วางระบบการเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจที่โปร่งใส
- กระบวนการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งการกำหนดคุณสมบัติกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้ได้คนที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางเข้ามาบริหารกิจการรัฐวิสาหกิจนั้นๆ
- การส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมเท่าเทียมระหว่างรัฐวิสาหกิจกับผู้ประกอบการเอกชน รวมทั้งทบทวนระบบการให้เงินอุดหนุนของรัฐบาล เนื่องจากในบางกิจการ รัฐวิสาหกิจเป็นผู้เล่นรายใหญ่ ซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันกันอย่างเสรี
- การแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของรัฐวิสาหกิจเฉพาะแห่ง
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. เปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย
ศ.ดร. สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวเสริมปัญหาของรัฐวิสาหกิจอีกประเด็น  ก็คือประเด็นการเงินการคลังสาธารณะ หรือ Public finance โดยจะเห็นได้ว่า ในปัจจุบัน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พยายามปฏิรูปวิธีการระบุงบประมาณระหว่างประเทศ เนื่องจากภายใต้ระบบงบประมาณปัจจุบัน เราเห็นแต่งบประมาณรายจ่ายของประเทศ  โดยสิ่งที่หายไปคือฐานะสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจ การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งไม่เคยปรากฏอยู่ในการวิเคราะห์พิจารณางบประมาณของประเทศไทย  ทำให้เห็นช่องโหว่ของทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของประเทศที่เราไม่สามารถเห็นภาพใหญ่ทั้งหมดได้
สกนธ์ยังกล่าวถึงความกังวลเกี่ยวกับผู้กำกับดูแล (Regulator) ว่าการบริหารแบบรวมศูนย์นั้นมีข้อดีคือได้เห็นภาพรวมขององค์กรทั้งหลาย แต่อำนาจบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานกำกับอย่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มีมากน้อยเพียงใด เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา อำนาจหน้าที่การตัดสินใจ สคร.ไม่ได้ถูกจัดให้มีความคงที่
อย่างไรก็ดี เขาเห็นด้วยและสนับสนุนการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ  โดยยกข้อดีว่า :

- จะมีความโปร่งใส  สามารถเปิดโอกาสให้เกิดการเผยแพร่ข้อมูล แต่ก็ต้องมีการจำแนกประเภทและบทบาทของ ผู้กำหนดนโยบาย (Policy maker) องค์กรเจ้าของ (Owner) และผู้กำกับดูแล (Regulator) ให้ชัดเจน และสามารถเปิดเผยตรวจสอบทั้งสามส่วนได้ทุกขั้นตอน
- จะเปิดโอกาสให้มีมืออาชีพหรือผู้ชำนาญการในกิจการนั้นๆ ได้เข้ามาทำงาน และตัดโอกาสการแทรกแซงทางการเมือง
- จะเป็นโอกาสเพิ่มสินทรัพย์ของรัฐ  ปลดเปลื้องภาระของรัฐในการเข้าไปอุ้มชูรัฐวิสาหกิจที่มักใช้วิธีการกู้ยืมมาลงทุนเพิ่มเติม
แต่การจัดตั้งองค์กรเจ้าของ ก็อาจมีข้อเสียคือมีความสุ่มเสี่ยงจะขาดทุนได้  และหากองค์กรเจ้าของขาดทุน ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
สกนธ์ตั้งข้อสังเกตว่า  ยังไม่เห็นเป้าหมายการดำเนินการของบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติที่เห็นภาพชัดเจน รวมไปถึงว่าหากมีการจัดตั้งขึ้น จะจำแนกแยกแยะคนที่มาเข้าร่วมได้อย่างไร 
วิโรจน์เสริมด้วยมุมมองจากนักรัฐศาสตร์
วิโรจน์ อาลี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ. เห็นด้วยว่าต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ก็แสดงความกังวลว่า เมื่อถึงเวลาที่ต้องผ่านเรื่องการปฏิรูปนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะยอมให้มีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจหรือไม่ เพราะข้าราชการซึ่งเป็นฐานหนึ่งที่ค้ำยันอำนาจของ คสช.อยู่นั้น ก็เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในรัฐวิสาหกิจด้วย  แต่ในขณะเดียวกัน นับวัน นายกรัฐมนตรีก็ยิ่งถูกกดดันจากปัญหาการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจเช่นกัน
วิโรจน์ยกประเด็นเรื่อง  อุดมการณ์ หรือว่า Ideology ของรัฐ ซึ่งจะเป็นหัวใจที่กำหนดว่ารัฐควรทำอะไร  ซึ่งประเทศไทยมีความสับสนไม่ชัดเจนในเรื่องนี้มานับสิบปี   ดังนั้นการกำหนดยุทธศาสตร์ หรือบทบาทของรัฐไทยให้ชัดเจน จึงจำเป็นในการพัฒนาประเทศให้ได้ประโยชน์สูงสุด
สำหรับประเด็นการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ วิโรจน์ ตั้งคำถามเกี่ยวกับการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ ว่าเป็นใคร มีที่มาอย่างไร อาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่   วิโรจน์ยกตัวอย่างบริษัทเทมาเส็ก ที่ก็มีปัญหา นักการเมืองเข้าไปมีตำแหน่ง  อย่างไรก็ดีเขากล่าวว่า การมีผลประโยชน์ทับซ้อนมีได้ แต่ทำอย่างไรให้กระบวนการบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ โปร่งใสเปิดเผยได้ และทำให้รัฐวิสาหกิจเกิดประสิทธิภาพผลสูงสุด พร้อมตั้งคำถามต่อไปด้วยว่า หากมีการปฏิรูป พนักงานในรัฐวิสาหกิจหรือว่าสหภาพต่างๆ จะต้องตกงานหรือไม่
ด้านบรรยง กล่าวว่ารัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือของรัฐ จะไม่มีนักการเมืองยุ่งเกี่ยวไม่ได้ ดังนั้นหลักการสำคัญคือแยกบทบาทของฝ่ายการเมือง ให้เป็นผู้กำหนดนโยบาย (Policy maker) เท่านั้น  ไม่ข้องเกี่ยวกับผู้กำกับดูแล (Regulator) โดยวิรไทเสริมในประเด็นนี้ว่า ต้องมีการร่าง Statement of Direction ที่ต้องระบุชัดเจนว่า รัฐวิสาหกิจจะทำกิจการเพื่อบริการสังคมแค่ไหน และทำเชิงพาณิชย์เพื่อความอยู่รอดแค่ไหน
ศ.ดร. สกนธ์ ตั้งคำถามเกี่ยวกับหน่วยงานกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ในปัจจุบัน ว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนบทบาทจัดตั้งหน่วยงานกำกับใหม่หรือไม่  ด้านวิรไทกล่าวว่า หน่วยงานกำกับดูแลจะไม่ต้องเปลี่ยนบทบาท แต่จะมีความชัดเจนขึ้นว่าจะกำกับดูแลใคร  ปัจจุบันยังมีบางองค์กรที่หน้าที่ทับซ้อนกันเช่น กระทรวงต้นสังกัดเป็นทั้งเจ้าของและผู้กำกับดูแล
ทั้งนี้ บรรยงเปิดเผยว่า การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจะเริ่มทำที่ 12 แห่ง ที่มีลักษณะเป็นบริษัท อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แล้ว  ได้แก่ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) บมจ. บางจากปิโตรเลียม (BCP) บมจ. ผลิตไฟฟ้า (EGCO) บมจ. ธนาคารกรุงไทย (KTB) บมจ. ไออาร์พีซี (IRPC) บมจ. อสมท (MCOT) บมจ. ปตท.  (PTT) บมจ. ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น (PTTAR) บมจ. ปตท. เคมิคอล (PTTCH) บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) และ บมจ. ไทยออยล์ (TOP) และคาดการณ์ว่ากฎหมายจัดตั้งองค์กรเจ้าของ ที่กำลังอยู่ในกระบวนการร่าง  และตัวกฎหมายจะผ่านสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้