วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2558

ตำรวจ ปอท. แถลงจับชโย ผู้ต้องสงสัยแชทเฟซบุ๊กหมิ่นสถาบันฯ เตรียมขยายผลจับอีก2-3คน

           ตำรวจ ปอท. แถลงจับกุม ‘ชโย’ ผู้ต้องสงสัยแชทเฟซบุ๊กหมิ่นสถาบันฯ หลังไมค์ส่งต่อให้ ‘พงษ์ศักดิ์’ ผู้ต้องหาที่ถูกจับไปแล้วก่อนหน้านี้ ระบุเจ้าตัวรับสารภาพ เตรียมขยายผลจับอีก2-3 คน
          14 ม.ค.2558 มติชนออนไลน์ รายงานว่า ชโย หรือ จำเริญ (ประชาไทขอสงวนนามสกุล) ชาวจังหวัดสระแก้ว ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารและหน่วยงานด้านความมั่นคงจับกุมได้ หลังจากนายชโยที่ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Uncha Unyo เผยแพร่รูปภาพและข้อความที่มีลักษณะหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
           พล.ต.ต. ศิริพงษ์ ติมุลา ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผบก.ปอท. เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ต้องหาที่กระทำลักษณะเดียวกันไปแล้วส่วนนึง และพบว่ามีการกระทำกันเป็นขบวนการ ซึ่งชโยเป็นผู้รวบรวมข้อมูลและแสดงความคิดเห็นส่งต่อให้ พงษ์ศักดิ์ ( ประชาไทขอสงวนนามสกุล ผู้ต้องหาที่ถูกจับไปแล้วก่อนหน้านี้ อ่านรายละเอียด) ผ่านทางระบบเเชทของเฟซบุ๊ก ไปดัดแปลงแก้ไขและเผยแพร่ตามเฟซบุ๊กก่อให้เกิดความเสียหายแก่สถาบัน
         ขณะที่ ชโยให้การยอมรับสารภาพทุกประการว่าตนเองได้เห็นภาพ ข้อความ คลิปเสียงที่มีการปลุกระดมในเฟซบุ๊กจนเกิดความคล้อยตามจึงได้ลงมือกระทำเหตุการณ์ดังกล่าว ต่อเนื่องมานานกล่าว 1 ปี พร้อมฝากเตือนประชาชนทั่วไปว่าการกระทำเช่นนี้ผิดกฎหมายข้อความทุกอย่างไม่เป็นความจริง มีเจตนาให้เกิดความแตกแยกในสังคม
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่เตรียมที่จะขยายผลจับกุมผู้กระทำผิดกรณีนี้อีก2-3คนซึ่งอยู่อยู่ระหว่างการติดตามตัว

นิทานจากห้องขังของ ‘กอล์ฟ เด็กปีศาจ’ : Little Foot ตอน 3


ทัณฑสถานหญิงกลาง
เรือนนอนเพชร R. 1/6 
วันที่ 26 ธันวาคม 2557
              ถึงคราวที่จะฝากนิทานต่อให้กับเด็กๆ แล้วนะ ฝากเธอด้วยนะคะ + 
           หลังจากปล่อยขี้กองโตไว้เจ้าเท้าเล็กก็ยิ้มกริ่มอย่างภูมิใจ ปีศาจร้ายกำลังเคาะประตูหัวใจของมันแล้ว มันเดินทิ้งระยะห่างออกมาแต่ยังพอมองเห็นหมุดหมายที่ปล่อยเอาไว้ได้ มันขดตัวลงข้างพุ่มไม้แล้วรอคอยให้ใครสักคนหนึ่งเดินไม่ดูตาม้าตาเรือมาเหยียบเข้า..คงจะสนุกพิลึก…มันคิดพร้อมกับหัวเราะในใจ เจ้าปีศาจนั้นหัวเราะดังกว่ามันซะอีก55 แต่ความคิดและเสียงหัวเราะของมันก็ต้องหยุดชะงักลง…ฝูงงัว! ฝูงงัวของใครสักคนกำลังมุ่งมาทางนี้ และเจ้าลูกงัวสีขาวเหมือนสำลีที่ดูเหมือนจะเพิ่งออกมาจากท้องแม่ของมันได้ไม่นานพลันหยุดยืนอยู่ในองศาของกองอึและมันก็ยกหางของมันขึ้น “โถ่” เจ้าเท้าเล็กร้องขึ้นในขณะที่เจ้างัวน้อยปล่อยอึกองใหญ่กว่าลงมาทับอึกองนั้นของมันซะมิดเลย…หมดกัน !! แผนการที่วางเอาไว้ เจ้าเท้าเล็กกระโดดออกมายืนเท้าสะเอวจ้องมองฝูงงัวอย่างหงุดหงิด จมูกของมันย่นและฟุตฟิตๆ แล้วก็กระแทกเท้ากลับตัวเดินหน้ามุ่ยต่อไป “หมดกัน” มันคิด “เจ้างัวน้อยนั่นมันกล้าดียังไงมาปล่อยอึทับข้า” ความโมโหทำให้มันเดินเร็วขึ้นเพราะเบื้องหลังไม่มีเรื่องสนุกให้รอแล้ว..น้ำมูกใสๆไหลมาตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้ แต่ว่ามันก็แค่ซืดกลับเข้าไปหรือไม่ก็เอาแขนเสื้อปาดออกมาข้างแก้มเท่านั้นแหละ แสงตะวันสีแดงส้มเริ่มแผ่เต็มขอบฟ้าแล้วและท้องของเจ้าเท้าเล็กก็ร้องจ๊อกๆ ใช่ ! นี่มันได้เวลากินข้าวแล้วละ มันเล็งหาต้นไม้ที่ร่มไม่หนาเกินไปนักเพื่อพิงตัวเองกับแสงแดดในขณะที่กินข้าว ห่อใบตองตึงถูกแกะออกข้าวเม็ดใหญ่อัดเต็มในนั้น กลิ่นใบตองยังติดอยู่ทุกครั้งที่เอาข้าวใส่ปากสลับกับปลาทูเค็มจากที่ไหนสักแห่งที่รถมีหลังคาเอาไปขายที่หมู่บ้านเดือนละครั้ง ปลาทูถูกกินไปแค่ครึ่งตัว แน่ละสิ มันเค็มนี่นา พอหนังท้องตึงหนังตาก็หย่อน พุงกลมๆป่องดันเสื้อตัวเล็กๆนั้นออกมา มันจึงเอนหลังกับขอนไม้แห้งแล้วหลับตาลง ปล่อยพุงให้เป็นอิสระ แต่เสียงนกน้อยก็ปลุกมันตื่นขึ้นเพื่อเดินทางต่อไป เจ้าเท้าเล็กออกจะหงุดหงิดกับคำสบประมาทของเจ้านกน้อยที่ว่าเท้าเล็กๆของมันคงเดินไม่ถึงไหน “โถ่ เจ้านกตัวจ้อยคอยดูเถอะแล้วจะรู้ว่าเราเดินเร็วแค่ไหน” มันขมวดคิ้วหน้ายุ่งมุ่งตรงไปตามทาง พร้อมกับแสงของตะวันที่ค่อยๆเพิ่มขึ้นและเสียงหอบหายใจทางปากเป็นจังหวะ

ขญ. ภรณ์ทิพย์ มั่นคง
ป.ล.โปรดใช้ถ้อยคำที่สุภาพและถูกหลักภาษาไทย
 หมายเหตุ : นิทานจากผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ภรณ์ทิพย์ หรือ กอล์ฟ วัย 26 ปี เพื่อนๆ มักเรียก กอล์ฟ เด็กปีศาจ ปัจจุบันถูกคุมขังฝากขังครบ 5 ผลัดแล้ว อัยการขอขยายเวลาฝากขังอีก 2 ผลัดก่อนมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ภายในวันที่ 25 ต.ค.นี้ ที่ผ่านมาทนายความยื่นคำร้องคัดค้านการประกันตัวรวมแล้ว 4 ครั้ง ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัว 3 ครั้งแต่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันเนื่องจากเป็นคดีร้ายแรง เกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี
กอล์ฟถูกจับกุมจากข้อกล่าวหามีส่วนร่วมในละครเจ้าสาวหมาป่า จัดแสดงในงานรำลึก 14 ตุลาคมปีที่แล้ว
เธอมีพื้นเพเป็นชาวพิษณุโลก ครอบครัวทำไร่มันสำปะหลัง จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำกิจกรรมเพื่อสังคม ทำค่ายอาสาต่างๆ มาตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 5 จนปัจจุบัน มีความสามารถในศิลปะหลายแขนงทั้งวาดภาพ เขียนนิทาน แต่เธอดูจะหลงรักศาสตร์การแสดงเป็นพิเศษ เคยก่อตั้งประกายไฟการละคร ก่อนจะปิดตัวไปในปี 2555
ครั้งหนึ่งเธอเคยให้สัมภาษณ์ถึงความใฝ่ฝันไว้ว่า “อยากไปเล่นละครในต่างจังหวัด อยากเล่นในที่ที่ต่างกัน และที่สำคัญอยากเล่นให้เด็กๆ ดู เราอยากจะเล่านิทานเรื่องใหม่ให้เด็กๆ ฟัง เป็นนิทานของคนธรรมดาที่เปลี่ยนโลกได้”
ระหว่างถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ เธอเขียนนิทานส่งให้ผู้ใกล้ชิดเป็นตอนๆ บอกเล่าความฝันและส่งกำลังใจถึงผู้คนข้างนอกโดยเฉพาะเด็กๆ ที่เธอมักจะทำกิจกรรมด้วย ผู้ใกล้ชิดแจ้งด้วยว่า คำที่ขีดเส้นใต้คือคำที่เธอจำเป็นต้องใช้ภาษาสุภาพตามกฎระเบียบของเรือนจำทั้งที่ตั้งใจว่าจะไม่

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์: ความเปลี่ยนแปลง "ชนบท" ในสังคมไทย: บนความเคลื่อนไหวสู่ ปชต.

14 ม.ค. 2558 - ในการสัมมนาหัวข้อ "ความเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายและซับซ้อนของสังคมไทยจากวิธีคิดและวิธีการทางประวัติศาสตร์" จัดโดยสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ห้อง HB7801 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอผลการศึกษาบางส่วนจากโครงการศึกษาวิจัย "ความเปลี่ยนแปลง “ชนบท”ในสังคมไทย: บนความคลื่อนไหวสู่ประชาธิปไตย Changes in Thai “Rural” Society: Democracy on the move" ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สกอ. นั้น
ในช่วงท้าย อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ศาสตราจารย์ ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าโครงการวิจัยดังกล่าวได้นำเสนอหัวข้อ "ความเปลี่ยนแปลง “ชนบท” ในสังคมไทย: บนความเคลื่อนไหวสู่ประชาธิปไตย"



ร่างแล้ว 45 มาตรา คำนูณเผย ห้าม ‘Hate Speech’ และเพิ่มคำว่า ‘เพศสภาพ’ ลงใน รธน. เป็นครั้งแรก

              คำนูณเผย รธน. ใหม่ ให้ประชาชนใช้เสรีภาพได้อย่างเสรี แต่ห้ามสร้างความเกลียดชัง และเพิ่มหลักประกันความเท่าเทียมทางเพศ ทุกเพศไม่เจาะจงเฉพาะเพศกำหนด 
             14 ม.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า ที่รัฐสภา คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้กล่าวถึง ภาพรวมความคืบหน้าการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ได้มีการพิจารณาร่างบทบัญญัติของ รัฐธรรมนูญรายมาตราแล้วประมาณ 45 มาตราคือ ในภาค 1 หมวด 2 ว่าด้วยประชาชน ส่วนที่ 2 สิทธิและเสรีภาพของบุคคล
           ในส่วนนี้จะแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่นที่ผ่านมา โดยในรายละเอียดในหมวด 2 เรื่องสิทธิและเสรีภาพของบุคคล มาตรา7 กำหนดให้บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียม กันชายและหญิงมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างทั้งในเรื่องถิ่นกำเนิด ภาษา เพศ อายุ ทั้งนี้ได้มีการบัญญัติคำคำว่า เพศสภาพ ขึ้นมาใหม่ด้วยเพื่อครอบคลุมสิทธิเสรีภาพไม่เจาะจงเฉพาะเพศกำเนิดเท่านั้น
          ส่วนอีกมาตราที่สำคัญ คือ มาตรา 14 ซึ่งบัญญัติขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้องกับวิกฤติสังคมที่เกิดขึ้น โดยกำหนดว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นของตนได้อย่างเสรี โดยไม่สามารถจำกัดเสรีภาพได้ เว้นแต่เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง ข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงสิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ป้องกันไม่ให้เกิดความเกลียดชังระหว่างคนในชาติหรือศาสนา หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน ซึ่งบทบัญญัตินี้สอดคล้องกับกฎหมายสากลเรื่องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
             ขณะเดียวกัน มติชนออนไลน์ รายงานว่า คำนูณกล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้การบัญญัติเรื่องขอบเขตของเสรีภาพนั้น ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญที่ผ่านมาก็เคยบัญญัติไว้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นจุดเริ่มต้นการบัญญัติเรื่องHate Speech หลังการสร้างความเกลียดชังไว้ ซึ่งรัฐธรรมนูญยังไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องมีความผิดทางอาญาแต่อย่างใด แต่อยู่ที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะนำไปพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องตระหนักว่าการบัญญัติขอบเขตของการแสดงความคิดเห็นมากไปก็อาจจะเป็นการจำกัดเสรีภาพ และมีบทบัญญัติขัดกันเอง

ยุกติ มุกดาวิจิตร: มองรัฐประหารในระยะใช้ ม.112เพื่อเปลี่ยนผ่าน


นับถึงตอนนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ดำเนินการกับผู้กระทำที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 แล้วกว่า 1 หมื่นราย แถมสตช.และหลายหน่วยงานยังวางมาตรการเพื่อดำเนินการเอาผิดกับผู้ฝ่าฝืนมากขึ้น
แต่ตัวเลขผู้กระทำความผิดก็ไม่ได้ลดลงเลย หลังรัฐประหารตัวเลขกลับเพิ่มขึ้น ที่น่าสนใจผู้กระทำความผิดในคดีนี้กลับไม่ถูกดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมตามปกติ โดยมีการย้ายการพิจารณาคดีเหล่านี้ไปยังศาลทหาร “ผศ.ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร” อาจารย์พิเศษภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา มองปรากฏการณ์นี้ผ่านกระบวนการยุติธรรมหลังการรัฐประหารในคดีเหล่านี้อย่างน่าสนใจ

ตั้งแต่หลังรัฐประหารมีการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากขึ้น ส่วนหนึ่งบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ต่อต้านการรัฐประหารมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร
มีการใช้กฎหมายนี้ประกอบกับเหตุผลของการรัฐประหารแทบทุกครั้ง แทบทุกครั้งมักอ้างว่า เพื่อปกป้องสถาบัน แต่คราวนี้ต้องแตกต่างไปจากครั้งก่อนๆ ครั้งนี้จะเห็นการไล่ล่าด้วยการอ้างกฎหมายอาญามาตรา 112 มากเป็นพิเศษ ชัดเจน และจริงจังเป็นพิเศษ เป็นที่น่าสังเกตแตกต่างการรัฐประหารครั้งก่อนๆ ค่อนข้างชัดเจน กลุ่มคนที่ถูกไล่ล่าก็น่าสนใจ เพราะมีการกระจายไปของคนหลายๆ กลุ่ม ในภาพรวมค่อนข้างชัดเจนว่า คนเหล่านั้นเป็นกลุ่มคนที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นสถาบัน พร้อมกับว่า เขามักเป็นกลุ่มคนต่อต้านการรัฐประหารไปด้วย เหมือนกับว่าในแง่หนึ่ง ก็คือ คดี 112 ถูกเอามาใช้เป็นข้ออ้างที่จะกีดกันการต่อต้านการรัฐประหารไปในตัว
หลังรัฐประหารมีการไล่ล่าเกิดขึ้นเข้มงวดมองว่า เป็นเพราะอะไร
ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า ความชอบธรรมในการรัฐประหารครั้งนี้มีค่อนข้างต่ำ จึงต้องหาแหล่งอ้างอิงที่จะปกป้องตัวเอง แต่ทุกครั้งจะต้องอ้างเรื่องนี้แหละ แต่คราวนี้มันไม่ใช่ชัดเจน อย่างการรัฐประหารคราวที่แล้วก็จะไปจัดการนักการเมืองมากกว่า เช่น การยึดทรัพย์ กระบวนการยึดทรัพย์โดดเด่นมาก มีความพยายามดำเนินคดีกับการเมืองเป็นจำนวนมาก แต่คราวนี้น้อยหรือแทบไม่มีเลย เราจะเห็นว่า คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดนไล่ล่าคนเดียว ส่วนคนอื่นๆ ก็ไม่มีเสียง แต่เรื่องมาตรา 112 ซึ่งเป็นเรื่องสถาบันกษัตริย์กลายเป็นประเด็นใหญ่มากขึ้น เหมือนกับว่า เขาเปลี่ยนเป้าหมายของการรัฐประหาร หมายถึงเปลี่ยนเหตุที่จะมาอ้างการรัฐประหารเป็นเรื่องปกป้องสถาบันมากกว่า
“ผลอันหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ อาจจะมีการกีดกันนักการเมืองมากขึ้นในรัฐธรรมนูญ หรือประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพก็ถูกลิดรอน แต่ประเด็นที่ถูกนำมาชู คือ เรื่องสถาบัน ผมคิดว่า ถึงที่สุดมันเป็นสิ่งที่เขาแสดงให้เห็นว่า เขาทำบางอย่างจริงจังและมาลงตัวที่เรื่องสถาบันมากกว่า จึงถือเป็นข้ออ้างเพื่อให้การรัฐประหารมีข้ออ้างที่สมบูรณ์มากขึ้น”
จากการรวบรวมสถิติของเว็บไซด์ไอลอว์จะเห็นว่า การดำเนินคดีของผู้ถูกกล่าวหาว่า หมิ่นสถาบันตามกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้วให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องไปขึ้นศาลทหารแทนที่จะต้องขึ้นศาลยุติธรรมตามขั้นตอนปกติ ถือเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมของไทยและอาจทำให้กฎหมาย 112 น่ากลัวมากยิ่งขึ้นหรือไม่
ผมคิดว่า กระบวนการยุติธรรมดำเนินคดีผู้ต้องหาในคดีหมิ่นสถาบันตามมาตรา 112 หรือเรื่องเกี่ยวกับสถาบันที่มีการนำพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ มาใช้ด้วยถือเป็นการขยายขอบเขตการดำเนินคดีออกไปทำให้มีปัญหามากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นก่อนรัฐประหารแล้ว อย่างที่คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.) พยายามเคลื่อนไหวให้มีการปฏิรูปกฎหมายมาตรานี้ เพราะเห็นว่า มีปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่มีตั้งแต่ต้น ไม่ว่า เรื่องการจับกุม การรายงาน การแจ้งข้อกล่าวหา การไม่ให้ประกันตัว และการให้เหตุผลในคำตัดสิน
การย้ายการพิจารณาคดีในศาลทหารก็ยิ่งตอกย้ำการดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 มากขึ้น เพราะศาลทหารไม่ใช่ศาลพลเรือนและยังมีสัดส่วนทหารมานั่งในคณะผู้พิพากษาด้วย ทำให้กระบวนการยุติธรรม มุมมองการตัดสินดำเนินคดีก็จะเอนเอียงไปด้านที่ไม่ให้หลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น การที่ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ในคดีนี้ก็จะไม่ได้รับการประกันตัว เหมือนกับถูกตั้งธงไว้ก่อน เห็นได้จากคำพิพากษาที่มีมาก่อนหน้านี้
คดีอากง (นายอำพล ตั้งนพกุล) ก็เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ต้น แม้ว่าตอนนั้นไม่ได้ใช้ศาลทหาร เราก็สงสัยในกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้วว่า การที่อากงไม่ได้รับการประกันตัวหมายความว่าอย่างไร ผมเคยเป็นคนหนึ่งที่ร่วมกับเพื่อนนักวิชาการอีกหลายคน ใช้ตำแหน่งไปขอประกันตัวอากง แต่ก็ไม่ได้รับการประกันตัว ส่วนหนึ่งเหมือนกับว่าคนที่ผ่านกระบวนการนี้ก็ไม่ค่อยได้รับความยุติธรรมอย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งมีการพูดว่า คนที่ทำผิดก็ไม่ยอมรับผิด ทั้งที่ความจริงหลักของกระบวนการยุติธรรมต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า คนที่ถูกกล่าวหาทำผิดจริง ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ก็ถือว่า เขาไม่ผิด
“การที่ย้ายไปพิจารณาคดีนี้ในศาลทหารก็ยิ่งจะทำให้คดีเหล่านี้และสถานะเรื่องสิทธิเสรีภาพในการดำเนินคดีจะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ”
ขณะนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พยายามใช้กระบวนการนี้มาดำเนินการกับผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันมากขึ้น ความชอบธรรมในการใช้กฎหมายมาตรานี้จับกุมแล้วส่งศาลทหารจะลดความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมในอนาคตหรือไม่ รวมทั้งจะส่งผลโดยตรงต่อคณะผู้ก่อการรัฐประหารหรือไม่
ผลจะใหญ่กว่านั้นด้วยซ้ำ ผมคิดว่า ผู้ก่อการรัฐประหารเขาคงไม่แคร์อะไรอยู่แล้ว เพราะเท่าที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ทั้งการปิดเว็บไซด์ของฮิวแมนไรท์วอร์ชและการละเมิดสิทธิมนุษยชนจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางก็ทำให้เห็นว่า เขาคงไม่แคร์อะไร แต่ความเสียหายจะใหญ่กว่านั้น คือ ความเสียหายจะไปถึงตัวสถาบันที่ปล่อยปละละเลย คนจะมองว่า จริงเหรอที่ไม่มีใครสามารถแสดงออกได้เลย ไม่ใช่สิ่งที่ดีกับสถาบันเลย ขณะเดียวกันการที่เราไม่สามารถพูดถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ได้ แม้ว่าจะไม่ต้องไกลถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวรที่เป็นประเด็นฟ้องร้องกันอยู่ อาจจะแค่สมัยรัชกาลที่ 4 ก็ทำไม่ได้เลยหรืออย่างไร เพราะตอนนี้ดูเหมือนพยายามขยายการคุ้มครองสถาบันไปกว้างมาก
“มันบิดเบือนไปหมดแล้ว ตรงนี้มีผลใหญ่มาก ทั้งต่อตัวสถาบันเองและสังคมไทยโดยรวม เพราะประวัติศาสตร์ไทยเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ถ้าเราไม่สามารถพูดถึงกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาได้ ความรู้ของสังคมไทยก็จะมีปัญหาแน่นอน เราไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่มันเกิดขึ้นหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตได้ วันหนึ่งอาจมีคนมาบอกว่า ข้อเสนอที่ว่าศิลาจารึกหลักที่หนึ่งเป็นจารึกปลอมถือเป็นการหมิ่นสถาบัน แล้วก็มีการฟ้องร้องกัน เท่านี้สังคมไทยก็จบแล้ว เราก็ไม่ต้องเรียนรู้อะไรกันแล้ว เราไม่ต้องรู้ความจริงอีกต่อไป เราก็ต้องอยู่กับประวัติศาสตร์ที่เป็นนิทานเหมือนกับอ่านนิทานหลอกตัวเองไปเรื่อยๆ คงไม่สามารถเข้าใจอะไรได้อีกต่อไป จะเป็นปัญหาที่ใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ”
ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปจะส่งผลเสียกับสังคมไทยแน่นอนใช่ไหม
แน่นอน กระบวนการที่เกิดขึ้นทุกวันนี้กำลังเร่งให้เกิดสิ่งเหล่านั้น การเรียนการสอนเรื่องพวกนี้ก็จะลดน้อยลง หรือไม่คนก็ไม่อยากจะสอนกันแล้ว แม้แต่การสัมมนาทุกคนจะต้องระวังกันไปหมด เกร็งไปหมดไม่สามารถพูดได้ ถ้าพูดก็ทำได้เฉพาะด้านบวก ซึ่งจะส่งผลเสียต่อความรู้และความจริงในสังคมไทย เพราะเราไม่สามารถพูดถึงเรื่องนี้ได้อีกต่อไป
มองว่า บรรยากาศการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเสรีที่เคยเกิดขึ้นก่อนการรัฐประหารจะกลับมาอีกครั้งหรือไม่
ผมคิดว่าไม่มีทาง บรรยากาศแบบนั้นจะหายไปสิบปีเป็นอย่างน้อย การจะกลับมายากมาก เพราะทุกวันนี้ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่เรื่องนี้ แม้ว่าเราจะวิพากษ์วิจารณ์ทหารมากน้อยแค่ไหน ก็ไม่มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะมีปัจจัย 2-3 อย่าง  1.ทหารค่อนข้างมีความมั่นคงในการควบคุมกำลังของตัวเอง 2.ความมั่นคงของรัฐบาลมาจากการที่มีผู้สนับสนุนจำนวนมากที่เป็นคนที่มีอำนาจและสถานะทางสังคมที่สูง อย่างที่เราเห็นล่าสุด พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ออกมาประกาศสนับสนุนการรัฐประหารอย่างชัดเจน หรือแม้กระทั่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยดังๆ ก็ได้รับตำแหน่งในสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) เหมือนกับไปร่วมมือกับ คสช.
ประการที่ 3 แรงต้านการรัฐประหารชุดนี้กระจัดกระจาย ขณะที่แรงต้านที่มีอยู่อย่างทรงพลังก็บอกว่า “ดูเขาไปก่อน ปล่อยให้เขาทำงานไป” อันนี้เห็นได้จากคำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พูดกับบุคคลใกล้ชิดว่า จะไม่มีการเคลื่อนไหว ทำให้พลังในการเคลื่อนไหวพลิกเกมหรือเปลี่ยนสถานการณ์ในปัจจุบันก็จะไม่เกิดขึ้นง่ายๆถามว่า พลังมีไหม ตอบว่า มี ถ้าถามต่อว่า สังคมไทยเปลี่ยนไปไหมก็ต้องบอกว่า เปลี่ยน สังคมไทยมีการคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยมากขึ้นหรือไม่ก็ต้องตอบว่า มี
“พลังปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลงเขามีการปรับตัวเหมือนกัน เขาพยายามที่จะปรับตัวเพื่อให้เขาอยู่ได้ เราจึงเห็นความร่วมมืออย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนอย่างน่าสนใจ เป็นการร่วมมือระหว่างฝ่ายที่เคยคิดว่า ก้าวหน้ามาก่อน อย่างเอ็นจีโอ นักวิชาการ ถ้าลำพังทหารทำด้วยตัวเองไม่มีทางทำได้ ถ้าทำได้ก็อยู่ได้ไม่นาน แต่มีสื่อมวลชน เอ็นจีโอ นักวิชาการจำนวนมากที่สนับสนุน ตรงนี้ต่างหากที่เป็นส่วนค้ำจุนและสนับสนุนการรัฐประหารให้อยู่ได้” 
ความจำเป็นในการดำรงอยู่กับการไม่ดำรงอยู่ของกฎหมายอาญามาตรา 112 อันไหนมีความสำคัญต่อสังคมไทยมากกว่ากัน
การที่สถาบันจะอยู่ได้ อย่างน้อยๆ เฉพาะการคุ้มครองในสถานะพิเศษ สถานะความเป็นประมุข ถ้าปฏิรูปในระดับน้อยที่สุด คือ ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ผมคิดว่าน้อยที่สุดแล้ว คือ การปฏิรูปในลักษณะคุ้มครองเป็นพิเศษ ซึ่งหลายคนไม่เห็นด้วย หลายคนเสนอว่า ควรยกเลิกไปเลย เพราะประเทศอย่าง ญี่ปุ่น อังกฤษ ได้รับความคุ้มครองแค่ในระดับของปัจเจกบุคคลธรรมดาทั่วๆ ไป คือ การอาฆาตมาตรร้าย ถ้าใครหมิ่นประมาทกัน คนที่คิดว่า ตัวเองหมิ่นประมาทก็ไปฟ้องศาลให้ดำเนินคดี แต่ข้อเสนอของนิติราษฎร์ยังอนุรักษ์นิยมด้วยการให้สถานะพิเศษแต่ให้ลดลงจากปัจจุบัน เพราะดูจากประวัติศาสตร์ในการเขียนกฎหมายมาตรานี้ก็เกิดขึ้นในยุคเผด็จการและพยายามเพิ่มโทษขึ้นและทำให้ง่ายต่อการแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งเป็นผลเสียอย่างที่เห็นทุกวันนี้
หากมีการปฏิรูปอย่างน้อยก็ขอให้การดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะตอนนี้ขอบเขตในการฟ้องร้องเกินตัวบทกฎหมายไปแล้ว ทำไมไม่จำกัดให้ชัดเจน เพราะตามเนื้อกฎหมายคุ้มครองแค่ 3 พระองค์ กับ 1บุคคล คือ พระเจ้าอยู่หัว พระราชินี องค์รัชทายาทที่ประกาศเป็นองค์รัชทายาท และ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น ตอนนี้มีเพียงแค่ 3 พระองค์เท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครองแต่เรากลับขยายไปไกลมาก คุ้มครองไปถึงพระมหากษัตริย์ในอดีตแค่นี้ก็เห็นอยู่แล้วว่า เราไม่สามารถพูดถึงอะไรได้เลย
แย่ไปกว่านั้นเราไม่สามารถพูดถึงเรื่องสำคัญๆ เช่น การตรวจสอบเงินที่ใช้ไปกับโครงการพระราชดำริว่า ใช้อย่างไร ทั้งที่เงินเหล่านั้นเป็นงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีประชาชน ทุกคนต้องสามารถพูดคุยถกเถียงได้ เพราะปกติเราสามารถวิจารณ์นโยบายของรัฐได้ แต่กับโครงการเหล่านี้ไม่สามารถทำได้ ทั้งที่ไม่ใช่การหมิ่นประมาท แต่เป็นการพูดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ใช้หลักฐาน ในเมื่อโครงการพระราชดำริเป็นโครงการที่มีผู้สนองพระราชโองการ การวิพากษ์วิจารณ์จึงเป็นการพูดถึงผู้สนองพระบรมราชโองการ
“ถ้าสังคมไม่สามารถตรวจสอบการใช้ภาษีได้เลย ก็กลับไปที่พื้นฐานว่า สังคมนี้ไม่ได้เป็นสังคมประชาธิปไตยถ้าเราต้องยกเว้นคนบางคนที่ถูกยกเว้นการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ยังสามารถใช้เงินงบประมาณแผ่นดินได้ ไม่ได้ถูกตรวจสอบก็ไม่ถูกต้อง”
ฟังดูเหมือนว่า การจะหยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุยกันบนดินได้ก็คงจะอีกนาน
ผมคิดว่า คงอีกนาน ประเด็นนี้เป็นเรื่องเดียวที่ยังใช้รับรองความชอบธรรมในการรัฐประหารอยู่ แม้มีประเด็นเรื่องคุณธรรม เราก็เห็นอยู่ว่า ตอนนี้ไม่ได้ใช้เล่นงานนักการเมืองที่คอรัปชั่นตรงไหน ไม่เห็นเลย มีแต่จะเล่นงานคุณยิ่งลักษณ์ แต่กลับเปิดโอกาสให้คุณยิ่งลักษณ์ไปชี้แจงในรัฐสภาอีก การรัฐประหารคราวที่แล้วไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ คราวนี้กลับเปิดโอกาสให้คุณยิ่งลักษณ์ไปจีบปากจีบคอจิกกัดคนที่กำลังจะถอดถอนต่อหน้าต่อตา หมายความว่า อย่างไร 
ปรากฏการณ์นี้ส่งสัญญาณอะไร
มองดูเป็นกระบวนการที่พยายามจะเล่นงานนักการเมือง แต่ไม่เด็ดขาด ถึงที่สุดก็จะมีคนออกมาพูดว่า การรัฐประหารครั้งนี้สูญเปล่า เสียของ เพราะนักการเมืองไม่ถูกเล่นงาน แต่อาจมีกระบวนการอีกแบบหนึ่งที่พยายามวางหมากเพื่อกันหรือลดทอนอำนาจของนักการเมืองผ่านรัฐธรรมนูญ เรายังไม่เห็นชัดเจน แต่แนวโน้มอาจจะเป็นแบบนั้นก็ได้ เพราะการโยนหินถามทางมาแต่ละเรื่องเป็นอย่างนั้น คือ การกีดกันอำนาจนักการเมืองในระยะยาวและเปิดโอกาสให้อำนาจของข้าราชการหรือข้าราชการเกษียณอายุกลับเข้ามาทำงานอีก หรือไม่ก็อาจมีการต่ออายุราชการในลักษณะแปลกๆ ที่อำนาจอาจจะตกไปอยู่ในมือของคนที่ไม่ได้เป็นบวกกับประชาธิปไตยเท่าใดนัก
เจ็ดเดือนที่ผ่านมารัฐบาลใช้กระบวนการไล่ล่าผู้ละเมิดกฎหมาย 112 แต่กลับไม่ได้เดินหน้าเอาผิดนักการเมืองที่ทุจริตคอรัปชั่น แนวโน้มจึงเห็นอยู่ว่า อาจจะเสียของ
ใช่ ผมว่าอาจจะเสียของในลักษณะแบบนั้น ผมคิดว่ามันแปลกๆ ทำให้เกิดคำถามว่า ตกลงการรัฐประหารครั้งนี้ประเด็น คืออะไรกันแน่ มีการพูดกันถึงประเด็นเรื่องการที่กำลังจะเปลี่ยนรัชกาลหรือเปล่า จึงทำให้เกิดการรัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้น เพราะอาจเป็นประเด็นใหญ่จริงๆ สำหรับคนในที่ทำรัฐประหารครั้งนี้ สำหรับประเด็นเรื่องการกีดกันนักการเมืองที่มาด้วยกัน ถึงที่สุดก็ไม่เห็นทำอะไรชัดเจน ขณะที่การไล่ล่าผู้ถูกกล่าวหาว่าละเมิดมาตรา 112 กว้างขวางถึงการตั้งเป้าดำเนินคดีกับคนที่หลุดคดีไปแล้ว
“ผมแปลกใจมากว่า ทำไมต้องไปยุ่งกับเขาด้วย ทั้งๆ ที่เขาก็หลุดคดีไปแล้ว คนที่ถูกเรียกตัวบางคนก็จึงระแวง บางคนก็เลยหนีไป บางคนยอมมอบตัวแล้วต้องมาประกันตัวอีก ผมขอยกตัวอย่างกรณีนักเขียนคนหนึ่งเดิมทีเขาได้รับพระราชทานอภัยโทษพ้นคดีไปแล้ว หลังรัฐประหาร ทหารกลับเรียกตัวเขา เขาก็อาจจะไม่แน่ใจ จึงหลบเลี่ยงการไปรายงานตัว หรือนักเขียนอีกคน ก่อนรัฐประหารถูกดำเนินคดีแล้วได้รับการประกันตัว หลังรัฐประหารเขาแสดงความเห็นในเวทีปฏิรูปที่รัฐบาลเปิดให้คนแสดงความเห็น แล้วเขากลับต้องถูกดำเนินคดีอีก ต้องเดือดร้อนหาคนมาช่วยใช้หลักทรัพย์ประกันตัวถึง 4-5 แสน แบบนี้ผมถามว่า ทำไปทำไม อยากให้สังคมรู้หรือว่า เอาเข้าจริงๆ แล้ว พวกคุณเล่นงานคนที่ไม่มีทางปกป้องตัวเองได้ดีพอ มันก็ชี้ให้เห็นว่า การใช้อำนาจของรัฐประหารครั้งนี้บิดเบี้ยว แต่คนหลายคนมองไม่เห็นปัญหาตรงนี้ หรือแม้กระทั่งกรณีที่คนที่อยู่ต่างประเทศก็พยายามเล่นงานให้ได้ ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้เป็นพลเมืองไทย อันนี้ก็เป็นเรื่องแปลกประหลาดมาก”
การไล่ล่าด้วยการใช้กฎหมายมาตรานี้ ต่างประเทศเขามองอย่างไร
ผมว่า เขาคงมองว่า ทำไมประเทศไทยปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนกันมากขนาดนี้ ความจริงก็มีอนุกรรมการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่สนใจเรื่องนี้ แต่ไม่ได้เคลื่อนไหวอะไร แถม กสทช.ยังมีการรับลูก คสช.ด้วยการให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) ปิดเว็บไซด์ที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบัน โดยไม่ต้องดำเนินคดี มันเป็นเรื่องของความตื่นตระหนกร่วมของสังคมไทยต่อเรื่องสถาบันหรือเปล่า เป็นเรื่องที่ดูเหมือนไม่แคร์สายตาชาวโลกแล้วว่า เขาจะว่าอย่างไร แต่สำหรับสังคมโลกผมคิดว่า พวกเขาก็คงช็อก ว่าทำไมประเทศไทยที่เคยดูก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ บัดนี้จึงถดถอยลงขนาดนี้

ตั้ง คกก.ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ คสช. 'ประวิตร' นั่งประธาน

           13 ม.ค. 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2 /2558 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
รายละเอียดมีดังนี้
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 2 /2558

เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์
ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

            ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้แถลงยุทธศาสตร์สำคัญ 9 ด้านเพื่อใช้เป็นหลักหรือแนวทางในการปฏิรูปและพัฒนาประเทศให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนำแนวคิดของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติด้วยเหตุนี้ เพื่อให้ยุทธศาสตร์ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้แถลงไว้เกิดผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติจำเป็นต้องมีการเร่งรัดขับเคลื่อนการดำเนินการของส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ ให้เกิดการบูรณาการ รวมทั้งสอดคล้องรองรับกับยุทธศาสตร์ดังกล่าว และโดยที่มาตรา 42 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 บัญญัติให้ในกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นว่าคณะรัฐมนตรีควรดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในเรื่องใด ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
           ข้อ 1 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ”ประกอบด้วย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นรองประธานกรรมการ
          คณะกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ พลเอก วิลาศ อรุณศรี พลอากาศเอก ถาวร มณีพฤกษ์ นายอำพน กิตติอำพน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่งตั้งอีกไม่เกินสามคน โดยมี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นกรรมการและเลขานุการ
             ข้อ 2 คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
  • (1) ติดตามและประเมินผลการดำเนินการของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
  • (2) รายงานผลการดำเนินการตาม (1) รวมทั้งความเห็นหรือข้อเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขเสนอต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อพิจารณาสั่งการให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
  • (3) กำหนดแนวทางและมาตรการหรือกลไกในการประสานความร่วมมือระหว่างส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
  • (4) ในกรณีที่เห็นสมควรอาจแจ้งต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อขอให้มีการประชุมร่วมกันของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี เพื่อปรึกษาหารือหรือพิจารณาแนวทางการดำเนินการเพื่อให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • (5) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อพิจารณาหรือช่วยเหลือในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตามความจำเป็น
  • (6) เชิญข้าราชการ เจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงให้ข้อเท็จจริง ความเห็น หรือคำแนะนำหรือเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น
  • (7) ดำเนินการอื่นใดตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย

           ข้อ 3 ให้สำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานและรับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานตามคำสั่งนี้ และให้พิจารณาการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการและการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการอื่นๆ ที่จำเป็นเพื่อให้เบิกจ่ายได้ตามระเบียบของทางราชการ โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป