วันอังคารที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2557

รอลงอาญา ช่างตัดเสื้อ คดี 112 หลังฝากขัง 84 วัน


1 ก.ย.2557 ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แจ้งว่า สายวันนี้ศาลอาญารัชดา ได้พิพากษาคดีของนายเฉลียว (ขอสงวนนามสกุล) ผู้ต้องขังวัย 50 กว่าปี อาชีพช่างตัดเสื้อในคดีความผิดตามมาตรา 112 จากกรณีอัปโหลดคลิปดีเจรายหนึ่งสู่ระบบอินเทอร์เน็ต โดยลงโทษจำคุกและให้รอลงอาญา
ทนายระบุว่า ผู้ต้องหารายนี้รับสารภาพตั้งแต่ชั้นสอบสวน วันนี้เป็นวันฝากขังครบ 7 ผลัด (84 วัน) ผู้ต้องขังถูกนำตัวเข้าฟังคำพิพากษาในห้องเวรชี้ซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถเข้าไปได้ ทำให้ยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนโทษจำคุก ทราบเพียงว่าโทษดังกล่าวได้รับการรอลงอาญา และจะได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงเย็นวันนี้
ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโดยไอลอว์ รายงานเพิ่มเติมว่า เฉลียวได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงค่ำ พร้อมญาติมิตรที่รอรับราว 20 คน โดยเฉลียวระบุว่าศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี เนื่องจากรับสารภาพจึงได้รับการลดหย่อนโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือ 1 ปีครึ่งและศาลให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี 
ทั้งนี้ เฉลียว อายุ 50 กว่าปี มีอาชีพเป็นช่างตัดกางเกง เขาเป็นหนึ่งในชาวบ้านธรรมดาที่มีรายชื่อปรากฏในคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 44/2557 ให้เข้ารายงานตัวในวันที่ 3 มิ.ย. เขาถูกคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหาร 7 วัน ระหว่างควบคุมตัวเขาถูกสอบสวนหลายครั้ง ครั้งละหลายชั่วโมง ในขณะที่คนอื่นๆ ที่ถูกเรียกรายงานตัวในคำสั่งฉบับเดียวกันนั้นถูกสอบ 1-2 ครั้ง และเขายังถูกนำเข้าเครื่องจับเท็จหลายครั้งด้วย นอกจากนี้ยังมีการนำกำลังเจ้าหน้าที่ทหารบุกตรวจค้นบ้านซึ่งเป็นห้องแถวที่ทำเป็นร้านตัดเย็บผ้าย่านสะพานซังฮี้ ยึดคอมพิวเตอร์ เครื่องมือสื่อสาร
ทหารกล่าวหาว่าเขาอาจจะเป็น “ดีเจบรรพต” แต่เขายืนกรานปฏิเสธ
ต่อมาวันที่ 9 มิ.ย.2557 หลังถูกควบคุมตัวในค่ายทหารครบ 7 วัน เฉลียวถูกนำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เพื่อตั้งข้อหามาตรา 112 จากการอัปโหลดคลิปเสียงของดีเจบรรพตไว้ใน 4Share ซึ่งเฉลียวให้การรับสารภาพ อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนอนุญาตให้กลับบ้านได้ในคืนนั้น โดยนัดหมายให้ไปพบกันที่ศาลอาญาในวันรุ่งขึ้นเพื่อขอฝากขังและยื่นขอประกันตัว
วันรุ่งขึ้นเฉลียวและครอบครัวเดินทางไปที่ศาลอาญา ญาติยื่นขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์มูลค่า 800,000 บาท แต่ศาลไม่อนุญาตเพราะเห็นว่าเป็นการเผยแพร่ต่อข้อมูล เป็นความผิดร้ายแรง เฉลียวจึงถูกควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

จังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานีจับขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน 8 ราย

2 ก.ย. 2557 - มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่นายทหารพระธรรมนูญ และสารวัตรทหาร จากจังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานี ค่ายวิภาวดีรังสิต ควบคุมตัวสมาชิกกลุ่ม "ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน" จำนวน 8 ราย ที่เดินเท้าจาก อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี มุ่งหน้า อ.กาญจนดิษฐ์ และ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี โดยถูกจับห่างจาก อ.กาญจนดิษฐ์ 14 กม.

ทหารสั่งงดจัดแถลงข่าวสถานการณ์สิทธิ ‘ความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง’


            2 ก.ย.2557 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ท.ภาสกร กุลรวีวรรณ ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ได้ทำจดหมายแจ้งขอความร่วมมือให้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน งดจัดกิจกรรมแถลงข่าวและเสวนา “ความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง” ซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นในวันนี้ เวลา 14.00 น.ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และหากมีเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ประสบปัญหาการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมและการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในห้วงที่ผ่านมา หรือข้อเสนอแนะสำหรับการปฏิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชนในห้วงต่อไปให้ดำเนินการผ่านศูนย์ดำรงธรรม (สายด่วน 1567)
            ผู้สื่อรายงานเพิ่มเติมว่า ผู้จัดงานได้อีเมล์แจ้งสื่อมวลชนว่าได้รับจดหมายดังกล่าวในวันนี้เวลา 11.39 น. ผ่านทางโทรสาร อย่างไรก็ตาม ทางคณะผู้จัดงานจะคงไปยัง FCCT เพื่อรอรับเอกสาร (ตัวจริง) กับทางตัวแทน คสช. ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป 
              เวลา 12.30 น. มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่า 10 นายเข้าดูแลพื้นที่ชั้น 1 ของอาคารจัดงาน
             ทั้งนี้ งานดังกล่าวจัดโดยศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และเอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ศูนย์ทนายฯ ออกแถลงการณ์โต้ กรณีทหารละเมิดสิทธิ สั่งห้ามจัดเสวนา


จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารมีจดหมายด่วนถึงศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนขอความร่วมมือให้ยกเลิกการจัดงานแถลงข่าวและเสวนา ‘ความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง’ ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) ที่จะจัดขึ้นเวลา 14.00 น. ทางศูนย์ทนายฯ ได้แจ้งผู้สื่อข่าวว่าจะไปรอรับหนังสืออย่างเป็นทางการที่สถานที่จัดงาน ซึ่งผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่ามีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบดูแลอยู่ตั้งแต่งานเริ่ม พร้อมทั้งมีผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศรอทำข่าวจำนวนมาก
กระทั่งเวลา ประมาณ 14.30 น. พ.ต.อ.ไชยา คงทรัพย์ ผกก. สน.ลุมพินี เดินทางมายังห้องประชุมเพื่อยื่นหนังสือต่อศูนย์ทนายความเพื่อขอความร่วมมืองดจัดงาน โดยหนังสือ ลงชื่อ พ.ท.ภาสกร กุลรวิวรรณ ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่1 รักษาพระองค์ จากนั้นภาวิณี ชุมศรี ตัวแทนจากศูนย์ทนายฯ ได้ชี้แจงถึงความจำเป็นในการงดจัดงานต่อผู้สื่อข่าว พร้อมทั้งยืนยันว่าจะหาทางนำเสนอรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหลังการรัฐประหารในโอกาสต่อไป
นอกจากนี้ทางศูนย์ทนายฯ ยังได้ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่โดยระบุว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน พร้อมทั้งยืนยันข้อเสนอในรายงานดังกล่าวต่อสถานการณ์ปัจจุบันคือ 
  • 1.  ขอให้ยุติการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกโดยยกเลิกประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ 
  • 2. ยกเลิกการกักตัว จับกุม ควบคุมบุคคลโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก 
  • 3. ยกเลิกการจำกัด ควบคุม เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบทุกรูปแบบ 
  • 4. ยกเลิกการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร

รายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้

แถลงการณ์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เรื่องการข่มขู่คุกคามการทำงานของนักกฎหมายและองค์กรสิทธิมนุษยชน
เผยแพร่วันที่ 2 กันยายน 2557
              ตามที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยได้ร่วมจัดเวทีรายงานสิทธิมนุษยชนและเวทีเสวนาความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุงในวันนี้ แต่เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2557  ซึ่งเป็นวันก่อนจัดงาน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและองค์กรร่วมจัดได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ทหารให้ยกเลิกการจัดงานในวันนี้โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปกติ  และในระหว่างการประสานงานมีการแจ้งว่าหากองค์กรร่วมจัดยังคงยืนยันในการดำเนินกิจกรรมต่อไปอาจถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 7/2557 ซึ่งห้ามชุมนุมทางการเมืองมากกว่า 5 คนขึ้นไป อย่างไรก็ตามศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีความเห็นต่อพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ดังต่อไปนี้
  • 1.       การจัดงานดังกล่าวเป็นการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน และงานเสวนาความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุงซึ่งเกี่ยวข้องกับอุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในช่วงหลังรัฐประหาร ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง อีกทั้งรายงานที่ศูนย์ทนายความฯได้จัดทำขึ้นมานี้ก็มาจากข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนและคดีความในความรับผิดชอบของศูนย์ทนายความฯและองค์กรภาคี ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ตามวิชาชีพในฐานะนักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์ที่มีการประกาศกฎอัยการศึกซึ่งให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอย่างกว้างขวาง การติดตามตรวจสอบสถานการณ์และเผยแพร่ข้อมูลสู่ความรับรู้ของสังคมจึงถือเป็นสิ่งจำเป็น
  •  2.       เสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ได้รับการรับรองในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีซึ่งต้องปฏิบัติตาม อีกทั้ง คสช.ได้ให้สัมภาษณ์มาตลอดว่าจะเคารพหลักสิทธิมนุษยชน รวมถึงตามมาตรา 4  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ซึ่ง คสช.ได้จัดทำขึ้นมาก็ได้รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคบรรดาที่ชนชาวไทยได้รับการคุ้มครองประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ การขอให้ยุติกิจกรรมจึงเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพดังกล่าว
  • 3.       การที่เจ้าหน้าที่ทหาร “ขอความร่วมมือ” ให้ยุติหรือเลื่อนการจัดงานออกไปก่อน โดยแจ้งว่าหากยืนยันจะจัดงานทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช.ซึ่งห้ามชุมนุมทางการเมืองนั้น นอกจากจะเป็นการข่มขู่คุกคามนักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังเป็นการสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวในสังคม และลิดรอนสิทธิของผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและครอบครัวที่จะได้รับความเป็นธรรมและได้รับการชดเชยเยียวยา ซึ่งขัดต่อภาพลักษณ์ซึ่งคสช.ได้ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่บนพื้นฐานการเคารพสิทธิมนุษยชน และยิ่งเป็นการตอกย้ำสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

           ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงขอประณามพฤติการณ์การคุกคามที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดีในฐานะองค์กรด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ยังขอยืนยังถึงหน้าที่ของนักกฎหมายในการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และนำเสนอสถานการณ์สิทธิมนุษยชน 100 วันหลังรัฐประหารที่เกิดขึ้นในช่องทางอื่นต่อไปเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ต่างๆ จางหายไปโดยผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและครอบครัวไม่ได้รับการค้นหาความจริงและความยุติธรรม เพื่อให้การรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เกิดขึ้นจริง และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงยืนยันข้อเสนอในรายงานดังกล่าวต่อสถานการณ์ปัจจุบันคือ
  • 1.       ขอให้ยุติการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกโดยยกเลิกประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ
  • 2.       ยกเลิกการกักตัว จับกุม ควบคุมบุคคลโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก
  • 3.       ยกเลิกการจำกัด ควบคุม เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบทุกรูปแบบ
  • 4.       ยกเลิกการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร

            ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
     ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน