วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

จ่านิวแจ้งความทหารชุดอุ้ม ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กักขังหน่วงเหนี่ยว


25 ม.ค.2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อเวลา 14.00น. นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ พร้อมนายอานนท์ นำภา ทนายความ เดินทางเข้าแจ้งความที่ สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง ดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ทหารที่เข้าจับกุมตัวนายสิรวิชญ์เมื่อเวลา 22.30น. ของวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมาในความผิดฐาน เจ้าพนักงานปฏิบัติโดยมิชอบและกักขังหน่วงเหนี่ยวและทำร้ายร่างกาย ข่มขืนใจผู้อื่น
 
โดย นายสิรวิชญ์ ให้การว่าตนถูกเจ้าหน้าที่ทหารจาก ร.2 พัน 2 รอ. เข้าจับกุมระหว่างเดินกลับจากทานอาหารที่บริเวณประตูเชียงราก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตเมื่อเวลา 22.30 น. เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ในการจับกุมมีรถยนต์ 2 คัน ขับมาจอดขวางประตูทางเข้าและมีชายแต่งกายชุดลายพรางทหารสวมหน้ากากสีขาว 4-5 นาย ลงมาจากรถตรงเข้าหานายสิรวิชญ์และบอกให้ขึ้นรถ นยสิรวิชญ์จึงถามว่ามีหมายจับหรือไม่ และใช้อำนาจอะไร แต่ไมได้รับคำตอบ
 
จากนั้นชายคนดังกล่าวเข้าล็อกตัวและนำตัวนายสิรวิชญ์ขึ้นรถไป เมื่อถูกนำตัวขึ้นไปบนรถแล้วนายสิรวิชญ์ถูกคลุมหน้าด้วยหมวกไหมพรมและใช้ผ้ามัดตาอีกที เขาถูกชายชุดทหารนั่งประกบสองข้างและถูกล็อกแขนไว้ และขับรถพาไปเป็นเวลานาน และเมื่อรถจอดนายสิรวิชญ์ไม่ทราบว่าเป็นสถานที่ใด เขาถูกนำตัวลงจากรถโดยที่ยังถูกปิดตาอยู่ นายสิรวิชญ์เพียงรู้สึกว่าพื้นที่เขาเหยียบเป็นป่าหญ้าสูง เขาถูกล็อกแขนเอาไว้ทั้งสองข้าง และถูกลากไป แล้วถูกบังคับให้นั่งลงกับพื้นแต่เขาไม่ยอมนั่งเพราะว่าคัน จากนั้นมีอีกคนถีบนายสิรวิชญ์จากข้างหลังทำให้ทรุดนั่งลงไป และถูกทุบที่กลางศีรษะ และทุบที่หลังอีก 1 ครั้ง
 
ชายอีกคนพูดกับนายสิรวิชญ์ว่าจะไปตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์อีกไหม สมคบกับนักข่าวให้เป็นประเด็นใช่ไหม ไม่มีศาสนาใช่ไหม ไม่มีศรัทธามึงมันไร้ค่า ทำไมไม่ไปตรวจสอบเรื่องรับจำนำข้าว และชาวคนดังกล่าวได้มาผลักที่ไหล่ของนายสิรวิชญ์อย่างแรงและรู้สึกว่าชายคนดังกล่าวได้เดินออกไป และมีชายอีกคนหนึ่งถือของแข็งมาจิ้มที่ศีรษะหลายครั้ง นายสิรวิชญ์รู้สึกว่าน่าจะเป็นอาวุธปืนและยังได้ยินเสียงกระชากลำกล้องหลายครั้งเพื่อขู่ให้กลัว
 
นายสิรวิชญ์ถูกปล่อยให้นั่งอยู่ในป่าหญ้าเกือบชั่วโมง จึงถูกนำตัวขึ้นรถอีกครั้งและรถจอดอีกครั้งและถูกนำตัวขึ้นรถยนต์อีกคันหนึ่ง เมื่อรถยนต์ขับออกไปได้ราว15นาที รถยนต์คันที่นายสิรวิชญ์นั่งมาจอดอีกครั้งและเขาถูกนำตัวลงจากรถ จากนั้นจึงถูกถอดหมวกไหมพรมและผ้าปิดตาออก จึงเห็นว่าเป็นสถานีตำรวจนครบาลนิมิตรใหม่ และคนที่ถอดหมวกไหมพรมออกไม่ใช่ทหาร แต่เป็นชายแต่งชุดไปรเวทสวมทับด้วยเสื้อเกราะที่เขียนว่า “POLICE” จากนั้นนำตัวนายสิรวิชญ์ขึ้นไปยังสถานี
 
เมื่อขึ้นไปบนสถานีแล้วตำรวจได้นำหมายจับแสดงให้นายสิรวิชญ์ดูและถามว่าเป็นบุคคลตามหมายจับใช่หรือไม่ แต่นายสิรวิชญ์ถามว่าใครเป็นคนนำตัวเขามาที่สน.นิมิตรใหม่ ตำรวจตอบว่าทหารเป็นคนเชิญตัวมา จากนั้นตำรวจได้ทำบันทึกจับกุม นายสิรวิชชญ์จึงได้ถามว่าได้รวมถึงขั้นตอนของทหารด้วยหรือไม่ แต่ตำรวจตอบว่าไม่เกี่ยว เป็นเฉพาะของตำรวจ จากนั้นนายสิรวิชญ์จึงถามต่อว่าหมวกไหมพรมที่คลุมหัวเขามาอยู่ที่ไหนแล้วให้เก็บเป็นหลักฐานด้วย แต่ตำรวจก็ตอบว่าให้ลืมๆ ไป รู้กันอยู่ว่าใครมีอำนาจ จากนั้นตำรวจได้นำตัวนายสิรวิชญ์ไปขึ้นรถและพาตัวไปส่งให้พนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจรถไฟธนบุรี พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา
 
นายสิรวิชญ์ให้การอีกว่าระหว่างที่ถูกทหารจับกุมตัวไปขึ้นรถยังมีเพื่อนของเขาอีกสองคนที่ไปกินข้าวด้วยกันในวันนั้นเป็นพยาน และไม่มีตำรวจเข้าร่วมการจับกุมนอกจากทหารที่สวมชุดลายพราง 4-5 นาย และใช้รถยนต์ยี่ห้ออีซูซุ มิวเซเว่น สีขาว ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน อีกคันหนึ่งเป็นรถยนต์กระบะแต่ไม่แน่ใจว่าเป็นสีน้ำเงินหรือดำ และทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทหารของร.2พัน2รอ. จากสำเนาบันทึกการจับกุมของ สน.นิมิตรใหม่
 
ด้านพนักงานสอบสวนแจ้งว่าหลังจากนี้จะมีการสอบพยานเพิ่ม ส่วนสำนวนคดีอาจจะมีการส่งสำนวนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. เนื่องจากเป็นการกระทำความผิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
 
ผู้สื่ข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ในวันเดียกัน นายสิรวิชญ์ ได้เดินทางเข้าชี้แจงเหตุการณ์ที่ตัวเองถูกอุ้มตัว กับ นายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ซึ่งก่อนหน้านั้นได้ให้สัมภาษณ์โดยระบุว่าเจ้าหน้าที่ทำตามขั้นตอน ซึ่งระหว่างที่ นายสิรวิชญ์ ชี้แจงได้มีการนำหมวกไหมพรมมาคลุมทั้งหัวด้วย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ รวมทั้งช่วงเช้ากลุ่มประชาชน ในฐานะผู้โดยสารขบวนรถไฟ 255 ซึ่งถูกพนักงานการรถไฟตัดขบวนรถ ระหว่างเดินทางตรวจสอบข้อกล่าวหาทุจริตอุทยานราชภักดิ์ เข้ายื่นหนังสือต่อการรถไฟแห่งประเทศไทยให้สอบข้อเท็จจริง และเอาผิดทางวินัยเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องด้วย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ประยุทธ์ขอแอมเนสตี้ฯ อย่าเอาสิทธิมนุษยชนมาปนกับการกระทำผิดกฎหมาย


หลังจากเมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วนเรียกร้องสมาชิกทั่วโลกเรียกร้องทางการไทย ด้วยการระดมส่งจดหมายไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายก และ รมว.ต่างประเทศ เพื่อขอให้ยกเลิกข้อกล่าวหานักกิจกรรมทั้งหมดที่ออกมาเรียกร้องให้ตรวจสอบทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์ (อ่านรายละเอียด)
ล่าสุดวานนี้ (25 ม.ค.59) สำนักข่าวไทย รายานว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ที่ผ่านมาพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนหลายครั้งแล้ว แต่ขึ้นอยู่ว่าจะเข้าใจหรือไม่ และที่ผ่านมาการที่มีบางองค์กรออกมาเรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชนเพราะได้รับข้อมูลบิดเบือนมาจากคนที่ไม่ยอมรับกฎหมาย สื่อที่ต้องการและมีเจตนาจะสร้างความเข้าใจผิด
“การดำเนินการทางกฏหมายใช้กับผู้ที่กระทำผิด และขอร้องว่าอย่านำเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องมาเชื่อมโยงกัน เพราะกฎหมายก็คือกฎหมาย และที่ผ่านมาได้ชี้แจงไปหมดแล้วอยู่ที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ อย่าเอาเรื่องสิทธิมนุษยชนมาปนกับเรื่องกฎหมายและเอาเรื่องประเทศชาติมาปนกับเรื่องส่วนตัว ถ้ามาถามผมให้เป็นเรื่องก็เป็นเรื่องอีก คนเหล่านี้สร้างประโยชน์อะไรให้กับประเทศชาติ ที่ผ่านมาเขาเลือกข้างหรือไม่ ผมไม่เลือกข้างใคร ถ้าเขาดีด้วยผมก็ดีด้วย แต่ถ้าผิดกฎหมายทุกคนต้องถูกดำเนินคดี อย่าเอาสิทธิมนุษยชนมาปนกับการกระทำผิดกฎหมาย อย่าเอาเรื่องประเทศชาติมาปนกับเรื่องส่วนตัวให้ได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
"ขอร้องแล้วไง มันอยู่ที่เรา เราจะพูดให้เขาเข้าใจได้ไหมล่ะ ไอ้เรื่องสิทธิมนุษยชนนี่มันพูดกันหลายครั้งแล้วนะ ว่าคุณเคยพูดให้เราไหมล่ะ วันนี้ที่เขารู้มา หนึ่ง จากคนที่มันบิดเบือน สอง คือจากสื่อที่เขาเขียนไปด้วยความไม่เจตนา รู้เท่าไม่ถึงการณ์บ้าง อะไรบ้าง ก็รู้อยู่ว่าการดำเนินการทางกฎหมายวันนี้กับใคร กับผู้กระทำความผิดกฎหมายใช่ไหม อย่าไปยึดโยงสิ ถ้าเขากระทำความผิดอยู่แล้วก็คือความผิด กฎหมายก็คือกฎหมายไง ไม่เช่นนั้นก็บังคับใช้กฎหมายกับใครไม่ได้ แล้วทำไง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง กลาโหม กล่าวถึงกรณีดังกล่าวด้วย ว่า ตนยังไม่เห็นจดหมาย เรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของประเทศไทย ที่ผ่านมาไม่เคยละเมิดสิทธิมนุษยชน ต่างชาติก็ทราบดีว่าประเทศไทยยังมีความขัดแย้งอยู่  รัฐบาลต้องดำเนินการให้ประเทศเกิดความเรียบร้อยและสงบ

3 องค์กรสิทธิเรียกร้อง คสช.ยุติจับกุม-คุมตัวโดยพลการ


3 องค์กรสิทธิ เรียกร้อง คสช. ยุติการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ หากมีเหตุจำเป็นตามกฎหมาย ต้องดำเนินการตามขั้นตอนและให้บุคคลผู้ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวได้รับสิทธิตามกฎหมาย พร้อมเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวบุคคลทุกกรณี
25 ม.ค. 2559 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ให้ยุติการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ โดยแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการใช้อำนาจรัฐในช่วงที่ผ่านมาและปัจจุบัน ที่เข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคล โดยเฉพาะสถานการณ์การจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลในหลายกรณี อาทิ กรณี สุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ หมอหยอง, ฐนกร ศิริไพบูลย์, ธเนตร อนันตวงษ์, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, จักรพล ผลลออ
โดยเรียกร้องให้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยุติการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ และหากมีเหตุและความจำเป็นตามกฎหมายที่จะต้องจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคล จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนและให้บุคคลผู้ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวได้รับสิทธิตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทุกประการ และที่สำคัญต้องเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวบุคคลในทุกกรณี รวมถึงพิจารณายกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 ด้วย

แถลงการณ์
เรื่อง ให้ยุติการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ
ด้วยสิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ โดยถูกรับรองและคุ้มครองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง พ.ศ. 2509 ตลอดจนอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. 2527(Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ พ.ศ. 2549 (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED) ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามว่าจะเข้าเป็นภาคี จึงมีหน้าที่ที่ต้องเคารพ คุ้มครองและส่งเสริมให้สิทธิตามพันธกรณีเกิดขึ้นจริง
องค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีรายชื่อปรากฏตามท้ายแถลงการณ์นี้ มีความกังวลอย่างยิ่งต่อการใช้อำนาจรัฐในช่วงที่ผ่านมาและปัจจุบัน ที่เข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคล โดยเฉพาะสถานการณ์การจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลในหลายกรณี อาทิ การควบคุมตัวนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ หมอหยอง เมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคม 2558 ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่คลุมเครือในเวลาต่อมา การควบคุมตัวนายฐนกร ศิริไพบูลย์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 การควบคุมตัวนายธเนตร อนันตวงษ์ นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมือง เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558 ขณะรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล การควบคุมตัวนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา ในเวลากลางคืนของวันที่ 20 มกราคม 2559 โดยชายฉกรรจ์ 8 คนแต่งกายด้วยเครื่องแบบทหารปิดบังใบหน้า และล่าสุดการควบคุมตัวนายจักรพล ผลลออ สมาชิกกลุ่มลูกชาวบ้าน มหาวิทยาลัยบูรพา เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 โดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบประมาณ 10 คน ตามที่ปรากฎผ่านสื่อมวลชนนั้น
กรณีการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลในหลายกรณีดังกล่าวข้างต้น มีข้อมูลและข้อร้องเรียนที่แสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติการที่เข้าข่ายเป็นการจับกุมหรือควบคุมตัวโดยพลการ และขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพันธกรณีระหว่างประเทศในหลายประการ ดังจะเห็นได้จากการปฏิบัติการในบางกรณีที่ดำเนินการในยามวิกาล โดยเจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่จับกุมมีการปกปิดใบหน้าและสังกัด ในบางกรณีไม่แจ้งข้อกล่าวหาและเหตุผลในการจับกุมแก่ผู้ถูกจับกุม และมักไม่มีการแจ้งสถานที่ควบคุมตัว ทำให้บุคคลที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวไม่ได้การคุ้มครองของกฎหมาย และขาดหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ เช่น สิทธิเข้าถึงทนายความ สิทธิที่จะได้พบญาติ สิทธิที่จะติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก เป็นต้น อันอาจส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงตามมา เช่น การทรมาน การถูกบังคับให้หายสาบสูญ เป็นต้น
ด้วยเหตุผลดังกล่าว องค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีรายชื่อปรากฏตามท้ายแถลงการณ์นี้ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติเคารพต่อรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศดังกล่าว โดยยุติการใช้อำนาจในการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ และหากมีเหตุและความจำเป็นตามกฎหมายที่จะต้องจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคล  จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนและให้บุคคลผู้ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวได้รับสิทธิตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทุกประการ และที่สำคัญต้องเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวบุคคลในทุกกรณี นอกจากนี้ ควรพิจารณายกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 อันเป็นที่มาของการใช้อำนาจที่ขาดการตรวจสอบ และยกเว้นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ อันอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องและกว้างขวางขึ้นในอนาคต
ด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw)

รมว.ต่างประเทศ ชี้ นักศึกษา-แอมเนสตี้ฯ อาจมีวาระซ่อนเร้น หลังร้องยกเลิกข้อหา 'คณะส่องราชภักดิ์'


หลังจากเมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วนเรียกร้องสมาชิกทั่วโลกเรียกร้องทางการไทย ด้วยการระดมส่งจดหมายไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายก และ รมว.ต่างประเทศ เพื่อขอให้ยกเลิกข้อกล่าวหานักกิจกรรมทั้งหมดที่ออกมาเรียกร้องให้ตรวจสอบทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์ (อ่านรายละเอียด)
วันนี้ (26 ม.ค.59) สำนักข่าวไทย ได้รายงานความเห็นของ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ถึงกรณีดังกล่าวว่า รัฐบาลไม่สามารถจับกุมใครได้ หากบุคคลเหล่านั้นไม่ได้กระทำผิด  ที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้เรียกกลุ่มนักศึกษาเหล่านี้มาพูดคุยทำความเข้าใจแล้วหลายครั้ง  ตนมองว่าการกระทำของกลุ่มนักศึกษาและกลุ่มแอมเนสตี้ฯ อาจมีวาระซ่อนเร้นแอบแฝง ที่ดูออกว่ามีความเชื่อมโยงกัน
“อย่ากังวลเพราะกลุ่มดังกล่าวหลายประเทศไม่ได้ให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ หรือจีน แม้แต่ประเทศแถบตะวันออกเองก็เช่นกัน แต่สำหรับประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีความเป็นกลางและมีมิตรไมตรีสูง จึงพร้อมที่จะรับฟังทุกกลุ่ม ผมอยากฝากไปยังกลุ่มดังกล่าวว่าหากมีข้อสงสัยประการใด ให้มาสอบถามผมได้โดยตรงที่กระทรวงการต่างประเทศ  พร้อมชี้แจงทุกประการ” นายดอน กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  กล่าวว่า สถานการณ์ภายในประเทศของไทย ไม่น่ากังวลอย่างในหลายประเทศที่มีการรัฐประหาร  เหล่าคณะทูตที่มาเยือนประเทศไทย ก็ระบุว่ารัฐประหารของไทยไม่มีบรรยากาศที่รุนแรงเหมือนประเทศอื่น ประชาชนยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ  สื่อมวลชนก็สามารถวิจารณ์การทำงานของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้อย่างอิสระ

ศูนย์ทนายสิทธิฯ เปิดคำให้การ ‘สุริชัย หวันแก้ว’ คดี 'มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร'


สุริชัย หวันแก้ว ยื่นคำให้การต่อตร. คดี 'อรรถจักร์-สมชาย' นักวิชาการแถลง  “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” ระบุดำเนินคดีไม่ใช่หนทางการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง ชี้ 2 ผู้ต้องหาไม่ได้ยั่วยุ แต่เป็นการเตือนสติคนในสังคม 
26 ม.ค. 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น. ที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ ศ.ดร.สุริชัย หวันแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินทางเข้าให้การต่อพนักงานสอบสวนในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ ในคดีที่กลุ่มนักวิชาการในนาม “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย”  ได้ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” เมื่อวันที่ 31 ต.ค.58 และได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ที่ผ่านมา อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สองผู้ต้องหา ได้เดินทางเข้ายื่นคำให้การต่อพนักงานสอบสวนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ขอให้พนักงานสอบสวนได้สอบพยานบุคคลเพิ่มเติม ซึ่งเป็นนักวิชาการในสาขาต่างๆ อีก 4 คน เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้คดี
โดยในวันนี้ สุริชัย หวันแก้ว หนึ่งในพยานผู้เชี่ยวชาญ ได้จัดทำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรมายื่นต่อพนักงานสอบสวน ให้การสนับสนุนผู้ต้องหาทั้งสองคน โดยยืนยันว่าการดำเนินคดีกับนักวิชาการที่แสดงความคิดเห็นทางวิชาการไม่ใช่หนทางการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง รวมทั้งยืนยันบทบาทของนักวิชาการที่มีต่อความขัดแย้งในสังคม
โดยมีใจความสำคัญของคำให้การมีดังต่อไปนี้
ท่ามกลางสถานการณ์ของสังคมไทยอย่างน้อย 10 ปี ที่ผ่านมา เราติดอยู่ในกับดักของความขัดแย้ง เมื่อมีใครก็ตามเสนอแนวคิด หรือแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับเรา เราก็จะพยายามผลักให้คนเหล่านั้นออกไปเป็นคู่ขัดแย้งอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นกับดักที่ทำให้สังคมไทยจมปลักอยู่กับเรื่องเดิมๆ จนไม่สามารถเดินหน้าไปไหนได้
อีกประการหนึ่ง ผู้มีอำนาจหรือคนในสังคมไม่เข้าใจ หรือขาดความพยายามทำความเข้าใจเรื่องความขัดแย้งให้มากพอ เราจึงแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยวิธีการบังคับให้เงียบหรือใช้กฎหมายมาปิดปาก ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาในเชิงรูปแบบเท่านั้น แต่ไม่มีทางสัมฤทธิ์ผลในเชิงเนื้อหา เพราะเราแก้ไขปัญหาจากปรากฏการณ์ทางสังคมที่ปรากฏให้เห็นเพียงน้อยนิดเหมือนยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น และเรามักจะมองข้าม ไม่ได้ส่งเสริมให้ทำความเข้าใจคนที่คิดเห็นแตกต่างหรือมีประสบการณ์แตกต่างกัน เท่าที่ผ่านมาสังคมไทยจึงมักแก้ปัญหาแบบ “ขอไปที” มองข้ามความสำคัญของการเข้าใจต่อกัน และร่วมทุกข์วิเคราะห์ลงไปในฐานของภูเขาน้ำแข็ง ให้เห็นถึงรากเหง้าที่แท้จริงอันมีความสลับซับซ้อนของความขัดแย้งในสังคมไทย
สังคมไทยจึงติดอยู่ในกับดักความขัดแย้งที่แฝงด้วยความเสี่ยงต่อความรุนแรง มองไม่เห็นรากเหง้าที่แท้จริงของความขัดแย้ง และด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นแหล่งทางวิชาการที่จะช่วยสนับสนุนให้สังคมมีความเจริญงอกงามทางปัญญา จึงต้องทำหน้าที่ของตน อาจารย์และนักวิจัยมีภารกิจและบทบาทอันสำคัญที่จะต้องนำเสนอแนวคิดหรือแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ เพื่อช่วยผลักให้คนในสังคมก้าวพ้นจากกับดักความขัดแย้งนี้ไปได้
การดำเนินคดีกับนักวิชาการ ที่ได้แสดงความคิดเห็นเพื่อช่วยผลักให้คนในสังคมก้าวพ้นความขัดแย้งแบบเดิมๆ จึงเป็นการทำลายบรรยากาศเชิงบวกของสังคม และอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นเพราะเท่าที่สังเกตมานักวิชาการกลุ่มนี้ไม่ใช่กลุ่มคนที่ต้องการจะแยกขั้วขัดแย้งทางการเมือง ในทางตรงกันข้ามนักวิชาการกลุ่มนี้แสดงความคิดเห็นทางวิชาการด้วยสำนึกในหน้าที่ในขอบเขตของนักวิชาการ ให้คนในสังคมได้ใช้ความระแวดระวังมากขึ้น เพื่อจะลดความขัดแย้งและมิต้องจมดิ่งลึกลงไปในปัญหานี้
การกระทำของบุคคลทั้งสองในคดีนี้จึงไม่ใช่การกระทำมุ่งให้มีการเผชิญหน้าหรือยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งแต่อย่างใด แต่เป็นการเตือนสติคนในสังคม เพราะในสังคมใดหากไม่มีการเตือนสติกันแล้ว สังคมนั้นๆ กลับจะเสี่ยงอันตราย เนื่องจากมีโอกาสจะมองข้ามปัญหาและประมาทต่อสถานการณ์ และอาจนำไปสู่ความรุนแรงหรือความเสียหายด้านอื่นๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ ตามมาได้ง่าย
การที่ผู้ต้องหาที่ 1 และที่ 2 ร่วมกับนักวิชาการในฐานะเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย ได้จัดแถลงการณ์นี้เป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงปัญหา ไม่ต้องเข้าสู่กับดักของความรุนแรงทางการเมือง และการแถลงข่าวก็ถือเป็นการแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะนักวิชาการ ไม่ใช่การปลุกระดมทางการเมืองแต่อย่างใด