วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

สำนักข้าหลวงใหญ่สิทธิยูเอ็นเรียกร้องปล่อย 'สมยศ' ชี้โทษยังแรงเกินไป


สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกร้องปล่อยตัว "สมยศ พฤกษาเกษมสุข" ชี้โทษรุนแรงเกินไป
23 ก.พ. 2560 หลังศาลฎีกามีคำพิพากษาลดโทษ สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin วัย 56 ปี จากเดิมจำคุก 10 ปี เป็น 6 ปี สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวสมยศทันที พร้อมย้ำจุดยืนเดิมที่เรียกร้องมาตลอดคือ ขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการตามคำแนะนำของคณะทำงานยูเอ็นว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการที่ให้ปล่อยตัวสมยศและจ่ายค่าชดเชยให้กับเขา
โลคอง เมย์ยอง (Laurent Meillan) รักษาการตัวแทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า แม้ว่าคำพิพากษาจะทำให้การปล่อยตัวสมยศเร็วขึ้น แต่เรายังกังวลเรื่องโทษที่รุนแรงอย่างสุดขั้ว
ก่อนหน้านี้ ในปี 2556 ข้าหลวงใหญ่สิทธิฯ ได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการลงโทษที่รุนแรงสุดขั้วต่อสมยศ และระบุว่า การตัดสินเช่นนี้จะส่งสัญญาณต่อเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทยในแบบผิดๆ กลไกสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อยับยั้งการวิพากษ์วิจารณ์และย้ำว่า การลงโทษทางอาญาที่รุนแรงภายใต้กฎหมายนี้ไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วน
ในเดือนสิงหาคม 2555 คณะทำงานยูเอ็นว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ ชี้ว่า การคุมขังสมยศเป็นการกระทำโดยมิชอบและเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็น เพื่อปล่อยสมยศและจ่ายค่าชดเชยให้เขา เพื่อให้เป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

13 ประเด็นสำคัญในคดี 112 สมยศ พฤกษาเกษมสุข



23 กุมภาพันธ์ 2560 

1.สมยศ เป็นใคร

สมยศเป็นนักรณรงค์เรื่องสิทธิแรงงานมาตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เน้นการให้ข้อมูลเรื่องสิทธิแรงงานแก่คนงาน เคลื่อนไหวเรียกร้องการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ยกเลิกระบบเหมาช่วง ส่งเสริมการรวมตัวของคนงาน การจัดตั้งสหภาพ ฯลฯ
เขาเป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทโดดเด่นในทศวรรษ 2530 ที่แรงงานและนักศึกษาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เกิด “ระบบประกันสังคม” ซึ่งเราใช้กันในทุกวันนี้
อ่านประวัติสมยศ

2.จุดเปลี่ยนสู่การเคลื่อนไหวทางการเมือง

หลังการรัฐประหาร 2549 บทบาทด้านการเมืองเด่นชัดขึ้น โดยเขาเริ่มออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านการรัฐประหาร เคยเป็นแกนนำ นปช.รุ่น 2 ในช่วงปลายปี 2552 หลังแกนนำรุ่นแรกถูกจำคุกอันมาจากเหตุของการชุมนุมของคนเสื้อแดงในเดือนเมษายนปีเดียวกัน
หลังจากนั้นไม่นาน เขาก่อตั้งกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ที่มักทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย

3. เคยรณรงค์ล่ารายชื่อยกเลิกมาตรา 112 ก่อนโดนจับ

ในปี 2554 หลังการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเกือบร้อยราย ข้อถกเถียงของสังคมร้อนแรงและเกี่ยวพันกับบทบาทของสถาบันหลักต่างๆ ในสังคม สมยศและกลุ่มของเขาริเริ่มการรณรงค์ล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอยกเลิกกฎหมาอาญามาตรา 112  ซึ่งเป็นช่องทางตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่ามันเป็นกฎหมายที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในช่วงที่ความขัดแย้งทางการเมืองพุ่งสูง
นับเป็นกลุ่มเดียวที่รณรงค์ถึงขั้น “ยกเลิก” หลังจากนั้น 5  วัน หรือวันที่ 30 เมษายน 2554 เขาถูกจับกุมและแจ้งข้อหามาตรา 112 เหตุจากการตีพิมพ์บทความ 2 ชิ้นในนิตยสารเมื่อปีที่แล้ว

4.เคยถูกคุมขังในค่ายทหารนานนับเดือน

หลังสลายการชุมนุมใหญ่ นปช.ในปี 2553 สมยศ และ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เป็น 2 คนที่ถูกนำตัวไปควบคุมตัวยังค่ายอดิศร จังหวัดสระบุรี โดยไม่ได้ให้ติดต่อกับผู้ใด รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในสมัยนั้นอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุมตัวเพื่อซักถามข้อมูล เขาถูกคุมตัวตั้งแต่ 24 พฤษภาคม 2553 จนถึงประมาณ 23 มิถุนายน ขณะที่สุธาชัยนั้นถูกปล่อยตัวก่อนในวันที่ 31 พฤษภาคม

5. แชมป์ “นก” (หรือชวด) ประกันตัว

เขาถูกคุมขังตั้งแต่วันถูกจับกุมตัว ในชั้นพนักงานสอบสวน ชั้นอัยการ ชั้นศาล และระหว่างต่อสู้คดี รวมแล้วญาติและทนายความยื่นประกันตัวราว 15 ครั้ง ด้วยหลักทรัพย์ตั้งแต่ 4 แสน ถึง 2 ล้านบาท

6. คดีแรกในรอบทศวรรษ สู้ “เนื้อหา” ถึงศาลฎีกา (ใช้เวลา 6 ปี)

ในทศวรรษที่ผ่านมา คดีนี้ถือเป็นคดีแรกที่ต่อสู้ในทาง "เนื้อหา" แล้วมีการพิจารณาจนถึงศาลสูงสุด ก่อนหน้านี้ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล อดีตผู้ต้องขังคดี 112 เคยระบุว่าตั้งใจจะสู้คดีถึงศาลฏีกาแต่สุดท้ายก็ตัดสินใจสู้เพียงชั้นศาลอุทธรณ์เนื่องจากถูกคุมขังในเรือนจำยาวนานและมีสุขภาพที่ย่ำแย่ ส่วนอีกคดีหนึ่งที่สู้ถึงศาลฎีกาคือ คดีของ บัณฑิต อานียา ถูกจับกุมดำเนินคดีเมื่อปี 2546 ต่อสู้คดีว่าเป็นจิตเภท ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุกแต่ให้รอลงอาญา 

7. ข้อกล่าวหา และ ข้อต่อสู้ในคดี

ตามคำฟ้องของโจทก์ กล่าวหาว่าเขาหมิ่นสถาบันด้วยการจัดพิมพ์ จัดจำหน่ายและเผยแพร่บทความ 2 ชิ้นในนิตยสารเสียงทักษิณ (Voice of Taksin) ฉบับเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2553 ชื่อว่า ‘แผนนองเลือด ยิงข้ามรุ่น’ และ ‘6 ตุลาแห่งพ.ศ.2553’ ตามลำดับ โดยผู้เขียนใช้นามแฝงว่า ‘จิตร พลจันทร์’
สมยศต่อสู้ใน 4 ประเด็นหลักคือ
       1.เขาไม่ใช่ผู้เขียน นามแฝงดังกล่าวเป็นของ จักรภพ เพ็ญแข ซึ่งบก.คนก่อนได้ทาบทามให้เขาเขียนมาก่อนแล้วก่อนที่สมยศจะเข้าไปทำงาน
       2.เขาไม่ใช่บรรณาธิการ Voice of Taksin เพียงแต่เป็นพนักงานคนหนึ่งซึ่งได้รับเงินเดือนเหมือนพนักงานคนอื่นๆ แต่ทำหน้าที่แตกต่างกันไป หน้าที่และตำแหน่งตามที่ตีพิมพ์ไว้ในปกหนังสือในทางพฤตินัยก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง
แต่หากศาลจะฟังว่าจำเลยกระทำตัวเป็นบรรณาธิการต้องรับผิดชอบเนื้อความที่นำลงพิมพ์โฆษณาตามคำกล่าวหาของโจทก์ ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ซึ่งแก้ไขใหม่ก็ไม่ได้บัญญัติให้บรรณาธิการเป็นเป็นรับผิดชอบในข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือที่ตนเป็นบรรณาธิการ โดยมีแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 6268/2550  ตัดสินวางบรรทัดฐานไว้        
       3.เขาไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นสถาบัน การลงบทความดังกล่าวเป็นไปตามระบบงาน มิใช่เป็นการกระทำโดยจงใจของจำเลย
       4.บทความทั้ง 2 ชิ้นไม่เป็นบทความที่ดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์  เพราะแม้แต่พยานที่อ่านบทความก็ให้ความเห็นในแต่ละบทความไม่ตรงกัน
เนื้อหาที่ปรากฏในบทความที่นำมาฟ้องผู้เขียนยกตัวอย่างตุ๊กตา เป็นตัวละครล้อเลียนไม่ใช่เรื่องจริงและผู้อ่านไม่อาจรู้แน่ชัดได้ว่าผู้เขียนหมายถึงใคร  ซึ่งในประเด็นนี้พยานจำเลยเมื่อได้อ่านบทความต่างก็ให้การไปในทำนองเดียวกันว่าผู้เขียนสื่อถึงพวกอำมาตย์ไม่ได้สื่อถึงกษัตริย์ 

8. การต่อสู้คดี ที่ต้องเดินทาง 4 จังหวัด

ระหว่างสืบพยานโจทก์ พยานมิได้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ หลายคนทำให้ต้องมีการสืบพยานในจังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพยานและต้องมีการส่งตัวเขาไปคุมขังยังเรือนจำในจังหวัด สระแก้ว นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ สงขลา

สมยศเคยเล่าถึงตอนไปเรือนจำสระแก้วว่า ความเป็นอยู่ที่เรือนจำจังหวัดสระแก้วนั้นดีกว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในเรื่องอาหารและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม เรือนจำที่นี่ยังคงมีสภาพแออัด ผู้ต้องขังล้นเกิน จากปกติรองรับได้ 800 คน ปัจจุบันเพิ่มเป็นเกือบ 2,000 คน โดยในจำนวนนี้เป็นการย้ายหนีน้ำท่วมมาเกือบ 300 คน ทำให้ต้องนอนเบียดเสียดอย่างมาก
สมยศยังเล่าถึงการเดินทางมายังเรือนจำสระแก้วว่า ระหว่างที่มีการเคลื่อนเขาพร้อมผู้ต้องขังจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่หนีน้ำท่วมมายังเรือนจำสระแก้ว เมื่อต้นเดือน พ.ย. นั้นรถแน่นมากและเขาต้องยืนตั้งแต่กรุงเทพฯ ถึงสระแก้ว

9. คำให้การของพยานโจทก์-จำเลย (บางส่วน)

กอ.รมน.- นักศึกษานิติ มธ. เบิกความสืบพยานโจทก์ คดี ‘สมยศ’
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเบิกความถึงที่มาที่ไปของการเข้าแจ้งความดำเนินคดี โดยมีการระบุด้วยว่า “ผังล้มเจ้า” ของพ.อ.สรรเสริญ ก็เป็น “เครื่องช่วยในการวางแผนและวิเคราะห์ข้อมูล” โดยเจ้าหน้าที่ผู้เบิกความไม่ทราบว่าผังดังกล่าวมีการยอมรับจากพ.อ.สรรเสริญแล้วว่าไม่ได้มีข้อมูลรองรับเพียงพอ
ขณะที่นักศึกษา นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเคยฝึกงานที่ดีเอสไอในช่วงเวลาดังกล่าว เบิกความว่า ระหว่างฝึกงาน ผู้ดูแลซึ่งก็คือพนักงานสอบสวนในคดีนี้ได้นำนิตยสาร Voice of Taksin ฉบับที่ใช้ฟ้องร้องมาให้อ่าน รวมทั้งบทความที่เข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูงดังกล่าว ซึ่งเมื่ออ่านข้อความดังกล่าวแล้วก็ทำให้เข้าใจได้ตามฟ้อง 
คำเบิกความ ธงทอง จันทรางศุ
เขาเบิกความว่า บทความชิ้นหนึ่งนั้นผู้เขียนจงใจเท้าความไปถึงประวัติศาสตร์ช่วงรอยต่อระหว่างธนบุรีและรัตนโกสินทร์ โดยพยานทราบว่าเป็นการหมิ่นประมาทเพราะอาศัยการเทียบเคียงกับความรู้ด้านประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ ส่วนอีกชิ้นหนึ่ง ไม่สามารถบอกได้ว่า “หลวงนฤบาล” ผู้เขียนตั้งใจหมายถึงใคร
เขายังเบิกความอีกว่า มาตรานี้โทษจำคุก 3-15 ปีรุนแรงเกินไปและไม่ได้สัดส่วนกับสาระของการกระทำความผิด คำว่า “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น” ในมาตรา112 ควรจะมีความหมายเช่นเดียวการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นบุคคลธรรมดาในมาตรา 326  ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้วถือว่าโทษหนักเบาแตกต่างกันมาก นอกจากนี้ยังไม่ให้จำเลยพิสูจน์เหตุยกเว้นโทษหรือยกเว้นความผิดได้ตามมาตรา 329 

10.คำพิพากษา ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา

ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 2 กรรรม กรรมละ 5 ปีรวม 10 ปี อ่านคำพิพากษาฉบับย่อในล้อมกรอบ

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาพิพากษาแก้ ลดโทษเหลือ 2 กรรม 6 ปี

หมายเหตุ โทษจำคุกในทุกชั้นศาลจะบวกอีก 1 ปี เพราะรวมกับคดีเก่าในคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร

11. เพราะสู้คดี พลาดลดโทษในการพระราชทานอภัยโทษทั่วไปหลายครั้ง

การยืนยันที่จะต่อสู้คดีของสมยศ ทำให้คดีของเขายังไม่มีสถานะ “ถึงที่สุด”  จำเลยจึงยังไม่มีสถานะเป็น “นักโทษชาย” เต็มขั้นแม้จะอยู่ในเรือนจำมาหลายปีแล้วก็ตาม นั่นส่งผลให้ไม่ได้รับ “ชั้น” หรือสถานะของนักโทษที่จะได้ ชั้นกลาง เมื่อคดีถึงที่สุด ก่อนที่จะค่อยๆ เลื่อน เป็นชั้นดี ชั้นดีมาก และชั้นเยี่ยม ตามลำดับหากไม่ทำผิดกฎเรือนจำหรือทะเลาะวิวาท ชั้นของนักโทษเกี่ยวพันกับ “สัดส่วน” ที่จะได้รับการลดโทษจากการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปที่เกิดขึ้นในวาระโอกาสสำคัญที่ และการลดโทษจะลดหลั่นกันตามชั้นที่นักโทษได้ เช่น ในปี 2555 มีพ.ร.ฎ.อภัยโทษเนื่องในวาระเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ, ปี 2558 เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบของสมเด็จพระเทพฯ, ปี 2559เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ของรัชกาลที่ 9 เป็นต้น
หากเขารับสารภาพแต่ต้น เขามีโอกาสที่จะได้รับการลดโทษลงกึ่งหนึ่งตามกฎหมาย เหลือ จำคุก 5 ปี มีโอกาสจะได้รับการลดโทษในการอภัยโทษทั่วไป แล้วสามารถทำเรื่องพักโทษได้โดยจะอยู่ในเรือนเพียงไม่เกิน 3 ปี อีกกรณีหนึ่งคือ รับสารภาพแล้วยื่นขอพระราชทานอภัยโทษส่วนบุคคลดังเช่น สุรชัย แซ่ด่าน ซึ่งถูกจับในช่วงต้นปี 2554 เช่นกัน สุรชัยรับสารภาพในคดี 112 ที่ทยอยฟ้องรวม 5 คดีโทษจำคุก 12 ปีครึ่ง เมื่อเขายื่นขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการส่วนตัวร่วมกับนักโทษ 112 อีกจำนวนหนึ่งก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณฯ เขาจึงอยู่ในเรือนจำเพียง 2 ปี 7 เดือน

12. เคยยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ มาตรา 112  ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

มี 2555 ระหว่างต่อสู้คดี เขาและเอกชัย หงส์กังวาน จำเลยคดี 112 อีกคนยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
“ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่า หลักการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สอดคล้องกับการให้ความคุ้มครองพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันและประมุขของประเทศไทย การกำหนดบทลงโทษผู้กระทำความผิดจึงเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามหลักนิติธรรมที่เป็นศีลธรรมหรือจริยธรรมของกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงมิได้ขัดหรือแย้งต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง” และอื่นๆ อ่านที่นี่

13. มีแถลงการณ์ - กิจกรรมรณรงค์เกี่ยวกับเขามากมาย

FREE SOMYOS โผล่งานบอลประเพณี
สมยศ โผล่งานหนังสือแห่งชาติ
บรรณาธิการร่วมออกแถลงการณ์
ลูกชายสมยศ ‘ไท’ อดอาหารประท้วง
ยูเอ็นผิดหวังศาลอุทธรณ์ไทยพิพากษายืนจำคุกสมยศ
ท่าทีจากอียู-ฮิวแมนไรท์วอชท์-เอไอ-องค์กรแรงงาน ต่อ 'คำพิพากษาสมยศ'
ทูต 'อียู' แจงไม่ได้ 'แทรกแซง' ไทยกรณี 'สมยศ' แต่ 'ปฏิสัมพันธ์' ด้วยหลักสิทธิฯ
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ UN เรียกร้องปล่อยสมยศ ชี้โทษยังแรงไปหลังพิพากษาฎีกา
ฯลฯ

ศาลฎีกาลดโทษ เหลือจำคุก 6 ปี คดี 112 สมยศ พฤกษาเกษมสุข



           23 ก.พ.2560 เวลา 9.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 911 ศาลอาญา ถนนรัชดาฯ มีกำหนดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดี112 ของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin วัย 56 ปี โดยก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ พิพากษาจำคุก 10 ปีจากการกระทำผิด 2 กรรม (กรรมละ 5 ปี)


         เวลาประมาณ 9.45 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำคุกลดลง เหลือเพียง 6 ปี (กรรมละ 3 ปี) เมื่อรวมกับโทษจำคุกคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร อีก 1 ปี รวมเป็น 7 ปี ภายหลังเสร็จสิ้นการอ่านคำพิพากษา ภรรยาของสมยศได้เข้าไปกอดสมยศ และประชาชนผู้มาให้กำลังใจเขาจำนวนหนึ่งต่างแสดงความดีใจที่เขาได้รับการลดโทษ ทั้งนี้ วันนี้มีเจ้าหน้าที่จากองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย อาทิ องค์การสหประชาชาติ (UN) สถานทูตสวีเดน สถานทูตฝรั่งเศส สถานทูตสหรัฐอเมริกา สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย
         ศาลฎีการะบุเหตุผลว่า ที่จำเลยฎีกาต่อสู้ว่า มิได้มีเจตนากระทำผิด และข้อความในบทความหมายถึงอำมาตย์นั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งในขั้นฎีกาไม่อาจต่อสู้ในข้อเท็จจริงได้อีก อย่างไรก็ตาม ตามที่จำเลยได้ต่อสู้มารับฟังได้ว่า จำเลยเป็นเพียงบรรณาธิการ มิใช่ผู้เขียนและยังให้ข้อมูลว่าใครเป็นผู้เขียน จำเลยยืนยันว่ามีความจงรักภักดี อีกทั้งเมื่อพิจารณาประกอบกับอาชีพ อายุและประวัติของจำเลย ทั้งจำเลยก็ต้องโทษมาเป็นระยะเวลาพอควรแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นควรแก้โทษจำคุก เหลือกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง 6 ปี
         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ญาติและทนายความจำเลยไม่ได้รับแจ้งการนัดหมายอ่านคำพิพากษาในวันนี้จากศาล และจำเลยเองก็เพิ่งทราบเมื่อเช้านี้ตอนเจ้าหน้าที่นำตัวออกจากเรือนจำ เมื่อครั้งอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ทนายและญาติก็ไม่ทราบเช่นกัน มีเพียงจำเลยที่ได้เข้าฟังคำพิพากษาในครั้งนั้น
         ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา คดีนี้ถือเป็นคดีแรกที่ต่อสู้ในทาง "เนื้อหา" แล้วมีการพิจารณาจนถึงศาลสูงสุด โดยสมยศต่อสู้ในประเด็นหลักว่าไม่ใช่ผู้เขียน เป็นเพียงบรรณาธิการ และเนื้อหานั้นมิได้หมายความถึงสถาบันกษัตริย์ ก่อนหน้านี้ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล อดีตผู้ต้องขังคดี 112 เคยระบุว่าตั้งใจจะสู้คดีถึงศาลฏีกาแต่สุดท้ายก็ตัดสินใจสู้เพียงชั้นศาลอุทธรณ์เนื่องจากถูกคุมขังในเรือนจำยาวนานและมีสุขภาพที่ย่ำแย่ ส่วนอีกคดีหนึ่งที่สู้ถึงศาลฎีกาคือ คดีของ บัณฑิต อานียา ถูกจับกุมดำเนินคดีเมื่อปี 2546 ต่อสู้คดีว่าเป็นจิตเภท ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุกแต่ให้รอลงอาญา 
         ทั้งนี้ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ปัจจุบันถูกคุมขังมา 5 ปี 10 เดือนในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เขาเป็นผู้ต้องหาไม่กี่คนที่ต่อสู้คดี 112 สมยศจับกุมวันที่ 30 เม.ย.2554 หลังการรณรงค์ล่า 10,000 ชื่อเพื่อยกเลิกมาตรา 112 เพียง 5 วัน เขายังเป็นผู้ต้องหาคดี 112 ที่ทำสถิติยื่นประกันตัวมากที่สุด ราว 15-16 ครั้ง ใช้หลักทรัพย์ตั้งแต่ 4 แสน จนถึง 2 ล้านบาท เขาถูกฟ้องว่าเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งเผยแพร่บทความ 2 ชิ้นเขียนโดย “จิตร พลจันทร์” ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ บทความดังกล่าวปรากฏในนิตยสารฉบับเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2553 ชื่อว่า ‘แผนนองเลือด ยิงข้ามรุ่น’ และ ‘6 ตุลาแห่งพ.ศ.2553’ ตามลำดับ ระหว่างสู้คดี เขาถูกนำตัวไปขึ้นศาลยังจังหวัดต่างๆ ถึง 4 แห่งตามที่อยู่ของพยานโจทก์ ไม่ว่า นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ สระแก้ว สงขลา ซึ่งทำให้ครอบครัวเพื่อนมิตรติดตามคดีและไปเยี่ยมเขาอย่างยากลำบาก เพราะต้องมีการย้ายตัวจำเลยไปก่อน 2-4 สัปดาห์ ก่อนขึ้นศาล
       ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 10 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

งัดม.44 ปลด 'บอร์ดรฟท.' ยกชุด ตั้งรองอธิบดีกรมทางหลวง รักษาการผู้ว่าการฯ


 
ประยุทธ์ ใช้ ม.44 ปลดคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยยกชุด พร้อมตั้งใหม่ และให้รองอธิบดีกรมทางหลวง รักษาการผู้ว่าการฯ จนกว่านายกรัฐมนตรีจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น ระบุเพื่อมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศ 
23 ก.พ.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานวาเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2560 เรื่อง การปรับปรุงการบริหารงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดย อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่คําสั่งนี้ มีผลใช้บังคับพ้นจากตําแหน่ง และให้งดการใช้บังคับบทบัญญัติมาตรา 24 มาตรา 26 มาตรา 27 มาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 และให้คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยประกอบด้วยบุคคลตามข้อ 2 ของคําสั่งนี้ จนกว่านายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น
ข้อ 2 ให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นกรรมการคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย
  • (1) นายวรวิทย์ จําปีรัตน์ เป็นประธานกรรมการ
  • (2) นางสาวชุณหจิต สังข์ใหม่ เป็นกรรมการ
  • (3) นายบวร วงศ์สินอุดม เป็นกรรมการ
  • (4) นายปิติ ตัณฑเกษม เป็นกรรมการ
  • (5) พลเรือเอก ทวีชัย บุญอนันต์ เป็นกรรมการ
  • (6) นาวาอากาศเอก ธนากร พีระพันธุ์ เป็นกรรมการ
  • (7) นางอัญชลี เต็งประทีป เป็นกรรมการ
  • (8) นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ เป็นกรรมการ
  • (9) นายอํานวย ปรีมนวงศ์ เป็นกรรมการ

ข้อ 3 ให้ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนอนวันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับพ้นจากตําแหน่ง และให้ไปดํารงตําแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 68/2559 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นของรัฐและการกําหนดกรอบอัตรากําลังชั่วคราว ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2559 จนกว่านายกรัฐมนตรีจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น
ข้อ 4 ให้นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง รักษาการในตําแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย อีกตําแหน่งหนึ่ง จนกว่านายกรัฐมนตรีจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น
ข้อ 5 ในกรณีเห็นสมควรนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามคําสั่งนี้ได้

ทหารเรียก คนเสื้อแดงขายเครื่องกรองน้ำ คุยหนึ่งคืน หลังพบปรากฎตัวที่วัดพระธรรมกาย

ภาพสมบัติ ทองย้อย ขณะปรากฎตัวที่วัดพระธรรมกาย โดยภาพนี้เขาได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาเอง

สมบัติ ทองย้อย คนเสื้อแดงขายเครื่องกรองน้ำ ถูกทหารเรียกพบ หลังปรากฎตัว ไปช่วยยกน้ำที่วัดพระธรรมกาย ก่อนปล่อยขอกักตัวไว้ก่อนหนึ่งคืน พร้อมขอให้เซ็น MOU  ไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองอีก และห้ามออกนอกประเทศ
23 ก.พ. 2560 ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้รับรายงานว่า สมบัติ ทองย้อย คนเสื้อแดง ซึ่งมีอาชีพขายเครื่องกรองน้ำ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารในจังหวัดสมุทปราการ เรียกเข้าพูดคุย หลังมีข่าวจากสำนักบางแห่งรายงานข่าวว่า สมบัติ ได้ไปปรากฎตัวที่วัดพระธรรมกาย แล้วเตรียมการเรียกรวมกลุ่มคนเสื้อแดงให้เข้าไปที่วัดพระธรรมกาย
ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ สมบัติ เมื่อเวลา 17.30 น. หลังจากที่เขาถูกปล่อยตัวออกมา โดยสมบัติเล่าว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารโทรเข้ามา ในช่วง 12.00 น. เพื่อสอบถามว่าอยู่ที่ไหน และจะกลับมาที่บ้านเวลาใด พร้อมระบุด้วยว่าจะเข้าไปพบเพื่อผู้คุยด้วย สมบัติจึงได้เสนอว่า จะเข้าไปพบเจ้าหน้าที่ทหาร ศูนย์เยาวชนองค์การบริหารส่วนตำบล จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เจ้าหน้าที่ทหารประจำการอยู่ โดยได้เขาไปพบในเวลา 14.00 น.
สมบัติระบุว่า ระหว่างการพูดคุยเจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้มีท่าทีคุกคามแต่ใด เป็นเพียงการสอบถามในเบื้องต้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้ทราบข่าวมาว่าจะมีกลุ่มคนเสื้อแดงเข้าไปสมทบที่วัดพระธรรมกาย ประกอบกับมีรายงานข่าวว่าสมบัติได้ไปปรากฎตัวที่วัดธรรมกายเมื่อ 2 วันที่ผ่าน
“ผมก็บอกเขาไปว่า ผมเนี่ยนะจะไปเรียกระดมคนได้ ผมเป็นแค่คนขายเครื่องกรองน้ำ พวกเขาก็รู้ดี เพราะตามเฟซบุ๊กผมอยู่ตลอดเวลา และที่ผมไปที่ธรรมกายก็เพราะว่าต้องการไปเป็นกำลังใจให้ ไปช่วยยกน้ำ ไปสังเกตการณ์แค่นั้นแล้วก็กลับบ้าน ตอนไปก็ยังโพสต์เฟซบุ๊กอยู่เลย ไม่ได้ปกปิดอะไร แต่มันกลับมีข่าวออกมาว่าผมเตรียมจะไปป่วนที่วัด” สมบัติกล่าว
สมบัติเล่าด้วยว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้ชี้แจงให้ฟังว่า ในวันเดียวกันได้มีการเรียกพบคนเสื้อแดงหลายคน แต่ไม่นำตัวมาพูดคุยพร้อมกัน ซึ่งทุกคนล้วนไปปรากฎตัวที่วัดพระธรรมกาย
สำหรับกรณีของ สมบัติ นอกจากเจ้าหน้าที่ได้สอบถามว่ามาที่วัดพระธรรมกายทำไม ยังได้ถามด้วยว่า รู้จักกับนักการเมืองท้องถิ่นหรือไม่ พร้อมทั้งขอเช็ครายการโทรเข้า โทรออกในโทรศัพท์มือ เมื่อเจ้าหน้าที่พบว่าไม่มีเหตุต้องสังเกตจึงจะไปปล่อยตัวให้กลับบ้าน แต่หลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้ปรึกษากันแล้วกลับขอให้สมบัติอยู่กับเจ้าหน้าที่ต่ออีกหนึ่งคืน โดยเจ้าหน้าที่ได้พาสมบัติไปค้างคืนที่บ้านพักตากอากาศ บางปู ก่อนจะปล่อยตัวมาในช่วงบ่ายวันนี้
“เขาก็ถามผมว่ารู้จักกับนักการเมืองคนนั้นไหม คนนี้ไหม ผมก็บอกว่ารู้จักหมด ใครจะไม่รู้จักบ้างคนเขาเป็นนักการเมืองในท้องถิ่นเลือกก็รู้จักสิ แต่ถ้าถามว่าคนพวกนั้นรู้จักผมไหม อันนี้ผมไม่แน่ใจ แล้วผมก็ถามเจ้าหน้าที่กลับไป คำถามเดียวกัน เขาก็ตอบแบบเดียวกับที่ผมตอบ” สมบัติ กล่าว
สมบัติระบุด้วยว่า ก่อนที่เขาจะถูกปล่อยตัว เจ้าหน้าที่ทหารได้ขอให้เขาเซ็นลงในข้อตกลง หรือ MOU โดยระบุว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองอีก และห้ามออกนอกประเทศก่อนที่จะได้รับอนุญาติ
“ผมก็ต้องเซ็นไปแหละแต่ก็แปลกใจมากๆ ที่คนขายเครื่องกรองน้ำอย่างผมนี่นะ ทำไมมันถึงถูกให้ความสำคัญกับเจ้าหน้าที่ขนาดนี้” สมบัติกล่าว