ประยุทธ์แจงปมสั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์-ยุทโธปกรณ์จากรัสเซียเป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนากองทัพในระยะยาว ไม่ใช่การจัดซื้อเพียงครั้งเดียว ขณะที่ ครม.ไฟเขียวข้อตกลงกับรัสเซียหลายฉบับ 'ประวิตร' บอกประยุทธ์เยือนรัสเซีย ไร้แผนซื้อรถถัง เผยเล็งซื้อ ฮ.ขนส่ง-ดับไฟป่า
เมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงการเดินทางเยือนสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 17-21 พ.ค.นี้ ว่า จะหารือถึงความสัมพันธ์ตลอด 120 ปี รวมถึงการสร้างความร่วมมือในทุกมิติ โดยเฉพาะแนวทางการไปสู่เป้าหมายการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน ที่ต้องการเพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่า
ส่วนกรณีที่ให้สัมภาษณ์สื่อจากรัสเซียว่าไทยสนใจสั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์และยุทโธปกรณ์จากรัสเซีย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นการหารือกับหลายประเทศ ไม่เฉพาะรัสเซีย ยืนยันว่าการจัดซื้อเพื่อทดแทนของเก่า ซึ่งมีอายุการใช้งานมายาวนาน และขั้นตอนการจัดซื้อจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดความต้องการและคณะกรรมการจัดหายุทโธปกรณ์ ที่จะต้องดูทั้งเรื่องขอมาตรฐานและราคาที่มีความเหมาะสมกับความต้องการและงบประมาณของกองทัพ
“ทุกอย่างเป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนากองทัพในระยะยาว ไม่ใช่การจัดซื้อเพียงครั้งเดียว และยุทโธปกรณ์จะต้องนำมาใช้ในงานกู้ภัยด้วยและการจัดซื้อจะต้องมีความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทยด้วย และการจัดซื้ออาจเป็นรูปแบบของผลประโยชน์ต่างตอบแทน ที่ประเทศผู้ผลิตจะต้องตกลงซื้อสินค้าเกษตรของไทยเป็นการแลกเปลี่ยนด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ประวิตร แจงประยุทธ์เยือนรัสเซีย ไร้แผนซื้อรถถัง เผยเล็งซื้อ ฮ.ขนส่ง-ดับไฟป่า
ขณะที่วันนี้ (17 พ.ค.59) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึง กรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางไปเยือนประเทศรัสเซียมีแผนจะซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ รวมถึงรถถัง ว่า คงจะไปซื้อเฮลิคอปเตอร์ทั้งด้านการขนส่ง และดับไฟป่า เพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ไม่ได้ไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะรถถังของประเทศรัสเซีย ซึ่งย้ำว่าไม่เกี่ยวกัน อีกทั้งตนก็ไม่ได้เดินทางร่วมคณะไปด้วย ส่วนกรณีที่กองทัพบกจัดซื้อรถถังจากประเทศจีนนั้น ตนคิดว่าได้ซื้อจากประเทศจีนไปก่อนแล้ว หากจะซื้อจากประเทศรัสเซียคงต้องเป็นหน้าที่ของกองทัพบกเป็นผู้พิจารณา และดำเนินการตามแผนงาน และรายงานให้รัฐบาลทราบตามกรอบยุทธศาสตร์พัฒนากองทัพให้ทันสมัย
ครม.ไฟเขียวข้อตกลงกับรัสเซียหลายฉบับ
ขณะที่การประชุม คณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมา ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จะเดินทางเยือนรัสเซียนั้น มีผลการประชุมที่น่าสนใจดังนี้
ครม. เห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมสุดยอดอาเซียน – รัสเซีย สมัยพิเศษ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบต่อร่างปฏิญญาโซชิระหว่างอาเซียนกับสหพันธรัฐเซีย เพื่อฉลองวาระครบรอบ 20 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน – รัสเซีย เพื่อให้นายกรัฐมนตรีร่วมรับรอง ลงนามร่างปฏิญญาฯ 2. เห็นชอบต่อร่างแผนปฏิบัติการอย่างครอบคลุมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหพันธรัฐรัสเซีย ปี 2559 - 2563 และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายมีหนังสือแจ้งความเห็นชอบต่อร่างแผนปฏิบัติการฯ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีรับทราบร่างแผนปฏิบัติการฯ ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน – รัสเซีย สมัยพิเศษ 3. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารตามข้อ 1 และ 2 ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ กต. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาอีก และ 4. ให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายรับทราบรายงานข้อเสนอแนะของกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิอาเซียน – รัสเซีย เรื่อง อาเซียน – รัสเซีย : หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์หลายมิติที่มองไปในอนาคต
ครม.เห็นชอบการลงนามในร่างแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทยกับรัสเซียเกี่ยวกับความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน และการเสนอร่างความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย เพื่อดำเนินการลงนามและดำเนินการให้มีผลใช้บังคับ ตามที่ กต. เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบต่อการลงนามในร่างแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทยกับสหพันธ์รัฐรัสเซียเกี่ยวกับการ จัดทำความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Joint Statement on the Conclusion of Negotiations on the Agreement between the Government of the Russian Federation and the Government of the Kingdom of Thailand on Promotion and Reciprocal of the Investments) เพื่อการลงนามและให้ความเห็นชอบต่อร่างความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างรัฐบาลแห่งราชาอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย (Agreement between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the Russian Federation on the Promotion and Reciprocal Protection of Investments) เพื่อดำเนินการลงนามและดำเนินการให้มีผลใช้บังคับ 2. อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือแจ้งฝ่ายสหพันธรัฐรัสเซีย เพื่อให้ร่างความตกลงฯ มีผลใช้บังคับภายหลังการลงนาม 3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนามในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และร่างความตกลงฯ และ 4. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างความตกลงฯ และร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์และนโยบายของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องนำเสนอ ครม. อีกครั้ง
ครม. อนุมัติลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงเกษตรแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร ตามที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบและอนุมัติให้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงเกษตรแห่งสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยความความร่วมมือด้านการเกษตร 2. อนุมัติให้หลักการว่า ก่อนที่จะมีการลงนาม หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขบันทึกความเข้าใจในประเด็นที่ไม่ใช่หลักการสำคัญ ให้ กษ. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก 3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายเป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว
ครม. อนุมัติการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมประมง (แห่งราชอาณาจักรไทย) กับหน่วยงานสำนักงานเฝ้าระวังสุขอนามัยพืชและสัตว์ (แห่งสหพันธ์รัฐรัสเซีย) ด้านการควบคุมความปลอดภัยผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่จับจากธรรมชาติและผลิตภัณฑ์จากการเพาะเลี้ยงที่นำเข้าและส่งออก ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอให้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมประมง (แห่งราชอาณาจักรไทย) กับหน่วยงานสำนักงานเฝ้าระหว่างสุขอนามัยพืชและสัตว์ (แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย) (Federal Service for Veterinary and Phytosanitary Surveillance : FSVPS) ด้านการควบคุมความปลอดภัย ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่จับจากธรรมชาติและผลิตภัณฑ์จากการเพาะเลี้ยงที่นำเข้าและส่งออก โดยกรมประมงมอบหมายให้รองอธิบดีกรมประมง (จูอะดี พงศ์มณีรัตน์) เป็น ผู้ลงนามของกรมประมง
ครม. เห็นชอบในหลักการต่อการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขยายความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของราชอาณาจักรไทยและกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจของสหพันธรัฐรัสเซีย และบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าทวิภาคี ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบในหลักการต่อการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขยายความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของราชอาณาจักรไทยและกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจของสหพันธรัฐรัสเซีย และบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าทวิภาคี ทั้งนี้ ในกรณีที่การเจรจาจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ มีการแก้ไขถ้อยคำซึ่งไม่มีผลเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ ให้กระทรวงพาณิชย์สามารถหารือกับกระทรวงการต่างประเทศและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและดำเนินการต่อไปได้ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
2. เห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขยายความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของราชอาณาจักรไทย และกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจของสหพันธรัฐรัสเซีย และบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าทวิภาคี และ 3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทน สำหรับการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขยายความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของราชอาณาจักรไทยและกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจของสหพันธรัฐรัสเซีย และบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าทวีภาคี
ครม. รับรองเอกสารผลการประชุมรัฐมนตรีวัฒนธรรมอาเซียน-รัสเซีย ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีวัฒนธรรมอาเซียน-รัสเซีย 2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมรัฐมนตรีวัฒนธรรมอาเซียน-รัสเซีย รับรองในแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมดังกล่าว และ 3. หากมีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำของร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญ หรือที่ไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ก่อนจะมีการรับรองเอกสารดังกล่าวให้ วธ. สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
โดย ร่างแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีวัฒนธรรมอาเซียน-รัสเซีย (สถานการณ์ล่าสุด) มีสาระสำคัญที่มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือทางวัฒนธรรมอันเป็นผลดีและเน้นการปฏิบัติของโครงการร่วมกัน นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้มีการสร้างความสัมพันธ์ฉันมิตรที่เป็นปึกแผ่น การขยายความผูกพันทางด้านศิลปวัฒนธรรมระหว่างกัน ตลอดจนการสร้างความเข้าใจอันดีในการดำเนินชีวิตและการเพิ่มคุณค่าของวัฒนธรรมร่วมกัน โดยเฉพาะการพัฒนาความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม อาทิ ดนตรี โรงละคร หอจดหมายเหตุ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ มรดกทางวัฒนธรรม นาฎศิลป์ ภาพยนตร์ ลิขสิทธิ์ และศิลปะในรูปแบบอื่น ๆ