25 มีนาคม 2558 เวลา 13:30 น. ณ ห้อง 803 ชั้น 8 อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วิทยาลัยสหาวิทยาการ โครงการ PPE แบ-กบาล ครั้งที่ 5 จัดงานเสวนาเรื่อง “ความอยุติธรรมสีขาว” เมื่อความไม่เป็นธรรมถูกทำให้เป็นเรื่องจำเป็น ว่าด้วยเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ความเป็นเพศ และความเป็นธรรม 3 แบบ โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย ดร.ปิยฤดี ไชยพร อาจารย์พิเศษ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จิตรา คชเดช นักกิจกรรมทางสังคมนักสหภาพแรงงาน และเคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์สาขาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
จิตรา ชี้ สิทธิเสรีภาพไม่ได้มีผู้หยิบยื่นให้ แต่เกิดจากการต่อสู่
เริ่มจาก จิตรา กล่าวถึง กลุ่มตัวอย่างคือผู้ใช้แรงงานในโรงงาน สิทธิเสรีภาพที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้แรงงานงานไม่ได้เกิดขึ้นโดยมีผู้มาหยิบยื่นให้ ต้องต่อสู้กับอะไรหลายอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพ หากถามว่าปัจจุบันนี้มีสิทธิเสรีภาพเต็มที่หรือไม่ ตอบได้ว่ายังไม่มี แต่หากเปรียบเทียบกับในอดีตที่ผ่านมาก็ถือว่ามีเพิ่มขึ้นมาบ้าง ผู้ใช้แรงงานต้องต่อสู้กับสิ่งหนึ่งคือวัฒนธรรม โดยความเชื่อที่ว่านายจ้างคือผู้มีพระคุณ ต้องต่อสู้กับรัฐที่บอกว่าต้องรักษานายจ้างไว้เพื่อให้มีการจ้างงาน ต้องต่อสู้กับเพื่อนร่วมงานที่บอกว่ามีงานทำก็ดีแล้ว อยู่กันอย่างนี้ดีกว่า และต้องต่อสู้กับตัวเองด้วยว่าถ้าเราอยากมีชีวิตที่ดีขึ้นเราจะต้องทำอย่างไร เพราะผู้คนรอบข้างนั้นไม่เห็นด้วย ในขณะเดียวกันก็ต้องต่อสู้กับชุมชน ชุมชนคิดว่าการที่มีโรงงานในชุมชนเป็นเรื่องที่ดี เพราะเขาคิดว่าการมีโรงงานในชุมชนจะทำให้มีงานทำ จะทำให้ชุมชนมีการพัฒนา
วัฒนธรรมที่ถูกปลูกฝังมาอย่างต่อเนื่องคือนายจ้างเป็นผู้มีพระคุณ ตนเองมีรากฐานมาจากเป็นคนในภาคกลางที่ที่บ้านทำนา แม่บอกว่าอยู่บ้าน ภาคกลางน้ำชอบท่วม เวลาหน้าน้ำ น้ำจะท่วมข้าว ทำให้เราทำนาไม่ได้ ก็ไม่มีเงิน แต่หากไปทำงานในโรงงาน ฝนตก แดดออก ก็ยังสามารถทำงานได้และยังได้เงิน เพราะฉะนั้นแม่จึงสอนว่าหากเกิดมาทำงานในโรงงานสิ่งที่สำคัญก็คือต้องเคารพนายจ้าง ซื่อสัตย์ ไม่ลักขโมย เพราะเขาเป็นผู้มีพระคุณ การสอนเหลล่านี้ทำให้ไม่กล้าที่จะรวมตัวต่อรอง เพราะว่านายจ้างคือผู้มีพระคุณ จะไปเป็นหุ้นส่วนไม่ได้ ในขณะเดียวกันนายจ้างก็มีฐานความคิดเช่นนี้เหมือนกัน เพราะเขาเห็นเราเป็นลูกจ้าง เขากดขี่เรา
จิตรา คชเดช
จิตรากล่าวต่อว่า รากฐานสำคัญที่ทำให้เกิดความเข้าใจแบบนั้น เกิดจากการโฆษณาชวนเชื่อว่าการเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรมจะนำไปสู่สิ่งที่ดี โฆษณาว่าหากพื้นที่แถบเรามีโรงงาน มีอุตสาหกรรม คนจะมีงานทำ คนมีงานทำจะทำให้เศรษฐกิจรอบข้างดีขึ้น โดยไม่บอกถึงผลเสียที่จะตามมา ไม่บอกว่าหากมีโรงงานแล้วจะมีน้ำเสีย มีโรงงานแล้วจะมีอากาศที่เป็นมลพิษ มีโรงงานแล้วคนจะถูกกดขี่จากการทำงานและทำให้ให้นายจ้างรวยขึ้น ไม่มีการโฆษณาด้านผลแบบนี้ เวลามีนายจ้างต่างประเทศอยากมาลงทุนในประเทศไทย สิ่งที่รัฐไปโฆษณากับนายจ้างคือบอกว่า เรามีแรงงานราคาถูก มีที่ดินราคาถูก จะไม่ให้เสียภาษี
ปัญหาต่างๆแท้จริงแล้วก็เหมือนกับการพูดซ้ำซาก ตนพูดมาอย่างยาวนานแล้วว่า ปัญหาที่มันเกิดขึ้นกับคนงาน คนจนเมือง ชาวไร่ชาวนา เกิดอะไรขึ้นบ้าง คิดว่าทุกเวทีถ้าพูดเรื่องสะท้อนปัญหาทุกคนจะรู้หมดว่ามันเกิดปัญหาอะไร ชาวนาเกิดปัญหาอะไร เป็นหนี้ธกส. ปัญหาพ่อค้าคนกลาง ชุมชนเมืองคือคนที่อพยพเข้ามาแล้วไม่มีที่อยู่อาศัยก็ต้องอยู่ในชุมชนที่แออัด งบประมาณในการพัฒนาชุมชนเมืองไม่มี ปัญหาโรงเรียนเด็กไม่ได้เรียน ปัญหาคนงานค่าจ้างไม่พอกับค่าครองชีพ ไม่มีสิทธิการรวมตัว ความปลอดภัยในการทำงานไม่มี ความมั่นคงในการทำงานไม่มี ปัญหาเหล่านี้คิดว่าทุกคนทราบอยู่แล้ว เราพูดกันแบบซ้ำซากมากและพูดกันมาตลอดแต่ไม่เคยได้รับการเหลียวแลหรือเข้ามาแก้ปัญหา ตนทำงานเคลื่อนไหวมา 20 ปี พูดเรื่องปัญหาเหล่านี้มากับรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย จนมาถึงกระทั่งรัฐบาลชุดปัจจุบัน ปัญหาเหล่านี้ก็ยังไม่หมดไป
ความยุติธรรมในสังคมก็คือประชาชนต้องมีส่วนร่วมในทุกมิติ
จิตรา กล่าวถึงทางออกของปัญหาเหล่านี้ว่า ทางออกของปัญหาในขบวนการแรงงานนั้นไม่มี แต่อาจจะได้สิทธิการรวมตัวตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ ปี 2518 สังเกตว่ากฎหมายที่จะมีสิทธิเสรีภาพต้องเกิดจากยุคสมัยด้วย หากเกิดในช่วงรัฐประหาร เกิดในช่วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เกิดในช่วงสถานะการทางการเมืองต่างๆ ตัวกฎหมายจะเป็นตัวชี้ว่าช่วงนั้นสถานการจะเป็นอย่างไร กฎหมายแรงงานที่ออกมาในช่วงปี 2518 ถือว่าเป็นช่วงที่ดีและสังคมไทยตอนนั้นเรียกว่าประชาธิปไตยเบิกบาน ก็มีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ออกมา แต่ตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา กฎหมายยังไม่เคยมีการเปลี่ยนเรื่องสิทธิการรวมตัว สิทธิการรวมตัวตอนนั้นของกฎหมาย พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ ปี 2518 เขียนไว้ชัดเจนในข้อกฎหมายว่า การที่มีสิทธิ์หยุดงานได้ ในภาวะที่ประกาศกฎอัยการศึก คนงานไม่มีสิทธิ์ และคนงานสามารถเข้าสู่กระบวนการทางศาล ซึ่งเป็นศาลแรงงาน ศาลแรงงานจะให้สิทธิ์ในเรื่องของมีผู้พิพากษาสมทบ ฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และก็รัฐ แต่ยังมีเงื่อนไขอื่นๆอีกมากมายที่ทำให้ลูกจ้างไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้อย่างแท้จริง เพราะว่ามีเงื่อนไขในเรื่องของการไกล่เกลี่ย การไกล่เกลี่ยคือหากเราทำงานกับนายจ้างนี้ไม่ได้ก็ให้รับเงินชดเชยแล้วออกจากงาน นี่คือสิ่งที่ทำลายสิทธิการรวมตัวได้
ทางออกอีกทางหนึ่งคือโครงสร้างที่เป็นธรรมในสังคม จะต้องมีในเรื่องของกระบวนการยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมจะต้องแก้ไขอย่างไรบ้าง กระบวนการยุติธรรมโดยหลักแล้วเรื่องสิทธิการประกันตัวก็สำคัญมาก ยกตัวอย่างของคนงาน การประกันตัวคนงานที่มีปัญหาขัดแย้งกับนายจ้างเช่น คนงานชุมนุมหน้าโรงงานแล้วนายจ้างนั้นแจ้งจับข้อหาบุกรุก ก็จะต้องมีเงินประกันตัวหนึ่งแสนบาท ลองคิดดุว่าคนงานทำงาน 1 ปี ยังไม่ได้เงินหนึ่งแสนบาทเลย เขาจะเอาเงินที่ไหนไปประกันตัว แต่ในขณะเดียวกันหากเราพูดถึงเงินหนึ่งแสนบาทกับคนที่มีฐานะที่ดีกว่าถือว่าเป็นเงินเล็กน้อยมาก ตัวลูกจ้างไปศาลหนึ่งวันเท่ากับขาดรายได้ แต่นายจ้างเขาสามารถมีตัวแทนหรือทนายไปศาลแทนได้ เรื่องการต่อสู้เมื่อใช้ระยะเวลายาวนานลูกจ้างจะสู้ต่อไม่ได้ก็ต้องยอมยุติกระบวนการในการไกล่เกลี่ยให้จบไป เฉะนั้นเรื่องสิทธิประกันตัว เรื่องของกระบวนการยุติธรรม การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง จะต้องมีการแก้ไข
เรื่องการตรวจสอบ การตรวจสอบในโครงสร้างของสังคม การตรวจสอบรัฐ การตรวจสอบผู้ใช้ภาษี ก็เป็นสิ่งสำคัญ หากเราสามารถทำได้ เราก็จะมีการพัฒนาเป็นประเทศที่ดีได้ การปฏิรูปการศึกษา การเรียนฟรี การเข้าถึงสุขอนามัย เรื่องสิทธิเนื้อตัวร่างกาย เรื่องสิทธิการทำแท้งของผู้หญิง และสิทธิ์ของประชาชน การเกิดสิทธิ์ของประชาชน กฎหมายต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นมามาลอยๆ หรือว่ามีผู้เห็นใจและบอกว่าเอาสิทธินี้ไป กฎหมายทุกอย่างเกิดมาจากแรงกดดันของประชาชนเช่น กฎหมายประกันสังคม กว่าจะออกมาได้เกิดการต่อสู้เรียกร้องมากมายของผู้ใช้แรงงาน แต่ก็มีกฎหมายบางอย่างที่ประชาชนนั้นไม่ต้องการออกมาเช่น พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.บ.ฉุกเฉิน เหล่านี้ก็ออกมาได้โดยง่าย แต่กฎหมายที่จะให้ออกมาเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนก็ไม่ได้ผ่านออกมาง่ายๆ ต้องเกิดการต่อสู้เรียกร้องกัน
“สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้มีความยุติธรรมในสังคมก็คือประชาชนต้องมีส่วนร่วมในทุกมิติ ถ้าประชาชนไม่มีส่วนร่วมเลย ก็ไม่สามารถที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมที่ดีได้ คือถ้าจะต้องให้ใครคนใดคนหนึ่งมากำหนดกรอบให้ประชาชนอยู่ในกรอบนั้น มันก็ไม่สามารถที่จะนำไปสู่การที่จะทำให้คุณภาพชีวิตที่ดี แล้วข้อขัดแย้งหรือความขัดแย้งในสังคมมันก็ไม่ได้หมดไปเพราะประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม” จิตรากล่าว
เคท ครั้งพิบูลย์
เพศ ถูกทำให้มาพร้อมกับความผิดบาป ความสกปรก
เคท กล่าวถึงประเด็นความเป็นธรรมเกี่ยวข้องอย่างไรในเรื่องของเพศว่า เมื่อใดก็ตามที่สังคมไทยพุดถึงเรื่องเพศ เราจะนึกถึงความผิดบาป นึกถึงความสกปรก ไม่ควรพูดในที่สาธารณะ ทั้งที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกันเพื่อทำความเข้าใจ สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้อิทธิพลความคิดในเรื่องเพศเกิดขึ้นมา ตนเชื่อว่าเพราะวัฒนธรรมความเป็นเพศถูกผุกขาดมาตั้งแต่ผู้ที่เป็นพ่อแม่ในสังคมระดับครอบครัว และถูกส่งผ่านมาในระดับโรงเรียน สิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องเพศถูกสื่อความในทางที่แย่นั้นมีผลมาจากรัฐ เมื่อพูดถึงวิถีคิดเรื่องเพศของรัฐไทยพบว่านโยบายและกฎหมายต่างๆของรัฐไทย หรือเพศวิถีที่กำลังเปลี่ยนไป มักจะยกในเรื่องของศีลธรรมเข้ามาตัดสิน โดยเชื่อว่ากลุ่มเด็กและเยาวชนหากไม่พูดถึงเรื่องศีลธรรมไว้ก่อน จะทำให้เด็กและเยาวชนเสื่อมลงเพราะพูดเรื่องเพศมากเกินไป ดังนั้นจึงไม่มีการเปิดพื้นที่ให้พูดเรื่องเพศ เมื่อใดก็ตามที่พูดขึ้นมาก็จะถูกตักเตือนว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของรัฐไทยที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ มีการใช้วัฒนธรรม อำนาจ ที่เรียกได้ว่าเป็นกลไกในการควบคุมจารีตประเพณีหรือว่าชุดความคิดต่างๆ ถูกส่งผ่านวาทกรรมหลากหลายช่องทางเพื่อที่จะควบคุมเรื่องเพศ ในรัฐสมัยใหม่ที่พยายามมุ่งเรื่องของอำนาจเข้ามาสู่ศูนย์กลางอีกครั้งหนึ่ง การบริหารอำนาจแบบศูนย์รวมอำนาจไว้ศูนย์กลางมีผลทำให้วิธีคิดของเพศกับรัฐถูกรวบรวม ถูกคิด ถูกออกแบบจากมาตรฐานเดียวกันจากส่วนกลาง สิ่งที่เกิดขึ้นคือการออกแบบเรื่องเศรษฐกิจ การศึกษา มันจะถูกส่งมาจากส่วนกลางเท่านั้น ที่สำคัญที่สุดคือนอกจากสร้างมาตรฐานหรือเกณฑ์ของเศรษฐกิจและการศึกษามาจากรัฐส่วนกลาง รัฐพยายามทำในเรื่องของเพศไปด้วย ทั้งนี้รัฐไทยนำวิธีคิดเรื่องชนชั้นมาจัดการเรื่องเพศ เมื่อใดก็ตามที่พูดถึงเรื่องเพศ สิ่งนี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าความเท่าเทียมทางเพศแท้ที่จริงแล้วมีเรื่องชนชั้นเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมไปถึงความมีอัตลักษณ์ทางเพศ และเรื่องต่างๆ จะมีเรื่องชนชั้นเข้ามาเป็นส่วนตััดในทุกๆเรื่อง ในประวัติศาสตร์เรื่องเพศของผู้หญิงและผู้ชายมักจะอยู่ในชนชั้นสูง ใครก็ตามที่อยู่ใกล้แหล่งอำนาจมักจะถูกควบคุมเรื่องเพศอย่างมากที่สุด เมื่ออยู่ใกล้แหล่งอำนาจมากที่สุดมันก็ถูกแพร่กระจายสู่ชนชั้นต่างๆ รับเอาวัฒนธรรมทางเพศแบบนั้นมา ซึ่งไม่น่าเชื่อว่านอกจากรูปแบบการใช้ชีวิต การพัฒนาตัวเอง การผลักดันตัวเองเพื่อให้ออกจากชนชั้นหนึ่งสู่อีกชนชั้นหนึ่ง เรื่องเพศก็เป็นเช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่าหนังสือสุขศึกษาที่พูดเรื่องเพศอยู่ในปัจจุบันนี้ก็ยังพูดถึงเรื่องเพศบนฐานความคิดที่เชื่อว่าเพศไม่มีทางเท่าเทียม เรื่องเพศในสังคมไทยถูกกดขี่เอาไว้จากการเรียนรู้ทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ แบบทางการคือการกระทำผ่านในโรงเรียน สถานศึกษา ส่วนไม่เป็นทางการคือไม่มีสิทธิ์พูดเรื่องเพศในพื้นที่สาธารณะ
การจะเข้าใจแก่นแท้ของอำนาจที่รัฐเข้ามาจัดการควบคุมเรื่องเพศ พร้อมทั้งยังสร้างกฎกติกาให้ทำตาม หากทำตามจะได้รับรางวัล หากไม่ทำตามก็จะถูกลงโทษ ในกรณีเบื้องต้นอยากนำเสนอให้เห็นว่าที่มาของการกดขี่เรื่องเพศในเมืองไทย มีที่มาจากเรื่องของชนชั้นทางสังคมและการกระทำของรัฐเป็นหลัก
สังคมไทยแบ่งกล่องทางเพศไว้อย่างชัดเจน
ส่วนของความหลากหลายทางเพศ เพศภาวะ และเพศวิถี ในสังคมไทยยังให้ค่า ให้ราคา กับการพูดเรื่องนี้ต่ำมาก เรื่องของเพศสภาพ เพศวิถี ในบ้านเราถูกพูดมาอย่างยาวนานและต่อสู้เริ่มต้นมาจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้หญิง ต่อมาสถานการณ์ทางสังคมได้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพบปัญหาว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศในบ้านเราก็ยังเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่าเป็นปัญหาและการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสังคม ในส่วนนี้เองที่เป็นปัญหาว่าทำไมจึงต้องมาพูดกันถึงเรื่องนี้ ข้อจำกัดและสภาพปัญหาของความหลากหลายทางเพศที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศที่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในกรอบของสังคมที่วางไว้ จะเห็นว่าสังคมไทยแบ่งกล่องทางเพศไว้อย่างชัดเจนก็คือ กล่องความเป็นชาย กล่องความเป็นหญิง และเมื่อใดก็ตามที่ใครคนหนึ่งก้าวออกมาจากกรอบที่สังคมวางไว้ มักจะได้รับการตั้งคำถามแล้วไม่ได้รับความสนใจจากสังคม
เคทเล่าต่อว่า ในประเด็นของผู้ที่เป็นสาวประเภทสองมันมีอัตลักษณ์ทางเพศที่ชัดเจน และแสดงออกให้เห็นว่ามีการข้ามกรอบทางเพศมาอย่างชัดเจน ผู้ข้ามเพศในสังคมไทยยังประสบปัญหาเรื่องสิทธิการระบุตัวตนเช่น คำนำหน้านาม สิ่งนี้ผู้ข้ามเพศยังไม่ได้รับการรับรองจากรัฐ ต่อมาคือเรื่องของการแต่งกาย ที่ถูกควบคุมมาตั้งแต่การเป็นนักเรียน ในเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา รวมไปถึงการรับปริญญาและการฝึกงาน ส่วนนี้จะเห็นได้ว่ามีการแบ่งเพศอย่างชัดเจนในเครื่องแบบ ดังนั้นมันจึงย้อนรอยไปว่าสิ่งที่เราปลูกฝังในเรื่องความเป็นเพศ มันถูกปลูกฝังอย่างใกล้ชิด ไม่ละมือที่จะทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้เป็นไปตามที่รัฐต้องการ
สิ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อพูดถึงความยุติธรรมในส่วนของสาวประเภทสองในบ้านเราก็คือเรื่องการรับราชการทหาร ที่ผ่านมามีกรณีการฟ้องร้องปี 2549 ในเรื่องของการถูกระบุในใบ สด.43 ว่าผู้ที่เป็นสาวประเภทสองจะได้รับการระบุในใบ สด.43 ว่าเป็นโรคจิตวิตถาร โรคจิตถาวร ซึ่งในบางคนต้องใช้ใบนี้ในการสมัครงานว่าผ่านการเกณ์ทหารแล้ว แต่เมื่อในใบถูกระบุแบบนั้นถามว่าใครจะรับเข้าทำงาน เกณฑ์อะไรที่นำมาตัดสินว่าผู้ที่เป็นสาวประเภทสองเป็นโรคจิต ต่อมาปี 2555 ศาลปกครองได้ตัดสินว่าสิ่งที่กระทรวงกลาโหมเขียนไปต้องเปลี่ยนระเบียบกระทรวง และต้องแก้ไขใหม่ว่าเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด หลังจากนั้นมาสาวประเพศสองที่เข้ารับการเกณฑ์ทหารจะได้รับการปฏิบัติเป็นอย่างดีเปรียบเสมือนดั่งผู้หญิงคนหนึ่ง
ต่อมาเรื่องของสิทธิการรับบริการสาธารณะ จะเห็นว่ามีปัญหาในส่วนของบริการสาธารณะหลายอย่างเช่น การไปโรงพยาบาล (ให้รวมสาวประเพศสองไว้ในห้องพักของผู้ชาย) การไม่รับบริจาคเลือด รวมถึงการห้ามใช้บริการสถานบันเทิงบางแห่ง สิ่งเหล่านี้เป็นสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่ทำให้เห็นว่าการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งอัตลักษณ์ทางเพศและเหตุของความเป็นเพศมันยังมีอยู่จริง การตัดสินใจว่าจะปฏิบัติกับคนอย่างไร ในสังคมไทยนอกเหนือจากการดูสถานะทางสังคมแล้วยังดูเรื่องของเพศอีกด้วย เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าอคติทางเพศยังมีอยู่จริงในสังคมไทย การที่คนที่มีความหลากหลายทางเพศจะลุกขึ้นมาพูดเรื่องของตัวเองอาจไม่ง่ายนัก หากจะขับเคลื่อนกฎหมายเรื่องเพศจะต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ
ปิยฤดี ไชยพร
ความเข้าใจในเรื่องความเป็นธรรม 3 แบบ
ปิยฤดี กล่าวถึงความเป็นธรรมว่า ความเข้าใจในเรื่องความเป็นธรรม หากพูดถึงคำว่าความเป็นธรรมนั้นสามารถพูดถึงได้สามแบบ แบบแรกคือการปฏิบัติอย่างความเป็นธรรม หมายถึงการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน จะใช้ในกรณีเมื่อพูดถึงสิ่งที่เป็นสิทธิ เสรีภาพพื้นฐาน เสรีภาพพื้นฐานของพลเมืองที่คนทุกคนที่เป็นพลเมืองจะต้องได้รับสิ่งนี้เท่ากัน เหมือนกัน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ หากคนหนึ่งได้ทุกคนก็ต้องได้
แบบที่สองคือ การปฏิบัติอย่างไม่เท่ากันแต่ได้รับความเป็นธรรม มีบางกรณีที่คนบางคนได้รับอะไรบางอย่างมากมันชอบธรรมที่คนบางคนจะได้รับในสิ่งเดียวกันนั้นน้อยกว่า มันเอื้อให้สามารถที่จะชอบธรรมได้ ในบริบทของตลาดเสรีหรือตลาดที่เป็นทุนนิยม คนจะมีขีดความสามารถไม่เท่ากัน ฉะนั้นในที่สุดแล้วอาจจะลงเอยด้วยชุดของสิ่งที่เขาถือครองอยู่ เช่น รายได้ ความมั่งคั่ง โอกาส ซึ่งบางคนมีมากน้อยไม่เท่ากัน ในกรณีนี้ความเป็นธรรมสามารถจะมีความหมายว่าคนบางคนจะมีเยอะมากได้ คนบางคนมีน้อยกว่าได้ แต่ในภาพรวมแล้วการที่คนมีเยอะกว่าจะต้องก่อให้เกิดประโยชน์ลงมาสู่คนที่มีน้อยกว่า เมื่ออยู่สูงจะต้องสามารถช่วยดึงคนข้างล่างขึ้นมาข้างบนได้ สังคมจะได้เติบโตไปด้วยกัน สิ่งที่สำคัญคือคนในสังคมต้องทำการตกลงกันว่าจะยอมให้ไม่เท่าได้แค่ไหน และไม่เท่าในเรื่องไหนได้บ้าง
แบบที่สามคือการปฏิบัติพิเศษ หมายถึง สิ่งที่คนบางคนอาจจะไม่ต้องมีมาก บางคนมีมากเป็นพิเศษและต้องการสิ่งนั้นมากกว่าคนอื่น ความเป็นธรรมในแบบที่สามนี้เป็นความหมายที่ต้องใช้ความรอบคอบมาก และต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและสถิติ เวลาใช้ความหมายของความเป็นธรรมในข้อที่สามคือ คนบางคนต้องได้มากกว่าคนอื่น เพราะเขามีความต้องการมากเป็นพิเศษ ตรงนี้ต้องใช้ความรอบคอบ เพราะบางทีถูกเอาไปใช้มั่วในทางที่เอื้อประโยชน์กับคนบางกลุ่มทางการเมือง แทนที่จะใช้เพื่อจุดประสงค์ที่แท้จริงคือเพื่อสร้างความเป็นธรรม ฉะนั้นการให้ประโยชน์พิเศษจึงเป็นดาบสองคม หากจะเรียกร้องความเป็นธรรมจากความหมายนี้ จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากที่สุด